ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คณะศรัทธาเช้า

๓๑ ธ.ค. ๒๕๕๑

 

คณะศรัทธาเช้า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราปฏิบัติกัน เราเข้าใจของเราเห็นไหม เพราะความเข้าใจของสังคมไทยบอกว่า “การปฏิบัติ ผลของมันคือความว่าง คือความสบาย” บอกว่า “เป็นความว่างความสบาย” มันถูกต้อง มันเป็นความว่าง แต่มันต้องเป็นผู้ใหญ่ ความว่างของผู้รู้จริง ความว่างของเด็กๆ ความว่างของเรานี่ เราว่ามันเป็นความว่าง เราคิดว่าเป็นความว่าง แต่เราไปสร้างว่ามันว่าง มันก็เลยไม่เป็นความว่างจริง

อย่างเช่น เวลาเรากินอาหาร ลิ้นของคนนี้ไม่เหมือนกันนะ รสชาติของอาหารไม่เหมือนกัน จะบอกว่าลิ้นนี้ว่าง คือ ลิ้นไม่รู้จักรสไม่ได้ ลิ้นของคนนี่ไม่สัมผัสรส ไม่รู้รส มันจะเป็นไปได้อย่างไร ลิ้นของคนนี่ ถ้ามีสิ่งที่เข้าไปสัมผัส มันต้องรู้รสชาติ

จิตก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นความว่างนี่เห็นไหม ปริยัติ เขาจะบอกว่ากรรมฐานนี่ชอบพูดเล่นลิ้น กายนอก กายใน กายในกายเห็นไหม ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ อะไรนี่ บอกว่าเล่นลิ้น ทำไมไม่พูดให้มันตายตัวล่ะ หาว่าเล่นลิ้นไง แต่ไม่ใช่เล่นลิ้น มันเป็นลิ้นจริงๆ ความสัมผัสของลิ้น รสเผ็ด รสเค็ม รสหวาน รสเปรี้ยว รสเปรี้ยวน้อยเปรี้ยวมาก หวานน้อยหวานมาก รสเผ็ด กินมากเผ็ดนี่เผ็ดจน อู้ฮู ตัวเนื้อสั่นเลย ทีนี้ถ้ารสเผ็ดมันก็ต้องแสดงออกเป็นธรรมดาใช่ไหม

จิตก็เหมือนกัน สงบมากสงบน้อย หลักการมันแล้วแต่ว่ามันจะได้สัมผัสมากสัมผัสน้อยของมัน ความสัมผัสมากสัมผัสน้อยนี่มันก็ไม่ใช่ว่าต้องเป็นอย่างนั้น เพราะอย่างเช่นเรากินอาหารนี่ เราไม่กินรสจัด ทำไมอาหารเราต้องรสจัดล่ะ รสจัดจะมีประโยชน์อะไรกับเรา ถ้าเราไม่ชอบรสจัด รสอาหารพอดีของเรานี่ เรากินอาหารอย่างนั้น เราก็พอใจใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน การแก้กิเลส ในเมื่ออาวุธ ในเมื่อปัญญามันทันกับกิเลสอย่างนั้นมันก็แก้กิเลสได้ แต่ถ้าเราเป็นคนกิเลสหนา เราเป็นคนมีสิ่งที่ว่ามันฝังใจเยอะมาก การที่จะปฏิบัติของเรา มันก็ต้องเอาสิ่งที่เข้มข้นเข้าไปจำกัดความคิดที่หนา ที่อยู่ลึกในหัวใจของเรา เวลาปฏิบัติไปนะมันจะมีนะ

หลวงตาท่านบอกเลยว่า “จิตของคนนี่มันไม่เหมือนกัน การปฏิบัติของคนนี่มันไม่เท่ากัน สิ่งที่สร้างบารมีมาไม่เท่ากัน”

ในวงการกรรมฐานเขาเรียกว่า “จิตคึกคะนอง” ถ้าจิตคึกคะนอง เวลามันจะลงสมาธินี่มันจะโลดโผนมาก มันจะมีอะไรต่างๆที่ขึ้นมา ก่อนที่จะเข้ามาสมาธิ มันจะมีอาการของใจ อย่างพอจิตมันสงบ มันจะเห็นตัวเองนี่ขึ้นไปนะ หลุดออกไป ไปนั่งบนก้อนเมฆอะไรอย่างนี้ แล้วถ้าเป็นวิทยาศาสตร์เขาว่าโม้นะ เขาว่าเป็นไปไม่ได้

แต่ถ้าคนไม่เป็นมันก็ไม่มีนะ แต่ถ้าคนเป็นจิตประเภทนั้น ครูบาอาจารย์บอกว่า จิตประเภทนี้ ใน ๑๐๐ นี่มันจะมีอยู่ ๕ เปอร์เซ็นต์ ในหมู่ปฏิบัตินี่มันมีอยู่ ๕ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็จิตประเภทที่ว่าเป็นสมาธิที่ได้ลึกแน่วแน่ เป็นสมาธิโดยปานกลาง จิตของคนมันไม่เหมือนกัน เราถึงบอกว่า

“ลิ้นของคนมันไม่เท่ากัน ลิ้นของคนรับรสชาติอาหารก็ไม่เหมือนกัน”

ทีนี้ไม่เหมือนกัน มันก็ต้องสำคัญที่ผู้คอยควบคุมใช่ไหม อาจารย์ที่สอน คิดดูสิใน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นี่จิตประเภทนี้มันมีอยู่ ๕ เปอร์เซ็นต์ คน ๕ เปอร์เซ็นต์กับคน ๙๕ เปอร์เซ็นต์ไปเถียงกัน ใครจะชนะ ถ้าเอาจำนวนประชาธิปไตยด้วยการยกมือกันนี่ ๕ เปอร์เซ็นต์ก็แพ้วันยังค่ำ ถ้าแพ้วันยังค่ำก็บอกว่า “การปฏิบัติของเขาคือความผิด” แล้วมันผิดจริงหรือเปล่า มันไม่ผิด มันถูกในจำนวนของ ๕ เปอร์เซ็นต์นั้น มันถูกในจำนวนของ ๙๕ เปอร์เซ็นต์นั้น มันถูกในจำนวนของกี่เปอร์เซ็นต์ของจิตนะ

ทีนี้เรามายกที่ว่ามันว่างๆว่างๆ อย่างนี้นะ เราไปเคลมกันเองไง เราไปคิดว่าสิ่งนี้เป็นความว่าง แล้วเราก็ว่าว่าง เราไปเคลมกันเองคือจิตมันสร้างภาพ ทีนี้พอเราไม่มีหลักเกณฑ์ใช่ไหม พอจิตมันสร้างอาการอย่างนี้ขึ้นมา แล้วไปอ่านในพระไตรปิฎก อ้าว..ก็จริงๆ พระพุทธเจ้าสอนให้ว่าง ให้ปล่อยวาง มันจะว่างหรือมันจะปล่อยวาง มันไม่ใช่ว่างอย่างที่เราว่ากันหรอก แต่มันจะปล่อยวางโดยความเป็นจริงของมัน

เหมือนกับเราไปรักษาโรคเลย เราต้องให้หมอวินิจฉัยก่อนว่าเราเป็นโรคอะไร ใช้ยาอะไร แก้กันอย่างไร แล้วมันหายอย่างไร นั่นเหตุผลมันต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะไปหาหมอ เราจะรักษา แล้วเราไม่ทำอะไรเลย แล้วบอกว่าเราหายแล้ว เจ็บป่วยเกือบตาย เข้าโรงพยาบาลแล้วก็เดินออก หายไหม เป็นไปไม่ได้หรอก เจ็บป่วยต้องเข้าไปโรงพยาบาลนะ หมอก็ต้องวินิจฉัยก่อนใช่ไหม แล้วโรคอาการหนักไม่หนัก เขาก็ต้องรักษาไปตามอาการอย่างนั้น

จิตของเราก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติเราจะไปเจอสิ่งใด สิ่งใดจะเป็นอุปสรรคกับเรา ทีนี้มันก็ย้อนกลับมาที่ว่า มันเป็นอุปสรรคของทุกๆคน เพราะทุกๆ คนมีกิเลสนะ นี่ทุกๆคนที่เขาเกิดมาทั้งหมด แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเห็นไหม มีครอบครัว มีกิเลสไหม มีทั้งนั้นละ

ถ้ามีการเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมา ที่นั่งกันอยู่เป็นมนุษย์ทั้งหมดเลย นี่มีกิเลสหมด ทีนี้พอมีกิเลส คำว่ากิเลส คือ โรคภัยไข้เจ็บประจำหัวใจ แล้วทุกคนต้องแก้ไขตรงนี้ไง ทุกคนถึงมีหมด ทุกคนถึงต้องแก้ไขความเป็นไปในหัวใจของเรา โดยซึ่งหน้าของเรา ทีนี้พอแก้กิเลสเข้าไปนี่ เราจะแก้กิเลส กิเลสนี้มันถึงต่อต้าน มันถึงผลักดัน เวลาเราปฏิบัติกันนี่ที่ว่าเราปฏิบัติแล้ว ทำไมมันทุกข์ ทำไมมันยาก

