ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

วิชชา ๓

๑๙ เม.ย. ๒๕๕๒

วิชชา ๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

พระกับพระเขาดูกันออก ดูกันออกที่การฝึก บวชมาแล้ว ถ้าไม่ได้ฝึก ก็บวชมาอย่างนั้นล่ะ เวลาบวชขึ้นมาเห็นไหม อุปัชฌาย์ต้องให้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อุปัชฌาย์นี้ให้หมดแล้ว แต่พวกเราเวลาบวชแล้ว เราก็กลัวแต่จะไม่รู้ ทางวิชาการก็เหมือนกัน บวชแล้วต้องศึกษา ไตรสิกขาเราต้องศึกษา ถูก ต้องศึกษา แต่ก็ศึกษาแบบการเรียนรู้ สุตมยปัญญา มันหยาบมาก ทางวิชาการเราเรียนรู้ขึ้นมาแล้วเราทำได้ไหม

แต่ในภาคปฏิบัติ มันฝึกเลย ดูอย่างเช่น พระป่าที่อยู่กับครูบาอาจารย์ เวลาผิดจะใส่เดี๋ยวนั้นเลย ผิดคือผิดต่อหน้า เราเอง เราบวชมาแล้วเราก็ศึกษา บุพพสิกขา วิสุทธิมรรค พวกนี้เราดูหมด แต่ดูแล้วก็ไม่เข้าใจ ดูแล้วก็งงนะ แต่ถ้าเราอยู่กับครูบาอาจารย์เวลาประเคนผิด หยิบผิด วางของผิด โอ้โฮ โดนทีไร ตึ๊ง! ตึ๊ง! ทุกทีเลย พอโดนเข้าไปปั๊บมันก็ได้นิสัย การขอนิสัยไง

การขอนิสัยเป็นประเพณีของพระป่า เห็นไหม เวลาอาวุโสภันเต เราเคยไปกับหลวงปู่เจี๊ยะ ด้วยความคุ้นเคย ไปฉันกับหลวงปู่เจี๊ยะ ทีนี้เพื่อนที่เป็นเพื่อนบ้าน ไม่ได้เจอกันมานาน แล้วไปเจอกันในกรุงเทพ เขาเห็นเขาก็ดีใจ เขามาถามปัญหา เราก็ตอบปัญหาเขา โอ้โฮ หลวงปู่เจี๊ยะนะ นี่แหละ อาจารย์กับลูกศิษย์ หันมาใส่เราทีหนึ่ง หงายท้องเลย “ภิกษุเดินตามเวลาไปบิณฑบาตนี้ห้ามพูด” พูดต่อหน้าโยมเลยนะ ปัจฉาสมณะ ภิกษุผู้เดินตามไง อย่างเช่น พระพุทธเจ้าเวลาออกบิณฑบาต จะมีพระอานนท์อุ้มบาตรตามหลัง “เดินตามนี้ห้ามพูด” เอาต่อหน้าเลยนะ อึ๊ก.. เบรกนี่ โอ้โฮ หัวทิ่มเลย แต่เรากลับภูมิใจนะ เรากลับภูมิใจว่า ครูบาอาจารย์ เห็นไหม แต่ถ้าเป็นพระทั่วไป เขาไม่กล้าพูดหรอก เพราะอะไร เพราะพูดไปแล้ว มันฉีกหน้ากันต่อหน้าธารกำนัลเลย อันนี้เดี๋ยวนั้นเลยนะ “ปัจฉาสมณะห้ามพูด”

แล้วก็ดูเหมือนว่า พระป่านี่ไม่ได้ทำอะไรกันเลย ไม่ได้ศึกษาอะไรเลย แต่สังเกตได้ไหม เวลาพระป่าอยู่กับครูบาอาจารย์ ถ้าจะพูดก็ต้องขอโอกาสก่อน จะทำอะไรก็ต้องขอโอกาสก่อน เห็นไหม นั่นคือ เขาทำจากหัวใจนะ ทำจากหัวใจคือเขารู้จริง

แต่ถ้าเราไปอ่านในพระไตรปิฎก ก็จะงงไปหมด อ่านวินัยก็งง อย่างภิกษุ เห็นไหม ภิกษุทำอะไรก็ผิด เว้นไว้แต่สมมุติ เราอ่านมาหมดแล้ว ในวินัยมุข “เว้นไว้แต่สมมุติ” เว้นไว้แต่สมมุติเพราะอะไร พระเขาจะตั้งผู้ทำหน้าที่ อย่างผู้ที่ได้รับกิจนิมนต์ ผู้ที่ทำหน้าที่อะไรต่างๆ เว้นไว้แต่สมมุติคือให้องค์นั้นทำได้

อย่างของของสงฆ์นี้ เขาเอามาก็เป็นของของสงฆ์ พอเป็นของของสงฆ์แล้ว “ภิกษุน้อมเอาลาภของสงฆ์มาสู่ตน” ของของสงฆ์เป็นของสังฆะ แล้วถ้าเราหยิบมาใช้เลยนี้ จะเป็นอาบัติทันทีเลย เว้นไว้แต่สมมุติ เป็นผู้แจกของสงฆ์นั้น

เราบอกว่าสมมุติๆ ทุกคนก็บอกว่า เราปฏิบัติกันเพื่อจะให้พ้นจากสมมุติ แต่ในชีวิตความเป็นจริงนั้น กฎหมายก็สมมุติ วินัยก็สมมุติทั้งนั้น ปัญญาก็สมมุติ ปัญญาที่เกิดดับนี่เป็นสมมุติไหม ถ้าเป็นของจริงมันก็ต้องอยู่กับเราสิ เพชรยังเป็นสมมุติเลย เพชรมันก็ต้องย่อยสลาย มีอะไรบ้างที่เป็นของจริง นิพพานเท่านั้นเป็นของจริง นอกจากนั้นไม่มีอะไรเป็นของจริงเลย

แต่สมมุติก็ใช้ทำลายสมมุตินะ อย่าไปรังเกียจสมมุติ ขึ้นต้นก็ว่า เราจะปฏิบัติให้เป็นวิมุตติ ถ้าสมมุติเราไม่เอา ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้ก็สมมุติ ดูลมพัดสิ หายใจไม่ทันเลยนะ แล้วลมพัดมันได้อะไร แต่เราหายใจเข้าเอาออกซิเจนเข้าไปในร่างกายของเรา ก็สมมุติอันหนึ่ง สมมุติชั่วคราว เว้นไว้แต่สมมุติไง

ถึงบอกว่า ถ้าเป็นพระปฏิบัติ มันมองทีเดียวก็ดูออกเลย แต่ถ้าเป็นอย่างนี้ปั๊บ เราก็ศึกษา การศึกษาของเรา เราก็คิดประสาเราว่า สิ่งนี้เรารู้ ยิ่งรู้มากนะก็คือยิ่งไม่รู้อะไรเลย เหมือนอย่างนักกฎหมาย จบกฎหมายมานี้รู้หมดเลย แต่ลองให้ไปว่าความสิ เงอะๆ งะๆ ทำอะไรไม่ถูกหรอก แต่พอจบแล้วเราต้องไปฝึกงานใช่ไหม เราต้องไปสำนักงาน เราต้องไปฝึกงาน เราต้องไปหัดความชำนาญของเรา

แล้วแง่มุมการใช้นี้ อาจารย์สอนกฎหมาย แล้วถ้าเด็กมันฉลาดมาก เทคนิคมันดี เวลาไปว่าความ ลูกศิษย์กับอาจารย์ไปเจอกันในศาลนะ เป็นทนายคนละข้างยังแพ้ลูกศิษย์ อาจารย์สอนมากับมือเลยนะ เวลาไปว่าความในศาล เพราะการว่าความนี้มันอยู่ที่คนจ้างใช่ไหม พอไปเจอกันระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ อาจารย์แพ้ก็มีเยอะแยะไป นี่เพราะปฏิภาณไหวพริบของเขา การใช้แง่มุมกฎหมาย การชี้นำ การซักค้านทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม นั่นคือเทคนิค คือปฏิภาณไหวพริบของเขา

ย้อนกลับมาที่ว่าหยาบหรือละเอียด หยาบหรือละเอียดนี้มันจะดูออกเลย มันรู้เลยว่าหยาบอย่างไร ละเอียดอย่างไร มันเป็นเพราะว่าเราไปติดกัน ทุกคนจะศึกษา เห็นไหม เวลาโยมที่มาหาเรา แล้วบอกว่า เวลาปฎิบัติแล้ว พิจารณานามรูปนี้ มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันตอบสนองได้หมด มันตอบความรู้สึกของเราได้หมด เราบอกว่า มันผิดตรงนั้นล่ะ ผิดตรงที่เป็นวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์มันตายตัว ดูสิ สมาธินี้ กว่าเราจะเป็นสมาธิ เหมือนน้ำเลยนะ อุณหภูมิของน้ำ มันจะเดือดอย่างไร อุณหภูมิปกติของน้ำเป็นอย่างไร อุณหภูมิที่น้ำจะเดือด แล้วเวลาที่อุณหภูมิมันเริ่มเย็นลง เห็นไหม อุณหภูมิมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

จิตที่มันจะเป็นไปนั้น มันจะเป็นวิทยาศาสตร์ตรงไหนล่ะ มันจะเป็นวิทยาศาสตร์ที่ตายตัวได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้หรอก เวลาจิตที่พิจารณาไปก็เหมือนกัน ถ้ามันจะปล่อยวางนั้น มันต้องมีขั้นตอนของมัน มันจะปล่อยวางขนาดไหน ตทังคปหาน สมุจเฉทปหาน มันปหานอย่างไร ถ้าคนไม่เป็นอย่างไรมันก็ไม่รู้ แล้วถ้ามันเป็นวิทยาศาสตร์ก็ต้องเป็นอย่างนั้นๆ มันเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลย ผิดตรงที่มันเป็นวิทยาศาสตร์นั่นล่ะ

วิทยาศาสตร์นี้เป็นโลก จะเอาโลกมาวินิจฉัยธรรมไม่ได้ ธรรมก็ต้องเอาธรรมมาวินิจฉัย แล้วธรรมวินิจฉัยนี้ มันธรรมของใคร ธรรมของใครเห็นไหม ผู้ที่อยู่ต่ำกว่าจะสอนผู้ที่อยู่สูงกว่า เป็นไปไม่ได้เลย ผู้ที่อยู่สูงกว่าเท่านั้น เราอยู่ที่สูง เราจะสามารถดึงคนที่อยู่ต่ำกว่าขึ้นมาที่สูงได้ คนที่อยู่ต่ำกว่าจะใช้ดันเอา ดันเอามันขึ้นไม่ได้ ไม่ได้หรอก สิ่งนั้นเป็นไปไม่ได้เลย

แต่นี่เราไปติด เห็นไหม ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะเรากลัวผิดกันไง ปฏิบัติกันก็กลัวผิด ทุกคนกลัว เราก็กลัว แต่จะบอกว่าไม่ให้ผิดเลย มันก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ของที่เราไม่รู้ไม่เห็น แล้วจะไม่ให้มันผิดพลาด มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่ทีนี้ของที่มันไม่เคยไม่รู้ไม่เห็น แต่เรามีความปรารถนามีความตั้งใจทำ เราก็ทำของเราไป ผิดถูกนั้นมันจะสอนเราเลย เวลาผิดถูกขึ้นมา อย่างพวกเราปฏิบัติกัน เราไม่เคยรู้สิ่งใดๆเลย พอจิตมันพัฒนาไปแต่ละอย่างนะ เราก็ไปเชื่อแล้วไง ว่าสิ่งนี้เป็นผล ทั้งที่มันไม่ใช่ผลหรอก มันเหนือการคาดหมายมาก ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สิ่งนั้นจะเป็นธรรม ผู้ใดคาดหมายด้นเดาจะเป็นธรรมไม่ได้ แล้วจะคาดหมายด้นเดากันทั้งนั้น เพราะการคาดหมาย การด้นเดามันก็คือจินตมยปัญญา มันเป็นจินตนาการอันหนึ่ง จินตนาการที่มีจิตรับรู้ จินตนาการของเขา จินตนาการทางวิทยาศาสตร์ เห็นไหม การวิจัยมันต้องจินตนาการ ต้องสร้างโครงการในหัวเราก่อน จินตนาการอย่างนั้น มันไม่มีจิตรับรู้ แต่จินตนาการของจิตนี้ที่มันทำ มันเป็นไป มันแปรเปลี่ยนสภาพของมัน พอจินตนาการไปมันเป็นสภาพอย่างนั้น ก็ตื่นเต้นไปกับมันนะ นี่มันเป็นธรรมะจินตนาการทั้งนั้น

ถ้าเป็นความจริง อย่างที่เราพูดเป็นวิทยาศาสตร์นี้ เวลาเทศน์เราก็อาศัยวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น ดูสิ เช่น คอมพิวเตอร์ต่างๆ เราก็อาศัยสิ่งนั้นเป็นบุคคลาธิษฐาน เป็นการเปรียบเทียบ ให้เรารู้เราเห็น ให้เราสามารถเข้าใจได้ คำว่าบุคคลาธิษฐานคือตัวอย่าง คือตุ๊กตา ความรู้สึกของเรานี้มันเป็นนามธรรม เราต้องตั้งตุ๊กตาขึ้นมา แล้วตุ๊กตานี้เราจะเป็นแบบตุ๊กตาไหม แล้วตุ๊กตานั้นเราจะดัดแปลง เปลี่ยนแปลงมันอย่างไร คำว่าตุ๊กตาใช่ไหม เราทุกคนจะเล่นตุ๊กตากันคนละอย่างทั้งนั้น ผู้หญิงก็เล่นตุ๊กตาไปอีกรูปแบบหนึ่ง ผู้ชายก็เล่นเป็นเครื่องยนต์กลไก

เห็นไหม คำว่าเล่นอย่างหนึ่ง คือ จิตมันชอบ ถ้าจิตมันชอบเห็นไหม สิ่งใดที่เรารักเราปรารถนา แล้วเราได้มาเราจะชื่นใจไหม แต่สิ่งนี้ไม่ต้องการเลยแล้วถูกยัดเยียดมาให้ ก็อยากจะปาทิ้งเลย แล้วจิตมันจะเป็นอย่างนั้นไหม นี่ไง มันเป็นจริตเป็นนิสัย ทีนี้ถ้าเป็นโดยกรอบของวิทยาศาสตร์ มันจะพิสูจน์ธรรมะไม่ได้

เพียงแต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านสอน อย่างหลวงปู่มั่นเวลาท่านพูดนะ ท่านก็พูดของท่าน พระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าเวลาอธิบายธรรม เป็นกลางนะ แล้วอยู่ที่พวกเรานี้จะทำได้มากได้น้อย และจริตนิสัยของเราจะเข้าถึงได้หรือเข้าถึงไม่ได้ ถ้าเข้าถึงไม่ได้ ดูอย่างผู้ปฏิบัติ ก็มาปฏิบัติกันมากนะ พยายามขวนขวายทำกันไป แต่ทำไมจิตมันไม่เป็นไปล่ะ ถึงไม่เป็นไป มันก็ได้คือได้การฝึกฝน

ทำไมตอนเช้าขึ้นมา เดี๋ยวนี้ ทางการแพทย์เขาต้องให้ออกกำลังกาย การออกกำลังกายนี้มันเป็นการรักษาก่อนที่โรคมันจะเกิด ถ้าเราออกกำลังกายขึ้นมา เราพัฒนาร่างกายให้แข็งแรง โรคภัยไข้เจ็บมันก็เป็นน้อย ไม่ต้องรอให้เจ็บไข้ได้ป่วย แล้วค่อยไปรักษา

การภาวนาของเรานี้ ถ้ามันภาวนาไม่ได้ก็เป็นอย่างนั้นไง เหมือนออกกำลังกายไง ออกกำลังกายทางจิต จิตมีวิวัฒนาการของมัน จิตมันได้พัฒนา เห็นไหม ที่เราเป็นทุกข์กัน ดูสิ อย่างถ้าเราย้ำคิดย้ำทำ เรามีแต่ความทุกข์นี้มันต้องป่วยแน่นอน โรคเครียดมาจากไหน โรคเครียดมาจากที่ว่า เราไม่รู้จักตัวตนของเรา ถ้าเรามีตัวตนของเรา หมายถึงว่าเรามีความเข้าใจเรา เราไม่มีความเรรวนในหัวใจ โรคเครียดมันจะมาได้อย่างไร เราควบคุมจิตได้ เราควบคุมผู้รับรู้ได้ การรับรู้สิ่งต่างๆ นี้ สิ่งที่มันจะเกิดให้เราลังเลสงสัย มันก็เกิดมาจากความวิตกกังวลของเราทั้งนั้น ถ้าเราไม่วิตกกังวลของเรา เราเข้าใจตัวของเรา สิ่งนั้นมันเป็นอะไร สิ่งนั้นมันก็มาจากภายนอกทั้งนั้น เห็นไหม ดูสิ หลวงตาท่านสอนประจำว่า “ให้ดูใจเรา ให้ดูใจเรา อย่าไปดูใจคนอื่น” แต่เวลาเราอยู่กับสังคม ใช่ เรามีความเกรงใจกัน เราอยู่ด้วยกันนี้ น้ำใจนี้มันก็แสดงออกกันเป็นเรื่องธรรมดา

แต่เวลาเราจะไปนั่งภาวนานะ โอ้โฮ เรานั่งภาวนาไม่ได้เลย นาย ก. นาย ข. นาย ง. เขายังวุ่นวาย เขายังทำงาน แล้วเราก็วิตกกังวลไปหมดว่าเราจะไปช่วยเขา เห็นไหม ฟุ้งซ่านแล้ว เราทำหน้าที่ของเราจบแล้ว เราทำสิ่งที่ดีแล้ว อย่างพระทำข้อวัตรนี้ พอทำข้อวัตรจบแล้ว วันนี้ถึงกระบวนการที่เราได้ทำถึงที่สุดแล้ว ทีนี้จะเป็นเวลาส่วนตัวของเราแล้ว ถ้าเป็นเวลาส่วนตัวของเราแล้ว เราก็ต้องรักษาใจของเราแล้ว เห็นไหม “ดูใจเรา ดูใจเรา” แต่ใจเรานี้มันไม่ดูใจเรา จะไปเอาแต่คนอื่น มันจะออกไปข้างนอก ถ้าเข้ามาดูใจเรา รักษาใจเรา นี่ไง ถ้ารักษาใจเรา ที่ว่าเป็นธรรมๆ คือมันเป็นธรรมอยู่ที่นี่ เป็นธรรมคือว่าเราตั้งสติได้ไหม เราเอาเราอยู่ได้ไหม ถ้าเราเอาตัวเราอยู่ได้ สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับเรา มันจะเห็นนะ

คนเรานี้ ดูสิ เราเป็นพ่อเป็นแม่คน เราอยู่บ้านอยู่เรือน เราเก็บรักษา แล้วลูกมันไม่ทำงานทำการ มันไม่รู้จักเก็บรักษา เราสอนมัน กว่ามันจะทำได้ตามเรา เห็นไหม เราอยู่ในบ้านของเรา เราจัดการหมดแล้ว เรียบร้อยหมดแล้ว ทุกอย่างเราเก็บเข้าที่หมดแล้ว แล้วพอลูกเราเข้ามา มันรื้อค้นนะ มันวางไว้ระเกะระกะหมดเลย เราจะรู้ว่าลูกเรามันทำอย่างไร

ภาวนาก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ที่ท่านเสร็จกระบวนการของท่านแล้ว เหมือนกับบ้านที่จัดเก็บไว้เรียบร้อยหมดแล้ว การจัดเก็บกับวิธีการที่ไปจัดเก็บ แล้วคนที่มาเขาจัดเก็บไม่เป็น หรือไปรื้อค้นออกมา วางไว้ผิดตำแหน่งไง ที่เขาจัดเก็บไว้นั้นมันไม่ถูก ถ้วยชามนี้เอามาวางไว้ขวางประตู คนเดินเข้ามาก็ต้องเหยียบมาก่อนเลยสิถึงจะถูก นี่คือความคิดที่เห็นผิด มันเห็นผิดแล้ว แต่ถ้าเราจัดเก็บของเราเรียบร้อยแล้ว จิตที่มันจะเป็นไป มันจะรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ถ้ามันเป็นสิ่งที่ควรขึ้นมา แล้วมันรักษาของมัน ก็จะเป็นประโยชน์กับมันมาก เป็นประโยชน์นะ เป็นเรื่องสัจธรรม เป็นเรื่องความจริง เรื่องธรรมมันคือเรื่องความเป็นไปนะ

สองแผ่นนี้มันจะตอบอีกยาวมาก วิชชา ๓ นี้มันอธิบายกันครึ่งวันเลยล่ะ

ถาม : กรรมเป็นเผ่าพันธุ์มีความหมายว่าอย่างไร

หลวงพ่อ : กรรมเป็นเผ่าพันธุ์เห็นไหม กัมมพันธุ กัมมโยนิ กัมมปฏิสรโณ พระพุทธเจ้าสอนว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว พระพุทธเจ้าสอนให้เชื่อกรรม คำว่าพระพุทธเจ้าสอนให้เชื่อกรรม ในปัจจุบันนี้ เราเอาแบบวิทยาศาสตร์ เดี๋ยวนี้เขามีสแกนกรรม เขามีการวินิจฉัยกรรม มันจะบ้า! มึงจะเอาอะไรมาสแกน จะเอาอะไรมา สิ่งที่พูดนั้น มันพูดเป็นโวหาร

กรรมนี้เป็นอจินไตย หมายถึงว่า อจินไตย ๔ พระพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว พุทธวิสัย กรรม โลก ฌาน คำว่าอจินไตย มันกว้างขวาง แม้แต่ปัญญาของพระพุทธเจ้า ยังตัดสินให้มันเป็นวิทยาศาสตร์ คือให้มันเป็นโดยลำดับไม่ได้เลย เวลาพระพุทธเจ้าระลึกย้อนไปในบุพเพนิวาสานุสติญาณ ไม่มีต้นไม่มีปลาย

คำว่าไม่ได้นั้น เช่น พระในสมัยพุทธกาล บางองค์เห็นไหม เวลาฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ทีเดียวก็เป็นพระอรหันต์เลย พระก็แปลกใจ ก็ไปถามพระพุทธเจ้าว่าทำไมเป็นอย่างนั้น นี่คือจะบอกถึงเรื่องกรรมไง พระพุทธเจ้าบอกว่า ใช่ เขาเคยเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุนี้ เหตุนี้ เหตุนี้มา พาหิยะ เวลาฟังพระพุทธเจ้าเทศน์หนเดียวก็เป็นพระอรหันต์เลย ชาติที่แล้ว ชาติก่อนนั้น เวลาเขาเป็นพระขึ้นไป เขาไปภาวนาบนหน้าผาตัด เห็นไหม ทำบันไดขึ้นไป แล้วทำลายบันไดทิ้งเลย ตกลงกัน ๕ องค์ว่า ใครนั่งบนนี้ต้องเป็นพระอรหันต์ ถ้าใครสำเร็จแล้วให้เหาะลงไปเลย ถ้าใครไม่สำเร็จก็ให้ตายบนนั้น เหาะลงไปได้ ๒ องค์ อีกองค์เป็นอนาคามี อีก ๒ องค์ตายบนนั้น พาหิยะเป็นคนหนึ่งที่ตายอยู่บนนั้น แล้วพอปฏิบัตินี่ก็ปฏิบัติเต็มที่เลย แล้วบุญกุศลอันนั้น มันก็พาเกิดพาตาย พอสุดท้ายก็มาเป็นพาหิยะ เรือแตกกลับมาไง ไปเป็นพ่อค้า พอเรือแตกก็เข้าฝั่ง พอเข้าฝั่งไปก็เปลือยใช่ไหม ก็ไปนุ่งห่มพวกใบไม้ ชาวบ้านเขาเห็น เขาก็เคารพมาก เขาก็ถวาย ให้ลาภสักการะเยอะมาก ก็หลงว่าเขามาเคารพบูชา พระอรหันต์สมัยที่อยู่ด้วยกัน

ที่เคยภาวนาบนหน้าผาตัดมาเตือนเลย

“บัดนี้พระพุทธเจ้าเกิดแล้ว ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ ให้ไปฟังธรรมจาพระพุทธเจ้า”

