ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เทศน์หลังฉันจังหัน

๗ ก.ย. ๒๕๕๑

 

เทศน์หลังฉันจังหัน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบปัญหาธรรม เทศน์วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

หลวงพ่อ : ฟังนะ นี่คนปรารถนาดีไง

ถาม : ทำไมคนเราจึงมีความขี้เกียจ ทั้งที่จริงๆ แล้วก็อยากขยัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ตื่นนอนใหม่ๆ ทั้งที่พยายามจะขยัน พยายามตั้งสติแล้วก็ยังแพ้ความขี้เกียจอยู่ดี อยากทราบตั้งแต่การเกิดของความขี้เกียจ ตลอดถึงวิธีการแก้ไข

หลวงพ่อ : มันตลกตรงนี้ ตลกมาก

ถาม : ๒. พระอริยบุคคลขั้นใดถึงจะสละความขี้เกียจได้

หลวงพ่อ : ใครๆ ก็อยากสละความขี้เกียจใช่ไหม เห็นไหม เทศน์ตั้งแต่ตอนเช้า พูดแล้ว เวลาตอกย้ำ เวลาเราฟังธรรม อานิสงส์ของการฟังเทศน์ สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังแล้วตอกย้ำ แล้วถ้าเราเข้าใจแล้ว มันจะไปละไอ้ความขี้เกียจนี่แหละ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะโดยธรรมชาติของมัน กิเลสมันนอนเนื่อง เขาเรียกว่าอนุสัย อนุสัยมันนอนเนื่อง มันเหมือนกับกระแสน้ำ กระแสน้ำที่มันไหลมา ดูสิ ตั้งแต่ตาน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยา มันมาตั้งกี่สายมารวมกัน แล้วตาน้ำ สิ่งที่เป็นตะกอน ตะกอนมันไหลมากับน้ำ ยิ่งถ้าหน้าน้ำ มันจะขุ่นคลั่กเลย เพราะดินมันชะหน้าดินมา

อนุสัยที่นอนเนื่องไปกับใจ อนุสัย กิเลส ๓ ไง กิเลสสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ เป็นอนุสัย กิเลสมันมีอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ดูสิ พระอนาคามี พระอนาคามีนี่เรือนว่างแล้วนะ พระอนาคามีไม่ติดอะไรเลย แต่พระอนาคามีไม่ติดอะไรเลย แต่มันมีอนุสัยนะ กิเลสอย่างละเอียด คือจิตผ่องใส จิตสว่างไสว ไอ้เวิ้งว้างสว่างไสวน่ะ นั่นน่ะ กิเลสทั้งนั้นนะ ไอ้ที่ว่าสว่างไสว ที่ว่างๆ ว่างๆ ที่เขาบอกว่าว่างๆ นิพพาน

ว่างคู่กับไม่ว่าง นิพพาน หนึ่งไม่มีสอง ว่าง ความว่างคู่กับความไม่ว่างใช่ไหม ไอ้ว่างๆ นั้นน่ะตัวอวิชชา อนุสัยนอนเนื่องมากับใจ พระอนาคามีมันยังมีอวิชชาอยู่ ฉะนั้น อย่างเช่นพระอนาคามี พระอนาคามีว่างหมดเลย คิดว่านิพพานไง ก็ไปยอมจำนนกับตรงนั้น

ทีนี้เวลาครูบาอาจารย์ ที่หลวงตาเวลาท่านไปคุยธรรมะกันน่ะ “อ้าว! ว่ามา” พอว่ามา เราก็อธิบาย อย่างเช่นเราเรียนมาชั้นไหนล่ะ เราสอบผ่านชั้นไหนเราก็อธิบายได้ใช่ไหม อธิบายโสดาบัน อธิบายสกิทาคามี อธิบายอนาคามี เราเข้าใจว่าอนาคามีนั้นเป็นนิพพาน พอเข้าใจว่านั่นมันก็จบ พอมันจบ มันอธิบายต่อไม่ได้ไง พอมันจบ มันอธิบายต่อไม่ได้ พออธิบายต่อไม่ได้ เขาเข้าใจว่าสิ้น พระอนาคามีที่ว่าไปคาอยู่ไง พระอนาคามีมันยังสิ่งที่ว่าจับต้องสิ่งใดไม่ได้เลย แล้วมันนอนเนื่องมา แล้วอย่างนี้มีความขี้เกียจไหม มันก็ยังมีความขี้เกียจ มีความรู้ของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ

เราถึงบอกว่า ความขี้เกียจนะ มันก็ขี้เกียจประสาเรา พอมันโตขึ้น มันเจริญขึ้นไป มันก็ละเอียดขึ้นไป คือมันก็หลบอยู่เรื่อยไป แต่ทีนี้มันจะถึงที่สุด ทีนี้เพียงแต่ว่าพูดถึงว่าพระอริยบุคคลขั้นไหนถึงจะละความขี้เกียจได้

มันก็เริ่มต้นตั้งแต่พระโสดาบันน่ะ เพราพระโสดาบันนี่นะ พอพระโสดาบัน เหมือนเรา พอเราทำอะไรก็แล้วแต่ประสบความสำเร็จ เราอยากจะได้เพิ่มมากขึ้นไหม ไอ้ตรงนี้ทำให้ขยัน ไอ้ตรงที่ว่าพอเราทำงานเป็นไง เราประกอบกิจการอะไรก็แล้วแต่ประสบความสำเร็จแล้ว เราก็อยากจะได้เพิ่มมากขึ้นๆๆ ไอ้การเพิ่มมากขึ้นทำให้เรามุมานะเราขยัน ขยันจนอย่างที่ว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยค มันขยันเกินกว่าเหตุ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา อุทธัจจะไง ความขยันเกินไป ความขยันนี้เป็นกิเลสอันหนึ่ง

พูดอย่างนี้ต้องขยันนะ อย่าขี้เกียจนะ พูดถึงที่สุดแล้ว ความขยันนี้ก็เป็นกิเลสอันหนึ่งนะ แต่มันเป็นกิเลสขั้นสุดท้าย แต่ก่อนที่จะเป็นกิเลสอย่างนี้ เราต้องขยันหมั่นเพียรไปก่อน อุทธัจจะคือการเพลินในงาน เหมือนกับน้ำจะนิ่งแล้วเรากวนอยู่นี่ น้ำจะนิ่งได้ไหม นี่ก็เหมือนกัน เหมือนกับว่าเราทำงาน เราขยันหมั่นเพียรอยู่นี่ แล้วมันหยุดนิ่งไม่ได้ไง อุทธัจจะคือเพลินในความเพียรกล้า เพลินในความเพียร ขยันหมั่นเพียรจนมันหยุดไม่ได้ หยุดไม่ได้

แล้วพูดประสาเรานะ แค่หยุดมาเฉยๆ นะก็จบ แต่ก็หยุดไม่เป็น หยุดไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันทำงานเคย อันนี้มันอันเดียวกับไอ้ที่ว่าอดอาหารแล้วกินข้าวไม่ได้ อดอาหารแล้วกินข้าวไม่ได้เพราะมันไปเห็นแล้วมันสยดสยอง มันขยะแขยง อันนั้นก็เป็นกิเลสอันหนึ่ง นี่อัตตกิลมถานุโยคมันเป็นอย่างนี้ ทำจนมันตกไปอีกฟากหนึ่ง

เริ่มต้นขี้เกียจ ขี้เกียจนี่ก็เป็นกามสุขัลลิกานุโยค นอนจมอยู่กับความสุขสบาย ขยันหมั่นเพียรๆๆ ขยันจนตกไปอีกขอบหนึ่ง ซ้ายตกขอบ ขวาตกขอบ เทฺวเม ภิกฺขเว ภิกษุทั้งหลาย ทางสองส่วนเธอไม่ควรเสพ กามสุขัลลิกานุโยคคือการติดอยู่กับความสุขก็ไม่ควรเสพ อัตตกิลมถานุโยคก็ไม่ควรเสพ มัชฌิมาปฏิปทา แต่ตรงมัชฌิมาปฏิปทามันจะสมดุลของใคร

ทีนี้พอความสมดุลของใครปั๊บ เราต้องขยันหมั่นเพียรไว้ก่อน เหมือนว่าขยันหมั่นเพียรมันก็มีทางเลือกไว้เยอะ เราพยายามหมั่นเพียรไว้ก่อน แล้วถ้ามันสมดุลปั๊บ การสมดุล ความเหมาะสม นั่นน่ะคือมัชฌิมาปฏิปทา มรรคสามัคคี มรรคมารวมตัว มรรคญาณ ธรรมจักร ที่ว่าธรรมจักร ความเพียรชอบ งานชอบ ทุกอย่างชอบ ความสมดุลของความชอบมารวมตัวลงปั๊บ มันมรรคสามัคคีรวมตัวกัน สมุจเฉทปหาน ชำระกิเลส

ทีนี้ความชำระกิเลสมันก็เริ่มต้น เห็นไหม จริต โทสจริต โมหจริต โลภจริต แล้วในจริตหนึ่งมันก็มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด แล้วพอโทสจริต โมหจริต ความหยาบ ความกลาง ความละเอียดแล้วก็เข้าไปในการวิปัสสนา ก็ไปลงที่ว่ากาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณากายก็ได้ พิจารณาเวทนาก็ได้ พิจารณาจิตก็ได้ พิจารณาธรรมก็ได้ เห็นไหม มันแตกแขนงของมันออกไปไง

ทีนี้ความสมดุลของใครมันก็ความสมดุลของผู้ที่กระทำน่ะ ถ้าเรากระทำแล้ว พอเราใช้ปัญญาแล้ว ว่าง สบายหมดเลย นั่นน่ะคือความสมดุลของเรา แล้วพอความสมดุลของเราปั๊บ คนเรานี่ก็แปลกนะ เวลาเราทำความสมดุลของเรามันก็เป็นสมบัติของเรานะ เหมือนของเราเลย เครื่องใช้ไม้สอยอยู่กับตัวไม่ค่อยมีค่าหรอก ชอบมองของคนอื่น ของคนอื่นเขาสวย ของคนอื่นดีไปหมดเลยนะ แล้วพอไปฟังเทศน์ ครูบาอาจารย์ท่านก็เทศน์สอนทั่วไปใช่ไหม เทศน์สอนคนอื่นนะ ไอ้เราก็ไปฟังของเขาแล้วอยากทำอย่างนั้นน่ะ

เครื่องประดับของเขา ไม่ใช่เครื่องประดับของเรา เราไปฟังเครื่องประดับของเขา ไปทำตามของเขาแล้วไม่ได้ผลหรอก แต่ถ้าเราทำแล้วเราสมดุลของเรา มันดีของเรา นั่นน่ะสมบัติของเรา ตรงนี้ตรงที่ว่าความสมดุลของเรา

(ใครไปคุมมันนิดหนึ่ง ต้องมีหัวหน้า หัวหน้าพาเล่น)

