ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จงกรม

๒๗ ก.พ. ๒๕๕๓

จงกรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


พระพุทธเจ้าท่านสำเร็จก่อน ทำตัวท่านได้ก่อนท่านจึงมาสอนคน แล้วมันจะไม่ผิดพลาด แต่นี่เราอยู่กันแล้ว หลวงตาท่านบอกว่า นกยังมีรัง นกยังมีรวงมีรังที่อาศัยแล้วเราอยู่กันมันก็ต้องมีรวงมีรัง แต่มีรวงมีรังเพื่ออาศัยเท่านั้นเอง หลบแดดหลบฝน ฉะนั้นสิ่งนั้นมันก็ต้องดูแล แล้วพอครูอาจารย์ท่านเป็นแล้วเนี่ยท่านจะวางข้อวัตรไว้

อย่างเช่น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนนิสัยอย่างไร คนนิสัยดีหรือนิสัยไม่ดี ดูความเป็นอยู่ของเขานั้นแหละ ถ้าความเป็นอยู่ของเขาเรียบง่าย ความเป็นอยู่เขาดีขึ้นมาเพราะใจเขาดี ถ้าสิ่งที่อยู่อาศัยของเขามันสกปรกนี่ไงข้อวัตร ตรงนี้ไง ข้อวัตรนี้มันเป็นการฝึกคนอีกชั้นหนึ่งแต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสะอาดบริสุทธ์แล้วค่อยออกมาสอนธรรมมันไม่ผิดพลาด แต่พวกเรามันมืดตึ๊ดตื๋อ แล้วพยายามจะทำให้มันสว่างขึ้นมามันก็ต้องมีข้อวัตรปฏิบัติ เพื่อจะฝึกดัดแปลงใจตัวเอง

การฝึกดัดแปลงใจตัวเองมันก็ต้องมีข้อวัตรนี่แหละ นี่ความเป็นอยู่ของสังคมนะมันมากขึ้นมันก็ต้องมีนานาจิตตังก็ต้องวางใจ ใจเขาใจเราถ้าสำหรับกรรมฐานเราเนี่ยทุกครูบาอาจารย์สอนให้กลับมาดูใจเรา ดูหัวใจเราสิ่งที่กระทบกระเทือนขึ้นมา เรานี่สั่นไหวแค่ไหน สิ่งที่ขัดแย้งกับใจเรามันสั่นไหวแค่ไหน ดูที่นี้ แต่ถ้าเป็นโลกเห็นไหม สิ่งที่ขัดแย้งคือประเด็น ประเด็นเกิดจากวัตถุนั้น เราต้องมาแก้ไขที่วัตถุนั้นให้จบที่วัตถุนั้นเราก็สบายใจ แต่ถ้าเป็นประเด็นทางธรรม วัตถุนั้นมันแปรสภาพเป็นธรรมดา มันเคลื่อนไหวไปตามแต่คนชอบหรือไม่ชอบมัน แต่หัวใจเราสั่นไหวไปกับมัน

หลวงตาท่านสอนให้กลับมาดูใจเรา มาแก้ไขที่ใจเรา เห็นไหมวัตถุนั้นมันทำให้ใจมันไปกระเพื่อม กระเพื่อมเพราะเหตุวัตถุนั้น แล้วก็ย้อนกลับมาที่ใจของเรา ในการประพฤติปฏิบัติ พระปฏิบัติเราเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเครื่องอยู่อาศัยถึงเป็นเรื่องข้างนอก ทีนี้เข้าถึงปัญหา

ถาม: เรื่องการเดินจงกรม อยากกราบเรียนถามอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างสูง ๑.ทำไมหลวงตาบอกว่าเดินจงกรมต้องมีทิศตรงข้ามกับตะวันออกและตะวันตกหนึ่ง ตามแนวตะวันออกเฉียงใต้หนึ่ง ตามแนวตะวันออกเฉียงเหนือหนึ่ง โห...นี่จำได้แม่นเลยนะ แล้วทำไมต้องเอามือประสานไว้ข้างหน้าไม่เอามือขัดหลัง หรือกอดอก เหล่านี้เป็นเพียงการเคารพต่อปฏิปทาของหลวงปู่มั่นหรือเปล่าครับ หรือ ท่าทางกับทิศทางมีผลทำให้จิตรวมได้เร็วขึ้น อ่านปัญหาให้จบก่อน

๒. หลวงตาบอกว่าขณะเดินจงกรมพึงกำหนดสติ คำบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ ให้กลมกลืนเป็นอันเดียว เคยได้ยินหลวงพ่อบอกว่า เดินไปกำหนดลมหายใจไปด้วย การเดินเป็นเพียงเปลี่ยนอิริยาบถ พระอาจารย์บางท่านบอกว่าไม่ต้องบริกรรม แต่รู้สึกเท้ากระทบอย่างเดียวรบกวนหลวงพ่อช่วยชี้แนะด้วย

๓. อยากทราบเหตุผล เพราะเหตุใดการเดินจงกรมจึงทำให้สมาธิเสื่อมยากกว่าการนั่งสมาธิบริกรรม พุทโธ เพราะเคยได้ยินหลวงพ่อพูดไว้และหลวงปู่ดูลย์ก็เคยเปรยไว้ว่า หากผู้ใดเดินจงกรมจนจิตเป็นสมาธิได้นั้น จะได้สมาธิที่เข้มแข็งกว่าสมาธิที่มาจากการนั่งมากนัก เคยสอบถามอาจารย์สายหลวงพ่อเทียน ท่านว่าขยับมือไป มันมีการจงใจอยู่ จะให้ลงถึงอัปปนาสมาธิท่าจะยาก

หลวงพ่อ: ตอบปัญหานี่เลย ๑. ทำไมต้องเอามือประสานไว้ข้างหน้า ไม่เอามือขัดหลังหรือกอดอก เหล่านี้เป็นเพียงแค่ความเคารพต่อปฏิปทาของหลวงปู่มั่นหรือเปล่าครับ หรือทิศทางมีผลทำให้จิตรวมได้ การเดินจงกรมนะ เหมือนเรา พวกเราเนี่ยยิงธนู เราง้างธนูยิงออกไป ถ้าเราง้างธนูแล้วยิงออกไป เราต้องมีกำลังไหม ถึงจะง้างคันธนูนั้นได้ เราต้องมีกำลังของเรา เราถึงง้างคันธนูนั้นได้จริงไหม เพราะเรามีความชำนาญ เราง้างแล้วเรายิงธนูออกไป ความแม่นยำของเรา การเดินจงกรมนั้นมันเป็นกิริยา คำว่ากิริยาเหมือนเราไม่มีกำลังกันเลยเนี่ย เราจะง้างธนูได้อย่างไร

พวกเรายิงธนูกันไม่เป็น เห็นเขายิงธนูกัน เขาก็ง้างธนูยิง ไอ้คนที่ชำนาญนะเขาก็ยิงพับๆ นะ เขายิงอะไรก็ได้เขาชำนาญมาก เขามีกำลังของเขามาก แขนขาเขามีกำลังมาก เขาจะยิงอย่างไรก็ได้เพราะเขาชำนาญ นี่เขาเดินจงกรมจนชำนาญ เราเดินจงกรมไม่เป็นใช่ไหม เราเห็นเขาง้างคันธนู เราก็อยากง้างกับเขาบ้าง ง้างเเรกเป็นมั่งไม่เป็นมั่ง ง้างไปง้างมานะ เดี๋ยวมันก็ยิงใส่ตัวเอง เราถึงงงกันเรื่องการเดินจงกรมไง

ทำไมคนอื่นเขาเดินจงกรม เขาก็เดินจงกรมกันง่ายๆ เดินจงกรมของเขาแล้ว เขาก็มีความสุขของเขา ทำไมเราเดินจงกรมเนี่ย เรามีแต่ความสงสัยไปหมดเลย เพราะเราไม่เคยทำแล้ว แล้วเราทำแล้วก็มีความสงสัย แต่ถ้าคนที่ชำนาญแล้วเนี่ยเขาจะไม่สงสัยเลย แต่กว่าจะชำนาญเป็นเพราะเหตุใด ทำไมเรื่องทิศทางมีผลต่อการทำสมาธิไหม กรณีอย่างนี้ ถ้าทิศทางมันให้ผลเราบอกว่าทางวิทยาศาสตร์หรือทางข้อเท็จจริงมันพิสูจน์ไม่ได้ แต่เรื่องทิศทางที่หลวงปู่มั่นท่านพูด หลวงตาท่านเคยบอกไว้และมีปัญหา เพราะหลวงตาท่านเขียนไว้ปฏิปทาพระธุดงค์กรรมฐาน ไอ้เรื่องเดินจงกรมขวางตะวันเอยตะวันส่องหน้าเอยอะไรเนี่ย เถียงกันไม่จบ

ทีนี้กรณีอย่างพวกเรา อย่างเช่นพวกโยมนี่อยู่ในกรุงเทพ ถ้าบ้านของเรามันอยู่ขวางตะวันเราเลือกไม่ได้หรอก ขนาดหาที่จะเดินจงกรมยังหาไม่ได้เลย แล้วจะเลือกทิศอีก ขอให้มีทางเดินจงกรมแล้วเดินจงกรมได้นี่สุดยอดแล้ว แต่ไอ้เรื่องทิศนี่นะ เพราะว่าสมัยหลวงปู่มั่นสอนลูกศิษย์ อยู่ในป่าในเขาที่ทางมันกว้างขวาง แล้วอย่างนี้เดินสวนตะวัน ตะวันส่องตามันเป็นไปได้ อันนี้พูดถึงสิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ แต่หลวงปู่มั่นนะ

