ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ที่เกิดปัญญา

๗ ต.ค. ๒๕๕๒

 

ที่เกิดปัญญา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โยม : เวลาที่ภาวนา คือถ้าภาวนาพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เราก็อยู่ คือหมายถึงว่าการที่อยู่กับปัญญา อยู่กับพุทโธนี่ หมายถึงให้อยู่เบาๆ ไปอย่างนั้นใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : โยมกำหนดพุทโธไม่แรงเหรอ

โยม : คือตอนที่ผมได้มาฟังซีดีหลวงพ่อแล้วก็พยายาม คือเวลาทำจริงๆ แล้ว มันเหมือนกับเวลาที่จะเข้า สงบนี่ คือถ้าน้อม น้อมเข้าไปที่ลมหายใจ เหมือนกับอานาปานสติอย่างนี้ครับ มันลงมามันจะ เหมือนกับมันจะเกิดความสงบได้ดีกว่า จะว่าดีกว่ามันก็

หลวงพ่อ : ไม่ได้หรอก เราจะให้พวกโยมพูดให้หมดไง เราจะกระตุ้นให้โยมพูด แล้วเดี๋ยวเราจะอธิบาย ว่าไป

โยม : คือมัน ผมลองทำตัวพุทโธตัวนี้ ที่เหมือนกับที่หลวงพ่อแนะนำ ไปเรื่อย ไปเรื่อย ไปเรื่อย มันเหมือนมันข้างนอกก็ไม่ใช่ ข้างในก็ไม่เชิง

หลวงพ่อ : ไม่ใช่หรอก ใช่ อ้าว..ว่าไป

โยม : มันก็พุทโธ พุทโธเราก็อยู่อย่างนี้ อยู่ไป พยายามรักษา อยู่ไป มันเหมือนกับเราก็ต้องมีเวลาสักพักหนึ่ง แล้วมันก็จะเปลี่ยนกลับไปเป็นเหมือนกับไอ้ที่เราน้อม

หลวงพ่อ : ไม่ๆ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะถ้าพูดประสาเรานี่ พอเราฟัง พอโยมบอกกำหนดพุทโธแล้วนี่ จะต้องน้อมไปหาลมนี่ แล้วกำหนดลมตามไปนี่ มันเป็นเพราะ โทษนะ เป็นเพราะพวกเรานี่ยังสับสนกันอยู่ เรายังสับสนอยู่ไง ความมั่นใจโยมไม่มี ถ้าความมั่นใจเรามีนะ ถ้าเรามั่นใจแล้วนะ แต่เวลาหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านสอนนี่ ท่านบอกเวลาปฏิบัตินี่ ปฏิบัติให้เหมือนคนโง่ที่สุด

เวลาเรียน เราเรียนมาแล้วใช่ไหม เวลาศึกษาเราศึกษามาแล้ว แต่เวลาปฏิบัติมีเรากับพุทโธเท่านั้น โลกนี้เหมือนไม่มี คือไม่มีอะไรเลย คือประสาเราว่าห้ามเลือก คือมึงมีอันเดียวเท่านี้ แล้วมึงต้องอยู่กับตรงนี้ ไปไหนไม่ได้

โยม : เหมือนเราศรัทธาไป มุ่งไปเลยที่เดียว

หลวงพ่อ : นี่อย่างนี้ ดันไปอย่างนี้ใช้ได้ ทีนี้พูดถึงเวลาดัน ดันกันอย่างนี้ โดยข้อเท็จจริง แต่คนทำจริงๆ แล้ว เพราะเรามีความลังเล

โยม : อ๋อ..เท่านี้คือ จริงๆ แล้วก็คือลังเลแทรกเข้ามา

หลวงพ่อ : ใช่ เพราะเราเองนี่ไม่มั่นใจ พอไม่มั่นใจนี่ นี่เป็นธรรมชาติของกิเลส นี้ธรรมชาติของกิเลสนี่เดี๋ยวเราค่อยอธิบายนะ โดยธรรมชาติของกิเลสมันเป็นอย่างนี้ ธรรมชาติของกิเลสคือแร่ธาตุ คือสสาร ธรรมชาติของกิเลสเลยเป็นแร่ธาตุอันหนึ่งเลย แล้วแร่ธาตุหรือสสารที่ความรับรู้นี่มันเสือกไปรับรู้ มันเสือกไปรับรู้ธรรมะของพระพุทธเจ้า พอไปรับรู้ธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว มันก็เอาตรงนี้มาอ้างกับเรา เพราะเรามีความรับรู้ไง เหมือนกับว่าเรามีปัญญาไง

โยม : มันก็เลยเอาที่มาไปด้วย

หลวงพ่อ : ไม่ๆ เหมือนกับเราไปรับรู้ คือฟังเทศน์มา คือหาข้อมูลไว้เยอะ คือมีข้อมูลนี่ ไอ้ตัวข้อมูลนี่มันมากระตุ้นไอ้ความที่ว่ามันจะหาทางออกไง เพราะตัวกิเลสคือแร่ธาตุที่มันเป็นความสงสัยอยู่แล้ว แล้วมันมีข้อมูลที่ชวนให้คิดไง พุทโธแล้วควรเป็นอย่างนี้ดีกว่า ควรเป็นอย่างนี้ดีกว่า ควรเป็นอย่างนี้ดีกว่า เห็นไหม

นี่แล้วอย่างโยมพูดนี่เห็นไหม พอมันกำหนดพุทโธแล้วนี่ มันต้องมีลมก่อน พอกำหนดไปแล้ว เดี๋ยวมันก็ย้อนกลับไปที่เริ่มที่พุทโธเห็นไหม นั่นมันคืออะไรล่ะ บูมเมอแรงไง โยนไป แล้วก็วนกลับมาล่อเรา จริงไหม ความคิดกิเลสนี่มันสร้างขึ้นมา

โยม : อย่างนั้นตัวสงบตัวนี้ก็หมายถึงไม่ใช่สงบจริงๆ ใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ไม่ใช่ ไม่ใช่สงบ เพราะไม่ใช่สงบไง พวกโยมถึงได้ลังเลสงสัยกันอยู่นี่ไง แต่ถ้าสงบนะ เอ้อะ ! เราพูดบ่อยเลย เอ้อะ ! ชื่อมันกับตัวจริงคนละอันกัน

โยม : ผมยังไม่เจอตรงนั้น

หลวงพ่อ : ใช่ ชื่อมันนะ นี่ตอนนี้เราได้ชื่อมัน เราพยายามจะพูดถึงพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่พุทธานุสติ นี่คือชื่อ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่คือชื่อพุทโธ พุทโธ

หลวงตาสอนอยู่ จิตคนเรานี่ โดยธรรมชาติของมันนี่เขาเรียกอารมณ์สอง โดยธรรมชาติของมนุษย์นี่ เขาเรียกอารมณ์สอง เรานี่มีธาตุรู้คือตัวพลังงาน กับสัญชาตญาณคือความคิด เราจะมีอย่างนี้ ธรรมชาติของมนุษย์นี่เป็นอย่างนี้ เราจะเปรียบเทียบเหมือนส้มกับเปลือกส้มตลอด ตัวจิตคือตัวเนื้อส้ม ความคิดคือตัวเปลือกส้ม โดยธรรมชาติเป็นอย่างนี้ของมนุษย์ โดยธรรมชาติของเทวดา โดยธรรมชาติของพรหม โดยธรรมชาตินี่มันจะเป็นอย่างนี้ เขาเรียกชาติภพไง

อาหาร ๔ ในวัฏฏะ จิตนี้เกิดเป็นมนุษย์ กวฬิงการาหาร อาหารเป็นคำข้าว เกิดเป็นเทวดา วิญญาณาหาร เกิดเป็นพรหม ผัสสาหาร นี่มันธรรมชาติของจิตที่เกิดแต่ละภพแต่ละชาตินี่ เกิดเป็นชีวิตอย่างนี้ ใช้ดำรงชีวิตอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ มนุษย์นี่มันมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ คือร่างกาย ขันธ์ ๕ คือความคิด แต่มันมีพลังงานปฏิสนธิจิตอีกอันหนึ่ง มีพลังงานปฏิสนธิจิตอันหนึ่งนี่เห็นไหม นี่หลวงตาถึงบอกว่า คนเรานี่มีอารมณ์สอง คือความคิดกับความรู้สึก

ทีนี้พอเราศึกษาเราบอกธรรมะพุทโธ พุทโธนี่ เราก็ไปพุทโธที่ความคิดนี่เห็นไหม พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่มันเป็นชื่อ อารมณ์สองเห็นไหม นี่ตัวจิตกับสัญญาอารมณ์ พุทโธ พุทโธนี่ พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธเห็นไหม พุทโธนี่มันสะเทือนสามโลกธาตุ คือสามโลกธาตุคือ คิดสิเวลาเราเกิดในสามโลกธาตุ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนมันเป็นเนื้อเดียวกันนี่ จนมันพุทโธไม่ได้ เอ้อะ ! นั่นล่ะตัวจริง

แต่พอเราพูดอย่างนี้ปั๊บ เห็นไหมนี่ แล้วที่บอกเมื่อกี้นี้ว่า กิเลสนี่เป็นพื้นฐาน แล้วเวลาเราไปศึกษามาเห็นไหม พอส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์บอกพุทโธ พุทโธ พุทโธจนพุทโธไม่ได้ ไอ้เรานี่ ไอ้คำโดยธรรมชาตินี่เราไม่อยากคิดพุทโธหรอก มันอยากคิดตามอารมณ์ของมัน แต่เราบังคับให้คิดพุทโธ พอคิดพุทโธมันก็ดิ้นไง มันดิ้น กิเลสนี่มันดิ้น มันหาทางออกของมัน

ทีนี้พอเราพุทโธ พุทโธ พุทโธไป สักพักหนึ่งเราก็ เอ้อ..ทำไมเรา ธรรมะพระพุทธเจ้า หรือครูบาอาจารย์ท่านสอน พุทโธ พุทโธมันจะจางไป มันจะละเอียดไปละเอียดไป แล้วก็พุทโธ พุทโธหายไปเลย เห็นไหม พลังงานคือตัวจิต ความคิดพุทโธ ต่างอันต่างหายไป เลยตกภวังค์ไง ไม่เข้าสมาธิเลย

พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ มึงจะคว้า... โลกจะล่มสลาย โลกจะบรรลัย กูก็อยู่กับพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธกูอยู่นี่ มันจะเป็นเองเป็นต่อหน้าเรา

โยม : ผมคือไม่น้อมไม่เข้า ไม่ในไม่นอกไม่อะไร ก็คืออยู่อย่างนี้ไป

หลวงพ่อ : ไอ้น้อมไอ้นำนี่แหละตัวร้าย ไอ้น้อมไอ้นำนี่แหละตัวทำให้เรา เหมือนกับเราเดินไปบนลานน้ำแข็งเลย ไอ้น้อมนำจะทำให้เราลื่นไหม

โยม : ก็คือเหมือน ผมพูดไม่ถูกว่าให้อยู่กับไอ้ที่สภาพที่มันเหมือนกับ จะพูดอย่างไร กลางๆ ไอ้ที่มัน

หลวงพ่อ : ไม่ต้องกลางสิ ตอนนี้ไม่ต้องกลาง ให้ชัดๆ เราแนะนำทุกคนว่าให้ชัดๆ เพราะมันเป็นสมถะนี่มันต้องกลาง กลางนั่นมันหลอกแล้ว จำไว้ ไอ้กลางนั่นน่ะ มันถึงเวลามันจะกลาง มันไปกลางข้างหน้านู้น ตอนนี้ไม่ใช่กลาง ตอนนี้คนทำนานี่ มึงบอกทำกลางๆ ทำครึ่งๆ อย่างนี้ นาไม่ได้กินหรอก คนทำนา ชักน้ำเข้านาแล้วมันต้องไถต้องหว่าน ต้องลุยเต็มที่ วัชพืชต้องเอาออก ไม่ใช่กลาง

โยม : มันมีเหมือน

หลวงพ่อ : ว่าไป ค่อยๆ

โยม : มันมีเหมือน จะว่าอารมณ์หรืออย่างไรครับหลวงพ่อ คือไอ้ตัวที่ อย่างตอนนี้มันเหมือนกับลักษณะว่า มันพูดไม่ถูก ว่าเราจะไปอยู่กับไอ้ตัวที่

หลวงพ่อ : ประสาเราถ้าอย่างนี้แสดงว่ามันวิธีการมาก เรายังไม่รู้จะไปทางไหนใช่ไหม

โยม : คือเหมือนกับ อย่างเวลาที่ทำไป น้อมแล้วมันจะมี มันก็เหมือนจะมีความคิดออกมาว่า อย่างแม้แต่ไอ้ตัวคำพูดที่มันน้อมออกมา ไอ้ตัว

หลวงพ่อ : พุทโธนั่นล่ะ ใช่ๆ

โยม : ไอ้ตัวเข้าใจข้างนอกนี่ มันคือเปลือก แต่ถ้าเรามองน้อมกลับเข้าไปในจิตนี่มันคือธาตุ