เพราะได้สร้างบุญกุศลมา มันหลงมาก็จริง แต่พอคนเตือนแล้วมันฟัง ก็รีบแสวงหาพระพุทธเจ้าเลย

พอไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ากำลังบิณฑบาตอยู่ ก็ขอว่าอยากฟังเทศน์

“เรากำลังบิณฑบาตอยู่ เรากำลังบิณฑบาตอยู่”

“คนเราชีวิตอาจจะสั้นก็ได้ ขอให้พระพุทธเจ้าเทศน์เถิด”

พระพุทธเจ้าก็เทศน์ให้ฟังปั๊บ สำเร็จเป็นพระอรหันต์เลย จึงขอบวช

พระพุทธเจ้าบอกว่า “เธอไม่มีอัฐบริขาร จะบวชได้อย่างไร”

กำลังไปหาอัฐบริขารอยู่ ก็โดนควายขวิดตายเลย

ฟังเทศน์แค่หนเดียว มันอยู่ที่กรรม เห็นไหม ถึงบอกกว่า ถ้ามันไม่ตายตัว แล้วทำไมพระพุทธเจ้ารู้ได้ล่ะ

อนาคตังสญาณของพระพุทธเจ้าละเอียดอ่อนกว่าเรา อนาคตังสญาณ คือ ความเล็งญาณของใจที่มันรู้เห็น

แต่ทีนี้ คำว่า สแกนกรรม มันคือเราคิดแบบวิทยาศาสตร์ การสแกน เห็นไหม การใช้วิทยาศาสตร์ เราใช้วิทยาศาสตร์เข้าไปจับ เข้าไปคำนวณ แล้วมันจะเห็นกรรมได้อย่างไร แม้แต่คำพูดมันก็ผิดแล้ว สแกนกรรม มึงจะเอาอะไรไปสแกน มึงจะเอาอะไรไปหากรรม มันเป็นไปไม่ได้เลย! มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้แต่คำพูดเขาก็ผิดตั้งแต่คำพูดแรกแล้ว แต่โลกก็เชื่อนะ เพราะอะไร เพราะเรามีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์กัน เช่น การสแกนทางร่างกาย อู้หู มันจะเห็นภาพชัดเจน ใช่ไหม พอเอาอันนี้มาสแกนกรรม อู้หูย ยิ่งชัดเลยนะ มันคนละเรื่องกัน มันเป็นไปไม่ได้

ถาม : กรรมเป็นเผ่าพันธุ์มีความหมายว่าอย่างไร

หลวงพ่อ : กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ นี่ไง การทำดีทำชั่ว มันจะตกผลึกอยู่ในหัวใจ ดูอย่างพระโพธิสัตว์ จะทำกรรมดี สร้างความดี ทีนี้ที่ว่า กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เพราะเราสร้างมาแล้วใช่ไหม มันมีกิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ กิเลสวัฏฏ์ คือ ตัณหาความทะยานอยาก กรรม คือ การกระทำ ทำดีทำชั่ว พอทำดีทำชั่ว ผลมันก็เป็นของผู้ทำ

เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ เห็นไหม กิเลสมันมีความต้องการมาก มันยุแหย่ให้เราทำความชั่ว พอทำความชั่วเสร็จแล้วกิเลสมันก็หายไป เพราะมันยุแหย่ให้มีความปรารถนาความต้องการ เราก็ทำตามแรงปรารถนา พอกิเลสมันไปแล้ว เห็นไหม กิเลสมันกระตุ้น พอกระตุ้นเราก็ทำกรรม พอทำกรรมเสร็จแล้วมันก็เป็นวิบาก วิบากตกที่ไหน ตกอยู่ที่จิต ที่มันเป็นคนทำไง

เจตนา เราคิดดีสิ เราคิดดีนะ อู้หู วันนี้มีความสุข คิดถึงเพื่อนฝูงที่ดี เรามีความชุ่มชื่น ถ้าเราคิดอาฆาตมาดร้าย เราคิดทำลายเขา มีอยู่ในจิต เห็นไหม ความคิดอันนั้นล่ะ คือมโนกรรม แล้วใครเป็นคนคิด จิตเป็นคนคิด ผลตกกับใคร ก็ตกอยู่กับจิตดวงนั้น ถ้าเราเป็นคนที่คิดทำลายคนตลอดเลย คิดแต่เบียดเบียนเขาตลอดเลย เราจะเป็นคนที่มีนิสัยเอารัดเอาเปรียบคนอื่นตลอดไป แต่ถ้าเราเป็นคนมีหัวใจที่ดี หัวใจที่เป็นสาธารณะ เราจะคิดเผื่อแผ่ เราจะคิดถึงแต่สิ่งที่ดีๆ จะไปอยู่ที่ไหน เราก็มีแต่ความดีทั้งนั้น

กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เห็นไหม เผ่าพันธุ์มันตกลงที่ใจนั้น ความคิดดีและชั่วมันตกลงที่ภวาสวะ ภพ ใจ คือ ภพ ใจคือสถานที่ ความคิดคืออาการของใจ อาการที่เคลื่อนไหว คิดเสร็จแล้วผลก็ตกกับใจดวงนั้น กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มันเป็นเผ่าพันธุ์อย่างนี้ ทำดีจะได้ผลดีตลอดไป

ปัจจุบันนี้ ทุกคนจะคิดแบบวิทยาศาสตร์ไง ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยทำชั่วเลย เรามีลูกศิษย์คนหนึ่ง น่าสงสารมาก พ่อแม่เป็นหมอ ลูกก็เป็นหมอ แล้วพอไปปฏิบัติแล้วหลง หลุด แล้วมาหาเรานะ น้อยใจมาก เขาบอกว่า “หลวงพ่อ ถ้าลูกผมนะมันเกสักหน่อยหนึ่ง หรือมันทำตัวไม่ดีสักหน่อยนะ ผมจะไม่เสียใจเลย ก็ผมเลี้ยงของผมมาเอง ตั้งแต่เกิดมานี่ดีน่าดูเลย รักเพื่อน เสียสละมาตลอดเลย” เป็นคนดีในสายตาพ่อแม่ ดีสุดๆ เลย แล้วพอมาปฏิบัติ ทำไมหลุดไปได้ไง คือ เสียสติ ก็ทำกรรมดีมาทั้งชีวิต แล้วมันมาเสียสติอย่างนี้ได้อย่างไร “ถ้าลูกผมนะมันมีความผิด หรือมันทำอะไรที่มันผิดพลาด แล้วมันแสดงผลออกมาอย่างนี้ ผมจะไม่เสียใจ แต่นี่ผมเสียใจมาก เพราะว่า ลูกผมเป็นคนดีมากๆ เลย”

แต่ทีนี้ เขาดูแต่กรรมในปัจจุบันไง เขาไม่ดูกรรมเก่า เขาไม่ดูกรรมที่สร้างมา

คนเรานะ ดูสิ อย่างพระโมคคัลลานะ เป็นพระอรหันต์ เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย เหาะเหินเดินฟ้าได้ด้วย ทำไมยังยอมให้โจรมันทุบล่ะ เวลาที่โจรมันจะมาทุบนี้ มันมีเหตุ เหตุในปัจจุบันคือว่า พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เผยแผ่ธรรมขึ้นมา เวลาพระพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เห็นไหม พระโมคคัลลานะก็ไปเที่ยวสวรรค์ พอรู้เสร็จแล้วลงมาก็บอกว่า “บ้านนี้มีคนตายไปเกิดบนสวรรค์ชั้นนั้นๆ”

พระพุทธเจ้าก็บอกว่า “ถูกต้องๆ”

พระโมคคัลลานะนี้ก็เหมือนกับเซลล์เผยแผ่ศาสนา เซลล์นี้ก็ไปกว้างหมดเลย

ทีนี้คนที่จะทำลายศาสนา เขาปรึกษากันว่า จะทำลาย จะต่อต้านไม่ให้ศาสนาพุทธเจริญได้ ต้องทำอย่างไรก่อน ก็ต้องฆ่ามือขวาก่อน ต้องฆ่าแม่ทัพ แม่ทัพคือใคร คือ พระโมคคัลลานะ

อันนี้คือเหตุผลในปัจจุบัน แต่เหตุผลของกรรมในอดีต เห็นไหม เพราะเคยได้ทำลายแม่

พอเขาว่าอย่างนั้น ต้องฆ่าแม่ทัพก่อน เขาก็ให้คนมาฆ่า จ้างคนฆ่าเหมือนสมัยเรานี้ก็จ้างมือปืน แต่สมัยโบราณมันไม่มี เขาเรียกนักเลงหัวไม้ พอจ้างมาทุบทำลาย พระโมคคัลลานะก็รู้หมดล่ะ พอมานะ ก็เหาะไปก่อนแล้ว หากูไม่เจอหรอก มาครั้งที่ ๒ ก็เหาะไปแล้ว พอมาครั้งที่ ๓ “เอ๊ะ ทำไมเป็นแบบนี้” ก็มาพิจารณาของตัว ลงใจว่าเคยทำร้ายแม่ไว้

พอเคยทำร้ายแม่ไว้ พวกเราก็นึกว่ามันเป็นสิ่งที่ว่า เป็นความไม่ดีของพระโมคคัลลานะ มันก็ไม่ใช่อีก

สมัยหนึ่ง พระโมคคัลลานะเป็นลูกที่ดีมาก แม่กับลูกอยู่ด้วยกัน ๒ คน แม่ก็อยากให้ลูกเป็นฝั่งเป็นฝา อยากจะหาคู่ครองให้ลูก แต่ลูกไม่เอา อย่างไรก็ไม่เอา ไม่อยาก ไม่เอา ไม่ต้องการใคร เพราะรักแม่อยากอยู่กับแม่ ไอ้แม่ก็อยากให้ลูกได้เป็นฝั่งเป็นฝา ก็อุตส่าห์ไปหาคู่มาให้ ได้เรื่องเลย! พอหามาปั๊บ แม่ตาบอด ลูกสะใภ้เวลาที่อยู่กับแม่ อยู่บ้าน ก็ไม่ดูแลเลย พอพระโมคคัลลานะไปป่า ไปหาอยู่หากินกลับมา ก็เอาข้าวมาทำโรยไว้ แล้วบอกว่า แม่ทำผิดอย่างนั้น แม่ทำให้ลำบากอย่างนั้น แม่ทำให้หนูลำบาก เป่าหูทุกวัน

เป่าหูจนคิดว่าจะทำอย่างไรดีล่ะ ทีแรกก็ไม่ต้องการ ใช่ไหม แม่หามาให้เอง แต่พอเป่าหู ก็รัก ก็ตัดสินใจบอกแม่ว่า จะไปเยี่ยมญาติ เอาแม่ขึ้นเกวียนไป คือจะเอาไปทำลาย พอไปถึงกลางทาง ก็ทำเสียงดังบอกแม่ให้จับเชือกไว้ แล้วก็ลงไปข้างล่าง จะไปทำธุระไง พอลงไปแล้ว ตัวเองนั้นล่ะ เพราะแม่ตาบอด ลงไปก็ทำเสียงดังว่าโจรปล้น โจรปล้น คือว่าเป็นโจรบุกรุกเข้ามา มาตีแม่ พอตีแม่ เพราะลูกลงไปใช่ไหม แม่ก็รู้อยู่ แม่เป็นคนจับเชือกอยู่ พอตีแม่ แม่ก็ห่วงลูกใช่ไหม “ลูกอย่ามานะ โจรมันมานะ ลูกอย่ามานะ” ไอ้คนตีมันสะเทือนใจนะ ตีแม่นะก็จะฆ่านั่นแหละ พอตีแม่ แม่ก็บอก “ลูกอย่ามานะ ลูกหนีไปเร็ว ลูกหนีไปเร็ว โจรมันปล้น ลูกหนีไปเร็ว” คนโดนตีมันยังคิดถึงเราอยู่เลย “ไอ้เสือถอย” ทำถอยเลยนะ แล้วกลับมา ทำกระหืดกระหอบกลับมาว่า “มาแล้ว มาแล้ว มาช่วยแม่”

จิตใจเขาเป็นคนดีนะ แต่ดูวัฏวนสิ สิ่งที่เขาเห็นผิดกัน แล้วเขาพูดโน้มน้าวเห็นไหม ใจมันเป็นได้ชั่วคราว เสียใจมาก ก็เอาแม่กลับบ้าน พอเอากลับไปก็ตายกลางทาง กรรมอันนั้นทำให้ตกนรกอเวจีมหาศาลเลย สุดท้ายก็มาเกิดเป็นพระโมคคัลลานะ

เราจะบอกว่ามันมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมในอดีตที่ทำไว้ ตั้งแต่ยาวไกล คำว่ายาวไกลไม่ใช่อะไร เพราะตกนรกอเวจีขนาดนั้น แล้วกว่าจะมาเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายได้ อัครสาวกต้องมีแรงปรารถนา ต้องสร้าง เหมือนพระพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย

อัครสาวกกับสาวก มีค่าต่างกันเห็นไหม เวลาทำบุญกับพระอรหันต์ ทำบุญกับพระพุทธเจ้าจะได้บุญมากที่สุด รองลงมาก็พระปัจเจกพุทธเจ้า รองลงมาก็พระอัครสาวก รองลงมาถึงพระอรหันต์ เห็นไหม ทำไมพระอรหันต์ถึงต่างกันตรงนี้ล่ะ

ต่างกันตรงนี้ไง ต่างกันที่ คนที่สร้างมาได้มากกว่า คนก็จะได้บุญกุศลได้มากกว่า ไปดูในพระไตรปิฎกสิ พระไตรปิฎกบอกไว้เลย เห็นไหม

เขาถามว่า “ทำบุญกับใครได้บุญมากที่สุด”

พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า อัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวา แล้วมาถึงสาวก สาวกะ สาวก คือ พระอรหันต์ จากพระอรหันต์ก็ลงมาพระอนาคามี พระสกิทาคามี ลงมาเรื่อย จนถึงที่สุดแล้ว ถ้าไม่มีพระเลย ให้ทำอย่างไร ให้ทำสังฆทาน

เดี๋ยวนี้ จะเห่อสังฆทานกันมาก อะไรก็สังฆทาน ถ้าไม่ได้ทำสังฆทานคือไม่ได้บุญนะ สังฆทานมันเป็นจากเรา

กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เป็นเผ่าพันธุ์จริงๆ แต่พวกเราไม่รู้ไม่เห็น พวกเราจะตัดตอนเอาเฉพาะในชาติปัจจุบันนี้ไง แต่มันเป็นเผ่าพันธุ์ เราพูดบ่อย ตรงนี้เราเน้นมาก แต่เราไม่พูดตรงๆ ไง

ถ้าเราจะพูดให้เห็นเป็นวิทยาศาสตร์ เห็นไหม เวลาเราเทศน์ เราก็พูดวิทยาศาสตร์เหมือนกัน แต่เราดูถูกวิทยาศาสตร์น่าดูเลยนะ แต่เราก็อ้างวิทยาศาสตร์ เราจะบอกว่า พันธุกรรมทางจิต คือ การสร้างมาจนเป็นจริตนิสัย นี่แหละกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ ถ้าเอ็งไม่ได้สร้างมา เอ็งไม่ได้ตัดแต่งพันธุกรรมของมันมาเอง เอ็งจะมีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ได้อย่างไร คนที่นึกคิดสิ่งที่ดีๆได้นั้น นี่แหละกรรม นี้ล่ะกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ จิตมันได้พัฒนามาแต่ละชาติ ภพชาติหนึ่งก็ได้ดัดแปลง ได้เปลี่ยนแปลงนิสัยของตัวทีหนึ่ง คือได้สร้างคุณงามความดี แล้วตกผลึก ตกผลึก ตกผลึกลงที่ใจ เมล็ดพันธุ์อันนี้ คือ พันธุกรรมของมัน

พอพันธุกรรมของมัน มาเกิดเป็นเราแล้ว มุมมองทัศนคติทั้งหมด มาจากกรรมทั้งหมดเลย สิ่งที่เป็นไปนี้มันมาจากกรรมทั้งหมด ดูสิ คนโทสจริตนะ อย่าได้แตะนะ ผลั้วะ! ปรอทขึ้นเลย เห็นไหม โลภจริต โทสจริต โมหจริต จริตของคน ในโทสะก็มีโทสะอย่างแก่ โทสะอย่างปานกลาง โทสะอย่างอ่อน นี่ไง แม้แต่ในโทสจริตด้วยกัน ก็ยังไม่เท่ากัน ไม่มีใครเท่ากันหรอก

เราถึงโต้แย้งมาก ไอ้ที่ปฏิบัติกันพอเป็นพิธีนั้น ให้ทำเหมือนกันหมดเลย เป็นกองทหารเลย มันเป็นไปไม่ได้ ! มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

การปฏิบัตินี้มันเหมือนกับช่างศิลป์นะ ช่างเขียนต้องเขียน ต้องทำอย่างนั้น ไอ้เรื่องที่ทำเป็นอุตสาหกรรมแล้วปั๊มออกมา ไม่มี! เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แล้วการสอนตายตัวเป็นวิทยาศาสตร์อย่างนั้น ก็ผิดหมด!

มันอยู่ที่อาการไข้ของคน อยู่ที่ร่างกายจะมีความแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน ถ้าร่างกายอ่อนแอ ไข้เพียงเล็กน้อยมันก็ตายได้ คนเราที่ร่างกายเข็งแรงขึ้นมา ถึงไข้มันจะหนักหนาแค่ไหน ถ้าร่างกายแข็งแรงมันก็สู้ได้ ถ้าใจมันสู้ มันก็รักษาได้ ไม่มีอะไรเป็นสูตรสำเร็จหรอก การปฏิบัตินี้ไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มี ถ้ามีสูตรสำเร็จนั้นคือผิดหมด แสดงว่าไม่เคยทำ

กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ อยากจะพูดทั้งวันนะไอ้กัณฑ์นี้ เพราะตัวอย่างมันเยอะ ยกตัวอย่างได้ทั้งวันเลย กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มันเห็นไง คำว่ากรรมเป็นเผ่าพันธุ์ อดีตชาติ การสืบต่อมา แต่เราไม่เห็นตรงนี้กัน เราไปเห็นแต่ว่าเกิดแล้ว เวลาตายไป ตายแล้วก็จบนะ มันจบที่ไหน ถ้ามันตายแล้วจบนี้ มันไม่มีหรอก เราคิดมุมกลับว่า เมื่อก่อนจิตหนึ่ง คนเราสมัยก่อนมี ๑๖ ล้าน สมัยเราเด็กมี ๑๖ ล้าน แต่ตอนนี้มี ๖๐ ล้านแล้ว แล้วมันมาจากไหน แล้วไหนบอกว่า พอมันตายแล้วก็สูญไง

จิตมันจะเกิดอีกมหาศาลเลย ดูสิ เดี๋ยวนี้ วิทยาศาสตร์เจริญ เห็นไหม วิทยาศาสตร์การแพทย์เจริญมาก เดี๋ยวนี้อัตราการตายน้อยลง หกพันกว่าล้านรอบโลก แล้วถ้าเกิดมาจนมีเก้าพันล้าน หมื่นล้านนะ ข้าวจะไม่พอกิน เมื่อก่อนปีหนึ่งทำหนเดียว เดี๋ยวนี้ปีหนึ่ง ทำถึง ๓ หน ยังไม่พอกินเลย ทรัพยากรถูกใช้ไปมาก พอยิ่งใช้มากขนาดไหน เห็นไหม เดี๋ยวนี้โลกร้อน แล้วพยายามจะลดโลกร้อน คาร์บอนไดออกไซด์ที่ขึ้นไปแล้วนี้ มันจะอยู่อีก ๓๐๐ ปี อีก ๓๐๐ ปีโน้นล่ะกว่าเราจะแก้โลกร้อนนี้หาย

แล้วเราไปคิดกันนะ พวกฟอกซิลต่างๆ ทำให้เกิดโลกร้อน ร่างกายมนุษย์นี่แหละ ความเป็นอยู่ของมนุษย์ ของเสียจากร่างกายมนุษย์นี้ทำให้โลกร้อน แล้วมันจะกลับมาทำลาย โลกมันก็จะปรับตัวไป มันจะหมุนเวียนไป ถึงเวลาแล้ว มันต้องปรับตัวของมัน แล้วมนุษย์พอมันถึงเวลา เห็นไหม ดูสิ เวลาเกิดวาตภัย เกิดต่างๆ มันต้องปรับตัวของมัน ดูเวลาแผ่นดินไหวสิ มันกวาดไปหมดเลย

แล้วเวลาเกิดนี้ จิตนี้มาจากไหน จิตจะเกิดอีกมหาศาล การเกิดเป็นมนุษย์นี่คืออริยทรัพย์ เวลาเกิดเป็นมนุษย์นี่คืออริยทรัพย์เพราะอะไร เพราะเกิดเป็นมนุษย์แล้ว มันมีปากมีท้อง มันมีกฎหมายคุ้มครอง มันมีทุกอย่างนะ ถ้าเกิดเป็นสัตว์ รถชนหมาตายก็ไม่มีความผิด มีแต่เราไปเกิดอุบัติเหตุแล้ว สัตว์มันเป็นเดรัจฉาน มนุษย์เราถือว่าตัวมีคุณค่าไง

แต่ความจริง พระโพธิสัตว์ก็เกิดเป็นเดรัจฉานเหมือนกัน พระโพธิสัตว์เกิดเป็นกวาง เห็นไหม เป็นกระต่าย เป็นนก สัตว์เป็นพระโพธิสัตว์ก็ได้ เสวยชาติๆ หนึ่ง นั่นมันเรื่องของกรรมนะ

เราจะปูพื้นไปก่อน เดี๋ยวจะไปหนักๆ ข้างหน้านะ

ถาม : การถวายของพระสงฆ์ ถ้าไม่ได้ประเคนเอง เราจะได้บุญนั้นเท่ากับคนที่นำไปประเคนหรือไม่

หลวงพ่อ : ถ้าพูดไปแล้วจะยุ่งน่าดูเลย โลกแตก

ในสมัยพุทธกาลมันมีลูกกษัตริย์ อยากจะอุปัฏฐากพระพุทธเจ้ามาก แล้วกษัตริย์ก็หวงกันมาก กษัตริย์เวลาที่มีศรัทธามาก ก็จะนิมนต์พระพุทธเจ้าไปฉัน เขาเรียกว่า อังคาสภิกษุด้วยมือนี้ จะได้บุญเยอะมาก

ฉะนั้นพอออกไปรบทัพจับศึก จนชนะกลับมา มาถึงก็ขอพ่ออย่างเดียว ขอพ่อให้ได้ประเคนของ ๗ วัน ขอพ่อเลยนะ ขอให้ได้ประเคนของพระพุทธเจ้า ๗ วัน เพราะเขาศรัทธา เขาอยากได้บุญของเขามาก เมื่อก่อน เขาจะอังคาสภิกษุด้วยมือ ใครที่อังคาสภิกษุด้วยมือ สังเกตได้ในพระราชวัง เห็นไหม เวลาในราชวังเขานิมนต์พระไปฉัน พอเขาประเคนแล้วจะนั่งเฝ้าเลยเห็นไหม ประเพณีมันเป็นมากันอย่างนั้น

ทีนี้ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ ทุกคนก็จะเข้ามาประเคนกันหมดเลย แต่บางอย่างนั้น ดูอย่างที่เขาพูด เห็นไหม ที่เขาบอกว่า เวลาใส่บาตรพระ ถ้าไม่ใส่น้ำจะไม่ได้กินน้ำ โอ้โฮ พระก็เลยต้องแบกกันจนต้องเอาสิบล้อไปใส่นะ แล้วถ้ามันบิณฑบาตใกล้ๆ มันก็พอทนเนาะ อย่างของเรานี้ ๗- ๘ กิโล(เมตร) เวลาใครใส่น้ำนะจะโกรธฉิบหายเลย

เราบอกว่า “โยม สวรรค์เขาไม่กินน้ำอย่างนี้กันหรอก เขากินน้ำทิพย์ ”

