จิตเป็นสากล
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ไอ้ถามเมื่อกี้นี้ก็อันเดียวกัน วันนี้สองคนถามเหมือนกันเลย เมื่อกี้ก็เหมือนกัน มันไอ้การปฏิบัตินี่ เวลาเราว่าเราปฏิบัตินะ เราตั้งใจปฏิบัติ นึกว่าปฏิบัติก็คือปฏิบัติ มันก็เหมือนกับทางวิทยาศาสตร์ ทางวิทยาศาสตร์นี่เวลาหมอรักษาคนไข้ มันก็ต้องตรวจโรคและเช็คโรคว่าเป็นอะไร แล้วหมอรักษาตามนั้น
ฉะนั้นเราก็คิดกันว่า เราปฏิบัตินี่ ถ้าเราเหมือนหมอ ถ้าเราเป็นคนไข้ไปหาหมอ หมอรักษาเราแล้วมันจะหาย แต่ความจริงมันไม่ใช่เป็นอย่างนั้นนะในการปฏิบัติ ในการปฏิบัติเพราะเราตั้งใจเห็นไหม อย่างเช่นที่เราบอกว่าเรากำหนดพุทโธ เวลาตั้งใจกำหนดพุทโธแล้ว กำหนดลมหายใจนี่ลมหายใจมันไม่มี
มันไม่มีไง ทั้งๆ ที่มันหายใจอยู่นี่มันไม่มี มันไม่มีเพราะอะไรล่ะ มันไม่มีเพราะว่าจิตนี่มันกังวล แล้วคำว่ากังวล ก็ไม่ได้กังวลนะ ผมก็ปกตินี่ เราก็คิดของเราอย่างนั้นนะ แต่เราไม่รู้หรอกว่าจิตใต้สำนึกนี่มันมี จิตใต้สำนึกนะ พอเราตั้งใจทำอะไรปั๊บ ดูอย่างการนั่งสมาธิ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ เวลาพุทโธนี่ เวลาเราว่ากำหนดพุทโธนี่นะ มันพุทโธลอยลม มันพุทโธผิวเผินกันไป มันไม่พุทโธออกมาจากจิตหรอก มันพุทโธออกมาจากปาก มันไม่ได้พุทโธออกมาจากใจ
นี่พอจะกำหนด ตรงนี้แค่ปรับพื้นที่ปรับฐาน เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญพอสมควร เราสังเกตอย่างนี้สิ สังเกตเวลาคนมาทำบุญ ถ้าบางคนศรัทธานะ เราเคยเห็นอยู่ที่หลวงตา อยู่ที่บ้านตาดนี่ตกใจนะ ถามว่ามาจากไหน มาจากนครสวรรค์ นี่หลวงตานี่สมัยก่อนท่านฉันข้าวนะ ในกระโถนนี่มันจะมี แบบว่ามีพวกน้ำสกปรกนี่ แล้วท่านบ้วนปากท่านแปรงฟันนี่ เป็นเสลดหมดเลยนะ เขามาถึงนี่เขายกกระโถนนั้นขึ้นดื่มเลยล่ะ
นี่เวลาคนศรัทธา ศรัทธาได้ขนาดนั้นนะ กระโถนที่เราบ้วนปาก เราแปรงฟันแล้วบ้วนปาก นี่ด้วยความศรัทธานะ ยกกระโถนขึ้นมาแล้วดื่มเลย นี่อย่างเราทำอย่างนั้นได้ไหม
เราจะบอกว่าเวลาคนมันศรัทธานี่นะมันศรัทธามาก แต่เวลาคนไม่ศรัทธานะ เห็นคนเขาศรัทธานะ ยังแปลกใจว่าคนศรัทธาทำอย่างนั้นได้อย่างไร นี่เราจะเทียบให้เห็นค่าของใจก่อน ให้เห็นความรู้สึกก่อนนะ ถ้าความรู้สึกของคนนี่มันแตกต่างหลากหลายอย่างนี้ ฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้ามีคนศรัทธามีความเชื่อนะ มีศรัทธานะมันแบบว่ามันฝังลึกเข้าไปในหัวใจไง ใจมันฝังลึกเข้าไป พอใจมันฝังลึกเข้าไปนี่ มันจะทำสิ่งใดนี่ มันทำจากหัวใจ
เห็นไหมอย่างเช่นเราทำงาน ถ้าคนทำงานกับเรานี่ทำด้วยหัวใจนะ เขาทำให้เราด้วยความเต็มที่เลย แต่บางคนทำให้เราด้วยความผิวเผินเห็นไหม ทำตามหน้าที่ ย้อนกลับมาที่เราจิตกำหนดพุทโธนี่ ลมหายใจนี่ไม่มีหายหรอก ถ้าลมหายใจหายนะ เราคนตายแล้ว ลมหายใจนี่มันหายใจตลอด แต่จิตมันไม่รับรู้เห็นไหม แล้วเราบอกเราหายใจไม่ได้ แล้วพอเราจะกำหนดพุทโธ เราจะจับลมหายใจ ลมหายใจไม่มี ลมหายใจไม่มี
ไอ้อย่างนี้นะมันเป็นกิเลสไง มันเป็นกิเลสของเรา มันเป็นความต่อต้านจากภายใน คนเรานี่มันมีความต่อต้านจากภายในนะ นี่เห็นไหมเวลาเราปฏิบัติ เวลาเราปฏิบัติ เราคิดว่าเราปฏิบัติแล้ว เราจะเป็นคุณงามความดี ทุกคนจะส่งเสริมเรา นี่ไง พระบวชขึ้นมานี่เห็นไหมเวลาปฏิบัติ โยมรอบข้างนี่ ทำไมพระเป็นอย่างนั้น ทำไมพระเป็นอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะเขาเอาความรู้สึกของเขาเข้ามาจับไง
นี่รอบข้างวัดทุกวัดแหละ ถ้าคิดว่าพระดีต้องเป็นอย่างที่เขาคิดไง พอเห็นเขาคิดนี่ คิดตามความรู้สึกของเขา ใช่ไหม นี่พอพระไม่ได้ตามความรู้สึกของเขา เขาว่าพระองค์นั้นทำไม่ถูกต้อง
นี้ย้อนกลับมาที่การปฏิบัติของเรา โดยหลักนี่การกำหนดพุทโธ โดยการทำสมาธิ ศีลสมาธิปัญญานี่เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งนั้นล่ะแต่กิเลสมันพอใจไหม ทีนี้เวลาถ้ามันมีความขัดแย้งในใจของเรานี่นะ หลวงตาจะบอกเลยนะ ธรรมะนี่ไม่เคยทำร้ายใครนะ ธรรมะพระพุทธเจ้านี่ไม่เคยทำร้าย ธรรมะนี่สุดยอด เป็นของที่ทุกคนปรารถนา ทุกคนแสวงหามากเลย แต่สิ่งที่มันต่อต้าน สิ่งที่มันขัดแย้งในหัวใจเรานี่ คือกิเลสของเรา คือกิเลสของเรา
แล้วกิเลสมันคืออะไรล่ะ กิเลสนี่เป็นนามธรรมนะ กิเลสนี่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า คนเรานี่ทุกข์เพราะกิเลส กิเลสตัณหาความทะยานอยากนี่มันครอบงำอยู่ แล้วตัณหาความทะยานอยากของคน มันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด มันลึก มันมีมากไง
บางคนถ้าแบบว่ามันหนาจริงๆ นี่นะ เห็นแค่คนไปทำบุญ มันอึดอัดขัดข้องเลยนะ มันฮึ่ม..เลยล่ะ ตัวเองไม่ได้ทำนี่ เห็นคนอื่นทำมันยังขัดแย้งเลย ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ทำนะ แล้วนี่ถ้ากิเลสอย่างกลางเห็นไหม ยังพอชักนำกันได้ ถ้ามันอย่างละเอียดเห็นไหม เออพวกนี้เราพยายามควบคุมมัน จะทำดีเพื่อมัน
ฉะนั้น นี่เราไม่ใช่ไปโทษที่พุทโธไม่ถูก หรือไปโทษที่ลมหายใจไม่ถูก เราต้องโทษว่าทำไมเรามันเป็นอย่างนี้ แล้วมาปรับตัวตนของเราที่นี่ เรานี่เวลาเราพูดกับพวกโยมหรือพวกฝ่ายปฏิบัตินี่ เวลามาเห็นไหม เราบอกพันธุกรรมทางจิต พันธุกรรมทางจิตนะ เพราะขณะจิตมาด้วยกัน ปกติเรามาปฏิบัติ มันยังมีความเห็นแตกต่างกันเลย พันธุกรรมไง
บางคนเห็นไหมขิปปาภิญญา ขิปปาภิญญานี่เป็นผู้ที่ตรัสรู้ง่าย ปฏิบัติง่าย แล้วรู้ง่าย แต่ แต่อย่างพาหิยะนี่ฟังพระพุทธเจ้าทีเดียวเป็นพระอรหันต์เลยนี่ แต่อดีตชาติเห็นไหม ไปภาวนาหน้าภูเขาตัด เห็นไหมที่อธิษฐานว่าใครขึ้นมาบนเขาแล้ว ทำบันไดขึ้นไปแล้วทำลายบันไดทิ้งเลย ถ้าใครปฏิบัติไม่ได้เป็นพระอรหันต์ให้ตายไปเลย เขาเสียสละกันมาตั้งกี่..