นี่ความสมดุล แล้วขณะที่ความสมดุล เอาอันนี้เป็นเครื่องวัด คือเราใช้ปัญญาแล้วมันปล่อยไหม มันว่างไหม มันปล่อย มันว่าง นั่นน่ะถูกต้องของเรา แล้วถ้าเขาบอกว่าเหมือนกับคนไทยไปอยู่ยุโรป ติดอาหารไทย ต้องเอาพริกเผาไปด้วย เหมือนกัน มันเป็นความเห็นของเขา

ทีนี้ไอ้เรื่องความขยันมันจะมีหยาบ มีกลาง มีละเอียดไง ถ้าเราไปติดปั๊บ เราก็ติด พอติดปั๊บคือว่าเราไปไม่ได้แล้ว ความติด ติดคือหลง ติดคือไม่รู้ มันไม่รู้นะ ถ้ารู้ ใครจะยอมติด ถ้าคนทุกคน ใครจะยอมให้เราไปเสียเวลาเปล่า ยอมให้เราออกเสียพลังงานฟรี ใครยอมบ้าง แต่เพราะมันหลง หลงว่าสิ่งที่เราทำนี้ถูกต้อง พอเราเข้าใจว่าถูกต้องปั๊บ ให้ใครพูดก็ไม่ฟัง

นี่เราจะพูดคำนี้ออกมาเพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราบอกว่า ถ้าเราทำสมดุลแล้วมันว่าง นั่นคือความถูกต้อง แต่ถ้ามันหลงมันก็ติด ทีนี้ถ้ามันติดขึ้นมา พอมันติดขึ้นมา ติดนะ ถ้ามันติดปั๊บ มันพิสูจน์ได้ พิสูจน์ได้ด้วยเวลาเราออกมา ทดสอบไง เราทดสอบได้ ถ้ามันเป็นความจริงนะ อะไรก็จะทำให้มันเคลื่อนไหวไม่ได้ แต่ถ้าเราติดใช่ไหม เราก็จะรักษา เหมือนกับเราพยายามจะรักษาความสมดุลอันนี้ไว้ ทีนี้พอเราออกไป เราอยากได้อะไรล่ะ นิสัยเรา ความชอบของคนไม่เหมือนกัน เราชอบอะไร เอาไอ้นั่นน่ะล่อมัน

โธ่! เวลาพูดน่ะ ยกตัวอย่างเฉยๆ นะ เราทำของเรามาเยอะมาก แล้วเราเก็บไว้เป็นความลับของเราคนเดียว ไม่กล้าพูดกับใคร เดี๋ยวจะหาว่าเรานี่ลามก ทีนี้พอเราไปอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ เราบอก “หลวงปู่ครับ ผมจะตั้งสิ่งที่สวยที่สุดเลย แล้วผมก็พิจารณาของผมอย่างนั้นๆๆ” อธิบายให้ท่านฟังนะ

ท่านพูดว่าอะไรรู้ไหม “กูก็ทำอย่างนี้” เวลาท่านตอบมานะ “กูก็ทำอย่างนี้” จบ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าท่านทำของท่าน หลวงปู่เจี๊ยะ ครูบาอาจารย์ เราเคารพ เรารู้ว่านี่ของจริง แต่ถ้าเราไปพูดกับของปลอม ไม่ฟังนะ เขาจะพูดกับเราไม่รู้เรื่องหรอก เหมือนเรานี่นะ เรามีเพชรอยู่เม็ดหนึ่ง แล้วเราไปให้คนที่ไม่เป็นดู เขาจะบอกว่าเพชรเรานี่ของปลอม เพชรของเราจะให้คนดูได้ต้องให้ช่างเพชร ให้คนที่เขาอยู่กับเพชร เขาจะดูเลยว่าเพชรนี้น้ำมีค่าขนาดไหน เรามีเพชรอยู่เม็ดหนึ่ง เราจะเที่ยวไปให้เด็กๆ มันดู ถามเด็กๆ “เฮ้ย! นี่เพชรกูหรือเปล่า เพชรกูหรือเปล่า” มึงจะบ้าหรือ

ความเห็นที่เราทำมา เราไม่พูดกับใครหรอก คนที่เรามองหน้าแล้วเราฟังคำพูดของเขา เรารู้ว่าเขาภาวนาไม่เป็นนะ เราจะไม่พูดกับเขาหรอก ถ้าพูดกันต้องคุยกันประสาปฏิสันถาร คุยกันเรื่องโลกๆ แต่เรื่องจริงๆ นะ พูดให้เขาฟัง ไม่เอา เว้นไว้แต่เขาถามปัญหาหรือเราคุยธรรมะกัน ถ้าคุยธรรมะกัน เขาก็พูดถึงทฤษฎีหนึ่ง เราก็พูดถึงทฤษฎีหนึ่งขึ้นมาเพื่อจะให้เห็นคุณค่าต่อกัน แล้วทฤษฎีของเราคือความชัดเจนของเราต้องเคลียร์ปัญหาเขา นี่คือเราถูกต้องตลอด แต่ถ้าเราพูดสูงกว่านั้นไป เขาไม่รู้หรอก เขาไม่รู้ เพราะเรื่องการภาวนา ถ้าโยมไม่เคยภาวนามา โยมจะไม่รู้เรื่องอย่างนี้เลย เพราะในวิทยาศาสตร์ ความคิดคือปัญญา ความคิดที่เราเกิดขึ้นมา เราคิดว่าเรามีปัญญากันหมดน่ะ

ฉะนั้น หลวงตาท่านพูดนะ วันนั้นเราพูดตอนบ่ายว่ามีคุณหญิงคนหนึ่งที่ไปหาหลวงตาไง แล้วไปยืน แล้วไปใส่บาตร แล้วไปถอดรองเท้า แล้วยืนอยู่บนรองเท้า ที่หน้าวัดป่าบ้านตาดไง แล้วหลวงตาบอกว่า “โอ้โฮ! คนกรุงเทพฯ เขาใส่บาตรกันอย่างนี้หรือ” โดดลงจากรองเท้าเลย

แล้วเราก็พูดถึงคุณหญิงนันทกา ปลัด กทม. เก่าน่ะ เขามาเล่าให้ฟังเอง แล้วเขาพูดอย่างนี้ หลวงตาพูดอย่างนี้ “จะเป็นคุณหญิงคุณนาย จะผ่านประสบการณ์ทางโลกมาขนาดไหน กล้ามาหาเรา เราก็กล้าสอน”

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะถ้าเรารู้จริง เวลามาหาเรานี่ โทษนะ พูดอย่างนี้เราพูดบ่อยเลย พูดถึงทางโลก ดอกเตอร์ ศาสตราจารย์อะไรมา เราถือว่า ประสาเรานะ ไร้สาระฉิบหายเลย เพราะมันเป็นความรู้ทางโลกน่ะ จะมีความรู้ขนาดไหนนะ สัญญา มันมาจากข้อมูล มันไม่ได้มาจากใจหรอก มันไม่ได้มาจากใจเพราะอะไร เพราะมันเจาะเข้าไม่ถึงใจตัว ถ้ามันเจาะเข้าถึงใจตัวเมื่อไหร่นะ คือสัมมาสมาธิ ถ้ามึงเจาะเข้าไปถึงใจจะมีสัมมาสมาธิ แล้วปัญญามันเกิดจากตรงนั้น มันจะแก้ไขตรงนั้น

แต่ปัญญาทางโลกที่ศึกษาทางวิชาการ การศึกษาทางธรรมะ มันศึกษาจากข้อมูล ศึกษาจากสมอง มึงพูดจนตาย มึงจะได้ใบประกาศมา บรรทุกสิบล้อมาเลย ใบรับรองมึงบรรทุกสิบล้อมา ไร้สาระมาก ไม่ฟัง ฉะนั้น เวลาพูดธรรมะมันถึงเป็นอย่างนี้ไง เวลาพูดธรรมะแล้วมันออกมาจากที่นี่ ท่านถึงบอกว่า “กล้ามาหาเรา เราก็กล้าสอน”

ของเราก็เหมือนกัน มาเถอะ เพราะเขาพูดออกมาอย่างนั้นมันฟังออก มันเหมือนเด็กเลย เหมือนเด็กเวลามันพูดถึงความเห็นของมัน มันเอาสิ่งที่มันเล่นอยู่นั่นมาคุยให้เราฟัง เราก็รับฟังได้ แต่มันเป็นเรื่องความเด็ก แล้วมันทึ่งด้วยนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันไร้เดียงสา เหมือนนักวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์เขาทำวิจัยอะไรก็แล้วแต่ เขาเริ่มต้นจากสิ่งที่เขาไม่รู้เลยใช่ไหม เขาเริ่มทดสอบกันมา แล้วต่อยอดกันมา นักวิทยาศาสตร์คนนี้ทั้งชีวิตพิสูจน์กันมา แล้วอย่างงานชิ้นนี้ยังใช้ไม่ได้ เราถึงเอาพื้นฐานนั้นมาต่อยอดกันไป

เด็กๆ ก็เหมือนกัน เวลามันพูดน่ะ มันทำด้วยความใสของมันนะ ทำด้วยความไร้เดียงสาของมันนะ มันเล่นของมันด้วยความสุดยอดของมันเลย แล้วมันก็จะมาอธิบายให้เราฟังนะ เวลาพวกโยมมาคุยกับเราเป็นอย่างนั้นน่ะ เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะมันไม่ใช่เป็นความจริง มันเป็นเรื่องสมมุติ สมมุติคือเรื่องวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์นี่สมมุติ เรื่องจริงมันเกิดจากข้างใน ฉะนั้น กล้ามาก็กล้าสอน แล้วสอนได้ตลอด

ทีนี้ย้อนกลับมาตรงนี้ ตรงที่เวลามันเข้าไปถึงข้างใน มันถึงเข้าตรงนี้ก่อน ถึงต้องเน้นย้ำว่าต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าไม่ทำความสงบของใจเข้ามา ปัญญาที่เกิดขึ้นมาเป็นโลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากภพคือเกิดจากฐานที่ตั้ง แล้วเวลาพักเข้าสมาธิไป ทำไมฐานที่ตั้งนั้นถึงสะอาดได้อย่างไรล่ะ ก็กิเลสมันสงบตัวลงไง ถ้ากิเลสไม่สงบตัวลง เราจะเข้าไม่ถึงใจเราไง

แล้วเวลาทำ ถ้าจิตมันสงบแล้วเราออกใช้ปัญญา ถ้าออกปัญญา ปัญญานี่นะ หลวงตาเวลาท่านพูดให้ชัดเจน เวลาพวกเรา ความคิดเรานี่เขาเรียกสังขาร สังขารเป็นธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์มีธาตุ ๔ คือร่างกาย ขันธ์ ๕ คือความคิด เวลาจะเป็นเทวดา มันจะมีแต่ความคิด มันไม่มีร่างกาย แต่มันเป็นความคิด สิ่งที่เป็นความคิดมันก็เป็นนามธรรมที่เห็นเป็นรูปได้ คือรูปของเทวดา รูปทิพย์ รูปทิพย์คือความคิดไง