โอ๊ย..ใส่มากันทีละ ๒ ขวด ๓ ขวด หิ้วกันมาแบกกันมา แล้วต้องขึ้นเขามาด้วย เราสอนเขาไง เราบอกเขาเลยว่า ไอ้ที่เขาไปเห็นนี้ เขาไปเห็นแต่เฉพาะที่ยมบาล เวลาไป มันจะเป็นอย่างนั้น เวลาใครทำอะไรไป จะได้อย่างนั้น แต่ไอ้อย่างนี้ มันยังเป็นสิ่งที่เราสัมผัส แต่เวลาไปที่ยมบาลปั๊บ จากนั้นก็ตกนรกไป ตัดสินว่าคนนี้ตกนรก ตัดสินว่าคนนี้ไปเป็นเทวดา มันก็ไม่เอาอันนั้นไปแล้ว

อย่างที่พูดตอนเช้า หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่า “บนสวรรค์ไม่มีตลาดนะโว้ย” เราคิดสิว่า ถ้าเราไม่มีร่างกาย เราไม่มีปาก เราไม่มีธาตุ ๔ ไม่มีน้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงในร่างกาย แล้วมึงจะเอาน้ำไปทำไม ในเมื่อมึงไม่มีเลือด มึงไม่ต้องการน้ำ มึงไม่มีเหงื่อออก มึงไม่มีน้ำหมุนเวียนในร่างกาย แล้วจะเอาน้ำไปทำไม มึงจะกินน้ำอย่างนี้หรือ เทวดากินน้ำอย่างนี้ไหม เทวดาเขาไม่มีร่างกาย ไอ้คนเห็นนั้นมันไปเห็นอยู่แค่จุดเดียวในวัฏฏะ แล้วมันก็มาโม้ว่าต้องทำอย่างนั้น ๆ ชาวพุทธนี่ก็โง่ฉิบหายเลย ในพระไตรปิฎกมีเยอะแยะ

ถึงเวลาถ้าเราไปฉันที่บ้านหรือในที่สมควร เราก็ทำ แต่บางที่มันเป็นไปไม่ได้ ดูอาหารสิ เห็นไหม ดูอย่างเมืองจีนนี้เป็นเมืองกว้างขวางมาก ชายทะเล อาหารชนิดเดียวกันแต่มันมีส่วนผสมต่างกัน อาหารชนิดนี้ไปอยู่บนภูเขา ไปอยู่ทางภาคเหนือของเมืองจีน ไม่มีอะไรจะกินนะ เพราะอะไร เพราะมันอยู่ไกลมาก อาหารชนิดเดียวกันแต่เขาก็ดัดแปลงจนเป็นอาหารของเขาได้ใช่ไหม

แม้แต่มนุษย์เขายังรู้จักดัดแปลงเลย แล้วนี่วัฏฏะมันคนละเรื่องเลยนะ โอ๊ย ใส่น้ำกัน พอพูดก็เชื่อกันนะ มันก็บ้า แล้วถ้ามันทำได้มันก็ควรทำ นี่ก็เหมือนกัน ถวายของสงฆ์แล้วถ้าไม่ได้ประเคนด้วยมือ เราจะพูดอย่างนี้ เราจะบอกว่า ถ้ามันมีโอกาส มันจำเป็น มันทำได้ มันก็ควรทำ เพราะมันเป็นผลประโยชน์ของเรา

แต่ถ้ามันทำไม่ได้ พอทำไม่ได้ปั๊บ แล้วเราก็ไปวิตกกังวล โอ้โฮ วันนี้ทำบุญแล้วไม่ได้บุญเลย วันนี้ทำบุญแล้วได้ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ วันนี้ทำบุญแล้วได้ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ทำบุญอย่างนี้นะมันจะไม่ได้อะไรเลย เพราะมันวิตกกังวลนี่ไง ปฏิคา ๖ ผู้ให้ก็ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ถ้าเราประเคนได้เราทำได้ มันก็สมควรเพราะมันเป็นประเพณีวัฒนธรรมของเรา

แต่ถ้ามันทำไปแล้ว มันไปกีดขวางกัน มันไปทำให้สิ่งที่ควรจะได้ความดีกว่านี้ มันขาดตกบกพร่องหรือกระทบกระเทือนกัน เราไปทำทำไม เพราะอะไร ทาน ศีล ภาวนา เอ็งจะทำบุญขนาดไหนนะ เอ็งก็ยังไม่ได้ภาวนา ถ้าภาวนามันได้บุญมากกว่านั้นอีก เพราะภาวนานี้มันดัดแปลงแก้ไขหัวใจเลย ทำบุญนี้มันเป็นอามิสนะ

ขนาดพระพุทธเจ้านะ มันมีคนหนึ่งเป็นเศรษฐี รวยมากแต่ขี้เหนียว ขี้เหนียวสุดๆ เลย มีลูกชายอยู่คนหนึ่ง ลูกชายป่วยไข้ จะเรียกหมอมารักษาลูก ก็ไม่อยากให้เข้ามาในบ้าน กลัวมาเห็นเงินไง ก็เอาลูกไปทิ้งไว้ที่หน้าบ้าน มีเงินเต็มไปหมดเลยนะ แต่ขี้เหนียวจนไม่กล้าเรียกหมอมารักษาลูก ทีนี้พระพุทธเจ้ารู้ไงว่า เด็กคนนี้มันจะตาย เช้าขึ้นมา แต่ขี้เหนียว พ่อนี่สลึงหนึ่งไม่มีให้กระเด็นเลยล่ะ

พระพุทธเจ้าก็เดินบิณฑบาตมา ฉายแสงฉัพพรรณรังสีมา ไอ้เด็กคนนั้นมันหันไปเห็นแสงจากพระพุทธเจ้า “โอ้โฮ พระพุทธเจ้า” ก็มีความสุขมาก พอมีความสุขเสร็จแล้วมันก็ตาย แค่นี้ก็ไปเกิดเป็นเทวดา พอไปเกิดเป็นเทวดาเสร็จปั๊บ เป็นเทวดาใช่ไหม เทวดาก็จะเห็นหมด เพราะเป็นเรื่องของจิต ไม่มีอะไรปิดกั้นได้เลย เห็นพ่อนะ พ่อพอลูกตายก็ทำงานศพ เสร็จแล้วก็ไปฝังไว้ เช้าขึ้นมาก็ไปนั่งร้องไห้ คิดถึงลูก

ลูกชายก็ไปเกิดเป็นเทวดา ก็มีความสุขมาก ก็คิดว่า ความสุขนี้ได้มาจากไหน ความสุขนี้ได้มาจากพระพุทธเจ้า แค่ทำแสงให้เราเห็น เราแค่มองพระพุทธเจ้าเท่านั้น แค่หันมามองพระพุทธเจ้า ก็ได้บุญขนาดนั้น โอ ความสุขนี้เราได้มาจากพระพุทธเจ้า มองไปเห็นพ่อ ก็สงสารพ่อมาก พ่อขี้เหนียวน่าดูเลย ถ้าไม่ทำอะไรเลย พ่อก็จะไม่ได้อะไรเลยนะ พ่อจะตายไปเป็นเปรต สุดท้ายพอจะแก้ไขพ่อนะ

ก็ลงมาก่อนเลย เทวดาเนรมิตตัวให้เป็นบุรุษก็ได้ เช้าขึ้นมาก็มานั่งร้องไห้ที่หลุมศพก่อนเลย ในพระไตรปิฎกนะ ถึงเวลาเช้าก็มานั่งร้องไห้ โฮๆ เลยนะ ไอ้พ่อมาก็จะมานั่งร้องไห้ อ้าว ใครมาร้องไห้ก่อนกูวะ มานั่งก็มาดูนะ ถามเทวดาที่ปลอมเป็นมนุษย์ว่า มานั่งร้องไห้ที่นี่ทำไม ก็มาร้องไห้อยากเอาดาวเอาเดือน ไอ้พ่อก็ถามว่ามึงจะบ้าหรือ ดาวเดือนจะเอาได้อย่างไร ไอ้ลูกก็สวนพ่อกลับเลยนะ แล้วมึงจะบ้าหรือ คนตายไปแล้วร้องไห้ มันจะกลับมาได้อย่างไร ฟื้นเลย นี่ไงแค่เห็นแสงนะ

แล้วถ้าเราไปประเคนของ ถ้ามันทำได้เห็นไหม ไอ้เรื่องประเคนก็ส่วนประเคนนะ แต่ถ้าเรื่องเราทำบุญแล้วจิตใจเราดีขึ้นเห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา การภาวนาของเรา ความดีกว่านี้ยังมี ไม่ใช่ว่า จะทำบุญนะ ก็ต้องมาประเคนพระ ประเคนพระ มึงจะเอาแค่ประเคนพระหรือ มึงจะไม่เอาที่ดีกว่านี้อีกหรือ

เขาถามเฉพาะประเด็น แล้วถ้าคนตอบ ตอบแค่ประเด็นเดียว ต่อไปนะ มึงก็จะเรียงแถวมาเลย จะประเคนอย่างเดียว ประเคนได้ก็ดี แต่ถ้าประเคนไม่ได้ เราก็ประเคนด้วยใจก็ได้ เราเห็นคุณงามความดีก็ได้ เราจะทำสิ่งใดก็ได้ แต่ประเคนดีกว่าไม่ประเคนแน่นอน เวลาตอบนี้ มันจะเป็นประเด็นนะ

แล้วในสมัยพุทธกาลก็มีนะ กษัตริย์นี้อยากทำบุญมาก แล้วไม่มีเวลาไง ไม่มีเวลาทำบุญก็ให้มหาดเล็ก ให้ทหารตักบาตรแทนทุกวัน ไอ้ทหารที่มันตักบาตรนี้ ของมันที่ไหนไม่ใช่ของมันเลยนะ เป็นของกษัตริย์ แต่ตักบาตรด้วยความชื่นใจ เพราะอะไร เพราะศรัทธามาก เราเป็นคนจนแต่เราก็อยากทำ

ทีนี้กษัตริย์ไม่มีเวลาใช่ไหม ก็ให้ตักบาตรแทน เวลาตายลง กษัตริย์นั้นไปเกิดเป็นเทวดา แต่นั่งอยู่คนเดียว ไม่มีบริวาร เพราะเขาอยากทำบุญ ไอ้ข้าทาสบริวารไอ้คนตักอาหาร ไม่ใช่ของของเขานะ แต่เขาตักด้วยหัวใจ เขาไปเกิดเป็นเทวดาชั้นเดียวกัน โอ้โฮ แต่มีบริวารของเขาเต็มไปหมดเลย เจ้าของไง เจ้าของทำแต่ได้นั่งอยู่คนเดียว ไอ้คนที่ประเคนทำสิ่งที่ดีนี้ ไปเกิดแล้วมีเทวดาล้อมรอบเลย

เราจะพูดอย่างนี้นะ ถ้าไปเกิดเป็นเทวดาแล้ว พอหมดจากวาระของเทวดา เราก็ต้องเกิดมาเป็นมนุษย์อีก เราไปเป็นเทวดาแล้วพอหมดจากวาระของเทวดา ถ้ามันมีกรรม เราก็ต้องไปเกิดในนรกอเวจี เทวดาก็เป็นจิตหนึ่ง เป็นชีวิตหนึ่ง แต่ถ้าเราเวียนในวัฏฏะ เราทำคุณงามความดีไป เราทำความดีกันมากเลย อย่างวันนี้เราทำความดีกันมากเลย ตายแล้วไปเกิดเป็นเทวดา แล้วเราวันนี้ล่ะเป็นอย่างไร แล้วคืนนี้ล่ะทำอย่างไร ก่อนที่จะไปเกิดเป็นเทวดา ในปัจจุบันนี้เราทำอะไร เราควรคิดถึงตรงนี้ด้วย ในปัจจุบันนี้ ถ้าเราทำดีตลอด เราจะไปเกิดเป็นเทวดาแน่นอน

ทีนี้ถวายของพระสงฆ์ ใช่ไหม เราจะบอกว่า ความดีมันไม่ได้อยู่ที่เฉพาะเรื่องทาน ความดีมันยังมีระดับของศีล ทำทานร้อยหนไม่ได้บุญเท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง เราถือศีลให้บริสุทธิ์ร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับภาวนาทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาหนหนึ่ง ประเคนร้อยหนพันหนไม่เท่ากับเราทำศีลเราให้บริสุทธิ์หนหนึ่ง แล้วถ้าศีลเราบริสุทธิ์ร้อยหนพันหน ไม่เท่าเกิดปัญญาจากการภาวนาหนหนึ่ง เพราะเราจะหลุดพ้นไปเลย

ถาม : อันนี้จะเป็นปัญหานิดนึง ภาวนาแล้วจิตสงบเป็นสมาธิยาก เราจะใช้วิธีดูจิตไปเลยได้ไหมครับ (แนวทางพระ..........)

หลวงพ่อ : ดูจิตไปเลยนี่ ภาวนาเป็นสมาธิยาก คำว่าเป็นสมาธิยาก อย่างเช่นเราจะมาวัด เรามาจากกรุงเทพฯ มาถึงวัดนี้ยากไหม มันก็ยาก มันเป็นทางไกล แล้วเวลาเราจะมาให้ถึงวัด เราจำเป็นจะต้องมาไหม ถ้าเราตั้งใจจะมาวัดนี้ เราก็ต้องเดินทางมาให้ถึงวัดนี้ใช่ไหม

เราทำสมาธิก็เหมือนกัน สมาธิมันจะยากหรือมันจะง่าย ถ้าเราตั้งใจจะทำสมาธิ เราก็ต้องทำสมาธิให้ได้ การทำสมาธินี้มันมีหลากหลายวิธีมหาศาลนัก เหมือนเราจะมาวัดนี้ เราจะมาโดยรถส่วนตัวของเราเองก็ได้ หรือเราจะอาศัยรถคนอื่นมาก็ได้ เราจะมารถเมล์ก็ได้ เรามาได้หลายวิธีการนัก เราจะมีวิธีการได้มากขนาดไหน ฉะนั้นถ้าบอกว่าเราทำสมาธิได้ยาก แล้วเราจะใช้วิธีดูจิตไปเลยได้ไหม

วิธีดูจิตมันคืออะไรล่ะ ถ้าวิธีดูจิตมันทำสมาธิได้จริง แต่วิธีดูจิตมันก็ไม่ได้ทำทางสมาธิ ทีนี้วิธีดูจิตอย่างที่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอน ดูจิตรู้จิต แต่ ดูจิตรู้จิต ของหลวงปู่ดูลย์นั้น ท่านดูรู้แล้วให้มันมีวิวัฒนาการ ท่านไม่ได้บอกว่า ดูจิตรู้จิตแล้วมันจะถึงธรรม จะเป็นธรรมะขึ้นมา มันเป็นไปไม่ได้ เพราะคำว่าแนวทางของเขา เขาบอกว่าให้ดูจิตจนเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา เป็นธรรมดาวิมุตติ ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้

แต่ถ้าดูจิตโดยมีสติสัมปชัญญะ เห็นไหม มันสำคัญตรงนี้ไง สัมมาทิฏฐิ- มิจฉาทิฏฐิ สัมมาสมาธิ-มิจฉาสมาธิ สัมมาสติ-มิจฉาสติ สติก็มีมิจฉามีสัมมานะเว้ย ทุกอย่างมีผิดมีถูกในตัวมันเองทั้งนั้น

ดูสิ เวลาคนปฏิบัติไป เขาบอกเลยนะ

ครูบาอาจารย์ หลวงตาท่านพูดบ่อยเห็นไหม เวลาท่านเป็นธรรมขึ้นมา ท่านไปหาหลวงปู่มั่น ท่านพูดด้วยความองอาจกล้าหาญ แล้วก็คอยดูหลวงปู่มั่นท่านจะว่าอย่างไร หลวงปู่มั่นก็ยอมรับนะ เดี๋ยวนี้พระนะมาถึงก็องอาจกล้าหาญมาก แต่องอาจกล้าหาญอย่างมึงนี้ในคุกมีเยอะแยะเลย เวลามันจะปล้น ดูสิ มันกล้าหาญกว่ามึงอีก กล้าหาญนี้มันก็มีถูกมีผิด กล้าหาญในทางที่ผิด มันก็ผิดสุดๆ เลย กล้าหาญในทางที่ถูก มันก็ถูกสุดๆ เลย มันมีสัมมามีมิจฉา

ดูจิตก็เหมือนกัน มันมีผิดมีถูก ถ้ามีถูก ถูกหมายถึงว่า อย่างหลวงปู่ดุลย์ท่านสอนเห็นไหม มีพระปฏิบัติไปหาหลวงปู่ดูลย์มาก พอดูจิตแล้วเข้าไปหาหลวงปู่ “ดูแล้วเป็นอย่างนั้นครับ” “นี่มันอาการไม่ใช่จิต” ท่านจะพูดอย่างนี้เลย หลวงปู่ดูลย์ท่านจะสอนอย่างนี้เลย พอดูจิตไปเรื่อยๆ พอดูจิตแล้วขึ้นไปบอกท่านว่า “ดูจิตแล้วเป็นอย่างนั้นๆ ” มันเหมือนเซนนะ “ดูจิตแล้วเป็นอย่างนี้” ท่านบอกว่า “ไม่ใช่จิต เป็นอาการของจิต ให้กลับมาดูอีก”

ความคิดทั้งหมดที่ส่งออก มันเป็นสมุทัย เป็นความทุกข์ ต้องหยุดความคิด ดูจิตเห็นไหม มันเห็นความคิด ความคิดมันหยุดหมด ถ้าความคิดหยุดหมด ตัวจิตมันจะเป็นพลังงานเฉยๆ แล้วเวลาตัวจิตนี้มันออกเสวย ออกกระทบ เพราะคนเราไม่คิดไม่ได้ พอไม่คิดไม่ได้ แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วมันไม่คิด มันอยู่ในตัวของมันเห็นไหม จิตเห็นอาการของจิต ธรรมดานี้จิตกับอาการมันอยู่ด้วยกันอยู่แล้ว ถ้าจิตกับอาการไม่อยู่ด้วยกัน พวกเราจะคิดกันไม่ได้ พวกเราจะคุยกันไม่ได้ พวกเราจะสื่อสารความรู้กันไม่ได้ เพราะมันต้องสื่อสารกันด้วยขันธ์ ด้วยความรู้สึก ที่เราคุยกันอยู่นี้ มันก็ คือ จิตกับอาการของจิต มันเป็นอันเดียวกัน กิเลสเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา ความรู้เป็นเรา เสียงที่รับรู้ เสียงดีเสียงชั่วเป็นเรา จิตกับความคิดความเห็นมันเป็นอันเดียวกัน มันถึงสื่อสารกันได้

พอเรามาดู ดูเพื่อให้มันแยกออกจากกัน ระหว่างความคิดกับจิต ถ้าความคิดกับจิตแยกออกจากกันไม่ได้ สมาธิก็เกิดไม่ได้ สมาธิคือมันปล่อยวางความคิดทั้งหมด การที่ปล่อยวางความคิด การดูจิตด้วยปัญญานี้มันจะปล่อยวางความคิดทั้งหมด ปล่อยวางความคิด เห็นไหม ถ้ามีสติ เราตั้งเป้าว่า เราต้องการทำความสงบของใจ นี่คือต้นถูกเห็นไหม หลวงปู่มั่นสอนประจำว่า “ต้นคดปลายตรงไม่มี”

ถ้าต้นมันคดปลายจะเข้าหาความจริงไม่ได้เลย แต่ถ้าต้นมันตรง ปลายมันถึงจะตรง เห็นไหม เราตั้งใจทำอะไร ถ้าไม่ทำสมถะ ไม่ทำสมาธิขึ้นมา ถ้าไม่ทำความสงบของใจขึ้นมา ความคิดทั้งหมดมันก็เป็นโลกียปัญญา ปัญญาของกิเลส จะมีการศึกษาสูงส่งขนาดไหน อย่างที่ว่าเมื่อกี้ที่ว่าจะเป็นนักกฎหมายขนาดไหน ถ้ามันไม่ได้ฝึกฝนกฎหมายแต่มันไปจำมา จำมาแล้วก็ยิ่งเก้ๆ กังๆ นะ ใช้ก็ใช้ไม่ถูก จำมาทำไม จำมากินก็กินไม่ได้ จำมาเพื่อเป็นวิชาชีพไปหากินใช่ไหม วิชาชีพมันก็ต้องมีเทคนิคของมัน

จิตก็เหมือนกัน จิตถ้ามันมีการศึกษา มันรู้มาขนาดไหน มันก็แก้มันไม่ได้หรอก พอมันแก้มันไม่ได้ ทีนี้คำว่า ดูจิต นี่มันเป็นศัพท์ของหลวงปู่ดูลย์ แต่ถ้าเป็นความจริง ความที่เต็มหัวใจของเรา ที่เราควรจะพูด เราจะใช้คำว่า “พิจารณาจิต” การพิจารณา คือ การค้นคว้า เราไม่ใช้คำว่าดู ดูคือเพ่ง แต่เราใช้ปัญญาเห็นไหม ใช้ปัญญาค้นคว้า ให้เห็นคุณเห็นโทษ

เราจะพูดประจำว่าเราจุดไฟเผาตัวเองนะ จุดความคิดแล้วเอาความคิดมาเผาเราๆๆ ความคิดของเราทำให้เราเร่าร้อนเอง แล้วดันดับไฟไม่เป็น ดับไม่ได้ แล้วพอจะดับขึ้นมา ก็เอาน้ำมันใส่เข้าไป แล้วนึกว่าดับไฟไง ยิ่งใส่เข้าไปมันก็ลุกใหญ่เลย

แต่ถ้ามีสติยับยั้งมัน เรายับยั้งมัน เราเอาฟืนออก เรายับยั้งความคิดต่างๆ นี่คือการพิจารณาการใคร่ครวญ พอจิตมันสงบเข้ามา ปัญญาอบรมสมาธินี้มันมีสติมันมีความรับรู้ พอรับรู้ขึ้นมาจิตมันก็สงบเข้ามา พอจิตสงบบ่อยครั้งๆ เข้า แล้วถ้ามันไม่สงบ เราก็ใช้ปัญญา

มันไม่ใช่ว่าจิตต้องเป็นสมาธิจนแนบแน่นแล้วจึงค่อยมาใช้ปัญญา ปัญญาในศาสนาพุทธเราเห็นไหม บอกว่าจะถือศีลก็ต้องมีปัญญานะ ถ้าไม่ถือศีลด้วยปัญญา จะถือศีลได้ไม่สะอาดบริสุทธิ์ ถ้าถือศีลมีปัญญามันจะรู้จักแยกรู้จักแยะ

นี้ก็เหมือนกัน การดูจิตมันก็ต้องใช้ปัญญา มันต้องแยกต้องแยะขึ้นมา ในแนวทางนั้นเราถึงไม่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยเพราะอะไร ไม่เห็นด้วยเพราะ เขาตั้งเป้าหมายไว้ผิดไง ว่า การดูจิต ดูไปเรื่อยๆ นี้ ดูจิตจนมันเป็นธรรมะไปเอง จิตเป็นธรรมดา

เราพูดบ่อยนะ ไม่ได้พูดประชด เราพูดให้เห็นภาพ เด็กเวลามันโกรธ เด็ก ๑- ๒ ขวบ ลูกหลานเราน่ารักไหม เวลาโกรธมันกระฟัดกระเพียด โอ้โฮ ดูมันน่ารักนะ ยิ่งกระฟัดกระเพียด อ้าว มันก็เป็นธรรมดา ความโกรธก็เป็นธรรมดาไง ลูกเล็กๆ เห็นไหม เวลามันโกรธ เรานั่งดูด้วยความเอ็นดู มันกระฟัดกระเฟียด โอ้โฮ มันแสดงตัวใหญ่เลย ความโกรธเป็นธรรมดาไหม ธรรมดา ก็โกรธต้องแสดงอาการอย่างนี้ ในเมื่อโกรธก็ต้องแสดงอาการ อย่างนี้โลภ โกรธ หลง ก็เป็นเรื่องธรรมดา ธรรมะเป็นธรรมดา อย่างนั้นกิเลสมันก็เป็นธรรมดาน่ะสิ ธรรมดาวิมุตติไง ไม่มีทาง

มันต้องเป็นปัญญาวิมุตติ แล้วปัญญาอย่างเด็กๆ ที่ว่านี้ มันจะเป็นวิมุตติไปไม่ได้ เพราะมันไร้เดียงสา

จะบอกว่า ธรรมะเป็นของไร้เดียงสา นิพพานเป็นความว่างที่ไร้เดียงสา

มันเป็นความว่างที่มีสติสัมปชัญญะนะโว้ย เป็นความว่างที่มีเจ้าของบริหารจัดการเว้ย ไม่ใช่ความว่างแบบไร้เดียงสา ที่มันจะขับเคลื่อนไปอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้หรอก