เนี่ยอดีตชาติเสียสละกันมาเยอะมากไง แต่ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ลงทุนไปมหาศาลเลย พอมาเกิดอีกชาติหนึ่งมาเป็นพาหิยะนี่ มาถึงนี่เพื่อนเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ ที่ปฏิบัติด้วยกัน มาเตือนไงบอกว่า ตัวเองนี่หลงตัวเองว่าเป็นพระอรหันต์ บอกพาหิยะเธอไม่ใช่พระอรหันต์ พระพุทธเจ้าเกิดแล้วให้ไปหาพระพุทธเจ้า ไปขอฟังเทศน์พระพุทธเจ้าหนเดียวเป็นพระอรหันต์เลย
นี่เห็นไหมขิปปาภิญญา นี่พันธุกรรมทางจิต จิตที่สร้างคุณงามความดีมา จิตที่ทำสิ่งที่ดีๆ มานี่ เวลามาภาวนานี่มันมีโอกาสไปได้ง่าย ถ้ามีโอกาสไปได้ง่าย ไอ้คำว่าพุทโธแล้วมันขัดแย้งกับเรานี่มันจะไม่มีหรอก เพราะอะไร เพราะคำว่าทำได้ง่ายใช่ไหม แต่นี่พอเราจะกำหนดพุทโธ ลมหายใจก็ไม่มี แล้วพอจะพยายามบังคับให้ลมหายใจเกิดขึ้นมา พุทโธก็หายไป พอพุทโธหายไป พุทโธก็เป็นอย่างหนึ่ง ลมหายใจก็เป็นอย่างหนึ่ง เราพยายามให้มันเป็นรูปธรรมไง
อย่างเช่นผู้ปฏิบัติใหม่นะ เริ่มต้นผู้ปฏิบัติใหม่ จะกำหนดปฏิบัตินี่ มันก็ปฏิบัติได้ยากมาก แล้วจะทำอย่างไรล่ะ เพราะมันเป็นนามธรรมใช่ไหม ครูบาอาจารย์ถึงสอนว่า ให้กำหนดลมหายใจเข้านึก พุท ลมหายใจออกนึก โธ เพราะมันเป็นรูปธรรม
สิ่งที่เป็นรูปธรรมนี่ มันเป็นรูปธรรมที่เรารู้สึกและจับต้องได้ชัดเจนมาก พุทโธ พุทโธ พุทโธไป แล้วปฏิบัติไป โดยข้อเท็จจริงเลย พอปฏิบัติไป พุทโธ พุทโธไป ส่วนใหญ่แล้วจะไปตกภวังค์หมดเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะลมหายใจ เป็นอานาปานสติ พุทโธเป็นพุทธานุสติ มันไปรับรู้มาก
ฉะนั้นเวลาถึงจุดหนึ่งแล้วนี่ ต้องให้ทิ้งอันใดอันหนึ่ง ถ้าจะเอาอานาปานสติก็เอาลมเฉยๆ เลย กำหนดลมชัดๆ ไม่ก็เอาพุทโธเฉยๆ เลย ให้มันชัดเจนขึ้นไปนี่ มันจะผ่านช่วงตกภวังค์ไปอีก นี่เริ่มต้นภาวนานี่นะ นี่อุปสรรคมันมีเยอะ ฉะนั้นเราถึงบอกพุทโธมันยาก พุทโธมันยาก มันจะยากมันจะง่ายนะ มันอยู่ที่บุญกุศล ถ้าคนสร้างบุญมาดี คนแบบพันธุกรรมทางจิตมาดี มันจะทำได้ง่าย มันจะทำได้ง่าย มันจะทำได้ดี
แต่ถ้าทำมาได้ง่ายได้ยากนี่ มันก็เหมือนกับนักกีฬานะ นักกีฬาบางคนเริ่มต้น ไอ้นี่ไม่มีแววเลยนะ แต่พอฝึกกีฬาไป ไอ้นี่ได้เหรียญทองเลยนะ บางคนนี่แววดีมากเลย ฝึกไปฝึกมาเละ ไม่ได้อะไรเลย เริ่มต้นจะยากจะง่ายนี่ มันเป็นบุญของคน มันจะเป็นบุญของคน แล้วเรากำหนด นี่เริ่มต้นมันจะเกร็งไง พอเรากำหนดลมหายใจ ลมหายใจจะไม่มีบ้าง พุทโธจะไม่ได้ มันจะขัดแย้งกันบ้าง เหมือนนักกีฬาเลย นักกีฬานี่ยังเล่นไม่เป็น ลงไปเล่นยังเก้งๆ ก้างๆ นะ แต่ถ้านักกีฬาที่มันลงเล่นจนชำนาญแล้วนะ โอ้โฮ..มันจะคล่องตัวมากเลย
การเริ่มต้นภาวนามันจะเป็นแบบนี้ พอเริ่มต้นภาวนาเป็นอย่างนี้ปั๊บนี่ เราก็ว่าโอ้โฮ..มันลำบากไปหมดเลยนะ ไม่ลำบากหรอก มันเป็นแบบว่าเรายังไม่ชำนาญ เหมือนแม่ครัว แม่ครัวใหม่ๆ เข้าไปทำครัวนี่ ไปฝึกหัดมันก็ยังมีอะไรขัดข้องบ้าง แต่พอมีความชำนาญขึ้นไปแล้ว หยิบจับโอ้โฮ.. หมุนไปหมุนมานะ เป็นอาหารออกมาสำเร็จรูป หมุนไปหมุนมา เพราะความชำนาญของเขา หมุนไปนะเรางง หยิบนู้นหยิบนี่มานะเสร็จแล้ว แกงเสร็จแล้ว หยิบนู้นหยิบนี่เสร็จแล้ว เพราะอะไร เพราะความชำนาญของเขา
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน นี่ความชำนาญตั้งสติไว้ มันจะล้มลุกคลุกคลานก็ช่างหัวมัน นี่พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ กำหนดลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ ใหม่ๆ นะหลวงตาท่านจะสอนว่า ให้นั่งภาวนาสัก ๕ นาที ๑๐ นาทีก็พอ ให้อย่างน้อยได้ ๕ นาที ๑๐ นาที แล้ว ๕ นาที ๑๐ นาทีนี่มันอย่างน้อยไง ๕ นาที ๑๐ นาที แต่ต่อๆ ไปนี่ แล้วพอมาพูดนี่ นักปฏิบัติอย่างหลวงตาเห็นไหม ตั้งแต่ ๖ โมงเย็นจนอรุณขึ้น ไม่ขึ้นไม่ลุก ๑๒ ชั่วโมง แต่ไอ้นี่มันเป็นเวลาที่เราจะเอาชนะตัวเองนะ เห็นไหม
แล้วหลวงตาท่านนั่งทุกคืนๆ ท่านไปหาหลวงปู่มั่นนี่ หลวงปู่มั่นท่านบอกเลยนะ กิเลสมันอยู่ที่หัวใจนะ กิเลสไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย คืออย่าไปทรมานมันมากเกินไปไง แต่ถ้าเราเข้มแข็งนี่ เราจะทรมานมันนะ เอาชนะมันให้ได้ การภาวนาคือเอาชนะตนเอง แล้วถ้าตนเองมันอ่อนแอ ตนเองมันไม่เอาไหนนี่ ตั้งสัจจะเลย ๑๒ ชั่วโมง อรุณไม่ขึ้นไม่ลุก นี่จนอรุณขึ้นถึงได้ลุก นั่นสัจจะความจริง
