เทศน์บนศาลา

ถูกต้องชอบธรรม

๒ ส.ค. ๒๕๔๙

 

ถูกต้องชอบธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๙
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฟังธรรมะ เราตั้งใจฟังธรรมเพื่อจะปฏิบัติธรรม ถ้าเราจะปฏิบัติธรรม ธรรมะ เราว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติกันนะ ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติ หลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่นท่านบอกเลยว่า นิพพานไม่ได้อยู่ที่ภูเขา ไม่ได้อยู่ที่ก้อนเมฆ ไม่ได้อยู่ที่สรรพสิ่งใดเลย นิพพานอยู่ที่หัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ นิพพานอยู่ที่ใจ

เราว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ถ้าธรรมชาติ ธรรมะ ธรรมชาติ ถ้าเราเข้าใจเราศึกษาธรรม เราศึกษาธรรม เราศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกับมัน ถ้าเข้าใจธรรมะ เราเข้าใจเรื่องธรรมชาติ เราก็ไม่ตื่นเต้นไปกับเขา สมัยโบราณนะ สมัยศาสนายังไม่มี คนเราจะกราบไหว้บูชาภูเขา บูชาไฟ บูชาสิ่งต่างๆ บูชาพระอาทิตย์ เพราะอะไร เพราะไม่มีธรรมะ

ในเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ ไม่มีผู้ชี้บอก คนโง่เขลาอยู่ ก็เฝ้าแต่ความคิด จินตนาการว่าสิ่งเหนือธรรมชาติ แล้วเรากลัว เรากลัวสิ่งที่มีอำนาจเหนือเรา เราก็ไปอ้อนวอน ไปขอเอา นี่ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติที่มีชีวิตก็มี ธรรมชาติที่ไม่มีชีวิตก็มี ดูสิ ดูการผุกร่อนของวัตถุต่างๆ มันก็ผุกร่อนไปตามธรรมชาติของเขา เขาได้อะไรก็เขาล่ะ เขาก็ผุกร่อนไปตามธรรมชาติของเขา แล้วย่อยสลายไป

แล้วอนัตตาความเป็นไปของเรา ถ้าเป็นอนัตตา อะไรเป็นอนัตตา? สิ่งที่เป็นอนัตตา เวลาสัตว์นะ เวลาสัตว์เกิดมา สัตว์นี้ทุกข์ยากมาก เพราะอะไร เพราะเขาเกิดมาแล้ว คนเรานะเกิดมา สิ่งมีชีวิตเกิดมา ใครบ้างไม่รักชีวิต ทุกคนรักชีวิตนะ รักการมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออกต่อไป ต่อให้ชีวิตนี้ยืนยาวไป แล้วกลัวตายนะ ปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ทุกสัตว์โลกเลย แต่เวลาเป็นไป ชีวิตเกิดมาแล้วเป็นอย่างไรล่ะ

สิ่งที่เกิดมา ว่าเกิดดับ สิ่งที่เกิดดับ ธรรมชาติคือการเกิดดับ สิ่งที่เกิดดับแล้ว รู้ความเกิดดับแล้วก็ปล่อยวางหมด เกิดดับนะ ถ้าช่างไฟ ช่างที่เขาเทคโนโลยีต่างๆ ถ้าเขาเป็นช่าง เขามีความรู้ของเขา เขาเข้าใจของเขา เขาเปิดสวิตซ์ได้ เขาปิดสวิตซ์ได้ แล้วเกิดถ้ามันเสียหาย เขาสามารถที่จะเอาไปซ่อมบำรุง สิ่งต่างๆ ขึ้นมาให้ใช้ประโยชน์ได้ นี่ก็เหมือนกัน เราเห็นว่าการเกิดดับ แล้วถ้าเกิดดับแบบเด็กที่เขาไม่เข้าใจ เด็กไม่เข้าใจนะ แม้แต่เขาเอานิ้วเขาแหย่เข้าไปในปลั๊กไฟได้ เห็นไหม เขาไม่รู้การเกิดดับหรอก เห็นการเกิดดับเขาก็ไม่เข้าใจ

นี่ก็เหมือนกันว่าเกิดดับ เกิดดับคืออะไร อะไรคือเกิดดับ เราเกิดแล้วดับ นี่เป็นธรรมะ ถ้าเกิดแล้วดับเป็นธรรมะ ดูสิ เครื่องใช้ไฟฟ้ามันก็เกิดดับ สิ่งที่จะเป็นธรรมะมันต้องเป็นสิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่มีความรู้สึกต้องมีธาตุรู้ ตัวธาตุรู้เป็นตัวรับรู้ สิ่งที่รับรู้มาจากไหน? ก็มาจากหัวใจที่มันทุกข์มันยากนี่ไง

ต้อง “ถูกต้องชอบธรรม” ถูกต้องนะ ถ้าไม่ถูกต้อง มันก็ผิดพลาดไป ถูกต้องแต่ไม่ชอบธรรม นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัตินี่ถูกต้องไหม? ถูกต้องตามกิเลสไง มันไม่ชอบธรรมหรอกถ้ามันชอบธรรมมันจะเป็นไป

เหมือนกฎหมายเลย ดูสิ กฎหมาย กฎหมายเขามีไว้ทำไม กฎหมายเป็นกติกานะ สังคมมนุษย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลยบอกว่า มนุษย์โง่กว่าสัตว์ สัตว์ ดูสิ สัตว์ป่านะตามธรรมชาติ สมัยโบราณมีสัตว์ป่า สัตว์เลี้ยงมีแต่น้อย สัตว์ป่ามันอยู่ตามธรรมชาติของเขา ดูนกสิ บินไปตามอิสระเสรีภาพ มนุษย์เป็นสิ่งที่เป็นสัตว์ประเสริฐ เพราะเป็นสัตว์ประเสิฐ สัตว์เห็นมนุษย์นี่กลัวมาก จะหลบหลีกเลยเพราะว่ามนุษย์ทำร้ายเขาได้ทุกอย่าง ถ้ามนุษย์ คนที่มีศีลธรรมในหัวใจจะเป็นประโยชน์กับโลก

ถ้ามนุษย์คนไหนจะทำร้ายเขา เอาเปรียบเขา มนุษย์เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เขาจะหลบหลีกมาก เห็นไหม มนุษย์ว่าฉลาดกว่าสัตว์ เป็นสัตว์ประเสริฐ แล้วตั้งกติกาสังคมกันเป็นกฎหมาย สิ่งที่เป็นกฎหมาย กติกาสังคมต้องเขียนรอนสิทธิ์ของคนอื่น ต้องรอนสิทธิ์นะ สิทธิเสมอภาค ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ แต่สิทธิเสรีภาพของเรา เราไปกระทบกระเทือนสิทธิ์ของคนอื่นล่ะ เห็นไหม กฎหมายรอนสิทธิ์ไง เราเป็นห่วง เราเป็นกังวลกับกติกาสังคม อยู่ในกติกาสังคม อยู่กันในกรอบ นี่กฎหมายบังคับ แล้วใครเป็นคนสร้างขึ้นมาล่ะ? มนุษย์เป็นคนสร้างขึ้นมา นี่กฎหมายนะ

แล้วธรรมวินัยล่ะ ธรรมวินัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมและวางธรรมและวินัยให้เราก้าวเดิน สิ่งที่เป็นวินัย เห็นไหม บังคับ วินัยนี่ตัดสินกันต้องเด็ดขาด แต่ธรรมกว้างขวางมาก เหมือนกับโลกนี้ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ กฎหมายต้องบังคับ รัฐศาสตร์เพื่อความปกครอง สิ่งการปกครองเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข สิ่งนี้เขาถูกต้องและชอบธรรมไหมล่ะ ถ้าถูกต้องชอบธรรมนะ คนที่มีอาชีพเป็นนักกฎหมาย คนที่มีคุณธรรม สิ่งนี้เขาจะเอาจรรโลงสังคม สังคมขนาดไหนมันก็เป็นโลกนะ ถูกต้องแต่เป็นเรื่องของโลกๆ ไง

ถ้าเรื่องของโลกๆ มันก็เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ ถ้าถูกต้องและชอบธรรมมันจะเข้ามาถึงธรรม ถ้าถึงธรรม ชีวิตนี้คืออะไร ชีวิตนี้ เรามองกัน เกิดมาทุกคนปรารถนาความสุข แต่ก็ความสุขของโลก ทุกคนต้องปรารถนาความสุขของโลก อยากจะมีชื่อเสียงไว้ในประวัติศาสตร์ เห็นไหม จะทำสิ่งต่างๆ ก็เพื่อกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ตัณหาไม่มีวันพอนะ ตัณหาล้นฝั่ง สิ่งที่ล้นฝั่ง อยู่ที่ไหนๆ? มันอยู่ที่ใจของเรา

อาชีพการทำงานของเรา คนเกิดมาต้องมีหน้าที่การงาน คนมีความรับผิดชอบ สิ่งที่สังคมยืนอยู่ได้เพราะแก่นของสังคม แกนของสังคม เห็นไหม คนดีไง คนดีเป็นหลักของสังคม ถ้าสังคมไม่มีคนดี ไม่มีสิ่งที่เป็นหลักของสังคม สังคมจะปั่นป่วนมากกว่านี้นะ แล้วคนดีอยู่ที่ไหน? คนดีอยู่ในหัวใจ คนดีอยู่ที่ความมั่นคง มีจุดยืน ไม่ตื่นกับกระแสนะ กระแสของโลก เขาหมุนไปตามกระแสของโลก เราตื่นไปกับเขา ทรัพยากรก็ผลาญกัน ผลาญทรัพยากรไป ต้องอยู่ให้ร่มเย็นเป็นสุขนะ สุดท้าย การเป็นไปของโลกนะ สิ่งต่างๆ ที่เอามาเพื่อเป็นธุรกิจการค้ากันมันก็เอารัดเอาเปรียบ สิ่งที่เอารัดเอาเปรียบ สิ่งที่ว่าโลกเจริญก็มีส่วนว่าเจริญ เจริญขนาดไหนมันก็เป็นเรื่องของโลก สิ่งที่เป็นโลกมันหมุนอยู่ในวัฏฏะนี่ แล้วเราก็เกิดมาในสังคมโลก

การเกิดนี้เป็นอริยทรัพย์ การเกิดมาในสังคมโลก สังคมที่มีความร่มเย็นเป็นสุข เห็นไหม “กึ่งพุทธกาล” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง เราก็มองกันนะ ศาสนาจะเจริญ สังคมเจริญ มีความร่มเย็นเป็นสุข แล้วมันสุขจริงไหมล่ะ มันร้อนนะ

อิฐ หิน ทราย ปูน สิ่งก่อสร้าง สิ่งที่เป็นวัตถุสร้างขึ้นมาขนาดไหน ดูสิ ธรรมะคือธรรมชาติ เราก็ไปเก็บสิ่งที่เป็นธรรมชาตินี้ขึ้นมาประกอบกัน ขึ้นมาเป็นตึกรามบ้านช่อง เหมือนกับกองทรายนะ เจดีย์ทราย หรือว่าสิ่งที่ว่าเขาเทศกาล ก่อเจดีย์ทรายกัน เหมือนกัน เวลาเกิดแผ่นดินไหว เกิดวาตภัย มันคงทนได้ไหม? มันคงทนไม่ได้หรอก แต่เราก็คิดกัน คิดทางความเจริญนะ วัตถุทางความเจริญจะให้มีความร่มเย็นเป็นสุข เราไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้หรอก ธรรมชาตินะ เพียงแต่ว่าเกิดในประเทศอันสมควร ผู้ใดเกิดในประเทศที่เกิดรอยต่อของเปลือกโลก ประเทศใดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว จะมั่นคงขนาดไหนมันก็ต้องพังทลายไป ในเมื่อถ้าธรณีพิโรธต้องพังทลายไป

แล้วธรรมชาติ เห็นไหม ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ว่า เวลาฝนตกแดดออก เวลาฝนตก เวลาเกิดแหล่งน้ำสิ่งต่างๆ ชุ่มเย็นเป็นสุข แต่ถ้ามากเกินไป สิ่งที่มากเกินไป วาตภัยเกิดขึ้นมาก็ทำให้เราเดือดร้อน นี่เรื่องของโลกนะ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะก็ทำลาย ธรรมะส่งเสริม ธรรมะเกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา

โลกนี้เป็นอจินไตยไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก โลกนี้เป็นอจินไตย มันมีสภาวะแบบนั้นตลอดไป แล้วเราก็มาเกิดในโลก เกิดในโลก แล้วเราก็ตื่นกับกระแสสังคมโลก ดูสิ ดูใครคุมสื่อ สิ่งที่เขาคุมสื่อ เขาสื่อของเขาออกมาเพื่ออะไร? เพื่อจะให้เราตามเขาไป แต่ถ้ามีวัฒนธรรม วัฒนธรรมของเรา ถ้าเรามีวัฒนธรรม ว่าจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ จินตนาการ การจินตนาการของเรา จินตมยปัญญา นี่คือนักวิทยาศาสตร์ที่เขาจินตนาการ

แต่วัฒนธรรมนะ ดูสิ การสะสมมา การสั่งสมมาของจิตอย่างหนึ่ง การสั่งสมมาของสังคมอย่างหนึ่ง การสั่งสม ดูสิ วัฒนธรรม สิ่งต่างๆ ต้องกี่ชั่วอายุคน ถึงจะย่อยสลายวัฒนธรรมหนึ่งเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่ง ดูสิ สิ่งต่างๆ เกิดมาจากไหนๆ? เกิดมาจากผู้ที่มีรากฐานวัฒนธรรม แล้วการสร้างสมขึ้นมาให้ต่อยอดขึ้นไป การต่อยอดของสังคมนะ ต่อยอดวัฒนธรรมอันนั้น

ถ้าวัฒนธรรมอันนั้นย้อนกลับมาสิ ย้อนกลับมาที่จิต ย้อนกลับมาสิ่งนั้นมันสะเทือนหัวใจ คนที่จะมีวัฒนธรรม คนที่จะสร้างสมศิลปวัฒนธรรมเอาไว้กับโลก เขาต้องมีจินตนาการของเขา เขาต้องมีความคิดของเขา ความคิดอันนี้สร้างสมสิ่งที่ว่าเป็นวัฒนธรรมไว้

แต่เรื่องของธุรกิจ เรื่องธุรกิจเอาสรรพสิ่งต่างๆ มาเป็นธุรกิจ มีการเอารัดเอาเปรียบตลอดไปเพื่อผลประโยชน์ ถ้าสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ เอารัดเอาเปรียบกัน แต่ถ้าเป็นคุณงามความดีล่ะ สิ่งที่เขาทำขึ้นมาเพื่อสังคม เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข เห้นไหม เสพ เวลาใจเสพศิลปะให้ใจนี้อ่อน ให้ใจนี้ควรอาหารของใจ นี้เรื่องของโลกนะ

แต่ถ้าเราเสพของเราล่ะ เราจะเสพอะไร สิ่งต่างๆ เราจะเสพอะไร ที่ว่าธรรมเจริญๆ เจริญที่ไหน เราก็ไปมองกันแต่เรื่องของวัตถุ เรื่องว่าโลกเจริญ สิ่งก่อสร้างเจริญ เทคโนโลยีเจริญ...เจริญขนาดไหนนะ มันต้องมีพลังงาน มันต้องมีค่าใช้จ่าย มันมีตลอดไป

แต่ถ้าเรากลับมาที่ปัจจัยสิ่งที่เครื่องอาศัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยปฏิเสธโลกนะ ขณะที่ว่าเกิดมาเกิดมาจากไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะ เวลาเห็นคนที่ทำกรรมไว้ ไปบอกว่าไปทำกรรมไว้เรื่องของกาม เรื่องของโลกน่าสลดสังเวชมาก มันให้โทษขนาดนี้เชียวหรือ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “โมคคัลลานะนะ เราก็เกิดมาจากกาม” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดจากพ่อจากแม่นะ เกิดจากโลกนะ เกิดจากกาม เกิดจากเรื่องของโลก แต่แสวงหาธรรม เห็นไหม เรื่องของโลกไง

ถูกต้องแล้วชอบตามกิเลส โลกคือกิเลส โลกคือสัตว์โลก ชักจูงกันไป

แต่ธรรมล่ะ ธรรมเกิดมาจากไหน? ธรรมเกิดมาจากหัวใจ สิ่งที่เป็นหัวใจนี้ สิ่งที่การกระทำของโลกที่มีความทุกข์ยากเดือดร้อนกันอยู่นี้เกิดจากความคิด เกิดจากผู้ปกครอง เกิดจากการจินตนาการของผู้นำ สิ่งที่เป็นผู้นำ ถ้าเป็นผู้นำที่ดี ถ้าเป็นผู้นำที่ดีมีศีลธรรมจริยธรรมมันก็เรื่องของโลกๆ เท่านั้นเอง

แต่ถ้าศาสนาเจริญล่ะ เจริญจากหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน ตั้งแต่โคนต้นโพธิ์นั้นไง นี่ละกิเลสในหัวใจ ไม่มีเม็ดหินเม็ดทรายในการเอารัดเอาเปรียบ มีความเมตตาสงสารสัตว์โลก ปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ เราก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่ง สัตตะคือเป็นผู้ข้อง เราข้องกับอะไร เราข้องกับหัวใจเราไง เราข้องกับกรงขังของกิเลส กรงขังของใจ นักโทษเขาติดกรงขังนะ เขาติดโทษเขายังมีวันออกนะ เพราะอะไร เพราะเรื่องของโทษ เรื่องของกำหนดเวลา แต่นักโทษของกิเลส นักโทษของจิต จิตติดในกรงขังไม่มีสิทธิ์ออกเลย ไม่มีสิทธิ์

แต่ถ้าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเจริญขึ้นมา ทำลายกรงขังอันนี้ เป็นไก่ตัวแรกทะลุฟองไข่ออกมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด ในขบวนของสัตว์โลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด แล้วเทศนาว่าการธรรมและวินัยมา

ธรรมและวินัยก็เหมือนกฎหมาย กฎหมายมันเป็นเรื่องของโลกๆ แล้วเราไปศึกษากัน เราไปศึกษาเรื่องของโลก ว่าสิ่งนี้ซับสมกันมา เรื่องของพระไตรปิฎก ธรรมและวินัย...ใช่ ธรรมและวินัยเป็นเรื่องที่เราเคารพ ศรัทธา เคารพศรัทธานะ ถ้าไม่มีธรรมไม่มีวินัย ไม่มีป้ายหมายเดิน ให้เราเดิน ดูสิ ถ้าเราปฏิเสธ ทำไมเราไปใช้เทคโนโลยีเขาล่ะ สิ่งที่โลก เราใช้พาหนะใช้ต่างๆ เพื่ออะไร? เพื่อความสะดวกของเรา

เพื่อความสะดวกของเรา แต่ไม่ใช่เป็นขี้ข้ามัน ไม่ใช่เอาสิ่งนั้นมาเป็นสิ่งที่เราต้องไปยอมจำนนกับเขา ในเมื่อโลกเขามี เราอยู่กับโลก อยู่กับโลก เห้นไหม เหมือนน้ำบนใบบัว เราไม่ได้ติดกับเขา เพราะเรามีธรรมในหัวใจ ถ้าไม่มีธรรมในหัวใจ เราจะไปกับโลกหมดเลย นี่โลกเจริญกับธรรมเจริญ

“ถูกต้องชอบธรรม” มันจะย้อนกลับมาในหัวใจของเรา

ในการประพฤติปฏิบัติ ในเรื่องของโลกๆ ความคิด เรื่องของโลก เรื่องของกฎหมาย ก็อ้างว่าถูกต้อง ถูกกฎหมาย สิ่งนี้เป็นความถูกต้อง...เรื่องโลกๆ ถ้าเวลาออกประพฤติปฏิบัตินะ ในประพฤติปฏิบัติต้องถูกต้อง ถูกต้องถูกตามพระไตรปิฎก ถูกต้องตามธรรมวินัย

ธรรมและวินัย เวลาครูบาอาจารย์ท่านว่า ธรรมและวินัยนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ให้เป็นเครื่องดำเนิน เหมือนใบไม้ในกำมือกับใบไม้ในป่าใหญ่ เห็นไหม ใบไม้ในป่าใหญ่มีมหาศาลเลย แต่ใบไม้ในกำมือ ในตู้พระไตรปิฎกนี่ใบไม้ในกำมือ แต่ใช่เป็นสิ่งที่เราทะนุถนอม เป็นสิ่งที่เราเคารพศรัทธา เพราะอะไร

เพราะ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” พระปฏิบัติจะซึ้งใจมาก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะซึ้งใจมาก ธรรมและวินัย สิ่งนี้เป็นยอดชีวิตเลย ถ้าไม่เป็นยอดชีวิต เราจะก้าวเดินไปได้อย่างไร ถ้าเราจะก้าวเดินผ่านสิ่งนี้ไป ถ้าก้าวเดินผ่านสิ่งนี้ไปเราจะกราบถึงหัวใจ เวลาผู้ที่บรรลุธรรม “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” เห็นตถาคตว่าสิ่งนี้มันเป็นปูนหมายป้ายทางที่เราจะเข้าไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในหัวใจของเรา เราจะทำให้สิ่งนี้ออกนอกลู่นอกทางได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้

แต่ขณะที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราเอาเรื่องมันไม่ชอบธรรม สิ่งนี้มันกลับเป็นสิ่งที่กลับมาทำลายเรานะ เราศึกษาธรรมๆ ศึกษามาให้เป็นเครื่องที่จะประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่ศึกษาธรรมมาเพื่อจะให้ทำลายโอกาสของเรา ทำลายโอกาสจริงๆ นะ

ในการประพฤติปฏิบัติ ขณะที่เราศึกษาธรรมมา ต้องถูกต้อง ออกนอกลู่นอกทางไม่ได้ เห็นไหม ความคิดอย่างนี้มันเป็นความคิดในกรอบ ความคิดของนักโทษ นักโทษมันอยู่ในเรือนจำก็คิดเฉพาะเรือนจำ ขันธ์ ๕ นี้มันเป็นถังขยะ มันเป็นสิ่งที่ครอบงำใจเรา ถ้าเราคิดตามกรอบอย่างนี้ก็คิดตามกิเลส ภาวนาไปบอกว่า “ภาวนาถ้าใช้ความสงบอย่างนี้ไม่เกิดปัญญา ต้องใช้ปัญญาของเราไปเลย”...ไม่เข้าใจเลยนะว่าปัญญาอย่างนั้น ปัญญาในกรอบ ปัญญาในกรงขัง มันเป็นสิ่งสุดท้ายของกระบวนการของมัน จะทำให้จิตสงบเท่านั้น

ถ้าเราใช้ปัญญา สิ่งต่างๆ เราพิจารณาไป มีสติควบคุมความรู้สึกเราไป สิ่งนี้มันอยู่ในกรอบ ในกรงขังของขันธ์ ๕ ของสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง สัญญาของเรา...ใช่ ถ้าไม่ใช้สัญญา เราจินตนาการไปพ้นจากสัญญาไป มันก็มีเวทนา ขันธ์มันก็ควบคุมไว้ มีวิญญาณรับรู้ต่างๆ มันขังอยู่ในกรงขังอันนี้ แล้วถ้าเราใช้ปัญญาของเราพิจารณาไป มันแค่ปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามา มันก็สงบเข้ามาในกรงขังนั่นแหละ มันไปไม่รอดหรอก มันไปไม่ได้

มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นความเข้าใจ เป็นความเข้าใจเพราะอะไร เพราะว่ามันต้องถูกต้องไง แต่ไม่ชอบธรรม ถ้าชอบธรรมล่ะ ถ้าชอบธรรม เราจะต้องตั้งสติของเรา เราตั้งสติของเรานะ เวลาเราบวชกับอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์ให้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่กรรมฐาน ๕ สิ่งที่กรรมฐาน ๕ เราพิจารณาของเราอย่างนี้ มันเป็นกายนอก กายนอก ดูสิ เวลาเราเดินทาง เกิดอุบัติเหตุ เกิดต่างๆ เราเห็นสภาวะ เรายังกระอักกระอ่วนเลย

เราเกิดมาตั้งแต่เด็ก โตขึ้นมา แล้วชราภาพไป “ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด” แต่เราไปมองสภาวะแบบนั้นเราถึงมันไม่สะเทือนใจ เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้เป็นธรรมดา ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมดา คนเราเกิดมาก็ต้องตาย เราใช้ชีวิตไปวันๆ หนึ่ง นี่มันก็ว่าสภาวธรรม เข้าใจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

