ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ตั้งสติ

๑๒ ก.ย. ๒๕๕๒

 

ตั้งสติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โยม หญิง : หลวงพ่อคราวก่อนค่ะหนูกลับไปสวดมนต์ แล้วการสวดมนต์ของหนูเมื่อก่อนไม่เคยมีปัญหาอย่างนี้ค่ะ หนูรู้สึกว่าช่วงหลังหนูจิตตก แล้วเวลาสวดมนต์ เวลาเปิดหนังสือสวดมนต์ออกมา เรื่องในอดีตที่เป็นเรื่องความเจ็บช้ำของแฟนเก่าที่เขาเคยทำร้ายทำลายข่มเหงอะไรสารพัดเรื่อง มันก็จะอยู่ในหัวตลอดจนแบบแทบสวดมนต์ไม่ได้

พอปิดหนังสือสวดมนต์มันก็หาย พอเปิดหนังสือสวดมนต์มามันก็เป็นอย่างนั้นหนูก็พยายามฝืนพยายามทวนจนสวดจนจบบทค่ะ มันจะเป็นอย่างนี้อยู่นานมาก เสร็จแล้วหนูก็พยายามต่อสู้ๆ กับมัน แล้วตอนหลังก็พยายาม คำว่า “วาง” หนูก็รู้อยู่ว่าต้องวาง แล้วก็รู้ว่าต้องพยายามบังคับจิต แต่มันเหมือนกับว่าบังคับไม่ได้ค่ะ มันเหมือนกับว่าเหมือนมีมารเหมือนอะไรประมาณนี้ค่ะ หนูต่อสู้อยู่นานพอสมควรกว่าที่จะทำจิตให้สงบ เพื่ออยู่กับบทสวดมนต์ค่ะ ก็เป็นอยู่หลายวันค่ะ

หลวงพ่อ : โดยธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้เห็นไหม ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บมันก็จะย้อนกลับมาไอ้พวกดูจิตๆ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องทำอะไรเลยมันจะหายมันเป็นไปไม่ได้หรอก ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้ ลูกศิษย์เรานะบวชเป็นพระมา แล้วลูกศิษย์เราบวชพระมามีเป้าหมายอะไร ถ้ามีเป้าหมายมาบวชเป็นประเพณี บวชมาเพื่อความสงบสุขชั่วครั้งชั่วคราวเราก็ปล่อยไปตามธรรมชาติคือปล่อยเขา

แต่ถ้าลูกศิษย์คนไหนเขาบอกว่า เขาบวชมานะแบบว่าบางทีเขาสละงานเลยลาออกเลยเพื่อจะให้พ้นจากทุกข์ให้ได้ เราก็จะคุยกันว่าชีวิตมันมีประสบการณ์มามากน้อยแค่ไหน ยิ่งมีประสบการณ์มากขนาดไหนบอกว่ามึงจะยิ่งทุกข์มากขนาดนั้น

มีลูกศิษย์คนหนึ่งเขาเป็นผู้จัดการนะ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลแต่ชีวิตเขาผ่านมามาก เพราะว่าเขาเรียนแบบ เด็กเรียนมาด้วยตัวเองเลย พ่อแม่เขาไม่..เขาเลี้ยงตัวเอง ชีวิตเขาสมบุกสมบันมามาก เขาผ่านชีวิตมาเยอะมาก ทำอาชีพมาทุกอาชีพที่โลกนี้เขามีอยู่ ทำมาเกือบทุกอาชีพเลย แล้วมาภาวนา ก็บอกว่ามึงจะทุกข์มาก เขาก็ไม่เชื่อเขาก็ยิ้ม เขาก็เก่ง

คือว่าเขา แบบว่าเขามั่นใจในตัวเองมาก ทีนี้พอภาวนาเข้าไป อย่างที่โยมพูดมันออก สิ่งที่เราเคยทำไว้ สิ่งที่ทุกคนควรทำไว้ นี่ศาสนาพุทธสอน ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว สิ่งที่ทำชั่วทำดีทั้งหมด เอ็งว่าเอ็งทำไปแล้วจะแล้วกันไป ไม่แล้วหรอก เพราะคนทำคือใคร คนทำนะเราทำด้วยมือใช่ไหม แต่ความจริงไม่ใช่ มันทำด้วยหัวใจนะ

ถ้าหัวใจไม่สั่ง อยากได้ของเจ้าของเขาไม่ได้ให้ กูดูมันเผลอไหม พอเผลอปั๊บกูยึดไป ใครเป็นคนสั่ง จิตสั่ง พอจิตสั่งปั๊บมาลงที่นี่หมด(ตบอก)มันเก็บไว้หมดล่ะ นี่เจ้าของเขาเผลอใช่ไหม เราหยิบไม่ให้ใครเขาเห็นเลย ทุกคนไม่รู้เรื่อง เราเอามาเป็นของของเรานะ ไม่มีใครรู้เห็นกับเราเลยแต่เรารู้ พอเรารู้ขึ้นมามันเป็นข้อมูลของเราใช่ไหม

พอภาวนาเข้าไป พอจิตเริ่มภาวนาเข้าไปจะเอาจริงเอาจังขึ้นมา มันออกมาหมด โทษนะ มึงชั่ว ลูกศิษย์มาทุกคนพอใครมาหาเราจะพูดเลยว่า เขาภาวนา ทุกคนถ้าภาวนาเป็นนะ ในโลกนี้นะไม่มีใครชั่วเท่ากูเลย ไอ้คนภาวนาชั่วทุกคนเลยเพราะจิตมันไปทำชั่วไว้

ถ้าใครภาวนาแล้วนะแหม..ในโลกนี้ไม่มีใครชั่วเท่ากูเลย กูนี่ชั่วฉิบหายเลย กับหัวใจนะ หัวใจนี่ชั่วมาก ไอ้อวิชชาไอ้ความชั่วตัวนี้มันทำลายเขามาก ทีนี้แล้วมันเป็นมามากน้อยแค่ไหน เดี๋ยวมันเป็นมามากน้อยแค่ไหนจิตมันผ่านวัฏฏะมามากน้อยแค่ไหน เห็นไหมความดีก็ทำถ้าความดีไม่ได้ทำนะเราไม่ได้มานั่งกันอยู่นี่หรอก

มันจะย้อนกลับมาที่นี่ไง ย้อนกลับมาที่ว่าเวลาภาวนาไปเปิดหนังสือขึ้นมาทำไมสิ่งที่เราอดีตของเราประวัติศาสตร์ของเราทำไมมันโผล่มาหมดเลย นี่มันเรื่องธรรมดา นี่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ ถ้าข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้เวลาพระพุทธเจ้าสอนเห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา เพื่ออะไร เราต้องมีทาน มีศีล มีภาวนา

มีศีล มีสติยับยั้ง ต้องมีการยับยั้ง มีการต่อสู้ มีการขัดเขิน มีการควบคุม พอควบคุมแล้วก็ควบคุมอย่างไรควบคุมเสร็จแล้วควบคุมนะ ควบคุมไว้ให้นั่งนิ่งๆ ก่อนนะควบคุมไว้ ควบคุมไว้เพื่อจัดการ ไม่ใช่ควบคุมไว้เพื่อควบคุมนะ หินทับหญ้าๆ ขอให้มึงทับไปก่อนเหอะวะ มึงไม่ได้ทับสิมึงถึงได้น้ำตาไหลพราก ทุกข์เจียนเป็นเจียนตาย