แต่เวลาพอเราชนะมันแล้วนะ หลวงปู่มั่นท่านบอกเลยนะ กิเลสมันอยู่ที่หัวใจนะ กิเลสไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย คือถ้าเราทรมานมันเกินไป หรือเราทำหนักหนาเกินไป มันก็อย่างว่ามันก็มีผลกับร่างกายนั่นล่ะ แต่ก่อนที่จะอย่างนั้นต้องเข้มแข็งกับมัน นี่เอาชนะมันให้ได้ การเอาชนะให้ได้นี่ เริ่มต้นนี่ ๕ นาที ๑๐ นาที แต่ผู้ที่จะเอาจริงเอาจังเห็นไหม เป็นทีหนึ่งหลายๆ ชั่วโมง ทีนี้ถ้าหลายชั่วโมงปั๊บนี่ เอาตรงนี้เป็นเกณฑ์ ไม่มีอะไรเป็นเกณฑ์ เวลาปฏิบัติไม่มีสิ่งใดที่เป็นหลักตายตัว
ถ้าเป็นหลักตายตัวนะ ๑๒ ชั่วโมง นาฬิกานี่เราสร้างมันมา มันหมุนตลอดอายุขัยของมันเลย แล้วเดี๋ยวมันตายนะ เดี๋ยวเราก็เปลี่ยนเครื่องยนต์ของมันเห็นไหม มันเวลาคือเวลาไง คำว่า ๑๒ ชั่วโมง กี่ชั่วโมงนี่ ไอ้นั่นมันเป็นเรานั่งมากหรือนั่งน้อย แต่เราต้องการอะไรล่ะ เราต้องการจิตสงบใช่ไหม เราต้องการผลใช่ไหม วัดผลกันตรงนี้ไง
บางคนนั่งสักครึ่งชั่วโมง จิตสงบก็ได้ บางคนนั่งสัก ๕ ชั่วโมง มันยังไม่สงบเลยก็ได้ แล้วเราคนๆ เดียวนี่ บางทีก็นั่ง ๕ ชั่วโมง นั่ง ๒ ชั่วโมงนี่ มันแล้วแต่ไง แล้วแต่ว่าวันไหนจิตใจเราดี แล้วจิตใจคนปฏิบัติมาเห็นไหม อย่างพระนี่มาฉันอาหาร มาทำกิจกรรมนี่ ถ้ามันมีอะไรกระทบกระเทือนกันนี่ โอ้โฮ..ใจมันฟูแล้ว กลับไปวันนี้นั่งสมาธิยากเลย แหมพอวันนี้มานะ ทุกอย่างโอ้โฮ..มันสมดุลไปหมดเลยนะ กลับไปนั่งมันก็ง่าย
การกระทบของจิต จิตถ้าโดนอะไรกระทบปั๊บ มันจะฟูของมันมาก วันนั้นนี่ต้องลงทุนลงแรงกันมาก จิตวันไหนถ้ามันไม่ได้กระทบกระเทือนมาก เวลาไปภาวนา มันก็ภาวนาได้ง่าย แล้วบางทีพอไปภาวนา ในหัวใจของเรา จิตของเรานี่มันมีข้อมูลของมันนะ บางทีมันก็ดันของมันออกมาเหมือนกัน มันดันของมันนะ กรรมเก่ากรรมใหม่นะ ดันออกมาอย่างเช่น เช่นอาหาร อาหารนี่ทุกคนที่กินอาหารนี่รสชาติแตกต่างกันทั้งนั้นล่ะ ความชอบของคนมันแตกต่างกัน
นี่จิตก็เหมือนกัน เวลามันดันออกมา มันเป็นความรู้สึกจากาภายใน มันดันออกมา จริตนิสัย การชอบอาหารนี่มันเป็นจริตนิสัย การได้สร้างสมมา การทำบ่อยๆ จนเป็นนิสัยใจคอของตัว จิตที่มันเวียนตายเวียนเกิด มันได้สร้างสมบาปกรรมของมันมา มันก็เป็นผลเป็นบุญเป็นกรรมของมัน นี่เห็นไหม แล้วเวลามันขับดันออกมา มันขับดันออกมาจากตรงนั้นไง มันขับดันออกมาจากความเคยใจ ใจที่มันได้สะสมมานี่มันขับดันออกมา มันเป็นจริตเป็นนิสัยของมัน
ฉะนั้น เวลากระทบจากข้างนอกก็อย่างหนึ่ง ทีนี้บอกว่าวันนี้ไม่กระทบอะไรเลย อยู่ในห้องปิดประตูเลย อยู่ในห้องคนเดียวตลอด ๒๔ ชั่วโมง ไม่กระทบอะไรเลย ทำไมภาวนาไม่ลงล่ะ ทำไมภาวนาไม่ลง มันกระทบจากข้อมูลภายใน มันกระทบจากความรู้สึกดั้งเดิมของนี่พันธุกรรมทางจิตนี่มันมีของมัน
นี่ไง ฉะนั้นเวลาบางทีเราภาวนาไปนะ เวลาภาวนาไปนี่ ภาวนาไปบ่อยๆ ครั้งเข้า จิตสงบนิ่ง ๗ วัน ๘ วัน นิ่ง เป็นเดือนก็นิ่ง อู้ฮู....จิตดีมากเลย แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ ! แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ ! ในเมื่อมันไม่ออกค้นคว้าไง ถ้ามันไม่ออกค้นคว้าทำอย่างไร
นี่ไง เพราะมันไม่ออกค้นคว้านี่ มันถึงว่า ถ้าไม่ค้นคว้าต้องเข้าหาข้างใน ถ้าข้างในไม่มี ต้องออกข้างนอก เห็นไหม ต้องดึงจิตออกมาทำงาน ถ้าดึงจิตออกมาทำงานนี้มันจะเป็นวิปัสสนาไป ไม่ใช่ว่าพอ ๗ วันแล้วมันนิ่ง ๘ วันแล้วมันนิ่ง นิ่งรอมันเสื่อมไง เพราะนิ่งแล้วสมาธิมันก็คือสมาธิ
สมาธินี่มันอยู่ของมันไม่ได้หรอก มันอยู่โดยธรรมชาติของมันไม่ได้หรอก เหมือนชีวิตเรานี่ทุกอย่างมันอนิจจัง ทุกอย่างมันต้องแปรปรวนหมดแหละ สมาธิก็แปรปรวน มันจะนิ่งขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้านิ่งแล้วนี่มันเหมือนกับเรานี่มีทุนแล้ว เรามีสมบัติแล้วนี่เราควรออกทำประโยชน์กับมัน
นี่เราเทศน์บ่อย เมื่อก่อนนี่เห็นไหม บอกว่าโรงงานนะ โรงงานอุตสาหกรรม มันผลิตสินค้าออกมา ถ้ามันเก็บไว้ โรงงานนี่ระบายสินค้าไม่ได้ โรงงานนั้นเจ๊งนะ นี่ก็เหมือนกัน ทำสมาธิตลอดเวลา มีสินค้ามากมายเลย แต่ขายไม่ออกเลย แล้วมึงได้อะไรขึ้นมา
นี่ก็เหมือนกันถ้าจิตมันสงบขนาดไหน ถ้ามันไม่ออกวิปัสสนานะ ไม่ออกวิปัสสนานะ วิปัสสนาคือระบายสินค้าออกไป พอระบายสินค้าออกไปแล้วมันได้ผลตอบแทนมา ผลตอบแทนนั่นคือผลของการวิปัสสนา โรงงานก็เจริญขึ้นมา เพราะโรงงานผลิตออกมาได้ขนาดไหน ไอ้วิปัสสนามันก็ระบายสินค้าได้หมดเลย นี่มันก็ต่อเนื่องกันไป โรงงานนั้นก็ผลิตไปได้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ไง
ถ้าโรงงานผลิตขึ้นมา แล้วโรงงานนั้นเก็บสินค้าไว้ในโกดังจนล้นไปหมดเลยนะ เจ๊งไง โรงงานก็เจ๊ง ไอ้ผู้ระบายสินค้าก็เจ๊ง นี่ทุกอย่างไปไม่รอดไง มันต้องสมดุลกัน ถ้ามันสมดุลกันนี่มันสมดุลอย่างไร นี้โรงงานก็ไม่มีไง
ทุกคนบอกว่าสมาธิไม่ต้องทำ ทุกอย่างไม่ต้องการอะไรเลยนะ นั่งอยู่เฉยๆ นี่เงินลอยมาจากฟ้า มันก็เป็นไปไม่ได้อีกล่ะ ไม่มีการกระทำ ไม่มีการกระทำไม่มีวิปัสสนาญาณ ทุกอย่างเกิดขึ้นมาไม่ได้ วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นมาไม่ได้เลย ถ้ามันไม่มีโรงงานผลิตสินค้านั้นขึ้นมา
ถ้าโรงงานผลิตสินค้า สินค้ามีแล้วมันถึงจะระบายสินค้านั้นออกได้ สินค้าไม่มีมันเอาอะไรไประบาย มันก็มีแต่ออเดอร์ มีแต่กระดาษใบหนึ่งไง ซื้อล่วงหน้า ซื้อกันไปซื้อกันมา แต่สินค้าไม่มี
นี่ ไอ้อย่างนี้มันเป็นสมมุติ โลกเขาคิดขึ้นมาเป็นทางธุรกิจนะ มันเลยเป็นกระดาษใบหนึ่ง แต่ถ้ามันเป็นการภาวนานะ มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะเราเลย เรานี่รู้เองเลย นี่ที่เรารู้เองนี่ โดยปกติ เวลาเราภาวนานี่เห็นไหม กำหนดพุทโธนี่มันกำหนดไม่ได้ บางคนกำหนดไม่ได้ สิ่งใดไม่ได้นี่ มันแบบว่าหัวใจนี่มันขัดข้อง นี่อารมณ์ความรู้สึกมันรู้แล้ว นี่รู้แล้วมันอย่างนี้
แต่ถ้าเรากำหนดของมันได้นะ พุทโธ พุทโธ บังคับมันทำ บางอย่างต้องบังคับ หญ้าปากคอก วัวไม่กินหญ้า แล้วทำอย่างไรให้มันกินหญ้า หญ้าปากคอกนี่วัวมันไม่กิน เริ่มต้นนี่มันเป็นอย่างนี้
หลวงตาพูดไว้ในเทศน์บ่อยมากเลย ว่าการปฏิบัตินี่มันมียากอยู่ ๒ จุด จุดหนึ่งคือขั้นเริ่มต้น กับจุดขั้นสุดท้าย ไอ้จุดและต่อมนั่นล่ะ เพราะมันถึงจุดตรงนั้นแล้วมันจะขาดหมด มันจะจับต้องไม่ได้ กับไอ้จุดเริ่มต้น ไอ้หญ้าปากคอก ถ้าหญ้าปากคอก เราเลี้ยงวัว วัวมันกินอาหาร ทุกอย่างเมื่อกินอาหารหมดแล้วนะ วัวมันจะให้ผลตอบแทนกับเรา มันจะให้นม ให้ทุกอย่างกับเราตลอดไปเลย ถ้าวัวไม่กินหญ้านี่ วัวพลาสติกสิ มันจะตาย
นี่ก็เหมือนกัน พุทโธเริ่มต้นนี่เราทำอย่างไร ถ้ามันพุทโธไม่ได้ บางทีพุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้ เราพยายามทำให้มันเป็นกลาง คำว่ากลางนี่ไม่ใช่กลางไม่รู้เรื่องนะ ทำให้เป็นกลางคือว่า เราไม่เกร็งมัน แต่เราตั้งสติไว้นะ ตั้งสติไว้แล้วพุทโธ พุทโธ
กำหนดขึ้นมาให้ได้ ทั้งลมหายใจเข้าลมหายใจออกไปเรื่อยๆ พอมันเริ่มเคลื่อนไหวได้นะ ไอ้สิ่งที่เกร็งนี่ ไอ้สิ่งที่ว่าหญ้าปากคอก เพราะวัวมันไม่กินหญ้า เพราะมันไม่เข้าใจว่าหญ้านั้นคืออาหารของมัน มันคิดว่ามันเอาแต่ใจมันใช่ไหม มันจะทำความพอใจมัน หญ้ามันก็ไม่กิน แล้วมันก็ดีดดิ้น มันไม่ยอมทุกอย่างเลย
นี่ก็เหมือนกัน ให้กำหนดพุทโธ พุทโธ ให้มันกำหนดได้ พอมันกำหนดได้ พอมันเคลื่อนไหวไปได้เห็นไหม วัว วัวนี่พอมันได้กินหญ้า เออ หญ้านี่ก็เป็นอาหารเนาะ หญ้านี่ก็อร่อยดีเนาะ กินแล้วเป็นประโยชน์กับท้องมันเนาะ พอมันขับเคลื่อนไปได้เห็นไหม
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธ กำหนดขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ ขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ มันเป็น ข้อเท็จจริงมันเป็นไปได้ แต่ที่มันเป็นนี่ ที่มันขัดแย้งในหัวใจของเรานี่ ที่มันทำกันไม่ได้นี่ เพราะกิเลสของเรา กิเลสนี่มันร้ายนัก มันสร้างภาพได้หมดเลย มันจะทำให้เราล้มลุกคลุกคลานก็ได้ มันจะสร้างภาพว่าจิตนี้ว่างก็ได้ กำหนดพุทโธ พุทโธไปนะ มันจะบอกปล่อยวางหมดเลย โล่ง ว่างหมดเลยนะ มันเอาผลของธรรมนี่มาหลอกเราก็ได้ เพราะธรรมะพระพุทธเจ้านี่เรารู้หมดแล้ว คือการปล่อยวางคือความว่าง มันจะสร้างความว่างให้เราเลย
ถ้ามันเป็นความจริงนะ เป็นความจริงนี่ มันเหมือนเรานี่ไปอยู่ในที่ร้อน เราจะร้อนมาก เราไปอยู่ที่เย็น เราจะเย็นมาก จิตถ้ามันสงบนะ มันได้สัมผัสรสของมันนะ มันไม่เป็นอย่างที่ว่าว่างๆๆๆ โดยที่เราไม่เคยสัมผัสร้อนสัมผัสเย็น แต่เราว่าร้อนว่าเย็น เพราะคำว่าร้อนว่าเย็นนี่ สังคมเขารับรู้กัน
เราก็ว่าอาการร้อนอาการเย็นเป็น แต่ใจมันไม่ได้สัมผัสความร้อนความเย็น แต่พอจิตพุทโธ พุทโธไปนี่ ไปตามความเป็นจริงนะ จิตนี้มันออกไปตากแดด เวลามันพุทโธไม่ได้ มันต่างๆ มันอึดอัดขัดข้องนี่ ร้อนมาก เวลามันพุทโธ พุทโธ พุทโธ จิตมันสงบเข้ามา มันได้สัมผัสความเย็นนะ โอ้โฮ.. โอ้โฮ.. เห็นไหม
ร้อน มันก็โดนความร้อนบีบคั้นมัน จิตนี่มันรับรู้ว่าร้อน เวลามันเย็นมันสงบขึ้นมานี่ มันก็รับรู้ของมันว่ามันสงบ มันเย็นของมัน ไม่ต้องให้คนบอกว่า อู้ฮู....มันจะว่างอย่างนั้น มันจะเย็นอย่างนั้น ไม่ต้องให้เขาพูด มันรู้ของมันเอง ถ้ารู้ของมันเองขึ้นมานี่ แต่นี่แหม..จิตมันได้ฝึกหัดแล้ว
เวลามันสัมผัสว่าร้อน มันก็รู้ว่าร้อนใช่ไหม โอ้โฮ..อย่างนี้ร้อนมากเลย ร้อนเพราะอะไรล่ะ ร้อนเพราะสติเราไม่ดี ร้อนเพราะเราไม่สำรวมจิตใจของเรา ร้อนเพราะเราไม่สำรวมอินทรีย์ ร้อนเพราะเราไปกระทบสิ่งใดมา แล้วมันขัดข้องเห็นไหม เป็นเหตุให้มันร้อน พอร้อนเสร็จปั๊บนี่ เรากำหนดพุทโธๆ ก็ไม่เห็นลงเลย
