ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คณะท่าเรือ

๒๔ ส.ค. ๒๕๕๑

 

คณะท่าเรือ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๑

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เรามาทำบุญนะ เวลาทำบุญก็อุตส่าห์กระเสือกกระสนกันมาแสวงหาสิ่งที่เป็นที่พึ่งของใจ แล้วบุญมันคืออะไร มันไม่มีสิ่งใดจะเก็บสิ่งใดได้ ธนาคารเป็นที่เก็บแบงก์ โกดังสินค้าเป็นที่เก็บสินค้า มันไม่มีความรู้สึกอะไรไปกับเขา มันไม่มีความรู้สึกอะไรกับเรา ความรู้สึกของเราคือความสุข ความทุกข์ไง บุญคือความสุขของใจ ยิ่งในครอบครัวของเรามีความร่มเย็นเป็นสุข ในครอบครัวของเรามนุษย์เอื้ออาทรต่อกัน ยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกันนั่นคือบุญ แต่เราเข้าใจว่าบุญคือตัวเลขในธนาคาร บุญคือสมบัติ ถ้าคนใจมันดีถึงเราจะมีมากมีน้อย เราก็มีความสุขความร่มเย็นของเรา แต่ถ้าจิตใจเราทุกข์ถึงมันจะมีมากขนาดไหนมันก็ให้ความทุกข์กับเรา มันอยู่ที่นี่ ตั้งสติที่นี่ มันจะมีมากมายขนาดไหน มันจะขัดสนขนาดไหน แต่ถ้าเราเข้าใจมัน เราเป็นผู้ใช้จ่ายมัน ถ้าเราเป็นผู้ใช้จ่ายมันบุญก็อยู่ตรงนี้ไง มันไม่กระวนกระวายจากหัวใจ

ความทุกข์ความยากหรือความขาดแคลน มันเป็นเรื่องธรรมดา ดูร่างกายทุกคน มันก็เสื่อมสภาพไปเป็นธรรมดา ของอย่างนี้มันเป็นธรรมดานะ เราหาของเรามา เราต้องหา หน้าที่การงานเป็นหน้าที่ของเรา คนเราไม่มีหน้าที่การงานปัจจัยเครื่องอาศัย แม้แต่หายใจก็ทุกข์แล้ว อากาศหายใจนี่เป็นอาหารอันละเอียดนะ แต่เราไปมองอาหารกันแต่ที่เป็นปัจจัยเครื่องอาศัย สิ่งนั้นมันเป็นที่พึ่งอาศัย คำว่าอาศัยมันไม่ใช่ของจริง ของจริงมันไปกับเรา มันเป็นความรู้สึกไปกับเรา แต่ถ้าความจริงเกิดกับเรามันเกิดมาจากไหนล่ะ เกิดจากสติของเรานี่แหละ เกิดจากการบังคับบัญชาของเรา เกิดจากความรู้ของเรานี่แหละ

มันถึงได้ว่าของนี้เราคัดเลือกเอง อารมณ์ความรู้สึกที่เข้ามา ความบีบคั้นที่เข้ามาในหัวใจ เราคัดเลือกมันเองนะ ถ้าเราเข้าใจมันว่าอันนี้มันเป็น รูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นของเก่าแก่ มันเป็นสิ่งที่เขาจะชมเขาจะติยังไงก็แล้วแต่ เราก็เพิ่งมารู้เอาตอนนี้ แล้วมันก็ให้ผลกับเรา แต่ถ้าเราเข้าใจมัน ไอ้เรื่องนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องธรรมดามันก็ปล่อยหมด สุข ทุกข์มันอยู่ที่เราเลือกเองนะ ทีนี้เราเลือกไม่เป็น เพราะเราไม่เข้าใจ เราไม่เคยฝึกเลย เราไปเห็นคุณค่าแต่ของนอกกายหมดเลย แต่เราไม่เห็นคุณค่าความรู้สึกเลย

