ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

แก้ภาวนา

๑๙ ต.ค. ๒๕๕๒

 

แก้ภาวนา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

หลวงพ่อ : เวลาที่ไปชุมพรนี่ปีไหนนะ

โยม : ปี ๓๙ ครับผม

หลวงพ่อ : ๓๙ แล้วไปอยู่กับใคร

โยม : ไปในงานปฏิบัติ ท่านอาจารย์.......ท่านให้ขึ้นที่นอน หมายถึง ให้นอนกลางวัน คืออยู่จำวัดประมาณสัก ๔ ชั่วโมง ก็พอดีบ่ายโมงมันเข้าสมาธิ อะไรสักอย่างหนึ่ง หลังจากนั้นก็ ๒-๓ วันพักหลัง จิตมันก็เลยรวมครับผม สว่างเหมือนเป็นแก้วเลย ก็เลย..ไอ้เรื่องที่ปรุงแต่งตรงนั้น พอคิดถึงตรงนี้ปั๊บ มันกระเพื่อมทุกวัน พอกระเพื่อมทุกวันก็เลยตั้งสติดูว่า ทำจนถึงวันนั้น ก็เลยดู ตอนหลังก็เลย มันก็เริ่ม ความสว่างเริ่มหมดกำลัง ก็ลุกขึ้นเดินจงกรม ก็สว่างขึ้นอีก รู้ๆ รู้อะไรที่ไม่เคยรู้ ถึงเข้าใจว่า โอ้..การประพฤติการปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นเรื่องของจิต มันเป็นการปรุงแต่ง

หลวงพ่อ : พอมันสว่างปั๊บนี่ พอมันกระเพื่อมปั๊บนี่ เรากำหนดพุทโธหรือกำหนดอะไรแล้วมันสว่างต่อไป

โยม : ครับผม พอหลังจากนั้นมาก็เดินจงกรมต่อก็สว่างขึ้นไปอีก มันรู้ รู้เรื่องของภายใน พอหลังจากนั้นมาอีก พอมันพอกำลังของมันอิ่มในปีติ พอรุ่งอีกวันหนึ่ง จิตฝ่ายอกุศลมันเกิดขึ้น

หลวงพ่อ : ไม่ได้แล้ว

โยม : จิตฝ่ายอกุศลมีบริวารเยอะครับ แล้วจิตฝ่ายกุศลครับ ก็คัดค้านจิตฝ่ายอกุศล อบรม จิตรวมๆ เกิดดับๆ ฉันไม่ได้เลย อ้วกหมด ผมก็เลยเร่งความเพียรมาตลอด ตั้งแต่นั้นมาก็เลยว่า..รู้สึกว่า.. จิตมันเลยชัดมาตลอดเลย

หลวงพ่อ : ชัดมาตลอดเลย

โยม : ครับ

หลวงพ่อ : พอชัดมาตลอดแล้วทำอย่างไรต่อไป

โยม : ก็เพียรดูมันแล้วก็มา เอ๊ะ.. ทำไมล่ะ เห็นจิตเหรอ ก็ว่า.. มันก็เข้ามานี่หมด ก็เลยมามุ่งสู่ มาดูตรงนี้ อสุภกรรมฐานภายใน กระผมก็เลยว่า อ๋อ..มันทนทรมาน

หลวงพ่อ : แสงสว่างนั้นเกิดจากจิต แสงสว่างเกิดจากจิตเราสงบมันถึงเห็นแสงสว่างนั้น แล้วแสงสว่างนั้นมันก็เป็นสิ่งที่ว่า แสงสว่างน่ะ โอภายิกังคะ ความสว่างไสวต่างๆ นี่ มันเป็นอาการของใจทั้งหมด แสงสว่างมันบอกถึงใจเรานี่ ใจเรามีหลักมีเกณฑ์ พอใจเรามีหลักมีเกณฑ์เพราะอะไร เพราะเรากำหนดมาเห็นไหม ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ

พระพุทธเจ้าสอนธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ความสว่างนั้นคือผล เพราะสว่างนั้นใครเป็นคนเห็นว่าสว่างล่ะ เห็นไหมความสว่างนั้นเป็นความสว่าง แต่จิตเห็นความสว่างนั้นนะ พอจิตเห็นความสว่างนั้น ความสว่างนั้นมาเป็นเครื่องบอกว่า จิตเรานี่มีหลักมีเกณฑ์เท่านั้นเอง

ทีนี้เราไปติดอยู่ที่ความสว่าง มันก็เท่านั้นแหละ พอจิตสว่างปั๊บ พอเวลาจิตมันสงบนี่ ที่ว่าจิตเป็นกุศล อกุศล ที่ว่าจิตอกุศลเข้ามาไม่ได้ จิตมันจะเป็นความว่าง มันมีความสว่าง มันมีความพอใจ นี่สมถะ นี่ๆ สมาธิ เป็นสมาธิแล้ว ถ้าเป็นสมาธิแล้วนี่ถ้าจิตมันมีหลักแล้วนี่ เราค่อยออกมาพิจารณา ทีนี้ออกมาพิจารณานี่ ทำอย่างนี้ถูกที่ว่าออกมาดูอสุภะมาดูอะไรต่างๆนี่ถูก มาดูอสุภะปั๊บนี่

พวกเราปฏิบัติใหม่ๆ ทุกคนเป็นอย่างนี้หมด มันจะสุด มันจะไปข้างใดข้างหนึ่งสุดโต่ง ถ้าทำสมาธิก็สมาธิสว่างเลย พอพิจารณาแล้วก็นึกว่าพิจารณาจะเอาไปข้างใดข้างหนึ่ง คนปฏิบัติใหม่ๆ มันจะมีอุปสรรคตรงนี้ เราจัดตัวเองไม่ถูกว่าเราควรจะทำอย่างไรต่อไป ทีนี้พอภาวนาไปมันก็จะมีอุปสรรค มันจะมีปัญหา คือว่าเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญอย่างนี้ แล้วก็ถูไถไปอย่างนี้

นี่มันก็เพราะ ไม่อยากพูดว่าขาดครูบาอาจารย์ แล้วถ้าขาดครูบาอาจารย์ บางทีนี่ครูบาอาจารย์พูดไปนี่ ครูบาอาจารย์ท่านพูดชี้แนะไปก่อน พอชี้แนะไปก่อนนี่ เราไม่เข้าใจนี่เราก็ มันจะเป็นไปได้หรือ จะเป็นไปได้หรือ เราทำของเราดีอยู่แล้ว ทำไมท่านพูดไปอย่างนั้น ทำไมมันทุกข์ได้อย่างไรล่ะ แต่พอทำไปแล้วมันจะเป็นอย่างนั้นหมด

ฉะนั้นอย่างนี้ปัญหาของมัน ปัญหาของมันเราก็กลับมา กลับมา จะกำหนดอะไรก็แล้วแต่นะต้องให้มีความสงบของใจ หลักต้องมี นักกีฬาทุกคนต้องมีกำลังก่อน ทักษะหรือเทคนิคนี่มันฝึกได้ แต่ถ้านักกีฬาคนไหนก็แล้วแต่เคยมีความสามารถมากเลย แต่ประมาทไม่มีการฝึกซ้อมนะ นักกีฬาคนนั้นไปไม่รอดหรอก สมถะเหมือนกัน สมถะสำคัญมาก

ทีนี้สมถะสำคัญมาก พอพิจารณา พอถ้าจิตมันสงบนี่มันจะสว่างอย่างนั้นล่ะ มันสว่างอย่างนั้นเพราะเราไปแปลกใจมัน เราไปแปลกใจ เราไปตื่นเต้น แล้วก็คิดว่าความสว่างนั้นมันเป็นประโยชน์กับเรา ความสว่างนั้นมันเป็นแค่บอกไง อย่างเช่น กินข้าวอิ่ม แหมอิ่ม สบายมากเลย เดี๋ยวก็หิวอีก ไอ้แสงสว่างนั้นมันบอกถึงอิ่มไง เห็นไหม สุขมาก พักมาก เพราะมาก แต่เดี๋ยวมันก็หิวนะ

นี้อันนั้นมันไม่ใช่ความผิด ไม่ใช่ความผิดหรอก เพียงแต่ว่าเราบริหารมันไม่เป็น ถ้ามันเป็นอย่างนั้น คือมันต้องเป็นอย่างนั้น แต่พอเราบริหารไม่เป็น คือว่าเรากินอิ่มแล้วต้องทำอย่างไรต่อไปล่ะ กินอิ่มแล้วก็ต้องหาข้าวไว้สิ กินมื้อหน้าต่อไป จะได้มีข้าวกินมื้อหน้าต่อไป

ฉะนั้นมันต้องกลับมา กำหนดอะไรก็แล้วแต่กลับมากำหนดที่นั่น แล้วตั้งไว้ ไอ้อย่างนี้พออย่างนี้ปั๊บ พอรุ่งขึ้นปั๊บ นี่อกุศลจะเข้าทันทีเลย เพราะกิเลสมันไม่รู้เรื่องหรอก กิเลสนี่ เวลาปฏิบัตินี่ กิเลสเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา เราปฏิบัติไปมันเป็นธรรมขึ้นมา พอเป็นธรรมขึ้นมาปั๊บเห็นความสว่างนั่นล่ะเป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตัง พอจิตมันไปเห็นสันทิฏฐิโก เห็นปัจจัตตังนี่มันก็ตื่นเต้น มันเป็นธรรมใช่ไหม

กิเลสนี่มันเสียใจมากเลยว่า แหมปล่อยให้จิตดวงนี้ไปรู้ได้อย่างไร จิตดวงนี้เดี๋ยวมันจะหลอก เดี๋ยวมันจะพ้นจากมือกูไป พอรุ่งขึ้นปั๊บนี่มันตามกระทืบเลยล่ะ อกุศลเข้าแล้ว นี่มันเป็นธรรมดาของมันเลย ธรรมชาติของกิเลสเป็นอย่างนี้ ธรรมชาติของธรรมนี่เราสร้างกันตายห่าเลย กว่าจะได้ขึ้นมา ธรรมชาติของกิเลสมันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว แล้วมันจะตามกระทืบเลย

ทีนี้มันตามกระทืบแล้วเราก็ไม่รู้ไง เพราะกิเลสเป็นเรา ธรรมะก็เป็นเรา เพราะเราสร้างขึ้นมา อะไรเป็นเราหมดเลย พอเป็นเราหมดเลยนี่ เราก็เข้าไปร่วมกับกิเลสด้วย เราก็ไปร่วมกับความคิดด้วย เราก็ไปร่วมทุกอย่างเลย ก็งงน่ะสิ เฮ้ย..ทำไมเป็นอย่างนี้วะ เฮ้ย..ทำไมอย่างนี้วะ งงเป็นไก่ตาแตก หมุนซ้ายหมุนขวาไปไม่ถูกเลย

นี้ปฏิบัติใหม่ๆ เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ อาศัยเอาความชำนาญ อาศัยทำบ่อยๆ อาศัยทำมากขึ้น นี้พอชำนาญปั๊บนี่ก็มีครูมีอาจารย์นี่แหละ มีครูบาอาจารย์นี่เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกทางเราเท่านั้น ครูบาอาจารย์ชี้แนะทางให้เราเท่านั้น เราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ เราเป็นคนที่จะปฏิบัติขึ้นไปเอง นี้เวลาปฏิบัติขึ้นไปเองนี่ เหมือนเด็กๆ เลย พอมันโตขึ้นมาให้มันหัดกินข้าว พ่อแม่ก็พยายามให้มันกินข้าวนะ จนมันกินข้าวเป็น

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราต้องหัดจิตเราให้มันเป็น นี้มันกินข้าวไม่เป็น เรากินข้าวอยู่ แต่ให้พ่อแม่ป้อน กินเองไม่เป็น เวลาปฏิบัติไปเจออุปสรรค กินธรรมะ กินกิเลสกินธรรมนี่ มันจะทำอย่างไรให้มันมีหลักมีเกณฑ์ได้ เหมือนกัน ถ้าเหมือนกันเราก็ต้องฝึก เราก็ต้องฝึกของเรา เราพยายามฝึกของเรา ถ้าฝึกของเรามันจะได้ของมัน พอฝึกของเรา เราจะได้ประโยชน์ของมันขึ้นมา

ถ้าได้ประโยชน์ขึ้นมานี่ ลองผิดลองถูกไป ไม่มีครูบาอาจารย์คนไหนบอกว่า จับมือเราวางอย่างนี้อย่างนี้อย่างนี้ ไม่ใช่ ! เราจะต้องประสบ ฝึกเอาฝึกเอา แต่หลักเป็นอย่างนี้ถูกต้อง โดยหลักถูกต้อง แต่ที่มันผ่านมาแล้ว อื้อฮือ.. ตั้งแต่ปี ๓๙ เลยเนาะ โอ้โฮ..

โยม : แล้วก็พอมันไม่ได้ความสงบ มันจะร้อนเหมือนกับกระแสไฟฟ้าหมดทั้งร่าง มันจะไหลไปครับ ทุกข์มาก แล้วก็ทนๆๆ

หลวงพ่อ : เวลากำหนดนี่กำหนดอะไร เวลาทำทำอย่างไร

โยม : พุทโธ พุทโธ ไม่มีหาย

หลวงพ่อ : กำหนดพุทโธไว้ อะไรจะเกิดขึ้นเราก็พุทโธไว้ แล้วถ้ากำลังพอออกพิจารณาไป พอออกไปพิจารณาเสร็จแล้วนี่ วิปัสสนา สมถะกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานจะไปคู่กัน คนเรามีสองเท้า ซ้ายกับขวาต้องเดินก้าวไปด้วยกัน ถ้ามันทุกข์มันร้อน กลับมาที่พุทโธ พุทโธจนจิตใจเริ่มเย็นแล้วนี่ออกใช้ปัญญา

ออกใช้ปัญญานี้มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันต้องไม่เป็นวิปัสสนาหรอก เพราะว่าเรายังจับ นาย ก. ขโมยของไป เราก็รู้กันว่านาย ก. นี่ขโมยของไป เรายังจับนาย ก. ไม่ได้นี่ เราก็รู้อยู่ว่านาย ก. ขโมย แล้วจับไม่ได้ทำอย่างไรล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเรายังไม่เห็นกาย เวทนา จิต ธรรมโดยสัจธรรม เวลาวิปัสสนาไปนี่ มันก็เป็นการฝึกฝน เป็นการฝึกฝนมันยังไม่ได้ นาย ก.มานี่ มันยังไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาหรอก แต่ก็ฝึกไป ฝึกไป ฝึกไปจนจิตมันเห็นไหม ระหว่างที่จิตสงบแล้ว ออกมาวิปัสสนา ออกมาใช้ปัญญา มันก็..วิปัสสนานี่มันทำให้จิตฉลาด พอใช้ปัญญานี่จิตฉลาด พอจิตฉลาดขึ้นมา เราที่ว่า ป้อนข้าวเด็ก เด็กมันจะได้กินข้าว เออ..ข้าวอิ่มเนาะ ถ้าไม่ได้กินข้าวมันจะหิวนะ นี่ถ้าจิตมันสงบ เออ..มันดีนะ เวลาไม่สงบก็ฟุ้งซ่านอย่างนี้นะ เห็นไหม มันสอนมัน มันสอนมัน