แต่เวลาทุกข์ยากแล้วก็จะหนีนะ พอมันทุกข์มันยากต้องอาบเหงื่อต่างน้ำนี่ หนีแล้ว เข้าหาทางลัด ไม่รู้เลยว่านั่นล่ะกิเลสซ้อนกิเลส ทั้งๆ ที่เราปฏิบัติตามข้อเท็จจริงนี่มันทุกข์มันยากอยู่แล้วนะ แล้วถ้าเป็นข้อเท็จจริง เราทำไปตามจริง ถ้ามันเป็นสมาธิ ก็สมาธิจริงๆ ถ้ามันเป็นปัญญา ก็ปัญญาจริงๆ แล้วก็ต้องลงทุนลงแรงกว่าจะได้มาแต่ละขั้นแต่ละตอน แต่ละความรับรู้อันนั้น แล้วเราเห็นว่ามันเป็นความทุกข์ เราปฏิบัติแล้วมันต้องสะดวกสบาย ก็จะปฏิบัติเอาง่ายๆ กำหนดกันเฉยๆ ว่างๆว่างๆ กันอยู่อย่างนั้นล่ะ

นี่ไงที่ว่ามันเป็นเท็จ มันเป็นเท็จเพราะว่าถ้าเราไปกำหนดว่างๆว่างๆนี่ มันไม่เป็นความจริง เราสร้างไง กิเลส อุปกิเลส โอภายิกังคะ ความว่าง ความสว่างไสวทุกอย่างนี่ มันเป็นอุปกิเลสนะ มันเป็นกิเลสอย่างละเอียด ไปเปิดในพระไตรปิฎกสิ กิเลส ๑๖ ไง อุปกิเลส ๑๖ เห็นไหม กิเลส ๑๕๐๐ ตัณหา ๕๐๐ นี่ แตกปั๊บไปอุปกิเลส มันจะมีของมันอีก

ทีนี้พอเราไปสร้างให้มันว่างๆว่างๆนี่ เราสร้างไง พอมันสร้างคือ คำว่าอุปกิเลส กิเลสมันมีอยู่แล้วใช่ไหม แล้วเราสร้างเป็นอย่างนั้นแต่เราเข้าใจว่าธรรม ก็ในธรรมวินัยก็บอกว่าปล่อยวาง ว่าง แล้วในอุปกิเลสเห็นไหม โอภาส ความสว่าง ความว่าง นี่มันก็ไปอยู่ในอุปกิเลส ๑๖ แต่เราบอกว่า “ถ้าเป็นความว่าง เป็นการปล่อยวาง เป็นธรรมะ”

อ้าว..เอาใครถูกใครผิดล่ะ ธรรมะจะขัดแย้งกันไม่ได้ ธรรมของพระพุทธเจ้าจะไปในช่องในทางเดียวกัน ทีนี้ความว่างที่เป็นสมาธินี่มันเป็นอาวุธ มันเป็นกำลัง มันเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่จะมาทำลายกิเลสไง ความว่างอย่างนี้มันเป็นอาวุธนะ เป็นสัมมาสมาธิ เป็นกำลังของใจ แต่มันไม่ใช่เป็นตัวธรรม

ตัวธรรมะ คือ ตัวที่สิ้นกิเลสที่เป็นผล มันเป็นกิริยาเห็นไหม ปัญญาชอบ งานชอบ เพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ ไอ้นี่มันเป็นอาวุธนะ มันเป็นสัจธรรมที่เราจะเอาสิ่งนี้ แล้วเข้าไปต่อสู้กับกิเลสเราอีกชั้นหนึ่ง ฉะนั้นพอคิดว่า ถ้าเราจะทำความสงบ ครูบาอาจารย์เราบอกว่า ต้องทำความสงบก่อน ให้มันสงบเข้ามา ถ้าสงบเข้ามาแล้ว ถ้าเกิดเป็นปัญญาขึ้นมา มันจะเป็นปัญญาฆ่ากิเลส

แต่ตอนนี้เรายังไม่สงบกันเลย แล้วเราก็ใช้ปัญญา ก็เลยเป็นปัญญาที่ตัดทอนเราไง ตัดทอนโอกาส ตัดทอนในการประพฤติปฏิบัติของเรา เพราะคิด เราคิด นี่เขาเรียกว่าติด ถ้าคนไม่เคยติดอย่างนี้เขาจะไม่เข้าใจ ถ้าคนติดนะ เวลาเรานั่งสมาธิไป เราใช้วิปัสสนาไป พอมันปล่อยวางมันว่างนี่มันจะให้ค่าเลย อันนี้โสดาบัน อันนี้สกิทาคามี อันนี้อนาคามี พอมันให้ค่าใช่ไหม เหมือนเราได้หัวโขนแล้ว ทีนี้จะเอาไปทำอะไรเราก็ต้องคอยจับหัวโขนเราไว้ กลัวหัวโขนจะหลุดไง

พอมันให้ค่าว่าเป็นโสดาบัน เวลามันภาวนาไปมันจะมีปัญญาหรือจะมีอะไรออกไปนอก หรือดำเนินไปที่มันลึกกว่านี้ มันบอกไม่เอาเพราะกลัวว่าโสดาบันจะหาย โสดาบันมันจะกลับไหม นี่เขาเรียกติด ติดตรงไหน เหมือนสวะเลย สวะติดที่ไหนนะ จิตมันติดตรงไหนนะแล้วมันแก้ยาก

ทีนี้เราเข้าใจผิดใช่ไหมว่าความว่างอย่างนี้มันเป็นผล พอมันเป็นผลปั๊บ พอปฏิบัติไป จิตนี่มันจะพุ่งเข้าหาความว่างตรงนี้ พุ่งเข้าหาตรงนี้ ทั้งๆ ที่ตรงนี้เป็นฝ่ายติดนะ เป็นสิ่งที่จิตมันสร้าง แล้วพอเราติดขึ้นมานี่มันจะไม่ไปแล้ว มันจะติดตรงนี้ เขาเรียกว่า ภาวนาติด แล้วติดนี่ดูสิ เวลานั่งภาวนาเห็นไหม อะไรที่มันฝังใจ พอจิตมันเป็นไปมันจะถึงตรงนั้นทันทีเลย ใครที่มีอะไรฝังใจไว้ พอภาวนาไป ตรงนั้นจะแสดงตัวออกมาทันที

แล้วถ้าจิตมันติด ทีนี้พอเราไปศึกษาใช่ไหมว่าว่าง ว่าความว่างนี่เป็นธรรม พอมันเป็นธรรมนี่ แล้วเราทำให้ว่างได้ไหม ได้ ว่างอย่างนี้มันว่างจากอาการ ว่างจากความคิด แต่ตัวมันเองนี่ไม่ว่าง มันว่างขึ้นมาจากความคิด เพราะเรามีความคิดนี่มันจะฟุ้งซ่าน มันจะเป็นความคิดออกไป เราก็คิดให้มันว่าง มันก็ว่างเข้ามา

แต่ฟังสิ เราคิดให้ว่างไง มันก็ปล่อยความคิดขึ้นมา แต่ตัวมันไม่ว่างเห็นไหม ตัวมันยังเป็นกิเลสทั้งตัวเลย พอมันเป็นกิเลสทั้งตัวนี่ มันไม่รู้ตัวมันเอง มันติดไหม นี่ไงที่มันติดไง ที่เขาว่าติดๆกันนี่ ว่างๆว่างๆ แล้วสบาย สบายมากนะ อ้าว..สบายสิ ก็คนมันนอนตีแปลงอยู่ ไม่ทำอะไรเลย มันก็สบายสิ แต่พอจะมากำหนดพุทโธนี่ โอ้โฮ ไม่เอาล่ะ ทุกข์ยาก ไม่ดีเลย เครียด

ความคิดนี่ถ้ามันคิดผิดมันก็จะออกนอกลู่นอกทาง ความคิดที่ถูก เป้าหมายที่ถูก เรามีแผนที่ แล้วเราจะเดินเข้าสู่เป้าหมายของเรานี่ เราต้องเดินตามทางนั้น พอเดินตามทางนั้น มันก็จะมีขวากมีหนามใช่ไหม แดดร้อนต้องฝ่าทุ่งหญ้า ฝ่าความลำบากลำบน มันก็ไม่เอา แต่ถ้าบอกว่าให้ทำความสบายๆ ของตัว ว่างๆว่างๆ เห็นไหม ไม่ต้องทำอะไรเลยกำหนดอะไรก็ว่าง มันสร้างว่าว่างไง เหมือนดูแผนที่เลย แล้วบอกว่าแผนที่นี้ เราอ่านแล้วเราเข้าใจว่าเราไปถึงแล้ว แต่ไม่ได้ไปเลย

