ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

หัดภาวนา

๒๕ ส.ค. ๒๕๖๑

หัดภาวนา

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๑

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๒๒๗๑. เรื่อง “วิธีการภาวนา”

กราบนมัสการหลวงพ่อ ลูกมีปัญหาในการภาวนาที่อยากขอความเมตตาจากหลวงพ่อช่วยชี้นำแนวทางในการปฏิบัติด้วยค่ะ

ลูกอยากทราบว่า เมื่อเราเริ่มทำการภาวนาโดยการเจริญภาวนาพุทโธๆ แล้วภาวนาไปเรื่อยๆ เราจะทราบได้อย่างไรว่า

๑. เราจะเริ่มมีสมาธิเกิดขึ้นแล้ว

๒. เราจะเริ่มฝึกหัดใช้ปัญญาได้เมื่อใด ลูกยังไม่ค่อยเข้าใจว่าเมื่อใดเราจะภาวนาและอยู่กับพุทโธ และเมื่อใดที่เราควรเริ่มที่จะใช้ปัญญาแล้ว

เพราะในปัจจุบันลูกมักจะภาวนาแต่พุทโธๆ เรื่อยๆ ไป และพยายามกำหนดให้มีสติอยู่กับพุทโธ แต่บางเวลาก็มีที่นึกไปถึงสิ่งอื่นๆ บ้าง เลยไม่แน่ใจว่าช่วงที่เราเผลอไปนึกสิ่งอื่นๆ เราควรปรับเปลี่ยนไปใช้ปัญญาพิจารณาตามไป หรือเราควรจะดึงสติให้กลับมาอยู่ที่พุทโธดีคะ กราบขอเมตตาหลวงพ่อชี้แนะด้วย

ตอบ : การชี้แนะๆ ชี้แนะในการประพฤติปฏิบัติ การชี้แนะนะ การสอนที่ดีที่สุดคือการไม่ต้องสอน การสอนที่ดีที่สุดคือการทำตัวเองเป็นตัวอย่าง พระพุทธเจ้าทำพระองค์ท่านเป็นตัวอย่าง การสอนที่ดีที่สุดคือไม่ต้องสอน แล้วเราก็พยายามฝึกฝน ฝึกให้ได้เป็นแบบนั้น ถ้าฝึกให้เป็นแบบนั้น ที่มันสับสนวุ่นวายกันอยู่นี้ก็วิธีการสอนนี่แหละ

ไอ้สอนหลายๆ เรื่องนี่ สิ่งที่ดีที่สุดคือไม่ต้องสอน ทำชีวิตของท่าน ชีวิตแบบอย่าง ชีวิตองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านอนสีหไสยาสน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พูดเลยนะ ไม่พยากรณ์ สิ่งใดที่เป็นความจริงแต่ไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่พยากรณ์ เป็นความจริงที่พูดไปแล้วเขาจะแตกแยกกัน เขาจะทะเลาะกัน เป็นความจริงที่พูดไปแล้วมันจะมีปัญหากัน ไม่พูดๆๆ พูดแต่สิ่งที่จำเป็น พูดแต่สิ่งที่มันเป็นประโยชน์ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

สิ่งที่สำคัญ สิ่งที่สูงสุดคือการไม่ต้องสอนนี่สำคัญที่สุดเลย แล้วเป็นชีวิตแบบอย่าง ชีวิตแบบอย่างนะ ครูบาอาจารย์ พระองค์ใดก็แล้วแต่ พระหลวงตาตามป่าตามเขาท่านอยู่ของท่านนะ ชีวิตแบบอย่าง ท่านอยู่ของท่านได้ ท่านอยู่ของท่านด้วยความสุขความสงบ เห็นไหม ไอ้นู่นก็ดี ไอ้นี่ก็ดี ดีไปหมดเลย ไม่มีอะไรขาดตกบกพร่องเลย

ไอ้พวกเราชาวพุทธนี่แหละ อู๋ย! ท่านอยู่ป่าเนาะ อู๋ย! ท่านขาดแคลนเนาะ อู๋ย! ท่านไม่มีเครื่องปั่นไฟ อู๋ย! ท่านไม่มีคอมพิวเตอร์ ท่านไม่มีหมดเลย

ท่านไม่เดือดร้อนนะ มึงน่ะเดือดร้อน นี่ไง สิ่งที่สูงสุดคือไม่ต้องสอน สิ่งที่สอนๆ เพราะสอนจนเปรอะ สอนจนไม่มีทางไป สอนจนวุ่นวายไปหมด แล้วเอาคำสอนตั้งกองทัพแล้วรบกัน กลุ่มมึงสอนอย่างนี้ กลุ่มกูสอนอย่างนี้ เอ็งผิด ข้าถูก แล้วก็ปะทะกัน ใครถูกใครผิด กิเลสทั้งนั้น สูงสุดคือไม่ต้องสอน

ทีนี้เวลาต้องสอนขึ้นมา วิธีการปฏิบัติๆ เวลาวิธีการปฏิบัติไป ดูสิ คนที่จิตใจที่เป็นธรรมนะ เราพูดถึงในหลวงนะ ในหลวง ร.๙ เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่สร้างผลประโยชน์เอาไว้มาก เพราะท่านตั้งกองทุนให้พระศึกษา ให้พระได้เล่าได้เรียน กองทุนการศึกษาของพระนะ ในหลวงตั้งไว้เยอะแยะเลย ตั้งไว้นะ ทุนการศึกษาของพระ ทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัย ทุนการศึกษา ในหลวงท่านตั้งไว้มากมายเพื่อต้องการให้คนเป็นคนดี ต้องการให้ประชาชนมีความสุข ต้องการให้คนเป็นคนดี ทุกคนปรารถนาอย่างนั้นน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน ไอ้พวกเราก็อยากจะส่งเสริมๆ ส่งเสริมอะไร เวลาหลวงตาท่านพูดนะ ธรรมทูตจะไปลาท่านไปเผยแผ่ธรรม ท่านถามเลย เอากิเลสไปเผยแผ่หรือ เอาอะไรไปเผยแผ่ จะเผยแผ่อะไร ทำตัวเองให้จบหรือยัง เผยแผ่มันต้องรู้จริงในใจแล้วถึงไปเผยแผ่ เอ็งเอาอะไรไปเผยแผ่

ไม่มีใครกล้าเข้าไปลา แหม! ธรรมทูตไปลาที่นู่น ไปลาที่นี่ แต่หลวงตาไม่เคยเข้าไปลา มาสิ มันเป็นมารยา มันเป็นเรื่องโลกทั้งนั้นน่ะ

ถ้าเอาจริงๆ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาสิ เอาขึ้นมาให้ได้ เอาให้มันจริงขึ้นมา ส่งเสริม ส่งเสริมตรงนี้ ส่งเสริมประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วปฏิบัติตามความเป็นจริง อย่ามายุมาแหย่มาทิ่มมาตำ ใครมีสิ่งใด ทำอย่างไร ควรทำอย่างนั้น

เผยแผ่ๆ เราเองเราก็ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยนะ ตอนนี้นะ เขามีอานาปานสติไปตามจังหวัดต่างๆ แล้วเด็กๆ มันก็ไปฝึกกันไง แล้วเขาก็จะเอาไมค์ไปจ่อเลย “มาแล้วได้อะไร”

“โอ้โฮ! สติดีขึ้น เมื่อก่อนนี้ฉุนเฉียว เดี๋ยวนี้ไม่ฉุนเฉียว” ไอ้เด็ก ๓ ขวบ ๔ ขวบ

“มาครั้งที่เท่าไร”

“มาครั้งที่หนึ่ง”

“ดีหรือไม่ดี”

“โอ๋ย! ดี มาครั้งที่ ๒ ดีขึ้นเยอะเลย

“มากี่หนแล้ว”

“มา ๓ หนแล้ว เดี๋ยวนี้เรียนหนังสือก็ดี อยู่บ้านไม่เถียงพ่อแม่แล้ว จะช่วยพ่อแม่ทำงาน”

อย่างนี้ดีไหม ดี

นี่ไง เขาถามว่า วิธีการภาวนาๆ วิธีการภาวนาเขาสอนเด็กๆ เดี๋ยวนี้ทุกคนก็อยากให้ชาวพุทธเราฝึกหัดภาวนา การที่ฝึกหัดภาวนานี่สุดยอดนะ สุดยอดเพราะอะไร คนที่มีปัญหาที่ทะเลาะเบาะแว้งกันเพราะขาดสติ เพราะอารมณ์ฉุนเฉียว เพราะแสวงหาแต่ผลประโยชน์ ถ้าฝึกหัดภาวนาก็ตรงนี้ไง ถ้าฝึกหัดภาวนาเขามีสติขึ้นมา

อย่างเด็กๆ ที่มันพูด เขาฝึกฝนอานาปานสติ มันเป็นมูลนิธิสมเด็จญาณฯ ไปทั่วประเทศเลย แล้วพอไปเขาจะสัมภาษณ์เด็กๆ เราก็นั่งฟัง