ทีนี้ความคิดเรากับเทวดาก็สื่อกันได้ เราคิดอะไร เทวดารู้หมด เพราะความคิดเรานี่เป็นรูป รูปของนาม รูปในนาม แต่ถ้าร่างกายนี้เป็นธาตุ ๔ โดยสามัญสำนึกของมนุษย์มันมีธาตุ ๔ คือร่างกายกับขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือความคิด คือรูป รูปคือความคิดสำเร็จรูป ความคิดที่คิดอันหนึ่ง ความคิดหนึ่งครั้งหนึ่งก็คือรูปอันหนึ่ง คือความคิดอันหนึ่ง ในรูปนั้นมันต้องมีส่วนประกอบของเวทนา เวทนาคือดี ชั่ว พอใจ ไม่พอใจ ดี ชั่ว หรือเฉยๆ อยู่ มีเวทนา แล้วก็มีสัญญา สัญญาคือข้อมูล สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง แล้วก็มีวิญญาณรับรู้

ไอ้สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง สังขารที่ความคิดมันเกิดดับ มันเกิดจากความคิด แล้วความคิดเราเกิดจากตรงนี้ ความคิดทางโลก ความคิดทางวิทยาศาสตร์เกิดจากสังขารทั้งหมด ทีนี้ถ้าสังขารมันไม่มีสมาธิมาแบ่งแยก สังขารมันคิดโดยภพ โดยฐานที่ตั้ง ความคิดมาจากไหน ความคิดมันลอยมาจากฟ้าหรือ

ความคิดของเราคือความคิดของเรานะ ความคิดของโยมทุกคนเป็นความคิดของเรา คิดดี คิดชั่ว ผลของมันจะลงอยู่ที่ใจ เพราะความคิด เรานี่เป็นคนคิดชั่ว คิดชั่วๆๆ จนเราเป็นคนนิสัยชั่ว เพราะความคิดมันคิดย้ำจนเรามีความเห็นตามความคิดเราไป เราคิดดีๆๆ ใช่ไหม ความคิดนั้นจะทำให้เราเป็นคนนิสัยดี นี่ไง ความคิดอันนี้มันเกิดจากใคร เกิดจากภพ เกิดจากใจ ทีนี้ถ้ามีสมาธิ มันไม่มีสมาธิมันก็มีผลอย่างนี้ นี่ความคิดโดยโลก นี่โลกียปัญญา

ทีนี้โลกียปัญญามันคิดมาจากฐาน ฐานคือตัวภพ คือตัวใจ ทีนี้พอจิตมันสงบเข้ามาๆ สงบเข้ามาคืออะไร อีโก้ มานะ ทิฏฐิ มานะ อหังการ กูแน่ กูแจ๋ว นี่สงบตัวลง พอสงบตัวลงแล้ว ความคิดอันนี้มันฟรี มันไม่มีตัวตน ไม่มีเราบวก แล้วถ้าความคิดอย่างนี้พอมันฟรี ดูอย่างรถ รถเราปลดเกียร์ว่าง ถ้าเราปลดเกียร์ว่างนะ ถ้าเราไม่ใส่เกียร์ รถออกไม่ได้

เราเข้าไปถึงสัมมาสมาธินี่ไง สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ คือรถมีเกียร์ว่าง รถมีเกียร์ว่าง รถจะออกได้อย่างไร ถ้ารถไม่มีเกียร์ว่างนะ ในเกียร์ติดไม่ได้ ความคิดโดยปกติเราเหมือนกับรถเราจอดคาเกียร์อยู่ ใส่เกียร์ไว้ ติดเครื่องได้ไหม ทางเรารถติดเครื่องไม่ได้ แต่มนุษย์ติดได้ เพราะเกียร์คือว่าความคิดกับเรามันเป็นอันเดียวกันตลอด มันก็คิดตลอด ทำสมาธิปั๊บ มันก็มาปลดเกียร์ว่าง

ทีนี้ปลดเกียร์ว่าง ถ้าเป็นสมาธิแล้วไม่ออกวิปัสสนาไง ที่บอกว่าสมาธิแก้กิเลสไม่ได้ ติดในสมถะ สมถะจะไม่มีประโยชน์

ตัวสมถะคือเกียร์ว่าง ตัวสมถะสำคัญมากเลย ตัวสมถะ ตัวสมาธิ ถ้ามีสมาธิปั๊บ ถ้ามันว่างแล้ว เราใส่เกียร์ปั๊บ เราติดเครื่องได้ รถอยู่กับที่ เราติดเครื่องได้ ถ้ามันอยู่ในเกียร์ เราติดเครื่อง รถจะวิ่ง จะพุ่งไปชนอย่างอื่น มันจะเป็นผลร้ายตลอดเวลา ความคิดเราโดยปกติมันปะทะเขาตลอด ความคิดโดยปกติเราปะทะเขาตลอดทั้งนั้นน่ะ นี่ไง นี่คือผลร้ายของมัน แต่พอเราทำความสงบของใจเข้ามา มันปลดเกียร์ว่าง แล้วพอมันใส่เกียร์ ใส่เกียร์ ๑ รถออกไป เราควบคุมออกไป ถ้าสมาธิมันเกิดขึ้น เราบังคับจิตนี้ให้ไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ วิปัสสนาเกิดตรงนี้ วิปัสสนาเกิดตรงนี้

แต่ถ้าไม่มีสมาธินะ ความคิดเป็นเรา ธรรมะเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา บวกเป็นเราหมดเลย โลกียปัญญา แต่ถ้ามีสมาธิปั๊บ ถ้ามีปัญญาเกิดขึ้นจะเป็นโลกุตตรปัญญา คือปัญญาที่จะพ้นจากโลกไง

โลกคือหมู่สัตว์ เราก็เลยไปดูสัตว์ๆ...ไม่ใช่ สัตตะผู้ข้อง โลกคือเรานี่ เราเป็นสัตว์ตัวหนึ่ง สัตว์ตัวนี้สำคัญเลย โลกคือหมู่สัตว์ เราคือสัตว์ตัวหนึ่ง สัตว์ตัวหนึ่งจริงๆ สัตว์มนุษย์ สัตตะผู้ข้อง แล้วโลกคือหมู่สัตว์ ถ้ามันชำระที่นี่ได้ นี่เหนือโลก พ้นจากโลก พ้นจากสัตว์ พ้นจากผู้ข้อง ถ้ามันทำได้ มันทำได้ของมัน มันเป็นสัจจะ

เวลาหลัก วันนี้เราพูดตรงนี้มันเป็นหลัก แต่เวลาที่โยมมาถามปัญหา มันจะอยู่ที่กรณีของโยมที่ใครติดอะไร ใครติดอะไรมันก็จะดูว่าใครติดตรงไหน แล้วชอบสิ่งใด แล้วทำแล้วได้ประโยชน์ไม่ได้ประโยชน์ ไอ้ได้ประโยชน์ไม่ได้ประโยชน์ บางคนนะ ปุ๊บปั๊บเข้าใจเลย บางคนพูดแล้วพูดอีก บางคนมา เมื่อวานไง เขาพูด เขาก็ภาวนามาเรื่อย แล้วมาถามปัญหาเลย ไม่ใช่ตัวกู ของกู คือกู

“ครับ” กลับเลย

ไม่ใช่ของกู ไม่ใช่ตัวกู คือกู เพราะกูเป็นคนพูด กูเป็นคนรู้ เหมือนเราปฏิเสธทุกอย่างเลย แต่มีเรา ทีนี้คำปฏิเสธนั้นคือคำปฏิเสธใช่ไหม เพราะว่าถ้ามีความคิดพื้นๆ มันก็เป็นความคิดปรัชญา แต่ถ้าเป็นความคิดที่เรากำลังแสวงหา เรากำลังหาข้อมูล หากิเลส หาสิ่งที่เราจะต่อสู้กับมันน่ะ เราก็คิดแต่ธรรมะ ตรึกออก ส่งออกหมด ทีนี้ทุกอย่างก็เป็นความว่างหมด ทุกอย่าง เห็นไหม “โมฆราช เธอจงดูโลกนี้เป็นความว่าง” ว่างหมดเลย ทำให้เป็นความว่างสิ เราจะมองอะไรว่างหมดเลย แล้วใครรู้ว่าว่างล่ะ ก็กูรู้ไง ก็ตัวกูนี่เป็นปัญหา ไม่ใช่ตัวกู ของกูเลย แต่ตัวกูนี่ตัวที่มันจะไปยึดว่าเป็นกูหรือไม่เป็นกู

กลับเลย “เข้าใจแล้วครับๆ” เข้าใจแล้วครับเพราะอะไร เข้าใจแล้วครับเพราะเขาภาวนาอยู่ พอเขาภาวนาอยู่ เขาหาเหตุหาผลของเขาอยู่ พอหาเหตุหาผลของเขาอยู่ เขาหาเหตุหาผลของเขาได้ แต่ถ้าเราพูดกับคนอื่น คนอื่นก็ใช่ครับ ไม่ใช่ตัวกู ของกู คือเป็นวิทยาศาสตร์ไง เป็นวิทยาศาสตร์ใช่ไหม ถ้าเราไม่รับรู้มันก็จบใช่ไหม เราไม่รับรู้มัน จบ แต่สิ่งที่จะรับรู้เขาได้คือความรู้สึกเรา

ไอ้ไม่รับรู้ก็จบ เพราะมันไม่ใช่เรื่องอะไรกับเรา ไม่ใช่เรื่องอะไรของเราใช่ไหม เราไม่รับรู้มันก็จบ แต่ตัวเรามันไม่จบ มันไม่รับรู้สิ่งนี้ แต่มันยึดตัวมัน แล้วมันจะออกไปรับรู้เรื่องอื่น แต่ถ้ามันจบมันต้องจบ ก็จบของมันที่นี่ คือจบในสิ่งที่เราจะไปรับรู้ตัวอื่น ตัวมัน เราทำลายตัวมันก่อน คือทำลายตัวที่มันจะไปรับรู้เขานั่นน่ะ

อันนี้เพราะเรา ใช่ เราพยายามอยู่ สิ่งใดที่เป็นความขยันหมั่นเพียร ถ้าความขยันหมั่นเพียรก็ความเพียรชอบ ถ้าความเพียรชอบ เขาเรียกว่านิสัย ถ้าเราฝึกบ่อย ดูสิ หลวงตาท่านพูด เมื่อก่อนท่านนอน ท่านเรียนมาไง ในพระไตรปิฎกบอกว่าหัวค่ำให้นอนตั้งแต่ ๑๐ โมงขึ้นไปถึงตี ๒ นอนระหว่างกลาง แล้วพอตี ๒ ต้องตื่นแล้ว แล้วไม่นอนเลย ภิกษุให้นอนแค่นี้ ให้นอนวันละ ๔ ชั่วโมง แล้วก็ฝึกจนเคย ฝึกจนเคย แล้วตอนหลังนะ พอสิ้นกิเลสแล้ว พอถึงตี ๒ มันจะเด้งเลย ต้องฝึกใหม่ ฝึกไม่ให้ลุก พอตื่นนอนแล้วบังคับตัวเองไว้ไม่ให้ลุก บังคับตัวเองไว้นะ ไม่ให้ลุก ให้ตั้งสติให้ดีก่อน แล้วสติมาพร้อมแล้วค่อยลุก แต่เมื่อก่อนพอมันรู้สึกตัวต้องรีบเลย ไม่อย่างนั้นถ้าช้าหน่อยนะ ขออีกหน่อยหนึ่ง ช้าไม่ได้ พอช้าไม่ได้ ต้องทำอย่างนั้นๆๆ ทำทุกวันจนเป็นนิสัย

