ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

อำนาจเหนือตน

๒๑ ก.พ. ๒๕๕๒

 

อำนาจเหนือตน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราพูดปฏิบัตินี่ เราก็ว่าปฏิบัติตรงเลย การปฏิบัติตรงๆ เลย เราคิดของเราว่าเราปฏิบัติตรงๆ เห็นไหม แต่ความจริงนะ เรายังบอกเลยว่า มันเป็นเรื่องของความคิดของเรานะ ความคิดเรามันมีใช่ไหม ทีนี้การปฏิบัตินี่มันต้องให้จิตสงบก่อน ถ้าจิตมันสงบขึ้นมาแล้ว เราจะล้างความคิดของเรา แต่ถ้าความคิดของเราเอง มันเหมือนกับเราคิดของเราเอง เหมือนเป็นโลก ความคิดคนเรามันมีกิเลสเราบวก

ทีนี้พอเราไปศึกษาธรรมะ เราไปอ่านหนังสือธรรมะ เราว่าเราเข้าใจธรรมะ เราว่าเราเข้าใจ เราว่านี่ ตรงนี้ไม่มีคนแบ่งออกนะ คำว่า “เราว่า” เรากับความคิดไง “เราว่า” ลิ้นกับรส เรารับรู้รส นี่ก็เหมือนกัน เราก็รับรู้ความรู้สึก ถ้าเรารับรู้ความรู้สึก ก็ต้องให้มีศีลก่อนเห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเริ่มต้นจากทาน คือทานนี่ ให้มีการเสียสละก่อน พอให้เราเสียสละก่อน มันจะดึงความรู้สึกเราออกไปไง ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะเอาแต่ความคิดเราเข้ามา ความคิดเราเข้ามา

เราจะบอกว่า “ความคิดกับเรานี่มันเป็นสองนะ” พอเป็นสองนี่เราคิดสิ่งใดขึ้นมา มันเป็นความคิดจากข้างนอก ทีนี้ถ้าจะทำจิตสงบเข้ามา จิตทำอย่างไรถึงจะสงบเข้ามา กำหนดพุทโธ ก็เป็นสองใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็เป็นสองทุกอย่างเป็นสองหมด เป็นสองเพราะเราเริ่มต้นจากสิ่งที่เรามี สิ่งที่มันเป็นธรรมชาติ สิ่งที่มันเป็นความมีอยู่ อย่างพุทโธนี่ เราไม่นึกพุทโธ พุทโธจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

พุทโธนี่เรานึกขึ้นมานะ เรานึก พุทโธๆ พุทโธๆ นี่เรานึกขึ้นมา แต่ใครเป็นคนนึก จิตเราเป็นคนนึก พอจิตเราไปนึก พุทโธๆ พุทโธๆ มันอยู่กับพุทโธนี่ พุทโธมันเป็นคำบริกรรม มันก็จะกล่อม กล่อมไง กล่อมคือว่าพลังงานเราไม่ออกไปข้างนอกใช่ไหม มันกล่อมอยู่กับที่ เห็นไหมดูสิ ไอ้ผลไม้นี่ บางอย่างเขาต้องทำให้มันหวาน นี่ก็เหมือนกัน มันพุทโธๆ พุทโธๆ มันอยู่กับที่ พุทโธๆ พุทโธๆ นี่ แล้วมันจะหดตัวเข้ามา ไอ้ตอนหดตัวเข้ามาคนไม่เข้าใจ พอจะหดตัวเข้ามานี่มันจะมีอาการต่างๆ คนก็ไปแปลกใจละ

อย่างเช่น เช่นว่าคนกำหนดพุทโธ ทำความสงบ พอว่าพุทโธๆ พุทโธๆ นี่ มันจะเกิดขนพอง มันจะเกิดความรู้สึก แล้วว่านั่นคืออะไร นั่นคืออะไร นั่นมันไม่ใช่สมาธินะ บางทีเราจะมีความรู้สึกไง มันจะขนพองเลยเห็นไหม ตัวโล่งตัวเบา นั่นนะ มันเป็นปีติ มันก็ยังไม่เป็นสมาธิ ยังไม่เป็นตัวมันเอง เพราะอะไร? เพราะคำว่าพุทโธเราก็นึกใช่ไหม

ขนพอง หรือความว่างนี่ ใครเป็นคนรู้ ก็จิตมันก็รู้อีกล่ะ ทีนี้ตัวจิตมันยังไม่ว่างไง เพราะเราไปรู้ เราไปรับรู้ สิ่งที่รับรู้นี่เป็นสอง ทุกอย่างเป็นสอง แต่คำว่าเป็นสอง มันเป็นสิ่งที่เราค้นคว้าค้นหา แต่โดยปรกติสามัญสำนึก ความเป็นสองของเรา มันไม่เป็นสองมันเป็นหนึ่ง เป็นหนึ่งเพราะอะไร? เป็นหนึ่งเพราะธรรมดามนุษย์กับความคิดเป็นอันเดียวกัน ถ้ามนุษย์ไม่มีความคิด ไม่มีปัญญา มนุษย์จะก้าวเดิน มนุษย์จะจัดการกับตัวเองอย่างไร?

อันนี้คำว่า “เป็นหนึ่ง” หมายถึงว่ามันเป็นหนึ่งเรื่องโลก เรื่องชีวิตประจำวัน เรื่องความเป็นไป เรื่องสัญชาตญาณ มันเป็นการเคลื่อนไหวของชีวิตมนุษย์ มันก็เลยไม่มีใครสนใจมัน แต่พอธรรมะนี่จะมาแยกแยะตรงนี้ไง จะมาแยกแยะที่ว่า โลกียปัญญา คือปัญญาโดยสัญชาตญาณ ปัญญาของเรา ความคิดของเรา มันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ มันเป็นสิ่งที่ว่า เราสถานะของมนุษย์ เราเกิดเป็นมนุษย์แล้ว มันถึงมีสิ่งนี้อยู่

ทีนี้พอจะทำธรรมะเห็นไหม ทำไมเป็นบุคคล กัลยาณปุถุชน ทำไมเป็นอริยภูมิล่ะ? ทำไมคนเราปรกตินี่ ทำไมเป็นพระอริยเจ้าล่ะ? เป็นพระอริยเจ้ามันเป็นที่ไหน มันเป็นที่ร่างกายมนุษย์เหรอ ถ้าร่างกายมนุษย์ ทุกคนก็มีเนื้อหนังมังสาเหมือนกัน เนื้อหนังมังสามันเป็นไม่ได้ มันเป็นได้ที่หัวใจ มันเป็นได้ที่ความคิด ถ้าบอกเป็นได้ที่ความคิดก็ยังผิด เพราะความคิดเป็นไม่ได้ เป็นได้ที่หัวใจ

แต่ความคิดมันเป็นสัญชาตญาณปั๊บนี่ แต่เอาสัญชาตญาณมาทำคุณงามความดี มากำหนดพุทโธ พุทโธเป็นคำบริกรรมคือ เป็นวิธีการที่จะเข้าไปถึงสัจธรรมอันนั้น นี่ดีและชั่วเห็นไหม ถ้าเป็นความชั่วเป็นปรกตินี่ ทำไมพระพุทธเจ้าปล่อยให้ข้ามพ้นดีและชั่ว? แล้วความดีทำไมต้องข้ามพ้นมันล่ะ? ถ้าไม่ข้ามมันนะ มันก็ต้องติดอยู่ในสมมุติ ติดอยู่ในความคิด ติดอยู่ในพิธีกรรมอันนั้น มันต้องทิ้งอันนั้นมา แต่จะทิ้งอย่างไร?