ฉะนั้นถ้าเราตั้งสติขึ้นมาเราจะควบคุมมัน ควบคุมมันเห็นไหม เราค่อยควบคุมมันนะทำความสงบ ควบคุมคือจิตสงบได้ พอจิตสงบได้มันควบคุมได้ ทีนี้จิตสงบไม่ได้เพราะอะไรเพราะมันต่อต้านเห็นไหม แล้วถ้าไม่ทำดีนะมันไม่เห็นมันหรอก ถ้ายังใช้ชีวิตปกติอยู่ ไอ้พวกนี้มันจะซุกอยู่ในใจเรา ชีวิตประจำวันไม่เห็นหรอก คนดีหมด เทวดาทั้งนั้นเลย ไม่มีใครเก่งเท่าเราเลย เรานี่สุดยอดหมดเลย ความชั่วมันซุกอยู่

แต่ถ้าวันไหนจะสู้กับมันนะ ไอ้ความชั่วไอ้ความที่มันยอกใจนะมันจะโผล่มา ถ้ามันโผล่มานี่แค่พื้นฐานนะยังไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วนี่มันบอกเวลาเปิดหนังสือเห็นไหมมันโผล่มา ควบคุมแทบไม่ได้เลย

โยม หญิง : คือถ้าไม่..คือก่อนหน้านี้สวดมนต์มันก็สงบมันก็นิ่ง แล้วช่วงหลังนี่สวดมนต์ไปสวดมนต์ไป เวลาที่เปิดหนังสือสวดมนต์ขึ้นมา คือเป็นอดีตที่เป็นคนอื่นเขาทำกับเราค่ะ ทำให้เราช้ำใจแล้วเราก็เสียใจ ร้องไห้คร่ำครวญ มันก็โผล่มาทุกครั้ง พอปิดหนังสือมันก็หาย

หลวงพ่อ : นี่ไงเราจะบอกว่ามันเป็นร่องของจิต มันเป็นร่องหมายถึงว่ามันเป็นแผลใจ แผลเป็น แล้วแผลใจตรงไหน อะไรที่มันจะออกมา แล้วมันไม่ใช่แค่นี้โทษนะ ชาติที่แล้ว ชาติก่อน ชาติอะไรต่างๆ ทำอะไรขนาดไหน ยังอีกมหาศาลเลย

ทีนี้อีกมหาศาลมันยังไม่แสดงตัว ข้อมูลเห็นไหม สมอง หัวใจเหมือนลิ้นชักเลย เองจะเปิดลิ้นชักไหน โอ้โฮ..เยอะแยะไปหมดเลย นี่ปิดๆ ไว้หมดเลยนะ ยังไม่ได้เปิดเลย อันนี้เปิดปิดมันไม่สำคัญเก็บไว้ก่อน เพียงแต่ว่ามันอยู่ที่ว่าเวลาอะไรมันให้ผลไง กรรมเก่ากรรมใหม่ กรรมแต่ละวาระที่มันจะมาถึง นี้มันจะมาอย่างไร อย่างที่โยมทำ เพราะโยมถามว่า เปิดแล้วทำไมมันจะร้องไห้

โยม หญิง : มันเป็นเหมือนอัดอั้นตันใจในสิ่งที่ทั้งๆ ที่เราคิดว่าเราเลิกกับเขาแล้วเราอโหสิให้เขาทุกอย่างแล้ว แต่เหมือนในจิตเรามันไม่ใช่

หลวงพ่อ : แพ้ตัวเองไง ไอ้เขาส่วนเขาเราส่วนเรา หลวงตาสอนประจำให้รักษาใจเรา ใจเขาส่วนใจเขา เขาจะดีเขาจะชั่วเรื่องของเขา ไอ้ใจเราสิ ถ้ารักษาใจไม่เป็นนะเขาจะดีสุดขอบฟ้าเลย คนดีสุดคนดีเลย แต่เราเจ็บเราช้ำ เขาจะดีเขาจะชั่วมันกรรมของเขานะ แล้วใจของเราล่ะ นี่พูดถึงหลักศาสนานะ

แต่พูดเป็นสังคมปั๊บ สังคมจะบอกเลย เห็นแก่ตัว ไม่รักสังคม เอาไว้ก่อนสังคมเอาไว้ทีหลัง เดี๋ยวกูจัดการทีหลัง ต้องเอากูให้พ้นทุกข์ก่อน เอาใจเราให้ได้ก่อน ใจเรา ว่ายน้ำไม่เป็นจะช่วยคนจมน้ำมันจมน้ำตายห่าหมดเลย เราจะช่วยคนจมน้ำนะ เราต้องเข้าใจถึงวิธีว่าจะช่วยคนจมน้ำอย่างไร เราต้องพัฒนาใจเราก่อน

ถ้าใจเราก่อนเห็นไหม พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาก่อน พระพุทธเจ้าไปเผยแผ่ศาสนาได้อย่างไร ในปัจจุบันนี้พระบวชมานะมันมีอะไรบ้าง มีแต่ความจำมามึงจะเอาอะไรไปเผยแผ่ กิเลสมึงไง ฉะนั้นเวลาที่ว่าเวลามันให้ผลไง เราต้องควบคุม เราต้องดูแล แล้วดูแลพอมันผ่านกรรมอันนี้ไปพอใช้ปัญญาไง อย่างที่โยมพูดเมื่อกี้นะเราให้ใจเขาแล้ว

นี่เพราะเราพูดไง เพราะถ้าเราไม่พูดอย่างนี้ปั๊บทุกคนจะบอก อ้าว..ทำความดีสวดมนต์สวดพรเปิดหนังสือเพื่อสวดมนต์ทำไมมันให้ทุกข์ขนาดนั้นล่ะ ไม่ใช่ สวดมนต์เหมือนยา เราสรรเสริญพุทธคุณ การสวดมนต์นี่คือคำสอนพระพุทธเจ้า คำสอนของพระพุทธเจ้าเรามาพร่ำเรามาสรรเสริญพุทธคุณ

สรรเสริญพุทธคุณนี่คือความดี แล้วความดีพอความดีพอเราจะทำความดีไอ้กรรมไอ้ต่างๆ มันก็มีมาบ้าง พอมีมาบ้างเราก็ต้องแก้ไขไง ไม่ใช่ว่าเราจะพูดที่เราพูดตรงนี้ขึ้นมาเราบอกไม่ใช่ว่า เราทำความดีแล้วนะ ทำไม ทุกคนเลย ทำดีหมดเลยนะ ทำบุญตักบาตรมีแต่คนดีหมดเลย ทำไมไม่เห็นรวยสักที ทำไมไม่เห็นพ้นทุกข์สักที

มันมีของเก่าของใหม่ แค่ให้เราตั้งใจทำเราเป็นคนดีสุดยอดแล้ว เรามาเป็นคนดี ขณะที่เราเป็นคนดีเพราะอะไร คำว่าดีทุกคนบอกกูดีหมดแต่ใจคิดอะไรไม่รู้ คำว่าดีของเราดีทั้งหัวใจดีทั้งความคิดของเรา เราพยายามจะปรับตัวให้เราดี ไอ้ตรงนี้สำคัญมากนะ เหมือนกับเด็ก

