เทศน์บนศาลา

ประทุษร้ายสกุล

๑๑ ก.ย. ๒๕๕o

 

ประทุษร้ายสกุล
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฟังธรรมนะ ฟังธรรมที่มันเป็นประโยชน์กับเรา เป็นประโยชน์กับชีวิตมากนะ เพราะบุญพาเกิด เราถึงได้เกิดเป็นมนุษย์เห็นไหม มนุษย์สมบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดเป็นมนุษย์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ธรรมนี้ สิ่งนี้มันเป็นวิมุตติสุข สุขมาก สุขขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง แล้วจะเผยแผ่ธรรม เวลาตรัสรู้ขึ้นมาแล้วเสวยวิมุตติสุขก่อน

เวลาตรัสรู้แล้วออกเทศนาว่าการ เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะรู้ขึ้นมานะ “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ..” เทศนาว่าการต่อไปจนปัญจวัคคีย์เป็นพระอรหันต์ เทศน์ยสะ พระอรหันต์ ๖๐ องค์รวมทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น ๖๑ องค์ ให้ไปอย่าซ้อนทางกัน โลกร้อนนะ ประชาชนยังเดือดร้อนมาก ธรรมะนี้เป็นยารักษา เป็นยาแก้โลก โลกเขาต้องการสภาวะแบบนี้ โลกเขาต้องการธรรมไง ให้ไปอย่าซ้อนทางกัน เห็นไหม

ธรรมอย่างนี้ เป็นธรรมที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ จะรื้อสัตว์ขนสัตว์นะ เราเป็นสัตว์โลก เราเป็นมนุษย์ แล้วเรานับถือศาสนาพุทธ เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา วางธรรมและวินัยไว้ เวลาวางธรรมและวินัยนะ เพื่ออะไร เพื่อประโยชน์กับบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นเจ้าของศาสนา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน ตั้งแต่เผยแผ่ธรรมขึ้นมา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว่าจะฆ่ากิเลสได้ ถ้าเป็นบุคคลาธิษฐาน พญามารพยายามจะมาต่อสู้ พยายามจะมาล้มบัลลังก์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเป็นการประพฤติปฏิบัติ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ

แต่ถ้าเป็นบุคคลาธิษฐาน นางตัณหา นางอรดี ลูกของพญามารมารำมาอ้อนวอน มาฟ้อนรำ มาล่อมาหลอก เพราะอะไร เพราะพญามารคอตกนะ คอตกเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพ้นจากการครอบงำของพญามารไป พญามารคอตก ขนาดพญามารยังคอตกเลย แต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง นางตัณหา นางอรดี จะมายั่วยวนให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคลิบเคลิ้มไง สิ่งนี้เป็นบุคคลาธิษฐาน

แต่ถ้าเป็นภาคปฏิบัติ ปฐมยาม ตั้งแต่บุพเพนิวาสานุสติญาณ การระลึกอดีตชาติ สิ่งต่างๆ ระลึกได้นะ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณชำระกิเลส สิ่งที่ชำระกิเลสแล้ว พญามารตายแล้ว มารตายตั้งแต่อาสวักขยญาณทำลายแล้วนะ

เวลาเราทำบุญทำกุศลกันก็ไปเกิดเป็นเทพ คนที่เป็นคนพาลแต่ได้ทำบุญกุศลเพราะ มีโอกาส มีวาสนา ไปเกิดเป็นเทพก็เป็นเทพฝ่ายมาร ถ้าเทพที่มีสัมมาทิฏฐิก็เป็นเทพฝ่ายดี สิ่งที่เป็นพญามาร มารจะครอบงำได้ต่อเมื่อเป็นใจของปุถุชน แต่ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามารไม่มีแล้ว แต่สิ่งที่เป็นไป สิ่งที่เป็นเทพเป็นอะไร สิ่งที่เป็นความไม่เห็นด้วย จะมาดลใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ปรินิพพาน

“ เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ของเรายังไม่เข้มแข็ง ยังไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ เราจะไม่ยอมนิพพาน ”

เผยแผ่ธรรมนะ ตั้งแต่พระอรหันต์ ๖๑ องค์ เผยแผ่มา จนพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล วัดทั้งวัดเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดเลย บางวัดนี่พระอรหันต์ทั้งนั้นเลย สิ่งที่พระอรหันต์เพราะอะไร เพราะเขาเกิดมา การกระทำของเขา อำนาจวาสนาของเขา เกิดมาร่วมสหชาติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล็งญาณรื้อสัตว์ขนสัตว์เห็นไหม สิ่งที่รื้อสัตว์ขนสัตว์ก็วางธรรมและวินัยไว้

สิ่งที่วางธรรมและวินัยไว้เพราะอะไร เพราะมันเป็นข้อวัตรปฏิบัติ ธรรมและวินัยนี้เป็นข้อวัตรปฏิบัติ เวลาพระเรานะ เวลาเผยแผ่ธรรม พระเราวางธรรมและวินัยไว้ ในสังฆาทิเสส ถ้าเอาใจร้อยพวงมาลัยสิ่งต่างๆ การเอาใจคฤหัสถ์เห็นไหม เป็นการประทุษร้ายสกุล สกุลของสมณะนะ สกุลของพระ วางวินัยไว้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นเจ้าของศาสนา แต่การเป็นเจ้าของศาสนา ถ้าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ธรรมเป็นธรรมนะ ส่งเสริมด้วยธรรม ส่งเสริมด้วยหัวใจ

ศรัทธาเห็นไหม เรามีศรัทธา เรามีความเชื่อ เราอุปัฏฐากอุปถัมภ์เพื่อบุญกุศลของอุบาสก อุบาสิกา แต่ภิกษุ ภิกษุณี เป็นผู้นำ จะต้องอยู่ในขอบเขตของธรรมและวินัย ถ้าเอาอกเอาใจกัน มันเป็นการประทุษร้ายสกุล ภิกษุสวดประกาศถึงสามหน ภิกษุนั้นไม่ละความประพฤติแบบนั้น เป็นอาบัติสังฆาทิเสส มันเป็นการประทุษร้ายสกุล สกุลของอะไร

เราเป็นนักบวช เราเป็นพระ เราพยายามจะชำระกิเลสของเรา สกุลของเรา สกุลของสมณะ สกุลศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นลูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บวชในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระในสมัยพุทธกาล “เธอบวชมาจากไหน” ดูสิ ดูเวลาพระสารีบุตรพบพระอัสสชิ พระอัสสชิออกบิณฑบาตอยู่

“ใครเป็นศาสดาของท่าน บวชเพื่อใคร ? ”

“บวชเพื่อสมณโคดม บวชเพื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

เราบวชในธรรมและวินัย ธรรมและวินัยต้องเป็นศาสดาของเรา ถ้าเราประทุษร้ายสกุลของเรา ประทุษร้ายสกุลมันเป็นสมมุตินะ ถ้าการประทุษร้ายสกุลโดยสมมุติ เราจะไม่เข้าถึงอริยภูมิเลย

สกุลของพระอริยเจ้า สกุลในหัวใจของเรานะ มันจะเป็นสกุล สกุลของพระอริยเจ้าตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคา อนาคาขึ้นไป เป็นสกุลของพระอริยบุคคล พระอริยบุคคลมันเกิดมาจากไหน มันเกิดมาจากความสะอาดบริสุทธิ์ของเรานะ การจะเข้าหา ถ้าสิ่งนี้เป็นความสะอาด มันจะเข้าหาธรรมวินัยโดยความสะอาดบริสุทธิ์ สิ่งที่ความสะอาดบริสุทธิ์มันเป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรมจะไม่เป็นโทษเลย แต่สิ่งที่เป็นโทษมันเกิดมาจากไหน มันเกิดมาจากกิเลสนะ เกิดมาจากความเห็นผิดของเรา ทั้งๆ ที่เป็นพระ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราเป็นเจ้าของศาสนานะ บริษัท ๔ นะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากธรรมและวินัยไว้กับเรา ศาสนาของเราจะล่มจมก็เพราะภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำลายทั้งนั้น ถ้าศาสนาจะเจริญก็จะเจริญจากภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาเท่านั้น คนนอกศาสนาของเขา เขาก็อยู่วงนอกของเขา วงในของเรา วงในในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราไม่มีสติ เราไม่มีศรัทธาความเชื่อ เราไม่ศึกษาค้นคว้าของเรา เราจะประทุษร้ายสกุลของเรานะ

ถ้าเราเป็นคฤหัสถ์ สกุลของมนุษย์นี่ไง กว่าจะเกิดเป็นมนุษย์นะเป็นอริยทรัพย์ “การเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นอริยทรัพย์” ทรัพย์ของการเป็นมนุษย์ ชีวิตนี้มีคุณค่ามาก แล้วเราเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา คุณค่าของเราสองชั้น สามชั้น เกิดเป็นมนุษย์ด้วย พบพระพุทธศาสนาด้วย แล้วยังมีศรัทธาความเชื่อด้วย จะออกประพฤติปฏิบัติเพื่อชำระกิเลส อย่าให้กิเลสมันมีอำนาจเหนือเรานะ

ถ้ากิเลสมันมีอำนาจเหนือเรา การกระทำของเรามันทำลายเรานะ ดูสิ ดูทางโลกเขาที่เขาไม่สนใจ เขาทำลายของเขานะ เขาทำร้ายของเขา เขาฉ้อเขาโกง เขาทำลายคนอื่น เขาทำลายตัวเขาทั้งนั้นนะ สิ่งที่เขามีการกระทำขึ้นมาเป็นกรรมทั้งนั้น สิ่งที่เป็นกรรมขึ้นมา เอารัดเอาเปรียบกันขนาดไหน ทำลายใครขนาดไหนเท่ากับทำลายตนเอง เพราะเราทำลายโอกาสของเราไง เราทำลายความเป็นมนุษย์

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ ดูสิ มนุสสเดรัจฉาโน มนุสสเปรโต มนุสสเทโว มนุษย์เป็นเทวดาก็ได้ มนุษย์เป็นสัตว์ก็ได้ มนุษย์เป็นเดรัจฉานก็ได้ มนุษย์เป็นเปรตก็ได้ มนุษย์เห็นไหม มนุษย์เฉยๆ ร่างกายนี่เป็นคน แต่หัวใจมันเป็นสัตว์ มันเป็นเดรัจฉาน มันก็ทำลายกัน สิ่งที่ทำลายกัน เขาทำใคร ? เขาทำตัวเขาเองทั้งนั้นนะ นี่เห็นไหม ประทุษร้ายตัวเอง ประทุษร้ายสกุล สกุลของเรานี่สกุลของมนุษย์ สกุลของผู้ที่จะทำความสะอาดของใจได้

ถ้าเราทำความสะอาดของใจได้ เราจะศรัทธา ธรรมและวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้าค้นคว้ารื้อค้นมานี่ สิ่งนี้ประเสริฐมาก ประเสริฐมากนะ ดูสิ คนเขาเจ็บไข้ได้ป่วย เขาต้องมียารักษา เขาต้องไปหาหมอ นี่ไงหมอใหญ่ หมอใหญ่คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะมรรคญาณมันชำระกิเลสได้ แต่หมอเขามียารักษาทางโลกเขา เขารักษา เขาดูแลคนไข้ไป แต่นี่ชี้ทางๆ จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ก็รื้อสัตว์ ไอ้สัตตะผู้ข้องนี่ล่ะ

ถึงจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มันก็มีกิเลสในหัวใจเหมือนกัน ถ้ายังปฏิบัติไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ถ้ายังไม่ถึงที่สุด กิเลสเหมือนกันนะ กิเลสของคฤหัสถ์เขานี่เขาทำของเขา เขาก็เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ กิเลสของเขาไม่มีสถานะมารองรับ

ภิกษุนี้สำคัญมาก ! ภิกษุผู้ที่เป็นนักรบ ได้ผ้ากาสาวพัตร์เป็นธงชัยของพระอรหันต์ ได้ห่มผ้ากาสาวพัตร์ไปแล้วเป็นที่เคารพบูชาของคฤหัสถ์เขา เป็นภิกษุผู้ขอ.. ใช่!เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสดาเป็นผู้ที่วางธรรมและวินัย เพื่ออะไร เพื่อจะให้การดำเนินไป

