เทศน์พระ

ใจพระ

๒๔ เม.ย. ๒๕๕๒

 

ใจพระ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฟังธรรมก่อน ถ้าคนมีสติ คนมีปัญญา อย่างว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ สรรพสิ่งนี้เป็นธรรมเพราะจิตนี้เป็นธรรม จิตใจเป็นธรรมมองอะไรก็เป็นธรรม อย่างเราถ้าเรามีความสุขมีความรื่นเริงในหัวใจ เรามองโลกนี้สวยงามมาก โลกนี้เป็นที่น่าอยู่มาก โลกนี้มีแต่ความสุขเลย แต่ถ้าเราทุกข์นะ จิตใจเราคับข้องอยู่ในใจ โลกนี้น่าเบื่อหน่ายมาก โลกนี้เดือดร้อนมาก โลกนี้ขัดข้องมาก

ถ้าใจคนเป็นธรรมแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านพูดว่า “ถ้าใจเป็นธรรม กำขี้มามันก็ดี ถ้าใจมันเลวมา กำเพชรมาเพชรมันก็เลว” มันเลวที่ใจ มันเลวที่หัวใจ เราทำจิตใจเราให้สงบนะ ตั้งใจ ใจนี่เป็นของที่มีคุณค่ามาก เราอุตส่าห์เห็นภัยในวัฏฏะ เห็นภัยในโลกแล้วเราหนีเขาออกจากโลกมา สังคมเขาให้โอกาสนะ

พระนี่บวชแล้วให้ศึกษา ให้ประพฤติปฏิบัติ ศึกษาก็ให้มีการเล่าเรียน เรียนเลย สำนักไหนที่ควรเรียน เรียนเลย ฝ่ายคันถธุระเขาปกครองดูแล จะโง่ๆ เซ่อๆ ซ่าๆ จะปกครองคนได้อย่างไร เราจะปกครองเขาใช่ไหม เป็นเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ ในการปกครองเขาก็ต้องมีวุฒิภาวะของเขา เขาก็ต้องรู้ที่มาของศาสนา ศาสนานี้มาอย่างไร วัฒนธรรมประเพณีนี้มาอย่างไร แล้วการดำรงในปัจจุบันทำอย่างไรต่อไป

นี่สถานที่ศึกษาก็ควรจะศึกษา ไม่ใช่ว่าเราจะปฏิเสธว่าคนเราเกิดมาต้องโง่ดักดาน ไม่ต้องเรียนหนังสือ ไม่ใช่! คนเราเกิดมามันก็ต้องมีการศึกษา แต่การศึกษาอย่างนั้นมันเหมือนการศึกษาทางโลก อยากเรียนแพทย์ อยากเรียนหมอ อยากเรียนวิศวะ อยากเรียนนิติฯ นั้นเป็นวิชาชีพ อาชีพของเขา เขาเรียนมาแล้วเขาใช้เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ในการปกครองเขาก็ต้องมีวุฒิภาวะ มีอาชีพของเขา มันก็เหมือนกับมีความรู้ของเขา ความรู้อย่างนี้เป็นความรู้ประจำโลก ความรู้ในศาสนาก็มีใบประกาศนียบัตรให้ แต่ความรู้ในพุทธศาสนา ความรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตใจร่มเย็นเป็นสุขไหม เรามีหลักมีเกณฑ์ในหัวใจไหม

ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ในหัวใจนะ โลกนี้รื่นเริงมาก โลกนี้สดใสมาก แล้วประพฤติปฏิบัติไปจิตมันมีความสงบไหม จิตมีความสงบขึ้นมา จิตมันมีความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าจิตใจเรามีความสงบ มีความร่มเย็นเป็นสุขซะบ้าง “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” เราได้ดื่มกินรสของธรรม เราจะเอาอาหารให้คนอื่นกิน แต่เราไม่มีอาหารให้เขากินเลย เราแนะนำอาหารให้เขาไม่ได้เลย เราจะเป็นคนสั่งสอนเขาได้อย่างไร

เราต้องมีอาหารนะ เราต้องมีความสัมผัสของใจ ใจได้สัมผัส ใจนี้มีคุณธรรมเห็นไหม ความสุขมันคืออะไร? ชีวิตนี้มันมาจากไหน? เกิดมาทำไม? แล้วเกิดมานี่มีคุณค่าอย่างไร? มีคุณค่ามาก ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด “ชีวิตของพระอรหันต์ที่สิ้นกิเลสแล้ว ความดำรงชีวิตอยู่หรือการตายไปก็มีค่าเท่ากัน”

การดำรงชีวิตอยู่ การเกิดและการตายมันไม่มี ถ้ามันตายไป เราอยู่ในปัจจุบัน เราอยู่ในการดำรงชีวิตอยู่ ถ้าตายไปมันก็เหมือนกับในปัจจุบันนี้ แล้วมันจะมีอะไรน่าตื่นเต้น เพราะจิตมันสิ้นกิเลสแล้ว แต่ความดำรงชีวิตอยู่มันเป็นประโยชน์มากกว่า

มากกว่าหมายถึงว่า คนอื่นเขาได้ชักนำเขาให้ทำคุณงามความดี ให้เป็นที่พึ่ง ให้เขาอบอุ่น ให้จิตใจของสัตว์โลกมีที่พึ่งที่อาศัย มีที่เกาะ อบอุ่นในจิตใจของเขา อยู่เพื่อสังคม อยู่เพื่อโลก ถ้าอยู่แล้วมีประโยชน์ก็อยู่ดีกว่า ถ้าอยู่หรือตายก็มีค่าเท่ากัน มันจะไม่มีอะไรตื่นเต้นไปกับสิ่งนี้อีกแล้ว

มนุษย์เรา ดูสิ ชีวิตนี้มาจากไหน เกิดมาทำไม แล้วเกิดมามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ตายแล้วไปจะไปไหน งงไปหมดเลยนะ