นี่เกลือจิ้มเกลือไง หนามยอกเอาหนามบ่ง เหมือนกับเอาความคิดสู้กับความคิด แล้วเอาความคิดทำลายความคิด นี้การที่เอาความคิดทำลายความคิดนี่ถ้าคนไม่มีจุดยืน คนไม่เป็น มันก็ใช้สามัญสำนึกคิดของมันไปเรื่อยๆ มันทำลายได้ไหม? ในเมื่อความคิด เหมือนกับสิ่งที่มัน กระแสน้ำนี่เราไหลไปกับมัน มันจะไปจบที่ไหน? นี้ความคิดที่มันออกมาแล้ว ความคิดโดยสามัญสำนึก มันคิดอย่างนี้อยู่ แล้วเราก็ตามความคิดนี้ไป จบไหม? ไม่จบ

พอความคิด มนุษย์นี่ความคิดมันมีอยู่แล้วใช่ไหม? แล้วเราตั้งสติของเรา แล้วใช้ปัญญาไล่ความคิดเรา โดยธรรมชาติของมัน มันไม่มีอะไรหรอกที่มันคงที่ ไม่มี ความคิดของเราก็ไม่เคยคงที่ ความคิดของเรามันก็เกิดดับ แต่ความเกิดดับของเรานี่ ความเกิดดับของเรามันเป็นธรรมดา เป็นเรื่องปกติไง เราก็เลยไม่ได้ประโยชน์อะไรจากมัน จะได้จากมันคือ เอามาสื่อสาร เอามาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

แต่พอเราใช้ธรรมะ เรามีสติ เราใช้ปัญญาอบสมาธิเรา เราไล่ความคิดเข้าไป มันเห็นเกิดดับจากเราไง มันเหมือนกับเรานี่ เราไปในห้างสรรพสินค้า หรือเราไปร้านอาหาร เราสั่งซื้ออาหารมากินทุกวันๆ เราเห็นต่อเมื่อมันเป็นอาหาร มันเป็นถ้วยเป็นจานแล้วไง แต่ถ้าเราใช้ปัญญาของเราเข้าไป เราจะรู้ลึกเข้าไปว่า อาหารนี้มันต้องมีที่มาที่ไปใช่ไหม? เราต้องซื้อวัตถุดิบมา เราต้องประกอบเป็นอาหารขึ้นมา

ทีนี้พอความคิดมันเกิดดับ นั่นไง ความคิดที่สำเร็จรูปแล้ว ความคิดในชีวิตประจำวันก็คืออาหารสำเร็จรูป แต่ถ้าเราใช้ปัญญาของเราเข้าไป เราจะเข้าใจว่าอาหารนี้มันมาจากไหน อาหารนี้มันมาจากการที่เราปรุงแต่งขึ้นมา ความคิดสามัญสำนึก มันก็คิด โดยธรรมชาติ เมื่อก่อนมันเป็นธรรมดาของเรา แต่พอเราเข้าไปถึงต้นเหตุของมันเห็นไหม เราเป็นคนประกอบขึ้นมา

ความคิดนี่มันเกิดมาจากไหน? มันเกิดมาจากใจ พอไปเห็นแล้วมัน พอเห็นความคิดกับตัวจิต มันเป็นคนเห็นใช่ไหม? พอเป็นคนเห็นนี่ มันเป็นคนที่เราจะควบคุมได้ใช่ไหม นี่ไง ถ้าเราควบคุมได้ มันปล่อยได้ นี่สมาธิอยู่ตรงนี้ไง พอสมาธิอยู่ที่นี่มันเป็นพลังงานเฉยๆ ไม่ใช่ความคิดแล้ว แต่ต้องไม่ใช้ความคิดเข้าไป ต้องใช้พุทโธเข้าไป

จะบอกว่า “สมาธิไม่ลอยมาจากฟ้า สมาธิไม่มีขึ้นมาเอง” ถ้าสมาธิมีขึ้นมาเองนะ บางทีเรานั่งอยู่เฉยๆ เรามีความสบายใจจิตเราว่างๆ นั่นเป็นสมาธิไหม? ไม่เป็น ไม่เป็นเพราะอะไร? ไม่เป็นเพราะ มันปล่อยวาง มันหยุดของมันเฉยๆ มันไม่มีสติไม่มีเจ้าของไง ไม่เป็นสมาธิหรอก เป็นการเหม่อลอย เวลาเรานั่งเย็นๆ เห็นไหม วันไหนที่เราสบายใจเรานั่งอยู่นี่ โอ้โฮ วันนี้สบายๆ เป็นสมาธิหรือเปล่า เป็นการเหม่อลอย

เป็นการเหม่อเพราะมันไม่ได้คิดไง แต่ถ้าที่เป็นสมาธิล่ะ ที่เป็นสมาธิกำหนดพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธินี่ เวลามันหยุด มันเห็น มันรู้ มันจับต้องได้ คือมีสติไง นี่มันถึงเป็นสมาธิพอมันเป็นสมาธิแล้วมันถึงจะเห็นคุณค่าไง เพราะอะไร? เพราะถ้ามีสมาธิ ใครเคยเข้าสมาธิได้นะ โอ้โฮ โอ้โฮ ทุกคน ทุกคนจะพูดอย่างนี้นะ ถ้าใครทำสมาธิใหม่ๆ นะ อื้อหือ คือมันแปลกประหลาด

มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ที่เราคาดการณ์ไม่ถึง เรานึกไม่ถึง แต่ขณะที่เราคุยกันเรื่องสมาธิๆ ที่เราคุยกันโดยปุถุชนนี่ เราไปอ่านหนังสือไง พอไปอ่านหนังสือแล้ว ธรรมะสอนมาอย่างนั้นใช่ไหม? แล้วพอเราเหม่อลอยเราบอก เออนี่ เหมือนสมาธิเลย นี่สมาธิ แล้วอธิบายได้เป็นคุ้งเป็นแควนะ โอ้โฮ มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้น เพราะอะไร เพราะมันเหม่อลอย แล้วมีตำราอ้างอิง

แต่ถ้าเป็นความจริง ตำรานะสาธุยกไว้ ตำราที่เขียนไว้ก็คือตำรา สมาธิก็คือสมาธิ แต่ โอ้โฮ โอ้โฮ เราจะโอ้โฮ โอ้โฮ ของเราเลยล่ะ แล้วเข้าถึงได้ยาก พอเข้าถึงได้ยากแล้วเราต้องรักษา ต้องทำของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเราไง เราจะบอกเห็นไหม เราจะบอกว่า “ความคิดกับเราไม่ใช่อันเดียวกัน ทุกอย่างมันเป็นของมันนะ”

นี้ย้อนกลับมาที่นี่ ย้อนกลับมาที่ว่า เวลาเราโดนคุณไสย เราโดนอะไรนี่ เราโดนคุณไสย เราโดนผีเข้า เราโดน มันเป็นเราหรือเปล่า? มันไม่เป็นเรานะ แต่โดยธรรมดานี่จิตหนึ่ง พวกเรานี่จะเป็นจิตหนึ่ง แล้วผีมันจะทับเราได้อย่างไร? ในเมื่อเรานี่มีวิญญาณในตัวเราแล้ว แล้ววิญญาณไหนมันจะมาซ้อนอีกวิญญาณหนึ่งล่ะ? วิญญาณนี่จะมาซ้อนเราได้ไหม? แต่มันซ้อนได้

ซ้อนได้เพราะเวลาจิตเราอ่อน เหมือนเรานี่นะ ในบ้านของเรา ใครเข้าบ้านเรานี่บุกรุก เราไม่ให้เข้าได้ใช่ไหม? ในบ้านของเรา ใครเข้ามานี่บุกรุกนะในยามวิกาล เป็นคดีอาญานะ ไม่กล้าเข้ามาหรอก แต่ถ้าเวลาเรานี่มีใจของเราที่ว่า ยอมรับ ใครจะเข้ามาในบ้านเราเพื่อประโยชน์ เขาจะมาเกี่ยวหญ้า เขาจะมาเก็บของอะไรที่ตกเข้ามาในบ้านเรา เราไม่ถือสา นี่ก็เหมือนกันเวลาจิตมันมานี่ เห็นไหม

คือว่าเราจะบอกว่า เจ้าของบ้านนี่ ไม่เข้าใจเอง คือจิตเรานี่ไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ อย่างนั้นพอมีอะไรโฉบเข้ามา เขาจะอยู่กับเราไม่ได้หรอก เราเป็นเจ้าของบ้านใช่ไหม? บ้านของเราใครจะเข้ามาอยู่ในบ้านเราไม่ได้ แต่เขาอาศัยได้ชั่วคราว เขาอาศัยได้เห็นไหม บางทีเดี๋ยวเราก็ฟื้นคืนสติขึ้นมาก็เป็นเรา พอเราเผลอขึ้นมา มันก็มีอีกจิตหนึ่งที่คอยบังคับบัญชาเรา

นี่ไง สิ่งนี้มันมีอยู่เห็นไหม เพราะอย่างนี้ สิ่งที่มีอยู่อย่างนี้ คนเรานี่ถึงได้โลเลใช่ไหม? เวลาตัวเองนี่จิตใจอ่อนแอ ไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ พอไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ ไปตามสิ่งพิมพ์ต่างๆ เห็นไหม เขาแนะนำให้ทำสิ่งใดก็ไปทำตามเขา แล้วไปทำตามเขาทำไม? เราไปทำตามเขาอย่างนั้น เรายอมรับสิ่งที่เราทำตามนั้นสิ่งที่เรายอมรับทำเห็นไหม

