ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คณะศรัทธาเช้า

๒๓ พ.ย. ๒๕๕๑

 

คณะศรัทธาเช้า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราเอาเรื่องความกลัวก่อนเนอะ “แก้ไขความกลัวนี่กลัวอย่างไร” นี่เราจะพูดอย่างนี้ก่อนนะ เราจะปูพื้นฐานให้นิดหนึ่ง ว่าโดยสัญชาตญาณของคนมันกลัวทั้งนั้น ทีนี้พอกลัวแล้วนี่เราจะแก้ไขอย่างไร? ความกลัว ทีนี้พอความกลัวนี่มันเป็นประโยชน์มากถ้าคนใช้เป็น ทุกอย่างของเหรียญมีสองด้านหมด มันมีคุณประโยชน์ของมัน แต่มันก็มีโทษกับมันในตัวมันเอง

ทีนี้ความกลัวนี่นะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะหลวงปู่อ่อน เรามาอ่านประวัติหลวงปู่อ่อนนะ หลวงปู่อ่อน ครูบาอาจารย์ทั้งหมด กลัวนะ หลวงปู่อ่อนท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอก “เมื่อก่อนท่านกลัวผีมาก” แล้วท่านอยู่ในป่า ท่านจะต้องภาวนาท่านไม่กล้าภาวนา มีกุฏิใช่ไหม ทีนี้ด้วยความมุมานะของคนที่อยากได้ดี ท่านก็พูดอย่างนี้นะ ท่านก็เดินขึ้นกุฏิ แล้วท่านไม่กล้าลงภาวนา ท่านว่าอย่างนั้น ท่านกระโดดลงทางหน้าต่างเลย คือว่า พอมันมืดแล้วมันลงบันไดไม่ได้ มันกลัวผี ก็ตัดสินใจว่าเราจะเอาชนะตัวเอง ก็กระโดด กระโดดจากหน้าต่างลงไปเลย เพื่อจะลงมาเดินจงกรมในป่า ท่านว่าอย่างนี้ ประวัติหลวงปู่อ่อนเปิดอ่านสิ พอกระโดดลงจากหน้าต่างไปนะ มันก็วิ่งขึ้นบันไดเก่า คือกลับกุฏิอีก ด้วยมันกลัว

ทีนี้ครูบาอาจารย์ผ่านอย่างนี้มาเยอะ นี่จะบอกว่าโดยสัญชาตญาณของมนุษย์ มันโดยสามัญสำนึก เราจะพูดอย่างนี้ไงว่า “จิตพวกเรานี่นะมันเคยเกิดเคยตายในวัฏฏะ ถ้าพูดเรื่องผี เรื่องเทวดานี่ พวกเรานี่จินตนาการกันออก เพราะเราเคยเป็น พอมันมีความเคยเป็นปั๊บ มันจะมีข้อมูลในใจ พวกเรานี่เคยผ่าน แต่ชาติใดชาติหนึ่งมันหมุนเวียนมาตลอด แล้วมันก็ผ่าน มันก็สะสมมาในใจ” นี่พูดเรื่องผี เรื่องเทวดา พวกเรานี่จินตนาการกันได้ พวกศิลปะ ศิลปิน เขาเขียนภาพเห็นไหม นรกสวรรค์ เขาเขียนได้หมดเลย เขาจินตนาการได้ แต่เขาจินตนาการโสดาบัน สกิทา อนาคาไม่ได้ เพราะไม่มีใครเคยเข้าถึงจุดนี้ได้

นี่เราจะบอกว่าของมันมีมันเป็นไง พอของมันมีมันเป็นทุกดวงใจน่ะกลัว เราเองเมื่อก่อนบวชใหม่ๆ นะ ก่อนที่จะบวช เราเป็นคนที่เข้มแข็งมาก แต่บวชมาแล้วเราก็กลัว เราอยู่ในหมู่คณะธุดงค์กันไป ถ้ายังเห็นไฟของใครจุดอยู่ เราก็กล้าทำความเพียรได้ ถ้าเขาดับไฟหมดนะ เราก็เข้ากุฏิเหมือนกัน เรานี่ แล้วก็ธุดงค์ไป ธุดงค์ไปใต้ เดินจากนี่ลงไปใต้ เดินลงไป แล้วไปเจอพระ พระเขาชวนไปอยู่วัด เราก็คิดว่าโดยวิสัชนา โดยสามัญสำนึก คุยกันนี่คุ้นเคยกัน ไปถึงเราไปถือวิสาสะไปกางกลดเลย เขาไล่ มาถึงเขาไล่เลยนะ ไล่ให้ไปนอนป่าช้า บังเอิญป่าช้าเผาศพอยู่พอดี ไปนอนนะ เอาหลังเข้าเชิงตะกอน แล้วเตือนบอกตัวเอง “อย่าไปมองมันสิ อย่าไปมอง กลัว กลัว” กลัวผี เราก็กลัว เห็นไหม แต่เพราะเราอยู่ในเหตุการณ์อย่างนั้น

เวลาเขาเผาศพ เหตุการณ์จำเป็นว่าเราต้องไปอยู่ขณะที่เขากำลังเผาศพ ศพเผาสดๆ กำลังเผาอยู่เลย แล้วเขาไล่เราไปอยู่ที่นั่น แล้วตอนหลังเราไปเที่ยวป่าช้า เราเดินถือตะเกียงเข้าไปนะ เราถือตะเกียงแล้วนะ ด้วยความกลัวนะ แต่ด้วยคิดว่าการเข้าเที่ยวป่าช้ามันเป็นประโยชน์ ขานี่สั่นหมดเลย แต่ก็ไป ไปตอนตีสองตีสามที่ไม่มีใครรู้ กลางคืน ไปคนเดียว กลัวไหม นี่บอกทุกคนน่ะกลัว นี่กลัวอย่างนี้แก้ไขอย่างนี้ เห็นไหม จะบอกว่ามันเป็นสามัญสำนึกของคน

แต่พลิกกลับมาหลวงปู่มั่น ท่านบอกให้พระไปอยู่กับในป่าในเขา แล้วพระก็กลัวเสือมาก ไม่อยากไป ไม่กล้าไปเลย ทุกคนไม่กล้าไป ท่านใช้ให้หลวงตานี่ไปเอง แล้วหลวงตานี่ท่านไม่เปิดเผยชื่อในประวัติ ในปฏิปทา หรือในประวัติหลวงปู่มั่นก็คือตัวท่านเองนี่แหละ บังคับให้หลวงตาไปอยู่ป่า ให้ไปอยู่ที่เสือชุมๆ แล้วหลวงตาก่อนบวชท่านเคยเข้าป่า ท่านรู้จักเสือ ท่านมีปืน แล้วพอไปมือเปล่านี่กลัวไหม กลัวมาก นี่ท่านพูดเองนะ แต่กลัวมากก็ใช้ปัญญา ใช้ปัญญาไล่ ไล่ความกลัวของตัวเองไง มันจะหายกลัวหายตรงนี้ ใช้ปัญญาไล่ ไล่ความกลัวของตัวเองว่า

“ในเมื่อครูบาอาจารย์ท่านให้เราไปอยู่ป่าอยู่เขา ครูบาอาจารย์เป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์เรา ท่านไม่ฆ่าเราทิ้งหรอก ท่านไม่กลั่นแกล้งเราหรอก ท่านไม่บังคับเราหรอก แต่ท่านต้องมีเหตุผลของท่าน ท่านต้องการให้เราได้ประโยชน์ไง”

นี่ใช้ความคิดอย่างนี้ ไล่กับทิฏฐิความเห็นผิดของตัวว่า ไม่ใช่ว่าท่านบังคับให้เราไปอยู่กับเสือ ให้เรา เหมือนกับเกลียดเราหรือแกล้งเรา กลั่นแกล้งเรา กิเลสมันจะออกช่องนั้นไง ท่านใช้ปัญญาของท่านไล่ความคิดตัวว่า “พ่อแม่ไม่แกล้งลูกหรอก พ่อแม่ไม่ทำร้ายลูกหรอก พ่อแม่ไม่ทำความเสียหายให้ลูกหรอก” แล้วพอมันไม่กล้าไปก็บังคับตัวเองให้ไป แล้วไปอยู่แล้วกลัวไหม กลัวมาก กลัวมาก กลัวขึ้นมานะ กลัวจนจินตนาการมันเกิด มองไปนี่เสือทั้งฝูงเลยมันนั่ง มันนอนอยู่คอยจะตะปบเราอยู่คนเดียว เพราะความคิดไง จินตนาการมันจินตนาการบอก เสือนี่นอนอยู่เป็นแถวไปหมดเลยในความมืด มันจินตนาการว่าเสือทุกตัวคอยจะตะครุบเรา

มันก็ยิ่งเครียดยิ่งกลัวใหญ่ พอกลัวไป ปัญญามันก็ไล่ “กลัวอะไร กลัวเสือนี่กลัวอะไร? กลัวกระดูกเสือเราก็มีกระดูก กลัวหนังเสือเราก็มีหนัง กลัวตา กลัวหู กลัวจมูก กลัวลิ้น กลัวกาย เรามีครบหมด เรามีหมด เสือมีเราก็มี แล้วไปกลัวอะไรมัน” ท่านบอกจากที่ท่านกลัวๆ พอไล่ไปถึงที่สุดแล้วนะมันกล้าหาญมาก พอมันจินตนาการใช่ไหม เสือตัวนี้นั่งอยู่นี่ตัวใหญ่มาก มันจะตะครุบเรา ตัวนี้ก็ตัวใหญ่มากจะตะครุบเรา มันจะคิดกับตัวเองว่า “ตัวไหนใหญ่เข้าหาตัวนั้นก่อน ไอ้ตัวที่จะตะปบเรา ตัวไหนที่มันจะกินเรา ตัวไหนที่มันจะกินเดินเข้าหาตัวนั้นก่อน” พอเดินเข้าไปปั๊บ มันเป็นอุปาทาน ไม่มี