มันถูกต้องไหม? ถูก พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น สอนว่าชีวิตนี้มีค่ามาก ขณะที่ประพฤติปฏิบัติ ชีวิตนี้มีค่ามาก เพราะการเกิดเป็นมนุษย์เกิดได้แสนยาก เกิดแสนยากจริงๆ นะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเหมือน...จิตถ้าเวียนไปในวัฏฏะ เหมือนกับเต่าตาบอดอยู่ในทะเล ถ้าโผล่ขึ้นมาในบ่วงที่เขาทิ้งไว้ในทะเล โผล่ขึ้นมาในบ่วงนั้นจะได้เกิดเป็นมนุษย์ แล้วในทะเลบ่วงมันไม่ใหญ่ โผล่แล้วโผล่เล่า มันได้เกิดในบ่วงนั้นไหม ถ้าไม่ได้เกิดในบ่วงนั้น จิตนี้ก็ต้องเวียนไป

แล้วเราก็ปฏิเสธว่าจิตนี้ไม่มี ความรู้สึกนี้ไม่มี...ถ้าความรู้สึกไม่มี จิตวิญญาณไม่มี เราต้องไม่ทุกข์ เราต้องไม่มีสิ่งที่รับรู้ ไม่แบกภาระ ไม่เบียดเบียนใจของตัวเอง ไม่ให้กิเลสขับไสให้เรามีความรู้สึกเจ็บแปลบแสบร้อนนะ เวลาคิดถึงเรื่องภพนี่เจ็บแสบมาก แล้วชอบ แต่ถ้าเป็นคุณงามความดี คิดได้ชั่วครั้งชั่วคราว เห็นไหม สิ่งนี้โลกธรรม

โลกธรรมนะ ถ้าเป็นสรรเสริญ เป็นสิ่งที่เขาเยินยอนะแค่ลมพัด แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ว่าติฉินนินทานะ เหมือนเสาเข็มปักไปที่หัวใจ สะเทือนมาก สิ่งนี้สะเทือนมากแล้วก็ชอบคิด แต่ก็เก็บไว้ในใจกัน เก็บไว้ในหัวใจ สิ่งนี้โลกธรรมที่เวียนไปในวัฏฏะ สิ่งที่มีอยู่อย่างนี้แล้วปฏิเสธได้ไหมว่าไม่มี ถ้าสิ่งนี้มีอยู่ แล้วนิพพานอยู่ที่ไหนล่ะ? นิพพานอยู่ที่ความรู้สึก นิพพานอยู่ที่ใจ ธรรมแท้ๆ อยู่ที่นี่

ถ้าธรรมแท้ๆ อยู่ที่นี่ เวลาออกประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ออกประพฤติปฏิบัติ พระปฏิบัติ ฆราวาสปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติ ศึกษาธรรมและวินัยมาเพื่อเป็นการประพฤติปฏิบัติ ศึกษากฎหมายมา กฎหมาย ใครเป็นคนใช้กฎหมาย ถ้าเป็นคนที่ทุจริต กฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มาก เพราะอะไร เพราะสิ่งที่กฎหมายแสวงหาประโยชน์มหาศาลเลย ใช้กฎหมายออกไปหาประโยชน์มหาศาล แต่ถ้าเป็นคนที่ดีล่ะ กฎหมายทำให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข นี่มันเรื่องของโลก ชอบธรรมไหมๆ? ชอบโดยอามิส

เราทำบุญกุศลกัน การเกิดและการตายไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งนี้จะให้ขับเคลื่อนไป สิ่งนี้ชอบธรรมในโลก ไม่ใช่ชอบธรรมในธรรม ถ้าชอบธรรมในธรรม เราจะต้องทำความสงบของใจ เราจะประพฤติปฏิบัติใช่ไหม เพราะอะไร เพราะศาสนากึ่งพุทธกาล ศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง...

...ครูบาอาจารย์ของเราได้ประพฤติปฏิบัติมา สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาโคนำฝูง จะต้องมีครูมีอาจารย์ แล้วต้องครูบาอาจารย์ที่รู้จริงด้วย ไม่ใช่ครูบาอาจารย์ เหมือนนักกฎหมาย ใช้กฎหมายครอบงำ สิ่งนี้ครอบงำ แล้วก็เป็นสิ่งที่เชื่อกันว่าโลกเป็นสภาวะแบบนี้ ปฏิบัติไปทำตามธรรมวินัยแบบนี้ นี่มันเป็นจินตนาการ สิ่งที่จินตนาการแล้วบวกกับจิต จิตนี้มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก ความคิดของเรานี่มหัศจรรย์มาก สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมาก็เกิดมาจากไหน? ก็เกิดมาจากการทดสอบ การทดลอง

ธรรมและวินัยมีอยู่แล้วเหมือนทฤษฎี ธรรมและวินัยมีอยู่แล้ว แล้วเราทดสอบทดลองของเราไป แต่ทดสอบทดลองด้วยกรงขังของอวิชชา จิตมันก็จินตนาการไปสภาวะแบบนั้น ไม่ชอบธรรม แต่ถ้าครูบาอาจารย์ผ่านการประพฤติปฏิบัติมา ถ้าจิตไม่สงบ สิ่งที่เกิดขึ้นมาในความคิดใต้กรงขังนี้ ใต้กรงของกิเลส มันจะเป็นโลกียปัญญา สิ่งที่เป็นโลกียปัญญา ถ้าสติเราตามทันโลกียปัญญาไป ความสงบของใจ สิ่งที่สงบเข้ามามันก็สงบอยู่ในกรงขัง สิ่งที่สงบในกรงขัง แล้วถ้ามันยกขึ้นวิปัสสนาล่ะ ปัญญาที่ไม่อยู่ในกรงขังอยู่ที่ไหน? ปัญญาที่ไม่อยู่ในกรงขัง ปัญญาที่เกิดขึ้นจากวิปัสสนาอันนี้ สิ่งที่เป็นอย่างนี้นี่ชอบธรรมก็ชอบธรรมอย่างนี้ ถ้าชอบธรรมมันสะเทือนอะไร? มันสะเทือนกิเลส

ถ้าไม่ชอบธรรมนะ มันเป็นเหมือนหินทับหญ้า สิ่งที่เป็นหินทับหญ้า เราวิปัสสนากัน เราปฏิบัติกัน สิ่งนี้มันเป็นหินทับหญ้าไว้เท่านั้น แล้วหินทับหญ้าเราก็ไม่เข้าใจว่าหินทับหญ้าด้วย เพราะอะไร เพราะไม่เคยเห็น สิ่งที่ไม่เคยเห็นนะ สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากใจ แม้แต่จิตที่สงบ เห็นแค่นิมิตเราก็ตื่นเต้นไปกับนิมิตของเรา

สิ่งที่เป็นนิมิตเพราะจิตมันเห็น พอจิตเห็นสิ่งต่างๆ อย่างนี้ เราต้องย้อนกลับมาที่พุทโธ ย้อนกลับมา สติควบคุมมา สิ่งที่เกิดขึ้นใครเป็นคนเห็น จิตนี้เป็นคนเห็น ดวงตาของใจเห็นจากภายใน ไม่ใช่เห็นจากตาเนื้อ ตาเนื้อยิ่งเห็นยิ่งสงสัยนะ แล้วพอจิตมันเห็น เห็นนิมิตเห็นต่างๆ เรากลับมาที่พุทโธ กลับมาที่สติ สิ่งนี้จะสงบตัวลง ถ้าสงบตัวลง เห็นไหม จิตส่งออกทั้งหมด เห็นต่างๆ แล้วตามสิ่งนี้ไป พลังงานมันใช้ออกไป ใช้ออกไปนะ แล้วถ้าสติอ่อนลง เกิดสิ่งต่างๆ มันชักจูงไปได้

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์จะย้อนกลับมาที่นี้ ย้อนกลับมาที่สติ สิ่งที่สติเหมือนสวิตซ์เลย ถ้าเราดับได้ เราปิดสวิตซ์ได้ สิ่งนี้พลังงานจะไม่ออกไป ยิ่งปิดสวิตซ์ ดูสิ เวลาเราประพฤติปฏิบัติ หลับตา หู จมูก ลิ้น เปิดแต่ใจไว้ไง พุทโธๆ ให้จิตสงบเข้ามา ถ้าสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้าไปมันก็ออกไปรับรู้อย่างนั้น ถ้าเรามีสติก็ย้อนกลับมาที่นี่

ถ้าผู้ที่เวลาจิตสงบแล้วไม่เห็นสิ่งต่างๆ จิตสงบไปโดยธรรมชาติของเขา จะอ่อนลงไปเรื่อยๆ จะเริ่มสงบลง มีสติควบคุมจิตไปเรื่อยๆ สภาวะแบบนี้อย่างนี้ไม่ต้องไปวิตกกังวลว่า ทำไมถ้าปฏิบัติแล้วต้องเห็นนิมิตอย่างนั้น ถ้าไม่เห็นนิมิตอย่างนั้นเป็นปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ถ้าจิตสงบอย่างนี้มันไม่เหมือนเขา ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไป สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของจริตนิสัยไง

ถ้าไม่มีครูอาจารย์นะ สิ่งนี้ถ้าเป็นกฎหมาย กฎหมายเขียนไว้ต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป แล้วพอเราเห็นว่านิมิต สิ่งนี้ปฏิบัติไปถ้าใครเห็นนิมิต สิ่งนั้นเป็นปฏิบัติที่ผิด ติดในนิมิต

การติด ไม่ติด มันอยู่ที่การแก้ไข เหมือนอาหารถ้าใครกินอาหารรสชาติอย่างใด ชอบอาหารสิ่งนั้น ถ้าอาหารสิ่งนั้น เราได้กินอาหารสิ่งนั้นมันก็ถูกใจ ถ้าไม่ได้กินอาหารสิ่งนั้น อาหารก็กินได้ แต่ไม่ถูกใจ ดำรงชีวิตนี้ได้ นี้คือเรื่องของชีวิตนะ เรื่องของธาตุ เรื่องของธรรมะแฝง ธรรมะแฝงคือธาตุ ๔ สิ่งนี้แฝงมา แต่ธรรมะจริงคือหัวใจ ธรรมะจริง ธรรมะจริงๆ คืออยู่ที่หัวใจ คือความสุขและความทุกข์ ธรรมะแฝงคือร่างกายของเรา เพราะเราเกิดมามีสิ่งนี้ นี้ธรรมะแฝง ได้กินอาหารยังถูกใจ ยังพอใจ ได้กินอาหารที่ไม่ถูกใจก็ต้องดำรงชีวิตไว้ ชีวิตนี้รักษาได้ แม้แต่อาหารถูกใจและไม่ถูกใจ ถ้าธาตุ ๔ ได้อาหาร มันก็ทรงตัวของมันได้

แต่ธรรมะไม่เป็นอย่างนั้น ธรรมะนะถ้าปฏิบัติไปไม่ตรงจริต ไม่ตรงนิสัย ไม่ตรงกับจริตไง เวลาเราวิปัสสนาไป ผู้ที่ความสงบของใจ แล้วพอใจสงบขึ้นมาน้อมไปที่กาย เห็นกายได้เป็นบางครั้งบางคราว บางทีเห็นกายไม่ได้ แต่ถ้าเป็นธรรม เป็นธรรมนี่ตรงกับจริต มันมีเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ พิจารณากายก็ได้ กายนี่แหละ พิจารณากาย ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ จิตสงบไปน้อมไปที่กายจะเห็นกาย เห็นสภาวะกาย

การเห็นกาย อย่างที่เราเห็นจากกายนอก เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เห็นจากภายนอกเป็นกายนอก ถ้ากายนอกเราเห็นแล้วมันสลดสังเวช นี่จิตหดเข้ามา จิตหดเขามานะ มันจะหดเข้ามาเป็นตัวของตนเอง

แต่ถ้าจิตหดเข้ามา เรามองสิ่งต่างๆ เหมือนกับเราปล่อยพลังงานออกไป พลังงานนี้จะรับรู้ไปหมด โลกนี้มีเพราะมีเรา เราจะรับรู้ไปทั่วโลกทั่วจักรวาลเลย เรารู้ไปหมด แต่ถ้าสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามามันจะปล่อย นี่ก็เหมือนกัน กายนอก ขณะที่เห็นกายนอก จิตมันออกไปรับรู้ เราเห็นต่างๆ มันก็เป็นธรรมชาติ เหมือนกับสิ่งที่เป็นผลไม้ มันวางตรงไหนมันก็รับรู้สิ่งนั้น เปลือกไง เปลือกรับรู้ไปหมดเลย แต่ตัวของเนื้อผลไม้ล่ะ