แล้วเวลาเรื่องศาสนา ที่ว่าจิตนี้หนึ่งเดียว เวลาจิตนี่ มันเกิดมันตาย สิ่งต่างๆ นี่ ถ้าถึงที่สุดแล้วมันพ้นจากกิเลสได้ มันฆ่ากิเลสได้ สิ่งที่ฆ่ากิเลสได้ มันเห็นด้วยความจริงจัง เห็นด้วยความถูกต้องเลย พอมันเห็นด้วยความถูกต้อง เหมือนกับบ้านของเรานี่ เราเป็นคนจัดการในบ้านของเราทั้งหมด เราบริหารจัดการบ้านของเราทั้งหมด

ทีนี้สิ่งใดใครจะเข้ามา เราก็ไล่ออกไปได้ หรือเราจะแจ้งความหรือเราจะให้คนมาเอาบุคคลนั้นออกไปได้ พอออกไปได้ เราจะยืนในบ้านเราด้วยอิสระ เราจะรักษาบ้านได้ด้วยความคงที่ จิตของเราเชื่อในศาสนา สิ่งที่จรมา สิ่งที่จรมานี่เห็นไหม ความคิดของเรา ความคิดของเรามันเกิดดับ แล้วเวลาสิ่งที่มีพลัง สิ่งที่เข้ามากดทับเรา ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เรามีจุดยืนของเรา สิ่งนั้นเข้ามาหาเราไม่ได้หรอก สิ่งนั้นเข้ามาหาเราไม่ได้ แต่เพราะเราโลเล เราโลเล ใจเราไม่มั่นคงเอง

จะบอกว่า บางทีถ้ามันเกิดสิ่งนั้นเข้ามานี่ ถ้าในพระพุทธศาสนาไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อ แล้วไม่เชื่อไม่ธรรมดานะ ไม่เชื่อนี่พวกเรานั่งกันอยู่นี่ เราเป็นชาวพุทธ เรามาทำบุญกุศล เราอุทิศส่วนกุศลให้ใคร? เวลาทำบุญ บุญมันเกิดจากอะไร? บุญคืออะไร? บุญคือเกิดจากใจเรานี่ได้เสียสละ ใจเรามันเปิดกว้าง ใจมีความอบอุ่น

เราอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลคือว่า บุญของเรา ความรู้สึกอันนี้ให้แก่จิตต่างๆ จิตวิญญาณทั้งหมด สิ่งที่เขาตกทุกข์ได้ยาก เขารอบุญกุศล จากการที่เราอุทิศให้ไป เราเป็นคนให้เขานะ เราเป็นคนที่จะเสียสละให้เขา แล้วทำไมเราต้องไปยอมจำนน ให้เขามามีอำนาจเหนือเรา ถ้าเราไปยอมจำนนเพราะอะไรล่ะ เพราะเราอ่อนแอ เราไม่มั่นคงเอง

ถ้าเราไม่มั่นคงเอง แล้วศาสนา เราเป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้านี่ต้องปกครองเรา ต้องคุ้มครองเรา แล้วทำไมไม่คุ้มครองเรา ก่อนที่ธรรมะจะคุ้มครองเรา เราต้องคุ้มครองตัวเราเองก่อน สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา ศีลทำให้เรามีความสงบ ศีลทำให้เรามีความสุขใช่ไหม? ศีลทำให้เกิดโภคะ ศีลนี่ทำให้เดินถึงนิพพานได้ ศีลนี่ใครเป็นคนทำ? ก็เราไง ถ้าเราเป็นคนทำ เรามีศีลมีธรรม เรามีความเข้มแข็ง แล้วผีที่ไหนมันจะเข้ามาล่ะ?

นี้เราอ่อนแอเองไง ศีลเราก็บกพร่อง เราโลเลเห็นไหม แล้วทำไมเราเป็นชาวพุทธ ทำไมพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เห็นคุ้มครองเราเลย? โทษนะ พระพุทธ พระธรรม อยากจะคุ้มครองเรา แต่ไม่รู้จะคุ้มครองตรงไหน เพราะไม่เห็นเอ็ง เอ็งโลเล เอ็งหลักลอย แล้วจะคุ้มครองเอ็งได้อย่างไรล่ะ? แต่ถ้าเอ็งมั่นคงขึ้นมา นี่คุ้มครองเอ็ง

ถ้าคุ้มครองเรานี่ พูดนี่มันง่าย แต่เวลาคนเรา ถึงคราวที่ประสบเข้าไปแล้วจะรู้จักเลย ว่าทำไมเราดูแลตัวเราเองไม่ได้ ถ้าเราเชื่อมั่นอย่างนี้นะ โดยเริ่มต้น เวลาเราพูดอะไร? เราจะเอาประสบการณ์ของเรา เราบวชพรรษาแรกนะ เราไปอยู่ป่า เราก็กลัว เราก็กลัวของเรา เราก็กลัวไปหมด แต่ยิ่งพอมันกลัวขึ้นมานี่ มันสู้ไง

มันกลัวขึ้นมานี่ เราไปอยู่ในป่าช้านะ เราไปอยู่ในที่เขาเผาศพ ใครจะไม่กลัว ขนาดนอนนี่ยังต้องหันหลังให้เลย ไม่กล้านอน แต่พออยู่ไป มันมีกำลังใจขึ้นมา มันเห็นประสบการณ์ของเราขึ้นมา มันไม่มีอะไร? ผีอยู่ที่ไหน? ทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่าผีมันมีอยู่ เพราะผีคือจิตวิญญาณ เรามีชีวิตไหม? เรามีความรู้สึกไหม? เราเจ็บไหม? เราทุกข์ไหม? เราร้อนไหม?

ถ้าเราทุกข์เราร้อนเราเจ็บนี่มันมีอยู่ใช่ไหม? สิ่งที่มีอยู่นี่ จิตวิญญาณเขาก็มีอยู่ นี่ผีมีอยู่ แต่ผีนี่เขาก็เกิดตามอำนาจวาสนาของเขา เวลาเขาทุกข์เขาร้อนนี่ เขาทุกข์เขาร้อนของเขานะเราก็อุทิศส่วนกุศลให้เขา คือสิ่งนี้ คือสิ่งที่เจือจานกันได้ นี่มันมีอยู่ แต่ถ้าเราเข้มแข็งแล้ว เราเข้มแข็งของเรา เรามีจุดยืนของเรา

อย่างที่ว่านี่ เราอุทิศส่วนกุศลให้เขา แต่เขาจะมาทับซ้อน คือเขาจะมาอยู่ในร่างของเรา เราไม่ให้อยู่ได้ ถ้าไม่ให้อยู่เราเข้มแข็งอย่างนี้แล้ว อย่างอื่นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย แต่นี่เราอ่อนแอ เราอ่อนแอนี่มันจะเข้ากับความคิดเรา ความคิดกับจิตเห็นไหม ถ้าความคิดนี่เรารับเขาได้หรือไม่ได้? ถ้าเราไม่รับเขาแล้ว จิตเรามั่นคง ความคิดเรามั่นคง เขาจะเข้ามาได้อย่างไร?

แต่นี่มันอ่อนแอ ความคิดเราอ่อนแอใช่ไหม? คำว่าอ่อนแอคือสงสัย เอ๊ะ มีจริงหรือเปล่า? เอ๊ะ ทำไมมันปวดหัว? เอ๊ะ ทำไมมันตัวร้อน? พอเอ๊ะๆ นี่เปิดประตูให้เขาเข้ามาแล้ว ถ้าเป็นเรานะ ปวดหัวตัวร้อนมันก็เรื่องธรรมดาของเจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายนี่เป็นเรื่องราวของโลก จิตใจเรามั่นคง นี่มันมีตรงนี้

จะบอกว่าเห็นไหม เวลาภาวนา มันเป็นเรื่องจริงไง เวลาภาวนา มีความคิดกับจิต เวลาปกติเรามีร่างกายกับใจ นี่แล้วบุญกุศลเห็นไหม บุญกุศลบาปอกุศลมันเกิดจากไหน? มันก็เกิดจากสิ่งที่สะท้อนมาที่จิต แล้วเวลามันทุกข์ยาก หยาบลงไปก็นี่ไง ก็ผีเข้า มีทุกอย่างทับซ้อน ของมันมีอยู่หมดล่ะ มันอาศัยกัน เกื้อด้วยกัน มันเกี่ยวเนื่องกัน เพราะอะไรรู้ไหม?