มนุษย์สำคัญที่สุด จิตที่เกิดนี้สำคัญที่สุด สิ่งที่เราอาศัยมาข้างนอกนี้เราอาศัยมา ดูสิเด็กบางคนเกิดมาก็คาบช้อนเงิน ช้อนทองมา เกิดมาแล้วก็ยังมีเหตุการณ์ให้มันพลิกผันไป อันนี้มันเป็นกรรมของแต่ละบุคคล กรรมของแต่ละบุคคลมันไม่เหมือนกัน เราสร้างมาไม่เหมือนกัน การสร้างมาคือการกระทำ การเสียสละ เสียสละนี้เราไปมองว่านี่คือทำบุญกุศล แต่เราไม่มองกลับว่าขณะที่ฟังธรรมอยู่นี่เป็นบุญกุศลมากกว่า ให้ทำทานร้อยหนพันหน ไม่สู้ถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง

 ศีลบริสุทธิ์อยู่ตรงไหน ตรงที่ใจเราปกติไง แต่ที่เราเข้าใจ เรามีสติยับยั้งเรายังมีสติเลย แล้วเราตัดสินเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ถูกต้องนี่คือความปกติของใจ ถ้ามีศีลขึ้นมา เรื่องของทานคือการเสียสละ แต่เรื่องความปกติของใจล่ะ เรื่องทำทานร้อยหนพันหน ไม่สู้ถือศีลหนหนึ่ง มีศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับทำความสงบของใจได้หนหนึ่ง  ใจสงบคือความสุข สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ดูสิเขาไปเที่ยวไปพักผ่อนกัน ไปเที่ยวหญิงบริการเพื่อให้มีความสุข แล้วสุขจริงไหม มันไปเสพอามิส ต้องมีสิ่งกระทบ มีสิ่งรับรู้แล้วมันถึงจะมีความสุข แต่ถ้าเราควบคุมใจของเราได้ มันจะอยู่โคนไม้ก็สุข อยู่ที่ไหนก็สุข มันสุขของมันเพราะมันรู้เท่าทันตัวเอง

ถ้ามีสมาธิร้อยหนทำให้เกิดปัญญาขึ้นหนหนึ่ง ปัญญาคือการแยกแยะการใคร่ครวญ ถ้าเราควบคุมใจเราได้หมด เรารู้ทันเท่าทันมันหมด สิ่งที่ปัจจัยเครื่องอาศัยนะ ใช่ เวลามันขาดแคลนมันทุกข์ไหม ทุกข์ แล้วทุกข์อย่างนี้มันเจือจานกันได้ รัฐสวัสดิการเขายังเจือจานกันได้เลย แต่หัวใจเวลาขาดตกบกพร่อง ไม่มีใครจะเจือจานให้ได้เลย   ถ้าเราไม่ถมเต็มของเราเอง เราถมเต็มที่ไหนล่ะ ถมเต็มจากการกระทำของเรา ถมเต็มเพราะเราเริ่มต้นเห็นสิ่งที่จำเป็น ศาสนาสอนเราที่นี่นะ ศาสนาสอนลงที่หัวใจของมนุษย์

หัวใจของมนุษย์เป็นภาชนะที่สัมผัสธรรม ไอ้หนังสือไอ้กระดาษมันเปื้อนหมึกทั้งนั้น สิ่งนั้นมันไม่ใช่หรอก เราไปอ่านมันต่างหากเราถึงได้รู้จักกับมันใช่ไหม แต่สิ่งที่สัมผัสใจนั้นเราสัมผัส ถ้าใจเราสัมผัสแล้วเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ ใจเราไม่มีเนื้อหาสาระ  ใจเราไม่เอาของจริง แล้วใจเราจะได้อะไร ก็ได้ความจำมาไง เขาว่าไอ้โน่นดีเขาว่าไอ้นี่ดีเขาว่าทั้งนั้นเลย แล้วจริงไหม แล้วมันเป็นความจริงที่เราเป็นจริงไหม แต่ถ้าเราเป็นจริงขึ้นมา ไม่ต้องใครว่านะ เรารู้เอง เราควบคุมใจเราได้เอง ศาสนาสอนลงที่นี่ ศาสนาสอนลงที่หัวใจ ถ้าหัวใจมันรับรู้ที่นี่ มันเข้าใจถึงหลักสัจจะความจริงนะ เห็นไหมพระไตรปิฎกเคลื่อนที่ พระไตรปิฎกที่มีชีวิต