เย็น เย็นเพราะเหตุใด อ๋อ เย็นเพราะว่าถ้าจิตมันเริ่มเป็นปกติ จิตนี่มันไม่มีอะไรขัดแย้ง ถ้าเรากำหนดพุทโธ ตั้งสติให้ดีเห็นไหม นี่มันเหมือนกับตะกอนในน้ำนี่มันเริ่มสงบตัวลงเห็นไหม มันก็มีความเย็นมีความนี่ มันสัมผัสจับต้อง มันเป็นปัจจัตตังนะ มันเป็นสันทิฏฐิโกที่จับต้องได้ รู้สึกได้เลย สันทิฏฐิโก รู้จำเพาะตนเลย มันรู้จริงๆ ขึ้นมาเลย นี่ภาคปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ ถ้ามันรู้ขึ้นมาอย่างนี้นี่
ฉะนั้นสิ่งที่มันเกิดขึ้นมา ที่มันขัดแย้งกับเรา ว่าทำไมมันเป็นอย่างนั้น ความขัดแย้ง เราจะบอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เริ่มต้น เริ่มต้นนี่เด็ก เด็กเห็นไหม เด็กมันเล่นของมันด้วยความพอใจของมัน บอกให้เด็กนั่งเรียบร้อยนะ นั่งนิ่งๆ นะ แม่จะทำงานนะ มันฟังเราไหม ไม่มีทางเลย
จิตก็เหมือนกัน บอกว่าพุทโธมันดีนะ เราจะมาปฏิบัตินะ เหมือนเด็กเลย บอกให้นั่งนิ่งๆ นะ มันจะนิ่งให้เอ็งเหรอ ไม่มีทางหรอก มันก็ดิ้นเป็นธรรมดา มันดิ้นมันก็แสดงออกด้วยการนี่ไง ลมหายใจไม่มีไง โอ้โฮ..พุทโธไม่ออกไง เนี่ย นี่คือใจมันดิ้นแล้ว แต่เรายังไม่เข้าใจไง พวกเราเข้าใจว่า พอเราบอกว่าเราจะภาวนานะ โอ้โฮ..ก็เหมือนกับขวดน้ำนี่ เอาไปตั้งที่ไหนมันก็อยู่ที่นั่น มันไม่ดิ้นไงขวดน้ำนี่ แต่ใจมันดิ้นไง
พอยิ่งบอกว่าภาวนาด้วยนะ กิเลสมันรู้ตัวเลยนะ โอ้โฮ..นี่จะเอาชนะมันนะ มันยิ่งจะสร้างอุปสรรคให้เรามหาศาลเลย ไม่มีทางเลยนะถ้าบอกว่าเราทำความดีแล้ว กิเลสบอกว่าเชิญครับให้ทำตามสะดวกนี่ ไม่มีทาง แล้วยิ่งทำความดีนะ นี่อยู่ดีๆ นี่นั่งปกติที่บ้านนี่ โอ้โฮ..นั่งแล้วนิ่งเนาะ สบายเนาะ
โธ่ ! ถ้าอย่างนี้ภาวนาสุดยอดเลย เข้าทางจงกรมนะ โอ้โฮ..มันคิดร้อยแปดเลย เวลาอยู่เฉยๆ นี่ มันไม่มีอะไรต่อต้านมันนะ มันนิ่งนะ จิตนี่มันเฉยปกติมันนะ เวลาเข้าทางภาวนาสิ เอาแล้วนะ พรุ่งนี้จะทำงานแล้วนะ เดี๋ยวจะมืดเกินไปแล้วล่ะ ภาวนานั่งนานเกินไปก็ไม่ดีนะ ข้อต่อรองมาเยอะแยะเลย แต่ถ้าไม่ได้ขยับนะ โอ้โฮ..ดีมากเลย
อะไรนี่คืออะไร นี่คืออะไร กิเลสเราทั้งนั้นเห็นไหม เราต้องไปโทษ โทษว่ากิเลสของเรานี่มันโต้แย้ง มันขัดแย้ง แต่ถ้าเป็นธรรมนะมันไม่ขัดแย้งหรอก ถ้ากิเลสมันนะ หลวงตาพูดอย่างนี้ประจำ ฟังแล้วขำ ว่าถ้ากิเลสมันนอนหลับอยู่นะ เราทำอะไรก็ได้ พอกิเลสตื่นขึ้นมานะ เราล้มหมดเลย
เวลาเราปฏิบัตินี่เห็นไหม กิเลสมันนอนหลับไง มันให้เราปฏิบัติหน่อยหนึ่ง โอ้โฮ..ขยันหมั่นเพียรเลย พอกิเลสมันตื่นขึ้นมานะ เลิกเถอะ มันเหตุผลมันมาแล้ว เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนั้นนะ เราตายเลย เห็นไหมท่านบอกเลย กิเลสมันอนุญาตให้เราปฏิบัติ เราถึงได้ปฏิบัตินะ ถ้ากิเลสไม่อนุญาตนะ ไม่ได้ปฏิบัติหรอก มันสอยเอาหงายท้องเลย
ฉะนั้นเรารู้เราเข้าใจอย่างนี้แล้ว สิ่งที่มันเกิดขึ้นมานี่ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติอันหนึ่ง กิเลสเป็นธรรมชาติอันหนึ่งที่มากับจิต จิตนี้เป็นธาตุรู้ เป็นธาตุรู้ ธาตุรู้เห็นไหม มันจิตนี้มีอยู่ เพราะจิตธุดงค์มันถึงไปนิพพานได้ จิตนี้นี่ ตัวจิตนี่ตัวธาตุรู้มันมีอยู่ ทีนี้ตัวธาตุรู้มันจะขับเคลื่อนไปได้อย่างไรถ้าไม่มีกิเลส
มีกิเลสไง โดยความไม่รู้ตัวของมัน กิเลสอย่างละเอียดคือความไม่รู้ตัวของมันนะ ด้วยความไม่รู้ตัวของมันนี่ พออธิษฐานเสื่อม มันก็เกิดตายเกิดตาย เกิดดับมา เกิดตายเกิดตายมานี่เป็นภพเป็นชาติขึ้นมา พอเป็นภพเป็นชาติขึ้นมา พอมันเริ่มหยาบขึ้นมาเห็นไหม พอเกิดตายเกิดตายแล้วนะ ก็อยากดีอยากชนะอยากคะคาน นี่มันก็อยากไปเรื่อยๆ เห็นไหม นี่กิเลสมันมีอยู่โดยธรรมชาติของมัน มันเป็นนามธรรมที่อยู่กับจิตนี่
ทีนี้ธรรมชาติของกิเลสมันมีอยู่แล้ว ถ้าไม่มีอยู่แล้วนะ มันจะขับดันให้จิตนี่ ไอ้ธาตุรู้นี่ สภาวะธาตุที่มีชีวิตนี่ ให้เวียนตายเวียนเกิดไปได้อย่างไร ทีนี้เวียนตายเวียนเกิดไปนี่ เรามีสติสัมปชัญญะ เราเกิดมาในพุทธศาสนา เราเกิดมาเป็นบัณฑิต คบบัณฑิต เราเจอหมู่คณะ เจอกระแสสังคมที่ชักนำให้เราไปในทางที่ดี เห็นไหม
สภาคกรรม กรรมที่เกิดในประเทศอันสมควร ที่มันดึงเราไป เห็นไหม เราคบกับสิ่งนี้ มันก็ชักนำให้เรามาในสิ่งที่ดี สิ่งที่ดีก็นี่ไง คิดแต่เรื่องดีๆ ทำแต่ความดี คนดีทำความดีง่าย ทำความชั่วยาก คนชั่ว ทำความชั่วง่าย ทำความดียาก เห็นไหม จิตมันเป็นอย่างนั้นโดยธรรมชาติ ถ้ามันฝึกอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้นล่ะ
