เทศน์บนศาลา

รู้จักจิต

๒๕ ก.ค. ๒๕๕๑

 

รู้จักจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฟังเทศน์ เทศน์ธรรมะนะ เราฟังธรรม ธรรมะนี้กว่าจะได้มาไม่ใช่ของง่าย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้แต่ละพระองค์ ไม่ใช่ง่ายๆ เลย เพราะต้องสร้างบุญญาธิการมาก สร้างบุญญาธิการนะ แล้วรื้อค้น ค้นคว้ามา ได้ธรรมะมา ถ้ามีธรรมแล้วเราถึงจะเข้าใจเรื่องธรรม เราศึกษาธรรมเพราะมีธรรม เราถึงศึกษาธรรม ชุบมือเปิบนะ เราคิดถึงชีวิตเรา ชีวิตเรานี่สะดวกสบายมาก ชีวิตเรามันของมีอยู่แล้วไง

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าธรรมะไม่มีนี่ใครจะรื้อค้น ไม่มีบุญญาธิการทำไม่ได้หรอก มันลึกซึ้งมาก มันลึกซึ้งอยู่ในหัวใจของเรา เวลาเราเกิดตายๆ นะ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“การเกิด” เวลาจิตมันเกิด กำเนิด ๔ เกิดในไข่ เกิดในครรภ์ เกิดในน้ำครำ เกิดในโอปปาติกะ โอปปาติกะมันเกิดอย่างไร? เกิดโอปปาติกะ สิ่งที่เป็นโอปปาติกะ เกิดเลย เจริญเติบโตเลย เกิดมานี้ เหมือนเราเกิดมาเป็นผู้ใหญ่เลยไม่ต้องเลี้ยงตั้งแต่เด็กมาเลย นี่เกิดในโอปปาติกะ แล้วเขาเข้าใจของเขาไหม

เกิดในไข่ เกิดในครรภ์ สิ่งที่เกิด กำเนิดเกิดในครรภ์ เราเกิดแล้ว เราไปอยู่ในนั้นเรารู้อะไรไหม เราคลอดออกมาเราเป็นมนุษย์ เราจะเข้าใจชีวิตของเราไหม? เราจะไม่เข้าใจชีวิตของเราเลย เพราะเราไม่รู้จักอะไรเลย เราไม่รู้จักนะ แต่ทางวิทยาศาสตร์ ทางการศึกษา ทางปัญญาของเรา เราว่าเราเป็นคนฉลาด เราเป็นคนมีปัญญา เรารู้มาก เราฉลาดมาก ทุกคนฉลาดมาก

โลกเจริญนะ โลกเจริญมาก เราเจริญมาก เรามีปัญญามาก สมัยก่อนคนโบราณนะ คนไม่มีการศึกษา เทคโนโลยียังไม่เจริญ เดี๋ยวนี้เจริญมาก เรามีความรู้มีความฉลาดมาก

ไม่รู้อะไรเลย เพราะมันเป็นเรื่องของวัฏฏะ มันเป็นผลของการดำรงชีวิต แต่ในชีวิตของเราจริงๆ เรารู้จักตัวเราไหม เรารู้จักที่มาที่ไปของเราไหม เราไม่รู้จักที่มาที่ไปของเราเลยนะ เราเกิดมานี่เราไม่รู้จักที่มาที่ไปของเราเลย แต่เรารู้สิ่งที่เราประสบ สิ่งที่ประสบเห็นไหม เรามาจากพ่อจากแม่ พ่อแม่จากปู่ย่าตายาย เราก็เห็นอยู่ ชาติตระกูลของเราเป็นอย่างนี้ สิ่งนี้เราไม่รู้จักตัวของเราไง เพราะเราไม่รู้จักตัวของเราเลย

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนอดีตชาติไป บุพเพนิวาสานุสติญาณ มันย้อนอดีตชาติไป พุทธภูมิตั้งแต่พระเวสสันดรลงไป เห็นอดีตชาติ เห็นการมาของจิตไง การเกิดส่วนบุคคล การเกิดของจิตดวงนั้น ไม่ใช่การเกิด เกิดผลของวัฏฏะคือเกิดจากพ่อจากแม่ การเกิดจากพ่อจากแม่นี่เป็นสมมุติ การเกิดจากพ่อจากแม่นี่เป็นสมมุติเห็นไหม สมมุติขึ้นมา เกิดจากเรา

ดูสิ ดูพระบวชมา เกิดจากอุปัชฌาย์ จากคฤหัสถ์ ตายจากคฤหัสถ์แล้ว สงฆ์ยกเข้าหมู่ ยกเข้าหมู่ด้วยจตุตถกรรม การญัตติขึ้นมาเป็นพระ เป็นพระโดยสมมุติ เป็นพระนี่เป็นอุปัชฌาย์ ใครเป็นอุปัชฌาย์บวชมา ใครเป็นกรรมวาจาจารย์ เห็นไหม ก็รู้เท่านั้น รู้สิ่งที่เป็นสมมุติ รู้สิ่งที่จับต้องได้ แต่ไม่รู้จักตนเห็นไหม ไม่รู้จักตนเลย

ถ้ารู้จักตนนะ เราจะไม่ทุกข์ไม่ยากอย่างนี้ ถ้าเรารู้จักตน “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” มันต้องสิ้นกิเลสไป

แต่นี้เราศึกษาธรรม เวลาศึกษาธรรมก็เอากิเลสของเราไปศึกษากัน เอาความรู้ความเห็นของเราไปศึกษาเพราะอะไร เพราะธรรมะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ววางธรรมไว้ วางธรรมไว้นะ แล้วเราศึกษา เอากิเลสเราไปศึกษา เอาความเห็นของเราไปศึกษา เอาความรู้ว่าเราเป็นทางวิชาการ เรารู้มากนี่ไปศึกษา

ดูสิ ในปัจจุบันนี้ทางมหาวิทยาลัยเขาทำวิทยานิพนธ์กัน ทำวิทยานิพนธ์ วิเคราะห์วิจัยทางศาสนาจนเปรอะไปเพราะอะไร เพราะเอาโลกมาวิเคราะห์วิจัยไง ทำวิทยานิพนธ์เรื่องขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาวกแต่ละพระองค์ เอาชีวประวัติต่างๆ มาทำวิจัยกัน ทำวิจัยค้นคว้าไปมันก็เป็นทางวิทยาศาสตร์ ทางวิทยาศาสตร์มันพิสูจน์ได้นะ มันพิสูจน์ได้ทางโบราณคดี สิ่งที่มีอยู่สิ่งที่เป็นไป แต่สิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่เป็นไป แม้แต่กระเบื้องชิ้นเดียวอายุขัยของมันเท่าไร มันสร้างมาด้วยดินเผา เผามาด้วยความร้อนเท่าไร พิสูจน์ได้ทั้งนั้นน่ะ

แต่ผู้สร้างผู้ทำ มันเป็นรูปแบบไง แต่เนื้อหาสาระของมันล่ะ ความจริงของมันล่ะ ความจริงของมันเห็นไหม เราศึกษาธรรมก็เหมือนกัน มันเป็นรูปแบบโดยปัญญาของเรานะ ปัญญาสำเร็จรูป ปัญญาสำเร็จรูปคือความคิดของเรา ความคิดทางการวิจัย เป็นปัญญาสำเร็จรูป พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ด้วยข้อมูล

แต่ถ้าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ไหม ถ้าเป็นอย่างนี้นะ เราประพฤติปฏิบัติไป เราจะชำระกิเลสของเรา นี้เพราะเราเอากิเลสเราเข้าไปศึกษา มันถึงไม่รู้จักอะไรเลยนะ มันไม่รู้จักความเป็นจริง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ เวลาศึกษาสุตมยปัญญา สุตมยปัญญา หมายถึงปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ปัญญามันละเอียดเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป การศึกษา ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติศึกษาไปทำไม ปริยัติมีไว้ทำไม? ก็มีไว้ให้ศึกษา

สมัยพุทธกาลนะ พระไตรปิฎกยังไม่มี นี่ศึกษาจากปาก ศึกษาจากโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครจะเข้าป่าเข้าเขาต้องไปขอธรรมะจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในปัจจุบันนี้ทางวิชาการ ทางตำรามีมหาศาลเลย ที่มีมหาศาลมันถูกหรือมันผิดล่ะ แต่สมัยก่อน ดูสิ ดูพระสารีบุตร จะไปไหนมีพระ ๕๐๐ ติดตามไป พระโมคคัลลานะ ลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรมีห้าร้อยๆ ห้าร้อยนี่ศึกษาเหมือนกับทางครูบาอาจารย์ ก็มีลูกศิษย์ลูกหาก็ศึกษาจากปาก ศึกษาจากการกล่าวต่อกัน ถึงแก้กันในปัจจุบันนั้นเลย นี่การศึกษาอย่างนั้นศึกษาจากผู้รู้จริง

แต่ขณะปัจจุบันนี้ ทางวิชาการเจริญ ถ้าไม่เก็บไว้ เราคิดกัน ดูสิ ทางสมุนไพร ทางการแพทย์แผนโบราณ คนตายไปแล้วไม่ได้จารึกไว้ นั่นหมดเลยนะ ตายไปพร้อมกับเจ้าของความรู้นั้น ความรู้ตายไปกับคนตาย ความรู้ตายไปเพราะไม่ได้จดจารึกไว้ ถ้าจดจารึกไว้ พอจดจารึกไว้ เราจดจารึกไว้เราก็มาศึกษาของเรา แต่ความชำนาญของเราไม่เป็นอย่างนั้นหรอก

คนทำเป็นกับคนทำไม่เป็น คนทำไม่เป็น เราศึกษาขึ้นมา พืชสมุนไพรมันจะเป็นประโยชน์อย่างนั้น อย่างนั้น แล้วเราใช้เป็นไหม เราควรทำ...ความชำนาญเห็นไหม ความชำนาญของครู ความชำนาญของหมอที่เขารู้ของเขา เขาทำของเขา แล้วพืชสมุนไพรที่เขาหามา สิ่งใดฤดูกาลก็ต่างกัน ฤดูกาลเห็นไหม ถ้าฤดูกาลหน้าแล้ง พืชสมุนไพรมันจะมีคุณภาพมาก ถ้าหน้าฝนมันมีชุ่มชื้นของมัน มันก็ต่างกันไป

แต่ผู้ที่เขารู้จริง เขาจะรู้ว่า ถ้าคุณภาพมันน้อย ต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้น ถ้าหน้าแล้ง น้ำ มันน้อย พืชสมุนไพรมันมีคุณภาพมากก็ต้องใช้ส่วนน้อย ส่วนประกอบของมัน ส่วนที่เขาใช้ประโยชน์ของมัน นี่ความชำนาญเขาใช้ของเขา มันลงตัวของเขา การรักษาโรคภัยไข้เจ็บมันก็หายได้ง่าย แต่ถ้าเรา เราก็ทำตามนั้น ถ้ามันทำถึงที่สุด ยามันดีมันก็รักษาได้เหมือนกัน รักษาได้ นี่พูดถึงการรักษาโรค

แต่ถ้าเราศึกษาของเรา พระไตรปิฎกทางวิชาการมีอยู่แล้ว เราศึกษาของเราเป็นสุตมยปัญญา มันเป็นไม่เหมือนพืชสมุนไพร เพราะพืชสมุนไพรมันรักษาโรค โรคคืออะไร? โรคคือเชื้อโรคในร่างกายใช่ไหม สิ่งที่เข้าไปกำจัดเชื้อของมัน ดูสิ อย่างนี้มันก็รักษากันได้

แต่โรคกิเลสมันไม่เป็นอย่างนั้น โรคกิเลส เวลาเทศน์ขึ้นมา มันก็เหมือนกับโรคประจำตัวเรานี่ เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้ามีรักษาโรคมันก็หาย ธรรมโอสถ แต่ธรรมโอสถมันละเอียดอ่อน ละเอียดอ่อนกว่าทางการรักษาทางร่างกาย เพราะทางร่างกายมันเป็นเคมีต่างๆ ขนาดเรายังศึกษาแล้ว ที่มาของโรคที่มาต่างๆ เรายังศึกษาไม่ได้เลย แต่รักษาคุมไป

แต่ถ้าการรักษาใจนะ มันคุมไปได้ไหม เพราะอะไร เพราะเราสงสัย กิเลสเรามันสงสัยของเราเอง กิเลสมันสงสัย พอมันสงสัย มันก็สร้างภาพ

ดูสิ ในการประพฤติปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธะ ปริยัตินี่การศึกษามา เราศึกษามาแล้วทุกคนก็งง แต่ศึกษามาแล้วนะ ถ้ามันเข้าใจนะ เหมือนกับความรู้ เรายกระดับความรู้ของเรา ความรู้ของปุถุชน ความรู้ของเรา เราศึกษาทางวิชาการนะ ทางวิชาชีพ วิชาชีพเอามาประกอบอาชีพ แต่ขณะศึกษาธรรมะ ศึกษาเพื่อจะรู้จักตนเอง ทีนี้รู้จักตนเอง รู้ไปทำไม ก็เราก็เป็นเราอยู่แล้ว ในสังคมไทยนะ ในสังคมชาวพุทธบอกว่า เราก็ทำคุณงามความดีแล้ว เราก็เป็นคนดีแล้วทำไมต้องไปวัด เราก็เป็นคนดีแล้วเราทำไมต้องภาวนา ก็เป็นคนดีอยู่แล้ว

นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษาเราก็รู้แล้ว เรารู้แล้วเราทำอย่างไรต่อไป ถ้ารู้แล้วขึ้นมานะ มันยกระดับของความรู้นะ มันยกระดับของวุฒิภาวะของใจเพราะอะไร เพราะถ้าศึกษาธรรมะ ธรรมะมันสอนเรื่องอะไร? สอนเรื่องไตรลักษณ์ สอนเรื่องอนัตตา สอนเรื่องความเป็นไปของโลก โลกมันเปลี่ยนแปลงให้เราไม่ยึดติด ให้เราเข้าใจกับชีวิต แต่เข้าใจในเรื่องของศีลธรรมจริยธรรม มันยกระดับขึ้นมานะ

ถ้าเราดำรงชีวิตอย่างนี้ มันจะเห็นคุณค่าไง ว่าถ้าเราไม่มีธรรมะ คือเราไม่เข้าใจเรื่องศาสนา เราใช้ชีวิตของเราประสาเรา นรกสวรรค์มีไหม? ก็ไม่เชื่อ บาปบุญคุณโทษมีหรือเปล่า? บาปบุญคุณโทษ เกิดมาก็ไม่เชื่อเรื่องบาปเรื่องกรรมแล้วนะ ถ้าจะเชื่อเรื่องบาปเรื่องกรรมเราก็ต้องเป็นคนดี ถ้าคนดีแล้วสมบัติเราก็จะได้น้อย ทุกอย่างเราก็ต้องเสียสละ เราเป็นคนขาด เราก็ไม่ได้สมความปรารถนา มันอยากมักใหญ่ใฝ่สูง อยากมั่งอยากมีอยาก...มันอยากไปหมดเห็นไหม ถ้าเราอยากมีอย่างนั้น เราก็ต้องเอาเปรียบเขา...นี่มันเป็นเรื่องโลก

ถ้าศึกษาธรรมะปั๊บ มันมาขัดเกลาตรงนี้

ถ้ามันขัดเกลาตรงนี้ ขัดเกลาให้กิเลสมันอ่อนลง ขัดเกลาให้เราเข้าใจชีวิต ขัดเกลาต่างๆ เพราะจิตมันอยากศึกษาแล้ว ถ้ามันมันศึกษา ถ้าเข้าใจชีวิตล่ะ เกิดมาต้องตายไหม? เกิดมาต้องตาย ถ้าเราตายไปแล้วมีอะไรติดไม้ติดมือไปไหม ทรัพย์จากภายนอก-ทรัพย์จากภายใน ถ้าศึกษาไปเรื่อยๆ นะ

ดูสิ ครูบาอาจารย์เรามากเลย ศึกษาธรรมะ อ่านพระไตรปิฎก มันสะเทือนใจนะ มันสะเทือนใจ มันอยากเป็น อยากไป อยากพ้นทุกข์ อยากจะพ้นจากทุกข์ ถ้าอยากพ้นจากทุกข์ มันต้องประพฤติปฏิบัติ

ทีนี้การประพฤติปฏิบัติ ถ้าการประพฤติปฏิบัติ มันจะปฏิบัติที่ไหนล่ะ ไปปฏิบัติในพระไตรปิฎกหรือ ไปปฏิบัติตามทางวิชาการหรือ ก็ต้องปฏิบัติต้องทางวิชาการใช่ไหม ปริยัติก็ต้องปริยัติเป็นตัวตั้ง เห็นไหม ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธะ

เวลาครูบาอาจารย์เราไปหาหลวงปู่มั่น “การศึกษามา ได้ถึงเป็นมหา สิ่งที่เป็นมหานะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทิดทูนไว้บนศีรษะเลย แต่ขณะประพฤติปฏิบัตินะ เอาสิ่งที่เรียนมา สิ่งที่รู้มาเก็บไว้ในลิ้นชักก่อนได้ไหม แล้วเอากุญแจล็อกมันไว้อย่าให้มันออกมา เพราะมันจะมาถีบ มาขัดมาแย้งกัน”

ปริยัตินี่ เรียนมานี่ พอเรียนมาแล้ว เวลามาปฏิบัติ กิเลสมันเอามาใช้ด้วย เวลาทำไปนี่สร้างภาพ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ วิตกก็คิดถึงพุทโธๆ พุทโธนี่วิตกวิจาร นี่พุทโธ ปีติ สุข เราก็มีความสุข มันก็เอกัคคตารมณ์ แล้วเราได้อะไร มันเป็นหรือยัง? มันไม่เป็นไปตามความเป็นจริงเลย

แต่ถ้าเราทำความจริงนะ ปริยัติ ปฏิบัติ ขณะปฏิบัติเราต้องทำตามข้อเท็จจริง ถ้าตามข้อเท็จจริงเห็นไหม สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงถ้าเราปฏิบัติของเรา ถ้าโดยพื้นฐานเราตั้งสติของเรา ปฏิบัติเพื่ออะไร? ปฏิบัติเพื่อจะชำระกิเลส กิเลสมันอยู่ที่ไหน? กิเลสมันอยู่ที่ใจ แล้วเราจะเข้าไปถึงใจเราได้อย่างไร เราเข้าถึงใจ นี่รู้จักจิต

ถ้ารู้จักจิต จิตเราอยู่ที่ไหน จิตมันอยู่ที่ไหน เราจะเข้าถึงจิต เข้าถึงสมาธิทำอย่างไร ถ้ากำหนดพุทโธ พุทโธเข้าไป ถ้ามันเป็นไปตามข้อเท็จจริงนะ เวลาเข้าไปถึงพุทโธ พุทโธ ถ้าเป็นพุทโธเสียเอง กำหนดพุทโธก่อน ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ เริ่มต้นจากการประพฤติปฏิบัติ เริ่มต้นเลยเพราะอะไร

เพราะสิ่งที่เราไม่เคยเห็น สิ่งที่เราไม่เคยพบ มันทำอะไรแล้วมันเป็นนามธรรม มันจะจับต้องได้ยาก แต่ถ้าเราลมหายใจนึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ นี่มันเป็นอานาปานสติ ลมหายใจ หายใจเข้าและหายใจออกเป็นอานาปานสติ พุทโธเป็นพุทธานุสติ หายใจเข้านึกพุธ หายใจออกนึกโธ มันเป็นรูปธรรมที่สุดของสิ่งที่เป็นนามธรรม มันก็จะทำของมันไปเรื่อยๆ มันมีสติของมัน ทำตามข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้น ตั้งสติไว้ มีอะไรเข้ามาวอกแวกอย่าไปยุ่งกับมัน ไม่รับรู้ใดๆ ทั้งสิ้น

เวลาประพฤติปฏิบัติ โลกนี้เหมือนไม่มี มีเราคนเดียว เห็นไหม มีเราอยู่คนเดียว พุทโธ พุทโธ พุทโธของเราไปนะ ถ้ามันจิตสงบเป็นตามความเป็นจริง จนพุทโธไม่ได้ จนจิตมันสงบ ถ้าจิตสงบมันว่างหมด คนที่เริ่มประพฤติปฏิบัติเวลามันว่างมันปล่อยวาง แม้แต่สมาธิยังไม่รู้จักว่าสมาธิเลยนะ ถ้ามันรู้จักสมาธิ ความว่างๆ ถ้ามันคิดว่าเป็นความว่าง ว่างคือการปล่อยวาง ปล่อยวางมันคิดว่านี่เป็นนิพพานนะ นิพพานคือความว่าง มันมีความสุข มันมีความสบาย

แม้แต่สมาธิยังไม่รู้จัก แล้วมันจะไปรู้จักจิตของมันได้อย่างไร รู้จักจิตนะ ถ้าไม่รู้จักจิต ไม่รู้จักตัวตน ดูสิ เราทุกคนว่าเรารู้จักตัวเราเอง เราเป็นคนฉลาด ยิ่งคบเพื่อนคบฝูง ยิ่งเข้าสังคมจะต้องฉลาดทันคน ยิ่งมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก จะนั่งบนหัวคน จะเหยียบย่ำคนนู้น จะมีปัญญามาก เสียเล่ห์เสียเหลี่ยมจะเอาชนะคะคานกันไปตลอด เห็นไหม มันว่ามันเก่ง นี่ไม่รู้จักใครเลยเพราะสิ่งนั้นที่ทำออกไป มันเป็นการขัดแย้งกันไปทั้งนั้น มันขัดแย้งกับเราก่อนเพราะอะไร

เพราะใจมันรู้อยู่ว่า สิ่งนี้เราไม่รู้อะไรเลย แต่สิ่งที่เราไปรู้มันมีประโยชน์อะไรกับเราไหม เป็นวิชาชีพนะ ถ้าสิ่งที่ศึกษามาเป็นวิชาชีพ เขายังใช้ประโยชน์ของเขาขึ้นมา เขาเลี้ยงชีพของเขานะ สิ่งที่เลี้ยงชีพ เวลาเขาต้องมีความชำนาญ เขาต้องฝึกงาน เขาทำงานของเขาแล้วประสบการณ์ของเขาจะให้เขาชำนาญขึ้นไปเรื่อยๆ ผู้ประสบการณ์มาก เขากระทำของเขา นั้นเป็นวิชาชีพ

แต่ใจเรารู้อะไร? เราจะไม่รู้อะไรเลย

ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ สิ่งที่ปัญญาอบรมสมาธินะ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรา ปัญญา ถ้าเราพุทโธ พุทโธ แล้วมันเป็นสิ่งที่มันต่อต้าน มันต่อต้านนะ เพราะอะไร เพราะมันเป็นจริตนิสัย สิ่งที่เป็นจริตนิสัย สัทธาจริต พุทโธ พุทโธ ทำได้ แต่ถ้าพุทธจริตคือปัญญา เวลาพุทโธ พุทโธ มันไม่มีเหตุมีผล ทำแล้วมันไม่ลงใจ ก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญความคิดของเราไป

ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ไม่ใช่จะไปคร่อมมัน ไปเพ่งมันเฉยๆ ไปดูเฉยๆ การดูเฉยๆ มันเป็นการเพ่ง ถ้าเป็นการเพ่ง มันเพ่งกสิณ ดูกสิณ คำว่า “กสิณ” เพ่งกสิณเขียว กสิณแดง เพ่งอากาศ เพ่งต่างๆ มันเพ่ง มันเพ่งมีสติคุม มันเพ่งเพราะอะไร เพราะถ้าไม่มีสติมันจะเพ่งได้อย่างไร เวลาถ้าเพ่งอย่างนั้น เป็นรูปกสิณสีขาว กสิณน้ำ กสิณไฟ พอเพ่งเสร็จแล้ว ถ้ามันเป็นกสิณขึ้นมาขยายส่วนให้กสิณ สิ่งที่มันขยายให้มันกว้างขึ้น แคบขึ้น เล็กลง ขยายส่วนได้ นั้นน่ะ ไอ้นั่นมันเป็นฌาน เป็นการเพ่งกสิณ

แต่ถ้าการดูเฉยๆ ดูจิต จิตมันอยู่ไหน มันดูจิตดูอย่างไร มันดูออกไปมันก็หายไปหมด...มันไม่รู้เรื่อง มันไม่รู้จักจิตของมันเองเลย ไม่รู้จักจิต คนไม่รู้จักจิตแล้วปฏิบัติไปโดยสามัญสำนึก ปฏิบัติไปโดยกิเลส มันสร้างภาพ การดูนะ การเข้าใจ การเข้าใจคือการปัญญาอบรมสมาธิ มันมีเหตุมีผลใช่ไหม ความคิดมันให้โทษกับเรา ความคิด คนทุกข์เพราะความคิด ความคิดนี่ มันทุกข์เพราะความคิด

ทุกข์เพราะความคิดเพราะมันมีอะไร? มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก กิเลสมันเป็นกิเลสใหม่ๆ เราประพฤติปฏิบัติ กิเลสดิบๆ เลย กิเลสดิบๆ นะมีกำลังมาก คิดสิ่งใดนะ กิเลสมันพาไปก่อน เราไม่รู้ตัวว่าเราคิดนะ จนขนาดว่านอนไม่หลับ คิดจนนอนไม่หลับ ยับยั้งมันไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติของที่มันที่กิเลสมันเร้าขนาดที่เราไม่รู้จักอะไรเลย

แต่ถ้าเราตั้งสติ นี่เราอยากมีความสุข เหมือนรถวิ่ง รถจอดไม่ได้ รถติดเครื่องแล้วเบรกแตก มันจอดไม่ได้นะ เพราะไม่มีเบรก นี่ก็เหมือนกัน มันคิดมันไม่มีสติ มันก็เบรกแตก มันไปตลอดเวลาจนกว่ามันจะไปเกยอะไรเข้ามันก็หยุดของมัน เดี๋ยวมันก็ไปอีกแล้ว เหมือนรถไม่มีเบรก ความคิดของเราก็เหมือนกัน มันคิดมันทุกข์เพราะความคิด มันไม่มีเบรก มันหยุดยั้งมันไม่ได้ พอยั้งไม่ได้เราก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ

เอาปัญญาไล่ความคิดว่า ความคิดอย่างนี้มันมีประโยชน์อะไร คิดมาแล้วถึงมันจะเป็นจริง มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถึงเราอยู่นี่เพราะเราต้องการความสงบสงัด เราแยกออกมาจากสังคม เราไม่ต้องการ เอาความสงบของใจ ถึงมันเป็นแล้วมันก็เป็นอดีต อนาคตไปแล้ว ถ้ามันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรา ใจไปฟูไปแฟบไปกับเขาทำไม ถ้ามันไม่ไปฟูไปแฟบ ถ้าเป็นเรื่องของเราล่ะ เรื่องของเราก็ใช้ชีวิตของเรา มันก็ใช้ชีวิตไป

มันเป็นอดีตอนาคตนะ เราอยู่ในป่าในเขา เราอยู่ประพฤติปฏิบัติในวัดในวา เราจะไปยุ่งข้างนอกไม่ได้หรอก ข้างนอกคือข้างนอก รับรู้ ไม่ใช่ปฏิเสธโลกนะ อยู่กับโลกโดยที่ไม่สนใจโลก มันเป็นไปไม่ได้หรอก อยู่กับโลก แต่สิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดกับโลก เรามีสติเรามีสัมปชัญญะ เราไม่ไปตามกระแส เราบริหารจัดการสิ่งนั้นได้ด้วย เราจะแก้ไขสิ่งนั้นด้วยความสมบูรณ์ นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ มันเห็นโทษของมัน มันมีสติ สติมันยับยั้งได้ รถมีเบรก รถถ้ามีเบรกนะ เรามาขนาดไหน เราจะจอด เราเหยียบเบรกของเรา เราปลดแล้วเหยียบคันเร่ง เหยียบเบรก จะเข้า จะจอด จะถอยหน้า ถอยหลัง ได้หมดเลย

จิตก็เหมือนกัน จิต ถ้ามันมีสติสัมปชัญญะมันยับยั้งได้นะ ใหม่ๆ รถเขาสมบูรณ์มาจากร้านค้าที่เราไปซื้อมา รถมันสมบูรณ์มาแล้ว แต่ในปัจจุบันนี้จิตเราสมบูรณ์อย่างนั้นไหม เพราะอะไร เพราะสิ่งต่างๆ ที่เป็นวัตถุเครื่องยนต์กลไกเราซื้อมามันสมบูรณ์มาใช่ไหม แล้วพอเราใช้มัน มันจะเสื่อมสภาพไปเป็นธรรมดาใช่ไหม มันเสื่อมสภาพมันต้องซ่อมต้องบำรุงดูแลรักษาใช่ไหม ขณะที่เราซื้อมานี่สมบูรณ์ที่สุดเลย แล้วใช้แล้วมันเสื่อมสภาพไป

แต่จิตในการประพฤติปฏิบัติ ศูนย์ทั้งหมดเลย การสร้างสติก็ต้องสร้างขึ้นมาจากศูนย์ การจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็มาจากศูนย์ มันสิ่งที่ไม่มี สูญเปล่านะ ไม่ใช่สูญมี สูญเปล่ามันไม่มีเลย แล้วเราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้ามานี่มันอยู่ที่ไหน สติมันอยู่ในพระไตรปิฎก สติ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ งานชอบเพียรชอบ ทุกอย่างชอบหมด แล้วมันชอบที่ไหน มันชอบในปริยัติ ชอบในหนังสือใช่ไหม แล้วความชอบของเรามันเกิดขึ้นหรือยัง ความเป็นจริงของเรามันเกิดขึ้นหรือยัง? ความเป็นจริงของเรามันไม่มีสักอันเลย

ถ้าความเป็นจริงมันไม่มีสักอัน เราใช้สติยับยั้งมัน ถ้ามีสติ สติก็เกิดจากเรา ยับยั้งสิ่งนั้นไป ความคิดเอาปัญญายับยั้งมัน นี่ปัญญาในศาสนานะ องค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าบอก ปัญญาของเราคือปัญญารอบรู้ในกองสังขาร สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง สิ่งที่เป็นความคิดถ้ามันทัน มันหยุดของมัน มันหยุดของมัน มันแปลกใจเลย มันแปลกใจนะ รถที่มันวิ่งอยู่ตลอดเวลานี้เบรกไม่มี มันตำใครนะ มันชนใครนะ เราไม่ตายเขาก็ตาย ประสานงาตายทั้งคู่ นี้มันเป็นรถ เป็นคน

แต่ความคิดมันเป็นนามธรรม มันปะทะกับอะไรบ้าง? มันปะทะกับสิ่งเร้า โทสะ โมหะ มันปะทะหมด มันควรจะแหลกลาญ มันควรจะมีซากศพให้เรานับได้เกลื่อนเลย...แต่ไม่มี เพราะเราไม่รู้อะไรเลย ไม่เคยเห็นอะไรเลย แล้ววิ่งไปกับเขา ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ตรึกในธรรมะก็ว่าธรรมะๆ ว่างๆ ก็ว่างๆ กันไป ไม่รู้จักอะไรเลย สมาธิก็ไม่รู้จัก

การเริ่มต้นการพื้นฐาน สมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐานนะ สมถะแก้กิเลสไม่ได้ สมถะนี่แก้กิเลสไม่ได้หรอก แต่ถ้าไม่มีสมถะมันจะเป็นวิปัสสนาไปไม่ได้ มันเป็นวิปัสสนึก มันเป็นความคิดของเรา เป็นความเพ้อฝัน มันไม่เป็นความจริง ไม่รู้จักอะไรเลย เหมือนคนขาดสติ

ดูสิ เราเป็นคนมีสติสัมปชัญญะ เราเป็นคนดี เรามีสติ เราทำอะไรเราก็ทำได้สมบูรณ์ คนบ้าเห็นไหม คนเหมือนกันแต่มันไม่มีสติ มันขาดสติ ถ้าขาดสติจนขนาดที่ว่ามันสั่งสมมาจนรุนแรง ต้องจับส่งโรงพยาบาล บังคับตัวเองไม่ได้เลย จิตก็มีอยู่แต่ขาดสติ หมุนไปตามความเพ้อฝัน

ในการประพฤติปฏิบัติเราก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นความจริง มันมีสติ มันมีปัญญาเข้ามา รถนะ ถ้ามันมีเบรก เราไม่เคยเบรกมันได้เลย แล้วเราเบรกมันได้ คิดดูสิ เราขับรถไปรถที่ไม่มีเบรกลงจากเขา แล้วเราเบรกได้ เรายับยั้งรถได้นี่มันจะทึ่งแค่ไหน มันจะแปลกใจแค่ไหน

นี่ก็เหมือนกันถ้าเราหยุดจิตของเราได้ด้วยสติ ด้วยปัญญา มันหยุดของมัน มันรู้ มันทึ่งมาก นี่ไงชักเริ่มเห็น เห็นไหม นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ความรู้ความเห็นของใจ ถ้าใจมันรู้เห็นของมัน มันจะรู้จักตัวมัน เริ่มรู้จักตัวมัน มันจะทำบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า มันจะสงบเข้ามา สงบเข้ามา คำว่า “สงบเข้ามา”

“เบรก” เริ่มต้นเราใช้ไม่เป็น หรือใช้แล้วมันหยุดรถได้ ต่อไปเราขับรถไป รถของเราจะไม่ชนสิ่งใดๆ เลย จะไม่ประสานงากับใคร จะหลบเลี่ยง หลบสิ่งกีดขวางที่รถจะเข้าถอยหน้าถอยหลัง นี่ถ้ามีสติ มีการฝึกด้วยปัญญาอบรมสมาธิ มันจะควบคุมใจของเราไม่ไปประสานงากับสิ่งใดๆ ไม่ไปประสานงากับความทุกข์ ไม่ไปประสานงากับความโลภ ความโกรธ ความหลง ความโลภ ความโกรธ ทำให้มันฟุ้งซ่าน มันเป็นสิ่งกีดขวาง เราหลบมันๆๆ หลบให้จิตสงบเข้ามา ทำบ่อยครั้งเข้าๆ จิตมันสงบเข้ามาด้วยสติ ด้วยปัญญา สติปัญญาอย่างนี้ นี่ปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นอบรมสมาธิ มันไม่ใช่วิปัสสนา

ไม่ใช่วิปัสสนาเพราะอะไร ถ้าไม่วิปัสสนา เพราะมันไม่รู้จัก ถ้าไม่รู้จักเห็นไหม ดูสิ เรากำหนดพุทโธๆ ขณะจิตมันว่างเป็นสมาธินะ ยังไม่รู้จักสมาธิเลย ถ้ารู้จักสมาธิ สิ่งที่มีสมาธิมันมีกำลังของมันใช่ไหม แล้วสมาธิ สิ่งที่เป็นสมาธิ รู้จักสมาธิ ถ้ารู้จักสมาธิ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะไม่ติดในสมาธิ

ทำไมมันติดในสมาธิล่ะ มันว่าง มันเป็นสิ่งที่มีความสุข มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ มหัศจรรย์จนเราคาดหมายผิด เราเข้าใจว่านี่คือนิพพาน นี่คือธรรม พอนี่คือธรรมปั๊บ จิตมันติด ติดเพราะอะไร? ติดเพราะมันไม่รู้ ไม่รู้เพราะอะไร เพราะมันหลง ถ้าคนมันหลง มันไม่รู้ มันจะรู้ได้อย่างไร นี่ถึงไม่รู้จักสมาธิไง แม้แต่สมาธิก็ไม่รู้จัก

ถ้าเป็นมิจฉาสมาธินะ มันจะไม่มีสติ มันจะว่างออกไปจนเราไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีที่เริ่มต้น ไม่มีการควบคุม ถ้าเป็นสมาธิมันจะมีที่ควบคุมเห็นไหม พุทโธๆๆ พอจิตมันสงบเข้ามาเรื่อยๆ พุทโธเรื่อยๆ เป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิเป็นขณิกสมาธิเข้ามา แล้วมันเสื่อม มันถอยออกมา มันเสื่อมมันจะทำอย่างไร

ฝึกฝนบ่อยครั้งเข้าจนมันละเอียดเข้าไป จนเป็นอุปจารสมาธิ ถ้า “อุปจารสมาธิ” หมายถึงว่าสมาธิมันมีฐาน มันแน่นขึ้น มันมีพื้นฐาน มันมีกำลังของมัน แล้วมันออกรู้ได้ไง ออกรู้ อุปจารสมาธิคืออกรู้นิมิต ออกรู้สิ่งต่างๆ ออกดูกาย ถ้ามีกำลังนะ ถ้ามีกำลัง พุทโธเข้าไปอีกๆ มันจะเข้าไปถึงอัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิมันจะดับหมด พุทโธดับ ทุกอย่างดับหมด ดับ มันค่อยๆ ละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป เรารู้หมดๆ

ถ้าผู้ชำนาญ สมาธิก็รู้จักว่าเป็นสมาธิ ปัญญาก็รู้จักว่าเป็นปัญญา

แต่ถ้าไม่รู้จักสิ่งใดๆ เลย จะไม่รู้จักอะไรเลย แล้วก็กลายเป็นเรื่องของโลกไปหมด ปฏิบัติธรรมโดยโลก โลกคืออะไร? โลกคือความสามัญสำนึก โลกคือการศึกษาโดยสมอง โลกคือการศึกษาโดยกิเลส กิเลสตัณหามันสอดเข้ามาในปัญญาของเรา การคิด การใคร่ครวญ การใช้ปัญญานั้นเป็นปัญญาของโลก มันถอนกิเลสไม่ได้ มันไปถอนธรรมะออกต่างหาก ถอนความจริงไง ถอนสิ่งที่จะเป็นคุณธรรมให้เป็นความลุ่มหลง ลุ่มหลงติดอยู่ในสามัญสำนึกอย่างนี้ไง ติดในสามัญสำนึกของความรู้ ความรู้ที่มันเป็นไป แล้วรู้อย่างนี้รู้ไม่จริง

ถ้ารู้จริงมันสงสัยทำไม รู้ไม่จริงมันสงสัยทำไมว่างๆ ทำอย่างไรต่อไป...คือตัวเองจะเดินหน้าไปก็ไม่ได้ จะถอยหลังก็ไปไม่ได้ นี่มันไม่รู้จริง มันคา มันติด

ถ้ามันรู้จริงขึ้นมา ถ้าเป็นสมาธิมันต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญว่า สิ่งที่เป็นสมาธินี่มันเป็นสมาธิจริงไหม ถ้าเป็นสมาธิจริง เราน้อมออกไปดูกาย เวทนา จิต ธรรม มันจะเป็นจริงไหม ถ้ามันเป็นสมาธิจริง มันทำออกไปหากาย เวทนา จิต ธรรม มันต้องเป็นความจริง เพราะอะไร เพราะมีกำลังของมัน

