ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ตอบเรื่องสมาธิ

๒๖ ก.ย. ๒๕๕๑

 

ตอบเรื่องสมาธิ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โยม ๑ : ...เป็นแล้วก็ดูกระดูก ความเครียด เป็นกระดูก เป็นรูปโครงกระดูกเลย แล้วก็นั่ง แต่ลูกคิดว่าสิ่งที่เห็นนี้มันไม่ใช่มาจากจิตใต้สำนึก เพราะว่าลูกเคยฝึกมาตรงนี้ เขาจะให้ไปที่สวรรค์ ไปกราบพระพุทธเจ้าอย่างนี้ แล้วลูกก็จะกำหนดไปตามที่เขาบอก แล้วมันก็จะเห็น

แล้วพอเราฝึกตัวนี้ ลูกก็เลยเข้าใจว่า เอ๊ะ! มันไม่ลึกซึ้งเหมือนที่หลวงพ่อว่า เห็นเป็นกระดูกแต่ว่ามันไม่ลึกซึ้ง มันไม่เหมือน ก็คิดว่า เอ๊ะ! มันไม่ใช่ของจริงนี่นา ก็เลยกลับมาที่พุทโธอีก แล้วก็พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ แล้วมันเครียด เครียดแล้วมันก็จะหนักตรงไหล่ ตรงคอ ปวดไปหมดเลย แล้วลูกก็กำหนดไม่ได้ ลูกก็เลย เอ๊ะ! เมื่อก่อนเราเคยอานาปานสติ เวลามันเหนื่อย มันจะกลับไปตรงนั้นแล้วมันจะเป็นการพัก มันจะรู้สึกสบาย

ทำอย่างไรก็ไม่หายปวดคอ ลูกก็เลยลองเดิน แล้วบางทีมันก็จะสงบนิ่ง บางทีมันก็ไม่เป็นอย่างเมื่อก่อน แล้วทีนี้ก็เลยว่า เอ๊! ทำไมมันเป็นแบบนี้ มันก็เลยเหมือน ถ้าเป็นรถก็คือมันรวนค่ะหลวงพ่อ ก็คือจะสงบก็ไม่สงบ แล้วมันก็เวทนาทำไมมันเยอะจังก็ไม่รู้ มันไม่เหมือนเมื่อก่อน คล้ายๆ กับจะเอาทิ้งไปอย่างหนึ่ง จะมาเอาอีกอย่างหนึ่ง แต่ว่ามันจับไม่อยู่ จับพุทโธไม่อยู่ แล้วความคิดมันก็เย๊อะเยอะ ไม่เหมือนเมื่อก่อน ยิ่งเวลาเดินจะให้มันลงนี่มันลงยากจังเลยค่ะ ทำอย่างไรคะ

หลวงพ่อ : แล้วเวลากำหนดพุทโธๆ มันหนักหรือ

โยม ๑ : ค่ะ มันหนัก มันรู้สึกปวดไปหมดเลยทั้งคอ แล้วมันรู้สึกคล้ายเหมือนเราเครียด มันตึงอย่างไรไม่รู้บอกไม่ถูก

หลวงพ่อ : แล้วเวลาเรากำหนดลมแล้วดี

โยม ๑ : กำหนดลมดี แต่มันชอบจิตดับค่ะ มันไม่รู้สึกอะไรเลย

หลวงพ่อ : มันโดนหลอกน่ะสิ กำหนดลมใหม่ ถ้าพูดถึงกำหนดลมใหม่ จิตดับไม่ได้ จิตไม่มีวันดับ

โยม ๑ : ก็ลูกว่ามันไม่มีประโยชน์อย่างที่หลวงพ่อว่า ก็เลยมาดูพุทโธ แต่พุทโธ จับพุทโธแล้วก็จับไม่อยู่ค่ะ

หลวงพ่อ : นี่คนสอนสอนไม่เป็น สอนผิดๆ สอนว่าจิตเวลาถึงสติปัฏฐาน ๔ จิตต้องดับ

แล้วมันมาหาเรา มีพระมาหาเราองค์หนึ่งบอกว่า ถ้าพูดถึงแล้วพุทโธต้องหาย

เรารู้อยู่ว่ามันต้องหาย แต่เรารู้ว่านี่โดนหลอกแล้ว เขาบอกว่าถ้าพุทโธๆ พุทโธต้องหาย พอพุทโธต้องหาย ทุกคนก็จะพุทโธๆๆ แล้วปล่อยให้มันหายไป พอปล่อยให้หายไปมันก็นั่นล่ะ แล้วบอกว่า เราเพื่อโต้แย้งไง โดยอุบายของเรา เราบอกพุทโธไม่มีวันหาย ถ้าหาย ผิด

แต่จริงๆ แล้วพุทโธหาย แต่หาย เวลามันหาย ถ้าหายโดยข้อเท็จจริง พุทโธๆๆ พุทโธอย่างไรก็แล้วแต่นะ พุทโธอย่างไรก็แล้วแต่ มันพุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้แล้วจิตมันลง วูบลง มันลงไง นั่นคือพุทโธมันหายโดยข้อเท็จจริง คือพุทโธมันจะหายไป อานาปานสติมันนึกพุทโธไม่ได้หรอก มันสักแต่ว่ารู้ แต่ต้องให้มันเป็นตามข้อเท็จจริง

แต่ตอนนี้ชาวพุทธคิดผิดหมด พุทโธๆๆ แล้วหลับไปเลย ตอนนี้มันพุทโธหาย พุทโธนี้ไม่หาย แต่จิตนี้ คำว่า “พุทโธหาย” คำว่า “พุทโธ” พุทโธเป็นคำบริกรรม คำบริกรรมหาย แต่จิตไม่หาย เห็นไหม สักแต่ว่ารู้ จะรู้ตลอดเวลาเลยล่ะ

อันนี้คำว่าบอกว่า เวลากำหนดอานาปานสติ กำหนดลมหายใจ กำหนดแล้วมันต้องหาย...ไม่หายหรอก กำหนดลมหายใจ ให้หายใจชัดๆ แล้วอยู่กับลมหายใจ ลมหายใจละเอียดเข้าไปขนาดไหน จนลมหายใจไม่หายใจเลย เราก็รู้อยู่ นี่ถึงเป็นสมาธิ

โยม ๑ : มันรู้นะคะ เวลาเราดูลมหรือดูช้าๆ ที่หนูบอกว่าจิตมันดับ

หลวงพ่อ : อ้าว! ว่าไป

โยม ๑ : คือรู้ไปช้าๆ มันจะช้าแล้วมันก็จะหายไป แต่ทีนี้มันเป็นความรู้สึกที่ไม่รู้อะไรเลย แต่ตอนที่มันหายไป

หลวงพ่อ : ก็มันหายไป คือที่มันหายไปคือมันตกภวังค์ มันตกภวังค์แล้วมันหายไปหมดเลย แล้วสักพักก็รู้ขึ้นมาใหม่

โยม ๑ : ค่ะ ใช่

หลวงพ่อ : มันหายหมด นี่พูดถึงนะ ถ้าอาจารย์ไม่เป็น เราจะบอกว่าอาจารย์ไม่เป็นเลยล่ะ ถ้าอาจารย์ไม่เป็น ถ้าอาจารย์เป็นนะ เราจะบอกว่า หมาเห่าใบตองแห้ง ถ้าอาจารย์เป็น กระบวนการของมันต้องพูดถูกต้องตามกระบวนการทั้งหมด กระบวนการของมันพูดถึงกึ่งหนึ่งแล้วหายไป หรือจบกระบวนการไม่ได้ กระบวนการ อย่างทฤษฏี อย่างสูตรทฤษฏีอะไรต่างๆ ถ้ามันกระบวนการ สมการมันไปไม่ได้ มันจะจบได้อย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน สมาธิ กระบวนการของสมาธิมันต้อง ขณิกะ อุปจาระ อัปปนา กระบวนการสมาธิเป็นอย่างไร แล้วมันถึงที่สุดแล้ว กระบวนการเข้าสมาธิอย่างไร ถอนออกจากสมาธิอย่างไร พระถ้าพูดผิดนะ เราไม่เชื่อหรอก

โยม ๑ : แต่เวลาถามท่าน ทำไมท่านบอกว่าทำถูกล่ะคะ

หลวงพ่อ : ก็ท่านไม่รู้ไง

โยม ๑ : ลูกไปภาวนา บอกว่า ท่านก็จะถามสภาวะลูก ลูกก็จะบอก

หลวงพ่อ : เออ! ดับ เขาต้องดับนี้

โยม ๑ : ค่ะ แล้วมันดับอย่างไร ทีแรกลูกก็ไม่เข้าใจ บอกว่า แล้วมันดับมันเป็นอย่างไรคะอาจารย์ ลูกก็เลยเล่าอาการให้ฟัง

บอกมันจะเป็นอย่างนี้แหละ

แล้วทำไมมันดับ นิพพานมันจะเป็นมาแบบนี้ มันไม่รู้สึกตัวเลย

หลวงพ่อ : ใช่ เพราะประสาเรา ก็เขาหลงไง

โยม ๑ : เขาบอกว่าดีค่ะ กลับบอกว่าดี

หลวงพ่อ : เราจะบอกว่า ถ้ากรรมของใครไง ไปเจอหัวหน้าอย่างไรมันก็ได้อย่างนั้นน่ะ เอ็งเข้าวัดไหน ไปสังคมใคร แล้วถ้าเขาแค่ไหนก็ได้แค่นั้น แล้วเขาก็ว่าเขาถูก แล้วเวลาเขาพูดถูกก็ถูก พระที่หลง มีองค์ไหนบ้างบอกว่าเขาไม่รู้ ไม่ถูก พระที่ออกมาสอนผิดๆ มีองค์ไหนบอกว่าเขาไม่ถูกบ้าง เขาบอกว่าถูกหมดแหละ เพราะอะไร เพราะเขาผิดมาไง เพราะเขาเป็นอวิชชาครอบงำไง เขาพูดได้แค่นั้น แล้วเขาว่าเขาถูกไง

แต่ถ้าไปเจอครูบาอาจารย์ พวกนี้นะ ถ้าเจอของจริงจะไม่กล้าพูด ความจริงแล้วมันต้องถกกัน เอาสัจธรรมคุยกัน ถ้าคุยกันปั๊บจะรู้ว่าติด ถ้ารู้ว่าติด ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นนะ เขาจะแก้ ถ้ามันแก้แล้ว แล้วเขาไม่ฟัง ก็กรรมของสัตว์ไง

พระพุทธเจ้าฆ่า เวลาพระพุทธเจ้าฆ่าลูกศิษย์นะ ฆ่าด้วยการไม่พูดไง เพราะว่าเขาไม่ฟังไง พระพุทธเจ้าถ้าแก้ได้จะแก้ ถ้าแก้ไม่ได้ ท่านเฉย พระพุทธเจ้าไม่พูดกับใคร นั่นคือชักสะพาน คือการฆ่า การฆ่าของพระพุทธเจ้าคือไม่พูดด้วย คือพูดอย่างไรเขาก็ไม่ฟัง หรือพูดแล้วเขาก็ทำอะไรไม่ได้

ทีนี้ย้อนกลับมาที่นี่ ว่าเขาถูกหรือ

โธ่! ก็เราเอาวุฒิภาวะเราไปเชื่อเขา แต่สำหรับเรานะ เอ็งอ้าปาก กูฟังแล้วกูไม่ต้องไปหามึงหรอก ผิด คือสมการมันผิด