มันเสียดายโอกาสนะ ปฏิบัติไปนี่มันมีสัมมามีมิจฉาตลอด ถ้ามันมิจฉานะ อย่างน้อยก็ทำให้เราเสียเวลา อย่างมากทำให้เราเสียเลยคือติด แล้วถ้ามันปฏิบัติไปนะ มันไปเห็นอะไรแล้วตกใจนะ แล้วหลุดนี่ไปอีกเรื่องหนึ่งเลย แล้วเวลาหลุดขึ้นมาแล้วนี่ เวลาหลุดขึ้นมาก็ปิดกันไว้ ไม่ยอมแก้ไข มีสำนักบางสำนักนะ บอกว่า “การหลุดนี่มันเป็นเรื่องธรรมดา” เราไปเห็นเข้างงเลยนะ “การหลุดนี่เป็นเรื่องธรรมดา ในการปฏิบัตินี่จะมีหลุดอยู่ ๕ เปอร์เซ็นต์” ฉะนั้นถ้าใครหลุดปั๊บก็คือ ๕ เปอร์เซ็นต์นั้น คือว่ามันจะไม่รับผิดชอบอะไรเลย

โอ้โฮ มันพูดอย่างนี้ได้อย่างไร เพราะอะไรรู้ไหม มันไม่มี ๕ เปอร์เซ็นต์หรอก ทุกคนเกิดทุกคนตาย มันก็เป็นจิตหนึ่งทั้งนั้น ทุกจิตหนึ่งก็มีกรรมทั้งนั้น มันจะไปคัดอย่างไรว่า ๕ เปอร์เซ็นต์นี้ต้องมาภาวนา แล้วต้องมาหลุด แล้วอีก ๙๕ เปอร์เซ็นต์นั้นไม่หลุด แล้วไม่หลุดจะภาวนาได้ไหม มันก็ไม่ได้อีก คือเขาจะสร้างทฤษฏีเอาไว้เพื่อเอาตัวรอด พอมีสิ่งใดเข้ามา เขาก็ปัดเข้า ๕ เปอร์เซ็นต์นั้นไง ไม่รับผิดชอบอะไรเลย อย่างนี้จะมาเป็นอาจารย์เขาทำไม

แต่สำหรับในธรรมะนี้นะ จิตทุกดวงเป็นเอกภาพของจิตดวงนั้น คนเกิดทุกคนเป็นเอกภาพของเราเอง เราจะเกิดตาย..เกิดตาย..มาของเรา ไม่เข้าอยู่ในเปอร์เซ็นต์ไหนทั้งสิ้น ในเมื่อสิทธิของเรานี่ จิตของเรานี่มันเกิดตายในเอกภาพ เอกภาพ หมายถึง อดีตชาติแล้วมาเกิดในปัจจุบันนี้ แล้วถ้าไม่สำเร็จมันจะเกิดในอนาคตนี้ เอกภาพ คือ จิตดวงนี้มันมีเวรมีกรรมของมัน มันต้องรับเวรรับกรรมของมันโดยธรรมชาติของมัน นี่คือเอกภาพของมัน

ในเอกภาพของจิตดวงนี้ ถ้ามันภาวนา ถ้ามีครูบาอาจารย์ชี้นำที่ถูกต้องนี่ มันก็สามารถเข้าไปชำระล้างก้นบึ้งของมัน ก้นบึ้ง คือ จิตใต้สำนึก จิตก่อนสำนึก กิเลสไม่ได้อยู่ที่ความคิดเราหรอก กิเลสมันอยู่จิตใต้สำนึก มันอยู่ที่จิตก่อนสำนึก โสดาบันมันตัดออกไปชั้นหนึ่ง สกิทาคามีตัดอีกชั้นหนึ่ง อนาคามีตัดอีกชั้นหนึ่ง จนถึงที่สุดระเบิดทำลายตัวมันหมด นั่นคือถึงสิ้นกิเลส พอสิ้นกิเลสไปนี่มันจบ

ทีนี้คำว่าเป็นเอกภาพ แล้วมาบอกว่า จะคัดให้เราไปอยู่ในเปอร์เซ็นต์ใด มันเป็นไปไม่ได้ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนชี้ทางบอกทางเท่านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาบัญญัติว่าคนนี้มีกรรมหรือคนนี้ไม่มีกรรมไม่ได้

เพราะศาสนาพุทธ เป็นศาสนาแห่งปัญญา แล้วก็บอกว่าศาสนาพุทธนี้ยุ่งยากมาก ถ้าไม่เชื่อก็เป็นบาป ไม่จริง ถ้าไม่เชื่อไม่เป็นบาป ในศาสนาอื่นลัทธิอื่นนะ เขาไม่เชื่อศาสนาพุทธเขาเป็นบาปไหม เขาไม่ได้เป็นบาปกับศาสนาพุทธนะ แต่เขาจะเป็นบาปเป็นกรรมกับตัวเขาเอง ถ้าเขาทำบาปทำกรรมของเขา นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เชื่อนี่ไม่บาป แต่ส่วนใหญ่แล้วคนมีกิเลส พอไม่เชื่อแล้วมันจะหาเหตุหาผล พอหาเหตุหาผลก็บอกว่า ขี้โม้ อวดเก่ง พูดอะไรที่มันเหลือเชื่อ หรือคิดติเตียน

มันเป็นตรงนี้หรอก เวลาที่เป็นกรรมนี้เพราะว่าติเตียนพระอริยเจ้า ติเตียนเหมือนกับเราหาเหตุผล คือเราลบล้าง ถ้าพูดประสาโลก คือด่า ว่าอย่างนั้นเถอะ มันจะด่าในจิตในอะไรก็แล้วแต่ มันคิดออกมาไง มันบาปตรงนี้ มันบาปต่อเมื่อเราไปลบล้าง เราไปหาเหตุผลลบล้างท่าน แต่ถ้าเราไม่เชื่อมันจะเป็นบาปได้อย่างไร อ้าว..ไม่เชื่อมันไม่มีเหตุมีผลที่มันจะเป็นบาป มันไม่มีหรอก

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา แล้วถ้าพูดติเตียนพระอริยเจ้าว่าเป็นบาป แต่ทำไมพระพุทธเจ้าสอนว่า “ให้กาลามสูตร” เห็นไหมอย่าเชื่อเพราะว่าเป็นอาจารย์ของเรา แต่ให้พิสูจน์ ถ้าพิสูจน์ขึ้นมา ถ้าทำของเราขึ้นมาเห็นไหม จิตนี่มันจะเป็นเอกภาพ คือ บุญก็เป็นของมัน บาปก็เป็นของมัน แล้วครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติเห็นไหม ท่านก็ต้องปฏิบัติไปตามจิตดวงนั้นไง จิตดวงนั้นมันทำขึ้นมาแล้วมันได้ประโยชน์ขึ้นมา มันดีขึ้นมาหรืออย่างไร มันต้องทำไป

ถ้ามันไม่ดีขึ้นมา อย่างเช่นที่ว่าในปัจจุบันนี้ที่เราปฏิบัติกัน การปฏิบัติมันมีหลากหลายมาก แล้วทำไมเราชอบเส้นทางนั้น เราชอบเส้นทางนี้ คนเราไม่ได้คิดถึงสมัยพุทธกาลนะ พระพุทธเจ้าเผยแผ่ศาสนา เดียรถีย์นี่มหาศาลเลย แล้วเดียรถีย์ นิครนถ์ต่างๆในสมัยพุทธกาลนี่มันก็เวียนตายเวียนเกิด แล้วก็มาเจอกันอยู่นี่ไง แต่ตอนนี้ไม่มีใครสามารถสร้างลัทธิศาสนาขึ้นมาเทียบศาสนาพุทธใช่ไหม ก็เข้ามาเป็นพระ แต่ทิฐิของมันก็ยังเป็นอย่างนั้นแหละ

ทีนี้มันเป็นทิฐิ มันเป็นความเห็นผิดมาตั้งแต่หัวใจ แล้วพอความเห็นผิดนี่ เขาไม่คิดว่านั่นคือทิฐินะ แต่เขาคิดว่าคือปัญญาของเขานะ เวลาเขาพูดเขาแสดงธรรมเขาว่าเป็นปัญญาของเขา แต่ถ้าเป็นปัญญาจริงนี้มันจะเข้าอันเดียวกับอริยสัจ มันจะเข้าอันเดียวกับความจริง แต่นี่มันไม่เข้า มันโต้แย้งได้ตรงนี้ ความเห็นที่ว่า ว่างๆว่างๆ ทำไมถึงว่าง

เราจะบอกเลยว่าแม้แต่สมาธิก็พูดผิด ถ้าสมาธินี้พูดผิดแสดงว่าไม่เคยสัมผัสสมาธิ ถ้าตัวเองไม่เคยสัมผัสสมาธินี่ ปัญญาที่เกิดอยู่กับเขาก็เป็นโลกียปัญญา คือปัญญาของกิเลส ปัญญาจากตัวตน ปัญญาจากทิฐิ ปัญญาจากความเห็น มันไม่ใช่ปัญญาจากธรรม ถ้าปัญญาจากธรรมนะ จิตมันจะมีการกระทำมา มันมีเหตุมีผลของมัน

