ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สมาธิที่ถูกต้อง

๔ พ.ค. ๒๕๕๒

 

สมาธิที่ถูกต้อง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตอนนี้กระแสมันแรง กระแสในการปฏิบัติมันเริ่มมีขึ้นมา พวกเราก็เลยจะมาปฏิบัติกัน แล้วพอมาปฏิบัติปั๊บ เราก็จะมาโต้เถียงกันว่าของใครผิดของใครถูก มีพวกลูกศิษย์มาหาเราเยอะมาก เขาห่วงมาก เขาถามว่า “ทำอย่างไรถึงจะไม่เป็นสีลัพพตปรามาส?” คือไม่ลูบคลำในการประพฤติปฏิบัติ เพื่อเขาจะได้ทำให้ถูกต้อง

แล้วเราบอกว่า มันลูบคลำกันทั้งหมด ไม่มีใครที่ไม่ลูบคลำ เพราะในตอนเริ่มต้นปฏิบัติ อย่างเช่น พวกเราจะเผาหัวมัน หรือเราจะเอาหัวมันมาทำอาหาร หัวมันนี้จะต้องเป็นหัวมันดิบมาก่อนหรือเปล่า

แน่นอน! แล้วหัวใจของเรามันมีกิเลสไหม ที่นั่งกันอยู่นี้ทุกคนที่เกิดมาจะมีกิเลสกันทั้งหมด แล้วพอจะเอามาปฏิบัติ มันก็มีกิเลส กิเลสคือความเห็นแก่ตัว กิเลสคือความเคยใจ กิเลสคือสิ่งที่มันคิดว่าตัวมันถูกต้องอยู่ตลอดเวลา แล้วพอมาปฏิบัติปั๊บ มันจะคิดว่ามันผิดไหม มันก็จะต้องบอกว่ามันถูก

ไม่มีหรอกที่เริ่มต้นปฏิบัติแล้วจะให้ถูกเลย มันไม่มี ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ถูก เพราะพระพุทธเจ้าทดสอบมาแล้วถูกต้องหมดเลย แต่เวลาเราไปศึกษา เราก็เอาความรู้ความเห็น เอามุมมองของเราเข้าไปศึกษา แต่ความเห็นหรือมุมมองของเรามันผิด ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ถูก แต่พวกเรานี่คิดผิดหมดเลย

เวลาเราสวดมนต์ทำวัตรกัน เห็นไหม “กาเยนะ วาจายะ...” ทั้งกายทั้งวาจาที่เห็นผิดไปจากธรรม เราต้องขอขมาลาโทษตลอดเวลา เพราะเรามีความเห็นผิดไปจากธรรม

ทุกคนกลัวว่าเราจะสีลัพพตปรามาส เรากลัวว่าเราทำไปแล้วมันจะมีความผิดพลาด แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราที่ประพฤติปฏิบัติมา เช่น หลวงปู่มั่น เริ่มต้นปฏิบัติมาจนจิตสงบแล้วพิจารณากายเข้าไป แต่พอปล่อยออกมา มันก็ไม่เห็นได้อะไรเลย แล้วท่านก็สงสัยว่า “ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ?” เพราะอะไร เพราะของเหล่านี้พวกเราจะพิสูจน์กันเองได้ อย่างเช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เรามีความสุข มีความอบอุ่น มีความทุกข์ มีความดีใจเสียใจ เราจะรู้ของเราเองทั้งนั้น แล้วเวลาเราปฏิบัติไปแล้วเราก็ซื่อสัตย์กับตัวเอง

เวลาที่จิตออกจากความสงบมา “ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ? ทำไมไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นมาจากการปฏิบัติอย่างนั้นเลย” ท่านถึงมาพิจารณา แล้วด้วยความที่ท่านได้สร้างบุญญาธิการมามาก ท่านบอกว่า “น่าจะเป็นเพราะเราเคยอธิษฐานหรือตั้งสัจจะไว้ว่า อยากจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรารถนาพุทธภูมิ” ท่านก็เลยลาพุทธภูมิก่อน พอลาพุทธภูมิแล้ว เห็นไหม พอกลับมาทำความสงบของใจเหมือนเดิม พิจารณากายเหมือนเดิม ก็พิจารณาเหมือนเดิมแต่ผลกลับแตกต่างกัน แล้วพอออกจากสมาธิมา “อื้ม.. อย่างนี้ถูก! อย่างนี้น่าจะถูกทาง”

ดูสิ เวลาหลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติ หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านเป็นครูบาอาจารย์ของเรา เป็นผู้นำเป็นธงชัยของพวกเราพระกรรมฐาน ท่านทำมาท่านก็ยังผิดพลาดมา จนได้มาตรวจสอบตัวเอง

ย้อนกลับมาที่เรา ถ้าเราปฏิบัติไปแล้วจะเป็นสีลัพพตปรามาสไหม..เป็น เป็นแน่นอนเลย แต่พอเป็นสีลัพพตปรามาสแล้วเราก็แก้ไข ใจของเรามันเป็นของดิบ เราถึงต้องทำความสะอาดมัน เราต้องแก้ไขมัน แต่! แต่เพราะพวกเราไปกลัวตรงนี้ พอเรากลัวปั๊บเราก็จะหาทางออก มันก็เลยไปเข้าทางเขา “มาหาฉันจะง่าย มาหาฉันจะสะดวก มาหาฉันจะเรียบง่าย เรียบร้อยไปเลย”

มันเป็นไปไม่ได้...มันเป็นไปไม่ได้หรอก

ทีนี้ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติ เราก็ต้องซื่อสัตย์กับตัวเรา เราพิจารณาของเราแล้ว ดีหรือชั่วเราจะรู้ของเราเอง ที่เรามาปฏิบัติกันเพราะเรามีความเชื่อและเราอยากพ้นจากทุกข์ พอเรามาปฏิบัติ เรานั่งสมาธิภาวนากัน ถึงมันจะเจ็บจะปวด ถึงมันจะมีความทุกข์ความยากขนาดไหน เราก็ต้องมีความอดทน แล้วความอดทนอันนี้มันจะเป็นพื้นฐานให้เรา เห็นไหม เวลาเราปฏิบัติของเรา เรานั่ง บริกรรมพุทโธๆ ไป เราเจ็บไหม เราปวดไหม เราเมื่อยไหม เราก็ปวดเมื่อยกันทั้งนั้น แล้วเวลาคนอื่นเขาปฏิบัติ เขาทำกันแบบง่ายๆ แล้วมันจะเป็นไปได้ไหม

แต่ทำไมในสังคมของเขา เขาปฏิบัติกันแล้วเขาบอกว่า “เขาพ้นจากกิเลส เขาได้มีความรู้ความเห็น เขามีความสุขมาก”

เพราะเขาไม่ซื่อสัตย์กับตัวเขาเอง ถ้าเขาซื่อสัตย์กับตัวเขาเองนะ การนั่งนี้ร่างกายมันถูกกดทับ ลูกศิษย์เราเป็นหมอ เราถามหมอเลย ทางการแพทย์บอกว่า “ถ้าผิวหนังถูกกดทับแค่ ๔๐ นาที ผิวหนังก็ตายแล้ว” แล้วเรานั่งกันทีละ ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมง มันจะมีความทุกข์ไหม มันก็ต้องมีความทุกข์เป็นธรรมดา แต่เขากลับบอกว่ามันเป็นความสุขของเขา

สุขอย่างไร? ความสุขของเขามันสุขอย่างไร? แล้วถ้าจิตมันสงบ จิตมันปล่อยวาง มันจะมีความรู้สึกอย่างไร?

มันไม่มีเหตุไม่มีผลเลย แล้วเขาก็บอกว่า “ปฏิบัติเรียบง่าย ปฏิบัติแล้วจะสิ้นจากกิเลส”

เราฟังเขาพูด มันเหมือนกับว่าเขามี ๒ ความรู้สึก ความรู้สึกหนึ่งคือเขาศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า คือไปดูการกระทำมา แล้วอีกความรู้สึกหนึ่งเขาบอกว่า “เขาได้ เขารู้ เขาเห็น” โดยที่ไม่มีเหตุไม่มีผล เพราะเขาใส่หน้ากากเข้าหากัน

สังคมโลกเป็นอย่างนั้น เห็นไหม สังคมโลกจะคิดอย่างหนึ่ง.. ทำอย่างหนึ่ง.. พูดอย่างหนึ่ง.. ถ้าเราคิดอย่างไรหรือเรามีความรู้สึกอย่างไร เราจะพูดออกไปตรงๆ ไม่ได้ เพราะจะเสียมารยาทสังคม คิดอย่างหนึ่ง.. ทำอย่างหนึ่ง.. พูดอย่างหนึ่ง.. นิสัยมันก็เลยติดมา แม้แต่ในการประพฤติปฏิบัติ

ทำอะไรที่มันจะเรียบง่าย ทำอะไรที่มันจะสิ้นกิเลส มันทำอะไรมา? เราไปเชื่อมั่นกันเองไง เพราะเขาพูดของเขาแล้วเราก็เชื่อ เพราะอะไร เพราะเรามีศีลใช่ไหม เราเชื่อเราว่าเราเป็นชาวพุทธ เราจะต้องพูดความจริง แล้วพอเขาพูดกับเรามันก็จะเป็นความจริงด้วย

๑. เขาไม่ซื่อสัตย์กับตัวเขาเอง

๒. เวลาเขาพูดออกมา เขามีวุฒิภาวะที่ต่ำมาก

อย่างเรานั่งกันอยู่นี่ ลมพัดมาเย็นไหม สบายไหม โล่งไหม อย่างนี้เขาก็จะบอกว่าได้เป็นพระอรหันต์กันหมดแล้ว เพราะสงบเย็น แต่มันจะเป็นความจริงไปได้ไหม จิตของเขา พอเขาได้กระทำของเขาแล้วเขามีความรู้สึกสบายๆ เขาก็บอกว่ามันเป็นนิพพาน

นั่นคือเขาเข้าใจของเขา แต่มันไม่เป็นความจริง เพราะอะไร ไม่เป็นความจริงเพราะเขาไม่เคยผ่านสังคมของครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ครูบาอาจารย์ที่ท่านได้ประพฤติปฏิบัติมา ท่านจะกรองเราได้ เหมือนพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกมา พ่อแม่คนไหนบ้างที่ไม่เคยทุกข์ยากลำบากมา เป็นพ่อแม่มาทั้งชีวิต พ่อแม่ก็ต้องทุกข์ยากลำบากมา เห็นไหม แล้วเราจะอยากให้ลูกของเราสุขสบายไหม แล้วเราจะปล่อยให้ลูกของเราเร่ร่อนไปโดยไม่ต้องมีการศึกษา ไม่ต้องมีหน้าที่การงาน มันจะเป็นไปได้ไหม ไม่ว่าพ่อแม่คนไหนก็ต้องฝึกลูก ก็ต้องบอกให้ลูกเป็นคนดี ให้ลูกทำมาหากิน ให้ลูกคบเพื่อนที่ดี

ในการปฏิบัติก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ท่านได้ผ่านของท่านมา มีชีวิตกับการปฏิบัติมา จากจิตดิบๆ จากสิ่งที่มันเห็นแก่ตัว จากสิ่งที่ว่ามันอยากจะชุบมือเปิบ จะเอาให้ได้ ผู้ที่ปฏิบัติจริงมาแล้ว เช่น ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านจะบอกว่าพวกเรานี่เหมือนชุบมือเปิบ เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านต้องทุกข์ยากมาถึง ๖ ปี หาธรรมะมา แล้วมาวางสำรับไว้ต่อหน้าเรา ก็คือธรรมะในตู้พระไตรปิฎก เหมือนท่านเอาอาหารมาจัดสำรับไว้ให้เราเลย แต่เราก็กินไม่เป็น กินไม่ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านไม่มีอาหาร ท่านต้องแสวงหาของท่านเอง ยังไม่มีทางที่จะพ้นไปได้ เพราะยังไม่มีธรรมะ ยังไม่มีสัจธรรม แล้วท่านก็ทดสอบตรวจสอบ ท่านทำของท่านมาตลอด จนท่านบรรลุธรรมขึ้นมา ในสังคมสมัยนั้น นักบวชนักพรตเขาจะทรมานตน จะยืนจนปวดขึ้นมาถึงเอว หรือจะกำมือไว้จนเล็บทะลุถึงหลังมือ นี่คืออัตตกิลมถานุโยค กำมือไว้เฉยๆ แล้วพอเล็บมันงอกมันก็จะทะลุหลังมือออกไป หรือยืนขาเดียวแล้วอ้าปากกินลม นี่คือแนวทางการปฏิบัติของเขา

ในสมัยนั้นมันเป็นความเห็นของสังคมว่า แนวทางอย่างนี้คือการปฏิบัติ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไปปฏิบัติกับเขา ทรมานตนมาทุกอย่าง ทำมาทุกอย่างเลยที่เขาทำกัน สุดท้ายแล้วท่านก็รู้ว่ามันไม่ใช่ทาง หลังจากที่อดอาหารจนขนร่วง ท่านจึงย้อนกลับมาถึงตอนที่เป็นราชกุมาร แล้วพระบิดาพาออกแรกนาขวัญ ตอนที่นั่งอยู่แล้วกำหนดลมหายใจ แล้วมันมีความสุขมาก ท่านจึงคิดว่า “หรือว่าจะต้องเริ่มต้นจากตรงนั้น? ถ้าจะเริ่มจากตรงนั้น เราจะต้องฟื้นฟูร่างกาย” ท่านก็เลยออกมาฉันอาหารของนางสุชาดา

แล้วปัญจวัคคีย์ก็ทิ้งไปหมดเลย เพราะอะไร เพราะในสังคมสมัยนั้นเขายอมรับกันว่า การปฏิบัตินี้จะต้องเข้มแข็ง ต้องทำจริงจัง ต้องมีจิตใจเข้มแข็งแล้วทรมานร่างกาย แต่พอท่านทำมาขนาดนั้นแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ว่ามันไม่ใช่ทาง จึงกลับมาที่มัชฌิมาปฏิปทา กลับมาฉันอาหาร คือกลับมากินข้าวให้มันมีกำลังขึ้นมา แล้วกำหนดลมหายใจเข้าออก ปัญจวัคคีย์ก็เลยทิ้งไปหมดเลย ก็เคยอยู่ด้วยกันมาคลุกคลีกันมา ๖ ปีที่อยู่ด้วยกันนี้มันได้เห็นไส้เห็นพุงกันหมด ไม่ว่าจะทำดีหรือทำชั่ว แล้วพอปัญจวัคคีย์เห็นว่าเจ้าชายสิทธัตถะมาฉันอาหารจึงทิ้งไป

พระพุทธเจ้าพอฉันอาหารของนางสุชาดาแล้ว คืนนั้นท่านก็อธิษฐาน “คืนนี้เราจะต่อสู้แล้ว เพราะว่าเราได้ค้นคว้ามาทุกอย่างกับโลก สิ่งที่สังคมเขาเชื่อเขาศรัทธากัน เราก็ได้ทดสอบมาหมดแล้ว มันไม่มีทางไปแล้ว” เพราะคนจริง! ได้สร้างสถานะได้สร้างบุญญาธิการมามาก คืนนี้เราจะพิสูจน์ของเราเอง

ตั้งแต่ปฐมยาม กำหนดลมหายใจจนจิตมันสงบเข้าไป มันถอยร่นเข้าไปจนถึงตัวมันเอง เหมือนอย่างเช่น เราต้องรับผิดชอบสิ่งต่างๆ มาก แล้วเราสลัดทิ้งเข้ามาจนเป็นตัวของเราเอง จิตมันสงบเข้ามาจนเป็นตัวของตัวเอง จิตมันมีข้อมูล บุพเพนิวาสานุสติญาณ เห็นการกระทำออกไป เห็นการเคลื่อนออกไปของจิต เห็นอดีตชาติ ย้อนกลับ.. ย้อนกลับ.. มันไม่ใช่ก็ย้อนกลับมาแล้วเกิดจุตูปปาตญาณ พอไล่ไปมันก็ไม่จบ ถึงที่สุดกลับมาที่อาสวักขยญาณ แล้วทำลายกิเลสสิ้นไปจากใจ พอกิเลสสิ้นไปจากใจก็มีความสุขมาก เสวยวิมุตติสุข

พอสิ้นกิเลสแล้วท่านจะออกเผยแผ่ธรรม ท่านยังรำพันว่า “มันจะสอนใครได้หนอ.. มันจะสอนใครได้หนอ..” เพราะความคิด มุมมอง มันแตกต่างกันไปตามวุฒิภาวะของจิต เห็นไหม ความคิดของโลกคือโลกียปัญญา ทุกคนจะคิดจากโลกทัศน์ คิดจากความคิด จิตมันจะคิดออกไปเป็นวิชาชีพ เป็นความรู้ความเห็นออกไปต่างๆ แล้วเวลาจะสอนเขา จะให้เขาย้อนกลับ.. ย้อนกลับ.. นี้มันจะทำอย่างไร เพราะทุกคนไม่มีอำนาจวาสนาไม่มีเชาวน์ปัญญาที่จะคิดได้ว่า ความคิดที่ย้อนกลับต่างจากความคิดที่เรากำลังคิดกันอยู่ ความคิดของเราตามปกตินี้เขาเรียกว่าส่งออก เพราะมันมีพลังงานถึงมีความคิด พอคิดถึงสิ่งใดแล้วมันก็หลุดออกไป แล้วถ้าจะให้มันย้อนกลับ มันจะย้อนกลับอย่างไร แล้วจะสอนกันได้อย่างไร จนท่านทอดธุระ

สุดท้ายแล้วพรหมมานิมนต์ เห็นไหม พรหมมาอาราธนาด้วย แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็ปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ด้วย แล้วจะสอนใครก่อน เพราะเขาต้องมีวุฒิภาวะ คือเขาต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งที่เขาสามารถจะย้อนกลับได้ แล้วจะสอนใครได้ เล็งไปที่อาฬารดาบสเพราะเป็นอาจารย์เก่าของตัว เคยไปอาศัยเขาแล้วเขาเคยสอนมา เขาการันตีเลยว่า “เจ้าชายสิทธัตถะมีความรู้เหมือนเรา” แต่ก็ตายไปแล้ว ท่านก็มาคิดถึงปัญจวัคคีย์ พอย้อนกลับไปหาปัญจวัคคีย์ เขาก็นัดกันว่าจะไม่ต้อนรับ เราจะเน้นตรงนี้ว่า เวลาพระพุทธเจ้าไปถึง ปัญจวัคคีย์ก็กระด้างกระเดื่อง เพราะว่าคนเคยอยู่ด้วยกันมา แล้วเห็นว่าท่านทำผิดไปจากสังคมโลกที่ต้องให้ทรมานตน ต้องเข้มแข็ง ต้องเอาชนะตนเองให้ได้ แต่ถ้าท่านกลับไปกินข้าวนี้คือมันอ่อนแอ เห็นไหม สังคมมองว่าอย่างนั้น

พระพุทธเจ้าท่านก็เทศน์เลย “เราเคยอยู่ด้วยกันมา ๖ ปี ตอนที่อยู่ด้วยกันนั้น เราไม่เคยพูดเลยว่าเราเป็นพระอรหันต์ ว่าเราเคยมีความสำเร็จ เราไม่เคยพูด แต่ในปัจจุบันนี้เราเป็นพระอรหันต์ ให้เงี่ยหูลงฟัง” คือให้ตั้งใจฟัง เพราะถ้าไม่ตั้งใจฟัง พูดออกไปแล้วมันก็จะไม่มีประโยชน์

พระพุทธเจ้าท่านพูดจนปัญจวัคคีย์ยอมรับ พอเงี่ยหูลงฟังแล้วท่านก็เทศน์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อัญญาโกณฑัญญะก็ได้บรรลุธรรมขึ้นมา “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ..อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ..” คือมีพยานเกิดขึ้นแล้ว แต่ก่อนมีแต่พระพุทธเจ้าที่รู้อยู่แค่องค์เดียว แล้วทางโลกเขาก็มีมุมมองของเขาว่าการทรมานอย่างนั้นมันจะเป็นประโยชน์ แต่เวลาพระพุทธเจ้าทรมานตน ทำเหมือนที่เขาทำทุกอย่าง แต่มันก็ไปไม่ได้ เพราะมันไปทรมานร่างกาย แต่มันไม่ได้ทรมานจิตใจ เพราะการทรมานร่างกายนี้จิตใจต้องเข้มแข็ง เจ็บปวดไหม...เจ็บปวด แต่ความเจ็บปวดอย่างนั้น มันไม่มีใครไปบังคับมันใช่ไหม มันก็ได้แต่ขันติ มีความอดทนเท่านั้น ทรมานแค่ไหนมันก็ทรมานไปแต่มันไม่ได้ทรมานที่จิต จิตมันก็ยังเร่ร่อนได้เพราะยังไม่มีใครไปทำลายมัน

แต่พอตั้งสติขึ้นมา ตั้งสมาธิขึ้นมา มันจะกลับไปที่ตัวจิต แล้วมันจะไปทำลายที่จิต ไม่ใช่ไปทำลายที่ร่างกาย จะทำลายร่างกายขนาดไหน เวลาทรมานร่างกายแล้วหัวใจมันไม่โดนทำลายไปด้วยหรือ...ไม่โดน!