เพราะมันมีความเห็นผิดใช่ไหม เริ่มต้นก็บอกว่า ธรรมะเป็นธรรมดา แล้วพอเวลาพูดถึงขณะจิต ก็ต้องมีขณะจิตนะ เวลาไปถึงที่สุดแล้ว เราเห็นหนังสือของเขาที่ส่งมา เรามาดูที่ว่า ขณะจิตมันเป็นอัตโนมัติ มันฟ้องหมดนะ มันฟ้อง

แต่นี่เราจะบอกว่า ถ้าทำสมาธิได้ยาก “เวลาภาวนาจิตสงบเป็นสมาธิได้ยาก” เป็นสมาธิได้ยากนี้ เราก็ต้องมาหาเหตุหาผลสิว่าทำไมถึงเป็นสมาธิยาก เพราะมันเป็นสมาธิยากใช่ไหม หลวงตาท่านเวลาสอนพระ ท่านถึงบอกให้อดนอนผ่อนอาหาร เวลาผ่อนอาหาร ร่างกายมันไม่มีกำลัง ธาตุขันธ์ทับจิต เวลานั่งพุทโธๆ พุทโธมันเป็นแค่พิธี ถ้าพุทโธ พุทโธ แล้วมันจะเป็นสมาธิได้นะ เราก็อัดเทปพุทโธ เทปมันก็พุทโธๆ ตลอดเลยเพราะมันอัดเทปไว้หมุนได้ทั้งวันเลย พุทโธ พุทโธ แล้วมันเป็นอะไรล่ะ มันก็ไม่เป็นอะไรเลย เพราะมันเป็นเทป

แต่จิตเรา พุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วมันง่วง พุทโธแล้วมันหนักหน่วงเห็นไหม ใครง่วงใครหนักหน่วงล่ะ ก็จิตเรา แล้วทำไมเราไม่ช่วยมันล่ะ ทำไมเราไม่ผ่อนอาหารบ้าง ทำไมเราไม่กินแต่น้อย ทำไมไม่ถือศีล “สมาธิทำได้ยาก” ก็ยากสิ ก็มึงไม่รู้จักรักษา ไม่ตั้งสติ เราก็ต้องขวนขวายต้องหาทางให้มันง่ายสิ มันก็ต้องทำจิตให้สงบ ทีนี้ถ้ามันจะสงบได้ มันก็มีปัญญาอบรมสมาธิกับสมาธิอบรมปัญญา ทำสมาธิแล้วใช้ปัญญาใคร่ครวญเข้าไป หรือเราใช้ปัญญาขึ้นไป คำว่า ปัญญาอบรมสมาธิ ผลของมัน คือ สมาธิทั้งนั้น แล้วที่เขาทำกัน มันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิทั้งนั้น เพราะต้นทุนของเรา โดยจิตใช่ไหม จิตมันฟุ้งซ่าน จิตมันมีของมัน แล้วเวลาเรารักษาขึ้นมา ผลของมันก็คือสมถะ คือปล่อยวาง เพราะมันยังไม่เกิดภาวนามยปัญญาเลย

ภาวนามยปัญญามันต้องเกิดจากจิตสงบก่อน พอจิตสงบแล้วจิตออกรับรู้สิ่งต่างๆ ออกรับรู้โดยมีสติ สติ-มหาสติ สติรับรู้นะ รับรู้โดยสามัญสำนึก ที่มันเป็นไปนี้ สติมันรับรู้ พอมันละเอียดเข้าไป สติจะไม่ทันแล้ว เพราะมันเร็วมาก พออนาคามิมรรคนี้จะเป็นมหาสติมหาปัญญา เวลามันเป็นอรหัตตมรรคนะ มันเป็นปัญญาญาณ สติอัตโนมัติเลย แล้วสติอย่างนี้มาจากไหน ปัญญานี้มันเป็นขั้นเป็นตอน คนที่ภาวนาแล้วมันจะรู้เลยว่า การภาวนาขึ้นไปแต่ละขั้นตอน มันต้องลงทุนลงแรงขนาดไหน “ธรรมดา ธรรมดา” นี้มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าท่านสอน มันก็เรื่องของท่านนะ

ถาม : เวลาทำบุญกุศล อย่างเช่น ใส่บาตรทุกวัน แล้วตั้งจิตอธิษฐานปรารถนานิพพานเพียงอย่างเดียว จะมีส่วนช่วยให้ได้สำเร็จมรรคผลเร็วขึ้นหรือไม่ รักษาศีล ๕ ด้วย

หลวงพ่อ : ใช่ มีผล เรานั่งพุทโธ พุทโธ อยู่นี้ ผลของมันจะเป็นสมาธิได้ไหม เพราะเราบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าเราไม่บริกรรม จิตเราจะคิดไปตามธรรมชาติของมัน มันจะไปตามกิเลสตัณหาความทะยานอยากเลย แล้วแต่ข้อมูลที่มันมีมากขนาดไหน มันจะจินตนาการไปตามธรรมชาติของมันเลย เพราะเราไม่มีพุทโธ พอเรานึกพุทโธปั๊บ สิ่งที่มันจินตนาการ มันคิด มันต้องการไปนี้ มันจะทิ้งหมดเลย แต่มันต้องมาอยู่ที่พุทโธ เพราะเราบังคับด้วยสติ สติเราบังคับให้จิตเรามาคิดอยู่ที่พุทโธ พอจิตพุทโธมันมีงานทำ มันมีที่ตั้งแล้ว มันต้องอยู่ตรงนั้น

การทำบุญใส่บาตรทุกวัน แล้วตั้งจิตอธิษฐานปรารถนาพระนิพพาน เพียงอย่างเดียวนี้ มันจะมีส่วนช่วยให้ได้มรรคผลเร็วไหม ปรารถนานิพพานมันก็เหมือนพุทโธ เราปรารถนานิพพาน บารมี ๑๐ ทัศ ทานบารมี ศีลบารมี อธิษฐานบารมี บารมี ๑๐ ทัศของพระพุทธเจ้า ถ้าพระพุทธเจ้าไม่อธิษฐานมาเป็นพระพุทธเจ้า จะมาเป็นพระพุทธเจ้าได้ไหม เราไม่อยากเป็นพระอรหันต์กัน เราไม่อยากสิ้นกิเลสกัน เราจะมีการปฏิบัติไหม แล้วเราจะปรารถนาถึงพระนิพพานมันผิดตรงไหน

แต่ด้วยวิทยาศาสตร์นะ พระเทศน์กันบ่อยมากเลย ใครตักบาตรแล้วปรารถนานิพพานคือการค้ากำไรเกินควร มึงเคยค้าหรือเปล่าวะ มึงเคยค้าไหม สมัยพุทธกาลนะ มีทุคตะเข็ญใจ ทุคตะคือคนทุกข์คนยาก ใส่บาตรทัพพีหนึ่ง มีแค่ข้าวใส่บาตรไม่มีอะไรเลย แล้วอยากบวชมาก ไปหาใครก็ไม่มีใครบวชให้ เพราะเป็นคนจน คนไม่มีจะกิน คนไม่มีอะไรเลย ใครเขาก็ไม่บวชให้หรอก เขาก็อยากบวช เพราะอะไร เพราะเขาสร้างบุญของเขามา เขาขอบวชก็ไม่มีใครบวชให้ จนข่าวนี้ไปถึงพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าประชุมสงฆ์ พระพุทธเจ้าถามว่า ทุคตะเข็ญใจเคยมีคุณกับใครบ้าง พระสารีบุตรยกมือเลย เคยมีบุญคุณกับข้าพเจ้า มีบุญคุณอะไร มีบุญคุณอย่างไร เคยตักบาตรให้ข้าพเจ้าทัพพีหนึ่งครับ อย่างนั้นเธอบวช พระสารีบุตรเอามาบวชให้เลย พอบวชเสร็จแล้วพระสารีบุตรสอนจนเป็นพระอรหันต์เลย พอพระสารีบุตรไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพราะภิกษุที่บวชเมื่อแก่นี่จะสอนยากมาก แต่มีองค์นี้ที่บวชเมื่อเฒ่า “สารีบุตร สัทธิวิหาริกของเธอสอนง่ายไหม” สอนง่ายครับ “สัทธิวิหาริกของเธอปฏิบัติดีไหม” ปฏิบัติดีครับ ถึงที่สุดแล้วเป็นพระอรหันต์เลย

ข้าวทัพพีเดียวนะ แค่ข้าวทัพพีเดียว ไหนมึงว่าปรารถนานิพพานไม่ได้ ถ้าเราพูดผิดให้เปิดตู้พระไตรปิฎกเดี๋ยวนี้ แล้วมันพูดได้อย่างไรว่า ทำบุญแล้วปรารถนานิพพานเป็นการค้ากำไรเกินควร ถ้าเวลาเราตักบาตรแล้ว เราอยากจะถูกรางวัลที่ ๑ นี่ถึงจะเรียกว่าค้ากำไรเกินควร คำว่าค้ากำไรเกินควรเพราะอะไร เพราะเราจะถูกรางวัลที่ ๑ เอ็งต้องไปซื้อใช่ไหม เอ็งต้องไปซื้อแล้วกว่ามันจะถูกใช่ไหม มันมีสิ่งตอบสนอง มันเป็นเรื่องโลกเรื่องเวรเรื่องกรรม

กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ ถ้าเขาทำกรรมของเขาดี เขาทำอะไรของเขาขึ้นมาดี เอ็งไม่ได้ฝากธนาคาร อย่างตอนนี้ถ้าใครไม่มีเงินฝากในธนาคาร จะไปเบิกธนาคารไม่ได้หรอก แต่ถ้าใครฝากธนาคารไว้ มีเงินในธนาคารเท่าไหร่ไปเบิกเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้ามันมีบุญของมันมาในหัวใจ เดี๋ยวบุญก็ตอบสนองมันเอง นี่กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ บางคนเขาซื้อแค่ใบเดียวก็ถูก บางคนไม่ต้องซื้อเลย เก็บตกมาจากดินมันยังถูกเลย ไอ้เราซื้อหมดตู้เลย ซื้อทั้งเมืองเลยไม่เคยถูกซักใบ นี่กรรมเป็นเผ่าพันธุ์

ถ้าพูดถึงว่ามันค้ากำไรเกินควร อย่างนี้มันเกินควร เพราะอะไร เพราะมันเป็นเรื่องโลก มันเป็นเรื่องของวัฏฏะ แต่เรื่องนิพพานนี้ มันเป็นธรรมที่จะตั้งเป้าหมาย มันไม่ผิดหรอก เพราะว่าพระพุทธเจ้าก็ตั้งเป้าหมายมา พระพุทธเจ้าปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอธิษฐานเลยว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า นางพิมพานั่งอยู่บนศาลาก็อธิษฐานคู่เลย แล้วเกิดคู่กันมาตลอด ถ้าไม่มีการตั้งเป้า ก็ไม่มีเป้าหมาย

เราฟังพระเทศน์บอกว่า ค้ากำไรเกินควรทีไรนะ แหม! อยากจะลุกเตะปากมันเลย มึงเคยทำไหม อะไรมันเกินควร คือ หัวใจของพวกเรานี้มันไม่มีขอบเขตนะ เราตั้งแรงปรารถนาของเราได้ทั้งหมดใช่ไหม แล้วมันบอกว่า ไม่ให้ทำ มันบอกว่า ทำแล้วผิด ค้ากำไรเกินควร

มันไม่ใช่ค้า มันเป็นสิทธิของเรา มันเป็นสิทธิของชาวพุทธ มันเป็นสิทธิของเรา มันเป็นเอกสิทธิ์ของเรา เว้นไว้แต่ไอ้คนไม่ปรารถนามันโง่ คนมีสิทธิ์แล้วไม่ปรารถนานั้นมันเรื่องของมึง มึงเสือกโดนกิเลสครอบหัวไง

แหม! นิพพานยังไม่มีเลย จะปรารถนาได้อย่างไร ชาติหน้าก็ไม่มี กรรมก็ไม่มี กูจะลุยกูอย่างเดียว มันจะไปปรารถนาอย่างไร ถ้ามันมีกรรมอย่างนั้น นั่นก็สิทธิของมัน มึงก็เกิดในพระพุทธศาสนา แล้วมึงไม่เห็นศาสนา มันก็กรรมของมึง ช่างหัวมึงไป

มันทำได้ มันเป็นบุญกุศลของเรานะ เรื่องบุญเรื่องกุศล หลวงตาท่านพูดบ่อย เห็นไหม เรื่องของใจนี้คาดหมายไม่ได้ เรื่องของใจเป็นความมหัศจรรย์มาก ทีนี้เพียงแต่ว่าใจของพวกเรา มันไม่มหัศจรรย์ขึ้นมาเพราะพวกเราอ่อนแอ อย่างเช่น กลัวผีนี้กลัวมากนะ บอกให้พุทโธ พุทโธก็หาย ก็พุทโธแล้วก็ยังไม่เห็นจะหายนะ ก็มันพุทโธที่ปากไง มันไม่พุทโธเข้าไปถึงหัวใจ ถ้าหัวใจพุทโธแล้วนะ หัวใจมันเป็นพุทโธขึ้นมา ผีไหนมันจะเข้ามาใกล้ได้ ถ้าใจมันเป็นพุทโธจริงๆ แต่นี่มันทำกันที่ปาก มันทำกันที่สมอง มันไม่ทำกันจริงๆ ถ้าทำจริงๆ มันจะรู้เลย

โธ่..พระพุทธเจ้าเวลาปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์มา ทุกข์ยากมาขนาดไหน ท่านก็ทำของท่านมา บารมี ๑๐ ทัศ อธิษฐานบารมี แล้วมันบอกว่า อธิษฐานไม่ได้ มันไปล้มบารมี ๑๐ ทัศของพระพุทธเจ้าเลย แล้วก็บอกว่า พออธิษฐานขึ้นมาก็ค้ากำไรเกินควร แย่มากๆ พระแท้ๆ นะ เวลาอย่างนี้บอกว่าค้ากำไรเกินควร เวลาจะสร้างกวนอิมจะหลอกเอาตังค์เขา อย่างนี้ไม่ค้ากำไรเกินควรนะ วัดไหนอยากให้คนเข้าก็สร้างเจ้าแม่กวนอิมเข้าไป พันมือ ห้าแสนมือ โอ้โฮ มหัศจรรย์ คนไหลเข้ามาเต็มเลย นี่ต่างหากล่ะค้ากำไรเกินควร เจ้าแม่กวนอิมมันก็อิฐหินทรายปูน ทำขึ้นมาแล้วจะเอาตังค์เขา นี่ค้ากำไรเกินควร เวลามึงค้าล่ะ แล้วเวลาเขาจะทำบุญขึ้นมา ก็บอกว่าค้ากำไรเกินควร รับไม่ได้!

วิธีดูจิตนะ (จะให้มันจบ ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้มันจะด้วนๆ) “ภาวนาแต่จิตมันสงบยาก จะใช้วิธีดูจิตเลยได้ไหม” คำว่าวิธีดูจิตนะ ถ้าทำให้มันถูกต้อง ได้ ทำให้ถูกต้อง คือการพิจารณาจิต เพราะถ้าพูดถึงเราพุทโธอย่างเดียวนี้ มันเป็นศรัทธาจริต ศรัทธาจริตมันมีความมั่นคง พุทโธ พุทโธ ขนาดมั่นคงขนาดไหนนะ เหมือนอาหารมันจะดีขนาดไหนแต่ถ้ากินทุกวันมันก็เบื่อ

หลวงตาท่านเอ็ดพระบ่อยมาก “ภาวนาอย่างกับซากศพมันเดินได้” คือ ภาวนาแบบไม่มีอุบายไง ทำอย่างไรก็ทำอยู่อย่างนั้น กิเลสมันก็หัวเราะเยาะ กิเลสบอกว่าไอ้โง่นี่มาให้กูหลอกอีกแล้ว เวลาเข้าทางจงกรมนะไอ้โง่นี่มาหากูอีกแล้ว โง่ฉิบหาย นักภาวนาทำไมมันโง่ขนาดนั้น พุทโธ พุทโธ มันก็เปลี่ยนอย่างอื่นบ้างได้ไง อุบายน่ะ วันนี้พุทโธ พุทโธ ใช่ไหม แล้วใช้ปัญญาบ้าง ตรึกในธรรมบ้าง ถ้าพุทโธ พุทโธ แล้วมันดี เราก็พุทโธของเราไป

ถ้าพุทโธแล้วมันไม่ได้ใช่ไหม เราก็ใช้อุบาย คำว่าอุบายนะคือให้เราใช้ปัญญา ที่ว่าดูจิต ดูจิต เอ็งดูจิตเอ็งเห็นจิตที่ไหน เอ็งดูแต่อารมณ์นะ ความคิดนี้เป็นอารมณ์ ตัวจิตจริงๆ ใครเห็นมัน ตัวจิตจริงๆ ใครเห็นมัน เว้นแต่เวลาจิตมันเป็นสมาธิเข้าไปถึงตัวมัน นี่ถึงจะเห็นมัน แต่ขณะที่เราดูจิต เอ็งเอาอะไรดู เอาอารมณ์ เอาความคิด เอาความคิดดูความคิด เพราะความที่คิดอยู่นี้เป็นความคิดนะ มันเป็นอารมณ์ แต่เพราะจิตไม่สงบ มันเลยไม่เห็น เป็นอารมณ์ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมาแล้ว มันเห็นเป็นธรรมารมณ์

ฉะนั้นถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ คือ ปัญญาไล่ความคิดไป ไล่ความคิดไป ความคิดมันต้องหยุด หยุดเป็นธรรมดา หยุดเพราะอะไร หยุดเพราะมีสติ สติยับยั้งมัน แล้วปัญญาไล่ต้อนมัน มันหยุดด้วยเหตุด้วยผล มันถึงที่สุดแล้วมันหยุด หยุดนั่นแหละ หยุดแล้ว นั่นแหละเป็นสมาธิแว็บหนึ่ง แล้วก็คิดอีก ไล่ไป ไล่ไป ไล่ไปจนชำนาญ นี่ปัญญาอบรมสมาธิ

ถ้าเราดูจิต ดูจิตเฉยๆ มันเหมือนกับหินทับหญ้า เหมือนกับเพ่ง การเพ่งมันไม่มีเหตุผลใช่ไหม อย่างเรานี้ ถ้าให้คนอื่นสอนเรา แต่เขาไม่อธิบายให้เราฟัง เราจะรับรู้ไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้าในเมื่อปัญญาของเราไม่สอนจิตเรา จิตมันจะมีเหตุผลไหม ไปดูมันเฉยๆ มันเหมือนกับกสิณไง การเพ่ง คือ กสิณ

คำว่าดู ว่ารู้ ของหลวงปู่ดูลย์นั้นท่านบอกว่า ดูรู้ ดูจิต รู้จิต คำว่า ดูจิตรู้จิตคือดูแบบผู้ใหญ่ไง หลวงปู่ดุลย์ท่านก็คิดว่า พระนี่มันไม่โง่ ท่านบอกให้ดูแบบบริหารจัดการ ทีนี้บังเอิญมันเสือกโง่ มันเลยไปดูเฉยๆ ไง ดูเพ่ง กล้องวงจรปิดกูดีกว่ามึงอีก มันดูอยู่อย่างนั้นล่ะ ผู้ใหญ่เขาบอกว่า ให้ดูแบบรับผิดชอบ ให้ดูแบบบริหารจัดการ ให้ดูแบบเห็นผิดชอบชั่วดี แต่เขาบอกว่า ไม่ได้ อันนั้นเป็นการปรุงแต่ง จะไม่ให้มีสมมุติได้ไง พูดอยู่ก็สมมุติ คิดก็สมมุติ สมมุติทั้งนั้นแล้วบอกว่าไม่ให้สมมุติ

สมมุติก่อน เพราะสมมุติมันมีจริง สมมุติมันเป็นมนุษย์ มานั่งกันอยู่นี้ก็สมมุติ แล้วถ้าเราไม่เอาสมมุติ ไม่เอาต้นทุนของเรามาแก้ไข มึงจะไปเอาคนอื่นทำลายคนอื่นได้อย่างไร มันก็ต้องเอาสมมุตินี้ล่ะทำลายสมมุติ ถ้าไม่เอาสมมุติแล้วจะทำลายสมมุติได้อย่างไร ปัญญาก็สมมุติ ทุกอย่างเป็นสมมุติ

ถาม : กระผมอยากบวชทดแทนคุณบิดามารดาแต่มีเวลาจำกัด ถ้าอยากได้บุญกุศลมาก กระผมควรทำอย่างไร

หลวงพ่อ : อยากทดแทนบุญคุณ ก็เชื่อฟังทำดีมันก็ได้บุญอยู่แล้ว ได้บุญมาก ทดแทนบุญคุณบิดามารดา ทีนี้การทดแทนคุณบิดามารดา โดยทั่วไป ถ้าเชื่อฟัง ทำตาม ทำหน้าที่แทนท่าน ดูแลท่าน นี่ก็บุญแล้ว แต่เวลาบวชนี้ มันได้ ๑๖ กัป เพราะเราเป็นชาวพุทธไง การบวชมันได้บุญตรงไหน มันได้บุญตรงที่พ่อแม่บวชด้วย บวชด้วยอะไร เพราะว่าไข่ของแม่ เวลาเราเกิดมา เรากินนม น้ำเลือดในหัวอกของแม่นะ แล้วเอาร่างกายนี้มาบวชพระ เวลาบวชพระ พ่อแม่จะได้ ๑๖ กัป เห็นไหม

พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างวัด ๘ หมื่น ๔ พันวัด แล้วไปถามอาจารย์ของตัวเองว่าเป็นญาติกับศาสนาหรือยัง บอกว่าไม่เป็น ถ้าจะเป็นญาติกับศาสนาต้องทำอย่างไร ก็ต้องเอาลูกมาบวช พอลูกมาบวชเห็นไหม เลือดเนื้อเชื้อไขเข้าไปบวช พระมหินท์มาบวช พอบวชเสร็จแล้วเห็นไหม เป็นพระอรหันต์มีความสุขมาก มันคิดจะแทนคุณกันนะ ความสุขนี้ได้มาจากใคร ได้จากพ่อ แล้วพ่อไปไหน ก็กำหนด เป็นพระอรหันต์นะ เข้าฌานสมาบัติเห็นพ่อไปเกิดเป็นงูเหลือม จึงไปเทศน์ให้พ่อฟัง พ่อทำบุญขนาดนี้ ทำไมพ่อไม่รักษาศีล ๕ พอรักษาศีล งูรักษาศีลไม่จับเหยื่อกินมันก็ตาย พอตายปั๊บก็มาเกิดที่ลังกา พอเกิดมาแล้วก็ได้บวช บวชแล้วก็เป็นพระอรหันต์ เวลาตายขึ้นมา ศพลอยขึ้นไปบนอากาศโลงทองก็ขึ้นมา จะบอกว่าไอ้บุญ ๘ หมื่น ๔ พันวัด ไอ้บุญที่ได้เผยแผ่พุทธศาสนา มันก็เป็นบุญโดยอามิสไง แต่ถ้าการบวช การภาวนา เช่น พระมหินท์บวชเสร็จแล้วภาวนาก็สิ้นกิเลสไปเลย

ถ้าบวชแล้วถึงไม่สิ้นกิเลส เรามาบวชในศาสนาเห็นไหม เวลาพ่อแม่คิดถึงก็คือ คิดถึงพระ คิดถึงพระก็เป็นญาติกับศาสนาไง ลูกเราอยู่ในศาสนาก็เป็นญาติกับศาสนา แต่เลือดเนื้อเชื้อไขนะ โดยทางการแพทย์เห็นไหม มนุษย์นี่กรรมพันธุ์ของพ่อแม่กับลูกนี้เหมือนกันหมดเลย ดีเอ็นเอถ้าตรวจนี้เพี้ยะๆ เลย แต่หัวใจตรวจไม่ได้นะ พ่อแม่เกิดมาดีแสนดีเลยบอกให้ลูกทำดีๆ นะ แต่ลูกมันเถียงน่าดูเลย ลูกที่ดีกว่าเจริญกว่าพ่อแม่ก็มี ลูกเสมอกับพ่อแม่ก็มี ลูกเลวกว่าพ่อแม่ก็มี มันเป็นสายบุญสายกรรม