เรื่องการรบ ดูสิ เวลาออกรบกัน แม่ทัพนี่สำคัญมากนะ แม่ทัพจะดำเนินการกลยุทธ์อย่างไรเพื่อจะให้ทัพนั้นรบชนะข้าศึก นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามัวแต่พะว้าพะวังกัน เป็นการประทุษร้ายกันไปหมด ประทุษร้ายโอกาส ประทุษร้ายตั้งแต่เป็นคฤหัสถ์ก็ประทุษร้ายชีวิตมนุษย์ของเขา ภิกษุก็ประทุษร้ายสกุลของสมณะ ประทุษร้ายสกุลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทุษร้ายคือทำแต่สิ่งที่มันเป็นการเนิ่นช้าไง

แต่ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัย ภิกษุออกบิณฑบาตเป็นวัตร สิ่งที่ออกบิณฑบาตเป็นวัตร คฤหัสถ์เขาได้ทำบุญกุศลของเขา สิ่งที่เขาทำบุญกุศล บุญกุศลเกิดจากอะไร เกิดจากการสละทาน เกิดจากการทำบุญกุศลของเขา แล้วบุญทำลงที่ไหน ถ้าไม่ทำลงเนื้อนาบุญ เนื้อนาบุญมาจากไหน ก็มาจากหัวใจของครูบาอาจารย์ ของภิกษุผู้ที่มีวุฒิภาวะ ผู้ที่เป็นอริยภูมิ ตั้งแต่ชั้นสมณะแท้จริงในหัวใจ แต่ละชั้นแต่ละตอนเข้าไป สิ่งนี้ก็เป็นบุญกุศลของเขา

แล้วสิ่งที่เป็นศาสนทายาท เราบวชมาในศาสนา เราบวชมาเพื่อเป็นนักรบ นักรบเพื่ออะไร เพื่อเห็นภัย คนที่เห็นภัยนะ จะไม่เห็นสิ่งปัจจัยเครื่องอาศัยนี้เป็นปัญหาเลย สิ่งที่เป็นปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าอาศัยที่ถูกต้องตามธรรมและวินัย ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ฉันอาหารให้เหมือนกับหยอดล้อเกวียนเท่านั้น ให้เหมือนกับเราหยอดไม่ให้มีเสียงดังเท่านั้น”

นี่ก็เหมือนกันการดำรงชีวิตของเรา ถ้าดำรงชีวิตของเราเพื่อการประพฤติปฏิบัติ สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ไม่มีปัญหาเลย ภิกษุเป็นผู้เลี้ยงง่าย จะไม่มีปัญหาขึ้นมา แต่ถ้าภิกษุนะ กิเลสตัณหาความทะยานอยาก เรื่องของกิเลสตัณหา มันสิ่งที่ว่าเราเป็นพระแล้ว เขาต้องอุปัฏฐากอุปถัมภ์เราสิ เขาจะอุปัฏฐากอุปถัมภ์เราเพื่ออะไรล่ะ เขาอุปัฏฐากอุปถัมภ์เพราะเขาเป็นชาวพุทธใช่ไหม เขาก็ศรัทธาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาทำบุญกุศลของเขา หน้าที่ของเขา เขาทำของเขาแล้ว

แล้วหน้าที่ของเราล่ะ หน้าที่ของเรา เราฉันอาหารของเขาแล้ว เราบิณฑบาตมาเลี้ยงชีวิตของเราแล้ว นี่เป็นผู้ขอ แล้วเราเห็นภัยในวัฏฏะไหม ถ้าเราเห็นภัยในวัฏฏะ เราจะต้องอยู่ในธรรมวินัย เราจะต้องไม่ประทุษร้ายความรู้สึกของเรา เราจะไม่ประทุษร้ายความเป็นไปของเรา

ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา จิตมันมีสติขึ้นมา เริ่มต้นตั้งแต่ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา บุญกุศลของเขาจะเกิดมหาศาลเลย

ดูสิ เขาสร้างวัดวาอาวาสกันเพื่ออะไร ภิกษุทั้ง ๔ ทิศ เขาให้ที่อยู่แล้วก็ให้อยู่เป็นสุขเถิด ที่ยังไม่อยู่ ที่มา ๔ ทิศขอให้มาเถิด มาเถิดมาเพื่ออะไร ก็มาเพื่อประพฤติปฏิบัติ มาเพื่อให้สังคมศาสนาเราเจริญมั่นคงขึ้นมา ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มั่นคงขึ้นมา กล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้

กล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ที่เขาเข้าใจผิดในศาสนานะ แล้วในศาสนาสอนเรื่องอะไร สอนเรื่องอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วถ้าสิ่งที่มันเป็นกิเลสในหัวใจ ที่มันเหยียบย่ำใจของเรา เราจะแก้ไขอย่างไร ถ้าเราแก้ไขในเรื่องความเป็นไปของหัวใจของเราได้ มันกล่าวแก้กันที่นี่ มันแก้ไขกันที่นี่

ถ้ามันแก้ไขหัวใจเรา ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันต้องมีทางจงกรม นั่งสมาธิภาวนาเพื่ออะไร เพื่อหาความผิดพลาดของตัวเอง สิ่งที่เป็นความผิดพลาดของตัวเอง ถ้ามีกิเลสในหัวใจนะ

“ในสโมสรสันนิบาต ในทุกดวงใจว้าเหว่”

สิ่งที่เขาดำรงชีวิตกันอยู่ ทุกดวงใจว้าเหว่... ในการประพฤติปฏิบัตินั่งคอตกนะ เศร้าสร้อย เหงาหงอย แล้วพอประพฤติปฏิบัติไปก็จะเอาแต่มักง่าย เอาแต่ผล เห็นครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเป็นผล ใช่ ! เป็นผล เพราะท่านทำจริง เป็นผลเพราะท่านทำถูกต้องตามธรรมวินัย เรานี่อาศัยบุญญาธิการของท่าน

เราอยู่กับครูบาอาจารย์ ขอนิสัย เวลาบวชขึ้นมาอุปัชฌายะเป็นพ่อ ถ้าอยู่กับอุปัชฌายะอยู่ เป็นวินัยก็ต้องถือนิสัย ถือนิสัยนี่เราต้องมีข้อวัตร นี่อุปัชฌายวัตร เราต้องอุปัฏฐาก แล้วอยู่อุปัฏฐากเพื่ออะไร ก็ฝึกนิสัย คำว่านิสัยนะ นิสัยโดยธรรมชาติของกิเลส กิเลสอยู่ในหัวใจของตัว ทุกคนมันจะเอาสะดวกสบายของมัน มันคิดภาษามันนะ มันคับแค้นข้องใจอยู่อย่างนั้น แล้วทำอะไรมันเดือดร้อนไปหมด แต่ถ้าไปฝืน ฝืนมันคืออุปัฏฐากอุปถัมภ์นี่มันจะได้นิสัย

ถ้าครูบาอาจารย์เป็นนิสัยอยู่ในร่องในรอย เราจะได้นิสัยนั้นมา แต่ถ้าครูบาอาจารย์ไม่อยู่ในร่องในรอย นิสัยนั้นก็เป็นนิสัยที่ไม่ถูกต้อง นิสัยไม่ถูกต้อง เราได้สิ่งนั้นมา ถ้าเรามีอำนาจวาสนา เราจะเห็นสภาวะแบบนี้ ว่าสิ่งนี้ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้อง ผลของวัฏฏะ ในเมื่อเราเกิดมา เรามีความเป็นไป เราเกิดมาสภาวะแบบนี้ สิ่งนี้ไม่ถูกต้อง เราต้องวางไว้ เราพยายามหาความถูกต้อง เราก็หาที่ใหม่ หาที่ใหม่ของเรานะ เพราะผู้ชี้นำ ครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำเรานะ

แต่เราประพฤติปฏิบัติเองได้ เราก็ทำของเรา ถ้ามันได้จริงนะ ถ้ามันไม่ได้จริง ดูสิ นักกีฬาที่เขาเล่นแข่งขันกีฬา เขายังต้องมีทีมของเขา เขายังต้องมีครูฝึกสอนของเขา ฝึกสอนเพราะอะไร เพราะเราลงไปแข่งขัน เราจะไม่รู้สิ่งใดเลย

นี่เหมือนกัน ถ้าเราเจอครูบาอาจารย์ที่เคยผ่านการต่อสู้มา แม่ทัพที่เคยออกรบ แม่ทัพที่เคยทำลายข้าศึกมา ข้าศึกคือกิเลสนะ ถ้าการออกรบเป็นการทำลายฆ่าฟันกันไป สิ่งนั้นมันเป็นเรื่องของโลกๆ แต่การออกรบกับกิเลสนี่มันชนะตนเอง ถ้าได้ออกรบแล้ว กิเลสมันคือแก่นกิเลสในหัวใจของเรา

เริ่มต้นตั้งแต่จะออกรบ เราจะเตรียมตัวอย่างไร ถ้าเตรียมตัวอย่างไร เราจะฝืนใจของเราอย่างไร ใจของเรามันจะขัดแย้งกับเราไปตลอดเวลา มันจะขัดแย้งของเราตลอดเวลานะ สิ่งที่ขัดแย้งมันคืออะไร มันคือกิเลสทั้งนั้นน่ะ แล้วเรื่องความเล็กน้อยตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนา การเสียสละทานมันก็ต่อต้านแล้วนะ

สิ่งที่ต่อต้านเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันทำเป็นบุญกุศลขึ้นมา ใจจะเป็นบุญกุศลขึ้นมา สิ่งที่ขัดแย้งกับกิเลส กิเลสมันจะต่อต้านทั้งหมด ตั้งแต่ทาน ตั้งแต่การถือศีล ตั้งแต่การมีศรัทธาความเชื่อ อยากออกประพฤติปฏิบัติ เรามีความเชื่ออยากประพฤติปฏิบัติ อันนี้มันก็เป็นบุญกุศลของเราแล้ว

เพราะใจที่หยาบ ใจที่ละเอียด ใจที่นิ่มนวล มันต่างกันนะ ใจที่ละเอียดขึ้นมา ละเอียดมาจากไหนล่ะ มันก็ละเอียดมาจากหยาบๆ ดูสิ

“สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”

สิ่งที่เป็นทุกข์นะ สิ่งที่เกิดขึ้นมา มันก็เกิดมาในสัจธรรม แต่ถ้าเราค้นคว้าของเรา เราทำของเรา งานจากภายนอก งานจากภายใน งานจากภายนอกทำไม่มีวันที่สิ้นสุดหรอก ทำที่สิ้นสุดไม่มี โลกนี้มันจะเป็นอนิจจังด้วย คำว่าอนิจจังคือมันจะมีอย่างนี้ตลอดไป แล้วสิ่งที่มันเป็นอนิจจัง มันจะหมุนเวียนไปตามสภาวะของมัน แล้วเราเกิดมา เราก็อยู่สภาวะแบบนี้

ถ้าเรามองย้อนกลับทวนกระแส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ทวนกระแสกลับมา ทวนกระแสกลับมาให้เห็นคุณค่าของชีวิต เห็นคุณค่าของชีวิตคือหัวใจ หัวใจนี้มันทุกข์มันร้อนนะ ถ้ามันทุกข์มันร้อน มันทุกข์มันร้อนที่นี่

เราบวชเป็นพระเป็นเจ้า เป็นพระแล้ว ถ้าการบวชเป็นพระแล้วกิเลสมันกลัวนะ ทำไมเราทุกข์ร้อนล่ะ เราบวชเป็นพระมาเพราะเรามีศรัทธา เราบวชเป็นพระมาเพื่อเป็นบาทฐาน บาทฐานที่เราจะต่อสู้กับตัวเอง ต่อสู้กับตัวเอง ธรรมและวินัยเราก็ศึกษากันมา แต่ศึกษากันมา เราก็ตีความเข้าข้างตัวเอง

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ คอยชี้ คอยบอก คอยเคาะ คอยเคาะนะ คอยเคาะว่าสิ่งนี้ควรหรือไม่ควร แล้วเราอยู่กับครูบาอาจารย์ มันมีความอบอุ่นไง มันลงใจนะ เหมือนเราอยู่กับพ่อแม่ ลูกนะอยู่กับพ่อแม่นะ มันนอนใจ แต่เวลาพ่อแม่ล่วงไปแล้ว ลูกต้องหาอยู่หากินเอง ลูกต้องเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา

“เราจะเป็นพ่อแม่คนต่อไปนะ” ถ้าอยู่กับครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม มันจะอุ่นใจ มันจะนอนใจ พอนอนใจขึ้นมานี่ เขาเรียกลงใจ ถ้าลงใจในการประพฤติปฏิบัติ กิเลสมันไม่หน้าด้าน ถ้ากิเลสมันหน้าด้านนะ มันทำประสามัน แต่ถ้าลงใจ มันเกรงใจ เกรงใจครูบาอาจารย์ มันก็อยู่ในร่องในรอย

ครูบาอาจารย์สามารถทำให้กิเลสของเราที่หยาบๆ นี่นะ ให้มันสงบตัวบ้าง ให้เรามีโอกาสไง มีโอกาสให้เราได้หายใจ ถ้าเรามีโอกาสได้หายใจ เราทำของเรา เราอย่ามาประทุษร้ายกับโอกาสของเรานะ เราอย่าประทุษร้ายตัวเอง เราประทุษร้ายตนเองนะ

คนที่ทำร้ายตัวเองเห็นไหม เขาตีอกชกตัว เราดูแล้วมันน่าขำ แต่เวลากิเลสมันเหยียบย่ำใจของเรา เราไม่รู้ตัวเลยนะ ไม่มีใครรู้ตัวและไม่มีใครเคยเห็น เวลาเขาทำลายกันมันน่าขำ แต่เวลามันทำลายตัวเราเองนะ มันทำลายมาจากไหน แล้วมันก็เรียกร้องความช่วยเหลือมาจากเรานะ มันจะเรียกร้องความช่วยเหลือมาจากเรา งานอันละเอียดไง

ดูสิ เรานั่งเฉยๆ นั่งขัดสมาธิหายใจเข้าและหายใจออก อานาปานสติ ถ้าเรากำหนด พุทโธ พุทโธ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา งานอย่างนี้งานค้นคว้าหาใจของตัวเอง ถ้าใครหาใจของตัวเองเจอ งานของเราเกิดที่นี่ ถ้าคนมีงานทำนะ มันมีงานทำ มันไม่เหงาหงอย ถ้าคนเหงาหงอย ทำแล้วไม่ได้งาน ทำแล้วสักแต่ว่าทำ ทำแล้วเศร้า สิ่งที่เศร้าหมอง ให้ย้อนกลับมาดูศีลของตัว

ถ้าศีลของตัว ใครมีอาบัติต้องปลงอาบัติ สิ่งที่ปลงอาบัติเพื่อจะไม่ให้กิเลสอ้างเอาช่องนี้เป็นช่องออก ถ้ากิเลสมันอ้างนี้เป็นช่องออกนะ มันจะบอกว่าสิ่งนี้เป็นความผิด ถ้าใจมันตกนะ มันจะถอยกรูดๆ เลย แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ ความผิดพลาดนี่ คนที่ทำงานน่ะ คนที่ไม่ผิดคือคนที่ไม่ทำสิ่งใดๆ เลย คนที่มีความผิดเราเคยทำสิ่งใด สิ่งที่เป็นความผิดมาแล้ว เราก็สารภาพไง ปลงอาบัติคือการยอมรับผิด เห็นไหมอริยวินัย

ใครผิดพลาดแล้วยอมรับความผิดนั้น แล้วจะทำตัวให้เป็นคนดีขึ้นมาใหม่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชมเชยมาก ความผิดของเรา เรากล้าประจานความผิดของเรา ว่าเราเป็นคนที่เคยทำผิด สิ่งที่ทำผิดแล้วเราจะแก้ไขใหม่ กิเลสมันรับไม่ได้ เราจะต้องเป็นคนดี เราจะต้องเป็นคนมีชื่อเสียง... ไม่ใช่อย่างนั้นเลย

ธรรมและวินัยนี้ปฏิบัติเพื่อใคร? ปฏิบัติมาเพื่อชำระกิเลสนะ ไม่ใช่ปฏิบัติมาเพื่อเป็นอาจารย์ของใคร ไม่ใช่ปฏิบัติมาเพื่อจะให้คนรู้จัก ไม่ใช่ปฏิบัติมาเพื่อจะแก้ลัทธิใดๆ ทั้งสิ้น

ถ้าเราปฏิบัติหวังเพื่อสิ่งนี้ การประพฤติปฏิบัติเรานี่มันกระโดดข้ามขั้นตอนไปแล้ว มันไปคิดด้วยตัณหาความทะยานอยากไง เป็นการประทุษร้ายอันหนึ่งที่เราไม่รู้ตัวเลย แต่ถ้าปฏิบัติเพื่อเรา ทำดีเพื่อดี ความดีคือความดี ดูสิ เราอาบน้ำ เราได้รับความอบอุ่น เราก็ได้ความอบอุ่น เราได้ความเย็น เราก็ได้ความเย็น

ใจก็เหมือนกัน ในเมื่อมันทุกข์อยู่นี่ หน้าที่ของเราแก้ทุกข์ที่นี่ ไฟมันอยู่บนหัวของเรานะ เราต้องเอาไฟออกจากศีรษะของเราก่อน ไม่ใช่ว่าเราปฏิบัติมาเพื่อเราจะศึกษาวิชาการ จะไปเอาไฟออกจากศีรษะของคนอื่น ไม่ใช่ !

ศีรษะของเรานี่มันมีไฟอยู่ เห็นไหม ในปัจจุบันความทุกข์ความร้อนในหัวใจของเรามันมีอยู่นี่ เรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องของคนอื่นนะ เราอยู่ในหมู่คณะกัน เราเป็นพระมีครูบาอาจารย์องค์เดียวกัน เราจะติเตือนกันได้ แต่ถ้าเตือนกันไม่ได้ เป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะช่วยตักเตือนสิ่งนั้นให้เอง หน้าที่ของครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ในวัดท่านก็ดูของท่านอยู่แล้ว สมควรหรือไม่สมควร

สิ่งที่สมควรนะ เด็ก.. ถ้าเราปล่อยให้มันเดินเล่น ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของเด็ก เด็กมันจะโตขึ้นมานะ เด็ก เราจะบังคับจนเกินกว่าเหตุ เด็กมันก็งอแง เห็นไหม นี่เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ครูบาอาจารย์ท่านเป็นเป็นหัวหน้า ท่านมีหูมีตาทั้งนั้นล่ะ แต่มันสมควรเป็นเวลาหรือไม่สมควรเป็นเวลา สิ่งที่สมควรเป็นเวลา ท่านจะคอยเคาะ คอยบอกให้ ให้ควรทำอย่างนั้น.. ควรทำอย่างนั้น.. การบอกว่าควรทำนี่มันหยาบมากนะ เพราะอะไร เพราะเป็นการบอก

แต่ถ้าเป็นความรู้เห็นจากเรา เรารู้สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี แล้วเราเห็นความไม่ดีของเรา นี่ไง อริยวินัย ใจเรามันจะพัฒนาขึ้นมา มันจะยอมรับว่าสิ่งนี้เป็นความผิด คำว่าความผิด ถ้าเป็นทิฏฐิ มันก็เป็นมิจฉา ถ้าเป็นความถูกต้อง มันก็เป็นสัมมา ถ้าเป็นสัมมา สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง มันเป็นมรรคองค์แรกนะ ถ้าเป็นมิจฉา การประพฤติปฏิบัติมันจะไปไหน นี่การประทุษร้ายในการประพฤติปฏิบัติ มันเกิดจากตรงนี้ !

ถ้าการประทุษร้ายของตัวเอง ดูสิ ประทุษร้ายสกุลจากธรรมวินัย มันเป็นสมมุติ สมมุติว่าเราอยู่ในธรรมและวินัย ธรรมเป็นสมมุติบัญญัติ ให้เราอยู่ในร่องในรอย เพื่ออะไร เพื่อเจริญศรัทธาให้ศาสนามั่นคง แล้วในการประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันเป็นมิจฉา มันก็เป็นการประทุษร้ายในการประพฤติปฏิบัติของเรา สกุลของสมณะ สกุลโดยสมมุติ เป็นสงฆ์โดยสมมุติ ถ้ามันต้องสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นไป แล้วมันจะเข้าไปถึงสกุลของพระอริยเจ้า อารยะประเพณีไง เราถือธุดงควัตรกัน

ครูบาอาจารย์ของเราเป็นผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์ ตั้งแต่หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ลงมา วางธุดงควัตรไว้ให้พวกเราก้าวเดิน เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของพวกเรา เพื่อให้เป็นสัมมาทิฏฐิ ให้ความเห็นเข้าไปชำระกิเลส การชำระกิเลสคือการมักน้อยสันโดษ การชำระกิเลสคือการไม่ให้กิเลสมันแผ่พังพานไง มันแผ่ขึ้นมาครอบหัวใจของเรา การมักน้อยสันโดษขึ้นมา กินน้อย นอนน้อย เพื่อไม่ให้กิเลสมันได้กำลังจากเราด้วย ดูสิ คนเจ็บไข้ได้ป่วยเวลากินอาหารเข้าไป ของแสลงหรือของที่มันกินเข้าไป โรคภัยไข้เจ็บมันก็ได้อาหารจากที่เรากินเข้าไปด้วย เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด มันประทุษร้ายให้เราเข้าถึงสกุลของพระอริยเจ้าไม่ได้เลย ถ้าเป็นการประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันมีการตกภวังค์ มันเป็นสมาธิขึ้นมา มันก็เป็นมิจฉาสมาธิ ความที่เป็นมิจฉาสมาธิ มันจะยกขึ้นวิปัสสนาได้อย่างไร ถ้าเป็นอานาปานสติ กำหนดพุทโธในคำบริกรรม ให้เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ดูสิ ดูมรรค มรรคก็มีมิจฉา มีสัมมาทั้งนั้น เราว่าเราก็เดินมรรคกันนะ

ดูสิปฏิบัติกันมาแล้ว ปฏิบัติกันมาตั้งแต่กี่ปีกี่เดือน พยายามจะเอาชนะตัวเองให้ได้ แล้วมันชนะตัวเองบ้างไหม ในการประพฤติปฏิบัตินี่นะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน

“อานนท์ เธอบอกเขาเถิด บอกคฤหัสถ์ บอกบริษัท ๔ นี้ ให้ปฏิบัติบูชาเรานะ”

สิ่งที่ปฏิบัติบูชานี่มันเป็นโอกาสที่เราจะเข้าไปชำระกิเลส แต่ถ้าเราทำอามิสบูชา เราทำบุญกุศล เราทำสละทานกัน นี่เป็นการสร้างบุญกุศลกัน บุญกุศล.. คำว่าบุญกุศล ฟังสิ เพราะอะไร เพราะมนุษย์เราเกิดตาย เกิดตาย จิตวิญญาณมันจะเกิดตาย เกิดตายตลอดไป

บุญกุศลนี้จะพาไปเกิดในสิ่งที่ดีๆ บุญกุศลจะพาเกิด สิ่งที่มันเป็นบุญกุศลขึ้นมา มันเป็นบุญ บุญคือความสุข คือความเจริญรุ่งเรือง สิ่งที่เป็นบาปอกุศล ทำให้เราตกต่ำ ทำให้เราตกไปนรกอเวจี สิ่งต่างๆ ที่ทำนี่มันเป็นอามิส อามิสอย่างนี้มันก็สร้างสมกันมา

เพราะอามิสนี้แหละ เพราะการสร้างบุญกุศลนี้แหละ ทำให้เราเกิดมาพบพุทธศาสนา เรามีศรัทธาความเชื่อ แล้วถ้ามันพัฒนาขึ้นมา มันพัฒนาจากอามิส บุญโดยอามิส เกิดจากการประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติ.. ให้ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามันเป็นมิจฉา มันก็ปฏิบัติแล้ว มันก็อยู่ในการประพฤติปฏิบัตินั้น เพราะมันไม่เข้าทาง ถ้ามันเข้าทาง เพราะมันสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา มันถึงไม่ประทุษร้ายในการประพฤติปฏิบัติของเรา