เขาบอกว่า “ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ”

มันไม่เป็นธรรมชาติหรอก เพราะใจเอ็งยังไม่เป็นธรรม! ถ้าใจเราเป็นธรรมขึ้นมา มันเป็นธรรมเหนือโลก มันไม่หมุนเวียนในวัฏฏะอีกแล้ว มันเข้าใจในวัฏฏะ จบสิ้นในกระบวนการของมันแล้ว

แต่ใจเรานี้เป็นขี้ข้า ถ้าใจมันโดนกิเลสข่มขี่อยู่ มันเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาไง ดูสิ ปัญหาที่เกิดขึ้นมาน่ะ ปัญหามีไว้ให้แก้ ถ้าเราแก้ปัญหา เรามีสติ เรามีปัญญาแก้ไขปัญหาสิ่งนั้นได้ เราแก้ปัญญานั้นได้ ถ้าเราไม่แก้ปัญหานั้น เรามีแต่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานั้น ปัญหานั้นก็จะใหญ่โตมากเลย

ชีวิตเราก็เหมือนกัน ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ใจนี้มันก็หมุนไปกับธรรมชาติ นี่วัฏวน ใจมันก็หมุนไปในธรรมชาติ มันเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาแล้วมันก็เวียนไปกับปัญหานั้น เรายับยั้งใจของเราไม่ได้

ถ้าเรายับยั้งใจของเราได้ เราเป็นผู้แก้ปัญหา ปัญหาชีวิตเกิดขึ้นแล้ว ปัญหาความทุกข์เกิดขึ้นแล้ว ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมา แล้วเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ตั้งสติเราให้ได้ ยับยั้งใจเราให้ได้ เราต้องทำใจเราให้มีความสุข

เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ศากยบุตร..เป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธชิโนรส..ได้รับศาสนานี้มา เป็นผู้ดำรงศาสนา ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นเจ้าของศาสนา

“มารเอย เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ของเรายังไม่เข้มแข็ง ยังไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ เราจะไม่ยอมปรินิพพาน”

จนพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว วางศาสนาไว้แล้ว ครูบาอาจารย์ของเรามารื้อค้นขึ้นมา ศาสนามันอยู่ที่ไหน ศาสนาอยู่ที่ไหน นี่วิ่งหาเห็นไหม ธุดงค์ไปทั่วเลย ธุดงค์ไปก็เพื่อหาใจเรา เพราะประสาพระเราถ้าธุดงค์ไปที่ไหนมันวิเวก ที่ไหนมันมีความสงบสงัด เราก็เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา รักษาจิต ธุดงค์ไปเพื่อค้นหาจิตใจตัวเรานะ ธุดงค์ไปเพื่อจะใช้ปัญญาของเราอบรมเข้ามา เพื่อให้เราเห็นกิเลส ให้เราเห็นความผิดพลาดในหัวใจ

ผิดพลาดหมด ความคิดผิดหมด! ความคิดเราที่ว่าปรารถนาดี ปรารถนาดีกับใคร ปรารถนาดีทำไมไม่ตั้งหลักขึ้นมาให้ได้ ถ้าปรารถนาดีขึ้นมาจิตต้องมีสมาธิขึ้นมา จิตต้องมีฐานขึ้นมา จิตต้องมีปัญญาขึ้นมา รักษาใจขึ้นมา นี่ล่ะยอดพระไตรปิฎก ที่เขาสวดยอดพระไตรปิฎก ยอดพระไตรปิฎกก็คือหัวใจนี่ไง

แล้วถ้าหัวใจนี้มันเป็นพุทธะ ก็เหมือนเราได้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า พุทธะคือความรู้สึกของเรา ใจเรามีความรู้สึก ใจที่มีความทุกข์อยู่นี่ สติสัมปชัญญะไล่ต้อนเข้ามา นี่หามันเจอแล้วทำความสะอาด เขาเรียกวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาคือปัญญาใคร่ครวญเข้าไป ทำความสะอาดหัวใจเข้าไป นี่ยอดพระไตรปิฏก เราทำของเรา

วันนี้เรามาลงอุโบสถกัน เรามาเข้าหมู่กัน หมู่ของเราต้องเข้มแข็ง หมู่ของเราต้องเจือจานกัน ต้องเสียสละต่อกัน ต้องพึ่งพาอาศัยต่อกัน หัวใจเขาหัวใจเรา จิตใจทุกดวง อยากทำแต่ความดี ไม่อยากทำความชั่ว อยากจะมีความสุข เกลียดความทุกข์ หัวใจทุกดวงใจเหมือนกัน

ถ้าทุกดวงใจปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ เราอย่าไปทำหัวใจดวงอื่นให้ได้รับความกระทบกระเทือนไปจากการกระทำของเรา ถ้าการกระทำของเราทำให้หัวใจดวงอื่นกระทบกระเทือน ดูสิ หัวใจเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก แล้วไปกระเทือนหัวใจ ไปกระเทือนสิ่งที่มีคุณค่า เพราะอะไร เพราะชีวิตนี้ทั้งชีวิตมันฝังไปกับชีวิตเรา ใครทำคุณงามความดีกับเรามันจะเห็นคุณประโยชน์ มันจะรักเขาตลอดชีวิตนี้ แล้วถ้าเราไปทำอะไรที่เป็นความบาดหมางในหัวใจคนอื่น มันจะอยู่ฝังใจเขาไปตลอดชีวิตนะ

ฉะนั้นสิ่งใดที่มันจะกระเทือนใจกัน อย่าทำ! เราก็ไม่ต้องการ เราปรารถนาแต่ความสุข เราต้องการให้คนทำดีกับเรา เราไม่ควรไปทำความกระทบกระเทือนกับใครทั้งสิ้น นี่กว่าที่มันจะไปกระทบกระเทือน มันไปจากไหน มันก็ไปจากกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรามันมีอยู่ มันขับดันในหัวใจมันก็จะไป เราต้องตั้งสติ เราถึงต้องอดนอนผ่อนอาหาร ต้องยับยั้งมันไง ถ้าเรารักตัวเราเอง เราต้องยับยั้งจิตใจของเรา