แต่ถ้าเราไปเข้าใจไง เราเข้าใจว่า มันเป็นนิพพาน มันเป็นธรรม ถ้าเข้าใจนะ ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสมาธิเลย มันว่างออกไปหมดแล้วมันสร้างภาพ สร้างภาพตามความเป็นไป เพราะในการศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การพิจารณากาย การผ่านกายไปเป็นโสดาบัน เป็นสกิทา เป็นอนาคา ว่าไปเรื่อย มันเป็นการสร้างภาพ สร้างภาพขึ้นมา

การวิปัสสนา การทำ มันต้องมีครูบาอาจารย์ตรงนี้ ถ้ามีครูมีอาจารย์คอยชี้นะ สิ่งใดเป็นจริง มันวัดค่าได้ เหมือนเรานี่เราไปถึงจุดหมายปลายทางทางใดทางหนึ่ง แล้วถ้ามีผู้เดินไปถึงจุดหมายปลายทางนั้น เหมือนจุดหมายปลายทางมีต้นไม้ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ต้นไม้ใหญ่เราก็เห็นมาแล้วใช่ไหม ถ้าใครไปถึงจุดหมายปลายทางไปเห็นต้นไม้ใหญ่นั้น เขาไม่ต้องบอกว่าเขาไปถึงจุดหมายเลย

เขามาบอกเลย ต้นไม้ใหญ่ต้นนั้นมีลักษณะอย่างนั้นๆๆ คนนี้ภาวนาใช่ เพราะลักษณะของต้นไม้เป็นอย่างนั้น เขาไม่ได้มาบอกเลยว่าเขาจะไปอย่างไร เพราะเขาไม่ได้พูดถึงการกระทำเข้าไปถึงต้นไม้นั้น แต่เขาไปพูดถึงต้นไม้นั้นถูก มันยังถูกเลย แต่นี่เราไม่รู้ ต้นไม้เราก็ไม่รู้ สิ่งใดเราก็ไม่รู้ จิตก็ไม่รู้จักจิต ไม่รู้จักอะไรเลย สมาธิก็ไม่รู้จักสมาธิ

ถ้าเป็นสมาธิเห็นไหม คนที่ทำสมาธิจนชำนาญ มันจะเป็นขั้นตอนของมันเลย

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

สมาธิทำอย่างไร? ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิมันใช้ปัญญาพิจารณาความคิด เพราะความคิดมันเป็นสิ่งที่แสดงออกของพลังงานคือตัวจิต ตัวจิตมันมีพลังงานออกมา มันเสวยอารมณ์ออกมา อารมณ์มันเกิดขึ้นมา แล้วอารมณ์มันให้ผลเป็นทุกข์เป็นยาก ถ้ามันเป็นหน้าที่การงาน มันก็ให้ผลเป็นโดยธรรม โดยธรรมโดยที่มีสติยับยั้งเรา สิ่งที่ทำขึ้นมาโดยธรรม เราฝึกมันตลอด เราควบคุมมันตลอด ถ้ามันสงบเข้ามา เพราะเราควบคุมจิตตลอดเวลา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เรามานั่งสมาธิหรือเราเดินจงกรมมันจะง่ายขึ้นมา สิ่งที่ง่ายขึ้นมา ถ้ามันสงบเข้ามาๆ

เพราะความว่าจิตสงบเข้ามา อวิชชา การครอบงำของมาร ยังไม่ได้ทำมันเลย ยังไม่ได้แก้ไขสิ่งใดๆ เลย มันต้องเพิกออก ทำลายออก สิ่งที่เพิกออก ทำลายออก ถ้ามันเป็นขิปปาภิญญาอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คืนที่พระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเห็นไหม ฉันอาหารของนางสุชาดา พอฉันอาหารของนางสุชาดา ปัญจวัคคีย์ทิ้งไปหมดเลย ทิ้งไปหมดเลย เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามักมาก อดอาหารขนาดนี้ทำความเพียรขนาดนี้ยังไม่สำเร็จ แล้วจะไปสำเร็จได้อย่างไร

เสร็จแล้ว ฉันอาหารนางสุชาดา ลอยถาดทองคำเสี่ยงทาย แล้วคืนวันเพ็ญเดือน ๖ นั่งเลย

“ถ้าวันนี้ ถ้าไม่ได้ตรัสรู้ ถ้าวันนี้ไม่บรรลุธรรม จะไม่ลุกจากโคนต้นโพธิ์เลย”

พอนั่งไป ตั้งแต่ปฐมยาม บุพเพนิวาสานุสติญาณย้อนอดีตไป จิตมันสงบเข้ามาแล้วมันไม่เข้าที่ มันเข้ามาแล้วมันเข้ามาสงบแล้วมันออกไปเห็นข้อมูลเดิม แล้วเข้าที่กลับมาออกไปรู้อีก จุตูปปาตญาณ อนาคตเห็นไหม แล้วกลับมาที่อาสวักขยญาณ คืนเดียว นั่งหนเดียว

ขิปปาภิญญา หมายถึง ครั้งเดียวตรัสรู้ได้เลย จิต ตัวจิตที่มันทำลายแล้วนี่ทำลายตัวจิต พอจิตมันถึงสิ้นกิเลสไป อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ จิตนี้รู้จักจิต แล้วตัวจิตมันทำลายตัวมัน อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ ตัวจิตนี้มันทำลาย ตัวจิตมันเป็นธรรมธาตุ มันเป็นพระอรหันต์ไป เป็นศาสดาของเรา ไม่มีตัวจิต ไม่มีตัวภพ

ถ้ามีตัวจิต ตัวภพ เห็นไหม แล้วพระสารีบุตรไปศึกษากับสัญชัย

ศึกษา “สิ่งใดๆ ก็ไม่ใช่”

“ไม่ใช่คืออะไร?”

“ไม่ใช่คือไม่ใช่”

คือพยายามปฏิเสธว่าไม่ใช่ เหมือนที่เราทำกันนี่ ธรรมะว่าง สิ่งใดก็ว่าง เหมือนสัญชัยเลย สัญชัยบอก “ไม่รับรู้ใดๆ ทั้งสิ้น สิ่งที่ไม่มีก็คือไม่มี ในไม่มีก็คือไม่มี ทุกอย่างไม่มีหมดเลย” ไอ้พวกเราปฏิบัติกัน เห็นไหม โน่นก็ว่าง ว่างก็คือว่าง ในว่างก็คือว่าง ว่างก็คือว่าง...แล้วมันมีเหตุผลอะไร

จนพระสารีบุตรนะ สร้างบุญญาธิการมา เพราะปรารถนามาเป็นพระอัครสาวก “สิ่งนี้ไม่ใช่” เพราะว่าขนาดเราตรึกใช้ปัญญาไปขนาดไหน มันไม่ถึงที่สิ้นสุด มันสิ้นสุดไม่ได้เพราะไม่รู้จักสมาธิ ไม่รู้จักมรรค ไม่รู้จักวิธีการ จนขนาดว่าสัญญากับพระโมคคัลลานะ “ถ้าเราเจอครูบาอาจารย์ต้องบอกกัน เพราะที่นี่ไม่ใช่แล้ว” ก็แสวงหาอยู่

จนมาเจอพระอัสสชินะ เห็นกิริยาการเคลื่อนไหว เพราะคนที่ปฏิบัติ คนที่มีคุณธรรม กิริยาการเคลื่อนไหว การแสดงออก มันดูกันออก การมีสติ การเหยียดคู้ จะเร็วจะช้าขนาดไหนก็เขามีสติของเขาอยู่ เขาทำอย่างนี้ได้อย่างไรถ้าใจเขาไม่นิ่งพอ สิ่งที่นิ่งพอมันทำให้สะดุดใจ เห็นไหม ตามพระอัสสชิไป

ถึงมีโอกาสถามว่า “ใครเป็นคนสอน บวชเพื่อใคร”

“เราเป็นคนบวชใหม่...” ทั้งๆ ที่เป็นพระอรหันต์นะ

“เราเป็นคนบวชใหม่ ธรรมที่ศึกษามาก็มีแต่น้อย” นี่อ่อนโน้มถ่อมตน พออ่อนน้อมถ่อมตนนะ

“จะบวชใหม่ก็ไม่สำคัญ ขอให้มีสิ่งใดก็ขอให้บอก” มันเป็นหน้าที่ของพระสารีบุตรที่ไปพิจารณาเอง

“องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่า ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ไปดับที่เหตุนั้น”

นี่พระสารีบุตรฟังพระอัสสชิเทศน์ครั้งแรกเป็นพระโสดาบัน แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขิปปาภิญญาตรัสรู้ทีเดียว โดยชอบ ตรัสรู้เลย แต่เวลาพระสารีบุตร ต้องบรรลุเป็นพระโสดาบันก่อน แล้วสอนไป เป็นโสดาบัน เป็นสกิทา เป็นอนาคา จนถึงที่สุดแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนถึงสิ้นกิเลส นี่จิตของคนมันไม่เหมือนกัน

แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโสดาบันตรงไหน เป็นสกิทาคาตรงไหน เป็นอนาคาตรงไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุธรรมขึ้นมาเป็นโสดาบันตอนไหน เพราะจิตมันต่างกัน

แล้วในปัจจุบันนี้ครูบาอาจารย์ที่ขิปปาภิญญาที่ตรัสรู้โดยเร็ว ทีเดียวตรัสรู้ไปได้ แต่ในเวไนยสัตว์ ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้ามันผ่านได้เป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไปมันก็สมควรแล้ว มันก็เป็นไปตามความเป็นจริงแล้ว ความเป็นจริงมันถึงต้องเป็นขั้นตอน ขั้นตอน เห็นไหม มรรค ๔ ผล ๔

ถ้าทำได้มรรค ๔ ผล ๔ ต้องให้เป็นธรรมตามความเป็นจริงโดยปฏิบัติ โดยการกระทำ ไม่ใช่โดยให้กิเลสมันหลอก ถ้ามันโดนกิเลสมันหลอก ไม่รู้จักสิ่งใดๆ เลย มันรู้จักธรรมะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง แล้วมันเทียบเคียงสิ่งนั้นมาเป็นธรรมะของเรา แล้วเราไม่รู้เลยว่ากิเลสมันสร้างภาพ

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ เราพยายามทำให้มันสงบเข้ามา พอสงบเข้ามา มีสติสัมปชัญญะพร้อมหมด ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิจิตมันก็จะปล่อยวางเข้ามาตั้งแต่ปุถุชน ใครที่ใช้ปัญญาอบรมสมาธินะ เวลาเริ่มต้นรั้งความคิดตัวเองยากมาก ความคิดของตัวเองนี่ยากมาก ยิ่งถือธุดงค์นะ ยิ่งพระนี่ถือธุดงค์ ถือสิ่งใดมักน้อยสันโดษ กิเลสมันยิ่งดิ้นแรง เพราะมันอยากได้ ยิ่งบีบคั้นมัน มันยิ่งแสดงออกมาก เราก็ต้องมีสติบีบคั้นมัน ฝึกฝนมัน เพราะธุดงควัตรเป็นการขัดเกลากิเลส มันไม่ใช่การฆ่า เป็นการขัดเกลา

คำว่า “ขัดเกลา” นี่คือการทรมาน ถ้าคนเรา ดูสิ เราหิว แล้วเรายังไม่ยอมให้เรากินอีก มันจะหิวขนาดไหน เราหิวข้าวอยู่แล้ว แต่เรากินแค่คำสองคำเพื่อจะประทังชีวิต แล้วความอยากมันจะกินมากกว่านั้นไหม นี่ก็เหมือนกันธุดงควัตร เราธุดงค์เพื่อมักน้อยสันโดษ มันถึงดีดดิ้น เห็นไหม เราใช้ปัญญาไล่มันๆ ไล่มันเข้าไปบ่อยครั้งเข้า สิ่งที่บ่อยครั้งเพราะอะไร

เพราะสิ่งที่เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยมันเป็นมีเครื่องล่อ รูป เวทนา สังขาร วิญญาณ เห็นไหม เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร กิเลสมันติดแนบแน่นเพราะเราเคยชินอยู่กับมัน แล้วเราใช้สติควบคุมเห็นไหม มันชอบสิ่งใด ความรู้สึกเรามันชอบอะไร มันรักอะไร มันต้องการอะไร

เราใช้ปัญญาใคร่ครวญมันว่า มันจำเป็นจริงไหม มันต้องใช้อย่างนั้นจริงไหม มันต้องถึงขนาดนั้นเลยเหรอ แล้วถ้ามันผ่อนจากนั้น น้อยกว่านั้นนิดหน่อย หรือว่าทำแต่พอประมาณจะได้ไหม

ถ้ามันได้ นี่ไง นี่คือเราทรมานกิเลสแล้ว เราต่อสู้กับมันแล้ว พอต่อสู้กับมัน ด้วยความบ่อยครั้งเข้า ถ้าเหตุผลมันมีมากกว่านะ มันปล่อย พอมันปล่อยขึ้นมามันก็สบายโล่งๆ นี่ปัญญาอบรมสมาธิ พอมันอบรมบ่อยครั้งเข้า สิ่งที่มันต้องการสิ่งที่มันดีดดิ้น สิ่งที่มันแสวงหา คนไม่ทุกข์ไม่ยากไม่อดไม่อยาก ยิ่งธุดงควัตร ยิ่งเข้าป่ายิ่งตั้งกติกาขึ้นมา มันยิ่งต้องการมาก พอต้องการมากเราก็ใช้ปัญญาต่อสู้กับมันมาก