พอมีเหตุมีผลเห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์สอน ตรงนี้สำคัญ มันสำคัญที่ว่า สิ่งที่จะเสียหายนี้มันก็เริ่มมาจากของเล็กน้อย ฉะนั้นเวลาเรามาวัดมาวา เห็นไหมเวลาครูบาอาจารย์นี้ท่านจะเคารพสถานที่ การเคารพสถานที่ ซึ่งเป็นที่อยู่ของผู้มีศีลผู้มีธรรมนี้ เราจะเคารพ เราจะบูชากัน ถ้าเคารพบูชานี้กิเลสมันจะไม่พองออกมา

แล้วเวลาข้อวัตรปฏิบัติ ก็เหมือนกับมันเปิดให้เรามีโอกาสเข้าไปถึงจิตใจเราได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าเรากระด้าง เขาเรียกว่ากระด้าง ประชาธิปไตย เสมอภาค ทุกอย่างเหมือนกันหมด จิตมันก็กระด้าง จิตมันไม่สนใจ ไม่เปิด ไม่รับรู้ ทีนี้พอพูดอะไรไปมันก็จะรู้ได้เฉพาะวิทยาศาสตร์ ข้อเท็จจริงที่รู้ได้ คือเรื่องโลก พอเรื่องโลกแล้วมันจะลงสมาธิได้อย่างไร ในเมื่อตัวตนของมันยังแข็งอยู่

แต่ถ้ามีความเชื่อมีความศรัทธา มีความเชื่อศรัทธานี้อันหนึ่งนะ แล้วเวลาสัมผัส พอเวลาจิตมันเป็นสติเข้ามา เช่น เรามีความคิด แล้วถ้าเราควบคุมความคิดได้ มันจะมีความแตกต่างกับที่มันคิดฟุ้งซ่านคิดทุกข์ กับที่มันคิดแล้วมันเป็นคุณงามความดี เราเทียบได้หมดแหละ เราจะเห็นโทษเอง เราเห็นคุณค่าของมันเอง

แล้วถ้ามันละเอียดเข้ามา ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เห็นไหม ทีนี้คำว่าสมาธินี่มันอยู่ที่จริตนะ ตรงนี้สำคัญมากนะ จะกำหนดอะไรก็แล้วแต่ เวลามันว่างๆว่างๆ เห็นไหม เวลาเราพูดกับโยมนะ ว่างๆว่างๆนี่ เราให้อยู่กับว่างก่อน เพราะอะไรรู้ไหม เพราะธรรมดาคนแบกหามมานี้มันเหนื่อยมาก อย่างเช่นเราจะแบกของขึ้นเขา เขานี้มันสูงมาก เวลาเราไปถึงซัก ๕๐ เมตร ๑๐๐ เมตร เราอาจจะวางพักที่นั่นก่อนก็ได้ แล้วค่อยแบกขึ้นไปใหม่

การทำสมาธิก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธนี่ บางทีจิตมันว่างๆว่างๆ อย่างนี้นะ มันคือเริ่มต้น คือแค่เห็นระหว่างที่มันคิดกับไม่คิด แต่มันยังไม่เป็นสมาธิหรอก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่ามันรู้ว่าว่าง มันรับรู้อยู่ มันรู้ว่าว่างใช่ไหม รู้ว่าว่างนี่มันคืออะไร คือจิตเป็นผู้รู้อารมณ์ที่ว่าง มันเป็นสอง

จิตเราคือธรรมชาติของเรา กับความรู้สึก มันเป็นสอง อย่างเช่น ปัจจุบันนี้เราได้ยินเสียงอยู่นี่ เสียงกระทบหู ใจรับรู้เห็นไหม มันเป็นอารมณ์สอง ถ้ามันยังกำหนดพุทโธได้ คือจริงแล้วมันยังกำหนดพุทโธได้ ว่างๆว่างๆนี่กำหนดพุทโธได้ ถ้ากำหนดพุทโธ พุทโธจนถ้าเราพุทโธไม่ออกพุทโธไม่ได้ คือจิตเป็นหนึ่ง นี่คือสมาธิ จิตเป็นหนึ่งหมายถึงว่าตัวมันเองเป็นในตัวของมันเอง

แต่ถ้ามันยังคิดได้ มันยังรับรู้ได้ มันเป็นสอง ไม่ใช่สมาธิหรอก เพราะมันรับรู้ได้ แต่ถ้าตัวมันเองสนิท มันว่างหมด มันจะไม่รับรู้ออก คือมันไม่รับรู้สิ่งกระทบไง แต่มันรับรู้ มันรู้ตัวของมันเอง ทีนี้พอรู้ตัวมันเองปั๊บ

ลองคิดดูสิเราเปิดน้ำไว้ แล้วน้ำนี่เราไม่ให้มันไหลไป มันจะอัดไหม มันจะมีแรงดันไหม ธรรมดาใช่ไหม จิตนี้ ตามธรรมดาพลังงานมันส่งออกตลอด มันคิดตลอด แล้วพอมันว่างอยู่ มันไม่ได้ส่งออกไป มันจะมีแรงดันไหม มันก็ต้องมีแรงดันเป็นธรรมดาใช่ไหม เวลามันว่างนี้มันจะมีกำลังไหม มันต้องมีใช่ไหม แต่นี่ ว่างๆว่างๆ ไม่มีอะไรเลยไง แล้วมันจะเป็นสมาธิได้อย่างไร

โอ๊ย..ถ้าเป็นสมาธินะ มันว่างโดยตัวมันเอง แล้วมันรู้หมดเลย นี่คือสมาธิ แล้วก็เป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้าสมาธินี่มันจะปล่อย มันจะมีความสุขนะ แล้วพอมันขณิกะ นี่มันออกรับรู้ ออกรู้นะ ออกรู้อันเดิม ออกรู้ตั้งแต่ข้างนอก มันออกรู้โดยสัญชาตญาณ โดยสามัญสำนึก โดยกิเลส แต่พอจิตมันสงบเข้ามา โดยเป็นตัวของมันเอง ทีนี้ถ้ามันออกรู้เข้านี่มันออกรู้โดยตัวจิตที่เป็นสมาธิเป็นกลาง ไม่ใช่จิตที่เป็นความคิดของเรา

ให้เราไปศึกษาเรื่องอะไรก็ได้ หรือคิดเรื่องอะไรก็ได้ เราจะคิดแต่เรื่องที่เราชอบใจ เราพอใจ เราถึงว่าดี ถ้าไม่ชอบใจ ไม่พอใจ เราถือว่าไม่ดี นี่คือคิดโดยสามัญสำนึก แต่ถ้าเป็นสมาธิแล้ว มันคิดอย่างนี้ไม่ได้ เพราะมันไม่มีอะไรชอบใจและไม่ชอบใจ พอมันไม่มีอะไรว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจ มันจะเห็นโดยข้อเท็จจริง

ถ้ามันเห็นโดยข้อเท็จจริงปั๊บนี่ ถ้าจิตมันเป็นสัจธรรมนะ มันเห็นกาย ถ้ากายมันก็เป็นกายานุสสติปัฏฐาน เพราะอะไร เพราะตัวจิตที่มันเป็นสมาธิมันไปเห็นเข้า แล้วมันก็ขยายส่วนแยกส่วน นั้นถึงจะเป็นวิปัสสนา แล้วการเห็นอย่างนี้ กับการเห็นโดยที่เราเคยเห็นโดยธรรมชาติต่างกันมาก ค่ามันจะต่างกันหมด แต่ถ้าคนยังไม่ปฏิบัติ มันจะไม่รู้จักค่าความต่าง ที่ว่าเห็นกาย มันก็เห็นโดยธรรมดา ที่เขาเห็นกาย แล้วเขานึกว่าวิปัสสนากาย นั่นมันเห็นด้วยความคิด มันคิดนึกขึ้นมา

ทีนี้ถ้ามันไปเห็นโดยข้อเท็จจริง เห็นโดยจิตที่สงบแล้ว มันไม่ได้คิด มันเป็นโดยสัจธรรม ในเมื่อจิตมันสงบ แล้วเราน้อมไปเห็นกาย พอเห็นปั๊บนะมันจะสะเทือนที่ตัวราก ตัวใจ เพราะตัวใจมันคิดไม่ถึงว่ามันจะเห็นอาการอย่างนี้ มันคิดไม่ถึงนะมันคิดไม่ถึง มันรู้ไม่ได้ว่าจะรู้อย่างนี้ เพราะสิ่งนี้มันเป็นสัจธรรม มันเป็นธรรมะที่ว่าเราไม่ได้สร้างขึ้นมา มันคิดไม่ได้ พอคิดไม่ได้ ของที่เราคิดไม่ได้เราคาดไม่ถึงแล้วไปเห็นนี่ มันจะสะเทือนขนาดไหน