เราถึงจะต้องหาอุบายหาวิธีการ เราจะไม่ทำซ้ำซากอยู่อย่างนั้น ถ้ามันผิดพลาด มันทำแล้วมันไม่เป็นผลประโยชน์ อุบายวิธีการต้องมีสิ เราไม่ใช่หัวตอนะ หัวตอ ดูสิ ดูอย่างที่โรงงานเขาทำด้วยหุ่นยนต์ มันทำอยู่อย่างนั้น ทำซ้ำทำซาก มันไม่มีชีวิตชีวา แต่มันทำอย่างนั้น เขายังต้องการใช้เลย เพราะงานของเขาอยู่ในร่องในรอย แล้วเราเป็นสิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตคือความรู้สึก ความรู้สึกมันทุกข์ยาก สิ่งที่มันทุกข์ยากนะ

คำว่าทุกข์ยาก “ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ” ทุกข์นี้เป็นอริยสัจเพราะอะไร เพราะมันมีอวิชชาครอบงำ ถ้าเราไม่มีการชำระ มันก็เวียนตายเวียนเกิด มันจะทุกข์ต่อไปนะ

การเกิดนี่เป็นความทุกข์ไหม? การดำรงชีวิตเป็นความทุกข์ไหม? แล้วเราเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วดูสิ เราสร้างสม เราทำหน้าที่การงานเป็นความทุกข์ไหม? หน้าที่การงานเราทำมา ทำมาเพื่อปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าจิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวนะ มันพออยู่พออาศัยได้ทั้งนั้นล่ะ

แต่สิ่งนั้นมันก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์แล้วไปเกิดใหม่ ถ้ามันเกิดสถานะสูงๆ ต่ำๆ ล่ะ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า เราจะเกิดสถานะมาเป็นมนุษย์ หรือจะเป็นคนดีตลอดไป การเกิดอย่างนั้นมันก็ไหลไป เราเองจะนี่แหละจะทุกข์ จิตดวงนี้แหละ ไม่ใช่ใครหรอก จะเกิดในสถานะไหนก็คือจิตดวงนี้ แล้วทุกข์ก็คือจิตดวงนี้ เราว่าสถานะนี้เป็นเรา ถ้าเป็นคนอื่นแล้วเราไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่หรอก มันคือความรู้สึกอันเดิมนี่แหละ มันเกิดเป็นสถานะใหม่เท่านั้นเอง

ถ้าเราเห็นอนาคตว่ามันจะเสื่อม มันจะไหลไปตามอวิชชา เราถึงจะต้องปัจจุบันนี้เลย ปัจจุบันที่เราจะต้องให้มันพ้นจากกิเลส ถ้ามันพ้นจากกิเลส เราถึงต้องทำให้มันสะอาดบริสุทธิ์ ถือศีล ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเกิดสมาธิขึ้นมาด้วยคำบริกรรม ด้วยการใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ด้วยการพิจารณา สิ่งที่เกิดขึ้นมา เพราะเรามีสติ สติมันควบคุมใจเข้ามา

ถ้าควบคุมใจเข้ามา ความคิดที่ฟุ้งซ่าน ความคิดที่เราให้เอารัดเอาเปรียบตัวเอง สิ่งนี้มันจะสงบตัวลง สิ่งที่สงบตัวลง จิตมันสงบเข้ามาได้ ถ้าจิตสงบได้ มันจะเป็นการรับรู้กันเอง “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ถ้าจิตสงบเข้ามา เราจะรู้ใจเราว่า ใจของเราเป็นอย่างนี้ คุณค่าของหัวใจจะมีอย่างนี้ ความสุขอย่างใดๆ ที่เราแสวงหามาจากทางโลก จะไม่เคยมีความสุขอย่างนี้เลย มันจะเบา มันจะมีความสบายในหัวใจของเรามาก แล้วความสุขอย่างนี้มันไปหาได้ที่ไหน เราจะไปตื่นโลกตื่นสงสารกันที่ไหนล่ะ

ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่นอยู่ในป่าตลอดชีวิตเลย อยู่ในป่าตลอดชีวิตกลับเป็นคุณงาม เป็นเกียรติของศาสนา เพราะศาสนาเกิดจากความสงัด เกิดจากความสงบ ความสงบจากภายนอก ความสงบจากภายใน ถ้าเราไปอยู่ป่า ดูสิ ฤๅษีชีไพร ในสมัยพุทธกาลไปอยู่ป่ากัน ไปอยู่ป่าสักแต่ว่าอยู่นะ อยู่แล้วหัวใจเร่าร้อนมาก เพราะมันสงบแต่ภายนอก ภายในไม่สงบ ถ้าภายในไม่สงบ มันก็ไม่เป็นประโยชน์กับการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เพราะเราไม่เห็นต้นเหตุ

สิ่งที่เราจะชำระ เราชำระกันที่ต้นเหตุ เหตุมันอยู่ที่ไหน เหตุมันอยู่ที่ใจไง สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเพราะหัวใจไปยึดทั้งนั้น เพราะความสุขความทุกข์มันอยู่ที่หัวใจเท่านั้น ต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบเข้ามา การงานของเรา เราจะไม่ประทุษร้ายกับตัวเราเอง เราจะไม่ประทุษร้ายต่อการประพฤติปฏิบัติ การประทุษร้ายนี่แม้แต่บาตร แม้แต่บริขาร ประทุษร้ายคือทำด้วยความไม่เคารพ ทำด้วยความไม่มีสติปัญญา สิ่งนี้เป็นอาบัติทุกกฎทั้งนั้นน่ะ

ดูสิ เวลาเราจะห่มผ้ากัน เราต้องปฏิสังขาโย เราจะฉันอาหารต้องมีปฏิสังขาโย เราจะเช็ดบาตร ตักบาตร เราจะต้องมีต้องทำด้วยสติสัมปชัญญะทั้งนั้นเลย เพราะสิ่งนี้มันเป็นการฝึกฝน ตั้งแต่เราเริ่มต้นนะ เราเคลื่อนไหว เราเหยียดคู้เพราะอะไร เพราะขณะทุกวินาที สติมันต้องพร้อมตลอด สิ่งที่พร้อมตลอดเพราะอะไร เพราะกิเลสมันแทรกได้ตลอดเวลา ถ้าเรานอนจม ถ้าสติเราไม่ดี กิเลสมันแทรกได้ตลอดเวลา

เราถึงจะต้องพร้อมเสมอ ฝึกฝนขึ้นมาตั้งแต่การเคลื่อนไหว การใช้ การสอย มันจะมีสติสัมปชัญญะ มันจะเป็นคุณงามความดี คือเวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ เข้าทางจงกรมมันก็สะดวกสบาย แต่ถ้าเราไม่มีคุณงามความดีอย่างนี้เลย มันเป็นการประทุษร้ายทั้งนั้น เราไม่รู้ตัวกันเองเลยนะ ว่าการกระทำของเรานี่เป็นการประทุษร้ายกับบริขาร เป็นการประทุษร้ายกับธรรมและวินัย ถ้าเราไม่ประทุษร้าย มันก็ไม่เป็นอาบัติ

ถ้าเป็นธรรม คำว่าเป็นธรรม เราทำด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยความตั้งใจ แต่มันมีความผิดพลาดไง สิ่งที่ผิดพลาดเพราะอะไร เพราะเราเป็นผู้ฝึกฝนอยู่ เรามีการฝึกฝนอยู่ มันจะมีความผิดพลาดบ้าง ถ้าความผิดพลาดอย่างนี้เราก็ต้องปะต้องชุน ผ้าก็ต้องปะต้องชุน สิ่งที่ผิดพลาดเราก็ต้องแก้ไข เพราะคนเราไม่มีใครหรอกที่ทำอะไรแล้วมันจะสมบูรณ์ไปหมด แต่ก็ต้องยึดหลักนี้ไว้เพื่อเป็นหลักใจของเราไง อย่าให้ออกนอกลู่นอกทาง

ถ้ามันเป็นกิเลสนะ มันจะออกนอกลู่นอกทาง แล้วมันไปมองโลกไง โลกเป็นใหญ่นะ ดูสิ เขาอยู่กันสุขสบาย ทำไมเราจะต้องมาเดือดร้อนอย่างนี้ เพราะเราเห็นโทษไง แต่เขาไม่เห็นโทษนะ เขาเห็นแต่ความสุขสบายของเขา เขาเห็นกิเลสเป็นใหญ่ เขาเห็นโลกเป็นใหญ่ เขามีการเชิดชูกัน เขามีการส่งเสริมกัน เราอยากไปอยู่สังคมอย่างนั้น..

ไปอยู่สังคมอย่างนั้นมันก็ไปอยู่สังคมตัวหนอนน่ะ เราจะไปอยู่กับตัวหนอน เราจะไปเป็นหนอนอยู่อย่างนั้นได้อย่างไร !

เราจะอยู่สังคมเพื่อชำระกิเลสนะ สังคมของเรา สังคมของพระอริยเจ้า ตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคา อนาคาขึ้นไป อริยประเพณี ถ้าสังคมอย่างนี้ สิ่งใดที่มันเป็นมิจฉา มันเป็นความเห็นผิด ท่านจะปัดออกนอกทางทั้งหมด สิ่งที่ปัดออกนอกทางเพื่อไม่ให้มันเข้ามาเหยียบย่ำหัวใจ เห็นไหม ครูบาอาจารย์สำคัญอย่างนี้ สำคัญเพื่อไม่ให้มันมาเหยียบย่ำหัวใจ สำคัญว่าเพื่อการกระทำของเราให้มันเป็นประโยชน์กับเราขึ้นมา ถ้าเป็นประโยชน์ของเราขึ้นมานะ เวลาเราได้ผลขึ้นมา มันเป็นผลของใครล่ะ

ถ้าจิตสงบก็คือจิตของเรา ปัญญาเกิดขึ้นมาก็เป็นปัญญาของเรา แล้วผลปรากฏขึ้นมาก็เป็นความสุขของเรา ครูบาอาจารย์ได้อะไรขึ้นมาด้วย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาแบ่งผลการประพฤติปฏิบัติจากเราไหม สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติเป็นคุณงามความดี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาคิดค่าลิขสิทธิ์ไหม ไม่คิดเลยนะ เพราะอะไร เพราะปรารถนา นี่ธรรมเป็นอย่างนี้ เราประพฤติปฏิบัติไป ผลมันเป็นของเรานะ ผลถ้าเวลาทุกข์ มันก็ทุกข์กับเรา

ถ้าผลมันเป็นของเราขึ้นมา มันเป็นความสุข ก็ความสุขเกิดจากเรา แล้วความสุขเกิดจากเรา มันจะเกิดมาได้อย่างไร มันจะลอยมาจากฟ้าไหม ถ้ามันลอยมาจากฟ้า ฟ้ามันก็เป็นความสุขไปแล้ว ฟ้ามันยังไม่รู้เรื่องเลย ความสุขมันเกิดมาจากการกระทำนะ เกิดกิจจญาณ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของใจ ใจมันหมักหมม มันทุกข์ทั้งนั้น

สิ่งต่างๆ มรรคผลนิพพานไม่ได้อยู่บนภูเขาดินฟ้าอากาศ ไม่ได้อยู่ที่ใดๆ ได้เลย มรรคผลนิพพานอยู่กับสิ่งที่มีชีวิต อยู่กับความรู้สึก อยู่กับหัวใจ แล้วหัวใจนี้อยู่กับเรา ถ้าอยู่กับเรา เราก็ต้องแก้ไขเรา ถ้าแก้ไขเรา มันเป็นผลประโยชน์ของเรา ถ้าเป็นผลประโยชน์ของเรา มันจะองอาจกล้าหาญนะ

คนเรามือไม่เป็นแผล มันจะเข้าสังคมใดๆ ก็ได้

ในการประพฤติปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน มันต้องเปิดเผยนะ ในการประพฤติปฏิบัติมีครูบาอาจารย์ เราต้องเปิดเผยเลย เปิดเผยเพื่ออะไร เพื่อมีการชี้นำกัน เพื่อสิ่งนี้ว่าคุณทำถูกต้องไหม ถ้ามันถูกต้องขึ้นมา ถ้าเราทำของเรา ถ้าครูบาอาจารย์ท่านไม่เป็น มันพูดออกมา มันจะขัดแย้งกับความเป็นจริง ถ้าขัดแย้งกับความเป็นจริง ถ้าเป็นความจริงของเรา มันเกิดจากเรา ถ้าไม่เป็นมิจฉาทิฏฐินะ