หลวงพ่อ : ใช่ ว่าไป

โยม : มันคือให้เราไปพิจารณาจากในตัวข้างใน อย่างนั้นใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : อันนี้เป็นทฤษฎี

โยม : มันเกิดตอนที่

หลวงพ่อ : เดี๋ยวก่อนนะเราจะพูดให้ฟังก่อน ใช่ มันเกิดในตอนนั้นแหละ แต่มันเป็นทฤษฎี ทฤษฎีเพราะอะไร ทฤษฎีเพราะมันเป็นจินตนาการ ถ้าจิตตัวนี้ มันต้องน้อมนึกเข้ามาอย่างนี้ ทีนี้คำว่าน้อมนึกนี่ มันเหมือนกับเรานี่ เรานั่งดูโยมนับตังค์นี่ โยมก็นับตังค์ของโยมไปนี่ แล้วตังค์นั้นเป็นของเราไหม ไม่เป็น เพราะโยมเป็นคนนับ แต่ถ้าเรานับตังค์นี่ตังค์ของเรานะ ความคิดที่มันบอกมันน้อมมาดูน้อมมาดูนี่ นี่มันดูเขา มันยังไม่เป็นความจริงของมัน

โยม : มันก็เหมือนสร้าง อย่างนั้นก็คือมันเหมือนสร้างให้เราแบบ

หลวงพ่อ : ใช่ เพราะเราไปตามความคิดไง เริ่มต้น ก็คิด นั่นคือมันออกแล้ว

โยม : ผลแม้แต่มันสงบดี

หลวงพ่อ : ความคิดกับจิต แล้วเราก็พุทโธ พุทโธ พุทโธเข้าไปเรื่อยๆ นะ จนมันนิ่งใช่ไหม พอมันนิ่งนี่ คำว่านิ่งนี่คือว่าพุทโธไม่ได้เลย เฉย แล้วเราก็อยู่กับมัน สักพักมันก็คลายตัวออกมา น้ำนี่นะ น้ำมีตะกอน เราตั้งไว้นี่ตะกอนจะนอนลงตรงก้นแก้วใช่ไหม พอเราเขย่า ตะกอนก็ต้องออกมาเป็นธรรมดา ตะกอนมันก็จะไหวใช่ไหม น้ำก็ขุ่นเป็นธรรมดา

จิตของเรานี่มันเป็นอย่างนี้ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เหมือนกับตะกอนมันนอนก้นแก้ว เวลามันจะออกรู้นะ มันมีความรู้สึกมา มันก็เหมือนกับว่าตะกอนนี่มันก็เคลื่อนไหวออกมา เราก็พุทโธต่ออีก พุทโธอีก ถ้าโยมนึกพุทโธได้ โยมต้องนึกพุทโธทันที พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่หลวงตาท่านเปรียบเหมือน บอกว่าเหมือนกับเราเอาสารส้มแกว่งน้ำ พอเอาสารส้มแกว่งน้ำนี่ เอาสารส้มแกว่งน้ำนี่มันจะกดให้ตะกอนมันลงไปอีก

นั่นน่ะมันเป็นเพราะอะไรรู้ไหม เราแนะนำตรงนี้ให้เราชำนาญ โยมขับรถมานี่ ถ้าคนชำนาญนะ เกียร์นี่มันไม่ต้องจับเลย มันตบพั่บ พั่บ พั่บเลย ถ้าเราชำนาญในวสี เราชำนาญในเข้าออกแล้วนะ เดี๋ยวสมาธิโยมจะไม่สงสัยเลย แต่ตอนนี้มันจะเป็นอะไรก็แล้วแต่นี่ เราก็อยากจะไปศึกษามัน อยากจะไปเข้าใจมัน ยังไม่ต้อง ให้มันมีความชำนาญ จนเราชำนาญแล้วนี่ เดี๋ยวเราจะพูดได้เองโดยธรรมชาติ

แต่โดยสามัญสำนึกของคนทั่วๆ ไป พอปฏิบัติแล้วก็อยากให้มันชัดเจน อยากให้มันเข้าใจ อยากให้มันรู้ เพราะอยากให้มันรู้ นี่มันถึงไม่รู้ไง ถ้าไม่อยากรู้ ทำให้มันชัดเจนขึ้นมานี่ เดี๋ยวมันจะรู้ของมัน โดยผ่านความชำนาญของมันเอง

โยม : คือไม่ต้องไปคาดหวัง ไม่ต้องไปอะไร ก็คือดิ่งไปเลย

หลวงพ่อ : ใช่ ตัณหาซ้อนตัณหา โดยสามัญสำนึกของคนนี่มันตัณหาอยู่แล้ว ทุกคนมีความอยากหมด แล้วพอไปอยากให้มันเป็น อย่างนี้สองเท่า มันเลยทำยากไง เราตั้งใจอยู่แล้วว่าเราอยากทำปฏิบัติ แต่เวลาปฏิบัติแล้ว โทษนะ อะไรก็เป็นกัน อะไรจะเกิดก็เกิดตามนั้นเถอะ พุทโธ พุทโธ พุทโธไป

นี้เราจะแนะนำอย่างนี้ เราพุทโธนี่นะ เป็นสมาธิอบรมปัญญา มันมีปัญญาอบรมสมาธิด้วย แต่เราพุทโธ พุทโธ พุทโธไป บางทีมันเหนื่อยมาก มันเครียดมาก เราจะเปลี่ยน แบบว่า อันนี้เราทำชนิดหนึ่ง เราจะเปลี่ยนงานเป็นอีกอย่างหนึ่ง เราใช้ อย่างที่โยมว่ามันใช้ปัญญานี่ ปัญญาที่มันคิดว่าต้องดูเข้ามาข้างในนี่ เอาสติตามมันไปเลย ถ้าสติตามไป มันจะเห็นเลยนะ ว่าความคิดนี่ไม่ใช่จิต ความคิดไม่ใช่จิต พอตามไปมันจะหยุดของมันได้ ถ้าหยุดปั๊บนี่เปลือกส้ม ถ้าหยุดปั๊บนะนี่คือตัวเนื้อส้ม แต่แป๊บเดียวเดี๋ยวมันก็คิดอีก ไล่เข้าไป ไล่เข้าไป

โยม : อยู่ดีๆ ก็จะได้พิจารณาตัวใหม่ได้ ก็พยายามดูแต่หาตอมันยังไม่เจอ

หลวงพ่อ : ใช่ ไม่มีเจอ ไล่เข้าไป ไล่เข้าไปแล้วมันหยุด มันหยุดนั่นคือตอ

โยม : พอดูแล้วมันก็จะเปลี่ยน ดูว่าตัวไหนมันเกิดก่อน เราก็มาดูว่า หาว่าไอ้ตัวที่ ส่วนใหญ่มันเกิดจากสัญญามันจะมาก่อน ดูมัน...

หลวงพ่อ : ใช่ ทีนี้ปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญานี่อารมณ์มันต่างกัน ถ้าปัญญาอบรมสมาธินี่ เวลามันปล่อยแล้วนี่ มันปล่อยแล้วนี่มันแบบว่ามันปล่อยเฉยๆ คืออารมณ์ความรู้สึกมันไม่ดูดดื่ม เหมือนกับพุทโธ พุทโธ ถ้าพุทโธนี่มันลงใช่ไหม ถ้าความสงบธรรมดาก็สงบธรรมดา พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่มันรู้สึก พุทโธนี่จะสติพร้อมแล้วรู้ตลอดเวลา

ถ้าพุทโธ ขณิกสมาธิ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่มันว่างๆ นะ นี้อุปจารสมาธินี่มันลึกเข้าไปอีก พอลึกเข้าไปอีกนี่มันละเอียดเข้าไป แต่เสียงหู เสียงอารมณ์กระทบ ลมพัดผ่านไหวนี่ อายตนะมันยังรับรู้อยู่นะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนไม่ได้นี่ อัปปนาสมาธินี่ มันหยุดหมดเลย

โอ้โฮ..นี่พุทโธไปแบบ นี่จิตของคนที่เป็นแบบพื้นฐานโดยปกติ โดยสามัญสำนึกนะ แต่ถ้าจิตของคนคึกคะนอง จิตคนที่มีอำนาจวาสนา เวลาพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่มันลง วูบ ! อู้ฮู..เหมือนเราตกจากกระโดดหอเลย วูบ ! ลงขนาดไหน ไม่ต้องตกใจทั้งสิ้น เพราะวูบ ! ลง บางคนมันก็กลัว บางทีมันก็กลัวนี่ มันมีอะไรก็สะดุ้ง นี่อย่างนี้มันจะมีความรู้สึกว่า อื้อฮือ.. โทษนะ มันมีความสุขมาก

แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ ปัญญาอบรมสมาธิมันไม่มีอารมณ์อย่างนี้หรอก มันว่างมีสติพร้อม มันรู้ว่าอันนั้นคิด อันนี้ไม่คิด ปัญญาอบรมสมาธินี่เป็นปัญญาวิมุตตินี่ เขาเรียกสุขวิปัสสโกนี่ มันคนละเรื่องกันกับเจโตวิมุตติ นี่เราพูดตรงนี้ออกมาเราจะบอกให้โยมเข้าใจว่าสมาธินี่ เวลาทำอย่างนี้คนละอย่างนี่มันจะไม่เหมือนกัน คือรสชาตินี่คือกำลังมันไม่เหมือนกัน มวยไทยกับมวยสากลนี่ มวยสากลนี่มันออกแต่หมัด มวยไทยนี่มันไปทั้งตัว เตะเข่าศอกได้หมด แล้วพุทโธ พุทโธนี่ๆ มวยไทย ถ้าปัญญาอบรมสมาธินี่มวยสากล

โยม : แล้วผมก็พยายามผสานอย่างที่ ก็คือว่าไอ้นี่เริ่มเหมือนจะเบื่อ มันจะมีตัวมาบอก มันเหมือนตัวแย้งเรา เหมือนกับตัวฉุด เราก็ดูมันมา มันมาเราก็จะเปลี่ยน เปลี่ยนมาใช้อีกแบบ

หลวงพ่อ : ถ้าเปลี่ยนมาเป็นปัญญาอบรมสมาธินี่ อย่างที่พูดเมื่อกี้นี่ พอพุทโธ พุทโธแล้วมันจะน้อมไปนี่ใช้ได้ แต่ถ้าไปในพุทโธแล้วไม่ได้ ในพุทโธแล้วต้องพุทโธอย่างเดียว ซัดกับมันเลย ถ้ามีอะไรเข้ามาแทรกนี่ นั่นล่ะคือ...

พุทโธ พุทโธนี่นะ เหมือนโยมขับรถมา มาบนถนน แล้วคอสะพานมันขาด โดยที่เราไม่รู้ตัว ขับรถมันก็ตกหมด มันข้ามสะพานมาไม่ได้หรอก พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่รถมันมา แล้วพอมีอะไรแล้ว นั่นล่ะคอสะพานมันขาด ถ้าความขี้เกียจจะพุทโธ นั่นล่ะจะทำให้ตกภวังค์ ถ้าพุทโธแล้ว ต้องถมพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ถมจนคอสะพานนั้นเต็ม พุทโธ พุทโธ พุทโธยังไม่ไป รถไม่ไป คอยังขาดอยู่ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พอพุทโธจนคอสะพานมันเต็มนะ รถมันผ่านคอสะพานนั้นไป มันก็ผ่านไป มันก็ถึงฝั่งนู้น ถ้าพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้ามันลงวืด ! ไปนะ โอ้โฮ..