เหมือนกับเรากลัวผี เห็นไหม เราจะสร้างรูปผีใหญ่มาก เราจะสร้างจินตนาการ เป็นภาพผี เห็นไหม พอเข้าไปแล้วไม่มี ทีนี้เสือทั้งฝูงที่มันจะตะปบเรา พอเดินเข้าไปมันก็ไม่มี มันเป็นป่าเขา มันไม่มีอะไรเลย พอไม่มีๆๆ โอ้โฮ จนมันกล้าหาญมาก

เห็นไหมนี่ความกลัว จะบอกว่าความกลัวนี่นะ โดยสามัญสำนึกทุกคนน่ะมันมี คนจะกล้าหาญขนาดไหนก็แล้วแต่นะ มันจะมีกลัวสักอย่างหนึ่งในใจของเขา ไม่มีคนกล้าหาญร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก นักเลงจะใหญ่โตขนาดไหนนะ เพื่อนเรานี่นักเลงเยอะ บางคนนี่นักเลงมากนะแต่กลัวความสูง กลัวความสูง นักเลง ขึ้นความสูงไม่ได้ขาสั่นเลย แต่ถ้าเป็นนักเลงนี่เก่งมากนะ แต่ไปไหนนะ ไม่ไปไหนเลย อยู่ข้างล่าง กลัวความสูง คนหนึ่งมันจะมีอันหนึ่งอยู่ในใจ ไม่กลัวอะไรก็กลัวอันหนึ่ง เก่งทุกอย่างเลย แต่ก็มีปมด้อยมีจุดด้อยอยู่ในใจ เห็นไหม นี่ความกลัว

แล้วจะให้ไปแก้ความกลัวไปแก้ตรงไหน? เพราะความกลัวนี่มันเกิดดับนะ แก้ความกลัวจนหายกลัว แล้วเดี๋ยวมันก็ไปกลัวอย่างอื่นอีก แก้ปัญหานี้จบมันก็เจอปัญหาต่อไป เพราะความกลัวนี่เป็นอาการของใจ มันสร้างภาพได้ทุกชนิด แต่มันมีเชื้อไขอยู่ที่ตัวเรา ทีนี้พอเกิดขึ้นปั๊บ แก้ปัญหานี้จบมันก็ไปกลัวอย่างอื่น แก้จนหมดเลย ไม่กลัวอะไรเลยนะ ก็ไปกลัวว่าพรุ่งเช้าจะมีข้าวกินหรือเปล่า พรุ่งนี้เช้าไม่มีข้าวกินก็กลัวแล้วนะ โอ้ พรุ่งนี้เช้าไม่มีข้าวกิน นี่กิเลสมันออกช่องนี้ไง

เราจะบอกว่า ความกลัวแก้หายหมดเลยไม่มี มันเกิดดับ แต่ถ้าเราแก้ที่ใจเรา ความกลัวนี่ ความกลัวนี่ถ้าคนเป็นใช้เป็นประโยชน์ได้ อย่างเช่น ภาวนาไม่ลงนี่ ภาวนาไม่ดีเลย ไปนั่งอยู่กับผีเลย พอมันกลัวมันคิดออก ฟุ้งซ่านมาก คิดมาก เอาความกลัวให้จิตมันสงบอยู่กับตัว ความกลัวหรือความสิ่งต่างๆ สิ่งที่ในตัวเรา ความคิดก็คือทุกอย่างมันมีทั้งดีและไม่ดี เราจะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไร ถ้าคนใช้เป็นมันเป็นประโยชน์หมดนะ แต่เพราะเราใช้ไม่เป็น มันเลยเป็นโทษหมดเลย เอาความกลัวมาทำลายเรา กลัวๆๆ ทำอะไรไม่ได้เลย จนไม่กล้าทำอะไรเลย จนไม่มีประโยชน์

แต่ครูบาอาจารย์เอาความกลัวให้เราควบคุม ความกลัวควบคุมความคิดเราเอง เพราะมันกลัว หนามยอกเอาหนามบ่ง มันฟุ้งซ่านนัก มันคิดเก่งนัก จับมันไปอยู่กับผี มันเก่งนักจับไปอยู่กับเสือ อยู่หมดนะ แล้วถ้าพอเห็นคุณแล้วนะ พระเราถึงไปอยู่ในที่วิเวกกันตรงนี้ไง

ย้อนกลับมาที่ว่า พระนี่ไม่จริงต้องไปอยู่ป่า เราบวชใหม่ๆ เรากลับมาบ้าน เพื่อนตราหน้ามาก มึงไม่จริงนี่หว่า มึงทำไมต้องไปปฏิบัติในป่า ทำไมไม่ปฏิบัติอยู่ในเมือง ตอนนั้นมันยังตอบเขาไม่ได้ไง ปฏิบัติอยู่ในเมืองนี่ก็คลุกคลีไง โธ่ ไอ้ปฏิบัติอยู่ในเมืองนี่ของเล่น เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราอยู่ในเมืองแล้ว เห็นไหม เวลาเรานั่งรถไปนี่เห็นพระธุดงค์เดินตามถนน เราสังเวชนะ ถนนนี่ เพราะถนนนี่มันไม่มีเทวดาไม่มีผี เอ็งลองเข้าป่าสิ ลองเข้าป่าไป

ย้อนกลับมา เห็นไหม พอคิดอย่างนี้ คิดถึงที่ภูทอก หลวงปู่จวนมาอยู่ใหม่ๆ พระไปอยู่ ๗-๘ องค์ แล้วมีปะขาวด้วย เจ็บป่วยกันทั้งวัด ไม่มีใครไม่เจ็บป่วยเลย เป็นอยู่อย่างนั้น กระเสาะกระแสะ ไม่มีหาย จนหลวงปู่จวนท่านนั่งภาวนาอยู่นะ สุดท้ายแล้วเทวดามาในนิมิตไง บอก ผมสู้ความดีของท่านอาจารย์ไม่ได้หรอก ทีแรกพวกผมจะไม่ให้อยู่ ผมแกล้งไง พวกเทวดานี่แกล้ง พวกรุกขเทพ ให้เจ็บไข้ได้ป่วยตลอดเวลา แต่เพราะด้วยศีล ด้วยคุณงามความดีของหลวงปู่จวน ต่อไปนี้ผมจะยกภูทอกให้พระอยู่ แล้วพวกผมเทวดา รุกขเทพจะย้ายให้ลึกเข้าไปอีก แต่ขอสัญญาสองข้อ

ข้อ.๑ เวลาคนเข้ามาภูทอก ห้ามปัสสาวะจากข้างบนลงมา

ข้อ.๒ อย่ามากินเหล้าเมายากันในนี้

หลวงปู่จวนรับปาก พอรับปากเขาก็เคลื่อนไป พระทั้งวัดที่เจ็บไข้ได้ป่วยหายหมดเลย หายหมดเลย

นี่ไง ที่ว่าเอ็งเดินธุดงค์บนถนน นี่ย้อนกลับมาที่อยู่ในเมืองไง พออยู่ในเมืองเขาเรียกว่าคลุกคลี อยู่ในหมู่นี่มันไม่กลัวหรอก เอ็งไปอยู่ในป่าคนเดียวสิ ทุกคนเก่งทั้งนั้นเวลาไปอยู่คนเดียว มืดขึ้นมานะ มันจินตนาการไปได้หมด อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด พวกเรานี่ทุกข์เพราะความคิด ทุกข์เพราะตัวเราเอง แล้วเราควบคุมความคิดได้ ฉะนั้น ในเมื่อเราไม่มีปัญญาควบคุมความคิดได้ เราก็อาศัยสิ่งแวดล้อม แล้วครูบาอาจารย์ท่านอาศัยสิ่งนี้ ของอยู่กับเรา

หลวงปู่มั่นไปเทศน์ที่วัดเจดีย์หลวง เห็นไหม เทศน์ดังมากเลย สุดท้ายแล้วพอเทศน์จบ เจ้าคุณอุบาลีบอกหลวงปู่มั่นเทศน์แบบเป็นมุตโตทัย เทศน์สิ่งที่อยู่กับตัวเรา แต่ทุกคนไม่เห็น ธรรมะเวลาพูดก็พูดในความรู้สึกเรานี่ ความคิดเรานี่ พูดถึงในตัวเรานี่ แต่เราไม่เห็นของในตัวเรา เก่งนัก ไอ้ข้างนอกน่ะ จักรวาลรู้ไปหมด รู้ทุกอย่างเลย แต่ไม่รู้ตัวเอง ธรรมะสอนให้รู้ตัวเอง ทีนี้พอรู้ตัวเองนี่มันต้องย้อนกลับมาที่นี่ไง จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ใจดวงนี้มันจะเข้าใจได้

นี่พูดถึงความกลัวนะ นี่ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บเห็นไหม เราจะพูดเป็นหลัก แล้วเวลามาถามกลัวแก้อย่างไรๆ จะบอกว่าแก้อย่างไรนะ มันหายชั่วคราว มันหายต่อเมื่อปัญญาเราไล่ถึงในปัจจุบันนั้น อย่างกลัวผี ทุกคนกลัวผี แล้วพิจารณาดูนะ บอกเลยนะ ไอ้ผีตัวแรกก็คือความรู้สึกเรานี่ ผีมันจะกลัวผีได้อย่างไร ไอ้ผีตัวนี้มันจะไปกลัวผีข้างนอกทำไม ไอ้ผีข้างใน กลัวตัวนี้ พอมันไล่จบแล้วไม่กลัวผี เดี๋ยวก็กลัวอีก ไม่จบหรอก มันเกิดดับๆ

มันจบ มันจบที่กิเลส ถ้าชำระกิเลสแล้วนะ มันจะเห็นอย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านพูด มันจะเห็นไปหมดเลย อาการของใจ ไปตื่นเงา เรายืนที่ไหน เราสร้างภาพอย่างไรเงาก็จะเป็นอย่างนั้น มันอยู่ที่เรายืน หรือเรากิริยาของเรา เงาจะเกิดตามนั้น แล้วถ้าใจมันรู้ทันแล้ว ก็เรา มันเกิดจากเรา เงาน่ะ กลัวก็เกิดจากจิต ถ้าเราคุมจิตได้ เรารักษาจิตได้ จะไปติดเงาทำไม มันก็ไม่กลัวไง ไปคุมที่ใจได้ ความกลัวหายหมด ทีนี้มันต้องค่อยๆ แก้ไขกันไป นี่พูดถึงความกลัวนะ

ทีนี้มาพูดถึงว่า ถ้าเราตรึกในธรรม ในการปฏิบัติ เราตรึกในธรรมนี่จะเป็นวิปัสสนาไหม ไม่เป็น ไม่เป็นล้านเปอร์เซ็นต์เลย แต่ทางโลกเขาเข้าใจกันว่า ในความเห็นผิดนะ ในความเห็นผิดของคนที่ปฏิบัติไม่เป็น แล้วเราก็เป็นนักวิชาการ เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา พอเราใช้ปัญญากันแล้วเราคิดว่านี่คือการปฏิบัติธรรม

มันเป็นการปฏิบัติธรรมแต่เป็นการปฏิบัติธรรมแบบสมถะ แบบถึงที่สุดแล้ว ในการประพฤติปฏิบัติทุกลัทธิ ทุกนิกาย ทุกการปฏิบัติในจักรวาลนี้ ไม่ใช่ศาสนาพุทธศาสนาเดียว เพราะสมาธิมีอยู่ทุกลัทธิ ฤๅษีชีไพรเขาทำความสงบได้ ทุกคนทำความสงบได้ แต่เขาตีค่าของความสงบเป็นอะไร?