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ที่พูดอย่างนี้ ที่ว่าเมื่อก่อนเราเดินจงกรมอย่างน้อยวันละ ๘ ชั่วโมง นี่เหมือนกัน เพราะเรามีความคิดอย่างนี้ ตอนบวชใหม่ๆ นะ ตอนบวชใหม่ๆ อยากจะไป อยากจะเอาตัวรอดให้ได้ ประสาเรา จะไปให้พ้นน่ะ แล้วทีนี้มาคิดถึงการทำงาน ข้าราชการทำงานวันละ ๘ ชั่วโมง เข้า ๘ โมง ออกเที่ยง บ่ายโมง ๔ โมงใช่ไหม เขาทำงานแค่เลี้ยงชีพ เขายังทำได้ขนาดนั้น แล้วเราจะฆ่ากิเลส มันเลยตั้งกติกากับตัวเองว่าอย่างน้อยวันหนึ่งต้องเดินจงกรม ๘ ชั่วโมง อย่างน้อย แล้วนั่งสมาธิต่างหาก นั่งสมาธินี่ของแถม

แต่เดินจงกรม เพราะมีนาฬิกา เริ่มต้นตั้งแต่ฉันข้าวเสร็จ ฉันข้าวเสร็จจะได้สัก ๓-๔ ชั่วโมงแล้ว บ่ายโมงฉันน้ำร้อน ตีตาดเสร็จ เดินต่อไป ถ้าวันไหนครบ ๘ ชั่วโมง วันนั้นไม่เสียสัจจะ ถ้าวันไหนไม่ถึง ๘ ชั่วโมง วันนั้นเสียสัจจะ แต่ไม่ยอมหรอก เพราะมันยังมีเวลากลางคืนที่จะทำให้ครบได้ เพราะเริ่มต้นตั้งแต่ฉันข้าวเสร็จ ทุกวันไป เว้นไว้แต่เวลาในหมู่คณะเขามีงาน อย่างเช่นวัดไหนมีการก่อสร้าง ไปช่วยเขาทำการก่อสร้าง ต้องทำอย่างนี้ตลอดไป นี่ไง แล้วพอทำอย่างนี้ทุกวันๆๆ คือมันเป็นหน้าที่ ไอ้จิตสงบไม่สงบอีกเรื่องหนึ่งนะ บางวันภาวนาดีก็มี บางวันภาวนาไม่ดีก็มี แต่บังคับตัวเองต้องอยู่ในทางจงกรม ต้องเดินไปเดินมา เดินมาเดินไปนี่แหละ บังคับตัวเองเลย

โธ่! เวลาเราทุกข์เรายากนะ อย่างเช่นโยมทำงานวันละ ๘ ชั่วโมงกัน เขายังทำงานได้ แค่เลี้ยงชีพ แล้วนี่เราจะฆ่ากิเลส แล้วทำไมแค่นี้มึงทำไม่ได้ ฉะนั้น หมู่คณะในรุ่นเดียวกันเวลาพูดถึงเรา ใช่ ถ้าคนที่ไม่ชอบหน้าก็พูดไปอย่างหนึ่ง แต่ถ้าคนคุ้นเคยกันเขาจะรู้เรื่องความเพียร คนเราเขายอมรับกันตรงนี้นะ เรื่องความเพียร เรื่องการมุมานะ เรื่องความตั้งใจจริง

อย่างเพื่อนเรา เราเห็นเขาตั้งใจจริงขนาดนี้ เราพยายามชวนเขาไปไหน หรือเสนอ หรืออะไรอย่างอื่นไปแล้วเขาไม่เอา เราจะเกรงใจเขาไหม เวลาเราอยู่ด้วยกัน เราเพื่อนกัน เห็นเขาทำแต่อย่างนี้ แล้วเราจะไป จริงอยู่ เราชวนเขาไปทางอื่นบ้างอะไรบ้าง บางทีเขาไปกับเรา ถ้าเราจะไปทำเขาบ่อยๆ ขอให้เรามีจุดยืนเถอะ ถ้าเรามีจุดยืน คนเขาจะยอมรับเราเอง แล้วเรื่องความเพียรของเรา นี่พูดถึงขยันหรือขี้เกียจ ทีนี้ขยันหรือขี้เกียจ พูดอย่างนี้นะ มันเหมือนกับทางหมอ มันมียาแก้ไง กินยาขยันจะช่วยให้ขยันไง

มันไม่มียาแก้หรอก กิเลสมันไม่มียาแก้ มันมีแต่ดัดนิสัยนี่แก้ ดัดนิสัย เปลี่ยนแปลงความคิด ความมุมานะ ถ้าไม่เปลี่ยนที่นี่ นี่ไง เวลาทรมาน เวลาเราเปลี่ยนโปรแกรมความคิด อุดมคติ ถ้าเราสามารถให้อุดมคติ ให้ความคิดเขามุ่งมั่น เขาเปลี่ยนชีวิตเขาเลย

อย่างพ่อแม่สอนลูกๆ สอนตรงไหน สอนให้ลูกเป็นคนดี ถ้าจิตใจเขามุ่งมั่นในสิ่งที่ความดี มันจะทำสิ่งที่ไม่ดีได้อย่างไร แล้วนี่เราฝึกของเรา เราแก้ไขของเรา ความตั้งใจมุมานะมันอยู่ที่นี่ แล้วเราตั้งใจของเรา มันจะทำให้เราเปลี่ยนแปลงได้เลย แล้วความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงจากข้างนอก มันจะมีความเปลี่ยนแปลงจากข้างใน เพราะจิตมันเห็นจิตมันรู้ จิตมันรู้จริงๆ นะ สมาธิก็เรารู้ว่าเป็นสมาธิ แต่พอพูดว่าสมาธิก็เรารู้ว่าเป็นสมาธิ ใครมาหาเรา “หลวงพ่อ ว่างๆ ว่างๆ ทำอย่างไรต่อ” อันนี้ไม่ใช่สมาธิ จริงๆ เรารู้เลยนะ แต่บางทีใครมาเราก็จะแบบว่าไปตามน้ำ คือเออออไปกับเขาก่อน

“ว่างๆ ทำอย่างไร”

ว่างๆ แสดงว่าตัวเองไม่รู้ สมาธิต้องรู้ว่าสมาธิ

ถ้าสมาธินะ “หลวงพ่อ เป็นอย่างนั้นๆๆ” เออ! ใช่ นี่สมาธิ “โอ้โฮ! มันว่างอย่างนั้นเลย มันปล่อยอย่างนั้นเลย”

“ว่างๆ อย่างนี้ทำอย่างไรต่อ ว่างๆ” คือขึ้นต้นก็ไม่ถูก ตรงกลางก็ไม่ถูก จบก็ไม่ถูก “ว่างๆ แล้วทำอย่างไร” คือเขาไม่เป็นความจริง มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันสร้างภาพ ถ้าใครพูดคำนี้มานะ เราฟันธงได้เลย ไม่ใช่สมาธิ ไม่ใช่สมาธิ แต่เขาฝึกฝนอยู่แล้วเป็นอย่างไร เราจะแก้ไขอย่างไรให้เขาเข้าสมาธิให้ได้

ถ้ามานะ เราไม่เชื่อว่าสิ่งนี้เป็นสมาธิเลย แล้วอย่างการทำสมาธิ คนทำสมาธิได้แสนยาก ทีนี้ถ้าเขาทำได้ขนาดนี้ ประสาเราน่ะ คือคนขยัน แต่ผลยังไม่ได้ เราจะไปบอกว่าผิดหมดเลย ไอ้ความขยันนั้นจะหายไป

ฉะนั้น ถ้าเขาเป็นคนขยัน เราก็บอกว่าขยันแล้วควรทำอย่างนี้ๆๆ แล้วถ้าเขาไปเจอความจริงเข้าเขาจะรู้เองว่าอันนี้เป็นความจริง อันนั้นเป็นความไม่จริง เวลาจะแก้ คนเราแก้อย่างนี้ เวลามานะ ต้องมีพื้นฐานไว้ก่อน แล้วพยายามจะดัดแปลงให้มันเข้าถึงข้อเท็จจริง โดยการกระทำของเขานั่นแหละ ให้ตั้งสติขึ้นมาให้ดี ให้มีความมีสติให้ดี กำหนดคำบริกรรมให้ช่วงมันแคบเข้ามาหรือให้มันถี่เข้ามา ความถี่ ความห่าง ไอ้ความคิดมันจะสอดได้ ถ้าเราเอาความคิด คำบริกรรม หมายถึงว่า ให้มันสั้นเข้า ให้มีสติเข้า ถ้ามันยังไม่ได้ ไม่ได้ เครียด ทำไม่ได้ เปลี่ยน เปลี่ยนเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เปลี่ยน วิธีการมันเยอะแยะ แต่ต้องเป็นความจริง ต้องมีจุดยืน ต้องตามความเป็นจริงแล้วให้ตามความจริงนั้น

แล้วเวลาปฏิบัติเข้าไป ถ้าจิตมันมีอาการเปลี่ยนแปลง รถยนต์ไม่ได้เคลื่อนไหว ไมล์จะกระดิกไม่ได้ ล้อรถหมุนเมื่อไหร่ ไมล์จะกระดิกทันทีเลย จิตของคนถ้ามันมีการเปลี่ยนแปลง มันจะรู้จะเห็น บางคนเห็นนิมิต บางคนเห็นต่างๆ รถพอเคลื่อนไป เรานั่งอยู่บนรถที่มันวิ่งสิ ภาพนะ ภาพที่มันวิ่งไป ภาพข้างทางมันจะเร็วมาก ไอ้การเห็นนิมิต การเห็นต่างๆ มันจะเกิดอย่างนี้ ยังต้องแก้ไขกันอีกชั้นหนึ่ง แต่ถ้ารถเราวิ่งไปโดยทุ่งโล่ง ไม่มีภาพสิ่งใดเลย ขอให้มันวิ่งเถอะ ก็ไม่เป็นไร คือเราจะบอกว่าบางคนก็เห็นนิมิต บางคนก็ไม่เห็นนิมิต ไม่เหมือนกัน ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องเป็นนิมิต จะต้องเป็นอย่างที่คนอื่นเขาเป็น ไม่จำเป็น