แม้แต่เวลาเราพิจารณาที่ปัจจุบันนี้ เห็นไหม “ความคิดไม่ใช่จิต” แล้วเราก็ไปแก้กันแต่ที่ความคิด อย่างที่เขาตั้งปัญหากันขึ้นมาแล้วพอขบปัญหาให้แตกก็จะได้เป็นพระโสดาบัน ขบปัญหาแตกก็จะได้เป็นพระสกิทาคามี ขบปัญหาแตกก็จะได้เป็นพระอนาคามี ขบปัญหาแตกก็จะได้เป็นพระอรหันต์

มันยังไม่เกี่ยวกับจิตเลย! เพราะความคิดไม่ใช่จิต

เขาจะตั้งปัญหากันขึ้นมา ก็คือตั้งประเด็นขึ้นมา แล้วไล่ประเด็นจนประเด็นนั้นแตก แล้วเขาบอกว่าจะได้เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี

มันจะเป็นไปได้อย่างไร ถ้าทำอย่างนั้น ใช่! มันสะดวก เหมือนเรายืนอยู่แล้วมีเงา ถ้าพูดถึงร่างกายเราเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยหรือมีบาดแผล มันก็จะมีความรู้สึกเจ็บปวด แต่เงาที่มันอยู่บนดิน ถ้าเขาเหยียบเงา มันยังไม่มีความหมายเลย เงานี้เขาจะเอาอะไรมาทับมันก็ไม่เป็นไร

นี่ก็เหมือนกัน “ความคิดเป็นเงาของจิต ความคิดไม่ใช่จิต” แล้วถ้าไปแก้ไขกันที่ความคิดแล้วมันจะชำระกิเลสได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้เลย!

แต่มันก็เป็นความคิดของโลก เห็นไหม เขาถึงบอกว่า “เขาปฏิบัติง่ายรู้ง่าย”

มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่โลกเขาเป็นอย่างนั้น เห็นไหม ในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน กระแสสังคมตื่นตัวในการประพฤติปฏิบัติกันมาก เขาก็มีความเชื่อมีความศรัทธากัน แล้วเขาก็สร้างภาพว่า “ต้องทำอย่างนั้น.. ต้องทำอย่างนั้น..”

คำว่า “ต้องทำอย่างนั้น” มันเป็นการเจาะจง มันเป็นเรื่องของจิตทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่นท่านจะพูดเลย ท่านจะปูพื้นฐานให้ก่อน อย่างเช่น ลูกหลานของเราโตขึ้นมา เริ่มตั้งแต่เกิดมา พออายุได้ ๓ ขวบ ก็เอาเข้าโรงเรียนเพื่อปูพื้นฐาน ถ้าพื้นฐานของเขาเข้มแข็งดี การศึกษาของเขาก็จะไปข้างหน้าด้วยความสะดวกสบายมาก แต่ถ้าพื้นฐานของเขาอ่อนแอหรือเขาไม่มีโอกาส การศึกษาของเขาก็จะลุ่มๆ ดอนๆ

นี่ก็เหมือนกันในการเริ่มต้นของเรา ถ้าเราอยากจะภาวนา เราก็ต้องตั้งสติของเราแล้วเรากำหนดพุทโธๆ เห็นไหม นี่คือพื้นฐาน ถ้าเรารู้จักพื้นฐานแล้ววางพื้นฐานของเราได้ พอปฏิบัติไปข้างหน้าเราจะไปได้ แต่ถ้าเราไม่ได้วางพื้นฐาน อย่างในปัจจุบันนี้ที่เขาไม่ต้องวางพื้นฐานกัน จะเอาจริงเอาจังกันเลย จะออกประพฤติปฏิบัติด้วยมุมมองของเรา จะใช้ปัญญาอบรมสมาธิหรือใช้วิธีต่างๆ เราก็คิดของเรากันไป มันก็เลยเป็นความคิดสร้างภาพ เป็นจินตมยปัญญา

จิตนี้มันมหัศจรรย์มาก มันมหัศจรรย์ตั้งแต่มันเกิดจนมันตาย จิตนี้ไม่เคยตาย แต่มนุษย์เรานี้ตายทุกวันเลย เวลามนุษย์ตายแล้วจิตไปไหน เพราะจิตออกจากร่างแล้วมนุษย์ถึงได้ตาย เราเห็นกันได้แต่มนุษย์เกิดมนุษย์ตาย แต่จิตตายนี่ที่ไหนมี แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ เวลากิเลสตายจากจิต จะเห็นได้เลยว่าจิตไม่ตายอีกแล้ว จิตที่ตายแล้วเกิด กับ จิตที่ตายแล้วจบสิ้นไม่เกิดนี้มันเป็นเพราะเหตุใด “ภาวนามยปัญญา” ปัญญาที่เกิดจากการภาวนามันจะไปเห็นสภาวะแบบนั้น แต่เราไม่เคยเห็น เราเห็นแต่คนเกิดคนตาย แต่เราไม่เคยเห็นจิตเกิดจิตตายเลย แล้วพอจิตมันจะเกิดจะตายนี้มันเกิดมันตายเพราะอะไร ก็เพราะแรงขับ แรงเหวี่ยง กรรมดีกรรมชั่วนี้มันเป็นแรงเหวี่ยง ถ้ามีแรงเหวี่ยงของกรรมดีกรรมชั่วอยู่ มันก็ยังต้องไปใน “วัฏวน” กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์

กิเลสคือตัวกระตุ้นให้อยากกระทำ การกระทำไปแล้วนั้นเป็นกรรม แล้วผู้ที่รับผล ใครเป็นคนที่รับกรรมนั้น ก็คือจิตดวงนั้น “มโนกรรม วจีกรรม กายกรรม” การกระทำต่างๆ ล้วนเกิดจากจิตทั้งหมด ถ้าจิตไม่สั่งการ ถ้าจิตไม่ริเริ่มมีความคิดออกมา แล้วใครจะเป็นคนทำ ที่เรามานั่งฟังธรรมกันอยู่นี้ใครเป็นคนสั่งให้มา ศรัทธาความเชื่อสั่งมา

แล้วศรัทธาความเชื่อมันมาจากไหน ถ้าศรัทธาความเชื่อมันเป็นอากาศเป็นลม มันก็ต้องสั่งได้ เพราะวัตถุมันต้องสั่งได้ แต่มันสั่งไม่ได้เพราะมันไม่มีชีวิต แต่ถ้ามีชีวิตมันถึงจะมีศรัทธาความเชื่อเกิดขึ้นมาจากจิต แล้วมันจึงสั่งให้จิตบังคับให้ร่างกายมานั่งฟังเทศน์อยู่นี่ การกระทำนี้ใครเป็นคนทำ แล้วผลของการกระทำนั้นมันไปตกที่ไหน มันก็ตกอยู่ที่จิตเป็นกรรมดีกรรมชั่ว

แต่การประพฤติปฏิบัติหรือการภาวนานี้คือเราจะมาชำระล้างให้มันสะอาด ถ้าไม่มีศรัทธาไม่มีความเชื่อไม่มีความมั่นคง โธ่! อย่างเช่นถ้าเราทำงานกัน พออาบเหงื่อต่างน้ำนี้เราก็ทุกข์แล้ว แล้วเวลานั่ง เห็นไหม หลวงปู่ฝั้นท่านพูดเองว่า “งานที่สบายๆ คือหายใจเข้าและหายใจออกก็พุทโธๆ เวลาอาบเหงื่อต่างน้ำก็บอกว่าลำบาก แต่เวลานั่งนิ่งๆ มันก็ไม่ยอมทำ แล้วมันก็ทำไม่ได้ด้วยนะไอ้งานอันละเอียดแบบนี้”

เห็นไหม เขาจะบอกว่า “พระบวชมาแล้วก็ไม่ทำงาน พระบวชมาแล้วเป็นลูกตุ้มสังคม พระนี้เอาเปรียบสังคม พระไม่ทำอะไรเลย”

เขาไม่รู้หรอกว่าพระนี้กว่าจะเอาใจของตัวเองไว้ได้มันยากแค่ไหน

ถ้าพูดถึงเวลาที่พวกโยมมีศรัทธามาก และจะมาเกื้อกูลมาช่วยเหลือพระกันเต็มที่เลย แต่ยิ่งกินมากนอนมาก ก็จะยิ่งทำให้กิเลสมันตัวอ้วนๆ แล้วมันก็จะมากระทืบหัวใจพระให้เจ็บปวดมาก แต่ถ้าพระที่เป็นลูกศิษย์ตถาคต เขาจะต้องอดนอนผ่อนอาหาร มักน้อยสันโดษ เพื่ออะไร ก็เพื่อขัดเกลากิเลส

สิ่งที่โยมเขาทำกันเขาปรารถนากันมันเป็นเรื่องของเขา แต่เวลาพระเราจะเอาตัวเรารอด เราจะต้องมีธุดงควัตร เราจะต้องมีสติสัมปชัญญะ อย่างเช่นปัจจัย ๔ ก็จะต้องปฏิสังขาโย เพราะถ้าไม่พิจารณาก่อนใช้ มันจะเป็นอาบัติตลอดเวลา เราจะต้องพิจารณาก่อนว่าสิ่งนี้มันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย จะอาศัยได้มากได้น้อยแค่ไหน อาศัยเพื่ออะไร อาศัยทำไม ถ้าเราใช้ของๆ เราโดยมีสติสัมปชัญญะ ในการกระทำของเรานี้มันก็จะมีสติอยู่ตลอด

“ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด” พระพุทธเจ้าพูดไว้เป็นปัจฉิมโอวาท ตรงข้ามกับความประมาทก็คือการมีสติ ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะควบคุมตัวเราตลอดเวลา เราก็จะแก้ไขเราได้ เห็นไหม มันมาจากไหน ทุกอย่างเกิดจากจิต พอเราตั้งสติปั๊บมันก็จะกลับไปที่จิต พอตั้งสติเห็นไหมทุกอย่างจะหยุดได้ สิ่งที่เราเจ็บปวดแสบร้อนหรือทุกข์นี้มันเกิดมาจากความคิดของเราทั้งหมด แล้วถ้าสติมันตามทันมันจะหยุดได้ หยุดนี้คือหยุดชั่วคราวเพื่อกลับไปที่ฐีติจิต กลับไปยังฐานที่ตั้ง กลับไปแก้กิเลส เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ กิเลสมันไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย ถ้ากิเลสมันอยู่ที่ใจมันก็ต้องย้อนกลับมาที่นี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านถึงกำหนดอานาปานสติ

เราจะบอกว่า ในการกระทำของเรา เราต้องตั้งใจ เราต้องลงทุนลงแรงขนาดไหน แล้วเราทุกข์ขนาดไหน แต่เวลาที่เขาทำกันแล้วเขาบอกว่าง่ายๆ ถ้าง่ายๆ อย่างนี้ หนึ่งคือวุฒิภาวะของเขาต่ำเกินไป ดูสิ ดูเด็กที่มันจบการศึกษาใหม่ๆ มันก็จะนึกว่ามันรู้มากมันฉลาดมาก แต่มันยังไม่มีประสบการณ์ในชีวิตเลย แล้วพอมันออกไปทำงาน เขาจะยังไม่ให้มันทำอะไร เวลาสมัครงานถ้ายังไม่มีประสบการณ์ เขาก็จะไม่รับ ต้องมีประสบการณ์แล้วเขาถึงจะรับ เพราะวุฒิภาวะของเขาต่ำ เพราะเขาคิดว่าสิ่งที่เขารู้นั้นเป็นธรรมะ

ทีนี้วุฒิภาวะของเรา เรามีครูมีอาจารย์ของเรา เรามีหลักการของเรา เห็นไหม ถึงเราจะมีการศึกษามาขนาดไหน พอเราจบการศึกษามาแล้ว ก่อนเราจะทำงานเราก็ต้องมาฝึกงาน แต่เขาจะบอกว่า “เขารู้อยู่แล้ว ไม่ต้องฝึก คนที่ฝึกงานคือคนโง่ มัวไปทำตัวให้ลำบาก แต่ถ้าอยู่เฉยๆ นี้คืออยู่สุขสบายของเขา” นี่คือความคิดของเขา

วุฒิภาวะคือพละคืออินทรีย์ ถ้าอินทรีย์แก่กล้า เห็นไหม เราสังเกตลูกศิษย์ลูกหาบ่อย เวลาเขาประพฤติปฏิบัติ ถ้าอินทรีย์คือสถานะที่จะรองรับมรรค ผล นิพพาน มันไม่เข้มแข็ง แล้วมันจะรองรับได้อย่างไร แล้วคนที่จะมีสถานะรองรับ เห็นไหม สติ-มหาสติ-สติอัตโนมัติ สิ่งที่เป็นสติจะเป็นวุฒิภาวะที่มารองรับสิ่งนี้ แล้วมันมาจากไหน ก็มาจากการกระทำของเราทั้งหมด สิ่งที่เราทำดีทำชั่วนี้คือเราได้ฝึกใจของเรามา วุฒิภาวะที่เหนือกว่า พอทำไปแล้วก็จะให้ผลเป็นความจริง แต่ในการกระทำนั้นมันก็ต้องเป็นการกระทำที่จริง แล้วมันจะต้องกระทบกับอารมณ์มาขนาดไหน มันจะต้องมีความรู้สึกมาขนาดไหน

เราศึกษาธรรมะในพระไตรปิฎก ทุกคนก็ศึกษาได้ ทุกคนก็ค้นคว้าได้ ทุกคนก็เรียนได้ ทุกคนก็แสวงหาได้ แต่พอเรามาปฏิบัติแล้วมันเป็นความจริงกับเราไหม ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา เราก็จะต้องควบคุมใจของเราได้สิ เราต้องสั่งมันได้ แต่ทีนี้มันเป็นไปไม่ได้ เพราะสิ่งที่เป็นธรรมะอย่างนั้นมันเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ดูสิ ดูเงินในธนาคารชาติมันมีกี่แสนล้าน แล้วมันเป็นเงินของใคร ก็เป็นเงินของประเทศไทย ถ้าถือว่าเราเป็นชาวไทยเราก็มีส่วนอยู่ด้วย แต่เราจะมีสิทธิ์ใช้จ่ายมันได้ไหม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน มันเป็นของพุทธศาสนา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำใจเรา เราก็เป็นเจ้าของศาสนา เราก็รื้อค้นใจของเราขึ้นมาได้ แล้วมันเป็นความจริงไหม “หลวงพ่อ สมาธิเป็นยังไง ปัญญาเป็นยังไง แล้วมันทำแล้วมันจะเป็นประโยชน์ไหม?” นี่ไงเราก็ยังคิดสงสัยกัน เราก็ยังไม่เข้าใจมัน

แต่ถ้าเป็นสันทิฏฐิโก “รู้เอง เห็นเอง ปฏิบัติเอง” เวลามันสุข มันก็สุขของมัน เวลามันทุกข์มันเสื่อมมันเสียใจอย่างไร แล้วความสุขที่มันเกิดขึ้นมันเกิดขึ้นมาจากอะไร ความสุขมันจะเกิดขึ้นมาจากเรามีสติเราตั้งใจทำของเรา มันต้องลงทุน ลงทุนหมายถึงว่าเวลาที่เราทำนี้มันขัดข้องไหม มันมีอะไรที่ทำให้เราผิดพลาดไหม ความผิดพลาดอันนั้นเราก็เอามาทดสอบ ความผิดพลาดจะเป็นครูของเรา ถ้ามันทำไปแล้วมันมีการสะเทือนใจ มันมีสิ่งที่ทำไปแล้วไม่เป็นประโยชน์ อันนั้นพอทำแล้วก็วางไว้ เราเดินทางสายนี้แล้วมันไม่ถูกต้อง เราก็พยายามตั้งใจของเรา เรามาทำของเราใหม่ ทำของเราไปเรื่อยๆ คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ เราต้องตั้งใจ เพราะนี่เป็นประโยชน์ของเรา

แต่เวลาที่เขาพูดกัน จริงๆ แล้วถ้ามันง่าย เราก็อยากให้ทุกคนทำได้ง่ายๆ เหมือนเขาจะเอา สมบัติมาให้เรา ถ้าเราได้จริง เราก็โอเคนะ แต่สมบัติที่เขาให้เรานี้มันเป็นสมบัติที่ไม่จริง โทษนะ.. ถ้าเราไปหาเงินหาทองมาใช้นี้มันจะเป็นเงินทองของเรา แต่ถ้าเราไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้ เราก็ต้องคืนหนี้แล้วเราก็ต้องเสียผลประโยชน์ให้เขา

ในชีวิตของเราถ้าเราปฏิบัติตามความเป็นจริง สมาธิก็จะเกิดขึ้นมาจากเรา สติปัญญาก็จะเกิดขึ้นมาจากเรา เพราะเราใช้สติปัญญาใช้กำลังของเราใช้ความเห็นใช้ดุลยพินิจของเราจัดการ แล้วมันเป็นไปตามข้อเท็จจริง อย่างนั้นมันถึงจะเป็นประโยชน์กับเรา แต่ทีนี้ถ้าเราไปเชื่อเขา เห็นไหม ที่เขาบอกว่า “สบาย.. สบาย.. ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย คนนั้นเป็นขั้นนั้น คนนี้เป็นขั้นนี้” อย่างนั้นมันเป็นสมบัติของเขา

“ใจเขา ใจเรา” ให้เราดูความเป็นจริงของใจเรา เราไม่เชื่อใจเราเพราะเราอยู่ในสังคมที่จะต้องให้มันเป็นจริงตามข้อเท็จจริง เมื่อวานมีลูกศิษย์มหาเยอะมาก เขาอยากจะสิ้นจากทุกข์กันทั้งนั้น เขาศึกษามาแล้วเขาอยากจะพ้นจากทุกข์แล้วเขาก็คิดของเขา ทั้งๆ ที่เขามีการศึกษา เขาบอกว่า “ไปหาครูบาอาจารย์แล้วครูบาอาจารย์จะช่วยประคองได้ไหม คบหาครูบาอาจารย์แล้วครูบาอาจารย์จะเสกเป่าให้เป็นไปได้ไหม” แล้วเราบอกว่า เป็นไปไม่ได้หรอก เขาก็เชื่อนะ เขาเข้ามากราบแล้วเขาก็บอกว่า “ถ้าอย่างนั้นครูบาอาจารย์ช่วยชี้นำก็ยังดีกว่า”