ถ้าเราเป็นความเห็นปฏิบัติที่ผิด เป็นมิจฉาสมาธิ ปัญญาก็เป็นปัญญาของกิเลส เราก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ ถ้าเกิดครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าไม่ใช่สภาวะแบบนั้น เป็นอีกอย่างหนึ่ง เราจะโต้แย้งขนาดไหน มันก็เป็นความผิดของเราวันยังค่ำ ถ้าเป็นความผิดนะ สักวันหนึ่งมันต้องแปรปรวน มันต้องเสื่อมสภาพ ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันจะเป็นอฐานะ มันจะเป็นโสดาบัน จะเป็นสกิทาคา จะเป็นอนาคา จะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา มันเกิดจากการกระทำ แล้วมันเป็นอฐานะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุข มันมาจากไหน มันมาจากใจที่เป็นความเป็นจริง ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะเสวยวิมุตติสุขอย่างไร เราจะรู้สึกได้อย่างไรว่า สุขหยาบ หรือสุขละเอียดอย่างไร อะไรเป็นสุข ที่ว่าเป็นสุขๆ กันอย่างนี้เป็นสุขหรือ นั่งแล้วปวดหัว นั่งแล้วเจ็บปวดขนาดนี้ มันเป็นความสุขมาจากไหน มันเป็นความทุกข์เพราะมันเป็นการเป็นงานเพื่อจะต่อสู้ ต่อสู้กับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ต่อสู้กับกิเลสของใจของเรา

เราจะทำอริยประเพณีเข้ามาในหัวใจของเรา ถ้าเป็นอริยประเพณีในหัวใจของเรา มันเห็นการเปลี่ยนแปลงนะ มันเห็นการกระทำ ถ้าจิตมันมีการกระทำนะ มันสงบเข้ามา มันก็มีความสุข มันมีปัญญาเข้ามา ออกมาใคร่ครวญ ใช้ปัญญาพิจารณานะ มันจะเห็นจริงตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นความจริงอยู่แล้ว ธรรมนี่เป็นความจริงอยู่แล้ว

“ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สภาวธรรมจะเกิดแก่ใจดวงนั้น ”

แต่นี่เราปฏิบัติสมควรกับกิเลส ! มันประทุษร้ายเราตลอดเวลาเลยนะ กิเลสในหัวใจของเรามันประทุษร้ายเรา

มนุษย์เห็นแก่ตัวทั้งนั้น ! มนุษย์นะเห็นแก่ตัว มีกิเลสทุกคน แล้วไอ้กิเลสมันขี้รดอยู่ในหัวใจ แล้วก็ปิดบังกันไว้ อายเขา.. ไม่กล้าบอก… ขี้ทั้งนั้น ! ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง ขี้ทั้งนั้นเลย มันขี้ในหัวใจนี่

แต่ก็ใส่หน้ากากเข้าหากัน รักคนโน้น สงสารคนนี้ เมตตาคนนั้น… เมตตาโดยกิเลส เมตตาด้วยผลประโยชน์นะ

ถ้าเมตตาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูสิ วางธรรมและวินัย จะต้องขอร้องมาจากใคร สิ่งนี้มันเหลือเฟือ สิ่งที่เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยมันเหลือเฟือ มันมากล้น มันจะท่วมหัวท่วมหางเลยล่ะ

ถ้าคนมีธรรมนะ สิ่งนี้มันท่วมหัวท่วมหางแล้ว เพราะมันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย ความว่าอาศัยสิ แต่ขอให้หัวใจเป็นธรรม ขอให้หัวใจนี่มีหลักมีเกณฑ์นะ ถ้าหัวใจมีหลักมีเกณฑ์ สิ่งนั้นมันมาทีหลัง หัวใจมันต้องเริ่มจากตรงนี้ ต้องตื่นตัว ตื่นตัวกับความรู้สึกของเรา ตื่นตัวทำ ตื่นตัวนั่งสมาธิ ตื่นตัวเดินจงกรม ตื่นตัวในการตั้งสติ ตื่นตัวตลอดเวลา มันฝึกจนเป็นนิสัย ถ้าผึกจนเป็นนิสัยมันจะเป็นมิจฉาไปไหน ให้มันเป็นไป มีครูบาอาจารย์คอยแก้ไข ไม่ต้องห่วง

ครูบาอาจารย์ถามท่านเลย ถ้าท่านตอบไม่ได้ ท่านมาเป็นครูบาอาจารย์เราทำไม ทำไมต้องให้มาเป็นครูบาอาจารย์ ต้องให้กราบไหว้ด้วยล่ะ ก็กราบไหว้เพราะต้องดีกว่าเราสิ ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ดีกว่าเรา แต่ถามแล้วตอบไม่ได้ มาเป็นครูบาอาจารย์ให้เสียเวลาเหรอ เราก็เปลี่ยนสิ เราก็หาครูบาอาจารย์ที่ทำได้สิ สิ่งที่ทำได้ ถามท่านเลย ! ตอบไม่ได้-ได้อย่างไร

ในเมื่อภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากธรรมวินัยไว้แล้ว กล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ แล้วตอนนี้กิเลสมันขี่หัวอยู่ กิเลสมันจาบจ้วง มันขี่ธรรมอยู่ แล้วทำประพฤติปฏิบัติไปอย่างนี้ อย่างนี้เป็นธรรมไหม ถ้าเป็นธรรม กล่าวแก้ได้ สิ่งใดที่ถูกต้อง สิ่งใดที่ไม่ควรทำ สิ่งใดที่ควรหลีกเลี่ยง สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงไปก่อน

เพราะ! เพราะครูบาอาจารย์ท่านมองทีเดียวท่านก็รู้ ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมนะ ผู้ที่ทำสมาธิจะมีอาการอย่างนี้ คนที่เริ่มฝึกหัดสมาธิ ฝึกหัดค้นหาตนเอง เหมือนเด็กๆ เด็กๆ ทำอะไร ไม่มีความถูกต้องกันทั้งนั้นน่ะ เด็กมีความผิดพลาดกันทั้งนั้น แต่เด็กมันต้องศึกษาของมัน มันต้องเรียนรู้ของมันให้มันเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา

จิตก็เหมือนกัน มันเป็นเรื่องของโลกๆ การศึกษาก็ศึกษาด้วยสัญญา การศึกษาก็เป็นโลกียปัญญา ปัญญาที่ศึกษามานี่ กิเลสมันก็เอามาฟาดใส่หน้าเรา เราก็ว่าสิ่งนี้เป็นปัญญา ไม่รู้ตัวเลยนะ เวลาประพฤติปฏิบัติไปก็ปฏิบัติโดยสัญญา โดยการสร้างภาพ ความเป็นไปว่าอย่างนี้เป็นธรรมๆ สิ่งนั้นมันต้องฝึกฝน มันต้องลองผิดลองถูกไปอย่างนี้ เพื่อจะให้จากเด็กๆ ที่มันไม่รู้อะไรเลย ให้มันรู้จริงขึ้นมาในหัวใจ มันจะรู้ขึ้นมาเองจากหัวใจนั้น

ถ้ามันเป็นสมาธิแล้ว มันจะย้อนกลับไปเลยว่า ทำไมเมื่อก่อนเราไม่เห็นอย่างนี้ ทำไมเมื่อก่อน เรายังเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นสมาธิ สิ่งนั้นมันเป็นกำลังของใจ กำลังของใจ... แต่ทำไมมันไม่ก้าวเดินมาเลย ถ้ากำลังของใจมันจะก้าวเดินมาเลย มันต้องเป็นสัจจะความจริงสิ

เงินแท้ๆ นี่นะเอาไปตลาดไหน จะซื้อของที่ไหนก็ได้ ไอ้เงินของเราไม่กล้าควักออกมากลางตลาดเลย เอาไปที่ร้านไหนเขาก็ปฏิเสธ เพราะมันเป็นเงินปลอม แต่ถ้าสังคมมันปลอมๆ มันก็ฉ้อโกง มันก็ปลอมไปอย่างนั้น นี่ประทุษร้าย เห็นไหม

ถ้ามีครูบาอาจารย์ควรจะให้ท่านวินิจฉัย ถ้ามันเป็นความจริงนะ แล้วถ้ามันเป็นครูบาอาจารย์ที่แท้จริง ครูบาอาจารย์ที่สุดยอดคือหัวใจของเรา มันรู้เองนะ ถ้าเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติด้วยธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อจะพ้นจากกิเลสนะ มันจะซื่อตรงกับตัวเองเพราะอะไร ถ้าเราคดโกง ดูสิ นิ้วมันคด มันเข้าไปมันจะตรงได้อย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าหัวใจมันคด มันทำเพื่อความคดของใจ มันจะเป็นสมาธิได้อย่างไร มันจะรักษาความเป็นสัมมาได้อย่างไร นิ้วมันคด ส่วนนิ้วตรงๆ เวลาดึงขึ้นมาจะไม่ติดสิ่งใดขึ้นมาเลย ถ้าเราเอาลงไปในเมล็ดพันธ์พืช ถ้าเรางอนิ้ว เรายกขึ้นมามันจะติดเมล็ดพันธ์พืชขึ้นมาเลย แล้วใจมันคด มันจะเอาผลประโยชน์ของมัน แล้วมันจะได้อะไรขึ้นมาล่ะ

การประพฤติปฏิบัติเป็นการเสียสละนะ ยิ่งเสียสละเท่าไร ยิ่งทำให้ใจสะอาดบริสุทธิ์เท่าไร สิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับธรรมนะ แต่นี่เวลาปฏิบัติขึ้นมาอยากรู้นั่น อยากรู้นี่ อยากให้เป็นไปอย่างนั้น มันจะเป็นไปอะไรล่ะ มันก็เป็นแบบนิ้วคดๆ นั่นล่ะ ใจมันคด ! สิ่งที่ทำเราต้องให้ใจมันตรงก่อน ถึงต้องซื่อสัตย์กับตัวเราเอง เป็นสุภาพบุรุษกับตัวเราเอง เพราะอะไร เพราะเราจะพ้นจากทุกข์

อย่าปฏิบัติไปให้มันซ่องสุมขึ้นมา ความทุกข์ให้มันเต็มหัวใจนะ ปฏิบัติมาเพื่อเรา การประพฤติปฏิบัติมันเป็นเอง ครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำจากภายนอก แต่ประสบการณ์ของใจ มันจะเป็นสัจจะความจริงของมันขึ้นมานะ แล้วจิตมันตั้งสงบเข้ามาบ่อยครั้งเข้า ความสุขก็เกิดขึ้นมาพร้อม ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สิ่งนี้เป็นอริยสัจความจริง แล้วสุขเป็นอริยสัจไหมล่ะ สุขเพราะทุกข์มันสงบตัวลง

ถ้ามีความสุขขึ้นมา สุขไม่ต้องปฏิเสธเพราะอะไร เพราะความสุขอย่างนี้มันมีอยู่กับเรา กว่ามันจะเป็นไปได้ ดูสิ นั่งหลังขดหลังแข็ง นั่งทำสมาธิ เดินจงกรมมาเป็นวันเป็นเดือนเป็นปี กว่าจะสงบสักทีหนึ่ง จากเด็กอ่อนๆ ที่ว่าเด็กมันฝึกหัด เด็กมันต้องฝึกหัดอย่างนี้ ในการประพฤติปฏิบัติต้องมาอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะเป็นการแก้กิเลสของแต่ละบุคคล หัวใจแต่ละหัวใจ ต้องแก้กิเลสของหัวใจของตัวเอง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ชี้บอกทาง ขนาดมีผู้ที่ชี้บอกทางเรา เรายังหาแทบไม่เจอเลย หลงทาง หลงป่ากัน แล้วหาทางออกกันไม่ได้ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือคบไฟแล้วเดินนำหน้าเราไปเลย แล้วเราทำไมไม่เดินตามล่ะ ถ้าเราเดินตามขึ้นมา ท่านทุกข์มาขนาดไหน ๖ ปีนะ ที่ไหนที่เขามีการประพฤติปฏิบัติที่เข้มแข็ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปทดสอบมาทั้งนั้น ถือคบไฟไปแล้วมองไม่เห็นทาง ถึงเวลามาคืนเพ็ญเดือน ๖ เวลาสำเร็จขึ้นมา คบเพลิงนี้มันสว่างไสว