ฉะนั้นถ้าบอกว่า อยากได้กุศลมากๆ นะ ก็ดูแลพ่อแม่นั่นล่ะได้บุญกุศลมาก เพราะเวลาเขาพูดกันในธรรมเห็นไหม พระอรหันต์ในบ้าน พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของเรา จริงๆ นะเลือดเนื้อเชื้อ แล้วเวลาพูดถึงนะ มนุษย์เกิดด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทางวิทยาศาสตร์ เราพูดถึงพวกทำกิ๊ฟ โคลนนิ่ง มึงไปเอาดินสิ มึงไปเอาวัตถุธาตุอะไรมาแล้วก็มาโคลนนิ่งสิ มันก็มาเอาจากเรานี่ออกไป เอาจากไข่มาทำกิ๊ฟเห็นไหม โคลนนิ่งก็เอาจากเซลล์เราไป

จะบอกว่ามันเป็นสิ่งที่มีชีวิตไง มันเกี่ยวเนื่องกับบุคคลคนนั้นไง มันต้องเกี่ยวกันอย่างนี้ กรรมนะ เวลามันคืนสู่สภาพเดิมของเขา ร่างกายนี้มันก็เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ แต่ดิน น้ำ ลม ไฟ เพียวๆ กับ ดิน น้ำ ลม ไฟ โดยเอาดิน เอาน้ำ เอาลม เอาไฟมา แล้วพยายามใช้วิทยาศาสตร์ ใช้เทคโนโลยีกลั่นให้เป็นมนุษย์มาให้ได้เลย มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้

มันต้องเกิดจากพ่อจากแม่ จากสายบุญสายกรรม จากไข่ของแม่ แล้วถ้าบอกว่าจากไข่ของแม่แล้วถึงเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วประจำเดือนที่มันขับไข่ทิ้งเป็นล้านๆๆๆ ใบ ไข่นั้นทำไมไม่เกิดมาเป็นมนุษย์ ไข่ที่ถึงเวลารอบเดือนมา ไข่มันสุกแล้วมันขับทิ้งไป ไข่นั้นทำไมมันไม่เกิดมาเป็นมนุษย์ล่ะ ไข่อย่างเดียวก็มาเกิดเป็นมนุษย์ไม่ได้ ถ้าไม่มีปฏิสนธิจิต

มันต้องมีปฏิสนธิจิต มันต้องมีสเปิร์มของพ่อ นี่มันเป็นเวรกรรมไง เวรกรรมระหว่างพ่อแม่ลูกร่วมกันถึงมาเกิดเป็นคน มันต้องมีเวรมีกรรมมา เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์จะคิดใหญ่เลยนะ โอ๋ย เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นแล้ว ไม่จำเป็นแล้ว ไม่จำเป็นแล้วมึงก็ไปเอาดิน น้ำ ลม ไฟ มาทำเป็นมนุษย์ให้กูดูซิ มันเป็นไปไม่ได้หรอก นี่เราก็ไปตื่นเต้นตกใจไปกับมันเห็นไหม ถ้าภาวนาไป เรื่องอย่างนี้นะ มันจะชัดเจนแจ่มแจ้ง ชัดเจนหมดเลย ถ้าไม่ชัดเจนนะ มึงสิ้นกิเลสไม่ได้ ถ้ายังสงสัยอยู่ก็เป็นกิเลสเต็มหัว

อยากได้บุญมากก็ต้องทำอย่างนี้ ทำแล้ว ถ้าอยากบวชก็บวช บวชแล้วก็บวชให้พ่อให้แม่ แต่เวลาในชีวิตประจำวันนี่สิ พระอรหันต์ในบ้าน ต้องดูแลให้ดี พระอรหันต์ในบ้าน เป็นพระอรหันต์ของเรานะ เป็นพระอรหันต์ของเรา

ถาม : เพราะเหตุใด จึงกล่าวว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้วิชชา ๓ วิชชา ๓ คืออะไร โดยทั่วไปแล้วการบรรลุธรรมเข้าถึงนิพพานได้ ต้องผ่านมรรค ๔ ผล ๔ (ประเด็นเยอะฉิบหายเลย) หรือว่าวิชชา ๓ คือ คุณสมบัติเฉพาะสำหรับพระพุทธเจ้าเท่านั้น หรือว่า วิชชา ๓ เปรียบเหมือนกับอภิญญา ๖ คือ เป็นเครื่องเคียงคุณสมบัติพิเศษของเฉพาะบุคคลที่เพิ่มขึ้น เมื่อผ่านมรรค ๔ ผล ๔ เข้านิพพานแล้ว เพราะเหตุใด จึงกล่าวว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้วิชชา ๓

หลวงพ่อ : ก็เพราะพระพุทธเจ้าตรัสรู้วิชชา ๓ มันถึงว่า พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ประเภทวิชชา ๓ ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยวิชชา ๓ เพราะเป็นคุณสมบัติเลย วิชชา ๓ หมายถึงว่า บุพเพนิวานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ทีนี้ วิชชา ๓ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในช่องทางนี้ ที่ถามว่าวิชชา ๓ คืออะไร ก็บุพเพนิวานุสติญาณ รู้อดีตชาติ...

ถาม : โดยทั่วไปการบรรลุธรรมเข้าถึงนิพพานได้ คือการผ่านมรรค ๔ ผล ๔ ไม่ใช่หรือ

หลวงพ่อ : ใช่! ก็มรรค ๔ ผล ๔ นี่แหละ เห็นไหม พระอรหันต์ทุกประเภท เตวิชโช ฉฬภิญโญ ได้อภิญญา ๖ ก็มรรค ๔ ผล ๔ ทั้งนั้น มรรค ๔ ผล ๔ นี่ไง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คือ อริยสัจ มันต้องเข้าทางนี้ทั้งหมด เพียงแต่ว่า มันอยู่ที่ผู้ที่ปฏิบัติ ถ้ามรรค ๔ ผล ๔ แต่เข้าทางไหน มรรค ๔ ผล ๔ มันเป็นมรรคอยู่แล้ว

แต่เวลาเข้า เวลาพระพุทธเจ้าตรัสรู้ อาสวักขยญาณ วิชชา ๓ วิชชาที่สิ้นกิเลส บุพเพนิวานุสติญาณ คือ ระลึกอดีตชาติได้ แต่นี่พูดถึงวิชชา ๓ วิธีผ่านเข้าสู่พระอรหันต์ของพระพุทธเจ้านะ แต่พระพุทธเจ้ามีความรู้มากกว่านั้นอีก ถ้ามีความรู้เรื่องอภิญญา เช่น รู้วาระจิตนี้พระพุทธเจ้าก็รู้หมด

แต่เวลาเราเป็นนั้น เราเข้าไปทางใด แต่เวลาเข้าแล้วก็ต้องเข้าทางมรรค ๔ ผล ๔ เหมือนกัน คำว่าพระอรหันต์แต่ละชนิดใช่ไหม อย่างเตวิชฺโชนี้คือ วิชชา ๓ ฉฬภิญฺโญ ปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต...

อย่างถ้าได้อภิญญา เวลาตรัสรู้แล้วได้อภิญญา คำว่าได้อภิญญานี้ มันก็อยู่ที่ว่าได้กี่ชนิด อภิญญา ๖ บางคนก็มีหูทิพย์ ตาทิพย์

ทำไมจึงตั้งพระอนุรุทธะเป็นผู้เลิศในการรู้วาระจิตล่ะ ทำไมตั้งพระสารีบุตรเป็นเลิศในทางปัญญา ตั้งพระโมคคัลลานะเป็นเลิศทางฤทธิ์ ฤทธิ์กับรู้วาระจิตต่างกันอย่างไร คนที่มีฤทธิ์มากอย่างพระโมคคัลลานะ แล้วคนที่ไปตั้งพระโมคคัลลานะว่าฤทธิ์มากล่ะ คนที่จะตั้งเขานี้ ถ้าเราไม่มีความรู้มากกว่าเขาแล้วจะตั้งเขาได้ไหม ถ้าไม่รู้มากกว่าเขา แล้วรู้ได้อย่างไรว่าพระอรหันต์ที่เป็นเอตทัคคะ ๘๐ องค์นี้ มันมีวุฒิภาวะต่างกันอย่างไร คนนี้ถนัดอะไร ถ้าเราไม่สามารถตรวจสอบเขาได้ เราไม่สามารถควบคุมเขาได้ เราจะตั้งเขาได้ไหม

ใช่ พระพุทธเจ้าตรัสรู้วิชชา ๓ แต่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตั้งทั้งหมด พระพุทธเจ้ารอบรู้หมด เพียงแต่พระพุทธเจ้าผ่านทางนี้ไง

สุกขวิปัสสโก เห็นไหม ดูสิ ดูอย่างพระจักขุบาล พระอรหันต์นะ แต่เดินกลับวัดไม่ถูก ต้องเอาหลานมาบวช บวชเสร็จแล้วก็ไปจูงกลับมาไง ไปจูงพระอรหันต์กลับมา พระอรหันต์สุกขวิปัสสโกไม่มีฤทธิ์ ไม่มีอะไรเลย แต่มีอาสวักขยญาณ มีมรรค ๔ ผล ๔

มันเป็นมรรค ๔ ผล ๔ เพราะอะไร เพราะมันเป็นระดับของกิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด เพราะกิเลสอย่างหยาบเห็นไหม นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน ได้มรรคขั้นที่ ๑ ผลขั้นที่ ๑ มรรค ๔ ผล ๔ คือ มรรคขั้นที่ ๔ แล้วมันก็ได้ผลขั้นที่ ๔

แล้วเวลาอรหัตตมรรค อรหัตตผล ทำไมมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ทำไมเวลาอรหัตตมรรค อรหัตตผล อรหัตตผล ผลของพระอรหันต์ก็ต้องเป็นพระอรหันต์สิ ถ้าอรหัตตผลแล้วเป็นพระอรหันต์ก็จบ แต่ทำไมยังมีนิพพาน ๑ อีกล่ะ

อรหัตตผลคือระหว่าง ระหว่างจิตที่มันทำอรหัตตมรรค... อรหัตตมรรคคือมรรคของพระอรหันต์ เวลาขบวนการของมัน สัมปยุตเข้าไป คือ ขบวนการทำลายกัน วิปปยุต คลายตัวออก ถ้าทำลายแล้วนี้ มันไม่คลายตัวออก ไม่คลายตัวออกมาแล้วผลที่เกิดจากการคลายตัวออกแล้วเหลือสิ่งใดอยู่ นิพพาน ๑ สิ่งนี้เป็นนิพพาน ๑ เห็นไหม

ทุกกระบวนการ พระอรหันต์ทุกประเภทต้องผ่านมรรค ๔ ผล ๔ แต่เวลาขิปปาภิญญา จะผ่านหนเดียว ผ่านทีเดียวได้มรรค ๔ ผล ๔ เลย ผ่านทีเดียวพั้บ! ได้มรรค ๔ ผล ๔ เลย แบบพระพุทธเจ้า เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณตั้งแต่หัวค่ำ พอเที่ยงคืนเกิดจุตูปปาตญาณ แล้วพอถึงขั้นสุดท้าย แล้วพระพุทธเจ้าเป็นพระโสดาบันตอนไหนล่ะ พระพุทธเจ้าเป็นพระสกิทาคามีตอนไหน พระพุทธเจ้าเป็นพระอนาคามีตอนไหน แล้วพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ตอนไหน (หัวเราะ) งงตายห่าเลย มันเป็นบารมีการสร้างมา ต้องมรรค ๔ ผล ๔ แน่นอน

ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ผ่านมรรค ๔ ผล ๔ เพราะมรรค ๔ ผล ๔ นี่ใครเป็นคนสอน ก็พระพุทธเจ้าสอน พระพุทธเจ้านี้ขิปปาภิญญาทีเดียวจบเลย คำว่าขิปปาภิญญา มันทำทีเดียวนะ แต่ก่อนหน้านั้น ๖ ปีนี้ ทุกข์ขนาดไหน ๖ ปีนั้นไม่เข้ามรรคเลย เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้ายังไม่มี ธรรมะยังไม่มี ถ้ายังไม่มีแล้วทำได้อย่างไร มันก็ตรวจสอบ ก็ทำไปแบบฌานโลกีย์ ทำไปแบบโลก

โลกคือว่า ใครที่ตั้งตัวว่าเป็นอาจารย์ ใครตั้งตัวว่าเป็นพระอรหันต์ ก็ไปศึกษากับเขา ไปศึกษากับอาฬารดาบสก็เข้าสมาบัติ ๘ จนอาฬารดาบสบอกว่า ได้เหมือนเรา เหมือนเราทุกอย่างเลย การันตีด้วย แต่ไม่เอา จะการันตีขนาดไหน แต่กูทุกข์ เวลาออกมาแล้วก็เหมือนไม่มีอะไรเลย เราต้องมีนะ เราต้องมี หมายถึงว่า เราต้องมีขณะ เราต้องมีการกระทำของเรา เวลาปล่อยวางๆ ปล่อยวางนี้ใครตอบ ใครตอบสนองว่าปล่อยวางเรื่องอะไร

อย่างเป็นพระโสดาบันนี้ เวลาพวกโยมบอกว่า ปล่อยๆๆ มันปล่อยอะไร ใครเป็นคนปล่อย ปล่อยแล้วเหลืออะไร ตอบไม่ได้ ถ้าเป็นโสดาบันต้องตอบได้ ใครเป็นคนปล่อย

อย่างที่ว่าดูจิตๆ นี้ จิตเห็นอาการของจิตนี่ มันเห็นอะไร แล้วมันพิจารณาอะไร มันปล่อยอะไร สังโยชน์ขาดอย่างไร สักกายทิฏฐิความเห็นผิดในกายนี้ มันปล่อยอย่างไร ถ้ามันปล่อย นี่มรรคขั้นที่ ๑ ถ้ามันปล่อยแล้ว เวลามันปล่อยนะ มันปล่อย มันขาด ปล่อยกับขาดมันต่างกันอย่างไร

ตทังคปหานกับสมุจเฉทปหานมันต่างกันอย่างไร ถ้าตทังคปหานเวลามันปล่อย มันเป็นตทังคปหานไปก่อนแล้วเราเข้าใจว่าเป็นสมุจเฉทปหาน แล้วเดี๋ยวมันก็เสื่อม พอมันเสื่อมๆๆ หลายๆ ครั้งเข้า ธรรมมันก็เสื่อมไป ถ้าคนมันไม่มีอำนาจวาสนา หรือคนที่แบบว่ากำลังไม่พอ พอเสื่อมแล้วนะ ทำขึ้นมาไม่ได้ มันก็เหมือนเราเคยเข้าไปดูสมบัติของใคร แต่เราไม่ได้สมบัตินั้นมา มันก็ฝังใจ ได้โสดาปัตติมรรคแต่ไม่ได้โสดาปัตติผล ถึงที่สุดแล้วมันทำลายขบวนการของมันแล้ว ถึงโสดาปัตติผลแล้ว มันเป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรมคือไม่มีการแปรสภาพแล้ว

อย่างที่ว่า จิตที่ว่ามันเป็นอนิจจัง หรือนิพพานเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตานี้ ถ้ายังไม่มีคุณธรรมในหัวใจเลย มันจะต้องเป็นอนัตตา มันต้องแปรสภาพ มันต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีอะไรคงที่เลย

แต่ถ้าเป็นพระโสดาบัน มันมีส่วนที่คงที่ ส่วนที่คงที่ หมายถึงว่า จิตตัวนี้มันมีหลักแล้ว อย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ มันไม่ไหลไปแล้ว เพราะมันเข้ากระแสแล้ว พอมันเข้ากระแส ถ้าในปัจจุบันทำจนถึงที่สุดแล้วจบที่นี่เลย เห็นไหม นี่คือ มรรค ๔ ผล ๔ ไง

ถาม :  โดยทั่วไปต้องผ่านมรรค ๔ ผล ๔ ใช่ไหม ?

หลวงพ่อ : แน่นอน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย

ถาม : หรือว่าวิชชา ๓ เป็นคุณสมบัติเฉพาะของพระพุทธเจ้า ?

หลวงพ่อ : วิชชา ๓ เป็นคุณสมบัติของจิตที่เข้าเป็นทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะของพระพุทธเจ้า

เวลาพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระอานนท์ร้องไห้นะ พระอานนท์ร้องไห้เลย ท่านถามปัญหาไว้มากนะ

“พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ในวงการของพระ จะมีผู้หญิงเข้ามาในศาสนามาก ควรทำอย่างไรพระเจ้าค่ะ”

“ถ้าไม่ควรดูไม่ควรเห็นเลยจะดีที่สุด”

“แล้วถ้ามันจำเป็นล่ะ เพราะเป็นญาติพี่น้องกัน เขาจะมาทำบุญล่ะ”

“ถ้ามีความจำเป็น เธอก็ต้องตั้งสติไว้ พูดกับเขาแค่พอกับความจำเป็น”

แม้แต่การดำรงชีวิตนี้ท่านยังสอนเลย

“อานนท์! เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ เวลาเรานิพพานไปนี้ เราไม่ได้เอาสมบัติของใครไปเลย มันเป็นสมบัติของเขา เราไม่ได้เอาสมบัติของใครไป”

นี่ไง แล้ววิชชามันเป็นของพระพุทธเจ้าหรือ ถ้าเป็นของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เอาไปหมดแล้ว มันไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ของใครเลย ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม ธรรมะมีอยู่แล้วใช่ไหม แต่จิตของพระพุทธเจ้ามาสำเร็จในทางนี้เท่านั้น

มันเป็นทางวิชาการ มันเป็นสิ่งที่ว่ามันเข้าถึงได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไป ไม่ใช่เฉพาะพระพุทธเจ้า ดูอย่างครูบาอาจารย์ที่เราเชื่อมั่นว่าเป็นพระอรหันต์ ดูสิ เป็นประเภทใดล่ะ รู้นะรู้ ใครเป็นประเภทใด ดูอย่างเช่น หลวงปู่คำดี เห็นไหม หลายๆ เรื่องเลยหลวงปู่คำดีกับหลวงตาจะเหมือนกัน มันจะประเภทใกล้เคียงกันมาก แต่! ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันเพราะอะไร เพราะหลวงปู่คำดี ท่านพิจารณากายตลอด โสดาบันสำเร็จที่กาย สกิทาคามีสำเร็จที่กาย อนาคามีที่กาย พระอรหันต์ที่กาย หลวงปู่เจี๊ยะก็กายๆๆ หลวงปู่ชอบก็กาย

แต่หลวงตาท่านเป็นโสดาบันตั้งแต่เรื่องพิจารณาเวทนา เป็นสกิทาคามีเรื่องที่ว่ากายเข้าไปสู่สภาพเดิม เพราะพิจารณาไปแล้วมันปล่อยหมด กายกับจิตแยกเลย พอออกมาพิจารณาขั้นที่ ๓ เป็นพิจารณาอสุภะ ก็เรื่องของกาย สุดท้ายท่านพิจารณาจิต จุดและต่อม ท่านบอกว่า พอจิตมันพิจารณากายถึงที่สุดแล้ว มันไม่ยอมพิจารณากายอีก มันจะพิจารณาจิตอย่างเดียว ท่านบอกเลย มันพิจารณากายแล้วมันไม่ยอม มันเป็นอำนาจวาสนาของท่าน แต่ทำไมหลวงปู่เจี๊ยะท่านพิจารณากาย พิจารณากาย พิจารณากายทำไมพิจารณาได้ล่ะ มันไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันหรอก แม้แต่ใกล้เคียงกันก็ไม่เหมือนกัน

ถ้าเหมือนกัน พระอรหันต์องค์หนึ่งต้องผิด วิทยานิพนธ์มันซ้อนมา ลอกวิทยานิพนธ์เขามา ลอกวิทยานิพนธ์มาไม่ได้ วิทยานิพนธ์มันลอกไม่ได้ ธรรมะก็ลอกไม่ได้ สิ่งใดก็ลอกไม่ได้ มันต้องเป็นความจริง ถ้าลอกมา มันจะตอบไม่ได้

เวลาหลวงตาท่านพูดกับหลวงปู่แหวน เห็นไหม “ไม่รู้ถามไม่ได้” ถามปัญหาอย่างนี้ไม่ได้ แล้วไม่รู้ก็ตอบไม่ได้ ถ้ามันรู้เห็น จิตมันเป็นอย่างไร ขณะจิตที่เป็นมันเป็นอย่างไร ถ้าขณะที่จิตปล่อย จิตมันปล่อยอย่างไร อย่าว่าแต่เป็นเลย แม้แต่เห็นมันก็ไม่เห็น ถ้าไม่เห็นก็พูดไม่ถูก คนไม่เคยเห็นป้าย มันจะไม่รู้ว่าชื่ออะไร โยมผ่านไปผ่านมากันหมด ไม่กล้าเข้ามาเลย เขาบอกว่าที่นี่เป็นสวนของใครก็ไม่รู้ ไม่มีใครกล้าเข้า เพราะมันไม่มีป้าย ป้ายมันยังไม่เห็นเลย มันผ่านไปผ่านมาไม่กล้าเข้า เดี๋ยวๆ กำลังจะทำ แม้แต่เห็นเหตุมันยังไม่เห็น มันต้องเห็นเหตุเห็นผลนะ เห็นเหตุ มันทำเหตุของมันได้ ถ้ามันไม่รู้ มันตอบอย่างนี้ไม่ได้

ถาม : หรือว่าวิชชา ๓ นี้ เหมือนกับอภิญญา ๖ ?