พอต่อสู้กับมันมาก เหตุผลที่เราใช้ ปัญญาที่เราใช้เหนือกว่า พอเหนือกว่ามันก็จะปล่อยบ่อยครั้งเข้า จนถึงที่สุด จุดของมันที่สิ้นสุดของกระบวนการของมันคือมันขาด มันปล่อยเลย รูป รส กลิ่น เสียงไม่ใช่เรา รูป รส กลิ่น เสียงไม่ใช่จิต จิตกับรูป รส กลิ่น เสียงมันจะทันกันหมดเลย พอมันปล่อยขึ้นมานี่กัลยาณปุถุชน ในพระไตรปิฎกยืนยันไว้นะ ปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามรรค สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

แล้วทำไมในระดับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พูดไว้ในพระไตรปิฎกแล้วมันต่างกันอย่างไร ถ้าไม่ต่างกันทำไมท่านบัญญัติไว้ต่างกัน ถ้าไม่ต่างกันท่านบัญญัติไว้ทำไม บัญญัติไว้เป็นบันไดให้เราก้าวเดินขึ้นไปเลย บันไดที่เราควรจะก้าวเดินขึ้นไปเลย ก้าวเดินที่ไหน? ก้าวเดินที่จิต จิตมันจะเปลี่ยนแปลงของมันตลอด แล้วมันจะก้าวเดินสูงขึ้นไป วุฒิของจิตมันเจริญขึ้นมา เจริญขึ้นมา มันอยู่ที่ใจเรา

ถ้าไม่ต่างกันพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ทำไม บัญญัติไว้เพราะมันต่างกันน่ะสิ มันต่างกันโดยข้อเท็จจริง โดยความจริงเลย แต่เราไม่เห็นความต่าง ขณะเราทำเข้าไปแล้ว เราชุบมือเปิบเลย ในการประพฤติปฏิบัติฟังธรรมนี่ชุบมือเปิบอยู่แล้ว เพราะมีครูบาอาจารย์ มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้เราถึงได้เห็นธรรมะ เราถึงได้เห็นการเกิดของจิตที่มันเปลี่ยนแปลง ถ้าจิตมันเกิดมันตาย ดูมันเกิดเป็นมนุษย์นี่รู้จักอะไรกับมัน เกิดเป็นโอปปาติกะ เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เรารู้จักอะไรกับมัน

เราไปได้สถานะใดๆ เราก็หลงไปตามสถานะนั้น เรามาเป็นมนุษย์เราก็เพลินในมนุษย์ ออกจากมนุษย์ ออกจากคนมาบวชเป็นพระ เราก็มาถือสถานะว่าเราเป็นพระ เราเป็นพระ เราเป็นคนที่มีศีลมีธรรม เราเป็นคนที่เหนือคน กิเลสมันเสริมไปตลอด แล้วมันไม่รู้จักตัวมันเองเลย ทีนี้ ธรรมวินัยเห็นไหม ธรรมวินัยบังคับมาเพื่อให้ย้อนกลับมาให้รู้จักตน รู้จักตนมันก็อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักตนก็ควบคุมตน ควบคุมตนนี่ควบคุมที่จิต

ถ้าจิตไม่กระดิกพลิกแพลงนะ ปากก็ไม่อ้า ปากไม่พูดหรอก เพราะจิตมันกระดิกพลิกแพง พอจิตมันกระดิกพลิกแพลงมันออกไปทางปาก ออกมาทางหูทางตา ออกมาทั้งหมดเลย พอออกมามันก็ส่งออกหมด มันก็เป็นเรื่องกิเลสหมด แล้วมันรู้จักใคร? รู้จักเพลิงไง รู้จักพระเพลิง เพลิงมันเผา มันเผาหัวใจ แล้วมันเป็นพระเป็นเจ้า เป็นพระผู้ปฏิบัติมันมีประโยชน์อะไร ถ้ามันยังมีไฟเผาอยู่นี่มันจะเป็นประโยชน์อะไร เพราะธรรมะเป็นธรรมะดับไฟ ดับไฟโทสะ โมหะมันดับตรงนั้น

ถ้าเราตั้งสติไว้ ดัดแปลงมัน ถ้ามันปุถุชน กัลยาณปุถุชนเพราะมันฝึกฝน พุทโธๆ มันต้องสงบเข้ามาให้ได้ ถ้าสงบเข้ามาแล้ว สงบเข้ามาเห็นไหม สมาธิก็ให้รู้จักว่าเป็นสมาธิ สมาธิมันเกิดที่ไหน? สมาธิมันเกิดจากจิตที่ฟุ้งซ่าน โดยสามัญสำนึกของเราจิตมันฟุ้งซ่านเพราะกิเลสมันยุแหย่ มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน แล้วเรามีสติ เรามีความเชื่อ เรามีศรัทธา มีความเชื่อศรัทธา เราฝึกฝนของเรา เราควบคุมของเรา ควบคุมให้จิตมันสงบเข้ามา พอจิตมันสงบเข้ามา สงบมาถึงฐาน

ถ้ามันไม่ถึงฐาน เวลาจิตสงบเข้ามาแล้ว เราพยายามให้สงบไปโดยทางเดียว มันทำได้ยาก บางที่มันดื้อดึงขัดขืน เราก็พยายามตั้งสติ พุทโธๆ สงบเข้ามาบ้าง ใช้ปัญญาอบรมสมาธิที่มันสงบเข้ามาบ้าง แล้วเราก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญใน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ใคร่ครวญในชีวิต ใคร่ครวญถึงการเกิดและการตาย นั่นคือการฝึกฝนใช้ปัญญา ปัญญาอย่างนั้นมันจะเสริมกับสมาธิให้สมาธิมีเหตุมีผลมากขึ้น การกระทำมันเปิดทางกว้าง เปิดทางให้ใจมันฝึกได้ง่ายขึ้น มันเป็นอุบายไง

ไม่ใช่ว่า...พุทโธๆๆ แล้วจิตก็ไม่สงบสักที แล้วเมื่อไรมันจะได้วิปัสสนา การปฏิบัติมันจะได้ผลเมื่อไร

มันฝึกฝนใช้ปัญญาได้ เพียงแต่ถ้ามันสงบเข้ามา เราก็รู้ว่ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นการฝึกฝนปัญญา ปัญญาถ้าฝึกฝนเข้ามันจะละเอียด สุตมยปัญญา จินตมยปัญญาเห็นไหม มันจะเป็นจินตมยปัญญามันจะละเอียดเข้าไป เราก็ฝึกของเรา เราต้องทำของเราหมั่นคราด หมั่นไถ หมั่นฝึกหมั่นฝน การฝึกการฝนนั่นคือการฝึกหัดใจ การทรมานใจ ทรมานกิเลส ถ้าทรมานกิเลสขึ้นมา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามาบ่อยครั้งเข้า การใช้ปัญญามันจะทำให้มั่นคง ให้ดีขึ้น พอดีขึ้น

ถ้าจิตนะ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ จิตมันจะเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการของจิต ไม่ใช่เห็นจิต เห็นอาการ เห็นความเป็นไปของความคิด ความคิดมันเกิดมาจากอะไร? มันก็เกิดมาจากจิต ถ้าความคิดเกิดจากจิต ถ้ามันจับอาการของมันได้ มันวิปัสสนาของมันได้ เห็นไหม มันเป็นเปลือกไง มันเพิกออก

ถ้าเป็นขิปปาภิญญา ถ้าใช้ปัญญาขาดปั๊บ มันขาดทั้ง ๔ ขั้นตอนเลย มรรค ๔ ผล ๔ มันจะขาดตั้งแต่ปุถุชนเป็นพระอรหันต์เลย แต่ถ้าเวไนยสัตว์มันไม่ขาดอย่างนั้น มันต้องใช้วิปัสสนา ต้องใช้จับความคิดให้ได้ จับจิตได้ ถ้าจับจิตได้ จิตมันสงบเข้ามาจนถึงมันมั่นคงแล้ว มันออกค้นคว้า มันจับอาการของมันได้ จับความคิดที่เกิดจากจิต มันจับได้ ถ้าจับได้ นั่นน่ะ จะเป็นวิปัสสนา

วิปัสสนาเพราะอะไร เพราะความคิดมันไม่ใช่จิต ถ้าความคิดมันไม่ใช่จิต ทำไมมันคิดขึ้นมาทำไมมันทุกข์ มันทุกข์ นี่มันทุกข์นะ ทุกข์อะไร ทุกข์เพราะเราไม่เข้าใจมัน เราต้องเข้าใจว่าจิตมันอยู่ที่ไหน เราเกิดมาเราเป็นมนุษย์ใช่ไหม เราเป็นมนุษย์ จิตมันอยู่ในร่างกายเราไง ทีนี้มันอยู่ในร่างกายเรา แล้วมันติดใคร? มันก็ติดในตัวมันเอง ในเมื่อมันติดตัวมันเอง ความสงสัยอันแรกคือสงสัยเรื่องกายเรา ความสงสัยเรื่องชีวิต สงสัยเรื่องตัวตน ทีนี้ตัวตนมันเป็นความเห็นผิด เห็นผิดในสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดเห็นไหม

ถ้าเป็นสมาธิ เป็นเจโตวิมุตติเห็นไหม สงบ พุทโธๆๆ พอจิตมันสงบเข้ามาบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า จนมันตั้งมั่น สิ่งที่ตั้งมั่นนี่น้อมไปหากาย ถ้าน้อมไปหากาย เห็นกาย เห็นกายนั้นเป็นเจโตวิมุตติ ถ้าไม่เห็นกาย ใช้พิจารณากายโดยปัญญา ใช้พิจารณากายโดยปัญญาก็ได้ว่า สภาพร่างกายมันดำรงชีวิตอย่างไร ดูสิ เวลานั่งเจ็บก็โอย ถ้าร่างกายเป็นเรา เราต้องควบคุมเราได้ มันต้องเป็นความจริงกับเรา ทำไมเราควบคุมไม่ได้เลย เราสั่งไม่ได้เลย

ดูของๆ เราสิ ของๆ เรา แก้วแหวนเงินทองเราจะจับไปไว้ที่ไหนก็ได้ จะไปฝากธนาคารไหนก็ได้ เราจะโอนธนาคารผ่านบัญชีก็ได้ เราสั่งโอนบัญชีไหนก็ได้ มันใช้ได้หมดเลย แก้วแหวนเงินทองนี่ เราจับของเรา สิทธิของเรา เราจะผลัดเปลี่ยนมืออย่างไรก็ได้ แต่ร่างกายได้ไหม ไม่ให้มันเป็นไปอย่างที่เราปรารถนาได้ไหม? ไม่ได้ ไม่ได้เลย มันไม่ใช่เป็นเราโดยธรรมชาติ มันเป็นของชั่วคราวที่เราเกิดมา มันได้ชีวิตนี้มา ชีวิตนี้มามันก็มีกายกับใจ

นี้ใจมันอยู่กับเรา ใจมันอยู่ในร่างกายนี้ ถ้าพิจารณาไป เห็นกายนี่พิจารณาไป ถ้าพิจารณากายเป็นเจโตวิมุตติ น้อมมันไป ให้มันแปรสภาพของมันไป มันแปรสภาพให้มันขยายส่วน เป็นวิภาคะ อุคคหนิมิต วิภาคะนิมิตเห็นไหม ขยายส่วน แยกส่วน สิ่งที่แยกส่วนเพราะความรู้สึก เห็นไหม ดูสิ ดูอย่างคลื่นวิทยุ คลื่นโทรศัพท์ คลื่นต่างๆ มันต้องมีคลื่นใช่ไหม มันถึงนำสื่อสารนั้นไปได้ นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าจิตมันเกาะ คือคลื่น คือมันเกาะกาย เกาะความยึดมั่นถือมั่น เพราะมันเป็นธรรมชาติของมัน

เป็นมนุษย์เห็นไหม ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ สามัญสำนึกของมนุษย์มันเป็นอย่างนั้น นี้ถ้าเราพิจารณาไปมันจะถอนสามัญสำนึกอันนี้ไง ถอนสิ่งที่มันเกาะเกี่ยวสิ่งนี้ไง ถ้ามันถอนออกมา มันถอนมันก็ปล่อยๆ การปล่อยนี่มันถอนชั่วคราว เป็นตทังคปหาน มันปล่อยบ่อยครั้ง ปล่อยแล้วปล่อยเล่า สิ่งนี้ต้องทำซ้ำทำซากๆ ถึงที่สุดนะ ถึงที่สุดมันจะขาด สิ่งที่ขาดเห็นไหม สิ่งที่ขาดมันจะเชื่อมต่อกันเองไม่ได้ มันเป็นอกุปปธรรม สิ่งที่เป็นอกุปปธรรมมันจะเห็นสภาวะความเป็นจริงของมัน ต้องเป็นสภาวะความเป็นจริง