พอมันสะเทือนขึ้นมา พอเริ่มสะเทือนปั๊บ ด้วยความสะเทือนมันจะหวั่นไหว มันอาจจะผิดพลาดบ้าง แล้วเราก็เริ่มต้นใหม่ สร้างใหม่ทำใหม่..สร้างใหม่ทำใหม่ ถ้าเคยทำได้ปั๊บมันก็จะอยากได้ พออยากได้ปั๊บการกระทำนั้นมันก็จะไม่ค่อยได้ผล ไม่ได้ผลเพราะอะไร เพราะโดยธรรมชาติของเรา มนุษย์นี้มีสามัญสำนึกมีความอยาก ทุกคนมีเป็นเรื่องธรรมดา ไอ้อย่างนี้ไม่มีใครสามารถห้ามได้โดยสัญชาตญาณ

แต่พอเราไปเห็นผลเข้า เราไปรับรู้เข้า เพราะเมื่อก่อนเราไม่เคยเห็นไม่เคยรู้ใช่ไหม แล้วพอไปรู้ไปเห็นว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์ ก็อยากได้ พออยากได้นี่อันนี้กิเลส ตัณหาซ้อนตัณหา ความอยากที่เราคาดเราหมายได้แล้ว เพราะเราไปเห็นเข้าไปรู้เข้า แล้วมันจะไม่ได้อย่างนั้น ถ้าทำบ่อยครั้งเข้าจนกว่าความอยากอันนี้มันจะเป็นเรื่องปกติ แล้วมันก็จะเห็นอีกหนหนึ่ง แล้วเราทำจนชำนาญ ชำนาญในวสี ชำนาญในการควบคุมจิต ชำนาญในการควบคุมให้มันออกแสวงหา ถ้าออกแสวงหาอย่างนี้เรียกว่าเป็น โลกุตตรปัญญา ที่ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญามันอยู่ตรงนี้ ถ้าจิตเราสงบเข้ามา แล้วมันเห็นกาย

แต่ถ้าเห็นกายแล้วมันยังไม่สะเทือนแบบที่เป็นเนี่ย คำว่าไม่สะเทือนนะ รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง ทีนี้รสของธรรม รสของสัจธรรมมันจะฝังใจมาก มันจะมีน้ำหนักมาก แต่ถ้าเรานึกเอง เราเห็นเองนี่มันจะมีรสไหม เพราะอะไร เพราะมันไม่ใช่สัจธรรม มันเป็นสัญชาตญาณ เพราะสัญชาตญาณที่เรามีการศึกษา เรามีหลักมีเกณฑ์ใช่ไหม พอเราไปศึกษาธรรมวินัย ก็บอกว่าธรรมวินัยต้องเป็นแบบนี้ ธรรมวินัยบอกว่าต้องเห็นกาย เราก็เห็นกายกัน เราพูดไว้ในเรื่องวงกรรมฐาน ว่าเวลาเขาเห็นกายกัน เห็นโดยอำนาจวาสนาบารมีก็มี บางทีจิตมันมีวาสนา มันเคยสร้างบุญมามากมันก็เห็นได้ ฉะนั้นถ้าเห็นอย่างนี้ปั๊บนี่มันไม่ได้แก้กิเลส

แต่ถ้าเห็นโดยสัจธรรมนี้ จิตมันจะต้องสงบเข้ามาก่อน พอจิตสงบตัวจิตมันเห็น พอตัวจิตเห็นตัวจิตมันออกใคร่ครวญ แล้วมันย้อนกลับมาคลายที่จิต เพราะจิตมันไปเห็นแล้วมันไปคลาย รสของมันจะต่างกัน รสที่เห็น รสที่รับรู้นี่จะต่างกันมาก รสของธรรมชนะรสทั้งปวง แล้วรสของสมาธิธรรม รสของปัญญา รสของการปล่อยวาง รสของการประพฤติปฏิบัติเข้าไปจนถึงที่สุด การปฏิบัติมันมีขั้นตอนอย่างนี้

แต่เวลาแสดงธรรมกันนะ ก็บอกว่า “อยู่เฉยๆ ว่างๆว่างๆ” ปวดหัวมาก มันพูดอะไรกันนี่มันพูดอะไรกัน ถ้ามันจะว่างมันจะจริงนี้ มันจะว่างมันก็ต้องมีเหตุผลสิ ทำไมมันถึงว่าง ว่างเพราะอะไร ว่างเพราะมีการกระทำอย่างไร ว่างเพราะได้ทำสิ่งใดมาบ้าง ทีนี้พอย้อนกลับมาว่า ถ้าทำอย่างนั้นมันง่ายไหม มันง่ายมันสะดวก แล้วมันก็ไปเข้ากับมหายานใช่ไหม มหายานบอกว่า “ไม่ให้ยึดติด ทุกอย่างให้ปล่อยวางหมด ทุกอย่างเป็นทางลัด” ก็ลัดลงตรงนี้ไง แต่ความจริงเขาประพฤติปฏิบัติรุนแรงยิ่งกว่าเรา ทำมากยิ่งกว่าเราอีก ในมหายานนี่เขาทำจริงทำจังมาก เพียงแต่มันเป็นอาจริยวาท

มหายานนี่เป็นอาจริยวาท อยู่ที่อาจารย์ เชื่อตามอาจารย์ แล้วถ้าอาจารย์ถูกต้องมันก็ชี้นำกันไปดี แต่ถ้าอาจารย์ไม่ถูกต้องล่ะ มันจะไปไหน มันจะลัดไปไหน เราจะบอกว่าทางลัดไม่มี มีแต่ทางตรง พระพุทธเจ้าพูดทางตรงไว้แล้ว แล้วการประพฤติปฏิบัติ สิ่งนี้ตรงที่สุด แล้วต้องลงทุนลงแรงที่สุด ต้องทุกข์ยากไหม…ต้อง เพราะเวลาประพฤติปฏิบัตินะ มีแต่ขิปปาภิญญาที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย นอกนั้นนะต้องเอาความตายแลกมาทั้งนั้นล่ะ

เพราะกิเลสมันเป็นเรานะ เวลาเราปฏิบัติไปนี่ถ้าเราเข้มแข็ง แล้วเราทำความจริงขึ้นมา กิเลสมันจะบอกเลย “อู๋ย..เดี๋ยวจะพิการนะ เดี๋ยวร่างกายจะเสียหายนะ” มันจะโต้แย้งหมด ถึงที่สุดพอมันไม่มีสิ่งใดจะหลอกลวงเราได้นะ มันบอกว่า “ถ้าทำอย่างนี้ต้องตายแน่นอนเลย” เราก็กลัวแล้ว ฟากตายอยู่อย่างนี้ ความคิดเราเองมันจะเอาเรื่องความเป็นความตาย ความพิการมาให้เราไม่สามารถสู้กับความจริงของเรา ถ้าคนเข้มแข็งพอ ธรรมะมันอยู่ฟากตาย กิเลสมันจะเลือกความตายมาหลอกเรา ถึงที่สุดคนเรานี่ทุกข์ยากขนาดไหนนะ พอตายก็จบ พอตายปั๊บมันก็สิ้นขบวนการของมัน มันไปอยู่ชาติใหม่ ทีนี้มันก็เอาสิ่งที่เรากลัวที่สุด สิ่งที่รุนแรงที่สุด คือ เรื่องของความตายมาต่อรองกับเรา แล้วพอต่อรอง เราก็เชื่อสิเพราะว่าเราคิดเอง ส่วนใหญ่แล้วพอถึงตรงนี้มันจะสู้ไม่ไหว แต่ถ้าเรามีจิตใจอยาก ต้องการพิสูจน์นี่ “อ้าว..ตาย อะไรตายก่อน ขอดูอะไรตายก่อน สิ่งไหนตายก่อน” พอเราจะดูอะไรเกิดอะไรตายขึ้นมา มันไม่มีเหตุผลจะตอบแล้วนะ มันก็บอกว่า เออ..มันยอมแพ้ มันก็ปล่อย พอมันปล่อยมันก็ว่าง ว่างแล้วเราก็ชนะอีก

นี่ธรรมะอยู่ฟากตาย มันต้องสู้กันจริงๆ คำว่าทางลัดหรือคำว่าสะดวกนี่มันเป็นโวหารของการพูดให้มีกำลังใจ ให้เราไม่ด่วนได้ เหมือนในเถรวาทเรา เราจะเคารพบูชากัน เพราะครูบาอาจารย์เรานี่จะเปิดทางตั้งแต่เริ่มต้นในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมาใช่ไหม เหมือนเป็นการที่ว่าก้าวไป หนึ่ง สอง สาม สี่ ทาน ศีล ภาวนา ปรับพื้นฐานกันขึ้นไป แล้วมันมั่นคง ทาน ศีล ภาวนานี่สามเส้า เราจะตั้งหม้อได้สบายๆเลย

