ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คณะ ก.ฟ.ผ.

๒๘ ก.ย. ๒๕๕๑

 

คณะ ก.ฟ.ผ.
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราไปเรื่อยๆ เนาะ เราจะไปเรื่อยๆ ใครมีปัญหาเขียนมา พอเขียนแล้วมันเป็นประเด็น แล้วเดี๋ยวพูดอธิบายไปมันจะดี ถ้าให้เราพูดคนเดียว ๒-๓ ชั่วโมง เราจะพูดกันอย่างไรไหว แล้ววันนี้พูดมาตั้งแต่เช้า นี่รอบที่ ๓ ที่ ๔ แล้วนะ พูดมาตั้งแต่เช้า ปัญหา นี่เป็นปัญหา จะเอาเลยเนาะ เอาเลยล่ะ มีปัญหาเขียนมาเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยวเรารับไว้เอง เอาแล้ว

เรามาทำบุญกันนะ เราตั้งใจทำบุญ เราเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วนะ เวลาคนทำบุญกุศล ทุกคนจะเห็นว่าเพราะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเขาถึงทำบุญ

แต่พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ท่านเสียสละของท่านมา ท่านทำของท่านมา ท่านทำของท่านมานะ ถ้าท่านไม่ทำของท่านมาไม่มีหรอก

เวลาพวกเราปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์กัน มันต้องลงทุนลงแรงนะ เวลาเราศึกษาธรรมะกัน ทุกคนอยากจะเกิดพบพระศรีอารย์ เพราะในพระไตรปิฎกบอก ต่อไปผู้พบพระศรีอารย์ต่อไปจะปฏิบัติง่าย แล้วทุกคนอยากไปพบพระศรีอารย์

เราถามกลับ โยมมีสิทธิอะไรจะไปเกิด อยากเฉยๆ คิดเฉยๆ แล้วทำอะไรถึงไปเกิดร่วมกัน มันต้องมีเหตุมีผลใช่ไหมมันถึงจะไปเกิดร่วมกันใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้าไปเกิดร่วมกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก็เพราะทาน ทานบารมี บารมี ๑๐ ทัศ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี อธิษฐานบารมี นี่จะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทานบารมี นี่เราเป็นชาวพุทธกันเราถึงเสียสละทาน

แต่พอเป็นวิทยาศาสตร์นะ ทำไมต้องไปเชื่อ เวลาพูดถึงศาสนาข้ามภพข้ามชาติ ข้ามภพข้ามชาติช่วยอะไรไม่ได้ในปัจจุบัน นี่พูดทางวิทยาศาสตร์ไง

ย้อนกลับมาเมื่อกี้นี้ เขาบอกเลย พอเขามาหานะ เขาบอกว่าสิ่งที่ทำมามันผิดหมดๆ

ผิดอย่างไร

แล้วเขาบอกพวกเรานี้พูดผิด เขาถูก บอกเป็นพุทธพจน์ สิ่งที่เขาพูดพุทธพจน์

เราถามว่าพุทธพจน์ใครพูด พุทธพจน์นั้นใครพูด ถ้าพุทธพจน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูด ถูก พุทธพจน์ แต่พุทธพจน์สอนให้นกแก้วมันท่องได้ นกแก้วมันก็ท่องได้ นกแก้วมันก็พูดพุทธพจน์ได้ แล้วถ้านกแก้วมันพูดพุทธพจน์ เราไปเชื่อมันไหม เพราะนกแก้วมันยังไม่รู้ว่าพุทธพจน์มันคืออะไร แต่มันสามารถสอนให้พูดคำไหนมันก็พูดได้

การศึกษาของเรา ในการศึกษาของเรา เราไปศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไปจำคำพูดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาพูด เราก็พูดได้ แล้วพุทธพจน์ พุทธพจน์ความหมายว่าอย่างไร ความหมายของพุทธพจน์ เหมือนกับเราอ่านหนังสือออกไง เราอ่านหนังสือออก แต่ความหมายในหนังสือเรารู้จักไหม เราไม่รู้จักหรอก สมาธิ บอกว่าสมาธิต้องทำ สมาธิต้องมีปัญญา ต้องมีสติ แต่ตัวเองนะ ไม่มีสติเลย สมาธิก็ไม่รู้จัก แต่สอนเขาให้ทำสมาธิ แล้วพอเขาถามว่าสมาธิคืออะไร

“อย่าเถียงนะ นี่พุทธพจน์ นี่พุทธพจน์”

เขาไม่ได้เถียงพุทธพจน์ เขาถามว่าสมาธิทำอย่างไร เขาถามว่าสติทำอย่างไร นี่ไง อ้างพุทธพจน์ ห้ามเถียง เราบอกไม่ใช่หรอก ในศาสนาพุทธเรานี่นะ เวลาพระมีความเห็นผิด พอพระเรามีความเห็นผิด สงฆ์เห็นว่าพระองค์นี้มีความเห็นผิด สงฆ์เขาจะประกาศ ตั้งญัตติประกาศว่ามีความเห็นผิด ให้เปลี่ยนทิฏฐิความเห็น สวดถึง ๓ หน ให้โอกาสแก้ไขถึง ๓ หนขณะสวดอยู่ ถ้าถึงหนที่ ๓ คำสวดนั้นสิ้นสุดลง พระองค์นั้นเป็นอาบัติสังฆาทิเสส

แค่ตู่ไง มีความเห็นผิดจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าพระมีความเห็นผิดนะ แล้วพระที่เห็นอยู่พยายามสวดแก้ไขให้พระองค์นี้มีความเห็นถูกต้อง แล้วพระองค์นี้ยังไม่เปลี่ยนทิฏฐิคือไม่เปลี่ยนความเห็น คำสวดนั้นจบสวดที่ ๓ ลง ตั้งญัตติแล้วสวด พระองค์นั้นเป็นสังฆาทิเสส

แล้วเวลาเขาสอน เขาสอนว่าคำว่า “พุทธพจน์” ถามว่าเขารู้ไหมว่าพุทธพจน์คืออะไร มันก็เหมือนอ่านศิลาจารึก เราอ่านศิลาจารึกออกนะ แต่ยุคสมัย ในสมัยสุโขทัย ใครใคร่ค้าม้า ค้า ใครใคร่ทำ ใครใคร่ทำอะไร ทำ แล้วเป็นประชาธิปไตย แล้วภูมิประเทศล่ะ สังคมล่ะ มันจะเป็นอย่างที่เราคิดกันไหม เพราะเราคิดในปัจจุบันนี้ไง เราคิดนะ

โธ่! โลกนี่นะ เพิ่งมาแบ่งแยกที่เป็นประเทศ มันเพิ่งเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้เอง สมัยก่อนยุโรปก็เหมือนเรา อิตาลีรวมประเทศขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง แต่ก่อนมันก็เป็นแว่นแคว้น เป็นแว่นแคว้น หลักชายแดนไม่มีหรอก ใครมีอำนาจก็รบรุกรานกันเข้าไป ยึดครองกัน ยึดครองกันเท่านั้นเอง เราเพิ่งมาเกิดเดี๋ยวนี้เอง แค่หลังสงครามโลกไป ขอบเขตของประเทศอยู่ตรงไหน ขอบเขตของรัฐอยู่ที่ไหน แล้วเวลาเราจินตนาการไป เราจะจินตนาการไปอย่างไร แล้วมาอ้าง สิ่งนี้มันเป็นสมมุตินะ แต่พวกเราเข้ากันไม่ถึงไง แล้วเข้าไม่ถึงเราก็ไปยึดไง

เราจะบอกว่า พวกเราชาวพุทธ เราชาวพุทธ เรายึดมั่น ยึดถึงปัญญาว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาจะทำให้พ้นจากทุกข์ แล้วเราก็ใช้ปัญญา...มันเป็นปัญญาของกิเลส ปัญญาที่เกิดขึ้นมาเกิดจากตัณหาความทะยานอยาก เกิดจากทิฏฐิมานะ เกิดจากความเห็นผิดทั้งหมดเลย แล้วมันเป็นพุทธพจน์ตรงไหน

เวลาอ้างพุทธพจน์ ใช่ เป็นพุทธพจน์ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา หลวงตาท่านบอกว่าท่านบรรลุธรรม พุทธ ธรรม สงฆ์รวมอยู่ที่ใจ หนึ่งเดียวในหัวใจเลย ความเป็นธรรมมันรวมลงที่ใจ รวมลงที่ใจแล้วจะไม่เคารพบูชา จะไปโต้แย้งองค์สมเด็จสัมมาสังพุทธเจ้า มันเป็นไปไม่ได้เลย เป็นไปไม่ได้ตรงไหน

เวลาเราทำสมาธิไปนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกศีล ปัญญา สมาธิเป็นอย่างนี้ เราจะทำอะไรไปนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้แล้วทั้งนั้นเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้แล้วทั้งนั้น แล้วเราทำไป เราไปประสบสิ่งนั้น เราจะซึ้งบุญคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปูนหมายป้ายทางให้เราทำ แล้วเราทำตามท่าน แม้แต่ชีวิตนี้ได้มาจากใคร ความเป็นสมณเพศ เพราะท่านวางธรรมวินัยไว้ใช่ไหม เราก็ได้กินบุญ เราบวชพระบวชเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ มันจะไปเนรคุณ มันจะไปเหยียบย่ำธรรมวินัย มันเป็นไปได้อย่างไร แต่กว่าที่มันจะเป็นไป จิตที่มันจะเป็นไป มันจะเห็นสัจจะความจริงของมัน เห็นสัจจะความจริงจะเคารพบูชานะ

แล้วพอบอกว่าไม่เคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเคารพตามตัวอักษร มันเหมือนกฎหมาย เราทำดีกว่ากฎหมายนะ กฎหมายบังคับคนเลว กฎหมายบังคับคนที่ทำความผิด กฎหมายบังคับคนที่เห็นแก่ตัวที่ไประรานเขา แต่คนที่ทำดีกว่ากฎหมาย กฎหมายก็คือกฎหมาย เราทำดีกว่ากฎหมาย กฎหมายไม่จำเป็น สิ่งที่สัจธรรม ธรรมวินัยมันเป็นสมมุติบัญญัติ ถ้าเราทำดี ดูพระสมัยพุทธกาลนะ เวลาบวชแล้วจะสึก บอกว่าบวชแล้วทำอะไรไม่ได้เลย นู่นก็ผิดนี่ก็ผิด ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกจะสึก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “สึกทำไม”

“โอ้โฮ! วินัยมันเยอะมาก กฎหมายเยอะมากเลย ทำอะไรผิดไปหมดเลย”

“แล้วถ้าเกิดกฎหมายมีข้อเดียว เธอจะอยู่ไหม”

“อยู่ ไม่ต้องทำอะไร กฎหมายมีข้อเดียว รักษาง่ายๆ อยู่ได้”

พระพุทธเจ้าบอก “อย่างนั้นให้รักษาใจ รักษาใจข้อเดียว”

ถ้าใจเราเป็นปกตินะ เราจะทำอะไรผิดพลาดบ้าง ทำผิดเพราะเราคิดผิดใช่ไหม ถ้าจิตใจเราคิดถูกต้อง เราจะทำอะไรผิด เราจะไม่ทำอะไรผิดเลย

สิ่งที่เป็นพุทธพจน์นี่นะ นั่นเป็นกรอบ ไอ้นี่มันเป็นกรอบ ถ้าใครศึกษามา เวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น ท่านเป็นมหา หลวงปู่มั่นบอกหลวงตานะ “มหา สิ่งที่ได้เรียนมาเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ดูถูกนะ เทิดไว้บนหัว เทิดไว้บนศีรษะเลย แต่วิชาการที่ศึกษามา ขอให้เก็บเข้าลิ้นชักไว้ก่อน แล้วใส่กุญแจลั่นดานมันไว้ อย่าให้มันออกมา ถ้ามันออกมา...” นี่ภาษาอีสาน “...ถ้ามันออกมา เวลาประพฤติปฏิบัติมันจะเตะมันจะถีบ มันจะขัดแย้งกัน แล้วเราก็จะเกิดความสงสัย”

โดยปกติของเรา เราทำอะไรไปเราจะเกิดมีความลังเลสงสัย ประสบการณ์สิ่งใดเราก็จะเปรียบเทียบ นี่โดยธรรมชาติ โดยธรรมชาติกิเลสมันเป็นแบบนี้ แล้วเรายังมีวิชาการที่มารองรับ มารองรับทิฏฐิมานะความเห็นของเราอีก มันก็เกิดทิฏฐิมานะ แล้วพอประพฤติปฏิบัติไปเป็นข้อเท็จจริง มันก็ไปสงสัยข้อเท็จจริงว่าทำมาจริงหรือไม่จริง เอ๊! เป็นอย่างนี้เป็นสมาธิหรือ สมาธิมันควรจะเป็นอย่างนี้หรือมันไม่ควรเป็นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่นั่นมันเป็นเรื่องจริงๆ

เวลาปฏิบัติไปนี่นะ ในการปฏิบัติของเราทุกคนเวลามา เรามาฝึกงานกัน เราจะมีความผิดพลาดกันทุกคนถ้าคนไม่เคยทำงาน เว้นไว้แต่คนที่ชำนาญการเขาจะไม่มีความผิดพลาด ในการประพฤติปฏิบัติ คนจะปฏิบัติถูกเลยไม่มีหรอก ไม่มี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผิดอยู่ ๖ ปี ตอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะออกมาฝึกฝนอยู่ ขนาดเตรียมองค์ของท่านมาเป็นพระโพธิสัตว์จะมาเป็นพระพุทธเจ้ายังผิดอยู่ ๖ ปีนะ ประพฤติปฏิบัติอยู่ขนาดนั้นน่ะ

แล้วของเรา เราไปศึกษาทางวิชาการมา ศึกษามาโดยกิเลสไง เหมือนน็อตคนละเกลียว น็อตเกลียวซ้ายเกลียวขวาจะขันเข้าหากัน แล้วก็บอกน็อตคือน็อตๆ...เกลียวมันไม่เหมือนกัน มันปีนเกลียว กิเลสมันปีน จะอ้างอย่างไรนะ มันเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือธรรมะสาธารณะ ที่ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติๆ...ไม่ใช่ ธรรมชาติคือธรรมชาติ เรานี่ ทุกข์ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ชีวิตคู่ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง สัตว์ที่มันอยู่ในโลกนี้ ความสืบพันธุ์ของมันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่งเพราะมันไม่สูญพันธุ์ของมัน แล้วถ้าเป็นธรรมชาติ ชีวิตปกตินี้ก็เป็นธรรมชาติไง แล้วทุกข์สุขมันเป็นธรรมชาติไหม

แต่เราไปศึกษา ไปศึกษากฎทฤษฎี เราไปเห็นสัจจะความจริงแล้วเราทิ้งมันไว้ ดูสิ ทางวิทยาศาสตร์เขาผลิตรถขึ้นมา รถนี้เป็นธรรมชาติอันหนึ่งนะ ทางเทคโนโลยีเขาผลิตขึ้นมา แล้วถ้าเราใช้มันมา เราขับมันมา แล้วเราไม่ยอมขึ้นมานั่งบนศาลานี้ เราขังตัวเราเองไว้ในรถนั้น เราจะขึ้นมานั่งบนศาลานี้ได้ไหม เราไปศึกษาธรรม เราว่าเราเป็นธรรม สัจจะเป็นธรรม เราว่าเราเป็นธรรม เรารู้ธรรม แล้วเราไม่ทิ้งธรรมะ เราจะพ้นจากธรรมไปได้ไหม

ธรรมะมันพ้นจากดีและชั่วนะ ความดีนี่ติดดี คนติดดีกับคนติดชั่ว คนติดชั่วแก้ง่าย คนติดดีมันว่ามันดี มันว่ามันดีกับโลก คนติดดีแก้ยากมาก ทีนี้เห็นการติดพันของมัน การเสียสละ นี่ไง ถ้าเป็นธรรมะเป็นธรรมชาติ ความคิดก็เป็นธรรมชาติ ความคิดเป็นธรรมชาติทั้งนั้นน่ะ มันเกิดดับๆ มันเป็นสัจจะความจริงของมัน แล้วทุกข์ทำไม ทุกข์ทำไม ทิ้งมันได้ไหม ถ้ามันทิ้งได้ เอาอะไรไปทิ้งมัน มันต้องธรรมเหนือโลกไง ธรรมะนี่นะ รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง

ในทางโลกนะ การเสพกามเป็นรสชาติที่โลกติดกัน แล้วถ้าพิจารณาอสุภะไป ถ้ารสชาติไม่เหนือกว่ารสนั้น มันจะทิ้งรสนั้นได้ไหม รสของโลกที่เขาอยู่กัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกนั่นน่ะงูเห่า เลี้ยงงูเห่า

ทางโลกนะ ถ้าครอบครัวที่มีความสุข ครอบครัวที่เข้าใจกัน ครอบครัวนั้นคู่สร้างคู่สม คู่ทุกข์คู่ยาก คู่บารมีกัน มันก็อยู่ในครอบครัวมีความสุข คู่ทุกข์ คู่เวรคู่กรรม ครอบครัวนั้นมีความทุกข์มากนะ มันเป็นคู่เวรคู่กรรม มันจากกันไม่ได้ มันสุขตรงไหน ชีวิตมันสุขตรงไหน แต่เพราะเราไปติดมัน เราทิ้งมันไม่ได้

นี่พอบอกว่าเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ อันนี้มันเป็นพุทธพจน์ มันเป็นธรรมะสาธารณะ แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริงนะ ธรรมะส่วนบุคคล ธรรมะส่วนบุคคลนะ สมาธิก็เกิดที่ใจเรา สติก็เกิดที่ใจเรา ปัญญาก็เกิดที่ใจเรา แล้วปัญญาภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ออกมา

ที่ปัญญากิเลสพาใช้โดยสมองเรา โดยสถิติ สถิตินั้นถูกต้องนะ ทฤษฎีนั้นถูกต้องหมด แต่มันบวกที่ว่าเราชอบหรือไม่ชอบ เราโกรธหรือเราเกลียด นี่มันบวกตรงนั้น มันผิดตรงนั้นไง ปัญญาที่มันเกิดขึ้นมันเกิดจากกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วถ้ากิเลสตัณหาความทะยานอยาก ในอภิธรรมนี่ไม่ได้ คนมีความอยากปฏิบัติไม่ได้

ถ้าคนมีความอยากปฏิบัติไม่ได้นะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะสอนแต่พระอรหันต์เท่านั้น เพราะพระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่มีกิเลส แล้วปุถุชนมันมีกิเลสทั้งหมด อย่างไรมันก็มีความอยาก โดยสัญชาตญาณของมัน มันมีความอยากทั้งนั้น แล้วบอกไม่มีความอยาก แล้วเมื่อไหร่กูจะได้ปฏิบัติล่ะถ้ามีความอยาก

แต่เวลาภาคปฏิบัติของเรานะ อยากทำดีเป็นมรรค อยากมาทำบุญเป็นมรรค อยากนั่งสมาธิ อยากภาวนา ตั้งสติ ความอยากนี้เป็นอยากในแง่บวก ไม่ผิด ถ้ามีความอยากนะ แต่ถ้าปฏิเสธความอยาก สักแต่ว่า “จะปฏิบัติห้ามมีความอยาก เพราะความอยากเป็นกิเลส สักแต่ว่า” เหมือนเราทำหน้าที่การงานแล้วไม่หวังผลตอบแทน พอไม่หวังผลคือไม่มีเจ้าของไง เหมือนกัน เราไม่มีบัญชีในธนาคารกับโลกเขา เขาโอนเงิน เขาถ่ายเทเงินทองกัน เขาทำได้นะ เทคโนโลยีนี่โอนข้ามชาติก็ได้ แต่เราไม่มีบัญชีในนั้น เราจะโอนเข้าได้ไหม เราโอนเข้าไม่ได้หรอก แต่ถ้าเรามีบัญชีกับเขา บัญชีคืออะไร บัญชีคือภพ บัญชีคือเรา แล้วถ้าไม่มีเรา ไม่มีเรา เราไม่อยู่ในสัจจะความจริง เราจะแก้กิเลสได้อย่างไร นี่ไม่มีความอยาก เห็นไหม

ความอยาก อยากในสิ่งที่ดี ภาคปฏิบัติของเรา หลวงตาท่านพูด อยากที่เป็นมรรคมี ความอยากที่เป็นมรรค ตัณหาความทะยานอยาก อยากในกิเลสตัณหาความทะยานอยาก อยากในความผิดพลาด อันนั้นเป็นกิเลส แต่อยากทำคุณงามความดี เพราะเรามาจากคุณงามความดี ถึงบอกว่ามันทำได้ มันทำได้ถ้ารู้จักใช้มัน รู้จักใช้ รู้จักสติยับยั้ง สิ่งที่ยับยั้ง สิ่งนั้นจะเป็นคุณงามความดีได้

ไฟจุดเผาป่า จุดเผาบ้านเมืองมันเผาได้หมดเลย ไฟ พลังงานของไฟใช้เป็นไฟฟ้า ใช้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไฟ นี่ไง มันก็เกิดจากความคิดเรา แต่สิ่งที่ความคิดมันเป็นประโยชน์ ถ้าสิ่งนี้มันเกิดขึ้นมามันจะรู้สัจจะความจริงไงว่าธรรมะส่วนบุคคล สมาธิเกิดที่นี่ สมาธิเกิดที่ใจ สมาธิไม่ได้อยู่ในพระไตรปิฎก สมาธิไม่ได้อยู่ในตำรา สมาธิไม่ได้อยู่ในที่ใดๆ เลย สิ่งอื่นเป็นสมาธิไม่ได้ สมาธิเกิดจากจิตของสัตว์โลก

