ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

อโหสิกรรม

๒๙ ส.ค. ๒๕๕๒

 

อโหสิกรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

หลวงพ่อ : เอาอันนี้ก่อนเลย

ถาม : “การอโหสิกรรม” เจ้ากรรมนายเวรจะได้หรือไม่

หลวงพ่อ : พระพุทธเจ้าสอนแล้ว... ได้แน่นอน!

การอโหสิกรรมเจ้ากรรมนายเวรนี้ เราต้องอโหสิกรรมตลอดเวลา เพราะในสมัยพุทธกาล ชัดๆ เลย มันมีบุรุษสองคน ผลัดกันฆ่ากันมาตลอด แล้วในสมัยพระพุทธเจ้านะ บุรุษสองคนนี้เขาเกิดมาร่วมกันตลอด แล้วก็จะผลัดกันฆ่า ชาติหนึ่งคนนี้ฆ่าคนนี้ อีกชาติหนึ่งจะผลัดกันอยู่อย่างนี้ทุกชาติเลย แล้วมาชาติสมัยพระพุทธเจ้านะ เขาเป็นเพื่อนกัน แล้วก็ออกไปเที่ยวป่า พอเที่ยวป่านะ คนหนึ่งนอนหลับ อีกคนตื่นขึ้นมาก็มีความผูกพัน เพราะมันฝังใจ

เพื่อนกันนะคิดว่าจะฆ่าเพื่อน พอกำลังจะทำการฆ่าเพื่อน พระพุทธเจ้ามาโดยฤทธิ์มาเลย พอพระพุทธเจ้ามาโดยฤทธิ์นะ บอกว่า “หยุดก่อนหยุดก่อน หยุด” พอหยุดแล้วนะ บอกให้ปลุกเพื่อนที่นอนหลับขึ้นมา ถ้าพระพุทธเจ้าไม่มานะ คนนี้ตายแน่นอน เพราะว่าชาติที่แล้วทำเขาไว้ คือกรรมมันให้ผลไง เพราะตัวเองก็เคยทำเขาไว้ มันผลัดกันอย่างนี้มาตลอด

พอถึงชาติปัจจุบันนี้พระพุทธเจ้าบอกว่าให้ปลุกเพื่อนขึ้นมา คนที่จะฆ่าก็ปลุกเพื่อนขึ้นมา เพราะเพื่อนกันอยู่แล้ว ก็ปลุกขึ้นมา พอปลุกขึ้นมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเทศน์เลย

สองคนนี้ผลัดกันฆ่าอย่างนี้มาเป็นร้อยๆ ชาติ ให้สองคนนี้อโหสิกรรมต่อกัน ให้อภัยต่อกัน ให้ทำความเข้าใจต่อกัน พอมันยกตรงนี้ออกเห็นไหม มันหมดเลย ถ้าไม่อย่างนั้นนะ มันฝังใจไง

อย่างจิตใต้สำนึกเราคุมไม่ได้ มันมีอะไรก็แล้วแต่ คิดเรื่องอะไรก็แล้วแต่นะ มันจะจบลงว่าฆ่าคนนี้ จะคิดอะไรก็แล้วแต่ มันจบลงว่าต้องฆ่ามัน จะเป็นเรื่องอะไรก็แล้วแต่ “เออ.. อภัยให้มันนะ ดีกับมันเนาะ เป็นเพื่อนกันเนาะ” คิดดีหมดแหละ สุดท้ายนะ ไปจบลงว่าต้องฆ่ามัน เพราะมันเป็น “เรื่องของกรรม” เราจะดีขนาดไหนมันจะจบลงตรงนั้นไง

ทีนี้พระพุทธเจ้ามาด้วยบุญบารมีของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้ารู้ถึงอดีต รู้ถึงก้นบึ้งในใจของ ๒ คนนี้ไง ว่า ๒ คนนี้มีกรรมอะไรต่อกัน ฉะนั้นถึงว่าให้อโหสิกรรมต่อกัน นี่ในสมัยพุทธกาลก็มี

ทีนี้การอโหสิกรรมต่อกัน ถามว่าได้หรือไม่ได้ ถ้าพูดทางวิทยาศาสตร์ เหมือนอย่างที่เราพูดตอนเช้า คนรุ่นใหม่มันจะหัวเราะเยาะพวกเราชาวพุทธนะ หัวเราะเยาะว่า “มันทำแล้วจะได้อย่างไร”

นี่ไงไอ้ที่ว่าทำแล้วไม่ได้ มันเลยย้อนกลับเข้าไปในหนังสือนั่นแหละ เขาบอกว่า หลวงปู่ดูลย์บอกว่า “จิตหาจิตไม่ได้ เอาจิตค้นหาจิตไม่ได้” กูบอกว่า...ได้!

เอาจิตค้นหาจิต มันจะได้หรือไม่ได้ มันอยู่ที่การทำว่าถูกหรือผิด ถ้าทำผิด เอาอะไรค้นมันก็ไม่เจอหรอก แต่ถ้าทำถูกต้องนะ เพราะอะไร เพราะความอยาก

สติปัญญามาจากไหน ก็มาจากจิต มาจากจิตแล้วก็กลับไปค้นหาจิต แต่นี่เราทำให้ถูกต้อง.. ได้!

แต่ถ้าทำไม่ถูกต้อง ทำอย่างไรก็ไม่ได้ เอาอะไรทำก็ไม่ได้ ก็มันผิด “มิจฉา กับ สัมมา” ถ้าเป็นมิจฉาก็ผิดไปเรื่อยๆ ทำโดยมิจฉาจะผิดไปเรื่อยๆ ถ้ามิจฉาผิดไปแล้ว “แต่เราแก้ไขให้มันเป็นสัมมา มันก็ถูกได้”

“การอโหสิกรรมต่อกัน การให้อภัยต่อกัน” เห็นไหม อย่างนี้ เขาจะดูถูกนะ ว่า “มันจะเป็นไปได้อย่างไร”

โธ่.. ที่ว่าหลวงปู่มั่น ท่านธุดงค์ไปทางเชียงใหม่ เห็นไหม แล้วพอเวลาเข้าสมาธิไป มันว่างหมด มีสามเณรกับพี่สาว พี่สาวเป็นชี น้องเป็นสามเณร เขาสร้างเจดีย์ พอทีนี้สร้างเจดีย์ไม่เสร็จ ด้วยความผูกพัน มาเกิดเป็นเปรตนะ ทำบุญ สร้างเจดีย์ สร้างวิหาร แทนที่เขาจะได้ไปอยู่บนวิมาน ไปอยู่บนฟ้า แต่ไอ้นี่สร้างแล้วกลายเป็นเปรต กลายเป็นเปรตก็มาเฝ้า เดินวนอยู่นั่นแหละ

พอหลวงปู่มั่นทำจิตสงบเข้าไป เอ๊ะ.. ทำไมเดินอยู่ตรงนี้ตลอด เห็นไหม เพราะว่าภาษาใจ ภาษาใจแล้วถามว่า “ทำไมมาเดินวนอยู่ตรงนี้ล่ะ” ก็สองคนพี่น้อง อุตส่าห์พยายามจะสร้างเจดีย์กัน ทีนี้พอสร้างเจดีย์ไม่เสร็จ ก็ตายเสียก่อน เพราะคำว่าสร้างเสร็จ ก็คิดว่าถ้าเสร็จแล้ว มันจะบุญเยอะใช่ไหม เราทำงานก็อยากให้เสร็จสมบูรณ์ ทีนี้พอไม่เสร็จ มันก็เลยผูกพัน

เราจะเน้นตรงนี้ ตรง “ความผูกพัน” พอมีความผูกพัน มันก็อาลัยอาวรณ์ ความผูกพัน ก็ให้มาเกิดเป็นเปรต เฝ้าอยู่นั่น เดินวนอยู่นั่นแหละ เดินซ้ำๆ วนๆ อยู่นั่นแหละ หลวงปู่มั่นท่านเทศน์ว่า มันอยู่ที่การอโหสิกรรม การให้อภัยต่อกัน มันให้ผลตรงนี้ไง

หลวงปู่มั่นก็เทศน์นะ “เราตั้งใจทำความดีใช่ไหม.. ถ้าเราตั้งใจทำความดี เราตั้งใจทำ แล้วเป็นความดีหรือยัง” “เป็นแล้ว”

ทีนี้พอคนตั้งใจทำความดีแล้ว บางทีมันไม่มีที่สิ้นสุด เห็นไหม แบบว่ามันไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ว่ามาตายซะก่อน พอตายซะก่อนนั้น แต่ความดี ก็คือความดีแล้วใช่ไหม

“ความดีที่ทำ เป็นความดีหรือยัง” “เป็นความดีแล้ว” เราทำความดี มันก็เป็นความดีแล้ว เราไปผูกพันทำไมล่ะ เห็นไหม คลายตรงนี้ออก

“ความผูกพัน” ถ้าความผูกพัน ก็เหมือนกับเรามีความผูกโกรธ ความอาลัยอาวรณ์ อย่างนี้เป็นเวรกรรม เวรกรรมอยู่ตรงนี้ ตรงที่ “ความเจตนา ความจงใจ” แต่พอมันสละตรงนี้ออก เห็นไหม ก็ไปเกิดเป็นเทวดาเลย เพราะบุญมันเกิดแล้ว พอบุญมันเกิดแล้ว มีบุญมันก็ไปได้หมด อย่างเช่นเราอยู่ในน้ำ แล้วเรามีเครื่องชูชีพ เครื่องชูชีพมันพยุงเราไว้ ทำให้เราไม่จมน้ำ

นี่ก็เหมือนกันบุญมันมีอยู่แล้ว เห็นไหม มันพยุงไว้แต่ตัวเองไม่ไป ด้วยความผูกพันว่าเราสร้างเจดีย์ไม่เสร็จ เราก็ผูกพันอยู่กับมัน พอถึงที่สุดพอคลายตรงนี้ปั๊บ ก็ไปเลย... “อย่างนี้คือการอโหสิกรรม”

มันมีว่าการอโหสิกรรม อย่างเช่นเราตกทุกข์ได้ยาก หรือเรามีอะไรผูกพันในหัวใจ เราขออโหสิกรรม ถ้าเขาให้ เขาเห็นด้วย กรรมนั้นจะหมดเลย แต่ถ้าเราขออโหสิกรรมต่อเขา แล้วเขาไม่ให้ เห็นไหม “เขาไม่ให้”

มันมีอีก ๒ อย่างนะ ถ้าอโหสิกรรมต่อกัน อย่างที่ว่าสมัยพระพุทธเจ้า สองคนนั้นผลัดกันฆ่านั่นแหละ ถ้าอีกคนหนึ่งยังผูกโกรธอยู่ ไม่ยอม เห็นไหม ไม่ยอมก็คือไม่ยอม เขาก็จะทำของเขา