นี้กิเลสมันเป็นธรรมชาติอยู่แล้วนี่ นี้เราจะมาต่อสู้ เราจะมาขัดแย้ง เราจะมาขัดแย้งมันนี่ มันก็ต้องมีแสดงออกเป็นเรื่องธรรมดา ธรรมดาของมันนะ แต่ไม่ธรรมดาของเรา ทุกข์ฉิบหายเลย เจอทีไรเจ็บทุกที แล้วกระทืบทุกที ธรรมดาของมัน ธรรมดาของกิเลสอย่างนั้น เพราะมันเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้น แต่ไม่ธรรมดากับเรา
ทีนี้มันไม่ธรรมดากับเรา มันให้โทษกับเราไง พอให้โทษกับเรานี้เราจะสู้กับมันอย่างไร เราสู้กับมัน พระพุทธเจ้าก็สอนแล้ว พระพุทธเจ้าสอนว่าให้ตั้งสติ ให้ฝืนมัน ให้ฝืน พระพุทธเจ้าสอนให้ฝืนนะ การฝืน พระพุทธเจ้านะบอกหมดเลย พระพุทธเจ้านี่โอ้โฮ..มีเมตตามากนะ อย่าทำลายกัน อย่ากลั่นแกล้งกัน พูดคำเสียดสีคำส่อเสียดก็ไม่ให้ทำ ไม่ให้ทำหมดเลยนะ แต่พระพุทธเจ้าชมการฆ่าอันหนึ่ง เห็นไหม ฆ่าที่ประเสริฐคือการฆ่ากิเลสไง
กิเลสนี่มันเป็นนามธรรม กิเลสมันอยู่ในหัวใจเรา ถ้าเราชนะมัน ฆ่ามันนะ ต้องฆ่ามัน ถ้าไม่ฆ่ามันนะ ถ้ามันสลบนะ เวลาตทังคปหานนี่กิเลสมันโดนธรรมะนี่กระทบ แล้วมันสลบ ถ้ามันฟื้นขึ้นมานะ คนนี่โดน เหมือนการต่อสู้กัน ถ้าเราโดนข้าศึกทำร้ายให้สลบนะ เราจะผูกใจเจ็บมาก กิเลส ถ้ามันโดนธรรมะนี่นะทำให้มันสงบตัว หรือทำให้มันยุบยอบลงนะ เวลามันฟื้นขึ้นมานะ มันจะเล่นเราแรงเป็นสองเท่าสามเท่า
สังเกตได้ เวลาคนที่นั่งสมาธินี่ พอจิตสงบขึ้นมานี่ เคยนั่งสงบแล้วดีมากเลย แล้วคราวหน้านั่งต่อไปนะ อู้ฮู....มันจะรุนแรงมากเลย มันจะขัดแย้งมาก มันจะต่อต้านมาก เวลาวิปัสสนาก็เหมือนกัน เวลาวิปัสสนาไป พอมันปล่อยหนหนึ่งนะ แล้วจะเอาอีกนะ บางทีก็ได้บางทีก็ไม่ได้ ต้องต่อสู้มันไปเรื่อยๆ นะ
พอบางทีนี่พิจารณาไปมันปล่อยนะ คิดว่าจะโอ้โฮ..ปล่อยแล้วมันคงง่ายนะ พิจารณาคราวใหม่ พิจารณาเข้าไปนะ ไม่ได้เรื่องเลย ไม่ได้เรื่องด้วย แล้วมันทำให้เราลังเลด้วย ให้เราลังเล ถ้าเราสู้มันอีก สู้มันอีกนะ มันต้องมีความชำนาญของมัน
เราบอกว่า ถ้ากิเลสโดนธรรมะนี่เข้าไปทำลายมัน เข้าไปกระทบกระเทือนมันนะ เวลามันสลบไปแล้วมันฟื้นมานะ มันทำเราหนักกว่าเก่าอีกเลย นี่ถ้าคนเข้าใจอย่างนี้ คนเห็นอย่างนี้ เห็นไหมครูบาอาจารย์ถึงบอกว่าไม่ให้คลุกคลีกัน เพราะการคลุกคลีกัน การคุยกัน การเรื่องกัน การเล่นกันนี่ นั่นแหละเป็นทางล่อ ล่อให้กิเลสออกมาเลยนั่นล่ะ
อ้าว..ทีแรกก็คุยเล่นกันใช่ไหม คุยกันเล่นกันเป็นเพื่อนกัน พอพูดไปพูดมานะ อีกคนมันกินใจนะ มันชักเจ็บแล้ว ชักเจ็บแล้ว เห็นไหม แล้วอีกคนไม่รู้ตัวนะ การคุยกันนี่ไม่รู้ตัว ไม่รู้ตัวว่าเราคุยกัน เราเล่นกัน เราเป็นเพื่อนกันมาตลอด แต่ไม่รู้ว่าวันไหนพูดออกไปแล้วมันไปกินใจเขา เราไม่รู้ตัว แล้วเอ็งไม่รู้ตัว แล้วเพื่อนหรือที่สนิทกัน หรือโดนอะไรกินใจนี่จะเสียใจแล้ว เอ๊ะ..ก็เพื่อนเรา ก็รักกัน ก็เราก็รักเขา เอ๊ะ..เขาทำไมไม่คิดถึงเราเลยนี่ อู้ฮู..มันกระทืบเลยนะ กิเลสมันกระทืบเลย มันอ้างเหตุอ้างผลมากระทืบเลย
ฉะนั้นถึงบอกว่าไม่ให้คลุกคลี ไม่ให้อะไรกัน ให้อยู่เห็นไหมเราเข้าใจกัน เราเข้าใจในข้อวัตรกัน นี่เพื่อไม่ให้เป็นทางออกของมัน ครูบาอาจารย์ท่านบอกอย่างนี้นะ สัปปายะ ๔ อาจารย์เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ นี่สถานที่เป็นสัปปายะ สัปปายะ ๔ ที่ควรแก่การภาวนา
นี่ถ้าหมู่คณะเป็นสัปปายะเห็นไหม ทุกคนเห็นอกเห็นใจกัน แล้วนักปฏิบัติจะเห็นใจกันนะ เห็นใจกันเพราะอะไร เพราะเราก็ปรารถนาอย่างนั้น เราก็อยากได้อย่างนั้น แล้วทุกคนที่ปรารถนาอยากได้อย่างนั้นนี่ มันก็เกรงใจกัน มันก็ไม่กระทบกระเทือนกัน
แต่ถ้าคนเราไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้อะไรกันนี่ มันคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเล็กน้อยนะ โอ๋ย..หนวกหูมาก มันสะเทือนมาก มันสะเทือนนะ ดูสิเวลาลมพัดขึ้นมานะ ใบไม้ไหวนี่ทำไมเราไม่โกรธมันล่ะ เพราะมันไม่มีชีวิตไง แต่พอเวลาคนคุยกันนี่ ทำไมไปโกรธเขาล่ะ อ้าว..เสียงลมพัดนะแรงกว่า โอ้โฮ..ลมพัดนี่ ซู่ ! ซู่ ! เลยนะ เฉย ไม่มีความไม่พอใจเลย แต่เสียงคนมาคุยข้างๆ นี่ ไม่พอใจทันทีเลย
จิตวิญญาณนี่ ระหว่างกระทบ ระหว่างตรงข้าม นี้เราจะบอกว่าถ้าเป็นสัปปายะ สิ่งที่ทำ แล้วที่พูดนี่จะบอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของกิเลสนะ กิเลสมันเป็นอย่างนั้นล่ะ ทีนี้พอเราไม่เข้าใจมันไง พอเราไม่เข้าใจเรื่องกิเลสใช่ไหม ไม่มีใครเข้าใจหรอก ถ้าเข้าใจนี่มันจะครอบงำเราได้อย่างไร
กิเลสมันชนะเราตลอดเวลา แต่เราอาศัยธรรมะพระพุทธเจ้าสิ ธรรมะพระพุทธเจ้านะ เวลาธรรมะพระพุทธเจ้าสอนนี่ เพราะธรรมะพระพุทธเจ้ารู้จักมันไง รู้จักกิเลส รู้จักปู่ของมันเลย