โยม : ตอนนี้ คือว่ามันยังไม่.. มันต้องอ่านเดี๋ยวจะ... เหมือนกับที่ผมดู หลวงปู่ฝากไว้ของหลวงปู่ดูลย์ เหมือนมันจะมีเจตจำนง ตัวเจตจำนงคือตัวนี้หรือเปล่าครับหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : ถ้าตัวเจตจำนง ถ้าเราตีความนะ คือการตั้งใจ คือสติ เป้าหมาย ถ้ามีเป้าหมายปั๊บนี่ เรามีเป้าหมายปั๊บ เราก็พุทโธของเราไปเรื่อยๆ มีเป้าหมาย ถ้ามีเป้าหมายปั๊บเราก็ส่งออก แต่ความจริงในธรรมะเป้าหมายคือทวนกระแส คือเป้าหมายเราจะเข้ามาค้นหาจิตเราเอง

ทีนี้คำภาวนาต่างๆ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ พุทโธใครเป็นคนนึก พุทโธวิตกวิจาร ถ้าจิตวิตกขึ้นมา จิตไปไหน ถ้าเราไม่นึกพุทโธ อย่างที่กำหนดกันอยู่ เราบอกว่าพวกนามลงนามรูป เราพูดเลยว่าตัดรากถอนโคน ตัดรากถอนโคนเพราะอะไร เพราะอย่างที่ว่าความคิด ความคิดนี่เห็นไหม หลวงปู่ดูลย์พูดเอง ความรู้สึกเป็นรูป จิตนี้เปลี่ยนเป็นรูป ความคิดเป็นนาม เพราะมีรูปคือมีใจ พอมีนามมีความว่าง มันหมุนไป นั่นภพชาติเกิด

หลวงปู่ดูลย์พูดอย่างนี้เลย ทีนี้ถ้าเรากำหนดนามรูป กำหนดออกไป กำหนดออกไปที่ความคิด พอความคิดมันดับ ถ้าความคิดมันดับ แล้วเรากำหนดออกไป ความคิดมันดับ ดับมันก็ตัดขาด ไม่มีอะไรเลย แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ ใครเป็นคนกำหนด เราต้องคิดใช่ไหม ถ้าเราคิดนี่ นี่สายใยมันเข้ามาถึงตัวรากไง ตัวจิตไง ฉะนั้นตรงที่เขากำหนดกันอยู่นั้นนะ มันแบบว่า เราใช้คำว่าตัดรากถอนโคนเลย คือว่ามันคิดให้หายไปไง พอมันคิดให้หายไปแล้วใครเป็นเจ้าของ

แต่สำหรับเรา เราพูดเลยนะอย่างเรา อย่างพวกเรา จะทำธุรกิจ จะทำธุรกิจ จะโอนเงินผ่านบัญชีในตลาดเงิน เราต้องเปิดบัญชีเราไหม ถ้าเราไม่มีบัญชีมันโอนเงินให้ใครล่ะ มีแต่ฝากเขาได้ แต่เขาโอนเข้ามาไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราหาจิตหาภวาสวะหาภพหาตัวเองไม่เจอ จบ มันตัดราก เพราะ เพราะกิเลสมันอยู่ที่นี่ไง เห็นไหม แล้วอย่างที่พูดเมื่อกี้นี้บอกว่า พอกำหนดแล้วนี่มันว่างๆ ว่างๆ นั่นล่ะ มันไปหมดนะ

โยม : มันไม่ใช่ว่าง หลวงพ่อ แต่ว่ามันแค่มันเป็นความสงบ

หลวงพ่อ : ใช่

โยม : มันมีความสงบแล้วมันก็ แต่บางครั้งมันจะเกิดเหมือน เหมือนมันเราลืมอะไรง่ายๆ อย่างนั้น

หลวงพ่อ : เออ มันว่างๆ อย่างนั้นนี่มันส่งออกหมด เหมือนคิดให้ว่างไง ปฏิเสธความมีอยู่ของเราไง เราถึงใช้คำว่าตัดรากถอนโคนไง ปฏิเสธต้นขั้วไง ปฏิเสธความมีอยู่ของเราเห็นไหม แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ หรือปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิใครเป็นคนคิด มันมีราก สำคัญว่ามันมีราก แล้วถ้ามันถึงรากนี่เห็นไหม นี่ๆ บัญชีมึง มาถึงจิตไง ปฏิสนธิจิตที่มาเกิดนี่ไง แล้วข้อมูลมันอยู่ที่นี่ไง

อย่างที่เราพยายามโต้แย้ง อย่างเมื่อก่อนเราโต้แย้งตรงนี้ บอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราอะไรรู้ไหม เพราะคนเรานี่ถ้ามันไม่กลับมาที่บ้านมัน มันไม่ทำความสะอาดที่บ้านมัน มันสะอาดไม่ได้หรอก

โยม : คือบางครั้งผมก็แปลกใจ พอลองพิจารณาดูผมว่ามันน่าจะเป็น ผมก็เลยถามหลวงพ่อว่า มันอาจจะเป็นไอ้ตัววิปัสสนูกิเลสใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ไม่ ยังไม่ใช่ เราจะพูดอย่างนี้นะ ไอ้อย่างที่โยมเข้าไปวิปัสสนูกิเลสนี่มันยังไม่มาหรอก เพราะอะไรรู้ไหม เริ่มต้นของเรา เริ่มต้นการปฏิบัติ มันเป็นโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา ในเมื่อโลกียปัญญา ความคิดของเรานี่เป็นสามัญสำนึกทั้งนั้น เป็นความคิดของมนุษย์ มันเรียกโลกียปัญญา แล้วพอพระพุทธเจ้านิพพาน หรือถ้าฆ่ากิเลสแล้วนะ “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว” แล้วความคิดเรา มันมารครอบหมดไง เราเห็นมารหรือยัง แล้วเราแก้ไขอะไรหรือยัง ถ้ายังไม่แก้ไข อุปกิเลสอยู่ที่ไหน มันหยาบเกินไปที่จะเป็นอุปกิเลส

โยม : มันยังจับไม่เจอ

หลวงพ่อ : ใช่ ไม่ต้องไปกังวลไง นี่ๆ รู้มากศึกษามากแล้วก็กังวลไปหมดเลย ไอ้นั่นจะเป็นไอ้นี่ เหมือนเรานี่ เขาบอกเลยนะนี่มึงจะเป็นเอดส์ โอ๋ย..กูก็ทำ...อะไรไม่ได้เลยนะ กลัวแต่เป็นเอดส์ เพราะกูยังไม่ได้เป็น เลยไม่ทำอะไรเลย ไปกลัวอะไร ก็กูยังไม่ได้เป็น กูยังแข็งแรงอยู่ หรือถ้าเขาเป็นเอดส์ ถ้าเขาเป็นเอดส์ เป็นเอดส์ก็ต้องรักษา

นี่ก็เหมือนกัน กิเลสจะเป็นอย่างนั้น ไอ้นั่นจะเป็นอย่างนั้น แล้วก็กลัวกันไปหมดเลย นู้นก็จะเป็นกิเลส นี่ก็จะเป็นกิเลส อย่างพูดคำเมื่อกี้นี้ที่มันบอกว่า ต้องทุ่มเข้าไปเลย คำว่าเป็นกลางนี่นะ คำว่าเป็นกลางนี่นะมันเป็นโดยผลที่มันจะเป็น แต่เราไปบอกว่าเป็นกลางซะก่อน เหมือนกำลัง ถ้าเราลงกำลังไป ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เรายกของ มันยกได้ขึ้นใช่ไหม เราบอกว่าเราเป็นกลาง แล้วยกเบาๆ อย่างนี้ ของมันจะขึ้นไหม

ในการปฏิบัติก็เหมือนกัน เราจะบอกว่าเป็นกลางไม่ได้ ในการปฏิบัตินี่นะทุ่มไปทั้งตัวเลย ไม่มีกลาง กูใส่ไปเต็มร้อย

โยม : ถ้าอย่างนั้นตัว ไอ้สิ่งที่เกิดคือไอ้ตัว แม้แต่ความสงบ กลาง ระงับอารมณ์ที่มันลดละลงไป จริงๆ มันก็เหมือนกับโดนกิเลสมันไอ้นี่อยู่หรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ : เราปฏิบัติอยู่ เราจะไม่เห็นกิเลส กิเลสมันก็ ถ้าเวลาเราปฏิบัตินี่เราจะบอก หลวงตาจะพูดอย่างนี้ หลวงตาบอกว่าในเวลาปฏิบัติ กิเลสนี่มันจะปฏิบัติกับเราด้วย เวลาปฏิบัติไป อย่าคิดว่ากิเลสมันจะเปิดทางให้เรานะ กิเลสนี่มันแบบว่ามันบังเรามาตลอด ถ้าเรายังไม่ได้เห็นตัวมัน ยังไม่ได้ชำระมัน มันจะบังเรามา พอบังเรามา พอเวลาเราปฏิบัติไปแล้วนี่เห็นไหม เราไม่เข้าใจ เราให้คะแนนการปฏิบัติเราสูงเกินไป แต่ความจริงแล้ว เราไม่มีหน้าที่ให้คะแนนหรือตัดคะแนน มันจะเป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตังที่เรารู้ชัดเจน

ทีนี้พอรู้ชัดเจนอย่างนั้นนี่ เพราะโยมพูดคำเมื่อกี้นี่ คำว่าเป็นกลาง อันนั้นมันติดใจเรามากเลย ติดใจเรามากเลยเพราะอะไรรู้ไหม ติดใจเรามากเพราะว่า โยมเองเสียโอกาสเอง โยมเองนี่ควรจะได้ผลที่เต็มร้อย โยมไปบอกว่ากูเอา ๕๐ เปอร์เซ็นต์ กลาง โยมเสียโอกาสไป ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ไอ้คำนี่มันคาใจเราเลย

แต่ถ้าเราทำอะไรเราทำเต็มร้อยไปนี่ เราได้ผลเต็มร้อย มันจะถูกจะผิดก็เต็มร้อยนั้น แล้วแก้ไขเอา ไม่ใช่ว่าเราทำแค่ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ กลัวว่ามันจะผิดไง อีก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ละไว้ก่อน โอ้โฮ..เสียดายโอกาสมากเลย เพราะความเห็นผิด

โยม : อย่างนั้นถ้าพุทโธเราก็ไป แบบว่า

หลวงพ่อ : ใช่ ใส่เข้าไปเต็มที่เลย เราแก้พระ มีพระมาหา เขาบอกว่า ในวงการปฏิบัติเขาบอกว่าเวลาอัปปนาสมาธินี่พุทโธต้องหาย แล้วนี่ความจริงข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนั้น แต่เราบอกเลยว่าไม่หาย เพราะถ้าข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นนะ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้น แต่คนที่ไม่เคยปฏิบัติปั๊บ เขาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นปั๊บ มันจะสร้างภาพให้หายไง ตอนนี้คนปฏิบัติทุกคนนะ ส่วนใหญ่แล้วสร้างภาพให้หาย ไม่ใช่หายจริง

โยม : มันก็คือหลงไป

หลวงพ่อ : ใช่ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พอคิดแล้วมันดีไง พุทโธมันสบาย มันสะดวกแล้ว พุทโธเบาๆ เบาๆ เบาๆ จนมันหายไปเอง แต่สำหรับในการปฏิบัติ เพราะเราปฏิบัติมา พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เราพุทโธ อู้ฮู..ปากพุทโธไปเถอะ จิตกูลงนะ โอ้โฮ..มันควงลง โอ้โฮ..

เพราะหลวงปู่เจี๊ยะเป็นคนสอนเรา ทีแรก เราอัปปนาสมาธิ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิมาตลอด แล้วหลวงปู่เจี๊ยะบอกว่า ไอ้หงบมึงลองพุทโธ แล้วพุทโธนั่นนะ อย่า ต้องพุทโธเป็นเดือนเป็นปีเลย อย่าให้มันลงสมาธิ ถ้าพูดถึงพุทโธ ๕ ชั่วโมง สมาธิมันลงแค่ ๒-๓ นาที ถ้ามัน ๑๐ ชั่วโมง มันก็จะได้ลงครึ่งชั่วโมง ถ้า ๒๔ ชั่วโมงมันก็จะได้สักครึ่งชั่วโมง พุทโธไปเรื่อยๆ

เราก็เออ หลวงปู่ท่านตั้งประเด็นมาอย่างนั้นปั๊บ..เราก็ตั้งใจนะ ตั้งใจเราเอง เราก็ทดสอบไง ว่าเราจะพุทโธแบบ พุทโธที่ไม่ต้องการสมาธิ พุทโธคือพุทโธ กูก็ต้องการจะพุทโธจะทำไม ท่องพุทโธท่องอะไร พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ต้องท่องเร็วๆ ด้วย พุทโธ พุทโธอยู่อย่างนั้นล่ะ จะลองของกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ ตะโกนเลยล่ะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ตะโกนในใจ พุทโธ พุทโธ พุทโธ

โอ้โฮ..ตามพุทโธไปเถอะ จิตมันควงสว่านลงเหมือนโดดหอนั่นล่ะ วืด วืด วืด ถ้าเป็นคนอื่นก็ตกใจอีกแหละ ไอ้เรามันพร้อมอยู่แล้ว พุทโธไปเรื่อยๆ มันวืดไปขนาดไหนนะ เราก็เชิญเลยครับ ไปบอกมันเลย เชิญเลยครับ มันก็วืด กึก เงียบหมดเลย สตินี่พร้อมมาก หลายชั่วโมงมาก แล้วมันถอน เราก็ถอนนะ เออจริงแบบหลวงปู่ว่าว่ะ ตะโกนลั่นเลย พุทโธ พุทโธ พุทโธ ในใจนะ แล้วมันชัดเจนไง ถ้าเราไม่ลั่นปั๊บ..นี่มันแถไง

เหมือนเราต่อยมวยนี่ เราต้อนคู่ต่อสู้เข้ามุมนี่ แล้วเราไม่ทำ...อะไรมันเลย มันก็ปลิ้นออก ไอ้เรานี่โดนต้อนเข้ามุม กูต้องฉะ ฉะมึงอยู่แล้ว นี่มันพุทโธ พุทโธเข้าไปนี่ มันเผชิญหน้ากับมันอยู่แล้ว