จิตก็เหมือนกัน พลังงานออกไปรับรู้นี่กายนอก กายนอกรับรู้สิ่งต่างๆ ถ้าเราใช้ปัญญา เราใช้สติควบคุม เราดู สิ่งนี้มันเป็นเรื่องที่ต้องผุพังไปเป็นธรรมดา มันเป็นกายของเขา ไม่เห็นกายของเรา มันจะสงบเข้ามา สิ่งที่จิตนี้สงบเข้ามา สงบเข้ามาเป็นกัลยาณปุถุชน แต่ถ้าเป็นปุถุชนนะ สิ่งใดกระทบรับรู้หมด อายตนะรับรู้หมดเลย เสียงก็เสียง เรารับรู้เสียงดีเสียงชั่ว ตาก็เห็น กลิ่นรับรู้ไปหมดเลย

แต่ถ้าสติพร้อม ขณะกำหนดพุทโธๆ ให้สติเข้ามา นี่กรงขังทำลายกันอย่างนี้ไง กรงขังคือโดยธรรมชาติของจิตที่มันส่งออกแล้วรับรู้โดยผ่านอายตนะทั้งหมด สิ่งนี้เป็นกรงขังของจิต เป็นกรงขังของใจที่มันทุกข์ร้อนอยู่นี่ จิตที่มันเกิดมาแล้วทุกข์ร้อน ธรรมะจะเกิดเกิดตรงนี้ เกิดตรงเรารู้เรื่องของตน รู้เรื่องของใจของเรา ไม่ใช่รู้เรื่องวิชาชีพ ไม่ใช่รู้เรื่องสัตว์ เรื่องปัจจัยของโลกเขา โลกสภาวะแบบนี้มันเป็นไปโดยธรรมชาติของเขา โลกนี้เป็นอจินไตย

แต่โลกในหัวใจของเรา โลกนอกเป็นอจินไตย แล้วโลกใน โลกในคือโลกหมู่สัตว์ คือเรา โลกนี้ ถ้าแก้ไข นิพพานอยู่ที่นี่ ความสุขความทุกข์อยู่ที่นี่ เห็นไหม เราใช้สิ่งนี้ออกไปวิปัสสนา ออกไปใคร่ครวญกายนอก กายนอกคือสิ่งที่เราไปกระทบ มันจะหดเข้ามาๆ พุทโธก็เหมือนกัน กำหนดพุทโธด้วยสติสัมปชัญญะ สิ่งต่างๆ มันรับรู้ เห็นไหม ฟุ้งซ่าน เวลาจิตรับรู้ เรากำหนดพุทโธ คิดพุทโธขนาดไหนก็ไม่อยู่กับพุทโธ เพราะธรรมชาติมันออกไปรับรู้ เราเอาพุทโธกั้นไว้เป็นคำบริกรรม เอาจิตที่มันออกไปรับรู้ต่างๆ ไม่ให้มันไปรับรู้สิ่งนั้น ให้มันกลับมาอยู่ที่พุทโธ

พุทโธๆ เป็นพุทธานุสติ เป็นชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทโธๆ เป็นนามก่อน แต่ถ้าเราพุทโธไปเรื่อยๆ จิตมันจะเริ่มอาศัยเกาะพุทโธเป็นคำบริกรรม มันมีหลัก จุดยืนไง ถ้าจิตไม่มีจุดยืนนะ ตั้งสติเฉยๆ ดูจิตอยู่เฉยๆ ดูจิตเฉยๆ มันก็สงบได้ มันก็ปล่อยได้เพราะเราดูจิต แต่มันไม่มีจุดยืน ไม่มีคำบริกรรม ขณะที่มีสติ สติมันจะปักหลักลงที่ไหนล่ะ ถ้าคนไม่มีจุดยืน เลื่อนลอย ถ้าไม่มีคำบริกรรม เลื่อนลอย พอเลื่อนลอยไป คนเลื่อนลอย หรือคนมีจุดยืน เขาทำงานของเขาได้เหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน ดูจิตก็ทำงานได้เหมือนกัน สิ่งที่ดูจิต แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ไม่ใช่ดูจิต มันเห็นการกระทำของจิต จิตนั้นเคลื่อนออกไปอย่างไร แล้วเราตามกระแสนั้นออกไป มันปล่อยหดเข้ามา สิ่งนี้มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ แต่ถ้าเป็นพุทโธๆ จิตนี้มีจุดยืน มีที่ยึดเกาะ สิ่งที่ยึดเกาะ พุทโธไปเรื่อยๆ มันจะสงบเข้ามา สงบต่างกับอะไร? สงบต่างกับความฟุ้งซ่าน สิ่งที่เป็นฟุ้งซ่าน สิ่งที่มันคอยแทรกออกมาจากความรู้สึกของเราอันนี้มันเป็นเรื่องของกิเลส สิ่งที่มันสงบเข้ามาอย่างนี้แล้วมีจุดยืนอย่างนี้ พร้อมเข้ามา นี่กัลยาณปุถุชน สิ่งนี้มันจะเริ่มเป็นชอบธรรม

ถ้าความชอบธรรม ความดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ สัมมาสมาธิชอบ แล้วถ้าเป็นมิจฉาสมาธิล่ะ มันเป็นสมาธิชอบไหม? มันก็เป็นสมาธิเหมือนกัน สิ่งที่เป็นสมาธิ สมาธิทำไมมันมีชอบและไม่ชอบล่ะ เราเข้าใจว่าเราทำสมาธินี่เป็นทำถูกต้อง เราทำสมาธิทำถูกต้องแล้ว

แม้แต่สมาธิมันยังมีมิจฉา มีสัมมาเลย แล้วเราใช้ปัญญาของเราว่าสิ่งนี้เป็นปัญญาของเรา เหมือนกับนักกฎหมาย แล้วใช้กฎหมายโดยกิเลสพาใช้ ไปหาผลประโยชน์ ไปทำลายคนอื่นเพื่อผลประโยชน์นะ นี้คือการทำลายคนอื่น แต่ถ้ากิเลสมันพาจิตนี้เข้าใจผิดนะ มันทำลายโอกาสของเรา มันทำลายความเป็นไปของเรา

ถ้าความเพียรชอบ งานชอบ มันจะเป็นมรรคญาณ ถ้าความเพียรมันเป็นความเพียร แต่มันไม่ชอบ ไม่ชอบเพราะอะไร ไม่ชอบเพราะมีอุปาทาน ไม่ชอบเพราะมีกิเลส ไม่ชอบเพราะสมาธิ เวลาเป็นสมาธิขึ้นมา มันก็ส่งออก สมาธิขึ้นมาแล้ว ถ้าเกิดถ้าเป็นนิมิตไปเห็นสิ่งต่างๆ ก็ไปเข้าใจว่าตนเป็นผู้รู้ ตนเป็นผู้วิเศษ จะรู้อนาคต รู้ความเป็นไป เป็นสิ่งที่ไร้สาระเลย

ในการประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าเป็นสัมมาล่ะ สัมมาเป็นพลังงาน สัมมา ดูสิ ดูเราหาทุน ทุนของเรา ถ้าเป็นทุนที่บริสุทธิ์ ทุนของเราที่ดี ทุนอันนี้จะสร้างสมเป็นธุรกิจ สร้างสมเป็นผลประโยชน์ สร้างสิ่งที่เป็นมรดกตกทอดให้กับลูกหลานได้เลย แต่ถ้าทุนอันนั้นมันเป็นทุนที่ไม่บริสุทธิ์ ทุนอันนี้มันจะชักจูงไปในทางเสียหาย นี่มิจฉาและสัมมาเป็นอย่างนี้ สมาธิเป็นทุน ถ้าสมาธิเป็นทุน มันจะเข้ามาในทางที่ชอบ

ถ้าสมาธิชอบ สิ่งที่ชอบ ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ สิ่งที่ธรรมะชอบ ถ้าธรรมะชอบมันก็ย้อนกลับเข้ามา มันไม่ใช่ความคิดในกรงขัง ถ้าความคิดในกรงขังมันเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่ชอบเพราะมีกิเลส ไม่ชอบเพราะมีสิ่งที่พาออกนอกลู่นอกทาง นอกลู่นอกทางเพราะกิเลสพาคิดไง

นี่จินตนาการไป ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อ้าง อ้างว่าเป็นปรมัตถธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องประพฤติปฏิบัติโดยสิ่งที่ก้าวเดินตาม สิ่งนั้นเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เพราะอะไร

เป็นไปไม่ได้ แม้แต่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา ความรู้ความเป็นไปยังเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ แต่ถ้าเป็นพาหะเป็นเครื่องดำเนิน เป็นเป้าหมายเป็นวิธีการ...ได้ ถ้าเป็นวิธีการ เป็นวิธีการศึกษามาเพื่อกำลังใจ เพื่อความมุมานะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ อัครสาวกต่างๆ ที่เอตทัคคะ ๘๐ องค์ สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตั้ง เป็นผู้ตั้งเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องมีความรู้เหนือกว่าอย่างนั้น อย่างนี้เป็นพุทธวิสัย สาวกสาวกะของเราที่ประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่เราทำแล้ว เราไม่ต้องให้เป็นตามรอยอย่างนั้น ถ้าตามรอยเพราะอะไร เพราะเราไม่กล้าปฏิบัติ เราไม่กล้า เราเป็นความถูกต้องตามกฎหมาย ถูกต้องตามธรรมวินัยในความคิด ในความเห็นของกิเลสที่มันพาออกนอกลู่นอกทาง

แต่เวลาจิตมันสงบ ผู้ที่จิตสงบนะ เวลาตกจากที่สูง สิ่งนี้มันมีในพระไตรปิฎกไหม ในพระไตรปิฎกบอกว่า สมาธิจะเป็นอย่างนี้ สมาธิจะออก เข้าไปแล้วแสงสว่างจะเกิดอย่างนั้น ในพระไตรปิฎกบอกไว้ไหม? ไม่ได้บอกเลย

แต่ถ้าจิตของคนที่จิตสงบนะ เริ่มมีความสว่าง สว่างขนาดไหน ตั้งสติไว้ แล้วดึงความสว่างนั้นเข้ามาเรา เราอย่าออกไปเห็นความสว่าง ขณะที่จิตเห็นความสว่าง เพราะสว่างไม่ใช่จิต จิตเห็นความสว่าง ฟังสิ จิตส่งออกไปรับรู้ ถ้าจิตสงบขนาดไหน เห็นความสว่างต่างๆ ทำความสงบของจิตไว้ ตั้งสติไว้ แล้วกำหนดพุทโธไว้ สิ่งที่เป็นความสว่าง สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเราจะเข้ามาหาเรา พอเข้ามาหาเรา สิ่งที่เข้ามาหาเรา พอจิตนี้ความสว่างเข้ามาถึงจิต จิตนี้สว่างมาก

ความสว่างเกิดมาจากไหน? ความสว่างเกิดมาจากผู้รู้ ผู้รู้อยู่ที่ไหน? ผู้รู้คือเรา แล้วผู้รู้กับเราเป็นอันเดียวกัน เราจะไปสงสัยอะไร เราจะไม่สงสัยสิ่งใดเลย ถ้าจิตมันรู้มันเห็นของมัน อย่างนี้พระไตรปิฎกบอกไว้ไหม อย่างนี้เราจะไปค้นหาได้ที่ไหน

แต่ถ้ามันเป็นความเห็นของเรา มันเป็นไปของจิต นี่ธรรมอยู่ที่นี่ไง

“ถูกต้องชอบธรรม” ชอบธรรมเพราะเป็นสันทิฏฐิโก จิตรับรู้ สภาวธรรมมีชีวิต

จิตเวลาทุกข์ ทุกข์แสนทุกข์แสนยาก เวลามีความสุขนะ พอเริ่มปล่อยวาง เพราะถ้าไม่ปล่อยวาง จิตนี้สว่างไม่ได้ จิตเป็นสมาธิไม่ได้ถ้าจิตไม่ปล่อยวาง จิตที่ไม่เป็นสมาธิเพราะมันแบกหามอารมณ์ แบกหามความทุกข์ แบกหามความต้องการ แบกหามตัณหา ตัณหาความทะยานอยากกดถ่วงจิตไว้ แล้วเราก็ชอบสิ่งที่เครื่องล่อ เพราะสิ่งนี้เป็นอาหารของกิเลสมันปั้นแต่งให้จิตนี้ได้ดื่มกิน แล้วจิตก็เสวยอารมณ์อย่างนี้ออกไปตามกิเลส แล้วมันจะเป็นความสงบมาจากไหน