นี่ไง สมถะคือความสงบของใจ วิปัสสนาคือการใช้ปัญญา ฤๅษีชีไพรในสมัยพุทธกาลนะ กาฬเทวิล อาฬารดาบส เข้าสมาบัติได้ เข้าสมาธิได้ แล้วเข้าใจว่านั่นเป็นธรรม ถ้าเราเข้าสมาธิแล้วเราเป็นความว่างๆ อยู่ เราเข้าใจว่าเป็นธรรม เดี๋ยวมันก็เสื่อม เสื่อมเพราะอะไร เพราะมันมีสิ่งเร้า สิ่งเร้าคือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วมันมีสังโยชน์มันมัดไว้โดยธรรมชาติของมัน

แต่ขณะที่เราวิปัสสนา สิ่งเร้ามันก็มี แต่เวลาสังโยชน์มันขาด พอสังโยชน์มันขาดเห็นไหม สังโยชน์มันขาด ขาดเพราะอะไร ขาดเพราะมรรคญาณ มรรคญาณคืออะไร? มรรคญาณคือมรรค ๘ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อริยสัจอันนี้สำคัญมาก สำคัญเพราะมันเป็นความจริงเพราะมันเป็นมรรคญาณ จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตนี้มันเข้าไปในอริยสัจ สัจธรรม ในมรรคญาณที่หมุนเข้าไป ปัญญามันหมุนเข้าไปทำลายตัวจิต ตัวจิตมันกลั่นออกมา เพราะมันยังมีจิตอยู่ มีจิตอยู่เพราะอะไร เพราะพระโสดาบันยังเกิดอีก ๗ ชาติใช่ไหม มันยังมีจิตอยู่ แต่ถ้าเราก็ยังรู้จักมัน เพราะอะไร

เพราะสิ่งที่ทำนี้มันปล่อยกิเลสอย่างหยาบออกไป พอปล่อยกิเลสอย่างหยาบออกไป สิ่งที่เป็นสกิทาคามรรคมันก็จะไปกลั่นกิเลสอันละเอียดเข้าไปบ่อยครั้งเข้า เห็นไหม ถึงบอกว่า ไม่มีใครรู้จักจิต ไม่มีใครเห็นเห็นจิต เห็นจิตคือเห็นนิมิต เห็นจิตคือเห็นเป็นสมาธิ ถ้าเห็นจิต สมาธิตัวจิตตัวภพ ถ้าตัวภพมันก็หลง หลงว่าสิ่งนี้เป็นธรรม เป็นนิพพาน

แต่ถ้ามันบอกว่าสิ่งนี้เป็นจิต สิ่งนี้เป็นสมาธิ จิตมันหดสั้นเข้ามา สิ่งที่เป็นสมาธิ สมาธิคือมีกำลัง ถ้าสมาธิมีกำลัง “จิตเห็นอาการของจิต” ตัวจิตเป็นสมาธิใช่ไหม แล้วมันเห็นอาการ เห็นความเป็นไป มันจับอาการความเป็นไปที่มันกระทบกระเทือนกัน ที่เป็นการสื่อสารออกมาเป็นสามัญสำนึก ที่เป็นการสื่อสารออกมา สื่อสารคือความรู้สึก

ดูสิ ดูเวลาพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์สอนเทวดา ท่านเทศน์สอนด้วยอะไร? ท่านเทศน์สอนด้วยภาษาใจ ภาษาใจคือภาษานึก ภาษานึกมันมีขันธ์เห็นไหม สิ่งที่นึกที่คิดมันมีคลื่นของมันนะ มันสื่อสารกันได้ สื่อสารกับจิต เห็นจิต ดูสิ คนรู้ใจๆ มองตาก็รู้ใจ สิ่งนี้มันรู้สึก ความรู้สึกมันยังเทียบกันได้เลย แต่ขณะที่มันเป็นจิตมันเป็นธรรมจริงๆ มันสื่อสารกันได้

ทีนี้ ถ้าจิตเราเข้าไปจับ เข้าไปพิจารณาของมัน มันมีสภาวะแบบนี้ เราจับได้ จับได้ตามความเป็นจริงตามอริยสัจ ตามอริยสัจ คือสัมมาสมาธิไง คือปัญญาอบรมสมาธิ อริยสัจคือปัญญาที่ใคร่ครวญมา ปัญญาในศาสนาพุทธ ปัญญาคือการรอบรู้ในกองสังขาร ถ้ารอบรู้ในกองสังขาร สังขารใครเป็นคนเร้ามัน? ก็คือกิเลสตัณหาความทะยานอยากเร้าให้สังขารมันคิด มันปรุง มันแต่ง

พอเป็นปัญญารอบรู้ในกองสังขาร สังขารมันท้าทายกิเลส กิเลสมันก็อาย เพราะมันเหตุผลไง เหตุผลที่มันดีกว่ามันอาย อายมันก็ปล่อย ปล่อย เห็นไหม นี่ไง มันก็เข้าไปสู่ความสงบ แล้วถ้ามันจับได้ จิตมันจับอาการของจิต จับความคิดไง ตัวจิตไม่ใช่ความคิด มันจับความคิด จับความคิดเพราะอะไร เพราะเป็นสัมมาสมาธิ เพราะมันเป็นสัมมา

ถ้าเป็นมิจฉา เป็นมิจฉามันปล่อยมันก็ว่าเป็นธรรมไง พอมันปล่อยความคิด เพราะความคิดไม่ใช่จิตอยู่แล้ว ความคิดมันเกิดดับ มันเป็นเงา มันเป็นอาการ มันเป็นเปลือก สิ่งที่เปลือก พอเราปอกเปลือกออก เราก็ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม...ไม่ใช่ พอคำว่า “ไม่ใช่” ไม่ใช่โดยสัจธรรมนะ แต่มันใช่โดยกิเลสไง พอใช่โดยกิเลสมันถึงไม่รู้จักสมาธิไง

สมาธิในปัญญาอบรมสมาธิมันก็เป็นสมาธิอันหนึ่ง ในกำหนดพุทโธเป็นพุทธจริต มันก็เป็นสมาธิอันหนึ่ง สมาธิต่างๆ มันคุณภาพของจิต จิตที่มีคุณภาพอย่างหนึ่งมันก็ทำได้อย่างหนึ่ง คุณภาพของมันเป็นอย่างไร คุณภาพ เห็นไหม คุณภาพที่สูง คุณภาพที่ต่ำ คุณภาพที่ปานกลาง แล้วในคุณภาพนั้นมันก็มีแตกต่างกันออกไปอีก มหาศาลเลย ในการกระทำแล้วเราจึงทำโดยสัจจะความจริงของเรา

ถ้าทำโดยสัจจะความจริงนะ เราจะรู้จักของเราไปเรื่อย คำว่า “รู้จัก รู้จริง เห็นจริง” ถ้ารู้จริงเห็นจริง รู้จักมันก็ปล่อยๆๆ ถึงที่สุดมันขาด ไม่ต้องรู้จัก คำว่ารู้จักมันเป็น “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” นะ มันเป็นสภาวธรรม มันเป็นสิ่งที่มันเกิดตามความเป็นจริง แต่ถ้ามันเป็นความจริง ไม่ต้องรู้จัก มันเป็นของมันอย่างนั้น โสดาบันเป็นโสดาบันอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นอื่นอีกไปไม่ได้ มันเป็นอื่นไปไม่ได้เลย มันเป็นข้อเท็จจริงของมันเอง ของจิตที่มันได้ไปวุฒิภาวะอย่างนั้นแล้ว

สิ่งที่เราทำขึ้นไป วิปัสสนาขึ้นไป สูงขึ้นไปเห็นไหม มันก็จับขึ้นไป ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด ถ้าขันธ์อย่างหยาบจับแล้วมันเป็นอุปาทาน สิ่งที่ละเอียด ถ้าพิจารณากาย เห็นไหม พิจารณาด้วยปัญญา มันคืนสู่สภาวะของเขานะ คือถ้าพิจารณากายด้วยปัญญา มันจะปล่อยของมัน เพราะโดยสมาธิ โดยการแผดเผามันจะคืนสู่สภาพเดิม พอสู่สภาพเดิม โลกนี้ราบหมด เพราะมันขาด เวลาขาดโลกนี้ราบเป็นหน้ากลองเลย กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง อ่อนลงเลย สิ่งที่อ่อนลงย้อนเข้าไป นี่ขันธ์อย่างละเอียด

สิ่งที่ขันธ์อย่างละเอียด ทีนี้เป็นกามราคะ ขันธ์อย่างละเอียด คำว่า “ขันธ์” คือเปลือก เปลือกผลไม้ จิตคือตัวเนื้อผลไม้ ตัวเปลือกคือตัวเปลือกของผลไม้ ความคิด ขันธ์ไม่ใช่จิต ในเมื่อมันมีเปลือกผลไม้อยู่ มันมีขันธ์อยู่ แต่เปลือกนี้มันติดแน่น ติดแน่นเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้ ปฏิสนธิจิตมันมีสภาวะแบบนี้ มันก็พาหมุนเวียนเกิดเวียนตาย เพราะสิ่งนี้มันเป็นสถานะของกามราคะ

ถ้าพิจารณาเป็นเจโตวิมุตติ สิ่งที่จิตสงบแล้วถ้าพิจารณากายมันจะเป็นอสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะ มันอสุภะโดยธรรม แต่ถ้าเป็นกิเลสมันเป็นสุภะ เพราะกิเลสมันชอบ “สุภะ” ดูสิ ทุกคนชอบสวยชอบงาม ทุกคนชอบสิ่งที่ดี ไม่ชอบสิ่งที่ชั่ว...ติดดี ติดสิ่งที่ชอบ สิ่งที่พอใจ นี่ความสวย ความงาม ความพอใจไง

สิ่งที่เป็นกามราคะ เป็นปฏิฆะ ปฏิฆะคือข้อมูล กามราคะเป็นสิ่งที่สวยที่งาม สิ่งที่พอใจขนาดไหนมันก็เป็นอนิจจัง มันไม่เป็นความจริงหรอก แต่เพราะเราหลง เราไม่เข้าใจ แต่มันหลงเข้าใจในขั้นของกามราคะ มันยึดมั่นถือมั่นของมันมาก เพราะโดยสามัญสำนึกของจิตมันเป็นอย่างนั้นหมด

นี่ใช้ปัญญาหมุน ใช้ปัญญาใคร่ครวญบ่อยครั้งเข้าๆ แล้วกลับมาที่สมถะ ถ้าไม่กลับมาสมถะ เวลาใช้บ่อยครั้งเข้ามันจะไม่มีกำลัง พอไม่มีกำลังนะ กำลังเราอ่อน อย่างมากก็ยันกันไว้ อย่างน้อยมันจะแพ้เลย คือล้มลุกคลุกคลานเลย ทำไม่ได้ คือให้เห็นภาพอย่างนั้นไม่ได้ ให้มันแปรสภาพอีกไม่ได้ แล้วถ้าเรายังพยายามต่อไปนี่เราจะท้อมาก เราจะเหนื่อยมาก เราจะเพลียมาก แต่ถ้ามันเป็นความเป็นข้อเท็จจริงนะ เรากลับมากที่พุทโธ กลับมาที่ความสงบ กลับมาเพิ่มกำลังของมัน

ถ้ากำลังของมันมีแล้วกลับไปพิจารณา มันจะทำได้ ทำได้ขนาดไหน มันจะมีเหตุมีการณ์เพราะมันปล่อยวาง คำว่า “ปล่อยวาง” ดูสิ เราทำงานของเราเกือบเสร็จ แต่ไม่เสร็จ มันก็เป็นผลงานของเราใช่ไหม “เกือบเสร็จ แต่ไม่เสร็จ” ดูสิ เราเอาวัตถุที่ต่างกัน แล้วไปบรรจุให้เข้ากัน มันเข้ากันไม่ได้ นอตเกลียวมันไม่เหมือนกัน จะเข้ากันไม่ได้ นี่เหมือนกัน ในเมื่อวิปัสสนาไป เราเห็นอยู่ เราขาดอยู่ เราไปแสวงหาสิ่งนั้นมา แต่เราจะมาสร้างสมให้เป็นอย่างธรรมะไม่ได้ แต่กิเลสมันสร้าง สร้างภาพให้เราคลาดเคลื่อน ให้เราลุ่มหลง ให้เราเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ

เวลาปฏิบัติไปมันมีกรณีอย่างนี้เยอะมาก กรณีที่กิเลสมันทำให้ไขว้เขว การกระทำของเราไม่ได้สมดั่งใจ มากเกินไป น้อยเกินไป ยึดหน้า ยึดหลัง มันผิดไปหมดเลย สิ่งที่ทำมาเห็นไหม เพราะอะไร เพราะถ้าไม่มีการกระทำอย่างนี้ ไม่เคยผ่านประสบการณ์อย่างนี้ มันถึงจะไม่รู้จักว่าถ้าจะเข้าไปรู้จักมันยากมาก แค่เห็นมันแล้วจับมันได้ แล้ววิปัสสนาได้นี้คือผลงานนะ ผลงานในการต่อสู้ ในการแยกแยะในการกระทำ