โยม : คือให้ลั่น ให้พุทโธลั่นอยู่ข้างในใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ลองดูเลย แหม..มันมีคนทดสอบ หลวงปู่เจี๊ยะนี่ ทีแรกท่าน.. แบบว่าเรานี่มันคนเถียงเก่ง เรานี่ต้องโต้แย้งอย่างเดียวนะ แล้วท่านท้าพิสูจน์ ต้องพิสูจน์กัน เรานี่จริงๆ เราพูดอะไรนี่เราอยากให้พิสูจน์ เพราะว่าเราทำอะไรมาเราพิสูจน์กับครูบาอาจารย์มาเยอะ ถ้าวิธีการไหนท่านบอกอย่างไรปั๊บต้องพิสูจน์ เราไม่เคยเชื่อใครโดยที่เชื่อกันมา

โยม : ผมก็เคยลอง เคยลองมันก็ เคยลองแต่ว่ามันยังไม่ดิ่งอย่างที่หลวงพ่อว่า เพราะว่ายังไม่ได้เอาไปจริงๆ

หลวงพ่อ : ใส่เข้าไปเต็มๆ เลยล่ะ พุทโธ พุทโธ พุทโธอยู่อย่างนั้นล่ะ

โยม : แต่ก็ คือเวลาพิจารณาจะคิดว่าน่าจะเป็นใช้ในทางที่หาเหตุหาผล มาหักล้างอยู่ข้างใน พอเวลามันสงบนี่บางทีมันเห็นไอ้ตัวที่ความคิด

หลวงพ่อ : เดี๋ยวนะ ตรงนี้เราเสียดายโอกาสไง ทุกคนคิดว่าสมถะนี่มันจะไม่มีประโยชน์ แล้วต้องหาเหตุหาผลมาหักล้าง การหาเหตุหาผลนั่นน่ะ ถ้าจิตมันเป็นพุทโธนะ เหตุผลนะมันเป็นเหตุผลของธรรมะ ถ้าจิตเรายังไม่เป็นสมาธินะ เหตุผลนั้นเป็นเหตุผลของโลกียะ ต่างกันเยอะมาก ไอ้ที่หาเหตุหาผลกันอยู่นี่ เอาตัวไม่รอดสักคนหนึ่ง แต่ถ้าจิตมันลงแล้วนะ แล้วมาหาเหตุหาผลนะ มันเป็นโลกุตตรธรรมนะ โอ้โฮ.. เมื่อก่อนนี่กูมองไม่ออกว่ะ เมื่อก่อนทำไมไม่เป็นอย่างนี้วะ โอ้โฮ..ความเห็นนี่ต่างกันเลยนะ ฟ้ากับดินเลย

นี่เราเสียดายไอ้พวกที่บอกว่าสมถะไม่มีประโยชน์ มึงยังไม่รู้จัก เราบอกเลยนะ สมาธิสมถะนี่มันเป็นระหว่างทางสองแพร่ง ถ้าในสมาธินี่มัน ถ้าไม่มีสมาธิ มันจะออกเป็นโลกียปัญญา ถ้ามีสมาธิมันจะเป็นโลกุตตรปัญญา ตัวสมาธินี่แหละเป็นตัวแบ่งความคิดเราว่าเป็นโลกุตตร หรือเป็นโลกียะ

โยม : อย่างนั้นก็คือพื้นฐานต้องเอาตรงนี้ก่อนใช่ไหมหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : ตัวสมาธินี่แหละเป็นตัวแบ่งความคิดเราเอง ว่าเป็นความคิดโลกหรือเป็นความคิดธรรม ถ้ามีสมาธิมันจะเป็นความคิดธรรม แล้วพอความคิดธรรมเกิดขึ้นมาแล้ว ไอ้ที่เขาบอกว่า นี่เวลาอ่านธรรมะพระพุทธเจ้าสอนนี่ อริยสัจเป็นอย่างนั้นอย่างนั้นนะ ปากเปียกปากแฉะ แต่ถ้าเป็นสมาธิไปพิจารณา โอ้โฮ..มันถอนอุปาทาน มันถอนกิเลสจริงๆ

ที่เราเน้นสมาธิ ที่ครูบาอาจารย์พวกเราเน้นสมาธิกันตรงนี้ไง ถ้าสมาธิแล้วมันเหมือนเรามีเงินสดในมือ ถ้าไม่มีสมาธิเราไม่มีเงินสด เงินสดในมือนี่ มึงจะซื้อ...อะไรก็ได้ ถ้าไม่มีเงินสดในมือเลย อยากได้ เชื่อก่อนได้ไหม ต่อรองฉิบหายเลยนะ กูจะเอา แต่เขาจะให้ไม่ให้อีกเรื่องหนึ่ง

นี่คือความคิดไง คิดธรรมะเหมือนกัน ปรุงแต่งธรรมะเหมือนกัน ตัวสมาธิตัวสมถะนี่สำคัญมาก ในวงการปฏิบัติตัวนี้สำคัญมาก เพราะขาดตัวนี้ แล้ววิตกวิจารธรรมะกัน ถึงเป็นความคิด เวลาจิตดี พอคุยกันธรรมะดีๆ โอ้โฮ.. สดชื่นแจ่มใส มึงก้าวออกไป มึง..เหยื่อก็แดกแล้ว ไม่มีทาง

โยม : ผมก็พยายาม คือสอบไป เราก็ดูตัวเราไม่ใช่ว่า เอ๊ะมัน

หลวงพ่อ : เพราะ ! เพราะขาดสมาธิจำไว้ เพราะขาดสมาธิ นี่เพราะขาดตรงนี้ไง ครูบาอาจารย์ถึงเน้นตรงนี้ พระป่าเราเน้นตรงนี้มาก ถ้าจิตเราไม่สงบก่อน จิตไม่สงบก่อนนะ ธรรมะนี่มันก็เหมือนเราตรึกในธรรมนี่ ตรึกในธรรม วิตกวิจารในธรรมนี่ ทั้งปีทั้งชาติ

โยม : มันก็มีผลสนองมาบ้าง แต่ว่า

หลวงพ่อ : ใช่

โยม : มันก็เบาลงไปบ้าง แต่

หลวงพ่อ : ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้ เอาหัวยืนยัน

โยม : คือแต่มันจะไม่ได้ขาดแน่นอน

หลวงพ่อ : ไม่มีทาง มรรค ๘ มรรค ๗ ไม่มี มรรค ๘ เป็นสัมมาสมาธิ

โยม : ผมคงต้องกลับไปหาฐาน พื้นฐานตรงนี้ผม

หลวงพ่อ : เพราะทิ้งตรงนี้กัน ถึงไม่ได้เรื่องเลย

โยม : คือยังไงต้องทำสมาธิให้เต็มกำลังก่อน

หลวงพ่อ : ใช่ คำว่าทำสมาธิให้ได้ก่อน นี้คนมาปฏิบัติแล้วก็บอกว่า โอ้โฮ..แล้วเมื่อไรจะได้สมาธิล่ะ ที่เขาพูดกันอยู่นี่ เพราะว่าพุทโธนี่ นี่หลงกันทั้งปีทั้งชาตินะ แล้วเมื่อไรจะได้วิปัสสนาล่ะ ไม่ใช่ ! การใช้ปัญญานี่ใช้ได้ทุกเมื่อ แต่ถ้าเรารู้แล้วนี่ การใช้ปัญญาของเรานี่คือปัญญาอบรมสมาธิ เราบอกเราค้านอยู่ตลอดเวลาว่า การปฏิบัติทุกแนวทาง การปฏิบัติทุกๆ อย่าง ผลของมันคือสมถะหมด ไม่มีวิปัสสนาหรอก ไม่มี ! ไม่มี ! เพราะอะไรรู้ไหม เพราะจิตเรายังไม่สงบ ไม่มีวิปัสสนาหรอก แต่ถ้าจิตเราสงบแล้ว มันถึงจะวิปัสสนาใช่ไหม แล้วเมื่อไรจิตจะสงบล่ะ ถ้าไม่สงบนี่ การปฏิบัติทุกอย่างเป็นสมถะหมด ถ้าเราจะปฏิบัติ เราก็ใช้ปัญญาของเรานี่ มันก็เป็นสมถะ เป็นอะไรไป

โยม : มันก็คือมันมีความสงบเข้ามา

หลวงพ่อ : ใช่ ก็คือสมถะนี่แหละ

โยม : ต่อให้พิจารณาอย่างไร คือหมายถึงเราหักไปหักมานี่ มันก็รวมกันปุ๊บ.. มันก็เรียบร้อย มันก็สงบเฉยๆ

หลวงพ่อ : ใช่ แต่มันมีเล่ห์กลตรงนี้ไง แต่ถ้าเราเข้าใจผิด เราเข้าใจว่าการใช้ปัญญา ที่ฝ่ายปฏิบัติที่เขาเสียกันเสียตรงนี้ไง เสียว่าการใช้ปัญญานี้คือวิปัสสนา

โยม : คือไปหลงว่า

หลวงพ่อ : หลงว่านี่เป็นวิปัสสนา แล้วพอหลงว่าเป็นวิปัสสนา พอมันสงบเข้ามาใช่ไหม มันปล่อยเหมือนกัน ก็คิดว่ามันปล่อยไง แล้วเดี๋ยวพอมันปล่อยนี่ กิเลสนี่นะพอเวลามันปล่อยแล้ว มันรู้ว่าธรรมะนี่มันคง.. เวลามันออกมานี่มันแรงบวกมันสองเท่า

โยม : ใช่ มันปรี๊ด บางทียังงงเลย

หลวงพ่อ : นี่ไง เพราะว่า เพราะถ้าคนปฏิบัติ ครูบาอาจารย์เราท่านรู้ถึง โอ้โฮ..คนถ้าปฏิบัติมานี่ มันต้องผ่านเหตุการณ์ขึ้นมาทั้งหมด ฉะนั้นไอ้ผู้ที่ไม่เคยทำมานี่ พอมันมาเห็นสภาพแบบนี้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันเทียบตำราไง

ทฤษฎีบอกว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เราใช้ปัญญาแล้ว แล้วพระพุทธเจ้าบอก สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา มันก็ไม่รู้จักอีก เพราะมันไม่เคยพบปัญญาที่แตกต่างกัน ๓ อย่างนี้ ความใช้ความคิดคือใช้ปัญญา เวลาเราพูดกับพระนะบอกว่า ความคิดสมองนี่นะ ฆ่ากิเลสไม่ได้หรอก ต้องความคิดของจิต ความคิดโลกียะนี่ความคิดของสมอง

สมองคืออะไร คือความจำ คือสถิติ พอมันสงบเข้ามามันอยู่ที่กลางหัวอก เพราะกิเลสมันอยู่ที่นี่ แล้วถ้าภาวนามยปัญญาที่เกิดนี่ มันเกิดในปัจจุบัน เกิดในปัจจุบันในจิตนั้น ความคิดสมองนี่ สมองของคนนี่นะ นี่มันเป็นสสาร มันต้องมีพลังงานคือตัวจิตนึก มันเหมือนตัวจิตพลังงาน สมองมันถึงทำงานได้

ฉะนั้น ความคิดของเรานี่ ความคิดสมองนี่โลกียปัญญา แต่ถ้าเราจิตสงบปั๊บ จากความคิดสมองนะ มันจะมาอยู่ความคิดที่จิต คำว่าปัจจุบันคือเดี๋ยวนั้น ไม่มีระยะห่างเลยไง แต่ถ้าความคิดโลกนี่ระยะห่างมันเยอะนะ เยอะเพราะอะไร เพราะเราคิด เราคิดซ้อนได้เห็นไหม ให้มันเร็วขนาดไหนความคิดเรานี่ เราคิดเรื่อง ตามธรรมชาติของจิตนี่มันคิดได้อย่างเดียว แต่ทำไมเราคิดซ้อนได้ล่ะ

แล้วนี่ ยังอีกไกล ถ้าใครไม่เคยเห็นภาวนามยปัญญา หรือพูดภาวนามยปัญญาไม่เป็นนะ ไม่มีสิทธิ์หรอก ไม่มีสิทธิ์ แล้วภาวนามยปัญญา ปัญญาล้วนๆ จะเกิดจากภาวนา ไม่เกี่ยวกับอะไรเลยนี่ มันคืออะไร ภาวนามยปัญญามันคืออะไร ปัญญาอย่างนี้ต่างหากพระพุทธเจ้าปรารถนา

นี่การที่เรามาปฏิบัติกันนี่ คนนี่ เอ็งจะเรียนปริยัติ เรียนอะไรก็แล้วแต่ โทษนะ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ไม่ได้ปฏิเสธนะ ต้องเรียนต้องเข้าใจมัน เอ็งจะเรียนขนาดไหนนะ เอ็งจะเข้าใจนะ เอ็งจะได้ประกาศแม่ง ๑๐๐ ใบ ๔๐๐ ใบ ๕๐๐ ใบนะ มึงทำ...อะไรไม่ได้หรอก มันแค่นั้นแหละ นี่สุตมยปัญญา จินตมยปัญญาล่ะ แล้วภาวนามยปัญญา ถ้าจิตมันไม่สงบนี่ โธ่ จิตมันสงบเข้ามาอย่างไร พอจิตมันสงบเข้ามาแล้วนะ มันออกรู้อย่างไร ออกรู้ใหม่ๆ นี่ผิดหมด เพราะอะไรรู้ไหม เพราะอย่างที่ว่านี่ มันยังเคลื่อนไหวอยู่ มันยังมีอดีตอนาคต มันยังไม่ใช่ปัจจุบันไง