ในปฏิปทาพระธุดงค์กรรมฐาน พระเนี่ยไปธุดงค์กัน แล้วไปถึงบึงหนึ่ง บึงหนึ่งนะ หลวงปู่มั่นท่านภาวนาของท่านแล้วท่านสั่งพระไว้ ว่า พระนะอย่าใช้น้ำในบึงนี้เด็ดขาด ให้ทนเอาน้ำที่จะหาได้มันไกลหน่อยก็ให้ไปเอาน้ำที่ไกลหน่อย น้ำบึงนี้อย่าใช้นะอย่าใช้นะ แล้วหลวงปู่มั่นก็พิจารณาของท่านอย่างนั้น จนบึงนั้น มันก็แปลก พระไปดูแล้วนะ มันจะเงียบสงัด มันไม่มีสัตว์น้ำเลย ธรรมดาบึงหนองมันต้องมีสัตว์น้ำบ้าง แต่บึงนี้ไม่มีสัตว์น้ำเลย พระก็แปลกใจอยู่นะ

จนหลวงปู่มั่นท่านก็กำหนดของท่านอยู่พักหนึ่ง สักประมาณอาทิตย์หนึ่ง อยู่ในปฏิปทาพระธุดงค์กรรมฐานหรือประวัติหลวงปู่มั่น จำไม่ได้หนังสือเนี่ย และสุดท้ายแล้วพอสักอาทิตย์หนึ่ง หลวงปู่บอกว่า พระตอนนี้ใช้น้ำบึงนี้ได้แล้ว ใช้ได้เลย เสร็จแล้วพระถึงถามว่าเป็นเพราะเหตุใด หลวงปู่มั่นบอกว่าพวกพญานาค พวกจิตวิญญาณเนี่ย เขาเห็นพระธุดงค์มาแล้วเข้าใจผิด เข้าใจผิดว่าพระนี่อยากดัง อยากใหญ่ คือว่าเข้ามาในเขตของตัว ด้วยความไม่พอใจ เขาจึงใช้ฤทธิ์ของเขาพ่นพิษไว้ไง ถ้าเราไปใช้ไปสอยเข้ามันจะเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านก็ไม่ใช้ เพราะอะไร เพราะมิจฉาทิฏฐิใช่ไหม พญานาคมีความเห็นผิดก็เลยพ่นพิษของมันในหนองน้ำ สัตว์ไม่มีเลย แล้วพระไปใช้เนี่ย มันก็จะเจ็บไข้ได้ป่วย เนี่ยพอเจ็บไข้ได้ป่วยท่านก็ไม่ให้พระใช้ แล้วท่านก็ทรมาน หมายถึงว่าหลวงปู่มั่นท่านปรารถนาพุทธภูมิ ท่านมีภูมิธรรมสูงมาก ท่านเทศน์ท่านแก้ไขพวกนี้ได้ ท่านก็ไปเทศน์สอนทุกคืนๆ บอกว่าพระที่มา เขามาธุดงค์ของเขา เขามาแก้กิเลสของเขา เขาไม่ได้มาแข่งดีกับใครหรอก เขาเป็นเจ้าที่เจ้าทางเขาถือว่าคนนอกเข้ามา เขาถือว่าจะมาแข่งดีกับเขา จะมายึดที่ของเขาเนี่ย เขาเห็นผิด

พอเห็นผิดหลวงปู่มั่นก็เทศน์ เทศน์บ่อยๆ เทศน์บ่อยครั้งจนพญานาคกลับความเห็น พอความเห็นปั๊บก็ถอนพิษนั้น พอถอนพิษนั้นแล้ว หลวงปู่มั่นก็บอกให้พระลงใช้ได้ ยกตัวอย่างนี้ขึ้นมาเรื่องทิศไง แล้วเรื่องทิศเนี่ย ความรู้สึกของเราว่า ในบางสถานที่มันต้องมีอะไรที่มันเหนือความเห็นของเรา ถ้ามีสิ่งใดที่เหนือกว่าความเห็นของเรา หลวงปู่มั่นก็จะบอกว่าไม่ควรทำอย่างนั้นๆ แต่พวกเราตาเนื้อมันมองเห็นไม่ได้ พอเห็นไม่ได้ขึ้นมา เราไม่เห็นสิ่งนั้นปั๊บ เราก็ทำของเราไป การปฏิบัติมันจะไม่สะดวกไง แต่เรื่องทิศเนี่ย ถ้าเรื่องทิศทางวิทยาศาสตร์ก็ด้วยที่มันแทงตาหรือไม่แทงตาเท่านั้นละ

ฉะนั้น สิ่งนี้ทุกคนเอามาเป็นประเด็นขึ้นมาเรื่องทิศ ว่ามันจะมีผลต่อการปฏิบัติหรือไม่มีผลต่อการปฏิบัติ แต่ถ้าในการปฏิบัติเรื่องทิศนี่ ถ้ากรณีอย่างนี้ กรณีของผู้ที่หูตาสว่างท่านบอกอะไรเรา เราก็ฟังไว้ แต่กรณีนี้ของเรา เราจะทำอย่างไรนี่ เรามีความจำเป็นของเราไง ขออย่างเดียวขอให้เราปฏิบัติเถอะ เพราะเราปฏิบัติแล้ว

การเดินจงกรม ทำไมต้องเอามือประสานไว้ข้างหน้า กรณีอย่างนี้นะถ้าคนปฏิบัติใหม่ๆ ลองเดินสิ ลองเดินปกติ เดินแกว่งแขน การแกว่งแขนนะ แขนของเราเนี่ยมันจะมีความรู้สึกไหม สติเรามันจะแตกออกไปไหม แต่ถ้าเราเอามาประสานไว้ ทำให้ คำว่าจิตหนึ่ง จิตหนึ่งมันจะสงบได้ง่ายไง แต่ถ้าเราแกว่งแขน.. แล้วทำไมไม่ขัดหลังล่ะ ทำไมไม่กอดอกล่ะ การกอดอก การเดิน มันเหมือนกับว่าการทรงตัวมันไม่ดี

อย่างเช่นท่านั่ง ท่านั่งขัดสมาธิเป็นท่านั่งที่นั่งแล้วสมดุลที่สุด และทุกอย่างต้องนั่งขัดสมาธิใช่ไหม ไม่ ถ้านั่งพับเพียบก็ได้ คนเราเรื่องของร่างกายบางคนมันมีโรคภัยไข้เจ็บ นั่งยังไงก็ได้ ขอให้จิตสงบ ฉะนั้น การแกว่งแขน การทำไมต้องกอดอก กอดอกไม่ได้ สิ่งต่างๆ นี้ไม่ได้ ไม่ได้เพราะถ้าโดยปกติ เวลาเราปฏิบัติกัน ถ้าเราสำรวมระวังจิตมันจะสงบได้ง่าย บางที่เขาก็สอน บอกว่าเรานั่งนี่ต้องหลับตา กำหนดลมหายใจหรือพุทโธต้องหลับตา บางสำนักไม่ต้องหลับตาให้ลืมตา หลับตาเนี่ยเราไม่เห็นอะไรรบกวนนี่มันยังสงบได้ยากเลย แล้วลืมตามันจะสงบได้ง่ายไหม

กิริยาท่าทางต่างๆ นี่ มันเป็นการสำรวมระวังไง อะไรที่เป็นสำรวมระวัง สิ่งนั้นถูกต้อง ฉะนั้น ท่าเดินหรือทิศทางเนี่ย มันเป็นเฉพาะสถานที่นั้นหรือเหตุการณ์เฉพาะนั้น แต่ถ้ามันผ่านไปแล้วนั่นก็คืออีกกรณีหนึ่ง อย่างยุคสมัยมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วเรื่องการสำรวมระวังเนี่ย อันนี่เป็นพื้นฐาน สำรวมระวังเหมือนที่เรายกเรื่องการยิงธนู การยิงธนูถ้าคนชำนาญแล้วเขาก็ชำนาญของเขา แต่ในเมื่อเรายังไม่ชำนาญนะ

ชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าออกสมาธิ คนที่เข้าออกสมาธิจะชำนาญมาก หลวงปู่เจี๊ยะพูดบ่อยมาก ว่าชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าและการออกเนี่ย ไอ้เราสมาธิยังทำไม่เป็นเลย แล้วเข้าสมาธิอย่างไร ออกสมาธิอย่างไร แล้วก็ว่ากันไป สมาธิออก สมาธิเข้าก็พูดกันไป แล้วแต่สมาธิจริงสมาธิปลอม

แต่ถ้าสมาธิจริงเนี่ย ครูบาอาจารย์พูดรู้หมดเลย เห็นไหมชำนาญในวสี การเข้าและการออก ฉะนั้นถ้าผู้ที่ชำนาญแล้ว กิริยาท่าเดินมันก็เป็นแค่กิริยาเฉยๆ เพราะเดินเพื่อความสงบของใจไง การปฏิบัติการกระทำต่างๆ ทำเพื่อผลคือความสงบของใจทำเพื่อให้ใจสงบ ถ้าใจมันสงบแล้ว มันชำนาญแล้ว คนชำนาญกับคนไม่ชำนาญนะต่างกัน เวลาที่ครูบาอาจารย์เดินนะ เดินจงกรมจนเป็นร่องเลย นี่พูดถึงการเดินจงกรม

๒. หลวงตาบอกว่าขณะเดินจงกรมให้กำหนดคำบริกรรม พุทโธ ๆ ให้กลมกลืนไปเป็นอันเดียวกัน เคยได้ยินหลวงพ่อบอกว่า ให้เดินกำหนดลมหายใจไปด้วย การเดินเป็นเพียงอิริยาบถ อาจารย์บางท่านบอกว่าไม่ต้องบริกรรม ให้รู้สึกเท้ากระทบ

เอาตรงนี้ก่อน พอว่า พุทโธๆ เห็นไหม เวลาหลวงตาสอนให้พุทโธๆ มีคำบริกรรมไปด้วย ได้ยินหลวงพ่อบอกว่าให้เดินกำหนดลมหายใจไปด้วย พุทโธกับลมหายใจ เวลาสอนนี่นะ เราทุกคนเป็นเด็กมาก่อนตอนเป็นเด็กเราเรียน ต้องหัดอ่าน หัดเขียนอักษรให้ออกก่อน ถ้าเราหัดอ่านหัดเขียนอักษรแล้ว พอเราเรียนต่อขึ้นไปเราจะเรียนได้ง่ายมากขึ้น