ครูบาอาจารย์ของเรา สิ่งที่มีชีวิตอยู่นี่มันรู้เท่าตรงนี้หมดเลย พระไตรปิฎกมาจากไหน มาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ แล้วเราก็ไปกราบต้นโพธิ์กัน กราบต้นโพธิ์กันว่านี่เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุพธเจ้า ไม่ใช่ ! พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ในใจของพระพุทธเจ้าต่างหากล่ะ โคนต้นโพธิ์เราได้อาศัยโคนเป็นที่นั่งเป็นที่ร่มได้อาศัยเท่านั้นเอง แต่จริงๆ คือในหัวใจมันออกมาจากความรู้สึกอันนี้ ออกมาจากความรู้สึกของใจ แล้วเราก็ไปศึกษากัน ศึกษาแล้วเราย้อนกลับไปที่ไหน ย้อนกลับไปที่ใจของพระพุทธเจ้าเหรอ ไม่ใช่ มันต้องย้อนกลับมาที่ใจของเราใช่ไหม เราลิ้มรส ดูสิ เราดื่มน้ำ นะ รสหวานรสอร่อย เราเป็นคนรู้ใช่ไหม จิตมันสัมผัสไง ถ้าจิตมันสัมผัสตรงนั้นมันก็เข้าใจตรงนี้ไง

ชนะศึกหมื่นแสนคูณด้วยล้าน มันก่อเวรก่อกรรมทั้งหมด ชนะใจของเราเห็นไหม ชนะกิเลสไง ชนะมารไง ชนะสิ่งที่มันดิ้นรนในใจไง ถ้าชนะสิ่งนี้ได้มันเลยเป็นสิ่งที่ละเอียดขึ้นมา ดูสิ ลูกเราหรือบุคคลใดก็แล้วแต่ ที่เราบังคับบัญชาไปสั่งสอนขึ้นมาเพื่อให้เป็นคนดี เราเห็นผล โอ้คนนั้นคนดี คนนี้คนดี แต่ไม่รู้เลยว่าใจเรายังไม่ดี ถ้าใจเราดีเราต้องมีความสุขจริง ความสุขจริงๆ มันอยู่ที่นี่ มันหาได้ที่นี่ ถ้ามันหาได้ที่นี่แล้วเราจะทำยังไง มันก็ต้องสร้างบุญกุศล นี่คืออุบายทั้งนั้น ที่เราออกมาทำบุญกุศล มันคืออุบาย อุบายที่ไหน อุบายให้ใจมันได้ไง ให้ใจมันได้มีการเสียสละ

น้ำที่มันหมักหมมเอาไว้น้ำมันเสีย ถ้าไม่มีการรีไซเคิล น้ำนั้นมันจะสะอาดขึ้นมาได้อย่างไร หัวใจที่มันมีกิเลสอยู่ หัวใจที่มันเป็นอวิชชามันไม่รู้จักตัวมันเอง มองไปสิแก้วแหวนเงินทองทรัพย์สมบัติ สุดยอดหมดเลย แต่ตัวมันทำไมไม่มอง ทำไมสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดคือเจ้าของมันใช่ไหม เพราะมีเราใช่ไหม สมบัติเราถึงมีใช่ไหม เพราะเรามีบัญชีใช่ไหมเงินในธนาคารถึงเป็นของเราใช่ไหม เพราะเรามีตู้เซฟใช่ไหมในตู้เซฟถึงมีสมบัติใช่ไหม เพราะมีเราใช่ไหม แต่เราไปมองสมบัติข้างนอกหมดเลย

อุบายวิธีการทำบุญกุศลนี่มันเป็นเรื่องประเพณีวัฒนธรรม วัฒนธรรมเพื่ออะไร เพื่อให้เราได้สัมผัส พอเราสัมผัสเราก็เริ่มศึกษา ศึกษาค้นคว้ามาที่ไหน สุขทุกข์อยู่ที่เรา สรรพสิ่งอยู่ที่เรา การเกิดการตายอยู่ที่เรา สมบัติพัสถานอยู่ที่เราหมดเลย เพราะอะไร เพราะเราเป็นคนสร้าง เราเป็นคนจัดการขึ้นมา เราจัดการขึ้นมาแล้วเราก็เป็นขี้ข้ามัน สิ่งที่เราใช้สอยเราได้ใช้สอยไปแค่ไหน แล้วเราไปแบกรับภาระขนาดไหน หน้าที่การงานต้องหา ไม่ใช่พูดให้ปฏิเสธนะ อยู่กับโลกโดยไม่ได้ปฏิเสธโลกหรอก เราเกิดมาจากกามนะเกิดมาจากกามหมดเลย เกิดมาจากพ่อแม่