เด็กสองคนมันมีปัญหากัน ทุกคนสองคนว่าถูกหมดทั้งคู่ เด็กสองคนว่าถูกหมด แล้วคนไหนผิดหรือถูกมันต้องมีผิดอยู่คนหนึ่ง นี่ก็เหมือนกันหัวใจของเรามันมีดีชั่วแล้วเราว่าเราดีหมด แต่ถ้าวันหนึ่งเราสำนึกเห็นไหมเด็กคนนั้นมันสารภาพไง เราใช้ความดีจนพูดให้เด็กว่า ผมเป็นคนผิดครับ ผมเป็นคนทำเขาก่อนครับ

นี่ก็เหมือนกัน ใจของเราถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา มันยอมรับสภาพ ผิดหรือเปล่า ขณะที่ว่าเราชั่วไง ถ้าใครภาวนาถึงนั่น เราชั่ว เราชั่ว ใจเราคิด ใจเราคิดแบบว่าฝืนธรรมชาติหมด กฎหมายมีไว้อย่างนั้นแต่มันคิดจะเอาให้มากกว่านั้นจะเอาให้ดีกว่านั้น มันไม่เคยคิดอยู่ในร่องในรอยเลย ใจไม่เคยคิดอยู่ในร่องในรอยเลย มันจะคิดเบี่ยงไปตลอด มันชั่ว มันชั่ว ถ้ายอมรับเห็นไหม สำนึกผิด

เราสำนึกผิดเราแก้ไขตรงนี้ พอแก้ไขตรงนี้ปั๊บไอ้ตรงที่ว่า ที่เปิดหนังสือแล้วจะเสียใจจะอะไรมันจะเริ่มเบาไป เบาไป คือเราจะบอกว่า การทำดีของเรา แล้วพอเข้าไปถึงความดี พอมันไปถึงปมถึงอะไรมันแสดงออกมา พอมันแสดงออกมาปั๊บ เราก็ต้องแก้ไขของเราไป

เหมือนกับเราเจ็บไข้ได้ป่วย พอเจ็บไข้ได้ป่วยเรารู้ว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วรักษา ดีกว่าคนที่เขาเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วเขาไม่รู้สึกตัวเขาเอง เขาไม่มีกฎเหมือนเรานะ อันนี้เรื่องการทำบุญเห็นไหมทำบุญก็ได้บุญหมด แต่ไปภาวนาเข้าสิ พอไปภาวนาเข้าปั๊บมันก็ลึกเข้าไปอีกชั้นหนึ่งละ

คำว่าเจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนหมอเช็คร่างกายประจำปี ไม่เคยเช็คก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไรนะพอเช็คก็ไปเจอเข้า นี่ก็เหมือนกันพอเรามีศีล มีทาน ก็ไปเช็คหัวใจมันก็ไปเจอเข้า พอเจอเข้าเราก็แก้ไข เราก็แก้ไข !

โยม หญิง : แก้อย่างไรคะ

หลวงพ่อ : ตั้งสติใช้ปัญญา ปัญญาแก้ไขว่าสิ่งที่มันผ่านมาแล้วเห็นไหม หลวงปู่หลุยท่านบอกว่า อารมณ์ความรู้สึกที่มันผ่านมาแล้วเหมือนเสลด เสลดคายทิ้งไป ถ้าเราคิดทีหนึ่งเราก็เลียกินทีหนึ่ง คิดอย่างนี้เห็นไหม พอมันคิดอย่างนี้ปั๊บเพราะเราเลียเสลด เราเลียความรู้สึกเดิม เราไปคิดถึงมันเราก็เจ็บ ถ้าเราไม่เลียกินมันอารมณ์ก็คืออารมณ์ จิตก็คือจิต ความคิดเป็นความคิด เราเป็นเรา สิ่งนี้มันผ่านไปแล้ว

โยม ชาย : แต่ถ้ากรณีที่เราไม่อยากจะคิด แต่มันเกิดขึ้นมาเองอย่างนี้ แล้วจะทำอย่างไร

หลวงพ่อ : กำลังเราไม่พอ กำลังเราไม่ดี ตั้งสติให้ดีๆ

โยม หญิง : ใครเป็นคนควบคุม

หลวงพ่อ : ถ้าเราเป็นคนควบคุมเกมเราเป็นคนควบคุมทั้งหมดใช่ไหม อย่างบริหารจัดการ เขาบอกสติปัญญาต้องมี มันจะเกิดเองไม่ได้ ถ้าสติปัญญาเกิดเองเห็นไหม อย่างที่เราพูดประจำ อย่างในปัจจุบันเห็นไหมโลกเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง ถ้าเอาเด็กเป็นศูนย์กลางนะ มันก็มีแต่ขวดนมสิ ถ้าเอาเด็กเป็นศูนย์กลางนะแม่งก็แดกนมทั้งปี

เอาเด็กเป็นศูนย์กลางแต่ผู้ใหญ่ต้องมีวุฒิภาวะสอนมัน ผู้ใหญ่ต้องมีวุฒิภาวะสอนเด็กด้วย ไม่ใช่เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง เอาเด็กเป็นใหญ่นะ เราก็โอ๋มันสิ ไม่ใช่ ! นี่ก็เหมือนกันถ้าจิตใจมันไม่เข้มแข็ง ถ้าจิตใจเข้มแข็งแล้วสติต้องฝึก สติ สมาธิ ต้องฝึก การฝึกสติ สมาธิ ถ้าคนฝึกได้มันยับยั้งได้หมดล่ะ

หลวงตาสอนไว้เลย คลื่นของความคิด คลื่นทะเลใหญ่ขนาดไหนสติกั้นไว้หมดเลย ถ้าคนเคยทำนะ อย่างคลื่นในทะเล พวกเราออกทะเลไปเจอคลื่นนะ อ้วกแตกเลย ไอ้พวกชาวเลโอ้โฮ..ยิ้มเลยนะ คลื่นมามันโต้คลื่นเลย เหมือนเรา ถ้าเราตั้งสติเราฝึกมันได้อารมณ์เกิดขึ้นมาเลยกูบริหารจัดการมึงเลยนะ อารมณ์อย่างนี้เจ็บฉิบหายเลยวางไว้

อารมณ์อย่างนี้คิดแล้วดีโว้ย อารมณ์อย่างนี้คิดแล้วเราปลอดโปร่ง เราจะคิดทำดี อารมณ์เห็นไหม อารมณ์ความรู้สึกมันเกิดดับ ความคิดไม่ใช่จิต จิตคือเรา เราควบคุมได้ อะไรที่ดีไม่ดีเราควบคุมได้ เราบริหารจัดการได้ พอควบคุมได้เห็นไหม เจ็บเอาอีกไหม ไม่เอา..