จิตออกรู้นี่เห็นไหม ออกรู้นี่มันส่งออกหรือเปล่า พลังงานได้ออกทำงานหรือเปล่า มันจะเข้ามาถึงจิตได้ไหม ยังไม่มีใช่ไหม

โยม : ยัง เวลามันออกนี่ หลวงพ่อ เราต้องบังคับกลับไหม

หลวงพ่อ : ไม่ ไม่ ไม่มีทาง

โยม : พิจารณาตามไปเลย

หลวงพ่อ : ต้องพิจารณาไปอย่างนั้น ไอ้เรื่องนี้เราจะอธิบายให้ฟังว่า ขณะผลของมันจะเกิดไง แต่ขณะผลจะเกิดนี่ คนที่จะ นักมวยแชมป์โลกนี่นะ มันโนเนมมาทั้งนั้นล่ะ ไม่มีใครฝึกมาแล้วเป็นแชมป์โลกเลย ไม่มี ในการปฏิบัติทุกคนเป็นอย่างนี้หมด แชมป์ไม่ต้องห่วงหรอกว่าจะดึงไม่ดึงนี่ ต้องให้จิตสงบ แล้วก็ฝึกไป พอฝึกไปแล้วนี่มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของคน อำนาจวาสนาของคน

คนเราเกิดมาด้วยกันนี่นะ สร้างบุญมาไม่เท่ากันหรอก พอสร้างบุญมาไม่เท่ากันนี่ บารมีธรรม ความวุฒิภาวะของจิตแตกต่างกัน อย่างคนนี่ถ้าสร้างบุญมามากนี่ คนบอกเขาเตือนนี่มันเข้าใจได้ อย่างเรานี่คนหยาบนี่ ใครเตือนอะไรกูก็ไม่รู้นะ เอ๊ะ..ทำไมมันว่ากูวะ มันต่างกัน ไอ้การปฏิบัติก็ติดอยู่ตรงนี้ด้วย ไม่ใช่ปฏิบัติแล้ว จำไว้ถ้ามาวัดแล้วจะให้เหมือนกันหมดเลยนะ บอกคนละ ๕ บาท ๕ บาท ให้เท่ากันหมดเลยนะ ไม่ใช่หรอก ๕ บาทของคนใช้ไม่เป็น ๕ บาทนั้นไม่มีค่าอะไรเลย คนใช้เป็น ๕ บาทนี่มันเอาไปสร้างเนื้อสร้างตัวได้นะเว้ย

ฉะนั้นนี่สูตรสำเร็จมันไม่มี เราต้องเทียบอารมณ์เราเป็นอารมณ์ๆ ไป เทียบเป็นคราวๆ ไป ต่อสู้เป็นคราวๆ ไป ต้องต่อสู้ไปเรื่อยๆ อย่างนี้

โยม : คือไม่ต้องไป

หลวงพ่อ : ไม่ต้องไปซีเรียส

โยม : ไม่ต้องไปคาดหวัง ไม่ต้องไปคิดว่านี่น้อยนี่มากนี่อะไร

หลวงพ่อ : ถ้ามึงคาดหวังนะมึงตาย นั่นล่ะกิเลส กิเลสอีกตัวหนึ่งมันตัดหัวมึง

โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : ฉะนั้น นี่พอเวลาที่มันเคลื่อนไปมันอะไรไปนี่ พอจะว่าปัญญามันออกนี่ มันออกไปพิจารณาปั๊บ ถ้ากำลังมันทำหน้าที่มัน.. มันปล่อยนี่เขาจะเรียกตทังคปหาน มันยังไม่ฆ่ากิเลสหรอก มันฝึกฝนของมันเรื่อยๆ จนมันชำนาญ อย่างที่ว่าที่เป็นกลางเป็นกลางนี่ มรรคสามัคคี เป็นกลางคือมรรคสามัคคี มรรค ๘ มันรวมตัวกันอย่างไร แล้วสมุจเฉทปหาน กิเลสขาดอย่างไร นี่ก็เป็นกลาง

โยม : อ๋อ..นั่นคือกลางจริงๆ

หลวงพ่อ : ใช่ มันไปกลางอยู่นู้น มันไม่กลางตรงนี้หรอก ไอ้นี่กลางแบบพันธมิตรนี่ กลางไม่เอาไหนไง กลางไม่รับรู้เลยไง คือใครชนะกูเข้าด้วย

โยม : อ๋อ.. เหมือนกับว่าโดนลวงอยู่ เหมือนกับลักษณะว่ากิเลสมันยัง

หลวงพ่อ : ใช่

โยม : มันเป็นความสงบ แต่มันเป็นสงบที่ไม่ใช่

หลวงพ่อ : ใช่ เป็นความสงบ ความสงบที่มัน เขาเรียกขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ ทีนี้พอสงบอย่างนี้ปั๊บนี่นะ มันก็เหมือนกับ เราเปรียบเหมือนรีไซเคิลน้ำ เวลาเราพูดอธิบายให้โยมฟังนี่ ว่าการทำความสงบของจิตนี่ จิตเหมือนน้ำเสีย น้ำเสียนี่พอเวลาเราเติมออกซิเจนแล้วเราปั่นมันนี่ มันก็จะดีขึ้นนิดหน่อย ถ้ามันนิดหน่อยปั๊บ มันดีขึ้นมาเราก็หยุด น้ำมันสะอาดไปไม่ได้

ฉะนั้น ถ้าจะให้น้ำนี่เป็นน้ำดีนี่ เราต้องปั่น เราต้องเติมออกซิเจน เราต้องกวนต้องทำให้ของเสียมันตกตะกอน แล้วให้เป็นน้ำดีให้ได้ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่มันไปปั่น แล้วพอปั่นได้หน่อยเดียวก็หยุด ว่างๆ ว่างๆ นั่นล่ะ

โยม : อ๋อ..แล้วเราก็มาสงบอยู่กับความว่างอย่างนี้หรือ

หลวงพ่อ : ใช่ แล้วน้ำมันจะสะอาดขึ้นมาได้ไหม ฉะนั้นหน้าที่ของเรา มันไม่ใช่หน้าที่ของเราว่าจะให้น้ำเสียน้ำดี หรือเป็นน้ำเสียหรือน้ำดีเมื่อไร หน้าที่ของเราคือปั่นน้ำอย่างเดียว น้ำจะเสียหรือน้ำจะดีขึ้นมา มันอยู่ที่คุณภาพของน้ำ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ จิตมันสงบ มันเป็นสภาพของจิต ไม่ได้เกี่ยวกับหน้าที่ของมึงเว้ย

โยม : ไม่ต้องไปหวงอารมณ์ ไม่ต้องไป

หลวงพ่อ : ทั้งนั้น ! ทั้งนั้น ! ทั้งนั้นเลย ! ไอ้นี่..น้ำนี่สะอาดแล้วเนาะ อีกสองรอบสะอาดเนาะ เวรกรรมมันไม่สะอาดหรอก ไม่สะอาดหรอกเพราะมึงคาดหมายเอง

โยม : มันเหมือนว่าถูกลวงอยู่

หลวงพ่อ : นี่ ตรงนี้ๆ แล้วตรงนี้ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บนี่มันต้องอยู่ที่นี่ อยู่ที่ว่าเรานี่ อยู่ที่เรานี่จิตใต้สำนึก จิตใต้สำนึกเรานี่ เวลาพูดธรรมะกันนี่เป็นธรรมะพระพุทธเจ้า แต่จิตใต้สำนึกนี่มันก็รู้ครึ่งกึ่งๆ คือมันก็มีความสงสัยอยู่ข้างใน อันนี้ก็เหมือนกัน พุทโธนี่ก็กึ่งๆ ละล้าละลังอยู่ข้างใน เราถึงทุ่มไปหมดเลยไง

โยม : ครับ เพราะว่า คือผมก็พยายาม พยายามจะทำความรู้จักกับกิเลสเราว่า จริงๆ แล้วมันอาจจะเป็นเพราะเราเสียดายความสงบนี้ อะไรอย่างนี้

หลวงพ่อ : แน่นอน ใช่

โยม : เราก็จะไปน้อมให้มันสงบ แล้วก็ค่อยๆ เข้าไปดูความเปลี่ยนแปลงในตัวที่

หลวงพ่อ : แล้วความสงบนี่นะมันกึ่งๆ มันจะมีความสงบๆ จริงๆ มันด้วย แล้วก็มีเราสร้างด้วยรวมกัน มันเลยไม่จริง

โยม : เพราะว่าบางทีมันก็เป็นอะไรที่

หลวงพ่อ : มันกึ่งไง มันกึ่ง มันถึงไม่สงบ มันไม่สงบเพราะอะไร เพราะเราพุทโธอยู่ แต่จะให้ลึกกว่านั้นมันก็ไม่ไป เพราะอะไร เพราะว่ามันสร้างขึ้นมา

โยม : มันเหมือนมันไปต่อ มันจะไม่ต่อ แล้วเราทำความพยายามทำ มันอยู่ได้ อยู่ได้ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมงก็อยู่ได้ คืออยู่ไปแล้วไม่มี มันเหมือนกับไม่มี

หลวงพ่อ : ครูบาอาจารย์เราบอกว่านี่แช่ไว้ไง ไปแช่ไว้เฉยๆ แล้วเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา ถ้าไปแช่แล้วเราไปแช่เอง เหมือนเราเอาของไปแช่น้ำไว้ แต่เราไม่ทำความสะอาดมัน นี่ก็เหมือนกันเราไม่กำหนดพุทโธยัดเข้าไปอีก

พุทโธนี่นะเวลาเราพูดกับโยมนี่ เราอธิบายนี่ พุทโธนี่เป็นกระดานหก พุทโธ พุทโธนี่เหมือนกระดานหก หกจากจิต จิตปกติเข้าเป็นสมาธิ แต่เราพุทโธเราไม่ยอมกระดกเข้าไปนี่ พุทโธ พุทโธกึ่ง โอ๋ย..พอแล้ว พุทโธ พุทโธ พุทโธพอแล้ว โอ๋ย..เวรกรรมฉิบหาย อัดแม่งเข้าไปเลย พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันพรวดเข้าไปเลยนะ สักหนสองหน อ๋อ..

ส่วนใหญ่นี่ ๑. โดยหลักเป็นอย่างนี้ ๒. คนเรานี่จิตใจอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง ไม่ต่อสู้กับมัน คนเรานี่วุฒิภาวะของจิตสำคัญมากนะ เราพูดบ่อย เวลาคนนี่บอกทำสมาธิ แล้วไม่ค่อยได้สมาธินี่ เราบอกว่า เอ็งนี่หวังแต่สมาธิกัน อยากได้สมาธิกัน ต้นไม้ไม่ได้ปลูกเลยอยากกินทุเรียน คนจะกินทุเรียนนะ เขาต้องเอาเมล็ดทุเรียนไปเพาะนะเว้ย แล้วก็ดูแลต้นมันกว่าต้นมันจะโตขึ้นมานะ ทุเรียนมันจะไปออกที่ปลายต้นนั่นล่ะ

เราจะปฏิบัติทำสมาธิกันนี่ เราต้องกลับมาดูเราด้วยว่า ความสภาพร่างกายของเรานี่ อาหารการกินทุกอย่างนี่มันต้องดูตรงนั้นด้วย ทำไมเราต้องถือศีล ๘ มันไม่มีอาหารเย็น ถ้าอาหารเย็นนี่ทำให้กระเพาะนี่เต็มเลย พุทโธ พุทโธ สลับง่วงนอนไป ถ้าตรงนี้มาช่วยนี่ การภาวนามันจะดีขึ้น ศีล สมาธิ ปัญญา เราเอาแต่สมาธิ สมาธิ ศีลคือการดำรงชีวิตปกติเรา

โยม : ต้องมีตรงนั้นเข้ามาด้วย

หลวงพ่อ : ใช่ ก็ต้องกลับมาดูตรงนี้ด้วยไง ถ้ากลับมาดูตรงนี้ด้วยนี่ ถ้าจะกินพระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว อาหารอย่างเบา ผัก อาหารอย่างกลางผสมกัน อาหารอย่างหนักก็คือพวกเนื้อสัตว์ ถ้าจำเป็นต้องกิน เราก็กินแต่ผัก เขี่ยๆ เอา คืออย่าให้มัน แบบว่าร่างกายนี่พลังงานมันเหลือใช้ไง ทำไมพระอดอาหารกันทำไม อดอาหารไม่ได้ฆ่ากิเลสนะมึง อดอาหารนี่หิวฉิบหายเลย แต่อดอาหารนี่ท้องนี่โล่งเลยนะ เราอดอาหารบ่อย อดอาหารเพราะอดอาหารนานๆ ไปนี่ เหมือนคนฟื้นไข้ สมมุติเราเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วหายนี่ เป็นอย่างนั้นเลย เบา แล้วพอจะมาภาวนามันก็มีโอกาส

อดอาหาร อดอาหารบ่อยๆ นี่ เหมือนกับคนไข้นี่ เราอดอาหารยาว แล้วพอมาฉันแล้ว มันจะเหมือนเราฟื้นจากไข้ คนฟื้นจากไข้เขาต้องบำรุง เพราะว่าพลังงานมันจะใช้ไปหมด อดอาหารนานๆ จะเป็นอย่างนั้นเลย ร่างกายจะเป็นเหมือนคนไข้ เบา นี่ไอ้ตัวนั้นปั๊บนี่มันทำให้จิตใจมันมีทางออกได้มากขึ้น

โยม : มันต้องอาศัยปัจจัย ส่วนประกอบ

หลวงพ่อ : ใช่ ส่วนประกอบตรงนี้ แล้วเราแนะนำไปนะ หลายคนบอกดีขึ้น ดีขึ้นมากเลย แต่ถ้าเราไม่ได้คิดถึงไง เราก็คิดว่ามันก็ธรรมดา ก็กินธรรมดา แต่คิดธรรมดาแล้วทำไมไม่ได้ผลล่ะ ทำไมมันไม่ดีขึ้นล่ะ มันก็จะต้องมีเทคนิค มีอุบาย มีการต่อสู้กับมันไง ต่อสู้กับกิเลสของเรา

โยม : อาจจะไม่ต้องแบบว่าเวลานี้ เวลานี้ ไม่จำเป็นอย่างนั้น

หลวงพ่อ : ใช่ เราก็ดูความเหมาะสม

โยม : อยู่ที่จังหวะมัน แต่บางทีมันเหมือนไอ้ความอยาก ไอ้อารมณ์ที่จะทำ มันเหมือนบางทีมัน พรึ่บ ! ขึ้นมาอยากจะมา บางทีมันก็อะไรก็ไม่รู้ บางทีมันก็

หลวงพ่อ : ต้องค่อยๆ ดูไป

โยม : แต่ก็พยายาม พยายามไม่โกงตัวเองว่า เอ๊ะ..เป็นยังนี้ยังไง มันก็ผลก็ยังแบบ มันแค่เบาลงบ้าง

หลวงพ่อ : ดี

โยม : แต่เราก็รู้ตัวอยู่ว่ามันไม่ใช่ มันยังไม่ใช่

หลวงพ่อ : ใช่ ในวงพระปฏิบัติเรานี่ พระปฏิบัติที่ได้ผลได้ผล ทำไมเขายังต้องสู้กันเลย ไอ้นี่มันอยู่ที่วาสนา วาสนาของคนนี่ ถ้าวาสนาคนมันดีนี่มันมีปฏิภาณไง คนมีปฏิภาณนี่มันต้องตรวจสอบไง ไอ้นี่คืออะไร นี่คืออะไร แต่ถ้าคนจิตใจอ่อนแอนะ พออะไรเกิดขึ้นมานะ โธ่ ! เยอะมากเลยนะที่ปฏิบัติกันนี่ พอถ้าไป จิ่มๆ นะ พระอรหันต์หมดแล้ว เชื่อกันไปเอง อะไรกันไปเอง เรามันอ่อนแอเกินไป จิตใจมันอ่อนแอเกินไปไง ไม่เคยทำอะไรเลย พอได้ผลอะไรขึ้นมาหน่อยก็คิดว่าใช่แล้ว

แต่ถ้าเรามีวาสนา เรายังตรวจสอบนะ เฮ้ย..ใช่หรือเปล่าวะ ถ้าว่าใช่หรือเปล่าวะ ไม่ใช่แล้ว เพราะมันสงสัย แต่ถ้าเป็นความจริงนะ โอ้โฮ..มันมหัศจรรย์ต่อหน้าเลยล่ะ มันชัดเจนมาก

โยม : ผมก็เลยจะได้ หมายถึงว่าง่ายๆ ไม่อยากเสียเวลา ถ้าเอาที่มานี่ ก็คือจะได้ไปปรับเอาตัวตรงๆ

หลวงพ่อ : ใช่ ไอ้ตัวสมาธินี่ จริงอยู่โดยหลักสมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้ โดยหลักนี่ เพราะคำนี้บอกสมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้ คนก็เลยไม่เห็นคุณค่าของมัน สมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้นะ แต่แบงก์นี่ใครกินได้ กระดาษใครกินได้วะ กระดาษกินไม่ได้หรอก แต่กระดาษมันซื้อของกินได้ สมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้ แต่ถ้ามึงไม่มีสมาธิ ปัญญา ภาวนามยปัญญาเกิดไม่ได้ กล้ายืนยันเลย

ถ้ามึงไม่มีสมาธินะ ปัญญาที่เกิดขึ้นมาที่มึงว่าเก่งฉลาดขนาดไหนนะ เขาเรียกโลกียปัญญา คือปัญญาของกิเลส ปัญญาโดยภวาสวะ ปัญญาโดยภพ ปัญญาโดยอวิชชา เพราะจิตเป็นอวิชชา ความคิดเกิดจากจิต ในเมื่อตัวจิตเรามีอวิชชาอยู่นี่ ความคิดทั้งหมดที่เกิดจากมันนี่กิเลสทั้งนั้นเลย แม้คิดเรื่องนิพพานก็กิเลส เพราะกิเลสมันคิดนิพพาน

โยม : ตัวนี้พอดี มันอาจจะที่..เดี๋ยวมันก็จะมีตัวแทรก

หลวงพ่อ : ใช่ แต่ถ้าพอมันสงบนี่ กิเลสไม่ขาดหรอก แต่ถ้าพอสงบปั๊บนี่ สงบคืออะไร สงบคือตัวตนเรายุบตัวลง สงบคือสิ่งที่สัญชาตญาณดิบของเรานี่มันยุบลง นี้มันก็เป็นสากล คือจิตว่าง คือจิตเป็นสมาธิ ทีนี้พอสมาธินี่ จิตที่มันว่างนี่มันไม่มีสิ่งเจือปนนี่ ถ้ามันคิดธรรมะหรือว่ามันใช้ประยุกต์ไปนี่ มันสะอาดชั่วคราว ชั่วคราวคือว่าถ้าสมาธิมีอยู่นะ แต่พอใช้ปัญญาบ่อยๆ ครั้งเข้า พอกิเลสมันคลายตัวออกมานี่ มันมีสิ่งเจือปนแล้ว พอสิ่งเจือปนปั๊บ มันก็มีเราเข้าไปบวกแล้ว มีความเห็นเราบวก ก็ต้องทำสมาธิกดมันลงไปอีก นี้การใช้ปัญญานี่ มันไม่ใช่ใช้ได้ตลอดนะ

โยม : ใช่ครับ มันจะมีกำลังตอนที่มันสงบแล้ว ผมเคยเห็นตอนที่ฟังซีดีหลวงพ่อ แล้วลองพิจารณาดู มันจะไปเห็นชัดตัวเวลาที่ ใช้สักระยะหนึ่งที่เราดิ่งกำหนดไป มันเริ่มแบบ

หลวงพ่อ : นั่นล่ะให้ฝึกอย่างนั้นล่ะ ถ้าฝึกอย่างนั้น ทำอย่างนั้นไปเรื่อยๆ นะ จิตมันจะละเอียดไปเรื่อยๆ แล้วมันก็กลับมาเป็นสมาธิ ถ้าฝึกอย่างนั้นถูกต้องเลย ถ้าจิตมันดีแล้ว นี่ประสาเราบอก ไม่จำเป็นต้องพุทโธจนจิตสงบดิ่งแล้วค่อยมาพิจารณา ถ้ามันเบื่อหรือว่ามันมีกำลังนี่ พิจารณาไปเรื่อยๆ พอพิจารณาไปเรื่อยๆ มันก็ส่งกลับมาที่สมาธินี่แหละ ส่งกลับมาที่สมาธิทำได้ง่ายขึ้น เพราะเรามีเหตุมีผล เหมือนนักมวยนี่ ถ้ามันผ่านการต่อสู้มาหลายเกมนี่ มันอ่านคู่ต่อสู้ออกแล้วนะ

นี่ก็เหมือนกัน จิตที่มันได้พิจารณาแล้วนะ มันอ่านกิเลสออกแล้วนะ แต่เมื่อก่อน โอ้โฮ..ไม่รู้จักใครเลย ขึ้นไปนี่หน้าบวมตลอดเลย แต่พอเท่าทันมันแล้ว มีโอกาสแล้ว นี่อุบายนี่ ครูบาอาจารย์ท่านสอนบอกว่า ไม่ใช่ทำแบบซื่อบื้อ ไม่ใช่ทำแบบไม่ใช้ปัญญาเลย เราก็ต้องใช้ปัญญาของเรา ก็เทียบเคียงไง โอกาสนี้ได้อย่างนี้ โอกาสนี้ได้อย่างนี้ โอกาสนี้แพ้หมดเลย โอกาสนี้หมดเนื้อหมดตัวเลย มันก็ต้อง การปฏิบัติบางวันก็ได้ บางวันก็ไม่ได้

โยม : ใช่ มันก็บางทีก็เฉยๆ เฉยๆ นิ่งๆ บางทีมันก็แล่นเหมือนกัน

หลวงพ่อ : ใช่ แต่ห้ามถอย ถ้าพอเฉยๆ หรือว่าถอยแล้วนี่ พอถอยแล้วนะ แบบว่าพอลง จุดยืนเราเซนะ กรูด ! กรูด ! เลย

โยม : บางทีแล้วผมมาดู เอ๊ะทำไมเรา อยู่ดีๆ เป็นกังวล เอ๊ะ..กังวลไอ้บางอย่างข้างนอกที่มัน เอ๊ะ.. อยู่ดีๆ กังวล ทำไมกังวลเยอะจัง ต้องมาค่อยๆ ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ ทำไปก็เพื่อจะคลายออก พอคลายไปได้บ้าง แล้วมันงง ทำไมมันไม่สนใจอะไรเลย เหมือนกับดีก็ไม่สนใจ จะทำอะไรเราก็ไม่สนใจอะไร

หลวงพ่อ : ถ้าจิตเป็นหลักนั่นเรียกเอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น ถ้าจิตมั่นคงนี่มันไม่เอนเอียง ถ้าจิตอ่อนมันไหล ถ้าจิตมีหลักเขาเรียกเอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น ทำความสงบบ่อยครั้งเข้า ทำสมาธิบ่อยๆ บ่อยๆ

โยม : มันต่างกัน มันไม่ได้เหมือนตอนที่น้อมตั้งใจจะทำ แต่มัน

หลวงพ่อ : นั่นคือเนื้อหาสาระข้อเท็จจริง ตั้งใจจะทำอะไรนี่เรามีส่วนร่วม

โยม : อ๋อ.. คือถ้าอารมณ์ไม่ คือให้เราไปสังเกตตัวอย่างนั้นใช่ไหมครับว่า..

หลวงพ่อ : ใช่ นั่นข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนั้น แต่เวลาจะให้เป็นอย่างนั้นไม่เป็น

โยม : แต่มันเหมือนกับ มันก็บอกไม่ถูกนะครับ แต่ว่ามัน

หลวงพ่อ : ใช่ บอกไม่ถูกเพราะอะไรรู้ไหม บอกไม่ถูกเพราะยังไม่ชำนาญ ยังคุมไม่ได้ พอทำชำนาญแล้วนะ มันจะไปจุดๆ นั้นล่ะ

โยม : อ๋อ.. ไปอยู่จุดตรงนั้น

หลวงพ่อ : ใช่ ไปอยู่จุดตรงนั้นเพราะอะไร เพราะว่าสติมันพร้อมทุกอย่างพร้อม สติพร้อมทุกอย่างพร้อม มันเจอจุดตรงนี้แล้ว นี่ข้อเท็จจริงของมัน เหมือนกับเงินนี่ ลูกขอเงินพ่อแม่ พ่อแม่ให้เท่าไรก็ได้ แต่ไปหาเงินเอง แม่งทุกข์ฉิบหายเลย เอาอารมณ์ที่เป็นจริง กับที่เราจะหาอารมณ์ที่เป็นจริง เอาอารมณ์ที่เป็นจริงแล้วเป็นอย่างนั้น แต่เรายังทำไม่ได้

โยม : มันมาเป็นชั้นเป็นตอนมา

หลวงพ่อ : ใช่ แต่ถ้าเราจะทำ เราจะทำให้ได้ที่เป็นจริง

โยม : พอดี ปกติมันอยู่ที่จะกระทำให้มันเป็นจริง

หลวงพ่อ : ใช่ ทีนี้ความเป็นจริงนี่ ความเป็นจริงนี้มันอยู่ที่ไหน เวลาเราพูดกับพวกโยมนี่นะ เราพูดให้กำลังใจไง ทุกคนบอกทำความสงบ ความสงบแล้วมันเสื่อมนี่ เราบอกเลยนะ ใหม่ๆ นี่ทำความสงบนี่มันเสื่อมมันทุกข์เยอะน่าดูเลย แต่ถ้าเราทำมีความชำนาญนะ มันอยู่กับเหตุนี่ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเรามีความชำนาญแล้วนะ โทษนะ สมาธิถีบแม่งก็ไม่ไป อยู่กับมึงนั่นแหละ แต่ถ้าเวลาเราอยากได้นะ มึงไปหาสมาธินะ มึงเสื่อมหมดแหละ มึงไม่มีสมาธิหรอก

คือเราไปรักษาที่สมาธิไง เราไม่รักษาที่เหตุไง เหตุคือสติคือคำบริกรรมนี่ไง ถ้ามึงอยู่กับพุทโธ อยู่กับสติ อยู่กับคำบริกรรมนะ อยู่อย่างนี้ตลอดไปนะ สมาธิเสื่อมกูให้เตะ แต่เรากำหนดพุทโธ พุทโธสักพักหนึ่งนะ โอ๋ย..สมาธิ วิ่งไปอยู่กับสมาธิไง มันใช้แต่เงินไม่หาเงินนะ เดี๋ยวก็จบ

โยม : อย่างนี้ตอนถ้าจะเป็นอารมณ์แบบนั้นคือเราดูเฉยๆ เราก็ดูไป ไม่ต้องไปหวง ไม่ต้องอะไร ไม่ต้องไปรักษาหรืออะไร

หลวงพ่อ : ใช่ ไม่ต้องหวง ไม่ต้อง ถ้าไปหวงไปห่วงนั่นเสร็จหมด แต่เวลาถ้ามันนึกพุทโธไม่ได้เราก็อยู่กับมัน เพราะทำไมเวลาจิตมันเป็นอย่างนั้นแล้วนี่ มันนึกพุทโธไม่ได้เราอยู่กับเขา คือหลวงตาบอกว่าถ้ามันสงบก็อยู่กับสงบ อยู่กับผู้รู้ อยู่กับสติไม่เสียหาย แต่ถ้ามันเคลื่อนออกมาให้ยัดพุทโธเลย มันเคลื่อนเมื่อไรถึงมานึกพุทโธได้ไง ถ้าเข้าอย่างนั้นแล้วนึกพุทโธไม่ได้นะ

โยม : คือไอ้อารมณ์ที่มัน มันเป็นอารมณ์ใช่หรือเปล่าครับหลวงพ่อ ไม่ใช่ตัวจิตใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : เออ.. ตัวจิต ตัวจิต นั่นล่ะตัวเนื้อมันเลยล่ะ นี่พอมันเคลื่อนออกมา เพราะตามสัญชาตญาณของมนุษย์เห็นไหมที่ว่าเป็นสอง เห็นไหม มีจิตกับมีความคิดนี่ ถ้ามันเคลื่อนออกมาเป็นสัญญาอารมณ์ เราก็ยัดเข้าไปอีก พุทโธ พุทโธเพราะอะไร เพราะมันออกมาจากมันนั่นแหละ ออกมาจากมันเพราะอะไร เพราะเราตั้งใจใช่ไหม ออกมาก็พุทโธ พุทโธ พอเข้าเป็นเนื้อเดียวกันแล้วมันก็สงบ

แต่มันอยู่ไม่ได้ มันอยู่ไม่ได้เพราะอะไร เพราะโดยเราเป็นมนุษย์นี่ สัญชาตญาณมันมีอยู่แล้ว ของมันมีอยู่เอ็งจะปฏิเสธไม่ได้ใช่ไหม แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธ ธรรมะไง นี่เหตุไง เราตั้งเหตุปัจจัยมันเป็นอย่างนี้ไง แต่ถ้าเราไม่สร้างอันนี้เลย ไม่มีอันนี้เลยมันก็ธรรมชาติของมันไง คือพลังงานก็คือพลังงาน เราไม่เคยเห็นจิตกันเลย เรามีแต่ความคิด

แต่ที่เราเกิดมาในพุทธศาสนา พุทธศาสนาพระพุทธเจ้าสอน นี่เห็นไหมทำความสงบของใจเราทำกันมา รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง เวลาเราสัมผัสเราก็สัมผัสรสของธรรมไง แต่มันอยู่ไม่ได้ใช่ไหมรสของธรรม แต่ตัวยังไม่เป็นธรรม ถ้าตัวเป็นธรรมแล้วนี่มันอยู่ได้

โยม : อ๋อ.. ก็คือมันจะไม่คลายจากตัวนั้น

หลวงพ่อ : ใช่ ถ้าตัวเป็นธรรมนี่

โยม : บางทีมันก็แปลก แปลกแต่ว่าจะว่ามันสงสัยมันก็ไม่ได้สงสัย แต่มันก็คือ เอ๊ะ..มันคืออะไร

หลวงพ่อ : มันไม่สงสัย เพียงแต่ว่าเรายังไม่เข้าใจกระบวนการทั้งหมดไง แต่ตัวเรา เพราะวิปัสสนานี่คือเข้าไปเห็นกระบวนการทั้งหมด ทำลายทั้งหมด เห็นทั้งหมดไง เห็นการเกิดการตั้งอยู่และการดับไป มันเป็นเพราะเหตุใด แล้วมีใครเป็นคนยุคนแหย่ ธรรมชาติเป็นอย่างนั้น แต่มีกิเลสเราไปยุไปแหย่ด้วย เพราะอะไร

ถ้าธรรมชาติเป็นอย่างนั้น ขนาดพระอรหันต์นะ เวลากิเลสตายแล้วนะ ภารา หเว ปัญจัก ขันธา พระพุทธเจ้าไง ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ กับธาตุ ๔ เป็นภาระ ภาระ ภารา หเว ภาระ ภาระคือขันธ์ ๕ แต่พวกเรานี่ไม่ใช่ภาระในขันธ์ ๕ เพราะขันธ์ ๕ เป็นมารไง ความคิดเราเป็นมาร ความทุกข์ไปหมดเลย เพราะอะไร เพราะกิเลสมันยุแหย่ แต่ถ้ากิเลสขาดตูมนี่เห็นไหม

มันเป็นภาระเฉยๆ อย่างครูบาอาจารย์นี่ท่านอยู่ของท่านนี่ มันไม่กวนใจ ใจก็คือใจ ร่างกายก็คือร่างกาย ไม่เกี่ยวกัน แต่ของเรานี่มันมั่วกันไปหมดเลย

โยม : คือว่าถ้ากลัว กลัวจะตายไหม ลองมาทีเดียว เออมันก็ยัง

หลวงพ่อ : ไม่อยากตาย กลัว

โยม : พอออกมาสอบดูทีเดียวปั๊บ อืม.. นอกจากน้อมก่อน เออ..ไว้ใช้เอา ค่อยๆ หาเหตุผลไปเสร็จแล้ว ขามันก็เริ่มคลายบ้าง

หลวงพ่อ : ขนาดเราคิดนะ เมื่อตอนเราปฏิบัติ เรายังลุยปฏิบัติอยู่นี่ เราถามเลยบอก ตายแล้วมึงไปไหน มึงจะไปไหนต่อ เออ เราถามตัวเองเลยล่ะ ต้องตรวจสอบตัวเอง เราก็ตรวจสอบตัวเองเรามาตลอด ตายแล้วมึงจะไปไหนนี่ มานี่เป็นคนแล้วตายแล้วไปไหน มันยังมีมึงหรือเปล่า ก็งงนะ มันก็ยังงงนะ เอ๊ะแล้วกูจะไปไหน กูจะอยู่อย่างไร กูไม่รู้เรื่องนะ แต่ถ้ามันปฏิบัติไป ปฏิบัติไปแล้วมันตัดไปเรื่อยๆ เหมือนปอกหอม ปอกกระเทียมนี่ ปอกไปจนไม่มีอะไรเลยนี่ แล้วมึงไปไหนล่ะ มึงจะไปไหน มันรู้อยู่เต็มหัวอกมึงนี่แหละ มึงจะไปไหน

โยม : ก็ไม่มาไม่ไปแล้วใช่ไหม

หลวงพ่อ : แต่ถ้ายังไม่รู้นี่มึงงงนะ กูก็ยังงงอยู่เลย เอ๊ะกูจะไปไหนนี่

โยม : บางทีไปใส่ในความคิดเข้าไปแบบนั้นก็งง

หลวงพ่อ : อย่างที่โยมพูดคำว่าตรวจสอบ เราก็ตรวจสอบตัวเอง เวลาปฏิบัติไปเราจะถามตัวเอง ถามตลอด มึงรู้อะไรบ้าง มึงทำได้แค่ไหน ตายแล้วมึงจะไปไหน บางทีเวลาปฏิบัติไป มันไม่มีงานทำนี่ถามเลยว่า มึงมาจากไหน บางทีมันไม่มีอะไรทำนะ มันว่างหมดเลย จิตนี้มาจากไหน จิตอยู่ที่ไหน

ฉะนั้นเราถึงถามพวกโยมบ่อย เวลามาเราจะถามว่าโยมเกิดจากใคร ทุกคนบอกเกิดจากท้องแม่ ตรงนั้นมันวิทยาศาสตร์ ทุกคนบอกวิทยาศาสตร์ว่าเกิดจากท้องแม่ แต่ความจริงนี่ เราบอกเลยนะ ปฏิสนธิจิตนี่เกิดในไข่ของแม่ แล้วเวลาแม่มีประจำเดือนที่มันไม่มีเพศสัมพันธ์นี่ แม่ขับไข่ทิ้งไปเท่าไร ทำไมไข่ตัวนั้นมันไม่มาเกิดเป็นคนล่ะ ปฏิสนธิจิตคือกรรมของเราต่างหากที่มาเกิด เพราะเรามีกรรมดีกรรมชั่ว เราถึงมาปฏิสนธิในไข่นั้น นี่เราเกิดจากกรรมดีกรรมชั่วเราเองไง แต่เวลาเกิดโดยวิทยาศาสตร์ ใช่เกิดจากแม่

นี่โอ้โฮ..เราค้นนะ เราดูของเรา เราค้นฉิบหายเลยบอกจิตนี้มาจากไหน ทีแรกมันไม่ยอมไง พอทำไปทำมาไปนี่ เอ๊ะ จะไปไหนก็ไม่กล้าไป อย่างที่โยมเป็นนี่แหละ ว่างๆ ว่างๆ นี่แหละ แต่ว่างๆ ข้างในแล้วนะ ว่างๆ อยู่มันไม่ไปไหนแล้ว แหม..มันไม่เขยื้อนไปไหน ถามเลยแล้วมึงมาจากไหน ค้นเลยล่ะ สาวใหญ่ สาวสาว

นี่เวลาปฏิบัติมันต้องมีตรงนี้ คือพระพุทธเจ้าบอกปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน ถ้าเราเป็นอะไรขึ้นมาเราจะรู้ก่อนเพื่อน พอรู้เสร็จแล้วเราไปถามครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านบอกเออใช่หรือไม่ใช่เท่านั้นเอง ไม่มีครูบาอาจารย์คนไหนทำให้เรา หรือสอนเราให้ไปได้หรอก ถ้าเราไม่ทำ นั่งดูเขากินข้าว อีกชาติหนึ่งมึงก็ไม่ได้อิ่มหรอก มึงต้องตักข้าวใส่ปาก เผ็ดหรือร้อนหรือเค็มนี่มึงก็ต้องปรุงแต่งของมึงเองแล้ว

หลวงพ่อ : ยังดีนะที่โยมปฏิบัตินี่ โยมเคยมาแล้วหนหนึ่งหรือ

โยม : ใช่ครับ

หลวงพ่อ : ตอนนั้นมาคุยนี่เหรอ เราเพิ่งแนะ

โยม : ก็ใช่ครับ มาครั้งหนึ่งแล้วหลวงพ่อให้ซีดีไป แล้วก็ฟังกันจนหมดเปลือกเลย ก็พยายามแกะๆ กัน แกะแล้วก็เอาไปทำดู เพราะว่าก็พยายามที่อยากจะทำให้มันเคลียร์ให้ได้

หลวงพ่อ : มันจะเคลียร์ได้ด้วยการปฏิบัติของเรา การฟังนี่มันเป็น.. เราฟังครูบาอาจารย์มาเยอะ การฟังนี่มันเป็นการตั้งประเด็น เหมือนเราทำอะไรนี่เราไม่มีประเด็น ไม่มีอะไรที่จะเป็นจุดหนักจุดเบา ถ้าฟังแล้วนี่เอาตรงนั้นเป็นจุด แล้วเราคิดตามไป คิดตาม มันจะเหมือนกับว่า

หลวงตาจะพูดอย่างนี้ว่าหลวงปู่มั่นบอกว่า จากใจดวงหนึ่งสู่ใจอีกดวงหนึ่ง ประสบการณ์ของจิตดวงนั้นทำมาแล้วใช่ไหม แล้วเราพยายามจะทำตาม ถ้าเรารู้จริงขึ้นมาก็จากใจดวงหนึ่งสู่ใจอีกดวงหนึ่งเลยล่ะ