แล้ววางธรรมวินัยไว้ให้เรา ให้บริษัท ๔ ให้เป็นแก่นเป็นสาร แล้วมันเป็นแก่นเป็นสารมาจากไหน มันก็ต้องเป็นแก่นเป็นสารมาจากหัวใจของเรา เพราะหัวใจมันลงธรรมวินัยไง ลงคือเชื่อ ลงคือไม่เหยียบย่ำ ลงคือยอมรับ ยอมรับสภาวะสิ่งนี้ ยอมรับเพราะอะไร เพราะกิเลสในหัวใจเรามันดื้อด้าน เราก็รู้อยู่ว่าหัวใจเราดื้อด้าน ดื้อด้านมันมีผลตอบขึ้นมานะ ตายแล้วเกิดแน่นอน ให้มันตายขึ้นมาเถอะ ตายแล้วต้องเวียนตายเวียนเกิดมาอีก เห็นไหม

ถ้าเห็นโทษของกิเลสของเราเอง เห็นโทษของใจเราเองนะ มันไม่กลัวใครนะ แต่มันกลัวผู้รู้จริง เพราะคนรู้จริงเห็นสภาพแบบนี้ “จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง” คนที่เกิดมามีกิเลสทั้งนั้น แล้วการประพฤติปฏิบัติต่อสู้กับตนเองมาสาหัสสากรรจ์ขนาดไหน แต่ละขั้นแต่ละตอนที่มันจะพลิกแพลงเอาตัวรอดมาได้ มันต้องต่อสู้กับตัวเองมาขนาดไหน การต่อสู้กันโดยมรรคญาณ โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นมา เวลาธรรมจักรมันหมุนในหัวใจนะ

ฝึกฝนขึ้นมาจนจิตมันมีหลักมีเกณฑ์ แล้วน้อมไปให้เห็น กาย เวทนา จิต ธรรม เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นสัจจะความจริง แต่กิเลสมันอาศัยอยู่ตรงนี้ ทำไมต้องเป็น กาย เวทนา จิต ธรรม ล่ะ เป็นอย่างอื่นไม่ได้หรือ อย่างอื่นก็ไม่มีสิ่งใดนอกไปจากนี้แล้ว สิ่งนี้คือหลักเกณฑ์ไง กาย เวทนา จิต ธรรม

ธรรมคืออะไร ธรรมคือความคิด ความนึก ความรู้ต่างๆ เป็นธรรมารมณ์ อารมณ์ความรู้สึกกับธรรมะ ถ้าจิตมันเป็นสมาธิแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นมาเรียกธรรมารมณ์ พิจารณาธรรมารมณ์ คืออารมณ์ความรู้สึกกับตัวจิตที่เป็นสมาธิ จิตเราเป็นสมาธิจะมีหลักมีเกณฑ์ สิ่งที่กระทบมันเห็นคุณเห็นโทษ แต่ถ้าไม่มีสมาธินะ สิ่งนั้นเป็นเรา.. ความคิดทั้งหมดเป็นเรา.. คิดอะไรมันถูกหมดเลย แล้วคนอื่นผิดทั้งนั้น...

ถ้าความคิดทางโลกไง ความคิดแบบมนุษย์ มนุษย์ที่เห็นแก่ตัว มนุษย์ที่เอารัดเอาเปรียบทุกๆ คน เอารัดเอาเปรียบแม้แต่ตัวเอง ตัวเองคือโอกาสที่จะประพฤติปฏิบัตินี่ไง จะเอาเปรียบตัวเองให้ชีวิตเนิ่นช้าไป ให้ผลัดวันประกันพรุ่งไป ให้ชีวิตนี้หมดไปเป็นวันๆ มันเอาเปรียบทั้งนั้นนะ มันเอาอนาคตมาล่อเรา แล้วเราก็ไปกับมัน เรายังไม่รู้จักปัจจุบันเลย

แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ในการส่งเสริมขึ้นมา ทำสมาธิขึ้นมาก็เป็นหนึ่ง หนึ่งก็เป็นปัจจุบัน แต่เวลาวิปัสสนาไป ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ให้มันแยกแยะ ให้มันใคร่ครวญกับสิ่งนี้ สิ่งที่จิตออกรู้ ไม่พ้นจากสติปัฏฐาน ๔ ถ้าสติปัฏฐาน ๔ มีจิตเป็นสัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นของจิต ความเป็นไปของจิต สิ่งที่มันออกทำงานอย่างนี้นี่เป็นธรรม

แต่ถ้ามันทำงานโดยกิเลส มันถึงจะเป็นการประทุษร้ายในการประพฤติปฏิบัติ ในการประพฤติปฏิบัติ มันมีงูพิษ มันมีสิ่งที่เป็นอาหาร มันมีสิ่งต่างๆ เวลาจิตมันสงบแล้วหนหนึ่ง มันมีความสุขหนหนึ่ง มันบำรุงหัวใจนะ บำรุงหัวใจให้เรามีความสุข บำรุงหัวใจให้เราเห็นความมหัศจรรย์ มหัศจรรย์จริงๆ ความรู้สึกนี้มหัศจรรย์จริงๆ !

เขาไปดูความมหัศจรรย์ของโลกกัน ไอ้นั่นมันวัตถุ เวลาแผ่นดินไหวมันพังหมด แต่ความมหัศจรรย์ของจิตมันเป็นอฐานะ มันอยู่กับจิตนี้ตลอดไป มันอยู่กับความรู้สึกอย่างนี้ตลอดไป

ถ้ามันเป็นความสงบ มันก็ฝังลงที่ใจนี่ แล้วมันถ้าเป็นผลงานของเรา มันวิปัสสนาออกไป มันปล่อยวาง มันยิ่งลึกซึ้งกว่านั้น มันว่าง มันมีความสุขมาก แต่ความสุขอย่างนี้ มันยังไม่ถึงกระบวนการของที่สุดแห่งการประพฤติปฏิบัติ มันก็จะเสื่อมสภาพเหมือนกัน

เราถึงต้องทำซ้ำๆ หมั่นคราดหมั่นไถ ต้องตั้งสตินะ ต้องตั้งสติแล้วหมั่นทำ หมั่นทำบ่อยครั้งเข้าๆ สิ่งที่ทำบ่อยครั้งเข้า ดูสิ เวลามันขาด เวลามันสว่างโพลง สว่างโพลงแล้วมันขาดออกไป มันขาดออกไป มันมีเหตุมีผลหมดนะ มันจะเห็นเลย

“กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์”

แล้วจิตมันรวมตัวลง มันปล่อยหมดเลย นี่สังโยชน์มันขาดออกไป สิ่งที่ขาดออกไป จากจิตหยาบๆ จากจิตที่ควบคุมไม่ได้ มันจะมีพื้นฐานรองรับเลย รองรับว่าจิตของเรามันเข้ามาเป็นอริยภูมิแล้ว สกุลของพระอริยเจ้าเกิดจากใจดวงนี้แล้ว มันกังวานกลางหัวใจนะ พาดกระแสเข้านิพพาน มันเป็นสกุลของศากยบุตรพุทธชิโนรสอันแท้จริง แล้วสกุลอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาจากเรานะ มันเป็นสกุลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศากยบุตรพุทธชิโนรสให้มันเกิดที่นี่

สิ่งที่เป็นสมมุติเป็นภายนอก มันก็ต้องก้าวมาอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ เพราะเราเกิดมาจากสมมุติ อยู่กับสมมุติ เวลาเป็นสงฆ์ก็สงฆ์โดยสมมุติ เราก็ประพฤติปฏิบัติของเราให้มันเป็นธรรมขึ้นมา เป็นธรรมขึ้นมาจนถึงที่สุดมันฆ่ากิเลสได้ มันทำลายกิเลสได้ มันเกิดมาจากใจทั้งนั้น ถ้าเกิดมาจากใจ ใจมีหลักมีเกณฑ์อย่างนี้ ทำไมจะไม่เข้าใจสัจจะความจริง สิ่งที่สะอาดก็รู้ว่าสะอาด สิ่งที่สกปรกก็รู้ว่าสกปรก สิ่งที่ผิดพลาดก็รู้ว่าผิดพลาด มันถึงเป็นครูบาอาจารย์คนได้ไง

ถ้าเป็นครูบาอาจารย์คนได้ ครูบาอาจารย์ของผู้ชี้นำเขา แต่ถ้าเป็นภาระของเราล่ะ ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านพยายามอยู่ในป่าในเขานะ เพราะท่าน.. เหมือนกับเราเอาน้ำพริกไปตำละลายแม่น้ำน่ะ เพราะว่าความเห็นของโลก เขาพูดแบบเอาสีข้างเข้าถู “จะเป็นอย่างนั้น.. ต้องพูดให้รู้อย่างนี้..”

แล้วเวลามาหาครูบาอาจารย์นะ “ถ้าครูบาอาจารย์เก่งจริง ก็ต้องทำให้หนูรู้สิ.. ถ้าครูบาอาจารย์เก่งจริงก็ต้องแสดงให้เข้าใจสิ..”

นี่มันประทุษร้ายตัวมันเองนะ มันยังไม่รู้เลยว่ามันไม่หงายภาชนะขึ้นมา มาแบบปิดภาชนะมาเลยนะ เอาคว่ำมานะแล้วยังเอาถุงครอบมาอีกนะ ไม่ให้สิ่งใดนี้เข้า แล้วยังบอกว่า “ทำไมไม่พูดให้หนูรู้ล่ะ ของดีก็ต้องพูดให้หนูรู้สิ..” นี่มันทำลายตัวมันเอง แล้วมันไม่รู้สิ่งต่างๆ เลย

แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมนะ ท่านเห็นอย่างนี้ ท่านจะสังเวชไหม ท่านจะเอาน้ำพริกของท่านมาตำละลายแม่น้ำทำไมล่ะ พูดไปก็เหนื่อยเปล่า เพราะมันปิดมาตั้งแต่บ้าน มันปิดหัวใจมันมา แล้วมันก็จะมาอ้างอิงว่า “นี่ศาสนาไม่มี ครูบาอาจารย์ที่ทำไปนี่โม้กันไปเฉยๆ นั่นแหละ ไม่รู้จริงหรอก.. รู้จริงทำไมทำให้เรารู้ไม่ได้ล่ะ...”

รู้ไม่ได้สิ ! อาหารของท่าน ท่านก็กินของท่าน แล้วอาหารของเราก็ไม่มีอะไรเลย แล้วเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์เหมือนกัน...

ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน แม้ร่างก็ทิ้งไว้ พระอริยบุคคลคนต่างๆ ก็เป็นมนุษย์นี่แหละ แต่หัวใจท่านไม่ใช่มนุษย์สิ หัวใจท่านเป็นอริยภูมิ หัวใจของท่านท่านรู้หมด

“ความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า” เราก็ว่าสิ่งที่พระอริยเจ้านิ่ง ไม่รู้.. ไม่รู้หรอก.. ถ้ารู้ก็พูดให้เรารู้แล้ว... ทิฏฐิมานะท่วมหัวนะ สิ่งนี้เห็นไหม ความหยาบของกิเลสมันหยาบมาก แล้วในการประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่มันหยาบๆ อย่างนี้จะให้มันอ่อนนะ ให้สิ่งที่สะเทือนใจ จนกว่ามันจะอ่อนลง จนกว่ามันจะเข้าใจ จนกว่าจะหงายภาชนะขึ้นมา

ถ้าหงายภาชนะขึ้นมาจะฟังธรรมรู้เรื่องนะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะของครูบาอาจารย์ที่ออกมาจากใจ ยิ่งฟังนะ มันยิ่งสะเทือนกิเลส มันสะเทือน มันอายนะ มันทิ่มเข้าหัวใจไง เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจเรา แล้วธรรมมันออกมาจากใจที่เคยผ่านวิธีการ เคยผ่านกิเลสที่มันหลอกมันล่อมา แล้วออกมาจากความจริง มันพูดคำไหน มันถูกคำนั้นนะ แล้วมันทิ่มมาในหัวใจ

ถ้าหงายภาชนะ ถ้าเปิดใจ ถ้าลงครูบาอาจารย์ มันจะเป็นประโยชน์อย่างนี้ มันเหมือนเข้าถึงเนื้อหาสาระไง

ถ้าเข้าถึงเนื้อหาสาระ มันก็เข้าถึงใจเรา เพราะอะไร เนื้อหาสาระมันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ใจ เวลาทุกข์มันก็ทุกข์อยู่ที่ใจ เวลาที่มันเข้าถึงใจ “ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน” ใจจะพาเราไปทำอะไรก็ได้ ถ้ามันมีกำลังใจขึ้นมามันจะเดินจงกรมกี่วันกี่คืนก็ได้นะ เรื่องอาหารเรื่องขบฉันเอาไว้ทีหลังเลย ต้องการทำความเพียรก่อน ถึงเวลาแล้วนี่ขบฉันพอประทังชีวิตเท่านั้น ถ้ามันจะเป็นจะตายขึ้นมาก็ขอฉันหน่อยหนึ่ง.. เพื่อจะให้ดำรงชีวิตนี้ เพื่องานอันนี้ไง เพื่องานที่เราจะเอาชนะตัวเอง ถ้าจะเอาชนะตัวเองขึ้นมา จะเห็นตามที่ครูบาอาจารย์ท่านว่าเลย

สิ่งต่างๆ ที่ครูบาอาจารย์วางไว้ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้เป็นข้อวัตรปฏิบัติ สิ่งนี้เป็นประโยชน์ทั้งนั้น ดูสิ ดูอย่างพาหนะที่เขาใช้กัน มันมีส่วนประกอบต่างๆ ตั้งมากมายเลย มันขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปบางอย่างมันก็ไปได้ รถถ้าขาดบางอย่าง ขาดสิ่งที่ไม่จำเป็น มันก็ยังไปได้อยู่นะ แต่การไปอย่างนั้นมันไม่ปลอดภัย

นี่ก็เหมือนกัน ในวัตรปฏิบัติของครูบาอาจารย์เรา สิ่งใดที่ทำขึ้นไปแล้ว ทำเพื่อใครทั้งนั้นล่ะ มันทำขึ้นมาเพื่อตรวจสอบใจเรา ส่วนประกอบให้มันครบ รถมันวิ่งไปมันก็ปลอดภัยใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติ จากข้อวัตรปฏิบัติขึ้นมา จากหัวใจของเรา ให้มันถูกต้อง ให้มันดีงาม ถ้ามันถูกต้องมันดีงามขึ้นมามันก็เป็นประโยชน์กับเรา สิ่งที่มันเป็นประโยชน์ ประโยชน์กับใคร ประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันประพฤติปฏิบัติ สิ่งนี้มันเป็นเครื่องดำเนิน เวลาครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะรู้ได้อย่างไร มันจะรู้ได้ด้วยเครื่องมือดำเนินนะ ธรรมและวินัย ถึงกราบ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรม กราบธรรมเพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็ตรัสรู้ธรรมอันนี้ แล้วครูบาอาจารย์ของเรา สิ่งใดที่เป็นธรรมนะ หมอบเลย ยอมธรรม ไม่ยอมกิเลส ! ไม่ยอมกับโลก ! โลกเป็นใหญ่มาจากไหน มันจะมีประโยชน์อะไรขึ้นมา เพราะโลกนี้ทุกคนก็มีค่าเท่ากัน กิเลสของโลกมีค่าเท่ากัน แต่ธรรมมันอยู่ที่ไหนบ้าง ธรรมไม่มีในหัวใจของสัตว์โลกเลย แล้วเวลาแสดงธรรมขึ้นมา มันแสดงธรรมด้วยการประทุษร้ายไง

ด้วยการประทุษร้ายคือ การหวัง การคาด การหมาย การกล่าวตู่ มันไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา ความจริงจากหัวใจเห็นไหม ถ้าใจเป็นความจริงแล้ว มันจะผิดพลาดออกมาจากใจได้ไหม ใจที่มันรู้ๆ อยู่ เป็นอกุศลมันเกิดจากใจดวงนั้นไม่ได้ ถ้าเกิดจากใจดวงนั้น เพราะมันเสวยอารมณ์ จิตนี้มันเสวยอารมณ์ จิตเสวยความคิด

ความคิดมันมาจากไหน ? ความคิดมันมาจากหัวใจที่สะอาดบริสุทธิ์ มันก็เป็นความคิดที่สะอาดบริสุทธิ์ที่เป็นประโยชน์ใช่ไหม แต่ประโยชน์ขึ้นไป มันออกไปแล้วเป็นประโยชน์ไหม ถ้าไม่เป็นประโยชน์ ก็กักไว้ ไม่ให้ออก หยุดไว้แค่นี้ แต่ถ้าถึงเป็นประโยชน์ปล่อยเลย ปล่อยออกไป มันก็เป็นการชำระล้าง

ธรรมเวลาออกมาจากใจที่สะอาดบริสุทธิ์นะ ดูสิ ดูเขื่อนเห็นไหม เขื่อนที่น้ำสะอาดบริสุทธิ์ออกมา เวลาเขื่อนออกมาน้ำมันก็แรง เขาเอามาปั่นไฟฟ้าใช้ประโยชน์ด้วย แล้วเวลามันไม่เป็นประโยชน์ มันทำลายคนอื่นล่ะ ถ้ากิเลสมันไม่เป็นประโยชน์ มันทำลายคนอื่นนะ นี่ใจก็เหมือนกัน กิริยาเหมือนกัน แต่ผลประโยชน์ต่างกัน ผลประโยชน์ที่เราได้รับนี้ต่างกัน สิ่งที่มันเป็นคุณประโยชน์กับเรา แล้วมันซึ้งใจมากนะ

ถ้าในการประพฤติปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่ง เรารู้ธรรมขึ้นมา กราบแล้วกราบอีก ดูสิ พระสารีบุตรกราบพระอัสสชิตลอด พระอัสสชิเป็นผู้แสดงธรรมให้พระสารีบุตรได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน แล้วยังบอกว่า ถ้าจะประพฤติปฏิบัติให้ไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณอันนี้มันฝังใจ กราบตลอด ถ้าพระอัสสชิอยู่ทางทิศไหน ก่อนนอนต้องกราบไปทางนั้น มันซึ้งไง มันซึ้งถึงบุญถึงคุณไง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราประพฤติปฏิบัติใจเราเข้าถึงธรรม มันจะซึ้งถึงบุญถึงคุณนะ บุญคุณของใคร บุญคุณตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นศาสดา เป็นผู้วางธรรมและวินัยไว้ เป็นผู้ที่รื้อสัตว์ขนสัตว์ไว้ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เวลาก่อนจะออกประพฤติปฏิบัติเห็นไหม ดูสิ สามเณรราหุลเกิดแล้ว ละล้าละลัง.. ละล้าละลังนี่ทุกข์ไหม กว่าจะได้ธรรมวินัยนี้มานะ กว่าจะสละออกจากราชวังนะ กว่าจะออกมาค้นคว้าอยู่ ๖ ปีนะ

เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ค้นคว้ากับกระแสโลกต่างๆ ที่เขาประพฤติปฏิบัติกัน ตรวจสอบทดสอบมาทั้งหมดแล้ว ถึงที่สุดแล้วไม่มีใครรู้จริงเลย จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องประพฤติปฏิบัติ สยมภูตรัสรู้เองโดยชอบ

ศาสดาของเรา ครูบาอาจารย์ของเราสุดยอดมาก ประกาศตนว่าเป็นพระอรหันต์ ประกาศตนนะ สิ่งที่เป็นพระอรหันต์เพราะรู้จริง แล้วให้ถามมา

เวลาก่อนจะออกไปบิณฑบาต ตอนเช้าขึ้นมาลัทธิต่างๆ บอกว่าสิ่งที่เป็นธรรมๆ พระพุทธเจ้าปฏิเสธหมด การเกิด.. การเกิดเกิดโดยกรรม สิ่งที่จะเกิดจะประพฤติปฏิบัติขึ้นไป มันต้องเกิดจากมรรค เกิดจากการกระทำ ไม่ใช่เกิดจากการเกิด การเกิดโดยกรรม กรรมเกิดจากสภาวะกรรมพาเกิด แต่ถ้าการเกิดของอริยสัจ ไม่ใช่กรรม เป็นกรรมดี เป็นการกระทำดี การกระทำจากงานภายใน มาจากงานภายในจนมันเป็นมรรคขึ้นมา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกสุภัททะไง “ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล” แล้วมรรคการกระทำอย่างนี้ ในศาสนาอื่นมันไม่มีหรอก มรรคอย่างนี้ไม่มี ความเพียรชอบ งานชอบ สมาธิชอบ มีอย่างมากก็มีแค่สมาธิ สมาธิมันโดยพื้นฐานนะ ดูสิ จะฤๅษีชีไพรจะลัทธิไหนแล้วแต่ ถ้าความสงบของใจเขาทำกันได้แค่นั้นไง ขอให้จิตมันสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามานั่นคือนิพพาน ถ้าจิตสงบเข้ามา มันจะเป็นนิพพานได้อย่างไร ในเมื่อหินมันทับหญ้าไว้

ถ้าเป็นนิพพาน ทำไมมีการเกิดการตายล่ะ ทำไมมีภวาสวะล่ะ ทำไมมีภพล่ะ ภพมันอยู่ที่ไหน ภพมันอยู่ที่ใจ ภพมันไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วเป็นภพ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์แล้วเป็นภพนะ ตายแล้วก็สูญไง มนุษย์นี่เกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ เพราะกรรมพาเกิด เกิดเป็นมนุษย์แล้วถ้าได้ทำคุณงามความดี ได้ประพฤติปฏิบัติไปถึงสิ้นสุดกิเลส จิตตัวนี้มันถึงทำลายภพ ทั้งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่นะ ทำลายภพตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่

๔๕ ปี ที่เทศนาว่าการอยู่นี่ ทำลายภพตั้งแต่โคนต้นโพธิ์นั่นแล้ว เสวยวิมุตติสุข ทำลายภพแล้ว แล้วภพอยู่ที่ไหน ภพมันอยู่ที่ใจ ทั้งๆ ที่มีชีวิตอยู่ มีร่างกายอยู่ แต่ภพไม่มี ! เพราะเป็นพระอรหันต์ไม่มีภพ แต่ถ้าการทำความสงบของใจเข้ามานี่ มันภพล้วนๆ ตั้งแต่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน อากาสานัญจายตนะ สมาบัติ ๘ สมาบัติเท่าไรก็ได้ แต่มันยังมีภพอยู่ ภพมันมีผู้เข้าผู้ออก มันมีตัวตนของมันอยู่ ตัวตนอันนี้ ถ้าเป็นฌานสมาบัติ เป็นสมาธิมันก็อยู่ได้แค่นั้น สิ่งที่เขาทำกัน เขาทำได้แค่นี้ มันไม่มีมรรคไง

ถ้ามีมรรคขึ้นมา มันย้อนไปเห็นสติปัฏฐาน ๔ แล้วมันเป็นไป จะถือลัทธิศาสนาใดก็แล้วแต่ สิ่งที่ถือมานะ มันจะถือมาโดยผิดโดยถูกก็แล้วแต่ แต่ถ้ามาประพฤติปฏิบัตินะ ย้อนกลับมา อยู่ในศาสนาพุทธของเรานี่ ถ้าอยู่ในศาสนาพุทธ จะกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะกราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะ! เพราะความเห็นอันนี้มันมหัศจรรย์มาก แล้วจะกราบว่า.. รื้อค้นมาได้อย่างไร

สิ่งที่ละเอียดอ่อนจนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “พุทธปัญญา” เห็นอย่างนี้แล้วยังคิดว่าจะทำอย่างไรเลย จะสอนอย่างไรเลย แต่ก็วางมาเป็นเหตุ เป็นข้อวัตรปฏิบัติ

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ แล้วย้อนกลับไปแก้ที่เหตุนั้น”