โยม หญิง : พอทำไปสักพักเราเริ่มต่อสู้แล้วก็พยายามวาง แล้วพยายามไม่นึกถึง พยายามไม่คิด พอไม่คิดมันก็สวดได้เหมือนเดิม พอสวดได้เหมือนเดิม มันก็เริ่มนิ่ง

หลวงพ่อ : ใช่ ปัญญาเห็นไหม มันอยู่ที่นี่ ถ้ามันประสาเรานะ ถ้าวันไหนเราสู้ไม่ได้เราก็รู้ว่าวันนี้สติเราอ่อน วันนี้กำลังเราไม่มี ยกของหนัก ไม่มีแรงยกไม่ขึ้นเลย จิตถ้ามีกำลังเหมือนกันเปี๊ยบเลย เพียงแต่ว่าเป็นนามธรรมที่ไม่เห็น แต่ผู้ที่เป็นรู้

ถ้าวันไหนกำลังดีนะสั่งได้หมดเลย ไอ้นี่ไม่ดี ไอ้นี่ไม่ดี โอ้โฮ..รู้หมดนะ วันไหนกำลังไม่ดีนะ ไอ้นี่ไม่ดี ไม่ดีหรือสลบแล้วมันซัดเรากลิ้งเลยไม่ดี ไม่ดีกูก็ทำไปแล้วไง กำลังเราไม่มี ตั้งสติขึ้นมา ให้เห็นโทษไง เพราะเหตุนี้ปั๊บเราปฏิบัติมาครูบาอาจารย์เราปฏิบัติมา ไอ้อย่างนี้มันเอามาสอนเราไง คุณค่าของสติ

โยม หญิง : แต่ช่วงนั้นรู้สึกว่าจะตั้งสติได้ลำบาก แล้วตั้งสติได้ยากมาก หนูก็เลยวันนั้นได้มีโอกาสไปวัดศรีสุดารามแล้วก็จะมีรูปสมเด็จพุทธาจารย์โต พรหมรังษีค่ะเป็นรูปหล่อองค์ใหญ่ หนูก็เลยไปขอบารมีครูบาอาจารย์ช่วยขอให้หนูจิตสงบแล้วก็ให้มีสติแล้วสงบได้เร็วขึ้น หลังจากนั้นกลับมาหลังจากที่ไปขอพึ่งบารมีครูบาอาจารย์ก็กลับมาสวดมนต์ได้แล้วก็เหตุการณ์อันเก่าๆ ก็ไม่เกิด

หลวงพ่อ : ดีขึ้น ไอ้ดีขึ้นมันดีขึ้นจากอะไร อ้อนวอนขอกับดีขึ้นจากการกระทำของเรา ธรรมดาก็อย่างนี้แหละ ที่มาหาครูบาอาจารย์ก็ขอพึ่งนี่แหละ เวลาครูบาอาจารย์เราอยู่ เราอยู่กับครูบาอาจารย์ก็ขอพึ่งขอฟังกันไปก่อน แต่ถ้ามันได้มันก็พาไปได้ ตั้งสติ ตั้งสติของเรา ตั้งใจทำของเราเพราะอย่างนี้มันต้องสืบต่อ แล้วมันอยู่ที่การฝึก

ถ้าเราฝึกใช่ไหม การฝึกเราเห็นโทษของมันเอง แล้วเราเห็นคุณของมันเอง ถ้าวันไหนเอาอยู่เราเห็นคุณของมัน วันไหนเอาไม่อยู่เราเห็นโทษของมัน แล้วพอเห็นโทษของมัน นี่ไงปัจจัตตัง ธรรมะเป็นอย่างนี้

โยม ชาย : อย่างในกรณีของเขานี่ครับ เขารู้ว่าสติของเขาอ่อนเขาก็ไม่ฝืนไปหาอะไรทำอย่างอื่นก่อน แล้วค่อยมาสู้กันใหม่อย่างนี้ดีไหมครับ

หลวงพ่อ : ไอ้อย่างนี้มันเป็นอุบาย ถ้าพูดถึงถ้าสติมันอ่อนแล้วเข้าไปเผชิญกับมัน มันก็ไม่ไหวมันก็ทุกข์

โยม ชาย : กลับไปทำอย่างอื่นก่อน แล้วพอมีกำลังแล้วค่อยมาสู้กันใหม่อย่างนี้ครับ

หลวงพ่อ : บางคนบางลาง เราไปทางตรงไม่ได้ เราต้องไปทางอ้อม แต่ถ้าไปทางตรงได้เราก็ไปทางตรง เส้นทางลัด เส้นทางตรงเห็นไหมเราไปทางนี้ แต่ถ้าเส้นทางนี้เราไปไม่ได้ บางทีถ้าเส้นทางไปไม่ได้เราดันไป

เวลาพระเราเห็นไหมผ่อนอาหาร พระเราจะผ่อนอาหารบ้างอะไรบ้างเพื่อ ถ้าผ่อนอาหารปั๊บ ธรรมดาการกินอยู่เรามันให้พลังงานเหลือใช้ พลังงานเหลือใช้พอเอาจริงๆ แล้วไปสัปหงกหมด แต่พอเวลาพลังงานมันพอดำรงชีวิต แต่พลังงานอย่างนั้นเขาเรียก “ธาตุขันธ์ทับจิต”

ฉะนั้นพอเราอดนอนผ่อนอาหารอะไรขึ้นมา คนไม่เห็นประโยชน์ของมันถ้าคนไม่เคยภาวนา ถ้าคนเคยภาวนาจะเห็นประโยชน์ของมัน ถ้าเห็นประโยชน์ของมันเราจะทน อดอาหารหิวไหม หิวเป็นธรรมดา เหมือนเรากิน ๒ มื้อ ๓ มื้อแล้วเราเหลือมื้อเดียว ธรรมดามันก็ขาดไปมันก็ต้องมีปฏิกิริยาบ้าง

ถ้าเรามีปฏิกิริยาบ้างเราใช้ปัญญาว่าเราจะเอาประโยชน์ที่เหนือกว่าเอาประโยชน์ที่ใหญ่กว่ามันจะยอมทนสู้ ถ้าไม่ยอมทนสู้มันพยายามทนสู้เห็นไหมนั่นอย่างที่ว่าฝึกสติ อุบายที่จะเข้าไปเผชิญกับความรู้สึกเราไง อุบายที่จะเข้าไปเผชิญกับความจริง การปฏิบัติคือเอาชนะตนนะ การปฏิบัติคือเอาชนะตนเอาชนะใจเรา

โยม ชาย : หลวงพ่อครับอย่างเวลาทำสมาธิครับ เรารู้เวลานั่งสมาธิ นั่งแล้วมันก็ไม่ค่อยสงบอย่างนี้ครับ รู้ไว้คือนั่งมันได้แต่ความอดทนเราก็หันมาทำจิตให้สบายแล้วมานั่งใหม่ หรือว่าอดทนนั่งไปเรื่อยๆ แบบไหนจะดีกว่ากันครับ

หลวงพ่อ : ถ้าเราจริงจังนะเราอดทนเราฝืนชนะมันต้องมีการชนะกับแพ้ ถ้าฝืนจนเราชนะ วันไหนชนะมันลงได้บ้าง อันนั้นมันจะเป็นเหมือนกับว่ามันเป็นพยานยืนยันกับใจไง แต่ถ้าใจเรามันไม่เคยลิ้มรสนั้นเลย คือเราไม่เคยได้ความจริงเลย นักมวยต่อยมา ๑๐๐ หน ไม่เคยชนะสักหนแพ้ทั้ง ๑๐๐ นักมวยคนนั้นไม่มีค่าเลยเห็นไหม

แต่ถ้านักมวยคนไหนต่อยมาแล้วแพ้ๆ ทั้ง ๑๐๐ หนเลย หนที่ ๑๐๑ มันชนะนะเห็นไหม มันก็ต้องสู้บ้างมันไม่ใช่แพ้อย่างเดียวนะ ขึ้นชกมวยประวัติกูนะชกมา ๑๐๐ ครั้งแพ้หมดเลย แหมประวัติกูนี่ใช้ไม่ได้เลย แต่ถ้ากูชกมา ๑๐๐ ครั้งนะครั้งที่ ๑๐๑ กูชนะโว้ย มันเป็นการทำให้ใจมันอาจหาญทำให้ใจมันมีการกระทำได้ เราไม่ใช่แพ้ตลอดไป

โยม ชาย : นั่นก็คือการเพิ่มกำลังใจเพื่อให้เราเอาชนะได้ไหมครับ

หลวงพ่อ : แน่นอน ถ้าไม่ชนะมันเหมือนอาหาร อาหารที่คนไม่เคยกินเลยกับอาหารที่คนเคยกินพูดต่างกันไหม เราศึกษามาเหมือนอาหารที่มันเคยกินคือเราจำได้ เราก็ว่าเป็นอย่างนั้น ศีล สมาธิ ปัญญาพูดกันไป แต่ใจเคยเป็นหนเดียวนี่ สิ่งที่เคยเป็นถ้าจิตสงบ ศีล สมาธิ

สมาธิโอ้..สมาธิเป็นอย่างไร สองคนนี้คุยกันคนไหนจะมั่นคงกว่า จิตได้สัมผัสเขาเรียกธรรมรส ธรรมวุฒิธรรมรส รสที่เป็นธรรม รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง ! รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง ! ใครได้รับรสอันนั้นบ้าง นี่ปฏิบัติกันอยู่ใครได้รับรสอันนั้นบ้าง กูเห็นแต่ขี้โม้ๆ โม้กันไปก็โม้กันไป พอโม้ไปโม้มานะ มาสุมหัวกันนะ เฮ้ย..อย่างนี้ดีกว่า อย่างนั้นดีกว่า

แต่ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่นไม่เคยพูดอย่างนี้นะ มีแต่เด็ดขาด กรรมฐานนี่ธรรมะฟากตาย เอาตายเข้าแลกมาเลย เพราะอะไร เพราะถ้าเรายังคิดอย่างนี้กันอยู่ มันก็บอกว่ายังไม่ต้องไปหรอก เอาไว้ก่อน เมื่อนั้นแหละ นี่กิเลสเราไงไม่มีใครเอาชนะหรอก

ไปฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ทุกองค์เลยที่เป็นของจริงนะ เว้นไว้แต่ของปลอม ของปลอมก็ อืม สบายๆ ไม่ต้องทำหรอก ไอ้ที่ทำนี่มันอัตตกิลมถานุโยค

โยม หญิง : เออหลวงพ่อคะ มีคนแนะนำให้ลองแบบเวลาที่ดวงตกมากๆ จิตตกมากๆ เขาบอกว่าลองไปอ้อนวอนมหาเทพพระศิวะ พระแม่อุมาวดี พระพิฆเนศวร หนูก็ตอนช่วงที่จิตตกมากๆ หนูก็ไปมา ๒ ครั้ง

หลวงพ่อ : อ่อนแอเห็นไหม ใจมันไม่จริง พุทธมามกะเห็นไหม

โยม หญิง : เขาก็ชวนไปทางศาสนาพราหมณ์ แล้วหนูลองไปดูแล้วเขาก็จะมีทำน้ำมนต์ มีรับพรเทพ เขาก็มีพิธีอะไรของเขาคล้ายๆ ศาสนาพราหมณ์

หลวงพ่อ : มันพราหมณ์อยู่แล้ว เขาเป็นพราหมณ์อยู่แล้ว อันนี้พราหมณ์กับพุทธมันเข้ากันใช่ไหม ตอนนี้พุทธกับพราหมณ์เวลาพระเทศน์ อะไรนะ ไสยศาสตร์อย่างโน้นอย่างนี้ แต่พระก็ทำเองทั้งนั้น พระเข้าทรงเองหมด ไสยศาสตร์ โน่นก็ไสยศาสตร์มันล่อกันเองหมดเลย ไสยศาสตร์มันทำไง คือพูดกันแต่ปาก

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเป็นอย่างนี้อยู่ เราก็เป็นเหมือนเขาเห็นไหม คือเราไม่มั่นใจ เวลาเราทุกข์เรายาก ธรรมะ ธรรมโอสถ ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ ถ้าเราชนะเราแก้ไขได้ พระพุทธเจ้าปฏิเสธหมด พระพุทธเจ้าปฏิเสธเทพ พระพุทธเจ้าปฏิเสธหมดเลย อัตตา หิ อัตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน พระพุทธเจ้าไม่ฟังใครเลย

ถ้าสมมุติ เวลาทำดีแล้วไปอยู่กับพระเจ้า กูนี่คือพระเจ้า ถ้าเราทำดีเราไปเกิดเป็นพระเจ้า เทพ เทวดา อินทร์ พรหมก็คือพระเจ้า แล้วเวลาเราทำดีเราก็ไปเกิดเป็นพระเจ้า พระเจ้าก็คือกูนี่ไง ตัวเรานี่คือพระเจ้า แล้วไปอ้อนวอนเอาใคร

โยม หญิง : เออ..ไปอ้อนวอนขอเรื่องงาน เขาก็จะมีห้องนั่งสมาธิค่ะ

หลวงพ่อ : อันนี้เป็นทางออกของเขา

โยม หญิง : ไปนั่งสมาธิแล้วก็ไปขอพรท่านให้สำเร็จเรื่องงาน เรื่องเงิน ให้สำเร็จเรื่องงาน เรื่องเงิน แล้วก็ให้คนที่หนูรักกลับมาติดต่อ

หลวงพ่อ : แล้วได้ไหมล่ะ

โยม หญิง : ยังไม่เห็นผลค่ะ หนูเพิ่งไปเมื่อวานซืนกับเมื่อวานนี้ไปวันหยุดนี่ค่ะ แล้วก็ค่อยมาหาหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : มาหาเราก็อย่างนี้ มาหาเราเราคุยธรรมะ ถ้าเราคุยธรรมะแล้วเราชื่นใจ ใจเรามีกำลังใจไหม เราจะสู้กับชีวิตไหม ธรรมะ ! ธรรมะมาจากไหน ! เวลาใจของหลวงตา ท่านพูดเลย ใจของท่านเป็นน้ำอมตะอมฤตคือตักไม่มีวันหมด ในใจของท่านเต็ม

ธรรมของเราก็เหมือนกันจะเกิดมาในใจหัวใจของเรา หลวงตาพูดเลยไม่มีอะไรสัมผัสธรรมได้เว้นแต่ความรู้สึกคือใจของเรา ไอ้น้ำนี่มันใช้อาศัยอยู่กิน แต่น้ำอมตะที่ไหนมีในหัวใจ ถ้าเราพิสูจน์ของเรา เราตั้งใจของเราอย่างนี้ ทุกข์ไหม ทุกข์ โธ่..ภาวนาทำไมจะไม่ทุกข์

อดอาหารโอ้โฮ..ท้องร้องจ๊อกๆ ทุกข์ไหม ทุกข์ทั้งนั้น ไม่ใช่บวชพระแล้วโอ้โฮ..มันจะเลอเลิศ มันจะลอยไปบนฟ้า ไม่ใช่หรอก บวชพระนี่ทุกข์ฉิบหายเลย จะทำอะไรก็ไม่ได้มีวินัยบังคับหมด แล้วทุกข์ทำไม? เห็นไหม

นี่จะย้อนมาเวลาเราทุกข์เราบ่นทำไมล่ะ นี่เวลาเราทุกข์เราสู้มันไง เราบังคับใจเราทำไมเราไม่ทุกข์ ใจมันดิ้นรนไปประสามัน แล้วบังคับมัน มันทุกข์ไหม มันธรรมดา ทุกข์เพื่อจะแบบว่า หนามยอกเวลาหนามมันทิ่มเจ็บไหม แล้วเอาหนามมาบ่งเจ็บไหม

โยม หญิง : ก็เจ็บค่ะ พอบ่งแล้วมันหาย

หลวงพ่อ : นี่ก็เหมือนกันเวลาทุกข์ เวลาเดินจงกรมทุกข์ไหม เวลานั่งสมาธิทุกข์ไหม นี่ไงก็ทุกข์เพื่อจะแก้มันไง แต่ถ้ามึงไม่บ่งมึงไม่สู้ อวิชชาก็จะปักอยู่ในหัวใจตลอดไป เราจะบ่งเอามันออก มันจะบ่งด้วยความเพียร บ่งด้วยตบะธรรม ฉะนั้นเวลามันทุกข์ไหม ทุกข์ แหม..บ่งหนามไม่ทุกข์มึงบ้าหรือ

โยม ชาย : อยากให้หลวงพ่อแนะนำกรรมฐานที่เหมาะกับผมหน่อยครับว่าควรจะเป็นอย่างไร

หลวงพ่อ : เอ็งกำหนดอะไร

โยม ชาย : บางครั้งก็พุทโธ บางครั้งก็ยุบหนอพองหนอ บางครั้งก็ไม่กำหนดอะไรเลยครับ นั่งเฉยๆ อย่างนี้ครับ

หลวงพ่อ : พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ พุทโธไว้เลย พุทโธชัดๆ เลยล่ะ พุทโธชัดๆ เพราะคำว่าพุทโธชัดๆ พุทโธออกมาจากจิต เวลาสงบมันสงบเข้าไปถึงจิต เวลาฟังเสียงอยู่นี่ ความตั้งใจฟัง เสียงมันกระทบหูเราเข้าถึงใจ เราพูดอยู่ แต่เราคิดไปเรื่องอื่นสิ คิดไปเรื่องอื่น เราพูดได้ยินเสียงไหม ได้ยินอยู่ แต่พูดอะไรไม่รู้เรื่อง พุทโธชัดๆ เห็นไหมมันออกมาจากจิต เพราะจิตมันระลึกพุทโธ มันระลึกถึงมันเป็นวิตกวิจาร แต่ยุบหนอพองหนอมันเกิดที่ไหน

โยม หญิง : ที่ท้อง

หลวงพ่อ : แล้วเอาอะไรไปกำหนดมัน มันอยู่ข้างนอกเห็นไหม ความรู้สึก ถ้าพูดถึงกำหนดแล้ว ความรู้สึกเวลาถ้ามันดีๆ ได้แค่ไหน แล้วถ้าพุทโธมันดีได้แค่ไหน ความคิดของเราโดยปกติสามัญสำนึกความคิดสกปรก ความคิดของเราเป็นความคิดโดยอวิชชา ธรรมชาติของจิตมันคิดอยู่ตลอดเวลา ธรรมชาติของจิต ธรรมชาติของที่ผู้รู้ ธรรมชาติคือสิ่งที่ไม่ต้องรับรู้อารมณ์

ทีนี้พุทธานุสติเห็นไหม เราพยายามเอาความรู้สึกเห็นไหม ความรู้สึกเกิดจากจิต ความรู้สึกนะความรู้สึกคือจิต ความคิดเกิดจากจิตเห็นไหม ความรู้สึก พอพุทโธๆ เข้าไปถึงความรู้สึกนี้ ถ้าความรู้สึกนี้ถ้ามันสงบตัวมันได้ เราบอกว่าพุทโธๆ นี่ มันมีรากมีเง่ามีที่มาที่ไป แต่อย่างอื่นนะเรากำหนดออกไปเอาข้างนอกไง อย่างเช่นความคิดกับจิต จิตคือความรู้สึกใช่ไหมตามธรรมชาติ ความรับรู้ จิตคือความรับรู้ความคิด

เวลาความคิด มันคิดออกมาข้างนอก ให้นึกพุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ มรณานุสติ นุสติ เวลาพระพุทธเจ้าสอน

“โมฆราชเธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง”

ทุกคนก็บอกเลยโลกนี้มันสักแต่ว่านะ โลกนี้เป็นความว่างนะ โธ่..ขี้ลอยน้ำไง เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่างแล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ ถอนความรับรู้ ถอนความรู้สึกที่รู้ว่าว่าง โลกนี้เป็นความว่างใครเป็นคนบอก ถ้าไม่มีจิตเราจะรับรู้ว่าว่างหรือไม่ว่างไหม แล้วเรากลับมาถอนอะไรมัน ต้องกลับมาถอนที่ตัวรับรู้ เอ็งมองโลกให้เป็นความว่างสิ เราก็บ่นกันโลกนี้เป็นความว่าง รับรู้เป็นความว่างหมดเลย แล้วเราได้อะไร

โยม ชาย : มันไม่ว่างครับ

หลวงพ่อ : ก็เห็นว่าว่างข้างนอกไง ว่างที่โลกไง แต่ใจเราล่ะ เราเห็นเขาสอนกันนะ งง ฉิบหายเลย มันสอนอะไรของมันวะ ถ้าโลกนี้เป็นความว่างอากาศมันก็ว่างทุกอย่างมันก็ว่างหมดแล้ว แล้วเอ็งได้อะไรขึ้นมา เอ็งก็มองโลกนี้เป็นความว่าง ทุกอย่างเลยโลกนี้เป็นความว่าง แต่ใจเรามันไม่ว่างนะ ดิ้นฉิบหายเลย

โยม หญิง : แล้วที่หลวงพ่อแนะนำให้หนูไปท่องพุทโธถี่ๆ ค่ะ หนูลองไปทำแล้ว มันท่องไม่ได้ค่ะ พุทโธถี่ๆ แต่ถ้าหนูมาอยู่กับความสงบแบบวางอุเบกขา มองอยู่กับความสงบนิ่งๆ ก็นั่งได้

หลวงพ่อ : ขี้ลอยน้ำไง ขี้ลอยน้ำ

โยม หญิง : อย่างนั้นหนูจะนั่งสมาธิได้ แต่ถ้าพุทโธถี่ๆ หนูนั่งไม่ได้

หลวงพ่อ : ขี้ลอยน้ำ ขี้ลอยน้ำ เวลาพูดนี่นะเวลาพูดนี่มันได้ไม่ได้มันก็อยู่ที่ความสามารถ อยู่ที่ความจริงจัง มันก็เหมือนกับเวลาเราเข้าด้ายเข้าเข็ม ทำงานเวลาเข้าด้ายเข้าเข็มเราต้องมีสติใช่ไหม เพราะมันจะได้เข้าด้ายเข้าเข็มมันจะได้จะเสีย พุทโธๆ ถี่ๆ พอเราพุทโธสบายๆ “พุท” ก็คิดไปรอบหนึ่งแล้วค่อยมา “โธ” มันไม่จริงไม่จังไง

แต่ถ้าเวลาเราจะเข้าด้ายเข้าเข็ม พุทโธๆๆๆๆ มันตัดกันแล้วนะ เหมือนกับนักมวย นักมวยต้อนคู่ต่อสู้เข้ามุมแล้ว มันจะยิงเข้าเป้าไม่เข้าเป้า พุทโธๆๆๆๆ มันจะยิงเข้าที่จิตไง อันนี้มันจะมีความเครียดไหม แน่นอน นักมวยเอ็งต้อนเขาเข้ามุม เขาต้องหาทางออกไหม นี่ก็ พุทโธๆๆๆ กิเลสมันจะสอยมึงนะ ก็ต้องเข้าด้ายเข้าเข็มไง

ถ้าเราเข้าด้ายเข้าเข็มเราทำของเราให้จริงจังเหนื่อยไหม เหนื่อย แต่ผลได้รับ แต่ถ้าเราอย่างนี้ปั๊บ เราต้อนนักมวยเข้ามุมใช่ไหม พอต้อนเข้ามุมแล้วเดี๋ยวกลัวนักมวยเขาจะเครียดไง เราก็ถอยมากลางเวทีไง เฉยๆ ไง ให้มันวิ่งไปซะ ให้มันตามสบายเลย กูไม่ทำอะไรมึง แล้วมันได้อะไรก็ได้เต้นกันอยู่กลางเวทีไง

มันจะแลกไม่แลกไง คือเราจะเอาจริงมากน้อยได้แค่ไหน แล้วนี่มาถามเราเทคนิคของมัน เราจะน็อคมัน เราจะน็อคไอ้กิเลส เราจะน็อคสิ่งๆ นี้ให้มันลง คือให้จิตมันปล่อยให้ได้ มันจะให้ว่างให้ได้ มันก็ต้องมีลูกเล่นมีเทคนิค โธ่..กิเลสนะมันรู้ก่อนเรานะ

โยม ชาย : คือไม่มีปัญญามาครับ ก็ทำอะไรตรงๆ อย่างนี้ครับ ไม่เคยมีเทคนิค ไม่เคยมีลูกเล่นอย่างนี้

หลวงพ่อ : พอตรงๆ แล้วได้ผลไหมล่ะ

โยม ชาย : ไม่ได้

หลวงพ่อ : ตรงๆ แล้วทุกข์ไหม ต้องเอากลับมาคิดสิ มึงทำมากี่หนแล้ว แล้วให้ผลเป็นอย่างไรบ้าง เวลาเราเข้าทางจงกรม เราต้องเอาอย่างนี้มาทบทวนไม่ทำแล้วทิ้งเปล่า มาทบทวนว่าปีนี้เป็นอย่างนี้ ปีโน้นเป็นอย่างนั้นเราเคยภาวนาที่นั่นแล้วให้ผลตอบสนองเป็นอย่างไร ที่นี่ให้ผลตอบสนองเป็นอย่างไร

อย่างของครูบาอาจารย์เราหลวงปู่มั่นท่านคอยจี้ตลอด คิดถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงครูบาอาจารย์ที่ท่านทำมา อันนี้มันเป็นเทคนิคหมดนะ มันเป็นกลอุบาย เหมือนกับทางวิชาการ นักวิชาการเขาจะให้ทดสอบอะไร กรณีนี้เขาได้ทดสอบมาแล้ว เป็นทางวิชาการได้พิสูจน์มาแล้ว ว่าต้องเป็นอย่างนี้ๆ แล้วเอ็งจะเสียเวลาไปทำไมอีก

นี่ไงครูบาอาจารย์ท่านได้ผ่านมาแล้ว ท่านได้ทดสอบมาแล้ว องค์ไหนได้ผล องค์ไหนไม่ได้ผล เรารู้หมด หนังสือมีว่าทุกองค์มี อ่านแล้วทำอย่างไร อ่านแล้วโยนทิ้งหรือเสียเวลาอ่านมาตั้งกี่ชั่วโมง เอามาคิดสิ พอเอามาคิดปั๊บเราก็จะ..นักวิชาการตรงนี้สรุปแล้วๆ แล้วเราล่ะ เราควรจะออกทางไหน

เวลาเราภาวนา อย่างครูบาอาจารย์เห็นไหม ธรรมะ สากัจฉา เวลาพระป่าเขาคุยกัน เขาเจอกัน เขาจะคุยกันเลยว่าไปป่ามาเหมือนกับไปทดสอบมา ออกไปทำงานเที่ยวนี้กลับมา ผลที่ได้มันเป็นอย่างไรจะมาคุยกัน พอคุยกันปั๊บ อันไหนที่มีวุฒิภาวะสูงกว่าเห็นไหม เฮ้ย..อย่างนี้ไม่ใช่นะ ต้องออกทางนี้นะออกทางนี้นะ ก็แนะกัน ธรรมะ สากัจฉา

เวลาครูบาอาจารย์ พระป่าเมื่อก่อนจะรักกันมาก แล้วต่างคนต่างมุ่งมั่นมาก ไปที่เป้าหมายเดียวกันคือพ้นทุกข์ ฉะนั้นเวลาไปไหนกลับมา เวลาใครไปภาวนากลับมา ก็จะมาคุยมาตรวจสอบกัน ครูบาอาจารย์ท่านก็คอยให้กำลังใจ

หลวงปู่มั่นคอยเทศน์ พระเราก็หาเทคนิคกันคุยกันหาทางออกกัน แล้วเราก็ภาวนาเหมือนกัน มันต้องคิดไง นี่มันสำคัญว่าเราอยู่ในวงสังคมของใคร เมื่อก่อนเราบวชแล้ว เราว่าเรามีวาสนาเราคบเพื่อนเป็นอย่างนี้หมด เพราะเพื่อนเราแต่ละองค์ไปไหน นัดกันไปออกธุดงค์ ออกธุดงค์ เข้าป่าโอ๊ย..สู้กัน สนุก !

