ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สอนจิต

๒๗ ส.ค. ๒๕๕๒

 

สอนจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โยม : เวลาปัญญาอบรมสมาธินะครับหลวงพ่อ เวลาเราสาวเข้าไป บางทีมันก็ปล่อยวางได้ ถ้าเกิดเรารู้ปัญหามันแล้วนะครับ ทีนี้มันจะเป็นการปล่อยวางจริง หรือว่าเราคิดขึ้นมา เพื่อที่จะสร้างอารมณ์ตรงนั้นขึ้นมาอีกที

หลวงพ่อ : มันปล่อยวางนะ ถ้าปัญญาอบรมสมาธินี่ เวลามันปล่อยเรารู้ เพราะมันมีงานทำ ไอ้เรื่องอย่างนี้ที่ว่า “มันจะปล่อยวางเองหรือไม่ปล่อยวางเอง เพราะมันเป็นอย่างนี้ไง! ”

เพราะมันเป็นอย่างนี้ เราถึงได้พูดบอกว่า “ธรรมชาติของจิต” ธรรมชาติของจิต คือว่าเราจะทำหรือไม่ทำ มันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว

ทีนี้พอมันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว อย่างที่ว่านี่เราจะรู้ได้ ถ้าเราปล่อยโดยปัญญามันปล่อยนี่เรารู้ เพราะมันมีกำลังไง มันมีความสุขไง

ถ้ามันปล่อยเอง ที่เขาจะเน้นย้ำว่า “จิตเป็นกลาง จิตเป็นกลางไง” เพราะเขาใช้คำว่า “จิตเป็นกลาง... ธรรมะก็เลยเป็นธรรมชาติ”

ธรรมะเป็นธรรมชาติ คำว่า “เป็นกลาง” คือทุกอย่างมันปล่อยเองไง ถ้ามันปล่อยเอง คือธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ถ้าถึงที่สุดแล้ว อย่างเช่นเรายกขึ้นมาบ่อย ว่าถ้าคนทุกข์มากๆ เวลาทุกข์ขึ้นมานี่ โอ้โฮ... มันมีทุกข์มากเลย แต่ถ้ากาลเวลานี่มันสมานไง ทุกข์มันจะบางไปเอง นี่มันปล่อยวางเอง

แต่ถ้าเวลามันปล่อยโดยปัญญาอบรมสมาธิ นี่เรารู้!

๑.เรารู้

๒. เรามีความชำนาญ พอมีความชำนาญ คำว่ามันปล่อยวางเอง บางทีนี่เหตุผลมันพอ มันก็ปล่อยวางของมัน

ทีนี้พอปล่อยวางของมันนี้ มันเกิดจากอะไรล่ะ มันเกิดจาก ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ คำว่า “ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ” คือเรารู้ของเรา คือว่ามันจะต้องมีเหตุไง มันต้องมีเหตุมีกำลังของมัน มันถึงปล่อย

แต่ถ้าไม่มีปัญญาอบรมสมาธิเลย มันก็ปล่อยเองของมัน แต่ปล่อยเองของมันนี้ ปล่อยเองโดยที่ว่า “เราไม่รู้อะไรไง” คือเราไม่ต้องทำอะไรมัน ประสาเราบอกว่า “เหมือนส้มหล่น”

คำว่า “ส้มหล่น” นี้ คือมันเป็นธรรมชาติของมัน แต่ถ้าเป็น “ปัญญาอบรมสมาธินี่รู้” เรารู้ของเรา เพราะอะไร เพราะเราใช้ปัญญาไป เห็นไหม เวลามันเกิดขึ้นมา เรามีปัญญาไป

ทีนี้เพียงแต่ว่าคำว่ารู้นี้ มันหยุดโดยให้เรารู้เลย มันเหมือนเรานี่ร้อนแล้วไปเย็น หลบจากร้อนแล้วก็เข้ามาเย็น แต่ถ้าเราอยู่ในที่ร้อน ไม่มีที่พักให้ร่มเย็น แต่มันเย็นเองไง เย็นเพราะมันพอใจ มันเย็นเอง มันปล่อยของมันเอง.... เป็นไปได้!

ทีนี้เป็นไปได้ขนาดไหน เราจะบอกว่า มันจะเป็นไปได้ขนาดไหนก็แล้วแต่ ในเมื่อมันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้นใช่ไหม แล้วมันมีสติปัญญาของเรา

คำว่า “หรือว่ามันปล่อยเอง” แสดงว่าเราก็ใช้ปัญญาอยู่ แต่ไม่รู้ว่ามันปล่อยได้อย่างไรไง มันก็มีการกระทำของเรา

“ปัญญาอบรมสมาธิ” นี่บางทีสติมันตามจิตไม่ทันเนาะ แต่ความจริง อย่างถ้าเราทำอยู่นี่มันรู้ รู้เพราะอะไร เพราะเราทุกข์ไง อย่างเช่นยกของอยู่ของมันหนัก เราปล่อยของนั้นออกจากมือเราไป มันก็ต้องรู้

โยม : บางทีถ้าเกิดเราสาวไป ถ้าเหตุผลมันพอ มันก็คลายได้

หลวงพ่อ : ใช่! ถ้าเหตุผลมันพอนะ แต่กิเลสมันหนา บางทีนี่เหตุผลเราดีกว่าด้วย แต่มันไปยึดติด เหตุผลพอมันก็ไม่ปล่อย เพราะอะไร นี่เราพูดถึงวิทยาศาสตร์ไง ถ้าเขาเป็นวิทยาศาสตร์ เห็นไหม บวก ลบ คูณ หารนี่ โดยคำตอบมันมี

นี่ก็เหมือนกัน เหตุผลนี่มันตอบได้ เหตุผลนี่มันชัดเจนเลย ถ้าเหตุผลมันพอแล้วมันปล่อย ธรรมดาเราศึกษาธรรมะกัน เราว่าธรรมะนี้ดี ทุกคนบอกเลย ธรรมะประเสริฐมาก ทุกอย่างประเสริฐ... แต่ทำไม่ได้ เพราะกิเลสไง

เหตุผลพอ แต่ถ้าความยึดมั่นถือมั่นของเรามันหนา สังเกตได้เวลาเราใช้ปัญญาไป บางทีมันก็ยอมรับ แต่บางทีมันก็ไม่ยอมรับ นี่ไงเหตุผลเดียวกันนั่นแหละ แต่ถ้าวันไหนมันหนานะ

เวลาหลวงตาท่านพูดนี่ “กิเลสไม่มีเหตุผล” กิเลสไม่มีเหตุผลกับมึงหรอก ธรรมะนี่มีเหตุผล แต่กิเลสมันเหมือนคนพาลไง มันไม่ฟังเหตุผลหรอก เหตุผลจะมากน้อยขนาดไหน ถ้าวันนี้อารมณ์กูรุนแรงนะ มันไม่มีทางปล่อยหรอก กิเลสมันไม่มีเหตุผลกับใคร

นี้บางทีเราคิดว่า “เราต้องมีเหตุมีผล ต้องมีเหตุมีผล” ....ใช่! มีเหตุมีผลนี้เป็นธรรมะ แต่กิเลสมันไม่มีเหตุมีผลกับมึงหรอก มันพาลไปเรื่อย เหมือนลูกเราเลย ลองมันงอแงขึ้นมานะ เหตุผลอะไรมันก็ไม่ฟังมึงหรอก อ้าว... กูจะงอแงกับเอ็ง

อันนี้ก็เหมือนกัน ลองใจมันงอแงแล้ว เหตุผลฟังไม่ขึ้น

ฉะนั้นคำว่า “กิเลส... ไม่มีเหตุมีผลกับใคร! ” พาลพาโลกับมึงอย่างเดียว

เพียงแต่เราเอาธรรมะ เอาเหตุผลนี้เข้าไปต่อรองกับเขาไง ถ้าวันไหนสติปัญญาเราดี ความชัดเจนหรือสติปัญญาดี เอ้อ..ยอมรับ ปล่อยหน่อยหนึ่ง พอวันไหนกูไม่พอใจนะ มึงมาเถอะ บอกอย่างไรกูก็ไม่ฟัง กูตะแบงไปเรื่อยล่ะ

โยม : อย่างนี้เราก็ต้องฝืนต้องขัด คือต้องย้อนมันตลอด

หลวงพ่อ : แน่นอน ต้องทวนกระแสตลอด เราต้องทำตลอด

ทีนี้มันมีอยู่ประเด็นหนึ่ง คือเวลามันปล่อยแล้ว คือว่าใช้ปัญญาไปแล้วมันปล่อย นี้โดยธรรมชาติของมันคือตรงนี้ไง อย่างที่ว่า “เกิดดับๆ” พอเวลามันปล่อยแล้วนี่ แป๊บเดียว... แป๊บเดียว พอปล่อยแป๊บเดียวเท่านั้นแหละ มาอีกแล้ว มาอีกแล้ว

เวลาปัญญาเราไล่ไปนะ ไล่ไปๆ พอมันปล่อยนี่ ความคิดกับจิตมันแยกมันปล่อย มันสบายมากเลย สักพักคิดอีกแล้ว แป๊บเดียว

ทีนี้พอมันใช้เหตุผลมันปล่อยแป๊บเดียว แต่พอเราตามไป เราก็ทันหมด เหมือนเราคุมเกมเลย พอเรามีเหตุผลตามเข้าไป มันก็หยุดอีก หยุดอีก แล้วถ้าทำอย่างนี้นะ พอมีเหตุมีผลเข้าไปนี่มันหยุดๆ มันปล่อยแป๊บ...เดี๋ยวก็คิดอีก ปล่อยแป๊บ...เดี๋ยวก็คิดอีก พอคิดไปนี่ เรามีเหตุผลไล่เข้าไปๆ มันเร็วขึ้นทันขึ้น มันพร้อมขึ้น มันไม่เหมือนพุทโธ

พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เวลามันลงทีหนึ่งหลายชั่วโมงเลยล่ะ แต่ถ้าเป็น “ปัญญาอบรมสมาธิ” บางทีเหมือนกับสมาธินี่เราคุมได้ แต่มีความรู้สึกอยู่ แต่เราคุมได้ คือมันไม่ไปไกล ให้เรามีเหตุผลไล่เข้าไป เหตุผลไล่เข้าไป ไล่เข้าไปนะ มันจะเห็นต่าง

ใช้เหตุผลไล่เข้าไป แล้วพอมันปล่อยปั๊บ แล้วทีนี้มันจะมีตรงนี้อีก เราเคยเป็นมา พอบางอย่างที่เราต้องการทำ หรือเราตั้งกติกากับตัวเอง เช่นว่าวันนี้เราควรจะตื่นนอนเท่านั้น แบบเราตั้งเวลากับตัวเองว่าอย่างนั้นเถอะ แต่ถึงเวลาแล้วมันไม่ยอมไง มันทำไม่ได้ มันไม่ยอม มันต่อต้าน

พอมันต่อต้านปั๊บ ให้เราเข้าทางจงกรมเลย แล้วเอาประเด็นนี้ขึ้นมา ว่า “ทำไมเราทำไม่ได้” เอาเหตุผลสู้กัน

โยม : คือเวลาภาวนาไม่ได้ ออกมาเดินจงกรมอย่างนี้ได้ไหมคะ

หลวงพ่อ : ได้

โยม : กลัวมันไม่ลง

หลวงพ่อ : ทีนี้พอเหตุผลสู้มัน มันไม่ลง ให้เอาเหตุผลสู้มัน พอสู้มันเรื่อยๆ สู้มันเรื่อยๆ บางทีนี่นานมาก เหตุผลเดียวนี่แหละ ใช้ปัญญาไล่กันเลย ไล่กันอยู่กับเหตุผลนี้ พอไล่ไปๆๆ ๓-๔ วัน ในเรื่องเหตุการณ์เดียวนะ พอไล่ไปจนถึงที่สุด จนถึงที่สุด มันแบบจี้อย่างเดียวเลย เพราะถ้าไม่จี้อย่างเดียวนี่ พอความคิดมันขึ้น มันจะคิดเรื่องอื่นไง คือว่า “เข้าใจแล้ว... เรื่องนี้จบแล้ว... ไปเรื่องอื่นดีกว่า” เราไม่เอา เราจี้อยู่อย่างนั้นแหละ จี้ไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุด

“ความจริงของเรานี่ ความจริงมันมีหลายระดับ” พอเราจี้เข้าไปๆ เข้าไปถึงเหตุผลมันเต็มที่เข้าไปแล้ว พอไปถึงตัวใจจริงๆ มันปล่อยหมดเลย พอมันปล่อยปั๊บ นี่ไง ในพระไตรปิฎกและความรู้สึกของเรา

แล้วเวลามันขาด พอเวลามันปล่อยนี่ “รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

พออันนี้มันปล่อยได้ชัดเจนแล้ว คราวนี้เราคุมเฉยๆ นะ สมาธิมันอยู่ได้ เพราะอะไร เพราะมันไม่มีมาล่อไง

โยม : แล้วถ้าเกิดว่ามันจะเกิดอีกล่ะคะ มันเกิดอีกเราก็รู้วิธีเหรอคะ

หลวงพ่อ : ไม่ๆ ... ใช่! มันจะเกิดอีก แต่การจะเกิดอีกคราวนี้ มันเกิดแบบคนทำงานเป็นไง

โยม : รู้ทางมัน

หลวงพ่อ : ใช่ ถ้าเราทำงานคล่องแคล่วแล้ว เราทำอะไรเป็นแล้ว พอเวลามันเกิดขึ้นมาอีก มันจะทำได้ง่าย คือมันมีที่เริ่มต้น และมีที่จบ แต่ถ้าไม่มีตรงนี้ปั๊บนะ ไม่รู้ว่าเริ่มต้นที่ไหน จบที่ไหน ไล่มันอยู่อย่างนั้นแหละ

เหมือนวัวลานเลย วิ่งเป็นวงกลมอยู่อย่างนั้นแหละ ไล่กันอยู่อย่างนั้นแหละ แต่พอเรามีเหตุมีผลปั๊บ มันเหมือนวิ่งเส้นตรงแล้ว เริ่มต้นที่จุดเริ่มต้น แล้วจบที่ไหน

ในพระไตรปิฎกจะบอกว่า “ปุถุชน กัลยาณปุถุชน” พอถ้ามันอย่างนี้ปั๊บ นี่เป็น “กัลยาณปุถุชน”

“กัลยาณปุถุชน” คือเป็นปุถุชนเหมือนกัน แต่เป็นปุถุชนที่ดี ที่ควบคุมได้ดีขึ้น แล้วพอมันดีขึ้นปั๊บ เราทำดีขึ้น มันจะไปแล้ว

แต่ทีนี้เวลาทำ ประสาเรานะ “ขึ้นต้นที่ไหน แล้วจบที่ไหน” นี่มันงงตรงนี้ไง แล้วถ้า “ปัญญาอบรมสมาธิ จะต้องทำอย่างไรต่อไปล่ะ... มันจะจบกันที่ไหน”

ประสาเรานะ “เริ่มต้นที่จิต” คือเริ่มต้นจากความทุกข์ไง เริ่มต้นจากความรู้สึกของเรา เริ่มต้นจากที่เรา แล้วเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้าไป มันจบลงที่จิต

“มันเริ่มต้นที่เรา แล้วก็จบลงที่เรา”

ทีนี้การเริ่มต้นที่เราแล้วจบลงที่เรานี้ มันต้องขยัน พอมันทำไปเรื่อยๆ คำว่า “ขยัน” พอมันเริ่มต้นที่เราจบลงที่เรา มันจะละเอียดไปไง อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า “ความละเอียดกับความหยาบมันมีหลายระดับ” พอมันละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ นะ ความรู้ความเห็นของเรา มันจะละเอียดมาก

“ละเอียดนี้เริ่มต้นที่จิต จบลงที่จิต” จากปุถุชน เป็นกัลยาณปุถุชน ต่อไปมันจะเป็นโสดาปัตติมรรค

อย่างที่เราว่านี้ แล้ว “ปัญญาอบรมสมาธิ มันจะจบลงเมื่อไหร่” ทุกคนจะเบื่อเลย มันจะถึงเมื่อไหร่ล่ะ... แล้วมันจะจบลงที่ไหนล่ะ ให้เราไล่เข้าไป ไล่เข้าไปๆ จิตเรานี่มันจะพัฒนา

ถ้าไล่เข้าไป เพียงแต่อย่างเรานี่พอภาวนาไปๆ มันงงไง แล้วไปจบกันที่ไหนล่ะ... แล้วเมื่อไหร่มันจะสรุปไปสักทีล่ะ

มันจะสรุปที่ไหน ไม่สรุปที่ไหน เดี๋ยวดูใจเรานี่แหละไล่มันเข้ามา... ไล่มันเข้ามา ไม่ต้องไปงงเลย ไล่เข้าไปๆๆ คำว่า “ไล่เข้าไป” คือใช้สติตามเข้าไป มันจะปล่อยของมันไปเรื่อยๆ ปล่อยไปเรื่อยๆ ละเอียดไปเรื่อยๆ

นี้เพียงแต่ว่า ถ้าเราอยู่แค่นี้นะ เพราะเราคิดกันแค่นี้ไง เราปรารถนาสมาธิ หลักของใจ ให้เราใช้ปัญญาไล่เข้าไปๆ พอไล่เข้าไปแค่นี้ เพราะเราต้องการแค่นี้ แต่ไม่หรอก เราไล่เข้าไปถึงที่สุดเลย เพราะถ้าเป็นสมาธินะ เวลาทำไปอย่างนี้แล้วจิตมันสงบเข้ามา แล้วถ้าปัญญามันเกิด

เราเห็นบ่อยนะ มานั่งพูดนี่น้ำตาไหลกันทุกคนเลย เวลาพูดนี่น้ำตาไหลเลยนะ มันซึ้งใจไง ถ้ามันออกมาจากความจริงนะ คนพูดนั่นแหละ คือคนที่เป็น

ถ้ายังปกตินี่เหมือนนกแก้วนกขุนทอง ก็คุยกันอย่างนี้แหละ แต่ถ้าใครได้สัมผัสมาแล้วนะ ส่วนใหญ่จะน้ำตาไหลมาทั้งนั้นเลย

โอ้โฮ... มันดูดดื่ม มันกินใจมาก อย่างที่เอ็งว่านี่ไง

“เริ่มต้นที่จิต.. จบลงที่จิต”

เพราะจิตมันรู้ จิตมันเห็น จิตมันเศร้าใจ “ธรรมสังเวช” มันสงสารตัวเอง สงสารสัตว์โลก มันสงสาร มันรำพันนะ น้ำตาไหลพรากเลย

แล้วก็บอก “ไหลพรากอย่างนี้ โอ้โฮ... กูไม่เอาหรอก ให้กูไปโดนเขาด่า กูก็ร้องไห้ กูก็ไหลพรากอยู่แล้ว ไม่ต้องหรอก”

ไอ้นั่นมันไม่ใช่! ไหลพรากอย่างนั้น มันไหลพรากจากความทุกข์ อันนี้มันไหลพรากจากความสะเทือนขั้วหัวใจ มันไหลพรากจาก “ปลงธรรมสังเวชไง” มันสะเทือนขั้วหัวใจ สะเทือนใจเรามากๆ

“น้ำตาไหลพราก น้ำตาไหลพราก”

นี้มันไม่ใช่ไหลพรากจากความทุกข์ความโศกอย่างนั้นหรอก ความทุกข์ความโศกอย่างนั้น มันเป็น “สัญญาอารมณ์” มันสะเทือนใจด้วยความทุกข์ในชีวิต แต่นี่มันสะเทือนใจเพราะหัวใจมันเห็นว่า โอ้โฮ... ชีวิตเป็นอย่างนี้เหรอวะ แล้วยังจะไปอย่างนี้อีกเหรอ... ให้เราไล่เข้าไป ตรงนี้! ตรงนี้สำคัญ

“เริ่มต้นที่ไหน แล้วจบลงที่ไหน”

มันก็เป็นการภาวนาไง เราจะไปไหนกันดีวะ... แล้วจะไปไหนกันดีเนี่ย หันรีหันขวาง ไปไม่ถูกเลยเว้ย

“เริ่มต้นตรงนี้! เริ่มต้นที่ใจเรานี่แหละ” ไปไหนมันไม่เกี่ยว ทางจงกรม นั่งสมาธินี่ ให้เรามีสติ “อยู่กับผู้รู้ ไม่มีเสีย”

ไล่มันเข้าไปจากจิตของเรา แล้วมันจะรู้มันจะเห็นนะ ไม่รู้ไม่เห็น.. ไม่ได้ ไม่รู้ไม่เห็นอย่างที่เขาทำกันนั้น มันไม่รู้ไม่เห็น

จิตเป็นสมาธิ “ศีล สมาธิ ปัญญา” เราถึงบอกว่า “ปัญญามันหลายระดับ” แล้วถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมา มันสะเทือนใจเราเอง นี้ถ้าปัญญาไม่เกิดมันเป็นสัญญา

ปรมัตถ์ๆ! โอ้โฮ... นิพพานเลยล่ะปรมัตถ์! โอ้โฮ... ปัญญาสูงสุดเลยล่ะปรมัตถ์!

พูดแจ้วๆ เลยนะ แต่กิเลสเต็มหัวเลย

แต่ถ้าจิตมันสงบแล้ว โอ้โฮ... มันสะเทือน นั่นแหละ “ปรมัตถ์แท้ๆ” มันสะเทือนขั้วหัวใจเลย มันสะเทือนหัวใจเวลามันออกรู้ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมนี่สะอึกเลยนะ

แต่นี่เวลาเขาพูดกัน “กายเป็นอย่างนั้น กายเป็นอย่างนี้” ไอ้นี่มันเป็นคำพูด แต่ถ้าเห็นกายนะ โอ้โฮ... ขนพองสยองเกล้าเลย

นี้การเห็นกายมันก็คือเราเห็น แต่อย่างว่า การปฏิบัติทุกแนวทาง การปฏิบัติมันต้องมีผิดพลาดทั้งนั้นแหละ มันมาจากผิดเพราะกิเลสเรา ผิดเพราะในใจของเรา ไอ้อย่างนี้มันสุดวิสัย

อย่างเรานี่ เราทำไม่เป็นเลย แล้วมีครูบาอาจารย์เป็นพระอรหันต์ อย่างนี้สุดยอดเลย! ท่านสอนเรานี่ ถูก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย! แต่พอเราไปทำนะ ... ก็ผิด เพราะกิเลสเราเต็มหัวเลย เห็นไหม มันก็ต้องมีพลาด ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา

เราผิดมาพอสมควร ตอนผิดนี่โอ้โฮ... หันรีหันขวางเลยแหละ เพราะเราเป็นคนจริงจัง แล้วพยายามดูตำราไง ตำราเราก็ดูแต่ประวัติ ดูแต่คำเทศน์ของครูบาอาจารย์นะ เราไม่ดูอย่างอื่นเลย แบบว่ากลัวผิดมาก แล้วอยากไปให้ได้ แต่ก็ยังหันรีหันขวางอยู่

เพราะว่าตำรามันไม่มีชีวิต พอเราอ่านขนาดไหน ครูบาอาจารย์ท่านว่าอย่างนี้ แต่เราก็ว่าเราคิดถูกแล้วแหละ แต่พอไปเจอครูบาอาจารย์ที่มีชีวิตนะ โอ้โฮ.. ท่านใส่ทีเดียวหงายท้องเลยล่ะ เพราะเราคิดอย่างนี้ แต่เวลาท่านตอบมานี่เถียงไม่ขึ้นเลย เอ๊อะ.. เอ๊อะ.. หงายหลังตึงเลย โอ้โฮ... ใช่ ใช่.. ใช่เลย เถียงไม่ขึ้นเลย...ใช่

ถ้าอย่างนี้จะง่าย แต่พอเราพยายามอ่าน มันก็เอามุมมองเรานี่แหละ เอาความเห็นว่า อันนี้ถูก อันนี้ผิด ท่านพูดอย่างนี้ แต่เราก็เข้าใจอย่างนี้

ฉะนั้นไม่มีปัญหา ผิดก็ไม่มีปัญหา ผิดก็อัดไปเลย

“ปัญญาอบรมสมาธิ” เพราะถ้าเราทำไปเรื่อยๆ นะ ทีแรกมันเป็น “ปัญญาอบรมสมาธิ” แต่พอจิตมันสงบแล้ว พอจิตมันออกรู้ อันนี้ไม่ใช่ปัญญาอบรมสมาธิแล้ว อันนั้นเป็น “วิปัสสนา” แล้ว

แต่เริ่มต้นนี้ จะใช้ปัญญาขนาดไหน เป็นปัญญาอบรมสมาธิไปก่อน คือฟักตัว ฟักให้จิตเรานี้มันตั้งมั่น ให้จิตเรานี้ ไม่ให้กิเลสมันชักนำ ไม่ให้กิเลสมันครอบงำ คือความคิดนี้ให้เป็น “สัจธรรม”

“สัจธรรม” คือมรรค คำว่าสัจธรรมคือมันเป็นจริงตามความเป็นจริง แต่ตอนนี้มันไม่เป็นสัจธรรม ทั้งๆ ที่เราตรึกในธรรมะของพระพุทธเจ้านี่แหละ

นี่ ปรมัตถ์ เป็นสัจธรรม ตัวธรรมะของพระพุทธเจ้านี่เป็นสัจธรรม แต่ใจเรามันโลเล ใจเรามันสงสัย เอ๊ะ... มันจะเป็นจริงหรือเปล่าวะ เอ้อ... มันจะแน่หรือเปล่า เห็นไหม ทั้งๆ ที่เราตรึกในสัจธรรมนั่นแหละ แต่ใจเรามันไม่เป็น

แต่ถ้าเราพัฒนาเรื่อยๆ ปัญญาอบรมสมาธิไปเรื่อยๆ จนจิตมันมั่นคงขึ้นมาแล้ว ทีนี้มันเกิดมาเป็น “สัจธรรม” แล้ว

รู้! อย่างที่ว่านี่เห็นไหม เวลาเขาบอกว่า เป็นพระโสดาบันไม่รู้เรื่อง ต้องให้ครูบาอาจารย์ตั้ง ไอ้นั่นมันพูดของมันไป เราต้องรู้หมด

นี้เพียงแต่อย่างที่พูดเริ่มต้น ว่าถ้ามันปล่อยเองอะไรเอง โดยธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ประสาเราเลยเหมือนกับเราเล่นลูกข่าง เวลาเราเล่นลูกข่างไปนี่ แรงเหวี่ยงลูกข่างมันก็หมุน เห็นไหม

จิตของเรา ปัญญาอบรมสมาธินี่มันเหมือนลูกข่าง คือปัญญามันดูแลใจเรา พอปัญญาอบรมสมาธิจนมันชำนาญของมันใช่ไหม ทีนี้พอแรงเหวี่ยงของลูกข่างมันมี มันก็ปล่อยวางธรรมชาติ มันทำได้

ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น แรงเหวี่ยงของมันมีอยู่แล้ว คือแรงความดีของเราไง แรงความดี แรงปัญญาที่เราดูใจเรา มันควบคุมมา ทีนี้มันก็มีหยุดบ้าง เป็นธรรมดา นี่งงล่ะสิ

โยม : ทุกอย่างก็คือต้องฝึกใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : หลวงตาบอกว่า “จะเป็นคนดีต้องฝึก” ไม่มีอะไรลอยมาจากฟ้าหรอก ต้องฝึกหมด! ต้องฝึก

“คนจะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร”

เมื่อก่อนคำนี้ เราเอามาปลอบใจตลอด “ไม่มีทางไหนไปรอดเลย มีทางเดียว คือในทางจงกรมกับนั่งสมาธินี้เท่านั้น!”

“คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ความวิริยะความอุตสาหะของเราเท่านั้น!” อย่างอื่นไม่มี เราเอาคำนี้เตือนตัวเองตลอด

เวลาเราปฏิบัติอยู่นะ ตอนยังเคี่ยวอยู่นี่ เราจะมีคติประจำหัวใจหลายข้อ

๑.คนจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร

๒.พระพุทธเจ้า หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ท่านก็ทุกข์ยากมาก่อน ท่านก็เป็นมนุษย์ ท่านก็ทำได้

อย่างเรานี่เห็นไหม เราสังเกตดูสิ คนอื่นเขาก็เป็นมนุษย์ เขาก็ทำกันได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้วะ เวลามันท้อแท้ มันไม่เอานี่ เวลามันทุกข์ยากขึ้นมา บอกอู้ฮู... ความทุกข์มึงนี่ขี้ตีน บอกไปดูหลวงปู่มั่นสิ โอ้โฮ... ค่อยยังชั่วหน่อย ถ้าไม่อย่างนั้นมันท้อแท้มาก เวลามันหมดกำลังใจนี่โอ้โฮ... เหมือนว่าวที่หัวปักดินเลยแหละ

นี่เราก็จะต้องปลุกปลอบใจตัวเอง ให้มันมีกำลังใจขึ้นมา เล่นกับมัน แล้วเวลาอย่างนี้ ประสาเราว่า “มันเป็นสันดาน” เป็นสันดานที่แบบว่าเวลาคนมันจริง แล้วมันตั้งกติกาตรงนี้ได้ ตรงที่ว่า “เวลาทำความเพียร เราจะทำเสมอต้นเสมอปลายนะ” แล้วจะเร่งของเราไปตลอด มันไปของมันได้

ฉะนั้นทำได้ ให้เราทำไปเรื่อยๆ มันจะพัฒนาของมันไป เวลามันพัฒนาของมันไป สิ่งที่เราไม่รู้ สิ่งที่เราไม่เห็น บางทีมันจะเป็นอย่างที่เป็นกันอยู่นี่ ไปไม่ถูกเลย.. แล้วจะทำไปอย่างไรดีวะ .. แล้วขยับก็ไม่ถูก เอ๊ะ..

แต่ถ้าเป็นของหลอก เป็นสัญญาเป็นอารมณ์นะ โอ้โฮ.. มันเป็นช่องไปเลยแหละ มันคิดได้หมดแหละ มันให้ค่าตัวเองหมดเลยแหละ แต่ถ้าเป็นจริงๆ ขึ้นมาแล้ว คือของมันไม่เคยเห็นไง เอ๊ะ.. แล้วกูจะไปอย่างไร เงอะๆ งะๆ เลย นั่นแหละของจริง

“อ้าว.. แล้วถ้าของจริงมันเงอะๆ งะๆ แล้วบอกว่ามันเป็นสติปัญญา”

อ้าว.. เป็นสติปัญญา! แต่มันเป็นของที่เราไม่เคยเห็น ไม่เคยเจอ... ให้ทำไปเรื่อยๆ จะรู้ รู้ไปหมด คือว่าเป็น สันทิฏฐิโก รู้ด้วยตัวของเราเอง รู้จากใจของเรา ใจมันรู้เองเลย

โยม : ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วดูความคิด ทีนี้พอดูไปมากๆ สักพักมันหยุดความคิดไม่ได้ ทีนี้ก็เลยมาใช้พุทโธ ที่เราจะให้มันหยุดความคิด พอความคิดมันหยุด มันก็รู้สึกว่า เออ.. มันก็ปล่อยวาง

หลวงพ่อ : ใช้ได้..ใช้ได้! เพราะบางทีมันไปนี่มันเหมือนสไลเดอร์ เห็นไหม พอเราไหลไปแล้ว มันก็ไปเลย

นี่ไงถ้าปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าสติเราไม่พอมันจะเป็นอย่างนั้น พระเราบางองค์ที่เราสอนเมื่อก่อน มันพูดกับเราอย่างนี้เลยนะ เพราะเขาภาวนาแล้วมันไม่ก้าวหน้า มันไม่เดินใช่ไหม แล้วพุทโธมาตลอด เราก็บอกว่าให้ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เขาบอก โอ้โฮ.. หลวงพ่อ เหนื่อยน่าดูเลยนะ

บางวันนี่เริ่มต้นเลยตั้งแต่นุ่งขาสั้น คือตั้งแต่เด็กๆ เลย เด็กๆ ทำอย่างไรบ้าง อะไรบ้าง โอ้โฮ.. มันก็หมุนไป เขาก็ดีอยู่ เพราะมันเหมือนแบบว่าเรามีงานทำไง กับที่เราทำอะไรไม่ได้ ขึ้นต้นชนปลายอะไรไม่ถูกไปหมดเลย ทำอะไรไม่ได้เลย แต่พอใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันก็มีความคิดไป แล้วติดตามไป พอตามไปๆ นี่เขามาบอก หลวงพ่อ.. บางทีนี่ทั้งวันเลยนะ เราคิดไม่จบเลย

โยม : บางทีนอนไม่หลับเลย

หลวงพ่อ : นั่นแหละมันคิดไม่จบ พอมันคิดไม่จบแล้วนะ บางทีพอเขาพูดอย่างนี้เราก็ยั้งไว้ เพราะว่าพอเขาเริ่มฝึกสติไปนี่มันจะรู้ เวลาเราจับต้องอะไรนี่เราจะรู้ ว่าอะไรควรใช้ประโยชน์อย่างไร พอมันไหลมาอย่างนี้ปั๊บ เขาจะพูดกับความคิดของเขาเลยนะ มันแยกได้นะ

“เฮ้ย.. ความคิดนี้มึงหยุดบ้างสิ กูเหนื่อยฉิบหายเลย” อ้าว.. นี่เขาก็ทำของเขาจริงๆ นะ เขาพูดกับความคิดของเขานะ “เฮ้ย.. มึงพักบ้างสิ กูเหนื่อยฉิบหายเลย” บางทีเขาก็หยุดไว้ก่อน

นี่เห็นไหมที่เราพูดเมื่อกี้ว่า “กิเลสไม่มีเหตุผล” มันไม่มีเหตุผลหรอก เหมือนกับสไลเดอร์นั่นแหละ พอร่วงลงไปแล้วนี่มึงจะไปอย่างไรล่ะ มันก็ไหลไปเรื่อยๆ แล้วมันไม่จบไง มึงไหลไปเรื่อยๆ ไหลไปเรื่อยๆ

แต่นี้ไหลไปเรื่อยๆ นี่บางทีเราก็หยุดได้ เพราะอะไร เวลามันคิดไปแล้วกำลังมันไม่พอไง นี่ที่เราบอกเห็นไหมว่าถ้ากิเลสมันมีกำลังมากกว่า เพราะอะไรรู้ไหม เพราะคำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ”

ทีนี้ ปัญญาอบรมสมาธินี่มันจะฝึกเรา เพราะปัญญาอบรมสมาธินี้มันจะทำให้เราหยุดใช่ไหม ทำให้จิตนี้หยุด ถ้าพอจิตมันหยุดแล้ว ถ้ามันพักมันหยุดแล้ว มันเห็นผล พอเห็นผลนี่คืออะไร เห็นผลคือเราปฏิบัติแล้วเราเห็นผลขึ้นมา เราก็อยากจะปฏิบัติต่อไป เราก็จะเข้มแข็งใช่ไหม

แต่นี่ถ้าเราหยุด เหมือนในปัจจุบันนี้เราไม่รู้ว่ามันเกิดอย่างไร แล้วดับอย่างไร มันเกิดแล้วหยุดได้อย่างไร

พอมันเกิดแล้วหยุดอย่างไร นี่ที่เขาบอกของเขา เขาคิดกันประสาของเขา เขาดูจิตกัน เขาดูเกิดดับเกิดดับ แล้วเขาไม่มีที่เริ่มต้นและไม่มีที่สรุป แล้วก็ไหลกันไปอย่างนั้นไง

แต่ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันเห็นที่เกิดที่ดับนะ พอเห็นที่เกิดที่ดับ อันนี้มันเป็น “สันทิฏฐิโก” อันนี้มีค่ามากนะ มีค่ามากเพราะอะไร คือคนที่ทำงานไม่เป็น กับคนที่ทำงานเป็นต่างกันอย่างไร

จิตที่ไม่เคยเห็นนี่ พูดจนตายมันก็ไม่เข้าใจ แต่ถ้าวันไหนมันไปรู้ไปเห็นเข้า มันเป็นสัญญากันในหัวใจว่า อื้อ.. เรารู้เราเห็น เราทำได้ไง คือเราไปเห็นร่องรอยมัน เห็นร่องรอยของจิตเอง เห็นแค่ร่องรอย เห็นแค่ตัวเรา เห็นแค่มันสำนึกนี้ ไอ้นี่มันทำให้เราเริ่มต้นได้ เราจับต้องได้ คือว่าเราจะมีทางออกแล้ว

ทีนี้ถ้าพอไปเห็นนี่มันเป็นการยืนยัน ยืนยันกับเราเอง นี่ไงธรรมะที่เกิดจากภาคปฏิบัติ มันจะส่อกับเราเอง

ทีนี้มันก็จะไม่ให้เราเห็น ไม่ให้เรารู้ตรงนี้ มันก็จะพยายามต่อต้าน เพราะบางทีที่เขามาพูดกับเรานี่ ประสาเราคือเขามารำพันไง เขาว่า ผมนี่บอกกับมันเลย บอกว่า เฮ้ย.. มึงพักบ้างสิ เฮ้ย.. ความคิดมึงอย่ากวนกูมากสิ เฮ้ย.. ความคิดมึงหยุดบ้างสิ เขาพูดขนาดนี้เลยนะ แล้วเขาก็สู้ไป

แต่ถ้าบางทีมันไหลไปนี่มันไหลไปอย่างนั้นจริงๆ ถ้าไหลไปอย่างนั้น... ถูกต้อง! หยุด! กลับมาพุทโธก่อน บางทีมันมีมุมกลับ เราใช้ความคิดไป.. ใช้ความคิดไป ใช้ความคิดตามไป ใช้สติตามไป จนมันหยุดนะ มันหยุดแล้วทำอะไรไม่ถูกเหมือนกัน เราก็บอกว่า ก็กลับมาพุทโธไง!

ถ้ามันหยุด มันไม่มีอะไรทำ มันอยู่เฉยๆ เพราะถ้ามันหยุดมันไม่มีอะไรทำ อย่างที่ว่าพอหยุดปั๊บเดี๋ยวมันก็คิดอีก แต่ถ้ามันหยุดแล้วมันไม่คิด เราก็กลับมาพุทโธ หรือถ้ามันไหลไปจนไม่รู้จักที่หยุด เราก็กลับมาพุทโธ

เพราะที่ใช้ปัญญาอบรมสมาธินี้ เพราะว่าทำพุทโธแล้วมันไม่ได้ผล

ถ้าเราไปพุทโธ พุทโธอยู่นี่ แล้วจิตมันไม่ลง หรือมันไม่ได้ผลใช่ไหม นี่พวกนี้พวกปัญญาชนใช่ไหม เราก็มาใช้ปัญญา พอใช้ปัญญา แล้วถ้าปัญญามันไหลไปจนเราหาที่หยุดไม่ได้ เราก็กลับมาพุทโธ เพราะการกลับมาพุทโธก็คือการสร้างสติ

เหมือนกัน.. ปัญญาอบรมสมาธิ กับสมาธิอบรมปัญญาไง

“ปัญญาอบรมสมาธิ” นี่คือใช้ปัญญาตามมันไป ถ้ามันหยุดก็คือสมาธิ

“สมาธิอบรมปัญญา” คือโทษนะ กูโง่เป็นควายเลย กูทำอะไรไม่ได้เลย กูก็พุทโธ พุทโธ พุทโธอยู่นี่แหละ เพราะกูไม่มีปัญญา นี่เป็นสมาธิอบรมปัญญา เพราะกูไม่มีปัญญา กูก็พุทโธ พุทโธจนเกิดปัญญา พุทโธจนกว่ากู เอ้อ!

มันใช้แทนกันได้! ใช้แทนกันได้เพียงแต่ว่าเอามาหัดทำ

ธรรมดานะ อาจารย์สอนลูกศิษย์นี่ต้องพูดให้ฟัง เหมือนครูสอนนักเรียน ก็ต้องเขียนกระดานดำให้นักเรียนดู “ธรรมะสอนใจเรา นี่คือใจมันสอนใจ” เอาความหยุดนี่มาให้มึงดู เอาความรู้ความเห็นของในใจนี้ เอามาให้มึงดู เอามาให้จิตมันดู เอามาให้จิตมันเห็น เอามาให้จิตมันเข้าใจ นี่ไง “ปริยัติ ปฏิบัติ”

“ปริยัติ คือการศึกษา.. ปฏิบัติ คือกูจะให้มึงเห็น” กูจะเอาความจริงให้มึงเห็น เอาความจริงให้มึงดูเลย แล้วถ้าความจริงมันขึ้นมาแล้ว เห็นไหม อ้าว.. ก็กูรู้กูเห็นแล้ว ไหนใครจะบอกอะไรอีกล่ะ

โธ่.. พระมันมาที่นี่มาบอกว่า หลวงพ่อ.. ว่านู้นก็หลง นี่ก็หลง หลวงพ่อก็บอกมาสิ เพื่อจะไม่ให้ผิดไง เราก็บอก ไอ้ห่า.. เหมือนมึงเป็นตุ๊กตาเลย มึงก็เอาตุ๊กตามาก่อนสิ แล้วผิดหรือไม่ผิดเราค่อยมาว่ากันนะ

อันนี้ถ้าเราไม่รู้ไม่เห็นเลย ก็นี่ไง เอาให้มันรู้ให้มันเห็นก่อน พอมันรู้มันเห็นนี่มีตุ๊กตาแล้ว พอมีตุ๊กตามานี่ ทำไมเป็นอย่างนี้.. ทำไมเป็นอย่างนี้ อ้าว.. เราพูดภาษาเดียวกันแล้ว แล้วยิ่งถ้ามันสงบด้วยแล้วมีปัญญาไปด้วยนะ โอ้โฮ.. ไอ้นี่คุยภาษาเดียวกันเลย

ถ้ามันมีตุ๊กตา “คือจิตมันไปสัมผัส จิตมันรับรู้ นี่คือข้อเท็จจริง”

โยม : แล้วนิมิตล่ะครับ ถ้าเกิดเราไปดูนิมิต เพ่งนิมิตนี่ มันจะเป็นเพ่งกสิณหรือเปล่าครับ หรือเป็นจิตส่งออก บางทีมันก็....

หลวงพ่อ : นิมิตว่าอะไร

โยม : นิมิตแสงครับ

หลวงพ่อ : อย่างนั้นมันส่งออกแล้ว

นิมิต.. เราต้องบอกก่อนว่านิมิตอะไร นิมิตคือเครื่องหมายของจิต ตาเรามองเห็นภาพอะไร นี่คือนิมิต ทีนี้ถ้าไม่มีตาจะเห็นภาพนั้นไหม ดูสิภาพบนคัตเอ้าท์ที่เขาโฆษณาสินค้ามีเต็มไปหมดในกรุงเทพฯ ถ้าเราไม่ไปดูเราจะเห็นมันไหม มันตั้งอยู่นั่นโด่ๆ เลยล่ะ แต่เราไม่ไปดูมัน เราจะเห็นมันไหม เราไปดูมันเราก็เห็นมัน

นิมิต.. จิตสงบจิตจะเห็น ทำไมเราเห็นนิมิตล่ะ เพราะจิตเราเห็น

ทีนี้คำว่า “จิตเราเห็น” นี่ไงที่เขาบอกว่า สมถะหรือทำพุทโธนี่มันจะเห็นนิมิต มันจะเสียหาย ... ไม่ใช่! “มันอยู่ที่ว่าคุณภาพของจิต”

เช่นคัตเอ้าท์ หรือโฆษณาหรือสิ่งต่างๆ ที่เขาตั้งอยู่นี่มันอยู่บนถนน ถ้าเราไม่ไปบนถนนนั้นเราจะเห็นมันได้ไหม เพราะว่าเราผ่านตรงนั้นใช่ไหม

จิต.. ถ้ามันมีนิสัยของมัน ถ้าจะต้องผ่าน มันต้องเห็นมันต้องดู มันต้องผ่าน!

ทีนี้คำว่าต้องผ่านไป พอเราผ่านไปแล้วนี่เราจะดูมันหรือเปล่า ถ้าเราไม่ดูมันก็ได้ อย่างที่บอก ถ้าเกิดนิมิตขึ้นมา แล้วเรากำหนดจิตเรา นิมิตมันหายได้ไง เราถึงถามว่านิมิตอะไร ถ้ามันเป็นกายนี่มันเข้าทางเราแล้ว ถ้าเป็นนิมิตเห็นกาย รู้จักเวทนา พวกนี้มันก็เป็นนิมิตเหมือนกัน มันเป็นเครื่องหมายให้จิตบอก ให้จิตรู้ ให้จิตฝึกงานไง

ทีนี้คำว่าแสง ถ้าเราเห็นแสงนี่มันจะบอกค่าว่า ถ้าจิตไม่สงบ เพราะว่าอย่างปกตินี่เราเห็นแสงที่ไหน ไม่เห็นหรอก แต่เพราะจิตเราสงบเราถึงเห็นแสง ถ้าเห็นแสงนี่มันเข้าไปรู้แสง ถ้าเห็นแสงเห็นอะไรนี่ ประสาเราว่าคือมันแว็บเดียว มันจะบอกเลยว่าค่าของจิตมันเปลี่ยนแปลง

“ค่าของจิตคือว่ามันสงบขึ้น มากขึ้น มันถึงจะเห็นแสงอย่างนั้นได้” ถ้าเห็นแสงอย่างนั้นปั๊บ ธรรมดามันก็เห็นนะ อย่างที่ว่าเราไปบนทางนั้น เราไปเห็นคัตเอ้าท์นั้น เราจะดูหรือไม่ดู ถ้าเราไม่ดู เราก็ดึงกลับมาที่พุทโธ แสงนั้นก็หยุด แสงนั้นไม่เกี่ยวกับเรา

โยม : เพราะบางทีไม่แน่ใจว่าเป็นสัญญาอารมณ์หรือเปล่า เพราะเมื่อก่อนไปวิ่งตอนเช้าๆ ครับหลวงพ่อ ก็ไปเพ่งพระอาทิตย์ เพ่งถึง ๘ โมง ผมก็เห็นมันใส แล้วมันหมุน... มันหมุนเลยครับ มันก็กลายเป็นสัญญาอารมณ์ติดขึ้นมา เพราะว่าเวลาหลับตาปุ๊บผมจะเห็นเป็นดวง

หลวงพ่อ : เห็นมานานขนาดไหนแล้ว พระอาทิตย์นี่

โยม : พระอาทิตย์ที่ทำมา ตอนนั้นสัก ๔ ปีได้แล้วครับ วิ่งตอนเช้าๆ แล้วมันขึ้นมาตรงหน้า แล้วเห็นมันสวยก็เลยเพ่งมันครับ พอเพ่งมันนานๆ แล้วมันก็ติดตา

หลวงพ่อ : นั่นล่ะ พอมันติดตาเราก็เห็นเป็นกสิณ เห็นไหม นี่ประสาเราว่าพระอาทิตย์มันหมุน ถ้าพระอาทิตย์มันหมุนเพราะจิตเรา... ประสาเราว่าภาพมันเป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าเราคิดทางวิทยาศาสตร์ ตัวพระอาทิตย์มันหมุนได้ไหม มันไม่มีทางหรอก เพราะแรงบังคับเรานี่แหละ ความเร็วของแสง โอ้โฮ.. บังคับพระอาทิตย์ได้เลยเหรอ แต่จิตเรานี่มันเห็น มันสร้าง เห็นไหม

อย่างเช่นกสิณเขียวกสิณแดงก็แล้วแต่ มันขยายส่วนแยกส่วน เพราะจิต มันเป็นคุณภาพของจิตเราไง ทีนี้พอไปเห็นอย่างนั้นปั๊บ .. ใช่! มันก็มี ให้ปล่อยมันเลย! เพราะถ้าเพ่งกสิณคือต้องให้เป็นอย่างนั้น ต้องให้เห็นใช่ไหม แล้วขยายส่วนแยกส่วน

คำว่า “ขยาย” เหมือนอย่างคำว่า “หมุน” นี่ หมุนเพราะอะไร หมุนเพราะจิตมันเป็น ถ้าพอเห็นที่เพ่งแล้วนี่ พอจิตเราเพ่งแล้วมันขยาย ขยายคือว่าให้มันเล็กหรือให้มันใหญ่ เข้าใกล้หรือออกไป

ไอ้นี่เราพูดกันว่าเป็นวิธีการทำความสงบอย่างหนึ่ง เราไม่ใช่บอกว่าให้เพ่งกสิณหรือให้ทำอย่างนั้น เพราะว่าเขาจะติพวกเรามากเลย เพราะนี่ขนาดพุทโธเขายังบอกว่าซื่อบื้อเลย แล้วยิ่งไปเอากสิณด้วยนี่มึงตายห่าแน่ๆ เลย

โยม : เพราะบางทีเพ่งด้วยตา มองไม่กระพริบเลย แล้วมันก็หมุนของมัน ตัวพระอาทิตย์น่ะครับ มันก็หมุนอยู่นั่นของมัน พอหลับตาปุ๊บ... มันก็ติดตา มันติดตาไปนานเลย

หลวงพ่อ : นาน.. คิดดูสิโยมไปเพ่งแล้วมันติดตา แล้วเวลาที่เขาไปดูซากศพ เห็นไหม มันเหมือนกันเลย หลับตาในวิสุทธิมรรค หลับตาแล้วภาพนั้นชัดเจนไหม ถ้าชัดเจนนะ พอหลับตาปั๊บแล้วชัดเจนนี่ ถ้ามีกำลังนะให้แปรสภาพ “จากอุคคหนิมิต เป็นวิภาคะ”

หลวงปู่เจี๊ยะจะบอกเลย “วิภาคะๆ” หลวงปู่เจี๊ยะเน้นตรงนี้มาก “วิภาคะนะโว้ย” “วิภาคะ วิปัสสนา”

นิมิตคือสมถะ.. อุคคหนิมิตคือสมถะ คือเห็นภาพ.. วิภาคะคือแยกส่วนขยายส่วน ถ้าแยกส่วนขยายส่วนนี้มันจะขยายออก อย่างที่ว่าหมุนนี่เห็นไหม ไอ้หมุนนี่มันเป็นภาพที่มันไม่เป็นตรงข้ามระหว่างทำลายกิเลสกัน

แต่ถ้าเป็นอสุภะ เป็นพวกกายพวกอะไรนี่มันจะตรงข้าม “ทำลายอุปทานไง” โดยสัญชาตญาณ โดยจิตใต้สำนึก สักกายทิฏฐิ คือความเห็นผิดในเรื่องความเป็นจริงของชีวิตเรานี่แหละ

โยม : เหมือนว่า ไม่ให้เราไหลหลง

หลวงพ่อ : ใช่ เพราะถ้าเราเห็นอย่างนี้ปั๊บ พอเราเห็นภาพอย่างนั้น มันจะไปถอนไอ้ตรงนั้น ถอนอุปาทานในความเห็นผิดของจิต

การแก้กิเลส คือถอนไอ้ความเห็นผิดของจิตที่มันเห็นผิดนี้ ถอนออก สำรอกออก คายออก นี่ไง คายกิเลสออกไง

ฉะนั้นเวลาพูดเราถึงบอกว่า กิเลสนี่ต้องพลิกศพมันเลยนะมึง เขาว่ากิเลสเป็นนามธรรม เออ.. มึงยังไม่เคยเห็นไง เราฆ่ากิเลสแล้วนะ ต้องพลิกศพมันด้วย มันขาดจริงๆ ทำลายกันจริงๆ แล้วหมดออกไปจากใจจริงๆ

ไอ้ที่มันพูดกันแจ้วๆ นั่นคือตามตำราไง ว่ากิเลสจะเป็นอย่างนั้น... โสดาบันเป็นอย่างนั้น

โยม : แล้วถ้าเวลาเห็นแสงขาวๆ แล้วมันแบบว่าชอบปวดตาค่ะ อย่างนี้จะเป็นอะไรหรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ : เห็นบ่อยเหรอ

โยม : ก็ค่อนข้างบ่อยค่ะ แล้วมันจะชอบปวดตา เราก็บอก “ไม่เอาๆ” แล้วพอเวลามันพุทโธ พุทโธ มันก็ไม่มา

หลวงพ่อ : ใช่ ไม่มา เห็นมาบ่อย แล้วเห็นมานานขนาดไหน

โยม : ก็นานแล้วค่ะ

หลวงพ่อ : เพราะไปเคยไง เราจะพูดอย่างนี้ก่อน บางทีนี่เราแบบว่า โทษนะ เหมือนกับหมอเลย เวลาหมอจะรักษาคนไข้ เขาจะต้องหาสมุฏฐานของคนไข้ก่อน ว่าคนไข้นี่ทำอย่างนี้มานานหรือยัง อย่างเช่นเรานั่งทับขาข้างใดข้างหนึ่ง พอลุกขึ้นมา ขาข้างนั้นเราก็จะพิการไป

จิต... ถ้าด้วยความไม่รู้ของมัน เรากำหนดอย่างนี้ เห็นแสงเห็นอะไรอย่างนี้มานานแค่ไหน พอนานแค่ไหนมันก็เป็นความชำนาญของจิต มันจะเห็นบ่อยไง ถ้าเคยทำมามาก แล้วเราจะแก้ไขนี่มันก็แบบว่า เหมือนคนเราที่นั่งทับอะไรนานๆ กว่าจะให้มันเป็นเส้นตรงได้ เราต้องนวดมัน ต้องคลายเส้นมัน

ฉะนั้นถึงบอกว่า เวลาเราเห็นแสงมานี่ จะถามว่าเห็นมานานเท่าไร เห็นมานานอย่างไร แล้ววิธีแก้ก็มีทางเดียวนี่แหละ “วิธีแก้ คือพุทโธ พุทโธให้จิตสงบ” พอจิตสงบขึ้นมาแล้ว อะไรจะมาก็แล้วแต่ เหมือนเวลาเราขับรถเลย ทุกอย่างอยู่ในมือเรา ขับรถนี่กูคุมพวงมาลัยนะมึง อยู่ที่กูจะเหยียบเท่าไร

“จิตก็เหมือนกัน อยู่ที่สติปัญญาเราคุมมัน” ถนนนี่เราจะไปตรงๆ ก็ได้ เราจะเลี้ยวเข้าไปซอยไหนก็ได้ จิตก็เหมือนกัน จะให้เห็นก็ได้ ไม่เห็นก็ได้ ได้ทั้งนั้น! เพียงแต่ว่าเราเคยไง พอเราเคยขึ้นมา

ฉะนั้นอย่างที่ว่านี่เราก็เป็น ใหม่ๆ เราก็ไม่รู้ ใหม่ๆ เราก็นิมิตไปเรื่อยแหละ อู้ฮู.. รู้เรื่องนู้นเรื่องนี้ แล้วเราก็จดไว้ไง เวลาเพื่อนมาเรา ก็ถูกบ้างผิดบ้าง เออ.. มันไม่จริงนี่หว่า ก็เริ่มเอะใจนะ มันเริ่มไม่จริงแล้ว

ที่เราเห็นนี่ เราเห็นนิมิตจริงๆ หมดแหละ เราจะจดไว้เลย เมื่อก่อนก็แหม.. นึกว่ากูเก่งนะ กูจะทำคะแนนดีๆ ว่าอย่างนั้นเถอะ นิมิตนี่อู้ฮู.. เมื่อก่อนตอนบวชใหม่ๆ เขาภาวนาที่ศาลาไง มันก็เห็นนิมิตใช่ไหม พอเลิกจากศาลาก็กลับกุฏิ กูมีภาค ๑ ภาค ๒ นะมึง ภาค ๑ ภาค ๒ นี่ต่อได้เลย

เออ.. มีภาคที่ ๑ ที่ศาลา ภาคที่ ๒ ต่อไปเลยนะ พอนอนพักขึ้นมา พอตี ๔ ตี ๕ ลุกขึ้นมามีภาค ๓ โอ้โฮ.. มันต่อเป็นเรื่องเลย

มันก็ไปเรื่อย พอตอนหลังมาดู เฮ้ย... มันไม่ใช่ว่ะ แล้วพอมาเจอประวัติของหลวงปู่เทสก์กับหลวงปู่หลุย นี่เราอ้างประจำ เราจำไม่ได้แล้วเราอ่านหนังสืออัตโนประวัติไง ท่านติดสมาธิ ๑๗ ปี กับติดสมาธิ ๑๑ ปี

พอ ๑๗ ปีหรือ ๑๑ ปี มันเลยทำให้ทิ้งเลยไง ไม่มีใครบอกนะ ทิ้งเลย! พอทิ้งแล้วนี่จะฝืนอย่างไร จะฝืนอย่างไรนี่ อะไรมาก็ปฏิเสธไว้ก่อน ก่อนนั่งภาวนานะ ไม่เอา.. อะไรก็ไม่เอา เอาแต่ความสงบ แล้วพอนั่งสงบปั๊บมันมาแล้ว “ไม่เอาๆ พุทโธไว้! ไม่เอา” พุทโธ พุทโธ พุทโธ ค่อยๆ แก้ไปๆ หายหมดเลย

โยม : แล้วเคยพุทโธ พุทโธนะเจ้าคะ แล้วมันก็นิ่งหายไปใช่ไหมคะ ถ้าทำตามหลวงพ่อก็ดึงพุทโธอีก แล้วมันก็สะดุ้งเลยเจ้าค่ะ เพราะมันก็จะลงมาอีก เราก็ดึงอีก มันก็สะดุ้ง

หลวงพ่อ : ผิด! เห็นไหม ว่าพุทโธๆๆ ฟังนะ โยมเข้าใจผิด เราจะแก้ตรงนี้ก่อน พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วพุทโธหายไป

“พุทโธไม่หาย จิตเราต่างหากที่หายไป”

นี่จิตเราอ่อน พอพุทโธ พุทโธนี่เราไม่นึกพุทโธไง ความรู้สึกพุทโธเราไม่มีไง ไม่ใช่พุทโธหายไปนะ จิตเราหายไป ถ้าทำความเข้าใจปั๊บมันจะไม่สะดุ้งไง

พอเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ.. พุทโธไปเรื่อยๆ สติเราก็อ่อน ทุกอย่างมันก็อ่อน มันจะตกภวังค์ จิตเราหายไป พอจิตเราหายไป เราพยายามตั้งสติขึ้นมา “ให้พุทโธชัดเจน” ถ้าพุทโธชัดเจน เหมือนจิตนี้อาศัยพุทโธเกาะเข้าไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ

โยมฝืนไปนานๆ นะ เพราะคำถามนี่มันฟ้องเรา ๒ เรื่องวันนี้ เรื่องหนึ่งคือเห็นแสง แล้วพอจิตมันเป็นอย่างนี้ พอพุทโธมันหายไป ให้โยมฝืนตรงนี้ให้ได้นะ

นี่มันมีคนมาพยายามฝืนตรงนี้ แล้วได้ประโยชน์มากเลยพอฝืนนี่ ตอนนี้มีอยู่ ๒-๓ คน เพราะพอฝืนไปนี่จิตมันสงบ แล้วไปเห็นกายนะ มานั่งร้องไห้ โอ้โฮ.. ร้องไห้ๆ ร้องไห้เลยนะ บอกว่าพอไปเห็นนี่มันสะเทือนหัวใจไง เมื่อก่อนไม่เป็นอย่างนี้เลย... เมื่อก่อนยังไม่เป็นอย่างนี้เลย.. เมื่อก่อนพุทโธก็ไม่ดี อะไรก็ไม่ดี

นี่ก็เหมือนกันไง ไม่ใช่พุทโธหาย พุทโธนี่เป็นพุทธานุสติ แต่จิตใจเราต่างหากมันหาย พอมันหายปั๊บ พอเรานึกพุทโธนี่จิตมันฟื้นขึ้นมา เห็นไหม พอจิตเรามันฟื้นขึ้นมา โยมก็บอกว่ามันสะดุ้งไง ไม่ต้องทำให้สะดุ้ง

จะบอกว่าหลวงปู่เจี๊ยะนะท่านบอกว่า “พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ! ” แล้วห้ามไปไหนเลย ให้อยู่กับพุทโธนั่นแหละ ถ้ามันเป็น.. มันเป็นเอง พุทโธขนาดไหน จิตมันจะลงของมันเอง ถ้าจิตลงของมันเองนะ โอ้โฮ.. มันจะลงจะตกจากเหว อย่างไรก็แล้วแต่ เราพุทโธเพราะสติเราพร้อม

แต่ตอนนี้โยมกลับกัน กลับกันคือว่า ประสาเราเลยนะ “ไม่เอาตัวเองเป็นใหญ่ ไปเอาสิ่งข้างนอกเป็นใหญ่” คือไปนึกที่พุทโธไง แล้วก็ว่าพุทโธอยู่ แล้วพุทโธหาย ทั้งๆ ที่ตัวเองมันหาย

นี่ถ้าเราตั้งสตินะ อาการสะดุ้งมันถึงจะไม่มีใช่ไหม เพราะเรารู้อยู่ พอสมมุติว่าจิตเราขึ้นมา เราสมบูรณ์ขึ้นมา เรานึกพุทโธต่างหาก เราเกาะพุทโธต่างหาก เกาะพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ.. พุทโธไปเรื่อยๆ จน พุทโธ พุทโธ พุทโธ! เราก็อยู่สมบูรณ์นะ จนเราพุทโธไม่ได้ “นั่นคือตัวสมาธิที่แนบแน่น”

แต่นี่อย่างนี้ “พอเวลามันวูบหายไป อันนี้มันเป็นสมาธิหัวตอแล้ว” ที่มันพุทโธ พุทโธแล้วหายไป อย่างนี้คือ “ตกภวังค์”

เราจะพูดว่าโยมตกภวังค์ แต่โยมไม่รู้ตัวว่าตกภวังค์หรือเปล่า.. ใช่ไหม

โยม : ไม่ทราบค่ะ

หลวงพ่อ : ถ้าทราบนะ คือพุทโธไปเรื่อยๆ พอมันแก้หายนะ นี่พุทโธ พุทโธ บางทีมันหายไปเฉยๆ มันหายไปเฉยๆ คือสติมันไม่สมบูรณ์

นี่ไงเรามีตัวอย่างให้ดูหมดเลย เราไปอยู่ที่วัดหนึ่งเขาภาวนาทุกคืน แล้วอย่างนี้คือนั่งทีหนึ่งหลายๆ ชั่วโมงไง แล้วพอนั่งไปนี่พระมันนั่งกันไม่ไหว พระมันก็มีชั้นเชิงการที่จะหลบคือว่าลุกไปปัสสาวะ ลุกไปนู้น ลุกไปนี่ใช่ไหม ไอ้เราก็นั่งอยู่อย่างนี้ เขาก็ลุกกันไปลุกกันมา เราก็ได้ยินอยู่นี่ ไอ้เราก็คิดในใจไงว่าเราเก่ง เราดีกว่าเขา ทุกอย่างดีกว่าเขา ทำได้หมดเลย ทีนี้พอนั่งไปทุกคืนๆๆ มีอยู่คืนหนึ่งพอมันออกมา เอ๊ะ.. นี่ทำไมมันเปียกๆ อะไร พอดมดูนี่มันเป็นน้ำลาย โอ้โฮ.. มึงนั่งหลับ! มึงนั่งหลับ! มึงเลวมาก!

เพราะเริ่มมึงเลวมากนี่นะ ก็ไม่รู้ตัว ยังคิดว่าตัวเองเก่งอยู่นะ แล้วพอมันหายไปอย่างนี้ พอมึงนั่งหลับนี่มันไม่มีใครบอก มึงต้องแก้ตัวเอง พอต้องแก้ตัวเองปั๊บก็พยายามจะตรึก พอแก้ตัวเองปั๊บก็นึกถึงพระไตรปิฎก

ในพระไตรปิฎกว่าพระพุทธเจ้าไปแก้พระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะนี่นั่งง่วงเหงาหาวนอน พระพุทธเจ้าบอกให้ “ตรึกในธรรมะ” เราก็ตรึก แต่เวลานั่งเวลาพุทโธนี่ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิไง คือตรึกในธรรม

ปัญญาอบรมสมาธิคือตรึกในธรรมะ เวลาเราคิดธรรมะของพระพุทธเจ้า หมุนติ้วๆๆ เลย แต่ติ้วๆๆ ก็แว็บไปเลย ... หลับ! เราก็มาคิด ก็กูตรึกในธรรมะ ทำไมมันยังหลับอีกล่ะ แล้วก็เปรียบเทียบใหญ่เลยนะ เราก็เปรียบเทียบตัวเอง อ๋อ.. เหมือนกับนกเขา

คือนกเขานี่มันอยู่ในกรง ถ้าเวลาแมวมา แล้วมันอยู่เฉยๆ นี่ แมวจะกินมันไม่ได้เลย แต่นกเขาเวลาเห็นแมวมา มันก็จะตื่นเต้น มันก็จะบินไปบินมา มันก็จะบินไปข้างกรง มันก็ไปเสร็จแมว แมวก็ตะปบได้

“ตรึกในธรรม ตรึกในธรรม” นี่เราตรึกในธรรมะ ตรึกเกินไป พอตรึกมัน มันฟุ้งกันมันก็อ่อนหมดเลย ฝืนท่านู้นก็ไม่ได้ ฝืนท่านี้ก็ไม่ได้ แต่เราก็ผ่อนอาหารๆ กินวันละคำนะ ตอนนั้นกินวันละคำเดียวเลยเพื่อจะแก้ตรงนี้

เพราะมันภูมิใจ ดีใจ อวดตัว ถือทิฐิ เรานั่ง ๗ ชั่วโมงก็ได้ ๘ ชั่วโมงก็ได้ ๑๐ ชั่วโมงก็ได้ แล้วมันแปลกนะ คือเวลาได้นี่เหมือนสมาบัติเลย พอหายไป.. ให้ออกบ่าย ๒ โมงก็ได้ บ่าย ๓ โมงก็ได้ ล็อกเวลาได้เลย แล้วมันเป็นอย่างนี้จริงๆ ด้วยนะ พอได้เวลา พึ่บ... มันตื่นขึ้นมาเลย จริงๆ มันเหมือนตั้งเวลาได้ด้วย

แต่มันแปลกใจอันเดียวเท่านั้นแหละ เวลามันออกนี่เหมือนคนตื่นนอน เหมือนสะดุ้งตื่น มันไม่เหมือนสมาธินะ สมาธินี่มันเหมือนกับตะกอนในแก้ว เรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ ตะกอนมันก็ยังนอนอยู่ในก้นแก้ว เวลาเราจะออกก็เหมือนกับเราเขย่าแก้วนี่ ตะกอนมันก็จะแผ่ออกมา เห็นไหม

คือถ้าเราลงขนาดไหนนะมันจะหายไปหมดเลย สติพร้อมสมบูรณ์มากนะ แล้วเวลาเราจะออกนี่มันก็ออกรับรู้ เห็นไหม เหมือนอย่างที่หลวงตาว่าไง หลวงตาบอกว่าเวลาท่านนั่งไปตลอดรุ่ง ถ้าวันไหนจิตมันดี เวลาออกจากสมาธิลุกได้เลย ถ้าวันไหนจิตมันไม่ดี มันต้องต่อสู้มาก ร่างกายนี่บอบช้ำมาก เวลาจะออกนี่ออกไม่ได้เลย ลุกก็ล้มเลย ต้องดึงขาไปวางไว้ก่อน ให้เลือดลมเดินให้ได้ก่อน ให้ความรู้สึกมันออกก่อน แล้วค่อยลุกได้

เหมือนกัน.. นี่ถ้าเป็นสมาธินะ เวลามันเข้ามันก็ชัดเจนมาก เวลาออกนี่มันก็แผ่ ความรู้สึกมันแผ่ออกมา รับรู้ออกมา แต่ไอ้ภวังค์นี้มันเหมือนสะดุ้งตื่น

โยม : ถ้าไม่สะดุ้งนี่ก็คือไม่ภวังค์ใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : ต้องรับรู้.. ใช่!

โยม : คือค่อยๆ แล้วมันสดชื่น

หลวงพ่อ : ใช่! เวลาเข้า.. เข้าอย่างนั้น นี่สมาธิเข้าอย่างนี้

โยม : เจ้าค่ะ มันจะช้าๆ

หลวงพ่อ : เอ้อ.. แต่ถ้าสะดุ้งตื่น “นั่นล่ะคือภวังค์!” แล้วเราก็แก้ของเรามาเรื่อยๆ ผ่อนอาหารไปเรื่อยๆ แก้จนใช้ได้

โยม : ทีนี้อาการมัน คือถ้าภวังค์กับสมาธิมันก็จะคล้ายๆ กัน เราก็ไม่รู้

หลวงพ่อ : อันเดียวกันเลย!

โยม : คือมันเป็นทางสองแพร่ง เราก็ไม่รู้ว่าเป็นสมาธิหรือเป็นภวังค์

หลวงพ่อ : ใช่... ใช่ อันเดียวกันเลย

โยม : มันก็รู้ตัวมันเหมือนกัน

หลวงพ่อ : ทำไมเขาเรียกว่า “พรหมลูกฟักล่ะ... สมาธิหัวตอล่ะ”

หลวงปู่มั่นนี่เรียก “สมาธิหัวตอ” มันเหมือนสมาธินะ เพราะอะไร เพราะเรานั่งสมาธิใช่ไหม แล้วมันนิ่งใช่ไหม แต่มันไม่มีสติ มันเหมือนกับคนหลับ

“สัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ”

“มิจฉา” เป็นสมาธิไหม... เป็น! อู้ฮู.. ทำสมาธิเกือบตาย แต่เวลามันลง มันลงผิด ฉะนั้นเวลาใครมาหานะ เราจะเปรียบเทียบเขาเหมือนกับคอสะพานนี่ ถ้าคอสะพานขาด รถวิ่งมาเต็มที่เลย ตกคอสะพานหมด เหมือนเราพุทโธ พุทโธ พุทโธไปนี่ วูบหมดเลย

“ฉะนั้นวิธีแก้ คือถมคอสะพานให้เต็ม คือให้เราตั้งสติ”

บางทีนะเราสอน บางคนมาเราบอก อย่างเช่นหลวงปู่เจี๊ยะไง “ไอ้หงบ มึงกำหนดพุทโธเลย โดยต้องไม่เอาสมาธิ” คือตั้งใจว่าไม่เอาสมาธิ “พุทโธอย่างเดียว พุทโธอย่างเดียว พุทโธอย่างเดียว” ถ้าเราพุทโธถูกต้องนะ มันจะเป็นของมันเองไง

นี่ก็เหมือนกัน เราบอกว่าต้องตั้งสติ สติไม่ให้มันลงสมาธิ ถ้ามันลงแล้วเราไม่ทันนะ คนมันเคยใช่ไหม พอพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ... วาบ! มันเคยไง มันต้องถมตรงนี้ให้ดี ถมตรงนี้ พุทโธ พุทโธ ไม่ให้มันลง ยั้งให้ได้ ถ้ามันพุทโธ พุทโธ พุทโธ พอมันเต็มขึ้นมาแล้วนี่ พอมันข้ามคอสะพานไป โอ้โฮ... มันพุ่งไปนู้น นู้น.. ไปเลย

พุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วตั้งสติให้ดี อย่าให้ลง

โยม : ที่หลวงพ่อว่าถมพุทโธให้เต็มนี่หมายถึงว่า เวลาเราพุทโธ พุทโธ พอมันอ่อนปุ๊บ มันก็จะเข้าภวังค์ เราก็ต้องกลับเข้ามาอีกที

หลวงพ่อ : ใช่! ให้พุทโธชัดๆ ไง

โยม : พุทโธชัดๆ นี่คือตัวถม

หลวงพ่อ : ใช่! พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ!

ทีนี้คำว่า “พุทโธชัดๆ” ถ้าเป็นสมาธิแล้ว มันเป็นสมาธิต่อหน้าเรา ต่อหน้าพุทโธนี่เลย! พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนพุทโธไม่ได้เลย

ดูอย่างหลวงตาสิ ท่านบอกว่าท่านมาใช้คำบริกรรม ๓ วันครั้งแรก “๓ วันนี่อกแทบระเบิดเลย” แล้วพุทโธ พุทโธ พุทโธ อันเดียวกับที่หลวงปู่เจี๊ยะสอนเรานี่แหละ “ไอ้หงบไม่ต้องเอาสมาธิ พุทโธไม่เอาสมาธิ”

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธอย่างเดียวไม่เอาอะไรเลย หลวงตาพุทโธอย่างเดียวเลย ๓ วัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ พอพุทโธมันก็เป็น เพราะว่าเราถมไง มันก็เต็ม พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ.. พุทโธอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วมันเป็นเอง เห็นไหม พุทโธไม่ได้เลย ก็เอะใจอยู่เหมือนกัน เอ๊ะ.. ทำไมเป็นอย่างนี้วะ แล้วก็อยู่กับมันนี่แหละ พออยู่กับมัน พอมันคลายตัว ให้พุทโธซ้ำเลย!

“ถ้าเรารักษาเหตุอยู่นี่ สมาธิจะเสื่อมได้อย่างไร” แล้วอาการอย่างนี้ไม่มี อาการที่สะดุ้งมันไม่มี อาการอย่างนี้ไม่มี แล้วเราคุมได้ เหมือนเรามีความชำนาญมาก ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ทำ มันแปลก

ทีนี้ถ้าพูดถึงเวลาเราพุทโธแล้วจะเห็นแสง แล้วยิ่งปวดตาด้วยอะไรนี่ โทษนะ เราขับรถบนถนนนี่มันนิ่มนะ ไอ้นี่ขับรถลงไปในคันนา มันกระโดกกระเดกนะ โอ้โฮ.. ผลุบผลับ โอ้โฮ.. คันนา

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน พอเห็นแสงมันก็ปวดไง เพราะมันไม่ใช่ถนนไง มันผิดปกติจริงไหม ถ้ารถเราวิ่งบนถนนมันจะเรียบใช่ไหม แต่ถ้าเราลงไปในคันนา ลงไปที่เขาไถนา ดินมันเป็นก้อนๆ รถมันก็ต้องมีอาการเป็นธรรมดา ถ้าเป็นความผิดปกติของเรา มันก็จะมีอาการเป็นธรรมดา

ที่เวลาบอกว่ามันปวดตา แสดงว่าแสงก็ไม่เอา อะไรก็ไม่เอา แล้วให้ปรับใจตรงนี้ใหม่ ไอ้อย่างนี้เป็นความโชคดีของโยม อย่าไปคิดมาก เพราะถ้าอย่างนี้นี่บางคนจะบอกเลย “โอ้โฮ.. ปฏิบัติมาตั้งนานแล้วมันเป็นภวังค์อย่างนี้เหรอ แล้วนี่มันเป็นทุกข์อย่างนี้เหรอ”... ไม่ใช่! ภาพนั้นเป็นภาพที่โชคดี เราจะค่อมอยู่กับความอย่างนี้ตลอดไป

“คำว่าโชคดีคือได้แก้ไข” มันเป็นความโชคดี เพราะถ้าไม่พูดอย่างนี้มันจะไปนั่งเสียใจเลย ว่าที่ทำมาผิดหมดเลยเหรอ ... ไม่ใช่! ไม่ใช่! “โชคดีที่ได้รู้ โชคดีที่ได้แก้ไข เป็นความโชคดี” อย่าไปคิดมาก ถ้าคนไปคิดมากนะ โอ้โฮ..

ไอ้อย่างนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา อย่างที่บอกไปแล้ว อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ ครูบาอาจารย์ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านผิดหมดเลย สอนให้เราทำ เราก็ทำกันไปผิดหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน เราทำของเราเองไง แล้วมันก็ต้องแก้ไขของเราไป ถ้าแก้ไขของเราไปแล้วนะ พอเราขึ้นไปบนถนน รถเรียบถนนดีนะ อะไรก็แล้วแต่มันจะไม่มีอาการอย่างนี้เลย ไอ้ปวดตาไอ้พวกเครียดนี่มันจะไม่มี แต่ถ้ามันมี คือมันต้องมีเหตุผิดปกติ

โยม : แล้วถ้านั่งสมาธิอยู่ล่ะเจ้าคะ แล้วถ้าเกิดน้ำตามันก็ไหลใช่ไหมคะ แล้วก็อยากจะร้องไห้ รู้สึกเศร้าอย่างนี้

หลวงพ่อ : มันสะเทือนใจเพราะอะไรล่ะ

โยม : มันไม่เห็นมีอะไรเลยค่ะ แต่ทำไมมันถึงเศร้าไม่รู้

หลวงพ่อ : “ความเศร้ามันเป็นความเฉา” แต่ถ้ามันสะเทือนหัวใจแล้วน้ำตาไหลนี่นะ เราจะบอกว่า “ปีติ” แต่นี่มันขัดแย้งกัน เห็นไหม

ปีติมันต้องเป็นความสุขใช่ไหม แต่ไอ้นี่มันเศร้า พอมันเศร้านี่เราจะดูว่ามันเกิดจากอะไร สมมุติว่ามันเกิดจากเราตรึกในธรรมะ ถ้าเราตรึกในธรรมะมันต้อง “ชีวิตนี้คืออะไร ชีวิตนี้มาอย่างไร เห็นความเกิดความตายแล้วมันเศร้าใจ” อันนี้เป็น “ธรรมสังเวช” ร้องไห้ได้ เศร้าใจได้

เราพูดบ่อย เพราะเรานั่งอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ แล้วหลวงปู่เจี๊ยะพูดกับหลวงตานี่แหละ บอกว่า “ท่านอาจารย์.. เวลาผมคิดถึงหลวงปู่มั่นทีไร ผมน้ำตาไหลทุกทีเลย ผมน้ำตาไหลทุกทีเลย”

หลวงตาก็บอกว่า “อ้าว..ก็นี่ไงโลกมันพูดกัน บอกว่าพระอรหันต์ร้องไห้ไม่ได้ พระอรหันต์ร้องไห้ไม่ได้ เราไม่ได้ร้องไห้เว้ย นี่มัน ธรรมสังเวช เป็นธรรมะ”

ธรรมสังเวช เพราะเราคิดถึงหลวงปู่มั่นไง หลวงปู่เจี๊ยะนี่ท่านจะคิดถึงหลวงปู่มั่นบ่อย ว่าหลวงปู่มั่นท่านทุกข์ยาก พูดกับเราบ่อยมากเลย เวลาอยู่ในป่านี่ ถ้าวันไหนได้ปลาสร้อยตัวเท่านี้นะ กูถูกรางวัลที่หนึ่ง วันไหนถ้าได้ปลาสร้อยตัวหนึ่ง เหมือนกูถูกรางวัลที่หนึ่งเลย แล้วเวลาท่านมาอยู่ที่นี่ ท่านบอกว่าท่านกินกุ้งตัวใหญ่ทุกวันเลย แต่หลวงปู่มั่นไม่ได้กิน เห็นทีไรท่านร้องไห้ทุกทีเลย “มันเป็นธรรมสังเวช มันเป็นธรรมะ มันสะเทือนใจเรา”

ถ้ามันเศร้านี่มันเป็นไปได้ แต่เวลาเศร้านี่ทางโลกเขาหดหู่ เห็นไหม เขาเศร้า เขาหดหู่ เขามีความทุกข์ ไอ้เราคิดว่านี่มันเป็นสัจธรรม เราอยู่ในสัจธรรม เพราะ “การปฏิบัติคือการสอนจิต” คือการให้จิตศึกษาธรรมะ ให้จิตเข้าใจต่างๆ แล้วจิตมันจะได้พัฒนาตัวของมัน

ฉะนั้นเวลามันเป็นอย่างที่ว่านั่น คือนั่งไปแล้วน้ำตาไหล อะไรต่างๆ นี่มันเป็น ธรรมสังเวช ถ้าน้ำตาไหลนะเป็นปีติ เป็นธรรมสังเวช เป็นหลายๆ อย่าง เพียงแต่ว่าเราต้องพยายามรักษาตรงนี้ เพราะตรงนี้มันเป็นทางผ่านที่จะทำให้จิตเรามั่นคง แล้วพอเราเข้าไปวิปัสสนาหรือเข้าไปทำความสะอาดของใจ มันจะไปอีกขั้นตอนหนึ่ง แล้วพอถึงขั้นตอนนั้นนะ อันนี้ก็จะหมดไป

อย่างเช่นปีติ บางคนมาภาวนานี่ โอ้โฮ.. หลวงพ่อมีความสุขมากเลย โอ้โฮ.. หลวงพ่อดีมากเลย แต่สักพักหนึ่ง โอ้โฮ.. ไม่เห็นมีอะไรเลยล่ะ ทำไมไม่เป็นอย่างเก่าอีกล่ะ เราบอกมึงจะบ้าเหรอ “มันมี.. แต่เราคุ้นชินกับมัน”

พอปีติมาใหม่ๆ ก็โอ้โฮ.. ดีไปหมดเลย ทีนี้พอทำไปๆ มันก็เคยชิน ความจริงมันก็มี! แต่นี่เราว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วไง

เรานี่เหมือนสามล้อถูกหวย โอ้โฮ.. ได้ตังค์นี่ดีใจตายห่าเลย แต่ถ้าทำงานจนมีฐานะแล้วนะ โอ้โฮ.. ไม่ดีใจแล้ว มันเป็นเรื่องปกติ

“ปีติ.. คือปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ มันจะพัฒนาของมันไป” มันมีอยู่ เราพัฒนาของเรา ไม่ใช่ว่ามันเป็นอย่างนั้น แล้วเราก็จะให้มันเป็นอย่างนั้นตลอดไป บอกมันมีตลอด อย่างเช่นพุทโธนี่

โธ่.. หลวงตานะท่านเจริญอนาคามรรค ตอนที่หลวงปู่มั่นออกมาให้ใช้ปัญญาไง แล้วออกมาก็ดูอสุภะไง ก็ติดอยู่ ๕ ปีใช่ไหม พอออกมาแล้วนี่มันหมุนตลอดเลย พักไม่ได้เลย ก็ไปหาหลวงปู่มั่นเลย

“นี่ให้ออกก็ออกแล้วนะ ตอนนี้นอนไม่ได้เลยนะ ตอนนี้นอนไม่ได้เลย”

หลวงปู่มั่นบอก “ไอ้บ้าสังขาร บ้าสังขาร”

“บ้าอย่างไร ก็นี่ถ้าไม่ใช้ปัญญามันจะอยู่ไม่ได้นะ”

“นั่นแหละ บ้าสังขาร”

เพราะถ้าบอกแล้วมันจะโต้แย้งไง ต้องหาเองไง ท่านก็บอกเลยต้องกลับมาพุทโธใหม่ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เพื่อจะให้ได้นอนหลับพักผ่อน เห็นไหม

เราจะบอกว่า “แม้แต่พระอนาคามรรค แม้แต่พระอรหันต์ ยังใช้พุทโธเลย!” แล้วเรานี่เป็นปุถุชน ไอ้พวกขี้หมานี่ว่า อู้ฮู.. พุทโธเป็นสมถะ

เออ.. ไอ้พวกขี้หมามันไปดูถูกพุทโธนะ แต่อนาคามรรคท่านยังต้องกลับมาพุทโธ พุทโธเพื่อให้ได้พักผ่อนเลย มันมีคุณค่ามากเลยถ้าเราใช้ของเราไป อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้

“เกิดที่จิต แล้วดับที่จิต”

จิตมันจะพัฒนาของมันไป มันจะละเอียดของมันไป มันจะดีของมันไป เรื่องกำหนดพุทโธนี่ ดีกว่าปล่อยให้มันเพ่นพ่าน ปล่อยให้มันคิดตามธรรมชาติของมัน เราอยู่กับพุทโธของเรานี่แหละ

แล้วถ้ามันจะแบบว่าถึงเวลาแล้วนี่ กิเลสเราหรือความเห็นเรานี่มันเครียดไง มันทำงานบ่อยๆ อื้อฮือ... พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนบางทีมันตัดใจออกจากสมาธิดีกว่า แล้วพอเราก็กลับไปพุทโธอีก

แหม.. อย่างเราปฏิบัติมา ๓๐ ปี โอ้โฮ.. ๓๐ ปีนี่ ไม่ต้องทำอะไรเลยเหรอ เออ.. เอาสิวะ พุทโธนี่แหละ

เพราะพอเวลาคนเป็น นี่หลวงตาท่านพูดนะ โอ้โฮ.. ฟังแล้วสะเทือนใจ “พุทโธสะเทือนสามโลกธาตุ” เห็นคุณค่ามันมากไง อย่างเช่นหลวงปู่มั่น แม้แต่ตัวอักษรยังไม่เหยียบย่ำเลย เพราะตัวอักษรมันสื่อธรรมะได้ อย่าว่าแต่พุทโธเลย แม้แต่ตัวอักษรยังเคารพโว้ย

แล้วจะบอกว่าไม่เคารพพระไตรปิฎก ไม่เคารพอภิธรรมนี่ไม่ใช่หรอก เคารพ.. เพียงแต่เราไปยึดมั่นมันก่อน คือไปชิงสุกก่อนห่าม ไปเอาผลของมันมา เอาผลของเขามา แล้วมาอ้างอิง อย่างนั้นเราจะไม่ได้ผล

แต่ถ้าเราเก็บเล็กผสมน้อย เราไปรู้จักกับปฏิบัติของเราไป เราจะได้ผล ไอ้นี่พอเก็บเล็กผสมน้อยก็ โอ้โฮ.. เป็นสมถะ โอ้โฮ.. มันจะติดนิมิต

ให้เราทำของเราไป การก่อร่างสร้างตัวนะ มันก็ต้องปรับพื้นฐานเพื่อก่อร่างสร้างตัว แล้วเราจะเป็นคนดีได้ ถ้าเขาจะเอาดีเลย จะไปเอาดีมาจากไหน

ลองทำใหม่เนาะ พุทโธตลอดเลยเหรอ

โยม : เจ้าค่ะ

หลวงพ่อ : พุทโธแล้วตั้งสติไว้ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ตั้งสติไว้ แล้วเราดูอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงนี้พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วทำไป

เมื่อก่อนเราไม่รู้นะ มันทำตามสบาย แต่พอรู้เราจะเกร็งแล้ว ทีนี้ให้ระวังไง ใหม่ๆ ก็เป็นอย่างนี้ไปก่อน ลองแก้ไข ถ้าแก้ไขนะ ถ้ามันเป็นจริง แล้วมันลงจริงนะ โอ้โฮ.. เดี๋ยวมันจะรู้เองนะ มันจะสุขมาก

โยม : ก็คิดพุทโธตลอดเจ้าค่ะ ตั้งแต่ที่หลวงพ่อบอก ให้อะไรเกิดก็ช่าง ไม่ต้องสน ก็ดึงพุทโธ พุทโธ พุทโธ

หลวงพ่อ : พุทโธไว้ตลอดเลย พุทโธไว้ตลอด อะไรก็ไม่เอาเลย แล้วพอเป็นอย่างนั้นปั๊บ ถ้าประสาเรา จากตอนนั้นกับตอนนี้มันเปลี่ยนไปเยอะไหม ความรู้สึกเรา ความเข้าใจของเรานี่

โยม : ก็ถ้าเวลานั่งสมาธิใช่ไหมคะ ถ้ามันสมาธิรวมจริง มันก็จะนั่งได้นาน มันก็ไม่อยากออกอย่างนี้ค่ะ จะนั่งเรื่อยๆ เวทนาก็ไม่เกิดเจ้าค่ะ

หลวงพ่อ : ถ้าเราพุทโธ พุทโธนี่ เวทนามันไม่เกิด เพระว่าความรู้สึกมันอยู่กับพุทโธหมด แต่ถ้าพุทโธอ่อนนี่มันจะไปอยู่ที่เวทนา อันนี้เขาเรียกว่า “การสู้เวทนา”

การสู้เวทนามันมีด้วยกัน ๒ แบบ แบบหนึ่งคือขันติธรรม คือพุทโธ พุทโธไว้ เราสู้ไม่ไหวหรอก ถ้าเราสู้ไม่ไหวนะ เหมือนกับเด็กไปสู้กับผู้ใหญ่ ถ้าจิตเราไม่ไหวนี่ พอเวทนาเกิดแล้วเราจะไปสู้กับมันนะ เวทนาจะปวดเป็น ๒ เท่า ๓ เท่า แล้วทำให้เราสู้แทบไม่ไหวเลย

แต่ถ้าขันติธรรมก่อน คือพุทโธ พุทโธให้มันชัดเจนก่อน จนมันนิ่งๆ ใจมันสบายๆ ถ้าเราบอกเวทนาเกิด ไหนกูลองขอดูหน้าหน่อย โอ้โฮ.. มันมีกำลังนะเวลาไปดูนี่ ถ้าปล่อยเวทนาอีกนะ มันจะลึกอีกชั้นหนึ่งเลย

คือว่าเราให้จิตเรามั่นคงก่อน จิตเราพอมี เหมือนให้ผู้ใหญ่กับผู้ใหญ่สู้กัน อย่าให้เด็กไปสู้กับผู้ใหญ่ ใจเรายังอ่อนแออยู่ ใจเรายังไม่มั่นคง แล้วไปสู้กับเวทนานี่ เหมือนเด็กเลย แล้วไปสู้กับไอ้พวกมาร เดี๋ยวจะแหยง แล้วเดี๋ยวจะไม่สู้

ให้ขันติธรรมก่อน ให้อดทนไว้ก่อน แล้วพอถ้ามันมีจุดยืนของมันแล้วนี่ เดี๋ยวค่อยไปสู้กับมัน

คือว่าเราต้องผ่านไง แต่นี่การผ่านของเรา เห็นไหม บางคนจะสู้อะไรก็แล้วแต่ เราบอกว่าไม่จำเป็น กาย เวทนา จิต ธรรมนี่อย่างใดอย่างหนึ่ง คือเวลาจะสู้กับกิเลสนี่ใช้อะไรก็ได้ ๔ อย่างนี้ ไม่จำเป็นจะต้องสู้กับเวทนาอย่างเดียว พิจารณากายอย่างเดียว อย่างใดก็ได้ แต่! แต่ขณะที่ทำอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นให้ชัดเจน แล้วเวลาเราผ่านนะ เหมือนกันหมดเลย เวลาปล่อยแล้วเหมือนกันหมด แต่เวลาไปสู้ให้ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง สู้กับมันเฉพาะหน้าเลย

มันจะเป็นงานของเราข้างหน้า ถ้าเราภาวนาไปต้องเจอเด็ดขาด!

โยม : สู้กับเวทนา พอดูแล้วสู้กับมัน อู้ฮู..ปวดจริงๆ ครับ

หลวงพ่อ : ปวด

โยม : มันกลายเป็นไปเพ่งหรือเปล่าคะกับการที่ไปดู

หลวงพ่อ : นั่นแหละไปเพ่งมันก็ไปเป็นกสิณ

โยม : ปวดเพิ่ม ๒ เท่า

หลวงพ่อ : ฮื้อ! เหมือนเราเป็นเด็กใช่ไหม เวลาเราไปดูเข้านี่ ๑. เขาอยากหาย ไม่อยากให้เป็น นี่มันไปเพิ่ม

ไปเพ่งไม่ได้ ถ้าการไปสู้กับเวทนานี่ “ไหนเวทนาอยู่ไหน” คือเราก็ต้องถามไง “เวทนาอยู่ไหน.. มันอยู่กับอะไร อยู่กับกระดูก อยู่กับเนื้อ อยู่กับหนัง อยู่กับอะไร” แล้วนี่ถ้าเวทนาอยู่กับเนื้อ อยู่กับวัตถุธาตุ “วัตถุธาตุมันเป็นเวทนาไม่ได้” แล้วมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรล่ะ

โยม : คือถ้าเราบอกกับใจเราว่า เขาไม่ได้เป็นอะไร

หลวงพ่อ : ถ้าเราไปบอกไว้ก่อน เป็นสูตรสำเร็จก่อน มันก็หลอกเราอีกชั้นหนึ่งไง เหมือนเราทำกับข้าว กับเราไปซื้ออาหารถุง กับข้าวมันเสร็จมาแล้ว เราทำอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าเราจะทำกับข้าวนี่ เราต้องมีทุกอย่างพร้อมเราถึงจะทำกับข้าว ชนิดไหนก็แล้วแต่

สู้กับเวทนาก็เหมือนกัน เราก็ต้องรู้ก่อนว่ามันมาอย่างไร แล้วมันจะจบกระบวนการอย่างไร แล้วมันปล่อย เหมือนกับเราทำกับข้าวเสร็จ พอเราทำกับข้าวเสร็จปั๊บ โอ้โฮ.. แต่ถ้าเราสำเร็จรูปมาเลย ก็ธรรมะของพระพุทธเจ้าไง

นี่ที่เราบอกว่า “ธรรมะสาธารณะ ธรรมะส่วนบุคคล” ทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามันเป็นอย่างนั้น คนเราเกิดมาแล้วต้องตายๆ แต่กูเห็นร้องไห้ทุกคนเลยแหละ ทุกคนรู้หมดเลย แต่เวลาตายจริงๆ ไม่มีใครห้ามใจตัวเองได้เลยสักคน

นี่ไงที่บอกว่า เรารู้อยู่แล้ว มันก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ... อย่างนี้ใช้ไม่ได้!

ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติเป็น อย่างหลวงปู่มั่น อย่างครูบาอาจารย์เรา ที่เวลาท่านเทศน์ว่าอะไรจำเป็น อะไรที่มันเป็นสิ่งที่สะเทือนที่สุด ความรู้อย่างนี้ไง ท่านข้ามเลย กลัวใครฟังแล้วมันจะไปสร้างภาพ คือมันจำ พอจำแล้วก็เป็นโทษสองชั้นเลย

เพราะอะไรรู้ไหม อย่างเช่นเรานี่ เขาให้กินยาแล้วหายเลย พอไปศึกษาหมดแล้ว โอ้โฮ.. ทำไมเรากินแล้วหาย พอเราไปศึกษาบ้าง คราวนี้กินสองขวดเลย แต่มันไม่หาย กิเลสมันหลอก “อุปทานไง”

โธ่.. เวลาคนเจ็บคนป่วยไปหาหมอ หมอก็บอกเลยนี่ ถ้ามันเป็นโรคจริงก็ได้ ถ้ามันรักษาโรคหายแล้ว บางทีก็เป็นอุปทานแล้ว หมอถึงนิยมคิดอย่างนี้กันมาก

ค่อยๆ ทำไป ปวดเสร็จแล้วมันก็ดีขึ้นเนาะ ถ้ามันพุทโธตลอด แต่มันก็มีอาการอย่างนี้อีก นี่ความเป็นกลางของมัน ความพอดีของมัน ความสมดุล

“มัชฌิมาปฏิปทา คือความสมดุล” ถ้าความสมดุลดี ทุกอย่างจะดีหมด

อันนี้อย่างที่ว่านี่ “ปัญญาอบรมสมาธิ หรือสมาธิอบรมปัญญา”

สมาธิอบรมปัญญานี่มันชัดเจนอยู่แล้ว กำปั้นทุบดินเลย ชัดๆ เลย พุทโธนี่ชัดๆ เลยแหละ แต่ถ้าปัญญาอบรมสมาธินี่ คือเราใช้สติไป เราใช้สติตามปัญญาไป ตามมันไปเลย ตามมันไปนี่แหละ คิดเรื่องอะไรก็ได้ ได้ทุกเรื่อง คิดไปเลย

นี่อาการอย่างนั้นมันมี อาการที่ว่ามันคิดไม่หยุดเลยก็มี บางทีไม่คิดเลยก็มี มันพลิกแพลงมันจะเอาชนะเราตลอดแหละ มันจะเอาชนะเรา.. เราเองนี่แหละ แล้วหลวงตาท่านพูดเลย “มันไม่มีใครทำร้ายเราเลย จริงๆ คือเรานี่แหละทำร้ายตัวเราเอง.. ความคิดเราเอง ทำร้ายเราเอง” ถ้าเรารู้เท่าหมดแล้ว ความคิดจะทำร้ายเราไม่ได้

โยม : ทีนี้อาการของจิตนี่ ถ้าเกิดเราผ่านไปแล้ว เหตุการณ์นั้นมันก็จะไม่กลับมาหรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ : ไม่ “อาการก็คือสันดาน” ฉะนั้นเวลาพระอรหันต์สิ้นกิเลสไปแล้วนี่ ทุกอย่างเหมือนเดิมหมด ขาดไปเฉพาะกิเลส นี้พอเวลาอาการอย่างนั้นที่เราผ่านไปแล้ว มันก็เหมือนกับนักมวยไง นักมวยเวลามันซ้อมทุกวัน ซ้อมวันหนึ่งก็คือวันหนึ่ง ทีนี้อาการนี่เหมือนกับเราซ้อมมวย เห็นไหม พอรุ่งขึ้นเราก็ต้องซ้อมอีก เพราะมันมีของมันตลอด ถ้าเรายังไม่ถอนอุปาทาน

แต่ถ้าเราถอนอุปทานปั๊บ “กุปปธรรม คือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของมัน”

“กุปปธรรม อกุปปธรรม”

เวลามันเกิดดับนี่ธรรมดาของมัน อาการของมันนี่เราผ่าน เราผ่านขนาดไหนคือผ่านโดยสมถะ คือปล่อยวางโดยธรรมชาติของมัน แต่มันไม่ได้ผ่านโดยมรรคญาณ “มรรคญาณ คือมันถอนรากถอนโคน ฟาดฟันขาดหมด”

นี่ไงเวลารวมใหญ่ เห็นไหม “เวลาพุทโธ พุทโธ พุทโธ จนรวมใหญ่เป็นอัปปนาสมาธิเลย” นี่คือรวมใหญ่โดยสมถะ รวมใหญ่โดยสติปัญญาของเรา

เวลาอัปปนาสมาธิ จิตมันสักแต่ว่ารู้นี่ มันหดออกมา จิตกับกายนี้แยกออกจากกันนะ จิตนี้มันสักแต่ว่ารู้ มันไม่รับรู้เพราะว่าอัปปนาสมาธินี่ มันจะไม่ได้ยินเสียง มันจะไม่รับรู้ทางผิวหนัง “อายตนะ หู ตา จมูก ลิ้น กายนี่ไม่รู้อะไรเลย” เหมือนหัวตอนะ “เหมือนนะ.. แต่ไม่ใช่หัวตอ” มันไม่ใช่หัวตอเพราะจิตมันสักแต่ว่ารู้ จิตนี้มันคงที่... รู้! ชัดเจนมากเลย แต่มันไม่ออกรับรู้เรื่องของร่างกาย ไม่ออกรับรู้แม้แต่ความรู้สึกในกายนี้เลย มันแยกออกจากกันเลย

นี่คือการรวมใหญ่โดยสมถะ แต่ถ้าใช้ปัญญาวิปัสสนาไป พิจารณาเรื่องกาย เรื่องอะไรนี่ พอมันถึงที่สุด เห็นไหม นี่หลวงปู่เจี๊ยะท่านได้ตรงนี้ ที่ทรายงาม ตอนพรรษา ๒ เวลามันรวมใหญ่นี่ ถ้ารวมใหญ่โดยปัญญาพิจารณาไปรวมใหญ่ มันปล่อยหมด คือกายกับจิตแยกออกจากกันเลย

“กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส”

ถ้าคนฟังไม่เป็นนะ การรวมใหญ่นี่มันมีอยู่ ๒ อย่าง คือการรวมใหญ่ ที่เป็นอัปปนาสมาธิที่ลึกซึ้งที่มันรวมใหญ่ มันปล่อยกายขณะที่มันรวมใหญ่ คือมันไม่รับรู้ มันปล่อยหมดเลย

แต่ถ้าเป็นวิปัสสนา เวลามันปล่อยนะมันพิจารณาธาตุ ร่างกายนี่คืนสู่สภาวะเดิมของเขา “จิตนี้แยกออกมาต่างหาก โลกนี้ราบเป็นหน้ากลองเลย” นี่รวมใหญ่อย่างนี้ขาดเลย “อย่างนี้คือสกิทาคามี”

ฉะนั้นอย่างที่ว่าที่มันผ่านอาการๆ อาการก็เหมือนการทำสมาธิ เห็นไหม ทีนี้มันไม่ได้ถอนรากถอนโคน แบบกายกับจิตนี้แยกออกหมดเลย มันก็ต้องเกิดอีกเป็นธรรมดา แล้วยิ่งถ้าที่สุดไปแล้ว อย่างเช่นพระอรหันต์

“สอุปาทิเสสนิพพาน” สะคือเศษส่วน เศษส่วนคือความคิดคืออาการ คือความรู้สึกนี่ แต่มันไม่มีอวิชชา พอไม่มีอวิชชา สิ่งที่เกิดขึ้นมันก็เป็นปกติเป็นธรรมดาของมัน

ถ้ามันไม่มีอย่างนี้ เวลาพระพุทธเจ้าเทศน์ หรือครูบาอาจารย์เทศน์นี่ ท่านเอาอะไรมาเทศน์ล่ะ เทศน์ก็คือสามัญสำนึกที่เราสื่อความหมายกันได้ เวลาตาย.. ตูม

“สอุปาทิเสสนิพพาน กับ อนุปาทิเสสนิพพาน คือสิ้นกิเลส” คือว่าตาย เห็นไหม เวลาพระพุทธเจ้าตายถึงบอกไงว่า “เวลาเราฉันอาหารของนางสุชาดา เราถึงซึ่งกิเลสนิพพาน คือฆ่ากิเลสหมด” พอไปฉันอาหารของนายจุนทะ “ถึงซึ่งขันธนิพพาน”

เฮ้ย... ขันธ์นิพพานได้อย่างไรวะ “ขันธ์ ๕ ไง ขันธนิพพาน” เห็นไหม คือว่าร่างกายสละทิ้งแล้ว ท่านหมดกิเลสมาตั้งแต่ฉันอาหารของนางสุชาดา นั่นคือ “ถึงซึ่งกิเลสนิพพาน” แล้วพอไปฉันอาหารของนายจุนทะ “ขันธนิพพาน คือกูละโลกแล้ว กูไปแล้ว”

ฉะนั้นอาการที่มันเป็นนี้ มันต้องเทียบกลับ คือเทียบทั้งไปทั้งกลับไง ถ้าเทียบกลับมาก็อย่างที่ว่านี่ อาการมันเกิดแล้ว มันไม่มีอะไรหายไปหรอก มันอยู่อย่างนั้นแหละ เพียงแต่เราเข้าใจมัน แล้วเราปล่อยวางได้

อย่างที่พูดนี่ “รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร” ถ้าเราไม่เข้าใจนะ ไปๆ มาๆ ความเข้าใจผิด มันก็หมุนให้อารมณ์เราไป พอเราเห็นถูกต้องของมันนะ มันก็เป็นของมันเป็นธรรมดา ก็มีอารมณ์รับรู้อยู่ เพราะเราเข้าใจ

เราเปรียบเหมือนผู้ใหญ่ เห็นไหม เวลารถน้ำมันหมดเราก็รู้ว่าน้ำมันหมด เราก็เอาน้ำมันมาเติม แต่ถ้าเด็กน้ำมันมันหมดนะ มันตีโพยตีพาย มันไม่ยอม มันไม่รับรู้มันไม่ยอม แต่ความเข้าใจของเราคือน้ำมันหมดไง มึงจะทำอย่างไรล่ะ มีอย่างเดียวก็คือเอาน้ำมันมาเติม จะเสียใจดีใจกับอะไรไปล่ะ เอาน้ำมันมาเติมอย่างเดียว นี่ไงความเข้าใจ

แล้วนี่อาการ ไม่หายไปไหนหรอก เพียงแต่ว่าถ้าเป็นสมถะคือความเข้าใจ ถ้าเป็นวิปัสสนา เป็นอริยบุคคลคือตัดขาด แต่ขาดมี ไม่ใช่ขาดสูญ ... ขาด! กิเลสขาดไป

แต่เขาบอกว่านี่ขาดสูญ ถ้าขาดสูญพระพุทธเจ้าจะจำสามเณรราหุลไม่ได้ จำพระเจ้าสุทโธทนะไม่ได้ “เพราะนี่คือขันธ์ ๕ ความจำ... ขาด มี! ”

จบใช่ไหม