มนุษย์เกิดมาจากไหนเกิดมาจากกาม แต่เอากามมาทำคุณงามความดีไง เอากามมาเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ไง ไม่ใช่เกิดมาจากกามแล้วยังจะหมกมุ่นอยู่กับมันแล้วก็จะไปอยู่กับมันแล้วมันจะจบสิ้นกันที่ไหน นี่พระพุทธเจ้าสอนที่นี่นะ แล้วบอกว่าเวลาคนออกบวช พระออกบวชกัน ออกประพฤติปฏิบัติกัน โลกนี้จะไม่มีใครสืบทอดสืบสกุล เป็นไปไม่ได้หรอก

ดูสิโลกนี่ ถ้าพูดถึงมนุษย์เราถ้าถือศีล ๕ บริสุทธิ์กันนะ ถือศีล ๕ ที่ดีนะ จะไม่ต้องมีกฎหมายอะไรเลย แล้วเป็นไปได้ไหม เป็นไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะเรามีความจำเป็นใช่ไหม เรามีความจำเป็นในหัวใจ มันมีข้อโต้แย้งว่า เราต้องมีความจำเป็น เราจะทำยังงั้นไม่ได้ แต่ถ้าจริงๆ ทำได้ เพราะสิ่งที่ว่าจำเป็น มันจำเป็นของใคร จำเป็นเพราะเราจิตใจอ่อนแอขนาดไหน ถ้าจิตใจเข้มแข็งนะสิ่งนี้มันผ่านได้หมด ถ้าผ่านได้หมดพอเราไม่สร้างเวรสร้างกรรม

อริยทรัพย์จากภายในมันจะไปกับเรานะ สมบัติที่นี่ ดูสิเวลาเขาอุทิศส่วนกุศลต่อกันไป พอโยมสละแล้วมันเป็นอริยทรัพย์ อริยทรัพย์ตรงไหน ถ้าเป็นอาหารนะเก็บไว้ก็เน่าเสียหมด โยมย้อนกลับไปเมื่อ ๑๐-๒๐ ปีที่แล้ว ถ้าโยมใส่บาตรเช้าวันไหนมันยังอุ่นๆ ยังควันขึ้นอยู่เลย มันเป็นทิพย์ ทิพย์เพราะอะไร เพราะใจมันสัมผัส ใจมันจำได้ สิ่งที่จำได้นี้มันจะไปกับเรา แล้วคนฝึกฝนบ่อยครั้งเข้าๆ จนมันชำนาญจนมันอยู่กับเรา นี่เป็น อามิสนะ

แล้วถ้าเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าจิตเราสงบขึ้นมานี่ สุขอื่นใดยิ่งไปกว่าความสงบนั้นไม่มี เงินซื้อไม่ได้ เงินซื้อสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ เงินนะเรายังไปจ้างเขารักษาเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยได้ แต่ป่วยใจนี้ไม่มีใครรักษามันได้ จะรักษาได้ต้อง มรรคญาณ ต้องธรรมโอสถ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลมันอยู่ที่ไหน ศีลซื้อได้จากใคร สมาธิซื้อมาจากใคร ปัญญาซื้อมาจากใคร เชาว์ปัญญานี่ซื้อมาจากใคร

ดูพระอรหันต์แต่ละประเภทสิ เชาว์ปัญญาของพระอรหันต์ไม่เหมือนกัน พระอรหันต์เหมือนกัน แต่เอตทัคคะ ๘๐ องค์ไม่เหมือนกันเลย ระดับของปัญญาของคนไม่เหมือนกัน ปฏิภานไหวพริบไม่เหมือนกัน เพราะอะไร เพราะนี่ไงเพราะนั่งสมาธิ นั่งสมาธิภาวนานี่ ปัญญามันเกิดที่นี่ เกิดยังไง เกิดจากภายใน เวลาเรานั่งสมาธิกำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ให้จิตมันสงบเข้ามา ถ้าเราหลับตามันมืดไปหมดเลยเราไม่รู้อะไรเลย แต่ถ้าเรามีสมาธิขึ้นมาปัญญามันเริ่มใคร่ครวญ