แต่ถ้าบอกว่า ทานไม่ต้อง อะไรไม่ต้อง ภาวนาไปเลย แล้วจะเอาหม้อไปตั้งบนอะไรล่ะ แล้วหม้อมันจะอยู่ได้อย่างไรล่ะ เราถึงบอกว่าให้ดูสิว่าเถรวาทนี่เป็นการท่องจำกันมา เถรวาทไม่เปิดกว้าง แต่เถรวาทยังดำรงธรรมวินัยไว้ครบนะ ธรรมะ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี่ยังอยู่ครบ แต่ของมหายาน ธรรมะม้วนเอาไว้ในสันสกฤต ม้วนเอาไว้ในกระบอก เวลาสวดมนต์ก็ใช้เคาะเอา เพราะอ่านไม่ไหว ก๊อก ก๊อก ไป แล้วรู้อะไรล่ะ ก็เชื่อตามๆ กันมา เชื่อกันไปเฉยๆ เชื่อกันไป แล้วก็มีความเชื่อก็เชื่อกันตามกันไป

ความเชื่อนี่เป็นศรัทธานะ แต่ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ การแก้กิเลสต้องเป็นการไปรู้จริงเห็นจริงขึ้นมา ฉะนั้นแล้วเถรวาทนี้ สิ่งที่เราทำมานี่ ครูบาอาจารย์ของเรานี้มันอันเดียวกันจนถึงที่สุด เพราะหลวงปู่มั่นท่านพูดอย่างนี้ เวลากิเลสมันจะขาดนี่ แบบช้างกระดิกหูงูแลบลิ้น กับมหายานทางลัดที่บอกว่า ก้าวพ้นขอบประตูนั่นสว่างโพลง แว็บ สว่างโพลง สว่างโพลงไง

คำว่าสว่างโพลง เหมือนไฟไง ถ้าไฟเราไม่พอ มันไม่สปาร์ค มันไม่เป็นผลงานขึ้นมาหรอก ไฟนี่แบตต้องเต็ม ต้องเต็มทุกอย่าง ทีนี้กว่าแบตจะเต็ม เราจะต้องชาร์ตนานขนาดไหน นี่ก็เหมือนกัน กว่าจะพุทโธ กว่าสมาธิจะมา กว่าเราจะฝึกฝนใช้ปัญญา กว่ามรรคมันจะเคลื่อนตัว กว่ามันจะสมดุล พอเวลามันสมดุลนั่นแหละสว่างโพลง

ความสว่างโพลง คือ ผลที่มันจะได้รับ แต่ผลที่จะได้รับ กว่ามันจะได้มา เราต้องสะสม เราต้องหมั่นสร้างขึ้นมา จนถึงมันอิ่มเต็ม เหมือนทำอาหารเลย สว่างโพลงคือ ขณะที่สุกไง แต่ขณะที่อาหารสุกขึ้นมา สุกมันก็สุก ยกออกจากเตาก็จบใช่ไหม แต่กว่ามันจะหามาล่ะ ผักอยู่ไหน เนื้ออยู่ไหน โอ้โฮ เกือบตาย แต่พอลงกระทะ ผัดทีเดียวสุกเลย นี่ก็เหมือนกันสว่างโพลง นี่ไงสว่างโพลง

แต่ถ้าเราไม่มีผักหญ้าซักอันหนึ่ง แล้วบอกว่าให้ทำอาหาร อาหารเราก็แค่กระทะว่างๆ ไง มันก็มีแต่หม้อเปล่าๆ ไม่มีตัวอาหารเลยไง ถ้าจะให้มีอาหารก็ต้องหามาใช่ไหม มันต้องมีเหตุมีผลสิ จะพูดแบบไม่มีเหตุมีผลนะ มันเสียเวลา

ฉะนั้นพอจิตมันมีการกระทำอย่างนี้มันจะเป็น ที่เราพูดนี่มันเป็นวิวัฒนาการของมัน แต่เวลาขณะที่เราปฏิบัติเห็นไหม กำหนดพุทโธ กำหนดอะไรก็แล้วแต่ คำกำหนดพุทโธนี่เขาเรียกว่าจุดยืนนะ คนเรานี่มีจุดยืน คือ มีสติกับตัวภพ คือตัวความรู้สึกเรา พุทโธ พุทโธนี่มีจุดยืน กับคนที่ไม่มีจุดยืน กำหนดให้มันล่องลอยไป มันไม่มีสาระหรอก

คนที่กำหนดไม่มีจุดยืน แล้วจิตมันอยู่ไหน กลับบ้านไม่เป็นเหรอ ออกจากบ้านมาแล้วบ้านอยู่ไหน มันออกจากบ้านกันมานะเวลาออกไปนี่กลับบ้านไม่ถูกเลย ไม่รู้ว่าบ้านตัวเองอยู่ไหน นี่ก็เหมือนกันถ้าเราไม่มีจุดยืน เราไม่รู้จักจิตของเรา เราจะไปที่ไหนกัน ฉะนั้นจะกำหนดพุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธินี้มันต้องมีสติ แล้วมันจบกันที่บ้านเรา จบกันที่ใจเรา ได้ก็ได้ที่ใจเรา ถ้าไม่ได้ก็เออเข้าบ้านไม่ได้ กลับไปเจอบ้านแต่บ้านโดนลั่นประตูไว้ก็เข้าไม่ได้ อ้าว..เข้าไม่ได้ก็เอาใหม่ พอจิตมันปล่อยมา ปล่อยมา ที่เราบอกว่าให้กำหนดรู้ไว้ เพราะเรารู้ว่าการทำนี่มันต้องลงทุนลงแรง มันเหนื่อยล้า แล้วพวกเราปฏิบัติใหม่ ถ้าให้สมบุกสมบันไปกว่านี้มากเกินไปมันจะท้อแท้ ถึงบอกว่าถ้าจิตมันว่างๆว่างๆ อยู่นี่ ก็คือมันเหมือนกับเราได้มาครึ่งทาง พอได้มาครึ่งทางนี่เรามีสติคุมมัน เราก็อยู่ตรงที่ว่านี่คือผลงานของเรา แต่ความเป็นจริงครึ่งทางมันไม่ใช่ปลายทางใช่ไหม

ถ้าครึ่งทางไม่ใช่ปลายทางนี่ ถ้ามันกำหนดพุทโธได้ เราต้องกำหนดพุทโธ พุทโธ ความว่างอันนี้คือจิตมันขี้เกียจ คือมันไม่อยากทำ พอเรากำหนดบ่อยๆ ถ้ามันว่างอย่างนี้บ่อยๆ มันยิ่งจะลงลึกไปเรื่อยๆ คือพอถึงจุดว่าว่างๆว่างๆ ปั๊บ มันก็จะปล่อยวาง มันก็จะหยุด เหมือนกับเราทำอาหาร เรากำลังทำอาหาร มันเริ่มใส่เตา เริ่มลงเตา แล้วเริ่มติดไฟ แล้วเราก็ดับไฟ อาหารมันจะสุกได้ไหม อาหารมันก็ไม่สุกใช่ไหม ถ้าอาหารมันจะสุกนี่ ไฟต้องพอใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน จิตมันไม่ถึงที่สุด มันยังไม่สุก มันยังไม่เป็นไป มันครึ่งอยู่ เราก็ต้องกำหนดพุทโธเข้าไปอีก ทีนี้พอกำหนดพุทโธ พุทโธนี้มันเหนื่อย “เราเหนื่อยมาแล้ว แล้วจะให้เหนื่อยต่อไปอีกเหรอ ทำไมรุนแรงขนาดนี้ล่ะ” มันรุนแรงเพื่อจะเข้าไปหาที่ปลายทางนั้น มันถึงต้องกำหนดพุทโธ พุทโธไปอีก ถ้ามันไม่กำหนดหรือว่ามันว่าง ต้องบังคับให้ทำ ! บังคับ ! เพราะมันยังกำหนดพุทโธได้ เรากำหนดได้ นึกได้ แต่มันไม่ยอมนึก ไม่ยอมนึกเพราะอะไร เพราะกิเลส สันดานของมันเป็นแบบนั้น สันดานของกิเลสนี่มันจะมักง่าย มันจะเอาชิงสุกก่อนห่าม มันอ้างธรรมะว่าว่างแล้ว แล้วก็จะมา “หลวงพ่อครับ ว่างๆว่างๆทำอย่างไรต่อครับ?”