แต่ถ้าพุทโธๆ ให้จิตเสวยกินพุทโธ กินคำบริกรรม นี่เป็นธรรม จืดสนิทดี เป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์กับจิต จิตก็ไม่อยากทำ มันจะดีดมันจะดิ้นของมันถ้ามีกิเลส

เริ่มต้นในการประพฤติปฏิบัตินะ จะทุกข์ยาก สิ่งที่ทุกข์ยากเพราะอะไร เพราะอำนาจในหัวใจ อำนาจของความคิดเอาไว้ได้ยากมาก แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะทุกข์ยากตลอดไปนะ ดูเครื่องยนต์สิ เครื่องยนต์ที่มันสตาร์ทติดได้ยาก เราจะต้องพยายามซ่อมแซม แล้วพยายามติดให้ได้ แต่ถ้าเราติดแล้วซ่อมแซมบ่อยครั้งเข้าๆ เราจะติดได้ชำนาญมาก สิ่งที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ในการประพฤติปฏิบัตินะ เริ่มต้นจะล้มลุกคลุกคลาน กิเลสมีอำนาจมากเหยียบย่ำทำลายตลอด การต่อสู้อย่างเด็กอ่อน เด็กอ่อนไปต่อสู้กับผู้ใหญ่ที่มีกำลัง กิเลสมีกำลังมาก แล้วเรานี่เรานอนใจไง บอกศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรมให้กิเลสหลอกไปตลอด

กิเลสจะหลอกไปตลอดเลยว่านี่เป็นธรรม ถูกต้องชอบธรรมแล้วตามตำราเลย ถูกต้อง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาตามตำราหมดเลย เห็นไหม กิเลสมันหลอกให้เราเดินตามไปนะ ให้โอกาสให้เราได้ลิ้มรส ลิ้มรสโดยจินตมยปัญญา ว่าง สบาย แล้วก็พอใจ...พอใจกันอยู่นั้นไม่ชอบธรรมเลย มันเป็นเรื่องโลกๆ แล้วเราปฏิบัติอยู่ในโลก เราจะไม่ถึงเนื้อในของใจ

ถ้าจะเข้าไปเนื้อในของใจ พอจิตสงบเข้ามา สิ่งนี้มันจะประเสริฐมาก จิตสงบนะแล้วย้อนไปวิปัสสนา ถ้าย้อนไปที่กายเห็นสภาวะกายนะ แยกแยะ แยกแยะนะ เห็นสภาวะกาย การเห็นกาย ผู้ที่เห็นกายนะจะสะเทือนหัวใจ การเห็นกาย ดูสิ จากกายนอก เราเห็นจากกายนอกนะ ดูซากศพ ดูสิ่งที่เป็นเรื่องของโลกที่ของไม่สวยไม่งาม มันก็กระเทือนใจแล้ว มันกระเทือนใจเพราะมันต้องการให้อยู่กับเราตลอดไป ให้ความพอใจอยู่กับเราตลอดไป มันเป็นไปไม่ได้หรอก “ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด” ชีวิตนี้

แต่ขณะในปัจจุบันนี้มันมีลมหายใจอยู่ก็ผัดวันประกันพรุ่งนะ เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้อยากเสพ อยากพอใจกับสิ่งปกตินี้ สิ่งที่ยังเป็นปัจจุบันนี้ แล้วเวลาชราภาพ เวลาแก่ขึ้นมา ปฏิเสธ แล้วมันเป็นไปได้ไหม? มันเป็นไปไม่ได้เลย ขณะปัจจุบันนี้ในเมื่อมีศรัทธานะ ศรัทธา ยังมีศรัทธา มีความเชื่อ จะเริ่มต้นจากเปิดโอกาสให้ใจ ถ้าใจมันเปิดโอกาสมา งานอย่างนี้ งานประเสริฐที่สุด

ใช่ ในเรื่องของโลก เวลาเราบอกว่า เราต้องมีหน้าที่การงาน เราต้องประพฤติปฏิบัติ เราต้องมีหน้าที่การงานของเรา เราจะไม่มีเวลา

คนเรานะ ถ้ามันจะตายนะ เวลามีทุกเวลาเลย ขณะทำงานอยู่ ตายคาหน้าที่การงานก็มี ตายในขณะนอนแล้วไม่ตื่นก็มี ตายเพราะเจ็บไข้ได้ป่วยก็มี มันต้องตายทั้งนั้นล่ะ ถ้าตายเวลามาจากไหนล่ะ เวลาเราไปประพฤติปฏิบัติบอกเวลาไม่มี นี่ถูกต้องชอบธรรมไหมล่ะ มันชอบด้วยกิเลส มันจะดึงออกไปอย่างนั้น

ถ้าชอบธรรมนะ มันจะมีความมุมานะ มันจะมีกำลังใจของมัน เห็นคุณประโยชน์นะ ชีวิตเป็นอย่างนี้ แล้วเวลามีศรัทธา มีความเชื่อนะ กิเลสในหัวใจมันไม่เชื่อตามหรอก มันเชื่อส่วนใหญ่ แต่ส่วนน้อยมันก็มีความลังเลสงสัย แต่ถ้ามีครูมีอาจารย์คอยชี้นำมา แล้วในปัจจุบันนี้ ปัจจุบันนี้ มีครูมีอาจารย์ เพราะกึ่งพุทธกาล กึ่งพุทธกาลจริงๆ นะ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ในพระไตรปิฎก

แล้วเราเกิดกึ่งพุทธกาล เกิดพร้อมกับผู้ที่จะเยียวยารักษาโรคของใจได้ แล้วเราประพฤติปฏิบัติเข้ามา ครูอาจารย์เป็นผู้ชี้นำ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้คำหนึ่งว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้นำเท่านั้น เราต้องเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เพราะการรักษาของโรค ถ้าเราไม่ยอม เราไม่ทำ เขายังเอาสารเอาเรื่องยาเข้าไปรักษาคนไข้ได้

แต่ของจิตนี่นะ ถ้ามันติด มันไม่ยอมรับ ถ้ามันไม่ยอมรับนะ แม้แต่ครูบาอาจารย์สั่งสอนขนาดไหน มันเบี่ยงเบนเป็นความเห็นผิดหมดเลย เพราะอะไร เพราะใจมันไม่ยอมรับ แต่ถ้าใจยอมรับ ศรัทธามีนะ จะเอาสิ่งนี้มาเป็นเครื่องเทียบเคียง เครื่องเทียบเคียงหาเหตุหาผล ถ้าเรามีเครื่องแค่เทียบเคียงหาเหตุหาผล นั่นน่ะเรามีโอกาสแล้ว เพราะอะไร เพราะเราไม่เคยตั้งปัญหาถามเราเลย ชีวิตนี้คืออะไร เกิดมาทำไม เกิดมาแล้วมีประโยชน์อะไร สมบัติขนาดไหน สมบัติมีมากขนาดไหนมันเรื่องของโลกๆ ถ้าเราบริหารจัดการสิ่งนั้นก็เป็นประโยชน์

แต่ถ้าสิ่งนั้นมันเป็นโทษนะ เราไปแบกรับภาระ สิ่งนั้นเป็นภาระมาก แต่ถ้าประโยชน์ของใจล่ะ “อริยทรัพย์” อริยทรัพย์ สุขทุกข์คนนะ ดูสิ ดูเวลาครูบาอาจารย์ของเราดำรงชีวิต ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ ๕ กับธาตุ ๔ นี่เป็นภาระ เป็นภาระคือการดำรงชีวิต จนรอถึงวันที่สิ้นสุดอายุขัย แล้วก็จะพลัดพรากจากกันโดยไม่มีเยื่อใย

แต่ของเรามันเป็นขันธมาร ขันธ์นี่เป็นมารทั้งหมดเลย สิ่งนี้ขับเคลื่อนไปโดยความทุกข์ ความบีบคั้น สิ่งที่บีบคั้นมันมาจากไหน มันมาจากไหน แล้วสิ่งนี้ถ้าเป็นอริยทรัพย์ อริยทรัพย์คือทรัพย์ตรงนี้ สิ่งนี้เป็นอริยทรัพย์นะ ถ้าไม่เป็นอริยทรัพย์ ชีวิตนี้เป็นอริยทรัพย์ เพราะเราเกิดมาเป็นชีวิตแล้วมีโอกาสประพฤติปฏิบัติ

คนที่เขาไปตื่นกับทางโลก สิ่งนั้นเป็นเครื่องแบกหาม เป็นเรื่องของภาระ ดูสิ ดูเวลาผู้ที่เขามีมรดก เขาต้องทำพินัยกรรม เขาต้องทำไว้เพื่อให้ลูกหลาน เขายังเป็นความทุกข์ความยากว่ามันจะได้เสมอภาคไหม มันจะมีการแก่งแย่งกันไหม แต่ถ้าเป็นธรรมในหัวใจเราล่ะ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มอบมรดกให้เราบรรลุธรรมๆ ล่ะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนชี้ทาง มรดกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ให้เราก้าวเดิน แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปกับใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วมีร่องมีรอยไว้เป็นธรรมและวินัยไง สิ่งที่เป็นธรรมและวินัยเหมือนกฎหมาย เหมือนสิ่งทางวิชาการ เราจะไม่เอาสิ่งนี้มาครอบงำให้เราก้าวเดินไปไม่ได้

เอาสิ่งนี้เป็นวิธีการ แล้วเราปฏิบัติไป สิ่งที่เป็นสันทิฏฐิโกที่เกิดปฏิบัติกับเราขึ้นมา แล้วอย่าไปตกใจ ตกใจนะ เวลามีนักปราชญ์ เขาบอกว่าทำอย่างนี้จะผิดๆ...ผิดไปไหน ในเมื่อทำแล้วหัวใจมันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตัง มันรู้สุข รู้ทุกข์ ถ้ามันรู้สุขรู้ทุกข์ รู้ตามกันไป มันชอบธรรม มันชอบธรรมเพราะเป็นสัมมา สัมมามันไม่มีอุปาทาน ไม่มีกิเลสต่อต้าน ถ้ามีกิเลสต่อต้าน มันมีอุปาทานอันนั้น มันเป็นมิจฉา ถ้าเป็นมิจฉา เห็นไหม มันไม่ชอบธรรม ถูกต้องก็ถูกต้องตามตำราที่กิเลสมันหลอก กิเลสมันเสี้ยม

แต่เวลาชอบธรรมล่ะ ชอบธรรมเกิดจากใจของเราต่างหากล่ะ เพราะเป็นธรรมของใจในหัวใจที่ประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่ธรรมตามตำรา ธรรมตามตำรา เห็นไหม เขียนไว้ว่าอะไร ตามตำราก็ตัวอักษร แต่ความจริง ชื่อกับตัวจริงต่างกัน ธรรมในพระไตรปิฎกนั้นเป็นชื่อ แต่ขณะที่ประพฤติปฏิบัติ ใจมันสัมผัส ใจมันรู้ ใจมันปฏิบัติขึ้นมา ใจอันนี้ต่างหากมันเป็นธรรม

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ธรรมของพระสารีบุตรในใจของพระสารีบุตรก็นิพพานไปแล้ว ของเราประพฤติปฏิบัติมีกิเลสล้วนๆ เลย มันเป็นอธรรม มันเป็นอกุศล มันไปเบียดเบียนหัวใจไง แล้วประพฤติปฏิบัติโดยอกุศล โดยความไม่เป็นจริง

เวลาประพฤติปฏิบัติ การประพฤติ พระปฏิบัติ ปฏิบัติโดยที่มีตัณหาความทะยานอยากเป็นไปไม่ได้ ต้องไม่มีตัณหาความทะยานอยาก...ไม่มีตัณหามันก็พระอรหันต์เท่านั้นน่ะ แล้วเราปุถุชนน่ะ ปุถุชนที่กิเลสเต็มหัวใจ ไม่มีตัณหาได้อย่างไร ตัณหามันมีอยู่แล้ว ก็เหมือนกับเมล็ดพันธ์พืชมันมีเชื้อไขของมัน แล้วจะปฏิเสธบอกไม่มี แล้วเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้