แล้วผลมันออกมาเป็นมรรคญาณ ออกมาเป็น “ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น” สิ่งที่ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น มันเกิดมาจากไหน มันเกิดมาจากที่ว่า เราหงายภาชนะ แล้วเราเอาการกระทำของเราเข้าไป แล้วเราย้อนกลับเข้ามา มันเป็นพลังงาน จิตสงบมันมีกำลังของมันนะ

ดูสิ เวลาคนที่มีอำนาจวาสนา ขณะจิตสงบเพ่งดูอะไร มันจะเห็นสภาวะแบบนั้นเลย เห็นหมดนะ มันทะลุไปหมดเลย ทะลุไปหมดมันก็เป็นอนิจจังทั้งนั้น แต่ถ้าเราย้อนกลับมา เอาพลังงานนั้นเข้ามาเห็นกาย เข้ามาเห็นจิต เห็นธรรม แล้วมันก็วิปัสสนาของมันไป มันเป็นกำลัง นี่มรรคมันเกิดตรงนี้ เริ่มต้นมันเป็นมรรค โสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค อนาคามรรค แล้วความที่เป็นมรรคมันจะละเอียดอ่อนขนาดไหน

ความละเอียดอ่อนนะ จิตที่มันละเอียดอ่อน แล้วปัญญามันหมุนไป มันลึกลับ มันลึกลงไป ตั้งแต่โสดาบันนี่ตื้นๆ สกิทาคาลึกลงไป ยิ่งอนาคายิ่งลึกลงไปนะ ลึกลงไป ลึกจนคาดไม่ถึง จนคาดไม่ถึงนะ

แต่เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ มันก็อยู่ในหัวใจ เห็นการกระทำอยู่ เวลาการกระทำที่ถึงทีหนึ่ง ปัญญามันหมุนไปทีหนึ่ง มันจะปล่อยหนหนึ่ง แล้วถ้ากิเลสมันหลอก.. การประทุษร้ายอย่างละเอียด กิเลสตัวที่สูงๆ กิเลสตัวที่ลึกๆ กิเลสที่ละเอียดมันก็สร้างภาพไว้ให้ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม ให้เราออกนอกลู่นอกทาง ให้ออกนอกลู่นอกทาง เพราะอะไร เพราะมารมันยังมีโอกาสที่จะบังคับบัญชาได้ไง เพราะอะไร เพราะยังเกิดบนพรหม สิ่งที่เกิดบนพรหม มารยังบ่ายเบี่ยง มารยังคอยทำ

อวิชชาเจ้าวัฏจักร กับนางตัณหา นางอรดี มารแต่ละชั้นแต่ละตอน ความสามารถต่างๆ กัน แล้วในการประพฤติปฏิบัติ สิ่งนี้จะเข้ามาทำให้เบี่ยงเบน เบี่ยงเบนสร้างสภาวะ ครูบาอาจารย์สำคัญตรงนี้ ถ้ามีความเป็นไป ในปัจจุบันนี้เทปเทศน์ของครูบาอาจารย์มีมาก เราเทียบเคียงสิ เวลาเราทำประพฤติปฏิบัติไป ขั้นตอนอย่างนี้เป็นอย่างนั้นไหม ถ้ามันไม่เป็นอย่างท่าน ไม่เป็นเพราะอะไร ถ้ามันเป็นอย่างท่าน เหตุผลเพราะอะไร

เป็นอย่างท่านต้องมีเหตุผลนะ เหตุผลหมายถึงว่า มันสมุจเฉทปหาน มันเป็นอฐานะที่จะเสื่อม ถ้าไม่มีเหตุผลนะ เป็นแบบท่านๆ เหมือนเปี๊ยบเลย.. นี่มารมันเบี่ยงเบน พอเบี่ยงเบนอย่างนั้น มันก็ว่าใช่ ว่าใช่... เดี๋ยวก็เสื่อม เสื่อมจากสิ่งที่ควรเป็นควรได้อันละเอียด แต่ไม่เสื่อมจากสิ่งที่เราผ่านมาแล้ว สิ่งที่ผ่านมาแล้วมันเสื่อมไม่ได้ เป็นอฐานะ ถ้ามันพิจารณาจนปล่อยวาง ขาดเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา

มรรค ๔ ผล ๔ บุคคล ๘ จำพวก ขณะที่เป็นอรหัตมรรค อรหัตตผล มันก็ยังเป็นการกระทำอยู่ สัปปยุตเข้าไป ขณะกระทำนี่เป็นสัปปยุตเข้าไป รวมตัวเข้าไป ทำลายเข้าไป ทำลายเข้าไป วิปปยุตคลายตัวออก อรหัตตมรรค อรหัตตผล เห็นไหม สิ่งที่เป็นอรหัตตผลเป็นการกระทำ สิ่งที่กระทำคือจิตมันมีการกระทำ สิ่งนี้เป็นการกระทำของมรรคอันละเอียด

การเดินไป ถึงจะต้องไม่ให้สิ่งที่เป็นอวิชชามันมาประทุษร้าย การว่าประทุษร้ายนี่มันทำแล้ว มันคาอยู่อย่างนั้น มันจะไม่ได้ผลนะ ประทุษร้ายนะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา อุทธัจจะการกระทำ จิตที่มันทำบ่อยๆ ครั้งเข้า มันเป็นอุทธัจจะมันเป็นสังโยชน์ตัวหนึ่ง การกระทำจากเริ่มต้น การกระทำของเรามันหนักหนาสาหัสสากรรจ์ เราทุ่มเทกันขนาดไหน มันยังจับวรรค จับตอนไม่ได้ จับประเด็นไม่ถูก ก็ต้องล้มลุกคลุกคลานกันไป ล้มลุกคลุกคลานกันไปเรื่อยๆ

แต่พอปฏิบัติสูงขึ้นไป สูงขึ้นไปนะ พอปัญญามันจุดติด มันเป็นน้ำหลากน้ำป่าที่ปัญญารุนแรง เราก็ต้องยับยั้งขึ้นไปจนถึงที่สุดนะ การใช้ปัญญาอย่างนี้เป็นกุกกุจจะ กุกกุจจะคือมันทำงาน งานอันนี้เป็นงานอันละเอียด งานละเอียดมันเสวยอารมณ์ สิ่งที่เสวยสิ่งที่เป็นไป สิ่งที่มันจะพลิกอันละเอียด งานอันละเอียด สิ่งที่หลอกลวงอันละเอียด ปัญญาอันละเอียด นี่ความลึกมันลึกอย่างนี้

ปัญญามันไม่เหมือนกันหรอก ปัญญาแต่ละขั้นแต่ละตอนนะ ไม่เหมือนกันเลย มันลึกลับกว่ากันมาก เพราะ! เพราะสมาธิก็ลึกกว่า สิ่งที่เป็นปัญญาก็กว้างขวางกว่า สิ่งที่ลึกและกว้างมันจะทำลายเข้าไปในภพ ในภพคือตัวอวิชชา

สิ่งที่ทำลายตัวอวิชชาทั้งหมด พลิกออกไปแล้ว เป็นวิมุตติ สิ่งที่วิมุตตินี้เป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรมเห็นไหม ธรรมอันนี้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบอยู่ กราบสภาวะแบบนี้ ธรรมอันนี้จะไม่มีเกิดและไม่มีตาย ธรรมอันนี้จะคงที่อยู่อย่างนั้น แล้วถ้าคงที่ มันก็เป็นสถานะที่เราคุยกัน เราพูดกัน นี่เป็นสมมุติ

การเทศนาว่าการต้องเป็นบุคคลาธิษฐาน พูดให้เราเห็นภาพ แล้วเราพยายามทำของเราขึ้นไป ถ้าเป็นความจริง ใช่! ใช่! ใช่! จะเหมือนกันทั้งหมดเลย ความเหมือนกัน “ใจนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ” สิ่งที่เป็นอริยสัจ ใจนี้มันกลั่นออกมาจากการกระทำ

เรากระทำของเราเองนะ เราอาบเหงื่อต่างน้ำ เราทุกข์เราร้อนของเราขึ้นมา เราสร้างสมของเราขึ้นมา แต่มันเป็นงานภายใน ถ้าพระปฏิบัติจะไม่ให้มีงานภายนอก ให้มีแต่งานภายใน มีงานนั่งสมาธิ เดินจงกรม ภาวนา แล้วครูบาอาจารย์ของเรานี่รู้.. ได้ข่าว จะรู้ได้ยินข่าวว่าองค์นั้นเป็นอย่างไร องค์นี้เป็นอย่างไร จะรู้ จะได้ยินข่าวกันเอง เพราะมันเป็นสัจจะความจริง

แต่ผลงานอันเป็นวัตถุไม่มี ผลงานอันเป็นวัตถุนะ วัตถุแร่ธาตุต่างๆ ที่เขาทำกันไม่มี แต่ถ้าเราไปตื่น เราอยากมีผลงานของเรา เราอยากจะให้โลกรับรู้ว่า เรามีผลงานเป็นที่เขาจับต้องได้ เขาเห็นได้ เราจะไปสร้างวัตถุกันนะ แล้วก็บอกว่าสิ่งนี้เป็นงานทุกข์ งานยาก ทำลำบากมาก ต้องสั่งของ ต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันเป็นเรื่องยาก ขนาดทำเรื่องเป็นงานของวัตถุ มันจะยากตรงไหน ถ้าเป็นงานของใจ มันไม่มีอะไรเลยที่จะให้จับต้องได้ แต่ครูบาอาจารย์จับต้องได้ ในวงการปฏิบัติจับต้องได้

“ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง

สิ่งที่เป็นมงคล เพราะมันพูดเป็นธรรมเป็นมงคลไง ในการเห็นสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง สมณะมีกี่ประเภท ๔ ประเภท สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ การเห็นสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง แล้วในการประพฤติปฏิบัติของเรา ตั้งแต่ที่กิเลสมันพาประทุษร้าย ทำให้ผิดๆ พลาดๆ แล้วเราก็จะได้กราบสมณะของเราเอง ใจมันเป็นสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ มันเกิดจากใจเรานะ มันทำมาจากใจของเรา

เพราะใจของเรามันมีกิเลสอยู่ มันถึงหยาบช้า มันถึงทำให้ผิดพลาด พอใจมันควรแก่การงาน ใจมันเป็นมรรคขึ้นมา มันหมุนเข้าไป ทวนกระแสเข้าไปทำลายกิเลสจากใจของเรา เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป สิ่งนี้มันเป็นคุณธรรม มันเป็นธรรมที่เกิดขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติ มันเป็นธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ค้นคว้ารื้อสัตว์ขนสัตว์ เพื่อให้เราพ้นจากกิเลส

แล้วเราก็มีอำนาจวาสนา ประพฤติปฏิบัติของเรา แล้วเราก็รื้อสัตว์ขนสัตว์ รื้อสัตว์ตัวนี้ ตัวของเราเองนี่มันเป็นสัตว์ป่า มันเป็นผู้ข้อง ข้องกับความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วเรารื้อมันทำลายมัน ทำลายมันออกจากใจนะ เราก็รื้อสัตว์ขนสัตว์ของเรา ถ้าสัตว์ตัวนี้มันพ้นนะ พ้นจากวัฏฏะเห็นไหม เราก็มีกิจจญาณ เราก็มีวิธีการ เราก็จะไปรื้อสัตว์ขนสัตว์ต่อไป

พรหมจรรย์นี้ปฏิบัติเพื่อใคร ? ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อจะเป็นครูของใคร ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อจะแก้ลัทธิใด ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อใครทั้งสิ้น เราต้องปฏิบัติเพื่อใจของเราก่อน เพราะมันเป็นงานที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์ อย่าให้สิ่งใดเบี่ยงเบนไป ให้การกระทำของเราออกนอกลู่นอกทาง

งานของเราคืออยู่ที่ภวาสวะ อยู่ที่ภพ อยู่ที่ใจ เราต้องทุ่มการกระทำ และรวบรวมในมรรคญาณของเรา ทุ่มเข้าไปที่ในหัวใจของเรา ถ้าเราชำระในหัวใจของเราหมดแล้ว งานเราเสร็จสิ้นแล้ว เราถึงจะเป็นผู้ชี้นำเขา งานของเราเสร็จสิ้นแล้ว มันถึงจะเป็นประโยชน์ของเรา เป็นประโยชน์ของเราด้วย แล้วจะเป็นประโยชน์กับหมู่คณะ แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับโลก เอวัง