ทีนี้พอทำของเขา มันยิ่งกรรมหนักเข้าไปอีก เพราะอีกฝ่ายหนึ่ง อโหสิกรรมแล้ว คือว่าหมดพิษหมดภัยแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งยังอาฆาตอยู่ ยังทำอยู่ ทีนี้กรรมมีฝ่ายเดียวแล้ว เราไม่มีแรงตอบโต้ใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราขออโหสิกรรม หรือว่าเราแผ่เมตตาไปแล้ว เจ้ากรรมนายเวร มันมีนะ ที่เขาทิฐิมานะ ที่เขาไม่เอา เขาไม่ยอมมันก็มี ในสังคมทุกสังคม มีทั้งคนดีและคนชั่ว ในทุกสังคมมันจะเป็นอย่างนั้น

อย่างเรานี่เห็นไหม ในหมู่คณะกัน เฮ้ย.. ขอโทษเถอะ เฮ้ย.. ขออภัย ขอโทษ บางคนก็ให้นะ บางคนก็ไม่ยอมนะ ทุกอย่างมันเป็นอย่างนี้ ในทุกๆ อย่าง ทุกๆ สังคม มีดีและไม่ดีปนกัน

แต่สำหรับเรา เราเป็นชาวพุทธ เราเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนวิธีการนี้ไว้ พระพุทธเจ้ารู้แจ้งกระบวนการของหัวใจ ที่มันเวียนตายเวียนเกิด ถ้าเราเป็นอย่างนี้ปั๊บ เราต้องพยายามทำให้มันเบาบางลงไป

เราเชื่อพระพุทธเจ้า เราเชื่อศาสดา เราทำของเรา แต่ด้วยกิเลสตัณหา ด้วยความทิฐิมานะของเขา เขาจะให้หรือไม่ให้ มันเป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่อโหสิกรรม ถ้ามันจะได้ผลหรือไม่ได้ผล มันอยู่ที่ตรงนี้ไง ตรงที่จิตใต้สำนึก หรือความแค้นอาฆาตของเขา เขาจะรับหรือไม่รับ บางทีไม่รับ ถ้าไม่รับ เราก็ทำข้างเดียว

คือไม่รับอย่างไร เราไม่มีทางออกนะ ทางออกนี้พระพุทธเจ้าบอกว่า “แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร” นี่ไง ถามว่าแพ้เป็นพระเป็นอย่างไร อ้าว.. ก็แพ้เป็นผู้ประเสริฐไง แพ้เป็นพระ แล้วถ้าชนะล่ะ ก็เป็นมารไง มันเอาชนะเรา เดี๋ยวมันก็ไปล่อคนอื่นอีก เดี๋ยวมันโดน

“แพ้เป็นพระ เราเป็นแพ้นะ เราเป็นแพ้ฝ่ายดี”

เวลาเราพูดอย่างนี้บ่อยมากเลย ว่า “แพ้เป็นพระ แพ้เป็นพระ” แต่เห็นซัดเขาเรื่อยเลย เราแพ้เป็นพระ แต่ที่เราซัดกับเขาเรื่อย คือเราซัดเป็นธรรมะนะ คือเราบอกวิธีการ บอกว่าอะไรถูกอะไรผิด

เวลาเราเทศน์ เวลาพูดแรงๆ เราไม่ได้พูดเพื่อจงใจทำร้ายใคร เราพูดถึงสิ่งที่เขาบอกพวกเรา ว่ามันถูกหรือผิด คำสอนที่เขาให้เราทำ ทำแล้วมันถูกหรือผิด เราไม่เคยจงใจทำร้ายใครเลย แต่ธรรมะ สิ่งที่เขาสอนให้เราทำนั้น มันทำให้พวกเราเฉไฉ ทำให้พวกเราเสียโอกาส ทำให้พวกเราตกไปจากทางที่เราจะก้าวหน้าได้

ที่เราพูดก็เพราะเหตุนี้ เหตุที่พวกเราทำแล้วจะได้คุณงามความดีกัน ปฏิบัติแล้ว จะได้ความสุขกัน ปฏิบัติแล้ว เพื่อเป็นประโยชน์กับเรา แต่มันเฉไฉ ไปทำแล้วเป็นขี้ลอยน้ำ มันทำแล้วสักแต่ว่า ไม่ได้อะไรมาเป็นมรรคเป็นผลเลย

นี่เราพูดเพราะเหตุนี้ นี่เห็นไหม “แพ้เป็นพระ แพ้เป็นพระ” แต่เห็นล่อเขาทุกวันเลย แล้วบอก “แพ้เป็นพระ” อ้าว.. แพ้เป็นพระจริงๆ นะ ที่เราพูดไปนี้ไม่ใช่พูดเพื่อเรานะ เราไม่ได้พูดเพื่อตัวเรา เพราะว่าเราไม่สงสัย ถึงสิ่งที่เขาสอนเลย เห็นไหม ถ้าสงสัยสิ่งที่เขาสอน เราจะอธิบายได้ไหม เป็นฉากๆ เลย ว่ามันผิดอย่างไร มันขึ้นต้นตรงไหน แล้วมันจะไปลงตรงไหน แล้วผลตอบมันจะเป็นอย่างไร

เราสงสัยไหม เห็นเราลังเลสงสัย ในคำสอนของเขาว่าถูกหรือผิดไหม เราจะต้องไปเป็นเหยื่อเขาไหม เราไม่เป็นเด็ดขาด! เราไม่เป็นเหยื่อเขาเด็ดขาด! แล้วเราเห็นความผิดพลาดของเขาด้วย

ฉะนั้นเราไม่ได้สงสัย ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากเขาเลย แต่ที่เราพูด เห็นไหม ถ้าเราสงสัยนะ เรายังมีได้มีเสียกับเขา เราพูดก็เพื่อตัวเรา แต่นี้ไม่ใช่ อัดเขาทุกวันเลย อัดเขา เพราะว่าชี้ให้มันเห็นถูกเห็นผิดไง

กลับมาแพ้เป็นพระอย่างเดิม “แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร”

ไม่ต้องการเอาชนะคะคานใครทั้งสิ้น แต่อยากให้ศาสนา อยากให้คำสอน อยากให้ทุกอย่าง มันสะอาดบริสุทธิ์ ให้สัจธรรมนี้ มันเป็นสัจธรรม ไม่ปฏิรูป มันเป็นสัจธรรมของจริง มันเป็นสิ่งที่พวกเราจะทำ แล้วได้ประโยชน์ขึ้นมาจริงๆ ทำได้

ทีนี้เจ้ากรรมนายเวรนี่ เราขออโหสิกรรมต่อเขา เราทำคุณงามความดี นี่พุทธศาสนาสอนอย่างนี้ สอนการให้อภัยคนที่ผิดพลาดไปแล้ว “ประเพณี อริยประเพณี”

“อริยประเพณี วันมหาปวารณา” เวลาพระปวารณากัน “ถ้าใครทำผิดพลาด ให้ติเตียนผมด้วย.. ถ้าผมทำผิดพลาด ให้ตักเตือนผมด้วย” ปวารณากับหมู่สงฆ์ ถ้าหมู่สงฆ์เห็นพระทำไม่ดี หมู่สงฆ์ก็คอยเตือนคอยบอก เห็นไหม

นี่ไง ขออโหสิกรรมต่อกัน ขอปวารณา ให้คอยบอกเราด้วย ถ้าเรามีความผิดพลาด ขอให้บอกด้วย นี่อริยประเพณี ถ้าเราทำความผิดพลาดขึ้นมา แล้วใครชี้ว่าเราผิดนะ โอ้โฮ.. สาธุเลย เพราะเราไม่เห็น

หลวงตาสอนประจำ “ถ้าความผิดของเรา เรายังค้นได้ เรายังหาได้ ความผิดของเรา เรารู้ว่ามีความผิด คนอื่นเห็นหมดเลย” เพราะเวลาเราทำ เราไม่รู้ตัวหรอก ถ้าเรายังเห็นว่าเราทำผิด

อย่างเราทำอะไรผิดพลาดบ้าง พูดเร็ว พูดแล้วคนอื่นฟังไม่ทัน นี่เราก็รู้ว่าเรามีอะไรผิดบ้าง ใครๆ มาก็บอกว่า อู้ฮู.. พูดนี้ฟังไม่ทันเลย ปีนบันไดฟังก็ยังไม่ได้ ความผิดอย่างนี่ ว่าแต่เขาเราก็ต้องว่าตัวเราด้วยเนาะ ชี้แต่ความผิดคนอื่น ถ้าความผิดของเรา เรายังค้นหาได้ คนอื่นจะเห็นความผิดของเรา

ฉะนั้นเราแก้ไขที่นี่ ถ้าเราทำที่นี่ พุทธศาสนาสอนอย่างนี้ “การอโหสิกรรมมีผล ให้ผลตามธรรมเลย” แล้วดูอย่างเวลามีปัญหาขึ้นมา เห็นไหม บอกว่าไปทำบุญกับหลวงตา ทำบุญกับครูบาอาจารย์ที่เรามั่นใจ แล้วเราก็ขออโหสิกรรม เพราะบุญกำลังมันดีไง

อย่างที่วันนั้นเขามา เห็นไหม เขาไม่มีเวลาใช่ไหม แล้วเขาบอกว่า โทษนะ เขาฝันว่าเขาจะหมดอายุภายใน ๗ วัน โอ้โฮ.. มากันทั้งครอบครัวเลย ญาติทางภรรยาก็มา ลูกก็มา เพราะไม่อยากให้เสียไป เราบอกว่า ถ้าอย่างนั้นนะ มึงไปหาหลวงตาเดี๋ยวนี้เลย ขึ้นไปอุดรฯ เลย แล้วไปซื้อวัวที่มันจะโดนฆ่าจริงๆ นะ ให้ไปซื้อวัวออกมาเลย แล้วเอาไปถวายหลวงตาเลย

เขาก็ซื้อวัว แล้วไปถวายหลวงตา แล้วพอถวายหลวงตาเสร็จแล้ว มันเกิน ๗ วันมาแล้ว สัก ๑๐ วันเขาก็มาหาเรา บอกเกิน ๗ วันแล้วหลวงพ่อ แล้วเขาก็มาถามว่า ทำไมหลวงพ่อต้องให้ไปไกลขนาดนั้น ตอนนั้นมันกลัวใช่ไหม ให้ทำอะไรก็ทำตามทั้งนั้นแหละ เขาถามว่า ทำไมหลวงพ่อต้องให้ไปถึงอุดรฯ นู้นแน่ะ

เราบอก กูไม่เชื่อใจใครเลยไง กูไม่เชื่อใจใคร ไม่เชื่อใจพระองค์ไหนเลย ว่าพระองค์ไหนมีคุณธรรมสูงส่งเท่ากับหลวงตากู