หลวงพ่อ: ก็ไม่เหมือน ไม่เหมือน! ต่างกันสิ้นเชิงเลย เพราะวิชชา ๓ มันเป็นวิชชาที่ทำให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนอภิญญา ๖ นี้สมัยที่พระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ขึ้นมา ฤๅษีชีไพร ดูสิ เจ้าชายสิทธัตถะไปเรียนกับอาฬารดาบส “ได้อภิญญา ๖ เหมือนเรา ได้สมาบัติเหมือนเรา” ตัวสมาบัตินั่นล่ะ ที่มันทำให้เกิดอภิญญา เห็นไหม ฤๅษีชีไพรที่เหาะเหินเดินฟ้า เพราะอาศัยสมาบัตินี้ทำ

อภิญญา ๖ คือ อะไร รู้วาระจิต รู้ใจคน ปรจิตตวิชา หูทิพย์ ตาทิพย์ นี่มันอะไร แล้วอภิญญา ๖ กับวิชชา ๓ มันจะเหมือนกันได้อย่างไร มันเหมือนกันไม่ได้ มันคนละเรื่องเลย

อภิญญา ๖ เป็นเรื่องของโลก เดี๋ยวนี้นะ เทคโนโลยีมันตรวจสอบได้หมดเลย เหาะเหินเดินฟ้านี่ก็ขึ้นเครื่องบินได้ หูทิพย์นี่ก็โทรศัพท์ได้ รู้วาระจิตก็จับเข้าเครื่องจับเท็จ เดี๋ยวนี้ อภิญญา ๖ วิทยาศาสตร์มันพิสูจน์ได้แล้ว

แต่วิชชา ๓ นี่ยังงงอยู่ ไม่มีทาง ไม่รู้เรื่อง วิชชา ๓ นี้ไม่มีใครรู้ รู้ไม่ได้ ต้องพระอรหันต์เท่านั้น

ฉะนั้นวิชชา ๓ กับอภิญญา ๖ ไม่เหมือนกัน วิชชา ๓ หมายถึงว่า พระอรหันต์ประเภทหนึ่ง เตวิชโช “เต” เห็นไหม เตวิชฺโช “สาม” เตวิชฺโช ฉฬภิญฺโญ วิชชา ๓ นี้มันเป็นพระอรหันต์ประเภทหนึ่งเลย

แล้วบังเอิญพระพุทธเจ้า เวลาท่านผ่านขบวนการอย่างนี้ ผ่านขบวนการใช่ไหม ผ่านขบวนการเฉยๆ แต่อำนาจวาสนาของพระพุทธเจ้ามันล้นฟ้า เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แต่อำนาจวาสนาต่างกัน แล้วนี่ยิ่งเป็นพระพุทธเจ้าด้วย แต่ขบวนการนั้น ท่านผ่านขบวนการนี้ ฉะนั้น อย่างพระสารีบุตรเห็นไหม พระสารีบุตรผ่านขบวนการปัญญาวิมุตติ คิดดูสิ พระสารีบุตร กำลังพัดพระพุทธเจ้าอยู่ แล้วหลานของพระสารีบุตรมาต่อว่าพระพุทธเจ้า ว่าเอาตระกูลของพระสารีบุตรมาบวชหมดเลย พระจุนทะ พระเรวัตตะ น้องของพระสารีบุตรทั้งนั้นล่ะ กำลังจะไปต่อว่าพระพุทธเจ้าไง เพราะไม่พอใจ ประสาเราว่า กำลังกระฟัดกระเฟียด

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกเธอก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง” อารมณ์ความรู้สึกก็เป็นส่วนหนึ่ง เป็นสิ่งๆ หนึ่ง ถ้าไม่พอใจในสิ่งต่างๆ ไม่พอใจอะไรเลย แล้วทำไมมึงไม่พอใจอารมณ์มึงด้วยล่ะ ไม่พอใจความคิดมึงด้วยล่ะ พระสารีบุตรนั่งพัดอยู่นะ ไม่ได้หลับตา พิจารณา ปิ๊ง! เป็นพระอรหันต์เลย ลืมตาอยู่แต่ปัญญามันหมุนนะ

ดูสิ ดูเวลาพระที่จะไปถามปัญหาพระพุทธเจ้า ปัญญามันหมุนอย่างที่หลวงตาท่านบอก ถ้าท่านเห็นจุดและต่อม ที่ธรรมะเตือนนะ ถ้าหลวงปู่มั่นอยู่นะ ท่านสำเร็จเดี๋ยวนั้นเลย เหมือนไปถามพระพุทธเจ้าไง พอไปถามใคร ถ้าคนรู้จริง มันจะชี้ ผลัวะ! เลย ตรงนั้นน่ะ! กลับมาตรงนั้นน่ะ! กลับมาตรงนั้นก็งง กลับทางไหนล่ะ กูไม่มีรถน่ะ กูจะกลับอย่างไร แต่ถ้าคนมันเป็นนะ จิตมันพร้อม จิตมันเป็น นามธรรมที่มันคุม สติ มหาสติ สติอัตโนมัติที่มันคุมจิตอยู่ จิตมันมีมรรคญาณมันหมุนอยู่ โอ้โฮ มันมีงานมหาศาลนะ พอชี้ ผลัวะ! ผลัวะ! ชี้ผลัวะมันก็ทำเลย คนเป็นบอก ถ้าคนเป็นบอกกับคนทำเป็นจะเหมือนกันเลย

ทีนี้พอจะไปถามพระพุทธเจ้านะ มันหมุนอยู่อย่างนี้ มันหมุน ปัญญามันหมุนมาก แล้วมันยังลงไม่ได้ก็เลยไปถามพระพุทธเจ้า

บังเอิญฝนตกนะ ฝนตกเห็นไหม น้ำนองไปหมดเลย ทีนี้น้ำฝนมันตกลงมาในน้ำแล้วมันเป็นฟองขึ้นมา พอฟองมันแตกเพี้ยะ ยืนดูพิจารณา ข้างในมันหมุนอยู่แล้ว พอมันเพี้ยะ มันปิ๊งเลย เป็นพระอรหันต์เลย เดินกลับเลยไม่ต้องขึ้นถาม เป็นแล้วไม่ต้องถามแล้ว ถ้าไปถามพระพุทธเจ้าก็จะตอบอย่างนี้

นี่สันทิฏฐิโก นี่ความเห็น นี่ความจริง ความจริงเป็นอย่างนี้ ถ้ามันไม่เคยเห็น ไม่เคยเป็น มันก็เป็นไปไม่ได้

ถาม : หรือว่าวิชชา ๓ เหมือนกับอภิญญา

หลวงพ่อ : ไม่เหมือน มันคนละเรื่อง อภิญญาเป็นเรื่องโลก ฌานโลกีย์เป็นเรื่องโลก ปุถุชนก็ทำได้ ฤๅษีชีไพรก็ทำได้ แต่วิชชา ๓ นี้ต้องพระอรหันต์เท่านั้น เพราะวิชชา ๓ มันจะเป็นการเข้าถึงการเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นเพียงแต่ว่า เหมือนกับร่างกายของพระพุทธเจ้าเห็นไหม ร่างกายแขนขาเป็นอย่างนั้นๆ นี่ก็เหมือนกัน เพราะจิตของพระพุทธเจ้าผ่านขบวนการนี้เท่านั้นเอง ถึงพูดว่าพระพุทธเจ้าผ่านทางวิชชา ๓ เป็นประเภทนี้

แล้วพระที่ปฏิบัติเป็นประเภทนี้ มันก็เป็นทางวิชชา ๓ เหมือนกัน แต่ถ้าผ่านทางขบวนการอื่นเห็นไหม ดูอย่างปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ มันผ่านขบวนการไหน พอผ่านขบวนการไหน ผ่านแล้วเวลาสอนก็สอนตามขบวนการนั้น เพราะสอนจากประสบการณ์ทางจิต จิตมันเป็น จิตที่มันมี มันทำ มันเป็น พอมันชำนาญปั๊บมันสอนตามนั้น จะพูดเรื่องอะไรมันก็มาลงตรงนี้ จะพูดเรื่องอะไร มันก็มาลงตรงความถนัด เพราะมันถนัดมันถึงเอามาตีแผ่ได้ชัดเจนมาก

ถาม : หรือว่าวิชชา ๓ เหมือนกับอภิญญา คือ เป็นเครื่องเคียงคุณสมบัติพิเศษของเฉพาะบุคคล ที่มีเพิ่มขึ้นเมื่อผ่านมรรค ๔ ผล ๔ เข้านิพพานไปแล้ว

หลวงพ่อ : คำว่าเครื่องเคียงนะ ดูอย่าง กาฬเทวิล เวลาเราเทศน์ ตรงนี้เราจะเอามาย้ำบ่อยมาก กาฬเทวิลเป็นเพื่อนกับพระเจ้าสุทโธทนะ แล้วเข้าฌานสมาบัติได้ ระลึกอดีตชาติได้ ๔๐ ชาติ อนาคตได้ ๔๐ ชาติ แล้วเป็นมนุษย์นี่แหละแต่ไปนอนบนพรหมได้ นี่อภิญญา ๖ ไหม ก็มีอภิญญา แล้วทำไมต้องร้องไห้ ร้องไห้ว่าอยากจะมีคนชี้นำมาก เพราะตัวเองพร้อมมาก มีกำลังของสมาธิ มีอภิญญา

อย่างเจ้าชายสิทธัตถะไปเรียนกับอาฬารดาบส “ได้สมาบัติเหมือนเรา” กำลังมีพร้อม ทุกอย่างมีพร้อม แต่ยังไม่มีใครตรัสรู้ ไม่มีใครบอก ก็ไปไม่รอด กาฬเทวิลก็เหมือนกัน เตรียมพร้อมทุกอย่าง รู้หมดเลย ทุกคนเคารพ อย่างเราเห็นมนุษย์เหาะขึ้นไปนอนบนพรหม เราจะนับถือเป็นอาจารย์เราไหม เราก็ต้องตื่นเต้น ยิ่งบอกด้วยนะว่า เมื่อชาติที่แล้วเราเป็นหมา เมื่อชาติที่แล้วมึงเป็นโจรปล้นเขามา บอกเรื่องชาติที่แล้ว เรายิ่งทึ่งเข้าไปใหญ่เลย

อยากจะพ้นมาก แต่ก็พ้นไม่ได้ สุดท้ายแล้ว พออยู่บนพรหม โลกธาตุจะหวั่นไหวต่อเมื่อพระพุทธเจ้าเกิด พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระพุทธเจ้าปลงอายุสังขาร พระพุทธเจ้าบรรลุนิพพาน เพราะมีบุญกุศลเยอะมาก

อยู่บนพรหมนะโลกธาตุหวั่นไหว เอ๊ะ! เกิดอะไรขึ้น เหมือนเทวดา เห็นไหมเทวดาที่นั่งอยู่ พระอินทร์นั่งบนอาสน์ ที่ว่าอาสน์ร้อนๆ นี้ เราก็คิดว่าเป็นเรื่องตลกนะ แต่มันมีความจริง อย่างในโลกปัจจุบันนี้ เรื่องความจริงก็ยังมีอยู่ แต่ ๑๘ มงกุฎมันก็เยอะ แล้ว ๑๘ มงกุฎนี่มันก็แสดงภาพได้เหมือนกว่าไอ้คนที่ทำได้จริงอีก

นี่มันก็เหมือนกัน พอมันกระเทือนเห็นไหม จึงลงมาเลย มันต้องมีเหตุผล ลงมาถึงไปเฝ้า ไปเพราะรู้อยู่แล้ว เพราะมีฌานมีอภิญญาก็รู้อยู่แล้ว ก็เข้าไปหาพระเจ้า สุทโธทนะเพราะเป็นเพื่อนกัน ไหนขอดู พอเข็นราชกุมารออกมา โอ้โฮ พอมองเพี้ยะ เพราะพราหมณ์เขาท่องไว้แล้วไง ลักษณะ ๓๒ ประการของพระพุทธเจ้า เล็บเสมอกัน มือเสมอกัน จะมีก้นหอย โอ้โฮพอเห็นนะ “พระพุทธเจ้า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย”

โอ้โฮ! กูมีคนสอนกูแล้ว ดีใจนะ แล้วพอจิตมันสงบ มันเห็นนะร้องไห้เลย พระเจ้าสุทโธทนะพอเอาลูกไปเก็บ ก็ถามว่าดีใจทำไม ก็บอกว่า “พระพุทธเจ้าเกิดแล้ว เราจะรอคนนี้สอน แต่เสียใจน่าดูเลย เพราะอายุขัยของเราสั้น เราต้องตายก่อน” ตายฟรีๆ ตายฟรีๆ ไปเกิดบนพรหม ตายฟรีๆ นี่ไง อภิญญา ๖ ไง

แต่วิชชา ๓ นี้ ถ้ากระบวนการมันเกิดขึ้น กระบวนการมันเป็นไป กระบวนการ คือ กระบวนการของมรรค ๔ ผล ๔ แต่ความถนัดนั้นใช้ทางวิชชา ๓

วิชชา ๓ หมายถึงว่าจิตมันสงบ แล้วมันมีกระบวนการของมัน มันเห็น มันรู้นะ เห็นอดีตชาติ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณเห็นจิต ถ้ากระบวนการของมันยังไม่สิ้นสุดมันจะไปเกิดอย่างไร พอมันเกิดมา พระพุทธเจ้าเวลาจิตสงบปั๊บ ก็เห็นบุพเพนิวาสานุสสติญาณก็ไป เพราะคนไม่เคยเห็น ถ้าคนไม่เคยเห็นคนไม่เคยเป็น พอมันเป็น มันต้องตื่นเต้นเป็นธรรมดา สาวไปเลยนะ ชาติที่แล้วเป็นพระเวสสันดร เป็นเตมีย์ใบ้ เป็นๆๆๆๆ แล้วมันจบตรงไหนล่ะ จบตรงไหน แล้วสติมันทันใช่ไหม สติดีเพราะว่าวาสนามันมากแล้ว ก็ดึงกลับ ดึงกลับไปที่สมาธิ ดึงกลับมาที่ตัวตนของเรา ดึงกลับมาสมาธิ พอดึงกลับมาสมาธิ มันก็ออกไปอนาคต จุตูปปาตญาณ ถ้าจิตมันยังต้องไปเกิด จิตทุกดวงต้องเกิดหมด ถ้าตายปั๊บมันจะเกิดอย่างนี้ เพราะบุญอย่างนี้จะเกิดอย่างนี้ นี่ไงที่ว่ากรรมเป็นอจินไตย มันก็เกิดๆๆๆ มันก็ไม่จบ พอย้อนกลับปั๊บ จิตมันได้เคลียร์พื้นที่ในใจ ข้อมูลในใจได้เคลียร์แล้ว ได้เคลียร์สิ่งที่สะสมมา ได้เคลียร์แล้ว ไม่อย่างนั้นมันจะขับเคลื่อนไป สิ่งที่อดีตมันขับดันมา กับจิตที่มันต้องขับเคลื่อนไป

ย้อนกลับมาถึงปัจจุบัน จิตเป็นมัธยัสถ์ จิตเป็นกลาง ขบวนการของจิตที่มีความรู้สึกขึ้นมาได้ มันมีปัจจยาการของมัน พลังงานที่มันสืบต่อเนื่องกันด้วยอวิชชา พอจิตเริ่มเข้ามรรคญาณเห็นไหม มันจะสืบต่อเนื่องกันด้วยวิชชา ด้วยมรรคญาณที่เข้าไปชำระล้างกัน พอชำระด้วยมรรคญาณ ผลัวะ! เสร็จสิ้นขบวนการ

นี่ วิชชา ๓ ถ้าพระอรหันต์ที่ผ่านขบวนการวิชชา ๓ มันจะรู้ ถ้าไม่ใช่วิชชา ๓ อย่างเรื่องอดีตชาตินี้จะไม่ถนัด แต่ถ้ามันถนัดนะ มันอยู่ที่ความถนัดไง ดูสิ คนที่ชำนาญมือขวาก็เขียนมือขวาเห็นไหม แล้วคนที่ชำนาญมือซ้าย ตบมือบอกว่าอย่าเขียน อย่าเขียนนะ มันก็ยังต้องเขียนมือซ้าย มันเป็นขบวนการที่มันถนัดของมัน

ขบวนการของจิต พันธุกรรมของจิตนั้น มันมาทางไหน ถ้ามันทำถูกต้องตามขบวนการของมัน มันจะไปได้เลย แต่ถ้าขบวนการของมัน ถนัดมือซ้ายมากเลย เขียนมือซ้ายสวยมากเลย เขาบอกห้ามเขียน เสียมารยาท ให้เขียนมือขวา พอเขียนมือขวา ก็โยกๆ เอนๆ เขียนไปแล้วนี้ มันจะจบไหม

ทีนี้ตรงนี้ มันอยู่ที่เรา ขบวนการอยู่ที่เราหา เราจะหาของเรา เราจะแก้ไขของเรา ถ้าทำแล้วมันทำได้ง่าย ทำได้สะดวกสบาย การทำอย่างนี้ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม เราค้นคว้าเราหาเอง เพราะเราเกิดไม่ทันพระพุทธเจ้า ถ้าเกิดทันพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะเล็งญาณ พระพุทธเจ้าจะสอนได้ละเอียดลึกซึ้ง แต่เราเจอครูบาอาจารย์ที่ คุณสมบัติของกึ่งพุทธกาลเห็นไหม กึ่งพุทธกาล คุณสมบัติของจิตนี้ มันด้อยค่าไปเยอะมาก แต่ก็ทำให้สะอาดได้ แต่ด้อยค่า ด้อยค่า หมายถึงมันไม่ชัดเจนแบบนั้น

สมัยพุทธกาล เวลาพระพุทธเจ้าพูดกับพระโมคคัลลานะ ที่ว่าไปแก้อย่างนั้นอย่างนี้แล้วมาถาม พระพุทธเจ้าก็ตอบกลับไปอย่างนั้นเพี้ยะๆๆๆ คือ พระพุทธเจ้าไม่ได้พูดองค์เดียวนะ มีพยานไง มีผู้ที่รู้ที่เห็นด้วยกัน ตอบสนองกัน คุยกัน แล้วอย่างเวลาที่พระโมคคัลลานะ บอกว่าจะทำอย่างนั้นๆ มีฤทธิ์มีเดชอย่างนั้น จะทำอย่างนั้น จะแสดงอย่างนั้น แล้วไปคิดดูสิ เวลาไปพูดกับพระพุทธเจ้า ถ้าพูดผิดพระพุทธเจ้าไม่ดุเอาหรือ ไม่เอ็ดเอาหรือ ทำไมเอาไปพูดกับพระพุทธเจ้าได้ แสดงว่าพระพุทธเจ้าต้องยอมรับว่า อันนั้นมันทำอย่างนี้ได้จริง แต่มันก็เป็นอภิญญา ๖ มันแก้กิเลสไม่ได้ แต่เป็นคุณสมบัติของจิต

ถาม : หรือว่าเป็นเครื่องเคียง เป็นคุณสมบัติพิเศษของเฉพาะบุคคลที่เพิ่มขึ้น

หลวงพ่อ : คำว่าเครื่องเคียง เวลาสอนนี้ เพื่อไม่ให้ติด แต่มันไม่ใช่เครื่องเคียง มันเป็นคุณสมบัติ คำว่าคุณสมบัติของจิต คือมันมากับจิตนะ

เห็นไหม เวลาเราภาวนาไป จิตที่คึกคะนอง คนที่สร้างฐานมามากนะ เวลาลงพึ่บ! จิตนี้ลอยขึ้นไปบนอากาศ เดินจงกรมอยู่บนอากาศนะ จรดลงพึ่บ! นั่งอยู่บนก้อนเมฆ ถ้าใครไม่รู้ ก็ว่าเก่งเว้ย โอ้ ยอดเว้ย นั่นจิตมันลงแค่เป็นสมาธินะ เวลาจิตมันเป็นปีติเห็นไหม ตทังคปีติ นี่รู้วาระจิตเลย แล้วบางทีรู้ได้หนสองหนนะ พอรู้แล้วนึกว่าตัวเองเก่ง แล้วจะรู้อีกก็รู้ไม่ได้ เสื่อมแล้ว อู๋ย ทุกข์ฉิบหายเลย ของอย่างนี้มันเป็นสมบัติเดิม

ถ้าสมบัติเดิมแล้ว ถ้าครูบาอาจารย์เป็นนะ ควบคุมแล้วใช้ เราจะแนะนำบ่อยมาก เวลาใครภาวนา บอกว่า เฮ้ย โทษนะ เงินในกระเป๋าเอ็ง ไม่มีใครลัก ใครก็เอาของเอ็งไปไม่ได้หรอก สิ่งที่มันเป็นคุณสมบัติของจิตเรา ไม่มีใครแย่งของเราไปได้หรอก ฉะนั้นถ้าไม่มีใครแย่งของเราไปได้ เราอย่าไปตื่น เราอย่าไปฟุ่มเฟือย อย่าไปใช้จ่ายโดยไม่เป็นประโยชน์ กลับมาทำความสงบของใจนี้ดีกว่า

ถ้าจิตมันสงบขึ้นมาแล้ว เราทำจิตเราสงบแล้ว เราวิปัสสนาของเราขึ้นไป ถ้าจิตเราสะอาดขึ้นมา อย่างเงินนี้ เราเป็นเด็ก เราไม่รู้คุณค่าของมัน เราก็ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย พอเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เงินนี่เราก็รู้ถึงคุณค่าของมัน นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันพัฒนาของมันขึ้นไปจนมันชำระกิเลสได้ ไอ้สิ่งที่เราเก็บไว้นั้น เหมือนเงินจะมีค่ามากขึ้น มีค่ามากขึ้น แต่คนที่ไม่เข้าใจมันนะ พอไปเจอเข้าก็จะใช้มันหมดเลย พอใช้ไปพอจิตเสื่อมแล้วก็ก่ายหน้าผากเลยนะ

ของมันมีนะ ไม่มีใครแย่งเราไปหรอก ของๆ เรานี้ ใครจะมาแย่งชิงไม่ได้ อย่างสมบัติทางโลก เห็นไหม ขนาดจดทะเบียนขนาดไหน ทำสัญญาขนาดไหน เขายังหลอก เขายังโกงกัน แต่ไอ้ของในจิตนี้ ไม่มีใครแกล้งใคร ใครเอาของใครได้เลย ไม่มีทาง มันเป็นสมบัติเฉพาะตน ไม่มีทางที่ใครมันจะมาเอาไปได้เลย

ฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นมานี้ ถ้าเราไปทำก่อนหรือเราไปใช้ก่อน มันจะดึงให้เราเสียไปตามว่างั้นเลย เหมือนอภิญญา ๖ นี้เราไปเชื่ออย่างนี้ เราไปเห็นอย่างนี้ก่อน ดูสิ ดูแม่ชีแก้ว ถ้าภาวนาแล้วไม่รู้นู่นรู้นี่นะ เหมือนวันนั้นไม่ได้ภาวนา แล้วไปหาหลวงตาเห็นไหม หลวงตา บอกว่านั่นมันอภิญญา ๖ แล้วบอกว่าไม่ให้ออก ไม่ให้ออกพอไปภาวนา ก็เหมือนกับว่าไม่ได้ภาวนาเลย นั่งเฉยๆ ไม่ดี ไม่ยอม ต้องออกรู้ พอออกรู้แล้วมาหาหลวงตา หลวงตาอัดเลย

ถ้าให้ออกบ้าง ไม่ออกบ้างได้ไหม ให้ไปทำ ไม่ได้ ไม่ได้ก็ไล่ไปเลย พอไล่ไปแล้ว พอจิตมันลง มันก็บุญนะ พอจิตมันลงไม่เชื่อท่าน แล้วท่านไล่ลงมา ไล่ลงมาก็มานั่งพุทโธ พุทโธ พุทโธ พอจิตมันสงบนะ ธรรมดามันออก ออกไปเห็นภูติเห็นผี ออกหมดเลย พอไม่ออกเห็นไหม พอไม่ออกปั๊บ มันก็อยู่กับที่ พออยู่กับที่ธรรมมันก็เกิด

พอจิตมันสงบปั๊บ มันก็เห็นตัวเองนั่งอยู่ เห็นเป็นนิมิตว่าหลวงตาเอาดาบมาฟัน ฟันผลัวะ ผลัวะ ผลัวะ ฟันร่างกาย พอฟันร่างกายเห็นไหม เพราะมันพิจารณากายไง พอฟันร่างกายผลัวะ “อู้หู ทำไมมันว่างขนาดนี้ โอยทำไมมันสุขขนาดนี้ อู๊ย ทำไมมันดี ขนาดนี้ โอ้มันไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้ ” แต่ก่อนมันไปเห็นผีเห็นสาง มันก็นึกว่าเก่ง ไปเห็นนู่นเห็นนี่ ก็ไปเห็นขี้ พอมาเห็นธรรมขึ้นมามันคนละเรื่อง! พอคนละเรื่องนะ อู้หู ลุกขึ้นกราบนะ แต่กว่าจะเชื่อได้นะ ทิฏฐิมานะนี้ไม่ธรรมดา เข้าใจผิดว่าการรู้การเห็นนั้นเป็นธรรม แต่พอของจริงมันเกิดขึ้น พอจิตมันสงบขึ้นมา มันไปเห็นสภาวะความเป็นจริง ธรรมมันเกิด ตั้งแต่นั้นมา หลวงตาควบเลย ปีกว่าๆ ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ถ้าคนไม่จริง คนไม่เป็น มันเอาไม่อยู่ ไอ้อย่างเรา อู๋ เวลาบอกไปนะ อู้หู เทวดามาเต็มเลย เทวดามาอวยพร เทวดามาสาธุการนะ มาพูดให้เราฟัง เราก็ อื้ม กูก็ไม่เห็นเทวดา แล้วกูก็ไม่กล้าสอนน่ะสิ แต่ถ้าคนเป็นนะ เทวดาก็จิตหนึ่ง เทวดาเขามาขอบุญ มีอะไรให้เทวดาล่ะ (หัวเราะ) ไอ้เราพอเจอบอกว่าเห็นเทวดาล่ะ โอ๋ยขาอ่อน รีบๆ กราบเขาเลย ไอ้นี่เก่ง ไอ้นี่เก่ง อภิญญาเห็นไหม ไม่ใช่วิชชา ๓ วิชชา ๓ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อันนี้ต้องอธิบายกันเยอะมาก คนถามนี่โลเล คนถามนี่นะ พอจะเข้าไปจิ่มๆ ในศาสนาแล้วยึดถือ มันเลยมีความคิดอย่างนี้ไง

ถาม : ขอถามเรื่องศีล ๘ ข้อที่ว่า อพฺรหฺมจริยาเวรมณี เจตนาอันเป็นเครื่องเว้นจากการกระทำอันมิใช่พรหมจรรย์ หมายความว่าอย่างไร

