ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

บารมีธรรม1

๔ ต.ค. ๒๕๕๒

 

บารมีธรรม ๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันเป็นประเด็นไง ตั้งแต่เช้านี่ ตอนเช้าบอกว่า เรื่องของของสงฆ์ใช่ไหม เรื่องอีกากินพริกในวัด แล้วไปขี้ถ่ายทิ้งไว้ในป่า แล้วมันไปเกิดอยู่ในป่า แล้วพอไปเกิดอยู่ในป่านี่ แล้วคนไปเก็บพริกกินที่ในป่านั่นมันจะผิดได้อย่างไร เพราะเป็นความไม่รู้ เพราะเราไม่รู้ใช่ไหม บอกเราไม่รู้ไม่เห็นนี่ มันจะเป็นได้อย่างไร

เพราะความไม่รู้ไม่เห็นไง เราถึงได้มาเกิดกันอยู่นี่ไง ถ้าเรารู้เราเห็นจะมาเกิดไหมล่ะ เพราะเราไม่รู้ไม่เห็นนี่ มันถึงมาเกิดมาทุกข์อยู่นี่ ก็เพราะความไม่รู้ไม่เห็นนี่แหละ ถ้ามันรู้มันเห็น เห็นไหม อวิชชาความไม่รู้นี่ ถ้ามันมีวิชาความจริง มันจะรู้นี่ มันจะมาเกิดอีกไหมล่ะ เพราะความไม่รู้นี่ไง

นี่ก็เหมือนกันบอกว่าต้นพริกนี่เราไม่รู้ไม่เห็นไง เพราะมันเกิดในป่า เราก็เข้าใจว่า ความเข้าใจว่าคือความเข้าใจผิด แต่โดยข้อเท็จจริง ต้นพริกนั่นโดยข้อเท็จจริงของมันนี่ เพราะอีกานี่มันกินมาจากในวัด แล้วมันไปขี้ออกมา อีกานี่นะ อีกาตัวนั้นน่ะในพระไตรปิฎกนะ เหมือนกับว่าเอาของของสงฆ์ไป อีกานี่ ปากนรก อีกานี่นะมันจิกอยู่ข้างหนึ่ง จิกอยู่ข้างหนึ่งอยู่บนปากนรกเลย

แล้วทีนี้พอมันไปขี้นี่ พอมันเป็นเม็ดพริกขึ้นมา มันไปเกิดไปงอกขึ้นมานี่เราไม่รู้ เราไปกินเอา เราไปเก็บมากิน นี่คำว่ามันจะเป็นได้อย่างไร มันเปรียบได้อย่างนี้นะ มันเปรียบได้เหมือนอย่างเช่นถ่านไฟแดงๆ กองอยู่นี่ ถ่านไฟแดงๆ นี่ เราเป็นคนมีหูมีตา เราเห็นถ่านไฟแดงๆ นี่ เราจะเอามือไปกำมันไหม เราก็ต้องใช้อย่างอื่นไปเขี่ยทิ้งหรือไปคีบมันใช่ไหม เพราะมันเป็นถ่านไฟแดง เพราะเรารู้ว่ามันเป็นถ่านไฟแดง มันให้โทษกับเรา แต่ถ้าเป็นคนไม่รู้นี่ คนอย่างเด็กไม่เข้าใจเลยนี่ เจอไฟแดงๆ เด็กไม่รู้นี่มันกำทั้งมือเลย มันจะร้อนทันทีเลย

นี่เห็นไหม เพราะความไม่รู้มันเข้าไปจับนี่ มันยิ่งหนักกว่าคนรู้นี่ รู้แล้วผิดพลาดนะ รู้นี่ก็เรารู้ใช่ไหม เราถึงแก้ไขเอาใช่ไหม แต่ถ้าเราไม่รู้เลยนี่ เราด้วยความไม่รู้เราไม่เข้าใจนี่ เราหยิบเต็มที่เลย เหมือนที่เราเป็นทุกข์กันอยู่นี่ เพราะคนที่ไม่เข้าใจ คนที่แบบว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ เสียตัวตลอดเวลา แต่ถ้าคนรู้เท่าถึงการณ์ล่ะ มันก็ต้องหาทางป้องกัน หาทางป้องกัน หรือไม่ทำตามเขาให้เป็นอย่างนั้น

เราจะมาอ้างว่ารู้หรือไม่รู้ไม่ได้ เราจะมาอ้างว่าเพราะเราไม่รู้ เพราะมันเกิดอยู่ในป่า เราไม่รู้ ถ้าอย่างนั้นปั๊บนี่ วิทยาศาสตร์เห็นไหมดูสิ นี่พายุมา ฝนมา ฟ้ามา แดดมานี่ เราบอกเราปฏิเสธให้มันไม่มีได้ไหม แสงแดดนี่เราปฏิเสธว่ามันไม่ร้อนได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้ เพราะแสงแดดมันต้องร้อนเป็นธรรมดาใช่ไหม

ไอ้นี่ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนั้นไง นี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้น แต่เรามาปฏิเสธที่ตัวเราไง เรามาปฏิเสธว่าเราไม่รู้ไง เราไม่รู้ผิดได้อย่างไรไง แต่ตามข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนั้น แล้วเราไปทำอย่างนั้นเข้า มันองค์ประกอบของกฎหมาย ถ้าพูดถึงกฎหมายก็ผิดหมด มันก็ต้องผิดเป็นธรรมดา แต่เราบอกว่าเราไม่รู้กฎหมาย แล้วเราทำไปด้วยความไม่รู้ กฎหมายให้อภัยไหม

ตามข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนั้น แต่นี่พอเราคิดอย่างนั้นปั๊บนี่ เราพูดอย่างนี้ปั๊บนะ เราจะเข้าใจ มันเป็นข้อเท็จจริง แล้วเป็นสิ่งที่ว่ามันการดำรงชีวิตนี่ พวกเราจะเข้าใจว่า แล้วเราจะดำรงชีวิตกันอย่างไร ในเมื่อของมันอยู่ในป่านี่ เราไปเก็บมากิน มันยังเป็นกรรม เราจะดำรงชีวิตอย่างไร เรามาน้อยเนื้อต่ำใจกันตรงนี้ไง เพราะเรามีจุดนี้ใช่ไหม มีจุดว่าเราเป็นมนุษย์ แล้วสิ่งที่เราไม่รู้นี่เราไปทำอย่างนั้นปั๊บนี่ มันก็เป็นให้โทษกับเรานี่

มันมาเสียใจกันตรงนี้ มันถึงบอกว่าสิ่งนั้นเอาเปรียบ สิ่งนั้นสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงนั้นมันบีบคั้นเรา แต่ความจริงไม่ใช่ มันเป็นข้อเท็จจริงอย่างนั้น แล้วเราเกิดมาในโลกนี่เราจะรู้ ถ้าเรามาศึกษาอย่างนี้ มันเป็นเวรเป็นกรรมไง นี่ผลของวัฏฏะ

ผลของวัฏฏะมันสำคัญมากนะ แล้วทำไมคนต้องไปเจอพริกต้นนั้นล่ะ ไอ้พริกต้นนั้นนี่มันอยู่ในป่า แล้วเอ็งทำไมต้องเดินไปเจอมันล่ะ ทำไมเอ็งไม่ไปกินพริกในสวนล่ะ สวนเขาปลูกขึ้นมานี่ ทำไมเอ็งต้องไปเจอพริกต้นนั้นล่ะ มันไม่มีใครย้อนกลับมาตรงนี้ไง เราพูดบ่อยเห็นไหม บอกว่าพวกเราต้องถือศีล ๕ เราต้องไม่เบียดเบียนกัน ไอ้พวกวัยรุ่นมันเถียงเลยนะ แล้วอย่างนี้แล้วเสือมันกินเนื้อ เสือทำอย่างไร เสือมันจะถือศีลได้อย่างไร เสือนี่

อ้าว..เสือในป่า สมัยโบราณใช่ไหมเสือมันก็ต้องหาอาหารมัน เราบอกว่ามึงต้องถามกลับสิว่าทำไมมันถึงเกิดเป็นเสือล่ะ มึงต้องถามกลับว่า ทำไมมันถึงเกิดเป็นเสือ ทำไมถึงไม่ไปเกิดเป็นควาย ควายมันกินหญ้า ทำไมมันถึงเกิดเป็นเสือล่ะ แต่พวกมันบอก อ้าว..ก็เป็นเสือแล้วน่ะ เป็นเสือแล้ว เสือก็ต้องไม่ผิดสิ เสือก็ต้องไม่ผิดศีลสิ เพราะเสือมันต้องกินอาหารนี่ เสือผิดศีลได้อย่างไร

นี่ไงพวกเราคิดเอาแต่ได้ คิดเอาแต่ได้ไง เราไม่ได้คิดถึงว่าผลบุญผลกรรมไง นี่ผลบุญผลกรรมนี่ สิ่งที่ทำมาเห็นไหม ทำมาตั้งแต่อดีตชาติ ทำสิ่งที่ไม่ดีมา เวลามันให้ผลมา เราไปเรียกร้องเอาอะไร สิ่งที่มันให้มานี่ อย่างเกิดเป็นเสือ ทำไมถึงเกิดเป็นเสือ อย่างมนุษย์สมบัตินี่ นั่งอยู่นี่ ถ้าไม่มีศีล ๕ มนุษย์สมบัตินะ ไม่มีศีล ๕ ศีลไม่ครบ วาสนาบารมีไม่มีนะ

โยมจะเถียงก็เถียงไป พูดไปนี่ต้องเถียงทุกคนล่ะ นี่เป็นเรื่องธรรมดา เหรียญมีสองด้าน พูดคำใด มีคนเชื่อ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เถียง ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ไอ้คนเชื่อครึ่งหนึ่งยังน้อยเลยนะ อย่าว่าแต่เชื่อทั้งร้อย พูดไปนี่คนฟัง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ อืมใช่ อีก ๗๕ เปอร์เซ็นต์เถียงใจขาดเลย