เพราะเรานี่มีสายบุญสายกรรม ทุกคนมีสายบุญสายกรรมนะ แล้วถ้าเกิด ทำไมคนดีผีคุ้มล่ะ คนดีผีคุ้มนี่ เวลาไปที่ไหน เวลาเกิดอุบัติเหตุเกิดอะไรนี่ มันจะทำให้เราคลาดแคล้วจากตรงนั้นได้ คนดีผีคุ้ม แต่เวลาเขาพูดกัน เทวดาปกครอง เทวดาคุ้มครอง ใช่ เทวดาคุ้มครอง แล้วถ้าเราบอกว่าเราเชื่อเทวดา เทวดาเขาก็ถามสิว่า เวลาเราตายไปนี่เราจะไปคุ้มครองใคร?

ถ้าเราทำดีไป เราเกิดตายไปแล้ว ไปเกิดเป็นเทวดาเอ็งจะไปคุ้มครองใคร? ไม่คุ้มครองใคร คุ้มครองตัวเอง เราคุ้มครองตัวเอง แต่เราอุทิศส่วนกุศลให้เพื่อคุณงามความดี ถ้าจับหลักได้ เวลาพูดว่าผีเข้าๆ พวกเราจะไม่เชื่อ แล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่เราจะบอกว่า ถึงเวลานะ วาระของกรรมมานะ เราจะรู้เลย วาระของกรรมมานี่ มันเป็นอุบัติเหตุ อุบัติเหตุนั่นคือกรรม

เพราะบางคนว่า อุบัติเหตุกับกรรมนี่อันเดียวกันไหม? มันเป็นอุบัติเหตุหรือมันเป็นกรรม เวลาเราไปประสบอุบัติเหตุนี่เป็นอุบัติเหตุหรือเป็นกรรม ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์มันคืออุบัติเหตุ แต่ถ้าเป็นอย่างเรื่องของกรรม นี่คือกรรมนะ ทำไมมันต้องจับพลัดจับผลูมาเจอตรงนี้ล่ะ? ทำไมต้องจับพลัดจับผลู? มันเจออุบัติเหตุ มันมาจากไหนไม่รู้

ยิ่งปัจจุบันนี่นะ เวลาเราขับรถไป เวลามันตัดหน้ากระชั้นชิด มันเป็นเรื่องที่สุดวิสัยนะ แล้วทำไมมันต้องมาแว็บเอาตรงนั้นล่ะ แล้วมันก็มุมกลับนะ นี่มาที่นี่หลายคนแล้ว ขับรถมาที่นี่แหละ เวลามาถึง

“หลวงพ่อทำบุญ”

“ทำไมล่ะ?”

“รถชนหมาตายเศร้าใจมากเลย”

เราก็บอกว่า “ทำไมไม่คิดกลับว่า หมามาชนรถมึงมั่งล่ะ? หมามันวิ่งมาชนรถมึงล่ะ”

ประสาเรา เราจะบอกว่า หมามันก็มีกรรม สัตว์ที่มีชีวิตทุกๆ ตัว มนุษย์ด้วย รักชีวิต ทุกคนรัก เกลียดทุกข์อยากได้ความสุข แล้วหมาตัวไหน มันอยากจะวิ่งไปชนรถให้มันได้รับบาดเจ็บ ไม่มีหรอก ไม่มีสัตว์ตัวไหนอยากจะได้ความทุกข์ สัตว์ทุกๆ ตัว เขาก็ต้องรักความสุขของเขาเป็นเรื่องธรรมดา แล้วทำไมมันมาวิ่งตัดหน้ารถเราล่ะ?

ถ้ามันรู้ว่ามันเจ็บมันจะทำไหม? นี่ไง ถ้าพูดถึงโดยเป้าหมายของทุกคนก็เกลียดทุกข์ อยากมีความสุขทุกๆ คน สัตว์ทุกตัว ทุกตัวสัตว์ แต่ ทำไมมันเป็นอย่างนั้นล่ะ? มันเป็นเรื่องสุดวิสัยของเขา เวลาถึงเวลานี่มันอารมณ์ชั่ววูบอะไรของเขาไปนี่ มันให้เป็นอุบัติเหตุไป แต่นี่คือกรรมนะ

นี้พอกรรมขึ้นมาปั๊บ เรามีสิ่งใดเกิดขึ้นมานี่ เราอุทิศส่วนกุศล สัพเพ สัพตา ไง สัตว์ทั้งหลายเห็นไหม สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ อย่ามีเวรต่อกันและกันเลย สิ่งที่เกิดขึ้นมานี่ เราก็พยายามหลบเต็มที่ เราพยายามรักษาเต็มที่แล้ว แต่มันเป็นอย่างนี้ไป แล้วกรรมของคนล่ะ บางคนมาหา

“หลวงพ่อ มันแปลกตอนนี้ พอจิตมันตกนะ พอมันเจออุบัติเหตุนะ มันจะเจอพั้บๆๆๆ เต็มไปหมดเลยนะ ทำไมมันเป็นอย่างนั้นล่ะ?”

นี่ไงเพราะมันเป็น แต่เราก็พยายามเพื่อ ตั้งสติไว้ เพื่อจะให้มันหลุดจากตรงนั้นไป แต่ถ้าเราไม่ตั้งสติไว้นะ แล้วเราไปนะ มันมีคนมาหาไง เราบอกเลยนี่เห็นไหม เวลาเขาไปเจอพระที่ให้ทำคุณไสยใส่เขานี่ แล้วเขาก็มาหาเรา เราบอก

“ยังดีนะ เอ็งไปเจอเปรต แล้วเอ็งก็มาเจอพระ ถ้าเอ็งไปเจอเปรตนะ แล้วเอ็งหนีจากเปรต ไปเจอเปรตตัวใหม่นะ มึงจะทุกข์กว่านี้อีก”

เพราะอะไร พอเขาทำเป็นเรื่องไสยศาสตร์ไป เราไปหาพระอีกองค์หนึ่ง เขาก็ทำไสยศาสตร์ต่อไป พอทำไสยศาสตร์ต่อไปนี่ เราจะเสีย เสียเงินเสียทองไง เพราะเราต้องทำต่อไปเห็นไหม แต่ถ้าเราไปเจอเปรต คือสิ่งที่เขาทำให้เสียหาย แล้วเราไปเจอพระ พระเห็นไหม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต้องแก้กันด้วยที่ว่า ต้องพยายามตั้งสติ แล้วแก้ไขของเราไป แก้ไขของเราไป

ทีนี้ อย่างที่ว่ากรรมนี่ หลบจากนั้นไป นั้นไป บางคนจะเป็นอย่างนั้น บางคนก็ทีเดียวก็จบ บางคนก็เจอแต่น้อย เห็นไหม ดูในพระไตรปิฎกสิ จำชื่อพระไม่ได้ที่ว่า ตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยเป็นโรคเป็นภัยเลย ไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยเลยนะ แข็งแรงมาก จนตายนี่ ตายอย่างสงบเลย เพราะอะไร เพราะเขาสร้างแต่สิ่งที่ดีมาไง แล้วดูพระอรหันต์แต่ละองค์สิ จะมีเจ็บไข้ได้ป่วย แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังป่วยเลย พระพุทธเจ้าหมอชีวกรักษาตั้งหลายรอบ นี่ไงมันอยู่ที่เราทำมาไง สิ่งที่ทำมาถึงเวลาแล้วมันจะให้ผลอย่างนั้น นี่คือสิ่งที่ให้ผล

ถ้าอย่างเป็นเราใหม่ๆ เราก็อึดอัดเต็มที่เหมือนกัน แบบว่าเหมือนเรานี่ เหมือนเด็ก เวลาสิ่งใดเกิดขึ้นมา มันไม่รู้ มันก็ตีโพยตีพายเป็นธรรมดา จิตของเรายังไม่มีประสบการณ์ พอมันเกิดอะไรขึ้นมา มันก็อื้อหือๆ แต่พอเรามีประสบการณ์เข้าไป บ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้านะ เราจะมั่นคงขึ้นมา