โยม ๑ : แล้วทำไมเวลาเรามาเปลี่ยนเป็นพุทโธอย่างนี้ ทำไมมันรู้สึกมันหนัก มันยากจัง

หลวงพ่อ : หนัก ทุกอย่างหนักไปหมด ของจริงไง

โยม ๑ : มันกำหนดไม่ค่อยอยู่เลยค่ะ

หลวงพ่อ : เราจะบอกว่า กำหนดลมหายใจก็ถูก กำหนดพุทโธก็ถูก ถ้าเรากำหนดลมหายใจ เราก็มาอยู่ที่ลมหายใจ ไม่จำเป็นต้องไปพุทโธ แต่ขณะที่เรามาอยู่กับลมหายใจ มันต้องเปลี่ยนให้ลมหายใจเป็นอานาปานสติที่เป็นสัมมาที่ถูกต้อง อานาปานสติที่เป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิความเห็นถูก ถ้าเป็นความเห็นถูก เรากำหนดลม กำหนดลมแล้วตั้งสติขึ้นไป แล้วตามลมไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ตามลมไปแล้วก็ปล่อยให้ลมหายไป ถ้าปล่อยลมให้มันหายไป

กำหนดลมเหมือนกัน อานาปานสติเหมือนกัน คนหนึ่งสอนอานาปานสติถูก อีกคนหนึ่งอานาปานสติผิด เพราะอะไรรู้ไหม เพราะอานาปานสตินั้นคือสูตรทฤษฎีใช่ไหม มันยึดคนสอน คนไม่เป็น มันก็ตีอานาปานสตินี้ไปทางที่ผิด คนที่เป็นก็ตีอานาปานสติไปทางที่ถูก ทีนี้พอพูด ลมก็ลมเหมือนกัน นี่ไง ก็พุทโธๆ นั่นล่ะ พิจารณา

เราเจอมาก ตามมาหานะ เขาทำสมาธิได้ แล้วอาจารย์บอกให้มาพิจารณากาย เขาก็สมบุกสมบันหัวชนฝาอยู่อย่างนั้นล่ะ วิ่งมาหาเรา เราบอก ว่าอย่างไรล่ะ เพราะอาจารย์เขาบอกว่าอานาปานสติ เราก็ถามกลับไป แล้วมึงถามอาจารย์มึงสิว่าทำอย่างไร

มันตำราว่าไว้อย่างนั้นไง กูก็พูดไปตามตำราไง ผิดถูกกูผลักให้ตำรา กูไม่รู้ แต่เวลาพูดกับพวกเอ็งนะ “เป็นอาจารย์”...จานกระเบื้องอย่างนี้มันเยอะ

ผิดแน่นอน ถ้าผิด คำว่า “ผิด” ถ้าพูดถึงนะ ถ้าเขาเป็นโลกียปัญญาคือว่าเป็นพวกฤๅษีชีไพร ตอนนี้นะ พระ แค่ฤๅษีชีไพรยังผิดเลย ฤๅษีชีไพรยังดีกว่าพระนะ เพราะฤๅษีชีไพรเข้าสมาธิเป็น ตอนนี้พระเข้าสมาธิไม่เป็น แต่อ้างว่าเป็นสมาธิ ไอ้ว่างๆ ว่างๆ ไม่ใช่สมาธิหรอก เรานึกให้ว่างสิ

โยม ๑ : แล้วถ้าเกิดเราจะดูลมแล้วมันไม่จำเป็นต้องพุทโธ ถ้าเรามาดูลม

หลวงพ่อ : ใช่ ใช่

โยม ๑ : แล้วกำหนดจับลมไปเรื่อยๆ มันไม่เห็นมันจะอยู่เลย มันก็ชอบดับไปเรื่อยเลย

หลวงพ่อ : เรามันเคยดับมาก่อน จิตที่มันเคยเป็นมันจะเป็นอย่างนั้นน่ะ เวลาจิตมันเคยเป็นแล้วมันแก้ยาก คนที่ตกภวังค์มาจะแก้ให้หายตกภวังค์นี่นะ ยากมากเลย พอยากมากก็ต้องค่อยๆ ไง ค่อยๆ ต้องอดอาหาร ต้องตั้งสติ มันเหมือนคนเคย ประสาเรานะ เหมือนเด็กใจแตก เอ็งจะให้เด็กใจแตกมาเป็นเด็กที่อยู่ในกรอบ เอ็งทำยากไหม

ตอนนี้จิตเรามันแตก คือมันตกภวังค์มาเคย มันหลับมาเคย แล้วเอ็งบอกว่า นี่ไง มันไม่เหมือนเขียนหนังสือนี่หว่า เขียนผิดแล้วก็เขียนใหม่ ก็ถูก จิตไม่ใช่ว่าทำใหม่แล้วจะถูก ไม่มีทาง พอมันเคยเป็นอย่างนี้ต้องฝืนมันไง เหมือนกับเรา อย่างเช่นเรา เรากินอาหารรสอย่างนี้ แล้วก็บอกว่าอาหารนี้กินแล้วเป็นพิษ ถ้ามันพูดว่าอาหารกินแล้วเป็นพิษนะ ดูทางอีสานสิ เขาห้ามกินปลาร้า บอกกินปลาร้ามันจะเป็นซีสต์เป็นอะไร เขาต้องพยายามงดของเขาใช่ไหม แต่เขาก็พยายามไม่ได้ เพราะอะไร เพราะวัฒนธรรม

พอจิตมันไปหลับแล้ว มันเหมือนกับความฝังใจ เคยใจ การแก้จิตต้องรู้สมุฏฐานของมันก่อน สมุฏฐานของมัน ถ้าคนเคยทำสิ่งใดมาแล้วมาแก้ไข เราถึงได้พูดบ่อยไง พูดบ่อยว่า พออนุบาลวางมาผิดนี่นะ แล้วเราค่อยมาแก้นะ โอ้โฮ!

โยม ๑ : แล้วตอนนี้ลูกก็พยายามจะไม่ดูลม มาพุทโธๆ แต่ว่ามันหนักค่ะ

หลวงพ่อ : ไม่หรอก

โยม ๑ : อู๋ย! ทำไมมันทำยากจัง

หลวงพ่อ : ต้องปล่อยฟรีๆ สิ ปล่อยสบายๆ แล้วพุทโธๆ

มันยากเพราะอะไรรู้ไหม มันยาก มันเหมือนกับดินพอกหางหมู หางหมูที่มันไม่มีดินมันแกว่งสบาย หางหมูที่มันมีดินก้อนใหญ่ๆ มันแกว่งตุบตับๆ จิตเรามันดินพอกหางหมูกับข้อมูลที่มันได้รับมา แล้วพอมันจะแก้ไขมันหนักอย่างนี้ พอหนักอย่างนี้ปั๊บก็เริ่มต้น เราก็เป็นมา เราพูดประจำนะ พรรษาสองพรรษาแรกภาวนาเอง ไม่มีครูบาอาจารย์ ภาวนาเอง แต่มันตกภวังค์ทีหนึ่ง ๗-๘ ชั่วโมง

โยม ๑ : อย่างนี้มันอย่างมากมันก็ ๒ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมงกว่าเองค่ะ

หลวงพ่อ : ๗-๘ ชั่วโมงของเรานี่ แล้วเมื่อก่อนหลงผิด เพราะว่าอาจารย์เขาสอนอย่างนี้ แต่เราศึกษามาเราก็ตีความของเราเอง เพราะนั่ง อยู่กับสายหลวงปู่ฝั้นไง สายหลวงปู่ฝั้น วัดอุดมสมพร เขาจะทำวัตรทุกวัน แล้วทำวัตรเสร็จจะนั่งภาวนา แล้วนั่งทีหนึ่งนะ ๗-๘ ชั่วโมงนะ ๔-๕ ชั่วโมงนี้เรื่องธรรมดา พระที่นั่งด้วยกันนะ คนนู้นลุก คนนี้ลุก ลุกไปปัสสาวะ ไอ้เรานี่นั่งทุกวัน นั่งได้เก่ง ทิฏฐิมานะว่ากูนี้แน่

พอมีอยู่วันหนึ่งไง พอนั่งๆ ไป พอเลิกภาวนาก็จะกราบพระไง พอบอก เออ! เลิกแล้ว อาจารย์ก็กระแอมแบบว่าให้สัญญาณ ให้สัญญาณ เราก็ออกจากสมาธิกันมา ออกจากสมาธิมา พอดู อู้ฮู! เปียกอะไร...น้ำลาย ไม่มีใครบอกเลย นี่วาสนานะ นี่มันนั่งหลับ พอนั่งหลับ ตอนแก้ตรงนั่งหลับนี้เราแก้เป็นปีเลย แล้วพอเราตัดสินใจว่าหลับแล้วคือที่ดับมึงนี่แหละ พอตัดสินใจว่ามันดับแล้ว ดับนี่มันไม่มีอะไร

โยม ๑ : ใช่ค่ะ ไม่มีอะไร

หลวงพ่อ : ตรึกอะไรอย่างไรจะให้มันหาย ไม่มีหายเลย สุดท้ายแก้ด้วยอะไรรู้ไหม แก้ด้วยการผ่อนอาหาร กินข้าววันละคำเดียว กินข้าววันละคำๆๆ หิวเกือบตาย หิวเพราะอะไร มันรู้ เวลาไปบิณฑบาต มันเดินไปบิณฑบาตนี่นะ ใจมันสู้ แต่เวลาบิณฑบาต เขาเดินตรงๆ นะ ไอ้กูเดินเซไปเซมา ไม่มีใครรู้หรอกว่าเราไม่มีกำลังเลย แต่เพราะไม่ให้มันตกภวังค์

โธ่! เราแก้มานะ แก้ยากมาก ทีนี้พอแก้ยาก แต่มันแก้ได้ แต่อยู่ที่กำลังของเรา อยู่ที่ความมั่นใจของเรา ถ้าเราไม่มีกำลัง ใจเราไม่เข้มแข็งนะ มันอ่อนแอไง สู้เข้าไปกึ่งๆ นะ กึ่งๆ จะไปก็จะไม่ไป ไอ้จะถอยก็ไม่ใช่ ดิบๆ สุกๆ ไอ้คนภาวนาที่ไม่ได้เรื่องตรงนี้ส่วนใหญ่

ถ้ามันแก้ไขนะ เอามันจริงเอามันจัง เราเอาจริงเอาจังมาก ผ่อนอยู่อย่างนั้นน่ะ กินวันละคำเดียว กินข้าววันละคำ คำเดียวจริงๆ ปั้นข้าวเหนียวมาไว้ในก้นบาตรก้อนเดียว คำหนึ่ง อยู่ในป่ามา กินแกงโฮะ เอาน้ำแกงมาราดหยดใส่ข้าวเหนียว แล้วพอจะฉันข้าวก็พิจารณา ปฏิสงฺขา โยฯ เขาก็พิจารณากันแล้วก็ฉันกัน เราก็พิจารณา ปฏิสงฺขา โยฯ รอให้เขากินกันสักครึ่งท้องก่อน เพราะถ้าเขาไม่กินครึ่งท้อง กูกินคำเดียวเดี๋ยวกูลุกไปก่อนมันน่าเกลียดไง เขาฉันข้าวกัน เราฟรีสไตล์เลย เราก็มอง พิจารณาข้าวของเรานี่แหละ จนเขาฉันไปเกือบอิ่มแล้วนะ เราก็หยิบข้าวคำนั้นใส่ปาก แล้วก็ลุก