“มาครั้งที่หนึ่ง”

“ทีแรกใครให้มา”

“พ่อแม่บังคับมา บางทีก็เพื่อนชวนมา พอมาแล้วดี โอ๋ย! ดีน่าดูเลย หายใจทีแรก หายใจก็หายใจไม่เป็น หายใจแล้วมันหาไม่เจอ เดี๋ยวนี้หายใจแล้วดีขึ้น พอดีขึ้นขึ้นมา กลับไปเดี๋ยวทำให้เย็นลง ไม่ค่อยฉุนเฉียว”

ไม่ฉุนเฉียว มีสติ ควบคุมอารมณ์ สุดยอด คนเราที่ทุกข์ที่ยากกันก็แค่นี้แหละ ที่ทุกข์ที่ยากเพราะขาดสติ เพราะอารมณ์ฉุนเฉียว เพราะความไม่พอใจ ถึงได้ทะเลาะเบาะแว้งกัน

แล้วเด็กๆ เขาสอนเด็กๆ เด็กๆ เวลาสอน “นักเรียน อย่าดูดบุหรี่นะ อย่ากินเหล้า” ครูมันก๊งใหญ่เลย ก็รู้อยู่ว่าไม่ดี แต่ครูมันก็ดูดบุหรี่ ครูมันก็กินเหล้า แต่สอนเด็กนะ “เด็กนักเรียน กินเหล้าแล้วสุขภาพไม่ดี” มันก๊งอยู่นั่นน่ะ

ก็รู้ว่าดีหรือชั่วก็รู้อยู่ แต่ทำไม่ได้ แล้วพอไปสอนเด็กๆ เด็กมันผ้าขาวนะ เวลาถาม ครูบอกกินไม่ได้ ครูกินเหล้านั่นน่ะ ไหนบอกครูห้ามสูบบุหรี่ ก็ครูสูบอยู่น่ะ มันชี้เลย เพราะเด็กมันผ้าขาว แล้วพอผ้าขาว พอมันฝึกหัด พอฝึกหัดนะ เขาไปสัมภาษณ์เลย ดีขึ้นๆ เขาว่าดีขึ้นทั้งนั้นน่ะ

การภาวนาเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เวลาชาวตะวันตกเขาแสวงหากันมาก เขาแสวงหาการทำสมาธิ เขาแสวงหาการประพฤติปฏิบัติ เขาแสวงหากันมาก เพราะอะไร เพราะว่ารัฐสวัสดิการ ในประเทศที่เจริญแล้วเขามีสวัสดิการดูแลประชาชนของเขา ตกงานก็มีเงินเดือนกิน มีงาน มีสวัสดิการ ทุกอย่างพร้อม ชีวิตเขา เขาไม่ทุกข์ไม่ยากในทางปัจจัย ๔ แน่นอน

รัฐสวัสดิการนะ ตกงานเขาก็มีเงินจุนเจือ มีทุกอย่าง เขาให้พร้อม แล้วเขาจะขาดอะไร เขาขาด เขาก็ขาดความสุขในใจทั้งนั้นน่ะ เขาถึงแสวงหาไง เขาแสวงหาของเขา เขาแสวงหาเพื่อการฝึกหัดทำสมาธิเพื่อให้ใจเขามีความสุขขึ้นมา

ไอ้ของเรา เราจะฝึกหัด เราจะทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าความสงบของใจเข้ามา เราก็ทำความสงบของใจเข้ามา มันมีคุณค่าอยู่แล้ว

สมเด็จญาณฯ ท่านตั้งเป็นมูลนิธิของท่านเองเพื่อให้ฝึกหัดภาวนา อานาปานสติ ฝึกหัดเด็กๆ มัน เพราะผู้ใหญ่มันหัวแข็ง ผู้ใหญ่มันปัญญามาก ผู้ใหญ่มันเจ้าเล่ห์ ผู้ใหญ่มันภาวนามันก็ไปเอาแต่ลัดสั้น มันจะเอาแต่ประโยชน์ของมัน แต่เด็กๆ ไปสอนมัน สอนมันให้เป็นคนดีของมันขึ้นมา ถ้าเด็กเป็นคนดีขึ้นมานะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มา ๖ ปี เวลาระลึกถึงตอนเป็นราชกุมาร ตอนที่พ่อพาไปแรกนาขวัญ แล้วไปกำหนดอานาปานสติอยู่นั่นน่ะ ระลึกถึงความสุขตอนที่จิตของตนเป็นสมาธิอยู่โคนต้นหว้านั้น พระพุทธเจ้าไประลึกถึงตอนที่ท่านเป็นราชกุมาร แล้วเราไปแสวงหามาจนทั่วแล้ว มันไม่มีทางไปแล้ว สงสัยตรงนี้ มันน่าจะเอาตรงนี้ แล้วกลับมา กลับมากำหนดอานาปานสติ กลับมากำหนดลมหายใจ

ตั้งแต่เป็นราชกุมาร แล้วลัทธิศาสนาก็ว่าสอนสมาธิๆ ใครก็สอนทั้งนั้นน่ะ ทุกคนก็สอน นี่ก็เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ฝึกหัดอานาปานสติไง แต่เวลากำหนดในวันเพ็ญ เดือน ๖ ขึ้นมา เวลาอานาปานสติเข้ามา จิตสงบเข้าไปแล้ว บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ อันนั้นน่ะมรรคผลมันเกิดในพระพุทธศาสนา มันมาเกิดที่นี่ อานปานสติก็เป็นอานาปานสตินั่นน่ะ ฝึกให้คนมีสติ ฝึกคนให้ไม่ควบคุมอารมณ์ไม่ให้ฉุนเฉียว แต่มันเกิดปัญญาขึ้นมาเป็นอย่างไร นี่พูดถึงว่าฝึกหัดการภาวนาไง

เราจะย้อนกลับมาที่ว่า ดูสิ การฝึกอบรมอานาปานสติกับเด็กๆ มันยังมีประโยชน์เลย แล้วชื่นชมนะ เด็กๆ มันมีความสุข เด็กถ้ามันมีสิ่งใดมันก็หวังพึ่งพ่อพึ่งแม่ทั้งนั้นน่ะ มันพึ่งใครไม่ได้หรอก แล้วมันก็จะเอาแต่ตามใจมัน แต่เวลามันมาฝึกอานาปานสติ มันรู้สึกตัวมันเองเลยนะ “เดี๋ยวนี้ไม่ฉุนเฉียวแล้ว จะช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน” นี่พอมันมีสติมันควบคุมได้มันยังเป็นประโยชน์ขนาดนั้น นี่จะบอกว่าเด็กๆ เด็กๆ มันทำขึ้นมามันเป็นประโยชน์กับมันอย่างนั้นน่ะ

เพราะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แก้วสารพัดนึก มันเป็นประโยชน์ของมันอยู่แล้ว แต่เราใช้ประโยชน์กับสิ่งใด แต่นี่พวกเราพอโตขึ้นมา นั่นก็พระอรหันต์ นั่นก็พระอนาคามี เวลาปฏิบัติขึ้นมาก็จะเอาพระอรหันต์

จะหันไปไหน หันกลับบ้านหรือ ถ้ามันเป็นจริงๆ มันจะหันไปไหน เวลามันคิด จะเอาพระอรหันต์ แล้วทีนี้ก็กูหัน มึงไม่หัน ว่าอย่างนั้นเลยนะ สำนักนั้นไม่หัน สำนักกูหัน มันก็เลยบ้าบอคอแตก นี่มันกิเลสทั้งนั้น เริ่มต้นขึ้นมาก็ด้วยการชักนำของพญามาร

เวลาทำขึ้นมา เราจะบอกว่า การฝึกหัดภาวนาๆ เรากำหนดภาวนา เด็กๆ ถ้ามันภาวนาแล้วมันก็เป็นประโยชน์กับมัน นี่ก็เหมือนกัน เราโตขึ้นมา เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราจะฝึกหัดภาวนา

เขาจะฝึกหัดภาวนา เขาถึงถามปัญหามา “ลูกมีปัญหาอยากจะภาวนา อยากจะมีความเมตตาจากหลวงพ่อชี้นำในการภาวนาด้วยค่ะ ลูกอยากทราบว่า เมื่อเริ่มต้นภาวนาโดยการเจริญภาวนาพุทโธๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ จะทราบอย่างไรว่า ๑. เราจะเริ่มเกิดมีสมาธิขึ้นแล้ว”

แล้วเอ็งอยากรู้อะไรล่ะ อยากรู้เรื่องสมาธิก็เขียนเลย เขียนป้ายใหญ่ๆ ไว้เวลาภาวนา นี่สมาธิ แล้วนั่งดูมันเลย เป็นสมาธิไหม