จำเป็นแต่ว่าขับรถไป รถเราวิ่งเท่าไร ๑๙๐ ๑๒๐ อ้าว! รถเราวิ่งน่ะ ไมล์มันบอก เหมือนกัน จิตถ้ามันดี จิตมันบอก โอ้โฮ! เวลาคนภาวนาดีๆ มานะ โอ้โฮ! หลวงพ่อ ยกสองนิ้วเลย เออ! เขามีความสุขมา เออ! ใช่ เขามีความสุขของเขามา นี่จิตมันรู้เอง แล้วตรงนี้สำคัญมาก ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เรารักษาให้สงบเข้ามา แล้วเวลาเราปฏิบัติมา บังเอิญเรามีหลักเราถึงเช็คได้หมด เวลามาอย่างนี้ ถ้ามีวาสนา บางคนมา พอจิตสงบปั๊บ มันจะเห็นกาย เห็นสิ่งต่างๆ บางคนทำอย่างไรก็ไม่เห็น ถ้าไม่เห็นปั๊บ มันก็ต้องพยายามให้จิตนั้นสงบเข้าไปถึงข้อมูลเดิม ถึงฐานเดิม ถ้าถึงฐาน เหมือนเรา คอมพิวเตอร์ทุกคนเปิดเครื่อง แล้วดูซิว่าเราจะหาข้อมูลเราอย่างไร ถ้าเปิดเครื่องแล้วข้อมูลมันก็ไม่ขึ้น เอ๊ะ! มันจะทำอย่างไร อ้าว! อย่างนั้นแสดงว่าคอมพิวเตอร์มึงมีปัญหา พอมีปัญหาก็ต้องแก้ไข แก้ไขกันไป แต่บางคนพอเปิดเครื่อง มันขึ้นหมดเลย จิตมันสงบแล้วมันเห็นหมดเลยน่ะ

มันต้องค่อยๆ แก้กันไปทีละชั้นๆๆ นะ นี่ไง พวกกรรมฐานเราถึงติดครูบาอาจารย์ไง เพราะครูบาอาจารย์ประกันความเสี่ยงเรื่องความผิดพลาด ประกันความเสี่ยงเรื่องเสียเวลา ทีนี้มันก็ย้อนกลับมา ถ้าเราทำไม่ได้ เราก็โทษว่าครูบาอาจารย์ไม่เป็นไง เราเองรถติดเครื่องอย่างไรก็ติดไม่ติด แบตก็ไม่มี ติดเครื่องไม่ได้สักที อาจารย์กูสอนไม่เป็นเว้ย สอนไม่ได้ อาจารย์ไม่เป็นนะ เพราะเครื่องรถฉันไม่ติด ทำอย่างไรก็ไม่ติด

มันมีหลายหลากนะ ความคิดของคนมันหลายหลาก แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ เป็นความจริงมันตรวจสอบได้ง่ายๆ เลย นี่พูดถึงความขยันหมั่นเพียรนะ เวลาเราคิด อย่างเช่นความกลัว วันนี้กลัวมาก เรากลัวอะไรไม่รู้ กลัวสุดๆ เลย แล้วเราใช้ปัญญาไล่ต้อนความคิดเราเข้าไป หาเหตุหาผล ความกลัวมันหายหมดเลยนะ โอ้โฮ! ก็คิดว่าเรานี่ แหม! ไม่กลัวอะไรอีกแล้วนะ อยู่ไปพักหนึ่งเดี๋ยวกลัวอีกแล้ว มันหายกลัวจากเรื่องนี้มันก็ไปกลัวเรื่องอื่น หายจากกลัวเรื่องอื่นมันก็ไปกลัวเรื่องอื่น เพราะไอ้เรื่องกลัวนี่มันเรื่องข้อมูลที่มันสร้างขึ้น แต่จริงๆ คือใจมันกลัว ใจมันกลัวเพราะอะไร เพราะมันไม่รู้จริงในใจมัน

ขยันหรือขี้เกียจเป็นอย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ คือเดี๋ยวก็ขยัน เดี๋ยวก็ขี้เกียจ มันเป็นอย่างนี้ เพราะการขี้เกียจนั่นคือเรื่องของกิเลส ความขยันเป็นมรรค ความเพียรชอบ ความเพียร ความวิริยอุตสาหะ ความมรรคไง มรรค เขาถึงบอกว่า “มีความอยากภาวนาไม่ได้ มีความอยากเป็นกิเลส”

ความอยากมันอยากในอะไร อยากในสิ่งที่เป็นบวกนี่เป็นมรรค มรรคคือ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา คือสภาวะ คืออาหารเราตักใส่ปาก อาหารตักใส่ปาก อิ่มท้องใช่ไหม เรื่องของมรรค ความอยาก อยากกับการกระทำ การกระทำเหมือนกับกินอาหาร เพราะอะไร เพราะมันมีความเพียร มีการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ถ้าสิ่งนี้มันสมดุลแล้ว เรากินแล้วมันก็อิ่มท้อง

ทีนี้บอกว่าถ้ามันมีความอยากแล้วห้ามภาวนา...อ้าว! ก็ไม่ต้องกินน่ะสิ ก็ปฏิเสธเลย กินไม่ได้ อาหารกินไม่ได้ มันเป็นกิเลส ก็ต้องกินเว้ย ไม่กินก็ตายน่ะสิ แล้วถ้าไม่ภาวนา ไม่กำหนดพุทโธ ไม่ทำเลย มันก็ไม่ใช่มรรคอีกน่ะ เห็นไหม นี่เวลาเขาพูด เขาพูดไปประสาความเห็นของเขา แต่เขาไม่พูดตามข้อเท็จจริงว่าอะไรเป็นกิเลส ขี้เกียจเป็นกิเลส ขยันเป็นมรรค

ทีนี้พอขยันขึ้นมา ขยันก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค ก็เป็นกิเลสอีก...ไม่ใช่ ขยันเป็นมรรค ความขยันหมั่นเพียรนี้เป็นมรรค มรรคญาณ มรรค เห็นไหม ความเพียรชอบ วิริยอุตสาหะชอบ มันก็เข้ามาในศาสนา แล้วก็บอกเลยนะ ศาสนาพุทธสอนให้ปล่อยวางๆ ทุกคนก็บอกไม่ต้องไปวัด ตื่นนอน ไม่ทำอะไร นอนอยู่บนเตียง ไม่ทำอะไรเลย ปล่อยวาง...ไม่ใช่

ปล่อยวาง หมายถึงว่า เราเข้าไปรู้แจ้ง เข้าไปเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนเศรษฐี แล้วสลัดมันทิ้งหมดเลย นั้นถึงจะเป็นการแก้กิเลส มันไปรู้จริงเห็นจริงแล้วมันสลัดทิ้งหมด นั่นมันถึงปล่อยวางอย่างนั้น ว่างอย่างนั้น ว่างด้วยเหตุด้วยผล ว่างด้วยความรู้จริง ว่างด้วยความเข้าใจหมด ไม่ใช่ว่า “ศาสนาพุทธสอนให้เราปล่อยวาง ไอ้พวกไปวัดไอ้พวกกิเลสเยอะ ไอ้อยู่บ้านนอนตีแปลงนั่นล่ะปล่อยวาง”...นั่นน่ะนอนจมอยู่กับกิเลส

ความคิดของเขาไง แล้วมันไม่มีครูบาอาจารย์โต้แย้ง ถ้ามีครูบาอาจารย์โต้แย้งนะ มันจะปล่อยวาง อย่างที่ว่า กว่าจะปล่อยวางได้ กว่าจะทำสมาธิได้ก็แสนยาก แล้วพอมีสมาธิแล้ว กว่ามันจะไปรู้จริงเห็นจริงอีก เหมือนเราเรียนจบเลย ใครเรียนจบอะไรก็แล้วแต่ เรียนจบมามีงานทำไหม เรียนจบมาแล้วยังขอพ่อแม่เลย “แม่ ขอสตางค์ๆ”

เรียนจบมาแล้วมีงานทำหรือยัง ทำสมาธิแล้วทำวิปัสสนาหรือยัง ถ้าขึ้นวิปัสสนา นั่นน่ะมีงานทำ ถ้าไม่ขึ้นวิปัสสนานะ เรียนจบ ทำสมาธิได้ แต่เลี้ยงตัวเองไม่ได้ พอเริ่มออกทำงานนะ เราจะมีงานทำ เราจะมีรายได้ เราเลี้ยงชีวิตเราได้ วิปัสสนาออกแล้ว

มาถึงเลย อย่างที่ใครมา มาถึงบอกว่าให้ใช้ปัญญาไปเลยๆ

ถ้าอย่างนั้นแล้วเราก็เชื่อเด็กๆ เด็กๆ มันเล่นกันแล้วมันก็ว่ามีปัญญา มันก็บอกประสามันน่ะ แล้วเด็ก เราเชื่อข้อมูลอะไรของเด็กได้ ไม่ได้หรอก นี่ก็เหมือนกัน เราเชื่อข้อมูลของกิเลสไม่ได้ แม้แต่กิเลสเรา ตรึกในธรรมพระพุทธเจ้านี่แหละก็ยังเชื่อไม่ได้ เพราะมันจะไปเคลมเอาธรรมพระพุทธเจ้ามาเป็นของเรา “รู้แล้วๆๆ”...รู้อะไร มีอะไรบ้างที่เป็นความรู้จริง

แต่ถ้ามันเป็นสมาธิปั๊บ พอมันวิปัสสนาไป เหมือนกับเราลงไปฝึกงานแล้วมันได้งานขึ้นมา รู้ รู้เพราะทำเป็น รู้เพราะทำเป็น รู้เพราะทำได้ รู้เพราะมีผลงาน มันรู้อย่างนั้น ไม่ใช่ไปศึกษามาแล้วรู้ไง นี่ไง ถึงว่าเป็นปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

เรื่องของปริยัติก็คือการศึกษาก็ศึกษามา แต่ศึกษาแล้ว เพราะปริยัติ ปริยัติแล้วให้มาปฏิบัติ ปริยัติมันเป็นแค่ทางทฤษฎี ต้องให้มาปฏิบัติ ทีนี้พออย่างเราพอปฏิบัติกันแล้วก็จะไปศึกษาปริยัติ มีเยอะนะ ในหมู่กรรมฐานเรา พอมากำหนดพุทโธๆ ไม่ได้ แล้วก็กลับไปเรียนอภิธรรมกันน่ะ เยอะ เยอะมาก พอไปเรียนอภิธรรมปั๊บ “อืม! กูไม่น่าโง่อย่างนี้เลยนะ แล้วมาเรียนก่อนก็ดี”

มันโง่ซ้อนโง่นะน่ะ มันโง่ ๒ ชั้น โง่ชั้นแรกมันเอาตัวไม่รอด มันจะไปโง่อีกชั้นหนึ่ง แล้วมันว่ามันฉลาด กิเลสไม่ได้หรอก พอไปให้เกียรติมันนะ โอ้โฮ! มันกระทืบตายเลยนะ กิเลสนี่ไปยกยอมันไม่ได้หรอก ตาย ตายเด็ดขาดเลย