เราบอกว่า เวลาพ่อแม่พูดว่าลูกนี้พ่อแม่รักลูกไหม เพราะพ่อแม่ก็อยากให้ลูกเป็นคนดีทั้งหมด ฟังสิ แล้วลูกมันจะรำคาญพ่อแม่ไหม ลูกมันก็จะรำคาญพ่อแม่ มันก็จะบอกว่าพ่อแม่นี้จุกจิก เวลาเราคิดถึงมรรค ผล นิพพาน เราก็อยากจะได้ แต่เวลาครูบาอาจารย์พูดล่ะ เพราะวุฒิภาวะของเราต่ำ มันไม่คิดว่านั่นเป็นคำสอน แต่มันคิดว่าเป็นการจู้จี้จุกจิก มันน่ารำคาญ เพราะอะไร เพราะวุฒิภาวะมันไม่ถึงใช่ไหม แต่ถ้าวุฒิภาวะมันถึงนะ พอท่านพูดมามันจะซึ้งไปหมด แล้วมันก็เข้าใจหมด ถ้าจิตเรามันสูง สูงที่ไหน สูงที่ว่าเราสามารถควบคุมมันได้ เราสามารถทำได้

อย่างนั้นคือเขาคิดของเขาเองเพราะมีมุมมองอย่างนี้ เราจะพูดว่า เพราะชาวพุทธหรือนักปฏิบัติเราอยากจะได้ผลดีๆ อยากจะได้ผลไวๆ นี่ไงมันก็เลยไปเข้าทางพวกสิบแปดมงกุฎ มีสำนักปฏิบัติเยอะมากที่เขาบอกว่า “ถ้าใครให้เรามา ๕ ล้าน คนนั้นจะได้เป็นพระอรหันต์ ถ้าใครให้ ๔ ล้านจะได้เป็นพระอนาคามี ถ้าให้ ๒ ล้านจะได้เป็นพระสกิทาคามี แล้วถ้าให้แค่ล้านเดียวนี้เขาอาจจะไม่รับนะ แต่ถ้ารับอาจจะได้เป็นพระโสดาบัน” คือซื้อเอา! “ถ้าเอ็งมีเงินมาให้ข้า แล้วเอ็งจะได้เป็นขั้นเป็นตอนไปเลย” แล้วเราก็เชื่อเพราะเราอยากได้

นี่ไงถ้าเรามีความคิดอย่างนี้มันก็จะเป็นเรื่องธุรกิจแลกเปลี่ยนกันทั้งนั้น แต่มันไม่เป็นความจริง ถ้ามันซื้อได้จริงมันทำได้จริง พระพุทธเจ้าท่านจะยัดใส่ใจเราให้หมดแล้ว เพราะพระพุทธเจ้าปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าท่านจะมีพุทธกิจ ๕ เช้าเล็งญาณ ก่อนรุ่งอรุณท่านจะเล็งญาณเลยว่ามีจิตดวงไหน มีความรู้สึกในหัวใจของมนุษย์คนไหนที่จิตใจมันได้สร้างบุญมา มีวุฒิภาวะที่จะรับมรรคผลได้ แล้วอายุเขาสั้นเขาจะตายไว ท่านจะไปเอาจิตดวงนั้นก่อน

แต่ถ้าพูดถึงว่า “ถ้าท่านจะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ ทุกคนก็ต้องได้เหมือนกันหมดสิแบบประชาธิปไตย พระพุทธเจ้าลำเอียง เพราะพระพุทธเจ้าจะต้องสอนทุกๆ คนสิ แล้วทำไมต้องเล็งญาณ ต้องไปเอาคนนู้น เหาะไปตั้งไกล แล้วประชาชนใกล้ๆ เยอะแยะไปหมดเลย ทำไมไม่เอาล่ะ”

เพราะเขาคิดแบบนี้ไง “พระพุทธเจ้าต้องมาสอนเราสิ พุทธเจ้าต้องมาเทศน์ให้เราฟังสิ เราก็อยากจะเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าไม่มาเทศน์สักที”

คนอย่างนี้จะไม่ได้เป็นพระอรหันต์หรอก เพราะมันเป็นคนขี้เกียจ คนมักง่าย คนอยากได้โดยไม่ลงทุนลงแรง เป็นไปไม่ได้!

อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นพุทธอุปัฏฐาก ตอนไปเยี่ยมญาติ ไปเห็นเขากำลังทำอาหารมากมาย

“วันนี้เขามีงานอะไรกัน จะมีงานนักขัตฤกษ์อะไร?”

“ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าเกิดแล้ว จะไปทำบุญกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธะเกิดแล้ว”

พออนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ฟังคำว่า “พุทธะ” อนาถบิณฑิกเศรษฐีอยู่ไม่ติดเลย อยากจะไปเดี๋ยวนี้เลย อยากจะไปกราบพระพุทธเจ้า อยากจะไปกราบพระอรหันต์ อยากกราบมาก เพราะใจฝักใฝ่ ใจแสวงหามาตลอด จึงเรียกร้องให้ญาติพาไปเฝ้าในคืนนั้น แต่ญาติก็พาไปไม่ได้เพราะมีงานที่ต้องทำอยู่ เห็นไหม เขาทนไม่ไหวเลย สุดท้ายแล้วพอพระพุทธเจ้ามาฉันที่บ้าน ก็อาราธนาพระพุทธเจ้ากลับไปที่เมืองของเขา แล้วบอกว่าเขาจะไปสร้างวัดให้

นี่คือเขาขวนขวายของเขามาก แต่พวกเรากลับมาบอกว่า “ประชาธิปไตย ต้องมีสิทธิเสมอภาค”

สิทธิที่มึงจะตายไง สิทธิตายเปล่าๆ ไง สิทธิที่เกิดขึ้นมาแล้วมันจะต้องตาย เพราะอะไร เพราะมันจะต้องหมดอายุขัยไป

แล้วก็มีคนที่ทิฏฐิมานะ สุภัททะเป็นพราหมณ์ที่ถือตัวถือตนมาก เขาถือว่าเขาเป็นผู้ที่มีปัญญามาก เขาคิดว่าพระพุทธเจ้าก็เป็นพราหมณ์เหมือนกัน และพระพุทธเจ้ามีอายุน้อยกว่า แล้วถ้าเขาจะไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ามันก็เสียศักดิ์ศรี เพราะเขาถือตัวถือตนว่ามีวิชาการมาก คืนนั้นเป็นวันวิสาขบูชาที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เขาก็ได้ข่าวอยู่ เขาก็คิดว่า “ถ้าคืนนี้เราไม่ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เราก็จะหมดโอกาสแล้ว เพราะคืนนี้พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานแล้ว ถ้าเรายังคิดว่าเราเก่ง แต่ทำไมในหัวใจเรามันก็ยังมีอะไรๆ อยู่” จึงตัดสินใจไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

เวลาไปเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งกำลังจะปรินิพพาน พระอานนท์ท่านก็กันไว้ แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ได้ยินเสียงต่อรองกันอยู่

“อานนท์ นั่นใคร?”

“สุภัททะ จะมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

“ปล่อยให้เขาเข้ามาเถอะ เรามาปรินิพพานที่นี่ก็เพื่อพราหมณ์คนนี้คนหนึ่งด้วย”

พอเข้าไป สุภัททะก็ถามพระพุทธเจ้าเลย เพราะเขาคิดว่าตัวเขานี้มีปัญญามาก รู้ไปหมดเลย

“ในลัทธิต่างๆ ในศาสนาต่างๆ เขาก็จะบอกว่าคำสอนของเขานั้นดีและถูกต้องไปทั้งหมดเลย แล้วพระพุทธเจ้าจะตัดสินว่าอย่างไร?”

พระพุทธเจ้าบอกเลยว่า “ไม่มีรอยเท้าบนอากาศ ศาสนาไหนไม่มีมรรค (มรรคคืออะไร ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ไม่มีมรรคก็คือไม่มีเหตุ) ศาสนานั้นไม่มีผล สุภัททะเธออย่าถามให้มากไปเลย เราไม่มีเวลา”

แล้วท่านก็ให้พระอานนท์บวชให้ แล้วให้ปฏิบัติขึ้นมาเลย คือท่านจะให้เอารอยเท้าในใจเรา เอารอยเท้ารอยธรรมที่เกิดขึ้นจากใจ เอาเดี๋ยวนี้! เสร็จแล้วพอปฏิบัติขึ้นมาจนถึงที่สุดก็เป็นพระอรหันต์ได้ เพราะด้วยความถือตัวถือตนที่ทำให้เกือบไม่ทันพระพุทธเจ้าซึ่งกำลังจะปรินิพพานอยู่แล้ว

แต่นี่ชาวพุทธก็มาบอกว่า “ประชาธิปไตย ต้องสอนเราสิ”

มึงก็กลับไปสอนตัวมึงก่อนสิ! สอนหัวใจว่าให้มันเปิดกว้าง ให้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน อย่างเช่น ดินที่เขาจะเอามาปั้นโอ่งปั้นไห เขาจะต้องเหยียบ เขาจะต้องย่ำ เขาจะต้องหมัก เขาจะต้องทำให้มันสมควรแก่การงาน จิตใจที่มีทิฏฐิมานะมันก็เหมือนกับก้อนหิน แล้วมันจะมาปฏิบัติ มันก็เหมือนเอาหินมาปั้นโอ่ง!

ย้อนกลับมาที่ใจเรา ย้อนกลับมาให้รู้จักหัวใจของเราว่า หัวใจของเรามันควรแก่การงานไหม หัวใจของเรามันสมควรไหม ถ้าสมควรเราก็จะรับธรรมได้ เราจะเข้ากับธรรมได้ ธรรมะนี้อ่อนนิ่มควรแก่หัวใจมาก แต่หัวใจของเรากระด้าง หัวใจของเรานี้ถ้ามันดีมันก็ดีสุดยอด แต่ถ้ามันชั่วมันก็ฆ่าใครได้หมดเลย มันฆ่ายกโคตรได้เลย เราถึงต้องทำสิ่งที่ดีๆ เราต้องมีสติเพื่อประโยชน์กับมัน เพื่อหัวใจของเรา

เราเป็นชาวพุทธ “พุทธะ” คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าจะเข้าถึงศาสนาเข้าถึงสัจธรรมมันต้องเข้าถึงหัวใจ ถ้าเข้าถึงหัวใจมันจะสะเทือนใจมาก แล้วมันจะทำแต่สิ่งที่ดี ชีวิตนี้ที่เกิดมามันทุกข์ยากมาพอแล้ว

พวกวัยรุ่นจะมองว่าโลกนี้แจ่มใสมาก โลกนี้น่าอยู่มาก แต่คนที่อายุมาก คนที่เหมือนไม้ใกล้ฝั่ง เขาจะมีมุมมองต่างกัน แล้วพอเราเกิดมาเราก็ใช้ชีวิตไป ตอนร่างกายยังแข็งแรง เรายังมีความปกติอยู่ เราก็ไม่ขวนขวาย แต่พอร่างกายอ่อนแอขึ้นมาร่างกายมันชราภาพไป มันจะต้องลงทุนมากกว่าเป็น ๒ เท่า ถ้าร่างกายยังปกติเราก็จะทำอะไรได้ด้วยความแข็งแรง จะมานั่งสมาธิภาวนานี้เราก็ทำได้มากกว่า แต่พอร่างกายเราเสื่อมโทรมลงไป พอเราจะมาปฏิบัติ แค่ขยับมันก็ปวดแล้ว

เมื่อก่อนตอนที่เราอยู่กับครูบาอาจารย์ แล้วท่านบ่นว่าปวดเอว เราก็คิดในใจว่า “มันเป็นยังไงน้อ?” แต่เดี๋ยวนี้เรารู้หมดเลย (หัวเราะ) เมื่อก่อนตอนเราอยู่กับครูบาอาจารย์ ท่านจะพูดว่าปวดเอว เราก็คิดว่า “เอ๊ะ.. มันเป็นยังไง?” เพราะตอนนั้นเรายังวัยรุ่นยังไฟแรงอยู่ พอมาตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่าปวดเอวมันเป็นยังไง แล้วต่อไปพวกเราก็จะเข้าใจ นี่พูดถึงว่าถ้าเราตั้งใจของเราแล้วมันก็จะเป็นประโยชน์ตรงนี้

มันมีคำถามหนึ่งที่ดีมากๆ เอาอันนี้ก่อนเลย

ถาม: ๑. เมื่อเริ่มภาวนาตอนแรกๆ จะปวดตรงหน้าผากมากครับ เพราะเพ่งมากแล้วเกร็ง ปัจจุบันนี้เปลี่ยนมาเป็นพุทโธที่ปลายจมูกครับ

หลวงพ่อ: โดยพื้นฐาน เวลาพระพุทธเจ้าจะสอน ท่านจะเทศน์อนุปุพพิกถา จะเทศน์เรื่องของทาน เพื่อให้เราคิดถึงเรื่องของทาน พอคนได้ทำทานแล้วมันจะมีบุญกุศลแล้วจะไปเกิดเป็นเทวดา แล้วถ้าพูดถึงบุญที่มากกว่าการเกิดเป็นเทวดาก็คือเนกขัมมะ เห็นไหม พระพุทธเจ้าจะบอกว่าถ้าทำบุญแล้วก็จะได้อย่างนั้นๆ เพื่อให้จิตใจควรแก่การงาน

ทีนี้ในการภาวนาก็เหมือนกัน ในการภาวนานี้เราจะต้องปรับพื้นฐานของเรา เวลาเราจะปรับพื้นฐานก็คือพุทโธๆ นี่แหละ มีคนถามว่า “ทำไมต้องพุทโธด้วยล่ะ ทำอย่างอื่นไม่ได้หรือ?”

อย่างอื่นก็ได้ พุทโธ ธัมโม สังโฆ มรณานุสติ คิดถึงความตายก็ได้ อะไรก็ได้

คำว่า “อะไรก็ได้” เพราะเหตุใด เพราะขอนไม้หรือสสารทุกอย่างมันไม่มีชีวิต มันคิดไม่ได้ แต่จิตของคนมันเป็นพลังงานที่มันส่งออก มันมีกระแสของมัน แล้วโดยสัญชาตญาณของมัน มันมีความรู้สึกของมัน มันมีความคิดได้ แต่ความคิดนี้มันโดนครอบงำไว้โดยมาร โดยอวิชชา

คำว่า “อวิชชา” นี้มันก็รู้ตัวเอง คือรู้ว่ามีความรู้สึกอยู่ แต่ไม่รู้จักควบคุม ส่วน “วิชชา” คือเรารู้ข้อเท็จจริง เห็นไหม เหมือนทางการแพทย์ที่เขาจะรู้ถึงพฤติกรรมความเป็นอยู่ของมนุษย์ว่า ถ้าประพฤติตัวอย่างไร แล้วมันก็จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บตามพฤติกรรมนั้น

กิเลสนี้มันเป็นสัญชาตญาณของมัน พฤติกรรมของกิเลส พฤติกรรมของพันธุกรรมทางจิต จิตมันมีพันธุกรรม มันถึงมีพฤติกรรมอย่างนั้น ถ้ามันใช้ของมันอยู่อย่างนั้นตลอดไป กิเลสมันก็ตอกย้ำใจ มันก็เจ็บปวดแสบร้อนตามธรรมชาติของมัน ทั้งๆ ที่ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า แต่พฤติกรรมของมันโดยอวิชชา มันก็ไม่รู้จัก แล้วเหยียบย่ำ เรียกร้องสิทธิ ให้คะแนน ให้ความสำคัญกับตัวเอง แต่ไม่รู้จักอะไรเลย เห็นไหม โดยธรรมชาติของกิเลสมันเป็นอย่างนั้น

ทีนี้พอเรามาศึกษาธรรม เพราะเราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ต้องปรับพฤติกรรมของมัน เราถึงต้องมากำหนดพุทโธๆ คือคำปรับพฤติกรรม เพราะอะไร เพราะพุทโธคือชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “พุทธะ” คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นไก่ตัวแรกที่เอาหัวใจเจาะอวิชชา อวิชชาเหมือนเปลือกไข่ หัวใจเหมือนเนื้อไข่ มันเป็นพลังงานที่ได้สร้างสมขึ้นมาจนเป็นไข่ที่มีชีวิตที่มันฟักตัวเป็นไก่ แล้วเจาะฟองไข่ออกมาเป็นตัวแรก เห็นไหม นี่คือพุทธะ แล้วเราก็กำหนดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาของเรา “พุทธะ” ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

“พุทธะ- พุทโธ” ที่เรามากำหนดพุทโธๆ เห็นไหม พฤติกรรมของจิตมันเคยเป็นอวิชชา มันเคยเป็นมาร เคยเป็นจริตนิสัย ถ้าเป็นโทสจริตก็ขี้โกรธ ขี้โมโห ขี้ทำลายคน ถ้าเป็นโมหจริต ความหลงก็หลงกับตัวเอง ว่าตัวเองใหญ่ตัวเองโต ทั้งๆ ที่โง่แสนโง่นัก แต่มันก็ยังบอกว่ามันเก่ง มันแน่ มันยอด นี่คือมันหลงตัวเอง

ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันอยู่ที่หัวใจตลอด แล้วพฤติกรรมของมันก็ปั่นป่วนในหัวใจ แล้วก็ไปศึกษาธรรมะกัน ไปศึกษาด้วยความหลง ศึกษาด้วยความโกรธ ศึกษาด้วยความโง่ ที่ศึกษามามันก็เป็นขี้หมดเลย ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง เห็นไหม มันเป็นปริยัติ ศึกษามาเป็นทางวิชาการ แต่พอมาปฏิบัติก็ยังงง ตอนศึกษานี่รู้ไปหมดทุกอย่างเลย แต่ก็ยังต้องมาถามว่า “แล้วจะทำยังไงล่ะ? แล้วจะทำที่ไหนล่ะ?” เพราะอะไร เพราะที่ศึกษามามันเป็นปริยัติ แล้วเราจะมาปฏิบัติ เราก็กำหนดพุทโธๆ

พฤติกรรมของมัน มันเคยเป็นอิสรภาพ มันเคยคิดของมัน มันเคยเหยียบย่ำ มันเคยสร้างภาพ แล้วมันก็เหยียบหัวใจอยู่นี่ พุทโธๆ นี้เพื่อให้มันรู้จักตัวมันเอง ให้มันนึกถึงพุทโธก็คือให้มันนึกถึงธรรม เพื่อไม่ให้พฤติกรรมนี้มันคิดอยู่ในร่องเดิมของมัน ที่มันจะคิดไปตามธรรมชาติของมัน แต่จะบังคับพลังงานอันนี้ให้เปลี่ยนมาเป็นพุทโธ แล้วมันก็จะต่อต้าน มันจะไม่ยอมกระทำ เพราะมันจะทำตามความเคยชินของมัน ถ้าให้คิดไปตามความพอใจของมัน จะลื่นไหลเลย จะนั่ง ๕ ชั่วโมงก็ได้ แต่ถ้าให้มากำหนดพุทโธๆ มันจะอึดอัดขัดข้องไปหมดเลย

ตอนเริ่มต้นมันจะเป็นอย่างนั้นกันทุกคน เพราะอะไร เพราะมันเป็นคำบริกรรม มันจะย้อนกลับมา พุทโธๆ เพื่อให้เปลี่ยนพฤติกรรม พุทโธๆ มันจะไปทำให้ใจนี้เข้ามาเป็นอิสระ เพื่อไม่ให้กิเลสมันครอบงำ พอเราพุทโธๆๆ ไปแล้วมันจะเห็นผล แล้วมันจะเข้าใจว่าทำไมถึงต้องพุทโธ

ทีนี้พอพุทโธขึ้นมาแล้วมันปวด เห็นไหม ปวดเพราะอะไร ปวดเพราะบางทีมันเกร็งเกินไป เราจะต้องทำใจให้มันเป็นปกติแล้วพุทโธๆ แล้วถ้ามันมีปัญหาขึ้นมา เราก็กลับมาที่พุทโธ เพราะคำว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ นี้จะป้องกันผี ป้องกันทุกอย่างได้หมด เพราะสิ่งที่เป็นผีเป็นเปรตที่เราเห็น เพราะจิตมันรู้จิตมันเห็น แต่ถ้ากลับมาที่พุทโธ กลับมาที่ตัวจิตแล้วทุกอย่างจะดับหมด มันจะป้องกันได้หมดเลย

ที่เขาบอกว่า “พอเราพุทโธๆ แล้วเวลาเจอผี ผีมันก็ยังหลอกอยู่เลย ผีมันยังไม่เห็นหายไปเลย”