นี่ก็เหมือนกัน แล้วเมื่อไหร่จะเป็นสมาธิ นี่ด้วยความอยากไง ด้วยความอยาก ตัณหาซ้อนตัณหา

พวกเราคนที่เขาทำมาหากินนะ บางคนเขาทำมาหากินด้วยหน้าที่การงานของเขา เขารู้จักเก็บหอมรอมริบ รู้จักประหยัดมัธยัสถ์นะ เขาตั้งเนื้อตั้งตัวของเขาขึ้นมาได้

ไอ้นี่อยากรวยๆ อยากรวย เที่ยวบาร์ อยากรวย ซื้อหวย อยากรวย ฟุ่มเฟือย อยากรวยๆๆ...ไม่รวยหรอก

ไอ้คนที่เขาไม่อยากรวยเขาทำหน้าที่การงานของเขา เขารู้จักประหยัดมัธยัสถ์ของเขา เขารู้จักเก็บหอมรอมริบของเขา เดี๋ยวเขาก็รวย

นี่ก็เหมือนกัน แล้วเมื่อไหร่มันจะเกิดสมาธิล่ะคะ

อยากรวย มึงอยากไปเถอะ ความอยากอย่างนี้ในวงกรรมฐานเขาเรียกว่า “ตัณหาซ้อนตัณหา” ความอยากอย่างนี้มันมาปิดกั้นผลการประพฤติปฏิบัติของเรา ไอ้คนที่เขาอยากร่ำอยากรวยเขามีความหมั่นเพียร

คนทำหน้าที่การงานเหนื่อยนะ คนใช้สมองนี่นะ มันเพลียนะ คนทำสิ่งใดก็แล้วแต่ ลงทุนลงแรงทำสิ่งใดแล้วมันมีความเหนื่อย มันมีความทุกข์ความยากทั้งนั้นน่ะ แต่ความเหนื่อย ความทุกข์ความยากอันนี้มันเป็นความเหนื่อยความทุกข์ความยากเป็นหน้าที่ หน้าที่ของมนุษย์เราต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย เราก็แสวงหาสิ่งนี้มาเพื่อดำรงชีพ หน้าที่การงานของเรา ถ้าเรามีอำนาจวาสนาของเรา เรารู้จักเก็บหอมรอมริบของเรา เรารู้จักประหยัดมัธยัสถ์ของเรา เราก็จะมีทรัพย์สมบัติเก็บออมไว้เหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน เราก็ภาวนาของเราไป เพราะเรารู้ว่าสิ่งนี้มันเป็นประโยชน์ไง ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เมื่อไหร่จะรวย เมื่อไหร่จะมีล้านที่หนึ่ง แล้วเมื่อไหร่จะมีล้านที่สอง แล้วล้านที่หนึ่งร้อย เอ็งคิดไปเถอะ เพราะมันก็ทุกข์ยากอยู่ในหน้าที่การงานอยู่แล้ว มันก็ต้องมีหน้าที่บริหารจัดการชีวิตของเราอยู่แล้ว

นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติเราก็ปฏิบัติเพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมาเพราะสิ่งนี้เป็นหนทาง นี่เป็นหนทางที่จะมีความสุขที่แท้จริง หนทางนี้มันเป็นหนทางที่ทำให้จิตของเรามันฉลาดขึ้นมา ถ้าจิตเรามีสติมีปัญญาขึ้นมา มันก็ไม่หลงใหลแบบที่ว่าเมื่อไหร่จะรวยๆ ไม่ทำอะไรเลย เมื่อไหร่จะรวย นี่ก็เหมือนกัน ภาวนาไอ้ที่ว่าอยากได้ๆ ทุกข์ยากมาก

เวลาวิธีการภาวนา ครูบาอาจารย์ท่านบอกเลยนะ ตั้งเป้าไว้แล้ววางเลย แล้วเราพยายามอยู่กับพุทโธ เวลาพุทโธ ครูบาอาจารย์ พระที่ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติ เราเป็นฆราวาส เราก็อยากจะเป็นพระอรหันต์ พอบวชแล้วมีศีล ๒๒๗ แล้ว ต้องเป็นพระอรหันต์แน่ๆ เลย ถ้านั่งภาวนาไปแล้วเดี๋ยวต้องได้สมาธิ โอ้โฮ! เตรียมตัวมาพร้อม ศีล ๒๒๗ มีเป้าหมาย ตั้งเป้าไว้เลย จะต้องเป็นสมาธิ จะเกิดปัญญา จะเป็นพระอรหันต์

ตายอยู่นั่นน่ะ มันจุดไฟเผาตัวมันเอง มันจุดไฟกองเบ้อเริ่มเลย แล้วก็เผาในหัวใจ โอ้โฮ! ร้อนมาก เร่าร้อน รุ่มร้อน บวชแล้วก็ภาวนาไม่ได้ บวชแล้วมันก็ทุกข์มันก็ยาก ไอ้เขาก็อยู่กันสุขสบาย ไอ้ที่มันไม่ปรารถนาเป็นพระอรหันต์มันยังมีความสุขเลย ไอ้เราปรารถนาเป็นพระอรหันต์ ทำไมมันทุกข์ยากขนาดนี้ โอ้โฮ! ไอ้ความปรารถนานี่ นี่ไง จุดไฟเผาเข้าไป เผาตัวมันเองเข้าไป ก็คิดว่าคิดดีไง ก็คิดเรื่องดีๆ ทั้งนั้นน่ะ มันต้องเป็นความดีสิ นี่เวลากิเลสมันหลอกมนุษย์ หลอกอย่างนั้นน่ะ แล้วหลอกพระน่าโง่ หลอกพระน่าโง่เอาไฟเผาตัวมันเอง

เวลาเราบวชแล้วเรามีเจตนา มีความเชื่อในพระพุทธศาสนา เราก็อยากบวชพระ บวชแล้วก็อยากจะประพฤติปฏิบัติ บวชแล้วอยากเจอครูบาอาจารย์ ดูสิ เวลายกหลวงตาทุกวันเลย เวลาหลวงตาท่านปรารถนาเป็นพระอรหันต์นั่นแหละ ศึกษาจนเป็นมหา ไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นถามเลย “มหามาหาอะไร มาหานิพพาน นิพพานอยู่ไหน” แล้วก็บอกสอนนะ อย่าไปคิดถึงมัน วางให้หมด แล้วภาวนาของเราไป เวลาจิตมันเสื่อม ภาวนาไม่ได้ จิตนี้เหมือนเด็กน้อย เด็กน้อยเวลามันหิวมันก็วิ่งไปหาแม่มัน มันจะกินนมแม่มัน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิต ธรรมดามันต้องมีอาหารของมัน ตอนนี้มันดื้อ มันก็ไปเที่ยวเล่นของมัน จิตมันเสื่อมหมด เสื่อมหมด ก็เตรียมอาหารให้มันไว้ กำหนดพุทโธไว้ พุทโธไว้เฉยๆ มันหิวมันกระหาย มันไม่มีที่กิน เดี๋ยวมันก็กลับมาเอง นี่เวลาท่านทำไปๆ ทำแบบนั้นน่ะ

ท่านจิตเสื่อมมาก่อน ก่อนที่เข้ามาหาหลวงปู่มั่น เพราะออกจากจักราชไป มาทำกลดที่บ้านตาด ออกจากบ้านตาดไปหนองคาย แล้วก็ไปหาหลวงปู่มั่น จิตมันเสื่อมมา โอ้โฮ! ทุกข์ร้อนมาก

เวลาทุกข์ร้อนมาก ท่านบอกให้กำหนดพุทโธๆ ไว้ จิตมันเสื่อม สุดท้ายท่านก็บอกว่ากลับมาพุทโธนั่นแหละ พุทโธๆ โดยความที่หลวงปู่มั่นท่านตอกย้ำ อย่าไปยุ่งกับอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องไปหวังอะไรทั้งสิ้น เตรียมอาหารไว้ เตรียมอาหารไว้ เตรียมไว้เพื่อให้หัวใจมันกลับมากิน พุทโธๆๆ โอ้โฮ! มันแบบว่าอกจะแตก

ก็นี่ไง บวชแล้วจะเป็นพระอรหันต์ไง จะเป็นพระอรหันต์มันว่างเปล่าไง มันเป็นการจินตนาการ มันจินตนาการไป แล้วกิเลสมันก็ทำให้จิตใจมันฟุ้งซ่านไปหมดเลย ในจิตใจของเราไม่มีอะไรเลย จะไปหันอะไร ตอนนี้มึงเป็นไฟอยู่ มึงยังไม่รู้อีกหรือ มึงจะหันอะไรของมึง มึงเอาแต่ไฟสุมในใจของมึง แต่เวลาคิดมันคิดอยากเป็นพระอรหันต์ แต่ความคิดอันนั้นมันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ความคิดอันนั้นน่ะมันเผาลนหัวใจ