แล้วสมาธิก็ไม่ใช่จิต จิตก็ไม่ใช่สมาธิ ถ้าจิตเป็นสมาธิ คนที่เป็นสมาธิจะไม่เสื่อมจากสมาธิเลย ถ้ามีสมาธิกับจิตเป็นอันเดียวกัน เราจะมีสมาธิกันตลอดเวลา สมาธิเกิดจากการฝึกฝนของเราใช่ไหม สมาธิเกิดจากการฝึกฝนของเรา สมาธินี้ยับยั้งตัวตนของเรา ยับยั้งตัวตนของเราคือโลกทัศน์ของเราให้มันเป็นเฉพาะเป็นความว่าง เหมือนกับในปัจจุบันนี้ ถ้ารถนี่นะ มันเป็นเกียร์ว่าง มันติดเครื่องก็ได้ ติดเครื่องเสร็จแล้วมันใส่เกียร์ มันก็จะเป็นไปได้ ถ้ารถนี้อยู่ในเกียร์นะ รถนี้ใครจอดรถแล้วใส่เกียร์ไว้ตลอด แล้วติดเครื่องได้ไหม

ความคิดของเรากับจิต ความคิดไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ความคิด ความคิดมันคิดอยู่ตลอดเวลา เหมือนเราใส่เกียร์ไว้ตลอดเวลา พอเราใส่เกียร์ไว้ เพราะรถทุกคันใส่เกียร์ไว้ พอใส่เกียร์ไว้ เวลาติดเครื่องมันก็ชนกัน ความคิดของเราทุกๆ คนกับจิตมันมีอยู่แล้ว แต่เวลาเราไปปลดเกียร์ว่าง ทำสมาธิไง ถ้าเราปลดเกียร์ว่างนะ เราจะเห็นความคิดของแต่ละบุคคล เราจะเข้ากับบุคคลทุกๆ คนได้เพราะเรารถเกียร์ว่าง เขาจะมีเกียร์สิ่งใดมา เขาจะมา เราหลบหลีกได้ เราทำได้ จิตที่เป็นสมาธิ เราปลดจิตให้ว่าง ถ้าปลดจิตให้ว่าง ว่าง

มิจฉาสมาธิก็มี สัมมาสมาธิก็มี ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ “ว่างๆ ว่างๆ” กำหนดนามรูป กำหนดให้ว่าง เคลม เคลมให้มันว่าง

เพราะถ้าเป็นภาคปฏิบัติของเรา เป็นปัญญาอบรมสมาธิหรือเป็นกำหนดกรรมฐาน ๔๐ ห้อง กำหนดคือคำบริกรรม ความคิดเกิดจากจิต จิตมีความคิด จิต พลังงานตัวนั้นมันอยู่ปกติของมัน เวลาเรานั่งเฉยๆ เรามีความสุข มันไม่ได้คิด นั่นคือตัวจิต แต่เวลาความคิดมันเกิดขึ้นมา ความคิดนี้มันจะชักนำให้เราทุกข์ให้เรายาก แล้วเราควบคุมมันไม่ได้ เรากำหนดคำบริกรรมพุทโธ พุทโธก็คือความคิด ถ้าจิตมันกำหนดความคิดพุทโธๆ

พลังงาน ดูสิ พลังงานมันส่งออก พลังงานมันต้องออกเป็นธรรมดา ธาตุรู้ ธาตุจิตมันธาตุรู้ ธรรมชาติของสิ่งที่รู้ มันจะรู้ตลอดเวลา รู้สิ่งต่างๆ รู้ตลอดเวลา รู้แล้วเผลอทำไม รู้แล้วเหม่อทำไม...ก็มันรู้โดยกิเลสไง มันรู้สิ่งที่มันพอใจไง แต่พอใจให้มันรู้สิ่งที่ดี เหมือนเด็กเลย เด็กเราจะให้กินอาหารเพื่อสุขภาพ มันไม่เอาหรอก มันจะกินอาหารแต่ธรรมชาติของมัน มันกินแต่รสชาติที่มันพอใจ จิตโดยธรรมชาติมันติดในรส ติดในตัณหาความทะยานอยาก ติดในสิ่งนี้ มันจะคิดของมันตามความพอใจของมัน แต่พอบอกให้คิดพุทโธ มันไม่ยอม พอให้กินอาหารที่เป็นประโยชน์ มันไม่เอา พุทโธๆๆ

ธรรมดาของจิตมันเสวยอารมณ์ จิตโดยธรรมชาติของมัน พลังงานมันอยู่ที่ไหนไม่รู้หรอก แต่เวลาคิดขึ้นมา เออ! กูคิด ทีนี้เราบังคับให้มันคิดพุทโธๆๆ มันก็ไม่ยอมคิด พุทโธๆ มันเป็นอาหารของใจ เพราะจิตมันกินอารมณ์เป็นอาหาร พุทโธๆๆ เพราะพุทโธเป็นธรรมะ เป็นพุทธานุสติ เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือใคร พระพุทธเจ้าคือธาตุรู้ ธาตุรู้คือความรู้สึก นั่นคือพระพุทธเจ้า แล้วเราโง่ เราไม่เข้าใจ เราจะไปกราบพระพุทธเจ้าที่อินเดียกัน เราไปกราบพระพุทธเจ้าที่รูปเคารพ ที่พระพุทธรูป นี้เป็นรูปเคารพนะ เป็นสมมุติให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข ให้เป็นมาตรฐาน

แต่ความจริงพระพุทธเจ้าอยู่กลางใจของเรา พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทธะ พุทธะอยู่ที่นี่ พุทโธๆๆ พอจิตมันพุทโธ พลังงานนี้ไม่ส่งออก เหมือนกับเราหัดเล่นเทนนิส เราตีลูกเข้ากำแพง ลูกมันจะเด้งกลับมาให้เราตีเข้าไปอีก พุทโธนี้เหมือนกำแพงที่มันกั้นไม่ให้ความคิดเราส่งออกไปข้างนอก พุทโธๆๆ จนตัวมันเองเป็นสมาธิ เป็นสมาธิไง นึกพุทโธก็นึกไม่ได้ เพราะเป็นตัวมันเอง ทั้งๆ ที่เราจะเข้าหาจิต เราจะเข้าหาพุทโธ เข้าหาพุทธะ นี่ถ้าเราหาพุทธะ เข้าถึงตัวเราได้ เกียร์ว่าง

ทีนี้ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ กำหนดความรู้สึก กำหนดความรู้สึก พุทโธเป็นความคิดใช่ไหม พลังงานเป็นพลังงานใช่ไหม พลังงานนี้คิดถึงพุทโธเป็นคำบริกรรมใช่ไหม แต่เราก็นึกถึงนามรูป นึกถึงความว่าง ความว่างเป็นความคิดใช่ไหม มันไปว่างที่ความคิด “ว่างๆ ว่างๆ” นี่มิจฉาสมาธิ

เวลาประพฤติปฏิบัตินะ “กำหนดพุทโธไม่ได้ ทำบริกรรมไม่ได้ ถ้ามันเป็นสมาธิ มันติดสมาธิแล้วมันไม่มีปัญญา” แล้วเวลามันกำหนดนามรูปมันเป็นมิจฉาด้วย มิจฉาสมาธิเพราะไม่มีสติ ไม่รู้จักความว่างของตัว “ว่างๆ ว่างๆ” ไม่รู้จักความว่างของตัวมันก็ว่าความว่างนี้เป็นนิพพาน ความว่างนี้เป็นผลของธรรม

ผลของธรรมนะ มันเป็นสมาธิธรรม ปัญญาธรรม สติธรรม อริยสัจ ธรรมะมันยังลึกซึ้ง ลึกซึ้งที่จะต้องพัฒนาการไปอีกมหาศาลเลย นี่ถ้าภาคปฏิบัติมันจะมีความรู้ของมัน มันจะพัฒนาการของมัน

แล้วบอกว่าพุทธพจน์ๆ...พุทธพจน์มันตายตัว พุทธพจน์ตายตัว แต่เวลาจิตเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไปถึงที่สุดแล้วจะกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยหัวใจนะ พุทธพจน์นี้กับความรู้สึกนี้ พุทธ ธรรม สงฆ์อยู่ที่ใจ อันเดียวกัน อันเดียวกัน แต่วิธีการที่จะเข้าไปหาพุทธพจน์ วิธีการที่จะประพฤติปฏิบัติแต่ละชั้นแต่ละตอนมันมีอีกมหาศาลเลย แต่เราไปเอาสูตรสำเร็จมา “พุทธพจน์ต้องว่าอย่างนั้น แล้วต้องทำอย่างนั้น” ก็สร้างให้เราเป็นหุ่นยนต์ ทำเหมือนหุ่นยนต์โรงงาน มันทำตามหน้าที่มัน มันไม่รู้อะไรกับใครทั้งสิ้น เราก็บอกเป็นพุทธพจน์ เป็นสูตร เป็นการกระทำของเรา เคลื่อนไหวไปตามธรรมนั้น

แล้วผลล่ะ ผล ผลคืออะไร

ผลคือ “ว่างๆ ว่างๆ”

ว่างๆ ก็ไม่รู้จักว่างๆ

ถ้ามันเป็นสมาธินะ โอ้โฮ! โอ้โฮ! เหมือนเราได้ลิ้มรส เรากินข้าว เราจะมีความอิ่มของเรา เราร้อนขึ้นมา เราอาบน้ำ เราจะเย็นของเรา แต่เวลาเราไปกำหนดว่างๆ ว่างๆ ร้อนก็ไม่รู้ว่าร้อน อิ่มก็ไม่รู้ว่าอิ่ม ว่า “ว่างๆ ว่างๆ” มิจฉาไง มิจฉาสมาธิคือขาดสติ ขาดการรับรู้ของส่วนตัวของตัว

แต่ถ้ามันศีล สมาธิ ปัญญา เพราะสมาธิมันอยู่ในมรรค ๘ มีสมาธินี่ปลดเกียร์ให้ว่าง ถ้าปลดเกียร์แล้วว่างนะ รถเรานะ ถึงเราไม่อยู่นะ แล้วมันขวางทางเขา เขายังเข็นเข้าที่เข้าทางได้ รถถ้ามันใส่เกียร์ไว้นะ แล้วมันใส่เบรกไว้นะ ขวางเขาอยู่นั่นน่ะ มันขวาง รู้ ถือตัวว่ามันมีความรู้ไง กูเก่ง กูแน่ ขวางเขาไปหมดเลย แล้วเป็นประโยชน์กับใคร

แต่ถ้าเราปลดให้เราว่างได้ แล้วเป็นสัมมา สัมมาคือมีสติสัมปชัญญะแล้วน้อมไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรมโดยจิต ไม่ใช่เห็นกาย เวทนา จิต ธรรมโดยข้อมูล โดยสัญญา โดยสัญชาตญาณ สัญชาตญาณเราคิดกันได้ เรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต เรื่องธรรม คิดกันทั้งนั้นน่ะ แต่เป็นความจริงไหม ไม่เป็นความจริง

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ รูป รส กลิ่น เสียง อายตนะ ทั้ง ๖ ขันธ์ ๕ ทั้งขันธ์ ๕ เป็นได้ทั้งสมถะ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา

เราเป็นปุถุชน การฝึกฝนของเรา ถ้าเรากำหนดแล้วเราใช่สติเข้าไป ถ้ามันปล่อยวางเข้ามาเป็นสมถะ เพราะคำว่า “พุทโธ” มันก็เป็นคำบริกรรม พิจารณามรณานุสติ พิจารณากาย พิจารณาต่างๆ มันก็เป็นคำบริกรรม มันเป็นคำบริกรรมเพราะจิตกับความคิดมันยังอยู่ในเกียร์อยู่ ถ้ามันปล่อยเข้ามามันถึงจะเป็นความว่าง แล้วมีสติสัมปชัญญะ เพราะว่างขึ้นมามันจะรู้นะ ถ้าใครพิจารณาแล้วมันปล่อยวางขึ้นมา มีสติขึ้นมา โอ้โฮ! โอ้โฮ! ความรู้สึกจริงๆ มันจะบรรยายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ ความที่มันเป็นความว่างจริงๆ มันจะอธิบายออกมาเป็นความรู้สึก มันรู้ แต่มันจะเขียนอธิบายออกมาให้คนเข้าใจนี่ยากมาก แต่ถ้าคนเข้าใจๆ มันมองตากันมันก็รู้ พอมันรู้ ตั้งสติให้พร้อม มีสติให้ดี แล้วความว่างมีความชำนาญของมัน สร้างฐานให้ได้ แล้วพอสร้างฐานให้ได้ พอมันน้อมไปเห็นไง จิตเห็น จิตเห็น จิตเห็นจิต จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็น ไม่ใช่สัญญาเห็น ไม่ใช่ความคิดเห็น จิตเห็นนะ จิตเห็นมันสะเทือนหัวใจมาก

ที่พูดๆ กัน “จิตเห็นๆ” จิตเห็นเงา เงาของจิต รับรู้ของจิต ไม่ใช่ตัวจิตหรอก เพราะเข้าสมาธิกันไม่เป็น สมาธิ แม้แต่สมาธินะ เดี๋ยวนี้นะ พระนะ ทำสมาธิยังทำไม่เป็นเลย เพราะทำสมาธิเป็นนะ จะพูดสมาธิผิดไม่ได้ ถ้ามีปัญญาเป็นนะ ใช้ปัญญาเป็นจะรู้จักว่าความก้าวเดินของปัญญา

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต มันกว้างขวางจนไม่มีขอบเขตเลย

แต่ของเรานี่มันคิด ถ้ามันคิดโดยข้อมูล มันคิดโดยสัญญา สิ่งนั้นเท่านั้นเอง ถ้ามันเห็นข้อเท็จจริง วิปัสสนาเกิดที่นั่น ความเป็นจริงเกิดที่นั่น ถ้าความจริงเกิดที่นั่น เกิดที่นั่น เกิดที่ไหน เกิดที่ใจ เพราะใจมันเห็น มันรู้ของมัน แล้วมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ มันจะแยกแยะของมัน มันจะมีการกระทำของมัน นั่นวิปัสสนาเกิดขึ้น ปัญญาเกิดขึ้นโดยข้อเท็จจริง มันจะรู้ซึ้ง แล้วมันจะปล่อยวางเป็นธรรมะส่วนบุคคล เพราะเรารู้เองเห็นเอง แล้วถึงจุดหนึ่งนะ มันจะรวมตัวของมัน มรรคสามัคคี รวมตัวทำลายๆๆ

ทำลายกิเลสสุดยอดที่สุด การทำลายกัน การเบียดเบียนกัน สิ่งนั้นไม่มีสิ่งใดเป็นคุณเลย ชนะมากขนาดไหนมันเป็นกรรมทั้งนั้นน่ะ สร้างเวรสร้างกรรม แต่การชนะกิเลส การชนะสิ่งที่รู้เห็นผิดของเราสุดยอด สุดยอดของสัจธรรม สุดยอด ชนะตนสำคัญที่สุด ชนะจิตสำคัญที่สุด ชนะสิ่งที่เห็นผิดสำคัญที่สุด พอมันชนะบ่อยครั้งเข้า ตทังคปหาน มันจะปล่อยๆ ปล่อยด้วยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่สัญญาที่เราใคร่ครวญกันที่มันพูดโม้กันปากเปียกปากแฉะนี้หรอก มันเป็นข้อมูล มันเป็นสัญญา

ในคอมพิวเตอร์นะ เดี๋ยวนี้นะ พระไตรปิฎกในคอมพิวเตอร์ดีกว่าเราเยอะแยะเลย คีย์เข้าไปสิ จะเอาฉบับไหน มันจำได้ดีกว่าเราอีก แต่ความจริงมันเกิดไหม คอมพิวเตอร์ไม่มีชีวิต คอมพิวเตอร์เป็นนิพพานไม่ได้ จิตของคนต่างหากมันเป็นนิพพานได้ แต่เราศึกษาของเรา ศึกษาทางทฤษฎี ศึกษาจำตัวอักษรมา จำความรู้สึกมา แต่ขณะประพฤติปฏิบัติ ภาคปฏิบัติคือภาคเอาจิตเข้าไปใคร่ครวญสิ่งสัจธรรมความจริง แล้วมันเห็นของมัน มันจะปล่อยๆ การปล่อยนี้คือตทังคปหาน การปล่อยอย่างนี้มันยังไม่เป็นอกุปปธรรม

กุปปธรรม อกุปปธรรม กุปปธรรมคือสัจธรรมที่มันเป็นอนัตตาคือมันแปรสภาพ มันยังแปรสภาพอยู่ อนัตตาที่พระพุทธเจ้าสอน อนัตตา สอนอนัตตา คือวิวัฒนาการ คือการพัฒนาการของใจ ใจมันพัฒนาการจากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน ไปเห็นกายก็เป็นโสดาปัตติมรรค

จากการวิวัฒนาการที่เราควบคุม เราพัฒนาการของมัน มันจะพัฒนาการเข้าไปเป็นโสดาปัตติมรรค จากโสดาปัตติมรรคมันจะเป็นโสดาปัตติผล ยกขึ้นเป็นสกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล วิวัฒนาการของจิตมันจะเจริญเกิดขึ้นตามไป นี่ไง จะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง นี่พุทธพจน์ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ สอนให้ทำอย่างนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนสิ่งที่ท่านพูดมาแล้วให้จำมาแล้วมาเถียงกันหรอก ไอ้นั่นมันเป็นสุตมยปัญญา เป็นวิชาการที่เราศึกษามา ศึกษามาขนาดไหน กิเลสมันสะกิดสักตัวหนึ่งไหม ทิฏฐิมานะสักตัวหนึ่งมันได้กระเด็นออกไปจากใจไหม ยิ่งศึกษามากขนาดไหน อีโก้มันยิ่งขึ้น กูรู้มาก กูเก่งมาก...เก่งมาก งงทำไม

โดยสัญชาตญาณ ใครศึกษามาขนาดไหนมันก็รู้ตัวทั้งนั้นน่ะว่าเรายิ่งศึกษาเรายิ่งลังเล “มันจะเป็นไปไหม” ยิ่งศึกษาไปศึกษามา นรกสวรรค์ไม่มีเลย ศึกษาจนนรกสวรรค์ไม่มีนะ “ถ้านรกสวรรค์มี มันข้ามภพข้ามชาติ มันจะไปแก้กันอย่างไร”

ไม่ใช่ ในการประพฤติปฏิบัติมันแก้ปัจจุบันนี้ แต่เป็นจริตนิสัย การข้ามภพข้ามชาติมา ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ พระเวสสันดรมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ข้ามภพข้ามชาติไหม การข้ามภพข้ามชาติมันเป็นการสะสมบุญญาธิการ ถ้าบุญญาธิการสะสมมาแล้วมันขาดตอนนะ พวกเรานี้เป็นหุ่นยนต์หมด เพราะเป็นมนุษย์ด้วยกัน ต้องมีความรู้สึกเหมือนกัน ต้องมีความคิดเหมือนกัน ยิ่งมีครอบครัวเดียวกัน พี่น้องกัน ออกจากพ่อแม่เดียวกัน ทำไมคิดไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นปัจจุบันหมดไง ไม่ข้ามภพข้ามชาติไง เหมือนกับโรงงานอุตสาหกรรมออกมาเป็นรุ่นเดียวกัน แบบเดียวกัน ต้องเหมือนกันเปี๊ยะ ไอ้นี่เกิดจากอุตสาหกรรมสายการผลิตพ่อแม่เดียวกันนะ พี่น้องยังไม่เหมือนกัน เพราะอะไร เพราะจิตดวงนั้นมันข้ามภพข้ามชาติ มันมีบุญกุศลของมัน เวลาไปตรวจ ลูกในครอบครัวเดียวกันไปตรวจดีเอ็นเอ กรรมพันธุ์พ่อแม่หมด แต่จิตใจไม่มีสิทธิ์เลย เป็นไปไม่ได้เลย จิตใจของเขา เขาสร้างของเขามา เลี้ยงอย่างนี้ เลี้ยงง่าย เลี้ยงยาก เลี้ยงดีไม่ดี มันเป็นกรรมของเขา มันเป็นสิ่งที่ของเขามา แล้วในปัจจุบันมันชำระ ชำระอย่างไร ชำระก็ชำระกิเลสตรงนี้ไง

พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลนะ ดูสิ พระนันทะเหมือนพระพุทธเจ้าเปี๊ยะเลย เดินไปไหนเขาจะปู เขานึกว่าพระพุทธเจ้ามาเลย พระอรหันต์บางองค์นะ หง้อยเปลี้ย เป็นค่อม พระอรหันต์ทำไมร่างกายไม่เหมือนกันล่ะ พระอรหันต์เตี้ยที่ว่าในพระไตรปิฎก พอมันไปลูบเล่นก็คิดว่าใช่ มันไม่ใช่ สิ่งนี้มันเป็นบุญญาธิการ มันเกิดมาจากในนี้ เกิดมาจากข้างใน ทีนี้เกิดจากข้างใน เขาว่าข้ามภพข้ามชาติ นรกสวรรค์ไม่มี สิ่งนั้นมันเป็นที่พักนะ จิตเราเหมือนรถเมล์ รถเมล์จะเข้าป้ายไหน จะจอดที่ไหน

เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ มันแว็บออก น้ำไหลมาเต็มที่แล้วนะ พอมันโดนประตูมันสะกิด น้ำจบแล้ว เวลาท่านพูดอย่างนั้นต้องขึ้นใหม่ ก็เป็นบทใหม่ไปเลย

การศึกษา ศึกษาเป็นสิ่งที่ดี แต่ศึกษาแล้วมันต้องวางไว้ แล้วเราต้องทำความจริงของเรา

คำถามนะ

ถาม : พระอรหันต์ในสมัยปัจจุบันสามารถนิมนต์พระพุทธเจ้ามาเป็นประธานในพิธีกรรมสำคัญๆ ได้หรือไม่

หลวงพ่อ : คำถามนี้มันมีเลศนัย “พระอรหันต์ในสมัยปัจจุบันสามารถนิมนต์พระพุทธเจ้ามาเป็นประธานในพิธีสำคัญๆ ต่างๆ ได้หรือไม่”