จากปู่เห็นไหม จากพ่อ จากลูกจากหลาน เพราะมันมีโสดาบัน สกิทาคา อนาคานี่ ปู่กิเลสคืออวิชชาคือมาร พญามารเลย พญามารนี่มันล่ออย่างไร มันทำอย่างไร ให้พระพุทธเจ้าอยู่ในอำนาจมา แล้วพระพุทธเจ้าชนะมันมา แล้วถึงจะมาสอนพวกเรา พวกเรานี่ปู่ย่าตายายครบเลย หลานมันออกมา ยังไม่ทำอะไรเลยนะ เราก็กลิ้งแล้ว ยังไม่เจอปู่มัน ไม่เจอพ่อมันนะ ถ้าไปเจอพ่อมันนี่หัวทิ่มบ่อเลย
ทีนี้ถ้าเราจะต่อสู้เห็นไหม ถ้าเราเข้าใจอย่างนั้นแล้ว แล้วพูดอย่างนี้ปั๊บนี่ ทุกคนจะ อู้ฮู..แล้วอย่างนี้กิเลสจะสู้อย่างไรล่ะ อู้ฮู..อย่างนี้ก็ไม่มีทางเลยสิ แล้วอย่างนี้สู้ไม่ไหวเลย ไม่ใช่ มันก็เริ่มต้นจากการสำนึกตนก่อน สำนึกตนคือเริ่มต้นจากการปฏิบัติก่อน ถ้าเราไม่สำนึกตนเลยนี่ เริ่มต้นกันที่ไหน สำนึกคือจิตเรา ถ้าจิตมีความสำนึกปั๊บ มันก็จะเข้ามาควบคุมเราแล้ว จะมาดูแลเราแล้ว ถ้ามันควบคุมดูแลเรานะ มันจะสู้ มันมีทางต่อสู้ ถ้ามีทางต่อสู้ปั๊บนี่ สู้กับมันไปเรื่อยๆ แล้วมันสงบตัวด้วย พอสงบมันก็เหมือนมันเปิดนี่ เหมือนกีฬาเลย นักกีฬานี่นะเวลาเริ่มแข่งขันเห็นไหม ทุกคนมีโอกาสได้แข่งขัน
นี่ก็เหมือนกัน เวลาที่จิตสงบปั๊บนี่ นั่นคือเวลาแข่งขัน คือกิเลสมันได้สงบตัวลง มันเปิดสนามให้เราแล้ว แต่ถ้าจิตยังไม่สงบนะ เราหาสนามไม่เจอ เราไม่มีโอกาสได้แข่งขัน เราเป็นฝ่ายนั่งอยู่ริมสนาม แล้วกิเลสมันเป็นผู้เล่น แล้วมันกระทืบเรากระทืบเราอย่างเดียวเลย แต่ถ้าเราทำจิตสงบนะ เราขอเข้าสนาม นี่ไงเป็นสากลไง
ถ้าจิตสงบปั๊บนี่ กิเลสมันสงบตัวลง จิตมันเปิดสนาม ให้จิตได้ออกแสดงตัว ถ้าจิตแสดงตัว เวลาวิปัสสนาไป มันจะแสดงตัวของมันออกไป ถ้าแสดงตัวออกไปนะ เหมือนกับเราได้สิทธิ ได้เข้าสนามแข่งขันกับกิเลส แล้วแข่งขันกับกิเลสนะ เวลาสนามซ้อมเห็นไหม เวลาสนามซ้อม เราซ้อมมวยนี่เราซ้อมขนาดไหน แต่เราขึ้นชก เวลาคู่ชกเรามันต่อยเราเจ็บๆ นะ
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราลงสนามแล้ว เวลาเราต่อสู้กับกิเลส ไม่ใช่ว่าขึ้นไปแล้วนะมันจะสะดวกสบายนะ มันยังต้องแข่งขัน ต้องต่อสู้อีก ถ้าจิตมันต่อสู้ได้นะ นี่เริ่มต้นในการต่อสู้ ถ้าจิตมันต่อสู้ นี่จิตมันออกต่อสู้กับกิเลส มันวิปัสสนาไป มันจะเห็นเนื้องาน ถ้าเห็นเนื้องานมันก็เหมือนกับโรงงานนั่นแหละ ถ้าโรงงานผลิตแล้วมันมีผู้กระจายสินค้า นี่จิตสงบแล้วมีการวิปัสสนา มีการต่อสู้กันไป มันจะเป็นขั้นตอนต่อๆ ไปไง เริ่มต้นจากพุทโธนี่
ตอนนี้มันก็มาถึงตรงนี้นะ มาถึงที่ว่า ถ้าพุทโธจริงๆ แล้วนี่ ถ้าพุทโธไม่ได้เลยนี่ บางคนนี่นะ อย่างมันเป็นจริตนิสัย กรรมฐาน ๔๐ ห้องใช่ไหม พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ มรณานุสติ เทวตานุสติ เห็นไหม มรณานุสตินี่คิดถึงความตาย แต่เราสอนไปบ่อย แล้วมีโยมหลายคนมาพูดให้ฟังคำนี้ บอกว่าหลวงพ่อ เวลาหลวงพ่อให้กำหนดความตายแล้วนี่ มันเฉาหมดเลยล่ะ ขาอ่อนหมดเลย ทำอะไรไม่ได้เลย เห็นไหม
บางคนคิดถึงความตายแล้วก็ไม่ดี แต่บางคนคิดถึงความตายแล้วดีมาก บางคนคิดถึงพุทโธนี่ พุทโธแล้วไม่ได้ บางคนคิดถึงพุทโธได้เห็นไหม ถ้าพุทโธไม่ได้ให้ธัมโมสังโฆ เทวตา มรณานุสติเห็นไหม ถ้ามันไม่ได้จริงๆ แล้วนี่ ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิ ความคิดนี่
นี่กระบวนการการปฏิบัติทั้งหมด ทุกวิธีการนี่ผลของมันคือความสงบ ที่เราบอกวิปัสสนา วิปัสสนาสายตรงสายตรงไม่มีหรอก มันต้องใช้ปัญญาหมด นี่ปัญญาอบรมสมาธิไง ปัญญาอบรมสมาธิคือใช้ตรึกในชีวิตเรานี่ เกิดมาจากไหน ชีวิตนี้คืออะไร เกิดมาทำไม ก่อนเกิดมานี่ มันเป็นอย่างไรถึงมาเกิดมาอย่างนี้ เกิดมาแล้วตายแล้วจะไปไหนนี่ ตรึก พอตรึกไปนี่ปัญญามันจะไล่ตามไป ถ้ามันปล่อยวางนี่ก็คือสมาธิเหมือนกัน
มันมีสมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ แต่ถ้ามันเป็นปัญญาชนนี่ พุทโธ พุทโธนี่ บางทีพุทโธนี่มันเป็นศรัทธาจริต พอศรัทธาจริตมันพุทโธ พุทโธนี่ อะไรคือพุทโธ อะไรคือพุทโธ อะไรคือพุทโธ พุทโธทำไม เครียดมากเลยเห็นไหม บางทีมันทำแล้วไม่ได้เห็นไหม นี่พันธุกรรมทางจิตเหมือนกัน ถ้ามันตรงกับจริตนะ อาหาร สัตว์มันกินอาหารอะไร สัตว์แต่ละชนิดมันกินอาหารไม่เหมือนกัน อาหารกุ้ง อาหารปลา อาหารเสือ อาหารต่างๆ เห็นไหม อาหารของสัตว์นี่มันกินไม่เหมือนกัน
จิตก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันจริตนิสัยนี่ ถ้าอาหารตรงกับมัน จริตนิสัยตรงกับมัน การปฏิบัติตรงกับมันนะ มันจะทำสมาธิได้ง่าย เพราะอาหารตรงกับจริต อาหารกินแล้วมันมีคุณค่า อาหารกินแล้วมันพอใจของมัน