ไอ้สิ่งที่เขาไม่คิด เขาไม่เผาลนหัวใจของเขา เขาทำไปโดยข้อเท็จจริงของเขา ถ้ามันจะสงบมันก็สงบด้วยคำบริกรรม มันต้องมีเหตุมันพร้อม ถ้าทุกอย่างมันพร้อม มันสมดุลของมัน มันก็สงบโดยธรรมชาติของมัน

ไอ้นี่ อู๋ย! อยากเป็นพระอรหันต์ มันหายหมดไง สติก็หายไปแล้ว คำบริกรรมทุกอย่างก็ไม่มีในหัวใจเลย...มันส่งไปนู่นไง ที่หลวงตาท่านสอนว่า เวลาพระอานนท์ไง พระพุทธเจ้าบอกว่า “อานนท์ เธอจะได้เป็นอรหันต์วันที่เขาสังคายนา” นี่พระพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ พระพุทธเจ้าพูดไม่มีผิดนะ

พระพุทธเจ้าบอกว่าเราจะได้เป็นพระอรหันต์ในคืนวันนี้ เพราะพรุ่งนี้เช้าเขาจะสังคายนา เกือบตาย จะหันๆ อยู่นั่นน่ะ จะหันจนจะรุ่งเช้าอยู่แล้วยังไม่หันเลย โอ้โฮ! ไม่ไหวแล้ว ขอพักสักหน่อย

คำว่า พักสักหน่อย” พักความคิดหมดเลย พักความอยากได้อยากดี พักสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทายเอาไว้แล้วว่าเราจะได้อรหันต์ มันไปอยู่คำพูดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะได้อรหันต์ ก็จะวิ่งไปเอาจิตพระอรหันต์มาไง

พักหมดเลย หยุดหมด หยุดความคิดที่ส่งออกทั้งหมด เวลาจะพักขึ้นมา มันย้อนกลับเข้ามาถึงตัวมันเอง ได้เป็นพระอรหันต์จริงๆ แต่กว่าจะได้เป็นพระอรหันต์เกือบตาย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาภาวนา ตัณหาความทะยานอยาก เรื่องนี้ร้ายนัก แล้วคนที่ไม่เคยปฏิบัติจะไม่เห็นโทษของมัน หลวงปู่มั่นท่านทุกข์ท่านยากมาก่อน ท่านเห็นหลวงตา เห็นลูกศิษย์ของท่าน หลวงตามหาบัวจบมหา อายุ ๒๙ ยังเป็นพระหนุ่มเณรน้อยที่มีความมุ่งมั่นที่สุดยอด แล้ววิ่งไปหาท่าน ท่านถึงพยายามป้องกันกิเลสไว้ไม่ให้ครอบงำ แล้วพยายามสอนขึ้นมา ก็ยังอยู่กับหลวงปู่มั่น ครูกับอาจารย์ฟัดกันมานั่นน่ะ

หลวงตาท่านบอกเลย “หลวงปู่มั่นท่านเป่ากระหม่อมเรามา หลวงปู่มั่นเป่ากระหม่อมเรามา” คนที่จะเป่ากระหม่อมเขามันโดนกิเลสเป่ามาจนล้มลุกคลุกคลานแล้ว มันรู้เท่าทันไง

ใช่ปรารถนาดีทั้งนั้นน่ะ เวลาพวกเราว่า ไปอยู่กับหลวงตาสิ บอกว่า “เจตนาดีจะมาสงเคราะห์หลวงตา”...มึงหงายท้องหมด

ทุกคนก็คิดดีหมด เจตนามันดีตรงที่คิดไง ดีที่เจตนาไง แต่ทำไม่ได้ ทำไม่เหมือน เพราะเจตนามันแค่เริ่มต้น ทุกคนเจตนาดีหมดแหละ ทุกคนไปเรียน กูจะจบ เรียนเกือบตาย จบหรือไม่จบ เกือบตาย เจตนาดีหมดแหละ เจตนาส่วนเจตนา แต่การกระทำนั้นมันสมกับความเป็นจริงหรือไม่ ไม่จริง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า เวลาคิดว่า เราจะเป็นอย่างนั้นๆ แล้วอยากให้ได้เป็นนะ ทุกข์ตายเลย แต่โดยกิเลส โดยความคิดของมนุษย์ ทุกคนก็อยากปรารถนามรรคปรารถนาผลทั้งนั้นแหละ เราปรารถนาแล้ว เราก็รู้ว่าเราปรารถนาแล้วก็วางไว้ ไม่ใช่ปรารถนาแล้วก็ไปคิดแต่ปรารถนา นี่จิตมันส่งออก แล้วตัวเองมันมีความคิดอะไรขึ้นมาอีก ในตัวมันเองมันจะทำอะไรได้ในเมื่อมันคิดอยู่ตรงนั้นน่ะ

ในเมื่อมันคิดไปแล้วก็วางสิ วาง จิตมันก็คิดขึ้นมาเองได้ไง จิตมันฝึกหัดขึ้นมาได้ไง จิตมันก็มีความสามารถจะสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ไง ถ้ามันเข้ามาที่ตัวมัน มันเป็นปัจจุบันไง แต่มันคิดอยู่อย่างนั้นน่ะ นี่เวลาตั้งใจไง พอตั้งใจ

นี่ก็เหมือนกัน คำถามนะ “๑. เราเริ่มจะมีสมาธิเกิดขึ้นแล้ว” คือว่าเขาปฏิบัติแล้ว เมื่อไหร่เขาจะรู้ว่าสมาธิเขาเกิดขึ้นแล้ว

เออ! เอ็งก็คิดจนตาย แล้วมันจะเกิดกับเอ็ง

เพราะหลวงตาท่านสอน ครูบาอาจารย์เราสอนนะ การทำความสงบ จิตสงบบ่อยๆ ถึงเป็นสมาธิ คำว่า ทำสมาธิๆ” เอาสมาธิมาจากไหน สมาธิคือจิตตั้งมั่น แต่มันทำความสงบครั้งที่ ๑ แล้วมันคายออกมา เราก็ทำความสงบของเรา ทำความสงบ ทำจนมันมีความชำนาญแล้วมันถึงจะจิตตั้งมั่น ถึงจะเป็นสมาธิ

แต่การทำเริ่มต้น เริ่มต้นก็ทำความสงบของใจ ถ้าว่ามันจะเป็นสมาธิ มันก็เป็นสมาธิแบบเบื้องต้น เป็นสมาธิแบบเริ่มแรก ความเริ่มแรกขึ้นมามันก็สงบระงับเข้ามาเล็กน้อย มันอยู่ที่ผู้ที่มีอำนาจวาสนา

มีคนปฏิบัติเยอะมาก เวลาถามปัญหามานี่ “วูบไปเลย มันเย็นวาบไปหมดเลย ไอ้นี่มันคืออะไร”

เห็นไหม เวลาที่ว่าธรรมสังเวช เวลามันเกิดสัจธรรมมันจะสงบขึ้นเล็กน้อย พอสงบเล็กน้อยมันมีรสชาติ เรานี่เร่าร้อน แล้วเราไปอยู่ที่ร่มเย็น เราจะรู้ถึงความเย็นในหัวใจเราได้ พอรู้ถึงความเย็นในหัวใจของเราได้มันเกิดความสะเทือนหัวใจ สะเทือนหัวใจนะ โอ้โฮ! เรากินอาหารรสเลิศ อาหารที่ถูกใจ เราก็อร่อยเป็นเรื่องธรรมดา จิตมันได้สัมผัสความร่มเย็นแล้วมันก็มีความสังเวช มันสะเทือนใจไง นี่ธรรมสังเวช แล้วมันเกิดชั่วคราว คนก็เขียนมาถาม “อู๋ย! มันเย็นไปหมดเลย โอ๋ย! มันว่างหมดเลย มันคืออะไรคะ มันคืออะไรคะ”

ถ้ามันสงบเป็นครั้งเป็นคราวมา “มันคืออะไรคะ” เราก็ย้อนกลับไปที่เรากำหนดอย่างไร แล้วมันสงบขึ้นมาอย่างไร จำวิธีการอย่างนั้นไว้ แล้วเราก็ทำอย่างนั้นบ่อยครั้งเข้าๆ คำว่า บ่อยครั้งเข้า” มันมีความชำนาญ ทำความสงบบ่อยๆ จนมันมีความชำนาญจนเป็นสมาธิ จนมันเป็นสมาธิ

นี่ก็เหมือนกัน “แล้วเมื่อไหร่มันจะเป็นสมาธิ” นี่เหมือนกันเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ว่าพระอานนท์จะได้เป็นพระอรหันต์

มึงเอาเลย นี่ก็เหมือนกัน “แล้วเมื่อไหร่มันจะรู้สึกเป็นสมาธิล่ะคะ”...มึงตาย มึง “โอ๋ย! มาแล้ว โอ๊ะๆ! จะเป็นสมาธิ จะเป็นสมาธิ อ๋อๆ! สมาธิเป็นอย่างนี้”...มึงตายอยู่นั่นน่ะ