ทีนี้มันก็น่าเห็นใจ เพราะเราเห็นอย่างนี้เยอะ อยู่กับครูบาอาจารย์น่ะ เวลาพรรคพวกเขา ใครไปเรียนอภิธรรมเขาจะมาบอกกัน ทีนี้ในหมู่เราถ้าไม่เรียนอภิธรรม ทุกคนเลย ถ้าไม่เรียนอภิธรรม เราก็กลัวว่าเราจะโดนพระหลอก เราจะไม่รู้ทฤษฎีจริง แล้วเราจะปฏิบัติไม่ได้ ก็พยายามจะไปศึกษากันให้รู้จริงแล้วเพื่อจะมาปฏิบัติ แล้วพอไปศึกษาเข้าจริงๆ แล้วไม่ปฏิบัติแล้ว เพราะไปเกิดมีศักดิ์ศรี พอไปเรียนแล้ว รู้แล้ว พอรู้แล้วนะ ไอ้พวกที่ไม่เรียนมันปฏิบัติอยู่ มันโง่ มันไม่เรียนแล้วมันปฏิบัติ พอมันไปเสริมกิเลสเข้านะ มันจะปฏิบัติได้อย่างไร ยิ่งเรียนไปนะ “กึ่งพุทธกาลแล้ว ไม่มีแล้ว มรรคผลไม่มี”

ยิ่งเมื่อ ๒ วันที่ว่าหมอมาน่ะ “ไอ้หลวงพ่อ หลวงตา อย่าไปเชื่อนะ สมาธิไม่ต้องทำ” อภิธรรมเขาพูดอย่างนั้นจริงๆ มี ๒ คน มีเขามาหาคนหนึ่ง หมอ แล้วอยากปฏิบัติมาก ก็ปฏิบัติด้วยตัวเอง ไม่ไปหาอะไร อ่านหนังสืออยู่ ๓-๔ เดือน เสร็จแล้วก็ไปมูลนิธิแนบ ไปถึงเขาใส่เลย “ไอ้หลวงพ่อ หลวงตาน่ะ อย่าไปเชื่อ ไอ้สมถะไม่ต้องทำ” เขาว่านะ เขาก็ไม่ทำอยู่พักหนึ่ง ก็ไปทำตามเขา

พอทำตามเขา ทำๆ ไปแล้ว เขาเป็นหมอ เขาบอกว่ามันจะมีรูปที่เห็นภาพชัด มันจะเห็นภาพ กับรูปที่สุดสายตาของหมอเขา ทางวิชาการเขามี เขาบอกเขาเห็นภาพอย่างนั้น แล้วเขาไปเห็นจริงเห็นจังหมดเลย แล้วทำแล้ว เขาก็กลับ พอเห็นปั๊บ มันไม่จริง มันไม่จริง หมายถึงว่า โดยวิชาการทางหมอ ทางวิทยาศาสตร์มีอยู่แล้ว เขาก็ไปถามอาจารย์เขาว่า ความเห็นอย่างนี้แก้กิเลสได้หรือ ถ้าความเห็นอย่างนี้แก้กิเลสได้ มันก็เรื่องพื้นๆ เรื่องเด็กๆ เขาไม่เชื่อ

แล้วพอพูดอย่างนั้นปั๊บนะ อาจารย์ที่สอนเขาอยู่บอกว่า “ไม่เชื่อพุทธพจน์หรือ ไม่เชื่อคำสอนพระพุทธเจ้าหรือ” แล้วพอพูดอย่างนั้นปั๊บ เอ็ดเขาแล้วไม่ตอบเขาไม่ได้ ก็ไปตอบคนอื่น

เขาก็เลยไปปรึกษากันแล้วก็มาที่นี่ มาหาเรา เราถึงพูดคำนี้ให้เขาฟัง แต่เวลาเราน้อย เราก็ส่งไปให้ทางโน้น เราบอกว่า ความคิดอย่างนี้ อย่างที่เราพูดว่าสมมุติ ที่ว่าวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์น่ะ สมมุติหมด เป็นโลกียปัญญา มันเป็นวิทยาศาสตร์ไง เป็นการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์คือทฤษฎีที่ต้องเป็นอย่างนั้นใช่ไหม แล้วในทางวิทยาศาสตร์ ปรมัตถธรรมไม่มี คือสิ่งที่เป็นสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไม่มี

วิทยาศาสตร์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไม่มี มี ๙๙.๙๙ เผื่อไว้เปอร์เซ็นต์หนึ่ง เอาไว้ให้กิเลสมันออกไง เอาไว้ให้หลอกตัวเองไง แต่ถ้าเป็นปรมัตถธรรมนะ ปรมัตถธรรม ฟังสิ ล้านเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าปรมัตถธรรมไม่สะอาดพอ แก้กิเลสไม่ได้

ทีนี้ความสะอาดของมัน ความสะอาดของมัน เวลาจิตสงบแล้ว จิตสงบมันว่างเฉยๆ มันว่างเฉยๆ เหมือนกับมันกดทับไว้ ถ้าเราใช้ปัญญาปั๊บ ปัญญาอาศัยสมาธิเป็นฐานเพราะเป็นมรรค ๘ มรรค ๘ มีสัมมาสมาธิ ว่าสัมมาสมาธิ ตัวจิต แล้วตัวปัญญามันเคลื่อนไป มันล้างกัน มันล้างกัน พอล้างกัน เริ่มต้นมันจะเป็นตทังคะ คือความเข้าใจก่อน ความเข้าใจ ความปล่อยวาง เขาถึงเรียกว่าตทังคปหาน คือการปล่อยวางชั่วคราว อันนี้ไม่ใช่ชำระกิเลส แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างกิเลสกับธรรมมันเริ่มทำงานแล้ว มันเริ่มทำงาน มันเริ่มทำความสะอาดแล้ว แต่มันยังไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ก็ต้องทำบ่อยครั้งๆๆ จนสมดุลน่ะ ถ้าวันไหนสมดุล นั่นน่ะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าพูดถึงไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เกิดปรมัตถธรรมไม่ได้ คือฆ่ากิเลสไม่ได้ การฆ่ากิเลสต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ล้านเปอร์เซ็นต์ ต้องสะอาดหมด แล้วสะอาดหมด ใครรู้? เจ้าตัวรู้

แล้วเจ้าตัวรู้เสร็จแล้ว สิ่งที่สื่อกันน่ะ ธมฺมสากจฺฉา เวลาไปคุยกับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ที่ผ่านมาแล้วรู้ คนเคยผ่านมารู้ จิตที่สูงกว่าแก้จิตที่ต่ำกว่าได้ จิตที่ต่ำกว่าแก้จิตที่สูงกว่าไม่ได้ สิ่งนี้มันจะเช็คกัน มันตรวจสอบกันได้ ฉะนั้น ธรรมะตรวจสอบได้ ตรวจสอบได้หมด มันถึงเป็นความจริง

ฉะนั้น พูดถึงวิทยาศาสตร์ เราจะพูดอย่างนั้น วิทยาศาสตร์นะ เพราะลูกศิษย์เขาเรียนวิทยาศาสตร์มา ปริญญาโท แล้วมาหาเรา พ่อแม่เขาก็ไม่อยากให้มา อยากส่งไปเรียนนอก เขาไม่เชื่อนะ เขาเรียนวิทยาศาสตร์มาเลย เขาบอกว่าในการทดสอบทางวิทยาศาสตร์แค่ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ทดสอบๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นปั๊บก็ถือว่าใช้ได้แล้ว เห็นไหม แค่สมมุติเราทดสอบ ๑๐๐ หน ๒๕ ครั้งที่ทำแล้วออกค่าอย่างนั้นถือว่าถูก เขาถึงบอกเขาไม่เชื่อไง

เขาเรียนวิทยาศาสตร์นะ เรียนวิทยาศาสตร์เลย แล้วจบปริญญาโท แล้วพ่อจะส่งไปเรียนนอก แต่เขาสนใจธรรมะ พ่อแม่พามา พ่อแม่ก็กลัวลูก นี่เขาบอกเขาเรียนวิทยาศาสตร์ เขาทดสอบแล้ว เขาศึกษาธรรมะแล้วเขาถึงเชื่อทางนี้มาก

แล้วถึงว่า ใช่ มันทดสอบได้ทางวิทยาศาสตร์ ดูอย่างเครื่องยนต์กลไกมันยังมีค่าความเสื่อม มีค่าความเสียหาย มันมีทุกอย่าง มัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ โลกนี้เป็นอนิจจัง โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิตย์ โลกนี้ต้องเสื่อมสลายเป็นธรรมดา แต่เราพยายามจะชนะมันด้วยทางวิทยาศาสตร์ คือว่าพยายามจะสร้างขึ้นมา สิ่งที่ควบคุมมัน ก็อาศัยนี่เข้าไปควบคุม

มันพูดถึง เราเห็นด้วยนะ ถ้าอย่างทางโลก ทางเรื่องคณิตศาสตร์ เรื่องฟิสิกส์ เราเห็นด้วยนะ เราเห็นด้วย มันเป็นวิชาชีพ มันเป็นสิ่งที่ทางวิชาการที่เราเอามาพัฒนาโลก เราเห็นด้วยนะ เห็นด้วยแค่นั้น เห็นด้วยทางใช้ประโยชน์ทางโลก โทษนะ แต่ธรรมะนี่สูงส่งกว่าเยอะ สูงส่งกว่าเยอะ มีค่าเหนือกว่าเยอะ เพียงแต่ทางวิทยาศาสตร์มันพิสูจน์ทางวิชาการ ทำให้เห็นกันได้ง่ายๆ ไง

แต่การปฏิบัติ แต่ละดวงใจกว่าที่มันจะมุมานะไปได้มันยาก แต่มันไม่สุดวิสัยมนุษย์หรอก แล้วค่าคงที่ ค่าคงที่ โสดาบันคงที่ โสดาบันไม่มีวันเสื่อม แล้วค่าคงที่เพิ่มขึ้น เพราะถ้าเป็นโสดาบัน อีก ๗ ชาติต้องนิพพาน ถ้าสกิทาคามี ถ้าอนาคามี อนาคามีไม่กลับมาเกิดบนโลกนี้อีกแล้ว ไปเกิดบนพรหม แล้วถ้าสิ้นกิเลส จบ จิตนี้จบได้ การหมุนเวียนจบได้ จบแบบมี จบแบบความรู้สึกเราเป็นเจ้าของ จิตนี้นิพพาน จิตนี้เป็นเจ้าของผลงาน