ความสงบคือความสงบ ถ้าพูดถึงเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาทิฏฐิความเห็นที่ถูกต้อง ถ้าเป็นมิจฉามันตีค่าสมาธินี้เป็นมรรคเป็นผล มันตีค่าสมาธินี้เป็นมรรคเป็นผล เป็นมิจฉา เป็นความเห็นผิด ฉะนั้น ในการปฏิบัติทุกลัทธิ ทุกวิธีการ ผลของมันคือสมาธิ คือสมถะ แต่มันจะมีมิจฉากับสัมมา

ฉะนั้น เวลาเราตรึกในธรรม เห็นไหม เพราะอะไรรู้ไหม เพราะพวกเรา เห็นไหม ในทางโลกเห็นไหม เขาบอกทั้งชีวิตมาศึกษาเพื่อเอากระดาษแผ่นเดียว ศึกษามาเพื่อเอากระดาษแผ่นเดียว เอากระดาษแผ่นนั้นมาอวดกันว่ากูจบชั้นนั้นๆ กูมีใบประกาศรับรอง ทีนี้ศึกษาเพื่อเอากระดาษแผ่นเดียวคือมันไม่รู้จริงไง ทีนี้พอมาประพฤติปฏิบัติใช่ไหม เห็นว่ากูนี่มีกระดาษแผ่นหนึ่ง กูนี่ร้อยประโยค สองร้อยประโยค กูรู้ธรรมะไปหมดเลย ฉะนั้น รู้ธรรมะไปหมดเลย เห็นไหม กูมีปัญญา ไอ้พวกพุทโธ ไอ้พวกที่ปฏิบัติ ไม่มีการศึกษา ไม่มีกระดาษแผ่นนั้นมาการันตี พวกนี้ไม่รู้อะไรเลย เราต่างหากเป็นนักวิชาการ เรารู้ พอเรารู้ปั๊บเราต้องตรึก เห็นไหม เวลาปฏิบัติต้องทำอย่างนั้นๆ ตรึกในธรรมไง ตรึกในธรรม เขาเข้าใจว่านั้นเป็นความรู้จริงไง

อันนั้นมันสัญญานะ เหมือนเรา พวกเราเรียนทางวิทยาศาสตร์ ไปศึกษาทฤษฎีของใครก็แล้วแต่ เราศึกษามานะ แต่ผู้ที่อาจารย์สอนเขาต้องทำวิจัย ทำวิจัยเสร็จแล้ว เป็นทางวิชาการแล้วนี่ เขาวางเป็นทฤษฎีให้เราศึกษา เราต้องศึกษาแล้วทดลอง ว่าเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า แล้วเราได้ทดลองกันหรือยัง?

ทีนี้พอมาปฏิบัติ มาตรึก คำว่า “ตรึก” นี่มันเหมือนทดลอง มาตรึกใช่ไหม เพราะเราตรึกในธรรมของพระพุทธเจ้าใช่ไหม แต่คำว่า “ทดลอง” นักวิทยาศาสตร์หรือผู้ที่ชำนาญการ การทดลองของเขานี่ เขาจะรู้เลยว่าควรใช้เครื่องมือ ควรใช้สิ่งวัตถุที่เอามาทดลองด้วยอะไร เขาถึงทดลองแล้วได้ผล จริงไหม เราเห็นเขาทดลอง เราเหมือนเด็กเลย เห็นผู้ใหญ่เล่นขายของ เราก็เล่นขายของ ผู้ใหญ่เขาขายของจริงๆ นะ แต่เราเล่นขายของ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะทดลองวิทยาศาสตร์ เครื่องมือเราไม่มี ศีล สมาธิ ปัญญา มึงอยู่ไหน เครื่องมือที่จะมาทดลองทางวิทยาศาสตร์ ดูสิ เวลาทางการแพทย์ เห็นไหม ห้องผ่าตัดต้องปลอดเชื้อ ของที่จะใช้ผ่าตัดต้องฆ่าเชื้อก่อน ไอ้ของเราเวลาจะผ่าตัด กูไปซื้อเอา ซื้อเครื่องมือแพทย์มาจากบริษัทแล้วกูจะเอามาใช้เลย เหรอ มึงทำกันอย่างนั้นเหรอ

นี่ไง จะบอก... ตรงนี้เวลาเราคุยกับพระนะ เวลาพระที่ทางฝ่ายปริยัติมานี่ เวลาเราโต้แย้งไปนี่จบหมด แต่เวลาเขาพูด เขาพูดอย่างนั้น เราเข้าใจนะ เพราะเราได้คุยกับพระปฏิบัติ พระการศึกษาต่างๆ นี่มาหาเยอะมาก บางทีน่าสงสาร มันเหมือนเขามีทิฏฐิ เขามีความเห็นของเขาอย่างนั้น แล้วเราต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ

วันนั้นมีมาจาก... เขาทำวิทยานิพนธ์ ดอกเตอร์ แล้วเขาก็ตั้งเทปนี่เต็มเลย แล้วเขาพยายามจะพูดให้เขาเข้าใจ เขาบอก “หลวงพ่อ ช่วยผมหน่อย กรุณาเถอะ ผมจะทำวิทยานิพนธ์ จะเขียนวิทยานิพนธ์ใช่ไหม แล้วผมอยากปฏิบัติด้วย แล้วหลวงพ่อพยายามพูดให้ผมเข้าใจเพราะผมจะไปทำวิทยานิพนธ์”

เราพยายามอธิบายเขา เขาอัดเทป แต่ในความรู้สึกเรา เราต้องการให้เขาจับแนวทางได้ ที่วิทยานิพนธ์ของเขา ให้เขามีแนวทาง เขาไปเขียนต่อไปก็จบ แต่เขาบอกว่า “ไม่ใช่ ผมจะปฏิบัติด้วย” คือ อยากได้วิทยานิพนธ์ด้วย อยากได้คุณธรรมด้วย ก็อยากปฏิบัติด้วยไง แล้วเขาก็พูดกับเรานะ “ก็พูดให้ผมเข้าใจสิ พูดให้เข้าใจสิ”

จนเราพยายามอธิบายหลายแง่หลายมุมแล้ว เราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ไง มันเป็นไปไม่ได้ มันโดยธาตุ มันโดยวุฒิภาวะ มันคนละระดับ มันเข้าใจกันไม่ได้หรอก เราเลยบอกเขาว่า นกกับปลานี่มันคุยกันไม่รู้เรื่องหรอก ปลามันอยู่ในน้ำ นกมันอยู่ในอากาศ แล้วในการปฏิบัติ เราก็พูดถึงมิติหนึ่ง ความรู้ถึงเป็นจริงอันหนึ่ง แต่เขาอยู่ในน้ำ เขาไม่เคยเห็นบนอากาศ เขาก็คาด เขาก็รับรู้ได้ด้วยมิติของเขา แล้วก็ทำไมมันเป็นอย่างนั้น ทำไมมันเป็นอย่างนี้

นี่ไง เราจะบอกทางวิชาการบอกว่า “การตรึกในธรรมคือการปฏิบัติธรรม เป็นวิปัสสนา เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเขาบอกว่าทำพุทโธๆ นี่ทำสมถะ ฆ่ากิเลสไม่ได้ ต้องใช้ปัญญาวิปัสสนาสายตรง”

เราบอกว่า ตรงลงนรก ตรงให้มันลงนรกไปเลย มันจะตรงไปไหน มึงเอาอะไรมาตรง ทีนี้การที่เราใช้ปัญญานี่นะ คือตรึกในธรรม ผลของมันคือสมถะ ถ้าเรามีความเห็น ความเห็นคือทิฏฐินะ ความเห็นที่ถูกต้อง คำว่า “สมถะ” คือจิตมันสงบ จิตมันปล่อย แต่ถ้าจิตมันปล่อย มันปล่อย เห็นไหม เราพูดบ่อย คนที่ปล่อยๆ น่ะ มันปล่อยผิด เวลาโดยสามัญสำนึกเราเห็นไหม เรามีความคิดใช่ไหม แล้วพอเราตรึกในธรรมพระพุทธเจ้า เราใช้อะไรตรึก ก็ความคิดเราใช่ไหม

“ความคิดเราใช่ไหม” ความคิดไม่ใช่จิต ฉะนั้นเวลามันปล่อย มันปล่อยที่ความคิด แต่ตัวจิตมันไม่ปล่อย พอมันปล่อยที่ความคิด มันก็ว่างๆ ว่างๆ แต่ตัวจิตไม่ว่าง พอตัวจิตไม่ว่าง ตัวจิตมันไม่รู้เลยว่าว่างหรือไม่ว่างเป็นอย่างไร แต่มันไปว่างที่ความคิด เราถึงบอก นี่ไง ที่ว่าทิฏฐิถ้ามันเห็นผิด มันจะเห็นผิดอย่างนี้ มันเลยเป็นมิจฉา มันเลยเป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ใช่สัมมาสมาธิ