แต่ถ้าเอาตัณหาความทะยานอยากมาปฏิบัติ มาแปลเป็นความเป็นมรรค เป็นปฏิบัติในเหตุ เห็นไหม ตั้งสติให้ดี ทำให้ดี แล้วมันเป็นไปเอง มันพัฒนาของมันไป มันพัฒนาไปจากกิเลสเต็มหัวใจนี่ มันพัฒนาแบบกิเลสที่อยู่ในกรงขังของจิตที่อยู่ในกรงขังของกิเลส

ถ้ามันพัฒนาขึ้นมาได้ มันทำความสงบได้ มันต้องมีทางไปได้ ถ้าไม่มีทางไปได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ไปไม่ได้ ครูบาอาจารย์เราจะปฏิบัติออกมาไม่ได้ ถ้าออกมาไม่ได้ตัณหาความทะยานอยาก สิ่งที่ตัณหาความทะยานอยาก อยากในผล อยากในสิ่งที่ไม่เคยกระทำเลย มันก็เป็นตัณหานะสิ

แต่ถ้าเราอยากในเหตุล่ะ เราทำแต่งาน แล้วผลงานออกมามันจะผิดไปไหนล่ะ ถ้าผลงานออกมาเป็นผลงานของเรา ถ้าเราไม่ยอมรับสิ่งใดๆ เลย เราบอกสิ่งใดไม่มีๆ เราปฏิเสธไปหมดเลย ทำเหตุ สร้างเหตุ ก็บอกกรรมไม่มี แล้วเวลาทำบาป ทำไมมันได้บาปล่ะ เวลาทำบาปทำชั่วทำไมมันได้ล่ะ แล้วทำความดีมันไม่ได้ ทำความดีบอกมันเป็นตัณหา มันเป็นไปไม่ได้

เห็นไหม เพราะไม่มีครูอาจารย์ เราก็ไปเชื่อนักปราชญ์ นักปราชญ์ไง ปราศจาก ปราศจนไม่มีสิ่งใดติดในหัวใจเลย แล้วก็ประพฤติปฏิบัติไปโดยอุปาทาน ไปโดยจินตนาการ สิ่งต่างๆ อย่างนี้ไม่ชอบธรรม ถ้าชอบธรรม จิตสงบเข้ามาแล้ว เราจิตสงบเข้ามา นี่มีครูอาจารย์ ถ้าเกิดนิมิต เราก็แก้ของเราไปตามแต่ว่ามีสติขนาดไหน จิตมีกำลังแค่ไหน ถ้ามีกำลังเข้ามา เราตั้งสติเข้ามา สิ่งนี้จะดับหมด

ถ้าสติพร้อม จิตนะ ผู้รู้ไม่ออกรับรู้ สิ่งต่างๆ ไม่มี มีเพราะผู้รู้นี่รับรู้หมดเลย ถ้าผู้รับรู้ ถ้ามันออกไป ส่งออก อย่างตอนปัจจุบันนี้ยังไม่เป็นประโยชน์ กลับมาที่พลังงานนี้ก่อน สร้างสมพลังงานนี้ขึ้นมา แล้วออกวิปัสสนาไป ถ้าชำระกิเลสได้นะ

จริตนิสัย เอตทัคคะ เวลาพระอนุรุทธะ รู้แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าสมาบัติอยู่ พระอรหันต์อยู่ด้วยกันล้อมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถามพระอนุรุธะว่า “พระพุทธเจ้าปรินิพพานหรือยัง” พระอนุรุทธบอก “ยัง” นี่ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องธรรมชาติ นั่งพูดกัน นั่งคุยกัน ปราศรัยกันเป็นปกติ รู้ตลอดไป

เพราะเป็นเอตทัคคะ การรู้ปรมัตถจิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังไม่ปรินิพพาน ขณะนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน อากาสานัญจายตนะ เข้าสมาบัติ ถอยกลับมาระหว่างอากาสานัญจายตะกับจตุตถฌาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปริพนิพพานระดับนี้ บัดนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว สิ่งที่รู้ที่เห็นอย่างนี้ สิ่งที่เห็นนี้เป็นเอตทัคคะ เป็นเพราะความชำนาญของจิต

แล้วถ้าจิตของเรา ถ้ามันไปเห็นนิมิต ไปเห็นสิ่งต่างๆ เราก็แก้ไขของเราไป แก้ไขกลับมาที่ผู้รู้ แก้ไขย้อนกลับมาที่ผู้รู้ สร้างสมพลังงานนี้ขึ้นมา ถ้าไปถึงชำระกิเลสหมดสิ้นแล้ว นี้มันจะเป็นประโยชน์กับจิต ถ้าสิ่งนี้เราเก็บไว้ก่อน เราไม่ส่งออกไป เหมือนกับเรามีเงิน เรารักษาเงินของเรา เงินคือสิ่งที่เป็นสัมมาสมาธิ เงินคือต้นทุน ถ้าจิตกลับมาที่สมาธิได้

เราต้องประกอบสัมมาอาชีวะต่างๆ สัมมาอาชีวะ สัมมาคือความถูกต้อง ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ทำสัมมาอาชีวะจนจิตนี้ได้เสวยโสดาปัตติผล ถ้าได้เสวยโสดาปัตติผล จิตนี้ สิ่งที่ได้เป็นโสดาปัตติผล นี่ความเห็นชอบ สิ่งที่เป็นความเห็นชอบ ชอบมาจากไหนล่ะ? ชอบมาจากเหตุ ชอบมาจากโสดาปัตติมรรค ถ้าโสดาปัตติมรรค

จิตที่มันฟุ้งซ่านอยู่เป็นปุถุชน แล้วพยายามควบคุมด้วยสติ ด้วยการฝึกฝนเข้ามา ด้วยกำหนดคำบริกรรมต่างๆ เข้ามา ให้ชอบธรรมๆ ชอบธรรมโดยฝ่ายปฏิบัติ สิ่งที่ศึกษาเล่าเรียนมานั้นเป็นแผนที่เครื่องดำเนินทั้งหมด แต่ถ้าการประพฤติปฏิบัติต้องเกิดจากใจทั้งหมด เกิดจากการประพฤติปฏิบัติต้องเกิดเป็นความจริงทั้งหมด

ถ้าเกิดจากการเทียบเคียง เกิดจากการจินตนาการ สิ่งนั้นเป็นมิจฉาทั้งหมด มิจฉาเพราะอะไร เพราะไม่ชอบธรรม จิตจะไม่เข้ามาสู่ความเป็นจริงเลย จิตจะโดนครอบงำ จะโดนย้อมไปด้วยกิเลส กิเลสจะเจือไป ย้อมไป สิ่งนี้ให้เราหมุนเวียนอยู่ในวัฏฏะอย่างนั้น การประพฤติปฏิบัติก็ประพฤติปฏิบัติไปโดยวัฏฏะ อยู่ในกรงขังของมารทั้งหมด ไม่พ้นจากบ่วงของมารได้เลย

แต่ถ้าจิตสงบเข้ามา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดธรรมะไว้ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เป็นบ่วงของมาร แล้วพ้นจากบ่วงของมารเป็นครั้งเป็นคราว ถ้าจิตสงบเข้ามา มันก็พ้นจากบ่วงของมารเป็นครั้งเป็นคราว

ขณะที่จิตไม่สงบฟุ้งซ่านอยู่ นั่นแหละ บ่วงเต็มคอ เต็มคอเพราะอะไร เพราะมันรับรู้ เสียงเขาว่าอย่างนั้น รส กลิ่นต่างๆ นี่บ่วงของมาร บ่วงคล้องทั้งแขนทั้งขาทั้งคอ บ่วงคือรูป รส กลิ่น เสียงทั้งหมด คล้องไว้หมดเลย เราติดบ่วง จิตสงบเข้ามาพ้นจากบ่วงชั่วคราว สิ่งที่พ้นชั่วคราวเพราะสมาธิมันเสื่อมได้โดยธรรมชาติ จิตเจริญแล้วเสื่อมโดยปกติของสมาธิ

สมาธิขนาดไหน เรามีความชำนาญขนาดไหน เรามีวสี เราควบคุมได้แค่ไหน จิตสงบเข้ามาบ่อยครั้งเข้าจนมีความชำนาญ สำคัญตรงนี้ สำคัญตรงมีความชำนาญ สำคัญตรงชำนาญในวสี สมาธิจะเสื่อมไม่ได้เลย ถ้าเรามีเหตุของเรา คำบริกรรมถึงสำคัญตรงนี้ สติถึงสำคัญตรงนี้ สำคัญตรงที่เราจะรักษาต้นทุนเรา คนมีทุนตลอดไปจะไม่ทุกข์ยากเลย คนมีอาหาร มีครัวติดไปกับใจ มีอาหารกินไปตลอดชีวิต มันจะไปกลัวอะไร จิตสงบพออยู่พอกิน

ถ้าจิตสงบนี่มีความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าคนมีความสุขขึ้นมาจะทำอะไรก็ได้ ถ้าคนขี้ทุกข์ขี้ยากจะไปทำอะไร จิตมันฟุ้งซ่าน จิตมันมีความกระด้าง จิตเหมือนกับดินจะปั้นหม้อ จิต ดินที่นวดดีแล้วควรแก่การงาน เขาจะปั้นหม้อปั้นไหขึ้นมาได้เลย ถ้าดินยังนวดไม่ได้เลย แข็งกระด้าง เหมือนดินไม่เคยเจอน้ำเลย มันจะมาปั้นได้ไหม ถึงต้องมีสมาธิ ถึงต้องทำความสงบ

“ศีล สมาธิ ปัญญา” แล้วถ้าปัญญามันเกิด พ้นจากบ่วงของมารชั่วคราวก็ย้อนไป พ้นจากบ่วงชั่วคราวกับพ้นจากบ่วงโดยสัจจะความจริงที่เป็นเอาความจริงที่เป็นความดำริชอบ เพียรชอบ ความถูกต้องและชอบธรรมของมรรคญาณ มรรคญาณจะเกิดอย่างไร? มรรคญาณจะเกิดจากจิต

มรรคเกิดอย่างไร มรรคน่ะ เวลาเราพูดมรรคนะ ตามตำรา มรรค ความเพียรชอบ งานชอบ เราใช้ปัญญาแล้ว มันเป็นเรื่องสมมุติโลกนะ โลกนี่สมมุติกัน อาชีพก็ว่าอาชีพชอบ เวลาพระบิณฑบาตไปเลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีพชอบมันเลี้ยงขันธ์ มันเลี้ยงธาตุ ไม่ได้เลี้ยงใจเลย ถ้าเลี้ยงใจ เห็นไหม คิดถูกคิดผิด ถ้าคิดเป็นสัมมา คิดเป็นความถูกต้อง เลี้ยงใจชอบ ปัญญาที่เกิดขึ้นมานี่ใจเสวยตลอดนะ เพราะใจมีกิเลส ใจมีอุปาทาน มีทิฏฐิ มีความเห็นผิด

แล้วเวลาปัญญามันเกิด มันเหมือนกับมันสำรอกออก การสำรอก สำรอกด้วยวิธีการใด? สำรอกด้วยมรรคญาณ ด้วยมรรค มรรคเกิดอย่างไร มรรค เห็นไหม เวลาจิตมันสงบขึ้นมา สิ่งนี้มันสงบเข้ามา จิตมันปล่อยวางชั่วคราว แล้วเราย้อนไปที่กาย

ถ้าเป็นเจโตวิมุตตินะ มันเห็นกาย สภาพกายนี้น้อมไปแล้วใช้พลังงาน เจโตวิมุตติใช้พลังงานของจิต รำพึงให้มันขยายส่วน แยกส่วน ตัดแขน ตัดขา ความเป็นไป เห็นไหม ตัดหนหนึ่ง ความเห็นหนหนึ่ง สอนจิตหนหนึ่ง จิตก็ปล่อยวางหนหนึ่ง ปล่อยวาง ปล่อยวาง ฝึกฝนบ่อยครั้ง การซ้ำ การปฏิบัติซ้ำ การทำซ้ำๆๆ ทางวิทยาศาสตร์ต้องการมากนะ การทำซ้ำเพื่อให้เห็นผลได้ชัดเจน พิจารณาซ้ำซ้อน การวิปัสสนาก็ต้องซ้ำ เพราะไม่ซ้ำมันปล่อยชั่วคราว เพราะอะไร