แบบนั้นคือมันก็นึกพุทโธ แต่ใจมันก็ยังกลัวผีอยู่ คือมันพุทโธไม่จริง พอมันกลัวผีแต่มันก็อยากไปดู กลัวผีแต่ก็ยังหาว่าผีอยู่ไหน พอกลัวสิ่งใดแต่มันก็จะไปเอา เห็นไหม เราถึงบอกว่าโดยสัญชาตญาณ โดยพฤติกรรม คือความกลัว ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเป็นอนุสัย มันอยู่กับจิต แล้วเรานึกพุทโธจากภายนอก นึกพุทโธจากความคิด มันก็เลยยังไม่สามารถทำให้จิตนี้เป็นอิสรภาพได้ แต่ถ้าเรานึกพุทโธด้วยความจริง นึกพุทโธให้เต็มที่ มันก็จะเป็นอิสรภาพได้ พอจิตมันเป็นอิสรภาพนะ จิตนี้จะเป็นอิสรภาพโดยตัวมันเอง มันจะไม่รับรู้เรื่องผีเรื่องสาง ไม่รับรู้สิ่งใดๆเลย แล้วสิ่งนั้นมันจะมาหลอกได้ไหม...ไม่ได้เลย

แล้วถ้ามันปวด พอเรามากำหนดพุทโธแล้วความปวดนั้นมันจะหายไปได้ แต่ที่มันเป็นความวิตกกังวลหรือมันเป็นอะไรต่างๆ นี้ก็เพราะความรับรู้ไง มันเป็นความมหัศจรรย์ของจิต ถ้าสิ่งใดที่มันสงสัย เช่น ปวดหัว หรือถ้าปวดตรงไหนมันก็จะไปอยู่ที่ตรงนั้นตลอดเวลา แต่ถ้าเปลี่ยนมาเป็นปลายจมูกก็ได้ แต่อย่าให้จมูกมันปวดอีกล่ะ

ตอนเริ่มทำใหม่ๆ มันจะดี แล้วถ้ามันจะปวดอีก เราก็ต้องทำความเข้าใจกับตัวเอง ทำความเข้าใจกับจิตว่าเรานี้จะทำคุณงามความดี แต่คุณงามความดีนี้มันก็เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา มันต้องทุกข์ มันต้องยาก แล้วเราก็ตั้งจิตของเราให้เป็นกลาง ให้เป็นปกติแล้วกำหนดพุทโธๆๆๆ ถ้ามันหน่วง ถ้ามันมีความกดดัน เราก็พยายามผ่อนคลายให้มันมาอยู่กับพุทโธ เราอย่าไปรับรู้ ถ้าหากยิ่งไปรับรู้ เห็นไหม อย่างเช่นของเหม็นนี้มันก็จะชอบเอานิ้วไปจิ้ม มันชอบดม

นี่ก็เหมือนกัน ปวดอยู่ที่ไหนมันก็อยากจะรู้ จิตโง่มันเป็นอย่างนั้น สิ่งต่างๆที่รับรู้นี้จิตมันเป็นผู้ไปรับรู้ทั้งหมด ถ้าจิตฉลาด มันจะกลับมาที่ตัวมันเอง แล้วทุกอย่างจะดับหมด กลิ่นมันก็สักแต่ว่ากลิ่น ความปวดมันก็ไม่มีถ้าจิตไม่ออกไปรับรู้ พอเราพุทโธไปถึงจิตเป็นสักแต่ว่า ร่างกายนี้จะชาหมด นี่คือสักแต่ว่า แต่ถ้าพุทโธๆ ไปจนถึงที่สุดแล้ว ถ้าจิตหดตัวเข้ามา ร่างกายนี้จะดับหมด “สักแต่ว่ารู้”

กระบวนการของสมถะมันเป็นอย่างนี้ กระบวนการของสมถะก็เหมือนเราตักน้ำใส่ตุ่มใส่ไห มันก็จะเต็มตุ่มเต็มไหอยู่แค่นั้น แต่ถ้าไม่มีน้ำในตุ่มในไห เราก็จะทำอาหารไม่ได้ เราจะดำรงชีวิตไม่ได้เลยถ้าในตุ่มเราไม่มีน้ำสักหยด ถ้าไม่มีน้ำสักหยดแล้วเราจะกินน้ำที่ไหน แล้วเราจะดำรงชีวิตอย่างไร

ที่เขาบอกว่า “พุทโธไม่จำเป็น” มันก็คือน้ำไม่จำเป็น ทุกอย่างไม่จำเป็น ชีวิตเราจะปฏิเสธน้ำได้ไหม มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่มีพุทโธ ไม่มีจิต ไม่มีสมาธิเป็นพื้นฐาน ในการปฏิบัตินั้นมันก็เพ้อเจ้อทั้งหมด มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นปัญญาของกิเลส มันเป็นปัญญาจากการคาดหมาย

แต่พอมีน้ำ เราจะต้ม จะทำแกง จะหุงข้าว จะซักผ้า จะอาบน้ำ น้ำนี้จะใช้ประโยชน์ได้ทุกๆ อย่างเลย ถ้าจิตที่มันสงบแล้วแต่ไม่มีวุฒิภาวะ หมายถึงว่า เราไม่ได้สร้างบุญกุศลมา พอสงบแล้วแต่ก็ยังใช้งานไม่เป็น ได้ตักน้ำจนเต็มตุ่มเลย แล้วขี้หวงขี้เหนียวไม่ยอมใช้น้ำ ปล่อยให้น้ำเต็มตุ่มอยู่อย่างนั้น “โอ๊ย.. ถ้าใช้ไป เดี๋ยวน้ำมันพร่อง” ถ้าไปรักษาน้ำไว้มันก็จะอยู่แค่นั้นล่ะ

มีน้ำแล้วต้องเอาน้ำออกมาใช้ แต่ถ้าไม่มีน้ำ แล้วจะใช้น้ำ มันก็ไม่มีน้ำจะใช้ นี่ล่ะสมถะมันเป็นอย่างนี้ สมาธิมันสำคัญตรงนี้ สำคัญว่าถ้ามีสมาธิแล้วก็ต้องใช้สมาธิให้เป็นด้วย ขนาดเราจะหาสมาธิเราก็ยังหาไม่ได้เลย แล้วพอจะใช้ก็ใช้ไม่เป็นอีก การปฏิบัติมันจะเป็นการฝึกฝน แล้ววิวัฒนาการของจิตมันจะพัฒนาการของมันไป

คนที่ภาวนาแล้วถ้าเป็นพระ โสดาบันจะต้องรู้จักสมาธิ จะต้องพูดถึงสมาธิถูก จะต้องรู้จักว่าพอเป็นสมาธิแล้วออกวิปัสสนาอย่างไร

แต่ถ้าเขาบรรลุธรรม แล้วมาบอกว่า “นู่นก็ไม่จำเป็น นี่ก็ไม่จำเป็น” เราก็จะบอกว่า ชีวิตมึงก็ไม่จำเป็น ไอ้ชีวิตคนพูดก็ไม่จำเป็น มึงก็ไปตายซะ คือมันพูดของมันไปคนเดียวไง กิเลสอ้าปากพูด กิเลสพาหัวใจออกมาพูด แล้วมันก็ยังไม่เข้าใจว่ากิเลสมันพูดเลย แต่ถ้าคนจริง มันจะเป็นอย่างนี้แน่นอน ถ้าเป็นการประพฤติปฏิบัติตามความจริง

มันจะปวดหน้าผากหรือมันจะปวดสิ่งใด ถ้ามันเกร็งมากเกินไปหรือเพ่งมากเกินไปมันก็แก้ไขได้ เหมือนเราตักอาหารใส่ปาก อย่างเช่น น้ำพริก พอตักใส่ปาก โอ้โฮ.. ถ้าใส่พริกมากไปมันก็เผ็ด แล้วเราจะกินเผ็ดๆ อย่างนั้นตลอดไปหรือ ถ้าน้ำพริกเราเปิบใส่ปากแล้วมันเผ็ด คราวหน้าเราก็ใส่พริกน้อยๆ คราวนี้ก็จะไม่ค่อยเผ็ดแล้ว เห็นไหม แล้วถ้ามันยังเผ็ดเกินไปเราก็ลดพริกลงอีก แล้วถ้ามันพอดี เอ้อ.. อย่างนี้กลมกล่อม อย่างนี้ดีแล้ว

พุทโธก็เหมือนกัน ถ้ามันเกร็ง มันปวด เราลดได้ เราตั้งสติได้ เราทำได้ แต่ทำไมมันเผ็ดแล้วก็ยังฝืนกินเผ็ดๆ อยู่อย่างนั้นล่ะ หรือว่าอาจารย์สอนให้กินเผ็ดก็เลยต้องกินเผ็ดตาม ก็อาจารย์ท่านชอบเผ็ดแต่เราไม่ชอบเผ็ด คือเราจะบอกว่าพุทโธๆ นี้จะกำหนดเร็วก็ได้ช้าก็ได้ มันอยู่ที่เราว่าเราทำได้มากได้น้อย มันอยู่ที่เรา แต่เริ่มต้นเราก็ต้องเข้มแข็งกันไว้ก่อน อย่างนี้ถูกต้อง

ถาม: ๒. เรื่องปัญญาอบรมสมาธิ ขอความเมตตาอธิบายแบบละเอียด เพื่อจำไว้เป็นแบบอย่าง

หลวงพ่อ: โดยพื้นฐานของชาวพุทธ เพราะพระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า “ศีล สมาธิ ปัญญา” แล้วเราก็ไปเข้าใจว่าต้องเป็นสมาธิก่อนถึงจะเป็นปัญญา เห็นไหม เริ่มต้นชาวพุทธจะบอกเลยว่า การถือศีลนั้นก็ต้องใช้ปัญญา เพราะถ้าไม่มีปัญญา การถือศีลอย่างนั้นก็เป็นศีลเกร็ง ศีลอย่างนั้นก็ไม่ใช่ศีลที่เป็นมัชฌิมา

ที่บอกว่าการถือศีลนั้นจะต้องมีปัญญา ทีนี้การทำสมาธินี้มันก็ต้องมีปัญญา อย่างเช่นพุทโธๆ เรายังต้องใช้ปัญญาต้องใช้การใคร่ครวญของเรา คำว่า “ศีล สมาธิ ปัญญา” โดยพื้นฐานของเราก็จะคิดว่า สมาธินี้เป็นตัวหลัก เราจะต้องทำให้ได้สมาธิก่อนแล้วค่อยใช้ปัญญา แต่ความจริงแล้วในสมาธิมันก็มีปัญญา ในปัญญามันก็มีสมาธิ ถ้าในปัญญาไม่มีสมาธิ ความคิดของเราปัญญาของเรามันก็จะล้มลุกคลุกคลาน มันจะไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ แต่ถ้าในปัญญาของเรามีสมาธิ มันจะมีจุดยืน แล้วความคิดของเรามันจะปลอดโปร่ง ความคิดของเรามันจะมีมากขึ้น ความคิดอันนี้ เห็นไหม ในปัญญามีสมาธิ ในสมาธิมีปัญญา มันจะเกื้อกูลกัน พอเกื้อกูลกัน พุทโธๆ มันก็ชัดเจนขึ้น พุทโธๆ แล้วใช้ปัญญาใคร่ครวญของเรา พุทโธมันก็จะดีขึ้น

คำว่า “ศีล สมาธิ ปัญญา” ด้วยความเคยชิน เราก็คิดว่าต้องทำสมาธิก่อน แต่โดยจริตนิสัย โดยพันธุกรรมทางจิต พวกที่มีศรัทธาจริตนี้จะทำพุทโธได้ง่าย เพราะมันมีศรัทธามีความเชื่อ แต่ถ้าเป็นพุทธจริต พวกปัญญาชน ส่วนใหญ่แล้วพวกปัญญาชนนี้จะใช้ลัดสั้น ใช้วิปัสสนาสายตรง แล้วรู้หมด แต่นี่ก็คือกิเลสมันหลอก เพราะการกระทำอย่างนั้น การกระทำที่เราว่าใช้ปัญญาทั้งหมด มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

เราใช้ปัญญาใคร่ครวญ ใช้ปัญญาตรึกในธรรม ตรึกในชีวิต ตรึกในสัจธรรม ตรึกในทุกข์ของเรา ตรึก หมายถึง คิดถึงความทุกข์ในชีวิตที่ผ่านมา พอมันคิดขึ้นมา เห็นไหม ดูอย่างเวลาเราระลึกถึงความตาย “มรณานุสติ” ตายๆๆๆๆ ชีวิตเรานี้เราจะหาทางออกอย่างไร เราต้องตายนะ แล้วเราจะมัวหาสมบัติ เราจะทุกข์เราจะยาก เราจะขวนขวายจนเกินกว่าเหตุ มันก็ไม่ถูกต้อง แต่คนจะตายมันก็ต้องมีเงินมีทองเพื่อใช้ทำศพของเรา เราก็หาเงินหาทองแต่เราไม่ต้องไปตื่นเต้นจนลืมตัวเอง นี่คือมรณานุสติ เห็นไหม มันก็จะหยุดความคิดของเราได้

ปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกัน ในเมื่อถ้ามีปัญญาใคร่ครวญเข้าไป ปัญญาใคร่ครวญในชีวิต ถ้าเปรียบเทียบให้เป็นรูปธรรมเลย มันก็เหมือนการโค่นต้นไม้ กิเลสคือทิฏฐิมานะของเรานี้คือต้นไม้ต้นหนึ่ง พุทโธๆ นี้คือเราเอามีดฟันๆๆๆ ที่โคนต้น พุทโธๆๆๆ เห็นไหม แล้วเวลาต้นไม้มันจะขาดมันจะล้มลง ตึง! เพราะต้นไม้มันใหญ่

แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ คนที่ฟันโคนต้นอย่างนั้นเขาเป็นคนโง่ เขาไม่เป็นคนฉลาด เพราะเวลาต้นไม้มันล้ม มันจะไปฟาดกับวัตถุ ทำให้บ้านเรือนเราพังหมดเลย เห็นไหม ถ้าเราจะโค่นต้นไม้ เราจะต้องขึ้นไปตัดกิ่งก้านของมันก่อน ตัดกิ่งทีละกิ่ง เลาะกิ่งนั้น เลาะกิ่งนี้ แล้วทิ้งลงมา.. ทิ้งลงมา.. เห็นไหม ทิ้งลงมาเรื่อยๆ แล้วพอมาถึงโคน เราค่อยมาตัดโคน ลำต้นมันก็แค่ไม่กี่เมตร แล้วมันก็ล้ม นี่ล่ะคือปัญญาอบรมสมาธิโดยการเปรียบเทียบให้เป็นรูปธรรม

แต่ถ้าโดยการกระทำ เห็นไหม พุทโธๆๆ นี้คืออะไร คือคำบริกรรม มันเกิดจากจิต แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาโดยกระแสของความคิดมันจะมีโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว โดยสัญชาตญาณของมนุษย์ คนที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ก็จะมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ และปฏิสนธิจิต ถ้าหากไม่มีปฏิสนธิจิตมาเกิดในไข่ของแม่ มันก็จะเป็นมนุษย์ขึ้นมาไม่ได้ ถ้าแค่ไข่ของแม่จะสามารถเป็นมนุษย์ขึ้นมาได้ แล้วเวลาประจำเดือนมา มันได้ขับไข่ทิ้งไปตั้งเท่าไร เพราะไข่เปล่าๆ มันจะเกิดขึ้นมาเป็นคนไม่ได้ มันจะต้องมีปฏิสนธิจิตมาเกิดในไข่ พอเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมาแล้วอยู่ในครรภ์ ๙ เดือน มันก็มีความคิด มันก็มีความรู้สึกของมัน มีสถานะของมัน แล้วเวลาคลอดออกมา เห็นไหม โดยสถานะพ่อแม่ก็จะต้องสอนว่านี่ถูกนี่ผิด คือสอนสมมุติให้

ถ้าเป็นทางโลกก็จะบอกว่า การสอนอย่างนี้คือสอนให้ฉลาด สอนให้รู้ทันโลก สอนให้สื่อความหมายกับโลก แต่ถ้าเป็นทางธรรมะ มันคือการสอนให้ยึดติด เพราะจิตเด็กมันใสสะอาดแต่ก็ต้องสอนมัน พอสอนมันแล้วมันรับรู้ของมันขึ้นมา สิ่งที่รับรู้นี้มันเป็นสัญญา โดยสัญชาตญาณมันก็จะมีความรู้สึกอยู่แล้ว มันก็จะมีความคิดอยู่แล้ว พอเราโตขึ้นมาแล้วเราก็มาปฏิบัติธรรม เห็นไหม เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เพราะเราฟุ้งซ่าน เพราะเรามีความทุกข์ เพราะความคิดนี้เราควบคุมมันไม่ได้ ความคิดที่ควบคุมไม่ได้นี้มันจะใช้ความคิดต่างๆ มาเหยียบย่ำเรา มาทำลายเรา ทั้งๆ ที่เราตรึกในธรรมของพระพุทธเจ้าว่านิพพานเป็นอย่างนั้นๆ รู้หมดเลย แต่ในหัวใจก็ทุกข์ รู้จักนิพพานแต่ก็ยังทุกข์น่าดูเลย เพราะว่านิพพานกับหัวใจเรามันคนละเรื่องกัน นิพพานนี้เป็นชื่อ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วท่านวางธรรมไว้ พอเราอยากได้มากเราก็เลยไปเอาชื่อนิพพานมา แล้วก็มาคิดว่านิพพานเป็นอย่างนั้นๆ ก็ว่ากันไป แต่ก็ยังเป็นทุกข์กันทั้งนั้นเลย

แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริงของเรา เห็นไหม ลองตรึกในธรรมขึ้นมา นิพพานคืออะไร? เรารู้นิพพานจริงหรือไม่จริง? ถ้าไม่จริงแล้วอะไรที่มันเป็นความถูกต้องดีงาม? ถ้ามันมีสติไล่เข้ามา นี่ล่ะคือปัญญาอบรมสมาธิ ตรึกในธรรมของพระพุทธเจ้า คิดถึงเรื่องในชีวิตประจำวัน คิดถึงเรื่องใดก็แล้วแต่ เพราะโดยธรรมชาติของจิตก็เหมือนส้มกับเปลือกส้ม พลังงานคือตัวจิตนี้เป็นเนื้อส้ม แล้วขันธ์ ๕ หรือความคิดของเราเป็นเปลือกส้ม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นเปลือกส้ม

โดยทั่วไปแล้วถ้าเราจะหยิบส้ม เราก็ต้องหยิบโดนเปลือกส้มแน่นอน ธรรมของพระพุทธเจ้าที่เราจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ มันก็คือคิดโดยเปลือกส้มแน่นอน การคิดโดยเปลือกส้มนี้มันก็เป็นความคิดที่เกิดจากกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ความสกปรก

พอมันคิดมันก็จะอยู่ในความสกปรกของมันอยู่ตลอดเวลา แล้วถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ คือเราใช้ปัญญาใคร่ครวญความคิดของเรา มันก็เหมือนกับเราปอกเปลือกส้ม พอเปลือกส้มโดนปอกออกแล้วมันก็จะเป็นเนื้อส้ม ความคิดต่างๆ ที่มันให้ผลเป็นทุกข์ ถ้าเราตามความคิดทัน ความคิดมันจะหยุด เหมือนกับเราปอกเปลือกส้ม มันจะหยุดๆๆ แต่มันยังปอกไม่หมด เดี๋ยวเปลือกส้มมันก็จะมาหุ้มอย่างเก่าอีก เราก็ทำไปเรื่อยๆ รู้ทันความคิดนี้อยู่ตลอด

รู้ทันได้อย่างไร ตอนนี้แม้แต่กายกับจิต เรายังแบ่งไม่ถูกเลยว่าอะไรเป็นกายอะไรเป็นจิต แล้วพอมีความคิดเกิดขึ้นมา เราจะเห็นความคิดได้อย่างไร แม้แต่กายกับจิต กายที่จับได้อย่างนี้เรายังเห็นตัวเราไม่ได้เลย แล้วความคิดที่เป็นนามธรรม เราจะเอาอะไรไปจับมัน แล้วเราจะจับเปลือกส้มมาปอกเปลือกส้มได้อย่างไร ก็ใช้สติไง เวลาเราคิดขึ้นมา คิดถึงลูกคิดถึงหลาน พอมันคิด เราก็มีสติรู้ว่า “นี่เราคิดแล้ว” แต่เมื่อก่อนเราจะไม่รู้

แต่ถ้าตั้งสตินะ “นี่เรากำลังคิดแล้ว เราคิดเรื่องอะไร? แล้วคิดทำไม? ที่เราคิดมันมีเหตุผลอะไร? เราคิดแล้วมันให้ความทุกข์กับเราไหม?”