เพราะว่าคำว่า “นิมนต์พระพุทธเจ้ามา” มันมีหลายอย่าง พระอรหันต์ในสมัยปัจจุบัน เริ่มต้นต้องเชื่อก่อนว่าพระอรหันต์ในสมัยปัจจุบันมีจริงเปล่า ถ้าพระอรหันต์ในสมัยปัจจุบันมี อันนี้สิ่งที่ว่านิมนต์พระพุทธเจ้ามาเป็นประธานในพิธี

พระอรหันต์ไม่ต้องนิมนต์นะ เพราะในประวัติหลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่มั่นบรรลุธรรมขึ้นมา มีพระในสมัยพุทธกาลมาอนุโมทนามหาศาลเลย ในประวัติหลวงปู่มั่นบอกเลย มีพระอรหันต์ มีพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามาอนุโมทนากับหลวงปู่มั่น ในประวัติหลวงปู่มั่น

พอแจกประวัติหลวงปู่มั่นออกไป คึกฤทธิ์ ปราโมทย์เขาเขียนโต้แย้งมา บอกว่าหลวงปู่มั่นสอนให้คนโง่หรือสอนให้คนฉลาด เพราะว่าพระอรหันต์ในเมื่อดับสูญไปแล้ว ดับสูญไปแล้ว แล้วพระอรหันต์ที่ไหน พระพุทธเจ้าที่ไหนจะมาอนุโมทนาล่ะ นี่ปัญญาของคึกฤทธิ์นะ พระอรหันต์ดับสูญไปแล้ว คำว่า “ดับสูญไปแล้ว” คือว่าพระอรหันต์ไม่มี ดับสูญ ไม่มี

แต่ในการประพฤติปฏิบัติสูญจากกิเลส สูญจากกิเลส มโนวิญฺญาเณปิ นิพฺพินฺทติ มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ ต้องทำลายมโน ต้องทำลายใจ อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ อาสเวหิ อาสวะสิ้นไป จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ ตัวจิตไม่มี มโนคือจิต จิตคือมโน พระอรหันต์ไม่มีจิต ถ้ามีจิตจะมีภพ มีภพคือปฏิสนธิวิญญาณ ปฏิสนธิไม่ใช่วิญญาณรับรู้นะ เรามีวิญญาณขันธ์ ๕ ปฏิสนธิวิญญาณ ปฏิสนธิคือตัวภพ คือตัวพลังงานเฉยๆ ไม่ใช่ความคิด ขณะคนจะไปเกิด คนที่ยังจำชาติตัวเองไม่ได้ ในปัจจุบันความคิดเราจะระลึกได้ตั้งแต่เด็ก พอเราจะตาย มันจะหดสั้นเข้ามา หดสั้นเข้ามานะ หดสั้นเข้ามามันก็เป็นตัวจิต พอตัวจิตออกจากร่าง ออกจากร่างไปมันก็ไปภพต่างๆ นี่โดยปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตไปเกิด นี่ตัวจิต ตัวภพ ตัวนี้มันจะไปเกิดต่อๆ ไป แล้วมันจะทับไปเรื่อยๆ เวลาบุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนอดีตชาติ มันจะเข้าไปในข้อมูลอย่างนั้น

ทีนี้พระอรหันต์ทำลายภพนี้หมดเลย ถ้าพระอรหันต์ไม่ทำลายจิต ไม่ทำลายภพนะ มารมันจะเห็น มารจะตามไป พระในสมัยพุทธกาลเวลาสำเร็จ มารจะรื้อค้น พระพุทธเจ้าบอก “มารเอย เธอรื้อค้นขนาดไหนก็ไม่เจอลูกศิษย์ของเราหรอก ไม่มีทางเจอ ไม่มีทางเจอ ไม่มีทางเจอ”

เวลาพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระพุทธเจ้ามาเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ

พระอรหันต์มีจิตไหม พระอรหันต์มีธรรมธาตุ วิมุตติสุข วิมุตติธรรมไหม มีวิมุตติธรรม วิมุตติธรรมนี่มาเข้า มาเข้าตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน เข้าสมาบัติ แล้วระหว่างกลางนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน

มโนวิญฺญาเณปิ นิพฺพินฺทติ มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ มโนในอาทิตตปริยายสูตร มโน ทำลายมโน ทำลายจิต ถ้าทำลายจิต ตัวภพไม่มี ตัวภพไม่มี ตัวภพคือตัวฐาน ความคิดมาจากไหน มาจากภพ มาจากฐานที่ตั้ง มาจากหัวใจ โลกทัศน์ ตัวโลกสำคัญมาก โลกข้างนอกไม่สำคัญเท่ากับโลกของจิต ตัวจิต ตัวสัตตะผู้ข้อง ตัวใจเรานี่ ตัวผูกพันนี่ ตัวสะสมกรรมนี่ กรรมดีกรรมชั่วมันสะสมที่นี่ เกิดดีเกิดชั่ว ตัวนี้ตัวเกิด แล้วตัวทำลายมันสะอาด ทำลายถึงที่สุดแล้วพ้นออกไปจากภพ พ้นออกไปจากกิเลส อวิชชา ภวาสวะ อวิชชาสวะ กิเลสสวะ ภวาสวะ ตัวภพทำลายหมดแล้ว พอทำลายไป สิ้นไป สูญสิ้นจากวัฏฏะ สูญสิ้นจากโลก แต่มีอยู่ ในเมื่อมีอยู่เพราะอะไร เพราะพุทธ ธรรม สงฆ์รวมอยู่ที่นั่น

อันนี้สิ่งที่ถ้าเป็นพระอรหันต์จริง ทำคุณงามความดีจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาอนุโมทนา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ไปอบรมปัญจวัคคีย์เป็น ๖ ทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปสอนยสะอีก ๕๔ “ภิกษุทั้งหลายทั้ง ๖๐ ทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เธอทั้งหลายเป็นผู้พ้นบ่วงที่เป็นโลกและบ่วงที่เป็นทิพย์”

บ่วงที่เป็นโลกคือโลกธรรม ๘ คือสิ่งลาภสักการะของโลกเขา

บ่วงที่เป็นทิพย์คือว่าพวกตั้งแต่พรหมลงมาอนุโมทนา

“พ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและบ่วงที่เป็นทิพย์ เธอจงไปอย่าซ้อนทางกัน โลกนี้เร่าร้อนนัก” อย่าซ้อนทางกัน ต่างคนต่างแยกออกไปเพื่อสัจธรรม เพื่อความร่มเย็นของโลก นี่มันพ้น

พระอรหันต์มีไหม ถ้าพระอรหันต์มี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ ๖๑ องค์ออกเผยแผ่ธรรมมาจนมาถึงปัจจุบันนี้ แล้วครูบาอาจารย์ที่เป็นสัจธรรมจริง ถ้าองค์ไหนเป็นสัจธรรมจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระองค์เดียวยังสร้างศาสนาฝังไว้กับโลกขนาดนี้ ครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นสัจธรรมจริง สอนได้จริง ออกจากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง มันเป็นประโยชน์กับโลกไหม

ถ้ามันไม่หลุดออกจากโลก ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกตั้งแต่ปัญจวัคคีย์ว่า “เธอจงไปอย่าซ้อนทางกัน โลกเขาเร่าร้อนนัก” แล้วกึ่งพุทธกาลโลกเร่าร้อนไหม แล้วครูบาอาจารย์ของเราสิ้นกิเลส เชื่อว่าสิ้นกิเลส เพื่ออมตธรรม เพื่อความร่มเย็นของโลก เพื่อความร่มเย็นของสัจจะความจริง เทวดา อินทร์ พรหมต้องมาฟังเทศน์ สิ่งที่มาฟังเทศน์ ฟังอะไร ฟังอริยสัจ

เทวดารู้อะไร เทวดาก็รู้แต่สมบัติของเขา รู้แต่โลกทิพย์ของเขา แต่เทวดาไม่รู้จักอริยสัจ ไม่รู้จักสัจจะความจริง เพราะเทวดา เทวดาดีกว่าเรานะ เราต้องกินนะ เทวดามาเห็นมนุษย์กินข้าว งงนะ เอ๊! มนุษย์ต้องกินอะไรกัน เพราะเทวดาเขากินวิญญาณาหาร เขากินทิพย์ของเขา เขาเพลินของเขา เขาเพลินเรื่องของเขา เขาไม่มีร่างกาย เขาไม่มีสิ่งบีบคั้น แล้วเขาจะไปพิจารณาอริยสัจอย่างไร

นี่ลงมาฟังธรรม มาฟังธรรมหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นพูดในประวัติหลวงปู่มั่นเยอะมากว่าท่านไม่มีเวลาว่างเลย ท่านต้องรับแขกตลอดเวลา

ต้องบอกว่า ในเมื่อพระอรหันต์องค์หนึ่งทำประโยชน์มากขนาดไหน ทำประโยชน์ขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างพระมาก็เพื่อความร่มเย็นของโลก ไม่ต้องนิมนต์ไปเป็นประธาน อนุโมทนาอยู่แล้ว ถ้าเชื่อว่าพระอรหันต์มีจริงนะ

เพราะคำถามมันมีเลศนัยว่าเชื่อหรือเปล่าว่ามีพระอรหันต์ เพราะว่าอะไร เพราะว่าพระอรหันต์ในสมัยปัจจุบันนิมนต์พระพุทธเจ้า มันมีทางอื่น เขาก็คุยว่าเขาก็นิมนต์ได้

ถามว่าพระพุทธเจ้าจะมาหรือ นิมนต์แล้วพระพุทธเจ้าจะมาไหม ถ้าเอาพระพุทธเจ้ามาสินค้าไม่มาหรอก เอาพระพุทธเจ้ามาเป็นสินค้า เอาพระพุทธเจ้ามาเป็นตัวดึงลาภเข้ามา ไอ้พวกนี้พวกขี้ เห็นลาภสักการะไง ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง พระพุทธเจ้าไม่คลุกขี้

แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์จริง ทำเพื่อประโยชน์โลก ไม่ต้องนิมนต์ ไม่ต้องนิมนต์ ท่านอนุโมทนาอยู่แล้ว ทำดีไง ทำดีกับดีเข้ากัน สัจธรรมคือสัจธรรม น้ำเข้ากับน้ำ น้ำมันเข้ากับน้ำมัน น้ำกับน้ำมันเข้ากันไม่ได้ ความดีของพระพุทธเจ้าสุดยอด แล้วพระองค์ไหนทำจริงได้จริง อนุโมทนาเลย อนุโมทนาแน่นอน เพราะผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกมีศาสนาพุทธศาสนาเดียวเท่านั้นที่บอกว่าเราตถาคตเป็นพระอรหันต์ ไปศาสนาอื่น มีศาสนาไหนบ้างที่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ มีแต่ศาสนาพุทธเราที่พระพุทธเจ้าปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ นี่ไง สิ่งที่เป็นพระอรหันต์ สิ่งที่เป็นพระอรหันต์ แล้วสิ่งที่พระปฏิบัติขึ้นมาเป็นพระอรหันต์ สิ่งที่เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต คือจิตมันเสมอกันไง จิตมันสะอาดบริสุทธิ์เดียวกัน จิตมันอยู่ในสถานที่เดียวกัน แน่นอน

เพียงแต่ว่าถ้าเป็นโลก นี่ไง พระพุทธเจ้านั่งอยู่นู่นไง แล้วก็ไปพยายามจะสร้างพระพุทธเจ้ากันไง แล้วพระพุทธเจ้าในอกทำไมไม่สร้าง

นั่นมันสมมุติ มันเป็นสมมุตินะ สมมุติขึ้นมาเพื่อสังคม ในสังคมขึ้นมามันก็ต้องมีที่หมายกันใช่ไหม จะลบล้างเลย นิพพานคือศูนย์ วงกลม แล้วทำอะไรกันล่ะ ทำอะไรกันไม่ได้เลย แต่ถ้าวิธีไปนิพพานล่ะ เหตุผลจะไปนิพพาน มีข้อวัตรปฏิบัติใช่ไหม มีการกระทำใช่ไหม มันทอดสะพาน พระพุทธเจ้าทอดสะพานไว้ให้พวกเราก้าวเดินขึ้นมา ถ้าก้าวเดินขึ้นมามันก็เป็นสัจจะความจริง

ฉะนั้น ถ้าพูด จะตอบโดยสะอาดบริสุทธิ์ โอ้โฮ! พูดดีกว่านี้อีก เพราะว่าบางทีเอาพระพุทธเจ้ามาเป็นสินค้าอย่างนี้มันไม่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยเพราะเราเป็นศากยบุตร เรามาเกิด เรามาบวชในศาสนา บุญคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันล้นฟ้าอยู่แล้ว แล้วเราทำไมต้องเอาท่านมา เอาสิ่งนั้นมาเป็นนั้นอีก

ถาม : การชำระหนี้สงฆ์ควรทำในกรณีใด บ่อยแค่ไหน ถ้าติดหนี้วัดอื่นมาใช้หนี้พระสงฆ์วัดนี้ได้ไหมค่ะ

หลวงพ่อ : แล้วรู้ได้อย่างไรว่าเป็นหนี้สงฆ์

การเป็นหนี้สงฆ์นี่นะ ในสังคมไทยเรา ถ้าพูดถึง ถ้าหัวใจเราเป็นศีลธรรมนะ เราจะซึ้ง แล้วพวกเราจะเคารพธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก เราไปสร้างวัดสร้างวากัน แล้วเราเข้าไปในวัด แม้แต่เศษดินเศษฝุ่นติดเท้าเราออกไป นี่เป็นกรรมแล้ว นี่หนี้สงฆ์เกิดแล้วนะ พอหนี้สงฆ์เกิดขึ้นมาแล้วเขาถือประเพณีนะ เพราะอะไร เพราะเราเป็นปู่ย่าตายายเขาใช่ไหม ผู้เฒ่าผู่แก่ เราก็มีลูกมีหลาน ลูกหลานมันก็จะไม่รู้เหนือรู้ใต้ใช่ไหม เขาถึงมีประเพณีก่อเจดีย์ทรายในวัดไง การก่อเจดีย์ทราย การกระทำสิ่งในวัด นั่นคือการชำระหนี้สงฆ์อย่างหนึ่ง ปู่ย่าตายายพวกเราวางประเพณีวัฒนธรรมไว้ แต่พวกเราตีความกันไม่ออก ไปดูถูกปู่ย่าตายายเต่าล้านปี ตัวเองวิทยาศาสตร์ไง เดี๋ยวนี้วัดทั่วไปก็เลยเป็นธุรกิจ เป็นตลาด เป็นอะไรไปหมดเลย

วัดนะ ถ้าได้การถวายให้ภิกษุไปแล้วเป็นของสงฆ์ แล้ววัดนะ เวลาขอวิสุงคามสีมา ทุกคนเอาคืนไม่ได้ ต้องออกกฎหมายเอาคืนนะ เอาคืนไม่ได้ เพราะเป็นของของสงฆ์ ของของสงฆ์นี่นะ ทำอย่างไรก็คือของของสงฆ์ เวลาเราสวดญัตติกันนี่นะ ตั้งแต่ผิวดินลงไปถึงโลกอีกชั้นหนึ่งเลยล่ะ เพราะสิ่งนี้เป็นของของสงฆ์หมด แล้วเรารู้ไหม

นี่ในพระไตรปิฎกนะ ในพระไตรปิฎก นกมันไปกินพริกในวัดแล้วมันบินไปในป่า มันไปขี้ เม็ดพริกนั้นไปเกิดอยู่ในป่า พรานป่าไม่รู้นะ เราไปเกิดเห็นต้นพริกอยู่ในป่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าต้นพริกนี้มาจากไหน พรานป่านั้นไปเก็บพริกนั้นไปกิน พรานป่านั้นเป็นหนี้สงฆ์

ทีนี้เราเองเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเคยทำอะไร เราจะไปรู้ได้อย่างไร

นี่ถ้าพูดถึงนะ ถ้าพูดถึงใจเป็นธรรม เห็นเรื่องอย่างนี้นะ มันแบบว่าประสาเรา เรานี่นะ เรากินอาหาร เวลากินอาหาร อาหารนี้เป็นประโยชน์กับร่างกายใช่ไหม พวกยาพิษ พวกสิ่งที่ยาฆ่าหญ้า เราดื่มเข้าไปเราตายไหม นี่ก็เหมือนกัน เรารู้ได้อย่างไรว่าอาหารในท้องตลาดมันมาถูกมาผิด เราไม่รู้นะ ถ้าพูดถึงความจริง เราไม่รู้หรอก

ทีนี้ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาพระ เนื้อสัตว์ เนื้อสิ่งต่างๆ เพราะอาหารเราไม่รู้ไม่เห็น เราไม่ได้ยินไม่ได้ฟัง สิ่งนี้พระฉันได้ แต่สิ่งนี้เจาะจงเพื่อพระ พระฉันเป็นอาบัติทุกคำกลืนเลย นี่พูดถึงพระเป็นอาบัติ แต่หนี้สงฆ์มันสำคัญกว่านั้น ฉะนั้น คำว่า “หนี้สงฆ์” ถ้าเราไม่รู้ ขณะที่เด็ก เราพูดเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะอะไร บางทีมันเป็นเวรเป็นกรรม เราไม่รู้หรอก แล้วพูดอย่างนี้ไป เด็กบางคนเรียนโรงเรียนวัดไม่รู้หรอก ผลไม้ในวัดเก็บกินกันทั้งนั้นน่ะ นั่นของสงฆ์นะ แล้วเรากินเข้าไปเป็นหนี้สงฆ์ไหม ทีนี้ถ้าเป็นหนี้สงฆ์แล้วเขาเรียกทำผาติกรรม

ถ้าเป็นพระสงฆ์หรือว่าพระที่ดีนะ เขาจะอนุญาตไว้ก่อนไงว่าของนี้เป็นของสาธารณะ ของนี้คือของสงฆ์ เช่น ผลไม้เกิดในวัด ให้พระสงฆ์เก็บแล้วเอามาเป็นของสงฆ์ สงฆ์ฉันกันได้ แล้วถึงที่สุดแล้วเราก็มีคฤหัสถ์เข้ามาช่วยงานใช่ไหม เราก็ให้ไว้ก่อน ให้ไว้ก่อน แต่ถ้าคนที่ฉลาด เขาจะขอเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ไง

ของง่ายๆ เลย ของนี่นะ เป็นของสงฆ์ ขอ พระให้ได้ พระให้ได้ สงฆ์ให้ หมดแล้ว แต่โดยสามัญสำนึกของเรา เราไม่ค่อยกล้าขอกัน ไม่มีใครเห็น ไม่เป็นอะไรหรอก มับเลย

ในโบราณเรานะ ทางอีสาน พอเขาไปเที่ยวสวนกัน พอเขาไปเจอแตงโม ก็หิวมาก เขาไม่มีเจ้าของอยู่นะ โบราณเขาทำกันอย่างนี้ เพราะเขาแบบว่ามันเข้าถึงศีลธรรม เขาจะเอาไม้ทำเป็นขอแล้วเกี่ยวไว้ แล้วขอเด็ดผลนั้นไปกิน คือขอ คือขอ แต่ในเมื่อไม่เจอคนอยู่นะ ขอเถอะ หิวมาก ขอ แล้วเด็ดเลย เพื่อเอาชีวิตรอด นี่มันสืบต่อกันมานะ เราเข้าตรงนี้ไม่ถึงนะ

ถ้าเป็นหนี้สงฆ์ เป็นวัดไหนก็แล้วแต่ ถ้าไปที่วัดนั้นได้ อย่าอายนะ ดูพระสิ เวลาพระปลงอาบัติ อริยวินัย อริยประเพณี ถ้าพระเป็นอาบัติ เวลาปลงอาบัติ ข้าพเจ้าเป็นอาบัติอย่างนั้นๆๆ ข้าพเจ้าจะสำรวมระวังต่อไป การปลงอาบัติคือประจานความผิดของตัว แล้วเราไปชำระหนี้สงฆ์ เราจะไปอายกระมิดกระเมี้ยนอยู่ได้อย่างไรล่ะ เราทำผิดอย่างไรเราก็บอกอย่างนั้น มันจะได้สะอาดบริสุทธิ์ในใจเราไง แต่ด้วยศักดิ์ศรีนะ ทำผิดแล้วไม่กล้ารับ ชำระหนี้สงฆ์นะ แต่ทำอะไรมา ไม่รู้ อาย...อย่าอาย ทำได้ต้องรับได้ กล้าทำต้องกล้ารับ ถ้ากล้ารับแล้วมันปลดทุกอย่างในหัวใจออกหมดเลย

เราอยู่กับครูบาอาจารย์นะ หลวงปู่สุวัจน์บอกว่าเวลาพระมาปลงอาบัติ ไม่รู้จักอาบัติจะออกอาบัติได้อย่างไร ต้องรู้จักอาบัติใช่ไหม เราต้องรู้จักอาบัติ แล้วเรารู้ว่าเราผิดอะไร เราทำผิดอาบัติตัวนี้ เราทำพร้อมกับพระ เราทำพร้อมกับพระเขาเรียกว่าสภาคาบัติ เหมือนกับเราชวนกันไปลักของ แล้วเราจะมาสารภาพกัน ๒ คน อาบัตินี้ไม่ตก เราไปลัก เราชวนไปลักของ ถ้าเราลักของไปแล้วเราจะมาประจานกัน ๒ คนไม่ได้ เราต้องไปประจานกับคนอื่น เราต้องไปประจานกับพระองค์อื่นไงว่าข้าพเจ้าทำอย่างนั้นๆๆ มา เพื่ออาบัติมันจะได้ปลงอาบัติตก

อาบัติปลงตกก็ไม่ตกนะ ถ้าอาบัติปลงตกนะ อ้าว! เรา ๒ คนรู้ด้วยกัน แล้วเราก็ไปทำมา แล้วเราก็มาปลงอาบัติด้วยกัน มันก็ทำอยู่ ๒ คน เขาเรียกสภาคาบัติ ปลงไม่ตก นี่ต้องรู้จักอาบัติ อาบัติเกิด เกิดอย่างไร เกิดแล้วสภาคาบัติทำร่วมกัน ไม่ได้ สมคบกันทำ ปลงอาบัติไม่ตก สมคบคนทำต้องไปประจานกับคนอื่น