มโนกรรม แม้แต่คิดมันก็ออกเป็นมโนกรรมนะ วจีกรรม กายกรรม กรรมที่กระทบกระเทือนกันให้เข้าทางจงกรมซะ เวลากิเลสมันดันขึ้นมา หัวใจมันเร่าร้อนมาก มันอยากแสดงออก มันอยากจะไปทำลายคนอื่น บังคับมันให้เข้าทางจงกรม! บังคับมันให้นั่งสมาธิ บังคับหัวใจไม่ให้มันไป ไม่ให้มันคิด ไม่ให้มันทำ บังคับใจตัวเองให้อยู่ในทางจงกรม ให้อยู่ในการนั่งสมาธิภาวนา ฝึกหัดบังคับมันบ้าง หัวใจนี้หัดบังคับมัน ไม่ต้องการให้มันเป็นอิสรภาพมากนัก ให้มันมีสติสัมปชัญญะ บังคับมัน ดูแลมัน รักษามันให้ได้ ทำให้ได้ นี่ยอดไตรปิฎก

พระไตรปิฎก วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก ปิฎกคือตะกร้า ๓ ที่บรรจุคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ นี่ก็เหมือนกัน กิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรา มันอยู่ในหัวใจของเราแล้วให้ธรรมเข้าไป นี่พระไตรปิฎก ให้มันบรรจุธรรมไง ตะกร้า ตัวใจนี่ให้ได้บรรจุศีลธรรม ธรรมะที่เป็นสติธรรม ปัญญาธรรม สมาธิธรรม ให้มันอยู่ในหัวใจเราบ้าง พยายามรักษาให้หัวใจมันร่มเย็นเป็นสุข ให้หัวใจมันชุ่มชื่น เราต้องธุดงค์ไปเพื่อค้นหาจิตใจเรา

นี่ก็เหมือนกัน เรามาลงอุโบสถร่วมกัน เราต้องเดินทางมา เราต้องเข้าหมู่เรา เราเข้ามาก็เพื่อความสมานฉันท์ เพื่อความสามัคคี นี่เป็นสังฆกรรม มันเป็นกิจของสงฆ์ สงฆ์ของเราร่วมสามัคคีกัน ทำให้หมู่สงฆ์เจริญรุ่งเรือง หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เลิกประชุมพร้อมกัน ถ้ามีปัญหาในสังคมของใครเอามาช่วยเหลือเจือจานกัน ถ้ามีความสามัคคีในคารวะ ๖ ศาสนาจะมั่นคง

เวลาสงฆ์เขาอยู่ด้วยกัน ต่างคนต่างอยู่ วัตรอะไรก็ต่างคนต่างอยู่ แล้วก็บอกธรรมวินัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วนี่มีแต่ความว้าเหว่ มีแต่ความเร่าร้อนในหัวใจ ไม่มีใครดูแล การปกครองประชุมในสังฆาธิการ เขาประชุมกันเป็นหน้าที่การงานของเขา

แต่การประชุมของเราไม่เป็นอย่างนั้น การประชุมของเราลงอุโบสถ สังฆกรรมเพื่ออะไร เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของศีลของธรรม ของการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาในหัวใจมันจะสะอาดบริสุทธิ์จากเนื้อของใจ เนื้อของใจมันสะอาดบริสุทธิ์ได้มันต้องใช้ศีล ใช้สมาธิ ใช้ปัญญา เข้าไปไตร่ตรองมัน เข้าไปกรองสิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากออกมาจากใจ

ดูสิ เวลามันดันเข้ามาในหัวใจทุกคนรู้หมดนะ ทุกข์ไม่ต้องบอกว่าอยู่ที่ไหน ทุกคนทุกข์ทั้งนั้นล่ะ ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นสัจจะ ทุกข์เป็นความจริง ถ้าทุกข์ไม่เป็นสัจจะ ทุกข์ไม่เป็นความจริง เราหนีโลกมาเพราะอะไร เพราะอยู่กับโลกนี่ วัดมันเย็นแต่โลกมันร้อนนะ

ในสโมสรสันนิบาตทุกดวงใจว้าเหว่ อย่ามองโลกที่เขาเป็นปกตินี้เลย ในสโมสรในขณะที่เขากำลังมีงานเลี้ยงกัน รื่นเริงมีความสุขกัน ทุกดวงใจว้าเหว่ ขนาดในสโมสรสันนิบาตทุกดวงใจว้าเหว่ พระพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว แล้วมันจะมีอะไรเป็นที่พึ่งได้ มีอะไรเป็นที่น่าสนใจนัก มันมีอะไรน่าสนใจทางโลกนี่ เราเห็นว่าโลกนี้เป็นของร้อน เราถึงมาบวชเป็นพระ เป็นนักพรต เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เป็นผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร

คนที่เห็นภัย ดูสิ คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยเขาต้องไปหาหมอเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ของเขา นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรายังตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เรายังไม่ไปนอนจมอยู่กับกิเลสนะ ถ้านอนจมกับกิเลสชีวิตเราจะหมดไปวันๆ หนึ่ง นี่ชีวิตเราไม่หมดไปวันๆ พูดไว้เป็นสติสัมปชัญญะ ชีวิตเราจะไม่หมดไปโดยเปล่าประโยชน์ ชีวิตเราเป็นชีวิตนักรบ เราจะรบกับกิเลส รบกับตัณหาความทะยานอยาก