ชีวิตนี้คืออะไร เกิดมาจากไหน เราเกิดมาจากพ่อแม่ ถ้าตรวจทางร่างกายเราเป็นลูกของพ่อแม่ กรรมพันธุ์ก็เป็นของพ่อแม่ แต่จิตไม่ใช่ของพ่อแม่ ถ้าจิตเป็นของพ่อแม่ พ่อแม่จะสั่งลูกบังคับลูกหรือสอนลูกให้ได้ดั่งใจเราเลย แต่ลูกบางคนก็มาดีกว่าพ่อแม่ แต่ลูกบางคนก็มีกรรมกันมา จิตอันนั้นไม่มีต้นไม่มีปลาย บุพเพนิวาสานุสติญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนอดีตชาติไป ไม่มีต้นไม่มีปลาย การเกิดและการตายไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีต้นคือจิตไม่เคยตายมันจะมีสภาวะแบบนี้ตลอดไป

เราถึงต้องแสวงหาสิ่งที่พึ่ง พึ่งโดยอามิส พึ่งโดยสถานะ พึ่งด้วยบุญกุศลไปก่อน ถึงที่สุดถ้ามันพึ่งตัวมันเองได้ มันไม่ต้องพึ่งสิ่งภายนอก มันจะพึ่งตัวมันเอง ถ้าพึ่งตัวมันเองปั๊บ ถึงที่สุดแล้วมันจะไม่เกิดอีกได้เลย มันทำได้ ในศาสนานี้ ในศาสนาพุทธขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนที่สุดแห่งทุกข์ ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ทุกข์เป็นอริยสัจเป็นความจริง แม้แต่ความเป็นอยู่เราก็เป็นทุกข์อันหนึ่ง เริ่มต้นตั้งแต่เด็ก เด็กอยากเป็นผู้ใหญ่มาก โลกนี้สดใสมากเลย คนแก่คนเฒ่านี่โลกนี้ชักถึงไม้ใกล้ฝั่งละ เห็นไหม ความคิดมันก็ต่างกันไปละ แล้วมันจะจบกันที่ไหน มันเป็นไปตามวัย วัยของความคิดของเด็กอย่างหนึ่ง วัยของวัยทำงานอย่างหนึ่ง วัยของผู้ชราภาพอย่างหนึ่ง

แล้ววัยอย่างนี้ เวลาเราชราภาพแล้วเราค่อยมาหาที่พึ่งที่อาศัยกัน เพราะศาสนาเป็นที่พึ่ง อย่างอื่นจะเป็นที่พึ่งนั้นไม่มี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วสาระพัดนึก แต่ใครพึ่งได้มากได้น้อย แล้วที่พึ่งอยู่ที่ไหนล่ะ พุทธ ธรรม สงฆ์ รวมอยู่ที่ใจเวลามันอยู่ที่ใจพระพุทธเจ้าก็อยู่ที่เรา ผู้รู้ พุทธะ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทธะเห็นไหม พระธรรมคือสัจจะความจริง เรารู้สัจจะความจริง นักวิทยาศาสตร์นะ ไอน์สไตน์ พูดเลยนะถ้าเลือกได้จะเลือกนับถือศาสนาพุทธเพราะอะไร เพราะทฤษฎีสัมพันธ์(สัมพัทธภาพ) มันพูดกันได้ แต่มันไม่ถึงจุดระเบิดของมันได้

แต่ของเรานี้ อวิชชา ปัจจยา สังขารา   ปัจจยาการมันเกิดยังไง ถ้าปัญญาเกิดอย่างนี้ปัญญาที่เราศึกษากันมา ปัญญาที่เราใช้ทำงานมันเป็นโลกียปัญญา เป็นวิชาชีพ มันแก้กิเลสไม่ได้แต่มันทำงานได้ ถ้าเราไม่มีปัญญาเราจะทำงานได้ยังไง เราจะทันโลกได้ยังไง ปัญญาอย่างนี้เป็นโลกียปัญญา ปัญญาโลก แต่ปัญญาในศาสนาของพวกเรายังไม่เกิด ไม่เกิดเพราะอะไร ถ้าปัญญาในศาสนาเกิดเราจะย้อนกลับมาชีวิตของเรา เราจะไม่หยัมเป เราจะควบคุมชีวิตของเรา เพราะความหยัมเปคือเราแพ้เรา เราแพ้ภัยตัวเอง