ว่างๆว่างๆ มันยังว่างไม่จริงไง มันว่างไม่จริงคือกำลังมันยังไม่มี อย่างที่ว่าแรงอัดของมัน ถ้ามันว่างจริงมันต้องมีกำลัง คนว่างนี่มีกำลังเพราะอะไรรู้ไหม ถ้าจิตคึกคะนองหมายถึงว่ามันมีพื้นฐาน พอเข้าสมาธิปั๊บนี่มันจะเห็นนิมิตไง ที่เห็นนิมิตเห็นต่างๆ บางทีถ้าจิตอย่างที่ว่านี้พอสงบปั๊บนี่ พรึ่บ ออกเลย สวรรค์นี้ไปได้เลย ไปได้จริงๆ

เพราะอะไร เพราะมันมีแรงใช่ไหม จิตมีกำลังใช่ไหม แล้วเขามีวาสนาของเขา เพราะเขาสร้างข้อมูลของเขามาอย่างนั้น จะปั๊บเลย ถ้าปั๊บอย่างนั้นนะ ถ้าอาจารย์ที่ดีนะดึงไว้ไม่ให้ออก พุทโธ พุทโธแล้วมีสติไว้ ไม่รับ ดึงไว้ ตั้งสติไว้ ไม่ให้ไป เพราะถ้าไปนี่ พอเราทำความสงบทีหนึ่ง มีกำลังทีหนึ่ง แล้วเราก็เอาไปเที่ยวเล่น มันก็หมดไป คือเวลาออกเขาเรียกส่งออก ส่งออกกำลังนี้ก็ใช้หมดไป แล้วก็กำหนดพุทโธใหม่ๆ อยู่อย่างนั้น

แต่ถ้าเราไม่ไป พอมันจะรับรู้ในสิ่งใดๆ เราไม่ไปเห็นไหม อย่างเห็นนิมิตนี้ เราไม่ไปเห็นมันแล้วตั้งสติไว้ พุทโธ พุทโธนี่ดึงกลับมา พุทโธปั๊บนี่ดึงกลับมา มือจะกำของได้สิ่งเดียว ถ้ากำของสิ่งใดอยู่ มันจะกำของสิ่งอื่นต่อไปไม่ได้ ถ้าเราพุทโธ พุทโธอยู่ มันกำอยู่กับพุทโธ พุทโธ เราไม่ให้มันไป มันจะไปรู้นิมิตได้อย่างไร ของเต็มมือเราอยู่นี่ แล้วมือมันจะว่างไปทำอะไรได้อีก

จิตมันเป็นพุทโธอยู่นี่ แล้วมันจะมีอะไรไปรู้อย่างอื่นอีก มันจะมีอะไรไปรู้อย่างอื่นอีก ถ้าเราดึงกลับมาที่พุทโธ พุทโธ พอของเต็มมือ พุทโธ พุทโธจนเป็นอันเดียวกันนี่ จบเลย นึกพุทโธไม่ได้ ถ้ามันเป็นสมาธินี่มันนึกพุทโธไม่ได้ แต่ถ้ายังนึกได้ จิตสิ่งที่รู้ กับสิ่งที่ให้ถูกรู้ อารมณ์เป็นสองไม่ใช่สมาธิ สมาธิคือหนึ่งเดียว สมาธิไม่ใช่สอง

แต่นี่เราสองกันหมด ว่างๆว่างๆ นั่นอารมณ์สองนะ เพราะมีเรากับความว่าง ถ้าไม่มีเรากับความว่าง ใครจะเป็นคนรู้ความว่าง ใครที่บอกว่า ว่างๆว่างๆ ว่างอย่างนั้นคือมันมีคนรู้ว่าว่าง แต่ตัวมันเองไม่ว่าง มันเลยไม่เป็นสมาธิ ถ้าไม่เป็นสมาธิมันจะเป็นมรรค ๘ ได้ไหม มรรค ๘ เห็นไหม สัมมาสมาธิ มรรค ๗ ไม่มี เหมือนเราเรียนมานี่ถ้าเราส่งหน่วยกิตไม่ครบ เขาจะให้จบไหม มรรค ๗ นี่ถ้าเอาไปส่งครูเขาไม่ให้ผ่านหรอก มันต้องมรรค ๘

มรรค ๘ มันมีสัมมาสมาธิ สัมมาสติ สัมมาปัญญา มันมีสัมมาหมด มันถูกต้องหมด ถ้ามันถูกต้อง ถูกต้องอย่างไร ปัญญาโลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา สุตมยปัญญา จินตมยปัญญานี่มันเป็นอย่างไร ภาวนามยปัญญาเป็นอย่างไร ปัญญาอย่างใดฆ่ากิเลสได้ ปัญญาอย่างใดฆ่ากิเลสไม่ได้ ปัญญาอย่างใดนี่มันไปสร้างฐาน ปัญญาอย่างใดที่หาวัตถุดิบ ปัญญาอย่างใด เห็นไหม

เหมือนเราไปหาฟืนในป่าเห็นไหม กับเอาฟืนเข้ามาในครัว แล้วเอาฟืนใส่เข้าไปในเตา ออกไปใช้ปัญญาข้างนอกก็คือไปหาฟืนอยู่ข้างนอกนู้น แล้วฟืนนั้นเอาเข้ามาในเตาแล้วจุดไฟ ไฟมันเป็นพลังงานในเตาที่จะทำให้อาหารสุกใช่ไหม เตาคือใจไง ถ้าเข้ามาถึงพลังงาน ถึงตบะธรรมถึงใจนี่มันทำลายกันที่นี่ ประโยชน์มันเกิดที่นี่ต่างหากล่ะ

จริงๆ แล้วประสาเรา เหมือนเราเป็นลูกเสือแล้วออกเดินป่า ถ้าแผนที่และเป้าหมายเราไม่เข้าใจนะ เราจะหลงป่าและวนอยู่อย่างนั้นล่ะ แต่ถ้าเราเข้าใจเห็นไหม มันมีเป้าหมายมีเข็มทิศมีตำแหน่งมีพิกัด เราก็ไปตามนั้น เราจะถึงเป้าหมายนะ ภาวนาก็เหมือนกัน ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วมึงปฏิเสธเป้าหมาย ปฏิเสธพิกัด ปฏิเสธทุกอย่างเลย แล้วบอกกูรู้ ว่างๆว่างๆ ก็ว่างสิ ก็มึงไม่รู้จักแผนที่ไง มึงไม่เคยลงพื้นที่ไง ไม่เคยลงเข้าไปในหัวใจไง ไม่เคยเห็นกิเลสมึงเลย ไม่เคยชำระเลย แล้วก็ว่า ว่างๆว่างๆ มันจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เราต้องลงในพื้นที่ ต้องเห็นให้หมดเลย แล้วถ้าลงพื้นที่ได้นะ ถ้าใครภาวนานะ แล้วพอจิตมันสงบ ลงไปหากิเลสนะ โอ้โฮ จะมหัศจรรย์มากนะ

หลวงตาท่านพูดว่า เวลาธรรมะกับกิเลสต่อสู้กันในหัวใจ ใจนี่เหมือนเก้าอี้ เวลากิเลสมันชนะมันนั่งอยู่เต็มก้นเลยนะ โอ้โฮทุกข์มาก แล้วถ้าวันไหนธรรมะมันชนะนะ มันผลักกิเลสตกไปเลย แล้วมันนั่งอยู่กลางใจเรานะ โอ้ สุขมาก แต่ชั่วคราว สุขกับทุกข์มันมีหมด แล้วต้องสู้มันไปเห็นไหม นี่เวลาถ้าจิตมันมีกำลังแล้วนะ จิตมันเป็นสมาธิแล้ว มันจะเห็นอย่างนี้

ตัวเก้าอี้นี้เหมือนตัวผู้ต้องหา ผู้ต้องหาคือจิตใต้สำนึกของเรา มันติดของมัน มันเข้าใจผิดของมัน พอจิตสงบเข้าไปนี่มันไปจับตรงนี้ได้ เขาเรียกว่าขุดคุ้ยหาจำเลย หากิเลส พอเจอแล้วปั๊บ พอจับมันได้ปั๊บมันจะมาวิปัสสนา ระหว่างกิเลสกับธรรมมันจะสู้กัน แล้วพอสู้กันนะ สู้กันหมายถึงว่า เราตั้งสติ อย่างเดินจงกรมนี่เท้าเดินไป นั่งสมาธิก็นั่งไป กิริยาภายนอกเป็นอย่างนี้ แต่กิริยาภายใน ความรู้สึกความคิดในหัวใจนี่มันต่อสู้กัน ระหว่างความคิดดีความคิดชั่วมันจะต่อสู้กัน แพ้บ้างชนะบ้าง อย่างนี้มาตลอดนะ

จนถึงที่สุด ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา ขันธ์ ๕ คือ ความคิด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปคืออารมณ์ความรู้สึก เวทนาคือสิ่งที่แยกว่าดีหรือชั่ว สัญญาคือข้อมูล คิดด้วยข้อมูล สังขารคือความคิดความปรุงความแต่ง วิญญาณคือวิญญาณที่มันรับรู้อารมณ์ความรู้สึก นี่มันจะหมุนเร็วมาก หมุนติ้วๆๆ ของมันอย่างนั้นล่ะ แล้วกิเลสมันใช้อยู่ตลอดเวลา พอธรรมะเข้ามานี่มันมีกำลังปั๊บ มันก็ยื้อให้หยุด ยื้อให้ความคิดนี้หยุด แล้วจับความคิดนี้มาแยกแยะ มันทำลายมัน