โยม : ขออนุญาตครับ เพราะว่า คือก็อย่างนี้ก็คือได้อ่าน คือได้อ่านของหลวงปู่ดูลย์ ก็พยายามที่จะดูกาย และก็พยายาม แต่ผมก็พยายามที่ให้เป็นกลาง

หลวงพ่อ : หลวงปู่ดูลย์เหรอ

โยม : คือคิดว่าเราเข้าข้างตัวเอง

หลวงพ่อ : ใช่ หลวงปู่ดูลย์ท่านพูด หลวงปู่ดูลย์นี่มันเป็นประสบการณ์ของท่าน แล้วท่านพูดไว้นี่นะ ท่านพูดไว้เป็นหลัก แต่เราคนไปปฏิบัตินี่มันก็จะเป็นหลักของคนที่ปฏิบัตินั้นไง

ถ้าคน..อย่างเช่นเรานี่ เรานี่เป็นคนกินอาหารรสจัดมาก แล้วเราจะไปกินอาหารเหมือนคนที่กินอาหารรสจืดนี่ เรากินอาหารร่วมกันได้ไหม อีกคนหนึ่งนี่กินรสจืดใช่ไหม อีกคนหนึ่งกินเผ็ดมากเลย แล้วเราเอาอาหารนี่จะมาให้กินร่วมกันนี่มันเป็นไปไม่ได้ เราจะบอกว่าหลวงปู่ดูลย์ท่านพูดของท่านนี่ถูก แต่เราไปปฏิบัตินี่ เรากินอาหารรสอะไร

โยม : มันก็รสของท่าน มันคือเข้าใจยากนะครับ เพราะว่า

หลวงพ่อ : มันต้องคนมีวาสนาพอสมควร เราทำอย่างนั้นปั๊บนี่ แล้วนี่โดย เช่นหลวงตาครูบาอาจารย์เรานี่ท่านเข้าใจเรื่องประชาชนไง เรื่องสังคมของชาวพุทธว่าคนเรามีวุฒิภาวะขนาดไหน ถ้าคนมีวุฒิภาวะขนาดไหนปั๊บ มันต้องสร้างพื้นฐานเบสิคขึ้นมาให้ได้ก่อน ถ้ามีเบสิคมา มีอะไรมานี่ มันจะไปได้ไง แต่ถ้าคนไม่มีพื้นฐานเลยนี่ มาอย่างนี้ เจออย่างนี้ปั๊บหงายท้องเลย ถ้าหงายท้องนะ ถ้ามันหงายท้องนะมันก็เคลมเลยว่ามันเป็น

โยม : เพราะว่ามันไม่ง่ายอย่างที่อ่าน แล้วเราจะไปตีความ

หลวงพ่อ : ไม่มีทาง ไม่มีทาง เพราะเหมือนกับคนทำมาหากินนี่ ทุกคนที่เป็นเศรษฐีนี่ ถามพวกเศรษฐีสิว่ามันทุกข์ยากมาขนาดไหน ผู้ปฏิบัติถ้าจะได้ธรรมมานี่ ฟากตายทั้งนั้นแหละ แล้วบอกว่าเรียบง่ายเรียบง่าย เรียบง่ายนั่นมันเป็นโวหาร เราดูในมหายานในเซนนี่ ลัดสั้นอะไรพวกนี่ เขาพูดให้กำลังใจไง แต่เวลาเขาปฏิบัติกันนี่ พวกเซนนี่เขาลงทุนลงแรงขนาดไหน แต่คำพูดเขาเป็นคำพูดอย่างนั้น

โยม : เราไปจับประเด็นเอา

หลวงพ่อ : ใช่ คำพูดคือบอกว่ามันมีอยู่ มันทำได้นี่ มันเป็นการพูดปลุกเร้าให้คนฮึกเหิมไง แต่เวลาทำ

โยม : ๕ นาทีผมก็เมื่อยแล้วครับ

หลวงพ่อ : มันเป็นไปได้ไหมล่ะ แต่มันเป็นโวหารไง มันเป็นการปลุกเร้า เป็นการเทศน์การสอน การให้กำลังใจ แล้วเขาทำจริงจังนะ ในมหายานเขาทำกันจริงจังมาก แต่นี่เราไปเอามาเป็นผลเลย อย่างเช่นหลวงปู่ดูลย์ท่านทำ ท่านก็ทำของท่านจริงจัง แล้วท่านไม่ให้ใครทำแบบว่า เอามาแบบสุกเอาเผากินไง แหม..คนหาเงินหาทองมาใช้จ่าย ไม่ปล่อยให้ใครมาทำอย่างนั้นหรอก

หลวงพ่อ : ถ้าอย่างนั้นก็วันนี้เคลียร์แล้วเนาะ เดี๋ยวเราให้ซีดีอีก

โยม : ผมก็จะเอาที่หลวงพ่อว่า คือกลับไปเอาฐานให้มันไอ้นี่เลย จะได้ไม่ต้องไป

หลวงพ่อ : ใช่ เอาตรงนี้ให้ดีๆ แล้วถ้ามันอย่างนี้ เอาให้ดีๆ แล้วนี่ ถ้ามันแบบว่ามันเครียด หรือมันมีความเครียดเราก็ใช้ปัญญาได้ เพราะปัญญาอันนั้นก็ผลตอบสนองขึ้นมาเพื่อให้สมถะมันคล่องตัวขึ้น ไม่ใช่วิปัสสนา ถ้าจับประเด็นนี้ได้ถูกแล้วไม่มีเสียเลย ที่มันเสียเพราะพอเวลาคนมันใช้ปัญญาแล้วบอกนี่วิปัสสนา แล้วบอกสมถะไม่มีปัญญา ไม่ใช่

หลวงปู่ชาพูดนี่ถูก ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ ท่านพูดบ่อย แต่นี่เวลาเราพูด เราพูดให้เห็นแบบว่าเป็นพวกสสาร เป็นกระบวนการเลยว่า อย่างนี้เป็นโลกียะ นี่เป็นโลกุตตร แต่ความจริงมันก็ปนกันนี่ มันปฏิเสธ เราแย้งไม่ได้หรอก เราปฏิเสธตัวเราไม่ได้หรอก เราปฏิเสธชีวิตเราไม่ได้หรอก ฉะนั้นเป็นโลกียะก็ให้มันเป็นโลกียะไปก่อน แต่ถ้ามึงโลกียะแล้วมึงคิดว่าเป็นโลกุตตรนะ มึงจะไม่พัฒนาเป็นโลกุตตรเหรอ

โยม : หลวงพ่อครับ แล้วตอนที่สงบ ตอนที่เราทำความสงบเข้าไปแล้วนี่ แล้วไอ้ที่มันวิ่งไป ตัวสัญญาพวกนี้เราก็ต้องไปพิจารณาตามมัน

หลวงพ่อ : ไม่ต้อง ถ้าสงบแล้วนะอยู่กับผู้รู้เฉยๆ ให้มันพักไง หลวงตาพูดอย่างนี้นะ ถ้าจิตมันเวลาเข้าไปพักแล้วนี่นะ อย่าไปกระตุ้นมัน อย่าไปกระตุกมันให้มันออก

โยม : แม้แต่มันวิ่ง มันวิ่ง มันอะไร อยู่ๆ

หลวงพ่อ : ใช่ นี่เราเปรียบเทียบให้ฟังก่อนไง ถ้าจิตมันลงแล้วนี่นะ จิตมันเป็นสมาธินี่ ต้องปล่อยไว้ ตั้งสติไว้เฉยๆ ให้มันได้รับผลของมัน แล้วมันคลายตัวออกมาเอง วันหลังปฏิบัติมันจะปฏิบัติง่าย แต่ถ้ามันสงบเข้าไปแล้วนี่ เรามีความอยากรู้อยากเห็นเลยไปกระตุ้นมันออกนี่ มันก็จะกระตุก กระตุกออกแล้วนี่มันจะเข็ด แล้ววันหลังจะเข้ายาก เหมือนคนมันเข็ดไง เหมือนคนมันแหยงมันเข็ดแล้วมันลำบาก

ฉะนั้นเวลามันสงบไปแล้วนี่ให้มันสงบไป ทีนี้ไอ้แสงที่มันมานี่ แสงหรืออะไรที่จะมาแล้วนี่ เราเปรียบบ่อยนะ เปรียบเทียบจิตนี่เหมือนรถ รถนี่ถ้าล้อไม่หมุนนะ เข็มไมล์จะขึ้นได้ไหม ไม่มีสิทธิ์เลย เข็มไมล์จะกระดิกต่อเมื่อล้อหมุนใช่ไหม จิตเป็นปกติมันไม่เห็นอะไรหรอก พอจิตมันสงบแล้วมันเห็นอย่างนี้

โยม : มันจะเห็นไอ้ตัวเหมือนกับ ตัวสัญญา และก็ตัวปรุง บางทีมันจะ ตัวลูกมันจะมา อย่างนี้ครับหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : ถ้าจิตเราสงบ ถ้าจิตเราสงบ เราอยู่กับที่ก็สงบ ถ้ามันแบบว่าจิตสงบ ฟังนะ ถ้าจิตเราสงบ คือร่างกายเราได้พักผ่อนแล้ว แล้วถ้ามันยังทำงานไม่ได้นี่ ถ้ามันมาแล้วเราก็บอก กูไม่เอามึง กูพักไว้ก่อน แล้วค่อยสงบไปก่อน แต่ถ้าจิตเรามีกำลังแล้ว ถ้ามันมาเราจับได้พิจารณาได้ เราก็ควรทำ มันต้องเทียบกำลังเราก่อน ถ้าเทียบกำลังเราได้ว่า นี่ถ้าสัญญามันมา เราเห็นสัญญา เราจับสัญญาได้พิจารณาได้ เราก็พิจารณา

ถ้าจับไม่ได้เห็นไหม เวลาภาวนาไปนี่คนภาวนาจะรู้ว่าถ้าพิจารณาไปแล้วนี่ มันพิจารณาแล้วปัญญามันแยกแยะไปนี่ นั่นล่ะคือสมาธิพอ ถ้าสมาธิไม่พอ เวลาจับอะไรไปแล้วนี่ มันคิดอะไรแล้วนี่มันยื้อกัน นั่นล่ะทิ้งเลย เห็นไหม ต้องทิ้งที่สัญญาเลย แล้วกลับมาทำความสงบของใจ มันเปรียบเทียบอย่างนี้ได้ แล้วเดินอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันจะละเอียดไปเรื่อยๆ นับตังค์นี่ นับมากขึ้นแบงก์มันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ เงินนี่ถ้าวางซ้ำๆ นี่มันจะเพิ่มมากขึ้น

การปฏิบัติ ทำซ้ำๆ ๆ เข้าไป เดี๋ยวมันจะชำนาญขึ้น ดีขึ้น เพียงแต่จับหลักนี้ไว้ จับหลักว่า ใช้สมาธิ ใช้ความสงบของใจ ใช้ปัญญา กลับมาที่ความสงบของใจ เราทำของเราไปเรื่อยๆ นะ ทำของเราไปเรื่อยๆ เห็นไหม เราเดินอยู่ทุกวันทุกวันนี่ เป้าหมายมันต้องถึง อะไรจะเกิดขึ้นนี่ ถ้าแสงเสิงอะไรต่างๆ หรืออะไรมานี่ ถ้ามีกำลังจับได้ก็เอา ถ้าจับไม่ได้ต้องทิ้งเลย

มีคนมาถามบ่อยว่า มีแสงมีเสิงมาแล้วต้องทำอย่างไรต่อ มันไม่ไหว หยุดแล้วกลับมาพุทโธ แค่นี้เหรอ เออแค่นี้แหละ แต่ถ้าคนไม่เข้าใจไม่มีครูบาอาจารย์สอน กว่ามันจะเข้าใจว่าอะไรผิดอะไรถูกนะ แม่งเหนื่อยไป ๒ ปี

โยม : แล้วมันจะ เดี๋ยวก็คิดว่าไปตามถูก บางทีเราไปตาม มันก็ไหลๆๆ ต่อๆๆๆ

หลวงพ่อ : นั่นแหละ แล้วก็ไปเสื่อม แล้วก็ไปทุกข์ แล้วก็ไปรับรู้ แล้วก็มาเทียบทีละหนสองหน มาเทียบแล้วเทียบอีก อะไรผิดอะไรถูกอยู่วะ งงเป็นไก่ตาแตก กว่าจะรู้ทีหนึ่งก็ โอ้โฮ..กินเวลาฉิบหายเลย มีครูบาอาจารย์ท่านพูดอย่างนี้ แล้วถ้าพูดแล้วไม่เชื่อก็ทดสอบ ทดสอบ

พระพุทธเจ้าบอกไม่ให้เชื่อ กาลามสูตรไม่ให้เชื่อใครเลย ให้เชื่อความจริงที่มันจะเกิดขึ้นมา แล้วทดสอบตรงนั้นเนาะ