ชีวิตเรานี้ ดูสิ ทำไมสิ่งที่ไม่ดีทำไมเรายังทำ เพราะอะไร เพราะกิเลสมันเร้ากิเลสมันบังคับใจ แต่ถ้าเรามีสติ เรายับยั้งมัน เราสู้มัน สู้ที่นี่แล้วเราจะไปกราบพระพุทธเจ้า ไปกราบผู้รู้ พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานในหัวใจ เราไปกราบพระพุทธเจ้าของเรากันเอง เราอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าของเรากันเอง

ถ้าเราเกิดสัจธรรมขึ้นมา มันจะชำระให้มันสะอาดได้ บุญกุศลจากภายนอกเราสร้างกันขึ้นมา เราพยายามเสียสละ การเสียสละมันเปิดความหมักหมมของใจ น้ำเสียเราก็เปิดออกด้วยความตระหนี่ถี่เหนียว เห็นไหมความตระหนี่เราขัดสนไปทั้งนั้นล่ะ ทุกอย่างมันขัดสนทั้งนั้น แต่เราก็เสียสละ เพื่อเราต้องการสิ่งที่มันโล่งโถงมันเปิดกว้างในหัวใจของเราไง เปิดอาการที่มันหมักหมมใจออกไป นี่คือการเสียสละทาน แล้วถ้าเรานั่งสมาธิภาวนาของเราล่ะ

สิ่งที่เป็นอนุโมทนาทาน เราอนุโมทนาเราเห็นดีเห็นงามไปกับเขา เราเห็นสังคมเป็นสิ่งที่ดี นี่มันพัฒนาใจของเราไง ถ้าใจมันพัฒนา มันมองสิ่งต่างแต่แง่ดีๆ แล้วเราจะทำตัวเราเองไม่เป็นปัญหาของใคร ถ้าเราไม่ช่วยเหลือสังคมตัวเราเองจะเป็นปัญหาของสังคม ถ้าเราเป็นคนดีทั้งหมด หนึ่งหน่วยของสังคมที่ดี สังคมมันจะดีไปโดยธรรมชาติของมัน ดูสิเราเจือจานกันได้ อย่างสมบัติจากภายนอกนี้เจือจานกันได้รักษากันได้ เราช่วยเหลือกันได้ทั้งนั้นล่ะ อาหารการกินเราแบ่งสรรปันส่วนกันได้

แต่ทุกข์สิ ความหมักหมมของใจใครจะแบ่งปันให้ใคร แบ่งปันทุกข์มาไม่มีใครเอานะ จะเอาแต่ความสุข แล้วความสุข บุญนี่ไม่รู้จัก บุญงงนะ บุญคือความยิ้มแย้มแจ่มใส บุญคือความเปิดโล่ง เปิดให้ความหมักหมมใจมันเปิดออกได้ มันเข้าใจหมด มันเป็นอย่างนี้เอง เวลามันทุกข์ขึ้นมานี่ ทุกข์เป็นอริยสัจทุกข์เป็นความจริง แล้วมันเกิดขึ้นตั้งอยู่ต้องดับไป แต่เวลาเราทุกข์ เราไม่ใช่อย่างนั้นพอทุกข์เกิดขึ้นมา โอ้ย พอโอ้ย ขึ้นมามันก็กระทืบซ้ำ ทุกข์เป็นสองเท่าสามเท่าเหยียบลงไป เหยียบลงไป เหยียบจนเราทนความรู้สึกเราไม่ไหว ช้ำอกช้ำใจกัน

แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริง ทุกข์คืออะไร ทุกข์คืออริยสัจไง ทุกข์เป็นนามธรรม ทุกข์เป็นสิ่งที่เรายึดไง มันกำมาเราก็แบมันสิ แบมันออกสิ ทำไมไม่แบมันออก แล้วแบมันออกจะเอาอะไรไปแบมันล่ะ เพราะเราไม่ได้ฝึกใช่ไหม ศาสนานี้มีธรรมโอสถอยู่  มันมีความจริงอยู่แต่เราไม่ศึกษากันเอง เจ็บไข้ได้ป่วยก็วิ่งไปหาหมอให้หมอฉีดยาให้ แล้วธรรมโอสถฉีดให้เราได้ยังไงล่ะ มันจะฉีดได้ก็เพราะศึกษานี่ไง เพราะเราศึกษาเราตั้งใจ

อริยสัจพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ในศาสนาพุทธแก่นของศาสนาคืออะไร ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วทุกข์มันทุกข์อะไร เวลาไปพูดทางวิทยาศาสตร์ โอ้ยศาสนาพุทธนี่ทุกข์นิยม ไม่ใช่ ! สัจจะนิยม สัจจะความจริง มันเป็นสัจจะ อริยสัจจะ มันเป็นความจริง มันเป็นความจริงสุดส่วนยิ่งกว่าจริงอีก แต่พวกเราปฏิเสธกัน เป็นเจ้าของศาสนานี้แต่ปฏิเสธความจริงกัน จะเอาแต่ความสุข ความสุขเอามาจากไหน แต่ถ้าเราเข้าไปเผชิญกับความจริง

พอเข้าเผชิญกับความจริงกับความทุกข์ แล้วทุกข์มันดับไป มันก็สุขนะสิ ถ้าทุกข์มันดับไป ถ้ามันมืดอยู่พอเปิดไฟมันก็สว่าง แล้วพอเรามืดขึ้นมาปฏิเสธความมืดแล้วไม่ยอมรับความมืดแล้วมันจะสว่างได้ยังไง ทุกข์ควรกำหนดทุกข์ควรเผชิญกับมัน ทุกข์ต้องเผชิญกับมันเข้าไป ไม่ใช่ทุกข์แล้ววิ่งหนีมัน ทุกข์แล้ววิ่งหนีมันแล้วก็ทุกข์มาก ทุกข์มาก เรียกร้องมาก ทำบุญไม่ได้บุญเลย ทำบุญทำกุศลไม่ได้บุญ มันจะได้บุญอะไรล่ะก็เรียกร้องเอา

ทำบุญไปแล้วทำไมบุญไม่ช่วยเหลือเราเลย ทั้งๆ ที่บุญช่วยเหลืออยู่ ถ้าไม่ช่วยเหลือนะ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ขาดเมื่อไหร่ ก็ตายเมื่อนั้น บุญกุศลรักษาตรงนี้ไว้ ลมหายใจที่ยังหายใจอยู่นี้ถ้าขาดเมื่อไหร่ ทันทีเลย ความดีความชั่ว ประจักษ์เดี๋ยวนั้นเลย ใครมีข้อมูลเท่าไหร่ มันต้องไปตามนั้นล่ะ ปฏิเสธกันไม่ได้ รู้อยู่กับตัวเอง ความลับไม่มีในโลก ใครทำดีทำชั่วขนาดไหน ใจดวงนั้นรู้เองแล้วลมหายใจขาดปั๊บ มันจะให้ผลทันที ทันทีเลย แล้วจะรู้ว่า บุญหรือไม่บุญ

แต่ตอนนี้ก็เรียกร้องเอาไง เรียกร้องเพราะอะไร เพราะตัณหาความทะยานอยาก ทุกข์ สมุทัย สมุทัยมันจะเรียกร้องตามความต้องการของมันทั้งนั้นล่ะ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน กิเลสเรามีแค่ไหนล่ะ ตัณหาเรามีแค่ไหนล่ะ เราจินตนาการได้แค่ไหนล่ะ บางคนอยากมีพันล้าน บางคนอยากมีหมื่นล้าน บางคนอยากมีแสนล้าน มันจะจินตนาการได้แค่ไหนล่ะ แล้วมึงก็วิ่งไปๆให้สมความปรารถนาของมึง แล้วเป็นไหม แต่ถ้าเราทำตามหน้าที่ของเรามันมาเองนะ เราทำของเรา ผลตอบแทนมันเป็นสัจจะความจริง มีความจริงแค่ไหนผลต้องตอบแค่นั้น แล้วเราดูแลรักษาของเราไป