แล้วถ้าคิดในเรื่องที่มันเสียใจนี่จะคิดได้มากเลย แต่เรื่องดีๆ นี่กลับคิดไม่ได้ ที่อยากจะจำมันก็ลืม แล้วไอ้ที่อยากจะลืมมันก็จะจำ มันจะหลอกตัวเองตลอดไป เห็นไหม เราก็ใช้สติตามมันไป หาเหตุหาผล ความคิดที่หาเหตุผลนี้ถ้ามันทันความคิดแล้วความคิดหยุด มันจะเศร้าใจมากว่าความคิดนี้ทำลายเราเอง เหมือนกับเทียนมันเผาไหม้ตัวมันเอง เห็นไหม มันให้แสงสว่างแล้วมันก็เผาไหม้จนเทียนหมดเล่ม เช่นเดียวกับชีวิตของเราทั้งชีวิต

ความคิดของเรานี้ที่ออกมาเป็นทางวิชาการ เพราะความคิดมีสัญญามีข้อมูล เราก็ศึกษามาจนเรามีการศึกษา เราจะทำธุรกิจหรือเราจะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ เราก็ใช้ความคิดของเราทำ เวลาเราจะหาผลประโยชน์ต่างๆ เราก็ใช้ความคิดของเรานี้มาทำ เห็นไหม เทียนมันเผาไหม้ตัวมันเองจนมันหมดเล่ม ความคิดของเรา ชีวิตของเรา มันก็จะเผาไหม้ตัวมันเองตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วมันก็จะตายไปโดยที่มันทำงานไปโดยธรรมชาติของมัน

แต่พอเรามีสติขึ้นมา ดูอย่างเทียนนี้เวลามันเผาไหม้ตัวมันเอง มันให้แสงสว่างไหม แสงสว่างนี้มันเกิดประโยชน์ต่อคนอื่นบ้างไหม แสงสว่างนี้มันทำให้คนเห็นธรรมไหม แล้วความคิดของเราที่มันทำลายตัวเราเองอยู่นี้ มันเผาไหม้เราอยู่นี้ เราจะเอามาเป็นประโยชน์กับเราได้ไหม

ถ้าเราเอามาเป็นประโยชน์ มันจะสอนจิตเรา จิตเรามันโง่ มันถึงไม่รู้ว่าจิตกับความคิดมันต่างอันต่างจริง เวลาที่เราพิจารณาไปจนจิตเป็นสมาธิแล้ว จิตเห็นอาการของจิต แล้วพิจารณาของมันไป “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕” รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่เรา จิตเป็นจิต ขันธ์ ๕ เป็นขันธ์ เห็นไหม ต่างอันต่างจริง ความคิดก็เป็นความคิดจริงอันหนึ่ง จิตมันก็เป็นจิตจริงอันหนึ่ง ความจริงกับความจริงมันสมดุลกันแล้วมันปล่อยวางกัน มันปล่อยความคิด มันปล่อยความยึดมั่นถือมั่น มันปล่อยของมัน นี่ไงสิ่งที่มันปล่อย ก็เพราะมีปัญญาอบรมสมาธิเข้าไป พอวิปัสสนาไปแล้วมันจะเป็นแบบนี้

ปัญญาอบรมสมาธินี้ถ้าเราทำไปบ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า.. มันจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราเห็นถึงความคิดของเรา ถ้าเรายังไม่เห็นความคิดของเรา เรายังจับความคิดของเราไม่ได้ ก็เกิดวิปัสสนาไม่ได้

ตามธรรมดาแล้วทางโลกเขาจะบอกว่า “ความคิดกับจิตนี้เป็นอันเดียวกัน”

ไม่ใช่! ตัวจิตเหมือนน้ำที่มันใสสะอาด แต่ความคิดนี้เหมือนกับเครื่องแกงที่ใส่ผสมเสร็จแล้วเป็นแกงเขียวหวาน เป็นแกงเผ็ด เป็นแกงส้ม มันแสดงออกถึงว่าแกงนั้นเป็นอาหารที่ให้เรากินได้เพื่อการดำรงชีวิต แต่น้ำเปล่าๆ นี้ มันกินไม่อร่อย แต่ถ้าไม่มีน้ำ มันก็จะเป็นแกงขึ้นมาไม่ได้ ฉะนั้นเวลาแยกน้ำกับสิ่งผสมที่เป็นแกงออกจากกัน เราแยกไม่ได้ในทางวัตถุ แต่ในทางความรู้สึก ในทางความเป็นจริงของหัวใจนี้มันแยกได้

ปัญญาอบรมสมาธิ หมายถึง การแยกอารมณ์ความรู้สึก ความโกรธ ความเกลียด ความเจ็บ ความช้ำในหัวใจออกจากพลังงาน เห็นไหม พอออกจากพลังงาน ออกจากจิตเดิมแท้ ออกจากจิตที่มันเป็นพลังงานเฉยๆ นี่ก็คือสมาธิ

ปัญญาอบรมสมาธิ มันทำได้จริงๆ แล้วถ้าใครไปทำแล้วมีปัญหาให้มาถามเรา ถ้าเราสอนแล้วทำไม่ได้นะ เราจะลุกขึ้นมาแล้วให้ทำโทษเลย จะไม่บอกให้เอาปืนยิงทิ้ง (หัวเราะ) เมื่อก่อนเราจะบอกเลยว่า ถ้ากูสอนผิดจะให้เอาปืนจ่อหัวกูแล้วยิงทิ้งไปเลย เพราะเราทำมาก่อน เราทำมาแล้ว

ปัญญาอบรมสมาธิ พอมันไล่เข้าไป รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ทีนี้ รูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นตัวล่อ แล้วตัวจิตมันก็ออกไป แล้วถ้ามีสติทัน คิดดูสิ มันอยากได้อะไร ก็อยากได้รูป เราก็ใช้ปัญญาไล่ไปว่า “รูปมันก็เป็นอนิจจัง รูปก็ให้ผลดีผลชั่ว รูปที่ดีก็ให้ผลเป็นผลที่ดีแต่รูปที่ชั่วก็ให้ผลที่ชั่ว รูปที่ให้ผลเป็นสุขให้ผลเป็นทุกข์ แล้วเอ็งโง่ไปเอามันทำไมล่ะ” เห็นไหม มันก็จะทิ้งบ่วงของมาร

เสียงที่เขาชมมาว่าคนนั้นดี เขาสรรเสริญมา โอ้โฮ.. ตัวลอยเชียว แต่เวลาเขาติฉินนินทาล่ะ อู้หูย.. เจ็บช้ำน้ำใจมาก เสียงมันก็เป็นเสียง เขาชมมึงมาตั้งแต่เมื่อวาน มึงทำไมไม่ตัวลอยตั้งแต่เมื่อวานล่ะ พอคนเขามาบอกว่ามึงดี โอ้โฮ.. ตัวลอยเลยนะ คือเขาพูดมาตั้งแต่เมื่อวานแต่เราเพิ่งมาได้ยินวันนี้

รูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นตัวกระตุ้นทั้งหมด แล้วถ้าไม่มีจิตของเราไปรับรู้ ไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ไม่มีความหลง ไม่มีความไม่เข้าใจตัวเอง มันก็จะไปเสวยอารมณ์ แต่ถ้ามีความเข้าใจ “เขาชมมาก็เพื่อจะหลอกใช้เราไง เขาว่าเราดีเราขยัน แล้วก็ให้งานเราทำไง เขาจะเอาเราไปใช้งานไง ไอ้เราก็โง่นะ เป็นคนดีก็ต้องขยันมั่นเพียร ก็ทำเข้าไปสิงานน่ะ” ถ้าเรารู้ทัน เราก็ไม่หลงไปทำตามเสียงชมนั้น นี่ไงปัญญาอบรมสมาธิ ไล่ความคิดให้ทัน ถ้าไล่ความคิดทันแล้วความคิดจะเกิดจากจิตนี้ไม่ได้! แต่เพราะเราไม่ทันความคิดของเรา เพราะเราโดนกิเลสตัณหามันยุแหย่

คำว่า “ยุแหย่” เราจะเห็นได้ชัดเวลาที่คนยุคนแหย่มันทำให้คนแตกความสามัคคี แต่เวลากิเลสมันยุแย่ใจเรา เรากลับไม่รู้ไม่เห็นเลย แต่พอมีสติไล่เข้าไป.. ไล่เข้าไป.. ปัญญาอบรมสมาธิมันไล่เข้าไปจนเห็นว่า ความคิดนี้บางทีถ้าเรามีกำลังไม่พอ ความคิดมันมาแรงมากเรารู้เลย แล้วเราก็ยันไว้เฉยๆ แต่ถ้ามันทัน พอความคิดจะเกิดขึ้นมา “ฮั่นแน่!” แล้วความคิดมันจะดับทันทีเลย มันอาย ดูสิ บางทีเวลาเราคิดไม่ดี แล้วพอเรามีสติ “มึงคิดอีกแล้ว” ความคิดมันก็จะหยุดทันที เห็นไหม ไล่เข้าไป พอหยุดแล้วนี่คือสติมันทัน ถ้าหยุดได้แสดงว่าจิตมีกำลัง แต่ถ้าจิตไม่มีกำลัง พอมันคิดเรากับความคิดก็จะไปด้วยกัน จะเอาอะไรก็เอา เราจะไปด้วยหมดเลย

แต่ถ้าเราหยุดความคิดได้ เราจะเป็นอิสระไหม พอเราหยุดความคิดจนเป็นอิสระแล้ว จะไม่มีใครมาใช้เราได้ใช่ไหม นี่ล่ะปัญญาอบรมสมาธิ พออบรมบ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า.. จนสมาธินี้มันตั้งมั่น หมายถึงว่าเราจะต้องมีความชำนาญแบบที่ว่ามันจะประคองสมาธิได้ตลอดไป พอประคองสมาธิได้นี้เขาเรียกว่าเอกัคคตารมณ์ คือจิตมันจะตั้งมั่น

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา” โดยธรรมชาติของพลังงานนี้มันจะอยู่คงตัวไม่ได้ เพราะมันจะต้องอาศัยอิงกับอะไรไว้ จิตนี้มันก็อยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ เราถึงต้องมีพุทโธ มีสติให้จิตนี้มันอิงอยู่ เพราะจิตนี้มันเป็นนามธรรม แต่พอเราพิจารณาไปจนมันตั้งมั่น เราจะเห็นเวลาที่มันเสวยอารมณ์ มันจะเสวยความคิด ความคิดนี้เป็นขันธ์ พอมันแยกเข้ามาจนเป็นตัวของมันเอง แล้วมันเห็นสิ่งที่จิตเสวยความคิด พอคิดปั๊บมันก็จะเป็นความรู้สึกเป็นอารมณ์ขึ้นมา พอมันจะเสวยปั๊บ ถ้าเราจับมันได้ก็คือ “จิตเห็นอาการของจิต” จิตเห็นความคิดก็คือจิตเห็นอาการของจิต แต่ตอนนี้เรายังไม่รู้จักว่าอะไรเป็นจิต อะไรเป็นความคิด แต่ถ้าเราทำขึ้นไป มันจะพัฒนาไป แล้วมันจะเป็นอย่างนี้ แต่ต้องเป็นตามความจริงนะ

พอฟังเทศน์ปั๊บ เดี๋ยวพอกลับไปแล้ว เอ็งก็จะไปนั่งคิดว่า “อันนั้นเป็นความคิด อันนี้เป็นจิต” มันจะไปสร้างเลยว่าเป็นภูเขา ๒ ลูก แล้วก็บอกว่า “กูเห็นแล้ว”

จะเห็นหรือไม่เห็นมันไม่สำคัญ เราทำของเราไป จะผิดหรือถูกก็ทำไป เพราะจิตมันเกิดดับเร็วมาก ดูสิ หนังที่เขาฉาย เห็นไหม วันละ๓ - ๔ รอบ แล้วไอ้หนังของเรา ไอ้ความคิดของเรามันฉายวันละล้านๆ รอบ ล้านๆ ความคิด ถ้าเรามีสติทัน เราจะจับได้ แล้วเราก็จะมีโอกาสทำเป็นล้านๆ ครั้งต่อวัน หลายล้านครั้งด้วย ฉะนั้นไล่เข้าไป.. ไล่เข้าไป.. มันจะมีงานให้เราทำตลอดเวลา ถ้าเรามีสติ เราก็วิปัสสนาไป นี่คือคนภาวนาเป็น

คนภาวนาเป็น หมายถึง คนที่ภาวนามาจนจิตมันตั้งมั่น แล้วจิตมันมีเหตุมีผล มันจับกายจับจิตได้แล้ววิปัสสนาไป มันแยกถูกแยกผิดได้ คนภาวนาเป็นจะไม่คลุกคลีกับใคร คนภาวนาเป็นจะขอเวลามาปฏิบัติ คนภาวนาเป็นจะอยากเข้าทางเดินจงกรม จะอยากนั่งสมาธิ แล้วไม่อยากยุ่งกับใคร เพราะมันเห็นงานของมัน แล้วมันทำงานอยู่ตลอดเวลา แต่ไอ้คนที่คลุกคลี คนที่ยังพูดขี้โม้ปากเปียกปากแฉะ ไอ้นั่นมันภาวนาไม่เป็นเด็ดขาด.. เด็ดขาด! ส่วนคนที่ภาวนาเป็น เขาจะคอยหาโอกาสของเขา

เห็นไหม “ปัญญาอบรมสมาธิ - สมาธิอบรมปัญญา” ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็จะเป็นปัญญาวิมุตติ เป็นทางเดิน เป็นร่องรอยของพระสารีบุตร ส่วนเจโตวิมุตตินี้เป็นการใช้พุทโธๆ จนจิตเป็นสมาธิ เป็นทางของพระโมคคัลลานะ จะมีฤทธิ์มาก เวลาทำพุทโธๆๆ แล้วมันจะลง แล้วเวลาที่เป็นสมาธิมันก็จะแตกต่างกันมากกับพวกปัญญาอบรมสมาธิ

ทีนี้เวลาไปคุยกัน มันก็จะเถียงกันว่า “เอ็งผิด ข้าถูก เอ็งถูก ข้าผิด” อยู่ตลอด เพราะอะไร เพราะถ้าเป็นพุทโธๆๆ มันก็เหมือนกับเราโค่นต้นไม้ทั้งต้น เวลามันล้ม มันจะล้มดังตึง! เพราะมันพุ่มใหญ่มาก มันจะฟาดจนกระจายไปทั่วเลย

“ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ” ขณิกะ คือ มันสงบลงชั่วคราว แล้วถ้าพุทโธต่อไป ลงลึกเข้าไปอีกก็จะเป็นอุปจาระ ถ้ามันเข้าไปถึงตัวจิตปั๊บมันจะมีฐาน แล้วถ้ามันออกเห็นนิมิตคือมันออกรับรู้ แต่อัปปนาสมาธินี้มันจะลงลึกเข้าไปอีก มันมีรสชาติแตกต่างกัน เพราะจิตที่เป็นสมาธินี้มันจะลึก มันจะว่าง.. เย็น.. สงบ.. สุขมาก

ถ้าไม่สุข จะไม่มีใครติดสมาธิ โดยปกติผู้ปฎิบัติที่ยังไม่เข้าใจ ก็จะคิดว่าสมาธินี้เป็นนิพพาน แต่มันไม่ใช่ พวกที่จะคิดว่าสมาธิเป็นนิพพาน ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นพวกที่ทำพุทโธ เพราะพุทโธนี้มันจะลงลึก ดูสิ เวลาเข้าสมาบัติ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจาญตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ เวลาเราเข้าไปแล้วถอยกลับ เวลาเข้าสมาบัติเราเข้าแล้วถอย เห็นไหม อนุโลม-ปฏิโลม ขึ้นไป แล้วพอจิตมันมีพัฒนาการของมัน มันมีกำลังของมัน โลกนี้จะปิดเราไม่ได้ เพราะเราจะรู้เห็นไปหมดเลย

รู้เห็นหมด! แต่มันจะได้อะไรขึ้นมา ก็ได้ทิฏฐิมานะไงว่ากูเก่ง แล้วมึงก็จะติดอยู่กับกิเลสไปจนตาย แต่ถ้ามันย้อนกลับเข้ามาให้เป็นอริยสัจ มันจะไปชำระกิเลส พระพุทธเจ้าปรารถนาตรงนี้

เราจะบอกว่า ถ้าเป็นเจโตวิมุตตินี้มันจะรู้ เพราะพื้นฐานของมันได้ทำสมาธิมา พอจิตมันสะอาดมันจะมีกำลัง แล้วมันจะรู้อะไรได้เยอะแยะไปหมดเลย แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติมันจะใช้ปัญญาใคร่ครวญ ใช้ปัญญาไล่ต้อนเข้ามา ปัญญาเป็นคนฆ่ากิเลส แต่ก็มีกำลังของสมาธิหนุนมาตลอด เพราะในสมาธิมันก็มีปัญญา และในปัญญามันก็มีสมาธิ สมาธิมันจะหนุนมาตลอด แต่สมาธิมันก็จะไม่ลงลึก เพราะมันใช้ปัญญา

ทีนี้ปัญญาที่มันใช้แยกแยะ ใช้ใคร่ครวญบริหารจัดการ มันก็เหมือนกับผู้ที่บริหารจัดการองค์กรมาตลอดชีวิต มันจะเข้าใจเรื่องขององค์กรต่างๆ เข้าใจเรื่องกามภพ รูปภพ อรูปภพ แล้วมันจะเทศน์ออกมาได้เหมือนกับข้าวตอกแตกเลย นี่มันก็อีกกรณีหนึ่ง

“เรื่องปัญญาอบรมสมาธิ ขอความเมตตาอธิบายแบบละเอียด”

นี่เราก็อธิบายละเอียดแล้วล่ะเนาะ แล้วประสาเราด้วย เราสงสารคนที่เขาฟังบ่อยๆ เขาก็จะบอกว่า “หลวงพ่อชอบพูดแต่เรื่องเก่าๆ” อ้าว.. ก็มันเป็นอย่างนี้ แต่พอคนใหม่เขามา เขาก็อยากรู้ของเขา ไอ้คำว่าละเอียด เราก็พูดไปแล้วอย่างนี้นะ

ถาม: ๓. เมื่อเริ่มปฏิบัติ เราควร “พุทโธ” ก่อนเลยใช่ไหมครับ หรือว่าจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิ?