ทีนี้การเริ่มต้นการปฏิบัติใหม่ การเริ่มประพฤติปฏิบัติ เรื่องของใจนะ เรื่องของวัตถุเนี่ย เรื่องของค่า เรื่องของการคำนวณต่างๆ นี่ เรายังไม่อยากเรียนกันเลย แล้วจิตใจกับการคำนวณหรือกับการต้องให้มันสงบนี่มันยากกว่าเรื่องของเลขต่างๆมากนัก พอมากนัก ทีนี้การกระทำเนี่ย คำว่ากำหนดพุทโธ กับลมหายใจเข้าออก การสอนใหม่ๆ สอนอย่างนี้หมดแหละ ลมหายใจเข้าให้นึกพุท ลมหายใจออกให้นึกโธ เพราะว่าเหมือนเด็กหัดใหม่เนี่ย ลมหายใจเข้าให้นึกพุท ลมหายใจออกให้นึกโธ เหมือนกับเด็ก

เขียน ก.ไก่ นะ เขียนอย่างนี้นะ อาจารย์ต้องจับมือด้วยนะ ให้เขียนนะ เขียนอย่างนี้นะ ฉะนั้น คำว่าบริกรรมพุทโธๆ เนี่ยเราต้องบริกรรมพุทโธ แล้วเราบอกให้ลมหายใจด้วย เหมือนกับผู้ที่หัดใหม่ เช่น ถ้าวันไหนเราฟุ้งซ่านมาก ความคิดมันแบบว่ามันต่อต้านมาก เราหายใจชัดๆ แล้วออกชัดๆ มันจะดึงความรู้สึกของเราทั้งหมดมาอยู่ที่ลมหายใจกับคำว่าพุทโธ ความคิดที่จะฟุ้งซ่าน หรือความคิดที่จะออกไป มันจะโดนสติเราดึงมันกลับมา

แต่ถ้าเราสักแต่ว่าทำ ที่เราบอกว่าพุทโธคิดซ้อนได้ ปากก็พุทโธไปนะ ลมก็หายใจไปนะ เพราะปกติเราหายใจอยู่ตลอดเวลา ความคิดมันก็เกิดอยู่ตลอดเวลา เราก็รู้สึกลมหายใจเหมือนกัน แต่มันไม่ชัดเจน แต่ถ้าเราหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธเนี่ย เราจะบอกว่าคำว่า พุทโธๆ เนี่ยเราก็ท่องเอา แต่ถ้ามันมีลมหายใจบวกเข้าไปด้วย ภาพลมหายใจมันก็ชัดเจนขึ้นมา จับให้มั่นคั้นให้ตาย

พอภาวนาพุทโธๆไปพร้อมลมหายใจไปบ่อยๆ เข้า พอเราปฏิบัติไป ก็เหมือนคนหัดยิงธนู ใหม่ๆ ก็ยิงไม่ได้ง้างไม่เป็น พอง้างได้ ยิงได้เห็นไหม มันก็ต้องมีเรื่องทิศทางอีกละ ทิศทางว่าจะยิงโดนหรือไม่โดน ทิศทางว่าจะแม่นหรือไม่แม่น นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันเริ่มพุทโธพร้อมกับลมหายใจ พอชำนาญขึ้นไปมันก็จะหน่วงอีกละ ลมหายใจกับพุทโธมันก็จะขัดแย้งกัน เพราะเราจับปลาสองมือใช่ไหม ต้องลมหายใจด้วยต้องพุทโธด้วย ทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่ง ทิ้งพุทโธก็ได้ ทิ้งลมหายใจก็ได้ ให้อยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าอย่างหนึ่งสติก็ดีขึ้น จับให้มั่นคั้นให้ตายเห็นไหม

เนี่ยที่บอกว่า ทำไมได้ยินหลวงพ่อลมหายใจด้วย คำว่าลมหายใจด้วยก็หมายถึง ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ คำว่าปฏิบัติใหม่หรือปฏิบัติเก่านี่ไม่สำคัญนะ เราจะยกเหตุผลบ่อยมากว่าหลวงตา ท่านติดสมาธิอยู่ ๕ ปี แล้วเวลาหลวงปู่มั่นจะลากออกมาให้ใช้ปัญญา พอจะใช้ปัญญาปั๊บมันติดอยู่ ๕ ปี มันเข็ด พอเข็ดมันก็เตลิดเปิดเปิง ใช้ปัญญาไปตลอดเลย พอใช้ปัญญาไปมาก ใช้ความคิดไปมากมันก็เอาจิตไม่อยู่ไง มันพักไม่ได้แล้ว ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นนะ

บอกให้ใช้ปัญญาก็ใช้แล้วนะ ตอนนี้จิตไม่ได้พักเลย ปัญญาหมุนติ้วๆ เลยนะ นั้นแหละไอ้บ้าสังขาร เอ้า..ถ้าไม่บ้าสังขารแล้วมันไม่ใช้ปัญญาแล้วมันจะฆ่ากิเลสได้อย่างไรละ นั่นแหละบ้าสังขาร คำว่าบ้าสังขารคือความคิดหรือปัญญามันใช้มากเกินไป พอใช้มากเกินไปมันไม่มีฐานของสมาธิ ไม่มีฐานของความสงบ ท่านบอกว่าเอาไม่อยู่ พอหลวงปู่มั่นพูดอย่างนั้นปั๊บ ให้หาเหตุผลด้วยตัวเอง พยายามหาเหตุผลด้วยตัว เอ้า… จะหาอย่างไร หาไม่ได้เห็นไหม สุดท้ายก็พุทโธๆ ติดสมาธิ ๕ ปี แล้วออกใช้ปัญญาขนาดนั้นแล้ว เวลาจะเอาใจให้อยู่ยังต้อง พุทโธๆๆๆ จนมันหยุดนะ พอปล่อยพุทโธมันก็วิ่งเข้าหางานเลยเห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน จะบอกว่าผู้ที่ปฏิบัติใหม่ต้องลมหายใจพร้อมกับพุทโธ แล้วพวกที่ชำนาญแล้วไม่ต้องพุทโธ ชำนาญนะถ้าจิตมันดีมันทำได้ แต่ถ้าอารมณ์มันกระทบขนาดไหนมันก็ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ทั้งนั้นแหละ

คือแนวทางปฏิบัติมันเหมือนกับ เราเด็กๆ เรากินข้าว ตอนเราเฒ่าแก่เราจะกินข้าวไหม ข้าวเนี่ยนะเป็นอาหารพื้นฐานของเรา ที่เรามีข้าวเป็นอาหารหลัก อาหารหลักกินไปจนตั้งแต่เด็กจนตาย คำบริกรรมพุทโธๆสตินี่มันเป็นพื้นฐานของผู้ที่ปฏิบัติ มันจะมีไปกับเราไปตั้งแต่ต้นจนตาย ฉะนั้นไม่ต้องไปคิดว่าเราชำนาญหรือไม่ชำนาญ ชำนาญหรือไม่ชำนาญเราก็ต้องอาศัยอันนี้เป็นพื้นฐาน เราต้องอาศัยนี่เป็นที่พักทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น ที่ว่าพร้อมทั้งลมหายใจด้วยเนี่ย เพียงแต่จับให้มั่นคั้นให้ตาย แต่ถ้าพอมันทำได้ เนี่ยการทำของเรามันก็อยู่ที่เราใช่ไหม เรากำหนดพุทโธก็ได้ ลมหายใจก็ได้ คำว่าพุทโธแล้วต้องลมหายใจด้วย เราพยายามจะพูดให้แบบชัดๆ ว่าการทำเริ่มต้นต้องทำอย่างนี้ พุทโธๆ พร้อมลมหายใจด้วย เพราะมันชัดขึ้นมาแล้ว เหมือนเราทำได้แล้ว พอต่อไปเราจะเริ่มปล่อยวางสิ่งใดเราจะพัฒนา แต่ละขั้นแต่ละตอน แล้วถ้ามันหกล้ม ล้มลุกคลุกคลาน ก็กลับมาใหม่ กลับมาหายใจก็พุทโธใหม่ ถ้ามันเอาไม่อยู่อย่างไร เราต้องเอาให้อยู่ เราต้องควบคุมใจเราได้ตลอด

แต่มีอาจารย์บางท่าน บอกไม่ต้องบริกรรม ให้รู้สึกเท้ากระทบอย่างเดียว เห็นไหม ๓ อย่างเดินจงกรม อย่างหนึ่งคือพุทโธ อย่างหนึ่งก็ลมหายใจ อีกอย่างหนึ่งเท้ากระทบ ไอ้เท้ากระทบนี่มันก็เป็นคำสอนของการปฏิบัติอีกแนวทางหนึ่ง การกระทบเขาจะให้รู้ รู้หนอ เป็นการคิดว่าเป็นการฝึกสติไง เป็นการฝึกสติของเขาสิ่งที่กระทบ กระทบแล้วต้องรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นคำสอนของเขา

เราจะไม่วิจารณ์ดีกว่ามั้ง ถ้าจะวิจารณ์เดี๋ยวจะยุ่ง มันส่งออก ถ้าเป็นประสาเรานะ มันจะส่งออกมันจะมาจากข้างล่างนี่เทียบกับอันนี้

๓. เคยถามอาจารย์สายหลวงพ่อเทียนท่านว่าขยับมือ มันมีความจงใจอยู่ จะให้ลงรวมถึงอัปปนาสมาธิท่าจะยาก คำว่าเคลื่อนไหวอยู่เนี่ย แต่หลวงพ่อเทียนการเคลื่อนไหวอยู่เนี่ยลงได้ อย่างพูดเมื่อกี้เนี่ย คำว่าลงได้นี่นะ ถ้าเราเคลื่อนไหว