หลวงพ่อ : พรหมจรรย์นั้น มันเป็นกิริยา อพฺรหฺมจริยา เจตนาคือเราละเว้น คำว่าละเว้น มันเป็นเจตนาอยู่แล้ว เจตนาหมายถึงว่า เราตั้งพรหมจรรย์เห็นไหม พรหมจรรย์นี้อยู่เพื่ออะไร พรหมจรรย์เรานี้ พรหมจรรย์เพื่ออะไร พรหมจรรย์นี้ อยู่เพื่อพรหมจรรย์ พรหมจรรย์มาจากไหน เราไปคิดกันเองไง

พรหมจรรย์ คือ แบบว่า ถ้าเป็นศีล ๕ ใช่ไหม ไม่ใช่ศีล ๘ ถ้าเป็นศีล ๕ ปั๊บ ศีล ๕ คู่ครองของเรา มันไม่ผิดเป็นกาเมสุมิจฉาจาร ผิดต่อเมื่อเราผิดคู่ครอง ถ้าไม่ผิดคู่ครองมันก็ไม่ผิดศีล พอมาพรหมจรรย์ ถ้าพรหมจรรย์มันไม่ได้ เพราะพรหมจรรย์มันเป็นเนก ขัมมะ พรหมจรรย์อยู่ที่เจตนา คือ การไม่ทำอย่างนั้นมันก็เป็นพรหมจรรย์อยู่แล้ว

ถาม : ถ้าผู้อื่นเขาไม่ทราบว่าเราถือศีล ๘ แล้วสัมผัสถูกกายเรา เช่น เวลาเบียดกันตักอาหาร เวลาเราเวียนเทียน หรือการตั้งใจรับสิ่งของต่อมือ

หลวงพ่อ : เราไปทิฏฐิตัวเราเอง เราไปทิฏฐิตัวเราเอง เราถือศีล ๘ สิ่งนี้เราเห็นมาก เวลาแม่ชีเขาไปทำอะไรก็ไม่ได้ ไม่ได้ ถือศีลก็คือศีลของเรา ศีลนี้ มันมีด่างพร้อย ศีลขาด ศีลทะลุ ศีลด่างพร้อย คำว่าด่างพร้อย ถ้าจิตใจเราเป็นศีลขึ้นมา ดูสิ ดูพระอรหันต์นะ ปาปมุตไม่เป็นอาบัติเลย

พระจักขุบาลไปเดินจงกรมอยู่แล้วเหยียบแมลงตายเยอะแยะเลย พระก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า บอกว่าพระจักขุบาลเป็นอาบัติ ไม่เป็น เช่น เราเหยียบแมลงตายมันเหมือนกับเราฆ่าสัตว์ ศีล ๕ กูขาดแน่ๆ กูฆ่าสัตว์ แล้วถ้าเป็นพระนะ มันเป็นปาจิตตีย์เพราะฆ่าชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง พระก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่เป็น พระจักขุบาลเป็นปาปมุตไม่มีอาบัติ ไม่เป็นอาบัติ

ทีนี้คำว่าศีล ๘ ก็เหมือนกัน ศีล ๘ ของเรา ศีล ๘ มันอยู่ที่หัวใจเรา แต่สิ่งที่ว่า ถ้ามันเป็นสังคม ใช่ ถ้ามันไปกระทบ มันคือเราไม่ตั้งใจ เราไม่ได้คิดนอกเรื่อง ทีนี้การตักอาหาร หรือสิ่งต่างๆ นี้มันอยู่ที่เราจะรักษา ถ้าพูดถึง ถ้าเราถือศีล ๘ เราขึ้นมาตักก่อนก็ได้ เราถือศีล ๘ ใช่ไหม เราไม่อยากกระทบกระเทือนใคร เราตักข้าว เราตักอาหารก็ตักอย่างสองอย่างเราก็ไปแล้ว

ถ้าศีลกูมีความบริสุทธิ์นะ กูกินข้าวเปล่าก็ได้ กูก็จะไม่เบียดใครเลย ก็ไม่ได้อีกล่ะ กูถือศีล ๘ กูต้องกินข้าวอร่อยๆ เอ้า กูถือศีล ๘ น่ะ ศีลกูมีคุณค่ากว่า ถ้ากูเข้าไปเบียดเขาแล้วศีลกูเศร้าหมอง กูไม่ไป กูกินข้าวกับน้ำปลาก็ได้ ถ้าศีลมีคุณค่า ใจจะเป็นอย่างนี้เลย เพราะมันก็ขี้ ! กินเข้าไปมันก็เป็นขี้ แล้วศีลเรามีคุณค่ากว่าขี้ แล้วไปเห็นขี้ดีกว่าศีล ถ้าใจมันเป็นธรรมขึ้นมา มันจะมีอะไรวะ แต่นี่มันไปติดไง

โยมเขามาเล่าให้เราฟัง เขามาปรับทุกข์ “หลวงพ่อ ถือศีลนะ เวลาไปตลาด ไม่อยากกินอะไรเลย ไปถึงก็ไปซื้อปลาตาย แล้วเวลาเดินผ่านไป มันไม่มีก็ไม่ซื้อ หลวงพ่อ วันหลัง พอเดินผ่านไป เขาทุบหัวไว้ก่อนเลย แล้วธรรมดาปลาเขาขายตัวละ ๑๐ บาท ทุบให้มึงขายตัวละ ๒๕” คือถือศีลแล้วทำไมต้องไปอวดเขาล่ะ ไปบอกเขาก็รู้หมดเลย เขาก็เลยเอาศีลนั้นมาเป็นสินค้าเลย เอาศีลนั้นมาเป็นราคา ปลาตัวละ ๕ บาท แต่ถ้ากูทุบหัวให้มึงก็ ๒๕ ก็เลยปลานั้น มีค่าขึ้นมาอีก ๒๐ บาท

ศีลของเราก็คือศีลของเรา ความดีในใจของเรา เราก็เก็บของเราไว้ แต่สิ่งที่กระทบกระทั่งกัน เราต้องคิดอย่างนี้นะ อย่างที่คิดว่าสมมุติแก้สมมุติ มันต้องเป็นสมมุติ มันจะมีของมัน มันจะไม่มีของมันไม่ได้ เราเปรียบเทียบเมื่อวาน เราพูดถึงศาสนาเชน ชีเปลือยเห็นไหม เขาว่าเขาปล่อยวางหมดนะ เขาบอกว่าพระเรานี้ ไม่ใช่พระอรหันต์หรอก ยังห่มผ้าจีวรอยู่ สู้กูไม่ได้ กูเปลือยหมดเลย

เห็นไหม นี่คือ จินตนาการของเขา แล้วเวลาเขาคิดนะ เขาดันไปเอาผ้าปิดจมูก เห็นไหม เขาบอกว่าเวลาหายใจเข้า มันมีตัวชีวะ มันมีชีวิต มึงเป็นชีเปลือยอยู่นะ เวลามึงจะหายใจ มึงก็เอาผ้าก๊อซปิดจมูกซะ เวลากิเลสมันคิด ดูสิ เอ้า มึงเดินไป มึงก็เหยียบเขา คือ ประสาเรานะ จะเอาเรื่องสะอาดของร่างกาย จะเอาเรื่องความสะอาดของสมมุติมันไม่มี เรื่องความสะอาดมันเป็นเรื่องความสะอาดของหัวใจ ของจิต

เรื่องความสะอาดของร่างกาย ไม่มี มันเน่าทั้งนั้นแหละ มันเหม็นทั้งนั้น แล้วจะบอกว่าพอถือศีลแล้วจะต้องเป็นความสะอาดบริสุทธิ์ มึงก็เพ้อเจ้อ มึงฝัน แต่เราอาศัยสิ่งนี้ไปใช่ไหม ศีล สมาธิ ปัญญา สิ่งนี้เราอาศัยไป ฉะนั้นที่ว่าพอเป็นพรหมจรรย์ เพราะอะไร เพราะคิดด้วยกิเลสไง อพฺรหฺมจริยาเวรมณี แล้วเราก็คิดเลย มันถึงว่าวิทยาศาสตร์มันผิด ผิดอย่างนี้ มันคิดผิดอย่างนี้

นามรูป มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันอธิบายได้หมดเลยว่าจิตเป็นอย่างไร

อธิบายได้หมดเลยนั้นมันคือโลก เพราะจิตมันเป็นใช่ไหม จิตมันจับต้องได้ เป็นวัตถุไหม มันจับ มันต้อง มันมีรูป มันเป็นรูปเป็นนาม มันจับต้องได้ คือ มันว่างไม่ได้ มันปล่อยวางไม่ได้ ถ้าปล่อยวางไป ผิดนะ ถ้าปล่อยวาง กูจะหยิบอะไรล่ะ กูว่างเดี๋ยวกูตกนะ คิดอีกละ เดี๋ยวกูตก แล้วจิตมันจะไปตกที่ไหนล่ะ จิตมันเป็นนามธรรม มันจะไปตกใส่อะไรล่ะ ลองคิดวิทยาศาสตร์ไป มึงเพ้อเจ้อไป มึงไปเลยล่ะ ไปเลย เพราะมันไม่ได้ภาวนา ไม่เข้าใจความเป็นจริงไง คำว่าอพฺรหฺมจริยา ใช่ ความงดเว้น คือ เจตนางดเว้น เจตนา คิดดี ก็คือ ดีแล้ว เจตนาคิดชั่ว เจตนาเห็นไหม มันอยู่ที่ตรงนั้น ทีนี้เรื่องการเวียนเทียน

ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ จับต้องกายหญิง เป็นอาบัติสังฆาทิเสส

ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดจาเกี้ยวหญิงเป็นอาบัติสังฆาทิเสส

ภิกษุมีความกำหนัดอยู่เห็นไหม ชักสื่อให้เขาได้เสียกัน เป็นอาบัติสังฆาทิเสส

ภิกษุไม่มีความกำหนัด ภิกษุไม่มีความรับรู้สิ่งใด มันจะเอาอาบัติอะไรมา ความจับต้องกายหญิง คือ มันเจตนาจะจับจะต้องใช่ไหม มีความกำหนัด เห็นแล้วอยาก

เวลาเขาคิดกันนะ เวลาพระไปโรงพยาบาลเห็นไหม ผู้หญิงห้ามโดนตัวๆ เขาบอกว่าบางวัดไม่เป็นไร ใส่ถุงมือ (หัวเราะ) โอ้ มันคิดของมันได้เว้ย ไม่เป็นไร ถ้าใส่ถุงมือแล้วจับต้องได้ไม่เป็นไร ถุงมือมันบังได้

อาบัติมันอยู่ที่ใจ ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ มันมีความกำหนัดอยู่ แล้วมันไปจับเห็นไหม มันเป็นอาบัติ เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ ใจมันคิด ใจมันต้องการ ใจมันไปจับ มันผิดตรงนั้น แล้วใส่ถุงมือแล้วมันไม่โดน ฮู้..

เราไปเห็นพระเขาทำกัน เห็นแล้วมันเศร้า คือ เขาคิดของเขาได้แค่นั้นนะ เขาคิดได้ บางทีพระเราก็เหมือนกัน พระไปโรงพยาบาล ไม่ให้ผู้หญิงจับ ไม่ให้พยาบาลจับ ไม่ให้ใครจับเลย เขาก็บอกว่าจับได้ มันเป็นวิธีรักษา จับไม่ได้ เพราะขณะที่เขาจับมานี้ เราคิดหรือเปล่า เราคิดไหม ถ้าเขามาจับเรา แล้วใจเราแว็บไป ครบองค์ประกอบเลย สังฆาทิเสส แต่ถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ จะตาย มันเจ็บป่วยจะตายแล้วเขามาจับ ก็คงไม่คิด มันคิดไม่ไหวเพราะมันเจ็บ มันเจ็บมาก มันจะตาย

ศีลนะ ใช่ มันเป็นจริต เป็นนิสัย ถ้าจะให้มันดี ก็ถูกต้องตามที่ว่า เราไม่โดนเขา เราไม่ไปใกล้เขา เราไม่ไป มันดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ที่เราพูดนี้ เราพูดถึงความรู้สึกของใจ ขบวนการของมัน เพราะการภาวนานี้ เรามาภาวนาเพื่อความสะอาดของใจ พอใจมันจะสะอาดขึ้นมา มันก็ต้องอาศัยศีลนี้เป็นพื้นฐาน ถ้าศีลเราไม่สะอาดบริสุทธิ์ มันก็เป็นนิวรณธรรม ถ้าเราลังเล เราวิตกกังวล มันก็ทำสมาธิไม่ได้หรอก

พอมาพุทโธๆ นะมึงยังผิดมาเมื่อกี้ แล้วก็หลอกตัวเอง จะพุทโธๆ ได้อย่างไร มึงอาบัติเต็มหัว แล้วพุทโธ มันหลอกตัวเองไม่ได้หรอก ยิ่งหลอกตัวเองนะ มันยิ่งไปใหญ่ แต่มันก็ไม่ใช่เกิดทิฐิมานะจนทำอะไรไม่ได้เลย กลายเป็นหุ่นยนต์เลย เวลากูถือศีล ๘ นะ ยังดีนะไม่เขียนผูกป้ายไว้เลยว่า ข้าพเจ้าถือศีล ๘ ใครอย่าเข้ามาใกล้ แขวนคอไว้เลย เกร็งเกินไป(หัวเราะ) เราก็ถือของเราสิ มันอยู่ที่เหตุการณ์นะ แล้วถ้าคนเขารู้ เขาจะหลบให้เราเอง

เขาเรียกว่าบารมี บารมีที่เราทำความดีนี้ คนที่เห็นดีกับเรา เขาจะส่งเสริมนะ เรานี้ทำความดีแสนดีเลย แต่ถ้าโจรมันจะปล้น มันจะฆ่า มันก็ฆ่าเรานะ ฉะนั้นสิ่งที่เราคิด เราปรารถนา เราจะไม่ได้สมใจอยากเราหรอก เราคิดว่าเราถือศีล ๘ เราทำความดี ทำไมคนไม่ส่งเสริมเรา แล้วก็ไปน้อยใจว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี ทำอะไรก็เจ็บช้ำน้ำใจ กิเลสมันก็กระทืบซ้ำอีกด้วยนะ ทำดีก็เสียใจ แล้วกิเลสก็ยังเหยียบย่ำซ้ำเข้าไปอีก เราก็ทำดีของเราสิ ถ้าอำนาจวาสนาเราทำแล้วเขาเห็น

ดูสิ ถ้าเราเป็นนักบวช คนไหนภาวนาดี เขาก็จะช่วยเหลือกัน ในสังคมที่ทิฏฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน จะอยู่กันด้วยความเป็นสุข ถ้าทิฏฐิไม่เสมอกัน มึงถือศีล ๘ ใช่ไหม กูถือศีล ๕ กูอิจฉามึง กูไม่ให้มึง กูกันมึง ทิฏฐิไม่เสมอกัน มันก็อยู่ที่วาสนาของเรา ทำไมเราต้องเจอคนอย่างนี้ล่ะ ทำไมเราไม่เจอครูบาอาจารย์ที่ดี ทำไมไม่เจอหมู่คณะที่ดี หมู่คณะที่ดีก็มี นี่ไงกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมที่ไฟท์กันมา กรรมที่ทำลายกันมาก็มี คนทำกรรมดีกันมา มันช่วยเหลือเจือจานกันก็มี

ถ้ามันมีกรรมมีเวรต่อกัน จะทำดีขนาดไหน มันก็ว่าเราเลว ไม่ต้องไปฟังหรอก เสียงนินทากาเล เราเป็นอย่างเขาว่าไหม ถ้าเราไม่เป็นอย่างเขาว่า เราจะไปคล้อยตามเขาทำไม ถ้าเขาจะเลวเขาจะชั่วขนาดไหน ก็พูดออกจากปาก ปากสกปรก มีลูกศิษย์เยอะมากเลย พอไปอยู่ข้างนอก คนโน้นติ คนนี้ว่า บอกว่าคนนี้ไม่ดี เราบอกว่าปากมันสกปรก มึงเชื่อพระพุทธเจ้าหรือเชื่อมัน พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนี้ มึงจะเชื่อพระพุทธเจ้าไหม พระพุทธเจ้าปากสะอาด

ถ้าพระพุทธเจ้าปากสะอาดเราต้องเชื่อพระพุทธเจ้า เราต้องมีความเข้มแข็งของเรา เราต้องยืนอยู่ของเรา ไอ้สิ่งจากภายนอกอย่างนี้ ถ้าพูดอย่างนี้ มีความรู้สึกคิดอย่างนี้ปั๊บ จะถือศีลไม่ได้เลย ถือศีลไม่ได้ทำอะไรไม่ได้เลย เขาขัดขวางเราไปหมด เพราะอะไร เพราะใจมันโดนขัดขวางก่อน กิเลสมันขัดขวางใจมันเอง กิเลสเรานี้ขัดขวางเราเอง กิเลสมันวิตกกังวลเอง เริ่มต้นจะทำก็กลัวแล้ว จะถือศีล ๘ ผิดไปหมดเลย ทำอะไรผิดไปหมดเลย ตัวเองได้ทำลายตัวเองไว้ก่อนแล้ว แล้วคนอื่นจะไม่ทำลายเรา ไม่มี ตัวเองยังทำเลย

เราไม่มีเจตนา เห็นไหม ดูสิ อาบัติ อนาบัติ การที่ภิกษุทำอย่างนี้เป็นอาบัติๆๆ ทำอย่างนี้ไม่เป็นอาบัติๆๆ มันมีกฎหมายเขียนไว้แล้ว กฎหมายเขียนอย่างนี้ปั๊บเราต้องผิดไปหมดเลย กฎหมายเขียนไว้อย่างนี้แล้ว แต่เราทำสิ่งอื่นมา มันมีข้อคล้ายคลึงกัน แต่มันไม่ได้ทำอย่างนั้น

ดูสิ เวลาเราไปฆ่าคนตาย ฆาตกรรม นี่ติดคุก ๒๐ ปี แต่เวลาตำรวจมันยิงโจรตาย วิสามัญฆาตกรรม มันยังได้คุณงามความดี ได้ตำแหน่งหน้าที่ด้วย แต่เวลาเราไปฆ่าเขา เราติดคุกอย่างเดียวนะ แต่ถ้าตำรวจมันยิงโจรตาย มันได้สองขั้น มันอยู่ที่วาสนาบารมีของคน ถ้าใจเราคิด ใจเราทำ ทำให้ดี สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์แน่นอน

แต่ถ้าใจเป็นกิเลส ไม่เข้าใจเรื่องศาสนา แล้วก็เอาศาสนามาตีความกัน อู๊ย ไม่ได้ นู่นก็ไม่ได้ พระท่านทำได้ไง เงินก็ไม่จับ อยู่ก็ไม่ได้ แล้วบวชได้อย่างไร กินข้าวมื้อเดียวก็อยู่กันไม่ได้ อู๊ย ทุกข์ อู๊ยยาก ยังไม่ได้ทำเลย แล้วก็ไปแบกทุกข์แบกร้อนแทนคนอื่น ทำไปสิ พอทำไปแล้วนะ พอจิตมันภาวนาขึ้นมา จิตมันเป็นไปขึ้นมา มันเป็นเองนะ ไม่กินเอง ไม่อยู่เองเพราะอะไร เพราะมันมีคุณภาพ จิตมันเป็นสมาธิดี ปัญญามันหมุนดี อาหารไม่กินก็ได้

หลวงตาเห็นไหม ท่านมาอดอาหาร แล้วจิตมันภาวนาดีมากเลย มันก็ไปไม่ได้เพราะจิตมันต้องกิน ร่างกายมันต้องการอาหาร วันจะไปบิณฑบาตมันเถียงกันเลยนะ ไม่กินแล้วภาวนาดี มันไม่กินข้าวก็ได้ แต่มันจะตาย อ้าวแล้วอะไรจะไปกินข้าว โอยถ้าไปกินข้าวแล้ว พรุ่งนี้ภาวนาแย่เลย แต่มันก็ต้องทนไปบิณฑบาตมาฉัน พอฉันเสร็จขึ้นมาแล้วเห็นไหม ร่างกายนี่ขึ้นมาแข็งแรงเลย แต่หัวใจไปนั่งหลับอีกแล้ว สัปหงกอีกแล้ว

ถ้าหัวใจมันดีขึ้นมานะ มันรู้จักแยกรู้จักแยะ แล้วรู้จักเป็นไป ฉะนั้นเรื่องอย่างนี้ เราคิดเองเหมือนไฟเผาตัวเองนะ ที่เราพูดเห็นไหม เราพูดถึงพวกที่บอกว่า พุทธพจน์ๆ ไม่ให้เถียงพุทธพจน์ นี่ไง ศีล ๘ นะ นี่เป็นสิ่งที่ดี แล้วเวลาไปคิดถึงมัน ทำไมเอามาเผาตัวล่ะ ปรมัตถธรรมพูดไม่ได้หรือ พูดธรรมะของพระพุทธเจ้า นี่ปรมัตถธรรมนะ ใช่ ปรมัตถธรรมของพระพุทธเจ้า แต่มึงน่ะโง่ เอามาเผาตัวเองไง นี่ศีล ๘ นะ เอาศีล ๘ มาเผาตัว

ถือศีล เราอยู่กับศีล เราทำของเราสิ แล้วมันมีสิ่งดีงามขึ้นมา มันดีขึ้นมา เราจะรู้ของเราขึ้นมา แล้วต่อไป ก็อยู่สบาย แล้วถ้าคน ถ้าสังคมเขาเห็นดีกับเรานะ เขาดีกับเรา มันต้องมันเป็นไปของมัน

ถาม : จะถือว่าเรารักษาศีลไม่บริสุทธิ์ได้หรือไม่ แล้วจะเป็นบาปไหม

หลวงพ่อ : เป็นบุญ เป็นบาปได้อย่างไร ถ้าไปปล้นเขาถึงเป็นบาป ไอ้นี่ทำความดีมันจะเป็นบาปได้อย่างไร ถือศีล ๘ แล้วเป็นบาป ถือศีลมันไม่เป็นบาป ถือศีลมันเป็นความดีทั้งนั้น แต่สังคมมันเป็นอย่างนั้น สังคมเขาจะจุนเจือเรา หรือไม่จุนเจือเรา มันจะเป็นบาปต่อเมื่อ เราถือศีลแต่เราโกหก เราไม่ทำ เพราะมันก็ผิดศีลตั้งแต่มุสาแล้ว ไม่มีบาปหรอก พระเราเวลาผิดศีลก็ปลงอาบัติ การปลงอาบัติกรรมมันไม่หมดไป แต่มันเริ่มต้นใหม่ ทำบาปก็คือบาป ทำความผิด

ดูสิ อย่างว่าเห็นไหม เวลาขับรถชนหมาตาย โอ๋ย ทุกข์เป็นร้อนว่า ขับรถชนหมาตาย เราบอกว่า ไม่ใช่ หมามันชนรถมึงตาย พอมาชนรถมึงตาย แล้วกรรมล่ะ กรรมมันเป็นอย่างไร เขามีกรรมของเขา แล้วกรรมนั้นตกอยู่กับใคร อ้าว ก็มันวิ่งมาชนรถมันตายอยู่แล้ว กรรมมันตกอยู่กับใครล่ะ แต่มันมีสายบุญสายกรรมมากับเรา เราก็ต้องมีต่อไปเห็นไหม จะมีมากมีน้อย มันอีกเรื่องหนึ่ง คือว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัยที่เราหลบไม่ได้ สุดวิสัยที่มันเป็นไปไม่ได้ มันก็เป็นไปของมัน นั่นมันก็เป็นเรื่องของกรรมนะ

ถาม : การอาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกัน ระหว่างหญิงกับชายที่รักษาศีล ๘ ถือว่าผิดหรือไม่

หลวงพ่อ : มันไม่ผิดหรอก แต่ถ้าเป็นพระ มันทำไม่ได้ คำว่าศีล ๘ ใช่ไหม เราเห็นมามากเลย คนโบราณเขาบวชชีกัน แล้วพอมีปัญหาเขาก็กลับไปอยู่บ้าน อย่างพ่อแม่เรา คนเฒ่าคนแก่ถือศีล ๘ แล้วท่านก็อยู่ของท่าน