แล้วอาบัติ ครุอาบัติ อาบัติหนัก อาบัติเบา อาบัติที่ปลงได้ อาบัติที่ปลงไม่ได้ แล้วปราชิก ๔ ไม่ต้องปลง มันขาดที่ตั้งแต่มึงทำเลย ทำเสร็จก็จบไปเลย ไม่ต้องปลง ปลงไปเถอะ ปลงอย่างไรก็ไม่ได้ อาบัติที่ปลงได้ อาบัติหนัก อาบัติหนักต้องสงฆ์ยกเข้าหมู่

ทีนี้พูดถึงหนี้สงฆ์นะ เวลาพระใช่ไหม เวลาเราไปทำของเรา ถ้าเราไปทำของเรา ไอ้อย่างนี้มันเหมือนกับวุฒิภาวะ ถ้าเราไม่รู้ มันทำไปแล้ว ทำไปแล้ว แต่มันก็ดี เพราะเราทำบุญอยู่แล้ว ก็บอกว่าชำระหนี้สงฆ์ ให้พระท่านรับ

มันมีอย่างนี้นะ ลูกศิษย์พระนี่มาหาเยอะ บอก “หลวงพ่อ เวลาผมภาวนาไป ผมเคารพพระพุทธเจ้า ผมเคารพครูบาอาจารย์มากเลย แต่ทำไมเวลาผมภาวนาไปมันจะมีรูปพระพุทธเจ้าขึ้นมา หรือบางทีมีรูปครูบาอาจารย์ที่เราเคารพบูชาขึ้นมา แล้วจิตมันก็เพ่งโทษ จะพูดอย่างนี้เลยว่าด่า ด่าสาดเสียเทเสีย ทั้งๆ ที่ผมเคารพ ผมเสียใจมาก ผมอยากจะแก้ ผมเคารพนะ ผมเคารพครูบาอาจารย์ของผมนะ แต่เวลาผมทำสงบขึ้นไปมันจะเห็นภาพนั้นน่ะ แล้วความคิดมันจะเพ่งโทษ มันจะติเตียนมากเลย จะแก้อย่างไร”

เราก็บอกนี่ไง ก่อนนอนนะ เราก็ทำวัตรใช่ไหม เราก็ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์เป็นพระสงฆ์ใช่ไหม ก็บอก รตนตฺตเย ปมาเทนฯ ขอขมา ขอขมา ขอโทษ ขอบ่อยๆ อันนี้มันเป็นกรรมเก่า นี่ไง ว่ากรรมเก่า กรรมเก่ากรรมใหม่ของเรามีมานะ พระในสมัยพุทธกาลนั่งอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่นะ จะมีผู้หญิงนั่งอยู่ข้างหลัง เวลาโยมเดินเข้ามา ผู้หญิงนั้นก็ไม่มี แต่ถ้านั่งอยู่นี่ โยมเดินเข้ามาจะเห็นผู้หญิงนั่งอยู่นี่เลย พอเดินเข้ามาใกล้ ผู้หญิงไม่มี มันเป็นเงา ร่ำลือกันไปทั่วจนพระเจ้าปเสนทิโกศลแปลกใจ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ไปนั่งดู เห็นเป็นพระองค์นี้ เห็นผู้หญิงนั่งอยู่ข้างหลัง พอเดินเข้าไปใกล้ก็ไม่มี พอถอยออกมาห่างก็เห็นผู้หญิงนั่งอยู่นั่น พระเจ้าปเสนทิโกศลบอกว่าจะต้องเป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้นถึงจะรู้ ก็ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าทำไมมันเป็นอย่างนี้

พระพุทธเจ้าบอกนี่กรรมเก่า พระองค์นี้เคยบวชในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ มา แล้วไปเพ่งโทษว่าพระองค์นี้มีเรื่องผู้หญิงไง ทั้งที่เพ่งโทษเขา คือใส่ความเขา มันไม่เป็นความจริง ไปใส่ความเพราะไม่พอใจกัน กรรมอันนั้นมันตามมา

จนพระเจ้าปเสนทิโกศลสงสารมาก เพราะถ้าเป็นอย่างนี้ชาวบ้านเขาจะติเตียนกันไปตลอด เพราะมันเห็นจริงๆ มันเห็นเลย แต่เข้าไปไม่มี พระเจ้าปเสนทิโกศลเลยนิมนต์ แบบว่าสร้างกุฏิให้อยู่ต่างหาก แล้วดูแลเลยไง นี่เป็นกรรมเก่านะ

สิ่งที่เป็นกรรมเก่ากรรมใหม่ กรรมเก่าก็มี กรรมอนาคตจากปัจจุบันนี้จะไปสร้างกรรมอนาคต แต่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องกรรมปัจจุบัน ลบกันที่นี่ แต่กรรมเก่ากรรมใหม่มันจะสะท้อนถึงทัศนคติ สะท้อนถึงเชาวน์ปัญญา สะท้อนถึงสติเหนี่ยวรั้ง สะท้อนถึงสติเหนี่ยวรั้งดีมันจะเหนี่ยวรั้งเราไว้ สติเหนี่ยวรั้งไม่ดี เราจะเป็นคนที่ฉุนเฉียว แล้วควบคุมตัวเองไม่ได้ อันนี้มันเป็นสิ่งที่เราทำมา แต่อย่าเสียใจ เราทำมาแล้วนะ เราต้องยอมรับ ยอมรับสิ่งที่ทำมา นี่คือวิบาก ถ้าวิบาก ถ้าไม่มีผล มันจะเป็นวิบากได้อย่างไร สิ่งที่เราทำมาแล้ว แต่เราไม่รู้ว่าเราทำมาชาติใดชาติหนึ่ง ทีนี้ในปัจจุบันนี้ถ้ามันเกิดสภาวะแบบนี้มันเป็นวิบาก เป็นผล เราถึงต้องฝืน ต้องสู้ ต้องสู้

ทุกข์ควรกำหนด พระพุทธเจ้าสอนทุกข์ควรกำหนด พระพุทธเจ้าไม่สอนให้หนีทุกข์ คนหนีทุกข์ไม่ได้ ทุกข์แก้ไม่ได้ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ทุกข์คือผล คือวิบาก คือสิ่งที่เป็น อย่างเช่น ร่างกายเรา มนุษย์สมบัติ มันผลมาจากไหน แล้วเราฆ่าตัวตาย ทำลายมันทิ้งไปหรือ ทุกข์ควรกำหนด กำหนดร่างกายมันทุกข์จริงไหม มันเป็นความจริงไหม มันเป็นของเราจริงไหม เป็นเราจริงๆ นะ มนุษย์สมบัติ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ มนุษย์สมบัตินี่อริยทรัพย์ เพราะมีร่างกายมันถึงบีบคั้นหัวใจเรา มันมีต่างๆ มันบีบคั้นหัวใจเรา มันเป็นของเราจริงๆ แต่จริงตามสมมุติ จริงตามวาระ จริงตามชีวิตหนึ่ง ชีวิตหนึ่งเกิดเป็นมนุษย์แล้วต้องตายไป แล้วต้องทิ้งร่างไว้ที่นี่ จิตเราต่างหากมันจะมีผลไปข้างหน้า แต่ร่างกายต้องทิ้งไว้ที่นี่ มันจริง จริงได้แค่นี้ถึงเป็นสมมุติ มันไม่เป็นความจริงแท้

ความจริงแท้คือหัวใจที่มันไม่เคยตาย แล้วความจริงแท้ที่เป็นสัจธรรมมันเห็นความจริงแท้ ความจริงแท้อันนี้ ถ้าจิตมันทิ้ง มันทิ้งทิฏฐิ ไม่ได้ทิ้งร่างกาย ทิ้งความทิฏฐิมานะในหัวใจ สักกายทิฏฐิความเห็นผิด ถ้ามันเป็นความเห็นถูกมันก็เป็นโสดาบัน พระโสดาบันละสักกายทิฏฐิ ละความเห็นผิดในร่างกายนี้ ถ้าเป็นสัจธรรมขึ้นมามันจะทิ้งจากภายใน ถ้าทิ้งจากภายใน มันทิ้งไปจนถึงที่สุด นี่คือสัจธรรมความจริง

แต่ในปัจจุบันนี้มันเป็นจริงตามสมมุติ มันมีสมมุติจริง เราต้องจริงตามสมมุติ มันจริงตามสมมุติไป กรรมเก่ากรรมใหม่มันมาอย่างนี้ กรรมเก่าสร้างมาให้เราเป็นมนุษย์สมบัติ อันนี้อริยทรัพย์ อริยทรัพย์ เอาร่างกาย เอาความคิดทำมาหากิน ประกอบอาชีพ ก็เอามาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แล้วหัวใจมันได้อะไร หัวใจมันได้ประโยชน์อะไร ถ้าหัวใจมันมาศึกษาธรรมะแล้ว แล้วมาปฏิบัติทางธรรมะ นี่สัจธรรมมันเกิดที่นี่ อาหารธรรมะ ใจกินธรรมะเป็นอาหาร ใจกินวิญญาณาหาร กินความรู้สึกเป็นอาหาร ใจไม่กินปัจจัย ๔ เป็นอาหาร กรรมเก่ากรรมใหม่มันมาอย่างนี้ สิ่งที่มันเป็นกรรมเก่ามา ถ้าเรารู้แล้ว

จะบอกว่าโยมทุกข์นะ ดูสิ ชีวิตเราทุกข์ไหม ลุ่มๆ ดอนๆ ทุกข์ทั้งนั้นน่ะ แล้วเป็นทุกข์แล้ว ก็มันทุกข์อยู่แล้ว มันจะทำอะไรอีก จะมาเอาเวลาที่ไหน ก็ทุกข์อันนั้นน่ะเอามาคิด ทุกข์ที่เราเผชิญเอามาคิดว่าทุกข์ไหม แล้วยังจะทุกข์ซ้ำซากอีกไหม ถ้าไม่ซ้ำซาก เราจะทำอย่างไร เราจะหาทางออกอย่างไร เราจะมีวิธีการอย่างไร มันเป็นอย่างนั้นน่ะ มันเป็นสัจจะความจริง

ดูสิ ดูหลวงตาเราสิ ๙๐ กว่า ดูชีวิตท่านสิ ท่านอยู่ของท่านองค์เดียวอยู่ในวัด

พระอรหันต์มีเท่านี้เองหรือ พระอรหันต์อย่างนั้น

แต่วิมุตติสุขมันสุขของมันอยู่ในตัว แต่ร่างกายมันก็เสื่อมสภาพอย่างนั้นเป็นธรรมดา ก็ต้องอยู่อย่างนั้นไง แล้วไม่ใช่ว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว โอ้โฮ! มันจะเป็นเรื่องโลกธรรมไง

นั่นเป็นโลกธรรมนะ เป็นพระอรหันต์แล้วจะมีคนมานบนอบ มีคนมาดูแล โลกๆ ถ้ามีคนมาดูแลนะ ไปดูสิ ดาราไปไหนเจี๊ยวจ๊าวเลย แล้วมันมีอะไร คนดูแลนี้เป็นภาระหมด มันเป็นภาระกันทั้งนั้นน่ะ แต่สัจธรรม เรา พระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ หลวงตาท่านพูดอยู่ ภิกษุไม่ทรงธรรมทรงวินัย ใครจะทรง

ถ้าภิกษุทรงธรรมวินัยไง ธรรมวินัย ธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอามาเจือจานกัน เอามาเผื่อแผ่กัน เอามาเห็นสมควรต่อกัน แล้วขวนขวายเข้าไปให้เห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต มันถึงจะเป็นประโยชน์กับเรา ธรรมะเป็นอย่างนี้ เราถึงต้องสู้ ต้องสู้นะ สู้กับใคร สู้กับทิฏฐิมานะที่มันอยากสะดวกที่มันอยากสบาย ที่มันอยากจะนอนจมอยู่กับกิเลสไง ปลุกมันให้ตื่น ถ้าปลุกหัวใจตื่นนะ คนตื่นกินอาหารได้ คนหลับใหลอยู่ ไปป้อนอาหารนะ มันสำลักตาย จิตหลับใหล จิตไม่รู้จักตื่น เอาธรรมะมาป้อน “โลกเขาไม่มีเวลาแล้ว เวลาเราก็ไม่มี อาชีพเราก็รัดเข้ามา” จิตมันหลับใหลแล้วไม่เห็นคุณค่า

ถ้าจิตตื่นนะ สิ่งที่โลกนี่นะ เขาเจือจานกันได้ ช่วยเหลือเจือจานกันได้ แต่ธรรมะนี่พระพุทธเจ้าเป็นคนชี้ทาง เป็นคนบอก ใครเจือจานกันไม่ได้ เจ็บไข้ได้ป่วยในร่างกาย หมอมาฉีดยาเข้าไปได้ ถ้าพูดถึงธรรมะฉีดเข้าไปในหัวใจได้นะ พระพุทธเจ้าทำให้หมดแล้ว มันทำไม่ได้ มันต้องสร้างเอง มันต้องเกิดจากใจ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะกิเลสมันอยู่ฐีติจิต มันอยู่ปฏิสนธิจิต มันไม่อยู่ที่ความคิดหรอก ความคิดคิดดีก็ได้ คิดชั่วก็ได้ เวลาคิดดีนี่ โอ้โฮ! ดีมากๆ เลย แล้วมันอยู่กับเราตลอดไปไหม ความคิดดีๆ จะอยู่กับเราตลอดไปไหม ไม่หรอก ปีสองปีนะ อย่างมาก ปีสองปี ๕ ปีนะ มันก็คิดใหม่แล้ว ความคิดอันนั้นถึงแก้กิเลสไม่ได้

แต่ถ้าเป็นภาวนามยปัญญามันออกมาจากฐีติจิต ปัญญาที่เกิดจากจิต ปัญญาที่เกิดจากความรู้ ปัญญาไม่ได้เกิดจากสมอง โลกนี้ ปัญญาสมองนี้มันเป็นศูนย์ประสาท มันเป็นข้อมูล สมองจำได้แค่ไหน ถ้ามันเป็นสัญญา มันจำมา มันมาพร้อมกับกิเลสนั้นน่ะ มันแก้กิเลสไม่ได้ มันถึงเป็นสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา แก้กิเลสไม่ได้ ภาวนามยปัญญาเท่านั้นที่แก้กิเลส

แล้วภาวนามยปัญญา โลกุตตรธรรมมันเกิดอย่างไร โลกุตตรปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นมามันต้องเกิดจากสมาธิก่อน เกิดจากสัจธรรมอันนั้นก่อน แล้วเราค่อยเจริญเติบโตมันขึ้นมา นี่มันเป็นอย่างนี้นะ มันเป็นความจริง ฉะนั้น ถ้าเป็นความจริง เราต้องทำจริง ไม่ใช่ว่าพยายามจะครอบงำให้มันเป็นอย่างที่เราปรารถนา มันไม่เป็นอย่างที่เราปรารถนาหรอก มันอยู่ที่จริตนิสัย อยู่ที่กรรมนี่ไง อยู่ที่การกระทำ

ถึงบอกว่า พยายามจะบอกว่าอย่าน้อยเนื้อต่ำใจกับชีวิตนี้ เอาแค่ว่าเราเกิดเป็นมนุษย์ สมบัติอันนี้มีค่าที่สุดแล้ว แก้วแหวนเงินทอง หน้าที่การงานต่างๆ เพราะมีเรา เราถึงมีสิ่งนั้น เพราะมีเราถึงมีสิ่งนั้น เราตายจากเขาไป เขาพลัดพลากจากเราไป มันก็ต้องพลัดพรากเป็นธรรมดา แต่คุณงามความดีที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา มีสิ่งใดบ้างที่มันติดใจเราไป ติดใจเราไปนะ บุญกุศล สิ่งที่เป็นคุณงามความดีมันติดกับใจเราไป มันเป็นนามธรรม มันไม่ตกอยู่กับโลกนี้หรอก โลกที่มันตกอยู่กับโลกนี้คือปัจจัยเครื่องอาศัย คือร่างกายที่มันจะทิ้งไว้กับโลกนี้ คุณงามความดีถึงที่สุดแล้วเป็นอริยภูมิ มันจะไปกับใจของเรา

อันนี้ถึงเกิดมาแล้วอย่าท้อแท้ ชีวิตนี้เป็นอย่างนี้ เราก็แป็นแบบโยมมานี่แหละ เราก็เป็นแบบโยมมา เราก็ทุกข์ยากมาเหมือนกัน แต่เพราะมันมีจิตใจ จิตใจที่เข้มแข็งมันถึงออกแสวงหา มันออกทำจริง เวลาพระออกประพฤติปฏิบัติ ทำไมปฏิบัติแล้วทำไมไม่ถึงบรรลุเป้า เพราะอ่อนแอ เพราะไม่มั่นคง เพราะจิตใจโลเล แต่ถ้าจิตใจเรามั่นคงแล้วเป็นสัมมาทิฏฐิ อย่ามั่นคงในมิจฉาทิฏฐิ ถ้ามีสัมมาทิฏฐิ มีครูบาอาจารย์นะ เราปฏิบัติขนาดไหน ขึ้นไปสนทนาธรรมกับท่าน เปิดอกเราให้ท่านตรวจสอบ มันจริงหรือมันเท็จ

เราจะเข้าข้างว่าเราถูกทั้งนั้นน่ะ กิเลสมันต้องเข้าข้างตัวเองทั้งนั้นน่ะ ดีหมด ถูกหมด สัมมาทิฏฐิ ถูกต้อง พระพุทธศาสนา ศาสนาแห่งปัญญา...ปัญญาของกิเลสมันก็ไม่รู้ตัวนะ เพราะเราไม่เคยผ่านงาน เราไม่เคยทำงาน เราจะไม่รู้หรอกอะไรจริงอะไรเท็จ ครูบาอาจารย์เท่านั้นท่านผ่านแล้ว ท่านรู้แล้ว ท่านจะสอนเราได้ นั้นจะเป็นประโยชน์กับเรานะ อันนี้เป็นข้อหนึ่ง

ถาม : ถ้าเจอรูปสวย กามกิเลสเกิด ให้พิจารณาดูที่จิตว่ารู้ทันว่ากิเลสเกิดดับอย่างไรพอหรือเปล่า หรือจะต้องพิจารณาอสุภะว่ารูปนี้ไม่สวย มีแต่มูตรคูต มีแต่ผิวหนังขาวๆ คลุมอยู่ บางคนบอกว่าให้ดูจิตเกิดดับก็พอ เพราะถ้าดูอสุภะถือว่ารูปปรุงแต่ง

หลวงพ่อ : นี่อภิธรรมกับกรรมฐานปนกัน ไอ้ข้อสุดท้ายนี้มันเป็นอภิธรรมไง เพราะบอกว่าบางคนบอกว่าให้ดูจิตเกิดดับก็พอ เพราะถ้าดูอสุภะถือว่าปรุงแต่ง ถือว่าปรุงแต่งไง

เราจะพูดอย่างนี้ก่อน เพราะถ้าอย่างนี้ เพราะมีลูกศิษย์มาหาบ่อย บอก “หลวงพ่อ ธรรมะนี่นะ เข้าใจหมดเลย ผมเข้าใจธรรมะหมดเลย แต่เวลาเงินเดือนออกมันควบคุมไม่ได้ ใช้หมดเลย แล้วกลางเดือน สิ้นเดือนก็ไปกู้เขาใช้ทุกทีเลย จะทำอย่างไร”

เราก็จะบอกว่า รู้ๆ อยู่ แต่ควบคุมใจตัวไม่ได้ เพราะอะไร เพราะไม่ได้ฝึกฝน ถ้าเราฝึกสติ ฝึกต่างๆ ฝึกให้เห็นโทษ ฝึกสตินะ รู้จักการเก็บใช้สอย รู้จักการใช้ให้ชนเดือน รู้จักสิ่งต่างๆ มันอยู่ที่การฝึกนะ ธรรมะรู้ ดีชั่วรู้ทั้งนั้นน่ะ แต่ควบคุมใจตัวไม่ได้

ย้อนกลับมาที่รูปสวย คำว่า “รูปสวย” นี่นะ มันต้องดูอย่างนี้ก่อน ปัญหาของคนตอบส่วนปัญหาคนตอบนะ เราจะตอบทั้งหมด คำว่า “รูปสวย” มันอยู่ที่ว่าจริตของคน บางคนดูว่าสวย บางคนดูแล้วไม่สวย กามนี่นะ โทสจริต โมหจริต โทสจริต พุทธจริต จริตต่างๆ ถ้าจริตมันชอบ มันมองตรงนี้มันก็สวย ถ้าจริตมันไม่ชอบ มันก็ไม่สวย ถ้าไม่สวย มันก็ไม่เกิดกามราคะ แต่ถ้าไม่สวย ไม่เกิดกามราคะ มันก็ไปเกิดเรื่องอื่นนะ เพราะกามราคะมันมีอยู่ คือไม่ชอบอย่างนี้มันก็ไปชอบอย่างอื่น ถ้าคนพื้นฐานของกิเลสมันมีอยู่แล้วนะ มันต้องแสดงออกแน่นอน แต่มันจะแสดงออกทางช่องทางไหน ทีนี้ถ้าคนจริตมันชอบ มันจะแสดงออกช่องทางนี้ ถ้ามันแสดงออกช่องทางนี้ เราจะแก้อย่างไร

ทีนี้การแก้ การแก้ไม่ใช่ว่าสูตรมันจะสำเร็จ ไม่มี สูตรสำเร็จ ถ้าเราชอบอย่างนี้ เราต้องการอย่างนี้ มันเป็นอย่างนั้นปั๊บ มันก็แก้อย่างเดียว เหมือนกัน เรามีน้ำพริกถ้วยเดียวไง พอน้ำพริกถ้วยเดียว เราคิดว่าใครต้องกินอาหาร กินน้ำพริกถ้วยนี้อร่อย แต่ถ้าคนชอบน้ำพริกมันก็ชอบ ฉะนั้น ถ้าพูดถึง แต่ส่วนใหญ่แล้วมันชอบ ฉะนั้น พอส่วนใหญ่ชอบ ในการประพฤติปฏิบัติมีสติ อันแรกคือมีสติก่อน มีสติยับยั้งปั๊บ ถ้ามีสติปั๊บนะ ความคิดว่าสวยดับ