จิตนี้ถ้ามันสิ้นจากกิเลส ไม่ต้องว่าวิมุตติสุขมันอยู่ที่ไหน ไม่ต้องไปห่วง เพราะสุขทุกข์ ใจมันรับรู้ แล้วถ้ามันพ้นทุกข์ ใจมันรับรู้ เพราะใครเป็นคนผู้พ้น แต่ตอนนี้ทางวิทยาศาสตร์หรือพวกเราพิสูจน์กัน เราไม่เชื่อใจตัวเราเอง เพราะใจมันโลเล เราเองนะไม่เชื่อใจเราเอง เราไปเชื่อใจสิ่งที่พึ่งอาศัย ไปเชื่อใจวัตถุสิ่งของ เช่น สมบัติของเรา เราไปอบอุ่นเชื่อใจมั่นใจกับสิ่งที่เราอาศัยมัน แต่เราไม่เคยเชื่อใจตัวเราเองเลย เพราะใจเราโลเล ใจเราไม่มีหลัก แต่ถ้าเป็นโสดาบันมันจะเชื่อใจมันได้ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นสกิทาคามีเชื่อได้ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นอนาคามีเชื่อได้ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นพระอรหันต์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

แล้วคำว่า “๑๐๐ เปอร์เซ็นต์” ปั๊บ มันก็ไม่สงสัยในสิ่งใดๆ เรื่องของใจอีกเลย มันถึงอธิบายเรื่องของใจได้เข้าใจไง แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันนะ ก็อธิบายได้ในส่วนที่ ๒๕ เปอร์เซ็นต์นั้น คือรู้จริง มั่นใจจริงๆ แต่อธิบายได้ส่วนที่รู้ ส่วนที่ไม่รู้ อธิบายยังไม่ได้ ทีนี้ถ้าเป็นสกิทาคามี ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ก็อธิบายส่วนที่รู้ ส่วนที่ไม่รู้อีก

ในมุตโตทัยไง ที่หลวงตาบอกว่า หลวงปู่มั่นบอกว่าธรรมะสถิตในอยู่ที่ไหน ทองคำอยู่ในดิน ทองคำมันก็เลอะดิน ทองคำอยู่ในร้าน ทองคำที่หลอมแล้วก็สะอาดบริสุทธิ์ ทองคำคือธรรมะพระพุทธเจ้า อยู่ในใจของปุถุชนก็ฝังอยู่ในดิน ก็สกปรกไปด้วยความคิดความเห็นเรา แต่ถ้าเราสูงขึ้นมาขนาดไหน ทองคำมันสะอาดขึ้นมาเรื่อยๆ คือมันไม่มีสิ่งเจือปนขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นทองคำบริสุทธิ์ ธรรมะพระพุทธเจ้าบริสุทธิ์อยู่แล้วไง เห็นไหม

เราถึงโต้แย้งอภิธรรม เพราะอภิธรรมศึกษาธรรมะ แล้วบอกธรรมะคือทองคำบริสุทธิ์...ใช่ แต่เป็นธรรมะพระพุทธเจ้า แต่ถ้าเป็นธรรมะเรา ธรรมะพระพุทธเจ้านะ ทาน ศีล ภาวนาก็เหมือนกัน พูดธรรมะเหมือนกัน แต่พอเอาเข้ามาในใจเรา ใจเรามันมีดินน่ะ ใจเรามีกิเลส ใจเรามีอวิชชา อย่างไรมันก็สกปรกไปเพราะอวิชชาของเรา ทีนี้พอเวลาปฏิบัติปั๊บก็ห้ามสกปรก มันเลยกลับกันไง

แต่ถ้าเป็นกรรมฐานเรา เป็นพระป่าเรา มันยอมรับความจริง คือใจเราสกปรก ใจเรานี่มีอวิชชา ไม่มีอวิชชาไม่มาเกิด คนที่เกิดทุกคนมีอวิชชาหมด ฉะนั้น พอมีอวิชชาปั๊บ พอเราจะทำขึ้นมามันก็เลยขี้เกียจไง มันก็มีสิ่งโต้แย้งไง มันมีทุกอย่างเลย ฉะนั้น เราถึงต้องต่อสู้กับมัน

นี่ไง กิเลสกับธรรม ธรรมะกับกิเลส มันจะต่อสู้ในหัวใจของเรา ธรรมะของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นเพราะเราตั้งสติ เรานึกถึงสติ สติก็พร้อม ทำทุกอย่างแล้วทุกอย่างก็พร้อม เรานึก นั่นน่ะธรรมะเกิดแต่ชั่วคราวเพราะเราสร้าง แต่กิเลสมันไม่ได้สร้าง กิเลสมันเป็นเรา แต่ธรรมะเราต้องสร้าง เห็นไหม คุณงามความดี ความขยันหมั่นเพียร เราต้องสร้างหมดเลย สร้างบ่อยๆ สร้าง หมั่นเพียรสร้าง สร้างจนเป็นนิสัย พอสร้างวิทยาศาสตร์ปั๊บ มีกำลังสู้กับมันได้แล้ว สู้กับมันได้แล้ว แล้วพอมันชนะขึ้นมา เราถึงเกิดมาโชคดี เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เกิดมาเจอทฤษฎีของพระพุทธเจ้าไง แล้วเราต้องมาสร้างเป็นข้อเท็จจริงกับเรา การปฏิบัติคือสร้างข้อเท็จจริงขึ้นมา แล้วพอเราสร้างข้อเท็จจริงขึ้นมา เราก็รู้จริงขึ้นมาๆๆ จนเรารู้แจ้ง พระอรหันต์มีค่าเท่ากัน พระพุทธเจ้าก็พระอรหันต์ สาวกสาวกะที่สำเร็จตรัสรู้แล้วขึ้นมาก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน นี่ไง สะอาดบริสุทธิ์เหมือนกันไง เพราะเราสร้างขึ้นมาจนเป็นของเราไง

ที่ว่าพระสารีบุตรบอกว่า “เราไม่เชื่อพระพุทธเจ้าเลย ไม่เชื่อ”

ตอนที่ยังไปเที่ยว ไปดูมหรสพ เราไปดูมหรสพสมโภช เราดูแล้วเราชื่นใจ แต่ทุกวันๆ จนไปดูอีกวันหนึ่ง มันสลดสังเวช ก็เลยปรึกษากัน ปรึกษากันว่าเราจะหาทางออก หาทางออก นี่คนหาทางออก ไม่มีทางไป ไปเจอสัญชัย ไปอยู่กับสัญชัยก่อน “สิ่งต่างๆ นี่ไม่ใช่” คือทุกอย่าง ปฏิเสธทุกอย่างหมดเลย ปฏิเสธหมดเลย ปฏิเสธเท่าไรมันก็ไม่หมด ปฏิเสธหมดเลย

“ไม่ใช่คืออะไร”

“ไม่ใช่คือไม่ใช่”

“ในไม่ใช่คืออะไร”

“ในไม่ใช่ก็คือไม่ใช่”

“แล้วในไม่ใช่”

“ในไม่ใช่คือไม่ใช่”

สัญชัย พระพุทธเจ้าพูดอย่างนี้นะ เราอ่านในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าบอก แต่ทางวิทยาศาสตร์เขาบอกว่าทฤษฎีนี้ ตอนนี้ทางวิทยาศาสตร์เขากำลังพิสูจน์กันอยู่ แล้วเขาบอกว่าตอนนี้กำลังดังมาก แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าศาสดาที่โง่ที่สุดคือสัญชัย พระพุทธเจ้าพูดเองนะ

เพราะพระพุทธเจ้าเวลาออกไปบิณฑบาตไปพูดกับมหาวีระ ศาสนาเชน เพราะพระพุทธเจ้าจะออกไปบิณฑบาตตอนเช้าจะไปเจอกับพวกนี้ จะไปถกธรรมะกัน ถึงเวลาก็จะคุยธรรมะกัน แล้วเวลาคุยแล้วบอกว่าในมวลของหัวหน้าลัทธิต่างๆ ในศาสนา สัญชัยโง่ที่สุด แล้วพระสารีบุตรไปเรียนกับพวกนี้มาก่อน พอเรียนกับพวกนี้มาก่อน คนมีปัญญา คนสร้างบุญญาธิการมาถึงบอกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ หมายถึงว่า ปฏิเสธหมดแล้วมันก็ยังทุกข์อยู่ ก็เลยสัญญาไว้กับพระโมคคัลลานะไง ถ้าใครไปเจอของจริงต้องบอกกัน

แล้วไปเจอพระอัสสชิ พระสารีบุตรไปเจอพระอัสสชิก่อน การเคลื่อนไหว การขยับ เห็นเลยว่ามีสติมาก ก็ตามไปจนถึงถามปัญหาไง พระอัสสชิบอกว่า “เราเป็นผู้บวชใหม่” นี่พระอรหันต์นะ “แต่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ สอนว่า สิ่งต่างๆ ธรรมทั้งหลายมันมาแต่เหตุ” วิบากกรรม ผลที่เรา สิ่งที่เกิดกันมานั่งอยู่นี่ เราสร้างกันมาเอง สิ่งที่เรามานั่งอยู่นี่มีเหตุมีผล ไม่ลอยมาจากฟ้า เพราะอะไร เพราะเรามีบุญมีกรรม มีบุญมีกรรม ด้วยบุญกรรม ปฏิสนธิจิตมันไปปฏิสนธิในไข่ของมารดาถึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งต่างๆ มันมีเหตุมีผล ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ พูดเท่านี้ พระสารีบุตรท่านเตรียมพร้อมอยู่แล้ว เท่านั้นน่ะ ฟังธรรมอย่างนี้มันกระทบ กระทบปั๊บ เหมือนกับที่ว่าไปดู ที่ว่าพระที่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปถามปัญหาไง แล้วฝนตกเป็นน้ำ มันเป็นฟองอากาศแล้วแตก ไอ้เรากำลังปัญญามันหมุน ไปเห็นอย่างนั้นมันปิ๊ง! เข้ามา

ไอ้ที่พูดอย่างนี้นะ มันต้องวุฒิภาวะของใจมันสูง เหมือนปัญหาปัญหาหนึ่ง ปัญหาหนึ่ง คนมองแต่ละคนไม่เหมือนกันน่ะ อยู่ที่วุฒิภาวะของใจมันมอง ถ้าจิตมันสูง มันเห็นอะไรมันจะกระทบย้อนกลับ พอพระอัสสชิบอกเลย “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” เป็นพระโสดาบันเลย แล้วก็ไปบอกพระโมคคัลลานะ ฟังต่อนะ พระโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบันเหมือนกัน แล้วถึงมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนแล้วเป็นพระอรหันต์เลย

คำว่า “สอนเป็นพระอรหันต์” ครูเราอาจารย์เราสอน เราจะซึ้งใจไหม แล้วทำไมพูดอย่างไรว่าเราไม่เชื่อพระพุทธเจ้า พอไม่เชื่อพระพุทธเจ้า พระด้วยกันก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเรียกเข้าไปพบ “สารีบุตร เธอไม่เชื่อเราหรือ”

“ไม่เชื่อๆ”

“ทำไมไม่เชื่อล่ะ”