ฉะนั้นเกี่ยวกับชีวิตของมึง แล้วมึงจะเอาความอย่างนี้ไปผูกไปพันไว้กับใคร มึงก็ต้องเอาสิ่งที่เรามั่นใจว่า ครูบาอาจารย์นี้เป็น “เนื้อนาบุญของโลก” ทำบุญแล้ว มันจะได้บุญเต็มเม็ดเต็มหน่วย เห็นไหม

พอเขาไปซื้อวัวคู่หนึ่งเลย แล้วเอาไปถวายหลวงตา นี่เขามาเล่าให้ฟังทีหลังนะ แล้วภายใน ๗ วันนั้น เขาก็รอให้พ้น ๗ วันไง ช่วง ๗ วันนั้น เพื่อนก็ชวนไปเที่ยวนู้นเที่ยวนี่ ใจก็ไม่อยากไป เพราะมันฝันไม่ดีไง แต่มันก็เกรงใจเพื่อนนะ ละล้าละลังให้มันครบ ๗ วัน พอพ้น ๗ วันไปเขามาหาเราแล้ว “เฮ้อ.. หลวงพ่อ พ้น ๗ วันไปแล้ว” แล้วก็มาต่อว่านี่แหละ ทำไมต้องให้ไปถึงอุดรฯ นู้นแน่ะ

เราก็บอกเลย เพราะว่า“เนื้อนาบุญ”ไง นี่อโหสิกรรม เห็นไหม เราทำบุญกุศลกับครูบาอาจารย์ แล้วอุทิศเลย อันไหนที่เป็นเนื้อนาบุญ มันให้ผลตอบแทนที่ดี มันจะได้ผลมากไง

แล้วนี่พอเราอุทิศแล้ว เราทำแล้ว ทำไมเรายังทุกข์ยังยากอยู่อย่างนี้ล่ะ

“กรรมเป็นอจินไตย! กรรมเป็นอจินไตย! อจินไตย ๔ !”

พุทธวิสัยคือปัญญาของพระพุทธเจ้า เรื่องของโลกเป็นอจินไตย เรื่องของฌานสมาบัติ เรื่องความสงบนี้ มันลึกลับซับซ้อน มันจะเป็นอจินไตย

เรื่องของกรรม ๔ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าบอกว่า “ใครเอามาเรียง คาดการณ์ให้เป็นอริยสัจไม่ได้เลย”

ทีนี้กรรมเป็นอจินไตย อจินไตยเพราะเราเกิดเราตายมานี่ มันลึกลับซับซ้อนมายาวไกลนัก

ดูอย่างพระโมคคัลลานะสิ พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายนะ ใครจะมาทุบ เหาะหนีถึง ๓ หน แล้วเอาวิทยาศาสตร์โดยปัจจุบันนี้ ฆ่าพระโมคคัลลานะไม่ได้หรอก ฤทธิ์ขนาดนั้นใครจะฆ่าได้ ฆ่าไม่ได้หรอก

พอฆ่าไม่ได้ พระโมคคัลลานะก็มาดูว่า เอ๊ะ.. เป็นเพราะอะไร เหาะหนีถึง ๓ ครั้งแล้วนะ เขาจะมาทุบนี่ เหาะหนีๆ มา ๓ หนแล้ว นี่เป็นเพราะอะไร อ๋อ.. โทษนะ เคยทุบแม่ไว้ชาติหนึ่งไง มันตามมา

นี่เราบอกว่า ถ้าอโหสิกรรมแล้ว มันทำทุกอย่างแล้ว ทำไมมันยังทุกข์อยู่ มันไม่จบหรอก

“ชาติปิทุกขา” ความเกิด ชาติไง “ชาติปิทุกขา” ทุกข์คืออะไร อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

“ชาติปิทุกขา ชราปิทุกขา” การเกิด เน้นจำเพาะเกิดเลย เพราะเกิดมานี่ มันก็มีทุกอย่างมา ทีนี้พอมีทุกอย่างมาแล้ว เราก็ทำดีที่สุด อะไรที่กระทบกระเทือนบ้าง ชีวิตใครมันจะราบเรียบไปหมด

พระพุทธเจ้า เห็นไหม พราหมณ์นิมนต์ไว้ ยังไม่ใส่บาตรตั้ง ๓ เดือน พระพุทธเจ้าเป็นศาสดานะ กินข้าวกล้องที่เอามาบด เพราะไม่มีใครใส่บาตร นี่เวลากรรมมันให้ผล

ฉะนั้นถ้าอย่างนั้นปั๊บ ถ้าเราอโหสิกรรม ทำทุกอย่างให้มันเบาบางไป แล้วประสาเรา “วัวงานก็ก้มหน้าก้มตาทำดีไปนี่แหละ” มันจะโดนอะไรก็ อื๊อ! อื๊อ! ทนเอา

เรานี่เวลาพูดจะพูดอย่างนี้ แล้วโดยนิสัย เราเป็นคนจริงคนหนึ่งไง แต่เวลาอยู่ข้างใน เห็นไหม เขามาโจมตี เขามาด่ามาว่า เราไปทำใครบ้าง เห็นไหม เราก็เฉย “แพ้เป็นพระไง”

แพ้เป็นพระจริงๆ นะ เขาโจมตี เขาด่าว่ามากตอนอยู่ข้างใน ด่าสุดๆ เอาขี้มาปาเลย ทุกอย่างพร้อมหมด เห็นไหม เวลาพูดนี่พูดอย่างนั้นแหละ แต่ไม่เคยโต้ตอบนะ ไม่โต้ตอบ แล้วกรรมมันให้ผลเขาเอง ตายไปหลายศพ กรรมให้ผลเขาเอง เขาทำของเขาเอง เขาก็ได้ผลของเขาเอง

นี่พูดถึงการอโหสิกรรมไง อโหสิกรรมต้องทำอย่างนี้ แล้วถ้าทำแล้ว ชีวิตเรายังเป็นอย่างนี้อีก เพราะชีวิตเรามันจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ

คำว่าดี.. ดีที่ไหน ดีที่ใจเรา ใจเรานี่มันเข้าใจ มันเห็น เข้าใจเรื่องชีวิต เข้าใจเรื่องกรรม เห็นไหม เราทำดีขนาดนี้ ยังมีกรรมขนาดนี้ แล้วคนอื่นที่มันทุกข์ยากกว่าเราล่ะ แล้วเขาเข้าใจในชีวิตเขาไหม เขาเข้าใจในกรรมของเขาไหม เขาได้แก้ไขไหม

เขาไม่ทำอะไรเลยนะ เขายังต้องตาบอด ดำไป ตาบอดแล้วน้ำขุ่นๆ ดำไป ไอ้เรายังตาใสๆ นะ เพราะเรายังเข้าใจเรื่องชีวิต เรื่องอะไร แล้วเราพยายามต่อสู้เอา

โธ่.. อย่างเรานี่สร้างบุญมหาศาลมากเลย สร้างบุญมาล้นฟ้าเลย มานั่งภาวนาตลอดรุ่ง มันก็ปวดเหมือนกันแหละ อ้าว.. บุญไม่เห็นช่วยกูเลย ก็กูสร้างบุญมาเยอะแยะเลย นั่งไป พุทโธ พุทโธ ทำไมมันปวด น่าดูล่ะ เห็นไหม เหมือนกัน เพราะมันเป็นความจริง เราต้องต่อสู้ไง

อู้ฮู.. กูสร้างบุญมาเยอะแยะเลยนะ นั่งแล้วจะไม่มีเวทนา นั่งแล้วจะไม่ปวดเลย อย่างนี้มันมีไหม เราสร้างบุญมาล้นฟ้าเลย มานั่งคืนหนึ่งสัก ๒ ชั่วโมง โอย.. โอย.. แล้ว

มันก็อันเดียวกัน! แต่ถ้าใจมันเข้าใจแล้ว มันก็จบไง เราต้องเป็นความจริงอย่างนั้น แล้วต้องสู้อย่างนั้น

เรามีบุญนะ จริงๆ มีบุญ เพราะดูอย่างเทวดาเขาให้พรกัน เวลาเทวดาจะตายหรือหมดอายุ เวลาหมดอายุแล้ว ขอให้ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์เถิด แล้วให้พบพระพุทธศาสนา จะได้ทำบุญกุศลไปเกิดเป็นเทวดาอีก เพราะเทวดาเขาอวยพรกันได้แค่นั้น

นี่เราเกิดเป็นมนุษย์ที่เทวดาเขาอวยพรแล้ว แต่เราไม่ใช่ว่าจะไปเกิดเป็นเทวดาอีก เราจะทำที่สุดแห่งทุกข์เลย กูจะเกิดสูงกว่าเทวดาเลยล่ะ

นี่มนุษย์มีคุณค่าขนาดนั้นนะ ฉะนั้นเมื่อเรามีบุญแล้ว ทุกข์ๆ อย่างนี้แหละมีบุญ ไอ้ทุกข์ๆ ยากๆ นี่แหละ ไอ้ที่นั่งเจ็บๆ ปวดๆ นี่แหละมีบุญแล้ว เพราะมันได้สู้กับความจริง

ถ้าไม่ได้ทุกข์ มันก็ไม่มีอริยสัจน่ะสิ ถ้าไม่ได้ทุกข์ เราก็ไม่ได้สู้กับชีวิตน่ะสิ เราก็ไม่ได้ความจริง ก็เทวดาเขาอวยพรให้เกิดเป็นมนุษย์ แล้วทำบุญแล้วได้เกิดเป็นเทวดาอีก

เราเกิดเป็นมนุษย์ เราจะสิ้นสุดแห่งทุกข์เลย เห็นไหม ฉะนั้นเรามีบุญแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่ประสบในชีวิตนี้ ต้องสู้!