นี่พุทโธ พุทโธให้มันสงบร่มเย็น แล้วใช้ปัญญาไป ใช้ปัญญาไป จนถึงที่สุด มันจะไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมโดยจิต ! โดยจิต ! แต่ในปัจจุบันนี้โดยสัญญาอารมณ์ โดยความคิด เห็นกายเห็นเวทนากันนี่โดยความคิด โดยสามัญสำนึก มันไม่เห็นโดยจิต ถ้าเห็นโดยจิตนี่ อ๊ะ.. ผงะเลย เพราะว่ากิเลสมันอยู่ที่จิต ฉะนั้นเราถึงบอกให้ขยัน แล้วทำไปอย่างนี้ถูกต้อง ถูกต้อง แนวทางนี้ถูกต้องเด็ดขาด เพียงแต่เราจะเดินให้ถึงหรือไม่ถึงเท่านั้นเอง มันอยู่ที่ความขยันหมั่นเพียรของเรา ความขยันหมั่นเพียร ไม่มีทางอื่นหรอก

ไอ้ใครจะไปไหนนะ ลัดสั้นลัดทางลงนรกหมดแหละ ลงนรกหมด ปล่อยมันไป ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้ มีทางนี้อัดเข้าไป กลับมาพุทโธ พอพุทโธจิตมันสงบแล้ว จิตมันมีกำลังแล้ว อย่างที่ว่าสว่างไสว พอมันมีความสุข พิจารณามัน แล้วพิจารณาพอมันแบบว่า พอมันพิจารณาไปแล้ว น้ำมันนี่ใส่รถมา พอไปถึงมันจะหมดถังเราต้องเติม ถ้าไม่เติมนะ เดี๋ยวหมดถังนะ คราวนี้ต้องเดินไปซื้อน้ำมัน

นี่ก็เหมือนกัน วิปัสสนาไปเรื่อยๆ ใช้ปัญญาไปเรื่อยๆ ถ้ามันไม่มีความสงบนะ นี่มันทุกข์ มันร้อน กลับมาพุทโธอย่างเดียวหาย เติมน้ำมันให้เต็มถัง แล้วติดเครื่องไปได้ใหม่ กลับมาพุทโธคือเติมน้ำมัน ถ้าไม่กลับมาพุทโธนะ มึงเข็นรถนะ มึงต้องเข็นมันไป ไม่ใช่นั่งกันไปนะ นี่รถมันพาเรามา เวลาน้ำมันหมดเราต้องเข็นมันไป เวลามันร้อนขึ้นมา เดี๋ยวมึงจะรู้ว่ามึงจะเข็นมันไป

ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทางอื่นไม่มี ! ทางอื่นไม่มี ! ถ้าใครขยันหมั่นเพียรแล้วมันจะทำได้ แล้วเดี๋ยวมันจะมีความสุขบ้าง ความทุกข์บ้าง เป็นเรื่องธรรมดา เพราะจิตมันก็เจริญแล้วเสื่อมเป็นธรรมดา ไม่มีใครจิตเจริญแล้วไม่มีเสื่อม ไม่มี ครูบาอาจารย์ท่านผ่านอย่างนี้มาหมด มันผ่านอย่างนี้มาทุกคนล่ะ แล้วผ่านมาด้วยความขยันหมั่นเพียร ผ่านมาด้วยปฏิภาณไหวพริบ

ปฏิภาณนะ หยิบผิดหยิบถูกนี่ จิตดีไม่ดีนี่ หยิบของมันยังหยิบง่ายๆนะ ตั้งสติ แล้วตั้งใจนี่ โอ้โฮ..มันยิ่งยากกว่านี้อีก มันเป็นนามธรรมแล้วจะจับอย่างไร หยิบของแค่นี้ โอ้โฮ.. ค่อยๆ ความขยันหมั่นเพียร ไม่มีทางใดดีกว่าทางนี้อยู่แล้ว ไม่มี ! แล้วถ้าทำได้อย่างนี้ เห็นไหมนี่เขาเรียกว่าเป็นทุกขตา ถ้าเราพอปฏิบัติขึ้นมาไม่มีทุกขตาเลย คือว่าจิตเราไม่สัมผัสอะไรเลย เวลาพูด พูดธรรมะของพระพุทธเจ้านะ ไอ้คนพูดก็พูดเปรียบเทียบ มันไม่มีทุกขตา ไม่มีทุกขตาไม่มีประเด็นในหัวใจก็จับต้องไม่ได้ แต่มีทุกขตามีประเด็นนี่จับได้แล้ว พูดกันไม่รู้เรื่องหรอก

โยม : อาจารย์ครับ หมายถึงว่ามันมีเวทนาที่โหยหา โหยหาสัญญาอารมณ์เก่าที่มันติด มันติดและมันโหยหา พอมันทำมันยิ่งโหยหา มันต้องอ้อนๆๆๆ

หลวงพ่อ : ความอยากซ้อนความอยาก โดยสามัญสำนึกของคนมีความอยากโดยจิตใต้สำนึกอยู่แล้ว ทุกคนเป็นอย่างนี้ อยากเป็นคนดีหมดแล้ว ทุกคนอยากเป็นคนดี พอทุกคนอยากเป็นคนดีอยู่แล้วเห็นไหม นี่ในอภิธรรมบอกว่า นี่ถ้ามีความอยากปฏิบัติไม่ได้ ไม่ใช่หรอก

เราต้องมีความอยากโดย เรามีความอยาก ความโหยหาของจิตใต้สำนึกมันมีอยู่แล้วเพราะอะไรรู้ไหม เพราะพระโพธิสัตว์นี่ สร้างมา ๔ อสงไขย แต่ละภพแต่ละชาตินี่มันตั้งเป้ามานี่มันมีของมันอยู่แล้วใช่ไหม ทีนี้พอเราปฏิบัติแล้ว มันมีตัณหาปัจจุบันนี้ไง ตัณหาจิตใต้สำนึกนี่ กิเลสมีอยู่ที่จิตใต้สำนึก โดยสัญชาตญาณของมนุษย์ โดยสัญชาติของจิตมันมีของมันอยู่แล้ว แต่เราอย่าไปเพิ่มมันตอนปฏิบัติมันสิ

เวลาปฏิบัติ คำว่าโหยหานี่ ถามมันเลย ถามมันกลับเลย “มึงโหยหาอะไร มึงจะบ้าไหม ถ้ามึงโหยหานี่มึงจะทุกข์สองชั้นสามชั้น” จิตใต้สำนึกคือเราปรารถนาดี คืออธิษฐานบารมี บารมีสิบทัศ พระพุทธเจ้าถ้าไม่มีอธิษฐานบารมีขึ้นมานี่จะไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอธิษฐานมาเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอธิษฐานตั้งแต่เป็นพระโพธิสัตว์มา

จิตใต้สำนึกมันมีของมันอยู่แล้วใช่ไหม แล้วอย่างนี้เราห้ามมันไม่ได้ แต่ในปัจจุบันนี่เราห้ามมันได้ ปัจจุบันนี้ เขาเรียกว่าตัณหาซ้อนตัณหาไง ความโหยหาโดยจิตใต้สำนึกนี่มันอันหนึ่งนะ แต่ความโหยหาในความคิดเรา โดยสมอง โดยขันธ์ ๕ นี่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยสามัญสำนึกโดยปัจจุบัน แต่ไอ้จิตใต้สำนึกนี่ ไอ้จิตใต้สำนึกที่เราควบคุมมันไม่ได้ อันนั้นมันมีกิเลสของมันอยู่แล้วนะ

ทีนี้ นี่ตัณหาซ้อนตัณหาไง ความอยากซ้อนความอยากไง ความอยากโดยสัญชาตญาณนี่เราแก้ไม่ได้หรอก มันต้องเป็นอย่างนั้นแหละ แต่เราพยายามทำความสงบของมันขึ้นมา แล้วเดี๋ยวพิจารณาเข้าไป มันจะไปเจอตรงนั้น ฉะนั้นถ้าเวทนา สิ่งต่างๆ นี่มัน เราตัดได้ด้วยปัญญา คำว่าปัญญาของเราก็คิดสิ เราคิดว่าสิ่งนั้นเป็นอดีตนะ หลวงปู่หลุยสอนไว้ อารมณ์ความรู้สึกความคิด

โยม : เจริญกลับมาใหม่ หมายถึงว่าสัญญาอารมณ์เก่าที่ให้เกิดอาการต่างกัน มันจะเป็นเหมือนเก่า

หลวงพ่อ : ไม่ได้ สัญญาเก่าใช้ไม่ได้เลย นี่หลวงปู่หลุยท่านสอนไว้เห็นไหม ว่าสัญญาความคิดนี่เปรียบเหมือนเสลดที่คายทิ้งไป แล้วไปเลียแดกมัน เลียกินมันตลอด น่าขยะแขยงไหม สิ่งนี้ ถ้าเราเทียบใจมันอย่างนี้ปั๊บ มันก็จะไม่คิดถึงสัญญาอันเก่านั้นไง

สัญญาอันเก่านะ ถ้าพูดถึงสัญญาอันเก่ามันเป็นประโยชน์ ถามตัวเองนะ เราเป็นเด็กมา ร่างกายนี่มันเป็น.. เซลล์นี่ ๗ ปีมันตายหมด สมัยที่เราเป็นเด็ก กับสมัยที่เราเป็นปัจจุบัน เซลล์ของร่างกายนี่มันคนละตัวเลย มันคนละตัวแล้วมันเกิดจากอะไร มันก็เกิดจากเซลล์อันเก่านั่นล่ะ เซลล์อันเก่านี่มันพัฒนาของมันขึ้นมา คือมันตายขึ้นมา มันก็มาสร้างกระดูกใหม่ ไขข้อใหม่ ทุกอย่างใหม่ สร้างใหม่หมด

ทีนี้มันเป็นเซลล์ใหม่แล้วนะ แต่อยู่ในร่างเก่า ไอ้ที่มันเคยเห็นหรือเคยได้มา มันได้มาจากการปฏิบัติของเรา ที่ว่า โหยหาแต่เวทนานั้นน่ะ ไปกินแต่ของเก่าไง ดูสิอย่างโยมเขานี่เห็นไหม ไปดูสมบัติของพระเห็นไหม เศรษฐีธรรม เศรษฐีธรรม เราได้อะไรล่ะ ผ่านธนาคารนี่ เงินเต็มธนาคารเลย เงินของใครล่ะ

นี่ปัญญาอย่างนี้มันต้องไล่เข้ามา เงินในธนาคารของใคร เราเดินผ่านธนาคารไปนี่ เงินไม่ใช่ของเราเลย แต่ถ้าเป็นบัญชีของเรานะ เรามีเงินตามในบัญชีนั้น เราจะบอกว่า เวลาปฏิบัติขึ้นมา ความสุข ความทุกข์ ความดีความงามนี่ มันเป็นของเราตรงนี้ อย่าไปโหยหาอันเก่านู้น ปัจจุบันธรรม อดีตอนาคตแก้กิเลสไม่ได้ ปัจจุบันแก้กิเลสได้ แล้วปัจจุบันอันนั้นล่ะที่ทำให้เราหายทุกข์

แล้วนี่มันทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะอดีตไง นี่ปัญญาอย่างนี้ไล่มันเข้าไปไง ทุกข์เพราะอดีตใช่ไหม เพราะเคยได้ เคยทำได้ เคยทำได้อันนั้นนี่เคยทำได้ มันดีอย่างหนึ่ง เคยทำได้เขาเรียกว่ามีทุกขตา คนเรานี่ไม่เคยสัมผัสอะไรเลย นี่พูดกันยาก ถ้าเคยได้แล้ว ก็ได้แล้วก็คือได้แล้ว เมื่อก่อนทำบุญแล้วก็ทำบุญไปแล้ว ทำบุญก็ได้บุญไปแล้ว แล้วนี่อะไรล่ะ แล้วก็ว่า ทำบุญแล้วทำไมกูทุกข์ขนาดนี้วะ ทำไมกูทุกข์ขนาดนี้ ไอ้ทุกข์ก็ทุกข์เพราะใคร โทษนะ ทุกข์เพราะมึงโง่ไง มึงยึดเองไง

ถ้ามันปล่อยเดี๋ยวนี้นะ อย่างน้อยก็เป็นกลางแล้ว ถ้าปล่อยเดี๋ยวนี้นะ ปล่อยความยึดมั่นนะ แล้วพุทโธ พุทโธนี่เห็นไหม มันเริ่มสบายใจแล้ว มันเริ่มสบายใจส่วนหนึ่ง แล้วถ้าพุทโธ พุทโธในปัจจุบัน ตะกอนนี่ น้ำอยู่ในตะกอน พุทโธ พุทโธนี่แกว่งสารส้มไป ถ้าตะกอนมันนอนก้นนะมันก็ใส ไอ้นี่คิดมันตลอด

เราจะบอกนะ ความคิดของพวกเรานี่ความคิดสกปรก ความคิดอย่างนี้ความคิดแบบตะกอน ความคิดสกปรก พุทโธ พุทโธนี่เห็นไหมน้ำเสีย พุทโธ พุทโธมันกวนน้ำไง เวลาน้ำเสียนี่ เขาก็รีไซเคิลน้ำ ให้น้ำมันสะอาด พุทโธ พุทโธ พุทโธมันกวนน้ำเห็นไหม แล้วบอกความคิดอันนั้นทำไมคิดได้ล่ะ ถ้าอันนั้นคิดได้ พุทโธคิดทำไม เห็นไหม

ความคิดเหมือนกันนะ คิดอันหนึ่งเป็นรีไซเคิล เป็นพุทธานุสสติ เราคิดถึงพระพุทธเจ้า เราคิดถึงคุณงามความดี ถ้าพลังงานเป็นความคิด จิตมันเป็นความคิดอยู่แล้ว พลังงานมันมีอยู่ ความคิดนี่เป็นพลังงานของจิต จิตอาการของจิตมันมีของมันโดยธรรมชาติของมัน แล้วมันก็คิดจากโดยธรรมชาติของมัน คิดแต่โดยกิเลสตลอดเวลา

พุทโธ พุทโธ พุทโธก็ความคิดเหมือนกัน เปลี่ยนความคิดจากคิดชั่วมาคิดดีไง พุทโธก็เป็นความคิดอันหนึ่ง แล้วถ้ามันคิด มันคิดถึงอารมณ์อันเก่า ถามมันว่า มึงทำไมไม่คิดพุทโธ ถามมัน ถามมัน ทำไมไม่คิดถึงพระพุทธเจ้า ไปคิดถึงไอ้โง่ทำไม คิดถึงเศษเดนไง เคยเป็นสมาธิ เคยเป็นอย่างนั้นนี่เศษเดนนะ ทำไมไม่คิดถึงพระพุทธเจ้าล่ะ

“ผู้ใดอยู่ฟากตะวันตกนะ ไม่ปฏิบัติตามเรา ผู้ใดเกาะชายจีวรเราไว้ ไม่ปฏิบัติตามเรา เหมือนได้อยู่ห่างเรา”

“ผู้ใดอยู่ถึงฟากตะวันตก ปฏิบัติตามเรา เหมือนเกาะชายจีวรเรา”

นี่ไงพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทธานุสสตินี่ ทำกันตามพระพุทธเจ้า นี่เกาะชายจีวรไว้เลยนี่ เคยได้สมาธิ เคยได้สมาธิ ทุกข์ตายห่าเลย อยู่ถึงฟากตะวันตกเลยนะ แต่ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง นี่เห็นไหม ปัญญาอย่างนี้ไล่เข้าไปปั๊บนะ มันจะไปปล่อยเองไง

เคยมีเงินอยู่บาทหนึ่ง ใช้หมดไปแล้ว ก็คิดถึงหนึ่งบาทนั่นล่ะ แล้วมันจะเอาอะไรใช้ล่ะ มึงไม่หาเงินใหม่ เคยมีเงินอยู่บาทหนึ่ง บาทหนึ่งนั่นหมดไปแล้ว แล้วก็โหยหาแต่บาทนั้นล่ะ มึงไม่โตหรอก มันต้องหาเงินใหม่สิ ไอ้บาทนั้นก็เลี้ยงกูมานี่ไง มึงต้องหาเงินบาทใหม่ กูจะทำของกูไป ต้องต่อสู้อย่างนี้ ถ้าปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นมันจะตัด ถ้าไม่มีปัญญาไปตัดเลย อู้ฮู.. ก็เคยคิด ก็คิดอยู่นั่นล่ะ มันก็เหมือนคนนี่ คนมันทำผิดอย่างนั้นก็ผิดอยู่วันยังค่ำล่ะ แล้วทำไมไม่เปลี่ยน

อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ใจของเราเราจะพึ่งมันเอง ใจของเรา เราเปลี่ยนของเราเอง มันเปลี่ยนด้วยปัญญาของเรานี่ ถ้าปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นมานี่ มันก็ตัดอันนั้นออกไป พอตัดอันนั้นออกไปแล้วนะ ก็เหมือนกับมันเป็นปกติ เป็นปกติเราก็ต้องสู้ไปอีก สัญญาอารมณ์ เป็นสัญญาอารมณ์ โอ้โฮ..เทศน์ครูบาอาจารย์ทุกกัณฑ์ท่านก็ติดตรงนี้ แล้วเราก็รู้ว่าทุกข์ตรงนี้ เหมือนเราหยิบไฟไว้ ร้อน ร้อน ร้อน แต่แม่งไม่ปล่อย มึงร้อนไปเถอะ ตกโว้ย แล้วก็นี่ โอ๋ย..จับไฟไว้แล้วก็บอก ร้อน ร้อน ร้อน ก็จับไว้ทำไมล่ะ ก็ปล่อยไม่เป็นไง

นี่ไงพอปล่อยไม่เป็นเพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าเวลาพระพุทธเจ้าเย้ยมารนี่ “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” นี่คือเกิดจากความดำรินะ เกิดจากความคิดไง แต่เวลาพวกเรานี่ปฏิบัติใหม่ๆ เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ความคิดเรานี่เป็นบ่วงของมาร รัดคอเลย เป็นพวงดอกไม้มันล่อมาให้คิดไง กิเลสหยาบๆ เห็นไหม มันล่อให้คิด คิดถึงเคยได้ไง มันล่อนี่ บ่วงของมาร พวงดอกไม้แห่งมาร มันล่อให้เราคิด แล้วเราก็จะคิด มันล่อไปอย่างนี้ มารมันล่อ แล้วเราก็ตะครุบ แล้วปฏิบัติไปก็มาทุกข์ไง

ใครโง่ล่ะ เราบอก มึงนี่ถามตัวเองว่ามึงนี่โง่ ธรรมะพระพุทธเจ้าถูกหมดเลย เราใช้ผิดทำผิด ถ้าเราทำถูกนี่ เราทำถูกตามนั้นเห็นไหม ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สีเลนะ สุคติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปทา ใครปฏิบัติ ใครทำถึงศีลนะ ถึงความสงบ มีโภคทรัพย์ มีทุกอย่างพร้อมเลย ถ้าเราทำตามนั้น แต่เราไม่ทำตามนั้นน่ะ ทำตามกิเลสน่ะ กิริยาเหมือนกันนะ นั่งเหมือนกัน พุทโธเหมือนกัน อีกคนหนึ่งนั่งโดยธรรมนะ อีกคนหนึ่งโอ้โฮ.. นั่งอยู่นี่คิดไปถึงบ้าน คิดร้อยแปดเลย นั่งเหมือนกันนี่ นี่ที่ว่าไม่ปฏิบัติโดยธรรมไง ถ้าปฏิบัติโดยธรรม นั่งเหมือนกันนี่ ใจวางให้เป็นกลางให้ได้ ทำให้ได้เหมือนกัน

โยม : บางครั้ง ภาวนาช่วงที่อยู่ป่า ได้ไป คือคล้ายๆ ว่าได้ไปอยู่ตามป่าตามเขาบ้าง อะไรบ้าง พอจิตมันเบิกบานอยู่มันจะรักษาได้

หลวงพ่อ : ไอ้ของอย่างนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา จิตเป็นของที่รักษายาก แต่จิตนี่มหัศจรรย์มาก ถ้าจิตนี่ทำไว้ได้นะ จิตนี่ถ้าเรารักษาแล้ว สุดยอดมาก แล้วการรักษานะ อย่างครูบาอาจารย์ท่านพูด อย่างหลวงตา หลวงปู่เจี๊ยะ เวลาท่านพูดถึงอาจารย์สิงห์ทอง ท่านอาจารย์สิงห์ทองนี่ เวลาเล่น นี่ขี้เล่นนะ แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมา เดินจนทางจงกรมเป็นร่องเลย นิสัยนี่นะ เวลาเล่นก็เล่นจากข้างนอก แต่ข้างในเอาจริงเอาจังไง แต่อย่างพวกเรานี่มันสงบเสงี่ยมแต่หัวใจมันดิ้นเห็นไหม

มันถึงว่านี่ไงที่ว่ารักษายากไง รักษายาก ครูบาอาจารย์ที่ว่ารักษายากไง เราอยู่กับอาจารย์จวนอย่างนี้ หลวงปู่จวน อู้ฮู..ท่านก็ทำของท่านเต็มที่เห็นไหม เราต้องจริงจังของเราก่อน ถ้าจริงจัง ความจริงจังความตั้งใจคือตรงใจมีสติ คนมีสติแล้วทำอะไรจะไม่ผิดพลาด คนขาดสติทำอะไรก็ผิดพลาดไปทั้งหมด มันจะรักษายากรักษาง่ายก็ต้องรักษา มันก็เป็นอยู่ที่อินทรีย์ด้วย นี่มาด้วยกันอินทรีย์ไม่เหมือนกันเลย

อินทรีย์คือพละ ๕ นี่สัมโพชฌงค์ แล้วถ้าจิตมันมีอินทรีย์ มันมีบารมีของมันนะ อะไรมันจะสะเทือนใจมันจะคิดของมันนะ แต่ถ้าจิตของเรานี่อินทรีย์มันอ่อนไง เหมือนเด็กเลย เขาล่ออย่างไรก็ไป เป็นผู้ใหญ่เอาอะไรมาล่อ เออ.. ไอ้นี่มันล่อกูหรือเปล่าวะ ไอ้นี่มันคิดเลยนะ นี่ต่างกันแล้ว มันอยู่ตรงนี้ด้วยนะ อยู่ที่อินทรีย์

เราพูดบ่อยเรื่องพันธุกรรมทางจิต จิตนี่มันสร้างของมันมา แต่ละคนมันไม่เหมือนกัน พันธุกรรมทางจิต มันถึงส่งผลให้ถึงนิสัยไง ให้เป็นนิสัยให้ความคิดนี้ นิสัยความคิดความตั้งมั่น จิตนี่มันมีกำลังมากน้อยแค่ไหนนี่ แล้วถ้าที่อินทรีย์มันแก่กล้า มันมีกำลังของมัน จะเป็นประโยชน์กับมัน ไอ้อย่างนี้ต้องฝึกหมดล่ะ ไม่มีอะไรลอยมาจากฟ้า ต้องต่อสู้ ทุกข์ยากก็ต้องสู้

โยม : มันเหมือนสติปัฏฐาน คือปกติเราใช้พุทโธ พุทโธกับสติปัฏฐานที่...

หลวงพ่อ : ไม่ใช่.. พุทโธเป็นพุทโธ สติปัฏฐาน ๔ นี่ สติปัฏฐาน ๔ ยังไม่ต้องไปห่วงมัน เวลาเราพูดถึงการใช้ปัญญานี่ มันก็ใช้ปัญญาในกาย เวทนา จิต ธรรม นี่แหละ แต่มันไม่เป็นสติปัฏฐาน ๔ หรอก เดี๋ยวเราจะให้ซีดี มีสติปัฏฐาน ๔ ด้วย เราพูดถึงสติปัฏฐาน ๔ ว่า ผู้ที่ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ นี่ ปฏิบัติผิดหมดเลย ผิดหมด

โยม : เพราะบางที ทำพุทโธไปนี่ ทำพุทโธไปนี่ดีๆๆ อย่างนี้ เอ..อ่า..สติปัฏฐานถึงบอกว่ามันเป็นเอกนามกิง มันเป็นทางสายเอกเป็นทางสายเดียว กลับไปเอาคำนี้มาวิตกกังวลว่า เอ๊ะ.. อันไหนมันถูก เอ๊ะ..มันอย่างไร

หลวงพ่อ : ย้อนกลับมาที่นี่ เมื่อกี้นี้ เวลาเดินจนจิตสงบแล้วเห็นไหม สายขนาดไหนมันเป็นผลของจิต จิตมันรู้ จิตสงบแล้วนี่ ถ้าจิตสงบแล้ว พอจิตสงบแล้ว แล้วออกใช้ปัญญาของเรา มันยังไม่เป็นสติปัฏฐาน ๔

อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ นาย ก. ลักของไป ยังไม่เห็นนาย ก. นี่ สติปัฏฐาน ๔ เราพิจารณากายได้ การพิจารณากายนี่มันพิจารณา เหมือนกับเราไปบวชเลย อุปัชฌาย์ให้เลย เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ มันคืออะไร ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ผมขนเล็บฟันหนังนี่เรามากำหนด ท่องผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี่มันก็เหมือนกับท่องพุทโธเห็นไหม บางคนท่อง ผม ผม ผม ผม เล็บ เล็บ เล็บ เล็บ หนัง หนัง หนัง หนัง นี่อัฐิ อัฐิ อัฐิ พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันเป็นคำบริกรรมไง

ฉะนั้นพอจิตเราสงบแล้วนี่เรามาคิดตรงนี้ได้ ไม่มีปัญหาหรอก ทีนี้คำว่า เราบอกว่าสติปัฏฐาน ๔ มันผิดตรงไหน ผิดเพราะจิตเรายังไม่สงบ สติปัฏฐาน ๔ ต้องจิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมโดยตามข้อเท็จจริง ตามข้อเท็จจริงคือจิตสงบ ถ้าจิตไม่สงบนะ ตอนนี้ถ้าจิตเราไม่สงบนี่ เขาเรียกสัญญาอารมณ์ ส้ม เปลือกส้ม ความคิดคือเปลือกส้ม จิตคือตัวเนื้อส้ม

ทีนี้ถ้าจิตนี่ พลังงานนี่มันจะผ่าน มันจำเป็นต้องผ่านเปลือก มันต้องผ่านเปลือกออกมา เปลือกคือ ... (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)