ถ้ากระทำบ่อยครั้งเข้าๆ มันจะคล่องตัว ความคล่องตัวคือการชำนาญ พอชำนาญขึ้นมาคือละเอียดขึ้นบ่อยครั้ง แล้วมันพลิกแพลงมาก สิ่งที่พลิกแพลงเพราะอะไร เพราะกิเลส กิเลสมันแก่นกิเลสนะ มันอยู่กับเรา มันเกิดมากับเรา สิ่งที่เกิดมากับเรานี่มันยึดมั่นถือมั่น แล้วเวลาบุพเพนิวาสานุสติญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย้อนอดีตชาติไปไม่มีต้นไม่มีปลาย การเกิดนับไม่ได้ พระโพธิสัตว์ ๔อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย คำว่า “อสงไขย” นับไม่ได้ๆๆ นี่พูดถึงสิ่งที่สร้างมาแล้วมันถึงจะหลุดพ้นไปได้ไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ต้องเป็นอย่างนั้น ถึงได้ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าถึงเกิดยากมาก แล้วนี่เราเกิดมาพบธรรมไง แล้วสิ่งที่เราพบธรรม แล้วเราศึกษาของเรา สิ่งที่ย้อนไปมันก็เหมือนกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นแหละ คือไม่มีต้นไม่มีปลาย สิ่งที่มันยึดมา มันถึงได้ยึดมาก ยึดแน่นมาก ยึดให้เราอยู่ในอาณัติของมันเห็นไหม

เราทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ เพราะเราเป็นเอกบุรุษนะ เราเป็นนักรบ เราจะต่อสู้กับกิเลส สิ่งที่กิเลสนะ...การชนะตนสำคัญที่สุด การชนะอื่นใดหมื่นแสน สร้างเวรสร้างกรรม สงครามที่ไหนที่รบกันแล้วนะ ก็เกิดตายอยู่อย่างนั้นน่ะ ตายเกิดอยู่ในสงครามนั้นน่ะ แต่ถ้าสงครามนี่ สงครามในหัวใจของเรา สงครามอยู่กับโคนต้นไม้ สงครามอยู่กับรุกขมูล สิ่งนี้ประเสริฐที่สุด

ทีนี้ การต่อสู้ การสงครามของเรามันละเอียดลึกซึ้งอยู่ภายใน มันถึงผิดพลาด ทำอะไรไขว้เขว ก็ตั้งสติขึ้นมาล้มลุกคลุกคลาน มันก็ทำบ่อยครั้งเข้า มีปัญหาขึ้นมาก็มีครูบาอาจารย์ให้ถามครูบาอาจารย์เลย ไม่ต้องเสียเวลา ถ้าไม่มีของเรานะ เราจะต้องไตร่ตรอง ต้องใคร่ครวญ ใช่หรือไม่ใช่ ว่างอย่างนี้ ปล่อยขนาดนี้เป็นธรรมหรือยัง ถ้ามันปล่อยใหม่ๆ เหมือนกับสามล้อถูกหวย สามล้อไม่เคยมี ไม่เคยเป็นนะ ได้สิ่งใดมา ได้ทรัพย์สินเงินทองมามันก็ว่ามากมายมหาศาล จิตไม่เคยเป็น มันจะว่างขนาดไหน ก็นึกว่าใช่ นึกว่าใช่ พอใช้จ่าย เพราะสามล้อถูกหวยมันทำงานไม่เป็น เพราะมันถูกหวยมา ธรรมะมันจัดสรรมา มันไม่เป็นอริยสัจ ไม่เป็นความจริง

ถ้าเป็นความจริงเห็นไหม เราไม่ใช่สามล้อถูกหวย เราเป็นคนทำมาหากิน เราเป็นคนทำธุรกิจขึ้นมา มันได้เงินได้ทองมา เราบริหารจัดการมันมีต้นทุนกำไร มีเหตุมีผลของมัน มันอยู่ได้ตลอดไปเพราะเราบริหารจัดการของเรา นี่ก็เหมือนกัน วิปัสสนาถ้าดีขึ้นมามันก็มีต้นทุนของมันใช่ไหม จากสมาธิ จากการกระทำ จากการทำธุรกิจของเราใช่ไหม มันก็มีกำไรมีขาดทุน อยู่อย่างนั้น ทำบ่อยครั้งเข้า ถึงที่สุดมันจะมา ครืน! กันในหัวใจ ทำลายกันในหัวใจ

“ขันธ์” ขันธ์คือว่าเปลือกของจิต พอเปลือกของจิตมันออกไปแล้ว สิ่งที่เปลือก มันละเปลือกไปแล้วนะ อนาคา ๕ ชั้นเห็นไหม ต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะปล่อย มันจะละเอียดเข้าไปจนถึงตัวจิต ถ้าใครรู้จักจิต มันถึงจะเห็นจิตจริง แต่ไม่มีใครรู้จักจิตเลย คนที่ไม่รู้จักจิตนะ พระอนาคายังไม่รู้จักจิต ถ้ารู้จักจิต มันหลงทำไม ถ้าพระอนาคา ถ้าไม่รู้จักจิตจะเห็นจิตได้อย่างไร จิตมันอยู่ที่ไหน ในเมื่อจิตมันอยู่ที่ไหน มันถึงจะรู้จักมัน ถ้ารู้จักจิตเห็นไหม รู้จักจิตมันถึงเห็นอวิชชา

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

“จิตเดิมนี้แท้ผ่องใส” นี่ตัวจิต สิ่งที่ว่ารู้จักจิตเห็นจิต ไม่ใช่ทั้งนั้นน่ะ มันจะเป็นจิตอะไร สิ่งที่เห็นมันจะเป็นจิตอะไร...มันเป็นอาการของจิต มันเป็นสิ่งที่เป็นสมาธิขึ้นมามันก็มีกิเลสครอบงำอยู่ สิ่งที่มีกิเลสครอบงำอยู่ มันมีเชื้อไขของมัน เหมือนคนเป็นโรคเป็นภัย เป็นโรคภัยไข้เจ็บ เห็นไหม ในตัวเรามีเชื้อโรค ในตัวจิตมันมีอวิชชา มันนอนเนื่องมากับจิต มันอยู่กับจิต มันเป็นอนุสัย มันอยู่กับจิต มันนอนเนื่องของมันมา สิ่งที่นอนเนื่องของมันมา แล้วเราไม่เห็นตัวมัน เราจะไปแก้ไขได้อย่างไร

โสดาบัน สกิทาคา อนาคา มันเห็นอาการของมันทั้งนั้นน่ะ เห็นสิ่งที่เป็นเปลือกมา ทำไมองค์สัมมาพุทธเจ้าขิปปาภิญญาทีเดียวจบ จบเพราะว่าตั้งแต่เปลือกกับตัวจิตมันเป็นอันเดียวกัน มันเกี่ยวเนื่องกัน เวลาสลัด สลัดหมดเลย ตั้งแต่โสดาบันถึงพระอรหันต์ พลิกทีเดียวจบไปเลย แต่ขณะที่เราเวไนยสัตว์ มันต้องเพิกต้องลอก ต้องถอนออกมา เป็นขั้นเป็นตอนเข้ามา แต่ถ้าเพิกถ้าถอนออกมาเป็นขั้นตอนเข้ามา มันทำของมันด้วยความรู้จริง ด้วยความเห็นจริงของมัน มันจะละ ชำระขาด ขาดเป็นสมุจเฉทปหาน มันจะไม่กลับมาสืบต่อ

สายบังคับบัญชาของกิเลสของพญามาร มันผ่านออกไปขันธ์นอกขันธ์ใน มันออกไปยึดเอาจากโลกนอกๆ เราถึงต้องใช้ทำสมาธิของเราเข้ามาให้มันหดสั้นเข้ามาจากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล มันหดสั้นเข้ามา หดสั้นเพราะอะไร เพราะเราตัดทอน เราตัดทอนด้วย สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรม

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมที่เกิดขึ้นมา สัพเพ ธรรม ธรรมที่เกิดมันสัพเพ มันทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่เราทำมันเป็นอันละเอียดนี่ มันทำขึ้นมา มันสภาวธรรม พอมันทำลายกันแล้วเห็นไหม ทั้งสภาวธรรม ทั้งตัวธรรม มันไปไหนหมด พอมันสัมปยุต วิปปยุต คลายตัวออกมาแล้ว ตัวจิตมันละเอียดเข้าไป ถึงที่สุดถึงไปเห็นจิต ตัวจิต มันจะรู้จักจิต

ถ้ามันปล่อยโดยไม่มีเหตุผล ไม่รู้จักจิต

ดูสิ ครูบาอาจารย์ที่ติดอยู่ ถึงว่า “พุทโธสว่างไสว พุทโธผ่องใส”

ผ่องใสคืออวิชชานะ พุทโธสว่างไสว พุทโธสว่างไสว พุทโธเป็นเรา เราเป็นพุทโธ ก็นี่ไง ในมหายานบอก เจอพุทธะที่ไหนให้ฆ่าพุทธะก่อน ถ้าไม่ได้ฆ่าพุทธะ...เพราะนี่ไม่เห็นจิตไง เราไม่รู้จักพุทธะ พุทธะสว่างไสว พุทธะผ่องใส ก็ไปถนอมพุทธะ ก็ไปถนอมอวิชชา ถ้าไปถนอมมันรู้จักมันไหม

ถ้าคนรู้จักมัน ดูสิ คนที่เราไม่รู้จัก เราเห็นแล้วเราจะรู้จักเขาไหม แต่ถ้าเป็นเพื่อนสนิทกับเรา คุ้นเคยกับเรา เราเห็นเรารู้คนนี้เป็นใคร คนนี้เป็นใคร แต่ถ้าเราไม่เคยเห็นใคร เราไม่รู้จักเขา เห็นก็คือเห็น ไม่รู้จัก ไม่รู้จักคือแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะไม่รู้จักก็ไม่มีสายสัมพันธ์ต่อกัน ไม่รู้จักก็ไม่สามารถจะศึกษาอะไรกันได้ ก็ไม่รู้จักกัน ก็เจอกันก็จากกันไป

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันปล่อยตัวมันเข้ามาแล้วมันเป็นตัวจิต ตัวจิต ถ้าจับมันไม่ได้ก็ไม่รู้จักมัน ถ้ารู้จักมันนะ อรหัตตมรรค ถ้าอรหัตตมรรคนะ จิตมันเป็นอย่างไร แล้วแต่ครูบาอาจารย์ที่จะเข้าไปสู่จิต ถ้าเข้าไปสู่จิตนะ ถ้าพิจารณากาย เห็นกายนอก กายใน กายในกาย กายของจิต

ถ้าพิจารณาจิต จิตสภาวะเป็นอย่างไร ตัวมันเป็นอย่างไร ถ้ามันเป็นนามธรรม แล้วเราเอาปัญญาอะไรไปจับมัน แล้วเอาปัญญาอะไรไปรอบรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นจิต สิ่งที่เป็นจิตเห็นไหม สิ่งที่เป็นจิต จิตนั้นคืออะไร จิตนั้นเปรียบเทียบมาเป็นธรรมเป็นอย่างไร ถ้าไปจับตรงนี้ได้ เห็นไหม การปฏิบัติธรรมสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน

ถ้าไม่มีสมถกรรมฐาน มันจะเข้าไปเป็นภาคปฏิบัติได้อย่างไร เพราะภาคปฏิบัติมันต้องมรรค ๘ มีสัมมาสมาธิ มีสัมมากัมมันโต ต้องงานชอบ เพียรชอบ สมาธิชอบ งานชอบ เพียรชอบ แต่สมาธิไม่ชอบ กำลังไม่ชอบ กำลังไม่เป็นไป เป็นไปได้อย่างไร

เพราะในอรหัตตมรรคนะ มรรค ๘ มรรคของอรหัตตมรรค อรหัตตผล อรหัตตมรรคเพราะศีล สมาธิ ปัญญา มันจะละเอียดมาก ละเอียดกว่าขั้นอนาคา ละเอียดกว่าขั้นสกิทา ละเอียดกว่าขั้นโสดาบัน นี่ไง การประพฤติปฏิบัติมันถึงมีลึกมีตื้น มีหยาบ-ละเอียด มีการเข้าไปต่อสู้กับกิเลส มันลึกตื้นหนาบาง การกระทำของมัน มันเป็นลึกตื้นหนาบางในขั้นของอริยภูมิแต่ละขั้น มันก็ลึกตื้นหนาบางต่างกัน ในการลึกตื้นหนาบางของขั้นอริยภูมิที่แต่ละชั้นๆ มันก็ต่างกัน มันต่างกันทั้งนั้น มันไม่เหมือนกัน

ทีนี้ไม่เหมือนกัน การกระทำของเรา ถ้าเราคิด หรือเราเข้าใจว่าการปฏิบัติเป็นอย่างนั้นๆ เห็นไหม เราสร้างขึ้นมา มันเป็นอะไร ไม่รู้จักอะไรเลย ไม่เป็นธรรมเลย

แต่ถ้าเป็นธรรม อรหัตตมรรคละเอียดขนาดไหน รู้จักจิต เห็นตัวจิต แล้วเข้าไปทำลาย...อรหัตตมรรค...อนาคา พระอนาคาละสังโยชน์ได้ ๕ ตัว เห็นไหม พระอนาคายังมีสังโยชน์ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา

รูปราคะ อรูปราคะ รูปฌาน อรูปฌาน นี่รูปอันละเอียด รูปราคะ อรูปราคะ ก็นามรูป รูปราคะ อรูปราคะ รูป อรูป มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สิ่งนี้มันละเอียดขนาดไหน นามรูปก็ตัวจิต มันเป็นตัวของมัน เดี๋ยวผ่องใส เดี๋ยวเศร้าหมอง เดี๋ยวพลิกแพลง เดี๋ยวอาลัยอาวรณ์อยู่ในตัวมันเอง อยู่ในตัวของมันเอง นี่รู้จักจิต เห็นตัวจิต

ตัวจิตอันละเอียด นี่ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธินะ ตายปั๊บไปเกิดบนพรหม เพราะอะไร นี่พระอนาคา มันยังไม่เห็นจิต ถ้ายังไม่เห็นจิต ไม่เห็นปฏิสนธิจิต ไม่เห็นฐีติจิต จะทำลายตัวจิตไม่ได้ ถ้าจะทำลายตัวจิต มันต้องรู้จักจิต แล้วต้องเห็นจิต

แล้วเห็น เห็นอย่างไร เห็นด้วยอะไร? เห็นด้วยอรหัตตมรรค อรหัตตมรรคเป็นอย่างไร แล้วไปเห็นอย่างไร นี่การเห็น การเห็นในการปฏิบัติมันเป็นคุณสมบัติของจิตแต่ละดวง มันไม่เหมือนกัน

แต่ขณะที่เราเอาพระไตรปิฎก มรรค ๘ ต้องเป็นอย่างนั้นๆๆ สิ่งนี้มันเป็นรูปแบบเกินไป รูปแบบเนื้อหาสาระการประพฤติปฏิบัติ มันเนื้อหาสาระของจิตแต่ละดวง เพราะอำนาจวาสนาของจิตแต่ละดวงมันไม่เหมือนกัน ถึงการเห็น การรู้ ในการประพฤติปฏิบัติในกรรมฐานเรา วิธีการขุดคุ้ยเข้าไปค้นคว้า ค้นหา หาเหตุ หาจำเลย แล้วในการใช้วิปัสสนา ใช้ปัญญาใคร่ครวญ มันถึงมีสมถะ วิปัสสนา

สมถะคือสร้างกำลัง แล้วสร้างเหตุสร้างผลเข้าไป เวลามันถึงวิปัสสนา มันใคร่ครวญของมันนะ นี่พอมันจับได้ อรหัตตมรรค เห็นจิต รู้จักจิต จับจิต แล้วตัวจิตนั้นคือตัวอวิชชา ตัวจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส แล้วจะข้ามพ้นกิเลสด้วยวิธีการอย่างไร นี่มันจะจับของมัน มันจะพิจารณาของมันถึงที่สุดแล้วมันพลิกไป

พลิกไปถึงที่สุด เห็นไหม จิตไม่มี เพราะจิตได้ทำลายแล้ว เพราะตัวจิตเป็นตัวภพ กิเลส ๓ กิเลสสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ ตัวภพ ตัวจิต ตัวจิตโดนทำลายแล้ว มันสะอาดไปแล้ว จิตไม่มี กลายเป็นธรรมธาตุ ถ้าจิตไม่มี พระอรหันต์มีไหม

นี่สูญ สูญอะไร? สูญไปจากกิเลส

ถ้าสูญไม่มีเลยเหรอ สูญจากกิเลสด้วย สูญแบบไม่มีด้วย...ไม่ใช่

สูญไปจากกิเลส สูญหมด แต่มี มีเพราะอะไร มีเพราะมันเป็นคุณธรรม เป็นคุณธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่ที่นั่น มีเหมือนไม่มี ไม่มีเหมือนมี สิ่งที่เป็นไปเห็นไหม นี่รู้จักจิตนะ

เราจะไม่รู้จักตัวเราเลย แล้วเราจะประพฤติปฏิบัติเข้าไป เราไปยึดในตำรา ทิ้งตัวเองไปยึดในตำรา ทิ้งตัวเองไปยึดประเพณีวัฒนธรรม ทิ้งตัวเองไง ประเพณีวัฒนธรรมเป็นการหล่อหลอมให้ชาวพุทธ เป็นการหล่อหลอมให้ผู้ที่ดำรงให้ศาสนามั่นคง เป็นการหล่อหลอมเข้ามาสู่การกระทำอย่างหยาบ ให้เข้าไปสู่การกระทำอย่างละเอียด ดูสิ ดอกไม้ ดอกไม้สวยงามมาก แต่กลิ่น ถ้ากลิ่นมันหอม กลิ่นมันมาจากไหน? มันมาจากเกสรดอกไม้ แล้วตัวดอกไม้ล่ะ ตัวดอกไม้นี่เดี๋ยวมันย่อยสลายไปแล้วมันก็เป็นแค่ขยะ แต่กลิ่นของมันล่ะ นี่ไง ความรู้สึกของใจ กลิ่นคือคุณงามความดี คุณงามความดี รูปแบบประเพณีวัฒนธรรมเป็นอย่างนั้น

สิ่งที่ทำมาเราก็ทำกับเขา แต่ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติ เรามีวุฒิภาวะแล้ว เรารู้แล้วไม่ทำ วางไว้ไง สงวนเวลาไว้ประพฤติปฏิบัติ สงวนเวลาไว้ไล่ต้อนจิต จิตมันจะออกตรงนั้นน่ะ เวลาไม่ภาวนานะ มันก็ต้องทำนั่นทำนี่ ทำนี่ทำนั่น มันจะออกตรงนั้นไง เราปิดกั้นมันซะ สิ่งที่เป็นประเพณีวัฒนธรรม...รับรู้ ถึงเวลาทำก็ทำ จริง จริงตามสมมุติ สมมุติมีจริง ถึงเวลาสมมุติมีจริง เรื่องของธรรมวินัยก็ต้องเป็นตามจริงนั้น แต่ถ้าเวลาปฏิบัติแล้วต้องให้ละเอียดเข้ามา

ธรรมและวินัยถึงที่สุดแล้วนะ นี่เป็นศาสดาของเรา ถ้าเราถึงแล้วนี่มันอยู่ที่ใจ ใจสัมผัสสิ่งนี้ได้นะ ใจเป็นความจริง รู้จักใจของตัวเอง ถ้ามันเป็นความจริง สิ่งที่ออกมา ใจกับจิตมันเป็นอันเดียวกัน เป็นแต่สมมุติต่างกัน สมมุติว่าเป็นใจ สมมุติว่าเป็นจิต ถ้าวิปัสสนาไป ถ้าไม่มีจิตไม่มีใจเราก็นั่งอยู่นี่ไม่ได้ สิ่งที่นั่งอยู่เห็นไหม ชีวิตถึงมีคุณค่าที่นี่ มีคุณค่าเพราะเรายังมีชีวิตอยู่ เพราะยังมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออกอยู่

ถ้าถึงที่สุดหมดอายุขัยนะ ถ้าไปเกิดเป็นเทวดามันเป็นโอปปาติกะ ถ้าตายไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ไปเข้าไปในครรภ์ ถ้าไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไปเกิดในน้ำครำ ไปเกิดเป็นตัวหนอนในน้ำครำ จิตมันไปทันทีนะ จิตนี้ไปทันที

แต่ถ้ารู้จักมันแล้วนะ พระอรหันต์จะอยู่อีก ๑ กัปก็ได้ จะอยู่เท่าไรก็ได้ เพราะอะไร เพราะจิต...พระอรหันต์มีธรรมนะ มีคุณธรรม เวลาตายนี่ธรรมเคลื่อนออกจากกาย นี่สอุปาทิเสสนิพาน พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่เห็นไหม มันรู้จักรู้เท่าหมด ไปไหนรู้หมด ถ้ารู้หมดแล้วนี่มันไม่ออก มันจะตายได้อย่างไร เว้นไว้แต่ถึงอายุขัย หมายถึงว่ามันหมดเวรหมดกรรม แล้วเรื่องของร่างกายไง แต่ถ้ามันถึงที่สุดมันก็ไปธรรมชาติของมัน มันไปตามธรรมชาตินะ ไม่ดึงไว้และไม่เร่งรีบ เพราะเร่งรีบมันก็เป็นการขับเคลื่อน เป็นความอยาก เป็นตัณหา

แต่สิ่งที่มันเป็นไปตามความเป็นจริง นี่คือการรู้จักมันแล้ว ถ้ารู้จักแล้วจะไม่มีความสงสัย รู้จักมันแล้วจะเข้าใจหมด แต่ถ้าเรายังไม่รู้จัก เราต้องยึดสมมุติ ยึดธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นแนวทาง ธรรมและวินัยเป็นศาสดานะ ชี้นำให้เราแก้ไขกิเลส ชี้นำให้มีการประพฤติปฏิบัติให้เข้าถึงที่สุด เป็นการชี้นำ แต่การรู้จริง การปฏิบัติจริงมันต้องเป็นของเรา

ดูพระสารีบุตรสิ พระสารีบุตรบอกว่า ไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เพราะศรัทธาความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ นี้ก็เหมือนกัน การชี้นำเป็นศรัทธาความเชื่อ ศรัทธาความเชื่อเป็นอริยทรัพย์ของมนุษย์ ถ้าไม่มีศรัทธา ไม่มีความเชื่อ เราจะไม่มีการกระทำ ไม่มีการค้นคว้าเหมือนที่ว่าติดไง ถ้าใจมันติดนะ มันจะไม่ทำอะไรเลย แค่เข้าไปเป็นมิจฉาสมาธิ มันยังว่าเป็นนิพพาน เห็นไหม มันติด มันเข้าใจของมัน มันสร้างภาพของมัน

นี้ก็เหมือนกัน ถ้าศรัทธา ศรัทธาแล้วศึกษา ศึกษาแล้วใคร่ครวญประพฤติปฏิบัติ การลองผิดลองถูก ลองมันไปเรื่อย ทำเรื่อย สิ่งนี้มันจะเกิดกับเรา มันจะเกิด มันเป็นการสอนจิตไปในตัว การสอน นี่ภาคปฏิบัติ มันก็เข้าไปประสบ มันเข้าไปสัมผัส สัมผัสสิ่งนั้น รู้สิ่งนั้น เห็นสิ่งนั้น

รู้โดยสมมุติไปก่อน รู้โดยการพยายาม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมที่มันยังเป็นอนัตตาอยู่ ยังเกิดยังดับอยู่ ยังหมุนเวียนอยู่ ยังเป็นอนิจจังอยู่ จนถึงที่สุดมันสมดุลของมันนะ มันเป็นความจริงของมัน ถ้ามันสมดุลของมันนะ สร้างเหตุแล้วผลไม่มีได้อย่างไร เรากำหนดพุทโธๆๆ โดยสติอยู่พร้อม มันจะไม่เป็นสมาธิได้อย่างไร ถ้าเป็นสมาธิแล้ว ถ้ามีการฝึกฝนมีการให้มันออกไป มันจะไม่เป็นวิปัสสนาได้อย่างไร

แต่ที่มันไม่ไป เพราะมันเป็นสมาธิแล้ว มันสงบแล้ว เข้าใจว่ามันเป็นวิปัสสนาไง ไม่ยอมให้มันไป ไม่ยอมมีสติยับยั้งไป คือไม่มีการควบคุมมันออก ไม่มีสติสัมปชัญญะควบคุมให้เป็นไปตามความเป็นจริง ความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น แต่เรารู้อย่างนี้ เราคิดว่ามันเป็นอย่างนี้ มันเลยไม่มีการหนุนเนื่องกันต่อไป ถ้ามีการหนุนเนื่องมันจะเป็นอีกสภาวะหนึ่งๆ สภาวะที่สูงขึ้นๆ สภาวะนะ สิ่งที่เป็นสภาวะเพราะมันเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา

สิ่งที่เป็นความจริงไม่เป็นสภาวะ ไม่ใช่สภาวะ มันเป็นธรรม เพราะมันไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันจะเป็นสภาวะได้อย่างไร โสดาบัน สกิทาคา อนาคา ไม่ใช่สภาวะ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันเป็นความจริงของมัน มันถึงเป็นอกุปปธรรมไง กุปธรรม-อกุปปธรรม นะ

สิ่งนี้เรายังมีชีวิตอยู่ ยังมีลมหายใจอยู่ ตั้งสติของเรา แล้วพยายามทำของเรา พยายามของเรานะ ความพยายามเป็นความเพียรชอบ ความเพียรชอบ

“เราจะล่วงพ้นกิเลสด้วยความเพียร”

ไม่มีทางไหนเลยที่เราจะชำระกิเลส เราจะต่อสู้กับกิเลสได้ ไม่มีทางไหนเลย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกแล้ว “เป็นผู้ชี้ทาง”

เราเป็นคนที่ประพฤติปฏิบัติ เราเป็นคนที่เห็นงาน เห็นทรัพย์จากภายใน เราเป็นชาวพุทธนะ แล้วพุทธศาสนาเห็นไหม ทำบุญกุศลขนาดไหนมันก็เป็นบุญกุศล ถึงที่สุดแล้วต้องมันมีการประพฤติปฏิบัติ มันต้องมีการกระทำ แล้วมันจะประสบความสำเร็จ เอวัง