สิ่งใดเกิดขึ้นมา เหมือนกับเราขับรถ เราจะพารถเราหลบจากสิ่งกีดขวาง ชีวิตเรานี่ เราจะขับชีวิตเราไป หลบสิ่งกีดขวางทุกอย่าง เราจะไม่เอารถเรา ไปชนกับอะไร ทีนี้สิ่งใดมันเกิดขึ้นมาแล้ว เราก็พารถเราหลบไง พาความคิดเราไง พาความรู้สึกเรา อะไรที่เกิดขึ้นมา เราก็หลบสิ่งกีดขวาง คือหลบสิ่งที่กระทบ หลบ หลบทั้งนั้น

แพ้เป็นพระ คำว่า “แพ้เป็นพระ” เราเป็นพระ เป็นพระเพราะอะไร เพราะถ้าเราพารถเราไปชนสิ่งใด รถเราคันใหญ่ รถเราแข็งแรง เจอมด เราบดๆ ไปได้ทั้งนั้นล่ะ เจอสัตว์เล็กๆนี่ รถเราทับตายหมดแหละ นี่ก็เหมือนกัน พอเราไปเจอสิ่งใดใช่ไหม เราเจอสิ่งที่เราไม่พอใจ เราเจอสิ่งใดที่เรามีอำนาจเหนือเขานี่ เราก็ต้องเอาชนะเขาตลอดไป สร้างเวรสร้างกรรมทั้งนั้นล่ะ

แต่ถ้าเราพารถเราหลบ รถเราคันเบ้อเร่อเบ้อร่า ไอ้พวกจิ้งจก ตุ๊กแกนี่ ทับตายหมด แต่เราไปทับมันทำไม เราไม่ทับเราพาหลบพาหลบ เราเอารถเราหลบ เราไม่ทับ นี่ แพ้เป็นพระ เป็นพระที่ไหน? เป็นพระ เป็นผู้ประเสริฐ นี่แพ้เป็นพระ บางคนถามว่า “อะไรแพ้เป็นพระ มีแต่ชนะเป็นมาร”

เอารถทับเข้าไปสิ ตุ๊กแกก็ทับมันไป ทุกอย่างก็ทับมันไป ทับนิ่มๆ สะดวก ทางสะดวกทางไปเรื่อยๆ มารทั้งนั้นล่ะ ชนะเขา เหยียบย่ำเขา ทำลายเขา แต่เป็นผู้ชนะไง แต่เป็นผู้แพ้ล่ะ เราโอ้โฮ ทำไมวุ่นวายขนาดนั้น เราพารถเราหลบ “แพ้เป็นพระ เป็นพระหมายถึงว่า ไม่สร้างเวรสร้างกรรม” เป็นสิ่งที่ดีงามกับเรา

แพ้เป็นพระ ผู้ประเสริฐ ใจประเสริฐ มีเมตตา มีกรุณา เห็นไหม มุทิตา อิทธิบาท ๔ ผู้ใดมีอิทธิบาท ๔ ชีวิตนี้จะยืนยาว ชีวิตนี้จะไม่ทุกข์ร้อนไปกับเขา แพ้เป็นพระ เป็นพระที่ไหน? ชีวิตยืนยาว ชีวิตเราดี ทุกอย่างดีหมดเลย

แล้วพอดีหมดเลยมันก็ย้อนมาที่นี่ไง ย้อนมาที่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เวลาบางคนนะ พอมีอุบัติเหตุ มีอุบัติเหตุหมายถึงว่า จิตไปทางจิตนะ จิตไปมีอะไรขึ้นมานี่ มันเสียเวลานานนะกว่าจะฟื้น แต่ถ้าคนมีหลักนะ เพราะเราอยู่ในวงการปฏิบัติ พระบางองค์นี่เวลาหลุดไง เวลาสติขาดไป แล้วพระพยายามจะฟื้นนะ ฟื้นนี่โอ้โฮ หลายปีเลย แต่ของเรานี่ เวลาเราปฏิบัติไป มันมีบ้าง เวลามันไปเห็นสิ่งใดนี่มันตกใจ ผงะเหมือนกัน แต่ผงะขนาดไหนก็ยังมีสตินะ

เรานี่ผงะขนาดไหนก็ยังมีสติ ผงะเลยนะ ไปเห็นอะไรแปลกๆ ทีนี้พอผงะขึ้นมาแล้วนี่ สติมันพร้อม แล้วมันก็วินิจฉัยเป็นอย่างไรบ้าง? เป็นอย่างไรบ้าง? คือนิมิตก็คือนิมิต สิ่งที่เห็นมันก็ชั่วคราว ถ้าจิตเราดี นี่พูดอย่างนี้ มันจะพูดให้เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะว่ามันจะมีพวกโยมเข้ามาหาเราไง เวลาเขาโดนของ โดนอะไรมานี่ แล้วเวลาพูดนะ เวลาเราพูดนี่ เวลาเราเห็นพระที่เขาพูดถึงเรื่องภูตผีปีศาจ เราจะติมาก

แล้วเวลาเราเทศน์ขึ้นมานี่เห็นไหม เวลาเทศน์ขึ้นมาเรื่องปฏิบัติ เรื่องวิทยาศาสตร์หมดเลย แต่เวลาเชื่อผีไหม? เชื่อ เชื่อคุณไสยไหม? เชื่อ (หัวเราะ) ทุกอย่างมันมี มีทั้งนั้นเลยล่ะ ของมันมีอยู่เราปฏิเสธไม่ได้หรอก เราจะปฏิเสธไม่ได้เรื่องหนาม เรื่องเศษแก้ว ถ้าเราปฏิเสธ เราเหยียบไปนี่ เต็มฝ่าเท้าเราเลย มันบาด มันเจ็บแน่ๆ

สิ่งนี้มันมีอยู่ในโลกนะ จิตวิญญาณทุกอย่างมีอยู่ แต่ก่อนที่ศาสนาพุทธจะเกิดขึ้นมา เขาถือผีมาก่อน การถือผีนี่ เพราะอะไร เพราะว่าเราไม่มีที่พึ่ง เราก็เคารพสิ่งที่มองไม่เห็นว่ามีอำนาจเหนือเรา แต่พอมีศาสนาพุทธขึ้นมา เขาก็ทุกข์ ผี จิตวิญญาณ ทุกข์หมด ทุกข์เพราะอะไร? เพราะเขาก็ต้องเวียนตายเวียนเกิดเหมือนกัน

ฉะนั้นเขาก็ต้องเคารพบูชาสิ่งที่เหนือเขา เหนือเขาคือธรรมะไง นี้พอธรรมะ พอศาสนาพุทธเกิดขึ้นมาแล้วนี่ สิ่งที่ธรรมะเหนือทุกๆ อย่าง ถ้าทุกๆ อย่างปั๊บ เรายึดหลักธรรมแล้ว ยึดในหลักธรรมแล้ว ทำไมผีเข้าล่ะ ยึดในหลักธรรมแล้วทำไมมันทุกข์ล่ะ? อ้าว ก็ยึดในหลักธรรม ก็ธรรมะของพระพุทธเจ้า สิ่งที่มีอุบัติเหตุเรื่องจิตวิญญาณนี่ เป็นกรรมของเรา มันเป็นเรื่องของกรรม เรื่องของการกระทำมาแต่ละภพแต่ละชาติ มันคนละเรื่องเดียวกันกับศาสนา

ศาสนานี่เป็นของพระพุทธเจ้า ศาสนานี่พระพุทธเจ้ารื้อค้นมา ศาสนานี่พระพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ให้เราก้าวเดิน เป็นของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ของเรา เพราะเรายังทำไม่ได้ แล้วเราก็มีกรรมมา เราก็เวียนตายเวียนเกิดมา ในวัฏฏะนี่ แต่นี่เราเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะแล้ว เรามีจิตใจ เรามีความผูกพันกับศาสนา เรามาเอาศาสนาเป็นที่พึ่ง เอาศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยว แล้วเราก็ประพฤติปฏิบัติอยู่ แต่กรรมของเรานี่สร้างมา กรรมของเราที่สร้างมานี่ มันก็มีอุบัติเหตุของมันมา อันนี้มันคนละเรื่องกับศาสนา

ทีนี้เราก็จะอ้างใช่ไหม? เราเป็นชาวพุทธ เรานับถือศาสนาพุทธ แล้วผีต้องเข้าเราไม่ได้ กรรมที่ทำมานี่มันคนละเรื่อง มันทำมาก่อนหน้านี้ไง มันทำมาก่อนหน้านี้ที่เอ็งสร้างของเอ็งมานะ แล้วปัจจุบันนี่ เรามานับถือศาสนาพุทธแล้ว ศาสนาพุทธจะทำให้เราหลุดพ้นได้ ศาสนาพุทธถึงทำให้เรามีคุณธรรมในหัวใจได้

แต่สิ่งนั้นที่สร้างมาแล้วก็คือกรรม พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าให้เชื่อกรรมไง กรรมคือการกระทำ นี้เราพูดถึงปัจจุบันนี้ ปัจจุบันนี้ยังมีสติสัมปชัญญะใช่ไหม? เราก็ว่าเราไม่ทำผิดทั้งนั้น เวลาเราไม่เข้าใจ เวลาเราเผลอล่ะ ดูสิเวลาเรามีอารมณ์โกรธขึ้นมา เราทำอะไรไปเรารู้ตัวไหม? แล้วตอนนั้นทำไมควบคุมตัวไม่ได้ล่ะ?

