ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คณะหมอ

๒๖ ต.ค. ๒๕๕๑

คณะหมอ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ทางวิชาการเขาศึกษา เขาไปพูดเรื่องนี้เยอะ มันมีพวกลูกศิษย์เขาเรียนปริญญาโทที่มหามกุฎฯ แล้วทำวิทยานิพนธ์ “นิพพานเป็นอย่างไร” ทำเรื่องนิพพานเลยนะ ทำวิทยานิพนธ์นิพพาน แต่ทำไปแล้วมันส่งไม่ได้ ส่งไปอาจารย์ตรวจวิทยานิพนธ์เขาไม่ยอมรับ อย่างไรเขาก็ไม่ยอมรับ เขาก็มาปรึกษาเรา เขาบอกว่าเพราะการศึกษาทำวิทยานิพนธ์มันต้องครอบคลุมว่ามหายานเขามองว่าอย่างไร เถรวาทมองว่าอย่างไร แล้วคำพูดเราถึงพูดตรงนี้ไง เพราะมันมีมุมมองต่างๆ กัน

ทีนี้มุมมองต่างๆ กัน เราถึงว่าถ้ามุมมองอย่างนี้ ประสาเรานี่เป้าหมายคืออันเดียวกัน แต่มันมุมมองไง มันเทคนิคมุมมอง อย่างทางวิชาชีพเห็นไหม ปัญหาๆ หนึ่ง เราจะมองในแง่ของใคร นักกฎหมายก็มองไปอย่างหนึ่ง นักรัฐศาสตร์มองไปอย่างหนึ่ง ทางการช่างมองไปอย่างหนึ่ง แต่เป้าหมายอันเดียวกัน แต่พูดถูกไหม เราถึงได้อธิบายให้ฟังเห็นไหมวันนั้น ที่ว่ามันประภัสสรของใคร

ในมุมมองของมหายานเขาก็มองอย่างนี้ “นิพพานอยู่ในขี้ นิพพานอยู่ในสัตว์” เห็นไหมนิพพานเขาเป็นอย่างนั้นนะ เขาจะพูดให้พวกเรานี่นะ ไม่ใช่นิพพานมันเป็นสุดเอื้อม อย่างพวกเราเอานิพพานเชิดชูไว้แล้วไม่กล้าแตะต้อง แต่ทางมหายานเขาบอกว่า “นิพพานอยู่ในขี้” เห็นไหม ในพวกเว่ยหลาง พวกเซน “นิพพานอยู่ในขี้ นิพพานอยู่ในสัตว์” คือให้เห็นว่าพวกเรานี้ก็มีความสามารถที่จะจับต้องได้

ทีนี้พอทำจับต้องได้มันต้องเป็นข้อเท็จจริง เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเป็นอาจริยวาท อาจริยวาทนี้ถ้าอาจารย์จริง เพราะเราขัดแย้งๆ ตรงนี้ไง ตรงที่ว่าเข้าไปถึงพุทธเกษตร นิพพานแล้วยังมีเหนือนิพพานอีก อ้าว ไอ้นิพพานยังมีชนชั้นอีกหรือวะ เห็นไหม นี่มันเป็นมุมมองของอาจริยวาทไง

สมมุติถ้าเราเข้าถึงนิพพานกันหมดแล้ว มันจะไม่มีใครเถียงว่านิพพานคืออะไร อ้าว โยมมานั่งอยู่ที่นี้ศาลานี้ ไม่ต้องไปเถียงกันเลยว่าใหญ่หรือเล็ก ทุกคนเห็นพ้องกันหมด แต่ถ้ามันไม่เคยเห็นมาที่นี้ปั๊บ มันอยู่ข้างนอกปั๊บ ไอ้คนที่มาก็บอกว่าศาลาเป็นอย่างนี้ ไอ้อีกคนบอกศาลามันต้องมีเสาครบนะ ก็ว่ากันไป

จะบอกว่า ถ้าเข้าถึงจุดความจริงแล้วจะไม่มีการเถียงกันเด็ดขาด ถ้าเกิดมีนิพพานแล้วทำไมต้องมีพุทธเกษตร พุทธเกษตรมันอยู่ทางภาคตะวันตกของนิพพาน เราอ่านตำรามาเยอะ เราค้นคว้ามาเยอะ อยู่ภาคตะวันตกของนิพพานคือใหญ่กว่า สูงกว่า ประเสริฐกว่านิพพาน อ้าว! เฮ้ย! นิพพานมันยังมีชนชั้นอีกหรือ ถึงบอกการพูดอย่างนี้ปั๊บ ประสาเราว่าไม่ใช่นิพพาน แม้แต่คำถามคำพูดมันจะบอกถึงมุมมอง บอกถึงภูมิของจิต

ถ้าจิตมันถึงแล้วนะ นิพพานคืออะไร จบ! จบนี่ไม่ใช่จบแบบไม่มีอะไรนะ จบแล้วถามมาสิ เหตุจะไปนิพพานทำอย่างไร เพราะว่าถ้าจบแล้วเราต้องสอนลูกศิษย์ได้ เราต้องบอกเขาถึงการก้าวเดินมาสู่นิพพานได้ เหตุและปัจจัยการก้าวเดินสู่นิพพานนี้สำคัญที่สุด เพราะตัวนิพพานคือผลตอบถึงเป้าหมายแล้วนี่จบกัน

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าสอนปุถุชนสอนคนหนาด้วยกิเลส ทีนี้ปุถุชนคนหนาด้วยกิเลสมันตีมุมมองผิดไง เราเป็นปุถุชนคนหนา ถ้าบอกว่านี่คือนิพพานปั๊บ เราจะบอกว่านิพพานคือความว่าง สังคมไทยจะบอกว่าพระพุทธเจ้าสอนให้ว่าง สอนให้ปล่อยวาง ทุกคนก็เป็นคนดีหมดแล้วไม่ต้องไปวัด วางอย่างพวกมึงน่ะวางแบบขี้ลอยน้ำ คือวางแบบไม่มีเหตุมีผล อย่างที่เราว่าเห็นไหม ถ้าบอกนิพพานปั๊บ เหตุผลที่จะมานิพพานทำอย่างไร การจะก้าวมาสู่นิพพานทำอย่างไร ถ้าตอบตรงนี้ได้มันก็เป็นของจริง ตอบตรงนี้ได้ ชักนำได้ บอกวิธีการได้ ถ้าเราไม่เคยไปจะบอกวิธีการเขาได้อย่างไร แล้วเขาบอกว่านิพพานๆ คือว่างๆ ทำไมถึงว่าง แล้วว่างมีกี่ระดับชั้น

ทีนี้พออ่านหนังสือไป หนังสือที่ออกมาแต่ละเล่ม มันบอกถึงมุมมองของคนเขียนไง คนเขียนคนชี้นำมานี้ถูกหรือผิด นิพพานมีหนึ่งเดียว แล้วนิพพานพูดกันได้ ไม่ใช่ว่านิพพานคือความว่าง อากาศว่าง อะไรก็ว่าง ก็ว่างกันหมดเลย ในตุ่มในไหก็ว่าง ในตุ่มว่างๆ มันก็ว่าง แล้วตุ่มว่างมีประโยชน์อะไร ตุ่มว่างก็เอาไว้ใส่น้ำวะไอ้ห่า ทีนี้อ้างว่าว่างอย่างนั้น อ้างโดยปฏิเสธ อ้างโดยไม่รับผิดชอบ อ้างว่าว่าง ฉะนั้นเวลาพูดมันถึงบอกว่าต้องพูดถึงเป้าหมายก่อน พอเป้าหมายปั๊บ แล้วต้องบอกวิธีการ แล้ววันนั้นให้พูดถึงวิธีการเข้าไป วิธีการต้องถูกเห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีสมาธิเป็นไปไม่ได้

ถาม: ครับ ก็ฟังจากพระอาจารย์ อยู่ใน ๘ ข้อ เพราะฉะนั้น ๘๐,๐๐๐ จิตนี่ต้องได้แน่นอน ไม่มี ๘๐,๐๐๐ จิตไม่มีทางถูก

หลวงพ่อ: เป็นไปไม่ได้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แล้วเราจะปฏิเสธเขาได้อย่างไร เพียงแต่ว่าบางทีมันสลดใจว่าเป็นทิฐิมานะ อย่างเช่น เมื่อก่อนการประพฤติปฏิบัติมันไม่มีใครสนใจอยู่แล้ว แล้วใครประพฤติปฏิบัติก็กลายเป็นคนแปลกแยก กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ทีนี้พอหลวงปู่มั่นมาปฏิบัติ แล้วท่านมีบารมีของท่าน เพราะเวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า หลวงปู่มั่นท่านปรารถนาพุทธภูมิ คำว่าปรารถนาพุทธภูมิคือสร้างสมบุญญาธิการมาเป็นพระพุทธเจ้า มันต้องมีบารมีธรรมในหัวใจ

บารมีในหัวใจหมายถึงว่าปฏิภาณไหวพริบ ความมั่นคงของใจที่จะมีหลักการจะทำอย่างไรให้เข้าถึงธรรม บารมีอยู่ที่นั่น ไม่ใช่อยู่ที่แก้วแหวนเงินทอง ไม่ใช่อยู่ที่เปลือกนอก บารมีมันอยู่ที่หลักของใจ อย่างพวกเราถ้ามีหลักเกณฑ์หรือมีหลักใจ เราจะไม่เป็นขี้ข้าของกระแส สังคมจะหลอกลวงเราไปไม่ได้ มันมีหลักใจอย่างนี้

ท่านก็ทำไป ท่านก็ตรวจสอบของท่านมาจนท่านประสบความสำเร็จ แล้วท่านวางหลักจนสังคมยอมรับ มันก็คือศีล สมาธิ ปัญญา พุทโธก็พุทธานุสติเป็นพุทธพจน์ เป็นพุทธวิสัย แต่ถึงเวลาปั๊บ สังคมมันเริ่มยอมรับไง เขาถึงไปเอาอภิธรรมนี้เข้ามา

นี่ถ้าเอาอภิธรรมเข้ามาโดยข้อเท็จจริง เพราะในอภิธรรมมันมีญาณที่ ๘ มันเป็นสมถะ แต่นี้ถ้าเป็นสมถะปั๊บ มันก็เข้ากับหลวงปู่มั่น เพราะมีศีล สมาธิ ปัญญา ก็เลยปฏิเสธซะว่าพุทโธเป็นสมถะนี้ไม่มีความหมาย มันเป็นการเมือง มันเลยสลดสังเวช คนเลยผิดพลาดกันไปหมด แต่ถ้าไม่เป็นการเมืองนะ เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงสิ เพราะในญาณ ๑๖ มันมีสมถะ