ศีลอุโบสถก็ศีล ๘ แต่ทำไมศีล ๘ กับศีลอุโบสถ มันต่างกันล่ะ เห็นไหมเวลาถือศีลอุโบสถ เวลาขออุโบสถศีลก็ศีล ๘ นั่นแหละ แล้วถ้าเรารักษาศีล ๘ นอกอุโบสถล่ะ อุโบสถมันมีบุญมากกว่า มีกำลังมากกว่า เห็นไหม ศีลอุโบสถ ช้างอุโบสถ แต่ศีล ๘ ของเราก็คือ ศีล ๘ นี้มันเป็นเครื่องมือไง

แบงก์ร้อยกับแบงก์ร้อยมีค่าเท่ากันไหม แต่แบงก์ร้อยของเราซื้อของ กับแบงก์ร้อยคนอื่นซื้อของ บางทีมันต่างกัน มันได้ของจำนวนมากจำนวนน้อยต่างกัน ศีล ๘ ก็เหมือนกัน ศีล ๘ เหมือนกัน แต่ซื้อของได้มากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ เวลาเขาลดราคา เลือกได้เยอะกว่า ศีล ๘ เหมือนกันเห็นไหม เรื่องอย่างนี้ เราจะเอามาเทียบเคียงเป็น เป็นบรรทัดฐานตายตัวไม่ได้ มันมีตัวแปรเยอะแยะไป คำว่าตัวแปร ตัวแปรเพราะจริตเราชอบไม่ชอบ ตัวแปร เพราะเราดีไม่ดี ตัวแปรเพราะสิ่งตรงข้ามเห็นไหม

ถ้าถือศีลแล้วมีคนเกื้อหนุนเรา มันก็ดูดีไปหมด แต่ถ้าถือศีลแล้วมีแต่คนคอยรังแกกัน โธ่.. เราบวชใหม่ๆ เราไม่กล้าอดอาหารเลย ไปอยู่ในป่า บางทีอดอาหารไปแล้ว เพราะเราจะไม่ให้คุ้นเคย ถ้าคุ้นเคยแล้วอดอาหารแล้วเขาจะดูแลกัน เรานี่ใช้ผ่อนเอา แต่เวลาเราเข้าบ้านตาดแล้ว ด้วยความมั่นใจว่า ที่นี่การอดอาหาร ไม่เป็นการอวด เพราะที่นี่ถ้าภาวนาแล้วอดอาหาร เขาถือว่าเป็นเรื่องปกติ เราถึงทำได้เต็มที่เลย

อดอาหารครั้งแรก โอ้โฮ ผลัวะ! กิเลสพั้บขาดเลย เรื่องอดอาหารนี้ เราได้ประโยชน์กับมันมาก มากจริงๆ เราได้ประโยชน์มาทุกๆ อย่างเลยนะ แต่เวลากระทำ คนเหม็นหน้า คนหมั่นไส้เยอะนะ เราต้องรู้จักหลบรู้จักหลีก เราภาวนามา เราผ่านอุปสรรคมาเยอะมาก ฉะนั้นในวัดของเรานี้ เราจะบริหารจัดการให้ดี แต่มันก็มีคนเข้ามา หาผลประโยชน์ คือเข้ามาเจ๊าะๆ แจ๊ะๆ อยู่ เห็นเราเปิดช่องให้ มันก็ยิ่งมาอวดใหญ่เลย ไล่ออกหมดล่ะ ไล่ออกหมดนะ ฟังคำนี้ ไล่ออกหมดนะ

ถาม : การอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน ระหว่างชายกับหญิงจะผิดศีลไหม

หลวงพ่อ : มันไม่ผิดศีล เพราะอะไร เพราะต่างคนต่างอยู่ไง แต่ถ้าเป็น คำว่าพระ แล้วผิดนี้ พระผิดเพราะอะไร เพราะพระห้ามอยู่ในที่มุงที่บังเดียวกับผู้หญิง พระผิด เพราะพระมีศีล ๒๒๗ไง ภิกษุนี่ห้ามอยู่ในที่มุงนะ อย่างเช่น หลังคานี้ เขาเรียกที่มุงอันเดียวกัน ดังนั้นถ้ามีพระนอนอยู่ เขาถึงไม่อยากเข้ามานอนร่วมด้วยไง

ที่บัง ก็คือ ที่มุงที่บัง อันนี้อยู่ในอนิยต ๒ ไง อนิยต ๒ เห็นไหม พระ........สร้างกุฏิสวยมาก ใช้ดินนะแล้วเผามันก็ออกเป็นเลื่อม เป็นทับทิมเลย คนเข้ามาดูกันเยอะ พระ........ก็เข้าไปจับเขา ผู้หญิงมาดูไง จับโน่นจับนี่เรื่อย คนก็ไปฟ้อง สุดท้ายก็ออกไปอยู่ข้างนอกโน่น ลับตาไง พอลับตาสุดท้ายก็ไม่ลับตา ไปพูดกันข้างนอก ลับหู ลับหูลับตาไม่ได้ ถ้าเป็นพระนะ แต่ถ้าถือศีล ๘ นี้มันไม่ผิด ศีล ๘ ไม่ถึงขนาดนั้น

เพียงแต่ว่า ถ้าระหว่างหญิงกับชาย พูดถึงความจำเป็นในบ้านนะ แต่ถ้ามันเป็นเรื่องของเรา เรื่องของสังคม หญิงกับชายอยู่ด้วยกันไม่ได้หรอก มันไม่ปลอดภัยไง ดูสิ เราถึงแยกออกหมด เพื่อให้มันชัดเจน ให้ผู้หญิงไปอยู่ฝั่งโน้น ผู้ชายอยู่ฝั่งนี้ ของเรานี้ มันไม่ได้ตั้งใจทำ มันบังเอิญ บังเอิญซื้อที่ได้เป็นอกแตกไง มันเลยเข้าล็อกพอดีเลย มันเป็นความบังเอิญไปหมดนะ ไม่ได้ตั้งใจทำหรอก มันบังเอิญ แล้วมันก็เลยเป็นผลดีกับการอยู่ไปด้วย

ถาม : ถ้าตั้งใจรักษาศีล ๘ แล้ว ไม่สามารถรักษาให้บริสุทธิ์ได้ จะเป็นบาปมากกว่าการรักษาศีล ๕ เสียอีก ดังนั้นการรักษาศีล ๕ แทนจะดีกว่าศีล ๘ ไหม

หลวงพ่อ : ไม่ดีกว่า มีเงิน ๕ ล้านกับมีเงิน ๘ ล้าน เงิน ๕ ล้านดีกว่าเงิน ๘ ล้านไหม มึงจะเอาเงินไหน เอาสิ เอา ๕ ล้านใช่ไหม จะว่า ๕ บาทกับ ๘ บาทมันน้อยไปเนาะ เอ้าเงิน ๕ บาทกับ ๘ บาท เงิน ๕ บาทต้องมีค่ากว่า ๘ บาทไหม เงิน ๘ บาทมันมากกว่าเงิน ๕ บาทนะเว้ย

ศีล ๘ มันต้องดีกว่าศีล ๕ แน่นอน รักษาได้ก็ดีไป แต่ถ้ารักษาไม่ได้ หนึ่ง สุดวิสัย รักษาไม่ได้โดยว่ามันไม่ได้ตั้งใจ ดูสิ เวลาหลวงปู่หล้าท่านพูดเห็นไหม อาราธนาศีลแล้วไม่รักษาศีล มันเป็นการหลอกตัวเอง การหลอกตัวเองถือว่าโกหกตัวเองเป็นปาจิตตีย์ ผิดศีลข้อหนึ่งเหมือนกัน นี่ท่านพูดของท่านนะ ท่านพูดของท่านอย่างนั้น

ฉะนั้น ถ้าเรารักษาศีลแล้ว ถ้ามันผิดพลาด ผิดพลาดด้วย เห็นไหม ศีลด่างศีลพร้อย ไม่เจตนา ไม่ได้เจตนา ไม่ได้ตั้งใจ คนเรามันสติไม่สมบูรณ์ มันผิดได้เป็นธรรมดา พอผิดได้เป็นธรรมดาเราก็วิรัติขึ้นมาใหม่ คนเราจะทำอะไรไม่ให้มันผิดเลย มันเป็นไปได้อย่างไร ไม่มีหรอก คนทำอะไรไม่ผิดไม่มี พอมันผิดขึ้นมาเราก็แก้ไขสิ

ไอ้พวกนี้มันก็ตอบเหมือนอันเก่า เวลาทำดีขึ้นมา กิเลสมันก็กระทืบๆๆ จะทำความดีขึ้นมาก็ผิดไปหมดเลย กลัวไปหมดเลย เวลามันไม่ทำอะไรนอนตีแปลงเลย เอ้อ ถูกต้อง มันจะไม่ได้อะไรเลยนะ ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องทำอะไรดีกว่า เห็นไหม ดูสิ ชาวพุทธไปวัดก็มี คนที่ไปวัดคือคนที่มีปัญหา คนที่ไปวัดเป็นคนไม่ดีทั้งนั้น ไอ้คนที่นอนจมอยู่บ้านนั่นคนเก่ง พระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง ฉันก็ปล่อยวางแล้ว พระพุทธเจ้าสอนให้เป็นคนดี เราก็เป็นคนดีแล้วจะไปวัดทำไม โง่ฉิบหายเลย

ดีของใครล่ะ ดีของกิเลสใช่ไหม ไปวัดนี่มันเหมือนไปโรงพยาบาล เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยแบบปกติ เราอยู่บ้านรักษาก็หาย โรคบางโรคไม่รักษาก็หาย โรคบางโรคถ้าไม่รักษาก็ตาย ทีนี้เวลามาวัด เห็นไหม เวลาโรคของใจ เวลาภาวนาไป มันติดข้องขึ้นมา หรือเวลาฟังธรรมฟังเทศน์ขึ้นมา อันนี้ไปวัดเหมือนไปหาหมอ

ครูบาอาจารย์ที่ภาวนาเป็น ท่านเป็นหมอ หมอรักษาใจ แล้วท่านผ่าตัดให้เรา ทำอะไรให้เรา มันทำให้เราเร็วขึ้น ดีขึ้น เวลาเทศน์อย่างนี้ เวลาคนภาวนา ไอ้คำเทศน์นี้มันจะทิ่มหัวใจเลยล่ะ พอมันทิ่มหัวใจทีมันก็ตื่น มันก็สดชื่นใช่ไหม มันก็ขวนขวายมันก็ปฏิบัติ มันก็มีทาง แต่ถ้าไปอยู่บ้านก็คิดเอง เออเอง เห็นเอง มันก็อึ่งอ่าง มันก็แบบว่าเป็นเรือหมุนอยู่ในอ่าง หมุนอยู่นั่นล่ะ มันไปไหนไม่รอดหรอก มันไปไม่รอด

ฉะนั้นเวลาบอกว่าก็เป็นคนดีแล้ว เยอะมากนะ ใครมาก็จะบอกว่าเขาเป็นคนดีแล้ว อยู่บ้านก็สบายๆ ปล่อยวาง มันก็ขี้ลอยน้ำนะ ขี้ลอยน้ำตอนไหนรู้ไหม เราสงสารเรื่องชีวิตนี้ โธ่ เราอยู่โพธารามมานะข้างใน ๒๐ ปี นี่จะ ๔ ปีแล้วนะ เกือบ ๖๐ ละ แป๊บๆๆ ๗๐ แป๊บๆๆ ๘๐ แป๊บๆๆ ตายห่าแล้ว ๑๐ - ๒๐ ปีนี้มันไกลหรือ ก็แค่เมื่อวานนี้ เดี๋ยวก็ตายห่าหมด แล้วยังมาบอกว่าไม่ทำๆ พอตายแล้วจะเสียดาย ตายแล้วจะรู้ว่าตัวเองได้ทำหรือไม่ได้ทำ แป๊บๆ นะ

จริงๆ นะ เดินจงกรมนี่ มาเมื่อวานนี่นะ ๔ ปีแล้วนะมึง ๓ พรรษาผ่านไปแล้ว จะเข้าพรรษา ๔ แล้ว มาเมื่อวานนี้ ๔ ปีแล้ว พรรษานี้เข้าปีที่ ๔ แล้ว เดี๋ยวก็ ๕ ปีแล้ว เดี๋ยว ๗๐ แล้ว เผลอ ๒ วันอายุ ๗๐ แล้ว เวลามันผ่านไปเร็วมากๆ เผลอเดี๋ยวเดียว ๑๐ ปี ๒๐ ปีเลยนะ แล้วเราทำอะไรกันอยู่ อยู่บ้านสบายๆ ไปวัดไม่รู้จะไปทำไม เวลาเผาอย่ามาวัดนะ เวลาเผาให้เผาที่บ้าน เนาะ มีอะไรอีกไหม

ถาม : พระอาจารย์คะ ปัญญาวิมุตติกับเจโตวิมุตตินี่จะได้วิชชา ๓ ได้ทั้งสองอย่างใช่ไหม

หลวงพ่อ : ใช่

ถาม : แต่อภิญญานี้ ก็คือ แล้วแต่บุคคล

หลวงพ่อ : ใช่ เพราะว่าถ้าปัญญาวิมุตติ พอจิตมันสงบนะ เหมือนกันหมด ถ้าเจโตวิมุตติ เจโตวิมุตติเพราะอะไร เพราะว่าพอจิตสงบ มันรู้อดีตชาติ อย่างภาวนาพุทโธนี้ นั่นก็วิชชาหนึ่งล่ะ แล้วถ้ามันเป็น มันเป็นที่จิตเอง แต่ปัญญาวิมุตติหรือเจโตวิมุตตินี้ มันเป็นวิธีการ แต่พอจิตมันเป็น ก็เป็นอย่างนั้น

แล้วที่เขาพูดนะ เขาบอกว่าปัญญาวิมุตติ ใช้ปัญญานี้ไม่มีฤทธิ์ แบบพระสารีบุตร แต่พระสารีบุตรเป็นเลิศในทางปัญญา ท่านก็มีฤทธิ์มีเดชของท่าน อย่างพวกเรานี้ แบบว่าวาสนาเราน้อย เราใช้ปัญญาวิมุตติ พอปัญญาวิมุตติเสร็จแล้ว ไอ้เรื่องฤทธิ์มันก็น้อยไง ปัญญาวิมุตตินี้ก็มีฤทธิ์ได้ สุกขวิปัสสโก จะใช้เจโตวิมุตติก็ได้ ปัญญาวิมุตติเป็นสุกขวิปัสสโกก็เหมือนกัน สุกขวิปัสสโกเป็นพระอรหันต์ประเภทหนึ่ง เตวิชโชเป็นวิชชาก็เป็นพระอรหันต์อีกประเภทหนึ่ง

ปัญญาวิมุตติก็ได้ เจโตวิมุตติก็ได้ มันอยู่ที่คุณสมบัติของจิต จิตที่มันสร้างมาอย่างนั้น มันเป็น ส่วนใหญ่คนจะเถียงว่าปัญญาวิมุตติเป็นสุกขวิปัสสโก เป็นสุกขวิปัสสโกจะไม่มีฤทธิ์ เจโตวิมุตติถึงจะมีฤทธิ์ นั่นโดยหลัก ทางทฤษฎีมันน่าจะเป็นอย่างนั้น

แต่! แต่มึงไม่รู้จริง ถ้ารู้จริง มันอยู่ที่คุณสมบัติของจิตต่างหาก ถ้าปัญญาวิมุตติไม่มีฤทธิ์ แล้วพระสารีบุตรทำไมมีฤทธิ์ ปุณณมันตานีบุตรนั่น ไปเทศน์ปั๊บ แล้วไปปราบผีจนกษัตริย์ศรัทธามากไง ก็ให้ตำบลหนึ่งไปปกครอง แล้วเขาก็บิณฑบาตในตำบลนั้น ก็ยกถวายท่านเลย ทีนี้ในตำบลนั้นมันก็มีเด็กทุกข์ยากเข็ญใจไง เวลาบิณฑบาต เด็กมันร้องไห้ ก็ถามพ่อแม่เด็กว่ามันร้องไห้ทำไม มันเห็นเด็กเขาเล่นกัน เขาเล่นมีมงกุฎ แล้วเด็กมันไม่มีมงกุฎ ท่านก็บอก เอ้า ให้ แล้วท่านก็เสกให้ มงกุฎเพชรนะ ด้วยฤทธิ์นะ คนจนนะ เด็กมันเล่นมงกุฎเพชรนะเว้ย พอคนเขาเห็นมงกุฎเพชร เขาก็ไปฟ้องกษัตริย์ บอกว่าไอ้นี่มันไปขโมยมา บ้านนี้มันคนทุกข์คนเข็ญใจ มันไม่มีมงกุฎ แล้วมันเอาเพชรมาจากไหน กษัตริย์ก็เชื่อนะ สั่งจับประหารนะ

พอพรุ่งนี้เช้าพระองค์นี้ก็บิณฑบาตมา อ้าวบ้านนี้ไปไหนล่ะ โอ๋ยเมื่อวานก็หลวงพ่อเสกให้เขาเล่นนั่นล่ะ เลยถูกกษัตริย์จับไปเลย หาว่าขโมยมา กษัตริย์ก็เป็นลูกศิษย์นะ ท่านตามไปราชวังเลย บอกว่า

“มหาบพิตร จับตระกูลนั้นมาหรือ”

“ใช่ เพราะมันไปขโมยเพชรเขามา ทำไมจะไม่จับได้อย่างไร”

“ไม่ได้ขโมยมา ไม่ได้ขโมย”

“เอ้า ไม่ได้ขโมย แล้วอาจารย์รู้ได้อย่างไรล่ะ”

จับเสาเลยนะ ผลัวะ! กลายเป็นทองคำทั้งแท่งเลยนะ

“อ้อ รู้แล้วๆๆ” ปล่อยหมดเลย จับเสานะ จับเสาราชวังปั๊บ อธิษฐานผลัวะ! ทองคำทั้งแท่งเลย เสาเป็นเสาทองคำหมดเลย

ลูกศิษย์กับอาจารย์ไง เพราะลูกศิษย์ก็เชื่ออยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าอาจารย์เสกให้ พอจับผลัวะนะ เสาราชวังกลายเป็นทองคำเลย รู้แล้วๆ กลับเถอะ ปล่อยเลย ไม่ได้ลักมา อาจารย์เสกให้ แต่พระพูดไม่ได้ พระไม่ได้พูดไม่ได้อวดอุตริ แต่ด้วยคุณธรรมมันมีอยู่เป็นปกติ ก็นึกว่าทำแล้วมันจะไม่เป็นโทษกับใคร แต่พอทำแล้วมันเป็นโทษนะ

ฉะนั้น ไอ้นั่นมันเป็นนิสัย มันเป็นจริตเป็นนิสัย มันเป็นนิสัยของมันอย่างนั้น ไอ้อย่างนี้ มันเป็นวิธีการ วิธีการมันก็ส่วนหนึ่ง แล้วมันจะเป็นได้หรือไม่ได้

ถาม : ปัญญานำสมาธิต่างกับปัญญาที่เป็นสัญญาความจำอย่างไร

หลวงพ่อ : ต่างกันเยอะ ต่างกัน แต่มันจะเริ่มจากปัญญาที่เป็นสัญญา เราจะปฏิเสธว่าข้อมูลในสมองเรา เป็นความจำ เป็นสัญญานี้ไม่มี ไม่ได้ ถ้าไม่มีสัญญาเลย เราจะพูดกันไม่ได้ การดื่ม การเหยียด การคู้ การเราคุยกัน มันเป็นภาษาสมมุติที่มีอยู่แล้ว สิ่งนี้เราใช้กันอยู่แล้ว การอยู่การกินกัน เราคุยกัน ไปไหนมา สามวาสองศอก คือสัญญาทั้งหมด

พอสัญญาอย่างนี้ปั๊บ มันอยู่ในหัวเราอยู่แล้ว ทีนี้พอมีอยู่ในหัวเราอยู่แล้ว เราจะตรึกในธรรม เราก็เอาสัญญาไปตรึกในธรรม มันเริ่มต้นจากสัญญา เป็นปัญญาจากสัญญา พอปัญญาจากสัญญาขึ้นมา แล้วเราเห็นโทษเห็นภัยของมัน พอมันเห็นโทษมันก็หยุดใช่ไหม พอหยุดขึ้นมา

ถ้าปัญญาที่เราตรึกในธรรม มันตรึกในธรรมมันก็เป็นสัญญา แต่พอตรึกในธรรมขึ้นไป เรามีความตั้งใจมีความเป็นไป มันจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิอย่างไร เพราะเราใช้ปัญญาเพื่อความสงบของใจ ปัญญาเพื่ออบรมสมาธิ แต่ถ้าเราใช้ปัญญาทำมาหากิน เราใช้ปัญญาทางโลก เราวิตกวิจาร เราคิดกัน เรามีขบวนการที่เราใช้ความคิด นั่นเป็นสัญญา โลกียปัญญา คือ สัญญาตลอดชีวิตไป สัญญาอันหนึ่งถ้าไม่ได้เปลี่ยนแปลง ไม่ได้ใช้ขึ้นมา มันจะเป็นสัญญากับสัญญาไปตลอด

แต่สัญญาอันหนึ่ง เราเอาสติมายับยั้ง เอามาไตร่ตรอง ไตร่ตรองความคิดเรา สัญญานี้มาไตร่ตรองความคิด ดูความคิดตลอดไป มันจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันมาจากที่เดียวกันนั่นแหละ เราถึงบอกว่ามันมาจากสมมุตินี่แหละ มาจากจิตนี่แหละ แต่คนใช้เป็นกับคนใช้ไม่เป็น ถ้าคนใช้ไม่เป็นมันก็ไม่เป็นวันยังค่ำ

ดูจิตๆ มึงจะดูไปทำไม ไอ้ห่า มันต้องใช้ใคร่ครวญสิ พิจารณาจิตไม่ใช่ดู พิจารณาใคร่ครวญต่อสู้ ทำให้มันเป็นสิ่งที่ดีขึ้นมา มาจากของสกปรกนี่แหละ ข้าวเกิดมาจากดิน เวลากินข้าวนะ เวลาอาจารย์เขาพูด เวลาเป็นธรรมะนะ กินข้าวก็กินขี้ มันมาจากขี้ ขี้ดินไง มันเป็นขี้หมดนะ แต่เราว่าข้าว ยิ่งว่าอร่อยๆ อร่อยขนาดไหน ทุเรียนกินเข้าไป มันก็เป็นขี้ทั้งนั้น หยิบทุเรียนก็คือเอาขี้ยัดปาก แต่อร่อยนะ

เวลาเขาพูดปรมัตถธรรม เขาเตือนกันไง เวลาปรมัตถธรรมเขาเตือน ดูอย่างพระเจ้าปเสนทิโกศลสิ กินมากจนอ้วนตุ๊เลย แล้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่าการกินมากมันอืด มันลำบาก มันทุกข์ พระเจ้าปเสนทิโกศลทนไม่ไหว ก็เลยให้พระพุทธเจ้าเทศน์ แล้วให้ทหารฟังจำไว้นะ แล้วเวลากินข้าวให้ยืนข้างๆ คอยบอกไงว่า “คนอ้วน กินมากไม่ดี” ตั้งแต่นั้นมาก็เลยอดได้ เริ่มอดได้ พระเจ้าปเสนทิโกศลเลยเริ่มดีขึ้นๆ

เวลากินมันอร่อยไง ติด กินแล้วลืม พระพุทธเจ้าสอนไว้ก็ลืม ก็ให้มหาดเล็กไปจำมา แล้วเวลาจะกินข้าว ไอ้นี่มีหน้าที่ท่องให้ฟัง เวลาจะกินไอ้นี่ต้องยืนพูดตลอดเวลา “กินมากไม่ดี กินมากสะสมโรค” มันเตือนสติตลอด ก็เลยกินน้อยลงๆ แล้วท่านก็ผอมลงๆ พระเจ้าปเสนทิโกศล ในพระไตรปิฎก ปเสนทิโกศลหรือพิมพิสาร จำผิดจำถูก ชื่อคนนี้เราจำผิดจำถูก จำผิดจำถูกแล้วมาสอนทำไม ก็เราอยากจะสอนน่ะ เราได้เนื้อหาสาระ แต่ไอ้ความจำนี้ไม่ค่อยดี ไม่ค่อยดีนะ แต่ใครอย่าด่านะ จำแม่น (หัวเราะ) ใครว่านี่จำแม่นนะ มีอะไรอีกไหม เนาะ เอวัง