นี่ไง ถึงบอกว่านักศึกษาพูดก็จริงอยู่ อุบติเหตุที่เกิดขึ้นมา นี่เราก็แก้ไป แก้ของเราไป แต่ถ้าเราไม่มีศาสนาเป็นที่พึ่งนี่ มันก็แก้ไปตามเรื่องโลกของจิตวิญญาณ มันก็ไปอีกเรื่องหนึ่งนะ มันเห็นไง เราจะพูดเลยนี่ สิ่งที่เป็นมาร มารก็คุมใจเรา นี่อวิชชา เป็นพญามาร แต่เวลาทำคุณงามความดี มันก็เป็นฝ่ายเทพ เป็นฝ่ายที่ชักนำให้จิตเราดีขึ้น จิตเราจะดีขึ้น แล้วจิตเราดีขึ้นแล้วจะมีวุฒิภาวะ

บางคนจิตเข้มแข็งนะ ทุกอย่างจะเข้าไม่ได้ ประทับไม่ได้ มันก็เหมือนกับสมัยโบราณ สมัยโบราณนี่เวลาออกรบกันด้วยดาบ จิตใจคนกล้าหาญ จิตใจคนเข้มแข็งเห็นไหม กองทัพนี่ เข้าไปต่อสู้ มันจะได้รับชัยชนะตลอด นี่จิตใจเข้มแข็ง ถ้าจิตใจอ่อนแอล่ะ จิตใจอ่อนแอ กำลังจะมากขนาดไหน แต่คนจิตใจอ่อนแอ ไม่มีขวัญกำลังใจหรอก รบเมื่อไหร่ก็แพ้เมื่อนั้นล่ะ

ย้อนกลับมาปัจจุบัน ที่เป็นชาวพุทธนี่ถ้าจิตใจเราเข้มแข็งขึ้นมาเห็นไหม อะไรล่ะที่มันจะทำให้เราเรรวน สิ่งใดบ้างที่จะทำให้จิตใจเราเรรวนไปกับโลกธรรม ๘ มันเป็นเรื่องกระแสของโลก สิ่งใดที่เกิดขึ้นมา เราจะเชื่อเขาไหม แต่ถ้าเรามีจุดยืนของเรา ศาสนาก็มีอยู่แล้ว อริยสัจ สัจธรรม มีทุกอย่างล่ะ แล้วเราจะทำอย่างไร

ทีนี้เรามันอ่อนแอเห็นไหม ดูสิ ดูอนาถบิณฑิกเศรษฐีสิ เวลาซื้อที่ดิน เชตวัน เห็นไหม เอาเงินนี่ปูเลยนะ ซื้อถวายพระพุทธเจ้า แล้วทำบุญนี่เป็นมหาศาลเลย สุดท้ายแล้วเห็นไหม เวลากรรมมันมา ทองคำไปฝังไว้ที่ริมตลิ่งน้ำเซาะไปหมดเลย เพราะสมัยนั้นไม่มีธนาคาร สมัยโบราณใครมีสมบัติฝังดินหมดนะ แล้วถึงเวลาน้ำมันเซาะตลิ่งพัง สมบัติหายหมดเลย

ทำบุญสร้างวัดนะ นิมนต์พระพุทธเจ้าไปฉันที่บ้านประจำ ทำบุญมหาศาลเลย แล้วตัวเองเป็นพระโสดาบันด้วย แล้วถึงคราว เวลากรรมมันให้ผล หมดตัวเลยนะ จากเศรษฐีนะ เศรษฐีมีเงินมหาศาล มีโรงทานเต็มไปหมดเลย ถึงเวลาคราวจนขึ้นมา กินข้าวกับน้ำผักดอง

แล้วเวลากินข้าวกับน้ำผักดอง เวลาจะกินข้าวเห็นพระผ่านมา ไม่กินนะ ใส่บาตรไป แล้วเขาร่ำลือไง ร่ำลือติเตียน อันนี้ก็มาถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติไง เสขบุคคล อเสขบุคคล ภิกษุห้ามเข้าไปบิณฑบาต ถ้าเข้าไปแล้ว มีเท่าไร เขาให้หมดตัว แล้วนี่ขนาดเทวดายังทนไม่ไหว ใจเข้มแข็ง ขนาดเทวดาอยู่ที่ซุ้มประตูยังว่า

“นี่ไงว่าทำบุญแล้วได้บุญนี่เห็นไหม ทำบุญจนหมดตัวแล้วไม่มีจะกินยังจะทำบุญอีกเหรอ?”

อนาถะฯ นี่ไล่เทวดาองค์นั้นออกเลย เพราะเหตุไล่เทวดานั้นออก รุกขเทวดานี่อยู่ตามต้นไม้ อยู่ตามซุ้มประตู พอโดนไล่ออกไป เขาซื่อสัตย์ เขาไม่มีที่อยู่ พอเขาไม่มีที่อยู่แล้วนี่เขาก็ไปอ้อนวอน พวกพระอินทร์ให้ช่วย พระอินทร์ก็บอกว่า ถ้าอยากจะให้ช่วยต้องไปไถ่โทษก่อน ก็พามาหาพระพุทธเจ้าหรือไงนี่แหละ พระพุทธเจ้าก็บอกว่า ให้ไปเอาทองคำของเศรษฐี ที่มันไหลไปตามแม่น้ำ ให้ไปเอาคืนมา

ทีนี้ทองคำที่มันไหลไปแล้ว มันไหลไปรวมกับทองคำเก่าๆ ที่สะสมอยู่ในแม่น้ำเหมือนกัน หายไปนี่ ๔-๕ โกฏิ อย่างนี้ ได้กลับมา เป็นสิบๆ โกฏิ คือกลับมาฟื้นขึ้นมาอีกเห็นไหม

เราจะบอกว่า “จิตใจของเทวดานี่ ยังต่ำกว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี” พอถึงสิ้นบุญกุศลนี่ก็ฟื้นกลับมา ฟื้นกลับมาก็กลับมาเป็นเศรษฐีอย่างเดิม นี่ถ้าใจเข้มแข็งใจอ่อนแอ ถ้าใจอ่อนแอนะ เวลาตกทุกข์ได้ยาก มันก็ไหลไปตามกิเลสใช่ไหม พยายามจะฟื้นตัวให้ได้ แต่นี่ไม่นะ ไม่ทำอะไรเลย ยังทำบุญ ยังมีสัจจะไป

เนี่ยพูดอย่างนี้ขึ้นมา เพราะในสมัยพุทธกาลเขามีเรื่องอย่างนี้ ทีนี้ทุกคนจะคิดหมดล่ะ ว่าเราทำบุญๆ ทำดีตลอด ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำดีนะ “ทำดีต้องได้ดี” เรานี่เชื่อมั่นตรงนี้มาก เราเชื่อมั่นจริงๆ นะ เรานี่คิดแปลกนะ นิสัยเรานี่คิดแปลกกว่าคน เราจะคิดแปลกเราจะคิดของเรา เวลาเราทำดีขึ้นมาแล้วมันมีเหตุการณ์มากระทบ เราจะบอกเลย พูดกับโยมประจำ คนที่อยู่ใกล้ชิดนะ

“กูอยากจะจับโกหกพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่าทำดีแล้วได้ดี กูทำดีขนาดนี้ทำไมไม่ได้ดี กูจะจับโกหกพระพุทธเจ้า กูจะลองดูว่าพระพุทธเจ้าโกหก” จริงๆ ทำอย่างนี้