เพราะแก่นของจิตมันหนักหนานัก แก่นของกิเลสนะ มันปล่อยวางขนาดไหนจิตมันจะโล่งเพราะกิเลสมันเริ่มเบาลง คำว่า “กิเลส” เวลาเชื้อไข้อยู่ดับเรานี่มันตัวร้อนเป็นไข้ เราต้องเอาน้ำ เอาผ้าเย็นชุบ ทำให้ลดไข้ นี่ก็เหมือนกัน กิเลสที่มันหยาบๆ มันเป็นในหัวใจทั้งหมดเลย แล้ววิปัสสนาเข้าไปทำลายมัน ไข้มันอ่อนลงๆ

กับสมาธิ เวลาหินทับหญ้าไว้ ความรู้สึกต่างกันนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขณะที่ก้าวเดิน จะไม่รู้จักตรงนี้ เพราะอะไร เพราะว่ามันเหมือนคล้ายๆ กัน สงบก็อย่างหนึ่ง ว่างก็อย่างหนึ่ง แต่ถ้าผ่านขั้นตอนไปจนครบวงจรแล้ว จะย้อนกลับมาเห็นการถูกการผิดของใจนะ การก้าวเดินอย่างนี้ผิด การก้าวเดินอย่างนี้ถูก จะเห็นความผิดและความถูกจากการประพฤติปฏิบัติ เริ่มต้นตั้งแต่ก้าวเดินตั้งแต่เริ่มนับหนึ่งเลย แล้ววิปัสสนาขึ้นไป ปัญญาปล่อยวาง ปล่อยวางขนาดไหน พิจารณาซ้ำ ทำซ้ำ

ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ พิจารณากายโดยไม่เห็นกาย แต่กายมันจับอาการระหว่างจิตกับขันธ์ มันเสวยอารมณ์กันระหว่างจิตกับขันธ์ ระหว่างที่พลังงานมันเสวยเข้า เหมือนกับนักโทษกับกรงขัง กรงขังคือขันธ์ ๕ นักโทษคือตัวจิต ขณะที่นักโทษมันปล่อยวาง ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา มันจะปล่อยวางมา คือระหว่างกรงขังกับนักโทษ คนละคน

เหมือนกับภาชนะกับใส่ผลไม้ ผลไม้กับจานนั้นคนละอันกัน ผลไม้ไม่ใช่จาน จานก็ไม่ใช่ผลไม้ ความคิดไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ความคิด ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ความคิดไม่ใช่เราหรอก ความคิดเป็นจาน แต่ใจเป็นผลไม้ ขณะที่มันเสวยอารมณ์ จานนี้เป็นจานมะม่วง จานนี้เป็นจานส้ม จานนี้เป็นจานผลไม้ต่างๆ

นี่ก็เหมือนกัน ความคิดอย่างนี้ อารมณ์อย่างนี้ ความคิดอย่างนั้น แล้วมันปล่อยวางเข้ามาๆ แล้วมันเสวยออกไป มันเป็นจานมะม่วงเหรอ ในเมื่อมะม่วงกับจานมันคนละอันน่ะ ถ้าเห็นสภาวะแบบนี้ นี่ปัญญาวิมุตติเห็นอย่างนี้ ถ้าปัญญาวิมุตติ เห็นไหม จิตเสวยกาย กายนี้เป็นเรา ความเป็นไปของกาย ถ้ากายเป็นเรา เราต้องบังคับบัญชามันได้ เวลานั่งสมาธิไปก็อย่าเจ็บอย่าปวดสิ ทำไมมันยังเจ็บยังปวดอยู่ล่ะ เพราะมันไปเสวย มันไปรับรู้ นี่ปัญญาก็ใคร่ครวญไปๆ ปัญญาวิมุตติพิจารณากายโดยไม่เห็นกาย พิจารณากายโดยปัญญา พิจารณากายโดยใจ ถ้าเจโตวิมุตติโดยใจ เห็นโดยใจ กำลังของใจแยกแยะออกไปโดยใจ นี่มรรคเป็นอย่างนี้

คำว่า “มรรคๆ” มรรคคืองานชอบ เพียรชอบ งานชอบ ชอบในอะไร? งานชอบในการวิปัสสนากาย เวทนา จิต ธรรม เพียรชอบ ชอบอย่างไร? ชอบระหว่างกาย เวทนา จิต ธรรมที่มันแยกแยะต่อกัน ที่มันพิจารณากันทำให้แยกออกจากกัน ให้เห็นความเป็นจริงของสัจจะความจริง สัจจะความจริงเป็นอย่างนี้จริงๆ สัจจะความจริงเป็นสภาวธรรม

แต่เพราะมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ ข้ารู้ ข้าเป็น ข้าปฏิบัติถูกต้องตามธรรมวินัย ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติโดยไม่ศึกษาก่อน โดยไม่ทำตามธรรมวินัยอันนั้นจะไม่ถูกต้อง...อันนั้นมันเป็นการกล่าวตู่นะ เพราะมันเป็นสิ่งที่มันเป็นกฎหมายน่ะ เราทำดีกว่ากฎหมายอีกนะ เราไม่ได้ปล้น ไม่ได้จี้ ไม่ได้ทำลายใครเลย เราทำความถูกต้อง นี่ธรรมเหนือกฎหมาย สภาวะจิตที่มันเป็นมันเหนือธรรม เพราะอะไร เพราะธรรมบัญญัติ สมมุติบัญญัติ แล้ววิมุตตินะ วิมุตติคือความจริงน่ะ

เห็นเขากินข้าว เห็นเขากินอาหาร แล้วก็ไปว่าอิ่มๆๆ กับเรากินอาหารกับความอิ่มของเรามันต่างกันไหม ความอิ่มของเราเพราะอะไร เพราะเรากินอาหาร อาหารคืออะไร? อาหารคือการวิปัสสนาญาณ นี่ไง อาหารคือสิ่งที่มันมรรคญาณที่มันหมุนไป มันชำระกิเลส ไข้อ่อนลงมาเรื่อยๆ ไข้บรรเทาลงๆ บรรเทาเพราะว่ามันมีปัญญาอย่างนี้ เพราะเราไม่ประมาทเลินเล่อ เราไม่ให้กิเลสมันเสี้ยมเข้ามา

ในการวิปัสสนา เห็นไหม ขั้นของสมาธิน้ำเต็มแก้วนะ สมาธิ เราตักน้ำใส่แก้ว เราเติมน้ำเต็มแก้ว แค่นั้นน่ะ สมาธิก็ใช้สมาธิอยู่อย่างนั้น มันก็แค่นั้น แต่ในขั้นของปัญญา ขั้นของปัญญา ดูสิ แหล่งน้ำมีทั่วไปในโลกนี้นะ ในทะเล ในแม่น้ำ น้ำเต็มไปหมดเลย แล้วบนแผ่นดินบนภูเขาไม่มีน้ำ มันก็มีตาน้ำนะ เพราะอะไร เพราะแผ่นดินนี้ตั้งอยู่บนน้ำ สิ่งสภาวะเป็นไป มันเป็นสภาวะแบบนี้ น้ำมันมีอยู่

นี้ก็เหมือนกัน วิปัสสนาไป สิ่งที่ความเป็นไป มันหมุนเข้ามาๆ มันเป็นมรรคญาณ มันจะทำลายเข้ามา มันหมุนเข้ามา มันก็ปล่อยวาง ปล่อยวาง ปล่อยวางสัจจะความจริง มรรคญาณเกิดอย่างนี้ มรรคญาณ

“มรรค” ไม่ใช่ว่าเลี้ยงชีพชอบอะไรต่างๆ เลี้ยงหัวใจชอบ ปัญญาชอบ แล้วจิตมันได้เสวยมรรคญาณ เสวยมรรค เสวยสิ่งที่โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติมรรคเข้าไปชำระล้าง เข้าไปตัด เข้าไปทำลายกิเลสไง อย่างนี้ถึงจะเป็นการงานชอบ สัมมาทิฏฐิความถูกต้อง ภาวนามยปัญญาจะเกิดอย่างนี้ ถ้าภาวนามยปัญญาเกิดอย่างนี้ ภาวนาเกิดเข้ามา

ทำเริ่มต้นแสนทุกข์แสนยาก แต่ถ้ามีความชำนาญขึ้นมานะ มันเป็นไปได้ พอมันเป็นไปได้ วิปัสสนาบ่อยครั้งเข้า ทำซ้ำ พิจารณาซ้ำ ทำซ้ำบ่อยครั้งๆ ต้องซ้ำ ต้องถึงที่สุด ดั่งแขนขาด ถ้าไม่ทำซ้ำ ไม่ถึงที่สุด ทำซ้ำแต่ไม่มีความชำนาญ พอเราออกจากห้องทดลองแล้ว เราจะเข้าไปทดลองอีก เครื่องมือนั้นไม่มีแล้ว สารเคมีที่จะมาประกอบเป็นการทดสอบไม่มีแล้ว

นี่เหมือนกัน เวลาสมาธิมันเสื่อม เวลาพิจารณากายก็ไม่เห็นกาย กายอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ขณะที่เห็น เห็นไปแล้ว แล้วจะทำอีกก็ท้อถอย ท้อใจนะ ถ้ายังไม่เป็นโสดาปัตติผล ไม่เป็นอกุปปธรรม ถึงจะต้องทำซ้ำ พิจารณาซ้ำ ขณะที่เครื่องไม้เครื่องมือพร้อม สิ่งต่างๆ อุปกรณ์พร้อม สิ่งที่พร้อม นี่การดำเนินจะเป็นสภาวะแบบนี้

ถูกต้องและชอบธรรม ชอบธรรมเพราะสิ่งนี้ปฏิบัติไปถึงที่สุดแล้ว มันจะเกิดดั่งแขนขาด ขณะที่กิเลสขาดนะ สมุจเฉทปหานดั่งแขนขาด

ตทังคปหานปล่อยวางชั่วคราว ขณะที่ปล่อยวางชั่วคราวนะ มันจะย้อนกลับได้ แต่ถ้าเราทำซ้ำ พิจารณาซ้ำถึงที่สุดแล้วจะเป็นสมุจเฉทปหาน ดั่งแขนขาด สังโยชน์ขาดออกจากใจไป สิ่งที่สังโยชน์ขาดออกจากใจ เห็นไหม อกุปปธรรรม จะทำอย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งนี้ไม่อยู่ใน สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา คือไม่อยู่ในความจำนนของพญามาร พญามารส่วนใหญ่จะควบคุมได้ แต่ส่วนที่ว่าจะให้เป็นทั้งหมดเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะอะไร เพราะพระโสดาบันจะเกิดอีก ๗ ชาติ

แต่ถ้าการประพฤติปฏิบัติเข้าไป สิ่งที่ล้มลุกคลุกคลาน ขณะที่ปฏิบัติไปมันมีความล้มลุกคลุกคลาน มันทำยาก ทำยากเพราะเริ่มต้นจะทำยาก แต่ถ้าเราวิปัสสนาขึ้นไป สกิทาคามรรค อนาคามรรคขึ้นไป จนถึงเป็นมหาสติ-มหาปัญญา

จากสติปัญญา กิเลสดิบๆ แล้วทำลายมหาศาลเลย การประพฤติปฏิบัติแสนยาก ดูสิ เวลาจุดไฟกว่าจะติด จุดได้ยากนะ แต่ขณะที่เกิดไฟป่า ผู้ที่ดับไฟป่า ขณะที่ดับไฟป่าแล้วไฟป่ารุนแรง ขณะไฟป่าไหม้มาถึงเรา เขาต้องขุดหลุมพรางนะ นอนลงกับดิน แล้วให้ไฟเผาไหม้ผ่านไปแล้วเขาถึงลุกออกไปจากหลุม นั่นเพราะอะไร เพราะเขาเป็นผู้ที่ดับไฟป่า เขามีความชำนาญของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าเรามีความชำนาญของเรา เราปฏิบัติเข้าไปบ่อยครั้งเข้า จะมีความชำนาญ ชำนาญจนถึงมหาสติ-มหาปัญญา ขณะที่พิจารณากามราคะเป็นมหาสติ-มหาปัญญา ปัญญาจะรุนแรงมาก ขณะที่ไฟป่าลุกมาถึงตัวเรา เราจะทำอย่างไร ขณะที่ความรุนแรง ปัญญาที่มันไม่ยอมหลับยอมนอน ขณะที่ประพฤติปฏิบัติเริ่มต้นแสนทุกข์แสนยาก จุดไฟอย่างไร ทำอย่างไรก็ไม่ก้าวเดิน