แต่พอเห็นว่าสวย แล้วเราจะแก้ว่าสวยให้ไม่สวย แก้ว่าสวยให้ไม่สวย แก้จนตาย ก็มันสวยไปแล้ว เราจะให้ไม่สวยได้อย่างไรล่ะ แต่ถ้าตั้งสติปั๊บ ความคิดมันกลับมาเลย ดับก่อน ดับรูปที่สวยไม่สวยนั่นก่อน มีสติยับยั้งไว้ก่อน

ทีนี้เวลาเราพูดถึง พระถ้าไม่ปฏิบัตินะ มันมีมากนะ พอประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ “เมื่อก่อนนะ ผมเป็นคนขี้โกรธมาก ผมเป็นคนขี้หลงมาก ผมติดเหล้าติดยา เดี๋ยวนี้ผมไม่โกรธ ไม่หลง”

เราไม่เชื่อเลย เราไม่เชื่อเลย คือเขายับยั้งได้เท่านั้นน่ะ เขาจะบอกเขาละความโกรธ ความหลง เพราะละความโกรธ ความหลง ละความสวยได้ ละกามราคะได้ มันพระอนาคามีนะ

พระโสดาบัน นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน ลูก ๒๑ คน พระโสดาบันละความสวยความงามไม่ได้นะ คนจะละความสวยความงามได้มันต้องพระอนาคามี แล้วเอ็งปฏิบัติ ๒ วัน ๓ วัน เอ็งบอกว่าเอ็งละความโกรธได้ เอ็งละความหลงได้ เอ็งพูดไปเถอะ เอ็งพูดไป มันละได้ตอนที่จิตมันดีไง พอเราตั้งใจทำดีมันก็ดีขึ้นมา เราละได้เราก็ภูมิใจนะ พอเดี๋ยวจิตมันถอยนะ ไอ้ที่ว่าไม่โกรธๆ เป็นไฟเลยล่ะ

ทีนี้ประสาเรานะ เราตั้งสติไว้ แล้วไอ้ที่ว่ามันเป็นอสุภะ เราให้คิดเป็นอสุภะได้ คิดเปรียบเทียบได้ คิดเปรียบเทียบ คิดเปรียบเทียบได้ พอคิดเปรียบเทียบแล้วจิตมันจะพัฒนา คำว่า “จิตพัฒนา” เราไปเห็นเข้า พอมันถูกใจเข้า มันจะฝังใจ ถ้าจิตเรา จิตมีสติยับยั้งปั๊บ แล้วเราใช้ปัญญามันก็แยก คือเราแยกความคิดออกมา

อารมณ์ใดก็แล้วแต่นะ แล้วถ้าเราตามอารมณ์นั้นไปจะไปแก้อารมณ์นั้นนะ ตายเลย เว้นไว้แต่มีสติที่เราใช้สอน เราสอนว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ คิดเรื่องอะไรก็ได้ มีสติตามไป สติตามความคิดไป สติตามความคิดไป มันคิดเรื่องอะไรก็ได้ ตามความคิดไป ไม่ใช่ดูเฉยๆ ดูเฉยๆ นี่มันเพ่ง มันเพ่งอย่างนี้มันไม่มีเหตุมีผล มันเป็นมิจฉา คือเวลามันปล่อยมันไม่มีสติ

แต่ถ้าเรามีสติตามความคิดไปนะ จะคิดเรื่องอะไรก็ได้ แต่มีสติตามไป เอ็งคิดเรื่องอะไร แล้วพอมันคิดไป ปัญญามันจะทัน คิดแล้วดีหรือชั่ว คิดมีสุขหรือทุกข์ มันเห็นผลตรงนั้น พอมันเห็นตรงนั้นมันก็เห็นโทษ คำว่า “เห็นโทษ” กว่าเราจะคิดรอบใหม่ มันจะคิด เดี๋ยวมันคิดรอบใหม่อีก พอคิดรอบใหม่ไป เอ็งก็คิดเมื่อกี้นี้แล้ว แล้วคิดมาแล้วก็เหยียบหัวใจ เอ็งมีอะไร มันปล่อยบ่อยๆ ครั้ง พอมันปล่อยบ่อยๆ ครั้ง นี่จะเป็นสมาธิ

ฉะนั้น เวลาคิดเรื่องสวย ถ้าเรื่องสวย ถ้าเราคิดตามไปนะ ถ้ามันพอใจมันจะไปเต็มที่เลย เราเอาสติยับยั้งไว้ พุทโธก็ได้ ยับยั้งไว้ก่อน แต่ถ้าอสุภะ อย่างที่ว่าอสุภะมันก็เปรียบเทียบ เปรียบเทียบให้เห็นโทษของมัน ถ้าเขาสวย เราสวยไหม ถ้าเขาสวย เราต้องสวย เพราะเขามีหนัง เราก็มีหนัง เขามีเนื้อ เราก็มีเนื้อ เขามีกระดูก เราก็มีกระดูก เขามีอะไร เรามีหมดเลย ทำไมไม่มองว่าเราสวยบ้างล่ะ ทุกคนไม่มองว่าตัวเองสวยนะ ไปมองคนอื่นสวย แต่จริงๆ คือมันสวย ก็มันพอใจไง ไม่มีเรานะ กามราคะเกิดที่ไหน

เขาว่ากามราคะเกิดระหว่างที่เพศสัมพันธ์ เกิดระหว่างหญิงกับชาย...ไม่ใช่ กามราคะเกิดที่ใจ เอาศพผู้หญิงกับเอาศพผู้ชายมานอนคู่กัน ศพผู้หญิงกับศพผู้ชายจะมีความรู้สึกไหม แต่ถ้าใจมันพอใจนะ กามราคะมันเกิดที่นี่ก่อนนะ เกิดที่ตัวมันก่อน แล้วมันถึงออกมาเป็นกามราคะ เป็นกามฉันท์ แล้วออกมาเป็นกามราคะ ออกมาเป็นเรื่องโลก

แต่ถ้ามันตัดที่ใจๆ ข้างนอกไม่มี กามราคะมันดับที่นี่ กามราคะไม่ดับข้างนอก ข้างนอกดับกามราคะไม่ได้ กามราคะดับที่นี่ พุทโธเกิดที่นี่ สมาธิเกิดที่นี่ ดับกิเลสดับที่ใจ ดับที่ใจถึงรื้อค้นที่ใจ พอตั้งสติปั๊บ มันก็อยู่ที่ใจ พอตั้งสติปั๊บ มันอยู่ที่นี่ แล้วใช้ปัญญาไล่เข้ามา ปัญญาไล่เข้ามา ปัญญาไล่เข้ามาเรื่อยๆ มันก็อยู่ที่ว่าบางทีได้ บางทีไม่ได้ ถ้าบางทีได้ มันก็มีสติดี ปัญญาดี เหมือนการภาวนา การภาวนาของพระนะ บางวันภาวนาดี บางวันภาวนาไม่ดี พอภาวนาไม่ดี เราก็ต้องดูเหตุดูผลไง วันนี้เรากระทบอะไรมา วันนี้เราฉันอาหารอะไร วันนี้เราทำสิ่งใด มันจะกลับมาดูตัวเอง ถ้ากลับมาดูตัวเอง มันจะทำให้เราดีขึ้น แต่ถ้าบางวันภาวนาดี จิตมันไม่โดนกระทบราก สิ่งต่างๆ มันจะดีขึ้นมา พอดีขึ้นมาแล้วเราควบคุมง่าย

อันนี้ของเราก็เหมือนกัน พอมันสวย บางทีสติมันทัน พอทันวันนี้ เออ! เราชนะเว้ย อย่าประมาทนะ เดี๋ยวตาย มันชนะบ้าง แพ้บ้างอยู่อย่างนี้ เพราะเป็นปุถุชน มันเป็นอนิจจัง กำลังของเรา ความคิดของเรามันแปรปรวนตลอดเวลา ถ้าเวลามันคิดดี เราต้องรีบทำสิ่งที่ดีๆ เพิ่มมากขึ้นๆ เพื่อให้มันมั่นคง เดี๋ยวมันคิดดี เดี๋ยวมันคิดไม่ดี มันคิดต่างๆ ทีนี้มันคิดดี เราต้องเริ่ม ต้องส่งเข้าไป

ทีนี้พอมาอันที่ ๒ บางคนบอกว่าให้ดูจิตความเกิดดับ

ความเกิดดับก็เหมือนที่ว่าเราดูจิต ความเกิดดับมันไม่มีเหตุผล มันจะเกิดไหม อ้าว! สวยๆๆ มันจะดับไหม ความเกิดดับนี่นะ มันมีสติ นามรูปมันจะเกิดดับ คนเกิดดับมันต้องฝึกฝน มันอยู่ของมัน ความเกิดดับมันไม่มีเหตุมีผล แต่ถ้าเราโดนกระทบ เหมือนกับเรา ถ้าเรามีสติ เราไม่เจ็บปวด เราคิดเรื่องดีๆ ได้นะ แต่ถ้าวันไหนเรามีความเจ็บปวด เรามีบาดแผล เรามีสิ่งต่างๆ เราจะนั่งคิดเรื่องดีๆ ได้ไหม

ใจเหมือนกัน ใจมีแผล ใจมีผลกระทบแล้ว ใจมันผูกพันไง ใจมันเห็นว่าสวย ใจมันออกไปยึดแล้ว แล้วมึงจะไปดูนามรูป มึงยิ่งดูก็ยิ่งสวย แต่คนที่ดูนามรูปดับมันมีสติ เพราะมันควบคุมใจ มันไม่เห็นว่าสวยไง มันเห็นนามรูปแล้วมันพิจารณาได้ ถ้าเห็นนามรูปพิจารณาได้มันก็อีกเรื่องหนึ่ง มันต้องมีกำลังนะ ทีนี้เริ่มต้นก็ตั้งสติ มันฝึกไป

นี่ตอบปัญหาโดยปัญหา แต่ถ้าเราปฏิบัตินะ มันจะมีประสบการณ์ จิตนี้มันจะมีประสบการณ์ของมัน มันจะพัฒนาของมัน อย่างที่พูดตั้งแต่แรกว่าวิวัฒนาการของจิต เวลาภาวนาไปมันจะมีวิวัฒนาการของมัน มันจะรู้ช่องออก มันจะปฏิบัติของมัน หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกว่าการปฏิบัติของเรา พวกเราเวลาเข้าจนตรอกจนมุม เหมือนนักมวยเขาไล่คู่ต่อสู้เข้ามุม มันต้องหาทางออกจากมุมให้ได้ การวิปัสสนา การใช้ปัญญาก็เหมือนกัน มันต้อนเข้าไปแล้ว ถึงที่สุดแล้วมันจะช่วยตัวมันเอง คนเราเวลาจนตรอกนะ มันวิกฤติขึ้นมา มันจะมีปัญญาเกิดขึ้น มันจะเอาตัวรอดได้ ทีนี้เราไม่คิดกันอย่างนั้น เราคิดว่าปัญญาจะเกิดขึ้นมา เราจะใช้ตลอดไป

แต่ถ้าเรามีสติ เราใช้ปัญญาไล่มันเข้าไป ถึงที่สุดแล้วมันจะเอาตัวรอดของมัน ปัญญาอย่างนั้นสุดยอดปัญญาเลย เพราะมันเป็นปัญญาเกิดจากสัจธรรม ปัญญาที่เกิดจากสัจธรรม มันสัจธรรมเพราะมันเกิดจากการใคร่ครวญ เกิดจากการต่อสู้ของเรา ไม่ใช่ปัญญาที่ไปดูหนังสือมา เวลาท่องหนังสือ ดูหนังสือปิ๊งขึ้นมา โอ้โฮ! นี่ปัญญา...อันนั้นเดี๋ยวก็ลืม แล้วไม่ฝังใจ

เราทำสมาธินะ เราได้สมาธิสักหนหนึ่ง เราใช้ปัญญาพิจารณาสักหนหนึ่ง มันจะฝังใจมาก นี่ไง สิ่งที่จะเป็นข้อมูลหรือสิ่งที่สัมผัสศาสนาคือหัวใจของมนุษย์ ในตำราคือกระดาษ แล้วก็พิมพ์มา มันไม่มีชีวิตหรอก แต่หัวใจเรามีชีวิต หัวใจเรามีความรู้สึก ทุกข์ก็ว่าทุกข์ สุขก็ว่าสุข เวลามันเป็นสมาธิ โอ้โฮ! จะฝังใจ ถ้าทำไม่ได้อีกมันจะฝังอย่างนี้ตลอดไป แล้วอยากได้ พอใครได้สมาธิ อยากได้มากเลย ภาวนาไม่ได้หรอก เพราะความอยากมันมากั้น

ที่ว่าความอยากๆ ห้ามทำ

ความอยากโดยสัญชาตญาณแล้วเราควบคุมนี่มันเป็นมรรค แต่ถ้าความอยากในสัญชาตญาณมีอยู่แล้วใช่ไหม แล้วเราอยากได้ผลอีกอันหนึ่ง นี่ตัณหาซ้อนตัณหา ไอ้ความอยากที่อยากได้ผลนี่ทุกข์ตายเลย แต่ถ้าความอยากของเรา ความอยากในการปฏิบัติเขาเรียกว่ามรรค มรรคเพราะอะไร เพราะมันอยากในเหตุ อยากในการเดินจงกรม อยากในการตั้งสติ อยากในการใช้สติ

แต่การอยากในผลคืออยากในผลของสมาธิ มันไม่มีเหตุมีผล มันก็เลยฟู ฟูก็เหยียบหัวใจจนเข็ดจนหลาบ ไม่เอาแล้ว ไม่อยากแล้ว พอปฏิบัติของเรา เดี๋ยวมันก็เป็นสมาธิอีกทีหนึ่ง อยากอีก นี่การปฏิบัตินะ มันจะมีเรื่องอย่างนี้ ฝึกฝนทดสอบใจเราจนใจเรามีจุดยืน ใจเรารู้จักผิดจักถูก พอรู้จักผิดจักถูก เราก็วางอารมณ์ถูก เราก็วางอารมณ์เป็น เราก็ปฏิบัติเป็น แล้วประสบการณ์นี้ก็จะไปสอนคนอื่นๆ ต่อๆ ไปนะ

ถาม : ถือศีล ๘ วันพระที่บ้านถือเป็นศีลอุโบสถได้หรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : ได้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะวันพระเราตั้งใจ เพราะเวลาวันพระเราตั้งใจให้เป็นศีลอุโบสถ ถือศีลอุโบสถ เพราะศีลอุโบสถ เราถือศีลอุโบสถนะ ศีล ๘ กับศีลอุโบสถ เราอธิบายบ่อยมากว่าศีล ๘ ก็คือศีล ๘ เราถือศีล ๘

ศีลอุโบสถมันมีบุญกว่าศีล ๘ มันใหญ่โตกว่าศีล ๘ เพราะศีลอุโบสถ ช้างอุโบสถ เพราะศีลอุโบสถคือวันพระ แล้ววันพระเล็ก วันพระใหญ่ก็ต่างกันอีก วันพระใหญ่ พระลงอุโบสถ วันพระเล็ก ทีนี้ถ้าเราถือศีล วันพระถ้าเราไปวัดได้ โยมไปวัดแล้วก็ถือศีลอุโบสถ ถ้าเราไปไม่ได้ เราก็บอกถือศีล ๘ เราขอศีล ๘ นั่นศีล ๘ แต่ถ้าขอศีลอุโบสถ มันก็ศีล ๘ นั่นแหละ แต่เราขอถือศีลอุโบสถ

ทีนี้ถือได้เหมือนกันเพราะศีล เราจะบอกบ่อยเลย ศีลคืออะไร ศีลคือข้อห้าม แล้วข้อห้ามเป็นศีลไหม ข้อห้ามไม่เป็นศีลนะ ศีลอยู่ที่ใจ ตัวศีลคือตัวใจ

อย่างที่พูดเริ่มต้นว่าถือศีลข้อเดียวคือถือเจตนา ถ้าเจตนาทำดี เจตนาดีตลอด ไม่มีศีล นี่ก็เหมือนกัน ศีลคือความปกติของใจ แต่ศีล ๕ ศีล ๘ เป็นข้อห้าม ศีล ๒๒๗ เป็นข้อห้าม แต่การกระทำของเราถ้ามันผิดพลาดขึ้นมา เป็นอาบัติเพราะไม่รู้ เป็นอาบัติเพราะลังเล เป็นอาบัติเพราะทำผิด แม้แต่พระพุทธเจ้า ถ้าเราลังเลว่าผิดหรือถูก ถ้าทำไปเป็นอาบัติทันทีเลย เพราะอะไร เพราะศีลต้องการให้ใจปกติ ศีลต้องการให้ใจตั้งมั่น ถ้าเรารักษาศีลดี ศีลจะมี ศีลจะตั้งมั่น พอศีลตั้งมั่นขึ้นมา ทำสมาธิง่ายไหม

ศีลอยู่ที่ใจนะ หลวงปู่ฝั้นบอกศีล ๕ คือศีรษะ ๑ แขน ๒ ขา ๒ ศีล ๕ ของหลวงปู่ฝั้น ศีล ๕ คือศีรษะ ๑ แขน ๒ ขา ๒ คืออะไร ก็คือตัวเราไง คืออยู่ที่ภายในไง

นี่ก็เหมือนกัน เราจะบอกว่าการถือศีลอุโบสถ ที่เราว่าบุญมากกว่าศีลปกติ ศีลปกติมันทำโดยปกติใช่ไหม ศีล ๘ โดยปกติ แต่ศีลอุโบสถมันเป็นศีลที่เราอาราธนา มันเป็นประเพณีวัฒนธรรมไง แต่มันมีผลจริงๆ นะ ผลมากผลน้อยนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเวลาเราปฏิบัติ ศีลตั้งแต่สมุจเฉทปหาน ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป พระโสดาบันขึ้นไปนะ อบายภูมิปิดเด็ดขาด เพราะอะไร เพราะเวลาพระโสดาบันจะตาย จิตมันจะกระเพื่อม จิตมันจะไหว มันรู้ คนจะตายจะรู้ ถ้ารู้ปั๊บ มันจะวิ่งเข้าหาสิ่งที่มีคุณประโยชน์กับตัวตลอดเวลา

แต่เราปุถุชนเวลาตายไม่รู้ตัวหรอก แว็บไปนี่สติขาดนะ บางคนดิ้นจนตกเตียงเลย ถ้าคนดิ้นจนตกเตียงจะเห็นกรรมนิมิตแปลกๆ ลงนรก ส่วนใหญ่ลงนรก เพราะนั่นคือเห็นกรรมนิมิต คนจะตาย ตายด้วยความปกติ ส่วนใหญ่แล้วตายโดยปกติ ขนาดคนในปัจจุบันนี้เราเห็นอยู่ คนที่โพธาราม เวลาเขาจะตาย เขาลาลูกหลานเขา “ย่าจะไปนิมมานรดี” เห็นรถม้ามารับเลย พูดกับลูกหลานเหมือนกับจะไปเที่ยวนะ คนจะตาย แล้วก็ดับไป

ลูกหลานเขามาหาเรา “หลวงพ่อๆ นิมมานรดีมันคืออะไร”

เขาไม่รู้ว่าเป็นสวรรค์ชั้นหนึ่ง เพราะเด็กมันไม่เคยเข้าวัด พอเวลาพูดอย่างนั้นปั๊บ เราถามกลับก่อนว่าชีวิตปัจจุบันของยายเอ็งทำอย่างไร

โอ้โฮ! ท่านชอบทำบุญ ให้เงินไม่ได้เลย ทำบุญหมด คือเขาทำเป็นปกติ แล้วคงก็มีบารมีเก่าด้วย เวลาเขาจะตาย ในพระไตรปิฎกก็มี ในปัจจุบันนี้เรายังเห็นเลย แล้วเคยเห็นมาก คนที่เวลาจะเป็นจะตายขึ้นมาตกอกตกใจแล้วดิ้นรนเยอะมากเลย นี่มันไม่ปกติ ถ้าเป็นปกติขึ้นมามันเป็นปกติ แล้วการเกิดการตายมันมาจากฐานของเรา ทำไมบางคนมีความคิด คิดแต่เรื่องดีๆ ทำไมบางคน โทษนะ คิดความดีไม่เป็นเลยนะ บางคนคิดจนเรางงเลย ไอ้นี่มันคิดได้อย่างไร มันคิดความดีไม่เป็นเลยนะ มันคิดเรื่องดีไม่ได้เลย นั่นมันของเก่าเขา แต่ในปัจจุบันถ้าเรามาเจอศาสนานะ ถ้าใครมีครูบาอาจารย์ที่สามารถไปกระตุก แล้วเขาได้คิดขึ้นมานะ เขาจะพัฒนาของเขาได้

นี่การถือศีล การถือศีลรักษาใจไว้ ไม่ต้องไปห่วงว่าศีลอันใดมันจะมีคุณ เพียงแต่เราพูด เราพูดตามข้อเท็จจริง เราจะพูดว่าเสมอกันไม่ได้ แต่ความจริงแล้วศีลก็ไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่ศีล แต่เพราะศีลเป็นข้อห้าม ศีลนี้เป็นเหมือนบันไดที่ให้เราทำคุณงามความดี ถ้าเราทำความดีแล้วเราไม่ต้องวิตกกังวลอะไรทั้งนั้น ศีลคือความให้ปกติของใจ

แล้วพุทโธๆ เห็นไหม ทำบุญร้อยหนพันหนไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง มีศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับทำสมาธิหนหนึ่ง มีสมาธิร้อยหนพันหนไม่เท่ากับเกิดปัญญาวิมุตติที่ทำให้พ้นจากกิเลสหนหนึ่ง ฉะนั้น ถ้าเราถือศีลขนาดไหน ถ้าเราพุทโธๆ ถ้าจิตเราสงบขึ้นมา โอ้โฮ! มันมากกว่าถือศีลร้อยหนพันหน เวลาถือศีลก็จะเอาบุญเยอะๆ ไง ถ้าบุญเยอะๆ ก็พุทโธหลับตา

เราจะน้อยเนื้อต่ำใจกัน เราไม่มีทรัพย์สมบัติจะทำบุญเหมือนคนอื่น...ไม่หรอก เจตนาสำคัญนะ ข้าวทัพพีเดียว ในสมัยพุทธกาล ทุคตะเข็ญใจมาขอบวช ทุกคนไม่อยากบวชเพราะคนจนเข็ญใจ พระพุทธเจ้าเห็นบารมีไงว่าจะเป็นพระอรหันต์ ถามหมู่สงฆ์เลยว่าทุคตะเข็ญใจเขาเคยมีบุญกับใคร พระสารีบุตรยกมือเลย

“มีบุญอะไร”

“เคยใส่ข้าวผมทัพพีหนึ่งครับ”

“อย่างนั้นถ้ามีบุญคุณกับเธอ เธอจงให้ทุคตะเข็ญใจบวช”

บวชให้ ไปสอน สัทธิวิหาริกไปสอน สอนจนเป็นพระอรหันต์เลย พอเป็นพระอรหันต์ไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอก “สารีบุตร ลูกศิษย์เธอสอนยากไหม”

“ไม่ยาก ไม่ยาก”

สอนจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ เห็นไหม นี่ข้าวทัพพีเดียวนะ

เราอย่าไปมองตรงนั้น เรามองที่เจตนาของเรา เรามีมากมีน้อย เรามีเจตนาดี เราเปิดหัวใจเรากว้าง บุญมหาศาลเลย บุญอยู่ที่เจตนา บุญอยู่ที่ความจงใจของเรา ไอ้วัตถุมันก็เหมือนกันทั้งนั้นน่ะ ดูสิ เราเวลามีครอบครัว ในบางครอบครัวนะ เขาอยากให้ครอบครัวเขามีบุญ เขาพาลูกๆ มาวัด เราบอกว่าบุญไม่เท่ากันนะ ไอ้ลูกมันอยากอยู่บ้านดูการ์ตูน พ่อแม่ก็บังคับมันมา มันก็มาทำบุญแกนๆ เนาะ มันก็เปิดหัวใจนิดเดียว ไอ้พ่อแม่ โอ้โฮ! มีความสุขมาก สาธุนะ มันเปิดหมดเลยทั้งบานนะ นี่บุญไม่เท่ากัน แล้วบุญไม่เท่ากันเอามาเทียบกันทำไม

ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ เราก็จะมาวัดแล้ว อย่างนั้นเอาตาชั่งมาชั่ง บุญใครมากกว่า

พูดเป็นเจตนา มันเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม เราคิดกันตรงนั้น แล้วเราอย่าไปติดมัน ทำดีคือดี บุญแท้ๆ ทำบุญนี่นะ ในพระไตรปิฎก สิ่งของเราทิ้งเหว ทิ้งเหวคือใส่บาตรพระไปแล้ว ปฏิคาหก เราให้ด้วยความบริสุทธิ์ ท่านก็รับด้วยความบริสุทธิ์ นั่นหน้าที่ของท่านแล้ว

แต่พวกเราส่วนใหญ่ติด พอให้พระไปแล้วมองเลย พระฉันไม่ฉัน พระเอาไปทำอะไร แหม! บุญ เราเองหาเข็มทิ่มใส่ใจตัวเอง เราทำบุญไปแล้ว ท่านรับแล้ว ท่านรับแล้วนะ โธ่! เนื้อนาบุญนะ เนื้อนาบุญของเราสะอาดบริสุทธิ์ ท่านรับของเรานะ สาธุ

ดูสิ เมื่อก่อนหลวงตานะ ท่านบอกเลย ท่านจะบิณฑบาตทุกวัน เป็นเนื้อนาบุญของโลก ท่านอยากให้ประชาชนได้บุญมากๆ แต่เดี๋ยวนี้ท่านบอกไม่ได้แล้ว ไม่ได้เพราะอะไร เพราะท่านเทบาตรถ่ายบาตรวันหนึ่ง ๓๐๐-๔๐๐ บาตร มันเวียนหัว การเวียนหัวมันเป็นการเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าคนเจ็บไข้ได้ป่วย ชีวิตนี้มันจะเพื่อประโยชน์กับโลกให้ได้ยืนนานไป มันจะสั้นลง ท่านเลยเห็นว่าชีวิตยืนนานไปเพื่อประโยชน์กับโลก ท่านรักษาเพื่อประโยชน์กับโลกดีกว่าไง ถึงเขาจะได้บุญก็ได้บุญทุกคนอยู่แล้ว แต่จะมากจะน้อย ดูน้ำใจสิ ดูน้ำใจของผู้ที่เป็นผู้นำเรา น้ำใจนะ ท่านหวังให้พวกเราได้สืบต่อ ได้สิ่งที่ดีตลอดไป นั่นอย่าไปติดตรงนั้น สิ่งนั้นเราคิดของเราไว้

ถาม : การนั่งภาวนาแล้วได้ยินเสียงบอกว่าให้เอาพุทโธๆ ไว้ที่อกถูกต้องหรือไม่ และต้องทำอย่างไรให้ไปได้หรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : โอ้โฮ! นี่สุดยอดเลยนะ เป็นไปได้นี่มันก็เป็นไปได้ มีคนภาวนาบางคนนะ เพราะเราจะอธิบายตรงนี้ก่อน

มันจะไม่ค่ำหรอกเนาะ ถ้าใครจะลุกก่อนก็ได้ ใครมีธุระเนาะ เพราะบางคนบอกว่าทำไมหลวงพ่อไม่จบสักที

เราจะอธิบายตรงนี้นิดหนึ่ง อธิบายว่า อานาปานสติคือลมหายใจเข้าและลมหายใจออก พุทธานุสติคือพุทโธ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ มรณานุสติ มันเป็นกรรมฐานคนละอย่างๆ กัน แต่ในการฝึกฝนใหม่ๆ ผู้ฝึกใหม่ ถ้าพุทโธหรือกำหนดลมอย่างเดียวหรือกำหนดอย่างใด เราทำแล้วมันไม่มีจุดยืน เราทำได้ไม่ถนัด ให้หายใจเข้าให้นึกพุทธ หายใจออกให้นึกโธ เพราะมันเป็นรูปธรรม รูปธรรมที่ว่าจิตที่เป็นนามธรรมที่มันไม่มีรูปร่าง เราก็เอาอะไรไปยึดเหนี่ยวไว้

ทีนี้เรากำหนดหายใจเข้าว่าพุทธ หายใจออกว่าโธ บางทีมันเหนี่ยวรั้งกัน ใหม่ๆ จะดี แล้วต่อๆ ไปแล้ว สติมันต้องรับรู้ทั้งลมทั้งอะไร เวลาไปแล้วมันจะตกภวังค์ ถึงให้ทิ้งอันได้อันหนึ่ง เริ่มต้นปฏิบัติเข้าไป เอาอย่างนี้เป็นรูปแบบไปก่อน คือฝึกให้เราเหมือนกับเราทำงานเป็น พอทำงานเป็นไปแล้วเราก็ทิ้งอันใดอันหนึ่ง พุทโธอย่างเดียวก็ได้ กำหนดลมอย่างเดียวก็ได้ อย่างไรก็ได้

ทีนี้พอกำหนดพุทโธอย่างเดียว กำหนดพุทโธอย่างเดียว พุทโธมันดีขึ้นแล้ว ขณะเรากำหนดพุทโธกับลม มันต้องลมเข้านึกพุท ลมออกนึกโธ มันช้า พอช้าปั๊บ มันจะคิดวับแว็บๆ เลย แต่ถ้าเรากำหนดพุทธานุสติ พุทโธๆๆๆ พอมันเร็วขึ้นมามันคิดออกนอกลู่นอกทางไม่ทัน ขณะที่เรากำหนดพุทโธ นึกในใจก็ได้ ออกปากก็ได้ ถ้ามันอยาบ คือจิตมันรุนแรง เราก็ออกที่ปาก ถ้าจิตมันนิ่มนวล จิตมันอ่อนน้อมอ่อนดี เราก็นึกที่ใจ นึกเอา พุทโธๆๆ นี่เขาเรียกคำบริกรรม

หลวงตาพูดอย่างนี้ หลวงตาบอกเมื่อก่อนตอนท่านบวชใหม่ๆ ตอนออกปฏิบัติใหม่ๆ แต่เดิมท่านดูจิต คือตั้งสติไว้กับผู้รู้กับจิตไว้เฉยๆ แล้วมันก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง แล้วบางทีมันดีแล้วมันก็เสื่อมตลอด เพราะมันไม่มีจุดยืน จนท่านบอกว่าเสื่อมไป เคยทำสมาธิได้ดีแล้วเสื่อมไปปีกับ ๕ เดือน ทุกข์มาก จนเอ๊! มันเพราะอะไรนะ อ๋อ! หรือเราขาดคำบริกรรม ท่านถึงมาพุทโธๆๆ อยู่ ท่านบอกว่า ๓ วันแรกอกแทบแตก เพราะมันไม่ยอมคิด มันจะไปเรื่องอื่น เพราะมันเคยตัว มานึกพุทโธ พุทโธมันเป็นธรรม พุทธานุสติเป็นธรรม พอเป็นธรรมนี่เป็นรสของธรรม รสที่สะอาด รสที่บริสุทธิ์ แต่กิเลสมันไม่ยอม กิเลสมันไม่อยากอยู่กับพุทโธ มันอยากจะอยู่ตามสบายของมัน มันดิ้นรนของมัน ท่านบอกท่านกำหนด ๓ วันอกแทบแตก แต่พอมันดีขึ้นมาปั๊บนะ แล้วพอพุทโธๆ จนจิตมันสงบนะ ท่านบอกว่าตั้งแต่บัดนี้ไปจะไม่เสื่อม เพราะมีที่ยึดที่เกาะคือคำบริกรรม

ทีนี้พอเรานึกพุทโธๆ เรานึกพุทโธๆ ไวๆ จิตมันเกาะกับพุทโธ แล้วถ้ามันปล่อยพุทโธ มันก็เป็นสมาธิ มันปล่อยพุทโธเข้ามา แต่เวลาเรากำหนดพุทโธๆๆ ถ้าวันไหนมันกระทบแรง พุทโธๆๆ เพื่อไม่ให้มันออก แต่ถ้าวันไหนใจเราดี ไม่ต้องเร็ว พุทโธๆๆ ก็ได้

ทีนี้ถ้าเราพุทโธไปเรื่อยๆ มันมีลูกศิษย์มาหาบ่อย “หลวงพ่อ ของผมนะ เวลามันพุทโธไป โธๆๆ มันไม่พุท” ก็นึกว่าผิดอีก

บอกไม่เป็นอะไร ไม่เป็นอะไร พุทโธก็ได้ พุทๆๆ โธๆๆ อะไรก็ได้ เพราะมันเป็นที่เกาะของจิต มันเป็นที่เกาะ จิตมันเป็นนามธรรม มันไม่มีที่เกาะ มันเกาะตรงนี้ไว้ จนถ้ามันเกาะแล้วมันไม่ออกไปข้างนอก มันมีกำแพงกั้นไว้แล้ว มันไม่ออกไปรับรู้เรื่องของโลก แล้วมันสงบเข้ามามันก็เป็นตัวมันเอง พอเป็นตัวมันเองมันจะมีความสุขมาก

แล้วเวลาพุทโธๆ ไป มันมีเสียงที่ดังขึ้นมา เสียงที่ดังขึ้นมาให้พุทโธนี่สุดยอดเลยนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะพุทโธๆๆ ไปส่วนใหญ่พวกเราตกภวังค์กัน มันจะขาดสติ มันจะแว็บออก ถ้ามีอย่างนี้มาเตือน นี่เขาเรียกธรรมมาเตือน

ธรรมมันผุดนี่นะ เวลาจิตเราสงบขึ้นมามันจะเกิดธรรม คือเกิดสิ่งที่เราสงสัย เรามีข้อมูลในหัวใจ มันจะเกิดสิ่งเป็นคำถามคำตอบขึ้นมา นี่เขาเรียกว่าธรรม แล้วเสียงที่มันเกิดขึ้นมาถ้ามันเป็นธรรมนะ เป็นธรรมมันจะเตือนเรา ธรรมะมันจะเตือนเรานะ ธรรมที่ผุดมันเป็นสัจธรรมที่เกิดจากจิตของเรากันเองนี่แหละ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะบางคนก็มี บางคนก็ไม่มี บางคนภาวนาไปเถอะทั้งปีทั้งชาติไม่มีอะไรหรอก มันอยู่เฉยๆ อย่างนั้น มันไม่ออก แต่ถ้าคนมีอำนาจวาสนา นี่ไง มันอยู่ที่บุญ ที่ว่ากรรมเก่ากรรมใหม่นี่แหละ ถ้าใครทำไว้มันจะขึ้น มันจะออก

เพราะว่าครูบาอาจารย์ท่านพูดอย่างนี้ บอกหลวงปู่มั่นกับหลวงปู่จวน เวลาธรรมผุด ผุดเป็นภาษาบาลี พวกนี้มีฤทธิ์ พวกนี้มีฤทธิ์ แต่หลวงตาท่านบอกว่าเวลาของเราขึ้น ขึ้นเป็นภาษาไทย ของหลวงตานะ ท่านบอกเวลาขึ้นมานี่เป็นภาษาไทย ภาษาที่เรารับรู้ไง เห็นไหม บุญบารมีของคนไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน บางคนไม่มี

ฉะนั้น ไอ้ที่ว่าพุทโธมันขึ้นมา มันได้ยินขึ้นมา ถ้าเราไปพูดให้คนที่เขาไม่มีฟังนะ เขาก็จะไม่เชื่อ เขาก็จะไม่รู้ แต่พูดกับคนที่เขารู้นะ มันมีได้เป็นบางครั้งคราว แล้วมันไม่มีตลอดไปหรอก แล้วถ้ามีแล้วนะ ไม่ต้องไปปรารถว่ามีหรือไม่มี อะไรจะเกิดขึ้นมา เราตั้งสติไว้ แล้วเรารับรู้แล้วปล่อยวางไป เพราะสิ่งนี้รับรู้แล้วเราอยากเป็นอย่างนี้ กิเลสทั้งนั้นน่ะ สิ่งที่มันเตือนเรา สิ่งใดเป็นคติธรรมเตือนเรา เป็นประโยชน์กับเรา เราเอาสิ่งนี้เป็นประโยชน์กับเรา สิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์ เราจะปฏิเสธ

ที่เขาบอกว่าพุทโธๆ แล้วมันจะเกิดนิมิต มันจะไม่ดี...ไม่เป็นหรอก จะกำหนดอะไร จะทำอะไรก็แล้วแต่นะ ถ้าจิตมันเป็นอย่างนั้นมันต้องเป็นอย่างนั้น มันมีลูกศิษย์มาหาหลายคน เขาไปพิจารณานามรูปนี่แหละ แล้วเขาก็เห็นนิมิต เขาก็มาหาเรา นามรูปนี่แหละก็เกิดนิมิต เพราะจิตของเขามีข้อมูลอย่างนี้ มันต้องออกมาเป็นอย่างนี้ จะกำหนดอะไรก็เป็นอย่างนี้ เหมือนร่างกายเรา ร่างกายเราเป็นโรคเป็นภัย มึงจะไปทำอะไรก็เป็นอย่างนี้ จิตมันเป็นอย่างนี้ต้องเป็นอย่างนี้ เพียงแต่ว่าเป็นแล้วต้องแก้ไขกันเป็นอย่างนี้ มันเป็นสิ่งใดมา เราตั้งสติไว้ แก้ไขของเราไป ตั้งสติไป อย่าไปตื่นเต้นกับมัน ถ้าเป็นสิ่งที่ดี ส่งเสริม เป็นสิ่งที่ผิดพลาด ยับยั้ง ยับยั้งด้วยสติแล้วแก้ไขมัน

มีแต่ยับยั้งสิ่งที่ผิดพลาด ส่งเสริมสิ่งที่เป็นความถูกต้อง ส่งเสริมสิ่งที่เป็นคุณงามความดี ส่งเสริมสิ่งนั้นขึ้นไป นี่ในการประพฤติปฏิบัติ ส่งเสริมนี่เราทำของเราเอง แต่ถ้าไปหาครูบาอาจารย์ที่เป็นนะ แค่อ้าปากบอก ท่านจะรู้ทันทีเลย

ทีนี้ถ้ามันเกิดพุทโธขณะที่มันต้องเตือนขึ้นมา

แหม! สติเรายังต้องฝึกเลยนะ แล้วนี่มาเตือนอย่างนี้มันสุดยอดยิ่งกว่าสติอีก สติเราต้องระลึก ดีขึ้นมามันก็นึกได้ พอสติขาดมันก็ขาด ไอ้นี่เตือนขนาดนี้มันยิ่งกว่าสติอีก ทั้งสติด้วย ทั้งยังบอกให้พุทโธอีก อันนี้เป็นบุญนะ แต่เราจะบอกว่าไม่เกิดบ่อยๆ หรอก เกิดแล้วอย่าชะล่าใจจะให้มันเกิดอีก มันไม่ค่อย

สิ่งที่ดีๆ นะ ข้าว เราต้องลงทุนลงแรงทำกันนะ หญ้า สิ่งที่เป็นวัชพืช ไม่มีใครต้องการเลย มันเกิดตลอด มันแซมเราตลอด สิ่งที่ดีๆ เกิดจากชีวิตนี้มันจะมาง่ายๆ หรือ กิเลสนี่นะ มันปลุกเร้าใจเรากันตลอดเวลา ฉะนั้น สิ่งที่ดีเกิดขึ้นมา เราต้องส่งเสริมมัน ต้องตั้งใจทำสิ่งที่ดีๆ ขึ้นมา สิ่งที่ดีๆ ควรทำ ควรฝึกฝน ควรกระทำ ชีวิตนี้สั้นนะ

ถาม : การภาวนาโดยฟังเทปธรรมะไปด้วย กับการภาวนาโดยไม่ฟังเทปธรรมะ ให้ผลอย่างไร แตกต่างกันอย่างไร วิธีไหนให้ผลดีกว่ากัน

หลวงพ่อ : อันนี้นะ มันอยู่ที่นิสัย เวลาเราฟังเทป ถ้าพูดถึงภาวนาเอง ภาวนาปกติ บางทีเราก็ฟังเทปหลวงตา เราจะเปิดทั้งวันทั้งคืน ของเราจะมีวิทยุตั้งอยู่เครื่องหนึ่งแล้วก็ฟังหลวงตาไปเรื่อย ถ้าหลวงตาพูดคำไหนปิ๊ง เราก็ โอ้โฮ! คิดต่อ แต่ถ้าบางทีเราก็ปิด เราก็เดินของเราเอง ถ้าเดินของเราคือปัญญาเราเอง เรารักษาตัวเราเอง

อันนี้เราจะบอกว่าการฟังเทปดีไหม ดี ครูบาอาจารย์ท่านพูดอย่างนี้นะ เวลาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น วันไหนหลวงปู่มั่นจะเทศน์ โอ้โฮ! มันอิ่มอกอิ่มใจ มันอิ่มอกอิ่มใจเพราะมันเหมือนกับเราจะได้ฟังธรรมะ แต่เวลาเราไปปฏิบัติเอง เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ หลวงตาท่านพูดให้ฟัง เวลาหลวงปู่มั่นเทศน์นี่นะ นิพพานมันเหมือนเอามือเอื้อมหยิบได้เลย คือท่านจะบอกเลย เพราะใจท่านเป็นนิพพาน ใจท่านเป็นวิมุตติสุข ท่านจะพูดถึงวิธีการ ท่านพูดถึงต่อไป แล้วเราจินตนาการไป เราฟังไป มันเหมือนกับเราหยิบเอาได้เลยนะ เหมือนกับเข้าไปในห้างสรรพสินค้า หยิบเอาเลย อันไหนก็หยิบเอาเลย เพราะอะไร เพราะท่านพูดเป็นสินค้าเลย พูดเป็นรูปธรรมเลย ทำอย่างนี้ๆๆ เราฟังเราก็กูหยิบเอาๆๆ เลย พอเทศน์จบ ตูม! ปิดห้างสรรพสินค้า ทำเอาเอง

ทีนี้พอมันยิ่งได้ยินได้ฟัง เปิดห้างให้เราเลือกเอาเลย มันสำคัญไหม มันสำคัญไหม นี่ไง ฟังธรรมสำคัญมาก ทีนี้เราไม่มีโอกาสได้ฟังใช่ไหม เราฟังเทปก็ได้ ฟังเทปไป ถ้าเราภาวนาเองนะ ฟังให้ดีนะ คำนี้เป็นสิ่งที่ต้องจำไว้เลยนะ ถ้าเราภาวนาเอง เราต้องกำหนดคำบริกรรมพุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราต้องมีสติตลอดเวลา แต่ขณะที่ฟังเทศน์ หยุดให้หมดเลย อย่าทำ ปล่อย เพราะจิตนี้รับรู้อันเดียว คือเราฟังเสียงเทศน์ เสียงที่มากระทบหู ไม่ต้องนึกพุทโธ ไม่ต้องนึกอะไรเลย ตั้งสติไว้ มันมาเอง เสียงจะมากระทบหูเรา ถ้าเราไปนึกพุทโธด้วย เราฟังเทศน์ด้วย มันแยกเป็นสอง สติมันจะแยกออกไป ฉะนั้น เวลาฟังเทศน์มันสงบได้นะ

เมื่อ ๒ วันนี้ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วเราเทศน์กลางคืน มันมีโยมมานั่งฟังเทศน์อยู่ พอนั่งฟังเทศน์อยู่ เราเทศน์กลางคืน เขามานั่งมองเราอยู่อย่างนี้ เราเป็นโครงกระดูกหมดเลย เขาเห็น เขาเห็นเราเป็นโครงกระดูกหมดเลย เขาไม่เชื่อตาเขานะ เขาขยี้ตาเขาใหญ่เลย แล้วเขาก็มองเราเป็นโครงกระดูกหมดเลย สดๆ นั่งกันอย่างนี้เลย ทำไมเขาเห็นอย่างนั้นได้ล่ะ แล้วถ้าเป็นข้อเท็จจริงมันจะเป็นจริงไหมล่ะ เพราะเรามีหนังอยู่นี่ มันจะเป็นกระดูกไปได้อย่างไร แต่เราเทศน์อยู่ เขาเห็นอย่างนั้นเลยนะ แล้วเขามาถามเรา เราตอบไว้อยู่ใน “วงกรรมฐาน” ซีดีใน “วงกรรมฐาน” เพราะเราตอบเขา

เราตอบเขาบอกว่า มันเป็นสูตร สิ่งที่เขาเห็นมันเป็นบารมีธรรม เวลาเราเห็นโครงกระดูก เห็นอสุภะนี่นะ จิตของเราต้องสงบ จิตของเราจะมีฐาน แล้วจิตมันเห็นนี่นะ มันสะเทือนหัวใจมาก แค่เห็นกาย พวกเราไม่เคยเห็นกาย คนไม่เคยเห็นกาย ถ้าใครเคยเห็นกายนะ จิตมันเห็นนะ มันสะเทือนขั้วหัวใจมาก ถ้าจิตมันเห็น เพราะจิตมันหลง จิตมันหลง จิตมันปฏิเสธ แล้วเราไปศึกษาธรรมะกัน “กายสักแต่ว่า กายนั้นสักแต่ว่า ไม่ใช่เรา”...ใช่ ใช่ มันจะไม่ใช่ได้อย่างไร

มันไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า มันไม่ใช่ของพระโสดาบันขึ้นไป พระโสดาบันจะเห็นจริงว่าไม่ใช่เรา แต่เราเป็นปุถุชนนี่ใช่ ใช่ ต้องใช่เรา เราถึงจะปลดล็อกเราได้

ถ้าไม่ใช่เรา เราปฏิเสธก่อน เห็นไหม สุกก่อนห่าม ซื้อก่อนขาย ไม่เป็นความจริงหรอก มันต้องมีสินค้าก่อน เราถึงจะไปขาย มันต้องมีผลไม้ก่อน แล้วบ่มมันถึงจะสุก มันใช่เรา แล้วปฏิบัติไปถึงที่สุดแล้วมันไม่ใช่ตามข้อเท็จจริงที่เรารู้เราเห็น มันไม่ใช่ตั้งแต่ว่าเราปฏิเสธว่าไม่ใช่หรอก

พอจิตมันสงบเข้ามา จิตมันเห็นกายนะ มันสะเทือนมาก แล้วกว่ามันจะเห็นอสุภะได้ แล้วทำไมเขาเห็นโครงกระดูกเราล่ะ เขาเห็นโครงกระดูกเราเพราะเป็นบารมีธรรมของเขา

อย่างที่พูดเมื่อกี้ที่บอกว่าเห็นว่าสวยๆ

มีลูกศิษย์มาหลายคนนะ โทษนะ ผู้ชายทุกคนจะมาปรึกษาปัญหานี้ ปัญหาว่าโน่นก็สวย นี่ก็สวย แล้วเขาพูดอยู่ว่า “บางวันนะ หลวงพ่อ ผมพิจารณาไปมันเป็นอสุภะต่อหน้าผมเลยนะ คือพิจารณาที่สวยๆ มันเป็นอสุภะเลย แต่ได้หนเดียวนะ” แล้วเขาติดใจ พอเห็นอสุภะปั๊บ เขาก็มั่นใจแล้วว่าความสวยทำลายใจเขาไม่ได้แล้ว แล้ววันหลังเขาไปเจออีก เขาพิจารณาอีก มันไม่เป็น มันไม่เป็น มันวิ่งมาหาเราไง “หลวงพ่อ มันไม่เป็นอสุภะ”

มันเกิดจากตรงนี้ มันเกิดจากที่เขาเห็นโครงกระดูกเรานี่ มันเกิดจากบารมีธรรม บารมีธรรมของคนนี่นะ อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ บารมีธรรมของคน เวลาจิตสงบไป ธรรมมันจะผุด แล้วบารมีธรรมของคนมันไม่เห็นบ่อยๆ หรอก ดูเจ้าชายสิทธัตถะสิ เวลาจะออกบวช นางสนมเวลานอนไป ท่านหลับก่อน แล้วท่านตื่นขึ้นมาเห็นทุกคนเป็นซากศพหมดเลย แล้วพูดทางวิชาการเขาบอกรับไม่ได้ มันเป็นซากศพ แต่ของเรารับได้ เพราะเขาไม่เคยภาวนา เขาไม่เคยรู้ถึงเหตุการณ์ของจิตที่มันวิวัฒนาการของมัน เขาเห็นเป็นซากศพ ทำไมผู้หญิงคนนั้นเขาเห็นเราเป็นโครงกระดูกได้ล่ะ เพราะมันเป็นบารมีธรรมของเขา อย่างนี้เขาเรียกส้มหล่น มันเป็นครั้งคราว มันไม่ใช่อริยสัจ

ถ้ามันเป็นอริยสัจ จิตเราต้องสงบก่อน เราต้องรักษาฐานจิตเราได้ แล้วจิตของเราวิปัสสนาไปตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ขั้นของอนาคามีมันถึงจะเห็นเป็นอสุภะ แต่ถ้าขั้นของเห็นกายนี่นะ ขั้นของโสดาบันมันจะเห็นเป็นไตรลักษณ์ มันจะเห็นร่างกายการแปรสภาพ มันไม่เป็นอสุภะ อสุภะนี่ขั้นอนาคามีนะ แล้วถ้าเห็นสภาวะแบบนั้นมันจะเป็นจริง

สิ่งที่เห็นเป็นโครงกระดูกเพราะเป็นบารมีธรรมของเขา แล้วเห็นเป็นครั้งคราว แล้วจะไม่เห็นอย่างนี้อีกหรอก แล้วอยากจะเห็นอย่างนี้อีกปั๊บมันก็ฝังใจ ฝังใจว่า พวกเรานี่นะ ที่ปฏิบัติ ที่โลเลกันอยู่นี่เพราะมันไม่มีสมาธิอยู่ในหัวใจบ้าง มันไม่มีผลที่เราเคยได้รับไง มันก็เลยโลเล แต่ถ้าใครทำสมาธิได้ ใครเคยทำสิ่งใดได้ มันจะฝังใจ ความฝังใจอันนี้จะทำให้เราเกิดมุมานะ ความเพียรชอบ ความเพียรที่เรามีสติสัมปชัญญะ ความเพียรที่เราต่อสู้นี่คือความเพียรชอบ ความเพียรที่เราอยากได้ผล ความเพียรที่เราต้องการคือความเพียรไม่ชอบ ความเพียรไม่ชอบ มิจฉา มันก็สร้างผลต่างๆ ไปตลอดไป สิ่งนั้นมันเป็นไปนะ

นี่พูดถึงฟังเทป ฟังเทป ได้ฟังธรรม สำคัญมากนะ เราฟังของเรา ในธรรมนะ การเกิดมาในพระพุทธศาสนานี้แสนยาก การเกิดเป็นมนุษย์แสนยากเพราะว่าเกิดต่างๆ กันในโลก เกิดมาในพระพุทธศาสนาแสนยาก แล้วการฟังธรรมก็แสนยาก การฟังธรรมสมัยพุทธกาลออกจากโอษฐ์ ออกจากปาก มันไม่มีหรอก แต่เดี๋ยวนี้มันออกจากวิทยุ แล้วบอกว่าฟังธรรมที่ว่าทำไมมันแสนยากๆ เปิดวิทยุทั้งวันทั้งคืนเลย...นี่มองข้ามบุญของตัวเองไป เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ แล้วพบพระพุทธศาสนา เทคโนโลยีมันเจริญ ถ้าเอามาเปิดนะ แล้วดูธรรมะที่มาเปิดสิ เราฟังหลวงตาเรานี่ธรรมะที่สะอาดบริสุทธิ์ เราฟังแล้วเป็นอย่างไร แล้วเราไปฟังคลื่นอื่นสิ ธรรมะคืออะไร ธรรมะคือธุรกิจ ธรรมะคือเรี่ยไร หลวงตาท่านไม่เคยเรี่ยไรใครนะ ให้ธรรมเป็นทาน

จะบอกว่าฟังธรรมะ เอ็งว่าเป็นธรรมะกันหรือยังล่ะ นี่เราไปคิดไง พอคิดอย่างนี้ปั๊บ มันจะมองว่าพุทธพจน์คือคำพระพุทธเจ้า คุณค่ามันไม่สูงส่ง แต่ถ้าเราคิดด้วยปัญญานะ พระพุทธเจ้าพูดไว้ การฟังธรรมนี้แสนยาก โอกาสจะได้ฟังก็แสนยาก หลวงตาท่านขึ้นเทศน์ทีไรท่านจะพูด การฟังธรรมนี้ไม่ค่อยมีโอกาสได้ฟัง แต่ฟังทางโลกฟังกันทุกวันๆ แต่การฟังธรรมนี้ฟังเพื่อขัดเกลา ฟังเพื่อขัดเกลากิเลส ฟังเพื่อเรา

อีกปัญหาเดียว

ถาม : เวลาเวทนา เวลาภาวนาแล้วมีความรู้สึกว่าหน้าของตัวเองแหวกน้ำ แล้วเหมือนตัวเองค่อยๆ ลง เหมือนตกจากที่สูง อาการอย่างนี้คืออะไร และต้องทำอย่างไร

หลวงพ่อ : อาการตกจากที่สูงนี่ของดี อาการแหวกน้ำ อาการต่างๆ การภาวนาไปนี่นะ จริตนิสัยอีกล่ะ ต้องกลับมาจริตนิสัยตลอด จริตนิสัยของคนมันเป็นสิ่งแวดล้อมของใจ ทีนี้พอคนจะเข้าถึงใจ มันต้องผ่านสิ่งแวดล้อมเข้าไป ทีนี้การผ่านสิ่งแวดล้อมเข้าไป มันอยู่ที่คนสร้างมามากสร้างมาน้อย

ถ้าคนที่ตกจากที่สูง สมาธิบางคนนะ มันตกจากที่สูง มันจะตก มันจะวูบลง แล้วตกใจ แล้วเวลาตกจากที่สูงหรือเรามีอะไร เรากลัว ความกลัวนี้กระตุกให้เราออกจากสมาธิ มันจะตกจากที่สูงได้

เราจะพูดอย่างนี้นะ รถถ้าจอดอยู่ เข็มไมล์จะไม่กระดิกนะ โดยสามัญสำนึกของจิตถ้าเราอยู่ปกติจะไม่มีอะไรเลย ถ้าเราอยู่ปกติจะไม่มีอะไร ปกติ แต่ถ้าจิตเรากำหนดพุทโธๆๆ จิตมันเริ่มดี มันจะเข้าสมาธิ เหมือนกับล้อรถมันหมุน ล้อรถมันหมุนปั๊บ เข็มไมล์มันจะขึ้น พอจิตเรามันเริ่มกำหนดพุทโธ มันเริ่มจะลงสมาธิ มันจะเกิดอาการอย่างนั้น ถ้าเกิดอาการอย่างนั้นปั๊บ เรากลับไปกลัว โดยสัญชาตญาณเรากลัวตกจากที่สูง เรากลัวเจ็บ กลัวตาย เวลากำหนดลมหายใจ ลมหายใจเริ่มเบาลง จะขาด ก็กลัวตายอีก ทั้งๆ ที่มันจะเป็นสมาธินะ

แต่ถ้ามันขาดสตินะ มันจะไม่เห็นว่าลมเบาหรือลมไม่เบา มันจะวูบหายไปเลย ตกภวังค์ บางทีพุทโธๆๆ วูบหายไปเลย แต่ที่ว่าตกจากที่สูง เรารู้ว่าที่สูงใช่ไหม เราเคยเป็น เวลามันจะตกจากที่สูง มันจะควงลงอย่างไร เรามีสติ เพราะเราเคยเป็นใช่ไหม เราจะตั้งสติแล้วเราจะบอกมันบอกว่าเชิญครับ เชิญครับ มันก็ลงวูบๆๆ วูบไปไหน เชิญมันไปเรื่อยๆ ถึงที่สุดนะ เพราะเราไม่ตกใจไปกับมัน มันจะ กึ๊ก! ถึงฐานเลย หลายชั่วโมงนะ แล้วมัน กึ๊ก!

เวลาเข้าสมาธิออกสมาธิ เป็นอย่างไร

เวลาบอกเข้าสมาธิออกสมาธิ คนไม่ภาวนาเขาบอกว่า เข้าสมาธิออกสมาธิเหมือนเข้าบ้านหรือ ออกประตูหรือ

ไม่ใช่ เข้าสมาธิออกสมาธินี่เหมือนกับน้ำ ตะกอนน้ำ ตะกอนน้ำที่มันลงก้นแก้ว ความรู้สึกของเรามันจะหดตัวลงๆ นี่คือการเข้าสมาธิ แล้วเราเขย่าแก้วสิ ตะกอนน้ำจะเคลื่อนขึ้นมา เวลาเราจะออกสมาธิ ความรู้สึกมันค่อยๆ ออกมา ความรู้สึกมันแผ่ ถ้าคนชำนาญนะ ถ้าคนชำนาญมันจะรู้เลยเวลาเข้า โอ้โฮ! มันจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆๆ เราจะมีสติเข้าไป อย่าไปกระตุกมัน อย่าไปทำอะไรมัน มันจะเข้าไปขณิกะ อุปจาระ อัปปนา ถึง กึ๊ก! ฐีติจิต จิตเดิมแท้ กึ๊ก! หยุดหลายชั่วโมง สักแต่ว่ารู้ ไม่รู้อะไรเลย แต่รู้ตัวมันเอง สติพร้อม รู้ตลอด

การเข้าสมาธินะ จะไม่มีแวบ ไม่มีขาดช่วงแม้แต่เสี้ยววินาที สติจะรู้ความรู้สึกตลอดเวลา ถ้าสติวุบ หายเลย สติจะพร้อมตลอดเวลา มันจะเข้าไปถึงที่สุด จนถึงที่สุดนะ กึ๊ก! นานมาก แล้วค่อยคลายตัวออก พอคลายตัวออก พอมันกึ๊กปั๊บ พอมันเข้าไป พอจิตสงบ มันสักแต่ว่า มันทิ้งกายหมด ตา หู จมูก ลิ้น ไม่มีได้ยินเสียง อะไรก็ไม่ได้ยิน ดับหมด แต่มันรู้อยู่ แล้วเวลามันจะออกมา มันจะเริ่มซ่าออกมา มันจะเริ่มคลายตัวออกมารับรู้เรื่องร่างกาย ถ้ามันเข้าไปอย่างนั้นปั๊บ ขยับอะไรไม่ได้ พอมันรับรู้ร่างกาย เริ่มรับรู้ความรู้สึก รู้ตัวแล้ว แล้วจะทำอย่างไรก็ได้ การเข้าออกสมาธิชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้า ชำนาญในการออก เราชำนาญในการเข้าการออก เราชำนาญในพุทโธ เราชำนาญในสติปัญญา สมาธิจะเสื่อมไหม สมาธิจะเสื่อมไหม แต่สมาธิที่จะเสื่อม ที่เป็นไปอยู่นี่ เพราะตัวเองสับ แบบว่าผลุบผลับ ตัวเองไม่มีสติ ไม่รู้จักรักษา ไม่รู้จักสังเกต ไม่รู้จักความเห็นไง

ถ้ามันจะตกจากที่สูงขนาดไหน แต่โดยสัญชาตญาณ มันกลัวโดยสัญชาตญาณ แต่จนเราพิสูจน์กัน เราทำแล้วมันไม่มีโทษหรอก การเข้าสมาธินะ การที่เป็นสมาธิ จิตมันต้องเปลี่ยนแปลงสิ แล้วพอเปลี่ยนแปลง เขาบอกว่าถ้าเข้าสมาธิแล้วจะเห็นนิมิต ในฝ่ายอภิธรรมเขาบอกว่า สมาธิ สมถะน่ากลัวมาก จะเห็นนิมิตเป็นสิ่งที่เสียหาย

ไม่ใช่ ไม่ใช่ เพราะสิ่งที่เป็นสมาธิคือกรรมฐาน ฐานที่ตั้ง คือกิเลสมันอยู่ที่นั่น เราจะไปชำระกิเลสกัน เราจะทำกิเลส เราจะถอนศร ถอนอวิชชา ถอนสิ่งที่ปักเสียบที่หัวใจออก แต่ในอภิธรรมที่เขาบอกว่าอยู่วิปัสสนาสายตรง อยู่โดยสามัญสำนึก จิตมันจะกระเพื่อมไม่ได้ จิตเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ พอเห็นเป็นอย่างอื่นปั๊บ นั่นคือเห็นนิมิต นั่นคือตกสมถะ นั่นเป็นสมาธิ นั่นผิด

สัมมาทิฏฐิ บอกว่า ปัญญาชอบ งานชอบ เพียรชอบ สมาธิชอบ สมาธิชอบ ถ้ามรรค ๘ ไม่มีสมาธิ เป็นมรรคไม่ได้ สมาธิชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ ทุกอย่างชอบหมด เป็นความชอบ เป็นความสมดุล มรรคถึงมันเป็นสัจธรรม มันถึงมรรคญาณ มันถึงเป็นธรรมจักร มันถึงเกิดสัจธรรม มันถึงเข้าไปทำลาย แต่เพราะเขาไม่เคยเห็น เขาไม่เคยรู้ เขาเลยบอกว่าเพราะตรงนี้

เรายึดตรงนี้เป็นหลัก หลักว่า ถ้าจิตของคนนะ ถ้ามันจะไปแก้ไขกิเลสมันต้องไปแก้ไขกันที่จิต ไปแก้ไข จิตคือสมาธิ แต่ถ้าเขาปฏิเสธสมาธิ เขาไปแก้กันที่ความคิด นามรูป ความคิดเป็นนามเป็นรูป พอมันสร้างความคิดนั้นให้เป็นความว่าง มันเป็นเงา มันเป็นอาการของใจ มันเป็นความคิด แล้วไปแก้กิเลสกันที่ความคิดได้ไหม “ว่างๆ ว่างๆ”

กิเลสมันแก้ที่ความคิดไม่ได้ กิเลสมันจะเข้ามาถึงสมาธิ เข้ามาถึงจิต แล้วจิตออกเห็น จิตออกรู้ จิตออกเห็น จิตออกรู้ จิตมันเป็นผู้ติด แล้วใช้ปัญญา ปัญญาก็คือความคิด แต่ความคิดนี้เกิดจากสมาธิกับความคิดนี้เกิดจากกรรมฐาน ความคิดนี้เกิดจากจิต ปัญญานี้เกิดจากจิต ปัญญาเกิดจากจิตกับปัญญาเกิดจากโลกต่างกัน

เพราะเขาไม่เคยเห็นจิตที่มันลงสมาธิ จิตที่เป็นสมาธิมันลึกซึ้งจนพระเราติดในสมาธิ ว่าสมาธิเป็นนิพพานยังมีเลย สมาธิเป็นนิพพานไม่ได้ สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิจะเป็นโลกียปัญญาทั้งหมด ตัวสมาธิเป็นตัวเปลี่ยนจากโลกียปัญญาเป็นโลกุตตรปัญญา โลกุตตรปัญญาเป็นภาวนามยปัญญา การชำระกิเลสมีอยู่หนทางเดียวคือภาวนามยปัญญา

สุตมยปัญญา จินตมยปัญญาแก้กิเลสไม่ได้ แก้กิเลสไม่ได้ เพราะมันเป็นข้อมูล มันเป็นสัญญา มันเป็นปัญญาสัญชาตญาณ มันเป็นปัญญาเป็นทางวิชาชีพ มันเป็นปัญญาของสัตว์โลก สัตตะ ใจที่ผู้ข้อง แต่พอจิตเป็นสมาธิ ถ้ามีมานะทิฏฐิ มีกิเลส มีความเห็น มันจะเข้าสมาธิไม่ได้ สมาธิคือลดอีโก้ ลดตัวตน ลดโลกทัศน์ ลดความเห็นของตัวให้เข้าถึงพลังงาน พลังงานคือตัวจิต แล้วตัวจิตตัวนี้มันออกไปวิปัสสนา ปัญญาที่เกิดจากจิตตัวนี้มันจะเป็นโลกุตตรปัญญา มันจะเป็นภาวนามยปัญญา คนที่เห็นอย่างนี้โดยสมบูรณ์ได้ต้องเป็นพระโสดาบันอย่างต่ำ ต่ำจากพระโสดาบันจะไม่รู้จักตรงนี้ ต่ำจากพระโสดาบันจะไม่รู้จักภาวนามยปัญญา คนถ้าไม่เกิดภาวนามยปัญญาจะเป็นพระโสดาบันไม่ได้

พระโสดาบันเกิดจากภาวนามยปัญญา พระสกิทาคามีเกิดจากภาวนามยปัญญา พระอนาคามีเกิดจากภาวนามยปัญญา พระอรหันต์เกิดจากภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาแต่ละชั้นแต่ละตอนละเอียดลึกซึ้งต่างกัน มีวุฒิภาวะ มีความเห็น มีความลึกซึ้ง มีคุณภาพต่างกัน ถึงเป็นมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