มาอยู่โพธารามใหม่ๆ นะ โอ้โฮ เขารุมโจมตีรุมด่า รุมทุกอย่างเลยนะ โทษนะพวกนี้อยู่ เอาขี้ปาใส่นะ เราไปบิณฑบาตนี่เขาถุยน้ำลายใส่นะ เขาขับรถสิบล้อนี่กวาดชนเลย เราก็เฉยๆ เดี๋ยวนี้ไอ้คนทำนี่เสียใจหมดเลย คนที่ทำๆ เราไว้นี่ เสียใจๆ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะมันทำแล้วเราก็เฉย เราไม่หวั่นไหว เราโดนมาเยอะมาก แล้วคนที่อยู่ข้างๆ เรานะ โอ้โฮ เป็นทุกข์เป็นร้อน

เราพูดกับพวกนี้ นั่งอยู่นี่ บอกเลยนะ “กูจะจับโกหกพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกทำดีต้องได้ดี” กูก็ทำของกูไปอย่างนี้ แต่รุนแรงมากนะ มันประสาเรา มันเหมือนกับคนมันนักเลง นักเลงที่ดี ก็มีคนที่ดีกว่า ลองใจนะ โอ้โฮ เรานี่เต็มๆ เลย ตอนมาอยู่โพธารามใหม่ๆ ๔-๕ ปีแรกนะ ไปบิณฑบาตนี่นะ เดินไปบิณฑบาต มันมีพวกนักเลง มันขี่รถเครื่องเข้ามา เข้ามาใกล้ๆ นะ แล้วก็ถุยน้ำลายใส่

ไปบิณฑบาตนะ ไปสวนกับพระ พระบิณฑบาตกลับมา พระก็ถุยน้ำลายใส่ โดนทุกเรื่อง โดนตลอด โดนทุกเรื่องเลย แล้วจนโยมที่นั่นก็บอกว่า “ขอร้องเถอะอย่าบิณฑบาต” คือว่าเห็นเราบิณฑบาตแล้วโดนคนเขารังแกไง มีคนมาขอร้องนะ บอกไม่ต้องบิณฑบาตหรอก เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะคนที่มาวัดมันเยอะแล้ว

อยู่โพธาราม โยมก็ไม่เยอะอย่างนี้ เขาขอร้องเลยนะว่า “อย่าบิณฑบาตได้ไหม?” เพราะคนก็มาวัดเยอะแล้ว เราบอก

“โอ้โฮ ขออะไรก็ไม่ขอ มาขอหัวใจเลย บิณฑบาตเป็นวัตร พระไม่บิณฑบาต มันจะเป็นพระได้อย่างไร?”

เออ ขออย่างอื่นขอได้นะ “ขอไม่ให้บิณฑบาต” บอก “ไม่ได้” แล้วออกไปบิณฑบาตก็โดน โดนๆ แต่โดนๆ ไปเขาสำนึกตัวเอง เราคิดอย่างนี้ ทุกๆ คนก็รู้ดีและชั่ว เราไปทำความชั่ว แล้วเราจะเสแสร้งว่าดี เอ็งคิดว่าเป็นความดีไหม? คนที่ทำทุกคน รู้ตัวอยู่นะ แต่ด้วยทิฐิมานะ ด้วยการอยากเอาชนะคะคานเท่านั้น

สิ่งที่เขาทำอยู่ เขาก็ต้องรู้ อย่างโยมนี่นะ โทษนะ อย่างโยมนี่เอาขี้ไปปาใส่พระ โยมว่าดีหรือชั่ว อ้าว ใครว่าดีบ้างล่ะ? เราก็ต้องว่าชั่วใช่ไหม? แต่ทำไมเขาทำล่ะ อ้าว ก็เขาทำชั่ว แต่ทำไมเขาทำล่ะ? ก็ทิฐิไง ทิฐิไอ้พระองค์นี้หัวดื้อ ไอ้พระองค์นี้อวดดี ไอ้พระองค์นี้ถือดีนัก อ้าว เขาก็เอาขี้มาปา แต่เราก็คิดของเรา ไอ้คนทำนี่มันก็รู้ดี รู้ตัวว่าทำดีหรือทำชั่ว ถ้ามึงคิดมึงก็รู้ตัวมึงอยู่ มึงจะทำก็เรื่องของมึง ใครจะทำก็ทำไป อ้าว ทำก็ทำไปสิ ดูสิ แล้วทุกคนก็หวั่นไหว นี่ นิสัยเราเป็นอย่างนี้นะ นิสัยเรานี่มันๆ อย่างพระพุทธเจ้าสอนอะไรนี่มันอยากพิสูจน์ อยากทำ

อย่างเช่นภาวนานี่ ภาวนาเราจะยึดอยู่คำหนึ่งตลอดเลย ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี พระพุทธเจ้าบอกถ้าปฏิบัติสม่ำเสมอต้องถึงที่สุด เรายึดคำนี้ เราก็ทำของเรา เสมอต้นเสมอปลาย จะภาวนาได้ไม่ได้ เราก็เดินจงกรม เป็นเรื่องปกติ พวกนี้มาเจอเราตอนนี้ไง ถ้าใครมาเจอเราตอนปฏิบัตินะ เราปฏิบัติไปอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ พระเขาจะงงกันหมด เพราะพระนี่ปฏิบัติด้วยกัน เรานี่ปฏิบัติด้วยกัน เรารู้

อย่างคนที่ออกกำลังกาย วิ่งอย่างนี้ทุกวันมันเหนื่อยไหม? มันเหนื่อย มันเบื่อ แต่ทำไมมันออกกำลังกายได้ล่ะ ออกกำลังกายนี่เราเห็นผลประโยชน์ใช่ไหม? แต่ของเรา เราเดินจงกรม เดินไปเดินมา เดินไปเดินมา นี่ ทั้งวันทั้งคืน หลายๆ เป็นปีๆนี่

เพราะเราไปอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ พระก็จะถามตรงนี้บ่อย แล้วถ้าคน คนถ้าสังเกตนิดหนึ่ง เขาจะพูดอย่างนี้ เขาจะบอก เอ๊ะ สงสัยท่านต้องมี มีงานทำ หมายถึงว่ามันต้องมีหลัก ถ้าไม่มีหลักนี่ มันจะเบื่อ มันจะเบื่อ มันจะท้อแท้ แต่นี่ทำได้ๆ เห็นไหม นี่ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ต้องทำได้ พระพุทธเจ้าสอนอะไรแล้ว เราจะทำอย่างนั้น

ทั้งๆ ที่ทำอยู่อย่างนี้นะ แล้วจิตใจเรา เราก็คิดว่า เราก็มีหลัก บางทีมันก็ท้อถอย ในหัวใจนี่ มันก็ท้อถอยมาก ถ้าอยู่กับหลวงตา ท่านจะกระตุ้น ท่านจะกระตุ้น เวลาพูดถึงตัวท่าน ท่านพูดถึงหลวงปู่มั่น แล้วพูดถึงพระพุทธเจ้า ไอ้ของเรามันเล็กน้อย มันเลยทำให้เราเข้มแข็ง ทำให้เราประพฤติปฏิบัติมา ก็ย้อนกลับมานี่

แล้วพอใครว่า ใครมานี่ ผีเข้าเอย อะไรเอยนี่ ไอ้คนที่มันไม่มีหลักเลยก็ว่า “ไม่จริง” แล้วเวลาเราพูด เราพูดนะ เราไม่เชื่อเรื่องอย่างนี้เลย แต่เวลาใครมานี่ เราบอก “ใช่” แล้วเราแก้ของเราไป ถ้าเราไม่เชื่อ แล้วเราไปแก้ทำไม เราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อเพราะจุดยืนของเราต่างหากล่ะ จุดยืนของเรานี่ เราเชื่อใจของเราเอง เราเชื่อเรื่องธรรมะ

เรื่องภูตผีปีศาจเรื่องอะไรนะ ไร้สาระ เป็นเรื่องไร้สาระ เป็นเรื่องนอกกายเรา เป็นสิ่งที่จะมาเบียดเบียนเป็นสิ่งที่จะมากระทบกระเทือนเราไม่ได้เลย เรื่องไร้สาระมากเลย แต่มันมีอยู่ มันมีอยู่เพราะอะไร? มันมีอยู่เพราะจิตเรามั่นคง จิตเรามีหลักแล้ว เราถึงเห็นเรื่องอย่างนี้ได้ใช่ไหม? แล้วเวลาคนอื่น จิตที่เขาอ่อนแอ จิตที่เขาไม่มีหลักของเขานี่ เขาถึงวาระกรรมของเขาที่เขาโดนอย่างนั้นมา แล้วจะทำอย่างไร? มันมีไหมล่ะ?