นี่ไงถ้าเรามีสติเราบริหารมันเป็น ทุกข์มันก็อยู่ชั่วคราว ชั่วคราวเพราะอะไร เพราะเรามีร่างกาย เราต้องมีการใช้จ่าย เราต้องมีการหมุนเวียน เราต้องมีการบริหารจัดการของมัน เพราะอะไร เพราะนี่เป็นสมมุติ เราเกิดมาโดยสมมุติ ทีนี้สมมุติมันก็มีบัญญัติ บัญญัติคือธรรมะที่พระพุทธเจ้าที่เรามาศึกษากันคือบัญญัติ สมมุติบัญญัติ แล้วสมมุติบัญญัติ ถ้าเราศึกษาด้วยข้อเท็จจริง สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวะธรรมเป็นอนัตตา สภาวะที่มันแปรปรวนอยู่นี่มันเป็นอนัตตา แล้วสภาวะที่รู้จริงล่ะ ที่ไม่เป็นอนัตตา ที่เป็นผลล่ะ สิ่งที่เป็นวัตถุมันเป็นอนิจจังหมดเลย สิ่งที่เป็นนามธรรม เป็น กุปปธรรม อกุปปธรรม สิ่งที่แปรปรวนอยู่นี่เป็นอนัตตา แล้วถ้ามันรู้จริงขึ้นมาเป็นอนัตตาไหม ถ้ามันรู้จริงขึ้นมา ถ้ามันรู้จริงของมัน มันจะเป็นอนัตตาไหม ความจริงจะเป็นอนัตตาไหม กุปปธรรม อกุปปธรรมไง นี่ไงถึงเป็นอริยทรัพย์ สิ่งที่สำคัญที่สุดในศาสนา

ศาสนาสำคัญตรงนี้ ถ้าใจมันสัมผัสได้จริงมันจะรู้จริงของมัน แล้วสิ่งที่ไม่จริงจากไม่จริงมาเป็นความจริง มันมีสภาวะธรรมชาติที่จิตไม่เคยตาย มันคงที่ของมันอันหนึ่งแต่เพราะมันมีอวิชชามีความไม่รู้ครอบงำมันอยู่ ถ้าเราศึกษาจนมันเปิดสิ่งที่เป็นอวิชชา จากอวิชชาเป็นวิชชา เป็นวิชชาคือการศึกษาคือการดำเนินงานเป็นการทดสอบตรวจสอบ ถึงที่สุดแล้ว มันพ้นทั้งอวิชชา พ้นทั้งวิชชา เป็น วิมุตติ เป็น อกุปปธรรม ยิ่งกว่าแก้วแหวนเงินทอง ยิ่งกว่าสมบัติ เป็นอริยทรัพย์จากภายใน จากหัวใจเรา จากความรู้สึก นี่คือสมบัติ หัวใจมันรู้สึก หัวใจมันเป็นที่นี่

ทีนี้พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ววางธรรมวินัยไว้ในพระไตรปิฎก เราก็ไปศึกษาวิธีการกัน แต่เราไม่เข้าถึงเป้าหมายไง นั่นวิธีการไม่ใช่เป้าหมาย เป้าหมายคือผล ผลจากการกระทำ ผลจากการกระทำของเรามันถึงจะเป็นความจริงขึ้นมา  นี่พูดถึงศาสนานี้

เวลามาแล้วเราถึงอยากจะให้หลักเกณฑ์ มันก็เป็นนะ เหมือนกับในสวนๆ หนึ่ง สวนใดมีพันธุ์ไม้ชนิดเดียวสวนนั้นก็ไม่สวยงาม สวนที่สวยงามพันธุ์ไม้มันก็ต้องมีหลากหลาย นี่ก็เหมือนกันความเห็นมนุษย์มันหลากหลาย จริตนิสัยของคนมันหลากหลาย เราจึงเสนอหลักการแล้วแต่ใครจะหยิบฉวย ใครต้องการพันธุ์ไม้ชนิดใดแล้วแต่จริตนิสัย บังคับกันไม่ได้ ในสวน ในไร่มันจะมีพันธุ์ไม้หลากหลาย จริตนิสัยของคนมันแตกต่างกันไป มุมมองของคนแตกต่างกันไป แต่ผลของมันคือ ถึงที่สุดแล้วมันจะใช้ประโยนช์ได้เหมือนกัน แต่จริตนิสัยไม่เหมือนกัน การกระทำถึงไม่เหมือนกัน ทัศนะคติต่างๆ กันไป แต่ สุขทุกข์ ทุกคนปรารถนาตรงนี้ เราจะเป็นพันธุ์ไม้ชนิดใดก็แล้วแต่ มันจะเป็นประโยชน์ได้มากน้อยขนาดไหน มันก็เป็นคุณสมบัติของเรา เราก็ทำตามคุณสมบัติของเรา ให้ถึงประโยชน์ของเรา อันนั้นจะเป็นสมบัติของเรา เอวัง