หน้าที่การงานเป็นข้อวัตรปฏิบัตินี่ ปฏิบัติเพื่อเป็นเครื่องอยู่ มัดใจไว้อยู่กับข้อวัตรปฏิบัติของเราเพื่อไม่ให้เป็นคนร้าง วัดร้าง ดูสิ เวลาเขามาติเตียนพระ ไปวัดไหนก็แล้วแต่ปล่อยให้วัดสกปรก โอ้โฮ ขนเต็มเลย ขนหมา ขนต่างๆ เป็นวัดสกปรก เป็นวัดร้างเห็นไหม

วัดเราไม่ร้าง เข้ามาที่นี่สะอาด นั้นน่ะมันเป็นพฤติกรรมของพระที่วัดนั้น ถ้าพระวัดนั้นมีข้อวัตรปฏิบัติวัดนั้นจะไม่ร้าง วัดมีพระอยู่ พระจะไม่ร้างเพราะพระมีข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าพระไม่มีข้อวัตรปฏิบัติในหัวใจเป็นพระร้าง! ไม่มีศีล ไม่มีธรรม ไม่มีข้อวัตรปฏิบัติในหัวใจ ไม่มีเครื่องอยู่แล้วมันก็ร้อน เราไม่มีเครื่องอยู่ข้างในมันว่างเปล่า มันจะเย็นได้อย่างไร

แต่ข้างในมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน คนมีหลัก คนมีจุดยืน มันจะไปตื่นเต้นอะไรกับโลกเขา ขนาดธรรมวินัยเป็นเครื่องอยู่มันก็มีหลักแล้ว ถ้ามันมีหลักขึ้นมาเราต้องตั้งใจของเรา เราทำความดีเพื่อเรา

ดูสิ ครูบาอาจารย์ท่านอยู่ในป่า เวลาท่านสวดมนต์ เทวดา อินทร์ พรหม โอ้โฮ อนุโมทนานะ มีความสุขมาก เพราะมีความร่มเย็นเป็นสุขจากธรรม เสียงธรรมจากหัวใจที่เป็นธรรมมีความรื่นเริง มีความอาจหาญ เวลาจะธุดงค์ต่อไปนะ โอ๋ เทวดานิมนต์อ้อนวอนให้อยู่ตรงนั้นเลย

เราอยู่ในป่า เราประพฤติปฏิบัติทำไมมันร่มเย็นเป็นสุขไปทั้ง ๓ โลกธาตุล่ะ แต่โลกเขาไม่เห็นไง โลกของเขาว่า “พระเห็นแก่ตัว พระไม่ทำงาน เดินจงกรม เดินไปเดินมาไม่เอาอะไรเลย”

ไม่เอาอะไรเลยน่ะเอา เอาตัวเองไง เอาศีลเอาธรรม เอาคุณธรรมในใจ แต่โลกที่เขาแสวงหากัน ที่ว่าเขาจะได้ เขาจะไม่ได้อะไรเลย เพราะอะไร เพราะสิ่งนั้นมันเป็นวัตถุ เขาจับต้องเป็นสิ่งใดจะไม่มีสิ่งใดติดไม้ติดมือเขาเลย

แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเรา อย่าให้โลกติเตียน แล้วอย่าเอาคำติเตือนของโลกมาทำลายอุดมคติของเรา ใครจะติเตียน ใครจะว่ากล่าวอย่างไร มันเป็นความมืดบอดของจิตใจเขา จิตใจเขามืดบอดขนาดไหน เขาปรารถนาในความมืดบอดของเขา เขาจินตนาการของเขา มันไม่เป็นความจริง

เรามีศาสดา เรามีธรรมวินัยเป็นที่พึ่ง เรามีข้อวัตรปฏิบัติเป็นที่พึ่ง เราไม่ต้องหวั่นไหวไปกับโลก โลกเขาจะหวั่นไหว โลกเขามีความเห็นอย่างไร มันเรื่องของโลก เราจะไม่หวั่นไหวไปกับเขา เรายึดธรรมวินัยของเราไว้กับเรา ให้เราไม่เป็นคนวัตรร้าง เป็นพระแล้วมีข้อวัตรปฏิบัติ

คนโง่เขาก็ว่าเขาก็ติเตียนของเขาไปตามประสาคนโง่ คนโง่ก็พูดไปมันมีอะไรมีผลเป็นความจริงไหม

แต่คนฉลาดสิ คอยบอกเรา ดูสิ เข้าไปในวัด วัดนี้น่ารื่นรมย์ไหม มันฟ้องถึงคนอยู่ ถ้าคนอยู่ดูแลรักษา วัดนี้ พระที่อยู่วัดนี้มีข้อวัตรปฏิบัติ วัดนี้เป็นความร่มเย็นเป็นสุข มันเป็นที่ไว้วางใจได้ เป็นที่พึ่งอาศัย เขาก็อุ่นใจ เราก็อุ่นใจ แต่ถ้าเราไม่อุ่นใจตั้งแต่เริ่มต้น ใครจะอุ่นใจไปกับเรา ถ้าใจของเราพึ่งไม่ได้จะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง แล้วพึ่งได้มันพึ่งมาจากไหน สิ่งที่ทำอยู่นี่ มันจะเป็นประโยชน์มาจากไหน

ถ้าเราไม่มีครูมีอาจารย์ที่ท่านแสวงหามาให้นะ เราจะไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นความดี อะไรเป็นความชั่ว แต่ถ้าเรามีครูมีอาจารย์นะ ดูสิ ดูเด็กกว่ามันจะโตมาได้ พ่อแม่สอนมาขนาดไหน พ่อแม่ดูแลมาขนาดไหน ยิ่งเด็กอ่อนพ่อแม่ยิ่งถนอมรักษา เพราะสมองมันเริ่มจะจดจำ

นี่ก็เหมือนกัน เราบวชใหม่ ผู้บวชใหม่เข้ามา ภัยของภิกษุที่บวชใหม่คือทนคำสอนได้ยาก เวลาหมู่คณะพระคอยบอกจะอึดอัดขัดข้องไปหมดเลย ว่าทำไมคอยบอก นี่ไง มันเด็กใหม่ไง จิตใจยังอ่อน จิตใจยังใหม่อยู่ จิตใจยังอยู่กับโลก ยังเป็นนิสัยของโลก