ในญาณ ๑๖ ไปดูสิ ของจริงมันคือมรรค ๘ แต่ในเมื่อมันเป็นการเมือง ก็คือว่าจะลบล้างอีกฝ่ายหนึ่งว่าถ้าไปทำพุทโธ ทำสมาธิจะไม่เกิดปัญญา เราเอาปัญญาเข้ามาเลย ปัญญาของเรา คือการวิปัสสนาสายตรง คือไม่หลงไปในสมถะในนิมิต เขาบอกว่าถ้าตกไปในสมถะปั๊บ จะเกิดนิมิต จะเกิดความเสียหาย คือว่าเขาพยายามจะล้มล้างตรงนี้ มันเลยออกมาเป็นอย่างนี้ไง

แต่ถ้าเขาไม่ล้มล้างนะ ประสาเรานี่พุทธะองค์เดียวกัน นิพพานเดียวกัน เป้าหมายเดียวกัน แล้วเราจะลบล้างทำไม แต่เพราะเราไม่เป็นไง เราไม่รู้จริง เราไม่รู้เหตุให้เข้าถึงนิพพาน เราถึงอธิบายตรงนี้ไม่ถูก มันบอกได้ชัดเจนมากเลย เขาจะมาที่นี่ แต่เขาขึ้นไปทางเหนือ เขาจะมาถึงที่นี่ได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้

แต่เป็นเพราะทิฐิว่าถ้าไปทางนี้จะเข้าทางเขา มันจะเข้าทางหรือไม่เข้าทาง มันเป็นข้อเท็จจริงใช่ไหม เราปฏิเสธข้อเท็จจริงไม่ได้หรอก ทีนี้พออย่างนี้ปั๊บ เพราะเราพูดกับพวกญาติโยมนี้เยอะมาก พวกที่มาจากอภิธรรม เราถึงได้สงสารไง สงสารมาก เพราะอะไรรู้ไหม เราถึงบอกกับพระ เวลาคุยกับพระ โทษนะ พวกนี้โดนล้างสมองมาแล้วว่าสิ่งนี้ผิด สิ่งนี้เป็นทางผิดต้องไปทำทางนี้ แล้วถ้ามาหาเราๆ ต้องล้างสมองเขากลับมา มันเลยเป็นเรื่องยากไง เขาโดนล้างสมองไปแล้วใช่ไหม แล้วเราจะให้เขาเข้าใจเราต้องล้างสมองเขากลับ ไม่ได้สอนวิธีปฏิบัติเลยนะ ยังไม่ได้สอนการกระทำเลย แต่ต้องล้างสมองเขาก่อน โอ้โฮ เห็นมาเยอะ แล้วบางทีพวกลูกศิษย์มา พอบอกว่าให้ทำสมาธิก่อนเขาจะตกใจเลยนะ โอ้โฮ นี่มันฝังลึกขนาดนั้นเชียวหรือ

ถ้าไม่มีสมาธินะ สมาธิจริงๆ แล้วมันไม่ต้องใช้มากหรอก สมาธิในปัญญาวิมุตติ เพราะว่าปัญญาอบรมสมาธินี้เราใช้ความคิด อย่างวันนี้เราพูดถึงดูจิต เราบอกว่าดูจิตเราปฏิเสธ มันเป็นการเพ่ง อย่างเปลือกส้ม เราจะเพ่งให้เปลือกส้มปอกออกไปได้ไหม เราจะเพ่งให้เปลือกส้มมันหลุดออกไปได้ไหม? เราเพ่งเฉยๆ ได้ไหม? ไม่ได้ใช่ไหม? เราต้องปอกเปลือกใช่ไหม? การปอกเปลือกนี่คือการใช้ปัญญา

ปัญญาอบรมสมาธินี่ คิดทำไม คิดแล้วทุกข์คิดทำไม คิดซ้ำคิดซาก ความคิดมันให้ผลเราเป็นทุกข์ตลอดไปเราจะคิดมันทำไม ถ้าเราคิดควรคิดในแง่บวก คิดในแง่ดี มันก็เท่ากับปอกเปลือก ปัญญามันเท่ากับหาเหตุหาผลหาแยกหาแยะ มันถึงเข้าสมาธิได้ ถ้าเพ่งเฉยๆ มันตกภวังค์หมด มันไม่ใช่สมาธิหรอก

มันไม่ใช่สมาธิเพราะอะไร เพราะมันไม่มีเหตุมีผลใช่ไหม ฉะนั้นเรานั่งกันอยู่อย่างนี้ แล้วความคิดสิ เรามาทำไม นั่งทำไม เรามานั่งอยู่นี่ ใช่ เรานั่งนี่ ท่านั่งเราไม่ใช่นั่งเอารูปกาย เรานั่งเพื่อเอาจิตใจ เพราะจิตใจอยู่ในร่างกายนี้ใช่ไหม การนั่งก็เพื่อจะไม่ให้มันฟุ้งซ่านออกไปใช่ไหม นี่ไง เหตุผล นี่ปอกเปลือก การปอกเปลือกมันถึงจะเข้าถึงหลักใจ

ฉะนั้นว่าการเพ่งการดูอยู่นี่ เราถึงว่าตอนเช้าเขาก็มาพูดอยู่ เขาบอกว่ามีหลายคน เขาบอกหลวงตาก็ว่าดูจิต เอ็งคิดผิด คนเรานี่นะหลวงตาพูด เวลาที่ท่านพูด อย่างพวกเรานี่นะ เรากินข้าว เรากินขนม เรากินอะไรนะ เราต้องเคยกินเหมือนๆ กัน ทีนี้พอเรากินเราก็รู้ว่าอาหารอะไรดี อาหารอะไรเป็นโทษใช่ไหม

คนที่ทำทุกคน ผู้ที่ปฏิบัติทุกๆ คน เขาจะมีประสบการณ์อย่างนี้ ทีนี้ท่านก็บอกว่าเคยดูจิต ทีนี้พอคำว่าดูจิต ก็บอกว่าเราเคยกิน หลวงตายังเคยกิน อย่างนี้ต้องถูกต้อง ไม่ได้คิดไง หลวงตาบอกว่าเราเคยกิน เราเคยดูจิตอยู่ แล้วจิตเราเสื่อมไป ๑ ปีกับ ๖ เดือน ดูไว้เฉยๆ แล้วตั้งสติไว้กับจิต ท่านดูจิตตรงๆ ท่านบอกท่านตั้งสติไว้กับจิตไม่มีคำบริกรรม เป็นสมาธิได้อยู่ แล้วก็เสื่อมอย่างนี้ ทำอย่างนี้ทุกข์ยากมาก ปีกับ ๖ เดือน แล้วเรามาใคร่ครวญอยู่ ทำไมมันเป็นเหตุนี้ล่ะ เป็นเหตุนี้เพราะเราขาดคำบริกรรม

ท่านถึงมาบริกรรมพุทโธๆ ท่านบอก ๓ วันแรก อกแทบระเบิดเพราะอะไร เพราะมันเคยตัว เราดูเฉยๆ นี่มันสบายนะ ถ้าให้มันไปพุทโธๆ มันต้องไปทำงาน มันเหนื่อย เครียด ไม่อยากทำ ๓-๔ วันแรกอกแทบระเบิด แต่พอเอาอยู่แล้วนะทีนี้มันมีจุดยืนแล้ว จุดยืนของจิตคือคำบริกรรม จิตเป็นนามธรรม อาศัยคำบริกรรม มันแค่อาศัยแบบเราเกาะเฉยๆ คือจิตให้มีหลักไง พอเกาะพุทโธๆ พอจิตมันสงบ อ๋อ มันต้องมีคำบริกรรม

แต่วันนี้ตอนเช้าโยมก็ยังถามปัญหานี้ เพราะวันเสาร์อาทิตย์คนจะมาเยอะ บอกว่าตอนนี้มีครูบาอาจารย์เยอะมากที่บอกว่าหลวงตาก็ดูจิต เราบอกว่าท่านบอกให้ใช้คำบริกรรมพุทโธๆ ตลอด แต่คนเราเพราะมันโดนล้างสมองแล้ว สมมุติเราโดนล้างสมองแล้ว เรากลัวเราจะตกในที่ผิด เราก็จะหาเหตุผลอธิบายว่าทุกคนก็การันตีว่าถูก หลวงตาก็ว่าดูจิต ใครก็ว่าดูจิต ไอ้นี่มันหมาหางด้วน แล้วจ้องจะตัดหางคนอื่นด้วย ตัวเองหางด้วนแล้วก็อยากให้คนอื่นด้วนด้วย

แต่พูดถึงว่ามันยากนะ เพราะงานการรื้อค้นการทำได้สำเร็จมันยาก ต้องยอมรับว่ายาก เพราะงานชำระกิเลสมันก็ไม่ใช่งานง่ายๆ หรอก แต่ถึงมันง่ายหรือมันยาก มันก็ควรจะทำให้ถูกทาง งานมันยากต้องยอมรับว่ายากสิ บริหารจัดการจากข้างนอกไง ดูสิ ดูอย่างองค์กรต่างๆ พวกที่เป็นลูกจ้างเขาทำงานตามหน้าที่ให้เขาสั่ง แต่ไอ้คนบริหารปวดหัวตายห่าเลย ว่าจะเอาองค์กรผ่านไปได้อย่างไร

นี่ขนาดข้างนอกมันยังมีสูงมีต่ำ แล้วของเราความคิดสามัญสำนึกวิชาชีพ ความคิดการบริหารจัดการทางโลกมันก็ใช้สมองนี่แหละ ใช้สถิติเห็นไหม สถิติกับข้อมูล ผิดหมดเลย เพราะเป็นสัญญา มันถึงต้องใช้ความสงบเข้ามาให้ถึงใจก่อน แล้วพอใจมันจะออกไปมันเป็นปัจจุบันธรรม มันถึงเป็นโลกุตตรปัญญา มันถึงจะเป็นธรรมะ

แล้วอย่างที่พูด ที่เขาไปถามว่าทำไมเขาไม่เห็นขันธ์ ๕ บอกไม่มีทาง เรากล้าพูดได้ มึงเพ่งจนตาย เพราะอะไรรู้ไหม มันเพ่งเข้าไปเหมือนกับเปลือกส้ม แล้วมึงจะเพ่งทำไม.. คำว่าเปลือกส้มนะ เราบอกว่าส้มเป็นวัตถุที่ไม่มีชีวิต แต่ความรู้สึก จิตเราเป็นธาตุรู้ที่มีชีวิต เพราะพลังงานเห็นไหม พลังงานที่มีชีวิต พลังงานที่มีความรู้สึก ความรู้สึกมีชีวิตนะ แล้วมันออกไปรับรู้ ออกไปเสวยอารมณ์

อย่างคลื่นวิทยุ ถ้าเราไม่ให้ข้อมูลเข้าไป คลื่นนี้มันก็คลื่นซ่าไปเฉยๆ ใช่ไหม แต่ถ้าเรามีข้อมูลเข้าไปมันก็เป็นรหัสใช่ไหม ความคิดเหมือนพลังงาน ไฟฟ้าพลังงานเฉยๆ แต่มันไม่มีคลื่น ไม่มีขันธ์ ๕ ทีนี้พอมันส่งเข้ามาปั๊บ มันเข้ามาในตัวมันเอง แล้วมันจะออกไป คือมันจะส่งคลื่นออกไป มันต้องมีส่วนประกอบของมัน มันก็เหมือนส้ม มันรู้อยู่ว่าเปลือกส้มหุ้มมันอยู่มันก็จับได้ใช่ไหม พอจับได้ปั๊บ มันก็เอามาวิปัสสนา นี่ไงขันธ์ ๕ เพราะความคิดๆ หนึ่งมันประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้าขันธ์ ๕ นี้ไม่ครบบริบูรณ์ความคิดเกิดไม่ได้

บางทีเราเห็นภาพเฉยๆ หรือเราได้ยินเฉยๆ เราไม่รู้ว่านี่คืออะไร เพราะว่ามันไม่สมบูรณ์ รูปคืออารมณ์ เวทนาคือข้อมูล ความรู้สึกว่าดีหรือชั่ว สัญญาคือข้อมูลเปรียบเทียบ สังขารคือมันเปรียบเทียบแล้วมันปรุง พร้อมด้วยวิญญาณที่เชื่อมให้ขันธ์ ๕ รวมเป็นหนึ่งเดียว เหมือนเส้นเชือก ๕ เส้นควั่นเป็นเชือกเส้นเดียวกัน พอเราจับเชือกเส้นนี้ได้เราก็แยกเส้นนี้ออก เพราะเชือกเส้นนี้มันใหญ่เกินไปที่เราจะสามารถดึงให้มันขาดได้ เราถึงคลายเกลียวเชือกให้มันออกไปเป็นเส้นเล็กลงไป แยกออกมา พอแยกออกมามันก็หยุด หยุดเฉยๆ นะไม่ขาดหรอก ต้องวิปัสสนาไปเรื่อยด้วยเหตุด้วยผลว่า เพราะมันเป็นข้อเท็จจริง สามัญสำนึกเหมือนไฟฟ้า ไฟฟ้ามีประโยชน์ สัญชาตญาณคนเป็นประโยชน์นะ สัญชาตญาณของเราเห็นไหม ถ้ามีภัยมาด้วยสัญชาตญาณเราเอาตัวรอดได้

ความคิดหรือขันธ์ ๕ มันเป็นธรรมชาติของมัน มันเป็นสัญชาตญาณหรือมันเป็นสิ่งที่มีอยู่ของมนุษย์ เทวดาก็มีไปอีกรูปแบบหนึ่ง พรหมก็มีไปอีกรูปแบบหนึ่งจริงไหม ทีนี้พอมีอย่างนี้ปั๊บ มันเป็นเครื่องใช้ไม้สอย เป็นสิ่งที่มีอยู่ แต่พวกเราอยู่กับมันโดยความเคยชิน แล้วพอศึกษาธรรมะก็กำปั้นทุบดิน พระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น เออ เราก็มีแล้ว เราก็รู้แล้ว มันก็เป็นข้อมูลข้างนอก แต่ถ้าเราทำความสงบเข้ามาปั๊บมันเป็นข้อมูลของเรานะ นั่นธรรมะของพระพุทธเจ้า

ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติหมายถึงจิตของมัน แต่เอ็งรู้ข้อมูลที่ถึงธรรมชาติหรือยัง เพราะการเกิดการตายเป็นธรรมชาติ การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมชาติ ความคิดทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติเกิดดับ แต่ธรรมชาติช่วยอะไรเอ็งได้บ้าง เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราไม่รู้ถึงธรรมชาติของเราไง เราไปรู้ธรรมชาติของเรา เราไปเห็นจริง ถ้าไม่เห็นจริงไม่รู้จริง เราจะละมันไม่ได้ นี่ไง มันถึงเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ธรรมะจริงๆ อยู่ตรงนี้ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเราไปเรียนข้อมูลแล้วเราไปสอบเอาคะแนน ไม่ใช่! คะแนนไม่ใช่ธรรมะ เราไปตอบข้อสอบแล้วได้ความรู้มาไม่ใช่ธรรมะ ธรรมะมันอยู่ที่นี่

ฉะนั้นพอจิตสงบเข้ามาเห็นไหม สิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่เป็นไปมันเร็วมาก ความคิดเร็วกว่าแสง สิ่งที่เร็วมันจะยับยั้งด้วยสติ แล้วทำจนมันหยุดนิ่ง สิ่งที่เร็วกว่าแสงหยุดนิ่ง แสงพลังงานตัวนี้มันออกไปโดยสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ความคิดนี้ พอจับได้ นี่ไงที่ว่าเห็นขันธ์ ๕ พอจับได้หมายถึงว่าเราจับความรู้สึกได้นี่แหละ ความรู้สึกเราจิตเรา จับความรู้สึกจับความคิดได้ เอ็งคิดเรื่องอะไร เมื่อก่อนความคิดเป็นเรา ทุกอย่างที่เป็นเราๆ ไม่รู้ แต่พอจิตสงบมันเห็นความคิด

นี่ไง ที่หลวงปู่ดูลย์บอกว่าจิตเห็นอาการของจิต หลวงปู่ดูลย์สอนอย่างนี้ ให้ดูจิตจนจิตมันตั้งมั่นแล้วจิตเห็นอาการของจิต ไม่ใช่ดูเฉยๆ แล้วสิ้นไป มันเป็นไปไม่ได้ ดูจิตจนจิตมั่นคงแล้วจิตต้องเห็นอาการของจิต แล้วหลวงปู่ดูลย์สอนว่าให้วิปัสสนามัน ให้วิปัสสนามัน หลวงปู่ดูลย์ย้ำมาก แต่ต้องเห็นจิตก่อนนะ ถ้าไม่เห็นจิตไม่ใช่วิปัสสนา เป็นสัญญา

จิตต้องรู้จักจิต แล้วจิตเห็นอาการของจิต นี่ไงวิปัสสนามันถึงเกิดได้ยาก ทีนี้สิ่งที่เขาพูดกันอยู่ เราดูนามรูป ดูความคิด ไม่ใช่วิปัสสนา เพราะความคิดดับลง ความคิดสงบลง ผลของมันคืออะไรรู้ไหม สมถะไง ทั้งๆ ที่เขาปฏิเสธเขากลัว แต่ข้อเท็จจริงคือเป็นอย่างนั้นหมด จะทฤษฎีอะไร จะวิธีการอะไร การปฏิบัติทั้งหมดผลของมันเป็นสมถะทั้งหมด เพราะโดยสามัญสำนึก โดยข้อเท็จจริงมันไม่เป็นวิปัสสนาเพราะอะไร เพราะตัวของมันเอง

ตัวของเนื้อส้มมันยังไม่ผ่านเปลือกส้ม พอเปลือกส้มมันปอกไปแล้วมันจะไม่มี แต่ธรรมชาติของความคิดมันมี มันเกิดดับอยู่ พอเราผ่านไปถึงเนื้อส้มใช่ไหม พอเนื้อส้มมันออกทำงาน คือออกเสวยอารมณ์ คือสัญชาตญาณการสื่อสารความนึกคิดของมนุษย์ การขยับตัวการดำรงชีวิตอยู่มันก็คือข้อมูลอย่างนี้ แล้วมันจะเห็นไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่สัจธรรมไม่ใช่จิต เป็นสมาธิ พอจิตเราเป็นสมาธิแล้วเราฝึกปั๊บมันเห็นได้ เห็นได้เฉพาะผู้ที่ทำได้และทำเป็น

ถ้าผู้ทำได้ทำเป็นปั๊บ เห็นปั๊บเข้ามามันก็จับ พอจับขึ้นมานี่ ถ้ามีวาสนาต่อไปมันก็ใช้วิปัสสนาคือการแยก เพราะความคิดหรือข้อมูลของเรามันเห็นผิด เห็นผิดในอะไร เห็นผิดในสักกายทิฏฐิ ในสักกายะ ในกาย ทิฏฐิในกาย โดยสามัญสำนึกนี่ พระพุทธเจ้าสอนกายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย แล้วให้ทำอย่างไรต่อ ปากเปียกปากแฉะ แต่จิตใต้สำนึกมันไม่ยอมรับ กิเลสเรามันไม่ยอมรับ มันมาจากข้างนอก เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ของมึง

แต่ถ้าเราทำของเรา วิปัสสนาของเรา มันรู้มันเห็นเข้าไป มึงจะไม่ยอมรับได้อย่างไร ในเมื่อมึงรู้จริงเห็นจริง วิปัสสนาอยู่ที่นี่ วิปัสสนาเพื่อเหตุนี้ เหตุให้จิตใต้สำนึก อุปาทาน อนุสัยที่มันฝังอยู่ ให้มึงรู้จริงเห็นจริง วิปัสสนาอยู่ที่นี่ ไม่ใช่ไปดูนามรูป นามรูปนี้คืออารมณ์ความรู้สึก

เราเปรียบเหมือนกับดูนามรูปนี่เหมือนกับเราดูทีวี สมมุติว่าเรามีอารมณ์เครียดมา เราเปิดทีวีที่เราพอใจดูเห็นไหม ก็เพลินไป นี่ก็เหมือนกัน เราคิดฟุ้งซ่านมา เราคิดถึงความว่าง คิดถึงนามรูปให้มันปล่อยวาง ก็เพลินไป มันไม่เข้ามาถึงใจไง หรือว่างๆ ว่างๆ เรารับไม่ได้ แต่ถ้ามันเป็นตัวมันว่างนะ มันไม่ใช่ว่างๆ ข้างนอกนะ เราเองทำให้เราว่างได้ มันมีความสุขมาก ฉะนั้นคนที่เป็นสมาธิจะสุขมาก ถ้าไม่อย่างนั้นจะไม่ติดว่าสมาธิเป็นนิพพาน

สมาธินี่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ คนที่เข้าสมาธิได้ต้องว่าสมาธิเป็นนิพพานเด็ดขาด แต่ถ้าพูดถึงคนที่มีอำนาจวาสนาสมาธิเขาสูงมาก แล้วออกมานิพพานทำไมมันมีอารมณ์ล่ะ นิพพานแล้วทำไมคิดเกลียดคิดชังเขาอยู่ ยังรักยังชังยังพอใจเขาอยู่ อ้าว นี่เป็นนิพพานได้อย่างไร ถ้าเป็นคนมีสติหน่อยนะ แต่ถ้าคนไม่มีสติ มันก็บอกว่า อ้าว ก็ธรรมดาก็เข้าสมาธิกันอยู่นี่ นิพพานออกมานี่ มันก็ออกมาโดยไม่ต้องไล่เขาไป มันก็เข้าข้างตัวเอง กิเลสมันจะเข้าข้างตัวเองตลอด

ถ้ามีครูมีอาจารย์เราปฏิบัติไป สันทิฏฐิโกรู้เฉพาะตน แต่อธิบายได้ รู้เฉพาะตนต้องบอกได้ ถ้ารู้เฉพาะตน ว่างๆ ก็ว่างๆ ไง ว่างๆ ก็ทำให้มันว่างไง อย่างนี้กูก็งง กูก็แปลกใจ

ถาม:    แต่ติดตรงนี้เยอะนะครับพระอาจารย์

หลวงพ่อ: ติดหมด ไม่ใช่ติดอย่างเดียวนะ ทั้งหมดเลย มันเหมือนกับการศึกษา ทุกคนต้องเรียนอนุบาล เด็กเดี๋ยวนี้เรียนอนุบาลหมดใช่ไหม คำว่าเรียนอนุบาลคือติดตรงนี้ไง แล้วถ้าผ่านอนุบาลมา มันก็จะไปประถม

เราจะพูดอย่างนี้มีคนมาถามปัญหามาก วันนี้เขาก็เสียใจนะ เขาบอกเขาพิจารณากายแล้ว พิจารณาอย่างนั้นแล้วทำไมมันไม่พัฒนาล่ะ คนปฏิบัติไปมันก็น้อยเนื้อต่ำใจ เราบอกว่ามันเป็นตามข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงการปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้แหละ เพราะเราเกิดมาโดยกิเลส เราเกิดมามันก็มีเปลือกส้มกับส้มมาโดยธรรมชาติ แล้วการพัฒนาไปมันก็พัฒนาไปเพื่อไปเห็นกาย เห็นอะไรต่างๆ มันก็พัฒนาให้จิตมันเข้มแข็งขึ้นมา เจ้าชายสิทธัตถะก็ทำอย่างนี้ เจ้าชายสิทธัตถะก็ไปลองผิดลองถูกมา ๖ ปี ก็ต่อสู้กับวิวัฒนาการพัฒนาการของจิต

การมาภาวนาก็คือการพัฒนาจิต วุฒิภาวะ การพัฒนาของมันๆ จะเจริญเติบโตขึ้นมา แล้วเอ็งทำอยู่นี่เป็นอย่างนั้นไหม ก็เป็น ก็เห็นกายใช่ไหมตอนพิจารณาอยู่ แต่มันปล่อยวางแล้ว พอมันปล่อยแล้วเขาจะให้มันเป็นมรรคผลเลย เราบอกมันไม่ใช่ การปล่อยวางมันเหมือนกับการทำโครงการ เราฝึก เราทดสอบ อันนี้ทำเสร็จแล้วก็ทดสอบ ทำเสร็จแล้วก็ทดสอบๆๆๆ ทดสอบจนเราชำนาญ นี่คือพัฒนาการของวิธีการ เหตุที่เราจะเข้าไปหานิพพานไง

ฉะนั้นจะบอกว่าเอ็งจะท้อถอยไม่ได้ เอ็งจะน้อยเนื้อต่ำใจไม่ได้ มันเป็นอย่างนี้ทุกๆ คน เพียงแต่ว่ามากหรือน้อย คำว่ามากหรือน้อยคือว่าวาสนาบารมีไง นี่ไง พอถึงว่าทำบุญไม่ได้บุญนะ เดี๋ยวมึงจะรู้เอง มันอยู่ที่การเสียสละนี่ไง เราทำบุญของเรามา คือพระพุทธเจ้าบอกแล้ว หลวงตาบอกแล้ว พระพุทธเจ้าบอกว่าทำทานมาเห็นไหม ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี บารมี ๑๐ ทัศต้องครบ ถ้าไม่มีทานบารมีนะ มันทำให้ความมั่นคงของเราน้อย

ลูกศิษย์มาหาเยอะมาก เพราะเมื่อก่อนเรามีลูกศิษย์เราเองนะ มันมีฝ่ายหนึ่งเป็นลูกศิษย์ฝ่ายมหายาน ในมหายานเขาจะบอกว่าทำบุญไม่ได้บุญสู้ปฏิบัติไม่ได้ นี่เพื่อนเขามาด้วยกัน เพื่อนเขามาทำบุญเขาก็มานั่งดูเฉยๆ ทิฐิมาก เราก็เรื่องของเขาปล่อยเขา เขาคิดว่าเขาภาวนาเขาเก่งกว่าไง เขาจะเข้าถึงสัจธรรมได้เร็วกว่า ทีนี้อีกชุดหนึ่งเขาก็มาทำบุญอยู่เรื่อย ทำไปทำมาสักพักเขามาหาเราแล้ว หลวงพ่อเวลาวิปัสสนาไป ทำความสงบไป โทษนะนี่เป็นเรื่องจริง มันไปเห็นกามราคะมันสู้ไม่ไหว มันเหมือนผมยื่นหน้าให้เขาชกตลอดเวลาเลย แล้วมันสู้อะไรไม่ได้เลย

แล้วเพื่อนที่เขามาทำบุญอยู่อีกฝ่ายหนึ่งใช่ไหม เขาสร้างพระพุทธรูป ไปสร้างไว้ที่ทางเหนือรูปหนึ่ง แล้วสร้างไว้ทางใต้รูปหนึ่ง แล้วเขามาเล่าให้เราฟัง หลวงพ่อเวลานั่งสงบไปนี่นะ เห็นพระเป็นพระทองคำมาเลยนะ แล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ได้ทำอะไรไว้เลยไง แล้วกูถามมึง นี่ไง มึงบอกไม่มีผลไง มีผลหรือไม่มีผลมันอยู่ที่ใจมึงนั่นแหละ ไม่ใช่ว่าพระหรือใครมาการันตีมึงหรอก

อีกฝ่ายหนึ่งนะเขานั่งไปนะ โอ้โฮ เขามีความสุขนะ เขาเห็นเป็นพระทองคำมาเลยนะ โอ้โฮ ชื่นใจมาก ต่างกับฝ่ายหนึ่งนะ เพราะมันไม่ได้ทำ ใช่! การภาวนาพระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าทำทานทำร้อยหนไม่เท่าถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่าทำให้เกิดสมาธิหนหนึ่ง สมาธิร้อยหนพันหนไม่เท่าเกิดปัญญาหนหนึ่ง ร้อยหนพันหนเห็นไหม แต่ร้อยหนพันหนมันมีอะไรรองรับขึ้นมาล่ะ ถ้าทานเราไม่มี มันจะมีศีล มันจะมีความมั่นคงได้อย่างไร

ทานกับศีล ศีลคือความปกติของใจ แล้วถ้าศีลบริสุทธิ์นะองอาจมาก คนไหนบอกมาสิ กูจะเข้าได้ไหม เพราะกูไม่กลัว มือกูไม่มีแผล ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์นะ วัวสันหลังหวะ เวลาเขาพูดเฉียดๆ มาก็สะดุ้งแล้ว ไอ้นี่มันรู้เรื่องของกู เวลาพูดมาใกล้ๆ กูสะดุ้งแล้วนะ เรายังไม่ทันพูดเลยนะ กูสะดุ้งเอง เพราะศีลของเรา ไม่มีความลับเรารู้นะ เขายังไม่รู้เรื่องของเราเลยนะ เพียงแต่เขาพูดอะไรมันเทียบเคียงหรือมันใกล้เคียงความรู้เรานะ ตกใจแล้ว

เวลาอธิบายให้เขาฟัง เวลาพูดถึงบอกว่ายากหรือง่าย ยากหรือง่ายมันอยู่ที่เรา มันอยู่ที่พันธุกรรมของจิตที่ตัดแต่งมาจากความดั้งเดิม แม้แต่ความเชื่อความศรัทธานี่ก็สำคัญมาก เพราะเราอยู่ในวงการนี้เยอะ การไปวัดไง ไอ้พวกไปวัดคือพวกที่มันมีปัญหา อ้าว ก็มีปัญหาสิวะ ก็รู้แต่ว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วย เรามีอวิชชาใช่ไหม ไอ้พวกที่ไม่มามันเป็นไข้แล้วมันไม่ยอมรับความจริงว่ามันเป็นไข้ มันเพลินกับโลก

ตรงนี้มุมมองอย่างนี้ หลวงตาจะบอกเลยวาสนาอยู่ที่นี่ วาสนาอยู่ที่เราเชื่อมั่นเราศรัทธาแล้วเราหาทางออก คนที่เขาไม่ได้ศรัทธาเขาไม่เชื่อมั่นของเขา เขาไม่พอใจ เขาไม่เชื่อของเขา เขาเกิดเป็นมนุษย์นะ ในธรรมะบอกเลย เกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี้มีบุญกุศลมหาศาลเลย แล้วถ้าเกิดมาแล้วไม่ได้สนใจ ก็เหมือนเหยียบแผ่นดินผิด

เพราะมีพระฝรั่งจะพูดบ่อย เพราะพระฝรั่งกว่าจะบวชได้มันยาก มันจะบอกเลยว่าคนไทยนี่นะกบเฝ้ากอบัว พระฝรั่งเวลาคุยกับเราพูดอย่างนี้ประจำ นี่ย้อนกลับมาถึงว่ายากหรือง่าย เราจะน้อยใจไม่ได้เลย เราจะพูดกับทุกๆ คน ยากหรือง่ายก็เพราะบัญชีมึงนะ ในบัญชีของมึงมีเท่าไหร่ก็เท่านั้นแหละ มึงทำของมึงมาเอง แล้วมึงจะมาเรียกร้องเอาอะไร ก็บัญชีมึงแดงแล้วมึงจะมาเรียกร้องเอาอะไรล่ะ ก็มึงแดงมาน่ะ

แต่ถ้าคนมันมีวุฒิภาวะของมัน มันมั่นคงนะ แล้วการปฏิบัติของเราจะไม่ไขว้เขว มันจะผิดถูกทั้งนั้นล่ะ จะไขว้เขวไม่ไขว้เขวมันก็ผิดไปก่อนเพราะเรามีอวิชชา อวิชชามันรู้แต่ไม่จะแจ้ง มันรู้ให้เราสงสัยไง น่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้ หรือจะเป็นอย่างนั้น เอ๊ หรือควรจะเป็นอย่างนี้ แต่เราก็ทดสอบไป ทดสอบไปอย่างที่ว่าให้จิตมันรู้ เป็นหรือไม่เป็นมึงดูเอง ทำอย่างนี้แล้วเป็นอย่างไร อ้าว ทำให้เห็นเลย อ้าว อารมณ์อย่างนี้ที่ยังสงสัย เข้ามาค้นคว้าแล้วเป็นอย่างไร พอปล่อยปั๊บ มันก็ละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป นี่พัฒนาการของจิต

เพราะใครไปถามหลวงตาก็แล้วแต่ หลวงตาจะบอกว่า ซ้ำเข้าไป ถ้าถูกนะ ท่านบอกถูกแล้ว แต่ถูกแล้วพระทั่วไปหรือคนทั่วไปจะบอก ถ้าถูกแล้วก็คือมรรคผล ไม่ใช่! ถูกแล้วคือถูกทาง คำพูดของท่านว่าถูกแล้วๆ คือถูกทางเฉยๆ แล้วท่านจะใช้คำนี้ “ซ้ำเข้าไปนะ” สังเกตได้เลยจะได้ยินคำนี้บ่อยๆ เลย ซ้ำเข้าไป ทำเข้าไป ซ้ำเข้าไปคือมาถูกทาง

ออกจากกรุงเทพฯ จะมาราชบุรีมาถูกแล้ว อยู่เพชรเกษม อยู่บางแคโน้น มึงต้องมาอีก เดินมาเรื่อยๆ แต่คนไม่เข้าใจว่าพอถูกแล้วนะ แหม น่าเสียใจ บางคนนะพอถูกแล้วก็ปล่อยเลย พอปล่อยเลยก็เสื่อมหมด เพราะมีคนมาร้องไห้กับเราเยอะมาก หลวงพ่อเมื่อก่อนเป็นอย่างนี้ๆ ทำอย่างไร บอกต้องทำอย่างนั้น เริ่มต้นจากตรงนั้นไป “โอ้โฮ!” ทุกคนตกใจ

ถาม: ผมจำเรื่องพุทโธที่ท่านอาจารย์สอน ต้องจับตลอด จับไว้ตลอดถึงแม้ว่าจะได้ก็ยังต้องจับ แต่เขาบอกว่าไม่ใช่ แต่ผมบอกว่าต้องพุทโธ

หลวงพ่อ: วันนี้ตอนเช้าตอบปัญหานี้ เขาบอกว่าเวลาภาวนาไปแล้วมันมีความเห็น มันเป็นความจริงกับความปลอมใช่ไหม ถ้าความจริงมันเห็นเข้าไปได้ เราบอกว่าถ้าเวลาพูดอธิบายธรรมะเป็นอย่างนั้น ใช่ เราจะบอกว่าบางทีทำนี้ ถ้ามันเป็นอวิชชามันผิดเราจะบอกว่าปลอม ถ้าเป็นวิชชามันจะบอกว่าจริง แต่ความจริงๆ แล้วคือหนึ่งเดียวไม่มีจริงและปลอม ตรงนี้ไง

ไม่มีจริงและปลอมเพราะอะไร เพราะเรามีจิตเดียว เราไม่มีจิต ๒ ดวงหรอก มันไม่มีจิตจริงจิตปลอมหรอก คำว่าจิตจริงหรือจิตปลอมมันจะหลอกเรานะ กิเลสมันจะหลอกเราให้เราไขว้เขวนะ คือว่ามันก็จิตเดียวใช่ไหม แต่ความคิดเราอันหนึ่งก็ปลอม คือเหรียญมีเหรียญเดียวแต่มี ๒ ด้าน หัวและก้อย หัวถูกก้อยผิด หัวถูกก้อยผิด เดี๋ยวคิดดี เดี๋ยวคิดผิด อันนี้เวลาเราจับ ทีนี้จะคิดดีคิดผิดได้ มันต้องมีพุทโธ

พุทโธนี่สำคัญมาก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเวลาเราพุทโธแล้วเราก็ใช้ปัญญาบ้าง คำว่าพุทโธมันเหมือนกับรถ ถ้าเราจอดมันดับเครื่องหมดใช่ไหม แต่จิตไม่เป็นอย่างนั้น พออยู่เฉยๆ ปั๊บ มันมีพลังงานของมัน เราพุทโธเราเกาะไว้ นี่ไงเราฉลาดกว่า เราดีกว่าทิ้งขว้างไปไง

แล้วเราย้อนมาที่เรา ตอนเราปฏิบัติใหม่ๆ นะ เราปฏิบัติเข้าปีแรกเลย เราหักดิบมา ก่อนบวชๆ แบบดิบๆ มาเลย โอ้ มันทุกข์มาก แล้วไปอ่านในประวัติหลวงปู่มั่น ท่านบอกท่านอยู่กับพุทโธตลอด เราอยู่ทั้งวันเลยนะ โธ่ วัยรุ่นมันเที่ยวมาเต็มๆ แล้วอยู่ๆ ก็บวชมาเลย โอ้โฮ เย็นวันศุกร์อกแทบระเบิด เพราะเย็นวันศุกร์คบคนรวยออกเที่ยวใช่ไหม พอเย็นวันศุกร์นี่มันคิดถึงว่าไปนู่น ไปนู่น ไปนู่น พอถึงเย็นวันอาทิตย์นะ พอบอกพรุ่งนี้วันจันทร์ อ่า!

ถาม: เพิ่งฟังเทศน์พระอาจารย์เมื่อเช้าที่ขับรถมา พระอาจารย์บอกเที่ยวมาเยอะแล้วครับ เที่ยวมาสนุกมาเยอะแล้ว ผ่านมาเยอะ

หลวงพ่อ: ถึงเย็นวันศุกร์นี่แทบบ้าเลย เพราะเย็นวันศุกร์เพื่อนๆ เขามารวมกันไง พอคืนวันอาทิตย์ผ่านไปนะ จันทร์ถึงศุกร์นี่ค่อยยังชั่วหน่อย พอเย็นวันศุกร์นะ แหมกูจะคลั่ง กูจะคลั่ง แล้วมันก็ไม่ไหว พอไม่ไหวเราถึงถือเนสัชชิกเลย ไม่นอนอยู่ ๓-๔ เดือน ไม่นอนแล้วอยู่กับพุทโธตลอด เอากันเลยล่ะ เรานิสัยแบบมันหักดิบ แล้วคนจริงมันทำจริง

ทีนี้พออย่างนี้ปั๊บเราถึงอยู่กับพุทโธ ที่เรารอดตายมาก็พุทโธนี่แหละ ทั้งวันเลย พุทโธๆ ถ้านึกได้นะกูพุทโธไว้ก่อน เว้นแต่บางทีมันนึกไม่ได้มันก็เผลอ เผลอก็คิดไปพักหนึ่ง พอได้สติก็พุทโธก่อนเลย เอามันให้ได้ โอ้โฮ มันเหมือนเราหักดิบมาเลยนะ มันจะคลั่ง แล้วเราเอาตัวรอดมาได้ พอเอาตัวรอดได้มันก็เริ่มเบาลงๆ มันสงบอยู่ ๒ ที ทั้งพรรษาสงบอยู่ ๒ หน พอสงบไป พอจิตมันลงเห็นเป็นก้อนเนื้อมันกลิ้งมาจะทับเรา ในสมาธินี่แตกเลย ก็ถือเนสัชชิกไม่นอนอยู่ ๓ เดือนภาวนาอยู่ตลอด ก็เข้าใจว่าตัวเองต้องพิจารณากาย แต่พอเอาเข้าจริงๆ ไม่ใช่ พอพิจารณาไปแล้วมันจืดเอย มันไม่ได้ผลเลย ก็เลยมาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วพอมันไปได้ พอมันใช้ปัญญาอบรมสมาธิปั๊บมันเข้าทางแล้ว เข้าทางหมายถึงว่าเข้ากับความชอบของตัว เข้ากับความดั้งเดิมของเรา โอ้โฮ! มันพุ่งนะ มันพุ่งเลย

ถาม:   คราวที่แล้วอาจารย์บอกว่าไม่ให้มันลง

หลวงพ่อ: คำว่าไม่ให้มันลง มันฝึกใหม่ไง การฝึกใหม่ อุปาทานโดยสามัญสำนึก เราฟังเทศน์กันมาเยอะ เวลาเราแก้พระนะ มีพระบางองค์มาบอกว่าพุทโธๆ ต้องพุทโธหาย เรารู้เลยมันจะโดนกิเลสหลอกแล้ว ทั้งๆ ที่จริงคือพุทโธต้องหายนะ คือพุทโธๆๆๆ จนพุทโธไม่ได้มันหายไปนั่นคือสมาธิ แต่พอโดนหลอกมามันจะบอกว่าพุทโธต้องหาย พอพุทโธหายปั๊บ เราก็พุทโธๆ คือเราอยากให้หาย เราจะทำพุทโธให้หายไป พอหายไปก็ตกภวังค์ไปเลย พอตกภวังค์ปั๊บ ตามข้อเท็จจริงถูกต้องหมด แต่ตัวเองตกภวังค์ไม่รู้ตัวว่าตกภวังค์ นั่นมิจฉาสมาธิ เราถึงแก้ เราถึงบอกพระองค์นั้นว่าไม่ใช่! พุทโธหายไม่ได้ คือเราจะบอกว่าพุทโธห้ามหาย แต่จริงๆ แล้วมันคือหาย แต่ต้องหายตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่หายโดยที่เราสร้างภาพ

ถาม:    ทุกคนอยากถึงเป้าหมาย แล้วพยายามให้ถึง

หลวงพ่อ: นักปฏิบัติเป็นอย่างนี้หมด เราก็เคยเป็นมาแล้ว พอเราเคยเป็นมา เราถึงพยายามจะมาบอกพวกที่ทำนะ เฮ้ย กูทุกข์มาก่อนพวกมึง กูทุกข์มาเยอะแล้ว แต่ส่วนใหญ่คนก็ไม่เชื่อ เพราะว่าเขาไม่รู้เองเห็นเอง แต่เราก็พยายามอยู่นะ ประสาเรา เราจะบอกพระสอนพระตลอด เฮ้ย เราโดนรับน้องใหม่มาแล้ว ฉะนั้นเราอย่าไปรับน้องใหม่เลย นี่ก็เหมือนกัน เราเคยทุกข์มาแล้วนะ เราพยายามทำในสิ่งที่ดีๆ อ้าว ว่าไป

ถาม: มีเรื่องที่พระอาจารย์สอนว่าธรรมะไม่ใช่ธรรมชาติ

หลวงพ่อ: ใช่ เราค้าน

ถาม: อันนี้เป็นเรื่องที่กินใจครับพระอาจารย์ ไม่ได้รีบกินใจเพราะสงสัยนะพระอาจารย์เพราะว่ามันน้อยคนนักที่จะสัมผัสมันได้

หลวงพ่อ: คือเขาอธิบายตรงนี้ไม่ได้ไง แล้ววันนั้นมันมีลูกศิษย์มาชุดหนึ่ง แล้วพูดอย่างนี้ เขาบอกธรรมะเป็นธรรมชาติๆ บอกไม่ใช่หรอก ธรรมะไม่ใช่ธรรมชาติ ถ้ามันธรรมชาติ โทษนะ สองคนผัวเมียนี่ธรรมชาติ ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติกูต้องมีเมียจริงไหม ก็ธรรมชาติเขาสร้างให้ผู้หญิงกับผู้ชายเป็นคู่กันใช่ไหม แล้วกูแยกกูออกมาทำไม กูก็ฝืนธรรมชาติสิ ถ้ากูฝืนธรรมชาติกูก็ฝืนธรรมะสิ อ้าว ธรรมชาติเขาสร้างมาผู้หญิงให้คู่ผู้ชายหรือเปล่า แล้วเราทำไมไม่มีคู่ อันนี้อันหนึ่ง

พอเขามา เขาก็บอกว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ แล้วก็บอกว่าไม่มีตัวกูของกู เราก็พูดกับเขา โยมนะ นี่ฟัง! ไม่ใช่ตัวกูของกู คือกู ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู แต่กูนั่งอยู่นี่แล้วไม่ใช่กูได้อย่างไร คือมันเป็นการปฏิเสธเอาไง ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู แล้วใครเป็นคนพูด แล้วอยู่ไหม ฉะนั้นธรรมะอย่างที่พูดเมื่อกี้ ถ้านิพพานนะ... ถ้าไม่ใช่ตัวของกูนี่ ถ้าไม่ปฏิบัติจะไม่รู้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะคนปฏิบัติมันจะโดนกิเลสหลอกจนเต็มที่ไง กิเลสมันจะหลอก ก็มันโดนหลอกมาพอแรงไง

ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติ เพราะวัฏฏะนี้เป็นธรรมชาติ การเกิดและการตายก็เป็นธรรมชาติ พระพุทธเจ้าสอนธรรมะไว้ ธรรมะสาธารณะเป็นธรรมชาติ ธรรมะพระพุทธเจ้านี่เป็นสาธารณะ เพราะพระพุทธเจ้าจะบอกถึงการเกิดและการตาย บอกถึงกรรม บอกถึงการกระทำ บอกถึงการไปและการมา แต่เวลาเราเข้าไปแล้วเราจะรู้ถึงการไปและการมา แล้วเราทิ้งมัน มันถึงเหนือการเกิดและการตาย

ใช่! ธรรมะเป็นธรรมชาติไหม ถ้าธรรมะโดยทั่วไปสัจธรรมก็คือสัจธรรมนี่แหละ แต่ สัจธรรมมันได้อะไร อากาศมันแปรปรวนอยู่นี้ ดูสิมันได้อะไร ความแปรปรวนของอากาศใครได้อะไรบ้าง ฤดูกาลเปลี่ยนไปแล้วได้อะไร ฤดูกาลเป็นธรรมชาติหรือเปล่า แล้วเกิดตายเป็นธรรมชาติ พ่อแม่มันเกิดตายมาแล้วนะ แล้วเดี๋ยวเราจะเกิดตายต่อไป ลูกหลานจะเกิดตายต่อไป แต่พอเราไปรู้จริงของมันขึ้นมานะกูลบหมดเลย

ธรรมะเหนือธรรมชาติ! ถ้าไม่เหนือธรรมชาติมันทิ้งธรรมชาติไม่ได้ เพราะเขาลืมไปว่าโดยสัจธรรม การหมุนเวียนคือธรรมชาติ ธรรมชาติคือไตรลักษณ์ คือความเปลี่ยนแปลงของมัน สสารมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันไม่มีอะไรคงที่ โธ่โว้ย เราใส่ไอ้พวกนักวิทยาศาสตร์ กูดูถูกฉิบหายวิทยาศาสตร์นี่ เพราะอะไร เพราะว่าวิทยาศาสตร์มันไม่มีค่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ๙๙.๙๙ แต่ปรมัตถธรรมของกูนี่ล้านเปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่ละ กิเลสมันชำระไม่ได้ เพราะวิทยาศาสตร์ไม่มี ปรมัตถ์ไม่มี นี่ไง ธรรมะเป็นธรรมชาติไง ไม่มี มันมีแต่การหมุนเวียน

ถ้าการหมุนเวียนคือวัฏฏะ แล้วกูจะหลุดจากวัฏฏะออกไปได้อย่างไร ทฤษฎีสัมพันธ์ จุดระเบิดเป็นอย่างไร จุดระเบิดของทฤษฎีสัมพันธ์อยู่ตรงไหน ปัจจยาการทำลายจิตทำลายๆ อย่างไร ทำลายภพ พอมันเห็นจริงแล้วกูทิ้งหมดเลย แต่ทุกคนไม่กล้าทิ้ง เพราะทิ้งแล้วกูจะไปอยู่ไหน ทุกคนไม่กล้าเผาบ้านตัวเอง แต่เวลาปฏิบัติไปมึงต้องเผา มึงต้องทำลายหมด ยิ่งเผาปั๊บพอเผาแล้ว โอ้โฮ บ้านกู แต่ไม่มีใครกล้าเผาบ้านตัวเอง

หลวงตาบอกโลกนี้ว่างหมดเลย พอถึงที่สุดแล้วความว่างคือกองขี้ควาย เพราะจะว่างแต่ข้างนอก ไม่กล้าเผาตัวเอง เพราะว่างก็กูรู้ว่าว่าง “โมฆราช เธอจงมองดูโลกนี้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ ผู้รู้ว่าว่าง” ทุกคนจะบอกว่าว่างหมดไง แต่มันไม่บอกว่าใครเป็นคนบอกว่าว่าง อัตตานุทิฏฐิ พบความรู้ที่รู้ว่าว่าง ถ้ามันเข้าตรงนี้ปั๊บมันถึงเข้าใจว่ามันเหนือธรรมชาติ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะธรรมชาติไม่มีพลังงานที่จะควบคุมมันได้แล้ว คือมันพ้นออกไปจากกระแสทั้งหมดแล้ว เพราะถ้าจะพูดอย่างนี้มันต้องอธิบายได้

เราถึงว่าแหม เวลาพูดกับญาติโยมที่เขาไปปฏิบัติกัน ประสาเรานะ ถ้าใครมีอะไรที่มันติดข้องในใจมันต้องคุยกับผู้รู้ เราจะอธิบายให้ได้ฟัง แล้วมันจะทำให้เราจะหลุดจากเปาะนี้ไปเลย การภาวนาถ้าเราไปติดปั๊บ เราไปเข้าใจอะไรที่มันไปขวางใจอยู่ มันก็จะหาเหตุหาผล อย่างน้อยก็เสียเวลา อย่างมากผิดพลาด ผิดพลาดเพราะอะไร เพราะเราไม่สามารถเข้าใจถึงกระบวนการอย่างนี้ได้ เรายอมจำนนกับมันหรือหลงทาง มันชักลากไป จบเลย

ทีนี้คำว่าธรรมะเหนือธรรมชาติ มันต้องถึงว่าตอนนิพพาน ตอนจบใช่ไหม แต่ที่ต้องดำเนินการอยู่เพราะอะไร เพราะพระโสดาบันมันมีจิตรู้ เพราะจิตนี่กลั่นออกมาจากอริยสัจ แล้วพอกลั่นออกมาเป็นสกิทามี กลั่นออกมาเป็นอนาคา มันยังมีจิตอยู่ มันยังสื่อสารได้ ยังมีความสัมพันธ์ได้ ยังอยู่ในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติอยู่ จะเหนือธรรมชาติต้องขั้นสุดท้าย เพราะมันต้องทำลายตัวมันเอง พอทำลายตัวมันเองปั๊บ ทำลายภวาสวะ ทำลายตัวภพ แล้วกิเลสหรือข้อมูลดีหรือชั่วมันจะมาตั้งอยู่บนฐานตรงไหน พระอนาคามีมันยังมีฐานคือพรหมไง คือภวาสวะที่ไปเกิดเป็นพรหม มันยังมีฐานะที่สามารถจะสื่อสารได้ มารมันยังมีที่อยู่ มารมันจับต้องได้ มันยังพูดกับมารได้ แต่พอทำลายหมดแล้วทุกอย่างมันจะมีรองรับ ถึงที่สุดตัวรองรับ นี่ไง อัตตานุทิฏฐิ คือสิ่งที่รองรับที่รู้ว่าว่างๆ นี่มันทำลายหมดแล้วอัตตานุทิฏฐิอยู่ที่ไหน แต่มันก็มีสิ่งที่รู้ได้

ถาม:    ก็เลยกลายเป็นตะขาบ เพราะเถียงกันอยู่ตลอด

หลวงพ่อ: เพราะเวลาเขาเถียงกัน นี่ๆ เขาเพิ่งมาเถียงกัน โทษนะ เมื่อ ๒ วันนี้เขามาบอกว่าดอกเตอร์........ เขาบอกว่าน้ำจะท่วมโลก เราจะบอกกับโยมเลยว่า ถ้ามึงบอกว่าเป็นดอกเตอร์แล้วมึงนั่งเห็นนิมิต แล้วมึงมาพูดให้ชาวพุทธเขาหวั่นไหว ไอน์สไตน์มันดีกว่ามึง ไอน์สไตน์มีชื่อเสียงกว่ามึง ไอน์สไตน์บอกว่า “ถ้ามีโอกาสนับถือได้ ขอนับถือศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธนี้เป็นศาสนาแห่งปัญญา” ไอน์สไตน์มันยังเอาตัวรอดไม่ได้เลย แล้ว........มันมี...อะไร เปล่า! มันพูดให้สังคมตื่นตัวไง แล้วบอกว่าน้ำจะท่วมโลกๆ กูไม่เชื่อ

โลกนี่สึนามิเกิดได้ การเปลี่ยนแปลงของโลกมันเปลี่ยนแปลงได้ แต่โลกนี้เป็นอจินไตย กูบอกเลย มึงนอนกระดิกตีนเลยอีก ๒,๕๐๐ ปี ๕,๐๐๐ ปีศาสนานี้ยังมั่นคงอยู่ อีก ๕,๐๐๐ ปีนี้โลกยังรองรับพวกมึงอยู่ มันแค่เป็นความรู้สึกส่วนตัว เราบอกไม่เชื่อ เราบอกเลยนะให้น้ำแข็งขั้วโลกเหนือขั้วโลกใต้ละลายให้หมดเลย น้ำจะท่วมโลก กูก็ไม่เชื่อ เพราะมันละลายมาได้ขนาดไหนมันก็ระเหยไปเป็นไอไปเป็นก้อนเมฆ มันก็ระเหยขึ้นไปตลอดเวลา มันจะเอาที่ไหนมาท่วมโลกวะ ไม่มีทาง! น้ำละลายแล้วมันอยู่คงที่หรือ

ถาม:   มันเปลี่ยนแปลง

หลวงพ่อ: แล้วมันจะเอาที่ไหนมาท่วมมึง พูดถึงตรงนี้ธรรมะที่ว่าธรรมชาติ สิ่งที่เขารู้ของเขาขึ้นมาเขาก็มาพูด แต่นี่พุทธทำนาย... คำว่าพุทธทำนายๆ กูฉีกทิ้งหมด มึงเกิดทันพระพุทธเจ้าหรือ แล้วพุทธทำนายมึงก็ต้องเอามาจากในพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกกูก็รื้อค้นอยู่ แล้วพูดผิดตรงไหนบ้าง คือเขาไปจับตีความไง จับแล้วก็ตีความว่าเป็นมุมมองของเขา แต่ถ้าความจริงไม่เป็นอย่างนั้น มันต้องเหนือธรรมชาติ ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติก็เป็นวิทยาศาสตร์

เราบอกวิทยาศาสตร์มันดีอย่างหนึ่ง ดีที่ว่ามาให้ศาสนานี่ชัดเจนเท่านั้นเอง อธิบายแบบวิทยาศาสตร์ไง แต่วิทยาศาสตร์ทางจิต มรรคญาณนี้มึงรู้ได้อย่างไร นี้ไงขณะที่ประพฤติปฏิบัตินะ โสดาบัน สกิทามี อนาคา ขณะจิตที่มันเปลี่ยนมันเป็นวิทยาศาสตร์แต่ละระดับ แล้วมึงจะพูดถึงระดับของมันอย่างไร ถ้ามึงไม่เป็นนะมึงพูดร้อยหนก็ผิดร้อยหน ถ้ามึงเป็นนะแม้แต่มึงปิดไว้มึงพูดออกมา คนเป็นเขาก็ฟังออก

แล้วอย่างที่เขาทำกัน ตรงนี้ไม่มี วิทยาศาสตร์คือบนโต๊ะ คือต้องเป็นวิทยาศาสตร์ห้ามเปลี่ยนแปลงเป็นกรอบตายตัว มึงตายเลย เพราะอะไร เพราะโสดาบันระดับหนึ่ง สกิทามีระดับหนึ่ง อนาคาระดับหนึ่ง ความลึกของจิตความรู้สึกของความละเอียดหยาบต่างกัน ถ้าวิทยาศาสตร์นะเหมือนกับว่าอยู่ขั้นวิทยาศาสตร์แล้วห้ามเปลี่ยนแปลง วิทยาศาสตร์เป็นโลกไง โลกกับธรรมคนละเรื่อง

ถ้าวิทยาศาสตร์ปั๊บพวกฝรั่งที่มาบวช เวลาบวชทำสมาธิแล้วไม่เชื่ออารมณ์ของตัว ปล่อยให้มันเสื่อม ทดสอบไงว่าเป็นนามธรรม อย่างที่เขาสอนกันเห็นไหม สอนสมาธิเขาทำวิชาการ สอนสมาธิแล้วก็ทำเป็นข้อสอบ เฮ้ย สมาธิมันอยู่ที่คะแนนหรือ สมาธิอยู่ที่คะแนนหรืออยู่ที่ใจ มึงจะบ้าแล้วนะ ทำเป็น โอ่โหย สมาธิต้องเรียนอย่างนั้น ปฏิบัติต้องเป็นอย่างนั้น แล้วให้คะแนนกัน โอ๊ย ไอ้พวกนี้บ้า นี่ไงสมาธิมันต้องครูบาอาจารย์สอนเป็น ไม่ใช่ว่า เฮ้ย สอนนะ นี่ทฤษฎีเป็นอย่างนี้ แล้วก็แจกกระดาษ มึงก็ลองตอบมา อ้าว มึงได้แค่นี้ ๒ ขั้น ได้แค่นี้ ๓ ขั้น สมาธิบ้า วิทยาศาสตร์ไง สอนเป็นวิทยาศาสตร์

โลกมันจะเปลี่ยนแปลงไป ธรรมะมันจะไหลไปตามโลก ธรรมะมันไม่เป็นตามธรรม ถ้าพูดอย่างนี้นะ พอมันมีพื้นฐานมันคุยกันง่าย แล้วถ้าเราพูดอย่างนี้กับโยมทั่วไปเขาไม่ฟังหรอก เขาต้องตั้งนะโม ต้องเล่านิทาน

ถาม:  หลวงพ่อเจ้าคะ วิปัสสนาแท้ยังไม่เกิด แล้วก็เราใช้วิธีคิดนำ

หลวงพ่อ: ได้ คิดนำมันเหมือนอย่างที่พูด ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ จริงๆ มันมีอยู่ด้วยกัน เพราะคำว่าวิปัสสนา ในสมถะมีวิปัสสนา คำว่าสมถะวิปัสสนาตรงไหน ตรงที่ปัญญาอบรมสมาธิไง ตรงที่คำว่าวิปัสสนาคือใช้ความคิด ใช้ปัญญา แต่ผลของมัน มันจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ อย่างที่เราพูดเมื่อกี้นี้ วิวัฒนาการพัฒนาการของมันจะมี

ถาม: แต่เวลาเราคิดนำเราก็คิดจากสัญญา แล้วปัญญาจะเกิดได้อย่างไร

หลวงพ่อ: คิดจากสัญญานะ ไอ้ตัวคิดจากสัญญาคือสัญญา แต่ตัวเปลือกส้มตัวส้มนี่ไง เป็นสัญญา เป็นเปลือกส้มมันคิด แต่ผลที่ตอบมาคือมันให้ตอบสนองที่ตัวเนื้อส้ม เพราะเนื้อส้มพอคิดด้วยสัญญา แต่สัญญามันเห็นการเปลี่ยนแปลงกับที่ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ตัวเนื้อส้มมันไม่มีวิวัฒนาการ ถ้าตัวเนื้อส้มไม่มีวิวัฒนาการตัวเนื้อส้มจะปล่อยมันเข้ามาเอง เห็นไหม เพราะมันเป็นสัญญา

แต่โยมคิดสิ ถึงสัญญาก็แล้วแต่ แต่โยมจะเห็นคุณและเห็นโทษของมัน การเห็นคุณและเห็นโทษนั่นแหละคือวิปัสสนา เป็นปัญญา นี่ปัญญาที่มันจะไล่ให้มันสงบเพราะอะไร เพราะมันอยู่ในขั้นตอนของขั้นพื้นฐาน ขั้นหาทุน จะสร้างตึก จะทำอะไรต้องฝังเข็ม ทีนี้เวลาตอกเข็ม ตอนลงคานคอดินทุกคนก็เห็นว่ามันไม่มีประโยชน์ อยากเห็นแต่ตึกไง แต่ไม่เห็นในพื้นฐานนี่ไง นี่พอทำพื้นฐานทุกคนก็ว่าเสียเวลา สู้ไปสร้างตึกดีกว่า แต่ตึกมึงจะล้ม ตึกมึงอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าเราไปลงตรงเข็ม นี่ไง อย่าเร่งรีบ เราลงพื้นฐาน ลงเข็มเราให้ได้ แล้วบ้านเราจะหลังเล็กหลังใหญ่ช่างมัน บ้านกูจะสร้างขึ้นมาได้บนคานคอดินบนเข็มนี้ นี้คือสมาธิ

แต่คนไปปฏิเสธมัน สมาธิไม่สำคัญ สมาธิอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่บ้านอยู่ไม่ได้ คานอยู่ไม่ได้ เสาเข็มใครไปอยู่กับมัน ไม่มีเสาเข็มบ้านมึงก็อยู่ไม่ได้ ทำไปเถอะ ทำไป ถ้าใครว่าผิดให้มันพูดไป ผิดถูกนี่ เราอยากจะเอาอาจารย์มึงมาหากูฉิบหายเลย

อย่างที่เราพูด ที่สอนเมื่อวานตอนเช้าที่เขาบอกว่า เวลาจิตมันพัฒนาแล้วทำไมเขาไม่ไปๆ ก็ตรงนี้ไง ตรงที่มันเป็นวิวัฒนาการ พัฒนาการของเราเอง การทำใจคือการพัฒนาการมัน ประสาเราที่ตอนเช้าบอกว่าต้องมียุทธศาสตร์ด้วย ยุทธศาสตร์หมายถึงว่ามันมีเป้าหมายใช่ไหม พอมันจะเจอสิ่งใด ยุทธวิธีเราจะทิ้งมันได้ เพราะเรามีเป้าหมายว่าเราจะพ้นทุกข์ ถ้าเราไม่มียุทธศาสตร์คือมันไม่มีเป้าหมายที่พ้นทุกข์นะ เออว่ะ นี่ก็ดีว่ะ โน่นก็เป็นไปว่ะ เออ นี่กูก็อยู่ตรงนี้ก็ได้ ทิ้งเป้าหมายไว้นู่นเลย แต่มันต้องทำตรงนี้ ต้องทำ ถ้าไม่ทำนะการกระทำของเรา โทษนะ สูญเปล่า แต่ถ้าเราทำจริงๆ มันจะสะสมเข้ามา แล้วรู้เองปัจจัตตัง แล้วใครหลอกใครไม่ได้ ถ้าโยมมีพื้นฐานนะฟังเราพูดจับผิดได้หมดเลย

การพูดนี้มันเปิดอก ถ้าไม่เป็นพูดออกไปขั้นตอนมันจะขัดแย้งกัน เราสอนขั้นนี้นะ โสดาบันทำอย่างนี้ โอ้ ทำอย่างนี้ปั๊บ แล้วพอสอนอย่างนี้ผิดอีกแล้ว มันจะขัดแย้งกัน แต่ถ้าเป็นธรรมะ ธรรมพระพุทธเจ้าไม่มีการขัดแย้งกัน มันจะพัฒนาการกัน ขั้นของพื้นฐาน มรรคหยาบ มรรคละเอียด มรรคละเอียดสุด พื้นฐานมันจะส่งกันขึ้นไป ไม่มีการขัดแย้งกัน แต่นี่ของมันเวลาที่เราทำกันอยู่มันไม่ใช่อย่างนั้น พื้นฐานไม่มีเลย พื้นฐานขึ้นไปแล้วก็เป็นวิปัสสนึก นึกหมาย คาดการณ์ ทึกทักเอาเลย

ถาม: เหมือนที่ผมได้ยินจากหลวงปู่หล้า ท่านเคยสอนว่าจะไปเชียงใหม่ต้องผ่านนครสวรรค์ อย่างไรก็ต้องผ่าน เพราะฉะนั้นอย่าไปหลง ถ้าผ่านต้องไปให้ถึง

หลวงพ่อ: ใช่ ยุทธศาสตร์ ตั้งเป้าไว้เลย แต่ต้องทำอย่างนี้ บางทีเรายังพูดนะ อ้าว กูมีเกวียนกูก็ไปเกวียน ไอ้นั่นเขามีรถ ไอ้นั่นเขามีเครื่องบินก็เรื่องของเขา ไอ้...กูมีเกวียนนะแต่กูจะไปรถให้ได้ ทุกข์ตายห่าเลย คือประสาเราว่าไม่น้อยเนื้อต่ำใจ จะทำตามพื้นฐานของตัว สุขทุกข์ข้อเท็จจริงของตัวสำคัญที่สุด เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเป็นจากเรา ข้อมูลของเรา ทุกข์ของเรา ผลประโยชน์ของเรา ไอ้ห่า ผลประโยชน์กูปฏิเสธนะ แต่ไปเอาผลประโยชน์คนอื่น เฮ้ย เขาทำอย่างนั้น เขาทำอย่างนี้

มันมีลูกศิษย์เยอะ เขาภาวนาดีๆ อยู่แล้วล่ะ แล้วมีลูกศิษย์มาถาม ก็บอกว่าทำอย่างนั้นๆ เขาก็ไปทำมั่ง พอกลับมา

“หลวงพ่อ ไม่เห็นดีเลย”

“ทำไมล่ะ”

“เพราะทำอย่างนั้นๆ”

โทษนะ “ก็มึงเสือก! กูไม่ได้สอนมึง ไอ้ห่า กูสอนเขา”

มันนั่งฟังอยู่ด้วยไง เงียบเลยนะ เออ จริง! ดีอยู่แล้ว ทำมาดีอยู่แล้ว แต่เวลาเขามาถามปัญหาใช่ไหม จริตมันไม่เหมือนกัน

ถาม: ส่งออกครับ

หลวงพ่อ: ใช่ เราก็อธิบายให้คนนี้ฟัง เขาก็นั่งฟังอยู่ด้วย เขาแอบเก็บไปทำ หลายวันมาบอกเลยนะ อู้ย หลวงพ่อไม่ดีเลย มันเป็นอย่างนั้น ถามทำไมล่ะ ก็วันนั้นหลวงพ่อสอนเขาอย่างนั้นๆ ผมก็เอาไปทำบ้าง ใส่เลยนะ เสือก!

นี่ไง สมบัติเขา เราอย่าไปตื่น ของใครเขาจะทำดีหรือไม่ดีนะ สาธุ สาธุ ใครทำดีสาธุ ไอ้ห่ากูมีข้าวกับเกลือ กูกินข้าวกับเกลือกูนี่ ในเมื่อกูหาไม่ได้กูมีข้าวกับเกลือ กูก็พอใจข้าวกับเกลือกูนี่ พูดอย่างนี้ปั๊บเพื่อจะไม่ให้น้อยเนื้อต่ำใจ เพื่อจะไม่ให้เทียบเคียงอำนาจวาสนากัน เขาจะไปได้ เขาจะไปดีก็สาธุเถอะ เราจะมีข้าวกับเกลือก็ขอกูข้าวกับเกลือ แต่ก็กินแล้วอิ่มก็พอ

ใครภาวนาไปนะ จิตมันจะมหัศจรรย์จะเห็นนู่นเห็นนี่ ก็สาธุ แต่สำหรับเรานะ เดี๋ยวจะจับเอง บางคนจะเห็นมีนิมิตบ้าง เห็นอะไรบ้าง โธ่ ลูกศิษย์หลายคนนะ มาฟังธรรมที่นี่จิตสงบไม่ได้เลย เทวดามาเลย โอ้โฮ กระทืบ กระทืบกัน เขาส่งออกเหมือนแม่ชีแก้วเลย ตอนนี้อยู่ที่นี่มีหลายคน แล้วเมื่อก่อนเขาพูดให้เราฟังเลย เมื่อก่อนเขาดูถูกพระน่าดูเลย ว่าพระไม่เป็น เขาเก่ง ทีนี้พอมาถึงแล้วเราก็ตะล่อมไปเรื่อยๆ นะ ส่งออกผิดหมด อย่างน้อยก็กลับมาที่ตั้ง แล้วพอเขาไปนี่ แล้วพอเราอธิบายไปเรื่อยๆ เขาชักโน้มเอียงมา เดี๋ยวนี้เขาดึงจิตเข้ามา เขาอยู่ในวงรอบของเขา นี่จะขอมาอยู่วัด บอกไม่ได้พ่อแม่ไม่ยอม

แต่ก่อนมันส่งออกไปไกลๆ เลย เดี๋ยวนี้เขาบอกเขานั่งอยู่ในสังคม เขาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ บอกว่าหลวงพ่อทุกข์ฉิบหายเลย เพราะเหมือนรู้ความคิดเขาไปหมดเลย อยู่อย่างนี้คนจะคิดอะไรรอบข้างเขารู้หมดเลย อยู่ได้อย่างไรวะ บอกว่าทุกข์น่าดูเลย เขาจะคิดดีคิดชั่วกับเรา เรารู้หมดเลยทำอย่างไร นี่มันจะดึงเข้ามาๆ เห็นไหม

อย่างนี้ก็เป็นวาสนาของเขา บางคนเขาสงบเฉยๆ สงบนิ่งๆ ก็มี กว่าจะสงบล้มลุกคลุกคลานนะ บางคนสงบต้องแลกกันมาด้วยการอดอาหาร ไม่ใช่ความสงบมันจะเข้าได้ง่ายๆ หรอก มันอยู่ที่ใครจะแลกมาด้วยอะไร แลกด้วยความเพียร

มีโยมมาหาจากกรุงเทพฯ เยอะมาก หลวงพ่อภาวนาไม่ดีเลย พวกเอ็งอยากไปภาวนา แต่เอ็งกินข้าววันละกี่มื้อ ตอนเย็นกินข้าวซะอิ่มเลย แล้วก็ไปนั่งภาวนา ทำไมเราต้องถือศีล ๘ ล่ะ เพราะเอ็งกินข้าวอิ่มเลย กระเพาะอาหาร ๖ ชั่วโมงกว่าจะย่อยหมด พุทโธๆ กระเพาะมันก็ย่อยไปเรื่อยๆ แล้วบอกว่ามื้อเย็นมึงตัดทิ้งสิ บางทีพอเขาไม่กินข้าวเย็นกลับมาเขาบอก โอ้โฮ หลวงพ่อดีขึ้นเยอะเลย คิดไม่ถึง เราไปคิดแต่พุทโธๆ จะไปเอาแต่ตรงนั้นนะ แต่ไม่ได้คิดเลยว่ากูทำอะไรมาบ้าง ข้าวเย็นนี่ ทำไมต้องถือศีล ๘ ล่ะ แล้วกินข้าวเย็น ไม่กินข้าวเย็น โธ่ สีเลนะ โภคะสัมปะทา มีโภคทรัพย์ ไม่กินข้าวมื้อหนึ่งก็เหลือเงินตั้งเยอะแยะ เงินก็ได้ ภาวนาก็ดี ร่างกายก็ชุ่มชื่น แต่ทำไม่ได้ กูอยากกิน ก็พระกินมื้อเดียวทำไมพระอยู่ได้ ทำไมอีก ๒ มื้อยังอยู่ไม่ได้อีกหรือ

ความจริงร่างกายไม่ต้องการอะไรมากเลย แต่โดยทางวิทยาศาสตร์ว่ามนุษย์เราต้องกินข้าว ๓ มื้อ ๔ มื้อ ๕ มื้อ ก็กินกันไป จริงๆ แล้วร่างกายไม่ต้องการอะไรมากเลย เพียงแต่ถ้าเราถือศีล เราก็มีโภคสมบัติ เรามีความสุข มันมีนิพพานเป็นเป้าหมาย ศีลนี่สำคัญเลย ทีนี้คนเราเห็นคุณค่ามันไหม ทุกคนอยากได้มรรคผลนิพพาน แต่เรื่องการประพฤติปฏิบัติช่างหัวมัน จะอัดเข้าไปเต็มท้องเลย ก็พุทโธๆ ก็นั่งหลับไง ก็หมูไง ทำไปเถอะเดี๋ยวมันนอนอยู่นั้นนะ

คืออยากได้ทั้ง ๒ อย่าง อยากได้ทั้งโลก อยากได้ทั้งธรรม โลกเราก็เสียสละมาหน่อยหนึ่ง แต่ถ้าเรามีความจำเป็น เราไปสังคมเราก็ยกเว้นได้ ยกเว้นไว้แต่เรามีครามจำเป็นเนาะ เรามีความจำเป็น เราไปสังคมแล้วเราจะไปขวางเขามันก็น่าเกลียด เราก็ยกเว้นไว้วันสองวัน เราก็ไปดูเขาเป็นพิธี มันเวลาถือศีลเรามียกเว้นได้ไง ยกเว้นวันนั้น ยกเว้นวันนี้ ยกเว้นเพื่อประโยชน์กับเรา แต่ถ้าไม่มีอย่างนี้เราก็ทำของเราอย่างเป็นปกติ มันจะเข้ามาตรงนี้ ทำได้หมด ไม่จำเป็นต้องตะบี้ตะบันเอาสมถะหรอก

คำว่าสมถะวิปัสสนา ให้เห็นว่าคำว่าสมถะ วิปัสสนาของเรา หมายถึงว่าถ้ามันเป็นสมถะมันเป็นโลก มันเป็นโลกียปัญญา เอ็งทำอย่างไรก็แล้วแต่ผลตอบแทนของมันคือว่าเป็นอามิส แต่ถ้าเป็นโลกุตตระผลตอบแทนมันคือพ้นทุกข์ เราแยกให้เขาเห็นชัดเจนไง เราเห็นชัดเจนตรงนี้ ทีนี้เพียงแต่ว่าจะต้องรอให้จิตสงบ ถ้าจิตสงบหรือว่ามีฐานขึ้นมา วิปัสสนาได้นี่ มันก็เป็นประโยชน์มาก ถ้ามันยังไม่ได้เราก็ใช้ปัญญาค้นคว้า คือต้องฝึก ถ้าจิตเป็นสมาธิแล้วไม่ฝึกปัญญาๆ ก็เกิดเองไม่ได้

ปัญญาจะเกิดเองไม่ได้ ถ้าปัญญาเกิดเอง ฤๅษีชีไพรเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว ฤๅษีชีไพรเหาะเหินเดินฟ้าได้หมด ทำไมมันเป็นไม่เป็นพระอรหันต์ล่ะ เพราะมันไม่มีปัญญา แล้วปัญญาไม่มีพระพุทธเจ้ามารื้อค้นก็ไม่มีคนสอน ก็ไม่รู้ว่าปัญญาคืออะไร ก็คิดว่าสัญญาก็เป็นปัญญา

แต่พระพุทธเจ้าบอกว่ามันไม่ใช่ มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นฌานโลกีย์ โล โลก โลกีย์ โลกหมด โลกุตตระธรรมที่เหนือโลกอยู่ไหน แล้วถ้าคนเป็นอย่างนี้มันจะแยกได้เลยว่า อันนี้เป็นโลกอันนี้เป็นธรรม ความคิดอย่างนี้เป็นโลก ความคิดอย่างนี้เป็นธรรม แล้วเอาตัวอะไรแบ่งแยก สมาธิไง ไม่มีสมาธิคิดแบบเราก็เป็นโลกหมด ถ้าปัญญาอบรมสมาธิก็กลับมาที่สมาธินี่ไง ทุกกระบวนการ ทุกศาสนา ทุกวิธีการที่ปฏิบัติ ผลของมันเป็นสมถะหมด ไม่มีวิปัสสนา เพราะเป็นสมาธิแล้วเกิดโลกียปัญญาที่เป็นปัญญาออกไป นี่ถึงเป็นวิปัสสนา

วิปัสสนาเกิดได้เมื่อมีสมาธิเป็นตัวกั้น สมาธิเป็นตัวแบ่งแยกทาง ๒ แพร่งระหว่างโลกียะกับโลกุตตระ มึงจะดูถูกสมาธิไม่ได้ ตัวนี้เป็นตัวกั้นไง ตัวนี้เป็นตัวแบ่งแยกไง ตัวสมาธิเป็นตัวแบ่งแยกระหว่างโลกกับธรรม เพียงแต่ตัวกั้นนี้ไม่รู้จักตัวกั้น เห็นว่าตัวกั้นเป็นผลมันอีก เสือกหลงในตัวกั้นอีก ค่อยๆ ทำไป ทำให้ดี ทำได้ ทำได้ ทางนี้มีอะไร ลูกศิษย์หมดแหละไม่ต้องกลัว นี่ของเดิม  (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)