เรากินข้าววันละคำนะเว้ย โอ๋ย! เบา ตัวนี้โล่งเบาเหมือนคนไข้ เหมือนคนป่วยแล้วหายจากป่วย มันเบาโหรงเหรงเลย เหมือนกับคนป่วย มันไม่มีสารอาหารในร่างกายเลยล่ะ เอาขนาดนั้นนะ

โธ่! ตกภวังค์ ไอ้นั่งหลับ เราเป็นมาก่อน เราเป็นมาแล้วทั้งนั้นน่ะ แล้วแก้นี้แสนยากเลย แล้วเวลาเราสอน เวลาเราพูดนะ มันก็เหมือนกับเราสอนหนังสือ ไอ้คนฟังก็นึกว่าพลิกจากมือซ้ายเป็นมือขวาไง ทำอย่างนี้ผิดก็ทำอย่างนู้นถูกไง...โธ่! มึงไปทำจนตาย

โยม ๑ : เวลานั่งมันเครียด พุทโธมันเครียด มันก็มาเดิน ๖-๗ ชั่วโมงก็แล้ว เดินเหนื่อย แสนจะเหนื่อย ทำไมมันแก้ไม่ได้ แล้วความคิดมันก็มาเยอะ มันตีกัน

หลวงพ่อ : พุทโธมันอย่างนั้นน่ะ แก้ไป คือว่าทำเป็นปีๆ อดอาหารเป็นปีๆ เป็นหลายๆ เดือนเลย พอมันเต็มที่นะ ไอ้นี่มันไม่อย่างนั้นไง เหมือนนักมวยขึ้นเวทีมี ๕ ยก ก็คิดว่า ๕ ยกนี้ต้องน็อกให้ได้ไง แล้วน็อกไม่ได้ พอน็อกไม่ได้ก็หมดไง ทีนี้เราเป็นนักมวยใช่ไหม เราขึ้นต่อยคราวนี้ คราวหน้าขึ้นต่อย ต่อยอยู่ทั้งปีทั้งชาติ คือทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ มันจะเริ่ม

นักมวยใช่ไหม ต่อยคราวนี้นะ นักมวยเราเป็นมวยแพ้ทาง เราเจอมวยซ้าย เราแพ้ทุกทีเลย พอเจอมวยซ้าย กูแพ้น็อกทุกทีเลย พอขึ้นเจอมวยซ้าย กูตายทุกที แล้วกูจะแก้อย่างไร นี่ก็เหมือนกันไง พอกำหนด พับ! ตกภวังค์ทุกที ก็เหมือนมันแพ้ทางมวย มันแพ้ทางกิเลสไง พอกำหนดปั๊บ กิเลสมันขี่ตายห่าเลย

ทีนี้คนจะแก้ทางมวยนี่นะ มันต้องฝึกนะ โอ้โฮ! ไอ้มวยซ้ายมา โป้ง! เข้าหน้ากูทุกทีเลย แล้วกูจะปิดอย่างไรวะ กูขึ้นไปกูก็ต่อยเขาไม่ได้ ขึ้นไปกูก็แพ้อยู่แล้ว เพราะอะไร เพราะกูไปต่อยเขา กูปิดหน้าอยู่นะ กูก็ต้องแพ้อยู่วันยังค่ำ แล้วกูจะต่อยเขา พอกูเปิดหน้าซ้ายมันก็พุ่งเข้าหน้าเลย แล้วทำอย่างไร นี่ก็เหมือนกัน กำหนดพุทโธมันก็หนัก กำหนดอะไรมันก็หนัก ถ้าไปหาลม ลมก็พานอนหลับเลย

โยม ๑ : ใช่ค่ะ

หลวงพ่อ : อ้าว! ทางมวยเป็นอย่างนี้

โยม ๑ : แต่พอมาดูกายมันก็เหมือนเพ้อฝัน ไปเห็นเป็นอะไรต่ออะไร อู๋ย!

หลวงพ่อ : ต้องตั้งสติ ต้องให้ตั้งสติของเรา ตั้งสติแล้วแก้ไขไป เราแพ้ทางกิเลส แพ้ทางกิเลสไง เราจะพูดบ่อยเลย บอกถ้ากำหนดอะไรก็แล้วแต่ ทำพุทโธอะไรก็แล้วแต่นะ กำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าผิดนะ เหมือนกับร่องน้ำ ร่องน้ำที่มันไหลไปบ่อยครั้ง ร่องน้ำนี้มันจะขยายไปเรื่อยๆ เป็นคลอง ถ้าแหล่งน้ำนั้นมันมีกำลังพุ่งอยู่นะ คลองนี้จะกลายเป็นแม่น้ำ จะกลายเป็นทะเล ใจของคนที่ภาวนาเป็นอย่างนี้ ถ้ามึงทำซ้ำทำซากนะ ถ้ามึงผิดแล้วมึงไม่รู้จักผิด แล้วมึงยังทำไปเรื่อยๆ นะ นี่เราจะบอกแผ่นเสียงตกร่อง แผ่นเสียงตกร่องถ้ามึงเปิดซ้ำมันก็หมุนอยู่ตรงนั้นน่ะ แล้วร่องนี้ก็จะลึกไปเรื่อยๆ

จิตคนนะ รู้ว่าผิด หรือว่าถ้ารู้ว่าผิดยังแก้ไข ถ้าไม่รู้ว่าผิด ยังทำไปซ้ำซากนะ อยู่ตรงนั้นน่ะ ไม่ได้อะไรหรอก พิจารณาหลงเละเทะไปหมดเลย

โยม ๑ : แล้วกำหนดพุทโธ ทำอย่างไรมันถึงเลิกหนักไหล่หนักอะไรเสียทีล่ะคะ

หลวงพ่อ : หนักนี่นะ มันเป็นเรื่องของไอ้นี่ มันเหมือนกับที่เราบอกว่าแผ่นเสียงตกร่อง มันมีคนภาวนาเยอะ พอกำหนดพุทโธๆ พอถึงเวลาปั๊บ เหงื่อจะซกเลย บางคนพุทโธแล้วมันจะเอียง พอเอียงปั๊บ มันฝังใจ พอฝังใจไปถึงตรงนั้นปั๊บมันก็จะเอียงอีกแล้ว เอียงอีกแล้ว เอียงอยู่อย่างนั้นน่ะ

เอียงก็ให้มันเอียงไปสิ แล้วถ้ามีสติ เราก็ดึงกลับมาก็ได้ เพราะเรานั่งให้จิตสงบ นี่มารมันจะเอาตรงนี้มาต่อรอง เอากิริยาเอียงบ้าง กิริยาน้ำลายออกบ้าง พอนั่งๆ ไป อึ๊ก! อึ๊ก! อยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วก็ช่างมันสิ ทำก็ได้ พออย่างนี้ปั๊บ เราเห็นว่าไม่สำคัญปั๊บ มันก็จะผ่าน ถ้าเห็นว่าสำคัญปั๊บนะ กิเลสมันรู้ว่าเรายึดปั๊บนะ มันจะเอาอันนี้มาหลอก พอหลอกแล้วตรงนี้จะขยายใหญ่ขึ้นๆๆ มันเหมือนกับ นี่พูดถึงไอ้พวกตกภวังค์ มันจะเอาอย่างนี้มาหลอก การภาวนา การทำสมาธิมันจะมีเหตุการณ์อย่างนี้เข้ามาล่อลวง เข้ามาชักนำให้เราเสียหาย

ทีนี้พอเราทำอย่างนี้ปั๊บ เราอย่างนี้สิ กำหนดลมหายใจก็ได้ ตั้ง เรากำหนดลมหายใจ แต่พอเวลามันจะง่วง ลุกขึ้นมาเดิน เดินกำหนดลมก็ได้ เดินน่ะ เดินกำหนดลม เดินกำหนดลม พาให้มันเดินไป แล้วกำหนดลมหายใจ

โยม ๑ : แต่เดิน ลูกไม่ได้กำหนดลม เพราะมันกำหนดยาก เวลานั่งชอบกำหนดลม มันง่ายดี

หลวงพ่อ : ใช่ กำหนดลมชัดๆ มันจะแก้ได้ด้วยกำหนดลมหายใจชัดเลยๆ ถ้ามันจะมีอะไร ชัดๆ ไว้ ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องห่วงว่ามันจะหยาบ แล้วไม่ใช่ไม่ลงสมาธิ เพราะตอนนี้เราไม่ใช้แก้หยาบหรือละเอียด เราแก้ตกภวังค์ ถ้าแก้ตกภวังค์ อย่างนี้บ่อยๆ จนมันไม่แว็บหายนะ ใช้ได้แล้ว พอใช้ได้แล้ว เราจะเปรียบเหมือน เราจะสอนลูกศิษย์บ่อยมากว่า เวลาเข้าสมาธิมันเหมือนถนน มันมีสะพาน คอสะพานมันโดนน้ำเซาะ มันไม่มีดิน รถจะตกคอสะพานหมดเลย แต่ถ้าเราถมคอสะพานเต็มนะ รถมันวิ่งผ่านมามันจะข้ามคอสะพาน แล้วข้ามเข้าสมาธิไปเลย ไอ้คอสะพานที่มันโดนน้ำเซาะ มันเป็นที่ว่าง มันทำให้ทุกอย่างตกลงนี้ ไอ้เวลาลมหายใจแล้วมันหายไป หายไปคือมันตกลงคอสะพาน มันแว็บหายเลย มันไม่ข้ามสะพาน ถ้าข้ามสะพานไปปั๊บ มันข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งมันเป็นถนนนะ โอ้โฮ! คือจิตมันจะ โอ้โฮ! ว่าง มันจะมีความสุขมาก

ไอ้นี่การตกภวังค์มันต้องถมคอสะพาน นี่ไง ถมคอสะพานไง คือให้มันชัดๆ ไว้ ไม่ต้องห่วงว่าไม่เป็นสมาธิ คือตอนนี้เราไม่ใช่ทำสมาธินะ คือตอนนี้เราจะแก้ภวังค์ เราต้องทำความเข้าใจก่อน ทีนี้ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจ ทีนี้เราคิดว่าเราจะทำสมาธิ เราอยากได้สมาธิ ถ้ามันหยาบแล้วมันจะไม่เป็นสมาธิไง แต่เราต้องทำความเข้าใจว่าตอนนี้เราไม่ได้ทำสมาธิ มันเหมือนกับคนแข็งแรง ออกกำลังกายก็เพื่อกำลังกายใช่ไหม เราไม่ใช่ออกกำลังกาย เราคนป่วย เราคนป่วย เราฟื้นฟูร่างกาย คนที่ร่างกายปกติเขาออกกำลังเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เราคนป่วยเราฟื้นฟูร่างกาย การฟื้นฟูร่างกาย เราไม่ต้องหวังผลของมัน หวังแค่ฟื้นฟูร่างกายไง นี่ก็เหมือนกัน หวังเพื่อจะไม่ให้แว็บหายก็พอแล้ว

โยม ๑ : กำหนดพุทโธบางครั้งมันก็ได้ แต่ว่ามันจะเป็นแปลกๆ ก็คือเวลาเรานั่งไป พอสงบไปมันจะชอบสะดุ้ง สะดุ้งแบบรู้สึกตัวเลย สะดุ้งโหยงเลย

หลวงพ่อ : เราจะพูดว่านี่นะ เวลาเขาทำไป เพราะเขาบอกว่าเขาเคยปฏิบัติแบบมโนมยิทธิ ปฏิบัติแบบมโนมยิทธิ ปฏิบัติแล้วเขาบอกว่าเห็นเทวดานะ เขาไปเห็นหมดเลย