นิสัยของสมณะสารูปควรทำอย่างใด เราบอกกัน เราดูแลกัน เราจะส่งต่อศาสนาให้มั่นคงกัน ส่งต่อศาสนาจากภิกษุ จากพระที่มีอายุพรรษาส่งต่อมาๆ แล้วเราก็จะมีอายุพรรษามากขึ้นไปโดยธรรมชาติ แล้วเราจะเป็นหลักเป็นเกณฑ์ของศาสนา เราจะไม่เป็นคนร้าง เราจะไม่ใช่ภิกษุหัวโล้นเฉยๆ ภิกษุหัวโล้นมันต้องมีธรรมวินัยประจำหัวด้วย ประจำตัวเราด้วย เห็นไหม เราส่งต่อกัน

นี่ศาสนามั่นคงไหม ศาสนามั่นคงจากภายนอก มั่นคงจากธรรมวินัย ศาสนามั่นคงจากหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรามันรื่นเริงอาจหาญ มันเคารพบูชานะ ถ้าไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเกิดมาแล้วในวัฏฏะเราจะเวียนไปอย่างนั้นเหมือนคนอยู่กลางทะเล คนอยู่กลางมหาสมุทร แล้วเจอคลื่นลมไม่มีทางไปเลย แต่เราเกิดมาอยู่กลางทะเล อยู่กลางคลื่นลมขนาดไหน เรามีแพ มีเรือ มีธรรม มีวินัย มีศาสนาเป็นที่พึ่ง เราพยายามช่วยเหลือตัวเอง เอาตัวเองให้รอดได้ ถ้าเอาตัวเองให้รอดให้ได้แล้วจากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่งนะ

ในการประพฤติปฏิบัติของเราแต่ละครั้งแต่ละคราวขึ้นมา ในการนั่งสมาธิภาวนา มันได้มาง่ายๆ เหรอ เราตั้งใจเราจริงจังกับเรานะ ถ้าไม่จริงจังกับเรานั่งสมาธิไปมันเหมือนหัวตอ ดูสิ ดูพระพุทธรูป ดูรูปเคารพที่เขาปั้นเอาไว้ มันนั่งทั้งวันทั้งคืนเลย มันรู้อะไรบ้าง

เรานั่ง เรามีชีวิต เรามีความรู้สึก เรามีความเจ็บปวด เรามีความขบเมื่อย เรามีทุกอย่างพร้อมเลย มีเพราะอะไร มีพร้อมเพราะมีชีวิต มีพร้อมเพราะมีหัวใจไง หัวใจที่มันเคยสะดวกสบายของมัน พอเรานั่งสมาธิภาวนา เราเคารพบูชา เราปฏิบัติบูชา เราเอาบุญกิริยาวัตถุ กิริยาที่เป็นความอิสรภาพของเรา เราบังคับให้เป็นท่านั่งเพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” เราบูชาองค์ตถาคต เพราะเราเคารพศรัทธาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่เวลาบูชาไปแล้วนี่ พุทธะในหัวใจของเรามันรู้ขึ้นมา มันมีความสงบของมันเข้ามา มันมีความสุขเข้ามา ดูสิ เรามีที่พึ่งใช่ไหม เรามีเรือ มีแพ เพื่อจะประคองชีวิตนี้ไป เราตั้งสติของเรา เรามีสมาธิของเรา เรามีคำบริกรรมของเรา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรา

เรามีกิจกรรมของเรา จิตใจมันมีงานทำของมัน เราไม่ใช่คนเร่ร่อนนะ เรามีหน้าที่การงานของเรามหาศาลเลย งานของเราคือเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา เอาความคิด เอาความฟุ้งซ่านออกไปจากใจให้ได้ แล้วสร้างปัญญาของเราขึ้นมา ปัญญาไม่เกิดเอง ปัญญาเกิดเองไม่ได้ ปัญญาต้องเกิดจากการฝึกฝน

การฝึกฝน โลกุตตรปัญญา โลกียปัญญา สัญญา สังขาร มันปรุงแต่งโดยธรรมชาติของมัน เกิดดับ.. เกิดดับ.. นี่ปัญญาโลกทั้งนั้นน่ะ ปัญญาของกิเลส เวลาว่าเป็นปัญญาก็ปัญญาของกิเลส กิเลสเอามาฟาดฟันเรา เวลากิเลสเกิดขึ้นมาตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรึกในธรรมๆ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติจะเข้ามาในหัวใจเราเอง ธรรมะมันจะผุดขึ้นมาในหัวใจเอง นี่ไงปัญญากิเลสทั้งนั้นเลย!

ธรรมผุด.. ธรรมผุด.. เวลาธรรมผุดมันเกิดจากอำนาจวาสนา ดูสิ ดูเวลาหญ้ามันเกิดสิ ต้นไม้ที่มันเกิดมาจากดิน ถ้ามันมีเมล็ดพันธุ์พืชอยู่ มันโดนฝนมันก็จะงอกขึ้นมา ความคิดมันงอกมาจากใจ ธรรมมันผุดขึ้นมา ธรรมมันผุดขึ้นมา มันผุดขึ้นมา มันเกิดมาจากดินใช่ไหม หญ้า วัชพืชเกิดมาจากดิน มันผุดขึ้นมา

แต่อริยสัจเราไม่ต้องการ! เราต้องปรับพื้นที่ เราจะถางหญ้า เราจะปรับพื้นที่ของเรา เราจะปลูกพืชของเรา เราจะปลูกต้นไม้ของเรา ปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารที่ไว้สำหรับกิน สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันของเรา

นี่เหมือนกัน เราตั้งสมาธิ เราทำปัญญาขึ้นมา มันเป็นอริยสัจ มันเป็นความจริง เราได้ตั้งสติถากถางขึ้นมาเพื่อให้จิตสงบเข้ามา พอจิตมันสงบเข้ามา ถ้าเราไม่เกิดวิปัสสนาขึ้นมามันจะเกิดปัญญาได้อย่างไร จะมีอะไรงอกงามขึ้นมาในหัวใจของเรา เวลาธรรมมันผุดขึ้นมามันเป็นความคิดเฉยๆ มันเป็นความรู้สึก ว่าเกิดขึ้นมามันมีธรรมเกิดขึ้นมาตอบสนองในหัวใจ อ้อ..อ้อ..