คำว่าเคลื่อนไหวมันก็เหมือนกับคนตกภวังค์บ่อย จิตของคนบางทีมันหายไปเลยเนี่ย การเคลื่อนไหวด้วยการฝึกสติ ฉะนั้นการเคลื่อนไหวคือการฝึกสติ ถ้าจิตมันสงบมันมากขึ้นนะ การเคลื่อนไหวมันจะปล่อยวางไปเองไง คือมันจะละเอียดไปเอง อย่างเช่นเราเคลื่อนไหวอยู่ใช่ไหม ถ้าเราภาวนา ใครภาวนาเป็นจะรู้ เรากำหนดลมหายใจนี่แหละ พอจิตมันเริ่มละเอียดเข้ามา ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อุปจารสมาธินี่รู้เลยว่าเราสงบเข้ามา มันยังรับรู้อยู่

แล้วถ้ากำหนดได้ต่อไปนะลมหายใจเริ่มละเอียดขึ้น จนลมหายใจเริ่มจะขาด คำว่าจะขาดเนี่ย มันไม่รับรู้ พอมันไม่รับรู้ปั๊บจิตเนี่ย ความรู้สึกของคนมันจะตกใจ มันพยายามจะเกาะไว้ จากเดิมนะเราไม่เห็นคุณค่าของมันเลย การเกาะลมหายใจ การเกาะคำบริกรรมเนี่ย เราคิดว่าไม่มีความจำเป็น แต่เราเกาะเข้ามาเรื่อยๆ จนมันเป็นอุปจารสมาธิ อุปจารสมาธิมันเหมือนกับความรู้สึกของเรา มันยังเกาะได้อยู่ไง เหมือนกับมีราวมีสิ่งของให้เกาะคือคำบริกรรม

แต่พุทโธๆ สิ่งที่เราเกาะอยู่นี้มันเป็นนามธรรม เพราะเราสร้างขึ้นมาเอง ลมหายใจนี่เราออกรับรู้เอง พุทโธก็เรานึกขึ้นมาเอง สิ่งนี้เราสร้างขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเพื่อเกาะเองทั้งนั้นแหละ แต่พอละเอียดเข้าไป สิ่งที่เราเกาะสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเป็นนามธรรมนี่มันจะไม่... เพราะฉะนั้นเนี่ย จิตมันจะเป็นอิสระ พอจิตมันเป็นอิสระมันจะตกใจนะ เช่น ลมหายใจจะหายนี่มันจะตกใจมาก พอตกใจมากมันจะกลัวของมัน พอมันกลัวของมันเห็นไหม แล้วถ้ามีสติทัน คือว่า ขณะจิตนะที่เป็นสมาธิที่จะเป็นอิสระ อัปปนาสมาธิเนี่ยกว่าจะยืนตัวด้วยตัวของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องอาศัยอะไรเป็นเครื่องพยุงตัวเองเนี่ย มันทำได้ยากมาก

ในปัจจุบันเราอาศัยความคิดเป็นเครื่องพยุงความรู้สึกเราอยู่ตลอดเวลานะ แต่พอมันเข้ามาเนี่ย ฉะนั้น ที่ว่าเราเคลื่อนไหวอยู่นี่มันสงบได้อย่างไร เข้าอัปปนาสมาธิท่าจะยาก ไม่ยาก หมายถึงว่า พอมันไม่เกาะสิ่งใดเลย ทำไมถึงไม่เกาะ มันไม่เกาะเพราะมันกำลังตั้งสติของมันใช่ไหม มันอาศัยเข้ามา ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ ทีนี้ระหว่างอุปจารสมาธิแล้วจะเข้าอัปปนาสมาธิเนี่ย มันจะยืนในตัวของมันเองโดยไม่ต้องอาศัยอะไรเกาะ ไม่ต้องอาศัยลมหายใจ ไม่ต้องบริกรรมคำพุทโธ มันจะอยู่ของมันได้อย่างไร พอมันอยู่ของมัน มันก็จะตกใจ พอมันตกใจนะ

เวลาอัปปนาสมาธิคือลมหายใจขาดหมด อายตนะดับหมด แต่ดับเรื่องอายตนะ ตัวเองไม่ดับนะ ตัวเองจะเด่นชัดมาก เด่นชัดโดยอาศัยตัวมันเอง ฉะนั้นสิ่งที่ว่าเข้าอัปปนาสมาธิท่าจะยากเนี่ย ไม่ยากสำหรับผู้ที่เป็น ผู้ที่เป็นจะไม่ยาก เพราะนี่เขาถามว่า ทำไมเวลาเราขยับอยู่มันเป็นสมาธิได้อย่างไร เพราะเราคิดของเรากันเองไง เพราะถ้ามันเป็นมันจะปล่อยของมันเข้ามา และมันจะทรงตัวของมันเข้ามา

ฉะนั้นการรับรู้เท้ากระทบอย่างเดียวเนี่ย ถึงที่สุดแล้วมันต้องปล่อยการกระทบรู้อันนั้นใช่ไหม เท้ากระทบมันต้องรู้รูปรู้นามเนี่ย แล้วถ้ามันจะเข้าสมาธิมันต้องปล่อยรูปนามนั้นเข้ามา แล้วมันจะปล่อยอย่างไรละ เพราะอะไร ว่าจะไม่วิจารณ์นะ เพราะมันปล่อยเข้ามา ถ้ามันปล่อยเข้ามา มันจะเป็นอัปปนาสมาธิมัน ที่มันไม่ปล่อยเข้ามาเพราะอะไร มันไม่ปล่อยเข้ามาเพราะคำสอนเขาบอกว่า สมถะนี่มันเป็นสิ่งที่มันไม่มีประโยชน์

คำพูดอย่างนี้ เพราะเขาไม่รู้จักสมถะ เขาไม่รู้จักสมาธิ เขาต้องรู้นามรูปตลอดเวลา เป็นปัญญาใคร่ครวญตลอดเวลา เพราะปฏิเสธคำว่าสมถะ นี่คำว่าตัดรากถอนโคน เราใช้คำว่าตัดรากถอนโคน คือมันไม่เข้าสู่ฐีติจิต มันไม่เข้าสู่ข้อมูลเดิม มันไม่เข้าไปสู่ที่ที่กิเลสอยู่ มันไม่เข้าการเกิดปัญญาโดยแท้จริง การเกิดปัญญาโดยแท้จริงมันต้องเกิดปัญญาในสมาธิ ไม่ใช่เกิดปัญญาจากที่เราสุ่มตัวอย่างที่คิดกันอยู่ในปัจจุบันนี้

การคิดกันในปัจจุบันนี้มันเกิดปัญญาโดยสามัญสำนึก มันไม่ได้เกิดปัญญาจากพระพุทธศาสนา ปัญญาในพระพุทธศาสนา ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาในพระพุทธศาสนาเกิดจากสัมมาสมาธิ แต่สัมมาสมาธิมันยังเกิดขึ้นมาไม่ได้ใช่ไหม เราถึงพยายามใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาที่เราใช้สุ่มตัวอย่างกันเนี่ย ปัญญาเพื่อหาเหตุผล เพื่อให้มาถอดถอน เพื่อให้ตัวมันเองเป็นอิสระ คือตัวที่ว่ามันเป็นอัปปนาสมาธิ คือสมาธิที่ขึ้นมา

ฉะนั้น การรู้สึกเท้ากระทบอย่างเดียว ถ้ารู้สึกเท้ากระทบอย่างเดียวก็ต้องรู้สึกเท้ากระทบตลอดไป ถ้าไม่รู้สึกเท้ากระทบจิตมันจะไปวางไว้บนไหน ถ้ารู้สึกว่าเท้ากระทบอยู่ มันก็เป็นความรับรู้ที่จิตออกมารับรู้สึกเท้ากระทบ จิตคือนามธรรม มันรับรู้สึกที่เท้ากระทบ เท้ากระทบคือฝ่าเท้า สมาธิอยู่ที่ฝ่าเท้าหรือ สมาธิอยู่ที่ไหน ฝ่าเท้าเป็นสมาธิไหม ฝ่าเท้าคือธาตุ ๔ แต่เราเอาจิตไปผูกที่ฝ่าเท้า มันเป็นสมาธิไหม

นี่ไง เราถึงบอกว่ามันเป็นการปฏิบัติของแนวทางหนึ่ง เอาแค่นี้พอนะ ลึกลงไปเดี๋ยวมันจะหมดเลยนะ ฉะนั้น คำว่าหลวงตาบอกว่าเดินจงกรม ต้องมีกำหนดสติเป็นคำบริกรรม พุทโธๆ ให้กลมกลืนเป็นอันเดียวกัน

เคยได้ยินหลวงพ่อบอกว่า เดินไปให้กำหนดลมหายใจไปด้วย แต่หลวงตาบอกว่าพุทโธๆ เราเอาลมหายใจเข้าไปด้วย เพราะลมหายใจเนี่ยเอามาใช้งานร่วมกันได้ แต่ถ้าพูดถึงเวลาเราปฏิบัติไปแล้ว มีปัญหาขึ้นมา ทิ้งอันใดอันหนึ่ง คำว่าทิ้ง หมายถึงปล่อยวาง ไม่ใช่ทิ้งโดยไม่มีคุณค่านะ ทิ้งอันใดอันหนึ่ง เพราะเดี๋ยวเราจะใช้อีก เราทำครัวนะเราใช้มีด ใช้เครื่องทำครัวเสร็จแล้วนะเราจะโยนทิ้งไม่ได้หรอก เพราะมื้อต่อไปเราก็ต้องใช้เครื่องทำครัวชุดนั้นทำอาหารอีก

คำว่าพุทโธหรือลมหายใจ เราจะใช้ประโยชน์ไปตลอดชีวิตนะ เดี๋ยวเราก็ต้องกำหนดลมหายใจ เดี๋ยวเราก็ต้องไปที่พุทโธ เราไม่ได้ทิ้ง คำว่าทิ้ง คือเก็บล้างให้เรียบร้อย เก็บล้างไว้ใช้งานต่อไป ไม่ใช่ทิ้งไปเลย เพราะเราอาศัยทำอาหารเสร็จ อาหารเสร็จแล้ว เราจะกินอาหารนี้ต่างหาก เราทำสมาธิเราต้องการสมาธิต่างหาก แต่เราต้องใช้เครื่องมือเพื่อจะทำสมาธิ เราต้องใช้เครื่องมือเพื่อทำอาหาร เราต้องมีเครื่องครัวนะถึงจะทำอาหารได้ ไม่มีเครื่องครัวจะทำอาหารได้อย่างไร