แต่ถ้าเรามีความเห็นที่ถูกต้องใช่ไหม ว่าที่เราทำมันเป็นตรึกในธรรมพระพุทธเจ้า เหมือนกับเราจะทดลองทางวิทยาศาสตร์ แต่ทฤษฎีเป็นของอาจารย์ที่เราศึกษามา แล้วเรากำลังจะทำ เราจะทดสอบให้เราเข้าใจ เราทดสอบๆๆ เราทดสอบเข้าใจ ปัญญาอบรมสมาธินี่ไง เพราะปัญญาอบรมสมาธินี่มันตรึกในธรรมพระพุทธเจ้า แล้วเห็นคุณเห็นโทษ แล้วมันปล่อยวาง พอมันปล่อยวางนี่ ใครปล่อยวางความคิด? จิต พอจิตมันปล่อยวางความคิดบ่อยๆ เห็นไหม ตัวจิตนี่มันปล่อยเขา แล้วมันไม่ใช่บอกว่าความคิดนี้ว่าง มันปล่อยมันหดเข้ามาที่ตัวมัน เป็นสัมมาสมาธิ คือปล่อยที่ถูกต้อง

การปล่อยที่ผิด การปล่อยที่ถูก นี่ไง สมาธิมีสัมมา มีมิจฉา คนทำเป็นไม่เป็นมันแยกกันตรงนี้ไม่เป็น พอแยกไม่เป็นใช่ไหม พอมันปล่อยแล้วใช่ไหม พอมันปล่อยแล้ว เพราะคำพูด เวลาเขาพูดกันน่ะมันพูดออกมาจากใจ เขาถึงบอกว่าพุทโธนี่นะมันไม่มีปัญญา มันแก้กิเลสไม่ได้ ต้องใช้ปัญญา อภิธรรมในการปฏิบัติมันเป็นวิปัสสนาสายตรงใช้ปัญญา

ปัญญาลงนรก ทั้งๆ ที่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่แหละ แต่อวิชชาของมึงพาลงนรก แต่ถ้ามันถูกต้องนะ มันใช้ปัญญาใคร่ครวญ แล้วมันจะปล่อยวางไว้ที่มัน ปล่อยวางไว้ที่มัน เป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธินี่มันจะเห็นการเสวยอารมณ์ มีการกระทำไง มีการกระทำ อย่างเช่นรถนี่เราจะซ่อม เกียร์รถนี่มันทดเฟืองอย่างไร เกียร์ ๑ เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ มันทดเฟืองต่างกันอย่างไร เราจะเปลี่ยนเฟือง ทดให้มันเร็วขึ้นหรือช้าลงด้วยเฟืองอย่างไร

จิตก็เหมือนกัน ความคิดที่มันคิดออกไปนี่มันคิดกับอะไร พลังงานตัวนี้มันทดกับอะไร ถ้าเราไม่เห็นเราจับต้องไม่ได้ เราจะซ่อมเกียร์รถได้ไหม เป็นไปไม่ได้ แต่นี่ทำกันนะ เราจะซ่อมเกียร์รถแต่ไม่เคยเห็นรถ คิดเอาไง ซ่อมเกียร์รถโดยแผ่นกระดาษไง วิปัสสนาบนแผ่นกระดาษไง เป็นวิปัสสนาไหม? เขาบอกเป็น ในความเห็นของเขาว่าใช้ปัญญานี่ วิปัสสนาสายตรงๆ เพ้อเจ้อๆ ไม่เป็น

แต่ถ้าเป็นนะ มันต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ดูจิต ดูจิตนะ ดูจิต กับอภิธรรมนี่อันเดียวกัน เพราะอภิธรรมนี่เขาดูนามรูป ดูเกิดดับๆ ดูความเป็นไป เวลาจริงๆ แล้วมันเกิดดับ แต่ความเกิดดับมันมีเหตุให้เกิด แล้วก็มีเหตุให้ดับ เหตุอะไรทำให้เกิด เหตุอะไรทำให้ดับ ไม่ใช่ดูเฉยๆ โดยไม่มีเหตุ ดูเฉยๆ นี่มันเป็นกำลังที่หยุดได้เหมือนกัน ถ้าหยุดได้อย่างนี้มันหยุดเฉยๆ แล้วเดี๋ยวมันก็เกิดอีกเพราะ เพราะเราไม่รู้เหตุมันเกิด ไม่รู้เหตุมันดับ มันผิด ผิดตรงนี้ไง เขาทำมาน่ะเขาเคลมมา เขาเคลมมาแต่มันไม่เป็นความจริง ถ้ามันเป็นความจริงนะจะไม่พูดอย่างนั้น

นี่ไง หลวงตาท่านพูดบ่อย “การแสดงธรรมนี่ ใครแสดงธรรมนะเท่ากับเปิดหัวอก ถ้ามันเห็นผิดมันก็แสดงออกไปผิดๆ ถ้ามันเห็นถูกนะ พูดอย่างไรก็ถูก จะไปพูดในบาดาล จะไปพูดในส้วมก็ถูก แต่ถ้าคนมันผิดนะไปพูดบนฟ้ามันก็ผิด” แล้วมันบอกวิปัสสนาสายตรง วิปัสสนาสายตรง มึงเอาอะไรมาวิปัสสนา

วิปัสสนาสายตรงมันต้องมีจิตวิปัสสนา จิตคือสัมมาสมาธิ เราจะเป็นเจ้าของบริษัทกัน เราจะทำธุรกิจ เอ็งไม่จดทะเบียนบริษัท เอ็งจะตั้งบริษัทได้ไหม เราทำการค้ากัน หนีภาษี ร้านค้าเถื่อน เอ็งมีบริษัทอยู่ที่ไหน บริษัทมึงอยู่ที่ไหน จิตมึงอยู่ไหน ถ้าวิปัสสนาสายตรง สายตรง ศพมันก็วิปัสสนาได้ เห็นไหมที่พระเขาบอกว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นอริยสัจ ถ้าเป็นอริยสัจ แผงขายหมูเป็นอริยสัจ มันก็มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เหมือนกัน เชิงตะกอนก็เป็นอริยสัจ เพราะเชิงตะกอนก็เอาศพไปเผาเยอะแยะเลย

อริยสัจมันเกิดจากจิตเห็น จิตสงบเข้ามา จนตั้งบริษัทให้ได้ ทำจิตสงบให้ได้ ผลประโยชน์จะเกิดจากบริษัทนี้ บริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แต่นี่เราบริษัทเลื่อนลอยไง เราเป็นบริษัท เราเป็นเจ้าของศาสนาที่เลื่อนลอย เราไม่ทำตามความเป็นจริง เราจดทะเบียนบริษัทแล้ว เราทำอะไรขึ้นมานี่จ่ายภาษีนะ เดี๋ยวเขาจะเก็บภาษีเอง เราทำของเรานี่ ขาดทุนกำไร มันจะมีผลตอบแทนแล้ว อันนี้ไม่มีอะไรกันเลย เพ้อเจ้อ วิปัสสนาสายตรง ถ้าวิปัสสนาสายตรงนะ นิพพานเป็นความว่าง อวกาศมันก็ว่าง วิปัสสนาสายตรงอย่างนั้น เฮอริเคนเข้ามา พายุมันก็วิปัสสนา มันกวาดไปทั้งเมืองเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันไม่มีชีวิต

จริงๆ ที่สุดคือใจ ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิวิญญาณ วิญญาณที่เรารับรู้กันอยู่นี่เขาเรียกว่าวิญญาณขันธ์ วิญญาณอายตนะ ตาหูจมูกลิ้นกาย มันสัมผัส เขาถึงรับรู้อารมณ์ ตัวใจเฉยๆ มันอยู่เฉยๆ มันก็มีความรู้สึกของมัน ไม่ต้องอะไรสัมผัสเลย แล้วตัวนี้นะ เวลาสิ่งที่เรากระทำ โดยอายตนะ โดยสามัญสำนึก ใจเป็นคนสั่งให้ทำ ผลดีและชั่วมันถึงกลับมาบรรจุไว้ที่ใจ แล้วใจนี่จะเกิดตาย แล้วเราไปชำระที่นั่น มันละเอียดกว่าความรู้จากเสียง รู้จากตา จากรูป ละเอียดกว่าเยอะ ตาหูจมูกลิ้นกายแก้กิเลสไม่ได้ แก้กิเลสมันแก้กลับไปที่ใจ แล้วเวลาวิปัสสนา เวลาตรึกในธรรม ใช้อะไร ใช้สมอง แล้วมันถึงใจไหม ไม่ถึง ผลของมัน เวลามันปล่อยนะ

เมื่อวานเขาพูดเพราะมีคนมาโต้แย้งบ่อย เพราะด้วยปัญญาชน เขาบอกว่าไอ้พุทโธ ไอ้พระป่านี่มันไอ้พวกหลังเขา มันไอ้พวกกรรมกรน่ะ มันต้องลงทุนลงแรง ทำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นปัญญาชนใช้ความคิดอย่างนี้ แล้วก็มันคิดไปแล้วนี่มันถูกสิ มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันพิสูจน์ได้ มันสบายๆ

โอ้โฮ ฟังแล้วเศร้าใจฉิบหาย มันสบายๆ เพราะอะไร เพราะมันไปว่างที่ความคิด มันก็สบายน่ะสิ มันสบายๆ อย่างนี้มันแก้กิเลสได้หรือเปล่า เราจะบอกว่าเขาทำให้ศาสนาเรานี่เสื่อมค่ามากนะ ศาสนานี่มันลึกล้ำกว่านั้น มันลึกซึ้งกว่า มันเข้าไปทำลายกิเลสได้ถึงแก่นเลย แต่นี่ไปรับรู้กันที่เปลือกไง สบายๆ ก็ความคิดน่ะ ก็สร้างความคิดมันสบาย มันก็สบาย แล้วก็บอกนี่ไงมันพิสูจน์ได้นะ มันเป็นวิทยาศาสตร์นะ เขายังพูดด้วยความเห็น ด้วยอหังการนะ แต่เราเห็น เราเศร้าใจนะ แล้วเราอธิบายให้เขาฟัง เขายอมรับอยู่ อธิบายเลยว่า มันแบบว่ามันนอกประเด็น ไม่เข้าไปในศาสนาเลย

นี่พูดถึงนะ เวลาเทศน์ถ้าใครไม่มี มันเทศน์ออกมาจากความไม่จริง มันรู้เลยว่าพูดอย่างนี้แสดงว่าคนที่สอน หรือผู้ที่เอามาเผยแพร่เขาไม่เคยเห็นตัวของใจเลย แล้วเขาไม่เข้าใจถึงอริยสัจเลย เขาถึงพูดกันอย่างนี้ไง ถึงบอกว่ามันไม่เป็นวิปัสสนา ไอ้ที่เขาบอกว่าวิปัสสนาสายตรงๆ นะ ไม่ใช่ นั่นคือ คือใช้สัญญา คือใช้ข้อมูลของธรรมะพระพุทธเจ้า ตัวเองไม่ได้อะไรเลย

แต่ถ้ามาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” นี่มันใช้ปัญญา พอปัญญานี่มันเอาความคิดเรามาวิจัยว่าความคิดนี่มันถูกหรือผิด ถ้าความคิดที่ถูกเรียกธรรม คิดที่ถูกนะ คิดธรรมะนี่ถูก ธรรมะนี่มันจะหล่อเลี้ยงใจให้สบาย ถ้าคิดผิด ยาพิษ คือกิเลส มันจะให้ใจนั้นฟุ้งซ่าน ให้ใจมันทุกข์ พอเราจับอย่างนี้ จับความคิดบ่อยครั้งเข้า มันจะเห็นยาพิษกับเห็นคุณธรรม แล้วมันก็จะเลือก เลือกเข้าไปมันก็ละเอียดเข้าไปๆ เรื่อยๆ เห็นไหม ปัญญาอบรมสมาธิเห็นไหม เหตุให้เกิด เหตุให้ดับ เกิดดับๆ อะไรเป็นเหตุให้เกิด อะไรเป็นเหตุให้ดับ ปัญญานี่มันใช้ปัญญาใคร่ครวญ จนมันเห็นเหตุให้เกิดให้ดับ มันก็หดสั้นเข้ามาถึงตัวมันเรื่อยๆ เรื่อยๆ จนตัวมันตั้งมั่น

นี่บริษัท นี่จิตตั้งมั่น จิตที่เป็นสมาธิ จิตเป็นผู้วิปัสสนา จิตเป็นผู้รู้ จิตเป็นผู้เห็น พุทธะ พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทธะผู้รู้นี่แหละตัวมันเองจะล้างตัวมันเอง

แต่นี้เวลาที่ว่าเป็นวิปัสสนาไหม?

เขาใช้ความคิดเฉยๆ ไม่รู้อะไรเลย แล้วจะบอก พอบอกตัวเองปั๊บ พอบอกนี่เป็นสมาธินะ นี่เป็นสมถะที่ไม่มีประโยชน์

ตัวสมาธินี่สำคัญมาก สำคัญที่มันแบ่งแยก ระหว่างโลกียะกับโลกุตตระ ถ้าไม่มีสมาธิ เห็นไหม เพราะเราเข้าไม่ถึงสมาธิ มันเลยเป็นโลกียะ คือปัญญาสมองไง ปัญญาจากเราไม่ใช่ปัญญาพระพุทธเจ้านะ ไปจำธรรมะพระพุทธเจ้ามา แต่คิดโดยเรา คิดโดยกิเลส พระไตรปิฎกไม่ผิดเลย ผิดที่คนเอาไปวิจัย คนตีความนี่ผิดหมด คือตีความผิดเพราะไม่รู้จริงไม่เห็นจริง คือ เลยตีผิด แต่ถ้าเป็นผู้รู้จริงเห็นจริงนะ มันตีถูก ตีธรรมะพระพุทธเจ้านี่ถูก ตัวธรรมะ ตัวพระไตรปิฎกไม่ผิด แต่คนไปจำมันมาผิด เพราะเราเข้าไม่ถึง เราเข้าไม่ถึงข้อความนั้น เราแยกแยะข้อความนั้นให้รู้จริงไม่ได้

แต่ถ้าเราเข้าถึงนะ พระพุทธเจ้าพูดอะไรนะถึงหมดเลย เหมือนเราเข้าไปถึงเป้าหมายแล้วนี่พูดอะไรถูกไปหมดเลย แต่เพราะพวกเรานี่มีกิเลส จำมา ก็เลยผิดไปหมดเลย ทีนี้คำว่า “ผิด” นี่เขาเรียกตรึกในธรรม พุทโธ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ วิตก วิจาร การตรึก มันวิตกวิจาร แล้ววิตกวิจารบ่อยครั้งเข้ามันจะเห็นโทษ แล้วมันจะปล่อยเข้ามา ผลของมันคือสมถะ เรายืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ จะใครมาก็มาเถอะ

แล้วถ้าเป็นสมถะนะ ถ้ามันเป็นมิจฉา ส่วนใหญ่แล้วเราจะพูดอย่างนี้ เมื่อก่อนนะมันมีพวกลูกศิษย์เขาสงสาร ญาติๆ พี่น้องเขาชวนกันมา ก็ไปดึงพวกเขาที่ปฏิบัติอภิธรรมมาหาเรา เขาบอกมันก็ว่างๆ ว่างๆ เราถามเขาก่อนด้วยความสงสาร คือเราไม่อยากจะทำลายน้ำใจ เราจะถามเขาว่า โยมปฏิบัติเพื่ออะไร ถ้าปฏิบัติเพื่อความสุข อื้ม ก็เท่านี้แหละ เขาบอกไม่ใช่ ปฏิบัติก็หวังมรรคหวังผล ถ้าหวังมรรคหวังผลโยมผิดหมดเลย ผิดหมด เขาช็อกเลยนะ ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะโยมปฏิบัตินามรูปใช่ไหม ใช้สติดูนามรูปใช่ไหม แล้วมันปล่อยใช่ไหม ใช่ มันว่างใช่ไหม ใช่ นั่นล่ะมิจฉาสมาธิ

มันว่าง อะไรมันว่างล่ะ ว่างๆ ว่างๆ สบายๆ นี่่มิจฉาสมาธิ เพราะมันว่างที่ความคิด มันไม่ได้ว่างที่ตัวจิต แล้วให้ทำอย่างไรล่ะ ให้ทำอย่างไร เยอะมาก ทุกคนจะบอกว่ามันปล่อยหมด มันว่างหมด มันว่างแบบเราปฏิเสธไง เราไม่รับรู้สิ เหมือนกับเราวางยาสลบนะ เอายาสลบมาโปะจมูกนะ เฮ้อ ว่าง อ้าว อธิบาย เถียงมาสิ เถียงมา มันว่างไหม ว่าง ว่างแบบคนบ้าไง มึงมีสติไหม มึงรู้จักตัวมึงเองไหม แต่เวลาถ้าไม่มีใครพูดกับเขานะ รู้สิ ก็นี่ไงว่าง

มันรู้โดยสามัญสำนึก สมาธิมึงยังไม่รู้จักสมาธิเลย มันรู้ต่อเมื่อเราออกมาแล้วไง เวลามันว่างเข้าไปแล้วนะมันหายหมด เพราะคนไม่เคยเป็นไม่รู้ เวลาเรากำหนดไปนี่ พอถึงปั๊บมันจะหายไปเลย ว่างๆ แล้วเราเข้าไม่ถึงไง นี่ไง ที่ธรรมะมันละเอียดไง เราเข้าไม่ถึงกัน เราก็คิดว่าความว่างพระพุทธเจ้า เห็นไหม ที่ว่าเราตีความพระไตรปิฎกผิด สมาธิความว่างพระพุทธเจ้าว่างแบบมีสติ แต่ของเราว่าง ว่างแบบไม่รู้เรื่อง แล้วพอออกมานะก็เบลอไง แล้วไม่รู้อะไร ยังดีลุกขึ้นมาไม่ล้ม ไม่ใช่ลุกขึ้นมาแล้วล้ม เพราะมันไม่มีสติ ไม่มีสามัญสำนึก ไม่มีอะไรเลย

แต่ถ้าเป็นสมาธินะ โอ้โฮ พุทโธๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธินะ มันจะปล่อยเข้ามา ชัดเจน สตินี่ ความรู้สึกนี่ไม่เคยขาดช่วงเลย มันจะละเอียดเข้ามาๆ รู้ตลอด ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธินี่มันดับหมด สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่า แต่รู้อยู่นะ สักแต่ว่าคือมันดับ ตาหูจมูกลิ้นกายดับหมด นั่งอยู่อย่างนี้ใครพูดอะไรก็ไม่ได้ยิน ลมพัดมาไม่รับรู้เลย จิตมันหดเข้ามาถึงเป็นตัวมันเองเลย แล้วพอมันออกมา นี่ไง อัปปนาสมาธิวิปัสสนาไม่ได้ คือมันควบคุมไม่ได้

พอมันออกมาเป็นอุปจาระ อุปจาระนี่มันเห็นไหม เวลาทำสมาธิพุทโธๆ จิตสบายๆ แต่เสียงได้ยินอยู่ มันรับรู้ได้ รับรู้ได้เพราะอันที่รับรู้มันเป็นขันธ์ ๕ แล้วยึดเป็นตัวจิต เห็นไหม ตัวจิตนี่เป็นตัวพลังงาน แต่ตัวที่รับรู้นี่คือตัวการเคลื่อนไหว ตัวเงาที่มันวิปัสสนาไป เพราะมันเข้าไปแล้ว มันรู้ถึงเจ้าของ รู้ถึงตัวเอง แล้วตัวเองเป็นผู้ทำงานมันถึงจะเป็นวิปัสสนา แต่นี่ไม่รู้อะไรเลย

เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ เรานี่ตรงนี้ซึ้งมากเพราะตอนอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ คุณ......ที่สร้างวัดใหม่ๆ มาหาบ่อยมาก “วิปัสสนาค่ะ พิจารณานามรูปสิคะ วิปัสสนาค่ะ” หลวงปู่เจี๊ยะท่านก็ปล่อยไว้ตั้งนาน ปล่อยไว้เขามาใหม่ๆ จนสุดท้าย เราเป็นคนอุปัฏฐาก เราลุ้นบ่อย เร่งมันๆ เฮ้ยไม่ได้ วัดใหม่ๆ สุดท้ายเวลา ถึงเวลาท่านเอาเองนะ เรานั่งฟังอยู่ เรานั่งอยู่ข้างหลังนี่ เวลาหลวงปู่เจี๊ยะรับแขก เราจะอยู่ข้างหลัง เป็นพระอุปัฏฐาก “พิจารณาอย่างไรล่ะ” ถามคุณ...

“ก็พิจารณานามรูปสิคะ”

“แล้วพิจารณาอย่างไรล่ะ?”

“ก็พิจารณานามรูปสิคะ”

“แล้วพิจารณาอย่างไรล่ะ?”

“ก็พิจารณานามรูปสิคะ”

หลวงปู่เจี๊ยะท่านตอกเลยนะ “เฮ้ย เขาพิจารณา เขาต้องมีจิตพิจารณานะมึง จิตน่ะ ผู้พิจารณา ผู้ที่พิจารณาอยู่ไหน”

ตอบไม่เป็น ไม่รู้ ไม่รู้หรอก เราเห็นกับตา ได้ยินกับหู นี่อาจารย์สอนนะ อาจารย์สอนยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย แล้วลูกศิษย์ที่ไปเรียนมามันจะได้อะไร เพราะเราอยู่ในเหตุการณ์อย่างนี้มาเยอะ เราถึงสังเวชไง เราพูดบ่อยได้ยินไหม บอกสงสารชาวพุทธมาก ชาวพุทธ ๙๙ เปอร์เซ็นต์โดนหลอก ชาวพุทธน่าสงสารมาก สงสารเพราะอะไร เพราะหัวหน้าที่มาสอนน่ะไม่รู้ คนที่ตั้งตัวเองเป็นอาจารย์ไม่รู้จักถูกจักผิด แล้วเที่ยวไปสอนเขา คนสอนไม่รู้ คนเรียนจะรู้ได้อย่างไร ฟังสิ คนสอนไม่รู้ แล้วคนเรียนจะรู้ มันเป็นไปได้ไหม

แล้วเขาก็พูดอีกเวลาเราพูดคำนี้ไป ในอภิธรรมเขาบอกว่า ในวงการอภิธรรม เขาปฏิเสธคุณ... คนละสาย คือคุณ...เป็นแตกแขนงไปที่ไม่ใช่อภิธรรม เขาพูดอย่างนี้จริงนะ มันก็มาจากโคตรเหง้าเหล่ากอเดียวกันละว๊า มันจะสายไหน แต่นั่นเขาปฏิเสธ เวลาพวกอภิธรรมมา เราจะยกตรงนี้ให้เขาฟัง เขาปฏิเสธเลย บอกคุณ...ก็ปลายแถว ไม่ใช่ ถ้าของเขา คนสอนผิดมันผิดไปหมดนะ

ทีนี้เพียงอย่างนี้ เวลาพูดอย่างนี้ไปปั๊บ มันแบบว่าเวลาธรรมะนี่นะ เราจะบอกเลยนะ ร้อยคนก็ร้อยตัวอย่าง ล้านคนก็ล้านความเห็น การปฏิบัตินี่ไม่มีสูตรสำเร็จ การปฏิบัติแบบอภิธรรม แบบสูตรสำเร็จที่ทุกคนต้องทำเหมือนกัน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การปฏิบัติแบบอภิธรรมนี่มันเหมือนกับปริยัติ คือการศึกษา การศึกษาเป็นสุตมยปัญญา ในชั้นเรียนเขาเรียนกันอย่างนั้น พอเขาเรียนกันอย่างนั้นปั๊บเขาจะจบ เห็นไหม ๙ ประโยค ๑๐ ประโยค เขาจะจบพร้อมๆ กัน เขายกชั้น แต่ในภาคปฏิบัติไม่มี

พระอรหันต์นะ ความสะอาดบริสุทธิ์เสมอกัน แต่บารมีอำนาจวาสนาความรู้เห็นต่างกัน พระอรหันต์แต่ละองค์จะไม่เหมือนกันด้วยวิธีการ จะเหมือนกันด้วยคุณสมบัติ ฟังงงไหม คุณสมบัติพระอรหันต์ไง คุณสมบัติพระอรหันต์นี่เท่ากัน สะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน แต่ต่างกันด้วยวิธีการ เหมือนกับเราเรียนจบมหาวิทยาลัย มันคนละสาขา เห็นไหม คนละสาขา คนละทางวิชา เห็นไหม มันต่างๆ กัน ไม่เหมือนกันหรอก

แต่ในอภิธรรมนะ จะกี่คนกี่ล้านคนก็เข้าคอก ทำกันอย่างนี้ มันเป็นไปได้อย่างไร คือมันเป็นไปไม่ได้

หลายๆ ความเห็นที่มันเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เพราะ เพราะเหมือนกับเรานี่ เหมือนพวกเรานี่ ความรู้ความเห็นมันแตกต่าง ไม่เหมือนกันหรอก มันเป็นไปไม่ได้ แล้วเวลาภาวนาเป็นนี่นะ มันเลยเป็นโสดาบัน ถ้าใครเป็นโสดาบันนะ ต้องพูดโสดาบันถูก ถ้าใครพูดโสดาบันไม่ถูก เราไม่เคยฟังเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะพวกเรานี่ไปเอาผลของโสดาบันมาคุยกันไง ว่างๆ ว่างๆ แล้วเหตุมันมาจากไหน?

มันต้องขณะจิตที่เปลี่ยน ขณะจิต ในกรรมฐานเรียกขณะจิต ขณะจิตที่มันเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นโสดาบัน ขณะจิตที่มันเปลี่ยนจากโสดาบันเป็นสกิทา มันมีข้อสรุปของมัน มันจะลงตัวของมัน ขณะที่จิตมันเป็นโสดาบันเป็นสกิทา ตรงนี้ต้องพูดถูก แล้วต้องสอนได้ ถ้าคนตรงนี้เป็นปั๊บมันจะอธิบายเรื่องนี้ถูกต้อง แล้วถ้าอธิบายนะ ซักอย่างไรก็ถูก แต่ถ้าคนไม่เป็นนะ จำได้ แล้วจำได้ ทุกคนจะวิตกว่าเขาจำได้ เขาจะมาหลอกลวงนะ เขาจำได้นะ คำว่าความจำนี่มันตายตัว แง่มุมเดียว ถ้าเราถามให้พลิกแพลงนะตอบไม่ได้ ถ้าคนเป็นนะ จะพลิกแพลงอย่างไรเขาก็อธิบายได้ จะถามข้างล่าง ถามข้างบน ถามระหว่างกลาง ถามตรงไหนก็ได้ เขาตอบได้หมด

นี่ไง หลอกกันไม่ได้ หลอกกันไม่ได้หรอก ฉะนั้นเวลาแสดงธรรม เวลาครูบาอาจารย์แสดงธรรมนี่มันตายตัว ถ้าของที่ตายตัวเป็นกรอบตายตัว เป็นวิทยาศาสตร์ ผิด แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันรอดตัวของมันเอง มันเป็นไปได้

ฉะนั้นคนที่ปฏิบัติเป็น คนที่เคยมีประสบการณ์ แล้วพอมาเห็นเขาปฏิบัติกันมันรู้เลยนะ มันรู้เลยว่าผิด ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะตายตัว กรอบ เหมือนกับเรานี่ เรามีอุปาทาน เราสร้างกรอบไว้ แล้วข้อเท็จจริงมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง พอมันจะเป็นข้อเท็จจริงเรากลับกลัว เราต้องยึดกรอบนี้ไว้ เราเลยไปไม่ได้กันไง

แล้วนี่ก็ไปสร้างกรอบขึ้นมา “หนอ หนอ หนอ” มึงจะบ้าเหรอ แล้วมันจะเป็นความจริงได้ไหม คนภาวนาเป็นพอเห็นแล้วนะ คือมันขัดแย้งกัน ข้อเท็จจริงกับความที่เขาทำมันขัดแย้งกัน

แต่ถ้ามันเป็นของเรานี่นะ เขาบอกว่า กรรมฐานเรานี่มันเหมือนกับพวกกรรมกรแบกหาม อ้าว มันก็ต้องเป็นข้อเท็จจริงของคน ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก มันก็เป็นข้อเท็จจริงของคนๆ นั้น ครูบาอาจารย์เราแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน นี่ไงหลวงปู่มั่นท่านถึงรู้ไง หลวงปู่พรหม หลวงปู่ขาว หลวงปู่เจี๊ยะ แต่ละองค์เห็นไหม ท่านตรวจสอบของท่านได้ แล้วมันเป็นข้อเท็จจริง

มันเหมือนจดทะเบียนบริษัท เอ็งบริษัทอะไร เอ็งทำธุรกิจอะไร ทางอากาศเหรอ ไอ้นี่ทางน้ำเหรอ ไอ้นี่ทางบกเหรอ มันคนละเรื่องกัน บริษัทคนละบริษัท ไม่เหมือนกัน เอาบริษัทอะไร บริษัทการจราจรทั้งทางบก ทั้งทางอากาศ แต่สุดท้ายต้องใช้เทคโนโลยีอันเดียวกัน มันเป็นไปได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้

แต่นี่เหมือนกันหมด ทำเหมือนกันหมดเลย สำเร็จรูปหมดเลย โดยข้อเท็จจริงมันเป็นไปไม่ได้ แล้วมันทำกันอยู่นั่นคืออะไร เหยื่อ เหยื่อ เหยื่อ เสียเวลาน่าดูเลยนะ สงสารมาก โดยหัวใจเรานี่นะสังเวช แล้วสงสารจริงๆ แต่ แต่ถ้าออกไปยืนขวางเขานะ เราตายก่อน เขากระทืบตายเลย เพราะเราไม่มีศักยภาพที่จะไปขวางบุญกรรมของคนได้ทั้งหมด ถึงคราวสังคมมันเป็นไป นี่ไงเวลาเทศน์ตอนเช้าเห็นไหม ถึงต้องย้อนกลับมา เอาเราให้ได้ก่อน ถ้าเราได้ก่อนเรามีจุดยืนก่อน แล้วสอนคนที่เขาสนใจ แบบจะสอนน่ะ เราอยากจะให้ทุกคนเข้าใจ แล้วเราพยายามจะสอนไปก็ไม่ได้อีก

เวลาท่านเปรียบเทียบ เปรียบเทียบเหมือนคนนอนหลับ คนนอนหลับเราไปป้อนอาหารนะสำลักตายเลย คนนอนหลับหมายถึงใจมันหลับ มันไม่เอา ถ้าคนใจมันเอา บอกปั๊บ ไม่ต้องไปเทศน์ให้เขาฟังหรอก อยู่นี่ เขาเก็บเกี่ยวของเขาเอง มันต้องมีพื้นของเขาไง พื้นของเขา เพราะอะไรรู้ไหม เพราะสิ่งนี้มันอยู่ในใจ เราเปรียบเทียบบ่อยนะ คนป่วยไปหาหมอ ขนาดไหนนะ หมอเขาฉีดยาได้ แต่เวลาเราปฏิบัติ ให้ครูบาอาจารย์ฉีดสติ ฉีดปัญญาเข้าหัวใจเราไม่ได้ ต้องสร้างเอง มันยากตรงนี้

พระพุทธเจ้าถึงบอกเราควรบอกทางไง พระพุทธเจ้าเป็นคนบอกทางนะ พวกเราเป็นคนหาสมาธิเอง หาสติเอง หาทุกอย่างเอง เราต้องสร้างขึ้นมาเอง ไม่มีขายในท้องตลาด เกิดขึ้นจากใจเรา สร้างขึ้นๆ นี่พูดถึงคำว่า “วิปัสสนาหรือไม่วิปัสสนา” นั้นเวลาเมื่อวานเขาถามมุมกลับกับโยม เขาถามว่า “แล้วเมื่อไหร่จิตมันถึงได้วิปัสสนา”

เพราะเมื่อก่อนเขาติดตรงนี้แหละ เมื่อวานที่เขาถามน่ะเรา เมื่อวานที่ถาม คราวที่แล้วเราบอกเขาผิด เขาเถียงหัวปักหัวปำเลย เมื่อวานไฟฟ้านั่นน่ะ ฝ่ายผลิตเหมือนกันแต่ไม่ได้มากับพวกไอ้... แต่เมื่อวานเขามา เถียงใหญ่เลย ครั้งก่อนไง แล้วเขาคงเอาซีดีไปฟัง เมื่อวานมานะ

“นี่มันผิดหมดเลย ทำอย่างไรมันถึงได้วิปัสสนา ทำอย่างไรถึงเป็นสมถะ”

เราถึง เมื่อวานเราพูดอีกกรณีหนึ่ง กรณีที่ว่า เวลาพูดอย่างนี้ปั๊บ ทุกคนเขาจะแยกเป็นวิทยาศาสตร์ เมื่อไหร่จิตจะสงบ เมื่อไหร่จะได้วิปัสสนา เมื่อวานเราบอกเขาบอกว่า โดยสามัญสำนึก โดยข้อเท็จจริงของคนเกิดมาจากอวิชชา ทุกคนที่เกิดมานี่มีกิเลสมีอวิชชา มันถึงเป็นโลกล้วนๆ ความนึกความคิดเรานี่เป็นกิเลสล้วนๆ ถึงบอกว่า กิเลสล้วนๆ นะ แต่กิเลสฝ่ายดี อยากทำดี อยากทำดีก็คิดดี คิดดีนี่มันเป็นโลกียปัญญา โลก คิดโดยโลก คิดโดยเรา มันไม่เป็นธรรมหรอก แต่ก็ต้องคิดไป เพราะจากโลกนี่ ถ้าเราคิดจนมันสงบแล้ว มันจะเป็นธรรม

แต่ถ้าบอกว่า เราอยากปฏิบัติธรรมแล้วไปเอาธรรมเลย ก็แบบเราไปซื้อเทคโนโลยี แต่มันไม่มี ธรรมะนี่ต้องสร้างขึ้น สร้างขึ้นจากสิ่งที่ว่าของเราสกปรกให้มันสะอาด ใจที่มันไม่เป็นธรรมก็ให้เป็นธรรมขึ้นมา ใจที่มันเป็นโลกก็ให้เป็นธรรม ธรรมตรงไหน ธรรมตรงเป็นที่สมาธิไง สมาธิคืออะไร สมาธิคือตัวตน คืออีโก้ คือความเห็นของตัวนี่สงบตัวลง ถ้าทิฏฐิมานะเราสงบตัวลงนั้นคือสมาธิ เหตุที่ไม่เป็นสมาธิเพราะตัวตนเรามันแข็ง เราไม่เชื่อใคร เราเชื่อมั่นตัวเอง แล้วก็ทุกข์ฉิบหายเลย อยากได้สมาธิๆ แต่ตัวเองไม่เชื่อ ตัวเองทิฏฐิ

มันก็พุทโธๆๆ จนตัวตนนี่มันสงบลง ตัวตนนี่คือโลกไง คือเราไง คือทิฏฐิมานะไง โยมเวลามันสงบ ว่างๆ สบายใช่ไหม เวลามันว่างสบายไหม แล้วตัวตนมันอยู่ไหน ไอ้แข็งๆ กูๆๆ ไปไหน เพราะตัวนี้มันไม่มี มันสงบตัวลงเห็นไหม มันถึงเป็นสากลไง แล้วถ้ามันสากลนะ แล้วเวลาถ้ามันน้อมไปวิปัสสนา มันได้ชั่วคราว ชั่วคราวเพราะอะไรรู้ไหม ชั่วคราวเพราะเป็นสมาธิ ตัวตนมันสงบใช่ไหม มันก็เป็นกลาง เป็นสัจธรรม เป็นความจริง เป็นพลังงาน

ทีนี้พอเราวิปัสสนาสักบ่อยครั้งเข้า ตัวตนนี่มันจะคลายออกมา พอตัวตนเราคลายออกมาปั๊บมันก็มีเรา พอมีเรานี่มันก็มีความเห็น มันก็มีความยึด มันก็มีอยากได้อยากดี เห็นไหม ผิดอีกแล้ว ก็ต้องพุทโธๆๆ ให้ตัวตนนี่มันสงบเข้ามา นี่ไงที่เวลาหลวงตาท่านพูดกับหลวงปู่มั่นไง

“อ้าว! สมาธิๆ สัมมาสมาธินี่ ถ้ามันไม่ใช่สัมมาสมาธิแล้วสัมมาสมาธิในตำราจะมีไว้ทำไม”

หลวงปู่มั่นท่านตอบซึ้งมาก

“สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง คือมันไม่มีสมุทัย ไม่มีตัวตน แต่สัมมาสมาธิของท่านมันมีสมุทัย มันมีตัวตน มันมีตัวนี้อยู่”

แหม หลวงปู่มั่นเราฟังแล้วมันกินใจ พูดบ่อย ชอบมาพูดเพราะมันเห็นไง เห็นถึงสัมมาสมาธิที่ไม่มีตัวตน สัมมาสมาธิล้วนๆ สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้า สัมมาสมาธิของท่านมันมีสมุทัย มันมีตัวตน มันมีเรานี่บวก โอ้โฮ คนภาวนาเป็นนะ ใช่ๆๆๆๆ ซึ้งน่าดูเลย

แต่เวลาทางโลกเราไม่เข้าใจ ทำไมต้องทำสมาธิ สมาธิแก้กิเลสไม่ได้นะ ทำทำไมสมาธิ โอ๊ย สมถะแก้กิเลสไม่ได้ ไม่มีความจำเป็น

คนไม่เคยเป็น คนไม่เคยมี ก็ไม่รู้อะไรถูกอะไรผิด คนเคยมีรู้เลยว่ามีหรือไม่มีมันต่างกันอย่างไร ถ้าเคลียร์ตรงนี้ได้นะ แล้วทำอย่างเดิมก็ถูก ถ้าทำอย่างเดิมใช้สตินะ คือว่ามันหดเข้ามาแล้ว ให้มีสติไว้ ที่เขาพลาดกัน เขาพลาดตรงเขาว่า ใช้คำว่าวิปัสสนาสายตรง คือมันใช้ปัญญาแล้ว คือวิปัสสนา เพราะฉะนั้น คำว่าวิปัสสนามันคือการวิจัย การทำงานแล้ว พอจบกระบวนการมันคือผล คือมิจฉาสมาธิไง

แต่ถ้าเราเข้าใจ เราบอกนี่ไม่ใช่ นี้คือใช้ปัญญา ใช้ปัญญาไล่ตัวเราเอง พอมันสงบเข้ามาเห็นไหม มันไม่ใช่หายไป เพราะเรารู้ เรารู้ว่าเราปล่อยเข้ามา ก็คือมันเป็นสมาธิไง แต่เขานะ ปฏิเสธของที่มีอยู่ ทั้งๆ ที่เราปล่อยเข้ามานั่นคือสมาธิ แต่เขาบอกทำสมาธิน่ะผิด ต้องทำวิปัสสนา แล้วถ้าวิปัสสนาถูก โดยถูกต้อง มันก็คือสมาธิ เพราะมันยังไม่วิปัสสนา ไม่วิปัสสนาเพราะ เพราะมันไม่มีจิตไปวิปัสสนา มันใช้สามัญสำนึกคิดเอาเอง มันเลยไม่เป็นวิปัสสนา มันใช้สามัญสำนึกคิดเอาเองใช่ไหม

สามัญสำนึกของเราน่ะมันเศร้าหมอง ด้วยกิเลส ด้วยตัณหาทั้งหมด แล้วไปตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตัวเองเศร้าหมอง มือเราสกปรก ภาชนะเรามีแต่สารพิษ แล้วไปเอาธรรมพระพุทธเจ้ามาใส่ มันก็เลอะไปด้วย

แต่ถ้าภาชนะเราสะอาด เป็นสมาธิ เป็นวิปัสสนาธรรมพระพุทธเจ้า พอมันเข้ามามันก็เป็นผล นี่ไงมันมีผลอยู่ที่ตรงเพราะมีสมาธิไง แต่ของเขาเพราะไปปฏิเสธสมาธิไง ปฏิเสธตัวภาชนะ ตัวที่จะรับผลไง หลวงตาท่านพูดนะ ซึ้งมาก

“ภาชนะที่จะใส่ธรรมที่จะบรรจุธรรมมีหัวใจอย่างเดียว หัวใจอย่างเดียวเพราะมันเป็นข้อเท็จจริง พระไตรปิฎกมันเป็นกระดาษ มันเปื้อนหมึก มันไม่มีชีวิต มันไม่รับรู้ แต่ความรู้สึกของเราสัมผัสธรรม รับรู้ธรรม หัวใจอย่างเดียว หัวใจเท่านั้นที่สัมผัส ที่เป็นภาชนะใส่ธรรม แต่เพราะไม่รู้จักหัวใจ ไม่รู้จักสมาธิ ปล่อยวางมัน ปฏิเสธมัน ปฏิเสธภาชนะไง ปฏิเสธสิ่งที่จะไปบรรจุธรรมไง มันเป็นเพราะไม่รู้สอนกัน

เพราะเรื่องอย่างนี้นะ เรานี่นะ เป็นคนภาคกลาง ขึ้นไปอีสานใหม่ๆ เสียใจน้อยใจมาก เพราะไปใหม่ๆ ไม่รู้จักไง ไปน้อยใจว่าทำไมภาคกลางเรานี่ พระปฏิบัติหรือวงการปฏิบัติมันถึงอ่อนแอมาก ทำไมภาคอีสานเข้มแข็งมาก ก็พยายามไปศึกษาค้นคว้า แล้วมันถึงเข้าใจ เข้าใจว่าภาคกลาง ธรรมยุตินี่เกิดมาจากวัดราชา เกิดจากพระจอมเกล้าฯ ที่วัดราชาก่อน แล้วก็สร้างมาเป็นวัดบวร ทีนี้พอการเผยแผ่ การเผยแผ่แบบพระ เขาเรียกธรรมยุตนี่พระผู้ดี พระเป็นเจ้าฟ้าเจ้าคุณ มันจะไปตามทางรถไฟ

สมัยก่อนถนนยังไม่มี ไปทางรถไฟ ไปทางแหล่งน้ำ ธรรมยุตจะมีต่อรถไฟถึงไหน เพราะอำนาจรัฐ อำนาจคนปกครองจะมีธรรมยุต แล้วทางอีสานมีเฉพาะที่อุบล แล้วพอหลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติแล้วท่านเผยแผ่ไป เวลาลง วัดทางภาคอีสานเวลาลง ลงกรรมฐาน แต่ในภาคกลางทางธรรมยุต ลงในทางวิชาการไง เราก็ เออ พยายามดูนะมันเป็นอย่างไร อย่างนั้นก็ถือว่ามันเป็นบุญเป็นกรรม แล้วก็ศึกษากับครูบาอาจารย์ ศึกษามาก เพราะถือว่าเป็นคนภาคกลาง

คนภาคกลางนี่เป็นพุทธปัญญา พุทธิปัญญา ไม่ใช่ศรัทธาจริต พุทธจริต ฉะนั้นถ้าไม่มีเหตุผลจะไม่ฟัง พยายามรื้อค้นศึกษาเรื่องนี้มาก ศึกษาที่มาที่ไปทั้งหมด ทีนี้ศึกษานี่ก็เข้ามาตรงนี้แล้ว เข้าไปที่หลวงปู่มั่น จะไปหาหลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตา จะคุยกับท่านถามปัญหาท่านเยอะมาก ว่าสมัยหลวงปู่มั่นทำอย่างไรๆ ท่านพูดมาถึงตรงนี้ไง ตรงที่ว่า ขณะที่หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติขึ้นมาแล้ว ท่านวางกรรมฐาน เมื่อก่อนทุกคนคิดว่ามรรคผลมันหมดสมัย มันทำกันไม่ได้แล้ว ทุกคนไม่เชื่อหรอก แต่พอหลวงปู่มั่นหลวงปู่เสาร์ท่านทำแล้วได้ผล แล้วท่านอธิบายได้ แล้วคนปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วได้ผลจริง มันก็ฮือฮาขึ้นมา ตื่นตัวมาก ชาวพุทธตื่นตัวมาก

ทีนี้พอตื่นตัวมาก ทางนั้นเขาก็ไปเอาอภิธรรมเข้ามา เพราะเขาไม่มีทฤษฎีปฏิบัติประกบไง พอไปเอาอภิธรรมเข้ามา เขามันก็มีการต่อต้าน มีแรงเสียดสีพอสมควร แล้วทางฝ่ายปกครองเขาก็เอาตำรานี่ส่งไปให้หลวงปู่มั่นดู หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟังเองนะว่าหลวงปู่มั่นพูดอย่างนี้

“เจี๊ยะเอ๋ย เจี๊ยะดูนี่หน่อย”

เขาก็ดู “อย่างนี้มันแค่สมาธิ”

“เออ”

หลวงปู่มั่นท่านก็สลดใจแต่ท่านพูดวงในเพราะมันพูดออกมาแล้วมันเหมือนกับการแข่งขัน แต่เป็นธรรมนะ ท่านบอกว่า คำนี้คำหลวงปู่มั่น ท่านบอกท่านเสียใจมาก ว่าพุทโธนี่ทำสมาธิเป็นพุทธภาษิต คำสอนกรรมฐานเรานี่หลวงปู่มั่นเอามาเป็นกรรมฐาน ๔๐ ห้อง พุทโธนี่มันเป็นกรรมฐาน ๔๐ ห้อง มันอยู่ในพระไตรปิฎก เป็นพุทธภาษิต นามรูป การเคลื่อนไหวอะไรของเขามันเป็นสาวกภาษิต ทีนี้คำว่าสาวกภาษิต เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ก็เป็นสาวกภาษิต แต่สาวกภาษิต สาวกที่รู้จริงมันก็เทศน์ได้เหมือนกัน คือสอนได้ ผู้รู้จริงสอนแล้วมันจะจริงหมดไง

แต่ผู้ที่ไม่จริง แต่ถ้าเรา ประสาเรา โดยที่ยังไม่มีใครรู้จริงมันก็ต้องยึดพุทธภาษิตก่อน พุทธภาษิต กรรมฐาน ๔๐ ห้อง เห็นไหม พุทโธ เห็นไหม พุทโธ ธัมโม สังโฆ มันก็เป็นกรรมฐาน ๔๐ ห้องใช่ไหม แล้วนามรูป ยุบหนอพองหนอ มันอยู่ตรงไหนของพระไตรปิฎกวะ ไม่มีหรอก เวลาครูบาอาจารย์เราท่านพูดกันวงในนะท่านสลดใจนะ คือว่าศาสนาเรานี่มันจะสะอาดบริสุทธิ์ มีหลักมีเกณฑ์ แต่เพราะด้วยกิเลส ด้วยความอยากตีตนเสมอ ด้วยอะไรต่างๆ ก็ไปเอาอะไรเข้ามาโดยที่ตัวเองไม่รู้

วงในนี่พูดอะไรกันเยอะนะ แต่เก็บกันไว้ แล้วเราพยายามศึกษา พอเราได้ถึงตรงนั้นปุ๊บ นี่คือหลัก คือหลวงปู่มั่นท่านก็รู้ ครูบาอาจารย์รู้หมด แต่พูดออกมามันจะฝืนกระแสสังคมอะไรไหวไหม ถ้าพูดประสาเรานะ สรุปเลยล่ะ มันเป็นการเมือง การเมืองของพระ พอเป็นการเมืองของพระ ชาวพุทธก็เลยตาดีได้ ตาร้ายอด ชาวพุทธก็เลยต้องเป็นอย่างนั้น ตาดีได้ ตาร้ายอด เนอะ

มีอะไรอีกไหม มีอะไรก็ว่ามา จบเลย

ดีอย่างหนึ่ง วันนี้พูดนี่พูดดี นี่อัดเทปไว้แล้วต่อไปถ้าใครไปฟัง ให้ไปใช้ปัญญาของตัวเองเป็นประโยชน์กันเอาเองก็แล้วกัน มันก็เป็นประโยชน์แต่ถ้าพูดออกไปข้างนอก เวลาเราพูดกันระหว่างตัวตนมันมีแบบว่าได้เสีย มันมีเขามีเรามันแบ่งข้างแล้วปะทะไม่ดีเลย แต่นี่เราพูดประโยชน์กับชาวพุทธ แต่จริงๆ นะกับเขา กับพวกเขาใครก็ได้ แต่เวลาจริงๆ พอเขาเจอของจริงเขาจะหลบ พวกนี้ เวลาด้วยข้อธรรมะ เวลาเขาเจอของจริงเขาจะหลบเลย แต่ถ้าเขาเจอคนไม่รู้นะเขาจะขี่ มันเลยไม่ได้ประโยชน์ไง

เราเคยไปแล้วเราเคยคุยมาเยอะ มันก็ต้องเป็นกรรมของสัตว์ แล้วแต่กรรมของสัตว์ สัตว์ตัวไหนมีกรรมดีมันก็จะเอาแต่สิ่งที่ดี ถ้าสัตว์ตัวไหนมันจะเอาสะดวกสบายไง เพราะเขาพูดคำนี้นะเวลาเขามากันน่ะ พวกหมอทั้งนั้นมาจาก... อ้าว มันเป็นวิทยาศาสตร์นะ มันพิสูจน์ได้นะ สบายๆ โอ้โฮ เรานี่เศร้าใจฉิบหายเลยนะ สบายๆ ไอ้เบิร์ดมันร้องเพราะกว่ามึงเนอะมึง เนอะ เอวัง