แล้วไอ้สังโยชน์ที่มันร้อยรัดไว้นี่เห็นไหม เวลาวิปัสสนาไปถึงที่สุด สักกายทิฏฐิ ทิฐิ คือ ความเห็นเรื่องของกาย ร่างกายนี้จิตใต้สำนึกมันเห็นผิด มันยึดว่าเป็นของมัน แต่ทั้งที่ปากเราพูด สมองมันพูด มันไม่รับรู้หรอก แต่จิตใต้สำนึกนี่มันยึดไว้ แล้วพอมันวิปัสสนาไป มันเข้าไปแล้วทำลาย พอทำลายล้างนี่มันก็เป็นตทังคปหาน มันปล่อยชั่วคราว ปล่อยๆๆๆๆ เห็นไหมแล้วก็สู้กัน สู้กันอยู่อย่างนี้

ถึงบอกว่าเวลาภาวนานี้ มันปล่อยเป็นร้อยหนพันหนนะ วันหนึ่งบางทีปล่อย ๕ หน ๑๐ หนเลย ปล่อยขนาดไหนก็สู้ต่อ สู้ต่อ สู้ต่อ สู้อยู่อย่างนั้นล่ะ แล้วมันสนุกมาก สนุกใช่ไหม เขาเรียกว่าภาวนาเป็น เหมือนกับคนเรามันภาวนาเป็น มันมีงานไง ทำงานแล้วประสบความสำเร็จ อู้ฮู ใครก็ชื่นใจนะ ทำนู้นก็ได้ ทำนี่ก็ได้ อู้ฮู ทำอะไรก็ดีไปหมดเลย แล้วถึงที่สุดนะ พอถึงที่สุดแล้ว ดีก็ต้องทิ้ง ติดดีก็ไม่ได้ เพราะดีเดี๋ยวมันจะไม่ดีนะ

ของดีก็เพชรนี่ เอาไปขายที่ไหน ถ้าซื้อมาแล้วนะ ออกจากร้านเอาไปขายสิ ราคาตกทันทีเลย ความดีขนาดไหนนี่เดี๋ยวก็เสื่อม สู้จนเต็มที่นะ ดีชั่วปล่อยพั่บ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์เห็นไหม กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ สิ่งหนึ่งหลุดออกไป สังโยชน์ขาดออกไป นี่เป็นความจริง

นี่มันมีการกระทำ วิปัสสนาญาณมันเกิดอย่างนี้ แล้วมันยากไหมล่ะ ยาก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ว่า บุญกุศลที่สร้างมา มันเป็นบารมีธรรมว่ามันสร้างมาอย่างไร แล้วคิดดูสิ สิ่งที่เราทำขึ้นมานี้มันเป็นทรัพย์ภายใน ทรัพย์ภายในที่รู้จริง ไอ้อย่างที่เราเรียนกันมา จะมีศักยภาพทางโลกขนาดไหนนะ ก็แค่กระดาษแผ่นหนึ่ง ดูสิศาสตราจารย์เห็นไหมต้องทำทางวิชาการ ก็ได้แค่กระดาษแผ่นหนึ่ง แล้วกระดาษแผ่นนั้นได้เอามาใช้ไหม ศาสตราจารย์ทำทางวิชาการนี่ได้ใช้ประโยชน์ไหม ทำขึ้นมาเพื่อเอาตำแหน่งหน้าที่กัน แต่ถ้าเราทำของเราขึ้นมา มันเป็นความจริงขึ้นมา คุณค่าของมันมหาศาลเลย มันทิ้งได้หมดนะ แต่ถ้ามันจะทำมันก็ต้องลงทุนลงแรงหน่อยหนึ่ง ไม่หน่อยล่ะเต็มๆ เลย

งานทางโลกนะ ทุกข์เพื่อจะทุกข์ต่อ แต่งานทางธรรมนี้ ทุกข์เพื่อจะพ้นจากทุกข์ เกิดตายเกิดตายมาอย่างนี้ไม่รู้กี่พันกี่แสนรอบ แล้วก็จะมาเกิดมาตายอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วก็ว่าชาติปัจจุบันนี้ชาติเดียว

ถ้าปัจจุบันนี้ชาติเดียว คนความคิดต้องเหมือนกัน ทุกอย่างต้องเหมือนกัน เพราะเกิดมาเหมือนกัน เกิดจากท้องพ่อท้องแม่เหมือนกัน ทำไมความคิดไม่เหมือนกัน ทำไมความรู้สึกไม่เหมือนกัน มันก็มาจากเบื้องหลังไง มาจากพันธุกรรมทางจิตที่มันตัดแต่งมา สร้างบุญกุศลมา ถ้าทำความดีมา มันก็จะได้ประโยชน์มา ถ้าไม่สร้างมามันก็จะไม่ได้

นี่พูดให้กำลังใจ แล้วไปเดินจงกรมนั่งสมาธิกัน แล้วมันจะหนักจะหนาขนาดไหน โธ่ นี่นะโยมมาทำงานที่วัดนี่เหนื่อยไหม เหงื่อไหลไคลย้อยเลยล่ะ เหนื่อยไหม นั่งกันเหนื่อย เหนื่อยกับร่างกายนะ ไปนั่งสมาธิสิ อุดอู้อยู่ในกุฏินี่เหงื่อไหลไคลย้อยเหมือนกัน นั่นงานข้างใน งานเอาใจเอาความคิดเราไว้ให้ได้ เอาความรู้สึกเราให้นิ่งให้ได้ ความรู้สึกที่มันเร็วที่สุด เห็นไหมความคิดนี่ จิตนี่เร็วที่สุดเลย เร็วกว่าแสง แล้วพอพูดอย่างนี้ปั๊บทุกคนจะตกใจนะ โอ้โฮแล้วจะเอามันได้อย่างไรล่ะ มันก็เหมือนขาอ่อนเลยนะ

เราบอกว่ามันเร็วขนาดไหนก็แล้วแต่นะ สติเร็วกว่ามัน สตินี่เหนือความเร็วอันนี้ แล้วสตินี่ยับยั้งสิ่งนี้ได้ แล้วปัญญาได้ มันจะเร็วขนาดไหนสติตามทันมันได้ สติยับยั้งมันได้หมดเลย แล้วยับยั้งได้นี่มันก็มาอยู่ที่เรา มันก็เป็นประโยชน์กับเราใช่ไหม ถึงให้ตั้งใจ

มีอะไรอีกไหม เอ้าว่ามา แล้วนี่ถ้ามันว่างๆว่างๆอยู่นี่ บางทีเราจะพูดอย่างนี้เลยบอกว่า ถ้ามันว่างอยู่ก็เรารู้ว่ามันปล่อย มันมีความสุขก็อยู่กับมันก่อน คือแบบว่าให้มันชุ่มชื่นใจไง แต่ถ้ามันชุ่มชื่นใจแล้วต้องสู้นะ ถ้าไม่สู้ขึ้นมานี่ เหมือนเราทำผลงานคราวนี้ได้ดีมาก แล้วทำงานครั้งต่อไปนี่มันต้องทำให้ได้ดีกว่าเก่า ถ้าไม่ได้ดีกว่าเก่านะ จิตมันไม่ยอมรับมันก็ไม่มีความสุขไง

ฉะนั้นเวลานั่งสมาธิไป บางทีต้องนั่งเต็มที่เลย คือเราทำผลงานไว้แล้วใช่ไหม ผลงานครั้งต่อไปต้องดีกว่าผลงานครั้งแรก ผลงานครั้งที่สามต้องดีกว่าครั้งที่สอง ผลงานนี่มันต้องลงทุนลงแรงอย่างนี้ใช่ไหม ฉะนั้นถ้ามันได้ผลงานครั้งแรกแล้วนี่ ทำมันเต็มที่เลย ให้มันดีไปเลยไง ถ้าไม่อย่างนั้นนะจะต้องไปทำงานครั้งที่สองให้มีผลงานกว่าครั้งแรก มันจะต้องเหนื่อยกว่าเก่า ว่าอย่างนั้นเลยล่ะ

แต่มันก็เป็นธรรมดา ทุกอย่างมันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นอย่างนี้ ธรรมชาติของจิตมันเป็นอย่างนี้ เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ แต่พอมันเจริญแล้วเสื่อม พอเสื่อมแล้วไม่สู้นี่สิ มันถึงไม่มีโอกาสสู้ เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ก็สู้มัน สู้มันจนคงที่จนชำนาญ จนควบคุม จนชำนาญในวสี แล้วทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจะเห็นผล ต้องเห็นผล ของมันมีไง

แดด คือว่าพระอาทิตย์ขึ้นแล้วมันจะไม่ร้อน มันจะเป็นไปได้อย่างไร ตบะธรรม ถ้ามันเกิดแล้วมันไม่เผากิเลสมันจะเป็นไปได้อย่างไร ของมันมีจริงๆ ทำได้จริงๆ อยู่ที่เราจริงหรือไม่จริงเท่านั้นแหละ เอวัง