เราฝึกหัดภาวนา เหมือนกับเด็กน้อยๆ ที่ไปฝึกหัดอานาปานสติ หายใจเข้าก็รู้ว่าเข้า หายใจออกก็รู้ว่าออก กำหนด ๕ นาที ๑๐ นาที เด็กสองขวบสามขวบมันทำได้ ๕ นาทีก็เก่งแล้ว นี่เขาก็ทำของเขา พอทำของเขาเสร็จแล้วเขาก็ไปสัมภาษณ์ “ทำแล้วเป็นอย่างไรล่ะ”

“อ๋อ! ลมมันเย็นๆ ทีแรกมันก็ไม่ทันลมหายใจของตัว พอสังเกตๆ เข้า ครั้งที่ ๒ ครั้ง ๓ ก็จะรู้จักลมหายใจของตัว” เด็กมันผ้าขาวมันพูด โอ้โฮ! อืม! สุดยอด

นี่ก็เหมือนกัน เราก็กำหนดพุทโธของเราๆ สิ่งที่ว่า แล้วมันจะเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ล่ะ

ถ้าเราฟุ้งเราซ่าน เรามีความทุกข์ความยาก ถ้ามันกำหนดแล้วมันเย็นมา มันร่มเย็นมา มันปล่อยวางมา เราก็กำหนดลมของเรา เราก็พุทโธของเราไปเรื่อยๆ ถ้าเราพุทโธ เราก็พุทโธของเราไป ไม่ทิ้งพุทโธ

ถ้ามันจะเย็นมา มันจะว่างมา มันว่างมาเพราะกำหนดพุทโธ ถ้าเราไม่กำหนดพุทโธ มันก็จะว่างมาไม่ได้ สิ่งใดที่มันจะเกิดขึ้น มันจะเกิดแสงสว่าง มันจะเกิดความเย็น มันจะเกิดความว่าง บอกได้เลยว่าเหตุมันเกิดเพราะเราบริกรรมพุทโธ เพราะเราบริกรรมพุทโธๆ เพราะจิตเราบริกรรมอยู่กับพุทโธ

พอจิตบริกรรมพุทโธ มันมีคำบริกรรมของมัน พอมีคำบริกรรมของมัน มันอยู่กับพุทโธ อยู่กับพุทธะ อยู่กับพุทธานุสติ มันไม่ไปคิดเรื่องอย่างอื่น พอมันไม่คิดอย่างอื่น มันสะสมในตัวมันเองขึ้น มันเป็นอิสระขึ้นมา ความเป็นอิสระของจิตขึ้นมามันก็จะรู้รสชาติของมัน คือตัวมันเองมันจะรู้ถึงความว่างของมัน ตัวมันเองรู้ถึงความเย็นของมัน สิ่งที่มันเกิดขึ้นมันเกิดจากพุทโธทั้งนั้นน่ะ

แต่เวลาบอก “แล้วเมื่อไหร่มันจะเป็นพุทโธ แล้วพุทโธมันจะเย็นเมื่อไหร่”

มันเป็นโดยข้อเท็จจริงไง แบบพระอานนท์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์แล้วมันก็คิดแต่คำพยากรณ์นั้นน่ะ แต่เวลามันทิ้งหมดเลย เวลามันกลับมาเป็นตัวมันเองไง นี่ไง พุทโธๆๆ เวลามันละเอียดขึ้นมามันก็เกิดจากพุทโธนั่นแหละ มันเกิดจากพุทโธนั่นแหละ แล้วจิตมันจะปล่อยวางเข้ามาเป็นตัวของมัน

พอเป็นตัวของมันขึ้นมา เห็นไหม มันจะเป็นสมาธิไม่เป็นสมาธิ ต้องอยู่กับพุทโธตลอดไป เพราะพุทโธมันทำให้เราร่มเย็นเข้ามา เพราะพุทโธมันทำให้เราไม่ฟุ้งซ่าน เพราะพุทโธ คำว่า พุทโธๆ” เพราะมีสตินะ พอมีสติ จิตมันกำหนดพุทโธได้มันถึงจะเป็นพุทโธได้นะ

ถ้าจิตมันไม่กำหนดพุทโธ มันพุทโธสักแต่ว่า พุทโธสักแต่ว่า ให้มึงพุทโธไป กูจะคิดไปเที่ยว พุทโธมึงก็พุทโธไปสิ กูก็ฟุ้งซ่านกูอยู่นี่ ทำไม เวลากิเลสมันแข็งข้อนะ อ้าว! พุทโธก็พุทโธไปสิ เพราะเราเคยท่องพุทโธใช่ไหม เป็นคำบริกรรม เราก็เคยท่องของเรา แต่จิตมันไม่สนหรอก นี่เขาเรียกว่าสักแต่ว่าพุทโธ พุทโธอยู่ข้างนอก แต่ความคิดอีกความคิดหนึ่งมันอยู่ข้างใน ความคิดอยู่ ความคิดจิตใต้สำนึกมันคิดของมันไป มึงก็พุทโธไปสิ พุทโธของมึงไป แต่กูจะตีรวนมึงน่ะ ทำไม

แต่พุทโธๆ พุทโธกับจิตที่มันจะตีรวนมันจะเป็นอันเดียวกัน คำว่า อันเดียวกัน” มันพุทโธจนตัวมันต้องพุทโธด้วย พอตัวมันพุทโธด้วย กับพุทโธก็อยู่ข้างนอก พุทโธคือคำบริกรรม บริกรรมคือคำนึกขึ้นมานั่นแหละ เวลาคำนึกขึ้นมา แต่ตัวมันพุทโธ ถ้ามันพุทโธด้วย พุทโธข้างในกับพุทโธข้างนอกมันจะกลมกลืนกัน ทีนี้พุทโธง่ายๆ เออ! พุทโธก็คล่องดีเนาะ แต่ก่อนพุทโธเกือบตาย ตอนนี้พุทโธดีขึ้นแล้ว พุทโธดีขึ้นแล้ว เห็นไหม จากข้างนอก จากข้างใน มันจะเข้าเป็นอันเดียวกัน พุทโธไปเรื่อยๆ แต่มันไม่ยอมหรอก กิเลสมันไม่ยอมหรอก พุทโธไปเรื่อยๆ

“เราจะเริ่มเป็นสมาธิเมื่อไหร่”

ถ้ามันภาวนาไปมันจะรู้ว่ามันจะเป็นพุทโธเมื่อไหร่ แล้วมันเป็นพุทโธอย่างไร ทุกคนเวลาภาวนาไปแล้ว “อ๋อ! มันจะเป็นสมาธิแล้ว มันจะเป็นสมาธิแล้ว ปล่อยพุทโธเลย เดี๋ยวมันเข้าสมาธิไม่ได้ เพราะถ้ามันพุทโธมันหยาบ” มันคิดไปร้อยแปด

ฉะนั้น เวลาใครมาหาเรา เราจะบอกว่า พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย พุทโธอยู่อย่างนั้นน่ะ มันจะหยาบหรือมันจะละเอียด มันจะเป็นพุทโธของมันไป

จากพุทโธข้างนอก พุทโธที่ความนึกคิด แล้วพอพุทโธข้างนอกกับข้างในมันจะเป็นอันเดียวกัน เขาเรียกว่ามันกลมกลืนกัน แล้วพุทโธจนกว่าที่มันจะพุทโธไม่ได้

คำว่า พุทโธไม่ได้” คือข้างนอกมันพุทโธไม่ได้ แต่ข้างในมันจะลงอัปปนาสมาธิ ถ้าข้างนอกพุทโธไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันคิดไม่ได้แล้วไง ธรรมดามันคิดไปโดยธรรมชาติของมัน จิตนี้มันส่งออกโดยธรรมชาติของมัน แต่เราบริกรรมจนมันเป็นอิสระ เป็นตัวมันเอง เหมือนรถ รถเราติดเครื่องแล้ว ถ้าเราเข้าเกียร์ รถมันจะวิ่งไป รถถ้าเราปลดเกียร์ เราติดเครื่องแล้วเครื่องก็หมุนอยู่อย่างนั้นน่ะ

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน โดยธรรมชาติของเรา เราคิดตั้งแต่เกิด คิดจนตาย ไม่เคยปลดเกียร์ว่าง พุทโธๆๆ จนพุทโธไม่ได้ ถ้าพุทโธไม่ได้ นั่นแหละเกียร์ว่างของมันแล้วแหละ ถ้ามันเป็นเกียร์ว่างของมัน ติดเครื่อง แต่มันไม่ส่งกำลังไปที่ล้อรถ พุทโธๆ จนพุทโธไม่ได้ ตัวหัวใจมันจะอยู่โดยตัวมันเอง อัปปนาสมาธิ คิดไม่ได้ มันไม่ส่งออกมา อัปปนาสมาธิ

อัปปนาสมาธิ สมาธิที่ชัดๆ เลย ถ้าคนภาวนาไป น้อยคนนักที่จะทำได้ แล้วพูดไม่เป็นด้วย แล้วพูดไม่ได้ด้วย เพราะมันไม่รู้ พอไม่รู้ก็นี่ไง มันก็เป็นจินตนาการ นี่ไง สำนักใครสำนักมัน ต่างคนต่างสอนแล้วก็ทะเลาะกัน “พุทโธไม่เป็นประโยชน์ พุทโธไม่ได้เรื่อง สู้ปัญญาไม่ได้ ปัญญาสุดยอด” มันสร้างทฤษฎีขึ้นมา นี่ไง ที่ว่า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกลอง แล้วเวลามันมีความคิดอะไรมันก็เหมือนกลอง มันไม่พอใจมันก็ปะ เอาความคิดไปปะที่กลองจนไม่เห็นกลองเลย

นี่ก็เหมือนกัน นั่นมันก็ทฤษฎีใคร วิธีสอนใคร มันก็สอนไปเรื่อย สุดท้ายแล้วปะจนไม่มีกลองเลย ปะจนไม่เห็นกลอง มันมีแต่ความคิดมันไง

แต่ถ้ามันเป็นความจริง ถ้าพูดถึงพุทโธ เราพุทโธอย่างนี้ คำว่า พุทโธแล้วอย่าทิ้ง” คำว่า อย่าทิ้ง” แต่เวลามันไปแล้วมันเครียด ทำไปแล้วมันทุกข์มันยาก อันนี้มันอยู่ที่วาสนานะ เพราะเราก็เคยเครียด เราก็เคยทุกข์ยากมาก่อน เราก็เคยมีปัญหามามาก ภาวนามาร้อยแปด แล้วมันทำสิ่งใดแล้วมันไม่ได้ผล อ่านประวัติหลวงปู่มั่น ปฏิบัติใหม่ๆ ไง ท่านบอกพุทโธทั้งวันเลย ๒๔ ชั่วโมงเลย เฮ้ย! อย่างนั้นเลยหรือ ถ้าอย่างนั้นแล้ว ถ้ามันทุกข์ยากก็เอาอย่างนั้นจริงๆ

เราบวชใหม่ๆ นะ ถ้าเรามีสตินะ จะท่องพุทโธๆ ตลอด เพราะอะไร เพราะบวชใหม่ๆ มันร้อนมาก คือไฟแรง อยากเป็นพระอรหันต์ มันเผาซะไหม้เกรียมเลย เผาเละเลย สุดท้ายแล้วพุทโธอย่างเดียว แล้วเอาอย่างนั้นจริงๆ ตีตาด เพราะธรรมดาเราเอาจริงเอาจังนะ อยู่คนเดียวพุทโธตลอด ถ้านึกได้ ถ้านึกไม่ได้ก็สุดวิสัย แต่ถ้านึกได้ พุทโธ เพราะอะไร เพราะว่า หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านทำอย่างนั้น แล้วเราจะเอาให้ได้ เราจะทำอย่างนั้น ทำอย่างนั้นจริงๆ ทำอย่างนั้นแล้วพอสุดท้ายแล้วหนักขึ้น ถือเนสัชชิกเลย ไม่นอนเลย ไม่นอนทั้งวันทั้งคืนไป โอ้โฮ! เอาเต็มที่

ที่พูดนี้ไม่ใช่อวด พูดนี้จะให้เห็นว่า เราทุกข์ยากมา เราเห็นใจของคนปฏิบัติใหม่ เห็นใจของคนที่ทุกข์ยาก แล้วเวลาทุกข์ยาก จริงๆ เลยนะ ไม่ต้องโทษหรอก ไม่ต้องไปโทษใครเลย โทษกิเลสตัวเอง โทษความหลอกข้างในนี้ อย่าไปโทษวิธีการปฏิบัติ อย่าไปโทษที่อื่น โทษที่กิเลสหนา โทษที่ไม้ดิบที่ทำอะไรแล้วไม่ได้อย่างที่ความต้องการ คิดว่าจะทำๆ นั้นเป็นแค่ความคิด คิดว่าเราเป็นคนภาวนาเก่ง เราเป็นคนจริงจัง นั้นแค่ความคิด ไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่ เราคิดว่าเราเก่ง เราคิดว่าเราแน่ เราคิดว่าเราทำได้ เราคิดว่าสุดยอด ทำไป

แต่ถ้าเก่ง แน่ สุดยอด มันจะมีความเสมอต้นเสมอปลาย มันจะมีความสม่ำเสมอ สุดท้ายแล้วสิ่งที่การกระทำนี้มันจะได้ผลต่อเมื่อการทำสม่ำเสมอ แล้วทดสอบไปๆ เหมือนกับเราเผาเหล็ก ถ้าอุณหภูมิเราพอ เหล็กมันจะแดงพอที่จะให้เราเอามาตีเป็นวัตถุที่เราต้องการได้

ใจ ใจถ้าเรามีคำบริกรรม มีพุทโธ มีสัมมาสมาธิ จนถึงที่สุดที่มันมีสมาธิได้ มันจะมีโอกาสให้เราภาวนา ถ้าถึงที่สุดถ้ามันมีอำนาจวาสนา เราพยายามตรงนั้น มีครูบาอาจารย์เรามากที่ประพฤติปฏิบัติมา แล้วอย่างหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราเป็นพระอรหันต์ไป เพราะท่านปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม

มีครูบาอาจารย์มากที่ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาดีแต่ต้น ต้นมันเกิดธรรมสังเวช เกิดอะไรแปลกๆ นะ แล้วก็ไม่ได้รอบคอบกับตัวเอง สิกขาลาเพศ ทำความเสียหายในศาสนานี้เยอะมาก เพราะมันดีตอนต้น ดีตอนต้นชั่วคราวแล้วไม่มีการรักษาไม่มีการดูแลต่อไป เยอะมาก แล้วมันมีในประวัติครูบาอาจารย์ทั้งนั้น เพียงแต่เราจะศึกษาหรือไม่ แล้วศึกษาแล้วเอามาเทียบเคียงเอาว่าครูบาอาจารย์ที่ดีท่านทำอย่างไร ครูบาอาจารย์ที่ท่านผิดพลาด ผิดพลาดอย่างไร มันมีประวัติครูบาอาจารย์มากมายเลยที่ผิดพลาดไป พระที่บวชๆ แล้วมีชื่อเสียงๆ แล้วสึกไปๆ เยอะแยะ ทำไมเราไม่ศึกษา ทำไมมันเป็นอย่างนั้น ทำไมครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติแล้วท่านถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ได้ ทำไมพวกนี้เป็นอย่างนั้นๆ ศึกษาได้เลย

นี่พูดถึงว่า “แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเริ่มเกิดสมาธิแล้ว”

เราภาวนาเพื่อความสงบระงับ เราภาวนาเพื่อความสงบ เพื่อความสุข ไอ้ที่ว่าเป็นสมาธิๆ มันขีด มันเป็นขีด ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ แล้วเวลาคนขึ้นมา คนบางคนใช้สมาธิขณิกสมาธิเล็กน้อยก็สามารถใช้ปัญญาไปได้ บางคนอุปจารสมาธิแล้วยังใช้ปัญญาไม่ได้ ถ้าเป็นอัปปนาสมาธิใช้ปัญญาไม่ได้เลย มันเกียร์ว่าง มันสักแต่ว่า มันใช้ไม่ได้หรอก ต้องถอยออกมา นี่มันอยู่ที่อำนาจวาสนา อยู่ที่บุญกุศลที่สร้างมา เราจะบอกว่า มันไม่มีลิมิตขนาดไหนว่าต้องสมาธิแค่นี้ๆ

มีคนถามบ่อยเมื่อก่อน “หลวงพ่อ สติเท่าไร น้ำหนักเท่าไร สมาธิเท่าไร” มันเหมือนจะจัดยาจีนเลย มันจะชั่งเอาเลย เอามาแล้วต้มรวมกันออกมาเป็นมรรคสามัคคี มีคนถามปัญหาอย่างนี้เยอะมาก ใช้สมาธิเท่าไร ใช้สติเท่าไร งานชอบ เพียรชอบเท่าไร ทุกคนคิดอย่างนั้นนะ

แต่เวลาคนที่ปฏิบัติเป็นคิดไปอีกอย่างหนึ่งเลย แต่เวลาเป็นปัญญาชน เราคิดอย่างนั้นน่ะ ใช้สมาธิแค่ไหน สมาธิอย่างนี้ยกขึ้นวิปัสสนาเมื่อไหร่ แล้วปัญญามันเกิดมันจะสมดุลอย่างไร แล้วถ้ามรรคสามัคคี สมุจเฉทปหาน มันต้องสมดุลอย่างไรมันถึงสมุจเฉทปหาน

ไอ้นี่พูดมันพูดได้ แล้วเราดูสิ บางคนเจออะไรเล็กน้อยโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงเลย บางคนเราไปแหย่เขานะ ไปแหย่เขา ลองเขาจะให้เขาโกรธ เขาไม่โกรธนะ เห็นไหม มันต่างกันไหม

แล้วนี่สติต่างกันอย่างไร สมาธิต่างกันอย่างไร มันอยู่ที่จริตนิสัย กิเลสหยาบ กิเลสบาง กิเลสหนาแตกต่างกัน แล้วมันต้องพอดีๆ สมควรมันถึงจะมรรคสามัคคี มันถึงสมดุลต่อกัน

นี่พูดถึงผู้ที่ปฏิบัติจริงนะ มันต้องเป็นปัจจุบัน มันต้องเป็นตามเหตุ ตามเหตุตามปัจจัยนั้น เหตุคนนิสัยอย่างไร เหตุคนกิเลสหยาบ บางหนาอย่างไร มันก็ต้องอาศัยความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป

แล้วถ้ามันสมดุล อย่างเรา เขาทำอะไรเสร็จหมดแล้ว เราถึงจะไปรื้อเขาหมดเลย บอกว่าต้องทำใหม่ นี่ก็เหมือนกัน เราคิดว่ามันไม่ได้ ต้องอย่างนี้ๆ เราไปคิดเองไง แต่ความจริงไม่ใช่ เจ้าของบ้าน เจ้าของสิ่งปลูกสร้างเขาพอใจ เขาสร้างเสร็จแล้ว เขาพอใจแล้ว เราไปเห็นเข้าบอก อู้ฮู! ไม่สวยๆ รื้อเลย...มันไม่ใช่

นี่ก็เหมือนกัน เราจะเริ่มว่ามีสมาธิเกิดขึ้นเมื่อไหร่

มันจะเริ่มขึ้นต่อเมื่อมีสติ แล้วกำหนดพุทโธชัดๆ สุดยอด พุทโธเราไว้ พุทโธเราไว้

ทีนี้เขาบอกว่า “๒. แล้วเราจะเริ่มฝึกหัดใช้ปัญญาได้เมื่อใด ลูกยังไม่ค่อยเข้าใจว่าเมื่อใดเราจะภาวนา และอยู่กับพุทโธ และเมื่อใดที่เราควรเริ่มที่จะใช้ปัญญา”

เราควรใช้ปัญญา มันฝึกหัด ฝึกหัดของเราเองนี่แหละ ฝึกหัดของเราเองว่า ถ้าเรามีความสงสัย เราอยากรู้อยากเห็น เราก็ใช้ปัญญาของเรา ใช้ปัญญา ถ้าปัญญานะ ปัญญาที่มีสัมมาสมาธิ ปัญญาที่มันดี มันจะตีโจทย์ ตีสิ่งที่เราสงสัยนั้นให้หมดความสงสัยได้ นี่เราใช้ปัญญาของเรา แล้วถ้ามันใช้ปัญญาไปแล้วมันไม่เป็นประโยชน์ เราก็กลับมาพุทโธๆ พุทโธของเรา

การฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญาได้ ฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา แต่ปัญญา เราเข้าใจว่า คำว่า ปัญญาของเรา” ก็เราใช้ปัญญาไง พอเราใช้ปัญญา ปัญญาที่มันเข้าใจแล้วเราได้อะไร ก็ไม่เห็นได้อะไร ก็ยังเป็นคนปกติ

เราจะเข้าใจว่าการใช้ปัญญาก็คือการใช้ปัญญา ถ้าเราไม่ต้องไปผูกมัดกับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกว่า “ต้องทำสมาธิ ทำสมาธิต้องใช้ปัญญา พอใช้ปัญญาเสร็จแล้วก็จะเป็นโสดาบัน” นี่เราไปผูกมัดกับตรงนั้นไง เราไปผูกมัดกับ “จะได้โสดาบัน จะได้สกิทาคามี จะได้อนาคามี แล้วเราใช้ปัญญาไปแล้วมันต้องได้อนาคามี อนาคามีต้องใช้ปัญญาอย่างนี้”...มันก็เลยทะเลาะกันอีกแล้ว ไปทะเลาะกันเรื่องการใช้ปัญญา ทั้งๆ ที่มันยังไม่ได้ใช้เลยนะน่ะ

แต่ถ้าเราใช้ปัญญาของเรา เราก็ใช้ปัญญาของเราเข้าไป คนที่ใช้ปัญญาไปมันจะรู้ เพราะใช้ปัญญาไปแล้ว โอ้โฮ! โล่งโถงเลยนะ เดี๋ยวพอกิเลสมันกลับฟื้นขึ้นมา ปัญญาที่ว่าโล่งโถงมันอึดอัดขัดข้องอีกแล้ว แสดงว่าปัญญาอย่างนี้ใช้ไปแล้วมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นปัญญาแก้ความสงสัยของเราเท่านั้นเอง มันไม่ใช่ปัญญาไปฆ่ากิเลส

ปัญญาที่จะไปฆ่ากิเลส เริ่มต้นเราทำอะไรเราก็สงสัยไปหมด พอทำอะไรก็สงสัยไปหมด เราก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญ ใคร่ครวญอะไรที่มันติดขัดขัดข้องมันก็วางได้ วางได้ด้วยเหตุด้วยผล ปัญญาคือมีเหตุมีผล เหตุผลที่เราสงสัยสิ่งใด เราไม่เข้าใจสิ่งใด ปัญญามันก็จะมาพิจารณาแยกแยะของมัน ถ้าเข้าใจแล้วก็วาง ก็เข้าใจตรงนั้นน่ะ เข้าใจที่ว่ายังสงสัยอยู่น่ะ แต่ไอ้กิเลสยังไม่เคยเจอหน้ามันเลย ไอ้ภาวนายังไม่เห็นมันเลย ไอ้เข้าใจก็แค่วางตรงนั้น แค่วางตรงนั้นมันก็เป็นเรื่องของปุถุชน เรื่องของสามัญสำนึก เรื่องของชีวิตธรรมดา ก็เรื่องของเด็กน้อยมันไปอานาปานสติไง “โอ้โฮ! เมื่อก่อนเป็นคนฉุนเฉียว ต่อไปนี้จะไม่ฉุนเฉียวแล้วแหละ” มึงเพิ่ง ๓ ขวบ มึงจะไม่ฉุนเฉียวไปทั้งชีวิตเอ็งได้หรือ “โอ้โฮ! เมื่อก่อนเป็นคนฉุนเฉียว เดี๋ยวนี้จะไม่ฉุนเฉียวแล้ว”

“เพราะอะไร”

“เพราะมากำหนดอานาปานสติ”

นี่ไง มันก็ทำของมันน่ะ

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน “โอ๋ย! ทำสมาธิได้แล้ว จะเอาพระอรหันต์” พอมันเสื่อมนั่งร้องไห้อยู่นั่นน่ะ

เราจะรู้ได้ว่านี่คือปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาที่แก้ข้อความสงสัยเป็นชั้นเป็นตอน เป็นข้อๆ ที่เราสงสัยขึ้นมา เวลาสงสัยขึ้นมา ถ้าข้อสงสัยเกิดขึ้นมาแล้วนะ มันทำให้เราเสียการภาวนาเลย มันสงสัยขึ้นมาแล้ว เป็นอย่างนั้นๆๆ มรรคผลไม่มีแล้ว เลิกเลยนะ ความสงสัยมันทำให้เราเลิกภาวนาได้เลย ความสงสัยมันทำให้เราเสียคนได้เลย

แล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา ปัญญามันมาแก้ความสงสัยอันนั้น แล้วมันแก้ความสงสัยอันนั้น มันวางความสงสัยอันนั้นได้ แล้วเรากลับมาภาวนา อย่างนี้ไม่เป็นประโยชน์หรือ นี่มันก็เป็นประโยชน์แล้วนะ แล้วจะเอาโสดาบัน เอาสกิทาคามีอะไร ยังไม่ทันไรเลย ใช้ปัญญาไปเฉียดๆ ไปหน่อย “อู๋ย! โสดาบัน” ต้องกลับไปฝึกหัดกับไอ้เด็ก ๓ ขวบนั่นน่ะ ฝึกลมหายใจนั่นน่ะ ให้เด็กมันสอน มันจะได้เข้าใจ

นี่ก็เหมือนกัน เมื่อไหร่จิตมันจะสงบ เมื่อไหร่จะได้ปัญญา

เราบอกว่า ใช้ได้เลย แต่ใช้ไปเลยก็ใช้เป็นเหตุเป็นผล เป็นการฝึกหัดการภาวนาของเรา เราฝึกหัดภาวนา เราก็มาจากปุถุชนนี่แหละ เราก็มาจากมนุษย์นี่แหละ ถ้าเราใช้ปัญญา เราฝึกหัดของเราจนชำนาญแล้ว รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ปัญญามันใช้บ่อยๆ เข้าจนมันเห็นโทษของมันนะ มันตัดรูป รส กลิ่น เสียงเลย รูป รส กลิ่น เสียงอยู่ส่วนหนึ่ง จิตของเราอยู่ส่วนหนึ่ง สบายๆ คือว่ามันใช้ปัญญาอบรมจนไม่สงสัยในเสียงนินทากาเล ไม่สงสัยในรูปแปลกประหลาดมหัศจรรย์ ไม่สงสัยในเสียงอะไรทั้งสิ้น ไม่สงสัยอะไรอีกแล้ว