พอมันตอบสนองไปแล้ว มันเกิดขึ้นมามันดับไปแล้ว อยากได้ อยากเป็น อยากอย่างนั้นอีก นั้นน่ะกิเลสเกิดแล้วนะ มันไม่เกิดมันก็อยากได้ อยากให้มันเป็น ทำความสงบของใจเข้าไปเพื่อจะให้มันเป็นอีก แล้วมันจะเป็นไหมล่ะ เพราะอะไร เพราะมันเป็นสมถะ มันเป็นอำนาจวาสนาของแต่ละบุคคล

ดูสิ ดูบางพื้นที่เป็นหญ้าคามันเกิดขึ้นมาแล้ว โอ้โฮ มันรกชัฏไปหมดเลย บางพื้นที่เป็นหญ้ารกเห็นไหม ไปดูสนามกอล์ฟซิ หญ้าเขาเขียวเลยน่ะ เขาปลูกของเขาเพื่อประโยชน์ของเขา นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นโลกียปัญญามันเป็นประโยชน์กับโลก แต่ถ้ามันเป็นพืชพันธุ์ธัญญาหาร มันเป็นต้นไม้ มันเป็นข้าว เป็นอาหารของเรา

อาหารของใคร? อาหารของใจ เพราะใจมันลิ้มรสของธรรม ปัญญามันเกิดเห็นไหม ถ้าจิตมันสงบเข้ามาย้อนออกรู้ธรรมารมณ์ ธรรมะคืออารมณ์ ความคิด ธรรมารมณ์ ธรรมะเห็นไหม ความคิด ถ้ามีสมาธิมันมีพื้นฐาน เวลาเกิดขึ้นมาเป็นธรรมารมณ์ เป็นสติปัฏฐาน ๔

วิปัสสนาจะเกิดจากสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม สภาวธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสภาวธรรมใครเป็นคนเห็น ถ้าจิตมันเป็นคนเห็น จิตมันจับต้องได้ มันใช้ปัญญาใคร่ครวญเข้าไป นี่ไงโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่จะฝึกฝน ปัญญาอย่างนี้ไม่เกิดเอง ถ้าปัญญาอย่างนี้เกิดเองฤๅษีชีไพรเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไม่มีใครหลงเลย จะเข้าเป็นพระอรหันต์หมดเลย

แต่มันไม่เกิดสิ เวลามันเกิดขึ้นมามันตรึกในธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วเกิดกิเลสของเราบวกเข้าไป เรารู้ เราเห็น เราเข้าใจ เราบรรลุธรรม มันไม่ใช่ นี่ไง เวลาปฏิบัติขึ้นมากิเลสมันก็สอดเข้ามาด้วย เพราะอะไร เพราะมันไม่มีสมาธิ เพราะจิตมันไม่มั่นคง เกิดปัญญาขึ้นมาก็เป็นปัญญากิเลส นี่โลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากกิเลส ปัญญาเกิดจากใจ

แต่ถ้ามันเป็นโลกุตตรปัญญา ปัญญาเกิดจากใจเหมือนกัน แต่ใจนี้.. ใจนี้.. มันได้ปรับพื้นที่ มันไม่มีหญ้า ไม่มีสิ่งใด ไม่มีพืชที่เป็นพิษขึ้นมาทำลายข้าวกล้าของเรา แต่ถ้าเราไม่รักษาข้าวกล้าของเรา ปัญญาที่มันจะเกิดกับเรามันจะสู้วัชพืชไม่ไหว มันจะเลี้ยงตัวเองไม่ได้

นี่เหมือนกัน ปัญญาที่มันเกิดขึ้นกับเรา ปัญญาที่เราใช้วิปัสสนา มันต้องฝึกฝน มันต้องถนอมรักษา ถ้าเรามีพื้นฐานมาตั้งแต่วัดไม่ร้าง วัดมีพระอยู่ พระไม่ร้างจากข้อวัตร เพราะพระมีข้อวัตรเป็นที่อาศัย นี่ไงมันจะมั่นคง มันจะอาจหาญของมัน สติสัมปชัญญะมันจะสมบูรณ์ เวลาทำงานขึ้นไปหรือเราทำอะไรขึ้นไปเพราะจิตใจเราวางพื้นฐานมาดี การประพฤติปฏิบัติเราก็จะมีคุณค่าใช่ไหม

เวลาว่าจิตเสื่อม.. จิตเสื่อม.. จิตมันเสื่อมมาจากไหนล่ะ มันจะมีให้เสื่อมไหมล่ะ ถ้าจิตเราไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาเลย จิตมันมั่นคงก็ไม่มีอะไรเสื่อมไปเลย แต่ถ้าเราสร้างของเราขึ้นมา ถ้าจิตเสื่อมมันเป็นเรื่องธรรมดานะ เพราะอะไร เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้ สัพเพ ธรรมา อนัตตา สภาวะทุกอย่างมันเป็นอนัตตา มันเป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา

ความทุกข์ในหัวใจ ความขัดข้องหมองใจ มันก็เป็นอนัตตาโดยธรรมชาติของมัน แต่ไม่มีใครไปรู้ไปเห็น เพราะอะไร เพราะไม่มีใครเอาสิ่งนั้นมาเป็นประโยชน์ เพราะชีวิตนี้คืออะไร ชีวิตนี้คือการเกิดนะ เกิดมาดำรงชีวิตอยู่แล้วก็ตายไป