แต่ถ้ามันเจอคนไม่เอาไหนไม่เอากลับดีกว่า อยู่โน่นดีกว่าไอ้นี่ดีกว่ามันขาอ่อนกันหมด แต่ไอ้นี่มีแต่ลูกยุ ทุกคนมีแต่คนเสนอว่าไปทางนี้ดีกว่า ออกทางโน้นดีกว่า เข้าป่านั้นดีกว่า มันบังเอิญไปเจอเพื่อนดี เขาเรียก สัทธิวิหาริกกับหมู่คณะดี มันก็ชักนำเราไปในทางที่ดี เราปฏิบัติอยู่คนเดียว ๔-๕ คนอยู่ด้วยกันบอกไม่เอาๆ ไม่เอาเลยแม่ง..เอ้ย

โยม หญิง : อันนี้ก็ดีค่ะ ทุกๆ คนเขาก็จะ..คือ อันนี้ก็เพื่อนชมรมพุทธศาสนาที่เรียนมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาด้วยกัน ก็คบกันมาเป็น ๑๐ ปีคือทั้งหมดนี่เขาก็เลื่อมใสในทางพุทธค่ะ อันนี้เขาก็บอกว่า เขาสุข

หลวงพ่อ : นั่นแหละ แล้วถ้าอย่างนี้มา มันก็ดึงกันมาไง ในหมู่คณะที่เราปฏิบัติมันก็เป็นอย่างนี้มา มันเลยดึงกันมา ดึงกันมา พอดึงกันมา ทีนี้อย่างว่าจุดสุดท้ายมันก็อยู่ที่ว่าสุดวิสัยไม่สุดวิสัย คำว่าสุดวิสัย พอมันปฏิบัติไปแล้วมันไปไม่ได้ไง ปฏิบัติอยู่ดันเข้าไปดันเข้าไป มันก็เป็นอย่างนั้น คาอยู่อย่างนั้น วาสนาของคนเพราะเราอยู่ในวงการพระมันมี เรารู้

พอปฏิบัติแล้วมันเหมือนกับว่าจะไปไม่ได้ ถ้าย้อนกลับมาอภิธรรม ครูบาอาจารย์เห็นไหมอย่างน้อยต้องแสนกัป พระโพธิสัตว์ต้อง ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เวลาเราพูดเวลาเราคุยกับญาติโยม เวลาเราคุยกับญาติโยมเวลาเขาพูดอย่างนี้

โยม ชาย : แล้วอย่างนี้จะรู้ด้วยตัวเองหรือครับหรือว่ามีคนไปบอกว่า เออ..ยังไม่พอ

หลวงพ่อ : ไม่..รู้ด้วยตัวเอง รู้ด้วยตัวเองที่ว่าทำแล้วไปได้ไม่ได้

โยม ชาย : แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าไอ้สิ่งที่เรารู้มันถูกหรือมันไม่ถูกอย่างนี้ครับ

หลวงพ่อ : โธ่..ก็นั่งสมาธินะ เวลานั่งสมาธิ แล้วสมาธิลงได้ไหม สมาธินิ่งพอไหม แล้วสมาธิกับสมาธิคุยกันไม่รู้เรื่องเหรอ คนที่ปฏิบัติสมาธิมาแล้ว ถ้าเราพูดถึงสมาธิเรา สมาธิ จริงๆ นะ โทษจริงๆ นะ ความดีกับความชั่วเรารู้ก่อนเพื่อน ถ้าจิตเป็นสมาธิเรามั่นใจในสมาธิชัวร์มากเลย แต่ ! แต่ถ้ายังไม่เป็นสมาธิเราว่าเป็นสมาธิ มันไม่ใช่

โยม ชาย : คือบางทีมันเหมือนกับคล้ายกับจะใช่ มันยังสงสัยอยู่ มันยังมีความสงสัยแต่ว่าก็มั่นใจครับ แต่ว่ามันเหมือนมีบางอย่างมีเหตุการณ์จะบอกว่าจะเป็นอย่างนี้อย่างนี้ แต่ว่ามันก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์

หลวงพ่อ : ไม่ร้อยหรอก เพราะสมาธิคือสมาธิ เพราะเป็นสมาธิแล้ว พอเป็นสมาธิแล้วออกใช้ปัญญามาทดสอบตรงนี้ไง ถ้าเป็นสมาธิแล้วออกใช้ปัญญา ถ้ามีสมาธิเป็นพื้นฐานนะปัญญาเอ็งคิดสิ เราใช้ปัญญาพิจารณาอะไรมันจะ พั้วะๆๆ คือว่าเหมือนกับว่าเราคิดอะไรมันจะสรุปได้หมด คือเราเข้าใจ คือถ้ามันมีอะไรอยู่ในหัวสมองเรา ที่มันรกอย่างนี้ ใช้ปัญญาไล่ปั๊บ มันจะล้างได้หมดเลย

แต่ถ้าเราคิดแล้วปัญญามันล้างสิ่งนี้ออกไม่ได้ นั่นสมาธิอ่อนแล้ว มันตรวจสอบได้ง่ายๆ เลย เพราะเราทำอย่างนี้มา ถ้าวันไหนสติสมาธิอ่อนนะ สมาธิไม่พอนะ บางทีเราเคยทำได้ใช่ไหมเราเคยใช้ปัญญาไล่ๆ เข้าไป แล้วมันจะจบหมด มั่นใจไง ลองใช้ปัญญาอีก เราจะไล่ให้มันจบ มันไม่จบหรอก คือความคิดปัญญามันจะยื้อกันอยู่อย่างนั้นไม่จบ

แล้วมันพูดด้วยความมั่นใจไงว่าเคยทำได้ มันก็จะเอาให้ได้อยู่อย่างนั้น โอ้โฮ..เหนื่อยฉิบหายเลย แต่ถ้าเป็นสตินะ เฮ้ยมึงบ้าแล้ว กลับมาพุทโธก่อนนะ เออ..ใช่มึงบ้า มึงบ้า แต่กว่าจะรู้ว่ามึงบ้านะ เหนื่อยฉิบหายเลย แต่ถ้าไม่มีสตินะ มันก็ยื้ออยู่อย่างนั้น สติมันเตือนตัวเองไง เฮ้ย..นี่อะไร เพราะเราเคย มันมีประสบการณ์อยู่

แต่บางทีมันอยากได้ด้วยความอยากได้ ด้วยความคิดว่ามันจะได้ ด้วยความมั่นใจตัวเองเกินไปอย่างนี้ มีน้อยมากเทคนิคน่ะ คนมันเคยผิดพลาดมาทั้งนั้น พอสติมาเฮ้ย..ทิ้งเลย ทิ้งกลับมาพุทโธเลย พุทโธๆๆๆ พอพุทโธจิตมัน เฮ้อ..สบายโล่งเลย กลับไปล่อใหม่

ประสบการณ์มันมีอย่างที่พูดแล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เรื่องศาสนานี่สุดยอดมากเลย แล้วถ้ามันเป็นความจริงแล้วนะ ! ถ้าเป็นความจริงแล้วนะ ! ไปคุยกับพระด้วยกันนะอันเดียวกัน เพราะความจริงในศาสนานี้มีอันเดียว ! มีอันเดียว ! ไม่มีความจริงจูเนียร์ ๒ ๓ ๔ หรอก ไม่มี

โยม หญิง : เหมือนกับว่าเวลาที่เราปฏิบัติมาตอนที่จิตเราเข้มแข็ง มันก็จะคำว่ารู้ได้ด้วยตนเองเหมือนมีเซ้นส์ ประมาณนั้นใช่ไหมคะเหมือนเป็นผลพลอยได้

หลวงพ่อ : ไม่.. ใช่..ไอ้เซ้นส์นี้ผลพลอยได้ ถูก แต่ความจริง

(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)