ฉะนั้น คำว่าพุทโธ ถ้าพุทโธๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือลมหายใจอย่างใดอย่างหนึ่งได้ แต่ถ้าใช้ด้วยกันมันทำให้เรามั่นคงขึ้นแต่ไอ้รู้สึกเท้ากระทบนี้มันอีกเรื่องหนึ่ง อีกกรณีหนึ่งสิ ที่ครูบาอาจารย์เราสอนว่า เวลาเราก้าวไปนี้ ก้าวซ้ายให้นึกพุท ก้าวขวาให้นึกโธ นั้นก็อีกกรณีหนึ่ง อันนั้นไม่ได้กระทบนั้น ก็พุทโธเหมือนกันแต่อาศัยใช้เท้าให้ชัดเจนไง เวลาเทคนิคของครูบาอาจารย์เรานี่นะ องค์ใดก็แล้วแต่ปฏิบัติอย่างไรที่ได้ผลขึ้นมา ท่านก็จะสอนตามประสบการณ์ของท่านนั้นแหละ

อย่างเช่นหลวงพ่อเทียน แปลกน่ะ หลวงพ่อเทียนนี้เราไม่ค้านเลย เพราะอะไรหลวงพ่อเทียนนะการเคลื่อนไหวของท่าน มันก็เหมือนการเดินจงกรมของเรา การเดินจงกรมนี้เคลื่อนไหวไหม แล้วสงบได้ไหม ถ้าสงบไม่ได้สอนทำไมเดินจงกรมน่ะ แล้วหลวงพ่อเทียนสอนการเคลื่อนไหวน่ะมันเป็นสมาธิได้ไหม มันเป็นได้ แล้วการเคลื่อนไหวนะทำไมถึงเคลื่อนไหวล่ะ เคลื่อนไหวเพราะเวลาจิตมันจะหายไป มันจะวูบหายไปไง เคลื่อนไหวเพื่อให้มันชัดเจนไว้ไง นี่หลวงพ่อเทียนท่านสอนอย่างนั้นแต่ในเรื่องของปัญญาเรื่องการก้าวเดินต่อไปนั้นเป็นอีกกรณีหนึ่งนะ

ฉะนั้นข้อสอง อันนี้ตอบแล้ว บอกว่าถ้าปฏิบัติเริ่มต้น เครื่องครัวเราใช้พร้อมกันก็ได้แต่ถ้ามาม่าเราไม่ต้องใช้เครื่องครัวนะ แค่ใช้น้ำร้อนเติมอย่างเดียวนี้ถ้าชำนาญแล้ว

ถ้าอาหารเราสำเร็จรูปแล้ว ไม่ต้องใช้เครื่องครัว ต้มน้ำแล้วเทใส่เลย คือว่ากำหนดอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ต้องพุทโธพร้อมลมหายใจ ไม่ต้องทุก ๆ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือให้มีน้ำร้อนเราก็ลวกกินได้แล้ว

๓. อยากทราบว่าเหตุใดการเดินจงกรม จึงทำให้สมาธิเสื่อมยากกว่าการนั่งสมาธิ พุทโธ พุทโธ เพราะเคยได้ยินหลวงพ่อพูดไว้และหลวงปู่ดูลย์ ก็เคยเปรยไว้ว่า หากผู้ใดเดินจงกรมจนจิตเป็นสมาธินั้น จะได้สมาธิที่เข้มแข็งกว่าสมาธิที่ได้จากการนั่ง เคยสอบถามหลวงพ่อเทียนนี่อีกเรื่องหนึ่ง การเดินจงกรมนะเคลื่อนไหวแต่สงบ แล้วเวลาสงบขึ้นมาในท่าเดินเนี่ย เท้าเดินไป การเดินจงกรมเหมือนกับคนขับรถ เวลาเราขับรถ เราต้องเป็นห่วงไหมว่า เลี้ยวซ้ายนี่จะพ้นไม่พ้น ต้องเอาตลับเมตรไปวัดเลยนะ

เลี้ยวขวาจะไปได้ไม่ได้ เราจะชำนาญไม่เหมือนกัน คนเดินจงกรมบ่อยๆ เหมือนกับ คนขับรถ คือมันชำนาญ มันแบบว่าเป็นสัญชาตญาณ มันจะเดินของมันไป ถึงหัวทางจงกรมปุ๊บมันก็จะเลี้ยวกลับปั๊บโดยสัญชาตญาณเลย แล้วจิตมันมีความชำนาญของมัน มันจะอยู่ตัวของมัน ฉะนั้นเราจึงบอกว่าเป็นสมาธิในทางจงกรมไง เป็นสมาธิในการจงกรมเนี่ยร่างกายนี่มันเคลื่อนไหวไปนะ แต่จิตใจมันจะสงบเข้ามา.. สงบเข้ามา.. เข้ามา..

แล้วพอสงบแล้วนะ ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติสายกรรมฐานเรา เวลาจิตมันสงบขึ้นมาแล้วมันเดินไม่ได้ พอเดินไม่ได้เขาจะยืนรำพึงไง ยืน เดิน นั่ง นอน ยืนเฉย ๆ ยืนในทางจงกรมแล้วหลับตาเลย ท่ายืนก็เป็นสมาธิได้ แล้วถ้ามันจะเป็นสมาธิ อัปปนาสมาธินี้นะ มันยืนก็ไม่ได้ เพราะมันจะสักแต่ว่าเลย พอสักแต่ว่า พยายามค่อย ๆ นั่งลงบนทางจงกรม เพราะฉะนั้นในท่าเดินจงกรมแล้วเป็นสมาธินั้นมันจะแข็งมากจริง ๆ เพราะอะไร เพราะเคลื่อนไหวอยู่แต่สงบ

เรานั่งอยู่นี้มันยังไม่สงบเลย นั่งอยู่เนี่ยร่างกายสงบ แต่จิตใจนะมันเคลื่อนไหวมันคิดฟุ้งซ่านเห็นไหม แต่มันกลับกัน เดินจงกรมนี้ร่างกายเคลื่อนไหวอยู่แต่จิตใจสงบใช่ไหม แต่นั่งสมาธินี่ร่างกายสงบนะแต่จิตใจ โอ้โฮ มันฟุ้งซ่าน เรากำหนดพุทโธๆ ได้ทั้งนั้นนะ มันสงบได้ แต่พูดถึงว่ามันภาวนายาก อย่างเช่นว่าหลับตาเขาให้หลับตานึกถึงพุทโธ พุทโธ น่ะ บางสำนักบอกให้ลืมตาก็ได้นะ ลืมตาก็ได้นี่เราไม่เห็นด้วย คือมันใช้พลังงานสิ้นเปลืองเกินไปไง อย่างเช่นเราลืมตาเนี่ยเรารับรู้ได้หมดเลย อายตนะเห็นไหมเหมือนเราไปร้านอาหาร ทานอาหารด้วย ฟังเพลงด้วย มีคนบริการด้วย มันเปิดอายตนะทั้งหมดเลย เรากินอาหารที่บ้านเรา เห็นไหม เฉพาะตากระทบกับรูป ลิ้นลิ้มรสอาหารเท่านั้นแหละ นี่ก็เหมือนกันหลับตาหมดเลย มันก็อยู่เฉพาะอายตนะเดียวคือ ใจ ตา หู จมูก ลิ้น มันปิดหมด เปิดไว้ที่ใจ เนี่ยเราปิด ๔-๕ ทวาร เราเปิดใจไว้เนี่ย เพื่อให้ใจมันสงบ แต่นี่พอเราปิด ๕ ทวารนะ เราก็ปิดใจด้วยไง ปิด ๕ ทวารนะแล้วก็หลับไปเลย นั่งครอกๆ มันก็ปิดหมด นี่ก็ไม่ถูก

ฉะนั้นการนั่งสมาธิ การเดินจงกรมนะสมาธิมันเข้มแข็งมาก นี่การเดินจงกรม แต่เราจะพูดคำนี้ไว้ ไม่จำเป็นว่าทุกคน การปฏิบัติไม่ใช่มีแนวทางเดียว ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเดินจงกรมหมด เพราะการเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิภาวนา ยืน เดิน นั่ง นอน มันอยู่ที่จริตนิสัยหนึ่ง สองอยู่ที่สถานที่ สภาวะแวดล้อมไง หมู่คณะเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ ถ้าสถานที่นั้นมันไม่มี สถานที่ต่างๆ มันหาไม่ได้ เราก็เดินจงกรมอย่างเดียว การเดินจงกรมเป็นของดี อยู่ที่ไหนก็เดินจงกรม ไปอยู่บนหลังคาก็จะเดินจงกรมบนหลังคามันไม่ใช่นะ

มันต้องดูสภาพแวดล้อม ดูจริตนิสัย ดูกาลเทศะ ในการปฏิบัติมันต้องดูความพร้อม แต่ถ้าสิ่งใดมันทำได้ มันเป็นประโยชน์ต้องทำได้เลย ฉะนั้นมันต้องปรับให้เข้ากับเราได้ไง เราควรทำอย่างไร สถานที่เป็นอย่างใด แล้วเดินจงกรมบ้าง พอเดี๋ยวก็นั่งสมาธิบ้าง แล้วมันเป็นที่นิสัย ครูอาจารย์บางองค์เดินจงกรมตลอด ครูอาจารย์บางองค์นั่งตลอด ครูอาจารย์บางองค์ผสมกัน เนี่ยผลัดกัน เปลี่ยนแปลงกันตลอดเวลา นี่คือการภาวนานะ

ฉะนั้น การเดินจงกรมมันเป็นสมาธิขึ้นมายาก แต่อานิสงส์ของมันก็ต่างกัน อานิสงส์ของการเดินจงกรมเห็นไหม ร่างกายเข็งแรง สมาธิเกิดมาแล้วเสื่อมยากเพราะมันเข้มแข็ง ถ้านั่งสมาธิเนี่ย ร่างกายมันไม่ได้บริหาร การนั่งสมาธิเนี่ย ถ้าสร้างบุญญาธิการมาทางนี้ การนั่งสมาธิแล้วมันดีก็นั่งได้ตลอดเวลาเหมือนกัน มันอยู่ที่ความชำนาญนะ

ฉะนั้น อันนี้วิธีการเดินจงกรม ยกตัวอย่างกลับมาที่การยิงธนู ถ้าคนชำนาญแล้วทำได้ทั้งนั้น ถ้ายังไม่ชำนาญก็ค่อยๆ หาความสมดุลของตัวเองไป แล้วจำไว้นะคำนี้จำไว้ไม่ใช่เห็นใครทำแล้วจะไปเอาตามเขา

อาหารเห็นไหม คนหนึ่งกินรสจัดมาก เผ็ดมาก เราเห็นเขากินอร่อยนะ เรากินรสจืดอยากเป็นคนที่กินอร่อยแบบนั้นเราทุกข์นะ เขากินอาหารรสจัดมากเผ็ดมากเลยแล้วเราก็ต้องกินอาหารเผ็ดตลอดเวลา ไปกินมื้อใดก็ทุกข์มื้อนั้นแล้วจะกินให้อร่อยเหมือนเขาไม่ได้หรอก เขากินอาหารรสจัดมากเผ็ดมากคือนิสัยของเขา

เราจะกินอาหารอย่างใด รสชาติที่สมควรแก่เรา อันนั้นคือความสุขของเราความสุขของเรา ไม่ต้องเห็นแก่ใคร ใครกินอาหารรสเผ็ดเราก็ต้องกินอาหารรสเผ็ด ไม่ใช่ฉะนั้น เราภาวนาของเราเนี่ยวัดใจเรา ว่ามันสงบไหม สิ่งที่พวกโยมทำแล้วไม่ได้ความสงบเพราะคาดหวัง มาคราวนี้ ๓ วัน ต้องสงบ เพราะการคาดหวังนี้ล่ะมันไปเป็นกรอบไว้ทำให้ใจดิ้นโครมครามเลย มาคราวนี้ต้องสงบ สาธุอยากได้ จะไม่สงบก็มาทำบุญกุศลมาปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ตอนเช้าโยมได้ถวายอาหาร เขาเรียกจังหันถวายภิกษุนี่เป็นบุญกุศล แล้วพอเราปฏิบัติเนี่ยถวายตัวเรา บุญกิริยาวัตถุ กิริยาของเรา การเคลื่อนไหวนี่เป็นวัตถุอันหนึ่งเป็นกิริยาเห็นไหม เราได้เอาอันนี้ถวายพระพุทธเจ้า เราไม่นอนตามใจเรา เราไม่นั่งตามใจเรา ไม่อยู่สุขสบายตามใจเรา เราเอากิริยาของเรานะเป็นบุญกิริยาวัตถุถวายองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า มันจะสงบไม่สงบเราได้ทำบุญกุศลของเราแล้ว

มาสร้างบุญของเราไม่ต้องไปตื่นเต้นว่า คราวนี้ต้องสงบ คราวนี้ไม่ต้องสงบ ทุกข์ใจตายเลย มาทำบุญของเรา ถ้ามันทำแล้วได้ผล สาธุใครก็อยากได้ เราก็อยากให้โยมได้ทุกคนน่ะ แต่ถ้ามันทำแล้วนะจิตใจมันยัง.. เพราะอะไรตะกอนน้ำนะถ้าเราไม่กวนมันมันก็ไม่ขุ่น แต่ถ้าเราไปกวนมันมันก็ขุ่น จิตใจสามัญสำนึกมันก็เป็นของมันอยู่แล้ว นั่งสมาธินะ โอ้โฮ มันต้องเป็นปัญญานะ โห ไปกวนมันน่ะ ไปกวนใจตลอดเวลาเลย แล้วน้ำมันก็ขุ่นอยู่นั้นล่ะ

แล้วก็บอกว่าภาวนาไม่ได้เลย ภาวนาไม่ได้เลย ภาวนาสักแต่ว่าปากพูดไป ใจมันก็เอากิเลสตัณหาทะยานอยากไปกวนตลอดเวลา เออ คราวนี้ต้องสงบสองรอบ คราวที่แล้วมาดี คราวนี้ต้องดีกว่าคราวที่แล้ว โอ๋ มันกวนอยู่นั่นแหละ ภาวนาไปเถอะภาวนาไปแต่ก็ได้บุญนะ กิริยาวัตถุได้ถวายพระพุทธเจ้า ฉะนั้นตรงนี้ที่วางใจเป็นกลาง วางใจยากอยู่ แล้วมันก็เป็นธรรมดานะ เพราะเรามีกิเลส มันเป็นเรื่องธรรมดา

สิ่งนี้เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ดังนั้นให้ทำด้วยความจริงจัง ทำด้วยความจริง เป็นไม่เป็นนี้มันเป็นความสมดุล คำว่าสมดุลเห็นไหม คราวนี้เราภาวนาไม่ได้ตั้งใจเท่าไรเลย อู้หู ทำไมมันดีขนาดนี้ อู๋ คราวหน้าเรามาเอาจริงเอาจังใหญ่เลย แล้วเมื่อไหร่มันจะสมดุลล่ะ นี้คือสมดุลที่เราจัดตั้ง เราสร้างภาพ แต่ความสมดุลคือความสมดุลของจิต จิตสติ คำบริกรรม ความสมดุลพอดี วั้บ โอ้โฮลงเต็มที่เลยเห็นไหม ความสมดุลอันนั้น

พอเราได้แล้วเห็นไหม หลวงตาท่านสอนประจำ ถ้าเป็นสมาธิจิตมันสงบแล้วให้นึกถึงเหตุ เราทำอย่างไรความสมดุลของใจน่ะ วางอารมณ์อย่าไปเกาะเกี่ยวกับมัน อย่าไปยึดมั่นกับมัน แต่ยึดมั่นในสติ ยึดมั่นในคำบริกรรม เพราะถ้าไม่ยึดมั่นน่ะมันก็หายไปหมดเลย แต่เราไม่ยึดมั่นในผล เรายึดมั่นในเหตุ หน้าที่ของเราสร้างเหตุเห็นไหมน้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน เราจะต้มน้ำเราจะทำอาหาร เรารักษาไฟของเราไว้ เราใส่ฟืนลงไปในเตา รักษาอุณหภูมิไว้ มันต้องสุกแน่นอน

นี้เหมือนกันรักษาเหตุตั้งความสมดุลในคำบริกรรม แล้วผลของมัน อันนั้นคือผลของมัน ความสมดุลมันเกิดตรงนั้น แล้วความสมดุลอันนี้หาได้ยาก เพราะมันมีแรงกระตุ้น จากภายใน แรงกระตุ้นจากภายในคือกิเลสของเราเอง ฉะนั้น ไม่ต้องไปกวนตรงนั้น คำว่ากระตุ้นคือกิเลส แต่ความจริงจัง… ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เราสร้างเหตุให้สมดุลกับเราอันนี้ไม่ใช่กิเลส ถ้าเป็นกิเลสที่นั่งอยู่นี้ก็กิเลสหมด นั่งนี้ก็คน อ้าวก็นี้มันเป็นวิบากนะ มันเป็นผลของมัน แต่เราก็ตั้งใจทำดี เราเชื่อพระพุทธเจ้า

ฉะนั้นตั้งใจได้เอาอีกข้อหนึ่ง

ถาม : ทำอย่างไรให้พ้นจากหล่มโคลน

หลวงพ่อ : อันนี้น่าคิด

ถาม : โยมลาออกจากงานโดยมุ่งหวังจะปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์จากวัฏฏะเป็นที่สุดแต่มันไม่เป็นเช่นนั้น มันไม่แตกต่างจากแต่ก่อน กามคุณ ๕ เป็นยางเหนียวที่ติดจมไม่มีกำลังในกุศลเลย ไม่มีแรงจูงใจปฏิเสธการสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม การเจริญสติ เวลานี้หดหู่ท้อแท้ สิ้นหวัง เวลานี้มองไม่เห็นทางออกจากหล่มที่ติดอยู่ โยมอยู่บ้านติดกิน หนัง ละคร แม้ไปวัดจิตใจก็ขาดความกระตือรือร้น ขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติ ต้องอยู่บ้านเพราะมีบุคคลที่ต้องดูแล(ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ) ขอหลวงพ่อชี้ทางให้โยมเถิด ขอบพระคุณ

หลวงพ่อ : เนี่ย ติดหล่มเห็นไหม เราอยู่กับหลวงตานะเวลาหลวงตาท่านเทศน์บางคน โอ้โฮ...มีความเคารพบูชามาก มีหมอหลายคนไปขอท่านลาออกปฏิบัติ ท่านไม่อนุญาต หลวงตาท่านไม่อนุญาตน่ะ มีหมอหลายคนไปถึงไปขอลาออกเลย จะลาออกแล้วปฏิบัติท่านไม่ให้ หลวงตาท่านบอกว่าไม่ให้ออก ให้ปฏิบัติไปอย่างนั้น แต่บางคนนะท่านให้ออก บางคนไม่อยากจะออกท่านบอกว่าถึงเวลาแล้ว แต่บางคนไปขอท่านลาออกท่านไม่ให้ออก นี้ไงเราไปคิดกันเอง เห็นไหมคิดว่าถ้าเรามีความศรัทธามีความเชื่อ เรามีความตั้งใจแล้ว จะไปกันรอดไง โยมลาออกจากงานด้วยมุ่งหวังจะปฏิบัติธรรมเพื่อให้พ้นทุกข์จากวัฏฏะแต่มันไม่เป็นเช่นนั้นมันไม่ต่างจากแต่ก่อน มันไม่เป็นเช่นนั้น นี่เราคิดกันเองไง