ถ้าไม่มี แล้วทำไมเขาคุมตัวของเขาไม่ได้ อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ คนที่เขาทำชั่วนี่ ทำไมเขาไม่รู้ว่าชั่ว เขาก็รู้ แต่เขาทำเพราะว่าทิฐิมานะของเขา อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาจิตของเรามันมีอำนาจที่เหนือกว่าเข้ามาครอบนำนี่ มันก็รู้อยู่ ก็รู้อยู่ แต่มันควบคุมตัวเองไม่ได้ ก็ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไง ยิ่งไอ้พวกปัญญาชน ปัญญาชนนี่ เวลาโดนเข้าไปจะรู้ เวลาไม่โดนก็ ไม่เชื่อ พอโดนเข้าไปนี่ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทำไมมันทุกข์อย่างนี้ล่ะ ปวดหัวตัวร้อน ทุกข์ไปหมดเลย ก็ต้องแก้ไขไปตามนั้น

กรรม ยังไม่ถึงวาระของใคร คนนั้นยังปากแข็งได้ กรรม ถึงวาระของใคร คนนั้นจะรู้สึกตัว จะรู้สึกตัว กรรมถึงวาระของใคร วาระของเขานั่นล่ะ นั่นล่ะเขาจะรู้สึกตัวของเขา เขาจะทุกข์ของเขา แล้วจะแก้ได้ไม่ได้นั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ

ถ้าแก้ไม่ได้ แก้ไม่ได้ก็กรรมแรง กรรมของเขาแรงมันก็ต้องชดใช้กรรมกันไป แต่ถ้าช่วยเหลือได้ เกื้อกูลได้ เราเอาใจของเราเอาออกมาได้ มันก็เหมือนกับว่าเราชดใช้เขาไป คือกรรมให้ผลแล้ว จัดการให้มันจบสิ้นกันไป แล้วกว่าจะฟื้นตัวขึ้นมานะ นี่พูดถึงเรื่องของจิตวิญญาณ ของสิ่งอำนาจ อำนาจที่เหนือเรา แต่เราทำเราได้นะ อำนาจที่เหนือเรา ก็ไว้ที่เหนือเรา

อย่างพระอาทิตย์ จักรวาลนี้ จะมีพลังงานอะไรมากกว่าพระอาทิตย์ แล้วเราไปเดือดร้อนอะไรกับพระอาทิตย์ล่ะ พระอาทิตย์ก็คือพระอาทิตย์ ก็เราอยู่ในโลก นี่ก็เหมือนกันจิตวิญญาณที่มีอยู่ ก็เรื่องของเขา หลวงตาเวลาท่านสอน ท่านสอนดีมากนะ

“ให้ดูใจเรา ใจเขาหรือสิ่งข้างนอกตัวเราไม่มีประโยชน์หรอก มันเพียงแต่เกิดมาเพื่ออาศัยเกื้อกูลกันเท่านั้นล่ะ แต่จริงๆ เราต้องรักษาใจเรานะ”

แต่ทีนี้คนมันก็มีกรรมไง อย่างที่เราพูดเมื่อกี้นี้ ทุกคนมีเหมือนกัน อย่างของเรานี่แปลกนะ เวลาเราดูอะไร เราเอาเรานี่เป็นครู เอาความรู้สึก เอาประสบการณ์ เอาสิ่งที่เกิดกับเรานี่เป็นตัวตั้ง เราไม่เคยคิดนะว่าเราจะเป็นเจ้าอาวาส จะเป็นพระ ไม่เคยคิดจริงๆ นะ แปลกมาก ไม่เคยคิดเลยว่าจะมาเป็นหัวหน้า ไม่เคยคิดเลย แต่เวลามันเป็นขึ้นมาจริงๆ นี่ ๗ วัด ๘ วัดไม่รู้มันเป็นมาได้อย่างไร ไม่รู้มันมึนงงไปหมด เวลามันเป็นมันก็เป็นไปเห็นไหม

คำว่าไม่เคยคิดเพราะว่า เราไม่เคยเตรียมตัวเลย เราไม่เคยคิดจะเตรียมตัวว่าจะมาเป็น มันอยู่คนเดียวไง ถ้าคนมันจะคิด มันต้องมีพรรคมีพวก ไอ้นี่คิดจะอยู่คนเดียวตลอด จะอยู่คนเดียวตลอด จะไม่ยุ่งกับใคร ไม่ยุ่งกับใครจริงๆ นะ แต่พอมันถึงเวลาแล้วมันเป็นไป เป็นไป สิ่งที่มันเป็นเพราะมันเอาตัวนี้เป็นตัวตั้ง เราเป็นตัวตั้งตลอด ไม่เคยยุ่งกับใครเลย ดูใจเรา

หลวงตาท่านสอนให้ดูใจเรานะ เราควบคุมใจเรา สุขทุกข์มันอยู่ที่ใจเรา แล้วเราควบคุมใจเราได้ รักษาใจเราได้ แต่จะบอกว่า สิ่งที่นี่ เห็นไหม ผลของวัฏฏะ มันมี ของมันมี แล้วเรารักษาใจเราแล้ว เราจะยืนใจของเราได้ เราจะไม่ยุ่งกับใครได้

ถ้าพูดอย่างวิทยาศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์ นี่พูดถึงวิทยาศาสตร์เพียงแต่พูดให้เห็นว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์เห็นไหม เวลาเราพูดเรื่องธรรมะ เราจะดูถูกตรงนี้มาก ทีนี้เวลาเราพูดถึงสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง สิ่งที่มันมีจริงๆ ข้อเท็จจริงนี่ เราก็ต้องแก้ไขไปตามนั้น แก้ไขไปตามนั้นไง แต่เราไม่ลงไปคลุกคลีมาก เพราะมันเป็นจุดยืนนะ

จุดยืน จุดยืนคือธรรมวินัย เราอาศัยธรรมวินัย ข้อวัตรปฏิบัติ เครื่องดำเนินให้จิตมันพ้นจากกิเลส ถ้าเราไปเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณ เรื่องต่างๆ นี่ เรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ อำนาจเหนือเรานี่ เราไปทำอย่างนั้น มันก็เป็นเรื่องช่วยในปัจจุบันนี้ แต่ถ้าเป็นเรื่องจุดยืนนี่ เป็นเรื่องสัจธรรม เป็นเรื่องธรรมวินัย มันแก้ไขได้หมด วัฏฏะเลยเห็นไหม ตั้งแต่เทวดา อินทร์ พรหม ลงมาก็ต้องการพ้นจากทุกข์เหมือนกัน

ทีนี้คนมันมองด้วยสายตาคับแคบ อย่างเช่นใครทุกข์มาคนหนึ่ง แก้ไขคนที่ทุกข์ได้ สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ แต่เวลาพูดถึงอริยสัจเห็นไหม เวลาเราเทศน์ตอนเช้าๆ นี่ เทศน์อริยสัจ เราเทศน์ความจริงนี่เราไม่ได้เทศน์ว่าใครเลยนะ แต่เกือบทุกหัวใจเลยสะดุ้งหมดล่ะ เพราะมันเป็นความจริงของทุกดวงใจ เวลาเราเทศน์นี่เราไม่เคยว่าใครเลยนะ เราพูดถึงข้อเท็จจริง

แต่ทุกคนมาบอก แหม ทำไมมันโดนทุกคนเลยล่ะ เพราะใจมันเป็นอย่างนั้นทุกคนไง ทุกดวงใจก็เป็นอย่างนี้ อย่างนี้นี่อริยสัจ แต่ถ้าไปช่วยเรื่องจิตวิญญาณนี่ ช่วยเรื่องอำนาจเหนือเรา มันได้เฉพาะคนคนนั้น แล้วมันก็ทำให้พวกเรานี่ไขว้เขวออกนอกลู่นอกทางด้วย

จะบอกว่า เวลามีอำนาจเหนือใจมันอย่างหนึ่ง แล้วเวลาความคิดกับเรานี่ กิเลสกับเรานี่กิเลสของเราเอง มันมีอำนาจเหนือใจเรา นี่เรามีกำลังที่จะสู้มัน เราจะมีกำลังนะ เราจะตั้งสติของเรานะ แล้วก็สู้กับพญามารในหัวใจของเรา แล้วเราจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ นี้จะเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง