ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คณะ ก.ฟ.ผ.

๑๖ พ.ย. ๒๕๕๑

 

คณะ ก.ฟ.ผ.
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราฟังธรรมะนะ ดูเวลาเขาทำไร่ไถนาสิ คนทำไร่ไถนาเขาได้ข้าว เราทำงานหน้าที่ ต้องทำหน้าที่การงาน คนแสวงหาอะไรได้อย่างนั้น คนแสวงหาสิ่งที่ดีจะได้สิ่งที่ดี แต่คนไม่เข้าใจว่าอะไรดีอะไรเลว มันก็แสวงหา มันเข้าใจว่าดี แล้วมันแสวงหาสิ่งที่เป็นทุกข์มาใส่ตัว สิ่งที่คิดว่าดีแล้วมันไม่ดีจริงไง กิเลสมันอยู่กับใจเรา เราไม่เข้าใจ

แต่ถ้าเราแสวงหา แสวงหาสิ่งที่ดี มันจะได้ความดีตอบแทน แสวงหาสิ่งที่เลว จะได้ความเลวตอบแทน เราแสวงหา เราสร้างบุญกุศล เราทำงานของเรา เราทำงานเพื่อศาสนา เราทำงานเพื่อสาธารณะ สิ่งที่สาธารณะนะ คฤหัสถ์มาถามพระพุทธเจ้าว่า “เทวดา อินทร์ พรหม มีไหม”

พระพุทธเจ้าบอก “อย่าถามเรื่องเทวดา อินทร์ พรหม มีไหม เหตุให้เป็นเทวดา เรายังรู้เลย”

คนที่จะเป็นเทวดา ทำประโยชน์สาธารณะนี่ไง เมื่อก่อนไม่มีรัฐบาลใช่ไหม แหล่งน้ำ โรงทาน สาธารณประโยชน์ แล้วคนมาใช้ของของเรา สิ่งนี้ไปเกิดเป็นเทวดา ในธรรมบทนะ พระอินทร์มีภรรยาอยู่ ๔ คน เวลาไปสร้างธรรมศาลา ศาลาโรงธรรม ศาลาข้างทาง ศาลาที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ภรรยา ๓ คนช่วยกันสร้าง ช่วยกันขวนขวาย ภรรยาอีกคนหนึ่งถือว่าเป็นของสามี ทำแล้วภรรยาก็ต้องได้ด้วย ไม่ทำอะไรเลย ไม่ทำอะไร วันหนึ่งมีแต่แต่งตัว เวลาตายไป บุรุษคนนั้นไปเกิดเป็นพระอินทร์ ภรรยา ๓ คนนี้มาเกิดหมดเลย เอ๊! แล้วภรรยาอีกคนหนึ่งไปอยู่ไหน เพราะคิดถึงมาก พระอินทร์ใช่ไหม ก็มีเล็งญาณ เล็งญาณไปนะ ไปเกิดเป็นนกกระยางกำลังกินปลาอยู่นั่นน่ะ ไปเทศน์เอานะ ไปเทศน์เอากลับมา ไปเทศน์เอา พอตายจากนกกระยางก็ขึ้นไปเกิดเป็นเทวดาเหมือนกัน

สมบัติสาธารณะ สิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์ สิ่งที่แสวงหาดีๆ ความดีเป็นความดี นี่เป็นสาธารณประโยชน์นะ แล้วเราทำเพื่อสาธารณะ ทำเพื่อคุณงามความดีของเรา เราแสวงหามา เราเหนื่อยไหม ลงทุนลงแรงเหนื่อยไหม เราเหนื่อยทั้งนั้นน่ะ เราต้องลงทุนลงแรง การกระทำไง

เวลาเรื่องธรรมะนะ เวลาคิด เราคิดสิ่งที่ดี ถ้าไม่คิดสิ่งที่ดี มันคิดชั่วแน่นอน โดยธรรมชาติ ทีนี้โดยธรรมชาติเราต้องคิดแต่สิ่งที่ดี ทำสิ่งที่ดี ถ้าฝืนมัน ฝืนไว้ตลอด การฝืนนี้คือฝืนกิเลส เราบอกกิเลสมันอยู่ที่ไหน ทุกคนอยากฆ่ากิเลส กิเลสอยู่ที่ไหน เราจะกำจัดมัน เราจะพ้นจากกิเลส แต่เวลามันเป็นเรา เราไม่รู้ว่ากิเลสเป็นเรา คิด ความคิดนี้เป็นเรา ความดีหยาบๆ นะ ความดีที่เราทำเป็นความดีไหม เป็นความดีแน่นอน เป็นความดี แต่เวลาสำนักปฏิบัติเขาจะไม่ให้มีงานมีการนะ เพราะการมีงานมีการมันดึงความดีที่ละเอียดขึ้นมาให้มันหยาบไง ความดีอย่างนี้ความดีหยาบๆ ความดีในวัฏฏะ ความดีของโลก ความดี แต่ความดีของศาสนานี่ความดีพ้นจากโลก ความดีพ้นจากโลกมันต้องทำจากภายใน ต้องทำจากภายใน เวลาเราประพฤติปฏิบัติ มันจะเข้าไปภายในปั๊บ มันก็คิด

เวลาธรรมวินัยนะ ภิกษุเอาของของสงฆ์มาใช้ สมัยพุทธกาลนะ วัดเป็นที่สาธารณะ เหมือนกับเป็นที่สาธารณะ เวลาภิกษุจำพรรษา พระจะหาที่จำพรรษา ไปจำพรรษาที่วัดไหนก็แล้วแต่ เอาของของสงฆ์มาใช้ เช่น เตียง ตั่ง ที่นอน หมอน มุ้ง เวลาภิกษุจากไป ไม่เก็บก็ดี ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเก็บก็ดี เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ของของสงฆ์ ของเป็นกองกลาง ของที่มันเป็นกองกลาง ทุกคน เวลาเราสร้างวัดกัน ขอภิกษุจากจตุรทิศ ๔ ทิศที่ยังไม่ได้มา ขอให้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่สุขสบายเถิด เห็นไหม สิ่งนี้เราสร้างขึ้นมาเป็นวัตถุ เป็นอาราม เป็นที่อยู่ของผู้ไม่มีเรือน อารามิก

แต่พระอนาคามีไม่มีเรือนในหัวใจ ไม่มีเรือนนะ ไม่มีที่พักเลย มันว่างหมดเลย มันมีเรือนนอก เรือนใน ถ้าเรือนนอก อารามิก สิ่งที่อยู่ของผู้มีศีล เราสร้างสิ่งนี้เป็นสาธารณประโยชน์ เราได้บุญไหม ได้บุญ เราสร้างโบสถ์วิหาร เราสร้างสิ่งต่างๆ ได้บุญไหม ได้บุญ แต่โบสถ์วิหารนั้นมันไม่ใช่เป็นบุญนะ มันเป็นวัตถุ แต่บุญคือใจของเรา

ทีนี้พระถ้าอยู่อย่างนั้นปั๊บ ภิกษุไม่รักษาบำรุงซ่อมแซมของที่เป็นของสงฆ์ ปล่อยให้มันพังไปต่อหน้าต่อตา เป็นอาบัติปาจิตตีย์ พระไม่ดูแลของสงฆ์ เราต้องดูแล แต่พอดูแล พอดูแลปั๊บ เราก็กังวล เรากังวล จะทำโน่นจะทำนี่ อยู่กับครูบาอาจารย์ท่านบอกบ้าสังขาร ไอ้พวกบ้าสังขาร บ้าความคิด จะทำไอ้โน่น จะทำไอ้นี่ พอบ้าสังขาร ทีแรกกิเลสมันเป็นอย่างนั้น

เราจะบอกว่า ความดีจากข้างนอก เราทำเป็นคุณประโยชน์ไหม เป็น แต่ประโยชน์ที่มันละเอียดเข้าไปๆ แล้วจิตใจเราหยาบ นี่ไง ความคิดเราหยาบ เราละเอียดไม่เป็น เราละเอียดเข้าไปไม่ได้ เพราะกิเลสมันบอกไง ทำความดี ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นความดี แต่เรานั่งสมาธิเป็นคนเห็นแก่ตัว ทำอยู่คนเดียวนะ

เวลามาบวช “ไม่รับผิดชอบสังคม ไม่รับผิดชอบสังคม”

ถ้าไม่รับผิดชอบสังคมนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ออกจากราชวังมานะ จะไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่สละลูก สละเมีย สละพ่อมานะ จะไม่ได้กลับไปเอาพ่อ เอาลูก เอาเมียเป็นพระอรหันต์ ตัวเองต้องเสียสละก่อน

นี่ก็เหมือนกัน มันเป็นงานอันละเอียด งานอันละเอียดคืองานเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา ลำบากกว่าข้างนอกหลายเท่านัก แต่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยกระตุ้นนะ มันจะไปติดข้างนอกนี่ไง มันติดข้างนอกว่าสิ่งนี้มันมีผลงาน เราทำงานแล้วเรามีผลงาน สิ่งนี้มันจับต้องได้ เรามีผลงาน แล้วนั่งเฉยๆ ไม่มีงานอะไรเลย แล้วเวลาชาวบ้านเขาติฉินนินทา โลกธรรม พระก็ทรงตัวไว้ไม่ได้ ไม่รู้อะไรงานของเรา

นี่ไง งานปฏิบัติ งานเอาชนะใจตัวเอง มันยากกว่างานข้างนอกหลายเท่า แล้วมันก็ทนแรงเสียดสีเขาไม่ไหว ถ้าทนแรงเสียดสีไม่ไหวมันก็ไปตามโลก

ผู้ที่เห็นแก่ตัว ถ้ามันเป็นกิเลสนะ อ้าง เห็นแก่ตัว ถ้าอ้าง อ้างเล่ห์ไง จริงๆ ตัวเองปฏิบัติไม่ได้ จริงๆ ตัวเองไม่ได้ปฏิบัติ แต่อ้าง พอจะทำงาน “ทำไม่ได้ จะภาวนาๆ” มันก็หลอกนะ กิเลสมันหลอกสองชั้นสามชั้น นี่บ้าสังขาร บ้าสังขารคือบ้าความคิดเรา เราคิดเอง เราบ้าสังขารใช่ไหม อยู่ไม่ได้ด้วยตัวเอง เพราะตัวเองไม่มีเครื่องอยู่ ไม่มีข้อวัตรปฏิบัติ ก็เอางานเป็นเครื่องอยู่ ทำแก้รำคาญ พอทำไปๆ มันติด ไม่ทำมันรำคาญ พอรำคาญขึ้นมา เดือดร้อนชาวบ้านแล้ว มันจะไปดึงเขามาทำ นี่บ้าสังขาร

ถ้างานเป็นประโยชน์ เราก็เห็นว่าเป็นประโยชน์ เราเอาบุญมารักษา เพราะความพอดีมันต้องมี ถ้าความพอดีมันมีปั๊บ มันจะย้อนกลับมา ถ้าเราปูพื้นฐานของเราไว้ จิตใจสาธารณะ เราทำเพื่อคนอื่นๆ แล้วเวลาเราปฏิบัติมันจะมีโอกาส

ถ้าเราไม่ทำเพื่อคนอื่น เราไม่ทำเพื่อคนอื่นเลย เราทำเพื่อเราๆ ถ้าเพื่อเรา แผ่นดินของเรา ที่ดินของเรามันก็ติดที่ดินข้างเคียงทั้งนั้นน่ะ ที่ดินของเราไม่มีอยู่ลอยๆ ได้หรอก ที่ดินของเราต้องติดที่ดินข้างเคียง ความเป็นอยู่สังคมไง มันมีผลทั้งนั้นน่ะ มันมีผลจากถ้าเราทำดีขึ้นมา สิ่งนี้มันจะย้อนกลับมา ถ้าเราไม่ทำสิ่งที่ดีเลย สิ่งนี้จะย้อนกลับมาได้อย่างไร เรามีอะไรเป็นคุณสมบัติของเรา เราไม่มีอะไรเป็นคุณสมบัติของเราเลย ไม่มีคุณสมบัติมันก็ไม่มีจุดยืน นี่จุดยืน จุดยืนไง เพราะคนไม่มีจุดยืน คนไม่ที่ตั้ง กรรมฐาน ฐานที่ตั้ง ไม่มีจุดยืน พอไม่มีจุดยืน “นี่วิปัสสนาสายตรง ทำเลย ใช้ปัญญาๆ”...ปัญญาของใคร

ปัญญาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้มันเป็นโลกียปัญญา โลกียธรรม โลกียธรรมของโลก ธรรมของคฤหัสถ์ พวกเรามีคุณธรรมกันนะ ถ้าไม่มีคุณธรรมกันนะ ในครอบครัวของเรา ในสังคมของเรา ต่างคนต่างก็เอารัดเอาเปรียบ มันมีคุณธรรมไหม ธรรมอย่างนี้เป็นธรรมของคฤหัสถ์ มันไม่ใช่ธรรมของภิกษุผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร ผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสารมันต้องมีจุดยืน จุดยืนคือมีสติ เรามีสติ เรามีสัมปชัญญะ เรารักษาใจของเรา

ใจ เราบอกว่างๆ ว่างๆ...ว่างๆ มันไม่มีจุดยืนใช่ไหม

ดูสิ เวลาเราพูดถึงนะ เวลาคนเขาเล่นว่าว เราเห็นคนเขาเล่นว่าวไหม เล่นว่าว เวลาเขาต้องมีเชือกใช่ไหม เขาต้องมีว่าวใช่ไหม ต้องมีลมใช่ไหม เวลามันขึ้นแล้วมันจะกินลมขึ้นไป ว่าวมันจะขึ้นทันทีเลย เราเห็นเขาเล่นว่าว เราไม่เข้าใจนะ เราจับว่าวขึ้นมา เราร่อนขึ้นไปบนอากาศ มันจะขึ้นไปได้ไหม เพราะมันไม่มีเชือก มันไม่มีสิ่งที่บังคับ

จิตก็เหมือนกัน จิตก็เหมือนกัน จุดยืนของใจ ใจมันไม่มีจุดยืน ถ้าใจมีจุดยืน คนมีจุดยืนของมัน มันทำอะไรมันทำด้วยความรื่นเริงอาจหาญนะ แล้วมันทำแล้วมันจับต้องได้ สมาธินี้จับต้องได้ ความรู้สึกนี้จับต้องได้ จับต้องได้ด้วยอะไร จับต้องได้ด้วยสติ ถ้ามีสติสัมปชัญญะมันหยุดได้หมดเลย ความคิดนี้หยุดได้หมดเลย มีสติสัมปชัญญะรู้จักความคิดของตัว

แต่ถ้ามันไม่มีจุดยืนขึ้นมา มันปฏิเสธไปหมดเลย มันเป็นมิจฉา มิจฉาเพราะว่าอะไร มิจฉาเพราะว่ามันไม่มีจุดยืน จับต้องไม่ได้ไง ว่างๆ เปรียบว่าง ว่างก็คืออากาศ ว่างคือสิ่งที่เป็นนามธรรม แล้วอะไรเป็นจุดยืนล่ะ นี่มันต้องมีจุดยืนของมัน จุดยืนมาจากไหน

จุดยืนของจิตมันมาจากบุญกุศล มาจากหลักของเรา หลักของใจ ถ้าใครมีหลักใจ ใครมีหลักใจ ดูสิ อำนาจวาสนาบารมีของคนไม่เหมือนกัน ผู้ที่มีบารมีธรรม บารมีธรรม สังเกตได้ไหม เวลาเราปฏิบัติ เวลาเสียงอะไรกระทบขึ้นมา คนเขาก็แปลกใจมาก ทำไมเราไม่ตกใจ ทำไมเราไม่วูบวาบไปกับเขา แต่บางคน เสียงอะไรมันจะตกใจมาก ตกใจไม่ตกใจมันมีจุดยืนของมัน มันมีจุดยืนของมันนะ จุดยืนอันนี้มันทำให้เรามั่นคง ถ้ามั่นคงขึ้นมา เราจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิหรือใช้สมาธิอบรมปัญญา

ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเป็นไม่มีการปฏิบัติ โดยหลักในพระไตรปิฎกต้องสมาธิอบรมปัญญา ส่วนใหญ่ต้องเป็นสมาธิอบรมปัญญา สมาธิอบรมปัญญาทั้งหมด ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา แต่เวลาประพฤติปฏิบัติไป มันด้วยการแตกแขนงออกไปด้วยหมู่สงฆ์ของเรา หมู่กรรมฐาน หมู่พระป่าจากสายหลวงปู่มั่น เวลาปฏิบัติไป เวลามันปฏิบัติไปโดยที่ว่าใช้สมาธิอบรมปัญญา บางทีกำลังเราไม่พอ จุดยืนอันนี้มันไม่พอ ความเข้มแข็งของเราไม่พอ หนึ่ง

สอง ความถนัดไง ความถนัดของเรา เราชอบ เราเป็นปัญญาชน ในปัจจุบันมันกึ่งกาลเวลาของปัญญาชน ปัญญาชนเวลาจะใช้ทำสมาธิต้องมีปัญญา จะใช้ศรัทธาความเชื่อจุดยืนของเราโดยกำหนดพุทโธๆ เข้าไป มันไม่มีเหตุมีผล มันรับไม่ได้ ทีนี้พอรับไม่ได้ เราก็ใช้ปัญญา ปัญญาอันนี้ที่บอกใช้ปัญญาๆ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ คำว่า “อบรมสมาธิ” ปัญญา เพราะอะไร เพราะปัญญาอันนี้มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญานี้มันเกิดโดยสามัญสำนึก เกิดโดยสัญชาตญาณ เกิดโดยสัจจะความจริง

ที่ว่า ความคิดนี้เกิดจากใจ ใจไม่ใช่ความคิด ความคิดไม่ใช่ใจ แต่เราไม่เข้าใจ เราคิดว่าสิ่งที่เป็นความคิดมันคือเป็นปัญญา เราถึงแยกไม่ออกว่าสิ่งใดเป็นโลกียปัญญา สิ่งใดเป็นโลกุตตรปัญญา พอปัญญาเกิดขึ้นมา นี่คืออะไร นี่คือความเห็นผิดไง นี่เป็นมิจฉาไง มิจฉาปฏิบัติ มิจฉาการกระทำ มันเป็นมิจฉาของมันไป มันก็วนออกไปตามธรรมชาติของมัน

แต่ถ้าเป็นสัมมาล่ะ สัมมาของเรา พอเราทำขึ้นไป เรามีจุดยืน พอมันสงบขึ้นมา มันเปรียบเทียบ เราเองเปรียบเทียบได้ เปรียบเทียบได้นะ เราเปรียบเทียบใจของเราได้ มันปล่อยวางมา มันมีหลักเกณฑ์อย่างไร พอมันปล่อยวางมาอีกที มันมีจุดยืนอย่างไร พอมันมีจุดยืน มันปล่อยมา สติมันจับได้ คือสมาธิจริงๆ มันรับรู้ มันรับรู้ มันเข้าใจ แต่ถ้าเป็นมิจฉานะ ว่างๆ มันไม่เข้าใจในตัวมันเอง มันไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วมันก็คิดไปประสามัน นี่อยู่ที่บุญกุศล

เราทำกัน เราทำกันมาเพื่อเหตุนี้ เราทำบุญกุศลมาก็เพื่อเรา เราลงไง นักกีฬาเขาต้องออกเหงื่อ เขาต้องฝึกซ้อมเขา ได้แต่เหงื่อนะ แต่ผลของเขา ร่างกายเขาแข็งแรงนะ นี่ก็เหมือนกัน เราลงทุนลงแรงของเรา เราเสียสละของเรา ผลที่เราเสียสละออกไป ผลของมันคือมันตอบกลับมาที่ใจ ตอบกลับมาที่ใจทั้งหมดนะ แล้วพอตอบกลับมาที่ใจ แล้วถ้าเราจะเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา เป็นประโยชน์กับเรา เราต้องมีสติสัมปชัญญะ ทำให้มันละเอียดเข้ามา

การทำบุญกุศล การสร้างบารมีขนาดไหน ถ้าไม่มีภาวนา ไม่มีความเพียร ไม่มีการบำเพ็ญ มันจะแสดงตัวออกมาได้อย่างไร ความบำเพ็ญนะ สิ่งใดที่เราทำมารวมลงอยู่ที่ใจ แล้วการภาวนามันเปิดแง้มใจเราออกมา เปิดแง้มใจนะ เปิดแง้มสิ่งต่างๆ ที่มันหมักหมมมาในใจออกมาให้ได้ ถ้าออกมานะ สิ่งที่ออกมา มันเป็นความมหัศจรรย์ มันเป็นความประหลาด เป็นความลึกลับ ความลึกลับจากสิ่งที่โลกเขาทำกัน ลึกลับมาก มันลึกลับมหัศจรรย์

ถ้าไม่มหัศจรรย์นะ เวลากิเลสมันขาดนี่นะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก เวลากิเลสขาดดั่งแขนขาด เราเอามีดเราตัดมือเราทิ้ง ตัดแขนเราทิ้งเลย กับสิ่งที่เราเกิดขึ้นมา มันเข้ากันได้ไหม กับสิ่งที่เราไปรู้ไปเห็น สิ่งที่เป็นความว่างๆ มันมีอะไรบ้างที่เข้าไปสัมผัสกับใจเราว่าสิ่งนี้ดั่งแขนขาด มันขาดออกไป เวลาแง้มใจออกมามันจะมีประโยชน์ของมันขนาดนั้น สิ่งที่เป็น แล้วสิ่งที่เป็น สิ่งที่จะแง้มออกมา สิ่งที่เป็นไป มันก็เป็นความเพียรของเรา มันเป็นความวิริยอุตสาหะของแต่ละบุคคลนะ

ถ้าคนงานอันละเอียด งานนอกๆ ทำกันได้ง่ายๆ อาบเหงื่อต่างน้ำทุกคนว่าทุกข์นะ แต่พิสูจน์ได้ แบกหามกันได้ แต่แบกหามใจ เอาใจเรารอด มันจะจับต้นชนปลายอย่างไร ขึ้นต้นกันไม่ถูกไง เราจะขึ้นต้นชนปลายอย่างไร

นี่ไง มันถึงเริ่มต้นว่าครูบาอาจารย์ที่มีหลักมีเกณฑ์ท่านถึงบอกว่าให้ทำความสงบของใจก่อน คำนี้สำคัญมากนะ ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน พยายามรักษาให้มันสงบเข้ามา ถ้าใจมันสงบเข้ามาบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า นี่ไง ความสงบ ความสุขใดๆ ในโลกนี้เท่ากับจิตสงบไม่มี แต่จิตสงบขึ้นมาแล้ว เพราะเรามีกิเลสใช่ไหม กิเลสมันก็ไปติดว่าความสงบนี้เป็นนิพพาน เพราะเราไม่เคยเห็น มันเป็นความมหัศจรรย์ มหัศจรรย์มาก แต่มหัศจรรย์ ความสงบที่ว่ามันเป็นนิพพาน มันแปรสภาพแน่นอน เพราะมันเป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นอนิจจังนะ สิ่งใดก็แล้วแต่ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดคงที่ ความคงที่ของโลกนี้ไม่มี มันแปรสภาพตลอด แม้แต่ความคิดเรา แม้แต่ความเกิดความตายของเราก็ไม่คงที่ แต่มันมีอันหนึ่ง มันมหัศจรรย์ตรงนี้ มันมีอันหนึ่งที่จิตเรา ความรู้สึกคงที่

ความรู้สึกว่าทุกข์ว่าสุข ความรู้สึกพอใจไม่พอใจ ไอ้พอใจไม่พอใจมันเป็นอาการที่มันเสวย แต่ตัวมันเองมันมีอยู่ ความรู้สึกนี้มี ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ สุขก็รู้ว่าสุข พอใจก็รู้ว่าพอใจ ไม่พอใจก็รู้ว่าไม่พอใจ รู้ต่อเมื่อผู้รู้ แต่เพราะเราไม่รู้ เราถึงอะไรเป็นเราๆ

สิ่งที่เป็นความรู้สึกอันนี้มันไม่แปรสภาพ มันมีของมันอยู่นะ มันไม่เคยตายนะ ตกนรกหมกไหม้ขนาดไหนนะ พ้นจากเวลานั้นมันก็ขึ้นมาเป็นขั้นๆ ขึ้นมา มันพ้นขึ้นมา คือกาลเวลาของเราจะยาวนานขนาดไหน มันก็มีวันจบมีหมดกาลหมดวาระ มนุษย์ก็เหมือนกัน มันมีวันหมดวาระ แต่ตัวจิตมันไม่เคยจบ มันไม่เคยหมดวาระ มันหมดวาระไม่ได้ มันเป็นธาตุรู้ เป็นสสารที่มีชีวิต

สสารในโลกนี้มันแปรสภาพ มันหมดมันไป มันแปรสภาพเป็นสสารอื่นต่อไปเรื่อยๆ แต่ตัวจิตมันเป็นสสารธาตุรู้ที่มีชีวิตสันตติสืบต่ออยู่ตลอดเวลา แล้วพอมาเกิดเป็นเราๆ เป็นใครแต่ละบุคคล จิตดวงนี้มหัศจรรย์มาก มหัศจรรย์ ถ้าไม่มหัศจรรย์ การต่อเนื่องของจิตนะ เราปฏิเสธกัน ภพชาติ เราปฏิเสธนรกสวรรค์กัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย คำว่า “๔ อสงไขย” คำว่า “บารมี” เราแต่ละบุคคล ดูสิ เรามาแต่คนเดียว เราไม่มีอำนาจวาสนาบารมี เราไม่มีพรรคพวกเลย บางคนเขามีอำนาจวาสนาบารมี เขาสร้างของเขามา

จิตก็เหมือนกัน มันได้สะสมของมันมา มันได้ทำของมันมา วุฒิภาวะมันพัฒนาของมันมา มันพัฒนาการของมันมา พอพัฒนาการของมัน มันสืบ ถ้าไม่สืบต่อ เราเกิดมาโดยธรรมชาตินะ ทุกคนเกิดมาต้องมีสิทธิเท่ากันสิ ทุกคนเกิดมาต้องมีความรู้สึกเหมือนกันสิ ทุกคนเกิดมาต้องมีความดีเหมือนกันสิ ทำไมไม่เป็นอย่างนั้นล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบต่อมา คำว่า “สืบต่อ” สิ่งที่สืบต่อมา ๔ อสงไขย สืบต่อมา สร้างสมจนใจดวงนี้พร้อม ใจดวงนี้พร้อมนะ ขนาดพร้อมขึ้นมา คำว่า “พร้อม” สังเกตได้ สังเกตได้ เวลาเราเห็นภาพ เห็นสิ่งต่างๆ ในสังคม ความรู้สึกเราไม่เหมือนกัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเที่ยวสวน เพราะพระเจ้าสุทโธทนะ พราหมณ์พยากรณ์เอาไว้ว่า ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดา ถ้าไม่ได้ออกบวชจะได้เป็นจักรพรรดิ

พ่อแม่คนไหนบ้างไม่อยากให้ลูกเป็นจักรพรรดิ ไม่อยากให้ลูกปกครอง ก็อยาก ก็สร้าง พยายามให้เห็นชีวิตน่ารื่นรมย์ ให้เห็นแต่สิ่งที่ดีงามในชีวิต มันน่าแปลก ไม่เคยเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย

ไปเที่ยวสวน ยมทูตมาแสดงตัวให้เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เห็นแค่นี้ เพราะอะไร เพราะอำนาจวาสนาที่สร้างมา เราต้องเป็นอย่างนี้หรือ ถ้าเราต้องเป็นอย่างนี้ แล้วสิ่งที่ตรงข้ามที่ไม่เป็นอย่างนี้

เราเคยคิดไหมว่าสิ่งที่ไม่เกิด สิ่งที่คงที่มี เราเคยคิดกันไหม แม้แต่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคิดมาแล้วนะ เพราะเหตุนี้ทำให้พระพุทธเจ้าออกหา ออกค้นหาว่า สิ่งตรงข้ามที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายมันต้องมี แต่ขณะนั้นยังไม่มีศาสดา ไม่มีใครสอน ไม่มีใครเป็นไปได้ ออกค้นคว้า เพราะมีอำนาจวาสนาอันนี้ไง เพราะการสร้างสมมาเป็นพระโพธิสัตว์ไง พระโพธิสัตว์ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างสมมา พระปัจเจกพุทธเจ้าสร้างสมมา ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่ต้องมีใครบอก

แต่พวกเราอ่อนแอมาก สาวกสาวกะ สาวกคือผู้ได้ยินได้ฟัง มีคนชี้นำ มีคนบอก มีคนลากคนจูง ขนาดมีคนลากคนจูงขนาดนี้นะ คอยกระตุ้นอย่างนี้ เรายังโลเลกันเลย มันถึงย้อนกลับไปที่ว่าใจเราอ่อนแอมาก วุฒิภาวะของใจเราอ่อนแอมาก ถ้าใจเราไม่อ่อนแอ เรามีความเข้มแข็งของเรานะ เราต้องถึงเป้าหมายได้

มันมีความเพียรก่อน มีความกล้าหาญก่อน แล้วค่อยมาคัดเลือกว่ามันจะไปทางไหนให้มันถูกทาง ถ้ามันถูกทางขึ้นไป มันจะเข้าถึงทาง ถ้าไม่ถูกทาง ไม่ถูกทางมันก็เป็นปฏิบัติบูชา ปฏิบัติบูชาเพื่อสร้างอำนาจวาสนาอันนี้ วาสนาของเราให้มันเข้มแข็งขึ้นมา เพราะการทำบุญร้อยหนพันหน การสละทานร้อยหนพันหนไม่เท่ากับการถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง การถือศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับเกิดปัญญาโลกุตตรปัญญาขึ้นมาหนหนึ่ง

ถ้ามันไม่เกิดโลกุตตรปัญญานะ มันเป็นโลกียปัญญา แล้วปัญญาแบบที่ว่า ดูสิ เวลาเขาคดโกงกัน เขาทำลายกัน เขาก็ใช้วางแผนดำเนินการ ว่าเป็นปัญญาไหม ปัญญามันมีสัมมามีมิจฉานะ ถ้าเรามีสมาธิ มันมีศีล มันจะเกิดสัมมาสมาธิ เกิดสัมมาปัญญา ถ้าปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นมานะ เกิดขึ้นมาหนหนึ่ง เพราะอะไร เพราะทำสมาธิร้อยหนพันหน ถ้าไม่เกิดปัญญาขึ้นมามันก็เอาตัวรอดไม่ได้

สมาธิคือพลังงาน ถ้าพลังงานเราไม่ใช้ด้วยเทคนิคต่างๆ โดยใช้ปัญญา มันจะใช้ประโยชน์อะไรได้ แต่ถ้าไม่มีพลังงาน ปัญญานั้นจะไปตั้งอยู่บนอะไร ปัญญาที่จะเกิดกับเรา ที่เกิดปัญญา ปัญญาคิดร้อยแปดเลย แต่มันโลเล มันโลเล มันมีฐานอะไรรองรับล่ะ ฐานความคิดเรา ภวาสวะ ภพเรามันมีอวิชชาไง มันมีสิ่งที่เรรวนรองรับไง ความคิดเราเลยโลเลไง ตั้งใจดีอยู่พักหนึ่งแล้วไปไม่รอด ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้นน่ะ

แต่ถ้าเรามีจุดยืนของเรานะ เราตั้งใจของเรา แล้วเราพยายามฝ่าฝืนของเราไป ทำปฏิบัติของเราไป มันต้องไปได้ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ผ่านพ้นไปแล้ว ครูบาอาจารย์ของเราได้ผ่านพ้นไปแล้ว สิ่งนี้เป็นไปได้ ทำได้

แต่ถ้ามันคำว่า “สุดวิสัยของเรา” สุดวิสัยคือทำไม่ได้ ทำไม่ได้ก็ปฏิบัติบูชา บูชาเพื่อให้จิตมันพัฒนาขึ้นมา บูชาเพื่อให้ใจมันมีจุดยืนของมันขึ้นมา ถ้าใจมีจุดยืนขึ้นมา มันเป็นปัจจัตตัง มันรู้เอง

ดูสิ เวลาเราหิวอาหาร เราหิวมาก เวลาเรากินอาหารเข้าไป เราก็อิ่ม จิตมันเศร้าหมอง จิตมันอ่อนล้า พอจิตมันมีกำลังนะ ถ้ามันสงบขึ้นมา มันสงบขึ้นมา ร่มเย็นเป็นสุขมาก ความร่มเย็นเป็นสุขนะ ถ้าไม่ร่มเย็นเป็นสุข ทำไมติดได้ ทำไมติดสมาธิ เพราะเราไม่เคยเห็น เหมือนเรา เราไม่เคยเห็นสมบัติที่มีคุณค่ามากๆ เราไปเห็นได้เล็กๆ น้อยๆ แบกเหล็กมา ไปข้างหน้าไปเจอเงิน ไม่กล้าทิ้ง ไปเจอทอง ไม่กล้าทิ้ง เห็นไหม แบกเหล็กมา พอไปเจอเงิน เราต้องทิ้งเหล็ก เอาเงิน แบกเงินไปเจอทองคำ เราต้องทิ้งเงินเอาทองคำ

แต่ถ้าเราไม่กล้าทิ้ง เราไม่กล้าทิ้งเพราะเราทำของเรามา เราไม่เคยพบเคยเห็นสมบัตินี้มา พอจิตสงบ ติดมันอีกแล้ว ติดมัน แบกมันไป แบกมันไป พยายามแบกมันไป แบกแล้วไม่ได้ด้วย เพราะอะไร เพราะถึงเวลานะ ถ้าสติของเรา เหตุการณ์กระทบของใจ เราไม่รู้จักรักษา สมาธิมันเสื่อม เสื่อมเพราะเราไม่รู้จักรักษามัน

แต่ถ้าเรารู้จักรักษานะ สมาธิจะไม่เสื่อม พอสมาธิจะไม่เสื่อม สมาธิจะเป็นพื้นฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ฐานที่ตั้งนะ เพราะมันจะเป็นโลกุตตรธรรม มันต้องมีพื้นฐานของมัน วุฒิภาวะของมันต้องมี วุฒิภาวะที่อ่อนแอมากมันจะมีความคิดอย่างนี้ไม่ได้ ดูสิ ดูชั้นความลับของราชการสิ ผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่น้อยจะรู้ความลับของราชการได้น้อยมาก ผู้ที่มีอำนาจสูง เขาจะรู้ถึงชั้นความลับ ดูประธานาธิบดีสิ เขาถือกุญแจกดปุ่มนิวเคลียร์นะ เขาล้างโลกได้นะ เขามีอำนาจล้างโลกได้ กดปุ่มนิวเคลียร์ระเบิดได้หมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน จิตเราถ้ามันไม่มีสมาธิ ไม่มีฐาน เอ็งจะเอาอะไรไปรู้มัน จะเอาอะไรไปรู้อวิชชา ไปรู้สิ่งที่มันหลอกลวงเรามา ไปรู้หัวใจที่เกิดตายอยู่นี่ แล้วทำกันสักแต่ว่าทำ ทำกันแต่เป็นพิธี เป็นพิธีกันเฉยๆ แล้วเราก็ภูมิใจนะ ชาวพุทธจะภูมิใจมากว่าเป็นชาวพุทธ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาผู้ประเสริฐ แล้วก็อวดอ้างกันเป็นชาวพุทธ เหมือนเด็กเล่นขายของ ศาสนาไม่ใช่ของเล่นนะ แต่เรามาทำกันเล่นๆ แล้วจะเอาผลจริงๆ แล้วเวลาทุกข์มันเล่นไหม เวลาสิ่งที่มันเสียดแทงขึ้นมาในใจ เล่นไหม น้ำตาไหลทุกคนน่ะ แล้วเอาอะไรไปลบล้างมัน เอาอะไรไปต่อสู้มัน แล้วถ้าเอาอะไรไปต่อสู้มัน ก็ให้เข้มแข็งขึ้นมา ดูตัวอย่าง ดูครูบาอาจารย์เป็นตัวอย่างสิ ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง เสียสละได้หมด ไอ้นี่เราทำเหมือนหลอกตัวเอง วางไว้นี่นิดหนึ่ง วางไว้หน่อยหนึ่ง แล้วมาปฏิบัติ ปฏิบัติชั่วคราวต้องกลับ

ดูสิ พระพุทธเจ้าทิ้งหมด ทิ้งเลย ออกไปแสวงหา สุดท้ายแล้วมันได้ความจริงแล้วถึงกลับมา พระเจ้าสุทโธทนะต้องไปนิมนต์มานะ ไปนิมนต์ให้กลับไปเยี่ยม พอกลับไปเยี่ยม เพราะอะไร เพราะว่าทิฏฐิของพ่อ เวลาไปถึงราชวัง ไปเทศน์สอน แล้วไม่ได้นิมนต์ไว้ ก็ถือสิทธิ์ไง ว่าพ่อกับลูก มันด้วยความคุ้นเคยใช่ไหมว่าลูกก็ต้องฉันที่บ้าน

เช้าขึ้นมาพระพุทธเจ้าออกบิณฑบาต พระเจ้าสุทโธทนะไปยืนขวางถนนเลย “ทำไมทำลายกันขนาดนี้ ทำไมขายหน้าพ่อมาก เพราะพ่อเป็นกษัตริย์ ลูกมาขอทานอย่างนี้ได้อย่างไร”

พระพุทธเจ้า เช้าขึ้นมานะ เล็งญาณ พระพุทธเจ้า ประเพณีของพุทธะทำอย่างไร ตอนตรัสรู้ขึ้นมา ก่อนจะบิณฑบาต ตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว เทวดามาถวายบาตร ๔ ใบ เสกบาตรให้เหลือใบเดียวแล้วออกบิณฑบาต ออกบิณฑบาต แล้วออกบิณฑบาต โลกมองอย่างไร มองว่าขอทาน แต่ถ้าเป็นทางพระนะ ทางพระนี่สัมมาอาชีวะ

เราเปรียบเทียบเหมือนโยม โยมไปร้านอาหารสิ ไปสั่งอาหาร ถ้าเขาหมดก็ไม่ได้กิน ถ้าสั่งแล้ว บางทีสั่ง เพราะมันเป็นธุรกิจใช่ไหม อันนี้ไปบิณฑบาต เพราะอะไร มันเกิดจากความรู้สึก เกิดจากความศรัทธาของชาวพุทธ เขาหุงหาอาหารนะ เขาเตรียมไว้ใส่บาตร เขาหวังบุญของเขา เขาไม่ได้หวังว่าจะใส่บาตรใคร เขาหวังผลบุญของเขา เขาศรัทธาของเขา แล้วเราออกบิณฑบาต มันเป็นค่าน้ำใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งใดเจือปนเลย นี่สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง การบิณฑบาตนี่สุดยอด สุดยอดจริงๆ นะ

กิจนิมนต์ เวลาไปฉัน ไปฉันของเขานะ มันเป็นของส่วนบุคคล แต่บิณฑบาตมันเป็นธรรม มันเป็นธรรม สัมมาอาชีวะ นี่สัมมาอาชีวะเลี้ยงปาก สัมมาอาชีวะเลี้ยงใจ มรรคญาณที่ถูกต้อง มรรคญาณที่ละเอียดไป

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกบิณฑบาต พระเจ้าสุทโธทนะ อายมาก “ทำไมทำขายหน้าพ่อ”

พระพุทธเจ้าเทศน์ “ก็พ่อไม่นิมนต์ ถ้าพ่อนิมนต์ก็จะฉันในราชวัง เพราะนิมนต์ให้ฉัน เพราะไม่ได้นิมนต์ กิจของสงฆ์ก็ออกบิณฑบาต”

พอออกบิณฑบาต เพราะความคุ้นเคย ความถือใช่ไหม ถือว่าเป็นพ่อเป็นลูก แต่ไม่ใช่ เพราะในปัจจุบันนี้เป็นพระพุทธเจ้า อดีตนั้นเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นลูกของพระเจ้าสุทโธทนะ แต่เวลามาประพฤติปฏิบัติแล้ว เวลาพ้นจากกิเลสไปแล้วเป็นศาสดา ไม่ใช่เป็นลูกของใคร

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ในธรรมนะ ถ้าคบมิตรให้คบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพาพ้นทุกข์ ในบรรดาสัตว์สองเท้า ผู้ที่ประเสริฐที่สุดคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีใครประเสริฐเกินองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในบรรดาสัตว์สองเท้า นี่สูงส่งขนาดนั้น

แต่ความคิดของเรา ความคุ้นเคยของเรา เราก็คิดว่าตามสิทธิ แต่ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ในสมัยพุทธกาลนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปบิณฑบาต พวกพราหมณ์ “สมณะหัวโล้น สมณะขี้เกียจ ทำไมไม่ไถนาเอง ทำไมไม่ทำมาหากินเอง”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “เราไถทุกวัน ไถตลอดเวลา สติเป็นผาล ปัญญาเป็นแอกและไถ ไถเข้าไปที่หัวใจของเรา ไถกิเลส ไถทำหน้าที่การงานของเรา”

พอเทศน์แสดงธรรมให้พราหมณ์ฟัง โอ้โฮ! ศรัทธามากอยากใส่บาตร

องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “เรารับไม่ได้”

เพราะภิกขาจารจะไม่ออกเสียง การออกเสียงนะ ออกเสียงเป็นวณิพก การออกเสียง “เราออกเสียง เรารับไม่ได้”

“แต่อยากใส่บาตรมาก ศรัทธามาก อยากจะถวายทานมาก”

“เราไม่เห็นใครรับทานนี้ได้ ให้เอาทานนี้ไปเททิ้งใส่คลอง” พอเทลงไป ควันขึ้นหมดเลย มันผิดประเพณีไง ไม่มีการแสดงธรรม มันไม่มีการแสดงธรรม เราแสดงธรรมมันเป็นการออกเสียง แล้วไม่ออกเสียง เวลาเราบิณฑบาตเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เราเดินของเราไป เราเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เขาศรัทธาหรือเขาไม่ศรัทธา ถ้าเขาศรัทธา เขาใส่ของเขา สัมมาอาชีวะไง

ดูสิ ในพระไตรปิฎก หลวงตาพูดบ่อย พระองค์หนึ่งอยากออกบิณฑบาต เวลาจะบิณฑบาต เตรียมบาตรไว้แล้ว คิดเลยนะ ออกบิณฑบาต ชาวบ้านเขาจะใส่อะไรเรา คือมันอยากไง กิเลสมันอยากก่อน อย่างนั้นเราไม่บิณฑบาต ไม่ต้องกิน ถ้าเราไม่ได้ออกบิณฑบาต กิเลสมันก็ไม่ได้กินด้วย กิเลสมันความอยาก มันอยากอะไรได้เสพแล้วมันก็พอใจ กิเลสมันคิดขึ้นมาใช่ไหม มันต้องการ เราต้องการอะไร วัตถุที่เราอยากได้ เราก็ต้องหาเงินมาไปซื้อมัน นี่ก็เหมือนกัน พอกิเลสมันอยากได้อาหารอย่างนั้น ถ้าเราไปเอามาปรนเปรอมัน มันได้เสพ พอได้เสพ กิเลสมันก็อ้วนขึ้นพองขึ้น ไม่ให้กิน ถ้าเราไม่ไป กิเลสก็กินไม่ได้

กิเลสมันคือความคิดเรา มันมาจากดำริ มันนอนเนื่องมากับความคิดเรา พอมันอยากได้อยากดีของมัน มันอยากได้ เราไม่ทำ นี่เรามีธรรม เราไม่ไป พอไม่ไป กิเลสมันไปเองได้ไหม ถ้าเราไม่ไป กิเลสมันไปได้ไหม กิเลสไปไม่ได้ กิเลสมันก็อยู่ในอำนาจของเราใช่ไหม

สิ่งที่เราเป็นสัมมาอาชีวะ สิ่งที่เราเลี้ยงชีพ สิ่งที่เราแสวงหามา ถ้ามันเป็นธรรม เราทำ ถ้าไม่เป็นธรรม ไม่เป็นธรรม มันเป็นมิจฉาอาชีวะ สิ่งต่างๆ โลกมันเป็นอย่างนั้น ถ้าใจเราเป็นธรรมนะ เราจะทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดี

พวกเรา เรากล้าไหม ให้คนขับรถไม่เป็นขับรถให้เรานั่ง คนขับรถไม่เป็นขับรถพาเราไปธุระ เรากล้าไปไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้าใจของเรามันไม่มีหลักมีเกณฑ์ กิเลสมันจะพาไป เราจะยอมให้มันพาไปไหม แต่นี่เราไม่รู้จัก เราไม่รู้ว่าคนนี้ขับรถเป็นหรือขับรถไม่เป็น เราคิดว่ารถประจำทางมา เราก็ขึ้น ความคิดมันจรมา เราก็คิด แต่เราไม่รู้หรอกว่ามันขับรถเป็นไม่เป็น แล้วมันก็พาเราประสบอุบัติเหตุโดยที่เราไม่รู้ตัว ความคิดมันชนไง ความคิดเรามันปะทะ ปะทะกับอารมณ์ ปะทะกับความรู้สึก ทุกข์ทั้งนั้นน่ะ เพราะอะไร ให้คนขับรถไม่เป็นพากันไป แล้วคนขับรถเป็นมันฝึกมันเป็นขึ้นมาหรือยังล่ะ คนขับรถเป็น สติปัญญามันเกิดขึ้นมาไหม ถ้าสติปัญญามันเกิดขึ้นมา เราต้องค้นคว้าของเรา เราต้องมีการกระทำของเรา เราต้องฝึก มันเกิดจากการฝึกฝนนะ มันไม่มีอะไรลอยมาจากฟ้าหรอก ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาแห่งปัญญามันต้องเกิดจากการฝึกฝน

ดูสิ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมไว้ นิพพานทุกกัณฑ์เลย เราท่องได้ทุกคนนะ ๙ ประโยคท่องได้หมด แล้วมันรู้เรื่องนิพพานไหม เพราะมันขาดการฝึกฝน มันขาดการกระทำที่ให้รู้แจ้งขึ้นมาจากใจ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา แต่ต้องเกิดจากปัญญาโดยเฉพาะ เป็นปัญญาส่วนบุคคล ธรรมะของเรา สมาธิของเรา ปัญญาของเรา แก้กิเลสของเรา

ธรรมของหลวงปู่มั่นท่านแสดงออกมา ธรรมของท่านสุดยอดมาก ท่านแก้กิเลสท่านได้ก่อน แล้วท่านแสดงออกมา หลวงตาท่านบอกว่าเวลาฟังธรรมหลวงปู่มั่นนะ นิพพานเหมือนเอามือคว้าไปหยิบได้เลย แต่หลวงปู่มั่นเทศน์จบนะ นิพพานมันก็ปิดหมดเหมือนกัน เวลาเราฟัง ฟังสมบัติของเขา เพราะขาดการฝึกฝน ฟังสมบัติของเขา แต่สมบัติของเขามีประโยชน์มากนะ เพราะภาคปฏิบัติ การแสดงธรรมเป็นอันดับหนึ่ง เห็นไหม การแสดงธรรม เพราะการแสดงธรรมมันเป็นการจูงมือ เป็นการจูงมาเลยนะ จูงมือแล้วพากันเดินเลยนะ คนตาดีจูงมือเราเดิน ทำไมไม่เดิน แต่คนตาบอดมันจูง ทำไมชอบเดิน

เวลาครูบาอาจารย์ท่านแสดงธรรม ถ้าจิตเราพัฒนาขึ้นมานะ จากขั้นของสมาธิ ทำอย่างไรให้มันสงบได้ ท่านจะอธิบายของท่านเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปแต่ละวิธีการ แต่ละมุมมอง แล้วมันก็อยู่ที่เรา อะไรที่มันตรงกับความรู้สึกเรา อะไรที่มันแทงใจเรา จับประเด็นนั้นไว้ แล้วพยายามฝึกฝนขึ้นมา แล้วถ้ามันเป็นสมาธิของเราขึ้นมา อืม! อันนี้ของเรา

แต่เวลาถ้าครูบาอาจารย์ท่านแสดงของท่านนะ แล้วเวลาท่านแสดงถึงปุถุชน กัลยาณปุถุชน ถ้ากัลยาณปุถุชน จิตมันสงบได้ง่าย ชำนาญการแล้ว มันจะยกขึ้นโสดาปัตติมรรคอย่างไร โสดาปัตติมรรคมันก็เป็นโสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรคมันก็เป็นสกิทาคามิผล อนาคามิมรรคมันก็เป็นอนาคามิผล อรหัตตมรรคมันก็เป็นอรหัตตผล โสดาปัตติมรรคมันจะเป็นสกิทาคามิผลไม่ได้ โสดาปัตติมรรคมันจะเป็นอนาคามิผลก็ไม่ได้ โสดาปัตติมรรคมันจะเป็นอรหัตตผลก็ไม่ได้ มรรค ๔ ผล ๔

มรรค ๔ มรรคอย่างหยาบมันก็ฆ่ากิเลสอย่างหยาบ มรรคอย่างละเอียดมันก็ฆ่ากิเลสอย่างละเอียด มรรคอย่างละเอียดสุดมันก็ฆ่ากิเลสอย่างละเอียดสุด กิเลสอย่างละเอียดสุดมันเป็นแค่พลังงานเฉยๆ นะ ความเศร้าหมอง ความผ่องใส มันไม่ใช่ความทุกข์ที่เราทุกข์กันอยู่นี่หรอก ไอ้ความทุกข์ที่แบกหาม ไอ้ความทุกข์ที่ทุกข์เครียด ไอ้ความทุกข์อย่างนี้หยาบๆ มันละเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปจนถึงพลังงานเฉยๆ เป็นตัวจิตเดิมแท้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส

จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสก็เศร้าหมอง เศร้าหมองก็ผ่องใส มันเป็นความผ่องใสเศร้าหมอง เป็นพลังงานเฉยๆ ตัวภพ ตัวภวาสวะ แล้วปัญญาอันละเอียดเข้าไป คิดดู ปัญญาอันละเอียดที่มันซึมซับเข้าไป ทำลายสิ่งที่ผ่องใส ทำลายสิ่งที่เป็นความอาลัยอาวรณ์ พลิกออกไปจนถึงที่สุด พ้นออกไปจากกิเลสทั้งหมด ดูปัญญาแต่ละขั้นแต่ละตอนของศาสนาสิ

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เราก็ใช้ปัญญากัน ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา แต่มันต้องมีการฝึกฝน มันต้องประพฤติปฏิบัติให้เป็นสมบัติของเรา เงินในบัญชีเรา เงินในกระเป๋าเราของเรานะ ดูเงินในธนาคารชาติสิ เงินคงคลัง โอ้โฮ! หมื่นๆ ล้าน แสนๆ ล้าน ของใคร ของใคร ไม่ใช่ของเรา ใช่ เป็นคนไทยมีสิทธิในประเทศชาติ มีสิทธิอยู่ แต่สิทธิเราไม่มีโอกาสหรอก แต่ถ้าบัญชีเรา เงินของเรานั้นของเรา สมาธิของเรา ความรู้สึกของเรา

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ...ปริยัติ ปฏิเวธ ไม่มี ปริยัติแล้วรู้เลย ปริยัติแล้วปฏิเวธคือรู้แจ้ง ไม่มี ไม่มีหรอก ศึกษาขนาดไหน สัญญาข้อมูลจำมา ปัญญาจากสมอง ปฏิบัติ ปัญญาจากใจ ปัญญาจากสมองนี่ปัญญาจากการจำ คือสัญญา คือข้อมูล ความคิดไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ความคิด สมอง สัญญาคือข้อมูล ถ้าข้อมูลสมอง สมองคนตายต้องจำได้สิ สมองคนตายต้องพูดได้สิ สมองคนตาย สมอง แค่สมองเป็นสสาร เป็นศูนย์ประสาทควบคุมร่างกาย มันแสดงออกด้วยพลังงานคือตัวใจ

ถ้าตัวใจไม่มีพลังงาน คน ดูสิ คนที่เป็นเจ้าชายนิทราขยับตัวไม่ได้เลย ไปพูดกับเขา เขารับรู้ได้นะ เขามีความรู้สึกได้ เพราะใจยังมีอยู่ เสียใจ ดีใจนะ คนคุ้นเคยมาเยี่ยมมาหานะ มันจะมีความสะเทือนใจนะ แต่พูดไม่ได้ เพราะศูนย์ประสาทสมองเสีย แต่ความรู้สึกมี

สิ่งนี้เวลาเราภาวนาเข้าไป สิ่งที่ศึกษา ปริยัติ ปัญญาจากสมอง ปฏิบัติ ปัญญาจากใจ ไม่ใช่สมอง ปัญญาสมอง โลกียปัญญาเป็นอดีตอนาคต สิ่งที่เป็นอดีตอนาคต น็อตเกลียวซ้ายเกลียวขวาเข้ากันไม่ได้ สิ่งที่น็อตเกลียวหยาบเกลียวละเอียดเข้ากันไม่ได้ มันจะละเอียดเข้ามา นี่ไง มันถึงต้องทำความสงบของใจไง ถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ ปัญญาเกิดจากใจ ปัญญาเกิดจากสมาธิ ปัญญาเกิดจากจิตที่มันสงบเข้ามา แล้วปัญญาอย่างนี้มันมาจากไหน นี่ไง ภาวนามยปัญญา

มันมีสุตมยปัญญา เวลาอธิบายคนเข้าใจได้ สุตมยปัญญาคือการศึกษาทางวิชาการ จินตมยปัญญา จินตมยปัญญาทางวิทยาศาสตร์ จินตมยปัญญาได้ แต่จินตมยปัญญาถ้ามันเกิดสมาธิขึ้นมา จินตนาการไป มันเป็นไปได้ มันปล่อยวางได้ แต่กิเลสขาดไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ภาวนามยปัญญา

ภาวนามยปัญญา ธรรมจักร จักรมันเคลื่อน จักรมันเคลื่อน ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ที่เราเป็นกิเลสอยู่นี่ ความคิดที่มันเป็นกิเลสอยู่นี่มันหมุนไป มันคิดไปโดยสัญชาตญาณ โดยสามัญสำนึก มันมีกิเลสพ่วงเข้าไปด้วย แต่เวลาจิตเราสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามาสงบเฉยๆ จิตสงบเพราะมันปล่อยขันธ์ ๕ เข้ามา ขันธ์ ๕ เป็นเปลือกส้ม ตัวจิตเป็นตัวเนื้อส้ม แล้วขันธ์ ๕ ตัวเปลือกส้ม ตัวสามัญสำนึกของทางวิชาการที่ใช้กันอยู่นี่ มันใช้ปัญญาจากเปลือกอยู่ เปลือกที่มันใช้กันอยู่นี่มันเป็นปัญญาจากสมอง สมองที่อาศัยพลังงาน อาศัยใจด้วยนะ ถ้าไม่มีใจรับรู้ สมองไม่ได้หรอก สมองมันทำงานไม่ได้ ดูสิ เราเห็นภาพโดยอายตนะ บางทีเรารับรู้ไม่ได้หรอกเพราะอะไร เพราะจิตมันไม่รับรู้ จิต พลังงานมันไม่เกี่ยวเนื่องกัน

ถ้าสมองกับใจมันเกี่ยวเนื่องกัน มันรับรู้ไปหมด แล้วมันเครียดมาก ทุกข์มาก แล้วมันสงบเข้ามาๆ มันปล่อยเข้ามาโดยส้มกับเปลือกส้มมันแยกกันชั่วคราว จิตสงบขึ้นมามันแยกกันชั่วคราว แล้วเนื้อส้มมันสัมผัสกับเปลือกส้ม แต่พวกเราไม่เคยรู้จัก

เนื้อส้มคือจิตของเราสัมผัสกับความคิด เรารู้สึกกันไหม เราเข้าใจกันไหม เราเคยเห็นไหม ถ้าเราเคยเห็น เราจับต้องได้ นี่วิปัสสนา ที่ว่าธรรมจักรมันเคลื่อนๆๆ ที่ปัญญามันจะเคลื่อน ปัญญามันเคลื่อน มันจะไปเคลื่อนเรื่องอะไร ปัญญามันจะไปเคลื่อนเรื่องจักรวาล มันจะไปเคลื่อนเรื่องทางวิชาการ จะกู้โลก จะสร้างโลก ปัญญาอย่างนั้นมันปัญญาโลกๆ

ปัญญาของธรรมมันจะชะล้างไอ้ภวาสวะ ไอ้ภพ จักรวาลมีเพราะมีเรา โลกนี้มีเพราะมีเรา ทุกข์มีเพราะมีเรา ทุกอย่างมีเพราะมีเรา ความไม่เข้าใจของโลก มีเราก็ฆ่าตัวตายเสีย จะได้จบไง...มันฆ่าชีวิต มันไม่ได้ฆ่าจิต ทำลายชีวิตให้สิ้นไป มันตายหรือ จิตมันตายหรือ กิเลสมันตายหรือ กิเลสมันจะตายไหม ไม่มีสิทธิ

แต่ถ้าธรรมจักรมันเคลื่อน ปัญญาที่มันเคลื่อนขึ้นมา ปัญญาจากจิต ปัญญาจากภายในมันเคลื่อนขึ้นมา นี่ธรรมจักรมันเคลื่อน นี่ไง ภาวนามยปัญญาไง ปัญญาที่โลกนี้ไม่มี คนถ้าไม่เป็นอธิบายร้อยชาติก็ผิดหมด แต่ถ้าคนเป็นนะ คนเป็น คนเคยเห็นนะ ธรรมจักรกับกงจักร ความรู้สึกของเราเป็นกงจักร กงจักรมันทำลายเขาไปหมด

ธรรมจักรมันจะย้อนกลับ มันจะย้อนกลับ นี่ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากจิต ไม่ใช่ปัญญาที่เกิดจากสมอง ปัญญาเกิดจากจิตเพราะมันเกิดจากภายใน เพราะเกิดจากสมาธิไง เกิดจากจิตที่ตั้งมั่น พอจิตที่ตั้งมั่นมันหมุนของมันออกไป มันทำลายของมันออกไป ธรรมจักรมันทำลายกิเลสเข้ามาเป็นชั้นๆๆ เข้ามา มันปล่อยวางเข้ามาเรื่อย เป็นตทังคปหาน การปล่อยวางชั่วคราว เพราะเราไม่ใช่สร้างบุญกุศลมาเป็นขิปปาภิญญา

ขิปปาภิญญาปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติเสร็จแล้วมันจบสิ้นได้ กระบวนการจบสิ้นได้ เช่น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทดสอบมา ๖ ปี สุดท้ายกลับมาคืนนั้นในวันวิสาขบูชา ได้หญ้า ๘ กำแล้วปูหญ้านั้น ถ้าคืนนี้นั่งภาวนาแล้ว ถ้าเราไม่สำเร็จ เราจะไม่ยอมลุกจากที่นั่งนี้อีกเลย คือนั่งหนเดียวไง คืนนี้คืนเดียว ตั้งแต่ปฐมยาม บุพเพนิวาสานุสติญาณ พอจิตมันหดตัวเข้ามา เวลากำหนดอานาปานสติ จิตมันหดตัว ธรรมดาความคิด เราคิดถึงอเมริกาสิ คิดถึงยุโรปสิ คิดถึงทุกสิ่งอย่าง ความคิดส่งออกหมด นี่ความคิดส่งออกหมด พอเรากำหนดอานาปานสติ กำหนดความรู้สึกไว้เฉยๆ กำหนดความรู้สึกจากจิต ลมหายใจกับความรู้สึก กำหนดเข้าไปมันจะหดเข้ามาให้เป็นสัมมาสมาธิเข้ามา พอหดตัวเข้ามา หดตัวเข้ามาถึงข้อมูลของจิต เข้าไปถึงตัวของจิต มันไปเห็นข้อมูลของจิต บุพเพนิวาสานุสติญาณ บุพเพคืออดีต เห็นข้อมูลของตัว พอเห็นข้อมูลของตัว เมื่อก่อนที่จะเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเคยเป็นพระเวสสันดร ตั้งแต่สหชาติย้อนไปๆๆ เพราะยังไม่ได้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่มีสติไม่มีปัญญาเข้าใจใช่ไหม แต่ในเมื่อมีเหตุมีผล มีเหตุมีปัจจัย มีเหตุมีปัจจัยคือจิตมันสงบเข้าไปแล้วไปเห็นข้อมูลอยู่ มันก็สาวไปเรื่อยๆๆ ไม่มีวันจบเลย มันถึงได้รู้ได้ว่า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย คนที่จิตที่มันมีเกิดตายๆ มันมีมากมายขนาดไหน จิตดวงเดียวนี่แหละมันเคยเป็นๆ มันเป็นมาหมด เป็นมาทุกๆ อย่างเลย มันเศร้าสลดใจ ไม่ใช่ทาง

พอไม่ใช่ทาง มีสติ เพราะสร้างมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ย้อนดึงจิตนี้กลับมา ดึงสิ่งที่ตามไป นี่ไง ส่งออก จิตส่งออก จิตตามกระแสไป ทั้งๆ ที่ข้อมูลเดิมของใจ ข้อมูลที่อยู่ในใจที่ว่าเปิดใจๆ ขณะที่มันสะสมอยู่นี่มันยังย้อนยังไม่จบเลย ดึงกลับมา ดึงกลับมาเป็นปัจจุบัน พอดึงกลับมาเป็นปัจจุบันนะ มัชฌิมยาม จิตมันเริ่มสงบเข้ามา มัชฌิมยาม ในเมื่อพลังงานสสารธาตุรู้มันมีอวิชชา มีอวิชชาคือสิ่งที่มันไม่เข้าใจอยู่เป็นพื้นฐาน ภวาสวะ ภพเป็นพื้นฐาน กิเลส ๓ อวิชชาสวะ ภวาสวะ กิเลสสวะ มันมีอยู่ของมันอยู่ พอมีอยู่ของมันอยู่ มันมีแรงขับเคลื่อนอยู่ จะทำอย่างไร มันสิ่งที่ละเอียด สิ่งที่ละเอียดมันเป็นภพ มันเป็นความเฉา ความเศร้าหมองเฉยๆ แต่ความคิดมันยังหยาบอยู่ พอหยาบอยู่ เพราะยังเข้าถึงไม่ถึงฐาน ไม่ถึงสัจจะความจริงอริยสัจอันนั้น มันมีฐานอยู่ พอเข้าไปถึงปั๊บ มันเห็น เพราะมันมีแรงขับ พอแรงขับ มัชฌิมยาม จุตูปปาตญาณ ถ้าจิตนี้มันไม่มีวันสิ้นสุด มันมีแรงขับอยู่ มันจะเกิด ตายจากชาตินี้ จุตูปปาตญาณ มันจะเกิดของมัน จิตนี้ถ้ามันไม่ได้ทำอวิชชา มันจะเกิดของมัน

นี่ไง ย้อนไปในอดีต ไม่มีที่สิ้นสุด แต่อนาคตเรายังนั่งกันอยู่นี่ใช่ไหม อนาคตยังไม่มาถึงใช่ไหม แต่ถ้ามันมีสิ่งที่ตกค้างอยู่ในใจ มันต้องเป็นไปตามธรรมชาติของมันใช่ไหม มันเกิด ทุกดวงใจมันจะเกิดต่อไป อนาคตังสญาณ ถ้าพระพุทธเจ้าสำเร็จแล้วจะรู้ด้วยว่าเกิดชาติไหนๆ ต่อไป ถ้าไม่มีตรงนี้ ทำไมพระพุทธเจ้าพยากรณ์ว่าพระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ข้างหน้า ทำไมพระพุทธเจ้าสมณโคดม พระพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ว่าจะได้เป็นสมณโคดม อนาคตังสญาณมันจะเกิดมาสภาวะแบบนั้น นี่สิ่งที่ตายเกิด

แต่ถ้าพูดถึงถ้าพระพุทธเจ้าพยากรณ์แล้ว พระพุทธเจ้าพยากรณ์แล้วจะละไม่ได้ จะต้องเป็นไปตามอนาคตังสญาณที่จะต้องไปตามนั้น จิตสภาวะอย่างนั้น แต่ถ้ายังไม่ได้พยากรณ์ อย่างเช่นหลวงปู่มั่นที่ว่าท่านปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วท่านลา ท่านสละสถานะที่จะเป็นพระพุทธเจ้าต่อไปข้างหน้า ถ้าพระพุทธเจ้ายังไม่พยากรณ์จะย้อนกลับมานี่ได้ แล้วจิตของพระพุทธเจ้าที่ว่าภาวนามยปัญญา มันย้อนไปจุตูปปาตญาณ มันไปไม่ถึง พอไปไม่ถึง ย้อนกลับมา ดึงกลับมาถึงที่สุด ถึงที่สุดมันก็เข้าไปถึงตัวเอง ส้ม เปลือกส้ม เข้าไปถึงตัวเนื้อส้ม แล้วทำความสงบเข้าไป มันละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปถึง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เห็นข้อมูลที่เป็นอดีต ข้อมูลที่เป็นอนาคต มันเป็นอดีตอนาคต มันไม่เป็นปัจจุบัน สิ่งที่เป็นปัจจุบันคือตัวพลังงานที่ไม่มีความคิด ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากจิตๆ มันเป็นพลังงานธรรมชาติ

พลังงานธรรมชาติ ถ้าเราคิด ความคิด ลองคิดขึ้นมาเป็นอดีตอนาคตไปแล้ว เพราะความคิด “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” ความคิดมาจากไหน ความคิดมาจากจิต ในเมื่อมันเคลื่อนมาจากจิตแล้วมันจะเป็นปัจจุบันได้อย่างไร ความคิดที่เกิดขึ้นมามันเคลื่อนออกมาแล้ว มันเสวยอารมณ์ออกมาแล้ว มันมีความรู้สึกออกมาแล้ว ออกมาจากพลังงานนั้น มันเป็นปัจจุบันไหม มันไม่เป็นหรอก อดีตอนาคตแก้กิเลสไม่ได้

นี่ไง เพราะมันย้อนกลับมาถึงที่สุดแล้วมันเข้าไปถึง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี่มรรคญาณ ญาณอันละเอียดเข้าไปซึมซับทำลายอวิชชาถึงตรงนั้น ถึงว่าตรัสรู้เองโดยชอบ พอตรัสรู้เองโดยชอบ พอมันดับอวิชชา อวิชชาออกไปจากจิตเป็นวิมุตติสุข เป็นวิมุตติ เป็นวิมุตติพ้นจากวัฏฏะ พ้นจากแรงครอบงำ พ้นจากวัฏฏะทั้งหมด โลกทัศน์นี้เปิดหมด รู้ไปหมด เข้าใจไปหมด

แต่ถ้ายังไม่เปิด ปิดไปหมด เวลาศึกษา ศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้า เวลาใคร่ครวญ ใคร่ครวญธรรมะพระพุทธเจ้า แต่ธรรมของเรามันไม่มี ธรรมของเรามันไม่รู้ไง พอมันเปิดของมันเอง เข้าใจหมด พอเข้าใจหมด สื่อออกมา นี่ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากจิต ปัญญาเกิดจากความรู้สึก ปัญญาที่ละเอียด

แต่ถ้าเป็นปัญญาทางโลก พระนะ ถ้าไม่มีหลักมีเกณฑ์ ก็จะเอาสิ่งที่ธรรมะพระพุทธเจ้ามาอ้างอิง แล้วพูดเป็นสัญญาอารมณ์ แล้วพวกเรามันไม่มีพื้นฐาน พอฟังสิ่งใดไปเราก็เชื่อตามๆ พอเชื่อตามไปแล้วนะ พระเองก็ยังงงใช่ไหม เพราะพระปฏิบัติไม่ถึงจุด มันคลาดเคลื่อน มันเป็นอนิจจัง มันแปรปรวนตลอด เราเคยพูดสิ่งนี้ไว้ แล้วพอตรรกะของเราละเอียดเข้าไป เราจะตรึกได้ลึกกว่านี้ก็จะเป็นอันนั้น

ไอ้นี่มันธรรมะนิยายนะ มันเป็นนิยายธรรมะ เราสร้างเรื่องขึ้นมาให้มันเป็นประโยชน์ แต่ไม่เป็นสัจธรรม ถ้าเป็นสัจธรรมนะ มันคงที่ตลอด ไม่มีอดีตอนาคต มันจะเป็นของมันอยู่อย่างนั้น อดีตอนาคตเป็นเปลือก เป็นเรื่องภายนอก สมมุติ จริงตามสมมุติ ชีวิตเราจริงตามสมมุติ เวลาครูบาอาจารย์สอนนะ “ชีวิตนี้สักแต่ว่า อะไรๆ ก็ไม่เป็นเรา”...โกหก เป็น ไม่เป็นเรา นั่งอยู่ตรงนี้เป็นเราไหม เป็น เป็นโดยสมมุติ

เราต้องจับข้อเท็จจริง เราเป็นโรคอะไร เราต้องรักษาตามโรคตามอาการนั้น เราเป็นโลก เราติดในสมมุติ เราติดในข้อเท็จจริงว่าเราเป็นคนจริงๆ แล้วเราก็ทุกข์ยากอยู่จริงๆ แล้วบอกว่าไม่มีๆ มันไม่ใช่ๆ...ไม่ใช่อะไร เราก็ทุกข์อยู่ ไม่ใช่ที่ไหน

ทีนี้ถ้ามันใช่ มันจริงนะ เราเกิดเป็นมนุษย์จริงๆ เราเกิดมาเป็นมนุษย์จริงๆ เราเกิดมาทุกข์ยากจริงๆ พอทุกข์ยากจริงๆ ปั๊บ ก็จับความทุกข์ จับความสมมุติมาใคร่ครวญ มันถึงจะแก้ได้เป็นชั้นเป็นเปลาะๆ เข้าไป

เรามาถึงบอกเราปฏิเสธเลยว่านี่ก็ไม่ใช่ๆ เหมือนเราเป็นโรคภัยไข้เจ็บ เราปฏิเสธว่าเราไม่เป็นโรค มันเป็นไปได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้นะ

ถ้ามันจะเป็นสัจจะความจริง ทุกคนต้องเข้าเผชิญกับความจริงของตัว จริตนิสัยของตัว ความเห็นของตัว สิ่งที่ต่างเกิดขึ้นมา เผชิญกับสิ่งนั้น แล้วแก้ไขสิ่งนั้น เข้าไปถึงเป็นชั้นเป็นตอน เข้าไปถึงของตัวเอง ไม่ต้องไปคิดไปวิตกวิจารณ์คนอื่น เรื่องของเขาเป็นเรื่องของเขานะ อันนี้เป็นเรื่องของเรา เราต้องทำของเรา

งานจากข้างนอก ข้างนอกเราทำหน้าที่การงานของเราขึ้นมาเพื่ออำนาจวาสนา เพื่อบารมี บุญกุศลมันจะเชิดชูเรานะ เราทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขา ประโยชน์กับคนนะ เราทำถนนหนทางไว้ ใครมันมาเดินมาใช้สอย เราได้บุญทั้งนั้นน่ะ เราได้บุญทั้งนั้นน่ะ เราทำเพื่อเขา แล้วเวลาเราตกทุกข์ได้ยาก ตัวนั้นมันจะมาหนุนเรา

คนมีบุญนะ ถึงคราววิกฤติ ถึงคราวสิ่งต่างๆ มันต้องมีสิ่งต่างๆ ทำให้เราพ้นจากวิกฤตินั้นไปได้ คนไม่มีสิ่งต่างๆ เอารัดเอาเปรียบเขาตลอดเวลา เวลาวิกฤติขึ้นไป ไปนั่งคอตกอยู่คนเดียว มันหาทางออกไม่ได้ หาทางออกไม่ได้ นี่บุญเป็นอย่างนี้ เวลาคนบอกทำบุญมาตลอด ทำไมเกิดอุบัติเหตุ ทำไมชีวิตนี้ทุกข์นักล่ะ

บุญเก่า กรรมเก่า กรรมใหม่ มันเป็นธรรมชาตินะ อุบัติเหตุคือกรรม สิ่งที่สัมผัสกับเรา สิ่งที่ประสบกับเราคือกรรมทั้งนั้นน่ะ ทำไมเขาไม่กระทบคนอื่น ทำไมเขากระทบเรา ทำไมคนอื่นเขาไม่กระทบล่ะ ทำไมคนอื่นเขาคลาดแคล้วไปได้ ทำไมต้องเอามากระทบเรา ก็จังหวะของเรากรรมของเรา

ฉะนั้น สิ่งใดที่เกิดขึ้นมา จริงนะ มันก็ท้อถอย เพราะธรรมดามันก็น้อยเนื้อต่ำใจเป็นธรรมดาทุกคน แต่ต้องสะบัดหน้า ตั้งสติขึ้นมาแล้วบอกว่า อืม! ก็กรรมของเราเอง เราสร้างของเราเอง อย่าเวลามันน้อยเนื้อต่ำใจแล้วไปตามมันนะ โลกนี้เป็นอย่างนี้ เพียงแต่ว่าใครยึดมากยึดน้อย มันก็ทุกข์มากทุกข์น้อยเป็นธรรมดา

สิ่งที่เป็นความทุกข์ ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นสัจจะ ทุกข์เป็นความจริง โลกนี้เกิดขึ้นมาแล้วเป็นอย่างนี้ แต่มันทุกข์เพื่อจะพ้นจากทุกข์ไง เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เผชิญกับทุกข์ อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ควรกำหนด ทุกข์ควรกำหนด ทุกข์ต้องเผชิญกับมัน หนีทุกข์ไม่มีวันจบ

ทางยุโรปเขาบอกเลยศาสนาพุทธเป็นศาสนาทุกข์นิยม เขาไม่ชอบ เขาชอบสุขนิยม

เราบอกว่าไม่ใช่ สัจนิยม ใครจะปฏิเสธความรู้สึกได้ ใครปฏิเสธความทุกข์ได้ อย่ามาใช้เล่ห์ อย่ามาปลิ้นปล้อนหาทางออกว่านั่นเป็นสุข จะให้มีแต่ความสุข ทุกข์ทั้งนั้นน่ะ ทุกข์ทั้งนั้นๆ นั่งอยู่นี่ก็ทุกข์ แค่จะปวดถ่าย ไม่ได้ถ่ายก็ทุกข์ แล้วบอกว่ามีแต่ความสุขๆ มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้เลย มันเป็นทุกข์ทั้งนั้นน่ะ เพียงแต่ว่าเราไม่เคยเอาสิ่งนี้มาใคร่ครวญไง

หลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศนาว่าการ แล้วพวกเราปัญญาไม่ทัน ปัญญายังไม่ทันท่าน ท่านบอกเลย ร่างกายมันเป็นของเสียทั้งนั้นนะ ถ้าไม่เชื่อนะ โทษนะ ท่านพูดจริงๆ ท่านบอก หลวงปู่มั่นท่านพูดให้หยาบ หยาบจนให้เรารู้ให้ได้ แต่เราก็รู้ไม่ได้ ท่านบอกเอามือล้วงไปในทวารสิ แล้วมาดม มันเหม็นไหม ในร่างกายเรานี่ หลวงปู่มั่นพูดอย่างนี้นะ ท่านพยายามจะพูดถึงให้เห็นรูปเห็นภาพไง แล้วพวกเราก็ยังโง่อยู่อย่างนั้นน่ะ ก็ยัง โอ๋ย! สวย ดีทั้งนั้นน่ะ ท่านบอกถ้าไม่เชื่อให้เอานิ้วล้วงเข้าไปในทวาร แล้วมาดมดูซิว่าในร่างกายมันเน่าจริงหรือเปล่า มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นสภาวะแบบนั้น

แต่ถ้าคนรู้จริงนะ จิตมันแยกออกมาเลย เหมือนกับไข่ในตะกร้า ตะกร้าคือร่างกาย ไข่ใบนั้นอยู่ในตะกร้านั้น ไม่ใช่ตะกร้า จิตอยู่ในร่างเรานะ ก็ไม่ใช่เรา จิตอยู่ในร่างเรานี่แหละ ร่างเราก็คือตะกร้า คือจานที่มีอาหารอยู่ในจานนั้น อาหารไม่ใช่จาน จานไม่ใช่อาหาร ไข่ไม่ใช่ตะกร้า ใจไม่ใช่กาย กายไม่ใช่ใจ แต่เมื่อเกิดมาแล้วมันต้องมี มนุษย์สมบัติมันมีร่างกายกับจิตใจ เทวดานี่กายทิพย์ พรหมเขาไม่มีร่างกาย แต่ก็มีความรู้สึก เขากายเป็นทิพย์นะ โอปปาติกะ เกิดทันทีเลย แต่เรามันเกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่

มนุษย์อ่อนแอมาก ถ้ามนุษย์เกิดมาพ่อแม่ไม่เลี้ยงนะ ตายหมด สัตว์มันเกิดมามันโตได้เลย มันเลี้ยงตัวเองได้ มนุษย์พ่อแม่ไม่เลี้ยงนะ นี่ไง พ่อแม่ถึงเป็นพระอรหันต์ของลูก เพราะพ่อแม่คลอดเรามา พ่อแม่เลี้ยงเรามา ถ้าพ่อแม่ไม่เลี้ยง มีชีวิตไม่ได้หรอก ไม่มีชีวิตนี้ ชีวิตนี้อยู่มาไม่ได้ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก แต่พ่อแม่ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ของสาธารณะ

พระอรหันต์สาธารณะ พระอรหันต์สาธารณะคือละกิเลส แต่พ่อแม่มีบุญคุณไง บุญคุณของพ่อแม่ใหญ่ยิ่งเปรียบเทียบพระอรหันต์ ฉะนั้น ลูกๆ ถึงต้องดูแลพ่อแม่ กตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องแสดงออกของคนดี คนดีต้องมีกตัญญูกตเวที ถ้ามีกตัญญูกตเวที บุญกุศลมันจะส่ง เราดูแลพ่อแม่ เราดูลูกหลานของเรา แล้วลูกเรามันก็จะว่านอนสอนง่าย เราดื้อกับพ่อแม่ เราไม่ทำให้พ่อแม่มีความสุข เดี๋ยวลูกเราจะดื้อกว่านี้อีกสองเท่า เดี๋ยวกงกรรมกงเกวียนมันจะตามมา กรรมมันจะตามมา มันเป็นความจริงทั้งนั้นน่ะ แต่เรายอมรับความจริงไหม ถ้าเรายอมรับความจริง เราต่อสู้ ต่อสู้กับทุกข์ สัจนิยม ต่อสู้กับความหมักหมม ต่อสู้กับหัวใจที่มันคลอนแคลน หัวใจที่มันสั่นไหว ให้มันเห็นจริงขึ้นมา เราจะประสบความสำเร็จ ประสบความสำเร็จทางธรรมนะ

ประสบความสำเร็จทางโลก มีมากขนาดไหนก็เป็นขี้ข้ามันน่ะ ถ้ามีหมื่นล้านนะ ถ้าโดยถึงครบรอบวงจร ๑ ปี เงินไม่เพิ่มขึ้นมาตามจำนวนที่ควรจะได้ ทุกข์น่าดูเลย แต่เราไม่ต้องไปมีอย่างนั้นหรอก ไม่เข้าเป้านะ แบกรับภาระ แล้วใช้จ่ายเท่าไร แต่เรามีอยู่มีกิน เศรษฐกิจพอเพียง

จริงๆ นะ ของอย่างนี้ ถ้าโยมไม่มีกินนะ แวะตามวัดขอกินได้ทั้งนั้นน่ะ ไม่ต้องไปตกใจหรอกว่าเราไม่มีจะกิน เราคิดกันใช่ไหม เราไม่มีจะกิน ไม่มีจะใช้ อ้าว! มาอยู่วัดเราสิ เราเลี้ยงทั้งชีวิตเลยล่ะ แต่อยู่ให้ได้นะ เพราะพออยู่แล้วพอมีกินมีใช้นะ มันก็อยากออกไปเที่ยวข้างนอกอีกแล้ว “อยู่ที่นี่ไม่สบาย”

เอาแค่อยู่แค่กินนะ มีทั้งนั้นน่ะ แต่กิเลสมันไม่คิดอย่างนั้นหรอก อ้าว! จริงๆ ใครไม่มีจะกิน มาอยู่วัดนี่ รับประกันได้ว่ามีกินตลอดชีวิต ถ้าเราไม่ตายก่อน

นี่กิเลสมันหลอก กลัวไม่มีจะกิน กลัวทุกอย่างไปเลย ถ้าเราไม่วิตกกังวล เราอยู่ตามความเป็นจริง มีเท่าไรเท่านั้น แล้วเราไม่ต้องให้กิเลสมันมาแซงหน้าแซงหลัง มันจะไม่หลอกเราได้ นี่เป็นธรรมะนะ

พูดคนเดียว ใครมีอะไรบ้างล่ะ จะให้ถาม อยากกลับบ้านใช่ไหม มีอะไรไหม

เออ! มา ปัญหามา ปัญหาใช่ไหม มาเลย

ถาม : กราบเท้าหลวงพ่อด้วยเศียรเกล้า อยากถามหลวงพ่อเรื่องคำภาวนาว่า แต่ก่อนภาวนา “พุทโธ” แล้วต่อมาคำว่า “พุทโธ” ไม่ชัด เลยเปลี่ยนมาเป็นคำบริกรรมเกสา แล้วมันชัดในใจ ถามว่า จิตเราถูกกับคำว่า “เกสา” ใช่ไหมครับ แต่ภาวนาเกสาไป แต่ใจหนึ่งก็บอกว่า “พุทโธ” มันมีพลังมากกว่า

หลวงพ่อ : ใช่ กรรมฐาน ๔๐ ห้องนะ คำว่า “พุทโธ” ส่วนใหญ่แล้วหลวงตาท่านก็สอนพุทโธ ครูบาอาจารย์ท่านสอนพุทโธ เพราะเราเคารพพระพุทธเจ้าเป็นหลัก พุทโธเป็นชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธะ แล้วเวลาจริงๆ แล้ว พุทโธ พุทธะ คือผู้รู้ ผู้รู้ในใจเราก็มีทุกคนไง ฉะนั้น เวลาสอน ทุกคนจะสอนว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ มรณานุสติ

แล้วถ้าบาง ครูบาอาจารย์สอนเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ถูกต้อง มันมีพลังเหมือนกันหมด พลังมันเกิดจากใจเรานะ แต่คำว่า “พุทโธ” เวลากำหนดพุทโธ หลวงตาจะบอกว่า กำหนดพุทโธคำเดียวสะเทือน ๓ โลกธาตุ เพราะเราคำว่า “พุทโธ” เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเทวดา ของอินทร์ ของพรหม นี่เราพูดถึงพุทโธ เราระลึกถึงพุทโธ เรานึกถึงศาสดา ทุกคนเขาก็เคารพนบนอบด้วยไง

แต่ในเมื่อเรานึกพุทโธ มันมีคนนะ มีลูกศิษย์เขามาถามว่า กำหนดพุทโธไวๆ พุทโธๆๆ เวลามันพุทโธไปมันบ่อยครั้งเข้า มันก็เป็นโธๆๆ เขาก็ตกใจอีกว่ามันไม่ถูก เขาต้องว่าพุทโธ มันจะละเอียดเข้าไปไง พุทโธๆๆ จนเป็นโธๆๆ ไปเลย

พุทโธนี่นะ สมมุติขึ้นมานะ เรานึกขึ้นมา เกสาก็นึกขึ้นมา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ มันเป็นได้ทั้งสมถะ มันเป็นได้ทั้งวิปัสสนา ถ้าเป็นสมถะเป็นคำบริกรรม คำบริกรรม หมายถึง คำบริกรรมนึกพุทโธๆ นี่คำบริกรรม เกสานี่คำบริกรรม จุดยืนของจิตที่เราพูดเมื่อกี้นี้ ถ้ามีพุทโธๆๆ คำบริกรรม นาโน สิ่งที่เป็นความรู้สึกเล็กที่สุด นาโน พุทโธๆๆ สะสมมัน จนจิตนี้เป็นพลังงานขึ้นมา เกสาๆๆ ได้หมด ได้หมดนะ เพราะมรณานุสติ นึกถึงความตายก็ได้ ทุกอย่างก็ได้ อะไรก็ได้

แต่ทีนี้เพียงแต่ว่าโดยหลักไง คำสอน ดูสิ เวลาอ่าน ก.ไก่ ขึ้นต้นใช่ไหม เวลาสอนเด็กก็ต้อง ก.ไก่ ให้เขา ก.ไก่ แล้วต้องอ่าน ก.ไก่ ก่อนอ่าน ฮ.นกฮูก ได้ไหม ก็ได้ แต่ถ้าใครมาแล้ว ถ้าฝึกสอนก็ต้อง ก.ไก่ นี่แหละ ขึ้นต้นด้วย ก.ไก่ นี่ก็ขึ้นต้นด้วยพุทโธ แต่ถ้าเราเป็น เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ได้ ดีด้วย ถ้ามันทำแล้วขอให้ หนึ่ง ทำแล้วใช้ได้ ทำแล้วดี ได้หมด เพราะอย่างนี้อย่างว่า ใช่ มันเป็นจริตเป็นนิสัย

คำว่า “จริตนิสัย” นะ พระในสมัยพุทธกาลที่ไปเที่ยวป่าช้า พอไปเที่ยวป่าช้า นางอะไรที่ให้ไปฉันที่บ้าน แล้วสวยมาก รักมาก กลับมาถึงวัดกินข้าวไม่ได้เลย กินข้าวไม่ได้เลยนะ แล้วสมัยนั้นสมัยพุทธกาล มันแบบว่าสุภาพบุรุษ เขาบอกว่ารักมาก กินไม่ได้ บังเอิญนางนั้นเขาก็ตาย พอตายแล้วพระพุทธเจ้ารู้นะ บอกว่าอย่าเผาศพ เอาไปเก็บไว้อย่างนั้นน่ะ ๗ วัน ๘ วันนะ แล้วก็พาพระไปชักศพไง ไปบังสุกุล พอไปพิจารณาเข้า จากที่รักมาก กลายเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย

การชักบังสุกุลมันมีอยู่ในพระไตรปิฎก คือพระไปพิจารณาซากศพแล้วเป็นพระอรหันต์ เขาถึงชักผ้าบังสุกุลอยู่นี่ไง มันมีที่มาที่ไป แล้วทีนี้ถ้าพูดถึงมันชักซากศพ แล้วพวกเราก็เห็นศพกันทุกวัน ขนาดพิมพ์อสุภะมาแจกกันเลยนะ โอ้โฮ! ดูภาพซากศพนะ กูไม่เห็นพระอรหันต์สักองค์ เพราะมันไม่ตรงกับจริตของตัว ถ้าตรงนี่ ผลัวะ! เข้าเลย

นี่ก็เหมือนกัน เกสา ถ้ามันตรงกับเรานะ อะไรที่มันตรงกับเรา มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ อะไรที่มันฝังเนื้อฝังใจของเรา ดูสิ เวลาพระพุทธเจ้า ๔ อสงไขยที่มันสะสมมาขนาดไหน บารมี ๑๐ ทัศนะ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี บารมีครบนะ พระพุทธเจ้า แต่พวกเราไม่ต้องขนาดนั้นหรอก ขอให้ตั้งใจเถอะ มันก็ได้แล้ว ตั้งใจดีๆ ไม่ต้องทำขนาดนั้น

ถาม : ถ้าพ่อแม่และน้องๆ ยังไม่มีเหตุปัจจัยด้านพระป่า วิถีชีวิตแบบพระกรรมฐาน แล้วถ้าโยมมาทำบุญทางนี้ พ่อแม่และน้องๆ ก็จะไม่เห็นด้วยใช่ไหม และจะให้พ่อแม่รู้ไปด้วย เริ่มต้นอย่างไร พ่อแม่อยู่กับสิ่งแวดล้อมพระบ้าน ไม่ใช่พระป่า โยมจะเริ่มอย่างไรถึงจะทำให้พ่อแม่และน้องพอที่จะเข้าใจคะ

หลวงพ่อ : เรื่องนี้สำคัญมาก คำว่า “สำคัญมาก” จะบอกอย่างนี้นะ แม้พ่อแม่เข้าวัดบ้าน เราก็เห็นว่าดีแล้ว แต่ถ้าเราเห็นดีด้วย เราก็อยากเอาพ่อแม่มาวัดป่าใช่ไหม

มีคนไปหาหลวงตานะ แล้วบอกว่า เขาศึกษาธรรมะของหลวงปู่มั่น แล้วเขาศรัทธามาก เขาศรัทธาพระป่ามาก

หลวงตาท่านกลัวเขาจะเสียความรู้สึกไง หลวงตาถึงบอกว่า “เรามั่นใจว่าพระป่าก็มีพระที่ดีและพระที่เลวเหมือนกัน”

ไม่ใช่ว่าพระป่าจะดีไปหมดนะ พระป่าในหมู่สังคมสงฆ์ทุกสังคม คนที่มีจำนวนมากขึ้นมาจะมีคนดีและคนเลวปนกัน ไม่ใช่ว่าเรามาพระป่า เราจะมายกย่องกันเองนะ มันต้องยกย่องที่คุณธรรม ถ้าคุณธรรมนั้นเกิดขึ้นมาแล้ว มันจะดีของมันโดยธรรมชาติ ในคุณธรรมนั้นมันจะฝืนไม่ได้ไง มันจะฝืนความคิดตัวเองไม่ได้ คนจะทำดีทำชั่วมันทำมาจากความคิด ถ้ารักษาจิตได้แล้ว มันจะคิดไปสิ่งที่เป็นอกุศลได้ไหม มันคิดไปไม่ได้ไง

นี่ไง สติที่เกิดกับเราฝึกได้แสนยากเลย แต่เวลาเป็นพระอรหันต์นะ สติกับจิตเป็นอันเดียวกัน เพราะอะไร เพราะขณะที่มันจะคิด พลังงานตัวนี้มันขยับ นี่ไง มันเสวยอารมณ์ พอมันคิดออกไป ความคิดนี้มันกระเทือนใช่ไหม พอมันขยับ สติมันพร้อม เพราะสติมันพร้อม เมื่อสติมันพร้อมนะ มันจะคิดชั่วได้อย่างไร ถ้าสติมันไม่มี ความคิดเรา เพราะเราไม่มีธรรม เวลามันคิดถึงเรื่องสิ่งที่เป็นทุจริตต่างๆ มันคิดไปได้ร้อยแปดล่ะ แต่ถ้าเป็นคุณธรรม มันคิดไม่ได้หรอก เพราะสติ พลังงาน พลังงานถ้ามันเคลื่อน มันหมุน อย่างไดมันจะหมุนมันต้องขยับ วิมุตติสุขคือธรรมะ ธรรมธาตุ มันจะออกมาเป็นความคิด

นี่ไง หลวงตาท่านบอกนะ ความคิดนี่นะ เหมือนกับท่อนซุง เราต้องไปแบกท่อนซุง ถ้านิโรธ วิมุตติสุข มันอยู่ธรรมชาติของมัน เวลาจะคิดมันต้องมาแบก ออกมา ขยับมา เหมือนไปแบกความคิด เหมือนแบกนะ ความคิดนี่แบกหามนะ พระอรหันต์ท่านจะมีตรงนี้ไง มันถึงว่าสติมันถึงเป็นอัตโนมัติไง แต่เรา พวกเราสติมันไม่มี

ฉะนั้น จะบอกว่า ถ้าพ่อแม่เข้าอย่างนั้น ธรรมชาตินะ ธรรมชาติของเรา เราก็อยากให้พ่อแม่มาในสิ่งที่แบบลงทุนแล้วก็อยากได้คุ้มทุนเนาะ ทำบุญแล้วอยากได้บุญ เราก็เห็นด้วย แต่ในเมื่อท่านเข้าวัดป่านะ ถ้าเข้าวัดบ้านอยู่ก็ดีอยู่แล้ว แล้วเราค่อยๆ เทียบเคียง เพราะส่วนใหญ่แล้วนะ จะบอกว่าพระเหมือนพระ ทำบุญคือทำบุญ

แต่ถ้าเป็นศาสนานี้ไม่ใช่นะ เรานี่เป็นอลัชชี เราทำลายศาสนา แล้วโยมเข้าใจผิดว่าเราเป็นพระที่ดี โยมก็เอามาส่งเสริมเรา แล้วเราเป็นพระใช่ไหม เราก็ทำลายศาสนาไปด้วย กรรมนั้นโยมเอาไปครึ่งหนึ่งนะ เพราะเราทำลายศาสนาด้วยกำลังที่ได้มาจากโยมไง แต่ถ้าเราเป็นพระที่ดี เนื้อนาบุญ มันให้ผลตอบแทนอย่างนั้น

เวลาพูดอย่างนี้ไปปั๊บ โยมบอกว่า “อ้าว! แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระองค์ไหนดีหรือไม่ดีล่ะ”

อันนี้มันก็กรรมของสัตว์นะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราก็รู้ๆ อยู่ พระบางองค์เรารู้กันว่าไม่ดี ทำไมลูกศิษย์เขาเต็มบ้านเต็มเมืองล่ะ นี่สายบุญสายกรรม สายบุญสายกรรมของเขา

ฉะนั้น เราจะบอกว่าพ่อแม่แก้ยากมาก ถ้าพูดเรื่องนี้นะ ต้องพูดถึงแม่พระสารีบุตร แม่พระสารีบุตรนะ มีลูกเป็นพระอรหันต์ถึง ๗ องค์หรือ ๙ องค์ แต่แม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วพระสารีบุตรก็คิดมากเลยว่า แม่ของตัวมีลูกเป็นพระอรหันต์เต็มไปหมดเลย แต่แม่ยังเป็นพราหมณ์ ไม่ยอมเชื่อศาสนาไง แล้วใครจะไปแก้แม่ของตัวเองได้ ก็พิจารณาตัวเองแล้ว ไม่มีใคร ก็คือตัวเอง ฉะนั้น พอคืนนั้นจะนิพพาน พอกำหนดใจแล้วตัวเองต้องตายแล้ว จะไปเอาแม่ ก็ไปลาพระพุทธเจ้า ลาพระพุทธเจ้าเสร็จแล้วก็กลับไปที่บ้านไง แม่เห็นลูกชายเดินมานะ “โอ้! ไปบวชตั้งแต่หนุ่มจนแก่ สงสัยจะกลับมาสึกแล้ว แก่แล้วไปไหนไม่รอดแล้ว” นี่ความคิดของแม่นะ

ทีนี้พระสารีบุตรรู้วาระจิตหมด ก็กลับเข้าไปในบ้าน ไปห้องคลอด ไปตายในห้องที่คลอด พอเข้าไป เป็นโรคท้องร่วง ถ่ายเป็นเลือด พอเริ่มหัวค่ำ เทวดามาอุปัฏฐาก แสงจะพุ่งเข้ามา ทีนี้พราหมณ์เขารู้ พราหมณ์ ศาสนาพราหมณ์ใช่ไหม พราหมณ์เขาจะถือพวกเทวดา อินทร์ พรหม เห็นเทวดาเข้ามา ไปถามลูกชาย “แสงพวกนั้นใครมาน่ะลูก”

“เทวดา”

โอ้โฮ! ลูกชายเราเก่งขนาดนี้เชียวหรือ เรากราบไหว้อยู่นะ กราบไหว้อินทร์ กราบไหว้พรหมอยู่ แต่พรหมต้องมาอุปัฏฐากลูกชายเรา ก็ยังไม่เชื่อนะ มาถึงเที่ยงคืน พรหมมา แสงสว่างมากกว่า เข้าไปหา ก็วิ่งเข้าไป มาเพราะแสงสว่างจะพุ่งเข้าไปในห้อง แล้วมาอุปัฏฐากพระสารีบุตร แม่ก็ตามเข้ามา “ลูกๆ นั่นใครมาน่ะ แสงพุ่งมานั่นคืออะไร”

“พรหมมาอุปัฏฐาก”

โอ้โฮ! พรหมนะ พรหมมาอุปัฏฐากลูกเรานะ เพราะแม่กราบไหว้พรหมนะ ขอพรจากพรหมอยู่นะ แต่พรหมมาอุปัฏฐากพระสารีบุตร ทีนี้เริ่มคิด นี่จะสอนแม่ แม่เริ่มคิด เริ่มเอะใจ ทีนี้เริ่มคิดมันก็ยังไม่ฟัง ไม่ฟังพระสารีบุตรเทศน์เลย

“แม่ แม่ฟังนะ เทวดา อินทร์ พรหมนี่แค่เด็กล้างบาตรพระพุทธเจ้า”

เด็กอุ้มบาตร เด็กวัด พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เทศน์ไตรสรณคมน์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์ แม่ของพระสารีบุตรมีดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน ร้องไห้ ร้องไห้มาก ร้องไห้ว่า “ลูกไม่รักแม่ ถ้าลูกรักแม่ ลูกต้องสอนแม่มาตั้งแต่ต้นแล้ว”

เมื่อเย็นนี้ยังบอกว่าจะมาสึกอยู่เลย ทิฏฐิมานะของแม่

เมื่อกี้บอกว่าแม่เป็นพระอรหันต์ของลูกนะ แต่ลูกจะสอนแม่นี่ยากมาก หลวงตาจะบอกว่า อย่าเถียงพ่อเถียงแม่ ถึงแม่เราจะผิด เราก็ไม่ควรเถียง เพราะเถียงไป เราจะเสียเอง เราจะผิดเสียเอง เพราะพ่อแม่มีบุญคุณกับเรา โดยธรรมชาติของพ่อแม่รักลูกมาก เพราะพ่อแม่คลอดลูกมา ดูแลลูกมาแต่อ้อนแต่ออก ยึดว่าลูกเป็นของเรา คนนะ ลูกเราจะเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ขนาดไหนนะ กลับไปบ้าน แม่ก็บอก “ลูก” ก็เห็นว่าลูกเป็นเด็กๆ วันยังค่ำ

ฉะนั้น จะแก้พ่อแก้แม่ เราทำตัวเราดีๆ แล้วเราบอกว่าเราทำบุญกับพระป่า พระป่า พระป่าจะเป็นอย่างนั้นๆ ฉะนั้น เวลามา เช้าๆ ที่เราจะเทศน์ๆ จะเทศน์ก็เพราะตรงนี้ไง จะเทศน์เพราะว่าให้เขาได้สัมผัส ศาสนา ศาสนาสำคัญ สำคัญตรงธรรมะ สัจธรรม ทีนี้เราพูดออกไป ถ้ามันกินใจ มันโดนใจ มีเยอะนะ เขาพาพ่อแม่มาให้เราแก้เยอะมาก บางทีก็แก้ได้ บางทีก็แก้ไม่ได้ พอแก้ได้ เขากลับไป “โอ้โฮ! หลวงพ่อ แม่กลับไปบ้านเปลี่ยนแปลงหมดเลย”

เราบอกว่า “เออ! กูเปลี่ยนโปรแกรมเขาได้ว่ะ ถ้ากูเปลี่ยนโปรแกรมเขาไม่ได้นะ เขาก็เหมือนเก่า”

นี่ก็เหมือนกัน เราจะไปเปลี่ยนโปรแกรมของพ่อแม่เรานะ โปรแกรมคือความคิดไง คือทิฏฐิมานะไง คือความเห็นในใจไง แล้วมันคิดว่าลูกเราจะมาสอนเรายากมาก นี่เราพูดถึงเปรียบเทียบว่าเราจะทำอย่างไรให้เห็นข้อนี้ก่อน แต่เราก็ต้องทำ เพราะเราก็อยากให้พ่อแม่เรามีบุญกุศล

เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ เปิดตาใจพ่อแม่ได้นะ เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ไว้ชาตินี้นะ แต่พาพ่อแม่ทำบุญให้พ่อแม่มีอริยทรัพย์ไปนะ พ่อแม่ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เราเลี้ยงพ่อแม่ไปชาติหน้าชาติโน้นเลย เพราะพ่อแม่ได้บุญไปจากที่เราพาไปทำ พ่อแม่ได้บุญจากของเราไป ถ้าเราเลี้ยงด้วยอาหารก็เลี้ยงได้ชาตินี้ชาติเดียว เลี้ยงด้วยบุญเลี้ยงด้วยกุศลนะ เราจะส่งพ่อแม่เราไปข้ามภพข้ามชาติ แล้วถ้าพ่อแม่ปฏิบัติถึงที่สุดได้นะ ยิ่งสุดยอดเลย

ถาม : แต่แม่โยมเคยบอกว่าถ้าไม่ฆ่าวัวในงานบุญก็ไม่ใช่งานบุญ เพราะทั้งชีวิตแม่เคยเห็นแต่วิถีชีวิตของชาวบ้านแบบนี้ จะทำอย่างไรให้พ่อแม่และน้องๆ เปลี่ยนวิถีความคิด

หลวงพ่อ : โอ้โฮ! อันนี้เมื่อกี้ยังไม่ได้อ่าน ถ้าอ่านอันนี้ด้วยนะ

การฆ่าวัวฆ่าควายทำบุญมันจะได้บุญได้อย่างไร

กัปปิยโวหาร พระภิกษุพรากของเขียวเองก็ดี ใช้ผู้อื่นก็ดี เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ฉะนั้น เวลาภิกษุให้พรากของเขียว ให้ทำลาย สั่งให้โยมถากหญ้าเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะเป็นของเขียว พรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ใช้เองก็ดี ทำเองก็ดี ใช้ผู้อื่นก็ดี เป็นอาบัติปาจิตตีย์

ฆ่าวัวฆ่าควาย จ้างเขาฆ่า จ้างเขาฆ่ากับเราฆ่าเอง ทีนี้พอจ้างเขาฆ่าเป็นงานบุญ ใช้เองก็ดี ใช้ผู้อื่นก็ดี เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เขาถึงมีคำว่า “กัปปิยโวหาร” เวลาไปหาครูบาอาจารย์นะ บอก “โยมๆ ช่วยพิจารณานี้ให้หน่อย” คำว่า “กัปปิยโวหาร” คำพูด คำพูดเจาะจงมันจะให้ผลกับการกระทำของคนเลย เราพูดให้คนมีมุมมองที่ผิด พูดให้คนมีมุมมองที่ผิด คนมีมุมมองเขาจะหลงทางไหม นี่ก็เหมือนกัน แล้วยิ่งการฆ่า ฉะนั้น ถ้าเราจะทำบุญ ทำบุญโดยที่ไม่ฆ่า เราไปซื้อ

มีคนที่ฉลาดนะ บางคนเขาฉลาดมาก บอกเขาทำบุญ เขาไม่เคยฆ่าสัตว์ หนึ่ง สอง ไม่สั่งฆ่า คือไม่สั่ง สมมุติว่าเขาต้องการไก่หรือต้องการอาหารมาทำงานในงานบุญ เขาไม่สั่งนะ เพราะสั่งคือสั่งให้ฆ่า ถ้าซื้อโดยไม่ต้องสั่ง ไปที่ตลาด เพราะอะไรรู้ไหม ตรงนี้เถียงกันมาก เถียงกันว่า บาปอยู่ที่คนทำ กรรมอยู่ที่คนกิน...ไม่ใช่

เราไปซื้อเป็ดซื้อไก่ที่ตลาด เขาไม่ฆ่ามาขายให้เราหรอก มันเป็นตลาด ถ้าสมมุติว่าเราสั่งฆ่า เราสั่งฆ่า สั่งว่าเอาไก่ ๑๐ ตัว เขาฆ่าให้เรา ๑๐ ตัว กรรมเรา นั่นล่ะกรรมของเรา แต่ถ้าเราไปถึง เราซื้อ ถ้าเราต้องการไก่ ๑๐ ตัว เราไปซื้อไก่ ซากไก่ ๑๐ ตัว มันไม่มี เราก็เอาอย่างอื่นก็ได้นี่ สั่ง คำสั่งนี้สำคัญ สั่งเองก็ดี ใช้ผู้อื่นทำก็ดี ทำเองก็ดี นี่ศาสนานี้สะอาดมาก ศาสนาพุทธตรงเปี๊ยะเลย

ทีนี้เขาเห็นว่างานบุญต้องล้มวัวล้มควาย เพราะมันเป็นบ้านนอกใช่ไหม มันไม่มีตลาดใช่ไหม ถึงเป็นงานบุญ

อ้าว! ถ้าคนฉลาดปั๊บ เขาก็หามาโดยที่เราไม่ต้องเป็นกรรมไง จะหาด้วยวิธีใด มันก็ต้อง นี่ไง ปัญญาของคน โบราณนะ โบราณคนแก่คนเฒ่า โบราณไม่มีตลาดใช่ไหม เขาจะเอาปลา พวกปลาช่อน เขามาขังไว้ ถึงเวลาเขาก็แกง ทีนี้วันนั้น นี่เขาเล่า เรื่องจริงนะ เราไปจำพรรษาที่ประจวบฯ เล่าเรื่องนี้เยอะมาก เขาบอกว่าแม่เขาบอก เมื่อก่อนเขาเป็นเด็ก เขาไม่รู้ไง แม่เขาบอก “ลูกๆ เอาปลาไปปล่อย” นี่ไง กัปปิยโวหาร เขาบอก “ลูกๆ เอาปลาช่อนไปปล่อย”

ไอ้ลูกมันก็ซื่อ มันก็เอาปลาไปปล่อย พอเช้าขึ้นมาแม่ก็จะกินข้าว เขาก็จะให้แกงให้กินไง พอตักข้าวมา “อ้าว! เอาแกงมาสิ”

“อ้าว! แกงไม่มี”

“อ้าว! ทำไมล่ะ ก็เมื่อวานบอกว่าให้เอาปลาไปปล่อยไง หนูก็ไปปล่อย หนูก็ปล่อยลงน้ำไป”

แม่เขาให้ปล่อยชีวิตมันไง คือแม่ไม่อยากฆ่า แต่อยากให้ลูกฆ่า ให้ลูกฆ่าแล้วทำ โอ๋ย! แม่ที่ฉลาด แม่ที่ฉลาดเขาก็ไม่อยากได้กรรม อยากกินแกงปลาช่อน แต่ไม่ฆ่าเอง อยากให้ลูกฆ่า แล้วจะบอกให้ฆ่ามันก็เป็นกรรมอีก เพราะเขาฉลาดแล้ว เขาบอกว่า “ลูกๆ เอาปลาไปปล่อย” ก็กัปปิยโวหารไง คือว่าให้เอาปลาไปฆ่า แล้วก็ทำแกงให้แม่กิน ไอ้ลูกก็ซื่อ แม่บอกว่าให้เอาปลาไปปล่อย กูก็ปล่อยลงน้ำไปเลย เช้าขึ้นมาไม่มีแกงกินนะ กินข้าวกับน้ำปลาเถอะ

นี่จะบอกว่า ถ้าพ่อแม่เขาฉลาด ไอ้อย่างนี้มันเป็นมุมมอง เป็นความเห็น แต่ลูกต้องแก้ ถ้าลูกเราแก้ได้นะ เราแก้ของเราไป เราทำของเราไป เพราะอะไรรู้ไหม การสะสมบุญเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด การสะสมบาปมันก็เป็นบาปไปเรื่อยๆ เพียงแต่ว่า พระถ้าไม่มีความเข้มแข็ง ก็อย่างว่างานบุญต้องล้มวัวล้มควาย ล้มกันไป แต่เราไม่ทำ เราไม่ทำ

ดูสิ หลวงตาท่านบอก เจอมด ท่านเหยียบไม่ได้ เจอมด กระโดดเลยนะ มันก็มีสิทธิของมันนะ สัตว์ทั้งหลาย ทุกคนรักชีวิต สัตว์ทุกตัวรักชีวิต สัตว์ทุกตัวไม่ต้องการให้เป็นอาหารหรอก แต่ในเมื่อโลกเขามองกันอย่างนั้น มันเป็นธุรกิจของเขา มันเป็นกรรมของเขา นี่ไง สัมมาอาชีวะ ถ้าเขาทำอย่างนั้น นี่มันกรรมของเขาแล้วเราไปซื้อมา บาปไม่มีหรอก

แต่คนไม่คิดอย่างนั้นนะ คนคิดว่าบาปอยู่ที่คนทำ กรรมอยู่ที่คนกิน เขาอยากรวยใช่ไหม เขาอยากมีฐานะ ของเขาใช่ไหม เขาทำของเขาใช่ไหม แล้วเราไปซื้อในตลาด

ทีนี้มันก็มีอีกนะ บางคนทิฏฐินะ บอกว่า ถือศีล ๕ จะกินแต่ของตาย แล้วไปตลาดก็ไปชี้เอาๆ เขาเคยเห็นมานะ คนนี้เดินมาเขาทุบไว้ก่อนเลย เพราะเขาขายแพงกว่าเก่า ต้องซื้อเพราะอยากกิน

เราทำอะไรนะ อย่าเวอร์ ความพอดี อยาก เรามีอะไรเราก็กินตามนั้น มีตามนั้น คนเรามีบุญมีกรรมนะ ถ้าคนไม่มีบุญนะ ของมีอยู่ก็หมด ถ้าคนมีบุญนะ มันมาถึงเรา ถ้าเราไม่มีแล้วเราอยากมีอยากเป็นอย่างนั้นนะ เราต้องแสวงหา แต่ถ้าเรามีอย่างไรนะ มันก็ประสาเรานะ เราทำมาเอง สิ่งที่เราทำมาแล้วไม่ต้องไปดิ้นรน มีอย่างไร ใช้อย่างนั้น ก็กรรมเรามีเท่านี้

นี่พูดถึงแม่นะ พูดถึงว่าเขามีมุมมองอย่างนั้น

ผิดหมด งานบุญนั้นก็ได้บุญ ได้บุญ หมายถึงว่า ได้เลี้ยงพระ แต่ก็ได้บาปด้วย เพราะฆ่าสัตว์ ถ้างานบุญนั้นเป็นบุญล้วนๆ เนื้อสัตว์นี่แหละเราหาได้ หาสิ่งที่เป็นตลาดมา หาได้ เพราะตลาด คำว่า “ตลาด” ใช่ไหม ถ้าตลาดมันเจาะจงขายให้เรามันเจ๊งนะ ตลาดก็ทำเพื่อตลาด แล้วเราใช้ประโยชน์จากมัน เราอยู่กับโลกไง นี่อยู่กับโลกโดยไม่ติดโลก น้ำบนใบบัว อยู่กับเขา แต่กูไม่เอากับมึงเลย ของเอ็งก็เป็นของเอ็ง ของข้าก็เป็นของข้า ไม่เกี่ยว

ถาม : จิต มโน วิญญาณ หทัย ใจ เป็นอันเดียวกันใช่หรือไม่

หลวงพ่อ : ถ้าพูดถึงโดยจริงแล้วนี่นะ มันเป็นหลายขั้นตอน ภวังค์ เวลาจิตตกภวังค์ มันก็เป็นจิต มันก็เป็นภวังค์อันหนึ่ง ทีนี้คำว่า “ใช้” เราใช้ แต่อย่างคำว่า “วิญญาณ” วิญญาณมันยังแยกได้อีก วิญญาณในขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณในขันธ์ ๕

วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ

วิญญาณในขันธ์ ๕ วิญญาณปฏิสนธิ วิญญาณผี วิญญาณเปรต มันมีระดับชั้นของมัน แต่เวลาพูดถึงโดยรวมใช้แทนกันได้ ใช้แทนกันได้ อันนี้เวลาใช้แทนกัน เวลาเขาพูดธรรมขั้นละเอียด ธรรมะมีหยาบมีละเอียดนะ เวลาขั้นละเอียด เวลาพูดอย่างนี้มันเป็นระดับหนึ่งๆ พอระดับหนึ่ง คนจะรู้กัน เวลาศึกษามันจะรู้กัน

ฉะนั้น จิต มโน วิญญาณ หทัย ใจ เป็นอันเดียวกันใช่หรือไม่

ถ้าพูดถึงเวลาพูดเป็นธรรมะ ใช่ แต่เวลาพูดถึงเวลาเรา ธมฺมสากจฺฉา เวลาครูบาอาจารย์ตรวจสอบใจกันมันละเอียดกว่านั้น ไอ้อันนั้นมันถึงเวลาแล้วมันค่อยแยกไป เพราะวิญญาณ วิญญาณมันก็มโน มโนวิญฺญาเณปิ นิพฺพินฺทติ

จิต เขาเรียกจิต เจตสิก เจตนา เวลาเข้าเวลาออกมามันเป็นเจตนา เวลาเข้าเป็นเจตสิก อันนี้เข้าอภิธรรม เขาจะบอกเลย เขาจะท่องอย่างนี้แล้วมาเถียงกัน

แต่ของเราไม่ใช่ เอาความจริง เอาความรู้สึก ไม่เป็นไร เราสื่อความหมายรู้เรื่อง เอาแค่นี้ก่อน หมายถึงว่า ขั้นหยาบ เราสื่อกันได้รู้เรื่อง พอขั้นละเอียดเข้าไปก็เป็นชั้นเข้าไปๆ มันสื่อเป็นชั้นๆ เข้าไปนะ คำพูดเดียวกัน แต่พูดแล้วมองตารู้เลย รู้เลยนะ ถ้าคนเคยผ่านจะรู้ตลอด

ฉะนั้น บางทีเราก็ใช้จิต บางทีเราก็ใช้ใจ เราก็ใช้ เพราะเวลามันหมุน เวลาเทศน์มันจะเป็นถีบจักรออกไปแล้วแต่มันจะออกคำไหน บางทีกลอนพาไปผิด ผิดต้องรีบแก้เลย เทศน์ๆ ไปผิด ต้องรีบแก้ใหญ่ มันไหลออกไป

ฉะนั้น มันอนุโลมได้ อนุโลมได้

ถาม : พวกเราเป็นปุถุชน แต่อาจเกิดตายมากกว่า ๔ อสงไขย แสนมหากัป แล้วก็ได้ใช่ไหม

หลวงพ่อ : ยิ่งกว่าได้ ยิ่งกว่าได้

คำว่า “๔ อสงไขย” นะ พระพุทธเจ้า จิตเป็นอย่างนี้หมด จิตเป็นอย่างนี้หมด จิตไม่มีต้นไม่มีปลาย ทางวิทยาศาสตร์จะบอกว่าจิตนี้มาจากไหน เริ่มต้นมาจากอย่างไร ลองสาวดูสิ จิตนี้มาจากไหน แล้วเวลานิพพานไปแล้วจิตมันไปไหน

แล้วบอกว่า แล้วอย่างพวกเราเกิดตายมาเกิน ๔ อสงไขยไหม

แน่นอน แน่นอน มันถึงมีเวลากรรมมันให้ผล เวลากรรมให้ผลมันซับซ้อนกัน ถ้ามันไม่แน่นอนนะ พระพุทธเจ้าไม่บอกเรื่องอจินไตย ๔ อจินไตย ๔ คำว่า “อจินไตย” อจินไตยคือว่าคาดหมายไม่ได้ พิสูจน์ไม่ได้ แม้แต่พระพุทธเจ้านะ อจินไตย ๔ มีอะไรบ้าง

พุทธวิสัย คือปัญญาของพระพุทธเจ้า พวกเราไม่ต้องพิสูจน์ไม่ต้องคาดการณ์เลย ไร้สาระเลย ไอ้หางอึ่งอย่างเราไม่มีทาง นี่พุทธวิสัย

โลก โลกนี้เป็นอจินไตย โลก เพราะโลกนี้แปรสภาพตลอด ไม่คงที่หรอก โลก เขาบอกโลกนี้จะแตก โลกน้ำท่วม

ไปเหอะ กลับบ้านมึงไป ไร้สาระ

โลกนี้เป็นอจินไตย มันจะอยู่ของมันอย่างนี้ มันจะแปรสภาพของมันไปตลอด พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ อนาคตวงศ์อีก ๑๐ องค์จะมาตรัสรู้ แล้วมันจะบุบสลายไปไหน โลกนี้เป็นอจินไตย มันจะอยู่ของมันอย่างนี้ แต่มันแปรสภาพ มันแปรสภาพ มันปรับตัวมัน นี่โลกเจริญ ผลาญทรัพยากรให้หมดไป แล้วโลก คนจะตายห่าหมด แล้วต่อไปมันจะฟื้นฟูตัวมันขึ้นมาใหม่ เกิดเป็นธรรมชาติ เกิดเป็นป่าเขา ชมพูทวีป พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ แล้วองค์หนึ่งก็ปรับสภาพไปรอบหนึ่ง องค์หนึ่งก็ปรับสภาพไปรอบหนึ่ง

นี่ไง โลก ฌาน กรรม อจินไตย ๔

เรื่องกรรม กรรม ถ้าไม่อย่างนั้นกรรมมันซับซ้อนมา ๔ อสงไขย กรรมที่มันซับซ้อนมา ถ้ามันอธิบายได้ มันอธิบายได้ แต่เราจะระลึกชาติที่แสนของเราได้ไหม บอกมึงเคยทำกรรมมาเมื่อแสนชาติที่แล้ว

เออ! ก็ใช่ว่ะ เพราะกูก็ไม่รู้

ถึงว่าเป็นอจินไตยไง เรื่องกรรม แน่นอน เพียงแต่พวกเรามันโลเล พอโลเล มันไม่สร้างเป็นองค์กรขึ้นมา เป็นการวิวัฒนาการของจิตที่มันเป็นสิ่งที่ตั้งมา แต่ถ้าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะ ๔ อสงไขย พอพระพุทธเจ้าพยากรณ์แล้ว อย่างไรก็ต้องเป็นพระพุทธเจ้าไปข้างหน้า พอเป็นพระพุทธเจ้าไปข้างหน้ามันจะดีไปเรื่อยๆ ไง มันจะสร้างของมัน สร้างดี

พระพุทธเจ้านะ เวลาเป็นพระโพธิสัตว์นะ เป็นกระต่าย มีนายพรานหลงป่ามา ๒ คน เขากำลังหนาวสั่นเลย ไม่มีอาหารจะกิน กระต่ายนั้นกระโดดเข้ากองไฟเลย พระโพธิสัตว์เสียสละขนาดนั้นนะ สัตว์นะ กระต่ายมันมีมุมมอง มีความคิดอย่างนี้ได้อย่างไรว่าคนหิวกระหายมาก คนถ้าได้อาหารกินถึงจะรอดตาย ไม่ได้อาหารกิน เขาจะตาย เสียสละชีวิตเลยนะ นี่กระต่าย

พระพุทธเจ้า อยู่ในพระไตรปิฎกเยอะมาก พระพุทธเจ้าเป็นกวางทอง พระพุทธเจ้าเป็นกระต่าย พระพุทธเจ้าเกิดในสัตว์แต่ไม่เกิดเล็กกว่านกกระจาบ พระพุทธเจ้าไม่เกิดต่ำกว่านั้น แต่พวกเราเกิดเป็นเล็นเป็นไร

ไอ้ว่าไม่เกิดๆ มึงเกิดมากี่รอบแล้ว

แน่นอน แน่นอนเลย เพียงแต่ว่าเวลาอนาคตังสญาณ เวลาเราพูดกัน เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด มันต้องพิสูจน์ได้ ต้องตรวจสอบให้เห็นใช่ไหม ทีนี้พอของเรามันยาวไกล แล้วเราพูดไปมันถึงว่าคนหนึ่งพูด อีกคนหนึ่งไขสือ มันเลยคุยกันไม่รู้เรื่องไง ไอ้คนหนึ่งก็พูดนะ เป็นอย่างนั้นๆ อีกคนหนึ่งไขสือเลย อืม! พูดไปเหอะ กูไม่ฟัง เพราะว่ามันเหนือเหตุเหนือผล มันเหนือเกินไป

ใช่ๆ ใช่เพราะคำของธรรมะของพระพุทธเจ้า จิตนี้ไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีต้นไม่มีปลายจะเป็นไปอย่างนี้ตลอด เวียนไปเวียนมาอย่างนี้ไม่มีต้น คือสาวไปหาต้น ขนาดพระพุทธเจ้าสาวไปแล้ว พระพุทธเจ้าสาวของพระองค์แล้ว บุพเพนิวาสานุสติญาณสาวไปแล้ว ต้นอยู่ที่ไหน แล้วปลายมันอยู่ที่ไหน

แต่พอมาเป็นธรรมะนะ พระโสดาบันอีก ๗ ชาติ กำหนดแล้ว พระโสดาบันเกิดอีก ๗ ชาติเท่านั้น แต่ถ้าเป็นปุถุชนนะ ไม่มีปลายคือมันจะไปเรื่อยๆ ไม่มีจบ ไม่มีที่สิ้นสุด มึงไปเถอะ รับประกันได้ ไม่มีจบ เพราะจิตตัวนี้ ธาตุรู้ตัวนี้ สสารตัวนี้ ไม่เคยทำลาย มีตลอด มันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น แต่เพราะธรรมะมันขัดเกลามัน โสดาบันอีก ๗ ชาติ อีก ๗ รอบจบ สกิทาคามี ๓ รอบ อนาคามียกระดับ ไม่มาอีกแล้วไปเกิดบนพรหม พระอรหันต์จบเลย

จบแล้วเหลืออะไร วิมุตติสุขอยู่ที่ไหน ธรรมธาตุ สัจธรรม ธรรมๆๆ อยู่ที่ไหน

ถ้าไม่รู้ เป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร

จบ จบได้ สัจธรรมมันถึงประเสริฐไง ศาสนาถึงสุดยอดไง มีศาสนาพุทธเท่านั้น มีมรรคญาณเท่านั้น เท่านั้นจริงๆ ทางอื่นไม่มี ทางอื่นไม่มี

นี่ไง เราถึงมีครูบาอาจารย์ที่เป็นหลักชัย แล้วพาพวกเราก้าวเดิน

เกิดมาแล้วชีวิตนี้หาอยู่หากินทั้งชีวิตหาไปเถอะ แล้วมีเยอะเลยนะ หาสมบัติไว้ แล้วตายไปก็เกิดมาในตระกูลเดิมมาใช้สมบัติ จากปู่ย่าตายายมาเกิดเป็นลูก ก็วนกันอยู่นั่นน่ะ วนกันอยู่นั่นน่ะ แล้วมันเกิดด้วยเวรด้วยกรรมนะ

มีอยู่นะ มีอยู่ครอบครัวหนึ่ง พี่สาว ๒ คน มีลูกสาว ๒ คน คนหนึ่งไม่ได้แต่งงาน อีกคนหนึ่งแต่งงาน แต่งงานนะ แล้วมีลูก เป็นเศรษฐีนะ ลูกผลาญจนหมดตัวเลย ตรอมใจตาย พอตรอมใจตายจบไปไม่รู้เรื่องนะ แต่พอตายไปแล้วรู้ เพราะจิตวิญญาณรู้ มาเข้าฝันพี่สาว พี่สาวไม่ได้แต่งงาน บอก “เฮ้ย! เอ็งเอาเงินไปให้ลูกชายกูอีก ๕๐ สตางค์ เพราะกูยังเป็นหนี้มันอีก ๕๐ สตางค์ ถ้ากูไม่ใช้หนี้อีก ๕๐ สตางค์ ชาติหน้ากูต้องไปใช้มันอีก”

นี่ไง เป็นเศรษฐีนะ มีลูก ลูกผลาญจนหมดเลย เล่นการพนันทุกอย่าง ทำหมดเลย กรรมเก่าไง เพราะมันมีเวรมีกรรมกันมา แล้วเราก็ต้องเวียนตายเวียนเกิดกันอย่างนี้ ชีวิต

ฉะนั้น เวลาอะไรมันเกิดขึ้นมา เราจะบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาถ้าเป็นกลโกง โกงก็เหมือนกัน มันก็ต้องมี แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นมากับชีวิตเรา เราทำมากับมือ คือตั้งสติ อย่างที่ว่า ลุกขึ้นสะบัดหน้าแล้วสู้มัน สู้มัน ชีวิตก็เป็นอย่างนี้ วัฏฏะก็เป็นอย่างนี้ นี่พูดถึงชีวิตโลกนะ

เราปฏิบัติมาล้มลุกคลุกคลาน ทุกข์มาก ถ้าพูดถึงเราเอาความทุกข์มาวิจัยกันนะ โอ้โฮ! ทุกข์มากๆ นะ ทุ่มกันสุดชีวิต แลกกันมาด้วยร่างกาย อดอาหาร อดนอน อดทุกอย่าง แลกมากับความตาย เอาความตายแลกมา เอาความกล้าหาญ เอาความตาย แลกสิ่งนี้มา แล้วมาเห็นทำเล่นทำเพลิดเพลินกัน แล้วถึงว่า ชีวิต

เรายังคิดบ่อยมาก ถ้าเราไม่ได้บวช เราอยู่ทางโลก เราก็เหมือนกับพี่น้องเรานั่นแหละ ก็ทำงานกันแค่นั้นน่ะ ก็มีอยู่มีกินกันไปชีวิตหนึ่ง ก็เท่านั้น แล้วถึงเวลาแล้วชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ชีวิตนี้ถึงที่สุดแล้วก็ต้องต่างคนต่างต้องพลัดพรากไป

มหายานเขาให้พรนะ เวลาเขานิมนต์พระมาทำบุญไง ให้ปู่ให้ย่าตายก่อน แล้วก็ให้พ่อให้แม่ตาย แล้วก็ให้ลูกตาย แล้วก็ให้หลานตาย

โอ้โฮ! เจ้าภาพเขาโกรธมากเลย เขาโกรธมาก ทำไมให้พรอย่างนั้นน่ะ

อ้าว! แล้วมันไม่จริงหรือ ถ้าลูกหลานตายก่อนปู่ย่าจะเสียใจไหม ต้องปู่ย่าตายก่อนใช่ไหม แล้วก็พ่อแม่ตายใช่ไหม แล้วก็ลูกตายใช่ไหม แล้วก็หลานตาย ตายเป็นระดับไปคือหมดอายุขัยไป ถูกต้องไหม

เออ! ถูกต้อง

ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ทุกคนต้องบ่ายหน้าไปสู่ความตาย แล้วมีอะไรติดมือไป นี่ไง ธรรมะถึงประเสริฐอย่างนี้ เราถึงต้องแสวงหา ต้องเข้มข้น ต้องทำตัวเราขึ้นมา ทำหัวใจเราขึ้นมาเพื่อประโยชน์นะ

บางทีถ้ามองในแง่โลก เราอยู่กับพระนะ เวลาพระพูด “อะไรก็ทำบุญๆ พระเป็นคนได้”

มันไม่ใช่ พระไม่ใช่ได้นะ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ ท่านบอก พระเหมือนนา โยมเป็นคนไถนา โยมเป็นเจ้าของนา โยมไถนา โยมเกี่ยวข้าวไปใช่ไหม แล้วนามันได้อะไรล่ะ มันได้เศษข้าวที่ตกจากการเกี่ยว บุญกุศลเป็นของโยม โยมทำบุญ บุญกุศลเป็นของโยม

แล้วมองที่วัตถุไง เขาถวายโน่น ถวายนี่

โอ้! มันเป็นของเศษเดน เพราะโยมมีหัวใจที่เสียสละมาใช่ไหม หัวใจของเขามันมีการเสียสละ ไอ้ของที่สละไปมันเป็นของเศษเดน แล้วพระหัวโล้นๆ ไปเห็นสิ่งที่เขาทิ้งแล้ว ไปมือไม้สั่น มันสมควรเป็นพระไหม

ทีนี้พอทำบุญ มันเป็นบุญของเขา ทีนี้พระได้มา ดูสิ ดูหลวงตาเราสิ ท่านได้ของมา ท่านเสียสละเพื่อโลก ของมันเป็นประโยชน์กับโลก โลกเขาใช้สอยปัจจัยเครื่องอาศัย แต่ศาสนาสอนเรื่องนามธรรม สอนเรื่องบุญ สอนเรื่องอารมณ์ความรู้สึก สอนเรื่องการเกิดและการตาย ทีนี้มันจะการเกิดการตาย มันจะได้มา มันได้มาด้วยการเสียสละอย่างนั้น อันนั้นมันเป็นวิธีการเข้าหาบุญ วิธีการเข้าหาความรู้สึก เราสอนวิธีการอย่างนั้น เราไม่ใช่อยากได้ของเขา

ถ้าอยากได้ กูหาเองก็ได้ กูหาเยอะๆ แล้วกูจะได้บุญเยอะๆ กูจะได้ไปนิพพาน

มีเงินแสนล้านพันล้านมันก็ซื้อนิพพานไม่ได้

พูดอย่างนี้ขึ้นมาให้กระตุกหัวใจ ให้คิดถึงโลกกับธรรม โลกเราแสวงหา ทุกข์กันนะ ทุกข์ ทุกข์แน่ๆ ทุกข์เป็นอริยสัจ แต่เราก็ต้องแสวงหาด้วยบุญด้วยกุศล ด้วยบุญ ด้วยการกระทำของเรา แล้วเราก็เจียดเวลา เจียดเวลาภาวนา ถ้ามีบุญมีกุศล จิตมันสงบบ้าง มันได้เห็นสิ่งเปรียบเทียบ ได้เห็นสิ่งเปรียบเทียบ ได้เห็นประโยชน์นะ แล้วมันจะขวนขวาย คนเราถ้าไม่รู้ว่าดีหรือชั่ว มันก็ไม่ทำ ถ้าคนเรารู้ดีรู้ชั่ว มันก็อยากได้ดี ทำดี มันก็จะเป็นประโยชน์กับชีวิตเนาะ เอวัง