เพราะรูป รส กลิ่น เสียงมันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากไปสงสัยใคร่รู้ อยากฟัง อยากศึกษา มันก็หลอกกูมานานเนกาเลแล้ว เดี๋ยวนี้กูเข้าใจแล้ว เสียงก็คือเสียง นินทาไม่นินทาอีกเรื่องหนึ่ง กูเข้าใจหมดแล้ว รูป รส กลิ่น เสียงอยู่ห่างๆ ไม่เคยไปสงสัยมันอีกแล้ว กัลยาณปุถุชน ผู้ที่ไม่สงสัยใดๆ ทั้งสิ้น ภาวนาจะง่ายขึ้น เพราะความสงสัย สงสัยก็อยากรู้อยากเห็น อยากวิเคราะห์วิจัย มันลากไปหมดเลยนะ เพราะความสงสัย เห็นไหม นี่คือปัญญา

ปัญญาใช้ได้ทุกที่ แต่ใช้แล้วเป็นแบบนี้ ใช้แล้วมันก็พัฒนาใจของเรา จากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน แล้วถ้ามันยกขึ้นนะ ยกขึ้นทำความสงบของใจ ใจสงบถึงมีคุณสมบัติที่มันจะไปขุดคุ้ยเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นั้นการภาวนาตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง เป็นสติปัฏฐาน ๔ จริงๆ ในหลักของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เป็นสติปัฏฐาน ๔ จากสมอง จากสมมุติ จากจินตนาการ จากการคาดหมายของสำนักปฏิบัติทั่วๆ ไป “อย่างนี้ๆๆ จะเป็นสติปัฏฐาน ๔”...เหรอ

“อย่างนี้ๆๆ จะเป็นสติปัฏฐาน ๔”...มันมีอยู่ด้วยหรือ

สติปัฏฐาน ๔ จะเกิดที่จิต จิตใครสงบระงับ จิตตภาวนา ถ้ามันรู้จริงเห็นจริง นั้นเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง แล้วถ้าใช้ปัญญานั้นภาวนามยปัญญา ปัญญาอย่างนั้นน่ะมันจะถอนสังโยชน์ ปัญญาอย่างนั้นถึงจะเป็นสุดยอด เป็นเป้าหมายของผู้ที่ปฏิบัติ นี่พูดถึงข้อที่ ๒ เนาะ

ฉะนั้น “เพราะปัจจุบันลูกก็ภาวนา แต่พุทโธไปเรื่อยๆ และพยายามกำหนดให้อยู่กับพุทโธ แต่บางเวลามันก็มีสิ่งอะไรบ้าง เลยไม่แน่ใจว่าถ้าเราเผลอช่วงไหน เราจะต้องเปลี่ยนกลับมาใช้ปัญญาพิจารณาบ้าง แล้วเราควรจะใช้สติดึงกลับมาอยู่กับพุทโธหรือไม่”

ไอ้กรณีนี้มันอยู่ที่วาสนา คำว่า อยู่ที่วาสนา อยู่ที่ความเหมาะสม” ถ้าเราทำ ถ้าบอกว่าต้องอย่างนี้ๆๆ มันก็เป็นสูตร มันเป็นสูตรตายตัว ถ้าสูตรตายตัวทำสิ่งใดแล้ว เหมือนขับรถ ขับรถบอกว่าต้องขับรถไปนะ แล้วสะพานมันขาดอยู่ข้างหน้า น้ำพัดจนสะพานขาด ทำอย่างไรล่ะ ขับรถไปทางนี้เพชรเกษม แล้วน้ำท่วมทำอย่างไร อ้าว! น้ำท่วม น้ำท่วมก็ไปทางเบี่ยงสิ น้ำท่วมก็ไปทางอ้อม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าใช้ปัญญาๆ ปัญญาใช้อย่างไร แล้วถ้าใช้สมาธิ

เราจะบอกว่า เหตุการณ์เฉพาะหน้าเยอะแยะไปหมดเลย แล้วมันอยู่ที่เรา เราจะฝึกหัดไง อะไรที่มันทำได้เราก็ฝึกหัดใช้ จะบอกว่า ถ้ามันผิดพลาดมันก็จะรู้เองว่า อ๋อ! ผิด ผิดหมายความว่าภาวนาไปแล้วเสื่อมหมดเลย ไม่มีอะไรเหลือเลย

อ้าว! กลับมาเริ่มต้นใหม่ ถ้าเอ็งทำอย่างนี้เอ็งก็จะเสื่อมอีก เอาอีกหรือ ก็ต้องไปทางนี้สิ ต้องไปทางนี้สิ การภาวนามันมีวิธีการของมัน นี่พูดถึงว่าฝึกหัดภาวนา การฝึกหัดภาวนา เราทำของเรา ถ้าเราทำของเรา ทำเป็นประโยชน์กับเรา

นี่พูดถึงว่า จะใช้ตอนไหนๆ

ถ้าพูดไปแล้ว ถ้าเป็นลูกศิษย์อาจารย์เราด้วย “โอ๋ย! อาจารย์ว่าอย่างนี้นะ ต้องเป็นอย่างนี้เลยนะ”

มันเป็นของอาจารย์ ไม่ใช่ของเรา ถ้าอาจารย์ว่าอย่างนี้ก็เป็นของอาจารย์ อาจารย์เอากลับบ้านไปแล้ว ไอ้ของเราในใจร้อนเป็นไฟอยู่นี่ เราจะเอาของเรา เอาของเรา ถ้าสติปัญญามันทันนะ ดับหมด แต่ถ้ามันพลั้งเผลอนะ กำหนดอย่างไรมันก็ร้อนหมด ถ้ามันดับหมด มันเป็นประโยชน์ อันนั้นจะเป็นของเรา เราภาวนาเพื่อเรา ภาวนาเพื่อจิตของเรา

ฟังครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้ชี้นำ ครูบาอาจารย์เป็นผู้ปรึกษา ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมา ท่านรู้ก็เป็นของท่าน แต่เวลาท่านพูดๆ ท่านพูดมาที่หัวใจเรา ถ้าเราทำได้ เราฝึกหัดของเราได้ ถ้ามันเป็นของเรา นี่ฝึกหัดภาวนา

ฝึกหัด เหมือนกัน เหมือนกับขับรถ ขับรถมันอยู่ที่ว่าขับรถ เราจะออกรถอย่างไร ใครขับรถได้ง่าย ใครขับรถ บางคนฝึกเกือบตาย ขับรถไม่ค่อยได้เรื่องนะ บางคนเขามีปฏิภาณของเขา เขาชำนาญของเขา จิตก็เหมือนกัน ถ้ามันดี มันภาวนาง่าย มันภาวนาแล้วมันเจริญก้าวหน้าได้ไว บางทีนะ อู้ฮู! ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ อันนี้มันอยู่ที่บุญกุศลแล้ว อยู่ที่วาสนา

จะบอกว่า อย่าเสียใจ อย่าเสียใจ อย่าคร่ำครวญ อย่าคิดว่ามันจะเป็นสมความปรารถนา แค่ที่เราปฏิบัตินี้ทำความสงบของใจเข้ามา แล้วถ้าจิตมันสงบแล้วฝึกหัดของเราขึ้นไป ฝึกหัดขึ้นไป

ถ้ายังสงสัยอยู่ ไปดูไอ้ที่เด็กๆ มันฝึกหัด แล้วไปดูความใส ความใสสะอาดของเด็กๆ เห็นแล้วมันแหม! “เดี๋ยวนี้จะไม่เครียดแล้วแหละ เดี๋ยวจะช่วยแม่ทำงาน” ไปดูความใสซื่อของเด็กๆ นั่นน่ะเขาทำของเขา

ไอ้เรากิเลสนะ เรามีอายุ เราผ่านโลกมา แล้วเราก็จินตนาการผูกมัดเผาใจตัวเองทั้งนั้นเลย ทั้งๆ ที่เราอยากได้อยากดี แล้วเราก็เผาใจของเราเอง แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมจริงๆ แล้วให้มันเป็นไปตามข้อเท็จจริงนั้น ถ้ามันเป็นตามข้อเท็จจริงนั้น เราจะได้ไม่ต้องทุกข์ร้อนจนเกินไป แล้วถ้ามันมีความสุขมีความสงบนั้น สาธุ เป็นผลของผู้ที่ปฏิบัติ ใครทำอย่างไรได้อย่างนั้น เอวัง