แล้ววิกฤตในชีวิตนะ เป็นอย่างนี้ทุกคน ถ้าถึงคราว ขนาดพระพุทธเจ้ายังมี เวลาพระพุทธเจ้านี่ เราได้คำนี้มาเป็นธรรมะชโลมใจเราตลอดเวลานะ ตอนที่เราโดนเขากระทำรุนแรง นึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่า

“ในโลกนี้ คนที่โดนโลกธรรม ๘ โดนติฉินนินทา ไม่มีใครโดนรุนแรงเท่ากับเรา คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

นี่พระพุทธเจ้าเตือนพระไว้ในพระไตรปิฎก เราไปอ่านเจอไง พระพุทธเจ้าบอกเลยนะ ถ้าพวกเธอ โดนโลกธรรมรุกราน โดนโลกธรรมรุนแรง คือโดนเขาติฉินนินทา โดนเขากลั่นแกล้ง โดนเขาทำร้าย ให้นึกถึงเราว่า

“ไม่มีใครโดนรังแกหรือกลั่นแกล้งเท่ากับเรา ในโลกนี้เราโดนหนักที่สุด!”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดนหนักที่สุดเลย! แต่เพราะใจท่านเป็นศาสดา เห็นไหม ท่านถึงแบบว่า อย่างที่หลวงตาว่าไง “มันเป็นเรื่องเวทนา มันนอกจากจิตไง”

เรื่องกายกับเรื่องจิต เรื่องกายคือเรื่องขันธ์ ๕ นี้ มันเข้าไม่ถึงจิต นี่มันกระทบได้ตรงนี้ ไอ้กรรมเก่านี้ มันกระทบได้ที่ร่างกายเรา

ดูอย่างพระองคุลิมาล เห็นไหม กระทบได้แต่ร่างกาย กระทบได้แต่ขันธ์ ๕ คือความรู้สึก เขาด่าก็รู้ เขาด่าเอ็งไม่ได้ยินเหรอ ก็ได้ยินสิ แต่มันไม่กระเทือนถึงหัวใจไง

นี่เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น มันเลยไม่กระเทือนถึงใจ ไอ้เรามันกระเทือนขนาดไหน เราก็ต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง

แล้วอโหสิกรรมนี่ได้บุญ! ได้! อโหสิกรรมเจ้ากรรมนายเวร ที่มีเวรมีกรรมต่อกัน

ไม่อยากพูดมันจะยาว อย่างพระนาคิตะ เห็นไหม ที่เทวดามายับยั้งกลางอากาศ หลวงตาบอก นี่ญาติกัน เห็นไหม เจ้ากรรมนายเวร มาช่วยมาส่งมาเสริม มาส่งมาเสริมก็มี มาทำให้เราได้ดิบได้ดีก็เยอะ แต่ถ้ามีการกระทบในชีวิตประจำวัน เราต้องสู้ไง “สู้เป็นความเพียรชอบ”

สู้ เห็นไหม อย่างฟุตบอล ถ้ารุกมีโอกาสชนะ ถ้ายันไว้ มีเสมอกับแพ้ ถ้าชีวิตเรา เราพยายามต่อสู้ เราก็มีโอกาสของเรา ต้องสู้ ไม่ใช่ยันไว้ เพื่อรอให้เขายิงประตู มีเสมอกับแพ้นะ รอวันแพ้ กับ เออ.. แพ้ก็แพ้ กูชนะบ้างก็ยังดี ยังรุกบ้าง ได้ยิงเขาบ้าง เห็นไหม

ชีวิตต้องสู้ สู้ตลอด

เรานี่ดันมาตลอดเลย ทั้งๆ ที่ไม่ต้องทำก็ได้นะ แต่ก็ยังทำมาตลอด เห็นไหม ชีวิตต้องสู้เนาะ นี่อโหสิกรรม

ถาม : ระดับธรรมะที่บอกกับผู้อื่นได้ โดยที่ไม่ต้องเสี่ยงกับการบอกผิด คือระดับธรรมะของภูมิธรรมของตนใช่หรือไม่

หลวงพ่อ : ใช่! ระดับธรรมะในกรรมฐานเรา ธรรมะนี่ให้พูดกัน ให้ปรึกษากัน แต่เวลาปฏิบัติ เขาไม่ค่อยพูดกันออกมา เพราะพูดธรรมะออกมาแล้วนี่ มันกังวลไง อย่างเช่นเราพูดธรรมะ เราบอกว่า “สมาธิเป็นอย่างนั้นๆ” แล้วพอพูดออกไปแล้ว มันกลับไปกุฏิ กลับไปเดินจงกรม อื๊อ.. เราพูดผิดหรือเปล่าวะ เอ๊ะ.. เราพูดไปนี่จริงหรือไม่จริงนะ

เพราะคำพูดของเราเอง มันทำให้เราวิตกกังวล “วิตกกังวลนี่คือเป็นนิวรณธรรม” ฉะนั้นนิวรณธรรมนี้ มันจะกั้นสมาธิ ถ้าเราไม่พูด เราพยายามเฉย เราพูดกันแต่ปฏิสันถาร คือการทักทายกัน แต่ความเห็นของเรา เราเก็บไว้ในใจก่อน แล้วปฏิบัติไปเรื่อยๆ อันนี้มันจะทำให้เราปฏิบัติได้ง่ายไง

ทีนี้การบอกระดับธรรมไหน ที่เราจะบอกกับคนอื่นได้ ไอ้บอกคนอื่นได้นะ เราไม่ต้องบอกเฉพาะที่เรารู้ สมมุติว่า ไม่ใช่สมมุติ ความจริงนี่แหละ อย่างญาติพี่น้อง หรือคนใกล้ชิดเรา ถ้าเราจะพูดถึงธรรมะ เราก็อ้างพระพุทธเจ้าไง

“อภิธรรม” มันยังบอกพระพุทธเจ้าทั้งนั้นแหละ อภิธรรม บอกพระพุทธเจ้าทั้งนั้นแหละ แล้วทำไมเขาอ้างได้ล่ะ ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้นๆ แต่ความจริงของเรา อย่างเช่นทุกคนมาอยู่ที่นี่ จะบอกเลยว่า อยากจะดึงพ่อแม่นี่ทำอย่างไร จะเอาธรรมะไปบอกพ่อแม่

เราบอกว่า ถ้าบอกพ่อแม่นี่ไม่ต้องเลย ถ้าบอกพ่อแม่นะคือตัวเรานี่ ตัวเรานี่แหละ เอาตัวเราเป็นธรรมะ ถ้าเราเป็นคนดี เราทำในหลักในเกณฑ์ พ่อแม่จะบอกว่า โอ้... ทำไมลูกเราเป็นอย่างนี้ ลูกเราได้มาจากไหน อย่างนี้พ่อแม่จะสนใจมากนะ แต่ถ้าเราไปสอนธรรมะหรือไปบอกพ่อแม่ พ่อแม่จะบอกว่า “กูอาบน้ำร้อนมาก่อนมึง”

ไม่ฟังหรอก ไม่ฟังหรอก ถ้าพ่อแม่ เราจะต้องทำตัวเราให้ดีให้พ่อแม่เห็น แล้วถ้าพ่อแม่บอกว่า

“เอ๊ะ.. เมื่อก่อนไม่เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ”

“อ๋อ.. ก็หนูปฏิบัติธรรมไง! นี่ไง.. ธรรมะมันกล่อมใจหนูไง”

“โอ้โฮ.. จริงเหรอ”

“จริง”

เห็นไหม การจะสอนพ่อแม่ ต้องสอนโดยเอาตัวเราให้ท่านเห็นผลไง แต่ถ้าเราจะไปพูดธรรมะ ถามว่าพูดธรรมะได้ในระดับไหน ถ้าพูดถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า นี่พูดได้ แต่ในการพูดกับผู้อื่น การพูดในหมู่คณะ บางทีเราพูดไปแล้ว ประสาเราว่า มันทำให้เราไม่มั่นใจไง เอ๊ะ.. ถูกหรือผิด

ฉะนั้นเพียงแต่เราทำให้เป็นจริงขึ้นมา ภูมิธรรมของเรานี่มันเป็นของเรา อย่างเช่นถ้าพูดถึงคนคุ้นเคย แล้วพูดเป็นประโยชน์ เห็นไหม ในมงคล ๓๘ ประการ

“ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การสนทนาธรรมนี้เป็นมงคลอย่างยิ่ง”

การสนทนาธรรม เป็นมงคลอย่างยิ่งเพราะอะไร เพราะการปฏิบัติธรรมนี้ มันทุ่มเททั้งชีวิต

เวลาเราอยู่ที่หนองผือ หลวงตาเล่าให้ฟังประจำ ถ้าพระองค์ไหนออกมาจากป่า เห็นไหม จะพูดธรรมะกัน “นี่สนทนาธรรม” เห็นไหม “ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ”

แต่ในปัจจุบันนี้ เวลาเราแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เป็นก๊กเป็นหมู่ เวลาสนทนาธรรมธรรมะนี้ มันไม่ใช่ “ธรรมสากัจฉา” มันเป็น “ธรรมะหมากัดกัน” มันจะเอาชนะคะคานกันไง ต่างคนต่างจะเอาน้ำลายไปทาคนอื่น น้ำลายมันมีเชื้อบ้านะ ถ้าโดนน้ำลาย เดี๋ยวเชื้อบ้ามันจะเข้าตัว จะเอาน้ำลายไปพ่นใส่คนอื่นตลอดเวลาไง

นี่ถ้าเขาตั้งท่ามาอย่างนั้น เราก็ไม่พูดไง เห็นไหม เวลาพูดธรรมะ เราสังเกตนะเวลาใครมาที่เราจะคุยธรรมะด้วย ถ้าเขาตั้งใจฟัง เรารู้ ปฏิกิริยามันดูออก พอธรรมะเข้าถึงใจเขา อื้อฮือ.. เขามีปฏิกิริยาตอบรับ เออ.. อย่างนี้เราก็มีกำลังใจพูด

แต่ถ้าเรารดหัวตอ พูดไปเถอะ เอาน้ำรดหัวตอนั่นแหละ เหนื่อยฉิบหายเลย เอ้อ.. กูกลับบ้านดีกว่าเว้ย เห็นไหม เขาไม่อยากฟัง คือเขาไม่เปิดไง เรื่องอย่างนี้มันรู้ได้

“ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง”

ทีนี้ธรรมะขั้นไหน ถ้าเราคุยกันได้ หรือเป็นคนคุ้นเคย มันคุยกันได้ นี้เพียงแต่ว่าเวลาคุยกัน ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมา ท่านครบวงจร ถ้าคุยไปแล้ว ถ้าพูดไปแล้ว แล้วเรามาวิตกกังวล เราจะเสียประโยชน์ เพราะเราพูดไปแล้ว เราจะวิตกกังวลเอง

ฉะนั้นเวลาเราพูดอะไรไปแล้ว แล้วเรากลับไปเดินจงกรม เราต้องไปล้างอารมณ์อันนี้เป็นครึ่งชั่วโมง ค่อนชั่วโมงเลย บางทีล้างไม่ออก มันไม่มีประโยชน์ เห็นไหม แต่ถ้าเราไม่พูด เราเก็บไว้ดีกว่า

ประสาเรานะ “พูดกับตัวเองนี่แหละดีที่สุดเลย” เวลาเข้าทางจงกรม มันจะเถียงกันเองนะ ไอ้นั่นเป็นไอ้นั่น ไอ้นี่เป็นไอ้นี่ โอ้โฮ.. ซัดกันเต็มที่เลย เวลาเข้าทางจงกรม เพราะความคิดมันจะโต้เถียงกัน แล้วถ้าสติเราทันนะ เออ.. พูดกับเรานี่แหละ กูคุยกับกูนี่แหละดีที่สุดเลย กูคุยกับกูเอง