แต่ในชีวิตมันมีความทุกข์ มันมีความเป็นอนิจจัง อารมณ์ก็เป็นอนิจจัง ชีวิตก็เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งก็เป็นอนิจจัง มันเป็นสมมุติ จริงตามสมมุติที่มันเกิดขึ้นมา แต่จิตมันไม่มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา ทุกอย่างเป็นเรา เราก็อยู่กับมันไป จนมันสิ้นอายุขัยไปเป็นชาติหนึ่ง โดยที่เราไม่ได้ประโยชน์สิ่งใดกับมันเลย

แต่พอเราทำความสงบของใจขึ้นมา ใจเริ่มสงบ ใจเริ่มมีหลักเกณฑ์ขึ้นมา สิ่งนี้มันเกิดมาจากจิตเพราะจิตมันเป็นเอง ดูสิ จิตมันแก่กล้า เวลาเข้าสมาธิเห็นไหม เริ่มจากขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ สมาธิมันมีหยาบ มีละเอียดแตกต่างกันไป แล้วถ้ามันมีการดูแลรักษาเห็นไหม เราดูแลจากข้อวัตรจากข้างนอก เรารู้แต่ว่าข้อวัตรทำทุกวัน สมาธิการภาวนาเราก็ทำอยู่ทุกวัน เราตั้งสติทุกวัน เราดูแลรักษาทุกวัน ความชำนาญ การดูแลรักษา พอดูแลรักษาสมาธิมันก็มั่นคง มันก็ตั้งมั่น พอตั้งมั่นขึ้นมาสิ่งนี้พื้นฐานที่มันดี นี่ไง มันไม่เสื่อมเพราะเรามีสติ เรามีที่มาที่ไป

ไม่ใช่ว่ามันส้มหล่น ฟลุ๊กไปวันๆ หนึ่ง เดี๋ยวก็รวมทีหนึ่ง เดี๋ยวก็เป็นทีหนึ่ง แล้วก็รอแต่จะให้ส้มหล่นๆ แล้วส้มนี่มันจะหล่นให้บ่อยๆ เหรอ

แต่ถ้าเราทำของเราเอง ไม่ต้องรอส้มหล่น ดูสิ เรามีพื้นนา เรามีเมล็ดพันธุ์พืช เรามีทุกอย่างพร้อม มีปุ๋ย เราจะมีข้าวกินตลอดชีวิต เราได้ไถ ได้หว่าน ได้ปลูก ได้ทำของเรา เราจะมั่นคงในชีวิตของเราไหม เรามีสติสัมปชัญญะ เรามีคำบริกรรม เรามีปัญญาอบรมสมาธิ เรารักษาของเราตลอดเวลา

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” สมาธิก็เกิดขึ้นมาจากเรามีสติ เรามีคำบริกรรม เรามีการรักษา เรามีเหตุผล เหตุพร้อมแล้วผลมันก็เกิดขึ้นมาเป็นธรรมชาติของมัน เราฝึกฝน เราหาความชำนาญของเรา แล้วเราออกใช้ปัญญา ออกใช้วิปัสสนาไปเพราะเรามีพื้นฐานที่เป็นสมาธิอยู่แล้ว

เรามีพร้อมทุกอย่างแล้วมันจะไม่มีสารพิษ ไม่มีกิเลสเข้ามาเจือปน พอออกไปวิปัสสนาเกิดเป็นปัญญาขึ้นมา อบรมให้ปัญญาเรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา นี่ไง เราหัดฝึกฝน เราหัดปัญญาของเราขึ้นมา พื้นฐานเรามีขึ้นมา เราทำจากพื้นฐานขึ้นมา แล้วพอมันต่อยอดขึ้นไป เราทำของเราขึ้นไป นี่ไงศากยบุตรพุทธชิโนรส

เราเป็นบุตรองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามีธรรมวินัยอยู่ในหัวใจของเรา เรามีหลักมีเกณฑ์ในหัวใจของเรา ศาสนามันเจริญในใจของสัตว์โลกนะ ศาสนาไม่เจริญจากข้างนอก ศาสนาไม่เจริญจากคำเยินยอของใคร ศาสนาไม่ได้เจริญจากยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ใครจะแต่งตั้งให้ ยศฐาบรรดาศักดิ์พอตายไปแล้วเขาก็เอาคืน เขาเอาไปแต่งตั้งให้คนใหม่แล้ว

คนไหนตายปั๊บเขาเอายศคืนเลย แล้วก็ไปตั้งใหม่ ยศนั้นเป็นของเราไหม ยศตายไปกับเราไหม ไม่มีใครเอาสรรพสิ่งนี้ตายไปกับเราเลย ไม่มี! มีแต่ความดีความชั่วในหัวใจ มีแต่คุณงามความดีของเราไปกับเรานะ แล้วจิตใจเราวิปัสสนามันจะมีคุณธรรมในหัวใจไหม สิ่งนี้เป็นสมบัติของเรา มันจะไปกับเรา! เป็นของเรา!

เวลาเป็นธรรมะขึ้นมา สมาธิก็เป็นสมาธิของเรา ปัญญาก็เป็นปัญญาของเรา ถ้าเป็นคุณธรรมที่มันวิปัสสนาไปจนมันถึงที่สุด สมุจเฉทปหาน กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์

โสดาบันมันก็เป็นโสดาบันของเรา ในตำราบอกว่าพระโสดาบันเป็นอย่างนั้นๆ พระสกิทาคามีเป็นอย่างนั้นๆ พระอนาคามีเป็นอย่างนั้น พระอรหันต์เป็นอย่างนั้น ถ้าเราเป็นเองหมดเลย มันต้องมีตำราบอกไหม? ตำราต้องมีป้ายบอกว่าเป็นพระโสดาบันเป็นอย่างนั้นๆ เหรอ พระอริยบุคคลต้องมีป้ายแขวนคอใช่ไหม