หลวงพ่อ: มันเป็นอย่างนี้นะ

ถ้าเราจะกำหนดพุทโธ เราก็ต้องกำหนดพุทโธตลอดไป เหมือนอาหารมื้อนี้ถ้าเราจะกินข้าวสวย เราก็กินข้าวสวย แล้วถ้ามันจุกมันอืดท้อง มื้อต่อไปถ้าเราจะกินข้าวต้ม เราก็กินข้าวต้ม คือถ้าเราจะกำหนดพุทโธ เราก็ต้องกำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ แต่ถ้าพุทโธไปแล้ว บางทีมันเครียด เราก็มาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ปัญญาและมีสติตามเข้าไป.. ตามเข้าไป.. ทีนี้พอตามเข้าไปแล้วมันหยุด พอมันหยุดแล้วเราไม่รู้ว่าจะทำยังไงต่อ ก็ให้เรากลับมาใช้พุทโธได้ คือเวลาที่เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ตามความคิดเข้าไป พอถึงจุดปั๊บมันมีเหตุมีผลแล้วมันปล่อยหมด แล้วเราไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ เพราะมันยังไม่ได้คิดต่อ แต่พอมันหยุดปั๊บ ประเดี๋ยวก็คิดอีก ถ้ามันหยุดปั๊บแล้วมันจะนิ่งอยู่

เวลาปฎิบัตินี้หลวงตาท่านสอนบ่อย ท่านบอกว่า “ในการปฏิบัติของพวกเรานี้ สิ่งที่ต่อต้านเราก็คือกิเลสของเรา กิเลสมันจะต่อต้านธรรมตลอดเวลา” แต่พอเราปฏิบัติไปแล้ว เราก็จะบอกว่า “ทำไมการปฏิบัติธรรมมันทุกข์ขนาดนี้ ทำไมการปฏิบัติธรรมมันลำบากขนาดนี้”

การปฏิบัติธรรมนี้คือเราแสวงหาความดี แต่การจะได้ความดีมา มันจะต้องทำลายความชั่ว มันต้องทำลายกิเลสในใจของเรา แล้วความดีมันถึงจะปรากฏ ตอนนี้ความดีมันยังไม่ปรากฏ ขณะที่เราทำอยู่นี้คือเราพยายามจะปราบไอ้ความชั่วในใจเรา ปราบไอ้ความทิฏฐิมานะ ปราบกิเลสตัณหาในใจเรา มันก็เลยเป็นงานที่ทุกข์ ดังนั้นที่เราทุกข์นี้ก็คือกิเลสมันต่อต้าน กิเลสมันแข็งข้อ แล้วเรากำลังจะทำลายกิเลส

ฉะนั้นเวลาปฏิบัติ อย่าบอกว่าปฏิบัติธรรมแล้วทุกข์ แต่ต้องบอกว่ากิเลสมันทำให้กูทุกข์ แล้วกูกำลังจะทำลายกิเลส กิเลสเท่านั้นที่มันต่อต้านที่มันทำลายเรา แล้วเราพยายามต่อสู้กับมันด้วยธรรมะ ธรรมะคืออะไร สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม นี่คือธรรมแล้วนำไปชำระกิเลส

ที่เขาถามว่า “ควรพุทโธก่อนไหมหรือควรใช้ปัญญาอบรมสมาธิ?”

เราจะบอกว่า ถ้าเราจะกำหนดพุทโธ เราก็ต้องกำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ อย่างเช่น ตอนเช้าเราก็เริ่มปฏิบัติเลย กำหนดพุทโธๆๆๆ ตลอดไปเลย แล้วถ้ามันไม่ดี พอตอนเย็นเราก็มาใช้ปัญญาบ้าง ใช้ความคิดไล่ไปเลย เอาอันใดอันหนึ่ง อย่าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะกิเลสมันจะหาช่องว่างตรงนี้มาหลอกเรา

เหมือนเวลาหุงข้าว พอเราตั้งหม้อไว้ “เอ้อ.. อันนี้ไม่ดี” แล้วเราก็เปลี่ยนเตาใหม่ ตั้งหม้อใหม่ วันนั้นเราก็เลยไม่ได้กินข้าว คือจิตมันจะไม่ลง กิเลสมันจะเอาตรงนี้ มันจะทิ่มเลย

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีก แล้วเจ้าจะเกิดจากเราอีกไม่ได้เลย” นี่มันแค่ความดำริ มันยังไม่ใช่ความคิดเลยใช่ไหม อย่างเช่น เราตั้งใจว่าจะปฏิบัติ เห็นไหม ตั้งใจนี้ก็คือเจตนาแล้ว แล้วความดำริล่ะอยู่ที่ไหน ความดำรินี้มันเกิดก่อนที่เราจะเจตนาอีก แล้วกิเลสมันอยู่หลังความดำริของเรา คือไม่ว่าเราจะทำอะไรกิเลสมันจะรู้ก่อนเลย อย่างเช่น เราจะปฏิบัติธรรม เรายังไม่รู้เลยว่าธรรมะเป็นอะไร สติเป็นอะไร แต่ถ้ากิเลสนี่มันจะรู้ทุกเรื่อง เพราะกิเลสมันอยู่กับเรา กิเลสมันจะรู้ทุกเรื่องที่เราจะคิด

ฉะนั้นพอเราจะมาพุทโธ กิเลสมันก็จะบอกว่า “เออ.. พุทโธไปก่อน พุทโธไปก่อน” แล้วพอเราเริ่มจะเป็นสมาธิ กิเลสมันก็จะบอกว่า “เปลี่ยนๆ เปลี่ยนมาเป็นปัญญาอบรมสมาธิ” คือกิเลสมันจะมาหลอกเราให้เปลี่ยนแปลง ให้สับปลับตลอด ฉะนั้นถ้าเราตั้งใจไว้ว่าจะทำสิ่งใด เราก็ควรทำสิ่งนั้นตลอดไป แล้วถ้ามันมาบอกว่า “ให้ทำอย่างนั้นดีกว่า ให้ทำอย่างนี้ดีกว่า” เราก็ต้องบอกว่า “กูไม่เชื่อมึง” แล้วเราทำไปให้ถึงที่สุดเลย พอถึงที่สุดแล้วได้หรือไม่ได้ เราค่อยมาแก้ไข

เพียงแต่เราจะบอกว่า บางทีถ้าปฏิบัติไปแล้ว เช่น เวลาเราพุทโธๆๆ ไปแล้ว เหมือนมันเฉยๆ ว่างๆ นั่นแหละเราจะต้องพุทโธตลอดไป บางทีถ้าพุทโธๆ แล้วมันก็เงียบไป มันเฉย แล้วเราบอกว่า “อย่างนี้ถูกต้องแล้ว เพราะว่าจิตมันละเอียด” นี่ล่ะกิเลสมันจะสวมรอยว่า “พอพุทโธๆ ไปแล้ว ถ้าจิตละเอียดแล้วอย่าพุทโธอีกนะ เพราะถ้าพุทโธ จิตมันจะหยาบ” นี่ล่ะกิเลสมันหลอก แล้วเราก็จะคาอยู่อย่างนี้

เราจะต้องพุทโธๆๆๆๆ ถ้ายังนึกพุทโธได้แสดงว่ามันยังไม่ละเอียดหรอก มันเป็นธรรมดาของจิต มันเหมือนน้ำนิ่งแล้วตะกอนมันอยู่ที่ก้น พอขยับตะกอนมันก็จะขึ้นมา คือมันจะนิ่งอยู่เฉยๆ แต่มันยังไม่เป็นสมาธิ! แต่เราไปเข้าใจว่าเป็น เพราะมันสบาย ว่างๆ เห็นไหม

คำว่า “ว่างๆ” นี้มันมีคนมาถามเราเยอะมาก เราจะบอกว่า “ว่างๆ” นี้มันเป็นอจินไตย คำว่า อจินไตย คือ มันกว้างขวางเสียจนคาดการณ์ไม่ได้ อจินไตยมี ๔ อย่าง

๑. พุทธวิสัย คือปัญญาของพระพุทธเจ้านี้เป็นอจินไตย เราคาดไม่ได้หรอก อย่าไปคิด ถ้าเราคิดว่า เราจะมีปัญญาให้เท่ากับพระพุทธเจ้า มึงไปเอาสมองมาอีก ๕ เท่าก็ยังไม่ได้เลย มึงตายเปล่า เพราะนี่คืออจินไตย

๒. เรื่องของกรรม กรรมที่ว่าพาเกิด กรรมพันธุ กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ ถ้าจะให้อธิบายกรรม กูจะไปอธิบายกรรมที่ล้านชาติที่แล้วของมึง มึงจะจำได้ไหม เพราะอะไรรู้ไหม เพราะจิตมันเกิดมาแล้วไม่มีต้นไม่มีปลาย คำว่า “ไม่มีต้นมีปลาย” คือมันได้เกิดมาหลายล้านชาติ กรรมของเราในชาติไหนก็ไม่รู้

มันมีอยู่ในธรรมบทว่า มีพระองค์หนึ่งที่ไปปฏิบัติ แล้วก็มีแม่ชีที่ปฏิบัติจนได้เป็นพระอรหันต์แล้วสามารถรู้วาระจิตรู้ใจว่าใครคิดอะไรจนเป็นที่ร่ำลือ พระรูปนี้ก็อยากไปเจอ ก็เลยไปปฏิบัติอยู่ด้วย แม่ชีก็ทำอาหารไปถวายพระบ่อยๆ พอพระไปปฏิบัติปั๊บ เวลาพระคิดอะไร แม่ชีนั้นจะรู้หมดเลย พระก็อายมาก จึงกลับไปหาพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าให้กลับไปปฏิบัติต่อกับแม่ชีนั้น

ทีนี้พอกลับไป พระก็อายแม่ชีมาก เพราะตัวเองเป็นปุถุชนใช่ไหม พอคิดอยากกินอะไร อยากได้อะไร แม่ชีก็เอามาให้หมด พระก็เห็นบุญคุณของแม่ชี พระก็พยายามบังคับตัวเองให้ปฏิบัติจนได้เป็นพระอรหันต์ พอเป็นพระอรหันต์แล้วก็รู้สึกซึ้งบุญคุณของแม่ชีนี้มากเลยว่า เราได้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาก็เพราะแม่ชีนี้ แล้วพระก็มากำหนดดูว่า ชาติที่แล้วเขามีบุญคุณอะไรกับเรา พอกำหนดดูก็รู้ว่าเมื่อชาติที่แล้วเคยเป็นคู่ครองกัน แล้วก็โดนแม่ชีนี้ฆ่าตาย กำหนดชาติต่อไปอีกก็โดนฆ่าตายอีก กำหนดไป ๙๙ ชาติก็โดนแม่ชีนี้ฆ่าตายมาตลอด พระเสียใจมาก แต่แม่ชีเขารู้อยู่แล้วก็เลยบอกให้พระอรหันต์องค์นั้น กำหนดย้อนไปอีกชาติหนึ่งสิ พอถึงชาติที่ร้อยก็ได้รู้ว่าพระองค์นี้ฆ่าแม่ชี ไม่ใช่ฆ่าในชาติปัจจุบัน แต่เคยฆ่ามาในอดีตชาติ ชาติที่ร้อยนี้พระเป็นฝ่ายฆ่า แล้วมันก็ผูกโกรธ แล้วพอมาชาติที่ ๙๙ แม่ชีก็มาเป็นฝ่ายฆ่าๆๆๆ จนมาเกิดเป็นแม่ชีกับพระในชาตินี้ แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งคู่

นี่คือเรื่องของกรรม เห็นไหม กรรมเป็นอจินไตย ที่ว่าเราอธิบายไม่ได้ อย่างในปัจจุบันนี้เรามีกรรมกันไหม เราก็พูดกันได้แต่ในชาตินี้ เห็นไหม ตอนเด็กๆ เราเคยทะเลาะกันมา เรามีปัญหากันมา เราเป็นเด็ก เราโตมาด้วยกัน เราก็รักกัน เพราะเราเห็นกรรมได้แค่นี้

๓. เรื่องโลก เรื่องโลกนี้ก็เป็นอจินไตย หมายถึงว่า มันจะอยู่ของมันอย่างนี้ แต่มันจะแปรสภาพของมัน อจินไตยคือมันจะอธิบายให้เป็นสูตรคงที่ไม่ได้

๔. เรื่องฌาน เรื่องความสงบ เรื่องการทำสมาธิ นี้ก็เป็นอจินไตย มันหลากหลายมาก มันอยู่ที่บุญที่กรรมของคน เรื่องสมาธิ เรื่องการเข้าสมาบัติ ที่คนจะเข้าได้มากหรือได้น้อย ถ้าเข้าได้เข้มข้น มันก็จะมีพลังงานที่เข้มข้น ก็จะไปถึงไหนต่อไหนได้ลึกซึ้งมากกว่า

เรื่องความว่าง เวลาใครมาก็จะบอกว่า “ว่างๆ ว่างๆ”

“ว่างๆ ว่างๆ” นี้มันก็เป็นอจินไตย คือมันไม่มีขอบเขตเลย แต่พอมาเข้าอริยสัจปั๊บ ว่างของพระโสดาบัน ขอบเขตของพระโสดาบันมันมีอยู่ (ว่างของพระสกิทาคามี ว่างของพระอนาคามี ว่างของพระอรหันต์) เพราะถ้าพระโสดาบันไม่มีขอบเขต พระโสดาบันกับพระโสดาบันจะคุยกันไม่รู้เรื่อง พระโสดาบันต้องสิ้นสุดกระบวนการของพระโสดาบัน ต้องคุยกันจบที่กระบวนการของพระโสดาบัน พระสกิทาคามี ก็ต้องคุยกันจบที่กระบวนการของพระสกิทาคามี พระอนาคามี ก็ต้องคุยกันจบที่กระบวนการของพระอนาคามี จนมาถึงของพระอรหันต์ แล้วพระอรหันต์ล่ะว่างอย่างไร

ฉะนั้นที่เขาบอกว่า “ว่างๆ ว่างๆ นิพพานว่าง..”

ถ้าว่างมันก็จะคู่กับไม่ว่าง

เขาบอกว่า “นิพพานสว่างไสว”

ถ้าสว่างมันก็จะคู่กับเศร้าหมอง

นิพพานมันเป็นความสมมุติว่าว่าง แต่ว่างของพระอรหันต์นี้ท่านอธิบายได้นะ คือถ้าคนที่รู้เท่าทันกัน รู้เหมือนกัน เวลาอธิบายนี้จะชัดเจนมาก ฉะนั้นเราถึงบอกว่า มันเป็นความว่างที่มีขอบเขต เป็นความว่างระดับไหน ความว่างที่หยาบ - ละเอียดต่างกันอย่างไร

เวลาเรากำหนดพุทโธๆ พอมันเป็นสมาธิแล้วมันจะหลากหลายมาก ฉะนั้นเวลาปฏิบัติ เห็นไหม ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านถึงบอกเราว่า เราปฏิบัติแล้วจิตเราสงบไหม จิตเรามีพื้นฐานไหม จิตเราดีไหม แล้วถ้าเราเอาไปคุยกับเพื่อนหรือคุยกับผู้ปฏิบัติคนอื่น แล้วเขาบอกว่าของเขาถูกแต่ของเราผิด มันก็เรื่องของเขา คือเราอย่าเอาไปกังวลสิ พวกเราส่วนใหญ่แล้วจะกังวล กลัวแต่ว่าตัวเองจะผิด แล้วก็จะไปเอาคนอื่นมาเทียบ ก็ในเมื่อสมาธิมันเป็นอจินไตย..! และถ้าเราทำสมาธิแล้วเราจะมีกำลัง

เวลาเราถามว่าสมาธิเป็นอย่างไร? ถ้าเขาตอบว่า “โอ๊ย..ว่าง!” ก็แสดงว่าไอ้นี่มันยังไม่ใช่สมาธิหรอก ไอ้นี่มันไปจำมา แต่ถ้าเราถามว่าสมาธิเป็นอย่างไร?

แล้วเขาตอบว่า “โอ้โฮ! หลวงพ่อ มันเป็นอย่างนั้น..อย่างนั้นเลย พูดไม่ถูกเลย”

เออ..นี่แหละสมาธิ ใช่! ของเอ็งเป็นสมาธิ

แต่ถ้ามาถามว่า “หลวงพ่อ ‘ว่างๆ ว่างๆ’ แล้วจะต้องทำยังไงต่อ?”

ถ้าว่างๆ ของมึงแบบนี้มึงต้องกลับไปพุทโธใหม่นะ กลับไปพุทโธก่อน พุทโธๆๆๆ ไปเรื่อยๆๆ พอพุทโธๆๆ แล้วมันเฉย..เฉย.. ตรงนี้มันสำคัญมาก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันเป็นจินตนาการของพวกเรา ครูบาอาจารย์กรรมฐานของเรานี้ท่านจะบอกเลยว่า “ให้พุทโธๆๆๆ แล้วพุทโธจะละเอียดมากจนพุทโธไม่ได้” คำว่า “พุทโธไม่ได้” คือพยายามจะนึกยังไงก็ไม่ได้ เพราะเวลาที่มันเป็นอัปปนามันจะดับหมด หลวงตาท่านบอกว่า “ตอนที่จิตท่านเสื่อม ท่านพุทโธๆๆ จนพุทโธไม่ได้ พอพุทโธไม่ได้ก็อยู่กับผู้รู้ พุทโธไม่ได้ก็ไม่เป็นไร”

แต่ของพวกเรานี่มันไม่ใช่อย่างนั้น มันยังพุทโธได้แต่ไม่ยอมพุทโธ...! เพราะพุทโธแล้วมันเหนื่อย เพราะพุทโธมันต้องคิด กูไม่อยากพุทโธกูอยากว่างๆไง อ้างเล่ห์! เราเป็นห่วงตรงนี้ เพราะในการปฏิบัติ ถ้าคนมันไม่เข้าใจมันก็จะไปอยู่ตรงนั้น แล้วจะไปคาอยู่ตรงนั้น เขาเรียกว่า “ติด” มันจะอยู่อย่างนั้น เดินหน้าก็ไม่เดินหน้า ถอยหลังก็ไม่ถอยหลัง นี่ล่ะกิเลสมันหลอกให้ติด แล้วเราก็จะติดอยู่ตรงนั้น

เห็นไหม ลูกศิษย์มาที่นี่เยอะ แล้วทุกคนก็จะบอกว่า “ว่างๆ ว่างๆ” กันทั้งหมดเลย เราเข้าใจถึงทิฏฐิของเขา เราก็พูดกับเขาว่า

“สมมุติว่าพุทโธได้ไหม?”

“ได้ค่ะ”

“แล้วทำไมไม่พุทโธล่ะ?”

“อ้าว.. ก็พุทโธมันหยาบไง แต่อันนี้มันละเอียดแล้ว”

คือพวกเราไปเอาความหมายที่ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ แล้วมาเคลมว่าเป็นความรู้สึกของเรา แล้วกิเลสมันก็อ้างเล่ห์ แล้วเราก็ติดอยู่แค่นั้น

ถ้ายังนึกพุทโธได้ ต้องนึกพุทโธ...!

ถ้ายังนึกได้ คือมันยังมีช่องว่าง มันก็ยังไม่เป็นสมาธิ...!

เพราะถ้ามันเป็นความจริง มันจะเต็ม มันจะนึกไม่ได้ จะทำอะไรก็ไม่ได้ อันนั้นถึงจะเป็นสมาธิจริง

ถ้ายังนึกพุทโธๆๆ ได้ จะต้องนึกไปเรื่อยๆ พุทโธๆๆๆๆ ตลอดไป ตะโกนพุทโธจนตะโกนไม่ได้เลย นึกมันออกมาไม่ได้เลย แล้วมันจะลงสุดๆ เลย นี่คือพื้นฐานเรื่องสมาธิ

แล้วพอมีสมาธิแล้ว อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ว่า สมาธินี้เหมือนน้ำเต็มตุ่ม แต่ถ้าใช้ไม่เป็น แล้วไปนึกว่าตุ่มนี้เป็นนิพพาน เดี๋ยวถ้าน้ำระเหยไปหมดแล้ว ก็จะมาบอกว่า “นิพพานของกูไปไหน หมดเกลี้ยงเลย”

ต้องขยันหมั่นเพียรแล้วหมั่นตรวจสอบ การตรวจสอบของเรา การวัดผลของเราเองนี้มันเป็นสันทิฏฐิโก

ทีนี้เวลาปฏิบัติไป เราก็มีของเรา อาจารย์ก็มีของอาจารย์ เราเคยไปถกเถียงกับครูบาอาจารย์เราจะเถียงมาก แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็น ท่านจะไม่ล็อกตาย เพราะท่านกลัวว่าฝ่ายตรงข้ามจะเกิดทิฏฐิ ถ้าเกิดทิฏฐิแล้วมันจะยิ่งยึดแน่นเข้าไปอีก แต่จะต้องเอาเหตุผล หรือให้เขาทำไปจนเขาเห็นถูกเห็นผิด แล้วเขาจะทิ้งเอง คือถ้าเขาเห็นว่าสิ่งนั้นดีกว่าเขาก็จะทิ้งสิ่งที่เลวกว่า ทิ้งสิ่งที่มีคุณค่าน้อยกว่า จะบอกเขาว่าให้ลองทำอย่างนี้ดู พอจิตของเขาได้สัมผัสสิ่งที่ดีกว่า เขาก็จะวางสิ่งที่มีคุณค่าด้อยกว่าโดยเด็ดขาด

เพราะอะไร เพราะเราเคยทำมาก่อน เพราะเราติดมาก่อน เราจะรู้ ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมาแล้วไม่ติด มันไม่มี ถ้าไม่ติด “แหม.. ทำไมมีวาสนาขนาดนี้ ทำไมกิเลสน้อยขนาดนี้” มันไม่มี ทุกคนมีกิเลสเหมือนกัน ติดเหมือนกัน แต่จะมากหรือน้อย จะต้องเคยติดมาโดยเด็ดขาด

ถาม: เมื่อนั่งสมาธิในถ้ำที่เชียงใหม่ เห็นแสงเป็นกลมๆ สีแดง แล้วก็ออกจากสมาธิ จากนั้นพอมาทำสมาธิใหม่ก็ยังเห็นเหมือนเดิม ไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปคะ?