แต่ถ้าความเป็นจริงนะ ถ้าลาออกจากงานแล้ว แล้วมาปฏิบัติ เนี่ยการปฏิบัติเวลาน้ำขึ้นเห็นไหม ไม่ใช่เฉพาะโยมหรอก หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านจะบอกนะอย่างเช่นหลวงตาท่านพูดคำว่า เห็นไหมว่าปฏิบัติที่แรกเกือบเป็นเกือบตายเลยแล้วก็ตั้งใจว่า ถ้าข้างหน้าปฏิบัติไปแล้วมันคงจะสบายขึ้น มันคงจะเบาแรงขึ้น ท่านคิดของท่านในใจนะ แล้วท่านก็ปฏิบัติไปไม่เห็นจะเบาเลย ยิ่งหนักไปเรื่อย ๆ ยิ่งขึ้นไปสูง ยิ่งหนัก ยิ่งหน้าที่การงานของเราตำแหน่งเราเล็กความรับผิดชอบเราก็น้อย ตำแหน่งเราใหญ่ขึ้นความรับผิดชอบเราก็มากขึ้น ยิ่งสูงขึ้นความรับผิดชอบเรายิ่งมหาศาลเลย เอ้า แล้วมันจะไปวางภาระกันตรงไหนละ ปฏิบัติไปนะ เป็นโสดาบันกิเลสก็หยาบๆ สกิทาคามี กิเลสมันละเอียดขึ้นไปอีกหน่อย อนาคานี่นะกิเลสมันกระทืบตายเลย ยิ่งเป็นอรหันต์นะ โอ้โฮ หากันไม่เจอเลย ถ้าหาเจอนะครูบาอาจารย์เราไม่ติดหรอก หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่คำดี ติดกันทั้งนั้นละ ทำไมเราไม่สบายขึ้นละ

ถ้ามันเป็นอย่างนี้ปุ๊บกิเลสมันละเอียดไปเรื่อยๆ การปฏิบัติครูอาจารย์ถึง… อย่าว่าแต่เรานะ อย่าว่าแต่ผู้ที่ลาออกจากงานแล้วยังไม่ได้มรรคไม่ได้ผล แล้วแบบว่ามันเสื่อมๆ พอมันท้อถอยนะหมดเลย แม้แต่มีหลักมีเกณฑ์ เพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์เราผ่านอย่างนี้มาก่อน ฉะนั้นการปฏิบัติมัน กิเลสมันคนละชนิดกันนะ เราเปรียบเหมือนเกียร์รถ เห็นไหมเกียร์รถมี เกียร์ ๑ เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ การทดของเฟืองเกียร์นั้นมันแตกต่างกัน แต่มันมาจากเครื่องนั้น เครื่องยนต์หนึ่งมันมีตั้งกี่เกียร์

เกียร์ ๑ มันก็ให้ผลอย่างหนึ่ง เราอยู่ในเกียร์ไหนล่ะ เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ มันให้ผลแตกต่างกัน นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ปฏิบัติไปเนี่ย ขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ขั้นที่ ๔ มันแตกต่างกันไปหมดเลย แต่มาจากจิตดวงนั้นนะ แต่จิตมันทดด้วยเฟืองเกียร์อย่างไร มันจะให้ผลให้ค่ากับความเร็วอย่างไร ฉะนั้นการปฏิบัติไป ขนาดปฏิบัติมีขั้นมีตอนมันยังมีหยาบมีละเอียดของมัน อย่างครูอาจารย์ท่านจะให้กำลังใจตลอดเวลาไง

เวลาคนปฏิบัติมานะ เวลามันท้อถอย เวลามันไม่มีทางออก เนี่ยไปชาร์จไฟ ครูบาอาจารย์เทศน์ หลวงตาเวลาท่านพูดนะ พระนะ ท่านถึงบอกว่า ไม่ให้เผลอสติ การเคลื่อนไหวต้องมีสติตลอดเวลา มันเหมือนดินพอกหางหมูนะ

พูดจนชินปาก ฟังจนชินหู แต่หัวใจมันด้าน เทศน์สอนกันทุกวัน ปฏักเนี่ยสับลงทุกวัน แต่กิเลสมันหัวเราะเยาะนะ ปฏักฟันลงมาเลยเนี่ย เลือดเต็มตัวเลยนะ หลวงตาบอกว่าเลือดเต็มตัว นึกว่าได้พวงมาลัย เวลากิเลสมันเหยียบหัวเอาเนี่ย ไม่รู้สึกตัวกันเลย ฉะนั้น เวลามันท้อถอยมีครูบาอาจารย์คอยปลุกปลอบเห็นไหม แล้วพอปลุกปลอบอย่าง พ่อแม่คน ลูกเราแต่ละคนกว่าจะโตมา ไปทำอาชีพขึ้นมา ไปทำงาน มันจะมีประสบการณ์ มันจะมีปัญหาอะไรบ้าง เนี่ยลูกเราออกมานะ ใครจบมาทำงานนะ ทุกคนชื่นใจมากเลย โอ้..ชาตินี้รอดแล้ว มีงานทำแล้ว ไปรอดแล้ว ไปไม่รอดหรอกเดี๋ยวที่ทำงานก็มีปัญหาแน่นอน

ปฏิบัตินะพอไปข้างหน้า จะมีอุปสรรคไปตลอดเวลา ทีนี้มีอุปสรรคไปตลอดเวลาครูอาจารย์ท่านจะคอยย้อนกลับมา ย้อนกลับมาที่พื้นฐานของข้อวัตร ถ้าข้อวัตรเราดี ข้อวัตรเนี่ยนะมันเหมือนพุทโธ พุทโธกับข้อวัตรนี่อันเดียวกัน พุทโธคือจิต คำบริกรรมคือจิตเกาะไว้ มันเหมือนมีพี่เลี้ยง เกาะพุทโธเราทำอะไรไม่ได้เลย พุทโธๆๆๆ เนี่ย เกาะพุทโธไว้ ข้อวัตรนะเวลาพระเรา เวลาใจมันถอดนะ ถึงเวลาข้อวัตรเนี่ย อาศัยข้อวัตรอยู่ ฟังคำนี้นึกถึงหลวงตา หลวงตาบอกว่า เวลาท่านไปบรรลุธรรมที่วัดดอยธรรมเจดีย์ จะสอนใครได้หนอ มันลึกลับมหัศจรรย์จนสอนกันไม่ได้ไง

จนสุดท้ายแล้วนะท่านย้อนกลับมานะว่าถ้าสอนใครไม่ได้ แล้วเรารู้ได้อย่างไร เรารู้กันมาได้อย่างไร เราเป็นผู้วิเศษไปกว่าคนเขาหรือ เรารู้ได้ก็เพราะมีข้อวัตรปฏิบัติ คือหลวงปู่มั่นเนี่ยวางข้อวัตรปฏิบัติ ข้อวัตรคือกติกา คือฝึกฝนขึ้นมา แล้วท่านเดินตามนี้มา อ๋อ…รู้ได้เพราะข้อวัตรปฏิบัติ ฉะนั้นคนอื่นก็จะรู้ได้ด้วยข้อวัตรปฏิบัติที่เราจะวางไว้เพื่อให้คนอื่นได้อาศัยเป็นช่องทางเดินเข้ามา

นี่ไง…ข้อวัตรปฏิบัติ ถ้ามีข้อวัตรปฏิบัติจิตใจที่ร่อนเร่ มันน้อยเนื้อต่ำใจ พอมันหมดกำลังใจนะ พวกโยมไม่เคยเห็นพระจะสึกนะ เราเคยเห็นพระจะสึก เวลาพระจะสึกนะทำอะไรไม่ได้เลย มันคิดแต่จะสึก สึกแล้วมันเหมือนทางโรค ทางหมอเนี่ย เนี่ยนะเครียดจนเจ็บไข้ได้ป่วยได้ แต่นี่มันคิดจะสึกจนไม่ทำอะไร จนซึมนะนอนซม บิณฑบาตก็ไม่ได้ ไปไหนไม่ได้เลย แค่นอนเฉยๆ นอนนะเหมือนโรคจิต นอนเฉยนะไม่ทำอะไรเลย จนพระองค์อื่นนะ เวลากลางคืนก็ไม่กางมุ้งนะ นอนอยู่อย่างนั้น จนพระต้องไปจุดยากันยุงให้ อะไรให้ แล้วจะหายด้วยวิธีไหนรู้ไหม สึก ถ้าสึกปั๊บหายเลย ไปได้เลย

เนี่ย…ย้อนกลับมาไอ้ติดหล่มเนี่ย มันหมดกำลังใจเลยเห็นไหม ติดหล่มเนี่ยหมดเลย มันจะแก้ได้ด้วยปลุกปลอบ อย่างเช่นที่พอพระจะสึก เพราะเราเห็นมากับตา จะสึกนะ เอ้…ทำไมเมื่อก่อนก็เข้มแข็งนะ บวชมาบอกจะเป็นพระอรหันต์ให้ได้ พอบวชขึ้นมาเขาพูดเขาคิดเอง เขาลาออกจากราชการเหมือนกัน เขามาคุยให้เราฟังไงบวชเนี่ยจะเป็นพระอรหันต์เลยเอาจริงเอาจังมาก อ่านหนังสือมามาก จะหลุดพ้นให้ได้ บวชได้ ๕-๖ พรรษา มั้งจะไป จะสึก นอนซมเหมือนคนเป็นโรคจิต นอนซมลุกไม่ได้เลย

พวกโยมอยู่กับโลก พอมาวัดก็คิดว่าจะราบรื่น มันจะดีงามไปหมด ทำอะไรจะประสบความสำเร็จทั้งนั้น แต่มันไม่เคยมาอยู่เป็นพระนี่ พระปฏิบัติมา ๕ ปี ๑๐ ปี พอส่งมาทีกลางปีนี่เห็นไหม เนี่ย ๕ พรรษา มีกี่องค์ ๑๐ พรรษา มีกี่องค์ ๑๕, ๒๐, ๒๕ เนี่ย เจดีย์เห็นไหมยอดแหลมมีนิดเดียว ฐานเจดีย์จะสูงมาก พระ ๑ พรรษา ๒ พรรษา นี่เยอะมาก พอพรรษามากๆ ขึ้นมา มันจะหดมาเรื่อยๆ เพราะอยู่นานนี่แหละ จิตใจมันโดนสะสมมา