พระอริยบุคคลไม่ต้องมีป้ายมาแขวนคอ มันเป็นในหัวใจ แล้วหัวใจนั้นพูดได้ รู้ได้ เป็นที่เคารพบูชาของสังคมเรา สังคมเราเคารพบูชานะ เพราะอะไร เพราะเราต้องการครูบาอาจารย์ที่คอยชี้นำเรา เราต้องการครูบาอาจารย์คอยบอกความถูกความผิดของเรา เราทำสมาธิไปถูกหรือผิด ใช้ปัญญาออกไปแล้วถูกหรือผิด การดำรงชีวิตอย่างนี้ถูกหรือผิด

ดูสิ ดูวงการแพทย์ การดำรงชีวิตของสัตว์โลก การดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นน่ะ มันจะให้ผลถึงที่สุดเกิดโรคภัยไข้เจ็บอย่างไร ก็เพราะการดำรงชีวิตของเขา ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน ถ้าใช้ชีวิตอย่างนี้ ถ้าไม่ตั้งสติ ไม่รักษาใจของเรา ต่อไปพอกิเลสมันแก่กล้าขึ้นมา มันจะบีบบี้สีไฟในหัวใจของเราแล้วเราจะทุกข์มาก

แต่ถ้าเราพยายามต่อต้าน พยายามรักษาของเราตั้งแต่เริ่มต้น การดำรงชีวิตที่ถูกต้อง การอยู่ในธรรมอยู่ในวินัย การดำรงชีวิตที่ดี จิตใจมันจะไปไหนล่ะ เรารักษาใจของเราที่ดีขึ้นมา ผลของมัน จิตใจนี้ก็ต้องงอกงาม จิตใจนี้ก็มีคุณงามความดี นี่เราต้องการครูบาอาจารย์คอยบอกคอยชี้เราเพราะเราเป็นเด็กน้อย อายุมากนี่แหละ แต่หัวใจมันเหมือนเด็กอ่อน มันไม่มีใครคอยบอกมัน ไม่มีใครคอยดูแลรักษามัน เราต้องวางพื้นฐานรักษาใจของเราให้ได้ แล้ววางพื้นฐานของเราให้ดีขึ้นมาเพื่อประโยชน์กับเรา

ศาสนามั่นคงๆ ที่นี่ มั่นคงในหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มันรู้จริงขึ้นมาจากหัวใจของเรา ถ้าหัวใจเรามีหลักมีเกณฑ์ ดูสิ มองไปทางไหนมีแต่พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มองไปทางไหนมีแต่พระที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ เราอยู่ในสังคมที่มีความอบอุ่น เราจะมีความสุขไหม เราอยู่ในสังคมที่ไว้ใจกันได้

ถ้าเราไว้ใจใครไม่ได้แล้วความรู้สึกเราจะเป็นอย่างไร เราอยู่กันด้วยความหวาดระแวงเหรอ ดูสิ เวลาเรามหาปวารณาในวันออกพรรษา มีสิ่งที่มีความขาดตกบกพร่องให้ติเตียนกัน ให้บอกกัน นี่เป็นอริยประเพณี ประเพณีของพระอริยเจ้า ใครถูก ใครผิด ให้เตือนกัน ให้บอกกัน คนที่ผิด คนที่ได้รับการเตือนต้องฟังเหตุฟังผลว่ามันถูกหรือมันผิด นี่ไงอริยประเพณี ประเพณีของโลก ดูสิ ถึงหน้าฤกษ์กติกา เขาทำประเพณีกัน เขาทำบุญกุศลกัน เราเป็นพระ เราเป็นอริยสาวกนะ เราเป็นสาวก อริยประเพณีเพื่อประโยชน์กับเรา

เราเป็นที่พึ่งของสังคมใช่ไหม เป็นพระ เป็นสงฆ์ เป็นที่เคารพบูชาของสังคมเขา สังคมเขาอยากได้ธรรมจากพระ ประเพณีวัฒนธรรมของโลกเขา เราเป็นอริยประเพณี เราต้องสมานสังคมนี้ให้ความช่วยเหลือเจือจานกัน เพื่อความมั่นใจ เพื่อความอบอุ่นของใจ เราทำเพื่ออนุชนรุ่นหลังนะ

จะมีพระเข้ามาบวช แล้วอายุพรรษาเราก็จะเจริญขึ้น แล้วเราจะต้องเป็นผู้นำไปข้างหน้า เราจะต้องมีหลักมีเกณฑ์ของเรา ผู้นำที่ไม่มีหลักมีเกณฑ์จะเอาอะไรไปนำใคร ตัวเองยังรักษาตัวเองไม่รอดแล้วจะไปนำใคร เราจะนำคนอื่นเราต้องรักษาตัวเองเอาไว้ให้รอด แล้วเราจะนำคนอื่นได้ เราจะพึ่งพาอาศัยกัน

เราบอกว่า “เราบวชมาแล้วเราไม่ต้องการเป็นผู้นำใคร เราอยากบวชมาเพื่อจะพ้นจากทุกข์”

ก็จริงอยู่.. แต่ในเมื่อสังคมมันเป็นสังคมด้วยกัน มันก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันเห็นไหม ไม้ซีก ไม้แขนง แขนงไม้ไผ่ ถ้าเอามารวมกันมันก็มั่นคง เราไม่ต้องการเป็นผู้นำ แต่เราอยู่ในสังคมของเรา ต่างคนต่างเป็นคนดี สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์กับสังคมกับศาสนา เพื่อศาสนา เพื่อเรานะ

ดูสิ ถ้าเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีก็มีความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีน่ะ ประชาชนเขายังเดินขบวนต่อต้าน ไม่ต้องการสิ่งทำลายสังคมของเขา นี่สังคมสงฆ์ สังคมพระเรานะ เราต้องตั้งสติ เราต้องมีธรรมวินัยในหัวใจ เพื่อประโยชน์กับสังคมของเรา เอวัง