หลวงพ่อ: การทำสมาธินี้ เราทำเพื่อให้มีความสงบของใจ เราต้องการผลของมันที่ทำให้จิตของเรามีกำลังขึ้นมา ให้จิตของเรามีความสุข แต่การเห็นนิมิตมันก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้

คำว่า “สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้” คือมันจะเป็นกับคนนั้น เราก็ต้องย้อนกลับมาที่พันธุกรรมทางจิตเพราะหลวงปู่มั่นท่านบอกว่า “จิตที่คึกคะนอง เขาสร้างของเขามาอย่างนั้น” คือเหตุของเขาเป็นอย่างนั้น ถ้าเขาเห็นของเขา จิตสงบแล้วเห็นสีแดง เห็นดวงต่างๆ เราจะต้องกำหนดพุทโธๆ เพื่อดึงความรู้สึกของเราให้กลับมาที่พุทโธ เช่น ถ้าโยมลืมตาก็จะเห็นเรา แต่ถ้าโยมหลับตาก็จะไม่เห็นเรา ถ้าเรานึกพุทโธๆ ให้จิตมันอยู่กับพุทโธ พอจิตมันอยู่กับพุทโธแล้วมันก็จะไม่ส่งออกไปข้างนอก แต่ถ้าเราปล่อยพุทโธปั๊บ จิตมันก็จะส่งออกทันที แต่พอจิตมันเป็นสมาธิแล้วจิตมันจะมีกำลังของมัน

เราจะบอกว่า ถ้าภาวนาแล้วเราไปเห็นสีเห็นแสงต่างๆ เราจะเปรียบเหมือนล้อรถ ถ้าล้อรถมันไม่หมุน เข็มไมล์มันก็กระดิกไม่ได้ แต่ถ้าล้อรถหมุน เห็นไหม ๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง อยู่ที่วงล้อมันเร็วหรือมันช้า จิตของเรานี้ถ้ามันเปลี่ยนจากปกติจากจิตปุถุชน แล้วมันจะเข้าไปถึงสมาธิของมัน คือมีกำลังของมัน มันก็จะเริ่มรู้เริ่มเห็น มันเป็นเครื่องวัดได้ว่าจิตเรานี้มันพัฒนาหรือไม่พัฒนา แต่จะพัฒนาหรือไม่พัฒนา มันก็เหมือนล้อรถเวลามันหมุนขึ้นมา เข็มไมล์จะวิ่งขึ้นมาขนาดไหน แต่พอล้อรถหยุดเข็มไมล์มันก็ตก จิตของเราถึงจะพัฒนาได้ขนาดไหน มันก็จะเจริญแล้วเสื่อม.. เจริญแล้วเสื่อม..

ทีนี้ถ้าเราจะไม่ให้มันเสื่อมเราจะต้องทำอย่างไร เห็นไหม ถ้ารถของเรามีทุกอย่างพร้อม น้ำมันเรามีเต็มถังตลอดเวลา ทุกอย่างพร้อมตลอดเวลา มันก็จะออกรถได้ตลอดเวลา คือเราจะทำสิ่งใดก็ได้ตลอดเวลาถ้าจิตมันสงบขึ้นมาได้ แต่พอจิตมันออกรู้ ก็เหมือนกับน้ำมันมันพร่อง เพราะเราใช้น้ำมันสิ้นเปลือง จิตมันออกรู้เพราะอะไร เพราะจิตมันต้องสงบใช่ไหม มันต้องมีกำลังมันถึงออกรู้ รู้ในอะไร รู้ในสี จะสีเขียว สีแดง หรือสีต่างๆ เราจะต้องดึงกลับมา ถ้าไปเห็นสีอย่างนั้น เราก็พุทโธๆๆๆๆๆ ดึงกลับมา ถ้าความรู้สึกกลับมาที่พุทโธแล้ว แสงนั้นจะดับหมด พอจิตออกรู้แล้วจิตนั้นกลับมาที่ผู้รู้ แสงนั้นมันก็จะหายไปเอง หายไปแต่ก็ไม่ได้หายไปไหน เพราะจิตที่ไปรู้นี้มันมีสายบุญสายกรรม คือบุญกุศลที่มันสร้างของมันมา แล้วถ้าจิตของเราวิปัสสนาไป ชำระกิเลสไป แล้วถ้ากิเลสมันขาดไปจากใจก็จะเหมือนพระโมคคัลลานะ เพราะมันมีคุณสมบัติอย่างนี้อยู่ที่จิต

แต่ถ้าเราเป็นคนที่มีกิเลส จิตของเรายังไม่ได้พัฒนาไปจนจิตมันชำระกิเลสได้ มันก็เหมือนกับเราไปกู้หนี้ยืมสินเขามาใช้ พอจิตมันออกรู้แสง อันนี้มันเป็นบุญเก่า แต่พอออกรู้ไป มันก็ใช้บุญที่ได้สร้างมามากขึ้นไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็หมด พอหมดแล้วนะ “อ้าว..นั่งคราวนี้ทำไมถึงไม่เห็นสีแดงล่ะ แสดงว่าจิตเราเสื่อม จิตเราไม่มีกำลัง” มันก็จะไปน้อยใจอีก ทั้งๆ ที่สีแดง สีเขียวนี้มันไม่เกี่ยวกับการวิปัสสนาเลย แต่ถ้าจิตสงบแล้วออกไปเห็นกายนั่นถูกต้อง แต่ถ้าจิตสงบแล้วออกไปเห็นสีนี้มันเป็นเรื่องอภิญญา

เวลาพุทโธๆๆๆๆ พอจิตสงบแล้วไปเห็นดวงแก้ว เห็นแสง หรือเห็นอะไรต่างๆ ให้เรากลับมาอยู่ที่พุทโธ อย่าไปรับรู้ ถ้าไปรับรู้แล้วมันจะรู้ตลอดไป ถ้าไปเห็นเป็นดวงหรือเป็นอะไรต่างๆ ให้พุทโธๆๆ แล้วดึงกลับมา ไม่ใช่ให้เอามือไปดึง การดึงก็คือนั่งกำหนดพุทโธๆๆ ใช้สติน้อมนำ ถ้าไปเห็นดวง ก็น้อมดวงนั้นกลับมา พุทโธๆๆๆ เข้ามาใกล้ๆ จิต จนดวงนั้นกับจิตเป็นอันเดียวกัน พั้บ! สว่างพั้บ! มันอยู่ที่คนทำเป็นหรือทำไม่เป็น ถ้าคนทำไม่เป็น มันก็จะเสียหายไปตลอด แต่ถ้าคนทำเป็น มันก็จะเป็นคุณไปตลอด ไอ้อย่างนี้มันอยู่ที่ประเภทของจิต มันมีหลากหลาย แล้วถ้าคนที่มีอย่างนี้แล้วไปกำหนดนามรูป หรือ ยุบหนอ พองหนอ หรือจะกำหนดอะไรก็แล้วแต่ พอจิตสงบมันก็จะมีอาการอย่างนี้ทันทีเลย

เขาถึงบอกไงว่า “พุทโธๆ ไม่ดี พุทโธๆ แล้วจะเห็นนิมิต พุทโธๆ แล้วจะเห็นอะไรต่างๆ”

มันอยู่ที่คุณภาพของจิต มันไม่ได้อยู่ที่วิธีการ! แต่เขาจะไปคุยกันที่วิธีการ เขาจะบอกว่า “วิธีการอย่างนี้ถูก วิธีการอย่างนั้นผิด” แต่เขาไม่ได้ดูที่คุณภาพของจิต ถ้าคุณภาพของจิตมันเป็นอย่างนั้น ไม่ว่าจะทำวิธีการใด คุณภาพอย่างนั้นมันก็จะต้องแสดงตัวอย่างนั้นออกมาเป็นธรรมดา

ทีนี้พอมันแสดงตัวออกมาอย่างนั้นแล้ว ครูบาอาจารย์เป็นหรือไม่เป็น ถ้าครูบาอาจารย์เป็น ในเมื่อมันแสดงออกมา แล้วเราจะทำประโยชน์กับมัน หรือจะเอามันมาใช้ประโยชน์อย่างไร อย่างเช่น พืชพันธุ์ของเรา ถ้าเราจะปลูกส้มโอ เราก็ปลูกไป แล้วเวลามันโตขึ้นมามันก็ต้องเป็นส้มโอ แล้วถ้าปลูกทุเรียน มันก็ต้องออกมาเป็นทุเรียน แต่นี่มันปลูกส้มโอแต่อยากได้ทุเรียน พอส้มโอออกมาก็บอกว่าจะเอาทุเรียน ร้องไห้จะเอาทุเรียน เอ้า..มึงจะบ้าหรือ

นี่ล่ะพันธุกรรมทางจิต ถ้าอย่างนี้แล้ว มันก็ต้องแก้ไปตามสิ่งที่มันเป็น พวกกรรมฐานนี้ครูบาอาจารย์เขาจะแก้ลูกศิษย์ไปตามสิ่งที่เขาเป็น ไม่ว่าเขาจะเป็นสิ่งใดเราก็ต้องแก้ไขเขาขึ้นมาให้มันถูกต้องดีงามขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าพอเขาเป็นอย่างนั้นแล้วก็บอกว่า ให้เปลี่ยน ให้ทิ้ง

เหมือนเราเป็นคนที่ถนัดชำนาญการทางนี้มากเลย แต่อาจารย์กลับบอกว่าสิ่งที่ถนัดชำนาญการของเรานี้มันใช้ไม่ได้ มันผิด แล้วให้เราไปทำในสิ่งที่เราไม่ถนัด แล้วเราจะทำได้ไหม

นี่ไงครูบาอาจารย์ของเราถึงบอกว่า การปฏิบัตินี้มันเป็นของจำเพาะ ไม่ใช่ต้องทำให้เหมือนกันทั้งหมด เป็นคอร์สหรือเป็นสูตรว่าทุกคนจะต้องทำอย่างนี้ๆ ไอ้อย่างนั้นมันคือหมูในฟาร์มที่เขาเลี้ยง

ไอ้นั่นมันหมู.. แต่นี่มันคนนะเว้ย.. แล้วก็เป็นนักปฏิบัติด้วย (หัวเราะ)

เรากำหนดพุทโธไปนะ ถ้ากำหนดพุทโธแล้วมันไปเห็นแสงหรือเห็นอะไรต่างๆ ไม่ต้องตกใจ จิตเห็นไง อย่างเช่น ถ้าเรามีเพชรนิลจินดา เราจะไปตกใจเพชรของเราทำไม ถ้าเราจะใส่แหวนเพชรใส่สร้อยเพชร มันก็คือเพชรของเรา ใส่แล้วมันจะเป็นไรไป ถ้ามันไปเห็น เห็นก็คือเห็น แต่ใส่เพชรนี่มันก็อันตราย เราควรถอดเก็บไว้ก่อน สร้อยเพชรก็ถอดเก็บไว้ก่อนเรายังไม่อยากใส่ พอเราไปเห็นแสง มันเป็นคุณสมบัติของเรา เราก็พักไว้ก่อน เรากำหนดพุทโธๆ ของเราเพื่อพักไว้ก่อน พักได้ ทำได้

เราจะบอกว่าแสงที่เห็นเป็นลูกกลมสีแดง เพราะเราก็เคยเห็นมาเยอะ เห็นมาหมดทุกอย่าง แล้วตอนใหม่ๆ ก็ยังไม่เข้าใจมัน แต่พอปฏิบัติไปมันก็เข้าใจ เหมือนผู้ใหญ่กับเด็ก ถ้าเด็กใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เด็กมันจะเสียนิสัย แต่เด็กที่รู้จักเก็บหอมรอมริบ พอโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่เขาก็จะมีเงินทองของเขาไว้ใช้สะดวก จิตที่ไปเห็นแสงต่างๆ มันเหมือนเด็ก การไปรับรู้ก็คือการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยแล้วมันก็จะติด ต่อไปพอมันจะพัฒนาขึ้นไปก็จะขี้เกียจ ขี้เกียจเพราะอะไร เพราะพอกำหนดพุทโธได้จนมันสงบแล้ว ก็จะบอกว่า “ไม่เห็นมีอะไรเลย วันนี้ทำแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย เฮ้อ..วันนี้ทำแล้วไม่ดีเลย”

นี่มันก็โง่เข้าไปแล้วนั่น แต่ถ้ามันได้เห็นแสง “โอ้.. วันนี้เก่งนะ” แล้วก็ฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายไปเรื่อย พอมันหมดแล้วนะ ก็ตายเปล่า (หัวเราะ)

เอ้า..แก้ให้แล้วเนาะ

ถาม: ถ้าเรามีศรัทธาและมีใจสงบ แต่ไม่ได้เข้าวัดฟังธรรม จะได้ผลเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

หลวงพ่อ: คำว่าศรัทธาคือความเชื่อ ศรัทธาตัวนี้เป็นสิ่งที่ดี ส่วนใจสงบมันคืออีกเรื่องหนึ่ง อย่างที่พูดเรื่องสมาธิไง

“…แต่ไม่ได้เข้าวัดฟังธรรม…”

หลวงปู่ฝั้นบอกว่า วัดคือวัดใจ อยู่ที่ไหนก็เป็นวัด พระเราธุดงค์อยู่ในป่าก็มีข้อวัตรปฏิบัติ แล้วมีเทวดามาฟังธรรมด้วย อย่างเช่น หลวงปู่ชอบ ท่านสวดมนต์อยู่ในถ้ำที่เพชรบูรณ์ เวลาท่านจะออกจากถ้ำ มีเทวดามาอาราธนาเลยว่า “เวลาท่านอยู่ที่นี่ โอ้โฮ.. ร่มเย็นเป็นสุขไปหมดเลย เวลาท่านสวดมนต์ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต แค่พูดเบาๆ แต่มันก็ดังกังวานไปทั่ว”

หลวงปู่ชอบ ท่านเล่าให้หลวงตาฟัง แล้วหลวงตาท่านก็เอามาเล่าให้ฟังบ่อย เราก็เลยจำแม่นว่าเวลาหลวงปู่ชอบท่านจะออกธุดงค์ต่อไป เทวดาจะมาอ้อนวอนเลย เทวดาบอกว่าเวลาหลวงปู่ชอบอยู่ที่นี่แล้วมันร่มเย็นเป็นสุข เหมือนกับเรามีพ่อแม่ มีผู้ที่มีบุญญาธิการมาคุ้มครองเรา ชีวิตเรามันก็จะสะดวกสบาย แต่เวลาท่านจากไปแล้วเหมือนเราจะต้องดำรงชีวิตของเราเอง ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำหาอยู่หากิน เทวดาก็เลยอยากนิมนต์ท่านไว้

เห็นไหม ตอนอยู่ในป่ามันมีวัดที่ไหนล่ะ ก็ไม่ได้ไปวัดนะ คำว่ามาวัดนี้ เขาสมมุติกันว่าวัด สมมุติตั้งชื่อที่นี่ว่าเป็นวัด เพราะว่ามันเป็นภาษาสมมุติของโลกเขา แล้ววัดอย่างนี้มันประกอบไปด้วยอะไร อิฐ หิน ทราย ปูน ที่บ้านเราก็มีหรือที่ไหนก็มี แต่ถ้าเราวัดใจของเรา วัดอย่างนี้มันสำคัญมาก “วัตรปฏิบัติ” เราจะเป็นคนดีหรือคนเลวนี้มันเป็นที่วัตรปฏิบัติของเรา ถ้าเรามีวัตรปฏิบัติที่ดี วัตรอย่างนี้สำคัญมาก เราจะไม่เป็นคนร้าง พระร้าง วัดร้าง แต่เราจะเป็นคนที่มีหลักมีเกณฑ์

“..แต่ไม่ได้เข้าวัดฟังธรรม จะได้ผลเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?”

การฟังธรรมนี้สำคัญมาก อย่างเช่นลูกศิษย์ที่เวลาเขาฟังธรรมแล้วเขาซึ้งใจมาก “โอ้โฮ.. วันนี้หลวงพ่อพูดดีมากเลยนะ หลวงพ่อไม่เคยพูดคำนี้เลย” แต่สำหรับเรา กูพูดอยู่ทุกวันเลยแต่เขาไม่ปิ๊งไง แต่ถ้าวันไหนเขาปิ๊งนะ “โอ้โฮ.. ทำไมวันนี้หลวงพ่อพูดอย่างนี้.. สุดยอดเลย..สุดยอดเลย..”