ฉะนั้นกรณีนี้ก็เหมือนกัน นี่พูดถึงว่า ถ้าใจติดหล่มจะพ้นจากหล่มไปได้อย่างไร มันต้องปลุกปลอบใจตัวเองแล้วพูดบ่อยนะ เจ็บไข้ได้ป่วยเนี่ย เราเป็นคนเจ็บไข้ได้ป่วย เราต่อต้านทุกอย่างในการรักษา ญาติยังจับไปให้หมอรักษาได้ หมอจะรักษาหมอฉีดยาเข้าร่างกายเราได้ แต่ถ้าหัวใจเราไม่รับเนี่ย ใครจะกรอกหูขนาดไหนฉันก็ไม่ฟัง เหมือนก้อนหินเลย จิตใจถ้ามันไม่รับเห็นไหม

เนี่ยแล้วเวลาติดหล่ม ติดหล่มเพราะอะไร ติดหล่มเพราะว่ากิเลสของตัวเอง ติดหล่มเพราะความรู้สึกจากภายใน ความรู้สึกจากภายในเนี่ยนะ เวลาเราศึกษา เราจะปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากวัฏฏะให้ถึงที่สุด เวลาเราตั้งใจเราคิดของเราเนี่ย กิเลสมันยังตื่นตัวไม่ทัน กิเลสมันเผลอ กิเลสมันนอนหลับอยู่นะ โอ๋…คิดได้นะ คิดได้เลยนะ โอ๋ จะปฏิบัติขนาดนั้น จะไปให้รอดเลยนะ โอ้โฮ…มองเห็นทางช้างเผือกเลยนะ โหย…เพริดแพร้วไปหมดเลย เวลากิเลสมันตื่นขึ้นมาแล้วนะ เรียบร้อย…

นี่พูดถึงการปฏิบัติของเรา ถ้าปฏิบัติโดยข้อเท็จจริง ถ้าการปฏิบัติไม่ถึงข้อเท็จจริงนะ กิเลสมันหลอก ที่ความสะดวกสบายเรียบง่ายนะ กิเลสมันหลอกทั้งนั้น หลอกเพราะอะไร หลอกเพราะว่าเราไม่สะกิดมันเลยไง การปฏิบัติที่ไม่ได้สะกิดกิเลสเลย กิเลสมันจะปล่อยตามสบาย ทำไปเลยตามสบายเพราะไม่ได้ไปสะกิดมันเลยนะ แต่ถ้าเราจะไปสะกิดมันนะ ถ้ากิเลสมันตื่นขึ้นมานะ เราเนี่ยล้มเลย ล้มลุกคลุกคลาน

แต่ไม่ได้ไปสะกิดมันเลยนะ ตามสบาย.. ตามสบายเลย โหย…สังคมมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข แหม…ราบรื่น ดีงามไปหมด อย่าให้มันตื่นนะ มันตื่นขึ้นมาละกลิ้งไปหมดเลย แต่ในการปฏิบัติของเรา ในการปฏิบัติของครูบาอาจารย์เราเนี่ย ทุกคนให้เผชิญกับความจริงของตัวเอง ทุกคนให้ไปเผชิญกับความจริงของใจ ใจของเราเองเนี่ย เราต้องรักษาเองและต้องค้นคว้าเอง แล้วเราต้องทำลายเอง เราจะรู้เลยว่าทุกข์ยากแค่ไหน คนที่ปฏิบัติมาจะรู้ว่าทุกข์ยากแค่ไหน กว่าจะควบคุมตัวเองได้ กว่าจะเอาตัวเองออกวิปัสสนาได้ แล้วกว่าจะรักษาให้มาถึงที่สุดเองได้

เพราะการวิปัสสนาเหมือนกำลังแข่งกีฬา มันมีแพ้มีชนะตลอดเวลา การวิปัสสนามันมีตทังคปหาน กิเลสมันจะปล่อยชั่วคราวให้เรา เพราะรสของธรรมชนะรสทั้งปวง ไม่เคยเห็นสิ่งใดพอได้สัมผัส โอ้โฮ…มันจะตื่นเต้น มันมหัศจรรย์มากเลย แล้วจะทำอย่างนี้ได้อีกไหม เพราะมันต้องตทังคปหานไปจนถึงที่สุดจนมันสมุจเฉทปหานเนี่ย มันต้องวัดผลไง ถ้าวัดผลได้มันจะเป็นประโยชน์ได้นะ

นี่พูดถึงว่าจะทำให้มันพ้นจากหล่ม ถ้าพ้นจากหล่มเนี่ยนะไม่รู้ว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ถ้าเป็นผู้หญิงนะ เราก็ดูนางปฏาจาราย้อนกลับไปดูครูบาอาจารย์สิ ถ้าเป็นผู้ชายนะ เนี่ยดูพระรัฐบาลสิ พระรัฐบาลกว่าจะได้บวชนะพ่อแม่เศรษฐีมหาเศรษฐีเลย แต่อยากบวชมาก ถ้าไม่ให้บวชจะอดข้าวจนตาย สุดท้ายก็ให้บวช พอบวชเสร็จแล้วเวลากลับมาเนี่ย คำว่านางปฏาจารา พระรัฐบาลนี่เราให้ย้อนกลับไป ชีวิตของทุกคนวิกฤตกว่าเราอีก ทุกข์กว่าเราอีก แล้วปัญหาของเขามากกว่าเราอีก แล้วทำไมเขาพ้นมาได้

ปฎาจารา นะ เสียทั้งสามีก่อน ถูกงูกัดตาย เสียบุตรทั้ง 2 คน จนกลับมาเสียพ่อเสียแม่ ฟ้าผ่าบ้านหมดเลย บ้าเลย ไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเตือนสติทีเดียวกลับมาเลย กว่าเขาจะได้ออกบวช กว่าเขาจะได้ออกแสวงหา เขาทุกข์กว่าเราเยอะนัก เนี่ย…เพราะศาสนาพุทธเจริญ เพราะเป็นศาสนาประจำชาติ ทุกคนมีสิทธิปฏิบัติหมดเลย ศาสนาพุทธเหมือนต้นกัลปพฤกษ์เลย ใครจะคว้าเอาก็ได้ แล้วคว้าได้ไหม แค่นี้ก็มีโอกาสมากแล้ว เหมือนต้นกัลปพฤกษ์ ใครจะสอยจะเอากี่ช่อก็ได้ แล้วทำไมไม่ทำละ สอยในทางจงกรมไง สอยในทางนั่งสมาธิภาวนาไง

ถ้าใจมันติดหล่ม ใจมันไม่เอา ก็ต้องฟื้นขึ้นมาสิ ต้องปลุกมันขึ้นมาด้วยสติปัญญาของเราสิ มันเกิดจากภายใน เวลาเราเศร้าเหงาหงอย เฉา มันก็เฉามาจากใจ เวลาจะสู้นะจะให้คนอื่นมาปลุก เวลามันจะลาออก ใครเป็นคนลาออกล่ะ ก็ตัวเองคิดใช่ไหม ตัวเองพอใจใช่ไหม ตัวเองอยากได้ใช่ไหม ตัวเองถึงลาออกมา แล้วเวลามันไม่สู้ขึ้นมาล่ะใครจะสู้ได้ละ เห็นไหมพระพุทธเจ้าเป็นคนชี้ทางเท่านั้น เราเองต่างหากที่ต้อง กลับมาฟื้นเราเอง กลับมาถามเลยละ นี้ดีนะ ต้องให้เป็นโรคร้าย แล้วหมอบอกตายพรุ่งนี้ มันจะฟื้นทันทีเลย อย่างนี้มันเหงานะไปหาหมอเลย หมอบอกว่าพรุ่งนี้มึงตาย คราวนี้เอาละ เพราะคนเรากลัวตายไง ไปหาหมอ หมอวินิจฉัยเลยมีอายุถึงพรุ่งนี้เท่านั้น เท่านั้นละ โหย..มันทิ้งหมดเลยน่ะ อะไรที่เป็นแก้วแหวนเงินทองไม่เอาแล้ว อะไรก็ไม่เอา

มันจะพ้นเนี่ย มันจะพ้นจากหล่มไง ใจของเราเราต้องสู้นะ เนี่ยครูบาอาจารย์ท่านมีเทคนิคตรงนี้น่ะ คำว่าติดหล่มนี่ ทำไมพระกรรมฐานเราถึงติดครูบาอาจารย์กัน เพราะครูบาอาจารย์ของเราท่านเห็นเล่ห์กลของกิเลส ท่านเห็นเล่ห์กลของมันนะ ถ้าเราไม่เคยเห็นเล่ห์กลของกิเลสเลยเนี่ย เราไม่รู้จักกิเลสแล้วเราจะไปสอนใคร เล่ห์กลของกิเลสน่ะมันไม่หลอกใคร หลอกเจ้าของน่ะ หลอกตัวเองทุก ๆ คน แล้วเล่ห์กลอันนี้มันลึกซึ้งนัก

แล้วใครไม่เคยเจอมันน่ะอย่ามาคุย ไม่มีทาง ถ้าไปรู้ไปเห็นมันนะ แล้วนี่เล่ห์กลนะเห็นไหมเวลามันออกมา มันออกจากงานมาเนี่ย มันก็เสียโอกาสไปแล้ว แล้วพอมันออกจากงานมาแล้ว มันไม่ทำงานแล้วมันก็หลอกว่าสบายแล้ว ไม่ต้องไปทำงาน แล้วมันก็ไม่ปฏิบัติด้วย หลอกให้ตัวเองออกจากงานมาก็ชั้นหนึ่งแล้ว แล้วยังหลอกให้ชีวิตหมดไปเปล่า ๆ อีกชั้นนึง แล้วตัวเองไม่เอา แล้วบอกว่ายังติดหล่ม พ้นจากหล่มคือการตั้งใจของเราแล้วต่อสู้กับเราเองนะ ต่อสู้กับเราเองปลุกใจเราเองขึ้นมา แล้วจะพ้นจากหล่ม เอวัง