อย่างนั้นเป็นวิปัสสนานะ เป็นธรรมะนะ เวลาธรรมะมันเกิด ปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกัน มันจะเกิดความคิด แล้วความคิดนี่มันก็คิดเป็นทางบวกทางลบ มันจะสู้กัน

หลวงตาบอกเลย “ใจนี่เป็นเหมือนเก้าอี้ดนตรี” กิเลสนั่งหรือธรรมนั่ง ถ้ากิเลสนั่ง คือความคิดฝ่ายเห็นแก่ตัวมันนั่ง โอ้โฮ.. เร่าร้อนนะ ถ้าวันไหนฝ่ายธรรมะนั่งบนเก้าอี้ คือนั่งบนหัวใจเรานะ โฮ้.. ร่มเย็นเนาะ เห็นไหม

คุยกับตัวเองดีกว่า ให้ธรรมะกับกิเลสซัดกันในใจเรานั่นแหละ อันนี้สู้กัน อันนี้เป็นความจริง แล้วมันเป็นประโยชน์กับเราด้วย

นี่พูดถึงการคุยธรรมะนะ

ถาม : วิธีแผ่เมตตา ควรทำบ่อยแค่ไหน ถ้าปฏิบัติทั้งวัน แผ่เมตตา ๑ ครั้ง หรือวันละหลายรอบ หลังเสร็จจากการนั่งสมาธิทุกครั้ง อาจจะหลายครั้งต่อ ๑ วัน

หลวงพ่อ : เอาเช้าเย็นนี่ดีที่สุด เอาเช้าเย็น แล้วมันเป็นอย่างนี้ เช้าเย็นนี่ แล้วถ้ามันทั้งวัน จิตเราไม่ลงไง แต่ถ้าวันไหนจิตมันลง เรารู้เลยว่าจิตมันลง จิตมันมีรสชาติบ้าง ให้แผ่เลย

จิตลงนี้สำคัญมากนะ ใน อกาสิ เม อทาสิ เม เห็นไหม เวลาเทศน์งานศพ เพราะเมื่อก่อนคนมันยังโง่อยู่ กราบภูเขา กราบต้นไม้ กราบไฟ เห็นไหม เคารพรูปแต่ภายนอก สมัยที่ยังไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง

“บัดนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดแล้วนะ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เธออย่าร้องไห้ เธออย่าเสียใจ เธออย่าคร่ำครวญถึงกัน ให้ทำความดี ส่งความดีถึงกัน”

“ให้ทำความดี ส่งความดีถึงกัน อย่าคร่ำครวญ อย่าร้องไห้” นี่ไงการแผ่เมตตา !

ให้ส่งความดีถึงกัน แล้วความดีอันใด มันจะดีเท่ากับจิตเราสงบล่ะ ทำทานร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับถือศีลอุโบสถหนหนึ่ง ถือศีลอุโบสถร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับทำสมาธิขึ้นมาได้หนหนึ่ง ทำสมาธิได้ร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับเกิดปัญญาขึ้นมาหนหนึ่ง แล้วจิตสงบขึ้นมานี้ เหมือนกับทำบุญถึงหมื่นหนนะ

ทานร้อยหนพันหนถึงจะได้ศีล แล้วศีลร้อยหนพันหนก็เท่ากับสมาธิ แล้วถ้าจิตมันลงนี่ เหมือนกับเราตักบาตรหมื่นครั้ง

“เราอุทิศหนเดียว เท่ากับอุทิศหมื่นหนไง”

นี่ไง ถ้าจิตมันสงบนะสุดยอดเลย ถ้าวันไหนจิตเราดีให้อุทิศเลย แต่ถ้าอุทิศบ่อยครั้งๆ มันก็เป็นพิธีกรรมเฉยๆ มันก็เหมือนกับว่าเราต้องทำพิธีกรรมอันนั้นไป แต่ถ้าเราเช้าเย็น แล้วเราอุทิศส่วนกุศล อุทิศนี่เวลาแผ่เมตตา

อย่างของเรานี่นะ เราทำตอนเช้าๆ เพราะตี ๔ เราตื่นแล้ว ไม่ใช่ตี ๔ นะ ตี ๒ ตี ๓ เราตื่นแล้ว แล้วเรานั่งอยู่ในห้องนั่นแหละ รอ.. รอเสียงพระกุ๊กกิ๊กๆ ไง พอพระมันขึ้นศาลา มันก็มาเอาไม้กวาดใช่ไหม มันก็จุดไฟนะ มันก็สว่างหมด เราก็ลุกออกมา

พอตี ๓ ตี ๔ แล้วอย่างเมื่อก่อน มีคนเอามาให้มาก เห็นไหม ชื่อนู้นชื่อนี้ พอตี ๓ ตี ๔ เราก็แผ่ เพราะตอนเช้ามันภาวนาดีที่สุด เราลุกตั้งแต่ตี ๒ ตี ๓ นั่งแล้ว แล้วถ้ามันถึงที่สุดนะ แผ่เมตตาออกไป แล้วอย่างที่ใครมีอะไรให้ ก็แผ่เมตตาออกไป

ถ้ามีตอนนั้น ให้เราทำตอนนั้นดีที่สุด แล้วพอกลางวัน เวลามีอุโบสถ ลงอุโบสถเสร็จ เราก็แผ่เมตตา

ความจริงเทศน์เสร็จต้องแผ่เมตตาด้วยเนาะ เพราะมีเด็กมันมาพูดไง หลวงพ่อนี่แปลกมาก เทศน์เสร็จก็ไม่ให้พร พอเทศน์จบต้องให้พรก่อนสิ ให้พรเราก็ต้องแผ่เมตตาก่อน แบบนั้นมันเป็นพิธีกรรมเกินไป แต่ของเรานี่ เราทำของเราอยู่แล้ว เราทำของเราอยู่เป็นปกตินะ

คำว่า “เป็นปกติ” เพราะอะไร เพราะเรื่องนี้นะ สมัยชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ ตอนที่กันยายนทมิฬ อาหรับมาจับสถานทูตอิสราเอลที่เมืองไทย เป็นครั้งแรก.. เป็นครั้งแรกที่เขาจับแล้วเขาปล่อย เขาไม่ฆ่า พวกนี้พอจับแล้วต้องฆ่าหมด อย่างไรก็ไม่ปล่อย

แล้วพอตอนหลัง พอเราบวชมาแล้ว เราไปเที่ยวทางอีสาน ถึงได้รู้ไง ถึงได้รู้ว่า ตอนนั้นพอจับปั๊บ นี่ข่าวในพระคุยให้ฟังนะ ในพระนี่เขาคุยกันว่า สมัยนั้นพอจับปั๊บ ก็เหมือนในปัจจุบันนี้ ดูสิในสำนักพระราชวัง เห็นไหม จะส่งคนมาหาหลวงตาประจำ แล้วนี่พอเกิดเหตุการณ์ปั๊บ ก็ส่งข่าวไปถึงหลวงปู่ฝั้น ส่งข่าวถึงครูบาอาจารย์ในภาคอีสานทั้งหมดเลย ก็นั่งแผ่เมตตา นั่งแผ่เมตตา..

ทางศาสนาก็ช่วยเต็มที่ เพราะว่าในทางศาสนา ในหลวงเป็นองค์อุปถัมภ์ พระบรมราชูปถัมภ์เลยนะ เป็นราชาแห่งสงฆ์ ก็คุ้นเคยอยู่แล้ว ก็ขอเมตตาบารมี ครูบาอาจารย์ก็แผ่เมตตา ทางฝ่ายการเมืองก็เจรจาต่อรองกันไป คือทางโลก ก็ทำทางโลกเต็มที่ ทางธรรมก็แผ่เมตตาเต็มที่

มีเหตุการณ์ครั้งเดียว ครั้งแรกที่แก๊งกันยายนทมิฬจับแล้วปล่อย จับแล้วปล่อย..

นี่ไง “การแผ่เมตตา” แต่ถ้าพูดอย่างนี้ไปก็ว่า “ยกหางพวกตัวเองทุกทีเลย ถ้าพวกตัวเองนี่ดีทั้งนั้นแหละ คนอื่นไม่เห็นดีสักที”

มันเป็นความจริง แต่เขาไม่พูดกันออกมา พวกเรานี่ทำความดีแล้วกลบไว้ ทำแล้วแบบว่า ทำดีก็คือดี ทำดีทิ้งเหว

เราปฏิบัติกัน นั่งสมาธิกัน เอาชนะตนเอง เราพยายามเต็มที่ พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่ก็ความดีอันหนึ่ง แล้วต้องไปอวดใคร แล้วถ้าจิตมันสงบขึ้นมา มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นความรู้จำเพาะตนนี่ ใครมันจะรู้กับเรา ความดีแท้ๆ มันเป็นความดีที่สะอาดบริสุทธิ์

นี่การแผ่เมตตาก็เหมือนกัน ถ้าจิตเราดี ความจริงเป็นเราดี เราทำของเรา มันจะบอกเป็นกิจลักษณะไม่ได้ เพราะคนเรานี้ ถ้าพูดถึงโดยปกติก็เช้าเย็น แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เราก็แผ่ของเราไป แผ่เพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น ทุกคนต้องการให้ชีวิตเราร่มเย็นเป็นสุข อยากให้ชีวิตในครอบครัว...

สัตว์โลกทั้งหมด เห็นไหม นี่ สัพเพ สัตตา ผู้เกิดแก่เจ็บตาย ผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด ถ้าเขาเป็นสุขนะ สังคมร่มเย็นนะ โอ้โฮ.. เราก็สบายเนาะ เวลาเป็นสุขๆ นะ พรุ่งนี้เช้าบิณฑบาตไป เต็มบาตรเลย ถ้าไม่เป็นสุขนะ พรุ่งนี้เช้าบิณฑบาตไป ไม่ได้เลยนะ เพราะเขาไม่ใส่

“เป็นสุขๆ เถิด” โธ่.. เขาก็ใส่บาตรเราแล้ว “เป็นสุขๆ เถิด” เขาก็ร่มเย็นเป็นสุข เราก็ร่มเย็นเป็นสุข นี่เขาก็มีจิตใจเมตตานะ เราทำได้หมดแหละ ถ้าไม่เป็นสุขๆ พรุ่งนี้ไปนี่ บาตรเปล่ากลับมาแล้ว มาขอพระเขากินด้วยคน บิณฑบาตไม่ได้ นี่ “เป็นสุขๆ เถิด” ถ้ามันเป็นสุขแล้ว มันดีขึ้นหมดเลย

อันนี้เห็นด้วยนะ เราทำของเรา เพียงแต่ว่า จะบอกให้เป็นกิจลักษณะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะถ้าเราทำอย่างนี้ เรามีวุฒิภาวะแค่นี้ เราคิดได้แค่นี้ พอจิตเราสงบมากกว่านี้ เรามีหลักเกณฑ์มากกว่านี้ เราจะทำได้มากกว่านี้ คือเราจะละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ

“มรรคหยาบ มรรคละเอียด” มรรคมันจะละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ ปัญญาของเรามันจะกว้างขวางขึ้นไปเรื่อยๆ ปัญญาของเรามันจะแยกไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเราจะรู้ดีกว่านี้ไปอีกเยอะ

ตอนนี้เรายังสงสัยอยู่ พอเราเข้าใจแล้ว อื๊อ.. แหม ของแค่นี้ ทำไมต้องไปถามด้วย แต่ตอนถามมันไม่รู้จริงๆ นะ แต่พอมันรู้แล้ว มันก็ไม่อยากถามเนาะ พอรู้แล้ว โอ้.. อายนะ เอาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นี้ไปถามได้ แต่ตอนไม่รู้มันก็อยากถาม

อันนี้สิสำคัญ

ถาม : การเกิดเป็นเพศชายหรือเพศหญิง เป็นผลของการปรารถนาหรือผลกรรม

หลวงพ่อ : มันปรารถนานะ คำว่า “ปรารถนา” แต่ประสาเรานะ เราไม่ต้องการให้ปรารถนา ความปรารถนานี้ มันเป็นผลที่ว่า เป็น “ผลตกค้าง”

มันเป็นผลตกค้างขึ้นมา ให้เราเป็นสภาวะแบบนั้นใช่ไหม แล้วถ้าตอนนี้เราไปปรารถนา เราจะต้องไปอีกไกลไง เพราะพระอานนท์นี่เป็นผู้หญิงมาก่อน แล้วพระอานนท์ปรารถนามาเป็นผู้ชาย ถ้าเป็นผู้หญิงแล้วปรารถนาอยากเป็นผู้ชาย เราจะต้องเกิดตายๆ ไปอีก ๕๐๐ ชาติ พอ ๕๐๐ ชาติ มันก็จะปรับสภาพไปเรื่อยๆ จิตใจของเรามันกึ่ง จิตใจเรามันไปก่อนแล้ว แต่พอเกิดชาติหนึ่งมันก็ปรับไปเรื่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะเปลี่ยนเป็นหญิงหรือเป็นชายไปเลย

นี่ไงที่เขาไปขอหลวงปู่ขาว บอกว่าเขาเป็นผู้หญิง แล้วเขาไปขอหลวงปู่ขาวว่า “ขอให้ชาติหน้าเกิดเป็นผู้ชาย” แล้วไม่ใช่ผู้ชายธรรมดานะ “เกิดเป็นผู้ชายแล้ว ขอให้เกิดอยู่บ้านนอกคอกนา” จะได้บวชแบบครูบาอาจารย์เราไง ไปเกิดเป็นลูกชาวนาอยู่กลางทุ่งนั่นแหละ ถึงจะได้บวชเลย

หลวงปู่ขาวบอกอีก ๕๐๐ ชาติ อู้ฮู.. ร้องไห้เลยนะ เพราะเขามาเล่าให้ฟังเอง พอร้องไห้เสร็จแล้วนะ หลวงปู่ขาวเทศน์เลย ทำไมต้องไปเกิดเป็นหญิงเป็นชายล่ะ ในปัจจุบันเราเป็นมนุษย์หรือยัง ในปัจจุบันหญิงชายมันก็ปฏิบัติได้ เราเอาที่ปัจจุบันนี้เลย

นี่เพียงแต่ว่าปัจจุบันนี้ ผู้หญิงมีโอกาสน้อยกว่า เพราะผู้ชายได้บวชพระ ผู้ชายได้ออกธุดงค์ใช่ไหม แต่ผู้หญิงไม่ได้ทำ โอกาสมันก็แค่นี้เอง แต่การกระทำนี้ มันอยู่ที่ไหนมันก็ปฏิบัติได้ใช่ไหม

นี่มีคนเขาบอกว่าเขาอยากไปบวชเป็นภิกษุณีๆ เราบอกภิกษุณีมันก็เหมือนชามข้าว มันเหมือนภาชนะ แต่ในชามข้าวนี่เขาเอาไว้ทำไม เขาเอาไว้ใส่ข้าวใส่อาหารใช่ไหม เราเอาที่อาหารสิ เอาเนื้อหาสาระของมันสิ เราไม่ใช่เอารูปแบบ เอาถ้วยเอาชามไง ไอ้ที่เขาเกิดเป็นหญิงเป็นชายนี่ มันก็แค่ถ้วยชามใช่ไหม

อ้าว.. เกิดเป็นหญิง ก็แค่รูปร่างเฉยๆ แต่หัวใจมันมีหญิงมีชายที่ไหนล่ะ “หัวใจไม่มีหญิงไม่มีชายนะ” เวลาเป็นสมาธิ มีสมาธิผู้หญิง มีสมาธิผู้ชายไหม ปัญญามีผู้หญิงผู้ชายไหม มันไม่มีหรอก

เป็นหญิงเป็นชายขึ้นมาแล้ว มันเกิดมาอย่างที่ว่านี้ มันเกิดมาโดยกรรม หรือเกิดมาโดยแรงปรารถนา มันเป็นมาก่อน จะบอกว่ามันเป็นกรรมทั้งหมดเลย

นี่เขามาพูดกันนะ เขาบอกว่า การเกิดเป็นหญิงเป็นชายนี่ เกิดเพราะเป็นผลของ “กาเมสุมิจฉาจาร คือผิดศีลข้อ ๓” เราบอกว่าถ้าผิดศีลข้อ ๓ นะ โลกนี้จะไม่มีผู้ชายเลย มีแต่ผู้หญิงหมดเลย ผู้ชายคนไหนมันไม่ผิดศีลบ้าง

ถ้ามัน “กาเมสุมิจฉาจาร” คือไปผิดข้อกาเม คือผิดเรื่องครอบครัวนะ โลกนี้จะไม่มีผู้ชาย โลกนี้จะมีแต่ผู้หญิงหมดเลย ผู้ชายหาไม่เจอเลย เพราะมันผิดกันหมด

ฉะนั้นไอ้ผิดกาเมมันก็มีผลนะ มีผลเรื่องกรรมสูง แต่ว่ามันจะมาเกี่ยวกับเรื่องเพศหญิงเพศชายนี่ เราไม่เชื่อ! แต่ไอ้นี่มันเป็นความผูกพัน เป็นความพอใจ มันอยากเป็นนะ อันนี้หนึ่งที่ว่า “แรงปรารถนา” ด้วย แล้ว “ผลของกรรรม”

ทีนี้แรงปรารถนามันมาอย่างนี้แล้วใช่ไหม สมมุติว่าเราปรารถนามานี่ มันกึ่งแล้ว ระหว่างจะเป็นหญิงหรือชายก็แล้วแต่ มันอยู่ระหว่างกึ่งกลาง เขาเรียก “บัณเฑาะก์” ในวินัยมีตั้งแต่สมัยพุทธกาล มันมีมาตลอด เมื่อก่อนก็มีอย่างนี้ แต่เพราะว่าศีลธรรม จริยธรรมนี้มันเข้มแข็ง ใครเป็นอะไรก็แล้วแต่ ก็เก็บไว้ในใจ

แต่ปัจจุบันนี้ “ประชาธิปไตยไง” โลกนี้เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่แล้วออกมาอย่างนี้ มันก็เลยแสดงออก เมื่อก่อนเขาจะเก็บไว้หมด มันมีทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้นพอเรามาอยู่กึ่งกลาง มันจะเป็นไปตามแรงขับ คือว่าแรงกรรมนี่มันจะส่งไป เราปล่อยตามนั้นไป แต่เราทำดีตลอดไง ไม่ต้องปรารถนาไปปรารถนามา ถ้าปรารถนาไปปรารถนามา มันก็เลยกลายเป็น “วัวพันหลัก” เลย แล้วมึงจะไปไหนกันวะ.. แล้วชีวิตนี้กูจะไปไหนล่ะ.. กูก็เป็น “วัวพันหลัก” อยู่นี่

นี้แรงปรารถนานะ เราอยู่กึ่งกลางแล้วนี่ เราดูจุดหมายว่าจะไปทางไหน ไอ้ไปทางไหน นี่มันเป็นเรื่องของเวรกรรมนะ แต่การประพฤติปฏิบัติเรานี้ การทำให้บุญอันนี้ มันจะส่งให้ชีวิตเราร่มเย็นเป็นสุข แล้วไปทางไหน ให้มันเป็นไปตามนั้น

เรากล้าพูดนะว่าพวกโยมนี้ ยังไม่รู้ใจตัวเองว่าตัวเองอยากเป็นอะไรเลย อ้าว.. ใจของโยมนี่ ถามตัวเองสิว่าตัวเองปรารถนาอะไรกัน แล้วตัวเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองมีเป้าหมายอะไร แล้วตัวเองจะไปปรารถนา จะไปแรงอธิษฐานอีก อ้าว... ตัวเองไม่รู้จะอธิษฐานเรื่องอะไร แล้วไปอธิษฐานนะ มั่วตายเลย

ฉะนั้นถึงบอกว่า ถ้ามันอยู่กึ่งกลางอยู่แล้ว ตั้งเป้าให้มันเป็นตามเวรกรรมนี้ แล้วทำดีไป เพราะมันเป็นมาอย่างนี้แล้ว เราไม่รู้นี่ว่าเราจะเดินไปทางไหนกัน นี้เพียงแต่ว่าเราทำดีของเรา เราทำของเราไป สิ่งนี้..

เราเป็นบุคคลสาธารณะ ลูกศิษย์เราเยอะนะ ที่เป็นอย่างนี้ ทั้งสองฝ่าย มาถามเยอะมากเลย “ทำไมเป็นอย่างนี้.. ทำไมเป็นอย่างนี้” พอเป็นอย่างนี้แล้ว เราก็บอกอย่างที่ว่านั่นแหละ มันเป็นแรงปรารถนามาของเขา เราบอกเป็นแรงปรารถนา เขาบอกว่าเป็นกรรมอะไร

เวรกรรมก็อย่างเช่นเราตั้งเป้านี่แหละ เราอธิษฐานแล้วเป็นอะไร อธิษฐานใช่ไหม ถ้าอธิษฐานแล้วได้ผลหรือไม่ได้ผล อย่างที่ว่า “อโหสิกรรมๆ นี่อธิษฐานของเรา”

ถ้าไม่มีอธิษฐานนะ พระพุทธเจ้าเกิดได้อย่างไร พระโพธิสัตว์เกิดได้อย่างไร ที่ปรารถนาพุทธภูมิกันนี่ แล้วเวลาลาพุทธภูมิลากันอย่างไร พุทธภูมินี่ ถ้าพระพุทธเจ้าพยากรณ์แล้วนะกลับไม่ได้ ถ้ากลับไม่ได้ก็ดันไป

เพราะเราฟังแบบครูบาศรีวิชัย เพราะสมัยครูบาศรีวิชัย หลวงปู่มั่นอยู่ที่เชียงใหม่ แล้วหลวงปู่มั่นเห็นว่า พระโพธิสัตว์ก็โดนพวกมารพวกอะไรนี่ลองมากไง โอ้โฮ.. มีเรื่องตลอดเวลา จนหลวงปู่มั่นเห็นแล้วหลวงปู่มั่นก็เศร้าใจ แล้วหลวงปู่มั่นก็บอกให้ครูบาศรีวิชัยกลับไง คือละพุทธภูมิ ให้ปฏิบัติให้พ้นทุกข์ไปเลย

เพราะหลวงปู่มั่นท่านแก้ของท่านก่อน แล้วท่านมาแก้เจ้าคุณอุบาลี มาแก้หลวงปู่เสาร์ แล้วก็ไปแก้ครูบาศรีวิชัย เจ้าคุณอุบาลีกับหลวงปู่เสาร์นี้แก้ได้หมด แต่พอไปแก้ครูบาศรีวิชัยนี่ ครูบาศรีวิชัยพูดกับหลวงปู่มั่น เพราะเราดูหนังสือมา ดูหนังสือมาด้วย แล้วหลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟังด้วย ว่าครูบาศรีวิชัยบอกว่า “ไม่เป็นอิสระกับตัวเอง” เห็นไหม เหมือนได้พยากรณ์มาแล้ว

ครูบาศรีวิชัยบอกว่า “ไม่เป็นอิสระกับตัวเองแล้ว” คือกลับไม่ได้ นี่คนเป็นกับคนเป็นพูดกันคำเดียว ถ้าอย่างพวกเรา เราก็ไปพูดเพื่ออธิบายไง แต่นี่ไม่ ครูบาศรีวิชัยบอกเลยว่า “ไม่เป็นอิสระกับตัวเอง” คือตัวเองไม่สามารถกลับได้

พอพูดว่า “ไม่เป็นอิสระกับตัวเอง” หลวงปู่มั่นก็เข้าใจเลย พอเข้าใจแล้วก็ช่วยนะ เพราะหลวงตาก็เล่าว่าสมัยหลวงปู่มั่นอยู่ ครูบาศรีวิชัยกับหลวงปู่มั่นก็จะไปปรับทุกข์กัน คือว่าส่งเสริมกัน

นี่พูดถึงว่าสิ่งที่เป็นพระโพธิสัตว์ สิ่งที่เป็นความปรารถนามาแล้ว เวลาพระโพธิสัตว์ไปเป็นพระพุทธเจ้า ถึงมีบารมีเยอะขนาดนั้นไง รื้อสัตว์ขนสัตว์

หลวงตาท่านพูดนะ ว่าคิดดูสิ คนเรานี่มีแค่จอบกับเสียม แล้วทางขึ้นดอยสุเทพนี่ มันไม่มีเครื่องทุนแรงเลยในสมัยนั้น มีแค่จอบกับเสียมนะ ทำถนนขึ้นเขาได้ขนาดนั้นเลย นี่ “บารมี”

จอบกับเสียมนะ แล้วก็พวกเรานี่แบกหามกัน ทางขึ้นถนนรอบเขาได้สบายเลย เดี๋ยวนี้แทรคเตอร์ทำมันยังแดกเลย ไอ้นี่มือคนนะ นี่ “อำนาจบารมีของครูบาศรีวิชัย”

นี่พูดถึงเวลาเกิดมา แรงปรารถนาความเป็นไป ที่พูดนี่ไม่ต้องการให้ทำอย่างนั้น เพราะในปัจจุบันนี้เราสร้างความดีของเรา เราทำความดีของเรา ทำเพื่อดีของเรานะ

 

ถาม : เมื่อกลับไปบ้าน จะปฏิบัติอย่างไรดี ทางโลกทางธรรมเท่ากันมาก

หลวงพ่อ : ถ้ากลับบ้านนะ เราก็แบ่งให้เป็นเท่านั้นแหละ อย่างที่เมื่อคืนพูด เห็นไหม เมื่อคืนเราพูดถึงหลวงปู่มั่น ว่าหลวงปู่มั่นบอกถึงว่าชีวิตประจำวัน “การเหยียด การดื่ม การคู้” แต่มันก็ต้องอยู่ในสังคมนะ สังคมของพระ สังคมของผู้ปฏิบัติ มันจะคุยเรื่องปฏิบัตินะ

ทีนี้พอเรากลับไปบ้าน เราต้องไปทำงานใช่ไหม เขาไม่ปฏิบัติกัน เราปฏิบัติอยู่คนเดียวนะ เขาก็ว่า เอ้อ.. ไอ้นี่คงต้องจับส่งโรงพยาบาล เราก็ต้องอย่าให้ใครรู้สิ แต่ถ้าเพื่อนกันมันก็ต้องรู้ มันเห็นพฤติกรรมเปลี่ยนก็รู้แล้ว เราเคยอยู่กับเขาอย่างนี้ แล้วพอเราบอกว่า อันนี้ไม่เอา.. อันนี้ไม่เอานะ เขาก็แปลกใจ เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่เราก็ต้องรู้จักหลบหลีกเอานะ

มันพูดบ่อยนะ เมื่อก่อนเรายังไม่บวช เราอยู่กับเพื่อนไง นิสัยเรามันเป็นสันดานมาตั้งแต่เด็ก เราเป็นเด็กๆ มานะ เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ การพนันไม่แตะ แล้วอยู่ในดงโจรเลย เราอยู่กับเขาได้

อ้าว... ไปถามเพื่อนได้ เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่แตะ การพนันไม่เล่น ไม่เอาอะไรเลย แต่อยู่กับเขาได้ แล้วเวลาไปเที่ยวที่ไหนก็แล้วแต่ เหมือนผู้หญิงเลย เขาต้องสั่งน้ำส้มให้แก้วหนึ่ง เขากินเหล้ากันนะ ต้องสั่งน้ำส้มให้เราแก้วหนึ่งทุกที เหมือนผู้หญิงเลย

แต่! แต่เวลาเขาเมากันหมดแล้วนี่ เราต้องดูแลเขาหมดเลยนะ ไปกันทีหลายๆ โต๊ะนะ ไม่ใช่โต๊ะเดียว แล้วเมาหยำเปเลย แล้วไม่มีสติเลย มันมีคนมีสติอยู่คนเดียวนี่แหละ ปวดหัวไหม แล้วไม่ใช่ปวดหัวธรรมดานะ มันไปเที่ยวหาเรื่องกับเขา เขาไปเจ๊าะแจ๊ะ อู้ฮู.. ปวดหัว เหมือนจับปูใส่กระด้งเลย มันเมาหยำเปเลย แล้วเรานี่คอยจับปูใส่กระด้งเลย

นี่พูดถึงเวลากลับบ้านไง เราจะบอกว่าเราเคยอยู่ในเหตุการณ์อย่างนี้มา แต่ด้วยเครดิต ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง อยู่ในวงการอย่างนี้ เขากินเขาอยู่กันอย่างนี้ ทำไมเราไม่ตามเขาไป

แล้วเวลาเจอเหตุการณ์ที่มันมีปัญหาขึ้นมา เที่ยววัยรุ่นไง ยกพวกวันละสองฝ่ายนี่ ปืนทั้งนั้นเลย แล้วพวกเรานี่ยืนไม่ติดทั้งนั้นเลย แล้วมันมีคนที่มีสติอยู่คนเดียว คิดดูว่าเรายืนอยู่บนเขาควายนี่ เอ็งคิดว่าเอ็งจะทำตัวอย่างไร

สติมึงต้องสมบูรณ์นะ มึงต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้นะ แล้วต้องรักษาด้วย ชีวิตของเพื่อนมึงนั่น รักษาไว้ไม่ให้พลาด ไม่ให้เขาเก็บด้วย ตอนเที่ยวนี่ทำมาอย่างนั้น ก่อนบวช

โธ่.. ธรรมดาของโลกเนาะ ทุกคนมันก็มีปัญญาด้วยกันทั้งนั้นแหละ บางทีเราก็ล่อเขามาติดกับ บางทีเราก็ไปติดกับเขา ไปติดกับเขานะ ออกไม่ถูกเลย เข้าไปนี่ต้องวางแผน เวลาไปติดกับเขาแล้วนี่ มึงจะออกอย่างไร บางทีเราก็ล่อเขามาติดกับ บางทีเราก็ไปติดกับเขา โอ้โฮ.. มันต้องใช้สติพอสมควรเลย เพราะมันหน้าสิ่วหน้าขวาน

นี่พูดถึงทางโลก ฉะนั้นมันอยู่ที่เรา ว่าเราจะยืนอย่างไร ถ้าเรายืนของเราได้นะ ทั้งทางโลกกับทางธรรม

“ทางโลกกับทางธรรม” ก็แบบว่าเวลาปฏิบัติ เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า “ธรรมเหนือโลก” อยู่กับโลกแต่ไม่เป็นโลกนะ ถ้าธรรมเหนือโลก

ดูหลวงตาท่านเล่าสิ เวลาท่านเรียนอยู่ เห็นไหม เวลามาเดินจงกรม พระเณรมาเห็นเข้า โอ้โฮ.. จะไปนิพพานเหรอ ขนาดพระนะ เพราะมันเป็นเรื่องโลก

นี้คำว่า “ธรรมเหนือโลก” นี่ ถ้าเราปฏิบัติธรรม เราจะอยู่กับเขาอย่างไร แล้วตรงนี้มันเป็นการตัดทอนกำลังใจเรามากนะ มันจะเป็นการตัดทอนกำลังใจเรา ทุกคนจะเสียใจ น้อยใจเลย

อ้าว.. ก็ทำดีแล้วไง ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดี ทุกคนพูดคำนี้หมดนะ ตักบาตรทุกวันเลย ถือศีลทุกวันเลย ทำไมชีวิตเป็นอย่างนี้ล่ะ.. ทำไมทุกข์ขนาดนี้ล่ะ ทุกคนจะพูดอย่างนี้ทั้งนั้นนะ อ้าว.. แล้วถ้าเกิดว่าไม่ได้ทำเลยล่ะ ไม่ได้ทำมันก็เป็นไปอย่างเขานั่นแหละ นี่เราทำของเราแล้ว เห็นไหม แต่เราไม่เห็นอย่างที่ว่านี่

ความทุกข์อย่างหยาบๆ ดูสิอาหารรสชาติจัดๆ เขากินกัน แต่คนที่เขาเป็นผู้ใหญ่นะ เขากินรสจืดๆ เห็นไหม เขากินเพื่อร่างกายของเขา