ผลของการฟังธรรม เห็นไหม สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็ได้ฟัง สิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังแล้วก็ได้ตอกย้ำ สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วทำให้จิตใจผ่องแผ้ว พอใจผ่องแผ้วแล้วเขาก็จะบอกว่า “โอ้โฮ.. ทำไมวันนี้หลวงพ่อเทศน์ดีมากเลย”

มันดีเพราะใจของเขาดี พอใจของเขาดีแล้ว มันก็จะมองโลกนี้ว่าสวยงามไปหมด ดีไปหมด แต่ถ้าวันไหนใจของเขาไม่ดี เราก็พูดแบบเดียวกันนี่แหละ แต่เขาก็จะบอกว่า “โอ้โฮ.. หลวงพ่อเทศน์นาน เมื่อยเหลือเกิน เมื่อไหร่จะเลิกซะที เลิกซักทีเถอะปวดเมื่อย”

เราก็พูดเหมือนกัน แต่จิตใจของเขาไม่ลงไง พอจิตใจของเขาไม่ลงใช่ไหม เขาก็จะเจ็บปวดของเขาไป เราก็พูดเหมือนกันนั่นแหละ แต่เขาจะบอกว่า “ทำไมวันนี้พูดไม่ดีเลย ทำไมมันเจ็บขนาดนี้ ไม่เลิกซักที ขอให้เลิกเถอะ”

การได้ฟังธรรมนี้มันสุดยอดมากเลย เพราะว่าเวลาเราปฏิบัติ เราเดินจงกรม พอปัญญามันเริ่มหมุน มันไปถึงทางตันแล้วหาทางออกไม่ได้ มันจะอยากไปถามปัญหาครูบาอาจารย์ทันทีเลย แต่ขณะที่ฟังธรรม เห็นไหม อย่างที่พูดตอนเช้า เวลาฟังธรรมของครูบาอาจารย์ที่เป็น ส่วนใหญ่ท่านจะปูพื้นมาจากความสงบก่อน ศีลนี่ไม่ต้องพูดถึง ถ้าไปพูดถึงศีล มันก็จะเป็นเทศน์แบบบ้านๆ เกินไป ที่เขาจะบอกแต่ว่าให้ถือศีล ๕ ถ้าศีลมันดีจริง โต๊ะนี่มันก็ถือศีลครบเลย โต๊ะมันก็ไม่เคยไปเบียดเบียนใครเลย มันไม่เคยไปฆ่าสัตว์ มันไม่เคยไปทำร้ายใคร มันไม่เคยไปลักของใครเลย มันไม่เคยไปทำอะไรใครเลย ถ้าเราถือศีลเฉยๆ มันก็เหมือนกับถือจนเป็นวัตถุ

ถือศีล ๕ แล้วมันก็ต้องมีธรรม ๕ ด้วย ถ้าไม่ฆ่าสัตว์แล้ว เราก็ต้องเมตตาสัตว์ ต้องดูแลสัตว์ รักษาสัตว์ ถ้าไม่ลักของเขาแล้ว เราก็ต้องเสียสละของเรา

“กูไม่ลักของเขาเลย แล้วกูก็ไม่ทำอะไรเลย กูเป็นชาวพุทธไง เป็นคนดีไง จะไปวัดทำไม กูอยู่แบบนี้กูก็เป็นคนดีอยู่แล้ว”

ก็ดีแบบมึงนั่นล่ะ.. แต่ถ้าดีแบบเราไม่ลักทรัพย์ไม่ลักของใคร แล้วเราก็ต้องเสียสละของเรา มีศีล ๕ แล้วมันก็ต้องมีธรรม ๕ ขึ้นมา มันถึงจะเป็นประโยชน์ แต่ถ้ามีศีล ๕ กูมีครบเลยนะ แต่กูก็ไม่ทำอะไรเพื่อใครเลย มันก็เป็นขอนไม้ไง ชีวิตทั้งชีวิตของมึงทำไมเป็นแค่ขอนไม้ แต่ถ้าชีวิตของมึงได้ทำให้เป็นคนดีขึ้นมา มีศีล ๕ มีธรรม ๕ แล้วพอเราได้ฟังธรรม ความเข้าใจของเรามันก็จะได้พัฒนา

ถ้าเราไปวัด เวลาเราปฏิบัติเห็นไหม ถ้าปัญญามันหมุนๆ อยู่ เราจะอยากถาม อยากเป็นอยากไป เวลาที่ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ ท่านจะเทศน์ถึงเรื่องของความสงบเลย อย่างที่พูดเมื่อกี้ ที่เราอธิบายเรื่องสมาธิ เรื่องการกำหนดพุทโธนี้เราก็ฟังอยู่ทุกวัน แต่เวลาไปเจอจริงๆ เข้าเราก็ทำไม่ถูก จะหันรีหันขวางว่า “เอ๊ะ.. นี่มันเป็นสมาธิไหม ไอ้นี่ต้องกำหนดพุทโธหรือเปล่า” แล้วเราก็จะงงอยู่อย่างนั้น หันรีหันขวางเพราะว่าเรายังไม่เคยเจอ แต่พอได้มาฟังธรรม มันก็ได้ตอกย้ำๆๆ ให้มั่นใจ

ถ้าเราเป็นเอกภาพ มีความเข้มแข็ง มีความตั้งใจ เราไม่ได้ทำไปแบบสักแต่ว่า การปฏิบัตินั้นจะเป็นสัมมา นี่ล่ะความเพียรชอบ แต่ถ้าความเพียรไม่ชอบ ถึงจะเดินจงกรมจนขาขาด เดินจงกรมแต่คิดไปโน่น “ไอ้โน่นก็ยังไม่ได้เก็บ ไอ้นี่ก็ยังไม่ได้เก็บ” โอ้โฮ.. ขยันเดินจงกรมมากแต่ใจไปคิดเรื่องอื่นหมดเลย มันก็คือสักแต่ว่าทำ เห็นไหม แล้วมันจะได้อะไร ก็ได้เมื่อยไง

ถ้าเรายังไม่เป็นเอกภาพ ยังไม่มีหลักของเรา ครูบาอาจารย์ท่านก็จะตอกย้ำ ท่านจะบอกว่า ให้ตั้งใจ ความสงบจะเป็นอย่างนั้น พอสงบปั๊บท่านก็ขึ้นแล้ว โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค มันแตกต่างกันหมด แล้วผู้ที่ปฏิบัติจนเป็นอกุปปธรรม ได้รู้จักพระโสดาบันแล้ว จะพูดอะไรก็ถูกหมด จะพูดกี่รอบๆ มันก็ถูก

แล้วคนที่เป็นลูกศิษย์ในวัดนี้ วุฒิภาวะของจิตมันก็มีหลากหลาย แล้วถ้าอาจารย์วันนี้พูดถูกวันนั้นพูดผิด มันก็ขายขี้โง่ ขายขี้เท่อ แต่ครูบาอาจารย์ของเราท่านไม่ใช่อย่างนั้น

นี่คือเราจะบอกถึงประโยชน์ของการฟังธรรม เวลาที่เรามันอัดอั้น มันอั้นตู้ ทั้งที่เราก็มีปัญญาของเรา แต่เราก็ไม่สามารถทะลุฟองไข่ออกไปได้ แล้วเราก็เอาปากเจาะอยู่นั่นแหละ เขาให้เจาะไข่ เขาไม่ได้ให้ไปเจาะปูน ถ้าไปเจาะปูน มึงก็ปากฉีกน่ะสิ นี่ก็เหมือนกัน มันสมควรไหม มันเป็นไหม กิเลสมันสมควรหรือไม่สมควรขนาดไหน มันถึงเวลาแล้วหรือยัง มึงได้สมาธิไหม มึงไปจับโจรมา ไปจับกิเลสมาแล้ววิปัสสนาได้ไหม ถ้ากิเลสมันยังมีกำลังที่เหนือกว่า มันจะเหยียบมึงแบนแต๊ดแต๋ แล้วมันจะหลอกด้วยว่า “นั่นนิพพานเป็นอย่างนั้น ปล่อยวางอย่างนั้น” เขาบอกให้เจาะฟองไข่ แต่มันเสือกไปเจาะตัวมันเอง เจาะสมาธิเจาะปัญญาให้หายไป มันคือเทคนิคของกิเลส กิเลสมันจะพลิกแพลง มันเป็นธรรมชาติของกิเลสที่มันจะทำลายเราตลอดเวลา แต่วุฒิภาวะของเราที่มันยังไม่เป็น แล้วครูบาอาจารย์ท่านเคยสู้กับมัน ท่านเคยโดนหลอกมา แล้วท่านก็จะเอามาเทศน์ ท่านจะเอามาบอก เห็นไหม นี่คือประโยชน์จากการฟังธรรม

โธ่.. หลวงตาท่านบอกว่า สมัยหลวงปู่มั่น ถ้าวันไหนหลวงปู่มั่นนัดฟังเทศน์ โอ้โฮ.. พระมันจะคึกคักๆ เลย แบบว่ามันจะมีช่องทางไปต่อแล้วไง เหมือนเราปีนเขา แล้วอยู่ดีๆ ก็มีคนโยนเชือกมาให้ เราก็สาวเชือกเลย เชือกของอาจารย์นะไม่ใช่ของมึง แต่มันก็ยังมีเชือกให้เราสาวขึ้นไป ถ้าปีนเขาแล้วไม่มีอะไรเลย ปีนไป เลาะไป เลาะมา เหนื่อยก็เหนื่อย แดดก็ร้อน “โอ้ย.. แล้วกูจะไปทางไหน” ถ้าภาวนาจริงๆ แล้วมันจะเป็นอย่างนี้ นี่คือประสบการณ์ของเรา เวลาสู้กับความคิดของตัวเอง เหมือนเกาะหน้าผาขึ้นไป “แล้วกูจะไปทางไหนดีล่ะ โอ.. เอามือเกาะไว้แค่นี้ก่อนเว้ย โอ.. เดี๋ยวพลาดหลุด แล้วกูจะทำยังไงวะ” จริงๆ นะ จิตเวลาที่มันจะขึ้น มันจะเป็นอย่างนั้นเลย แล้วถ้ามีครูบาอาจารย์มาบอก มาคอยประคองไว้ ก็คือที่ท่านเทศน์

แต่พวกเรานี้มันฟังแล้วไม่ซึ้งใจ โทษนะ..ไม่ได้ดูถูก เพราะพวกเรายังไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ เขาบอกให้ปีนหน้าผา แต่เราก็ไม่รู้ว่าหน้าผาอยู่ที่ไหน แล้วเราจะปีนได้ยังไงล่ะ เขากำลังอธิบายเรื่องไต่หน้าผา ไอ้เรามันเดินอยู่ที่พื้น “เอ๊.. หน้าผาทำไมมันเรียบๆ วะ หน้าผาเราทำไมมันปีนไม่ได้”

ถ้าใจเรายังไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ ใจเรายังภาวนาไม่เป็น มันก็ไม่มีตรงนี้ แต่ถ้าใจมีหลักมีเกณฑ์ มันเกาะมันติด มันจะมีพัฒนาการ มันปีน มันไต่ แล้วมีครูบาอาจารย์คอยยึด คอยฉุด คอยดึง คอยยื้อ

ทำไมพวกเราถึงเคารพครูบาอาจารย์ด้วยหัวจิตหัวใจ เราไม่ได้เคารพครูบาอาจารย์ด้วยกิตติศัพท์กิตติคุณ ที่จะเอายี่ห้อของท่านมาขายกิน แต่เราเคารพถึงบุญคุณของท่าน ที่ท่านจูงเรามา อย่างที่หลวงตาท่านบอกว่า “หลวงปู่มั่นเป่ากระหม่อมเรามา” ท่านเคารพกันด้วยหัวใจ ท่านไม่ได้เคารพกันด้วยกิตติศัพท์กิตติคุณ

มันสะเทือนใจนะ เราพูดเองแล้วเราก็สะเทือนเอง เพราะเราผ่านเหตุการณ์อย่างนี้มาเยอะ เพราะเวลาเราปฏิบัติมา เราก็ได้ผ่านอุปสรรคของเรามาเอง แล้วมีครูบาอาจารย์ท่านช่วยดึงช่วยฉุด

แต่ข้างนอกเขาจะดูว่าแปลกนะ ตอนเราอยู่ที่บ้านตาด อู้หูย..โดนด่าเช้า ด่ากลางวัน ด่าเย็น โดนด่าทั้งวันเลย โลกจะมองว่าโดนด่า แต่ธรรมะจะมองว่าท่านส่งเสริมเรา ท่านคอยบอกเรา ท่านคอยอุ้มชูเรา ด้วยการบอกการสอน แต่โลกก็จะบอกว่า “โอ้โฮ! ทำไมโดนด่าขนาดนั้นวะ ไอ้นี่ทำไมมันทำผิดทั้งวันเลย”

เขาไม่ได้คิดนะ แต่ถ้าได้คิดนะ อาจารย์อย่างนี้จะไปหาที่ไหน อาจารย์ที่รู้จริง เหมือนหมอที่เขามีคุณธรรม ที่เขาพยายามจะช่วยชีวิตเรา ที่เขาพยายามช่วยเหลือเรา จะหาได้ที่ไหน ไอ้หมอทั่วไปมันรอแต่จะเอาตังค์ของเรา มารักษาแล้วก็เอาตังค์ แต่หมอที่เขาจะช่วยเหลือเรา ที่เขาจะรักษาเรานี้เราจะไปหาได้ที่ไหน ก็เหมือนกับครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นความจริง ดูสิ ท่านเหนื่อยยากทำไม เวลาท่านพูด เห็นไหม “เราต้องมานั่งเฝ้าลาภของคนอื่น เราเบื่อมาก.. เราเบื่อมาก..”

ทำไมท่านจะต้องมานั่งเฝ้าหมู่เฝ้าคณะ เฝ้าพระเฝ้าเณรให้ทำแต่ความดี มันก็เป็นความทุกข์อันหนึ่ง นี่พูดถึงประโยชน์จากการฟังธรรม ประสาเราว่ามันเหมือนกับคนเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเรายังไม่ป่วย เรายังไม่รู้ว่าเราเป็นโรคอะไร เราก็ยังไม่เห็นคุณค่าของยา อย่างเช่น ตอนนี้มันมีไข้หวัดหมู ทุกคนก็อยากจะมียาเอาไว้ป้องกันตัว นี่ก็เหมือนกัน เรายังจับกิเลสไม่ได้ เรายังไม่รู้ว่าเราจะต่อสู้อย่างไร เราก็จะยังไม่เห็นว่าเทศน์ของครูบาอาจารย์มีความสำคัญ แต่ถ้าวันไหน เราจำเป็นต้องใช้ยา แต่เราหายาไม่เจอ แล้วพอเราหายาจนเจอ เราจะโอ้โฮ.. โอ้โฮ..เลย

แล้วที่ให้ยามานี้ให้ถูกหรือให้ไม่ถูก ถ้าให้ถูกคือมันถูกกับโรค โรคก็จะหาย แต่ถ้าให้ยามาไม่ถูก เห็นไหม จริตนิสัย อย่างเช่นครูบาอาจารย์องค์นี้เขาเคารพศรัทธากันทั้งนั้นเลย แต่เวลาเราไปฟังแล้วทำไมไม่เข้าหูเราเลย มันเป็นสายบุญสายกรรมไง อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ปัญญาวิมุตติ - เจโตวิมุตติ ถ้าเราถนัดทำสมาธิ พุทโธๆ แล้วจิตมันลง แล้วถ้าไปบอกให้ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันจะทำได้ยังไงก็กูทำไม่ถูก เห็นไหม จริตนิสัยมันไม่ตรงกัน

ดูสิ อย่างที่พระพุทธเจ้าบอกว่า “คนเรามันจะเข้ากันโดยธาตุ” ลูกศิษย์ของพระสารีบุตร จะเป็นผู้ที่แตกฉานทางปัญญาทั้งหมด ลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะ ก็จะแตกฉานทางฤทธิ์มาก แล้วลูกศิษย์ของพระเทวทัตก็จะลามกมาก มันเข้ากันด้วยมุมมอง มันเข้ากันด้วยจริตนิสัย

ในธรรมวินัยจะบังคับไว้ เห็นไหม เวลาเราธุดงค์ไปเจออาจารย์ แล้วไปขอพักกับอาจารย์ ท่านให้ดูกัน ๗ วัน ว่าอาจารย์ท่านเทศน์มาตรงกับเราไหม ถ้าเทศน์ตรง คือถ้าเรามีข้อมูลอะไรอยู่ในหัวใจของเรา แล้วพอเจออาจารย์เทศน์แล้วมันผลัวะ! หลุดเลย “เออ.. นี่ล่ะอาจารย์ของกู” มันจะพูดอย่างนี้เลย

ดูอย่างหลวงตาตอนที่ท่านไปหาหลวงปู่มั่น พอหลวงปู่มั่นเทศน์จบแล้ว “นี่! ที่เราเคยสงสัย เรื่องนิพพาน ท่านก็บอกมาหมดแล้ว แล้วทีนี้เราจะเอายังไง” แล้วท่านก็บอกว่า “จะเอาตายเข้าว่า” พอหลวงตาท่านได้ฟังเทศน์ของหลวงปู่มั่นครั้งแรก “นี่ล่ะอาจารย์ของเรา” ท่านว่าอย่างนั้นเลย ถ้าฟังแล้วมันสมดุลกัน มันจะเข้ากันเลย แต่ถ้ามันยังไม่ใช่ อย่างเช่น หลวงปู่มั่นนี้ก็จะมีพระเข้าไปหาเยอะแยะเลย แล้วก็มีพระบางรูปที่รีบเก็บของหนีเลย “หลวงปู่มั่นดุชิบหายเลย” มันกลัว มันไม่เอา อย่างนี้ก็มีอยู่เยอะมาก แต่ถ้ามันสมดุลกัน มันเป็นสายบุญสายกรรม มันจะลงตัวลงล็อกกันทันทีเลย นี่พูดถึงประโยชน์จากการฟังธรรม

“...แต่ไม่ได้เข้าวัดฟังธรรมจะได้ผลเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?”

เราจะเน้นแต่เรื่องการฟังธรรม การไปวัดก็เพื่อต้องการตรงนี้ เราจะบอกว่าเวลาคนเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเป็นโรคที่จะรักษาหรือไม่รักษามันก็หายได้ เราก็ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล แต่ถ้าเป็นโรคที่ต้องรักษา มันก็ต้องไปโรงพยาบาล การไปวัด เวลาปฏิบัติขึ้นมามันติดข้องอย่างใด แล้วครูบาอาจารย์ท่านจะแก้ตรงนั้น แต่ต้องเป็นครูบาอาจารย์ที่จริงนะ ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไม่จริง มันก็เหมือนไปโรงพยาบาลแล้วกลับไปติดเชื้อมา มันก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย พอไปวัดแล้วพระท่านสอนให้ออกนอกลู่นอกทาง เราเจอมาเยอะมาก ลูกศิษย์ของเรามาอยู่ด้วยกันแล้วเขาจะมาเล่าให้ฟัง เขาไปเจอที่เชียงใหม่ เขาบอกว่า “อยากได้พระโสดาบันไหม ถ้าอยากได้พระโสดาบัน สมบัติมีอยู่เท่าไรก็โอนให้เป็นของส่วนกลางให้หมดเลย สมบัติมีอยู่เท่าไรต้องโอนให้หมด” พอโอนเสร็จปั๊บเขาจะถือว่าไม่ติด จะถือว่าละได้ มันมีสำนักที่เขาขุดบ่อล่อปลาอย่างนี้อยู่เยอะพอสมควร

ในการปฏิบัติ จริงๆ แล้วอย่างที่เราพยายามพูดอยู่นี้ โยมถามว่าเราเหนื่อยไหม..เหนื่อย แต่ที่เราพูดกับโยมอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะอะไร ก็เพราะไอ้ความที่ว่าเราปฏิบัติมา เราก็เคยเจอสภาพแบบนี้มา แล้วเวลาโยมมา เราจะพูดให้ฟังแล้วเราจะยืนยันตลอด แล้วอย่างที่ว่าผิดหรือถูกนี้เราคุยกันด้วยเหตุผล ถึงเราจะเป็นอาจารย์แต่โยมก็เถียงได้นะ เวลาเราพูดกับโยมเสร็จแล้วทุกครั้ง เราจะบอกเลยว่า ถ้ามีอะไรก็ให้พูดมา เราไม่ใช่อาจารย์ที่ตีหัวแล้วเข้าบ้าน คือต้องให้กูพูดฝ่ายเดียว มึงต้องเชื่อกูอย่างเดียว มึงต้องฟังกู มึงต้องเชื่อกู ถ้าอาจารย์อย่างนี้ก็คืออาจารย์โง่ เพราะในกาลามสูตร พระพุทธเจ้าบอกไว้เลยว่าไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์ที่สอนเรา ไม่ให้เชื่อแม้แต่สิ่งที่มันเข้ากันได้ ไม่ให้เชื่อในสิ่งที่อนุมานได้ ไม่ให้เชื่อในสิ่งที่เราเห็น แต่ให้เชื่อสัจธรรมที่เป็นขึ้นมาในหัวใจของเรา “สันทิฏฐิโก”

เวลาเราพูดนี้เราจะให้โอกาสมาก เพราะเราก็แสวงหาครูบาอาจารย์มาเยอะมาก แล้วประสาเรานี่เราภูมิใจในตัวเรามาก ว่าเรามีวาสนาเพราะเราได้เจอครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนเรามา เพราะกว่าเราจะเจอได้ เราก็ไปเจอที่แบบว่าไปไหนมาสามวาสองศอกมาเยอะมาก แล้วพอได้มาเจอครูบาอาจารย์ที่ถูกต้อง ท่านจะชี้นำ แล้วเราทำจริงจัง

แล้วเราก็มองสังคมตอนนี้ว่า ครูบาอาจารย์ที่จะชี้นำได้ถูกต้องมีเหลืออยู่ไม่ถึง ๕ เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก ๙๕ เปอร์เซ็นต์ ชี้ในทางที่ผิดทั้งหมด เราถึงพยายามพูดอยู่อย่างนี้ เราพยายามพูดของเรา จะพูดไว้เลยว่า เสียงนี้มันจะอยู่กับโลกนี้ไปได้อีกพอสมควร แต่ชีวิตของเราไม่เกินร้อยปีเราก็ต้องตายแล้ว แล้วเสียงนี้มันจะทำประโยชน์กับโลกไปอีกเรื่อยๆ เราถึงพยายามพูดไว้ เพื่อเป็นข้อมูลเก็บไว้.. เก็บไว้.. เก็บไว้กับอนาคตของโลก เอวัง