“เพราะความเชื่อฆ่ากิเลสไม่ได้ ข้าพเจ้าเกิดจากความจริงของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าไม่เชื่อพระพุทธเจ้าเลย เชื่อความเห็นของใจตัวนี้ต่างหาก”

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ถูกต้อง”

แต่พระสารีบุตรบอกนะ เมื่อก่อนที่มีกิเลสอยู่น่ะเชื่อ ต้องเชื่อก่อน ความเชื่อความศรัทธา เชื่อแล้วปฏิบัติมา แต่ถ้าเอาความเชื่อ โยมฟังเรา โยมก็ฟังเรา โยมก็เชื่อเราใช่ไหม โยมฆ่ากิเลสหรือยัง ฟังนี่ก็ซึ้งนะ แต่กิเลสยังไม่หลุดสักตัวหนึ่ง นี่ไง ความเชื่อ ความเชื่อฆ่ากิเลสไม่ได้ แต่ความเชื่อเป็นหัวรถจักร เป็นหัวขบวนที่ดึงให้เราอยากขยันหมั่นเพียร ดึงให้เราอยากขวนขวาย ดึงให้เราอยากพิสูจน์ ความเชื่อ ผลของมันคือพยายามจะดึงให้เราอยากพิสูจน์ จริงหรือเปล่าๆ อาจารย์พูดน่ะ จริงหรือเปล่า นี่ความเชื่อจะดึงเราเข้ามา พอดึงเข้ามา เราก็ทดสอบพิสูจน์ๆๆ พิสูจน์จนเห็นจริงขึ้นมา ไม่เชื่อใคร ไม่เชื่อ มันรู้จริงจากการพิสูจน์ มันไม่ใช่เชื่อ แต่ต้องอาศัยความเชื่อก่อน

ถ้าไม่เชื่อ ทำไม่ได้ ไม่มีใครเชื่อ ไม่มีใครปลุกเร้า ไม่มีใครชี้นำ มันจะไม่ทำ แต่การกระทำอันนั้นเป็นความจริงไม่ได้ มันเป็นวิธีการ เป้าหมายต่างหากเป็นความจริง วิธีการที่เราจะค้นคว้าต่อสู้กับมันแล้วถึงเป้าหมาย เป้าหมายนั้นเป็นความจริง นี้ธรรมะ ต้องตั้งใจแล้วพิสูจน์ เราจะได้รู้จริง

อย่างเมื่อวานที่เสียงดังมากเลยน่ะ “เขาให้หวย เขาเมตตาๆ”

คือวุฒิภาวะเขาต่ำมาก เขาคิดว่าการให้นั้นมันเป็นบุญไง เขาเป็นเมตตาแล้วพยายามจะพูดให้เราเห็นด้วย เราเลยบอกว่า ถ้าเมตตาก็ให้พระองค์นั้นสึกไปเสีย แล้วไปช่วยเขาทำงาน ถ้าเอ็งเมตตาจริง มันไม่ใช่เมตตาให้หวยเขา เมตตาได้อย่างไร หลอกลวงเขา แต่ไอ้คนรับนี่ แหม! ไปมองอย่างนี้ว่าเป็น

เขาบอกว่า พระองค์นั้นมีเมตตามาก ท่านให้ด้วยความเมตตา

เราบอกว่าถ้าพระองค์นั้นเมตตาจริง พระองค์นั้นควรสึกออกไปแล้วไปทำงานบ้านเขา มันจะได้จบ แล้วเราพูดหลายรอบ เพราะอะไรรู้ไหม ประสาเรา เรารู้อย่างนี้ รู้ว่าความคิดเขาแค่นี้ ถ้าเราพูดไป เรื่องแค่นี้เขาเห็นว่าเป็นบวก แต่พอเราผ่าน เหล็ก พอเราไปเห็นเงินเห็นทองมันจะมีคุณค่ามากกว่า ความเมตตาให้วิชาการเขา สอนเขาให้ทำกิน อันนี้ถึงเป็นความเมตตา เราจะสอนเขาให้เขาละอบายมุข ให้เขาขยันหมั่นเพียร ถึงมันจะทุกข์มันจะยากมันก็เป็นความจริงนะ แต่เราไม่ต้องทำงานนะ ให้ตัวเลขไป แล้วก็ไปเสี่ยงดวงไปเสี่ยงภัยกันเอาเอง อย่างนี้เมตตาหรือ แต่เขาว่าเมตตา เมื่อวานน่ะ

ไอ้เราจะอธิบายเราก็ไม่อยากอธิบาย เราขึ้นเสียง คือไม่ต้องการให้เขาพูดไง คือคน เหมือนเด็กๆ เขามีความรู้อย่างนี้ เขาก็จะอธิบายอย่างนี้ว่าคือความดี แต่ความดี ความดีที่ให้เอ็งไปเสี่ยงโชค กูเห็นเป็นความร้าย เราไม่เห็นเป็นความดีเลย แต่เขาเห็นเป็นความดี แล้วเขาพยายามจะพูดให้เราเห็นว่าเป็นความดีไง คือว่าพระกับพระต้องรับรู้กัน

แต่เราบอกไม่ใช่ๆ ไม่ใช่ความดี ความดีที่ขึ้นไปสูงไปยังดีกว่านี้อีกเยอะเลย อย่างที่เราพูด เราจะย้อนกลับมาตรงนี้ที่พูดเหตุนี้ขึ้นมา เพราะความดีของพวกเรานี่นะ ต่างคนต่างมาฟังแล้วกลับไป แล้วนั่งหลับตา ไอ้ความดีในหัวใจนี่ยากมาก ไอ้ความดีที่จะเอาชนะตนเอง ความดีอย่างนี้ประเสริฐที่สุด

การชนะสงครามคูณด้วยล้าน ไม่มีคุณค่าเท่ากับการชนะตนเอง พระพุทธเจ้าพูดเอง การชนะสงครามคูณด้วยล้าน คือชนะสงครามล้านครั้งไม่เท่ากับเราเอาชนะใจของเราเอง การชนะใจของเราเองประเสริฐที่สุด แต่มันเอาชนะได้ยากที่สุด การทำสงครามมันยังเกิดการวางแผนการจัดการ เขายังทำสงครามเอาชนะคะคานกันได้ มันเรื่องความคิดข้างนอก แต่การเอาชนะตนเอง เห็นไหม ที่เราอุตส่าห์พูด อุตส่าห์อธิบายอยู่นี่เพื่อจะให้มันย้อนกลับมาตรงนี้ไง เพื่อให้ย้อนกลับมาที่การเอาชนะตนเอง เอาชนะใจเราสำคัญที่สุด แล้วกว่าจะพูดให้คนมีมุมมองมีความคิดอย่างนี้ ยาก

อย่างเมื่อวานเขาให้หวย เขาเมตตา...ไอ้นี่ไม่ได้เมตตา ไอ้นี่ด่าทุกวันเลย ไอ้อย่างนั้นเขาเมตตานะ เขาให้เบอร์สองเบอร์ แล้วถูกผิดยังไม่รู้นะ มึงต้องไปเสี่ยงกันเอาเอง แต่เขาบอกเขาให้ด้วยความเมตตา โอ๋ย! เขาดี เขาดีไปหมดเลย...ไอ้อย่างเราไม่มีอะไรดีเลย

ไอ้ดีไม่ดีไม่สำคัญหรอก แต่ความเห็นของเขาอย่างนั้นมันเด็ก มันไร้เดียงสาเกินไป แล้วพยายามจะพูดให้เราเออด้วย ยังดี ถ้าเป็นประสาเรา มีเวลานะ โทษนะ ด่าเช็ดเลยล่ะ ถ้าให้อธิบายล่ะด่าเช็ดเลย แต่นี่ไม่อยากพูดมาก เพราะพูดว่าไปแล้วนะ หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อเนาะ เพราะสังคมพระมันก็เท่านี้เอง ใครมีความเข้มแข็งทางหัวใจที่จะยืนได้ก็สาธุ ถ้าใครมีความเข้มแข็งทางหัวใจ ไม่มีความเข้มแข็งทางหัวใจนะ มันยืนอยู่ในสังคมไม่ได้ ลมพัด ลาภสักการะ คนมาหาเขาล้มลุกคลุกคลานหมดแล้ว ไม่ยืนอยู่ในธรรมไง

หลวงตาพูดเจ็บมากนะ เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป เหยียบหัวธรรมและวินัยไปเพื่อไปหาพวกโยมไง เหยียบหัวธรรมวินัย เหยียบหัวข้อวัตรปฏิบัติ เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป เวลาท่านพูดเจ็บมาก เวลาพูดนะ เตือนสติพระ เตือนสติพวกเรา

เพราะว่าเรารู้อยู่ พูดเรื่องธรรมะ ต่างคนต่างคาดหมาย ต่างคนต่างใช้ปัญญาไป เราพูดอย่างหนึ่ง โยมนั่งอยู่ ๑๐๐ คนก็คิดกันไป ๑๐๐ อย่าง แล้วเราพูดเป้าหมายคือย้อนกลับมาที่ใจ ย้อนกลับที่ความเพียร ย้อนกลับมาที่สิ่งที่มีคุณค่าที่สุด เรากล้าพูดเลย เพชรนิลจินดาไม่มีค่า เพชรนิลจินดา เพราะมันเป็นวัตถุอันหนึ่ง แต่หัวใจมีค่ามาก

เพราะเพชรนิลจินดานะ ใครเป็นเจ้าของมันก็แล้วแต่ เราไม่ตายจากมัน มันก็ตายจากเรา ถ้าเราขายมันไป เราแลกเปลี่ยนมันไป มันตายจากเรา ถ้าเราเก็บไว้นะ เราต้องตายจากมัน ใครตายแล้วจะเอาเพชรไปได้ด้วย มีคนตายคนไหนเอาเครื่องเพชรไปด้วย ไม่มี แต่ใจนี่นะ บาปบุญมันไปกับเรา ยิ่งถ้าเราทำใจเราจนเป็นอริยบุคคล เพราะใจมันเป็นใช่ไหม เพราะใจมันเป็น ใจมันไป มันไปด้วยกับเรา นี่คือสมบัติจริงๆ ของเรา เราถึงเห็นสมบัติของใจมีคุณค่ามาก แต่ต้องเป็นคุณค่าจริงๆ

แต่ถ้าไม่มีคุณค่ามากนะ ไปในทางลบนะ ทำบาปอกุศลไว้มากนะ มันมีแต่สิ่งที่เป็นบาปอกุศลไปกับมัน ไม่ใช่ว่ามันจะไปเฉพาะแง่บวกอย่างเดียว ถ้ามันมีลบมามันจะลบไปกับเรา ลบจิตดวงนี้ไปเรื่อยๆ จิตดวงนี้จะลบไปแล้วทุกข์มาก

ใครมีปัญหาอะไร ถามมา ไม่มีจะจบ วันนี้มีปัญหาเดียว ขยันกับขี้เกียจ มาเป็นชั่วโมง มีปัญหาเดียว เห็นไหม มาตลอดเลย ไม่มีเนาะ เอวัง จบ