โยม ๑ : ไปเห็น แต่บอกว่า เขาจะบอกว่าไปกราบพระพุทธเจ้าแล้วจะเห็น เขาบอกว่าสิ่งที่เห็น เวลาเราเห็นเป็นโครงกระดูกเป็นอะไร มันคล้ายกับมันออกมาจากสมองหรือเปล่า

หลวงพ่อ : ไม่ๆๆ เราจะบอกว่าเขาเคยปฏิบัติมโนมยิทธิ พอปฏิบัติมโนมยิทธิมันเป็นเรื่องฤทธิ์เรื่องเดช เรื่องฤทธิ์ เรื่องฌานโลกีย์ ทีนี้พอเป็นเรื่องฌานโลกีย์ที่ฤๅษีเหาะไปได้ อันนี้มันใช้พลังงานแล้ว แล้วต่อไปนี้นะ มันเหมือนกับตอนนี้ไฟ ๒ เฟส แล้วจะมาต่อ ๓ เฟสไง เครื่องใช้ไฟฟ้ามันคนละชนิดไง มันเลยหนักหน่วงไปหมดเลย

เราจะบอกว่านี่กรรม เราไปฝึกมาอย่างนั้นแล้ว เวลาไปหาครูบาอาจารย์ ที่บอกไม่ให้ไปๆ เพราะมันไปหาแล้วมันไปรับกรรมอย่างนี้มา มันไปรับมา พอไปรับมามันก็เป็นข้อมูลอยู่ที่นี่ เวลาเราจะทำอะไรไป เราต้องมาล้างตรงนี้ก่อนไง ถ้าไม่ล้างตรงนี้มันจะเป็นอย่างนี้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันเป็นไง ใครก็แล้วแต่นะ ปฏิบัติมาสายไหน สังเกตได้ไหมเวลาพวกอภิธรรมมา เวลาบอกว่าให้ทำความสงบ สะดุ้งเลย กลัว กลัวมาก กลัวสมถะ

สมถะเป็นญาณของมึงนะ ในญาณ ๑๖ มึงทำสมถะมึงได้ญาณเลย แล้วมึงจะมาญาณ ๑ ญาณ ๑ ญาณ ๓ ชักช้าอยู่อะไร สมถะคือญาณในญาณ ๑๖ แต่เวลาบอกสมถะ มันกลับกลัว ทั้งที่ๆ มันอยู่ในญาณ ๑๖ มึงนั่นล่ะ คนสอนมันโง่มากเลย คนสอนมันแบบว่า ประสาเรา กระบวนการของมัน เราไปตัดตอนกระบวนการไม่ให้มันเป็นอย่างนั้น แล้วกระบวนการนี้มันจะไปทำงาน เราไม่ทำงาน ไม่ส่งต่อไป งานมันจะไปได้อย่างไร

ทีนี้ไปมโนมยิทธิไปอย่างนี้ มันสะดุ้ง มันหนัก พอเขาพูดปั๊บ เรารู้เลย เพราะเมื่อกี้บอกแล้วว่าเคยไปปฏิบัติมโนมยิทธิ แล้วไปเห็นเทวดา เห็นมาทุกอย่างหมดแล้ว

การกระทำทุกอย่างมีเวรมีกรรมหมดนะ แล้วตอนนี้นะ พอมันจะเป็นอย่างนั้นปั๊บ พอปฏิบัติไปมันก็จะออกช่องนั้น

ทีนี้เรากำหนด เรากำหนด อย่างของไอ้น้อง เราบอกว่าไม่ให้ออก เพราะมันเคยออกอย่างนั้นน่ะ คนคิดบ่อยๆ ทำบ่อยๆ จนเป็นจริต จนเป็นนิสัย จนเป็นความเคยชิน แล้วจะดึงกลับมาไม่ให้ออก ไม่ใช่ของง่ายหรอก เวลาพวกโยมมานะ เวลาพูดนะ เราพูดอย่างนี้นึกว่าง่ายๆ นะ เราพูดด้วยเหตุด้วยผลนะ แต่มึงทำนะ มึงต้องรั้งให้อยู่นะ แล้วมึงต้องมีวาสนาด้วย ถ้าไม่มีวาสนา สติมึงไม่ดี มึงฝืนไม่ไหว มันเหมือนดิน ที่ดินทำนา ดูสิ ไปดูปทุมฯ ดูอยุธยาสิ นาสุพรรณฯ ดูท้องนาเขาสิ โอ้โฮ! นาเขาร่มนะ มึงไปดูภาคอีสานสิ ไปดูบนดินทรายสิ อยู่บนเขาด้วย แล้วมึงไปทำนาอะไรกับเขา

มันอยู่ที่จริตนิสัย ทำบ่อยๆ จนเป็นนิสัย ท้องนา นาลุ่ม น้ำมาดี มันไถทำนาปีหนึ่งสามหนสี่หน ไอ้เรา ไอ้นารอน้ำฝน ปีหนึ่งทำหนหนึ่ง แล้วปีหนึ่งมานั่ง อู้ฮู! ฝนตกไม่ตก บนบานศาลกล่าวอยู่นั่นน่ะ น้ำไม่มาสักที ไอ้เขาดูดน้ำเข้านาปีหนึ่งสามหนสี่หน

ไม่ง่ายหรอก ไอ้แก้ภวังค์ เห็นเราพูดจ้อยๆๆ อย่างนี้เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราก็เคยประสบการณ์มา เราก็แก้ตัวเรามาแล้ว แล้วแปลกด้วย ธรรมดาเขามีครูบาอาจารย์คอยแก้นะ กูแก้ตัวกูเองน่ะ พรรษา ๑ พรรษา ๒ ใครแก้ให้กู กูแก้กูเองนะ กูแก้ตัวกูเองมา แก้ด้วยอะไร คิดเลย พอผิดปั๊บ ย้อน พระไตรปิฎกสอนว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าสอนใครไว้อย่างไร แล้วก็เอาอย่างนั้นเลย เอาอย่างนั้นเลย แก้ไม่ได้หรอก เอาก็เอาไม่อยู่ สุดท้ายผ่อนอาหาร

โยม ๑ : ช่วงแรกๆ มันก็ดีค่ะ ผ่อนอาหาร แต่ช่วงท้ายมัน...

หลวงพ่อ : กิเลสมันรู้ทัน พอกิเลสมันตามมึงทันนะ ทำอะไรก็ไม่ดีไปหมดล่ะ อันนี้พอกิเลสมันจะรู้ทันขนาดไหนนะ เราทำไป ทำจนเราชำนาญ ตอนนี้นะ พอเริ่มทำมันจะดี ทุกอย่างจะดีหมดเลย เพราะกิเลสมันไม่ทัน เขาเรียกอุบาย พอเราทำไป พอกิเลสมันมาทันแล้ว เสร็จมันอีกแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเปลี่ยนไป

หลวงตาถึงบอกไง ภาวนามันต้องมีอุบาย ไม่ใช่ซื่อบื้อทำอยู่อย่างนั้นน่ะ กิเลสมันหัวเราะเลยนะ ทำอันนี้ ใช่ กูจะแพ้มึง พอกูแพ้มึงปั๊บ วันหน้ากูต้องหาอุบายชนะมึงให้ได้ พอจะชนะมึงให้ได้ มึงจะทำอย่างนี้อีกนะ โอ้โฮ! หวานหมูเลย ก็ต้องพลิกไปอีก พลิกอะไรรู้ไหม พลิกกลับมาอารมณ์ พลิกไปพลิกมา พลิกมาพลิกไป พลิก อยู่ที่คำบริกรรม แล้ววันนี้พอมันเปลี่ยนปั๊บ เราก็เปลี่ยนไปอย่างใหม่ เปลี่ยนใหม่ วน

โยม ๑ : อ๋อ! เอาอะไรก็ได้

หลวงพ่อ : เออ! วน วนกลับมา ก็วนกลับมา วนกลับมาอีก วันนี้อย่างนี้ไม่ดี อ้าว! พรุ่งนี้กูเอาอันนี้ ถ้าพอทำๆ ไปวันนี้ไม่ดีอีกแล้ว พอมันเปลี่ยนปั๊บมันจะดีวันสองวัน

โยม ๑ : ลูกเคยไปดูมาทุกอย่าง แต่ว่าถึงแม้ รู้สึกว่าจริตตัวเองนึกว่ามันดีก็เลยถูกกับอานาปานสติ ทีแรกยุบหนอพองหนอมันก็ดีนะ ช่วงแรกดีมากเลย เอาไปเอามามันเบื่อ มันเบื่อ พุทโธมันเหมือนมันไม่มีอะไรเลย มันก็เลยไม่น่าประทับใจ แต่พอมาอานาปานสติ มันจิตดับบ่อยมันก็เลยชอบค่ะ ก็เลยมาติดตรงนี้เลย

หลวงพ่อ : นี่ไง โดนหลอกไง จิตดับบ่อย จิตดับบ่อย คำว่า “จิตดับบ่อย” คือตกภวังค์บ่อย

โยม ๑ : นึกว่ามันเป็นผลไง

หลวงพ่อ : เขาใช้คำว่า “จิตดับ” มันเป็นประโยชน์ไง แต่สำหรับคนเป็นนะ

โยม ๑ : ตกภวังค์ใช่หรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ : เออ! จิตดับคือจิตหายไง จิตดับคือคนนอนหลับ โยมเกิดมาชาตินี้นอนหลับทั้งปี เอาไหม นอนหลับตลอดชีวิต เอาไหม

คือคนนอนหลับมันทำงานไม่ได้ อันนี้มันจิตดับมันเหมือนกับคนไม่มีอะไร มันทำไม่ได้ประโยชน์อะไรหรอก แต่เราไม่รู้กัน เราไปฟังว่าจิตดับนึกว่า ก็เราไปคิดถึงสามัญสำนึกใช่ไหมว่าคนรู้สึกมันทุกข์ ถ้าดับแล้วมันคงจะหายไปเลย ดับคือเป็นนิพพาน คนมันคาดหมายไง

แต่นี่เขาใช้คำว่า “จิตดับ” แต่ความจริงมันคือตกภวังค์ คือนอนหลับ บอกว่าจิตนอนหลับก็ได้ แต่เขาพูดอย่างนี้ปั๊บ ไอ้ทฤษฏีเขาก็เหลวหมดเลย คือไม่มีประโยชน์ไง ตัวเองติด สมมุติเราทำความผิด แล้วเราจะบอก เฮ้ย! โกง คนนี้เก่ง คนโกงนี้ดีนะ เพราะโกงเขาแล้วได้เงิน แล้วไปพูดว่าโกงๆๆ จนสังคมบอกว่า เฮ้ย! โกงคือการถูกต้อง

นี่ก็เหมือนกัน จิตดับๆ จิตดับคือจิตที่มันไม่รับผิดชอบ จิตที่มันนอนหลับ แล้วพอสอนไปๆ จิตดับๆๆ จิตดับเลยกลายเป็นนิพพานไปเลย มันอยู่ที่โวหาร ข้อเท็จจริงมันไม่ใช่

ทีนี้พอไปเข้าใจอย่างนี้ว่าจิตดับมันถูกต้องใช่ไหม ทั้งๆ ที่จิตดับมันผิด เอามือล้วงขี้เลย แล้วบอกขี้มันหอม มันหอมไหม เพราะขี้มันเหม็น มันหอมไม่ได้ใช่ไหม ถ้าพอล้วงขี้ไป นี่ขี้หอม...เหม็นตายห่า ขี้หอมไม่ได้ แต่บอกจิตดับ มันก็เหมือนกับล้วงขี้นี่แหละ แต่บอกมันขี้หอม มันหอม แล้วก็ติดหอมมา แล้วพอจะแก้นี่

โยม ๑ : ทีแรกมันก็ว่าดี๊ดี แต่พอมาฟังหลวงพ่อบอกว่าจิตดับ โอ้โฮ! ตกใจเลยฟังทีแรก โอ๋ย! ทำไมเป็นอย่างนี้

หลวงพ่อ : เป็นอย่างนี้หมด

โยม ๑ : คิดว่าตัวเองไปถูกทางแล้ว

หลวงพ่อ : ไอ้บุรีรัมย์น่ะ วันนั้นมาถึง “ทำไมหลวงพ่อต้องพูดดูจิตด้วย หนูก็ลูกศิษย์เขา วันนั้นหลวงพ่อพูด โกรธน่าดูเลย”

เดี๋ยวนี้พอ โอ้โฮ! พอรู้แล้วนะ ซึ้ง

ก็บอกไอ้ที่พูดนี่นะ เพราะมันธรรมดาอย่างพวกเอ็งโดนหลอกมาอย่างนี้ แล้วกว่าเอ็งจะมารู้ เหมือนเด็กเลยนะ

โยม ๒ : เมื่อวานนี้เขาโทรมา โทรมาแบบว่าพอดีรับสาย ตอนนี้กำลังโดนรอบข้างต่อว่าเลย ไปวัดแล้วทำไมขี้โมโห แต่ก่อนยังไม่เห็นเป็นขนาดนี้เลย เขาว่า เดี๋ยวนี้มาเจอพระแล้วทำไมขี้โมโหจังเลย เราจะทำอย่างไรดี

หลวงพ่อ : แล้วทุกคน ทุกคนโมโหหมดเลย

โยม ๒ : ตัวเขาเองบอกว่า คนรอบข้างบอกว่าทำไมเขาพูดกลับมาว่าทำไมขี้โมโห แต่ก่อนไม่เป็น

หลวงพ่อ : เขาเองพูดเอง มันพูดเองเลย เพราะพวกนี้อภิธรรมหมด แล้วก็บอกว่า เดี๋ยวนี้เขาพูดเอง เขาบอกว่า ที่ว่าเขาฝังหัวมาว่าอย่างนั้นว่าวิปัสสนาสายตรง แล้วตอนนี้เขาว่าผิดหมดนะ

โยม ๒ : แล้วเขาก็ไปที่ท่านปราโมทย์ใช่ไหม

หลวงพ่อ : ไป วันนั้นพวกนี้มันพูดหมด เพราะพวกนี้มันไปหมด เพราะอะไร เพราะมันดึงกันไป พอมันดึงกันไป พอมันผิดมาอย่างนี้ พอผิดมา ตัวเองไม่รู้ว่าผิด พอตัวเองไม่รู้ว่าผิดปั๊บ มันก็นึกว่าถูก แล้วพออย่างเรามันเสียเวลาไง มันเสียเวลากว่าเราจะลองผิดลองถูก

อย่างเรามันอยู่ที่วาสนานะ ไอ้ตกภวังค์นี่ไม่มีใครบอกเลยนะ เห็นน้ำลายเลอะจีวร คำแรกมันพูดเลย พอเห็นปั๊บ มึงนั่งหลับ ไม่ต้องเถียง มึงนั่งหลับ พอบอกมึงนั่งหลับแล้ว แก้ทันทีเลย

โยม ๓ : พระอาจารย์คะ เมื่อเช้าโยมเห็นน้องเขาบอกว่าจิตดับ เดิมนี้มันนั่งเพ่งดูตัวเอง เรานั่งเพ่งดูตัวเอง พอเพ่งดูตัวเองรู้สึกว่าลมมันนิ่งไป มันนิ่งแล้วมีบางครั้งรู้สึกว่าเรามีการหายใจ แต่ไม่เห็นลม ตรงนี้เรียกว่าจิตดับไหมคะ

หลวงพ่อ : ไม่

โยม ๓ : ตรงนี้ไม่ใช่ดับใช่ไหม

หลวงพ่อ : ไม่ เรามีลมหายใจนะ ต้องจับลมไว้สิ จับลมให้ชัดๆ

โยม ๓ : มันไม่มีลม แต่มันรู้ว่าลมหายใจเข้า หายใจออก

หลวงพ่อ : ใช่ เราจะอธิบายก่อนไง เราจะอธิบายว่าต้องจับลมชัดๆ ลมต้องจับให้ชัดๆ เลยนะ แล้วที่เราพูดเมื่อกี้นี้ บอกพระ ที่เราเริ่มต้นเลย มีพระองค์หนึ่งเขาปฏิบัติใหม่ ในหมู่คณะเขาบอกพุทโธต้องหาย

แต่เวลามาหาเรา เราบอกพุทโธไม่หาย พุทโธต้องไม่หาย

เขาไม่รับเราเลย เขาไปเลย เขาบอกว่าในวงการพระที่เขาไปปฏิบัติมาเขาบอกว่าพุทโธต้องหาย เขาถึงจะพยายามนึกพุทโธให้หายไง

ถ้าพุทโธหายมันก็ตกภวังค์นี่ไง

โยม ๑ : หนูก็เป็นอย่างนั้นค่ะ

หลวงพ่อ : ใช่ เราจะรู้ไง เรารู้เพราะเราปฏิบัติมาแล้ว อันนี้มันเป็นอุบายของเราเอง เราบอกใช่ไหม มันเป็นอุบายของเราเองว่า เราบอกว่าทุกพุทโธห้ามหาย ถ้าหาย ผิด พุทโธห้ามหาย พอห้ามหายแล้วมันก็ต้องเกาะพุทโธไว้ใช่ไหม ทุกคนต้องเกาะพุทโธไว้ แต่เวลาจริงๆ แล้วมันจะหายไปเอง แต่เราอยู่ เรารู้ตัว อู้ฮู! แบบตาสว่างโพลงเลย แต่มันพุทโธไม่ได้ พุทโธมันหายไปเองโดยธรรมชาติ

แต่ถ้าบอกพุทโธต้องหาย เราเองเราพยายามจะปฏิเสธพุทโธกันให้มันหายไป แล้วก็ตกภวังค์ก็คือดับนี่ไง ตอนนี้มันเป็นอย่างนี้หมดไง แล้วอย่างที่เขาพูด พุทโธต้องหาย แสดงว่าเขาเป็นอย่างนี้ พอต้องหาย ทำอย่างไรก็ได้ ปฏิเสธให้พุทโธมันหายไป

ทีนี้พุทโธหายจริงก็มี ถ้าพุทโธหายจริงมันพุทโธๆๆ มันไม่ได้ พุทโธหาย เจอข้อเท็จจริง

โยม ๒ : เวลาพุทโธแล้วมันหายไปเองหรือคะ

หลวงพ่อ : หาย หายเพราะอะไร มือหยิบของอยู่ มือที่หยิบของรู้สึกเต็มที่เลย แล้วมือที่กำอยู่มันกำได้เต็มที่เหมือนกัน แต่มันไม่ได้กำของ คือพุทโธๆๆๆ พุทโธจนพุทโธไม่ได้เลยล่ะ ที่หลวงตาท่านพูด จนแปลกใจว่าทำไมพุทโธๆ มันหายไปไหน พอพุทโธมันหายไป เราเกาะราวมา เราขึ้นบันไดมา แล้วเราพ้นจากบันไดมา บันไดกับเราเป็นอะไรกัน เราพ้นจากบันไดมา พอพ้นจากบันไดมา บันไดหายไปใช่ไหม แต่เราอยู่บนชานบ้านแล้วใช่ไหม แต่พุทโธคือตัวบันได พุทโธๆๆๆ ไปเรื่อยๆ จิตมันดีขึ้นเรื่อยๆ พอจิตมันพ้นจากบันไดขึ้นมา มันไม่เห็นบันได พอพุทโธหาย ตกใจอีก เพราะจิตมันชัดเจนมาก โอ้โฮ! ชัดเจนมากนะ

แต่ถ้าเป็นภวังค์ พุทโธๆๆๆ หายไปเลย คือว่ามันยังไม่ได้ก้าวขึ้นบันไดเลย มันอยู่ที่พื้นข้างล่างน่ะ แล้วมันก็หลับคาตีนบันไดนั่นน่ะ

โยม ๑ : แล้วเวลาตอนทำมันไป มันจะแบบอานาปานสติ มันดับหรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ : ไม่เป็นไร

โยม : เวลาทำไปๆ แล้วมันก็หายไป ไม่รู้เรื่องอีกเหมือนเดิม

หลวงพ่อ : ไม่ได้ หายไม่ได้

เปล่า เราจะบอกว่า จะพูดนะ โยมไม่ต้องติดใจ ไม่ต้องท้อใจ โยมต้องค่อยๆ แก้ไป เพราะมันฝังรากมาลึก มันฝังรากของใครของมัน เหมือนกับนิสัย เราฝังรากอย่างไรมา แล้วค่อยแก้ไขไป

โยม ๒ : (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : ค่อยๆ แก้ ไม่ต้องเอาแบบว่า...

จำหลักเรานี้ไว้ไง จำหลักไว้แล้วเราไปแก้ที่ไหนก็ได้ เพราะใจกับกายอยู่ด้วยกัน เอ็งจะไปที่ไหน เอ็งอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ เอ็งจับหลักอันนี้ไว้แล้วเอ็งภาวนาไปเรื่อยๆ สิ่งที่ทำมาแล้วถ้ามันเป็นผลนะ เอ็งต้องได้ผลงาน แล้วถ้าเป็นผลนะ อริยสัจมีอันเดียว ถ้าเป็นผลจริงนะ เราพูด มันต้องเข้ากัน ถ้าเวลาเอ็งจำมานะ ถ้าเราพูดผิด สิ่งที่เอ็งจำมาต้องถูก เรานี่ต้องผิด เอ็งเอาเหตุเอาผลฆ่าคำพูดเราได้หมดเลย สัจธรรมนี้มีหนึ่งเดียว

หลวงตาท่านไปฟังของใครมาก็แล้วแต่ “เออ! เหมือนกัน” ดูสิ ท่านไปแก้หลวงปู่บัว “อ้าว! ว่ามา”

๑ ผ่าน ๒ ผ่าน ๓ ผ่าน

“อ้าว! ว่ามาสิ”

หลวงปู่บัวบอก “ก็แค่นี้แหละ นึกว่านิพพาน”

“อุ๊ยตาย! มันยังไปได้อีก”

ถ้าพูดถึงถ้าเอ็งถูกนะ เอ็งฟังเราพูด เราผิด แล้วฆ่าด้วยเหตุผลไง ฆ่าด้วยข้อเท็จจริง ฆ่าด้วยเหตุผล ลบล้างได้หมด ฉะนั้น ถ้าเหตุผลเอ็งลบล้างอันนี้ไม่ได้ เอ็งต้องคิดว่าอะไรถูก ถ้าเหตุผลเอ็งลบล้างอันนี้ได้ ถูก

โธ่! เราฟังนะ เราฟังเทศน์วิทยุเสียงธรรม ครูบาอาจารย์เทศน์ถูกนะ ใช่ๆๆ ยิ่งหลวงปู่บุดดา “จิตมีหนึ่งเดียว ร้อยแปดดวงอะไรก็แล้วแต่ หนึ่งเดียว” หลวงปู่บุดดาพูดอย่างไรก็ถูก จะพูดพลิกแพลงอย่างไรก็ถูก ไอ้คนไม่เป็นนะ พูดพื้นๆ ก็ผิด ยิ่งพลิกแพลงยิ่งผิดใหญ่เลย

หลวงปู่บุดดาจะพูดอย่างไรก็แล้วแต่ ท่านพูด ท่านเข้าสังคมไม่ได้ ไปที่ไหนเขาไม่ให้กินกาแฟหรอก พูดไม่เหมือนเขา แล้วท่านก็บอกเลย ไปตอบ... ตอบอย่างนี้เขาไม่ให้ตอบหรอก ต้องตอบแบบเขา หลวงปู่บุดดา พอฟังเทศน์ออกวิทยุนี่ แหม! ฟังทีไรถูกใจฉิบหายเลย หลวงปู่บุดดานี่ “จิตมีหนึ่งเดียวๆๆ ร้อยแปดดวงๆ อะไรไม่เกี่ยว มีหนึ่งเดียว”

จะบอกเลยนะ ถ้าสัจธรรมนี้มีอันเดียว หลวงตาท่านไปทดสอบกับครูบาอาจารย์ต่างๆ เหมือนกันๆๆ ถ้าผิดปั๊บ ต้องมีการแก้ไขกันแล้ว ไปหาหลวงปู่ขาวก็อันเดียวกัน หลวงปู่ขาวกับหลวงตา เจ้าคุณจูมให้ชนกัน ก็อันเดียวกัน ถ้าอย่างหลวงปู่คำดี หลวงปู่ฝั้น อย่างนี้ อย่างหลวงปู่บัว อย่างนี้ ท่านทะลุได้สูงกว่า ท่านก็ดึงขึ้นมา ไม่มีมากทางหรอก ธรรมะมีอันเดียว

ทีนี้พอเราฟังเทศน์ไป เราฟังเทศน์ของเพื่อนๆ เขาไป เราฟังแล้ว โทษนะ รำคาญหูฉิบหายเลย มันขวางไปหมดเลย ข้อมูล เหตุผลมันไม่ลง เหตุผลมันขัดแย้ง แล้วไม่ใช่ขัดแย้งที่เรา ขัดแย้งที่คำพูดเขาก็ขัดแย้งแล้วนะ แล้วถ้าเกิดกูชี้ออกไปนะ ตายหมดนะ

เราพูดบ่อย ทำสมาธิแล้วเกิดปัญญาเองอย่างนี้ เป็นไปไม่ได้หรอก เป็นไปไม่ได้ ถ้าทำสมาธิไปเกิดปัญญาเองนะ ฤๅษีชีไพรเป็นพระพุทธเจ้าหมดแล้ว สมาธิเป็นสมาธิ เป็นปัญญาไปไม่ได้ สมาธิเป็นฐานของปัญญา ปัญญาต้องฝึกฝนขึ้นมาถึงจะเป็นปัญญา ถ้าสมาธิเป็นปัญญาได้เอง ฤๅษีชีไพรหรือทุกคนถ้าทำสมาธิแล้วต้องไม่ติดสมาธิ ต้องเป็นปัญญาไปโดยธรรมชาติ

อย่างข้าวสาร เราปลูกข้าวต้องได้ข้าวสารแน่นอนใช่ไหม ข้าวสารจะเป็นข้าวสุกได้ไหม ไม่ได้หรอก ต้องหุง ถ้าข้าวสารใครจะให้มันสุกได้ต้องหุงเป็นข้าวสุก ให้ข้าวสารเป็นข้าวสุก เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าทำนาได้ข้าวสารเด็ดขาด

ทำสมาธิภาวนาได้สมาธิแน่นอนล้านเปอร์เซ็นต์เลย แต่สมาธิจะเป็นข้าวสุกไม่ได้ ข้าวสารจะเป็นข้าวสุกไม่ได้ ไม่ได้ แต่ข้าวสุกไม่มีข้าวสาร ข้าวสุกจะมีมาไม่ได้เลยถ้าไม่มีข้าวสาร

โยม ๓ : แล้วปัญญาจะเกิดขึ้นตอนไหน

หลวงพ่อ : วิปัสสนา

โยม ๓ : มันจะเกิดขึ้นตอนไหน

หลวงพ่อ : เราฝึก

โยม ๓ : สมาธิต้องก่อนใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๓ : เพ่งก่อนแล้วจะมีความคิดเกิดขึ้น

หลวงพ่อ : ไม่ ความคิดคือผิดอีก

โยม ๓ : แล้วอย่างไรคะ ต้องอย่างไร จิตจะคิดแล้วก็ตามลมใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : ไม่ใช่ จิตต้องมีพื้นฐาน แล้วจิตมันจะไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม

โยม ๓ : ก็คือพบสงบนิ่งเป็นสมาธิแล้วน้อมเข้ามาหากายเรา

หลวงพ่อ : ถ้าน้อมได้

โยม ๓ : พิจารณาเห็นอสุภะ

หลวงพ่อ : ไม่ การเห็นกายที่เขาเห็นๆ กันนี่เห็นโดยสัญญา เห็นโดยสามัญสำนึก เห็นโดยคิด

ถ้าเห็นกายนะ จิตเป็นสมาธิเห็นกายนะ โอ้โฮ! ผงะเลย ผงะเลยนะ เพราะจิตพอมันเห็นกาย เราเปรียบเทียบอย่างนี้บ่อยมาก โทษนะ ไม่มีใครเป็นนะ อย่างเช่นเรา เราปกติหรือไม่เป็นปกตินะ ถ้าเราไปให้หมอเช็คร่างกายแล้วหมอบอกว่าเราเป็นมะเร็ง เราจะตกใจไหม ถ้าหมอบอกว่าเราเป็นมะเร็ง เราจะช็อกไหม ธรรมดา

จิตถ้าสมาธิมันไปเห็นกายนะ มันเป็นอย่างนั้นน่ะ เพราะอะไร เพราะมะเร็งคืออวิชชา นั่นคือโรคร้าย ความรู้สึกของคนที่เห็นกายเหมือนกับหมอบอกว่าเรานี้เป็นมะเร็ง แล้วมีความรู้สึกที่ตื่นเต้นมาก

แต่ “เออ! เห็นกายๆ” ใครมาพูดเห็นกาย กูไม่เชื่อ

เห็นกายนี่นะ โอ้โฮ! ผงะเลย

โยม ๑ : จริงๆ ก็เห็น สงสัยเห็นเป็นแบบฝึกมโนมยิทธิที่ลูกไปฝึกมาหรือเปล่าไม่รู้ ลูกว่ามันไม่เห็นน่าตื่นเต้นเลย

โยม ๓ : ตับไตไส้พุงหรือคะ

หลวงพ่อ : ใช่ ใช่ เห็นตับไตไส้พุง เห็นกระดูก ของหลวงปู่กิมเห็นผมเส้นเดียว แล้วผมขยายเป็นท่อนซุงเลย ผมนี้ขยายออกเป็นท่อนซุงเลยนะ ส่วนกลางของผม สารอาหารที่มันเข้าไปในผม โอ้โฮ! ผมเส้นหนึ่งขยายออก โดยวิทยาศาสตร์ต้องใช้กล้องส่องถึงจะขยาย แต่นี่โดยธรรมมันขยาย

พอเวลาเห็นกายเห็นอะไร ไม่เห็น ไอ้ที่เห็นๆ นั่นน่ะ เราอยากพูดอย่างนี้ โทษนะ ตอแหลทั้งนั้นน่ะ ตอแหลทั้งนั้น

โยม ๓ : แล้วเห็น เราเห็นขึ้นมาเองหรือว่าจากการพิจารณา พิจารณาไปเรื่อยๆ แล้วมันเห็น

หลวงพ่อ : ใช่ ใช่ พิจารณาไปเรื่อยๆ ก็ได้ พิจารณาไปเรื่อยๆ บางทีมันแว็บเข้ามา การพิจารณาไปเรื่อยๆ คือการฝึก ถ้าจิตเป็นสมาธิแล้ว ถ้าเห็นนะ คือจะบอกว่าเห็นด้วยวิธีใด การเห็นมันมาจากพื้นฐาน พื้นฐานของใจ ถ้าใจมันสร้างบุญกุศลไว้ พอจิตสงบ มันมาเลย

โยม ๔ : แล้วอย่างเห็นนั้นคือเห็นการพิจารณา

หลวงพ่อ : ไม่ ไม่ เห็นส่วนใหญ่ก็บอกแล้วไงเมื่อกี้ ตอแหลหมดเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราศึกษากันมาก เราเข้าใจว่าต้องพิจารณากาย เราเลยไปเป็นอุปาทานกัน แล้วเป็นอุปาทานหมู่ด้วยนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะหัวหน้าสอนผิด พอหัวหน้าบอกว่าเห็นกายต้องเห็นอย่างนี้ ทุกคนก็นึกให้ไปเห็น

แต่ถ้าเห็นโดยข้อเท็จจริง เห็นโดยวิปัสสนา เห็นโดยเกิดปัญญา ถ้าจิตสงบแล้วมันมีพื้นฐาน มันจะมาของมันเองเลย แล้วมาไม่ใช่มาหนเดียว ดูสิ อย่างพระสารีบุตรหรือว่าพระที่สมัยพุทธกาลที่มีบุญญาธิการมาก เวลาไปเอหิภิกขุ ขอพระพุทธเจ้าบวช มันจะมีแบบบริขาร ๘ ลอยมาเองเลย แต่หนเดียว แล้วพอบริขาร ๘ มันขาดแล้วนะ ให้ลอยมาอีก ไม่มาแล้ว ต้องเย็บเอา แต่บางคนหาไม่ได้ ดูพระอรหันต์สิ ที่ว่ามาฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ทีเดียวเป็นพระอรหันต์น่ะ ขอบวช พระพุทธเจ้าบอกไม่มีบริขาร ๘ พระอรหันต์นะ ไปหาบริขาร ๘ ควายขวิดตายเลยล่ะ บริขาร ๘ พระอรหันต์หาไม่ได้ คิดดูว่าบริขาร ๘ ไม่ง่ายๆ อย่างนี้ เวลาคน มันอยู่ที่บุญของคนไง แต่เวลาพระที่มีบุญนะ เวลาบวชนี่นะ เป็นทิพย์ลอยมาเลย มาเอง เหมือนลอยมาจากฟ้าเลย บริขาร ๘ แต่หนเดียว

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาพิจารณากายนี่นะ ถ้าจิตมันสงบ ไอ้ที่ว่ามีวาสนามันจะมาหนเดียว ถ้ามาแล้วนะ เอ็งไม่เป็นนะ เอ็งรักษาไม่ได้นะ มันก็จะหายไป แต่ถ้ามาได้นะ แล้วรักษาได้ มันก็มาเรื่อยๆ แต่ถ้าเราไม่มีวาสนา อย่างพระทั่วๆ ไป มันก็ไม่ลอยมา พระที่มีบริขารทิพย์ลอยมานี่นะ มีไม่กี่องค์ในสมัยพุทธกาล มีน้อย แต่มี แล้วพอส่วนใหญ่แล้วไม่มีหรอก เย็บกันเอง ตัดกันเอง

อย่างพวกเราจิตสงบแล้ว แล้วถ้ามีวาสนา เราต้องน้อมรำพึงขึ้นมา เวลาจิตเราเป็นสมาธิใช่ไหม พอจิตเราเป็นสมาธิ เราก็พิจารณากาย ก็ฝึก ฝึกน้อมขึ้นมา เหมือนกับเราจุดประเด็นขึ้นมา แล้วมันก็เห็นอย่างหยาบๆ อย่างเช่นเราไปเที่ยวป่าช้า ไปเที่ยวป่าช้า พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ ให้เพ่งแล้วหลับตา ภาพนั้นติดไหม ถ้าไม่ติด พยายามเพ่ง ทำสมาธิแล้วเพ่ง เพ่งดูภาพ แล้วหลับตา หลับตา ถ้ามันติดขึ้นมาให้กลับมาที่กุฏิ หลับตา ภาพมันติดแล้วไง ภาพติดนั่นคือภาพที่เห็น แล้วมันจะติดได้เพราะอะไร เพราะสมาธิไง ถ้าจิตเป็นสมาธิมันจะติดได้

แล้วถ้าเราไม่ได้ไปเที่ยวป่าช้าใช่ไหม พอจิตเราสงบเราก็ฝึกขึ้นมา อย่างที่ว่าเรานึกๆ ขึ้นมา นึกขึ้นมา พยายามนึกขึ้นมา นึกขึ้นมาโดยสมาธิกับนึกขึ้นมาโดยไม่มีสมาธิต่างกัน นึกอย่างนี้นึกขึ้นมา แล้วพอมันนึกเห็นจริงนะ โอ้โฮ!

นึกนี่จุดประเด็นใช่ไหม เหมือนเราจุดไฟ จุดไฟ โชะ! โชะ! ไม่ติด ถ้ามันพรึบ! ติดขึ้นมาล่ะ พรึบ! เลย ติด พอมันติดขึ้นมานะ โอ้โฮ! อารมณ์ความรู้สึกจะต่างไปเยอะเลย

การเห็นกายนะ เราถึงเห็นที่เขาพูดๆ กันนะ เราก็ฟังไปอย่างนี้เพราะอะไร เพราะเราไม่ค้าน ไม่ค้านเพราะอะไรรู้ไหม เพราะนี่คือการฝึกไง เหมือนคนฝึกงาน เราไปบอกว่าผิดเลย เขาจะท้อถอยกัน พอเขาฝึกงาน เราก็ปล่อยให้เขาฝึกกันไปก่อน แล้วผิดถูกเราค่อยแก้ไง ฝึกมาๆๆ ทำมา ไปบอกว่าผิดทีแรกเลยนะ โอ๋ย! เด็กมันก็ไม่ทำกันน่ะสิ

โยม ๓ : พระอาจารย์คะ ตอนที่ว่าสงบแล้วเรารู้ว่าเรามีลมเข้าออก แต่มันไม่มีลม แล้วเราก็มีความคิดผุดขึ้นมาอย่างนี้ผิดไหม

หลวงพ่อ : ไม่ผิด

โยม ๓ : มีความคิด มีความคิดขึ้นมาว่า ตาเรามันก็แค่นี้แหละ ใช่ไหมคะ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วจู่ๆ มันก็เห็นอะไรทั้ง ๒ ข้าง ปอดหรืออะไรอย่างนี้ อันนี้คือผิดใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : ไม่ผิด ตอนเห็นปอดมีความรู้สึกอย่างไร

โยม ๓ : เห็นก็มองมันเฉยๆ ไม่รู้จะทำอย่างไร คือทำต่อไม่ถูกค่ะ

หลวงพ่อ : เวลาเห็นปอดมันสะเทือนใจมากไหม

โยม ๓ : สะเทือนใจมากไหม ไม่ค่ะ ก็มอง คือมองเขาน่ะค่ะ ก็มองเข้าไปว่าคืออะไรอย่างนี้ มันเป็น ๒ ข้าง

หลวงพ่อ : ความจริงมันเห็นนะ เวลามันเห็นนี่นะ บางทีเวลาเราเห็นไปก่อน เห็นมันยังเป็นแบบว่าภาพนึกก่อน พอบางทีพอมันจริงขึ้นมา พอไปเห็นปอดขึ้นมา อารมณ์มันจะกระเพื่อมเลย สมมุติว่าเราเห็นเราภาพอย่างนี้ มันประสาเราเลยนะ เรามองเขาสอนหมอ ไอ้ภาพโครงร่างกายมนุษย์ กับเราเอาปอดจริงๆ มา ความรู้สึกต่างกันไหม

โยม ๓ : ต่างกัน

หลวงพ่อ : นี่เหมือนกัน ถ้าเราโดยสามัญสำนึกมันก็เหมือนกับเราดูภาพสรีระคน กับเราไปเห็นกายจริงๆ มันสะเทือนใจนะ

โยม ๓ : แต่นี่มันขึ้นมาเฉยๆ ก็เลยไม่ทราบว่ามันถูกหรือมันผิด

หลวงพ่อ : ถูก

โยม ๓ : ถูกหรือคะ แล้วต้องอย่างไรต่อคะอาจารย์

หลวงพ่อ : มันหายไปแล้ว

โยม ๓ : แล้วต้องอย่างไรคะ

หลวงพ่อ : แล้วทำอีกยากด้วย

โยม ๓ : แล้วค่อยทำใหม่ ก็ทำไปเรื่อยๆ ใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : ไม่ใช่ ไม่ใช่

เราจะบอกอย่างนี้ ถ้ามีข้อมูลนี่นะ เหมือนเทป เหมือนซีดี เรามาเปิดอีกก็เจออีก แต่การปฏิบัติมันจะเอาอะไรมารีเพลย์อย่างนั้นอีก มันไม่มีอีกแล้ว การปฏิบัติมันจะเกิดโดยปัจจุบัน เราสร้างไม่ได้นะ เราจะสร้าง เราจะเก็บ เหมือนกับคอมพิวเตอร์ เรากดแล้วจะออกมาตามอย่างนั้น ไม่ใช่นะ ถ้ากดอย่างนั้นมันสัญญาหมดล่ะ

ทีนี้พอจิตมันสงบมันจะเห็น อย่างเช่นเห็นปอด เห็นลูกตา เห็นกะโหลก เห็นกระดูก หรือไม่เห็นเลย มันมีความรู้สึกหรือเหมือนกาย พิจารณาเอาแบบหลวงปู่ดูลย์ การพิจารณากายไม่เห็นกายก็ได้นะ

โยม ๓ : อย่างนั้นโยมขอกลับไปถามต่อว่า บางครั้งนะคะ พอดูกาย พอมันรู้สึกว่ามันไม่มีตัวตนเรานะคะ แล้วพอเราดูลมปุ๊บ เรารู้ว่าลมเราเข้าออก แต่เราไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน แล้วพอเรากลับมากายอีก มันขาด มันโบ๋ มันไม่มีเลย

หลวงพ่อ : ไม่มีอะไรเลย โล่งหมดเลย

โยม : มันโล่งหมด อย่างนี้ก็เลยไม่รู้ว่าจิตเราดับหรือเราหลับหรือเปล่า

หลวงพ่อ : ไม่

โยม ๓ : แล้วเราจะต่ออย่างไร คือต่อไม่ถูกค่ะ

หลวงพ่อ : ถ้ามันมีอะไรก็แล้วแต่ มันมีอยู่อะไรก็แล้วแต่นะ เราอยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ อยู่กับความรู้สึก

โยม ๓ : แต่ไม่พุทโธนะคะ ...ไม่เป็น

หลวงพ่อ : แล้วทำอย่างไร

โยม ๓ : ลมอย่างเดียวค่ะ ...ไม่เป็น

หลวงพ่อ : ก็อยู่กับลม ไม่ต้องพุทโธ

ถ้าพูดถึงนะ พอมันพิจารณา ไปเห็นกายแล้วพอมันปล่อยว่างหมด เพราะมันเป็นผลแล้ว เป็นผลแล้วคือว่ามันพิจารณาแล้วมันปล่อย มันปล่อยคือจิตมันเสวยสุขแล้ว อยู่กับมัน อยู่กับมันพักหนึ่ง นี่ไง อยู่กับผู้รู้ อยู่กับลม จำไว้

โยม ๓ : ลมไม่มี พยายามหาไม่เจอ

หลวงพ่อ : อ้าว! เมื่อกี้บอกว่าพิจารณาลม

โยม ๓ : รู้แต่ว่าหายใจเข้าออก ไม่ใช่ค่ะอาจารย์ มันเกิดขึ้นแล้วลมมันรู้ แต่ว่ามีการเข้าออก แต่มันไม่มีลม ก็เลยจะไปหาลมอีก โยมก็เลยดูมันเฉยๆ ถูกไหมคะ

หลวงพ่อ : อยู่กับลม เราจะบอกว่าดูเฉยๆ มันหลักลอย

โยม ๓ : เราต้องอยู่กับลม

หลวงพ่อ : ใช่ จิตนี้มันเป็นนามธรรม ต้องมีที่เกาะ เหมือนจุดยืนของคน ต้องอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นฐาน ฉะนั้น พอจิตมันปล่อยหมดแล้ว ถ้าเราอยู่กับลม เราก็อยู่กับลม คือเราเกาะลมไว้ไม่ให้มันเร่ร่อนไง ไม่ให้มันไปเป็นอื่นไง ถ้ามันสุขแล้วก็อยู่กับลมไว้

โยม ๓ : อยู่กับอาการเข้าออกๆ

หลวงพ่อ : ใช่ อยู่กับตรงนี้ไว้ ไอ้ที่ว่าทำอย่างอื่นๆ ที่ต่อไป ไม่ต้องต่อ เพราะเป็นอย่างนี้ปั๊บ เดี๋ยวมันก็มาอีก พอมันพิจารณาปั๊บ มันปล่อย มันเข้าใจมันก็หายไป แล้วพอเราอยู่กับลม เดี๋ยวมันก็มาอีก มาอีกก็พิจารณาอีก มันก็หายอีก หายอีกแล้วเดี๋ยวก็มาอีก มาอีกก็พิจารณาอีก

ทีนี้การพิจารณามันต้องเกาะอะไรไว้อันหนึ่งไง ถ้าไม่อย่างนั้นปั๊บ เราจะเหลวไหลไปกับเขาไง จำไว้เลย ฐาน หลวงตาท่านบอก เราเอาหลวงตาเป็นตัวตั้งไง หลวงตาบอก อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ ไม่เสีย จะทำอะไรก็แล้วแต่ อยู่กับผู้รู้ เวลาไม่มีอะไร อยู่กับผู้รู้ไว้ อยู่กับพุทโธไว้ อยู่กับลมไว้ ใครกำหนดอะไร อยู่ตรงนั้นไว้ อยู่กับความรู้สึกเราไว้ คือจุดยืนของเรา แล้วถ้ามันอยู่อย่างนี้มันจะสุข พอสุขปั๊บ สุขเพราะอะไร สุขเพราะมันเข้าใจ ทุกอย่างมันก็ปล่อยวาง เหมือนกับเราทำงานเสร็จมันจะปล่อยวาง พอปล่อยวางเสร็จปั๊บ อย่างเสื้อผ้า เราซักเสร็จแล้วมันสะอาด เราเก็บไว้ พอเอามาใส่มานุ่งมันก็สกปรกอีก ใจถ้ามันปล่อยวางแล้วมันก็จะอยู่ของมัน เดี๋ยวมันก็มาอีก เพราะใจมันเป็นธาตุรู้ เป็นธาตุที่คิด มันจะอยู่โดยที่ไม่มีตัวตนไม่ได้ แต่ขณะที่มันเข้าใจ มันไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลยแล้วจะไปไหนล่ะ

ก็อยู่กับผู้รู้ไง อยู่กับลมไง อยู่กับลมไง อยู่กับอานาปานสติ ใครกำหนดอะไร อยู่กับตรงนั้น เดี๋ยวมันมาอีก มันมาอีก พอเราอยู่นี่ปั๊บ เราก็เตรียมพร้อมไง เตรียมพร้อมมีสติ มาอีกก็พิจารณาอีก พิจารณาพอเข้าใจปั๊บ มันก็ปล่อยอีก มันก็หายไปอีก เราก็อยู่กันที่นี่ อยู่ตรงนี้ อยู่กับสติ อยู่กับผู้รู้ ผู้รู้คือความรู้สึกไง อยู่กับสติ อยู่กับความรู้สึกตลอดเวลา ไม่ต้องไปไหน อยู่เฉยๆ เดี๋ยวมันมาเอง สิ่งที่พิจารณามันจะเข้ามาอีก แล้วซ้ำๆๆ พอซ้ำไป เดี๋ยวจะเป็นกายแท้ ถ้าเป็นกายแท้ เป็นวิปัสสนาแท้ เดี๋ยวปัญญามันเกิด ปัญญามันเกิดคืออย่างนั้น ปัญญามันเกิดคือพอมันพิจารณาไปปั๊บ พอมันปล่อย โอ้โฮ!

เราล้างมือหนหนึ่ง มือมันยังเลอะคราบอะไรสิ่งใดๆ บ้าง เราล้างมือครั้งที่ ๒ มันก็สะอาดขึ้น ล้างมือครั้งที่ ๓ ล้างมือครั้งที่ ๔ ล้างมือครั้งที่ ๕ ล้างมือครั้งที่ ๖ อู้ฮู! มันสะอาดไปเรื่อยๆ ล้างทุกวันๆๆ ล้างตลอดเวลาเลย อะไรมันจะเลอะกูได้ เพราะกูล้างมือกูตลอดเวลา พิจารณาซ้ำอยู่อย่างนั้นน่ะ พิจารณาอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วเดี๋ยวสมดุลปั๊บนะ เดี๋ยวรู้

เวลาไปรายงานผลหลวงตา หลวงตาบอก เอ็งพูดมาสิ เราจะฟังเฉยๆ รู้ไม่รู้อยู่ที่เรารู้ ท่านฟังแค่รับประกันเฉยๆ ท่านจะบอกให้เราถูกหรือผิดไม่ได้ นี่ไง เราล้างมือไปเรื่อยๆ อยู่กับพุทโธไปเรื่อยๆ พิจารณาไปเรื่อยๆ อยู่กับพุทโธไปเรื่อยๆ อยู่กับผู้รู้ อยู่กับลมไปเรื่อยๆ พิจารณาไปเรื่อยๆ ทำอย่างนี้ จำไว้เลย

โยม ๓ : ให้เป็นวสี

หลวงพ่อ : ใช่ แล้วใครจะพูดอย่างไร ช่างหัวมัน ใครจะพูดอย่างไร ปล่อยมันไป ทำอย่างนี้ แล้วทำไปนะ แล้วถ้าผิด เดี๋ยวมานี่ “อาจารย์สอนหนูทำแล้วไม่ได้ผล”

อ้าว! มานี่เลย มา เดี๋ยวมานี่

โยม ๓ : ท่านอาจารย์คะ แล้วที่เคยมากราบเรียนท่านอาจารย์ว่าภาวนาหนหนึ่งแล้วมันสว่างโล่งไปหมด แล้วเราอย่างนั้นน่ะค่ะ แล้วเราทำอย่างไร ถ้าเกิดอย่างนั้นอีก สมมุติ สมมุติ

หลวงพ่อ : เห็นอย่างนั้นก็กลับมาที่ลมอย่างเดิมหมด เพราะมันเห็น พอมันเห็นปั๊บมันก็จบแล้ว แค่นั้นแหละ แล้วถ้าเราอยู่แค่นั้นนะ มันก็หายไป ไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่ถ้าเรากลับมาที่ลมนะ เรายังอยู่ที่นั่นอยู่ พอเกิดอะไรขึ้นเราจะเห็น ถ้าเราเห็นสว่างปั๊บ เราไปสว่างนะ เขาเรียกส่งออกไง

โยม ๓ : อ๋อ! เราไม่ต้องส่งตาม เราดูเฉยๆ

หลวงพ่อ : ใช่ ใช่ พอมันส่งไป เหมือนกับฐานไม่มีแล้ว เหมือนกับเราออกจากบ้านไป บ้านร้างเลย แล้วพอเกิดขึ้นมานะก็ล้มลุกคลุกคลาน รักษาบ้านไว้ กิเลสอยู่ในบ้าน ทุกอย่างมันต้องการทำลายบ้านหลังนี้ เราอยู่กับความรู้สึกนี้คือบ้าน คือฐานของจิต มันจะมีอะไรเกิดขึ้นมา เราแก้ไขตรงนี้ เพราะเราจะแก้ไขที่ฐานของจิต เราจะแก้กิเลสที่จิต อะไรเกิดขึ้น ช่างหัวมัน

คือว่ามันเป็นอาการของใจ มันเป็นสิ่งล่อลวง สิ่งเกิดขึ้น มันเป็นจริตนิสัยของจิตแต่ละดวงที่ไม่เหมือนกัน บางคนก็มี บางคนก็ไม่มี บางคนก็บางคราวมี แล้วมันหายไปแล้วก็ไม่มีอีก บางคนมีตลอดไป บางคนทีแรกไม่มี ไปมีทีหลัง อู้ฮู! โอ๋ย! เยอะ

โยม ๓ : ท่านอาจารย์คะ แล้วถ้าอย่างตอนที่เราภาวนาแล้วลมมันตัด เคยเป็นกันไหมคะ มันวูบเข้า... แล้วก็... เห็นข้างใน แต่เราตาม ไม่ถูก

หลวงพ่อ : ไม่ถูก ไอ้นี่มันมาทีแรกเขาเรียกเซ่อไง เวลาของจริงมันจะเป็นอย่างนั้นล่ะ ที่มันตัดมันเป็นของจริงหมดนะ ของจริงเวลาเห็นมันเหมือนกับ โทษนะ เหมือนกับเราประสบเหตุวิกฤติในปัจจุบันนี้ วิกฤติที่มันเกิดซึ่งหน้าแล้วเราแก้ไขไม่ทัน คือบางอย่างที่เกิดในปัจจุบันเราตัดสินใจไม่ทัน ของจริงมันจะเกิดอย่างนี้ มันจะเกิดในปัจจุบัน เกิดซึ่งๆ หน้า ที่ไม่มี เราไม่รู้เหนือรู้ใต้ที่มันมาเผชิญ เหมือนเดินเข้าไปเจอเสือหรือหมาวิ่งมากัด มันตัดสินใจไม่ถูกหรอก

ถือไม้มาจะตีหมา หมาไม่มีสักตัวหนึ่งนะ วันไหนเดินมาธรรมดานะ หมามา โดนกัดน่องเลย นี่ก็เหมือนกัน เวลามันจะเกิดขึ้นมามันเกิดขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวนะ วันไหนตั้ง ถือไม้ไว้เลย วันนี้กูจะตี เข้ามา...มึงรอไปเถอะ ชาตินี้ไม่เจอหมา

เวลามันเกิดอย่างนั้น เวลาภาวนามันจะเกิดปัจจุบัน นี่ไง เวลามันผ่าซีก เอาอะไรไม่ทันหรอก ไม่ทันก็ถือว่าเป็นคติเตือนใจ แล้วภาวนาไปอีก พอวันหลังต่อไปถ้ามันมีอะไรขึ้นมา พอมันผ่าซีกปั๊บ ยืนดูนะ โอ้โฮ!

โยม ๓ : ต้องยืนดูใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : ใช่ จิตมันดูไง พอผ่าปั๊บ สติมอง มันจะแปรสภาพนะ มันจะเปลี่ยนให้เราเห็นนะ โอ้โฮ! ถ้ามันเป็น

ฟังๆ ดู โยมมันแบบว่ามันมีพื้นฐาน จิตมันมีวาสนาอยู่ แต่ฟังแล้วนะ ขี้สงสัย แล้วไม่เชื่อตัวเอง พอเจออะไรแล้วกูไม่เชื่อ กูปล่อย คนเรามันก็มีดีมีเสีย บางคนพอไม่มีอะไรก็อยากให้มี แต่บางคนมีแล้วก็ไม่เชื่อ

โยม ๓ : จะแก้อย่างไร

หลวงพ่อ : เพราะคำถามบอกอยู่ตลอดเวลา

โยม ๓ : เป็นจริงๆ

หลวงพ่อ : คำถามมันบอกอยู่ตลอดเวลาว่ามันเจอนี่อย่างหนึ่งๆๆ

โยม ๒ : เขามาที่นี่หลายรอบแล้วนะคะ เขาทำแบบที่เขาทำ

หลวงพ่อ : เวลามันพูดมันบอกเองไง อย่างนี้ๆๆ มันมีมาบ่อยมากเลย แต่ตัวเองทำอะไรไม่ได้ประโยชน์สักอย่างหนึ่ง

โยม ๓ : แล้วอย่างไรดีคะ

หลวงพ่อ : ถ้าเป็นของเรานะ พอเจออะไรปั๊บ เราจะพิสูจน์เลย นิสัยเราเจออะไร พิสูจน์เลย อ้าว! เดี๋ยวเอาอีก มาอีก มาเจอก็พิสูจน์ พิสูจน์แล้วแก้ไข พิสูจน์จนใช้ไม่ได้ เรานี่พิสูจน์จนไม่ได้ พิจารณากายเราพิจารณาไม่ได้นะ พิจารณาจนจืด พิจารณาจนไม่ยอมพิจารณา เอ๊! ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

แล้วเราหาทางออก เรามาพิจารณาจิต พอพิจารณาจิต ไปพรวดๆ ก็เลยมาทางนี้ หลวงปู่มั่นมาชี้เลย “ทางของมึง” โอ้โฮ! ไปพรวดๆ จนมาเป็นอย่างนี้ เราทดสอบตัวเองจนเต็มที่ โยมไม่ทดสอบ โยมไม่ทดสอบ

ทดสอบจนเต็มที่เลย ถ้ามันพิจารณาไปแล้วนะ มันมีรสชาติ มันพิจารณาแล้วมันปล่อยวาง นั่นคือทางของเรา ถ้าพิจารณาไปแล้วนะ มันเหมือนจืดชืด เหมือนกินกระดาษเลย ไม่เอาไหนเลย อะไรก็ไม่เอาไหนเลย ไปไม่ได้เลย เราเปลี่ยน

เราทดสอบ ทดสอบหมด แปลก มีอะไรฝึกเอง ทำเอง แล้วพอสุดท้ายเราไปถามหลวงตา ไปถามหลวงปู่เจี๊ยะ “เออ! กูก็ทำอย่างนี้” หลวงปู่เจี๊ยะนะ “เออ! กูก็ทำอย่างนี้”

เออ! ค่อยยังชั่วหน่อย นึกว่ากูบ้าคนเดียว

หลวงปู่เจี๊ยะบอกเลย “เออ! กูก็ทำอย่างนี้”

ทดสอบ เราต้องทดสอบเอง ปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน สันทิฏฐิโก รู้จากข้างใน นี่ไง ใจ ใจเป็นผู้รู้ ใจมันจะเข้าใจตรงนี้ ธรรมะที่ศึกษามานั้นมันเป็นของพระพุทธเจ้า แต่ว่าของเรามันจะรู้เอง

เอ็งจบหรือยัง จบแล้วจะเลิก

โยม ๓ : จบแล้วค่ะ

หลวงพ่อ : จบแล้วจะเลิก