แต่ปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่งนะ ปัญญาจะรุนแรงมาก เพราะอะไร เพราะขณะที่ธรรมะ เหมือนเราจุดไฟเผาป่า ป่าคือกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง ขณะที่เผาป่าไป แล้วเวลาเผาขึ้นมามันออกไปอีก อัตตกิลมถานุโยคออกไปอีกส่วนหนึ่ง ออกไปให้เห็นว่า ปัญญาเป็นอย่างนี้ พิจารณาเป็นอย่างนี้ มันไม่กลับมาทำสมาธิ ไม่กลับมาพลังงาน ถ้าไม่กลับมาพลังงาน มันก็ไม่ชอบ ไม่ชอบเพราะอะไร เพราะมันไม่สมดุล นี่ปัญญาต้องสมาธิชอบ สติชอบ มหาสติเสียอีกด้วย ถ้ามหาสติ เพราะจิตมันละเอียดขึ้นไป

เวลาปัญญามันเกิดนะ ถ้าเป็นขั้นของน้ำป่า ขั้นของปัญญาที่มันรุนแรง มันจะรุนแรงมาก รุนแรงจนเป็นอุทธัจจะ อุทธัจจกุกกุจจะ สิ่งที่ว่าเป็นความฟุ้งซ่าน แต่ถ้าเป็นอุทธัจจะ เป็นความปัญญามันใคร่ครวญ ปัญญามันต่อสู้กับกิเลส มันทำจนเลยเถิด ความเป็นเลยเถิดเพราะอะไร เพราะกิเลสมันฉลาด กิเลสมันรู้จักหลบหลีก รู้จักหลบซ่อน

เหมือนกับที่ว่าคนดับไฟป่า มันขุดหลุมลงไปแล้วมันนอนอยู่ให้ไฟป่าผ่านไป การประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว มันมีเล่ห์เหลี่ยมนะ ขณะที่ประพฤติปฏิบัติยากก็ยาก ขณะที่ประพฤติปฏิบัติไปจนถึงที่มันเป็นไป จนมรรคญาณมันหมุน การทำลายกลับมานะ ถึงจุดนั้นนะ เราอยู่กับหมู่คณะไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันหมุนตลอดเวลา ปัญญาจะหมุนตลอดเวลา เพราะมีสมาธิรับอยู่ สมาธิของโสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรครองรับอยู่ สิ่งที่รองรับอยู่มันเสื่อมมาไม่ได้

แต่ขณะที่มันในรุนแรงนั้น มันยกขึ้นมาส่วนบน สังโยชน์เบื้องบน ปัญญาจะหมุนของมันไป สิ่งที่ปัญญามันหมุนของมันไป ถ้าเราไปอยู่ในหมู่ในคณะอยู่ในสังคม มันจะเป็นสิ่งที่ว่าทำให้เนิ่นช้า เหมือนเราจะทำงาน แล้วมีคนชวนเราออกไปนอกลู่นอกทาง เราจะยอมไปไหม ขณะที่เราทำงานไม่เป็น เขาชวนไปเที่ยว เขาชวนไปธุระปะปัง เราก็พอใจ แต่ขณะที่เรามีงาน งานของเราเข้าด้ายเข้าเข็ม ใครจะมาชวน ใครจะมาดึงเราไปไหนไม่ได้เลย เราจะไม่ยอมไปกับใคร ถึงต้องพยายามหลีกเร้น

หลีกเร้น แล้วมีครูอาจารย์คอยเตือนสตินะว่าสิ่งนี้มันต้องมีการพัก เวลาทำ เวลาเราเริ่มต้นทำงาน เดินจงกรมก็ไม่ไหว นั่งสมาธิก็ไม่ได้ แต่ขณะที่ปัญญามันรุนแรงนะ มันทำทั้งวันทั้งคืนนะ มันนั่งของมันได้ตลอดรุ่ง จนร่างกายจะอ่อนเพลีย เราต้องกลับมาเสริมพลังงานตรงนี้ จากเริ่มต้นนั่งไม่ได้ ทำไม่ได้ เราจะต้องอดนอน ผ่อนอาหาร เพื่อจะให้จุดไฟให้ติด ขณะที่เราพิจารณาไปมันหมุนจนกินไม่ได้ นอนไม่ได้ เราก็ต้องฝืนกลับมากิน กลับมานอน นี่มันต่างกันอย่างนี้ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไปถึงปัญญาที่มันหมุน หมุนจนเป็นภาวนามยปัญญาขึ้นมา จนมันคล่องตัว

เพราะการประพฤติปฏิบัติมันต้องสมดุล มันถึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาของใคร? มัชฌิมาปฏิปทาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ของเรา ถ้าของเรา พอกิเลสมันเสี้ยมไป มัชฌิมาปฏิปทาเพราะอะไร เพราะด้วยความโลภ ความอยากได้ ความอยากสิ้นกิเลส นี่ปัญญาเท่านั้นฆ่ากิเลส ก็ใช้ปัญญาหนุนเข้าไป ใช้ปัญญาหนุนตัวเองเข้าไป ตัวเองก็ย้อนออกไปตลอด

ขณะที่เห็น ปัญญามันเกิดไม่ได้ก็เห็นทุกข์เห็นยาก กว่าจะทำให้มันเป็นมาได้ ขณะที่เป็นปัญญาที่มันรุนแรง มันก็ทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน นี่เล่ห์เหลี่ยมของกิเลสนะ แล้วบอกว่าถูกต้องแล้วไม่ชอบธรรมก็ติดนะ ติดอย่างนี้ไม่ผ่านกามภพด้วย ติด แต่ถ้ามีครูมีอาจารย์จะคอยชี้นำๆ คอยประคอง แล้วอยู่ที่อำนาจวาสนา อำนาจวาสนาคือมีความเทียบเคียง มีความถามตัวเอง มีการไตร่ตรอง ไม่สุขเอาเผากิน ถ้าสุขเอาเผากินนะว่าสิ่งนี้เป็นธรรม มันจะครอบงำอยู่อย่างนี้ กิเลสนี่ร้ายมาก ครอบงำให้เราติดอยู่อย่างนี้ เพื่อเราจะไม่ผ่านกามภพ

แต่ถ้าเราไม่ติดในการที่กิเลสมันครอบงำอย่างนี้ เราจะใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญ แล้วต้องให้สมดุล ถ้าปัญญามันรุนแรงเกินไปก็ต้องกลับมาพักสมาธิ กลับมาพักที่ทุน เราทำโครงการใหญ่โตมาก แล้วเราไม่มีทุนเลยเราก็ไปล้ม ล้มนี่มันเป็นเรื่องของโลกนะ แต่ถ้ามันวิปัสสนาไม่เป็นอย่างนั้นหรอก เพราะอะไร เพราะเราใช้ปัญญามาก ใช้ปัญญาไปแล้ว มันก็ไม่ได้ผล พอไม่ได้ผลมันก็เหมือนกับเราก็หมดพลังงานไป

แล้วก็ถ้ากิเลสมันหลอก ว่าง พอใจ เป็นความพอใจ พอใจนี้เป็นธรรมก็ติด การติด ติดได้ร้อยแปดเลย ภาวนาไม่เป็นก็ติดอย่างหนึ่ง ภาวนาเป็นกิเลสมันก็หลอกให้ติดอีกอย่างหนึ่ง แล้วก็บอกว่าใช้ปัญญาอย่างนี้ เดินถูกต้องตามธรรมวินัยอย่างนี้ อย่างนี้เป็นการภาวนาถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้องโดยกิเลสไง แต่ถ้าถูกต้องชอบธรรมโดยธรรมนะ มันเห็นระหว่างปัญญาธรรมกับปัญญากิเลส

ฟังสิ ทำไมมีปัญญากิเลส เพราะกิเลสมันอ้างอิงธรรมไง เพราะเราศึกษาเราปฏิบัติมา เราศึกษาธรรมตามปริยัติ เรารู้ธรรมขึ้นมา คนเราเกิดมาแล้วต้องตาย ธรรมะเป็นสภาวะธรรมชาติ ไม่รู้อะไรเลย แต่ถ้าเราเกิดมา คนเราเกิดมาแล้วต้องตาย แล้วพระอรหันต์ตายแล้ว อะไรตายล่ะ? ไม่มี ไม่มีหรอก การตายนี่ตายเป็นชาติสุดท้ายแล้วไม่เกิดอีก การไม่เกิดไม่มีวันตายอีกแล้ว

ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติมันก็แปรปรวนอยู่สภาวะแบบนี้ ธรรมชาติก็เป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา...แต่ถ้าจิตที่มันรู้ธรรมชาติสิ เราเข้าใจธรรมชาติ เราเห็นธรรมชาติ แล้วเราปล่อยวางธรรมชาติไว้ตามความเป็นจริง เราไม่ยุ่งกับธรรมชาติ ใจนี้อยู่เหนือธรรมชาติ ใจนี้ไม่ธรรมชาติหรอก ใจนี้เป็นแร่ธรรม แร่ธรรมที่พ้นจากกิเลส

ถ้ามันพ้นสภาวะแบบนี้ สุขในวิมุตติสุข สุขของโลกเขา เขาต้องมีสินจ้างรางวัล เขาต้องมีอามิส เขาต้องมีการสัมผัส เขาต้องมีความพอใจ มันถึงมีความสุขขึ้นมา แล้วสุขในตัวมันเองเป็นอย่างไรล่ะ นี่สุขในตัวมันเอง จิตที่มันปล่อยกามราคะ บ่อยครั้งเข้าๆ มันจะทำลายกัน ทำลายจนถึงที่สุด กามภพจะไม่เกิดตั้งแต่เทวดาลงมา มันจะเกิดบนพรหมนะ ถ้าเกิดบนพรหมล่ะ พรหมเป็นอย่างไร? พรหมเป็นหนึ่งเดียว จิตนี้เป็นเอกัคคตารมณ์ จิตนี้ตั้งมั่น จิตนี้หนึ่งเดียว หนึ่งเดียวมันสัมผัสกับอะไร? ไม่มีสัมผัสเลย ก็ตัวมันนี่แหละเป็นตัวอวิชชา ตัวมันนี่แหละเป็นตัวพญามาร

ถ้าเราย้อนกลับขึ้นไป ถูกต้องและชอบธรรมด้วยมรรคญาณที่อันละเอียด ละเอียดสุด เข้าไปเห็นความเป็นไปของจิต จิตที่มันมีความเป็นไป สิ่งที่มันพาเกิด จับสิ่งนี้ได้ ถ้าจับสิ่งนี้ได้ วิปัสสนา ถ้าปัญญาละเอียดใช้ความคิดไม่ได้เลย ใช้ปัญญาไม่ได้เลย เพราะความคิดมันเป็นปัญญาของขันธ์ ปัญญาของขันธ์ ขณะที่กิเลสออกจากอวิชชามา ผ่านขันธ์มา ขณะที่ระหว่างขันธ์กับขันธ์ก็ทำลายกัน สิ่งที่มันสมควรต่อกัน เหตุและผลสมควรต่อกัน มันก็รวมลงเป็นธรรม ขณะที่ตัวมันเองเป็นอวิชชา เอาปัญญาอย่างหยาบไปใช้ไม่ได้หรอก ดูอาหารของมนุษย์ อาหารของสัตว์ อาหารของต่างๆ มันก็ต่างกัน ถ้าปัญญาอันละเอียดเข้าไปทำลายตรงนี้ ปัญญาอย่างละเอียดเป็นปัญญาญาณ

ถึงบอก ภาวนามยปัญญามันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด มีละเอียดสุด

มันจะมีปัญญามีอยู่ทางโลกียปัญญา ปัญญามีอยู่ชั้นเดียว ก็ใคร่ครวญกันอยู่อย่างนี้ แล้วก็ว่าชำระกิเลสกันอยู่อย่างนี้ ให้กิเลสมันสวมเขา มันหลอกลวง แล้วก็ปฏิบัติไปนะ...ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม

ถ้าถูกต้องและชอบธรรมเป็นชั้นเป็นตอนไป ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถูกต้องและชอบธรรม ใจนี้จะเป็นธรรม ชำระกิเลสได้โดยสิ้นเชิง เอวัง