นี่ก็เหมือนกัน “ความทุกข์ความสุขของโลก มันหยาบๆ ” ผู้ใหญ่ขึ้นมานะ ขอให้มีร่างกายสมบูรณ์ นั่งอยู่บ้านเฉยๆ นะ แค่นี้ผู้ใหญ่ก็มีความสุขแล้ว จิตของเราแค่สงบเท่านั้นนะ เวลาสุขมันจะละเอียดเข้ามาเรื่อยๆ ไง

อย่างวัยรุ่นนี่เห็นไหม ต้องไปชายทะเล ต้องไปนู้นไปนี่ ไปเพื่อความสุขของเขา ผู้ใหญ่นั่งอยู่บ้านนะ ทุกอย่างสงบเรียบร้อย ดูแลทำงานบ้านเสร็จ แค่นี้ก็มีความสุขนะ

“ความสุขก็เกิดจากความสงบไง” คือจิตใจมันผ่องแผ้ว อยู่ที่ไหนมันก็มีความสุข แล้วถ้าเกิดยิ่งประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันยิ่งมีความสุขเข้าไปใหญ่ “ความสุขที่เกิดจากจิตสงบนี้หายากมาก” แล้วเราจะไปหาความสุขกันที่ไหน

นี่ก็เหมือนกัน ทีนี้ย้อนกลับมาที่ตรงนี้ ตรงที่ว่า “ทำบุญๆ ๆ ... แล้วทำไมไม่ได้บุญ” แล้วมึงคิดว่าบุญคืออะไรล่ะ อ้าว.. มึงคิดว่าบุญคืออะไร อ้าว... ถ้ามึงทำบุญแล้ว เห็นไหม แล้วในครอบครัวเรามีความสงบร่มเย็นไหม ถ้าครอบครัวมีความสงบร่มเย็นแล้ว แต่หัวใจเรายังไม่ร่มเย็นไง กิเลสมันดีดดิ้นไง

ในใจเรามันเร่าร้อนนะ นี่มันไม่สงบที่นี่ไง ครอบครัวสงบ มันก็มีความสุขระดับหนึ่ง แต่ถ้าจิตใจมันสงบขึ้นมาอีก มันยิ่งมีความสุขเข้าไปใหญ่ นี่ “ธรรมเหนือโลก”

ทีนี้พออยู่กับโลกแล้วนี่ เราก็อยากอยู่กับโลก เหมือนลุยไฟไง ลุยไฟแล้วบอกว่า ไฟเย็นๆ โลกมันร้อน เราลุยอยู่กับโลก ลุยอยู่กับไฟ แล้วก็จะบอกว่า ไฟเย็นๆ ... ไฟมันร้อนนะ แต่เราทำใจให้เราเย็น เราทำให้เราร่มเย็นขึ้นมา เราลุยไฟเราก็เย็นนะ

เราจะบอกว่า เราจะไปปรับให้โลกเหมือนเรา.. ไม่มี! เราจะไปปรับทางโลกนะ ปรับความเห็นของเขาให้เหมือนเรา ให้ร่มเย็นเป็นสุขเหมือนเรา .. ไม่มี!

มันจะร่มเย็นเป็นสุขที่เรา แล้วเราอยู่กับเขาอีกต่างหาก เราอยู่กับเขา นี่เห็นไหม “น้ำหยดบนใบบัว คืออยู่กับโลกไม่ติดโลก” เราต้องอยู่กับเขานะ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แม้แต่พระ ก็เป็นสังคมของพระ ว่าหนีมาแล้วนะ นี่หนีมาแล้ว เห็นไหม

เวลาบวชแล้ว พระนี่เหมือนนก มีปีกกับหาง ฉันเสร็จแล้วก็บินไป บินไปตอนเราอยู่องค์เดียวสิ แต่พอเราอยู่ในวัดนี่บินได้ไหมล่ะ โอ้โฮ.. พอบินก็บินไม่ขึ้น เพราะอะไร เพราะนกมันถ่วงขาอยู่หลายตัว นกเต็มเลย นกลูกอ่อนไง มันบินไม่ได้ เราบินขึ้นไป แม่งมันดึงไว้ ดึงไม่ให้ขึ้นไง

นี่สังคมไง สังคมของพระ เห็นไหม พระต้องมีข้อวัตร ในความเป็นอยู่ของพระ พระก็ต้องดูแลรักษากัน แต่ถ้าอยู่องค์เดียวสิ บวชแล้วมีปีกและหางเหมือนนก ฉันเสร็จแล้วเก็บบริขารขึ้นบ่า แล้วเดินเลย

นี่เวลาคิดนะ เวลาศึกษาธรรมะ แล้วเราศึกษาชีวิตเรา ว่าเราจะทำชีวิตอย่างไร แม้แต่พระก็ต้องคิด เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ของเรานี่ “ไม่ให้คลุกคลี ไม่ให้คุยเล่นกัน ต่างคนต่างแยกกัน”

อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ อย่างที่ว่าปฏิบัติเราควรบอกได้แค่ไหน... ห้าม! ห้ามเลย เพราะการคลุกคลีนี่มันเป็น “สัปปายะ” สถานที่เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ สิ่งที่เป็นสัปปายะ มันทำให้เรามีโอกาส

ฉะนั้นถ้าเราไม่ไปคลุกคลีเขา เพราะนี่มันเป็น “สัปปายะ” อันหนึ่ง สถานที่เป็นสัปปายะ แต่เราไม่เป็นสัปปายะ เราไปทำให้มันคลุกคลีกันไปเอง ถ้าสถานที่เป็นสัปปายะ เราก็แยกออกมา “กายวิเวก จิตวิเวก”

ทีนี้พออยู่ในสังคม จะทำได้ขนาดไหน บวชมา ๓๒ ปีแล้ว ก็ไม่รู้ว่าสังคมเขาทำอะไรกัน ไม่รู้ว่าโลกเขาทำอะไรกัน ตอนนี้จับไปปล่อยที่ไหนก็หลงแล้ว กลับไม่ถูกหรอก มันไม่เคยออกไปไหนเลย จริงๆ จับไปที่ไหนก็หลง เว้นไว้แต่ไปไหนมีคนขับรถให้ มันถึงไปได้

เรื่องโลก... ไม่รู้เรื่อง ไปทิ้งไว้ที่ไหน กลับไม่ถูกหรอก กลับไม่เป็น

ทีนี้เพียงแต่เวลาพูดถึง “โลกกับธรรม” มันต่างกันมากๆ เพราะเรารู้ว่าต่างกันมาก มันถึงไม่มีเวลา

เวลาเราอยู่ทางโลก เห็นไหม คนที่อยู่กับโลกแล้วร้อน ก็อยากมาอยู่วัด แต่พอมาอยู่วัดแล้วมันต่างกันมาก พอต่างกันมากแล้ว บางคนอยู่ไม่ไหว เห็นไหม ที่เขาพาลูกมาบวชนี่ บางคนพาลูกมาบวชนะ เป็นตายอย่างไรก็ไม่บวช วัดอะไรไฟก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี นี่มันต่างกันกับโลกไง ไม่เอาเลย อย่างไรก็ไม่เอา

เป็นตายอย่างไรก็ไม่บวช! อย่างไรก็ไม่ยอม

เพราะมันต่างกัน แล้วเขามาเห็นใช่ไหม แต่บางคนเห็นแล้วชอบใจ นี่มันอยู่ที่ใจของเขา ถ้าเขาชอบใจ มันก็เป็นของเขา มันต่างกันมาก

ทีนี้เราเป็นอย่างนี้แล้ว เราอยากจะพูดคำนี้นะ แต่มันพูดไม่ได้ “ถ้ามันต่างกันมาก ทำไมเราไม่เลือกล่ะ... ในเมื่อโลกเป็นอย่างนั้น ทางธรรมเป็นอย่างนี้ ทำไมไม่ปฏิบัติล่ะ” ก็ไม่ได้อีกแหละ

หลายคนมากนะ เวลาพูดนี่ อู้ฮู.. ทำได้หมดแหละ พอเอาจริงๆ นี่ไม่ได้ เพราะตัวเองตัดไม่ได้เอง ใจตัวเองตัดไม่ได้ ถ้าใจตัวเองตัดได้นะ

๑.ตัวเองตัดได้ ๒. มันต้องคิดก่อนไง

อย่างเรานี่เราคิดของเรานะ เพราะว่าเราจะบวชแล้วเราไปเลย เรามาย้อนกลับเลยว่าในบ้านเรามีกี่คน ในบ้านมีพี่น้องกี่คน ถ้าในบ้านพี่น้องมีกี่คน อย่างไรเขาก็ต้องทำแทนเราได้ อย่างไรก็ต้องทำแทนเราได้ ทั้งๆ ที่รู้นะ ทำแทนอย่างไรมันก็ทำไม่ได้อย่างเรา แต่ก็ต้องทำแทนกันได้

โธ่.. ความผูกพันนะ สายบุญสายกรรมระหว่างพ่อแม่นี้ ไม่ธรรมดาหรอก ไม่ธรรมดา แล้วนี่เราจะไป

อย่างเวลาพูดถึงพระพุทธเจ้า พระเจ้าสุทโธทนะใจแทบขาดเลยแต่ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ออกมา มันจะมีพระพุทธเจ้าไหม แล้วพวกเราคิดว่าพระพุทธเจ้าก็เหมือนขวดน้ำนี่ คือลอยมาเองไง มันเป็นไปได้อย่างไร

ขวดน้ำมันไม่มีชีวิตนะ มันเป็นแค่วัตถุอันหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็มีพ่อมีแม่นะ พระพุทธเจ้ามีลูกนะ แล้วคิดดูว่าคนรับผิดชอบอย่างนั้น เวลาออกมานี่ จิตใจมันกระเทือนแค่ไหน

แล้วนี่เราเข้ามาอยู่ในสถานะอย่างนี้ แล้วก็บอกว่า “โลกกับธรรมมันต่างกันมาก” ต่างกันมากแล้วเราคิดอย่างไร แล้วเราจะทำได้อย่างไร มันต้องดูแลเรา ถ้าดูแลเรา แล้วเราแก้ไขของเรา

นี่พูดถึงถ้ากลับบ้านไปแล้ว “ถ้ากลับบ้าน จะปฏิบัติอย่างไรดี”

ถ้าเป็นเรานะ ปัญหานี้ไม่น่าถามเราเลย เพราะอะไร เพราะกูไม่มีบ้าน เพราะกูไม่รู้ไง ถามคนไม่รู้ได้อย่างไรล่ะ ก็คนอยู่แต่วัดนี่ คนไม่มีบ้าน แล้วเอาเรื่องบ้านมาถามคนไม่มีบ้าน เอ้อ.. มันไม่น่าถามเราเลยเนาะ

ตอบจบแล้วเนาะ เอวัง