แต่เพราะเขาไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น เขาเลยให้ความคิดลงลึกไม่ได้ คือปัญญาที่ไม่ลงลึกเข้าไปถึงจิตมันไปแก้กิเลสไม่ได้ ให้เป็นปัญญาโดยสัญชาตญาณ เป็นปัญญาปุถุชน เพราะถ้าจิตมันจะลง สมาธิมันจะลง มันจะมีการเปลี่ยนแปลง พอมีการเปลี่ยนแปลงก็บอกว่าอันนั้นเป็นสมถะ อันนั้นเป็นความผิด...ตรงนี้ไง มันฟ้องชัดๆ เลยว่าตัวเองไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น นกแก้วนกขุนทอง “พุทธพจน์ๆ” เอาพุทธพจน์มาอ้างมาอิงกันนั่นน่ะ แล้วมันเป็นความจริงไหมล่ะ

คำพูดที่ออกมาจากใจมันฟ้องหมดเลยว่าใครพูดแล้ววุฒิภาวะเขามีแค่ไหน เห็นไหม ธรรมะที่ฟังกันอยู่นี่ ครูบาอาจารย์ท่านฟังทีเดียวท่านจะรู้เลยว่าคนไหนจริงหรือไม่จริง เพราะมันเกิดจากตรงนี้ไง มันเกิดจากถ้ารู้จริงต้องพูดจริง ต้องเห็นจริง

มันไม่รู้ รู้ไม่จริง อ้างพุทธพจน์ ห้ามค้าน ห้ามเถียง แต่ไม่รู้สอนกันไปไหน

อาการที่มันเป็น เราเห็นใจนะ เพราะว่าเวลาทำ ทุกคนมันจะตื่นเต้น มันจะกลัว อย่างเช่นเราเข้าป่าช้า ใครกลัวบ้าง ใครไม่กลัวผี แล้วเข้าป่าช้าไปทำไม ก็เอาความกลัว เอาความกลัวที่เป็นสิ่งที่ไม่ดีมาเป็นคุณประโยชน์ ถ้าเราอยู่โดยปกติ เราก็จะคิดร้อยแปดพันเก้าตามประสากิเลส พอเข้าไปในป่าช้ามันกลัว มันไม่กล้าคิด นี่ไง มันกลัวผี มันจะคิดเรื่องอะไรล่ะ มันก็คิดแต่เรื่องผีๆๆ พอคิดแต่เรื่องผี มันก็อยู่กับผี แล้วมันก็อยู่กับผี นี่ไง อุบาย วิธีการ มันเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งนั้นน่ะ

เราเข้าป่ากันไปทำไม เราเข้าป่าไป อยู่ในหมู่คณะ คลุกคลีกัน กรรมฐาน พระป่าทำไมต้องไปอยู่ในป่า ทำไมภาวนาในชุมชนไม่ได้

ภาวนาในชุมชนมันก็นอนตีแปลงไง เพราะมันมีคนดูแลอยู่ มันไม่กลัวอะไรเลย พอเข้าป่าไปปั๊บ โอ้โฮ! กลัวสัตว์ร้าย กลัวจะทุกข์กลัวยาก กลัวจะไม่มีอาหารกิน กลัวไปทุกอย่างเลย เพราะกลัวนั้นน่ะ ถ้ามันรักษาจนมันหายกลัวนะ มันก็ฟุ้งซ่านอีก อยู่คนเดียวระวังความคิด ความคิดมันจะคิดไปร้อยแปดเลย คิดสร้างภาพหลอกตัวเอง ทีนี้ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้าไปถึงที่สุดนะ มันจะเป็นประโยชน์

ปัญหาหมดแล้ว ปัญหาหมดแล้ว ใครจะมีปัญหาใหม่ไหม ถ้าไม่มีปัญหาใหม่จะจบ

ไม่ได้ยินหรอก ต้องมาใกล้ๆ ฝนตกแรง จะเลิกก็เลิกไม่ได้ เพราะเลิกก็กลับไม่ได้ โยมจะกลับนี่นะ มันมีซีดี เดี๋ยวใครลุกนะ ซีดีหยิบเอาเลย ซีดีก็อัดที่พูดๆ กันไว้นี่ อยู่ในซีดี ถ้าพูดแล้วมีอะไรที่อยากค้นคว้า ซีดีนี่หยิบเอาเลย ซีดีนี้

โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : ไม่หรอก เพราะเรานึกถึงรัตนตรัยเพื่อให้กิจการเราดี มันไม่เสียหาย

โยม : เราทำบุญทุกวัน

หลวงพ่อ : เพราะเราทำบุญทุกวัน เรากินทุกวัน เราจะพูดอย่างนี้นะ เราไหว้พระใช่ไหม เราอยากพ้นทุกข์ เราอยากให้ดีมันก็คือดี

โยม : แล้วถ้าขอนิพพานด้วยล่ะเจ้าคะ

หลวงพ่อ : เออ

โยม : มีผู้หญิงมาบอกว่าให้ขอนิพพานมัจจุราช แล้วพอวันรุ่งขึ้นก็มีคนมาบอกว่าเกี่ยวกับนิพพาน แบบว่าอยากขอ ให้ขอนิมิต ไม่ให้ขอว่าเกี่ยวกับสิ่งของอย่างนี้

หลวงพ่อ : จบก่อน แล้วจะอธิบาย เพราะถ้าเขาพูดอยู่ เราจะไม่ได้พูด

ซีดีนั้นดีมาก เอาเลย หนังสือด้วย เดี๋ยวถ้าใครลุกแล้วยังไม่ได้หยิบ เอานะ เพราะเราแจกแล้วบางทีมันเคยแจกแล้วไม่รู้ว่าใครได้ไม่ได้ไง ถ้าใครยังไม่ได้ให้ดูเอา

การขอนะ รัตนตรัย เวลาเราถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นแก้วสารพัดนึก ผู้ที่จิตใจสูงส่งก็นึกถึงมรรคผลนิพพาน ผู้ที่จิตใจอยู่ในโลกก็นึกถึงสิ่งที่สมความปรารถนา มันไม่ผิดหรอก อย่างนี้ถ้าเราระลึกถึงเพราะว่าเราเป็นชาวพุทธ เราทำบุญสิ่งใดเราก็ต้องการสิ่งนั้น ทีนี้เราตั้งใจขอสิ่งนี้ไม่ใช่ผิด เพียงแต่ว่าเราโลเลเองใช่ไหม เราขอสิ่งที่ว่าเราสมความปรารถนาในการทำธุรกิจของเรา แล้วเราก็ขอนิพพานด้วย แล้วพอขอนิพพานแล้วนะ ก็จะมีเสียงนั้นมาพูด เสียงอะไรมาพูด

เสียงนี่นะ ที่เราพูดเมื่อกี้นี้ เสียงที่มันเกิดขึ้น อย่างพุทโธ เสียงถ้าเป็นสิ่งที่ดี เราเห็นด้วยนะ แต่เสียงนี่นะ ถ้าเราเป็นปุถุชนนะ เรานอนฝันหรือสิ่งใดเกิดขึ้น มันเป็นอนิจจังนะ มันไม่จริงหรอก แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ท่านสิ้นกิเลสนะ สิ่งใดที่เกิดขึ้นมาท่านจะไม่เอามาพูดเท่าไรหรอก เพราะมันสะอาด มันเป็นความจริง

ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา เสียงที่มันเกิดขึ้นมา สิ่งใดมันเกิดขึ้นมา เราก็รับฟังไว้ ถ้ามันเป็นสิ่งที่ว่ามันไม่สะเทือน มันไม่เป็นผลเสีย เราก็วางไว้ๆ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะของเรา ความคิดมันเกิดตลอดเวลา แล้วเราบอกว่าความคิดเป็นความจริง ความคิดเป็นความจริง เราทุกข์ตายเลย แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมา สิ่งนั้นมันก็เหมือนกับความคิดนี่แหละ ความคิดของเรา คามคิดเราที่เราเห็นสิ่งต่างๆ เป็นปกติใช่ไหม เวลาเรานอนหลับ เราฝัน ก็สังขารน่ะ เวลาฝันนั่นคือความคิด คนคิดตอนหลับไง แต่คิดตอนหลับไม่มีสติ แล้วแต่มันจะดึงไป เอาตรงนี้ก่อน

ถาม : ถ้าแยกให้ออกระหว่างหลับกับนิมิต ต่างกันอย่างไร

หลวงพ่อ : ให้แยกให้เห็นระหว่างหลับใช่ไหม เขียนจนอ่านไม่ออก

ถ้าแยกให้ออก แยก (ใช่แยกไหม...ใช่) ถ้าแยกให้ออกระหว่างหลับกับนิมิต

อันนี้ระหว่างหลับ หลับคือตกภวังค์ นิมิตนี่นะ ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันจะมีสติตลอด เรารู้ไง อย่างเช่นนิมิต เช่น เรานั่งสมาธินะ แล้วเห็นภาพพระพุทธรูป เราจะเห็นพระพุทธรูป แล้วถ้าสมาธิเราดีนะ พระพุทธรูปเป็นทอง ถ้าสมาธิเราดีขึ้นไปอีก พระพุทธเจ้ารูปนี้จะเป็นทอง เป็นแก้วสีทอง สิ่งใดก็แล้วแต่ มันอยู่ที่จิต ถ้าจิตมันละเอียด จิตมันสมาธิมันดีขึ้น ภาพนั้นจะชัดเจน ภาพนั้นจะมีต่างๆ

ทีนี้คำว่า “นิมิต” นิมิตถ้าเรารู้แล้วมันไม่มีปัญหาอะไรเลย ไม่มีปัญหา ถ้าเรารู้ ถ้าเรามีสติ เรากลับมาที่พุทโธ นิมิตนี้หายหมด เราควบคุมนิมิตได้ไง นิมิต อุคคหนิมิต วิภาคะ เห็นกายนี่คือนิมิตนะ อุคคหนิมิตคือเห็นกายขึ้นมาเป็นภาพ วิภาคะ อุคคหนิมิตแก้กิเลสไม่ได้ ต้องมีวิภาคะแยกส่วนขยายส่วน แยกออกให้เห็นการแตกสลายของร่างกาย ถ้าร่างกายแตกสลายหมด จิตมันอยู่บนอะไร นี่พูดถึงเวลานิมิต

เราจะบอกว่า นิมิตมันมีผลดีถ้าสำหรับคนใช้เป็น มันมีผลเสียสำหรับคนไม่รู้จักมัน ไปติด ไปรู้มัน ไปทุกข์ยากกับมัน แต่ถ้าคนเป็นนะ คนเป็นคือแบบมันคุม คนเป็นหมายถึงมีสติสัมปชัญญะพร้อม มันจะทำอะไรก็ได้ แล้วพอนิมิตเข้ามาจริงไม่จริง ทดสอบได้หมด พอจะเกิดนิมิตปั๊บ วางไว้ แล้วถามจิต “นี่คืออะไร” มันตอบเลยนะ สัจธรรมมันเกิดที่นี่ แล้วถ้าเกิดถ้าเรารู้จริง ไม่ต้องถาม มันรู้เลย อันนี้เป็นอย่างนี้ๆๆ มันรู้จากที่นี่ ที่นี่เห็นแล้วที่นี่รู้ว่าอันนี้จริงไม่จริง อันนี้ปลอมไม่ปลอม มันรู้หมด แต่ถ้าเป็นปุถุชน เป็นคนเห็นใหม่ๆ นะ พอเห็นเข้านะ โอ้โฮ! เรารู้ เราแน่ เราเก่ง...บ้าเลย บ้าไปกับมัน

ฉะนั้น ให้แยกระหว่างหลับกับนิมิต

หลับนี้ไม่มีเลย หลับคือหลับ แต่นิมิต ถ้านิมิตที่เป็นจริงมันต้องจิตสงบ จิตเป็นสมาธิ ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิมันเป็นภาพเพ้อฝัน มันสร้างได้นะ จิตนี้มหัศจรรย์มาก มันสร้างอะไรก็ได้ มันสร้างทุกอย่างขึ้นมา สร้างขึ้นมาหลอกตัวเองจนตัวเองก็เชื่อว่าเป็นความจริง

ถาม : ขอเรียนถามว่า

๑. จะแก้ตกภวังค์ จะทำอย่างไร

๒. จะแก้ฟุ้งซ่านมากๆ จะทำอย่างไร

หลวงพ่อ : จะแก้ตกภวังค์ ส่วนใหญ่แล้วนะ ภาวนาตกภวังค์เกือบทั้งหมดล่ะ เพราะอะไรรู้ไหม มันอย่างที่ว่า สิ่งแวดล้อมของจิตจะเข้าหาจิต ส่วนใหญ่แล้วจะตกภวังค์ แต่คนที่ส่วนใหญ่ตกภวังค์แล้วไม่ยอมรับว่าเป็นภวังค์ เวลากำหนดพุทโธหรือกำหนดสิ่งใดแล้วมันวูบหายไปเลยหรือมันหายไปเลย

มีลูกศิษย์คนหนึ่งเขาบอกว่าเขานั่งตลอดรุ่งตลอดเลยนะ ผู้หญิง นั่งได้จนสว่างเลย แล้วพอเขาเป็นสมาธิ แต่เราเอะใจ เอะใจว่าเป็นสมาธิ ทำไมเขาไม่มีกำลัง ถ้าเป็นสมาธิ นั่งตลอดรุ่ง สมาธิมันมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว เราก็บอกให้เขาวิปัสสนา

เขาบอกทำไม่ได้

คือบอกให้น้อมไปเห็นกายก็ทำไม่ได้ เราก็สงสัยอยู่ แต่เราบอกนี่ภวังค์

เขาบอกไม่ ไม่ อย่างไรก็ไม่ เพราะเขามีสติตลอดเวลา

ทีนี้พวกผู้หญิงที่โพธารามเขาอยู่กันหลายคนนะ แล้ววันนั้นเขานั่งตลอดรุ่ง แล้วผู้หญิงเขานั่งฟังด้วย เขากรนเลย กรนคร่อกๆ แล้วพอออกมาเขาบอกว่าตกภวังค์เด็ดขาด ยืนยันกันจนเขายอมรับ

เราจะบอกว่าคนตกภวังค์ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตกภวังค์ ตรงนี้มันทำให้เราเนิ่นช้า ผู้ที่ตกภวังค์ส่วนใหญ่เลยนะ ไม่รู้ว่าตัวเองตกภวังค์ คือว่าพุทโธๆๆ หรือกำหนดอะไรก็แล้วแต่ พอมันละเอียดเข้ามาแล้ววุบหายไปเลย มันวุบหายจนเรานี้ไม่ทันสติเรา แล้วเราเข้าใจผิดว่าเป็นสมาธิ ส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้นนะ

เราก็เคยเป็นมาก่อน แต่เพราะเรารู้ขึ้นมาโดยตัวเราเอง เราเป็นน่ะ เราพุทโธๆๆ ไปนะ แว็บหายทีหนึ่ง ๗-๘ ชั่วโมงนะ นั่งกัน เป็นพระภาวนาด้วยกัน แล้วเป็นอย่างนั้นอยู่ตลอด เราก็ภูมิอกภูมิใจ ทีแรกไม่รู้ หลงภูมิอกภูมิใจว่าเรานี้ภาวนาเก่ง

จนมีอยู่วันหนึ่งมันก็นั่งไปอย่างนี้ แล้วมันก็แว็บหายไป แล้วพอเลิกภาวนา ห่มจีวรนั่งภาวนาปั๊บ เพราะทำวัตรสวดมนต์พร้อมกัน แล้วภาวนาพร้อมกัน บวชใหม่ๆ พอมันออกมา นั่งอยู่นี่ จีวรมันต้องเป็นปกติสิ แต่ทำไมนี่มันเปียกล่ะ เอาจีวรขึ้นมาดม...น้ำลาย มันบอกชัดๆ เลยว่ามึงนั่งหลับ ไม่ต้องใครแก้เลย แล้วถ้าคนอื่นบอก ไม่เชื่อ ถ้าใครบอกว่าเรานั่งหลับ เราจะไม่เชื่อ เพราะเรา โอ้โฮ! เราภูมิใจว่าเรายอดๆ เลย แล้วเราแก้ของเราด้วยการตรึกแบบพระโมคคัลลานะ ด้วยอะไรต่างๆ

ไอ้เรื่องตกภวังค์ เราอธิบายไว้เยอะมาก เพราะส่วนใหญ่มันตกภวังค์แล้วไม่เข้าใจว่าตกภวังค์ แต่ถ้าใครเข้าใจนะ ต้องเริ่มแก้ เริ่มแก้ ตั้งสติให้ดี กำหนดพุทโธให้ดี เดี๋ยวมันก็หายอีก แล้วเราก็ต้องมาดู เราแก้ด้วยการผ่อนอาหาร เราผ่อนอาหารของเรา คือไม่ให้ธาตุขันธ์มันทับ ผ่อนอาหารแล้วกำหนดภาวนาๆ ไป แล้วพยายามบังคับไม่ให้มันลงสมาธิ ถ้าบังคับ เพราะเราเข้าใจว่าสมาธิ แต่มันเป็นภวังค์ แล้วพอมันตกบ่อยครั้งเข้าๆ เหมือนร่องน้ำ เราปล่อยน้ำไหลไปตามดิน น้ำแรงๆ มันจะทำให้แผ่นดินขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ

นี่เหมือนกัน ถ้ามันตกภวังค์บ่อยๆ บ่อยๆ มันจะลึกไปเรื่อยๆ แล้วเราก็เข้าใจผิดไปเรื่อยๆ แล้วคิดดูสิ ร่องน้ำเล็กเราถมได้เร็ว เราแก้ไขได้เร็ว ร่องน้ำใหญ่เราจะเอาอะไรไปแก้ไขมัน ถ้ารู้ว่าตัวเองตกภวังค์แล้วนะ พยายามเดินจงกรม พยายามเดินจงกรมแล้วตั้งสติ ตั้งสติแล้วแก้ไขไป ตั้งสติ สติเท่านั้นที่จะแก้ไขได้ ถ้ามีสติอยู่ มันไม่ตก แต่เพราะสติมันขาด วูบหายไปเลย อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ ผู้ที่ว่ากำหนดลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ ส่วนใหญ่แล้วมันจะตกลงตรงนี้ แล้วต้องแก้ไขกันไป

เราจะบอกนะ ในภาคปฏิบัติ พระปฏิบัติไม่ใช่ถูกหมดหรอก ในภาคปฏิบัติเหมือนกับนักเรียนเข้าช็อป การปฏิบัติคือช็อปไง คือการฝึกงาน ทีนี้คนฝึกงาน บางคนฝึกงานแล้ว โอ้โฮ! ปัญญามันจะมีไอเดีย มันจะทำอะไรได้เก่งมากเลย บางคนก็ถูไถไปให้จบเท่านั้นน่ะ ไอ้การปฏิบัติมันจะมีผิดมีถูก ไม่ใช่ว่าภาคปฏิบัติมันจะถูกทั้งหมด มันผิด ผิดเพราะว่าเราเข้าใจผิด เราเห็นผิด แต่ถ้ามันถูก มันจะแก้ไขไป ถ้ามันถูกนะ ถ้าถูก เราจะรู้ของเราเอง เป็นสมาธินะ การภาวนาจะสดชื่นแจ่มใส จะมีความสุข ถ้ามันเฉยๆ ซึมๆ...ภวังค์ ภวังค์ มันตกภวังค์

แต่ส่วนใหญ่มันเป็นทางผ่าน เราจะเปรียบอย่างนี้นะ เปรียบเหมือนรถวิ่งไปบนถนน มันมีสะพาน แล้วคอสะพานขาด ถ้าคอสะพานขาด รถเราจะตกคอสะพาน พุทโธๆ ตั้งสติ ถมคอสะพานนี้ให้เต็ม ถ้าถมคอสะพานเสมอสะพาน รถมันจะวิ่งข้ามสะพานไป รถวิ่งข้ามสะพานคือจิตมันเข้าสมาธิไง พอข้ามสะพานไปคือเข้าสมาธิ แต่ก่อนจะเข้าสมาธิส่วนใหญ่มันจะตกคอสะพาน ตกคอสะพานมันจะตกภวังค์กันหมดเลย แล้วต้องค่อยๆ แก้ไขไป แต่ตั้งสติ

ดีนะ ให้ยอมรับว่าเป็นภวังค์ เหมือนคน ทุกคนถ้ายอมรับว่าเราผิด เราจะแก้ไข แต่ทุกคนไม่รู้ว่าผิด แล้วใครบอกว่าผิดก็ไม่ยอมฟังนี่แก้ไขยาก ถ้าเราตกภวังค์แล้วค่อยๆ แก้ไข มันเป็นภวังค์ ภวังค์นี่คือมิจฉาสมาธิ ภวังค์คือพรหมลูกฟัก พรหมลูกฟักคือว่านอนเฉยๆ ไม่รู้เรื่อง เวลาถ้าคนทำอย่างนี้ การภาวนามีบุญใช่ไหม ทาน ศีล ภาวนา การภาวนาสุดยอด แล้วภาวนาเป็นสมาธิก็ตกภวังค์ ก็เป็นบุญใช่ไหม เป็นบุญไปเกิดเป็นพรหมลูกฟักไง ถ้าเราเป็นสมาธิ เราจะไปหนึ่งเดียว ถ้าเราตายอยู่ในสมาธิ เกิดเป็นพรหม เพราะพรหมมีขันธ์เดียว พรหมเป็นหนึ่งเดียว จิตเป็นหนึ่งคือจิตเป็นพรหม เวลาตายไปเกิดเป็นพรหม แต่ถ้ามันไม่มีสติ ไปเกิดเป็นพรหมลูกฟัก ลูกฟักน่ะ

มันมีผลหมดนะ ผลมันจะตอบสนอง มันเป็นมิจฉากับสัมมา ถ้าสัมมาถูกต้องมันจะเป็นสิ่งที่ดีๆ เลย ถ้ามิจฉามันจะทำให้เราตอบสนอง พรหมลูกฟักมันจะเป็นประโยชน์อะไร แล้วเราจะไปอยู่สภาพแบบนั้น แล้วเวลาเท่าไร เราถึงควรแก้ไข เราต้องแก้ไข แล้วพยายามดึงของเรา ทำของเราให้ดีขึ้น

เอาเนาะ จบได้ไหม เอวัง

าไปมองตรงนั้น