เราจะบอกว่า ที่มานั่งกันอยู่นี่ มนุษย์สมบัตินี่ แล้วในความสัตย์นี่ จิตที่มันเกิด มันเป็นใคร ในความสัตย์นี่ ในปลวก ในมด ในสัตว์น้ำสัตว์บก จิตหนึ่งเหมือนกันนะ นี่ถ้าเราคิดอย่างนี้ปั๊บนี่ มันจะเห็นย้อนกลับมามันจะเห็นเลยว่ามนุษย์สมบัติมีค่าทันทีเลย แต่ถ้าเราไม่คิดอย่างนั้น เราคิดว่าเราทุกข์เราทุกข์ไง ไปเจอพริกต้นนั้นก็มาบ่นไง แต่ถ้ามันไปเจอ ไปเป็นสัตว์โดนบีบคั้นมันจะขนาดไหน

จิตหนึ่งนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเกิดเป็นกระต่าย เคยเกิดเป็นกวาง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เกิดเล็กกว่านกแขกเต้า พระโพธิสัตว์ไม่เกิดอย่างนั้น อย่างพระนี่พระติสสะเห็นไหม ไปเกิดเป็นเล็นในจีวรนั่นไง พระนี่ไปเกิดเป็นเล็น ทั้งๆ ที่สร้างปฏิบัติมามหาศาลเลยนะ ถ้าพูดถึงมีสติสัมปชัญญะนี่ ตายตอนนั้นนะ ไปเกิดบนสวรรค์เป็นพรหมด้วยถ้าเข้าสมาธิได้ แต่เพราะว่าธรรมดาเรามันคุ้นเคยใช่ไหม

นี่ธุดงค์ไปเจอญาติ ญาติก็ให้ผ้าฝ้ายเนื้อหยาบมา ก็มาเลาะออกใช่ไหม ก็มาทอให้เป็นผ้าฝ้ายเนื้อละเอียด แล้วก็ตัดเย็นจีวร ทำกับมือไง มันก็ผูกพัน ทำกับมือเย็บเสร็จตัดเสร็จแล้วนะ พรุ่งนี้เช้านี่ย้อมจะตากแล้ว พรุ่งนี้จะเปลี่ยนจีวร จะถ่ายจีวรไง คืนนั้นตาย ท้องร่วงตาย ด้วยความผูกพันนะ ไปเกิดเป็นเล็นในผ้าจีวรนั้นเลย

พอเกิดเป็นเล็นในผ้าจีวรนั้นปั๊บ ตามธรรมวินัย ตามกฎหมายพระนะ ของของสงฆ์นี่ ถ้าพระองค์นี้ตายแล้วนี่ให้แบ่งกันในสงฆ์ แต่ถ้าเป็นผู้อุปัฏฐาก อย่างเรานี่มีผู้อุปัฏฐากอยู่ ฉะนั้นถ้าเราตายปั๊บ บริขาร ๘ ของเรานี่จะตกสิทธิเป็นของผู้อุปัฏฐาก แต่ถ้าไม่มีใครอุปัฏฐากอยู่เราเป็นสงฆ์นี่ เวลาตายปั๊บนี่ บริขาร ๘ ของเรานี่เป็นสิทธิ์เป็นกองกลาง แล้วให้แบ่งเอาในหมู่สงฆ์นั้น

ฉะนั้นพระติสสะตายปั๊บนี่ สมบัติไอ้พวกผ้านี่พระจะมาแบ่งกัน ถ้ามาแบ่งกันพระพุทธเจ้ามาเลยนะ พระพุทธเจ้านี่อนาคตังสญาณ รู้ว่ามาเกิดเป็นเล็น แล้วถ้าแบ่งกันนะ ถ้าแบ่งนี่ เล็นมันอยู่ในผ้านั่นล่ะ ถือว่าเพราะมันยังผูกพันอยู่ มันจะคิดว่าพระนี่ แย่งผ้ามัน มันจะผูกโกรธ มันจะเสียใจ แล้วถ้ามันตายไปมันจะตกนรก พระพุทธเจ้ามาห้ามเลย ผ้านั้นอย่าเพิ่งแจกใครนะ ผ้านี่ตามสิทธิตามวินัยนี่ต้องแจก ถ้าต้องแจก จิตนี้มันจะไปไกลเลย พระพุทธเจ้าบอกอย่าเพิ่งแจกผ้าผืนนี้ ให้เก็บผ้าผืนนี้ไว้ก่อน รอให้ครบ ๗ วันก่อน อายุของเล็นมันอายุแค่ ๗ วัน พอพ้นจาก ๗ วัน เล็นมันตาย ตายจากเป็นเล็น เห็นไหม

จิตนี้พอตายจากเล็น จิตนี้ไปเกิดเป็นเทวดา แต่ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ได้มาห้ามนะ เวลาเอาผ้าไปแจก เพราะเราตาบอด เราตาบอดตาใส เรามีตาเนื้อ แต่เราไม่มีตาใน เราจะไม่รู้เรื่องอะไรของเรา ถ้าเราแจกปั๊บเล็นมันก็โกรธ แต่มันอยู่ในผ้าเราไม่รู้ไง ถ้าเราแจกแล้วนะ มันตายไปด้วยความผูกโกรธ ความโกรธมันเหมือนน้ำหนักมันจะลงต่ำ ความสุขความพอใจมันจะเบาเหมือนปุยนุ่น มันจะขึ้นสู่ที่สูง

นี่พูดถึงเรื่องของการปฏิสนธิจิต นี้พอพระพุทธเจ้าบอกไม่ให้แจกก็พับไว้ก่อน พอพับไว้ก่อน ๗ วัน แล้วพอถึงเวลาแล้วนี่ ถึงเวลาครบ ๗ วันแล้วค่อยมาแจก พระพุทธเจ้าบอกแจกได้แล้ว พระติสสะไปสวรรค์แล้ว นี่มนุษย์สมบัติไง นี่มนุษย์สมบัติ เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อมันเรื่องของเรา แต่ข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ ผลของวัฏฏะเป็นแบบนี้

ฉะนั้นสิ่งที่พูดนี่ เวลาพูดธรรมะนี่ ตอนเช้าเราก็คิดอยู่ ไอ้พริกต้นนี้ เพราะไอ้พริกต้นนี้ต้องมีคนค้านแน่ๆ เลย ไอ้พริกต้นนี้ เพราะในวงการพระยังค้านเลย เวลาเราศึกษาธรรมวินัยกันนี่ พระด้วยกันนี่ อืม..มันเป็นไปได้อย่างไร คิดอย่างนี้ทุกคน เพราะเรา นี่กรณีนี้อ่านอยู่ด้วยกัน พระไตรปิฎกฉบับประชาชนก็มี บางทีนี่เราอยู่บางวัดนะ ถึงเวลานี่เขาจะอ่านพระไตรปิฎกกัน เวลาอ่านถึงข้อนี้ พระจะถามทันทีเลย มันจะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร จริงๆ มันไม่ควรเป็นอย่างนั้นนะ ก็จริงๆ เราไม่รู้นะว่าพริกต้นนี้มันปลูกอยู่ที่ไหน แล้วเราไปเก็บมากินนี่มันจะผิดได้อย่างไร ทีนี้บังเอิญพริกต้นนี้มันเป็นอีกาคาบมา

นี่พระไตรปิฎกเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ถ้าพูดถึงเป็นของสงฆ์นี่ ถ้าเราเอาของสงฆ์ทำให้มันถูกต้องก็ได้ ของของสงฆ์นี่มันก็เหมือนของสาธารณะ ของสาธารณะนี่นะ ใช้เป็นสาธารณะเป็นประโยชน์ เป็นสาธารณะประโยชน์ ถ้าสาธารณะประโยชน์เขาไม่ใช้แล้วจะทำอย่างไรต่อไป มันมีขั้นตอน อย่างเช่นเห็นไหม ถวายสังฆทานนี่ของของสงฆ์ เวลาโยมถวายสังฆทานเห็นไหม พอถวายสังฆทานเสร็จนี่เป็นของสงฆ์ ใครเอาไปใช้เป็นเปรตหมด ต้องอุปโลกน์ใช่ไหม ขึ้นนะโมเห็นไหม ยักเขภันเต ยักเข ของนี้เป็นของสาธารณะ เป็นของของสงฆ์

ทีนี้สงฆ์นี้ได้ตกรับมาด้วยความชอบธรรมแล้ว พอด้วยความชอบธรรมแล้วนี่ เราเอาของสงฆ์นี่ เราจะใช้ประโยชน์ร่วมกันใช่ไหม ก็แบ่ง สงฆ์ก็คือใคร สงฆ์ก็คือพระ สัก ๔ องค์ขึ้นไป หรือสงฆ์ขึ้นไป ให้ใช้จ่ายตั้งแต่เถระ พระมา สามเณร คฤหัสถ์เห็นไหม แบ่งกันนะ มันมีอุปโลกน์ไง คือของของสงฆ์ก็ทำถูกต้องได้ มันมีขั้นตอนของมันทำให้ถูกต้องไง

ทีนี้ถ้าทำให้ถูกต้อง มันก็ไม่มีโทษอะไรเลย เหมือนกฎหมายนี่ กฎหมายถ้าเราทำถูกต้อง กฎหมายนี่มันดีงามหมดล่ะ แต่ทีนี้พอผิดปั๊บนี่ แล้วไอ้สิ่งที่ทางแก้นี่ มันมีผูกก็มีแก้ มีผูกก็มีแก้ เห็นไหมดูสินี่ๆ เป็นของของสงฆ์เห็นไหม นี่ถวายสังฆทานแล้วทำอย่างไรกัน นี่ถ้าเรามาศึกษาธรรมวินัย มีคนมาถามเยอะมาก เวลาเขาไปวัดบ้านนี่ ถวายสังฆทานทั้งนั้นเลยล่ะ ถวายเสร็จพระก็ฉัน ฉันเสร็จแล้วโยมก็ฉัน ฉันเสร็จแล้วพอนึกได้ก็มานั่งปวดหัวกันน่ะ หลวงพ่ออย่างนี้เป็นเปรตหรือเปล่า? หลวงพ่ออย่างนี้เป็นเปรตหรือเปล่า? คนมาถามเยอะมาก เพราะหัวหน้าไม่ได้ทำไง

อย่างของเราเห็นไหม ของเรานี่ พูดถึงถ้าถวายสังฆทานก็เป็นสังฆทาน ถ้าถวายสังฆทานก็ต้องอุปโลกน์ แต่ถ้าเวลาโยมถวายสังฆทาน สังฆทานด้วยความตั้งใจ ใช่ไหม สังฆทาน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย ปฏิคาหก ผู้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับด้วยความบริสุทธิ์ รับเสร็จแล้วไง แต่ไม่ได้กล่าวคำถวาย เหมือนกับกฎหมายนี่ ไม่ได้เซ็นสัญญามันก็ไม่มีผลทางกฎหมาย ถ้าเซ็นสัญญา เซ็นสัญญาก็ต้องทำตามกฎหมาย

ฉะนั้นเราถึงรับ เห็นไหม เราไม่ให้มีพิธีกรรม ไม่ให้มี เราจะฝึกโยมให้เป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่โยมเป็นเด็กๆ โยมเป็นเด็กๆ นะ เอาของมาถวายวัดไง นี่ไปถวายสังฆทาน ก็ยังหวงมันอยู่ ยังลังเลมันอยู่นะ ต้องกล่าวคำถวายก่อนนะ เพื่อตัดความหึงหวงไง ต้องกล่าวคำถวายให้มันเต็มใจไง แต่ความจริงนี่เราถือไปนี่ เจตนานี่บริสุทธิ์มาก เจตนาสำคัญที่สุด

ฉะนั้นย้อนกลับมา ย้อนกลับมามันเป็นอย่างนี้ มันเป็นเรื่องโลกกับธรรม เวลาเทศน์นี่นะ เวลาเทศน์กับวัยรุ่น เทศน์กับเด็กทั่วไปนี่ พื้นฐานนี่มันจะเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องพูด ให้มันชัดเจน อย่างเช่น เด็กๆ นี่พูดบ่อยมาก เราแนะเขาไว้เยอะมากเลย เด็กวัยรุ่นนี่ เวลามันพูดถึงนี่มันบอกว่า พระเวสสันดรนี่เอาเปรียบ พระเวสสันดรนี่สละลูกสละเมีย ทำไมพระเวสสันดรไม่สละตัวเอง เห็นไหมทุกคนบอกทำไมไม่สละตัวเอง ไปสละลูกสละเมีย ก็ถามกลับสิ มันไม่ขอกูนี่ มันขอลูกขอเมีย มันขอพระเวสสันดรหรือเปล่า พระเวสสันดรจะได้ไป มันไม่ขอ ก็มันขอลูกนี่

มันขอลูกขอเมียเพราะอะไรรู้ไหม มันขอลูกขอเมียเพราะว่าผู้ชายสุภาพบุรุษ เวลาเรารักเมียรักลูกนี่ หัวใจมันแทบขาด คนเรานะลูกเมียนี่เจ็บช้ำน้ำใจขนาดไหน พ่อมันนี่จะเอาชีวิตเข้าแลกเลย แต่ถ้ามันเอาลูกเอาเมียไว้บ้านนะ แล้วเอาพ่อมันไปทุกข์ไปยาก พ่อมันจะรับอาสาไปทันทีเลย แต่มันไม่สะเทือนหัวใจ โพธิญาณมันอยู่ที่หัวใจ เอาพ่อ พ่อไม่เอา เอาลูกเอาเมีย เอาลูกไปต่อหน้า แล้วตีลูกต่อหน้า ให้พ่อมันเจ็บช้ำน้ำใจ จนพระเวสสันดรนี่ชักพระขันธ์เลย ทนไม่ไหวนะ สุดท้ายสติมันมานะ ชักคืนเลย เพราะเราต้องการโพธิญาณ

แม้แต่ลูกนี่เอาไป แล้วตีต่อหน้า คนที่รักลูกรักเมียเจ็บขนาดไหน แต่วัยรุ่นมันไม่ได้คิดไง เห็นแก่ตัว คนนี่มันคิดแง่เดียว มันไม่คิดกลับ ถ้ามันคิดกลับนะ ตีเราดีกว่าตีลูกเรานะ มึงเอาลูกกูไปตีต่อหน้ากูได้อย่างไร แล้วกูนักรบนะ พระเวสสันดรนี่กษัตริย์นะ เตรียมความพร้อมเป็นกษัตริย์ เป็นนักรบ ชูชกเป็นขอทาน ไม่มีวิชาการ ไม่มีอะไรเลย อีกคนหนึ่งเป็นนักรบนี่ ชักดาบมาก็หัวขาด แต่ทนให้มันตี ทนให้มันตี มันเจ็บ มันเจ็บ

พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ ต้องลูกเมียต้องสละชาติสุดท้าย พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ อยู่ในพระไตรปิฎกนะ มีอยู่องค์หนึ่งนี่ยักษ์มาขอ ขอเสร็จมันกินต่อหน้าเลย มันเอาลูกนี่เคี้ยวกินต่อหน้าเลย เพราะอย่างนี้นะถึงว่า ๘๐ ปี ๘๐,๐๐๐ ปี ถ้าใครเสียสละมาก ใครได้สร้างบุญญาธิการมาก พระพุทธเจ้าองค์นั้นอายุยืน สร้างประโยชน์ได้มหาศาล พระพุทธเจ้าของเรานี่ๆ โดนขนาดนี้บอกว่าเราอายุสั้น แค่ ๘๐ ปี ศาสนาเราอยู่อีก ๕,๐๐๐ ปี

นี่พระพุทธเจ้าจะได้มาแต่ละองค์นี่ มันลงทุนลงแรงขนาดนี้ แล้วเรานี่ ทำไมกูต้องเป็นชาวพุทธล่ะ ชาวพุทธจะต้องมาบีบบังคับกูล่ะ กูจะเป็นอะไรก็ได้ นี่คิดกันเอาเองไง โง่น่าดูเลยนะ เราเกิดเป็นชาวพุทธ พระพุทธศาสนานี่สุดยอดมาก แต่นี้ว่า นี่เวลาคนคิดนะ นี่เวลาเราคิดนี่เราคิดตรงข้ามกับโยมหมดเลย แล้วการแสดงออกหรือทำอะไรไปนี่ โยมก็บอกว่า โอ้โฮ..นักเลงโว้ย เฮ้ย..พระพูดอย่างนี้ได้อย่างไรวะ เลยคิดกันไปไง แต่เวลาเราพูดออกมานี่ มันพูดออกมาจากความรู้สึกนี่ มันสะเทือนใจเราก่อนนะ มันสะเทือนใจเรามาก

เพราะมันสะเทือนใจเพราะว่า กว่าเราจะมีผู้ชี้นำ เหมือนเรามีพ่อมีแม่นี่ คนเรานะขาดพ่อขาดแม่นะ ว้าเหว่มาก นี่ก็เหมือนกัน ไม่มีครูมีอาจารย์นี่ว้าเหว่มาก ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ดีเห็นไหม ครูบาอาจารย์จะพามา หลวงตาเห็นไหม หลวงปู่มั่นนี่ ครูบาอาจารย์เรานี่ เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ด้วยหัวใจทั้งนั้นล่ะ แต่เวลาโลกเขามองเห็นไหม เวลาพวกกรรมฐานไง เวลาเราพูดกรรมฐานนี่ พูดถึงการปฏิบัตินี่ นี่ยกพระพุทธเจ้าไว้บนศีรษะ แล้วเราปฏิบัติมันต้องเอาข้อเท็จจริงของเรา

เขามองกลับไง มองว่าไม่เชื่อพุทธพจน์นะ แต่ไอ้พวกที่รักพ่อรักแม่นี่นะ มันผลาญพ่อผลาญแม่มันไม่บอก ไอ้รักพ่อรักแม่นะ ขายพ่อแม่กินทั้งนั้นล่ะ ไอ้ที่เชิดชูพ่อแม่นี่ อันนั้นสำคัญกว่า นี่พูดถึงเวลาโลกเขามอง มองถึงกรรมฐานไง ว่ากรรมฐานนี่เหมือนกับพูดเหยียดหยาม ไม่ใช่ ! มันเหมือนกับว่า มันต้องวางก่อนปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธนี่ ปริยัติมันต้องวางนะ

นี่เรายังมีอีก เดี๋ยวเอาอันนี้ก่อน อันนี้พูดถึงพริกต้นนั้นนะ พูดถึงพริกต้นนั้นจบ พริกต้นนั้นจบไปก่อน เราจะเข้าใจไม่เข้าใจนี่ มันข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้น แล้วมันเป็นเวรเป็นกรรมของคน แล้วจะปฏิเสธอย่างไรก็ไม่ได้ เพราะอย่างนั้นคนเรามันต้องเหมือนกัน ที่เขาพูดกันอย่างนั้น เด็กพูดอย่างนั้น เพราะเด็กมันคิดกันเป็นวิทยาศาสตร์ไง เด็กมันเอาตัวตนมันเป็นที่ตั้ง เด็กทุกคนนี่มันเอาความรู้สึกมันเป็นที่ตั้ง แล้วมันก็คิดเป็นที่ตั้ง โดยแอบอิงกับวิทยาศาสตร์ ว่าวิทยาศาสตร์จะเป็นอย่างนั้น

เดี๋ยวนะ เอาเรื่องเปิดโลกธาตุใช่ไหม เปิดแดนสามโลกธาตุนี่มันเป็นบารมีของพระพุทธเจ้าก่อน พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์นะ อย่างเช่นที่เราพูดเมื่อกี้นี้ ถ้าพระพุทธเจ้าท่านแต่ละพระองค์นี่ เวลาเป็นพระโพธิสัตว์นี่นะ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย คำว่าอสงไขยคือนับไม่ได้ หนึ่งล้านหนึ่งล้านชาตินี่ โกฏิเลยล่ะ ถ้าอย่างนั้นปั๊บนี่ ๑๖ อสงไขยนี่มันจะกว้าง ฉะนั้นเวลาถ้าจะกว้างจะอำนาจวาสนา

นี่พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน จิตสะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน แต่อำนาจวาสนาบารมีของคนไม่เท่ากัน คือว่าการสร้างมามาก เหมือนเงินนี่ เงินเหมือนกัน แต่จำนวนเงินมากกว่า มันต้องมีผลมากกว่า ทีนี้พระพุทธเจ้าบางพระองค์นี่ โอ้โฮ.. อยู่ยาวมาก แล้วทีนี่บางทีนี่เป็นหลายสิบปีถึงลงอุโบสถหนหนึ่ง ของเรา ๑๕ วันหนหนึ่งนะ

ทีนี้พอถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ จะเปิดสามแดนโลกธาตุ ทีนี้พระพุทธเจ้าเวลาไปเทศน์ มันเป็นบารมี มันเหมือนพระอรหันต์นี่ เหมือนกับพระอรหันต์บางองค์ที่ว่ามีอำนาจวาสนาบารมีเห็นไหม อย่างเช่นถ้าผู้ที่สร้างบุญมามาก เวลาบวช เขาเรียกบริขาร ๘ เป็นทิพย์ มันจะลอยมาเอง ลอยมาเองเลยนะบริขาร ๘ นี่มันจะลอยมาเลย แต่บางองค์หาแทบไม่ได้ เป็นพระอรหันต์เหมือนกันนะ

คำว่าพระอรหันต์เหมือนกับเอหิภิกขุไง เวลาฟังเทศน์พระพุทธเจ้าปั๊บเป็นพระอรหันต์เลย แล้วขอบวช ถ้ามีสร้างบุญมามากนะ บริขาร ๘ มันจะลอยมาเลย แต่หนเดียวนะ หนเดียว ครั้งที่สองไม่มี พอได้หนนั้นปั๊บ หนที่สองต้องตัดเอาเอง แต่หนแรก นี่ที่เขาเรียกเป็นทิพย์เป็นทิพย์ที่มันลอยมา

ฉะนั้นเวลาว่าเปิดสามแดนโลกธาตุนี่ เวลาพระพุทธเจ้าทุกพระองค์นี่ เวลาลงมาจากดาวดึงส์ ที่เขาจะตักบาตรเทโวกันนี่ พระพุทธเจ้านี่ไปเทศน์พุทธมารดา แล้วลงมานี่ ท่านลงมาปั๊บนี่ ที่นครราชคฤห์ นี่ประชาชนอย่างนี้ทุกๆ คนเลย มันจะเปิดนะ เปิดให้เห็นพระ ทั้งสวรรค์ เห็นทั้งโลกปัจจุบัน เห็นทั้งนรก เปิดให้เห็นเลย ! เปิดให้เห็นเลย ! แต่มีหนเดียว มันเหมือนกับวันมาฆะบูชานี่ วันมาฆะบูชานี่นะ เวลาทุกๆ พระองค์นะ อย่างพระพุทธเจ้าเรา ๑,๒๕๐ องค์ อย่างพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ องค์ก่อนๆ นี่เป็นหมื่นเลยนะ เป็นหมื่นหมายถึงว่าพระพุทธเจ้าบวชให้เอง เหมือนลูกเรา เราบวชให้เองแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ นี่มาประชุมหนหนึ่ง เหมือนกับผลงานไง

ฉะนั้นเวลาเปิดโลกธาตุนี่จะเห็นหมดเลย เพราะเราเชื่อ มันมีอยู่ในหนังสือหลวงปู่สิม กับหนังสือหลายองค์ บอกว่าตอนที่พระพุทธเจ้าเปิดโลกธาตุ ที่นครราชคฤห์นี่ หลวงปู่สิมกับหลวงปู่มั่นและหลวงตา เป็นคหบดีอยู่ในสมัยนั้น นี่หลวงปู่สิมพูดเอง แล้วหลวงปู่มั่นก็อยู่ที่นั่น แล้วอย่างเช่นหลวงตานี่ หลวงตาก็อยู่ที่นั่น ท่านว่าตอนนั้นเราก็เป็นคหบดีอยู่ที่นั่น

ฉะนั้นมันก็ ถ้าใครเห็นอย่างนั้นปั๊บ นี่สิ่งนี้มันเหมือนกับ นี่นะพูดถึงเปิดสามแดนโลกธาตุนี่ เวลาเปิดปั๊บนี่ พอใครเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์นี่ โอ้โฮ.. มันเป็น เราคิดว่ามัน อย่างที่ว่าพันธุกรรมทางจิต เราชอบใช้คำว่าพันธุกรรมทางจิตมาก เพราะมันจะทำให้จิตใจนี่มันพัฒนาใช่ไหม

ฉะนั้นถ้าใครเห็นภาวะแบบนั้นนี่ คนที่เห็นแบบนั้น ทุกคนอยากเป็นพระพุทธเจ้าหมดเลย มันเป็นการกระตุ้นไง เหมือนกับเมล็ดพันธุ์นี่ มันเป็นการกระตุ้นว่าให้ทุกคนนี่ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากเป็นอย่างนี้ไง เวลาเราไปเห็นสภาพอย่างนั้นพวกเราอยากเป็น พออยากเป็นปั๊บ..เราก็ตั้งปรารถนา พอเราตั้งปรารถนาปั๊บ.. เราก็พยายามสร้างบุญกันเห็นไหม แต่ไปไม่รอดไง ไปทิ้งทุกทีเลย มันไปไม่ไหว ทุกคนสร้างแรงปรารถนา

นี่ไงที่มันมีเหตุนี้ขึ้นมาก็เพื่อ เหมือนกับพอคนเห็นสภาพแบบนั้นนะ โอ้โฮ.. พระพุทธเจ้ามีบุญญาขนาดนี้เชียวเหรอ ทุกคนอยากเป็นพระพุทธเจ้านะ ก็ปรารถนาเลยเป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็ต้องสร้างบุญกันไป สร้างบุญกันไป นี่เปิดสามแดนโลกธาตุ มันมีจริงๆ มันเป็นจริงๆ อยู่ในปฐมสมโภชก็มี อยู่ในประวัติพระพุทธเจ้าก็มี อยู่ในพระไตรปิฎกก็มี มีทั้งนั้นแหละ นี้เพียงแต่ว่าเราจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ถ้าเรา มันเป็นหนหนึ่ง มันเป็นกันหนหนึ่งของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์พระองค์

ทีนี้ย้อนกลับมาถึงที่ว่าเวลา หลวงตาท่านบอกท่านเปิดสามแดนโลกธาตุนี่ ท่านเปิดของท่าน ท่านเปิดของท่าน เราจะบอกว่า ถ้าเราเชื่อมั่นว่าหลวงตานี่เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์นี่นะ กามภพ รูปภพนี่สามแดน กามภพ รูปภพนี่ มันปิดพระอรหันต์ไม่ได้หรอก แต่นี้เพียงแต่ว่า เวลาท่านเปิดของท่าน ท่านรู้ของท่าน แต่มีคนเห็นเยอะอยู่ เพราะมีพวกลูกศิษย์มาเล่าให้ฟังว่า วันที่ไปเปิดสามแดนโลกธาตุนี่ เห็นเทวดาเต็มไปหมดเลย มีคนเห็น

ทีนี้มีคนเห็น มันก็เหมือนกับเรานี่ เราใส่แว่น โยมไม่ได้ใส่ เราสายตาดีกว่า เราจะบอกว่ามันจะวัดค่ากันด้วยที่บุญกรรมของสายตาของคนที่เห็นไง มี ! มีคนเห็น มีคนเห็น แต่ส่วนใหญ่แล้วพวกเราตาเนื้อเห็นแต่คน ไม่เห็นเทวดา

ฉะนั้นจะบอกว่า การเปิดสามแดนโลกธาตุนี่ ถ้าพูดถึงจะเอาตามข้อเท็จจริงทั้งหมดนี่มันเป็นบารมีของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเปิดแต่ละองค์นี่ ประสาเราว่าเปิดโดยธรรมชาติเลย หนหนึ่ง ทุกๆ พระองค์ต้องเป็นอย่างนั้น มันเป็นงานของพระพุทธเจ้า แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราทำนี่ ทำเพื่อให้เป็นประโยชน์กับเรา เพื่อเป็นประโยชน์กับเรา เปิดสามแดนโลกธาตุ ทีนี้เปิดสามแดนโลกธาตุนี่เราจินตนาการนะ สวรรค์นี่เปิดให้เห็นเลย แล้วปัจจุบันนี้ แล้วเราเห็นนรกอเวจีเลย

หลวงตาพูดบ่อย คำว่าหลวงตาพูดบ่อยท่านบอกว่า ถ้าเปิดว่าเปิดนรกเปิดสวรรค์ให้พวกเราดูนี่ พวกเราจะไม่ทำความชั่วกันเลย เพราะมันเห็นว่านรกมีจริงๆ ไง ตอนนี้มันไม่ค่อยทำ เพราะคิดว่านามันรกเขาได้เผาทิ้งแล้ว มันเลยไม่ค่อยกลัวกันไง นารกนี่เขาจุดไฟเผาหมดแล้ว มันเลยไม่รกไง แต่ถ้าเราเชื่อของเรานะ เราเชื่อของเรา แล้วเราพยายามบังคับเรา เราจะไม่เสียหายนะ

เอาเรื่องรังนกก่อนเนาะ

ถาม : การสร้างบ้านรังนกนางแอ่น โดยพฤติกรรมของนกจะใช้น้ำลายสร้างรังแล้ววางไข่จนลูกโต แล้วจึงบินไป ก็จะทิ้งรังของมันไว้ แล้วเราไปเอารังนกไปขายบาปไหม

หลวงพ่อ : ไอ้อย่างนี้นะ ทุกอย่างนี่พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว สัมมาอาชีวะ เราพูดบ่อย พูดถึงสัมมาอาชีวะนี่ เราจะพูดถึงสัมมาอาชีวะของโลกนี่ มันเป็นสัมมาอาชีวะที่หยาบๆ สัมมาอาชีวะในมรรคญาณ ในการประพฤติปฏิบัตินี่ สัมมาอาชีวะนี่ ความคิดนะ เลี้ยงชีพชอบนี่ ความคิดนี่มันเป็นอาหารของใจนะ จิตนี่มันกินวิญญาณาหาร อารมณ์ความรู้สึกความคิดเรานี่มันเป็นอาหารของใจ ใจต้องเสวยความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา ถ้าจิตมันสงบนะ แล้วมันออกวิปัสสนานี่ นั่นล่ะ อาชีพนี้อาชีพที่จะทำให้เราพ้นจากทุกข์นี่ นี่วิญญาณาหารนี่อันนี้สำคัญมาก

ฉะนั้นพูดถึงว่า สิ่งที่ว่าเราไปเอารังนกมาขายจะบาปไหม สัมมาอาชีวะ อาชีวะเราเลี้ยงชีพชอบใช่ไหม เราเลี้ยงชีพของเรา เราเลือกได้ไง ความเลี้ยงชีพเห็นไหม เราเลี้ยงชีพนี่ เนี่ยพระพุทธเจ้าสอนไว้ ไม่ให้ขายเครื่องประหาร ใช่ไหม ไม่ให้ขายต่างๆ ไม่ให้ทำอาชีพอย่างนั้น เพราะเขาซื้อไปแล้วนี่ เขาไปทำบาปต่อเนื่องกันไป ทีนี้พระพุทธเจ้าไม่ให้ทำ ในธรรมนะพระพุทธเจ้าบอกไว้เป็นหลักเป็นกลางๆ ว่าไม่ควรทำ แต่พวกเราบางคนนี่จะเลือกอาชีพอะไร มันอยู่ที่เราเลือกไง

ฉะนั้นบอกว่ามันจะบาปไหม ถ้าเขาคิดนกนางแอ่นมันไปแล้ว นกนางแอ่นมันไปแล้วใช่ไหมนั่นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าพูดถึงสมมุติเป็นเรา เราไปประมูลเอารังนกนางแอ่นมาขาย เราจะไม่เอานกนางแอ่นก่อนที่มันยังมีลูกอยู่ เราจะไปเอาต่อเมื่อมันไปแล้ว อย่างนี้เราคิดว่ามันก็น้อยหน่อย แต่บางคนต้องการมาก

เราได้ยินขนาดนี้นะ ได้ยินเขาพูดกันมาบอกว่า คนนี่ไปเก็บรังมันมากจนเกินไป แล้วพอเก็บรังมันมากจนเกินไปนี่ มันต้องพยายามทำรังใหม่ เพื่อจะวางไข่ มันพยายามเอาน้ำลายป้ายจนเลือดออกจากลิ้นเลย เราฟังมาขนาดนี้นี่ เพราะถ้าเราไม่ไปเอามันก่อนใช่ไหม มันก็สร้างรังเดียว พอมันรังแรกใช่ไหม เขาจะเอารังแรกมาก่อนไง ให้มันสร้างรังที่ ๒ ที่ ๓ ไง เพื่อมันจะวางไข่ มันก็พยายามทำของมันนะ พยายามทำของมัน จนลิ้นนี่เลือดทั้งนั้นเลย

เพราะคนต้องการ ถ้ามันเอารังแรก ถ้ามันไม่ทำมันก็ได้รังเดียว เพราะฤดูกาลหนึ่งมันก็ได้รังหนึ่งใช่ไหม แต่ถ้าเราไปทำอย่างนั้นเราจะได้ ๒ รัง นี่ด้วยความโลภเห็นไหม ด้วยความโลภเอาเปรียบนกนางแอ่น หลอกให้มันสร้างหลายๆ รัง นี่มันถึงอยู่ที่น้ำใจไง อยู่ที่น้ำใจของคนว่าเรา อาชีพอะไร เราทำอย่างใด

ทีนี้อย่างนี้ถ้าบาปไหมนี่ ถ้าเราทำอาชีพอื่นก็ได้ ถ้าจะบอกว่าบาปไม่บาปนี่ มันก็เหมือนที่เขามาถามหลวงตานี่ หลวงตามาพูดที่โพธาราม เราจำแม่นจนป่านนี้ ตอนนั้นปลอดประสพ สุรัสวดี เขาเป็นอธิบดีกรมประมง แล้วเขามาถามหลวงตา บอกว่าสมัยนั้นนะสมัยที่เขาเป็นที่ว่า การส่งออก GDP นี่ การส่งออกสัตว์น้ำนี่มันเป็นอันดับสองของประเทศ แล้วศีล ๕ นี่ การจับสัตว์น้ำ การฆ่าสัตว์นี่มันเป็นบาป แล้วทีนี้เศรษฐกิจจะไปได้อย่างไร

ไปถามหลวงตานะ หลวงตาท่านตอบ ท่านตอบว่าเอาอย่างนี้ได้ไหม เอาปลอดประสพนี่ไปสร้างบ้านอยู่ในป่าช้า ปลอดประสพบอกไม่มีหรอก ไม่มีใครเขาสร้างบ้านในป่าช้าหรอก เขาสร้างบ้านอยู่ในเมืองกันนี่ ท่านก็พูดกลับไง ถ้าไม่สร้างบ้านในป่าช้านี่ ความเจริญทางเศรษฐกิจนี่ มันเจริญบนซากศพของพวกสัตว์น้ำนี่ มันมีคุณประโยชน์แค่ไหน ถ้ามันเจริญโดยความถูกต้องดีงาม มันก็เจริญด้วยความมั่นคงแข็งแรง มันไปเจริญบนชีวิตของเขานี่ มันมีค่าแค่ไหน

นี่เวลาท่านตอบนะ ท่านตอบให้เห็นภาพชัดเจนเลย ทีนี้แล้วท่านก็ตอบซ้ำอีก บอกว่าใช่ เรื่องธุรกิจ เรื่องอาชีพนี่ มันอยู่ที่คนเลือกใช่ไหม ถ้าเขาจะทำ เขาก็ต้องยอมรับสิว่าเขาทำผิดศีล ๕ แต่นี้จะมาพูดอย่างนี้ บอกว่านี่มันเป็นประโยชน์กับประเทศชาติไง ในการส่งออกนี่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติใช่ไหม ถ้าบอกว่าพอไปถามหลวงตา หลวงตาบอกไม่ผิดศีล ศีลยกเว้น ยกเว้นเรื่องเศรษฐกิจ เราก็สบายน่ะสิ ในศาสนาพุทธมันไม่เป็นอย่างนั้นไง

นี่เราเข้ามาเรื่องอาชีพ ท่านบอกว่าอยู่ที่คนเลือก ถ้าเขาจะเลือกทำอย่างนั้น เขาเศรษฐกิจก็เพื่อความมั่งคั่งของเขา เขาก็ต้องรับสิ่งที่เขาทำด้วย ใช่ไหม แล้วพูดถึงถ้าคนที่เขาทำนี่ เขาบอกว่าสิ่งนี้เป็นอาชีพ สิ่งนี้ไม่เป็นบาปเป็นกรรมของเขา นั่นเขาทำใจได้มันก็เรื่องของเขา นี่ไงนี่มันหลากหลายความคิดไง มันหลากหลายความคิด คนเรานี่มันอยู่ที่วุฒิภาวะว่าจะเลือกไง

นี่ไงเราบอกว่าอ่อนแอ จิตใจที่เข้มแข็ง จิตใจที่อ่อนแอ จิตใจที่มันมีกำลังมากน้อยขนาดไหน มันจะทำชีวิตเราให้พ้นจากทุกข์ ให้พ้นจากบ่วงของกรรมได้อย่างไร วุฒิภาวะของใจ วุฒิภาวะของใจ เรามีสิทธิเลือกแล้ว แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป สิทธิของเรา ใช่ไหม นี้แล้วบอกจะบาปไหมนี่ เราก็บอกว่าอยู่ที่คนเลือก

ถามเรานะ เอารังนกไปขายบาปไหม ถ้าเขาจะเลือกอาชีพนี้ เขาก็ต้องรับไปด้วย ทั้งผลประโยชน์ของเขา ทั้งบาปบุญของเขา ถ้าใจเราสูง ใจเราคิดว่า ถ้าเรามีทางเลือกทางอื่น เราจะทำผลประโยชน์ทางอื่น เราจะประกอบอาชีพทางอื่น เราก็เลือกทางอื่นซะ ถ้ามันเป็นอย่างนั้นนะ

ถาม : ๑. ข้าพเจ้าอยากทราบเรื่องการปฏิบัติในชีวิตประจำวันทำอย่างไรคะ

๒. ข้าพเจ้านั่งสมาธิติดปัญหาในการปฏิบัติคือลมหายใจ คือลมหายใจจะขาด จะรู้สึกเหมือนใจจะขาด จะสามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้อย่างไรคะ

๓. มีอยู่ครั้งหนึ่งในการนั่งสมาธิ รู้สึกว่าตัวเองว่าตัวขยับไม่ได้ และพิจารณาแล้วเท้ามือบังคับไม่ได้ เป็นไปตามที่ใจต้องการแบบนี้ เป็นวิปัสสนาหรือยังเจ้าคะ

๔. มีข้อสงสัยว่าเมื่อจิตว่าง จะพิจารณาให้เห็นเป็นวิปัสสนาอย่างไรคะ

หลวงพ่อ : อ่านหมดเลยนะ

๑. ข้าพเจ้าอยากทราบเรื่องการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ตรงนี้สำคัญ ข้าพเจ้าอยากทราบเรื่องการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน หลวงปู่มั่นสอนแล้ว หลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ หลวงปู่มั่นสอนไว้ในมุตโตทัย ว่าการดำรงชีวิตประจำวันนี่ การเหยียด การคู้ การดื่ม การขยับตัว การเคลื่อนไหว ต้องมีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา การมีสติสัมปชัญญะแบบวัดป่า แบบพระผู้ที่ปฏิบัติ พระผู้ที่ปฏิบัติเห็นไหม ดูพระนี่ นี่ตอนเช้าที่ว่าขยับเคลื่อนไหวนี่ การกินการอยู่นี่มีสติสัมปชัญญะตลอด มีเป็นปัจจุบัน มีความเป็นจริงกับมัน

ทีนี้คนที่ไม่เข้าใจเห็นไหม บอกว่าเราต้องมีสติประจำวันเห็นไหม เคลื่อนไหวนี่เหมือนหุ่นยนต์เลยนะ อู้ฮู..สติมันพร้อมไปหมดเลย อู้ฮู..สติมากเลย เห็นไหม มันเป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า มันก้าวเดินนี่ อู้ฮู..มีสติรู้พร้อมรู้พร้อมนะ มันลิเกนี่

มีสติประจำวัน มีสติประจำวันของเรานี่ เราฝึกแล้วมันจะเป็นเองนะ เราเคลื่อนไหวนี่เราจะตั้งสติตลอด ชีวิตประจำวันก็คือชีวิตปกตินี่แหละ แต่เรามีสติกับมัน มีสติอยู่กับชีวิตประจำวันของเรา ผิดถูกอย่างไรนี่มันแก้ไขได้ พอมันเผลอก็เอาใหม่ เผลอก็เอาใหม่ มันอยู่ที่จิตเรานี่ ถ้าจิตเรานี่มันมีความขยันหมั่นเพียร มีความตั้งใจนะมันทำได้ แต่เพราะจิตเรานี่มันอ่อนแอเอง พอบอกว่านี่จะมีชีวิตประจำวันนะ แต่พอทำงานแล้วก็เผลอไง พอทำงานก็อยากได้เงิน อยากรวย นู้นมันไปอยู่ที่รวย มันไม่อยู่ที่สติแล้ว

การดำรงชีวิตประจำวันนี่ การเหยียด การคู้ การเคลื่อนไหวนี่มีสติอยู่ นี่มันเป็นเรื่อง พระเรานี่ปัจจุบันที่เคลื่อนไหวกันอยู่นี่ นี่ฝึกกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องไปสร้างภาพอีกภาพหนึ่ง ไม่ต้องไปสร้างอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่ง ไม่ต้องสร้าง กินแล้วก็ ตอนกินนี่มันมีสติสัมปชัญญะไหมล่ะ กินเสร็จแล้ว กินหนอ ก็มึงกินไปแล้วนี่ ลงกระเพาะไปแล้วนะ กินหนอ อารมณ์อีกอารมณ์หนึ่งนี่ มันไปสร้างขึ้นมาอีกอารมณ์หนึ่งเห็นไหม

นี่ชีวิตประจำวัน ตอนกินนั่นก็รู้ว่ากิน แล้วแหม..จะกินนะก็เคี้ยวกันนะ เคี้ยวเป็นวัวเคี้ยวเอื้องนี่ กลัวมันจะไม่มีสติไง เคี้ยวแม่ง ๕ ชั่วโมง ก็เคี้ยวแล้วก็กลืนไปก็จบแล้ว ชีวิตประจำวัน แล้วทำไปมันจะเป็นความเป็นจริง โอ้โฮ..เคี้ยวเป็นเคี้ยวเอื้องเลย กินข้าวมื้อหนึ่งนี่เย็นจบ แล้วก็บอกว่านี่การปฏิบัติธรรม

ชีวิตประจำวันจริงๆ นะ หลวงปู่มั่นสอนอย่างนี้ การเหยียด การคู้นี่ อยู่กับมัน ไม่ต้องไปสร้าง ถ้าไปสร้างอารมณ์หนึ่งอีกขึ้นมา ธรรมะมันจะไปอยู่อารมณ์ตรงนั้นล่ะ ธรรมะมันจะไปอยู่อารมณ์ที่สร้างนี่ แล้วจิตมึงอยู่ไหน จิตที่มันพามึงเกิดมึงตายอยู่นี่ มันอยู่ไหน อารมณ์ที่สร้างมาใครเป็นคนสร้าง จิตมันสร้างอารมณ์หนึ่งขึ้นมา แล้วนิพพานไปอยู่ที่ธรรมดานี่ ธรรมดาธรรมชาติอยู่นู้นน่ะ กองอยู่บนอวกาศนู้นไง แต่หัวใจมึงอยู่นรก หัวใจมึงอยู่ในอเวจี แล้วธรรมะมึงอยู่ไหน ธรรมะพูดมา ธรรมะพระพุทธเจ้าทั้งนั้น เอาธรรมะพระพุทธเจ้ามาพูด ตัวเองมึงรู้อะไรบ้าง ถ้ารู้มึงพูดอย่างนี้ออกมาได้อย่างไร

นี่ชีวิตประจำวันนะ แน่นอน เมื่อวานพูดแล้วนะปรากฏการณ์นี่ ปรากฏการณ์ก็อันนี้นี่ เพราะคำว่าปรากฏการณ์เห็นไหม นี่เห็นการเกิดดับของจิต เห็นการเกิดดับของจิต เราบอกว่าเอ็งมาถูกแล้วแหละปรากฏการณ์นี่ แต่เอ็งจะไม่ได้อะไรเลย เพราะเอ็งเห็นปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์ของพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก กูอยู่นี่ทุกข์ฉิบหายเลย ความคิดเกิดดับ แล้วมึงรู้ห่าอะไร มึงต้องดูเขาไปเรื่อยๆ เพราะปรากฏการณ์ของธรรมชาตินี่มันเป็นจักรวาล มันเป็นกาแล็กซี

ปรากฏการณ์ของจิตนี่ มันเกิดขึ้นมาจากภวาสวะ เกิดมาจากภพ เกิดมาจากฐิตีจิต ความคิดมันไม่เกิดเองแบบบนฟ้าไม่ได้ ความคิดเกิดดับนี่ มันเป็นความคิดเกิดดับ มึงเพิ่งปฏิบัติไปเฉยๆ มึงตามเข้าไป มึงตามเข้าไป เดี๋ยวมึงจะจับแกนของจักรวาลนั้นได้ มึงจะจับใจมึงได้ ถ้ามึงจับใจมึงได้นั่นคือสัมมาสมาธิ แล้วตัวสัมมาสมาธินั่นล่ะมันจะออกวิปัสสนา มึงทำไปแล้วมึงจะรู้ ถ้ามึงทำนะ ถ้ามึงไม่ทำนะ มึงมีแต่พูดนะ มึงมีแต่เถียงนะ มึงก็แค่สวะอันหนึ่งเหมือนกัน

ผลของวัฏฏะ ชีวิตนี้คือสวะหนึ่ง ลอยมากับสวะ ชีวิตนี่มนุษย์นี่ ร่างของคนๆ หนึ่ง เหมือนกับเศษสวะอันหนึ่ง ลอยไปในน้ำ ! ลอยไปในน้ำ ! แล้วมันจะหมดอายุขัยมันไป ถ้ามึงทำของมึงแล้วมึงจะรู้จัก ถ้ามึงไม่ทำของมึง มึงจะเป็นสวะอันหนึ่ง

ถาม : ๒. เมื่อนั่งสมาธิไปแล้ว ติดปัญหาในการปฏิบัติคือลมหายใจ คือลมหายใจจะขาด และรู้สึกเหมือนใจจะขาด จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

หลวงพ่อ : ถ้าใจจะขาด เราตั้งสติปกติธรรมดา การที่ว่าใจจะขาด เพราะเราตั้งใจเกินไป บางทีการตั้งใจการจงใจเป็นสิ่งที่ดี การตั้งใจการจงใจคือการตั้งสติ การตั้งใจการจงใจนี่เป็นการฝึกสติ แต่การฝึกสติ การจงใจเกินไป บางทีนี่มันก็ทำให้เกิดอาการอย่างนี้ ถ้าเกิดอาการอย่างนี้ เราก็พยายามตั้งสติ แล้วเราพยายามหายใจ กำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออกโดยการเป็นปกติ แต่สติต้องตามมันไว้ชัดๆ นี่มันจะผ่อนคลายไปเอง

ความที่ใจจะขาดนี่ บางทีใจจะขาดนี่มัน การปฏิบัติ กินข้าวนะอาหารสำรับหนึ่ง คนกินด้วยกันนี่ รสชาติสำรับนั้นก็แตกต่างหลากหลายนัก แล้วแต่รสนิยม การกำหนดลมหายใจ ลมหายใจนี้เป็นกลาง แต่จิตของคนมันหลากหลาย จิตของคนแต่ละคนมีบาปมีกรรมมาแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนกำหนดลมหายใจแล้วสะดวกสบาย คนๆ เดียวกันบางคราวก็สบาย บางคราวก็ติดขัด บางคราวก็ขัดข้องในใจ

กรรมของคนก็เหมือนกัน กินอาหาร อาหารบางมื้อก็อร่อย บางมื้อก็ไม่ได้รสชาติ บางมื้อขัดข้องหมองใจ การปฏิบัติมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา วันๆ หนึ่งมีเช้า มีบ่าย มีเย็นเห็นไหม อากาศมันก็เปลี่ยนแปลง ตื่นเช้าขึ้นมาอากาศปลอดโปร่ง อากาศดีมาก กลางวันอากาศร้อนมาก ตอนเย็นอากาศก็กลับมาดีอีก การปฏิบัติมันจะมีอย่างนี้ ปฏิบัติไม่ใช่ว่าเราเกิดมาแล้วจะมีแต่เช้าอย่างเดียว ไม่มีกลางวัน ไม่มี มีเช้า มีบ่าย มีเย็น การปฏิบัติมันก็มีการเปลี่ยนแปลง อนิจจังทั้งหมด

การเปลี่ยนแปลงการอนิจจังนี่เราก็ต้องตั้งสติ เราต้องรักษาของเรา อากาศเช้า ตอนเช้าอากาศดี การปฏิบัติดี เราก็อยู่กับมันดี ตอนแดดมันร้อน แดดมันร้อนใช่ไหม เราก็ต้องต่อสู้แดดร้อน เราควรจะหลบอย่างไร เราควรจะแก้ไขอย่างไร ช่วงบ่ายเห็นไหม ช่วงบ่ายอากาศก็ดี แต่อาหารในกระเพาะไม่มีเลย หิวมากเห็นไหม นี่สิ่งต่างๆ นี่ การปฏิบัติมันจะมีข้อโต้แย้ง มีทุกๆ อย่างเข้ามาขัดแย้งกับการปฏิบัติตลอดเวลา

ไม่เหมือนเด็กนี่ เด็กเห็นไหมเวลาหยิบอะไรให้พ่อแม่ พ่อแม่ตบมือโอ๋ย..เก่ง เก่ง นี่มันก็เก่งอยู่อย่างนั้นล่ะ แล้วมันเก่งแล้วมันได้อะไรล่ะ เพราะมันเป็นเด็กอยู่อย่างนั้นใช่ไหมแต่ใจของเราปฏิบัตินี่มันต้องเติบโตใช่ไหม มันต้องมีประสบการณ์ของมันใช่ไหม นี่มันต้องมีวิธีการรักษาเรื่องใจมันจะขาดนี่ ใจมันจะขาดตั้งสติไว้ ตั้งสติไว้นะ ไม่ใช่ทิ้งนะ เราตั้งสติแล้วดูลมหายใจไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันจะ เรื่องคำว่าจะขาดมันจะหายไปเพราะมันไม่ขาด

ไม่ขาดหรอก ใจไม่ขาด แต่ความรู้สึกมันเป็นอย่างนั้น ลมหายใจมันมีอยู่ ร่างกายมีอยู่ ปอดมีอยู่ ทุกอย่างมีอยู่พร้อม อะไรมันจะขาด ไม่มีอะไรขาดหรอก แต่ความรู้สึกมันจะขาด ทุกข์ใจไง ดูสิแดดออกฝนตกนี่มันไปขาดอะไร มันก็อยู่ของมันนั่นล่ะ แต่ลมหายใจ ที่เราความรู้สึกไปรู้ลมหายใจนี่มันจะขาด แต่ลมไม่ขาด ลมไม่ขาด แม้แต่กำหนดลมจนลมหายเลย ลมก็ไม่ขาด แต่ความรู้สึกมันสงบเข้ามา มันไม่รับรู้ของมันเข้ามา มันเป็นเอกเทศของมันเข้ามา

ฉะนั้นจะบอกว่าเหมือนหายใจจะขาด เวลาไม่รู้มันก็ไม่รู้นะ เวลามันรู้นะเดี๋ยวมันก็หลอกเราใหม่ พอใจจะขาด แก้ใจจะขาดหายนะ เดี๋ยวมันก็หลอกอีก เพราะในจิตเรามันมีกิเลสอยู่ มันจะต่อต้านการปฏิบัติตลอด ฉะนั้นตั้งสติไว้ กำหนดลมไว้ มันจะขาดมันจะอะไรนี่ก็ดูลมให้ชัดๆ เดี๋ยวมันจะจางไปจางไป เหมือนรสเผ็ดนี่ รสเผ็ดในอาหารนี่ เราเติมน้ำตาล เติมรสตรงข้ามเข้าไป รสเผ็ดมันจะเจือจางไป

ใจจะขาดก็เหมือนกัน เราตั้งสติไว้ เดี๋ยวมันจะเจือจางไป เจือจางไป แล้วเจือจางไปเราตั้งสติไว้ สติทิ้งไม่ได้ สติกับลมหายใจทิ้งไม่ได้ สติกับลมหายใจนี่เป็นที่เกาะของจิต จิตมันเกาะไปเรื่อยๆ จนจิตมันปล่อยหมด แล้วมันว่างของตัวมันเอง

จิตมันเกาะเข้าไปก่อน จิตเกาะสิ่งนี้ เพราะจิตมันรับรู้สึกถึงลมถึงต่างๆ ทิ้งไม่ได้ ถ้าใครทิ้งตกภวังค์ ใครทิ้งหายไป มันจะแวบหายไปเลย แล้วจิตหายไป ลมก็ยังอยู่นะ นี่ใจจะขาด แล้วมันรู้สึกมันไปเกาะ เวลาถ้าเราทิ้งลมเลยนะ ลมก็หายไป ความรู้สึกของเราก็หายไป แล้วก็เป็นปรากฏการณ์ไง เฮอะ กูก็ไม่มี เฮอะ เฮอะ เฮอะ เฮอะก็ตกภวังค์ไง เฮอะก็ไม่มีอะไรเลยไง

ธรรมะเป็นธรรมดา ธรรมะเป็นธรรมดา “ธรรมะไม่เป็นธรรมดา มันเป็นสันทิฏฐิโก รู้จำเพาะตน มันเป็นปัจจัตตัง รู้ตรงหน้า รู้ซึ่งๆ หน้า รู้ขึ้นมาในหัวใจ ต้องรู้ ไม่มีธรรมดา”

ถาม : ๓. มีอยู่ครั้งหนึ่งในการนั่งสมาธิ รู้สึกว่าตัวขยับไม่ได้ จะพิจารณา มือและเท้าบังคับไม่ได้ ไม่เป็นไปตามที่ใจต้องการ แบบนี้เป็นวิปัสสนาหรือยังเจ้าคะ

หลวงพ่อ : ไม่เป็นอะไรเลย วิปัสสนาต้องจิตสงบนะ บังคับไม่ได้นี่มันก็เหมือนกับจิตจะขาดนี่ อันนี้อาการเดียวกัน แต่มันเปลี่ยนรูปแบบ ขณะกำหนดลมแล้วใจมันจะขาดนี่ มันก็เหมือนกับบังคับตัวไม่ได้นี่ พอบังคับ คำว่าบังคับตัวไม่ได้ พอจิตมันกำหนดลมเข้าไป หรือพุทโธเข้าไปนี่ จิตมันไปสะดุดอยู่ พอจิตมันสะดุดอยู่นี่มันไม่ออกมารับรู้

ธรรมดานี่ นี่เวลาเราขยับมือขยับเท้านี่ ใครเป็นคนสั่งให้มือเท้านี่ขยับ ทางวิทยาศาสตร์บอกสมอง ธรรมะบอกใจ เพราะใจต้องสั่งสมอง สมองถึงสั่งร่างกาย แต่มันเร็วมาก สิ่งที่มือไม้ขยับนี่ นี่จิตมันสั่ง วิทยาศาสตร์บอกสมองสั่ง ทีนี้พอจิตมันไม่ทำงาน จิตมันได้กำหนดลมเข้าไปเห็นไหม นี่พอมันได้กำหนดปั๊บมือไม้มันก็ไม่ขยับ เพราะจิตมันไม่ทำงาน พอจิตมันไม่ทำงาน พอจิตมันสั่ง สมองก็สั่งต่อ มือไม้มันก็ขยับได้

เพราะจิตนี่เห็นไหม มันเหมือนกับใจจะขาดนี่ คือจิตมันไม่ทำงานพักหนึ่ง ไม่ใช่สมาธิไม่ใช่อะไรเลย แต่จิตไม่ทำงาน ไม่ทำงานเพราะอะไร ไม่ทำงานเพราะมันโดนกดทับไว้ โดนกดทับไว้เพราะคำบริกรรมว่ากำหนดลมนี่ พยายามทำจิตให้มันเป็นปกติ พอจิตเป็นปกติมันก็เป็นเรื่องธรรมดา ก็รับรู้เป็นธรรมดา เพราะมันมีขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ สมาธินี่มันมีหลากหลายมาก ตัวสมาธิเองนะ แต่นี่ไม่ใช่สมาธิ นี่ไม่ใช่สมาธิ นี่เป็นการกดทับ การกดทับของกิเลส กิเลสมันต่อต้านในการปฏิบัติ มันต่อต้านนี่เวลาเราปฏิบัตินี่ สิ่งที่เราไม่ได้เพราะอะไร เพราะกิเลสมันขัดแย้ง มันต่อต้านเราเราลงตรงนั้นไม่ได้

นี่การหาเงินหาทองลำบากมากนะ เพราะเรามีเงินมีทองเราใช้ประโยชน์ได้ การภาวนาทุกๆ วิธีการ ถ้าจิตไม่สงบ เรื่องการภาวนาไม่มี เรื่องจิตสงบ ถ้าจิตไม่สงบ ไม่มีตัวจิตมาพิจารณานะ เรื่องที่ภาวนาอยู่นี่ไม่มี ไม่มี เป็นการพูดคุยกันเฉยๆ เป็นทางวิชาการ ไม่มีผล ผลไม่มี ผลจะมีต้องจิตสงบก่อน ต้องมีผู้รับรู้ ต้องมีผู้เปิดบัญชี มีผู้โอนเข้าโอนออกเงินนั้น ถ้าไม่มีบัญชี เงินโอนเข้าโอนออกไม่ได้

ฉะนั้นสิ่งที่มันเป็นอย่างนี้ พอมันอย่างนั้นปั๊บนี่ เราตั้งสติไว้ ตั้งสติไว้ มันเป็นอันเดียวกับใจจะขาดนี่ แต่มันเปลี่ยนจากใจจะขาดมาเป็น ขยับไม่ได้ เหมือนกันเลย ค่อยๆ ทำไป

ถาม : ๔. มีข้อสงสัยว่าเมื่อจิตว่างจะพิจารณาให้เป็นวิปัสสนาอย่างไรคะ

หลวงพ่อ : มีข้อสงสัยว่าเมื่อจิตว่าง มันไม่ว่างไง มันถึงไม่รู้ว่าวิปัสสนาเป็นอย่างไร เพราะมันไม่ว่าง เพราะมันไม่ว่าง แล้วเราเข้าใจว่าว่าง พอเราเข้าใจว่าว่าง แล้วเราจะเอาใจมาพิจารณา มันเลยไม่มีใจเอาใจมาพิจารณาไง เพราะปฏิเสธสมาธิไง เพราะถ้าไปปฏิเสธสมาธิเสียก่อน เราไปปฏิเสธที่มูลฐานเสียก่อน เห็นไหมเราจะไม่ได้สิ่งใดเลย

แต่ถ้าเราไม่ปฏิเสธสิ่งใด เราย้อนไปตามความเป็นจริงนั้น ถ้าจิตมันว่าง ถ้าจิตมันว่าง คำว่าจิตว่างเราตีให้เป็นว่าสงบนะ นี่เขาเขียนว่าจิตว่าง ถ้าจิตมันสงบ เอ้อะ มันจะมีเรารู้ เหมือนเรานั่งอยู่นี่ เราเห็นทุกอย่างพร้อมหมดเลย สิ่งใดนี่ เขาเห็นนกบินผ่าน เห็นใบไม้ เห็นสิ่งต่างๆ นี่ เราจะรู้จะเห็นหมดเลย นกบินผ่านเราก็ต้องรู้ว่านก สิ่งใดบินผ่านเราก็ต้องรู้ว่าสิ่งนั้น

จิตถ้ามันสงบแล้วนี่มันออกรู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรมนี่ มันออกมันเห็นนี่มันพิจารณาของมัน นี่คือวิปัสสนา แล้วจะพิจารณาได้อย่างไร ถ้ามันสงบจริง แต่ถ้ามันไม่สงบ มันคำว่าว่างเป็นมิจฉา คำว่าว่างๆ อยู่นี่มันเป็นมิจฉา มิจฉาหมายถึงว่า อย่างที่ว่านี่มันเป็นมิจฉาเห็นไหม เหมือนจิตที่มันกดทับไว้ พอมันพิจารณาเห็นไหม

จิต ความคิด ส้ม เปลือกส้ม นี่ความคิดเป็นเปลือกส้ม แล้วเราไปดูที่ความคิด พอความคิดมันดับลง ตัวส้มนี่มันไม่รับรู้ไปสู่ตัวมันเองเลย มันก็ว่างๆ ว่างๆ แต่ไม่มีสติไม่มีความรับรู้เลย แต่ถ้าเราใช้พุทโธ พุทโธนี่ จนมันปอกเปลือกส้มหมด จนมันเป็นเนื้อส้ม หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธินี่ปอกเปลือก ปอกเปลือกคือขันธ์ ๕ คือความคิดปกติของมัน คือความคิดที่เกิดดับ เกิดดับนี่

ความคิดเกิดดับ เห็นไหมที่เราบอกว่า สิ่งที่กินแล้วนี่ มันก็กินแล้ว ทำไมต้องสร้างอารมณ์กิน สิ่งที่เราสร้างอารมณ์ เราดูนามดูรูปนี่ ดูนามดูรูปนี่มันเกิดจากจิตมันไม่ใช่จิต พอมันเกิดจากจิตนี่มันไปว่างที่อาการ อาการที่ว่างแต่ตัวมันไม่ว่าง มันเลยตัดรากถอนโคนไง มันเลยไม่มีจิตไง มันไม่มีจิต ไม่มีผู้รับรู้ ไม่มีต้นบัญชีไง ไม่มีภพไง

แต่ถ้ามันเป็นสมาธินะ มันสงบพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือว่าจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิถึงตัวจิตนี่ ตัวจิตพอมันว่างนี่ เห็นไหม พอจิตสงบนี่ จิตตัวนี้มันจะออกรับรู้ ถ้าออก วิปัสสนาเกิดตรงนี้ไง แต่ถ้ามันว่าจิตว่างนี่ มันไม่มีอะไรเลยไง มันไม่มีอะไรเลย อ้าว..ความคิดนะ ดูนามรูปว่าง แล้วใครจะพิจารณาล่ะ ใครจะพิจารณา แล้วเราพิจารณากันอย่างไรล่ะ ก็ธรรมะเป็นธรรมชาติไง ธรรมะเป็นธรรมชาติ ก็รู้ว่าธรรมชาติก็จบไง ก็ธรรมดา คือรู้ธรรมะ ก็ธรรมะก็ธรรมดา ธรรมดาก็เป็นธรรมชาตินี่ ธรรมชาติก็เป็นธรรมนี่ ก็เป็นธรรมนี่ไง นี่ก็เป็นธรรมไง ธรรมของใครวะ ธรรมของใคร

เราพูดมาตลอด ธรรมะเหนือธรรมชาติ เหนือความรู้ความเห็นทั้งหมด เพราะนี่มันยังไม่ได้เข้าวิปัสสนาเลย ยังไม่ทำอะไรกันเลยนี่ ธรรมะเป็นธรรมดาไง ไปรู้ธรรมดาก็รู้ธรรมะไง ก็ธรรมดาวิมุตตินี่ วิมุตติแล้วจบแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลยนะนี่ ทั้งๆ ที่ไม่เข้าพุทธศาสนาเลย ยังไม่ได้เข้าพุทธศาสนาเลย

นี่เราคำถามนี่ เราตอบคำถามนี้เพราะว่าหลักเกณฑ์ที่คำสอนที่เขาสอนกัน มันเป็น เราจับมันเป็นอย่างนี้มาไง นี่ผลของมันเป็นอย่างนี้ ผลของมันถ้ากำหนดดูจิตอะไรกันนี่ ทำไปแล้วมันจะเป็นอย่างนี้ เราถึงบอกผิด ที่เราบอกว่าผิดเพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันเป็นทางแตกแขนงไปคนละข้างเลยไง ถ้าดูจิตไปแล้วมันจะเป็นอย่างนี้ เพราะเขาใช้คำว่าดูจิต แต่ความจริงมันไม่ใช่มันดูความคิด

แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญานี่ มันจะไปอีกอย่างหนึ่ง มันไปอีกอย่างหนึ่งหมายถึงว่า เวลาเรากำหนดทุกอย่างนี้ ผลของมันตอบเข้ามาคือสมาธิ ผลของมันตอบเข้ามาคือตัวจิต มันยังมีตัวจิตอยู่ นี้บอกมีตัวจิตอยู่นี่เป็นสมถะ มันเป็นสมถะแล้วมันจะไม่วิปัสสนา มันจะเสียเวลา มันจะเกิดนิมิต มันจะว่าไปร้อยแปดเลย

แต่ในวงการปฏิบัติเรานี่ ถ้ามันเกิดสิ่งใดขึ้นมาก็ต้องแก้ไขไปตามสิ่งนั้น เพราะจริตนิสัยของคน กรรมของคน วิถีชีวิตของคน ทุกอย่างนี่มันหลากหลาย ไม่มีสิ่งใดเป็นสูตรสำเร็จ ไม่มี ฉะนั้นถึงต้องมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ มันเหมือนทำวิทยานิพนธ์เลย มันต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษา เวลาทำวิทยานิพนธ์ มีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยแนะคอยบอก แล้วจะทำสิ่งนั้นไป

ในการปฏิบัติก็เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกับสะกดจิตนะ มันเหมือนกับอุปาทานหมู่ ต้องอย่างนั้นอย่างนั้น ไม่ใช่ มันเป็นตามข้อเท็จจริงของจิตนั้น แล้วจิตนั้นมันต้องเปิดเอง จิตนั้นต้องรู้เอง จิตนั้นต้องแก้ไขเอง จิตนั้นต้องบริสุทธิ์เอง แต่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำอันนี้สำคัญมาก นี่พระป่าเรา หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านถึงรับพระไม่มาก รับพระน้อยๆ แล้วดูแลกัน รักษากัน ประคองกัน เอากันให้ได้ เอาเนื้อๆ แต่ถ้าเอาน้ำๆ แล้วไม่ได้เนื้อ ไม่ได้น้ำ ไม่ได้อะไรเลย

นี่พูดถึงอย่างนี้นะ เรายังมีของเราอีกเยอะ วันนี้ว่าจะพูดเรื่องกวางหลบเข้าไปอยู่ในโพลงไม้เห็นไหม หลบคนหลบพรานเข้าไปอยู่ในพุ่มไม้ แล้วมันก็กินใบไม้นั้นซะเอง กินพุ่มไม้นั่นซะเอง พรานนั้นก็จะเห็นตัวกวางนั้นใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน อ้างครูบาอาจารย์องค์นั้น อ้างครูบาอาจารย์องค์นี้ไง แล้วก็กินพุ่มไม้นั้น กินพุ่มไม้นี้ จนไม่เหลือพุ่มไม้ใดๆ เลย แล้วก็อ้างกันต่อไป นี่ตั้งใจจะพูดอย่างนี้ แต่เวลามันน้อยแล้วเนาะ เพราะเดี๋ยวเรามีธุระอีกแล้ว เดี๋ยวพระจะมา เราจะต้องเทศน์อีกรอบหนึ่งเนาะ เอวัง