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราหาของเรา คำว่าหาของเรานะ แต่เริ่มต้นนี่พุทโธไปก่อน พุทโธนี่เพราะเรานี่นะ คนนะ เจ็บไข้ได้ป่วยจะผ่าตัดนี่ เขาต้องฟื้นฟูร่างกายนะ เราผ่าตัดสิ่งไหนต้องทำความสะอาดพื้นที่นั้น นี่ก็เหมือนกัน จิต เริ่มต้นนี่มันจะรักษาตัวมันเองเห็นไหม มันฟื้นฟูร่างกายก่อน พุทโธก่อน พุทโธก่อนเลย ได้ไม่ได้ ถ้าไม่ได้ขึ้นมานี่ ทำเต็มที่แล้ว เดี๋ยวค่อยเปลี่ยนกันทีหลัง เรามาเปลี่ยนทีหลังเป็นปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา
อันนั้นอีกกรณีหนึ่งนะ แต่เริ่มต้นนี่พุทโธไปก่อน พุทโธนี่ทำงานบนดิน พื้นที่นี่เราทำงานบนพื้นที่นี้ พุทโธ พุทโธนี่ แต่เวลาปัญญาอบรมสมาธิ มันทำงานบนอากาศ เราต้องตั้งนั่งร้านขึ้นไป เราต้องมีเครนขึ้นไป ทำงานบนอากาศ เพราะมันเป็นนามธรรมไง พุทโธ พุทโธนี่เป็นนามธรรมเหมือนกัน แต่ ! แต่มันกำหนดโดยจิตของเรา
นี่ถ้าพุทโธนะ ถึงบอกว่าเวลาภาวนานี่เอาพุทโธก่อนเลย แล้วพอพุทโธไปนี่ สิ่งที่เกิดขึ้นมา สิ่งที่มันมีเสียงต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นมา ที่จิตบอกจิตบอกนี่ ไอ้จิตบอกนี่นะ มันเป็นธรรม มันเป็นสามัญสำนึก ถ้าเป็นสามัญสำนึกอย่างนี้มันเกิดจากจิตของเราเอง ถ้าเกิดจากจิตของเราเองนี่ บางทีมันก็ถูกก็ได้ผิดก็ได้ เหมือนฝันนี่ ทุกคนฝันนี่ ฝันมันคืออะไร ฝันคือความคิดนะ ความคิดขณะหลับ ฝันคือสังขาร ฝันดิบฝันสุก
หลวงตาบอกฝันดิบฝันสุก ฝันดิบเห็นไหม ฝันดิบๆ นี่ ตอนนี้นั่งคิดนี่ฝันดิบๆ เลย พอนอนหลับนะ นี่ฝันนั้นล่ะมันเป็นสังขาร สังขารปรุงในจิต สังขารปรุงในจิตมันก็เป็นฝันอันหนึ่ง ฉะนั้นเวลาเราอยู่ปกตินี่ เราคิดขึ้นมานี่ฝันดิบ พอฝันดิบขึ้นมา มันเป็นความคิดอันหนึ่ง เป็นความรู้สึกอันหนึ่ง ความรู้สึกนี้มันเป็นความรู้สึกของเรา มันเป็นความเห็นของเรา แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่มันเป็นสากลนะ
พระอาทิตย์ขึ้นในโลกนี่ ประเทศไหนก็แล้วแต่ ใช้แสงแดดจากดวงอาทิตย์ดวงเดียวกัน จิตของคนทุกคน ถ้ามันสงบแล้วนี่มันกลับไปสู่จิต ถ้ากลับไปสู่จิตนี่ นั่นคือจิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้ ธาตุรู้ของทุกคนเหมือนกันหมด เหมือนดวงอาทิตย์ดวงนั้น ดวงอาทิตย์ดวงหนึ่งส่องมาจากโลก เห็นไหม ที่ประเทศในโลกนี่ใช้แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ดวงเดียวกัน
จิตของคน ถ้าพูดถึงทุกคนถ้าเข้าไปสู่ความสงบแล้วนี่ มันก็เหมือนดวงอาทิตย์ดวงนั้น คือพลังงานอันเดียวกัน คือจิต สมาธิเป็นสากลไง ถ้าสมาธิเป็นสากลนี่ มันจะทำให้เห็นไหม พลังงานที่เกิดจากดวงอาทิตย์นั้นจะได้ประโยชน์ใช่ไหม
นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันสงบจริง มันจะได้ประโยชน์จากพลังงานที่เป็นความจริง แต่ถ้าเป็นความรู้สึก เห็นไหม เรารับแสงอาทิตย์มาเห็นไหม เราใช้แผงโซล่าเซลล์นั้น เก็บพลังงานไว้ในแบต แบตนี้เราจะเอาไปใช้อะไรล่ะ แบตนี่ พลังงานในไฟฟ้านั้นเราจะไปใช้สิ่งใด ความรู้สึกนึกคิดของเรา มันเหมือนพลังงานอันที่เราเก็บมา แล้วใช้ประโยชน์อะไร กับพลังงานดวงอาทิตย์ ที่มาจากดวงอาทิตย์ ถ้ามันมีดวงอาทิตย์อยู่นี่ พลังงาน เรามีแผงโซล่าเซลล์ เราจะได้พลังงานนั้นตลอดเวลา
ถ้าเรากำหนดจิตให้มันสงบพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จนจิตมันสงบเข้าไปแล้วนี่ สิ่งที่ว่าจิตบอกจิตบอกนี่คนละเรื่องเลย จิตบอกมันเป็นพลังงานส่วนตัว พลังงานที่มันเกิดจากจริตนิสัย แต่มันต้องใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ไม่มีพลังงานแสงอาทิตย์ จิตบอกเกิดไม่ได้ จิตบอก จิตบอกหมายถึงพลังงานตัวนั้น พลังงานจากดวงอาทิตย์ใช่ไหม แล้วเราเก็บพลังงานนั้นมาใช่ไหม พลังงานนั้นเราไปใช้กับเครื่องโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ มันก็เป็นผลประโยชน์กับเราขึ้นมา
จิตบอก เกิดจากพลังงานนั้น เราไปใช้ผลประโยชน์ไง แต่ถ้ามันกลับไปสู่จิต กลับไปสู่สมาธิ กลับไปสู่ดวงอาทิตย์ดวงนั้น ดวงอาทิตย์ดวงนั้นเป็นสากล คือสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธินะ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ดวงอาทิตย์ผ่องใสไหม ดวงอาทิตย์ผ่องใสไหม ดวงอาทิตย์มีพลังงานไหม ใครเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์หลอมละลายหมดเลยนะ เข้าไปใกล้ ทั้งที่มีพลังงานนี่
สัมมาสมาธินี่ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตผ่องใสนี่เกิดตาย จิตผ่องใสมันยังเวียนตายเวียนเกิดเห็นไหม เนี่ยแล้วนี่เรากำหนดพุทโธ พุทโธจนเข้าไปถึงพลังงาน จิตผ่องใส จิตผ่องใสคือฐิตีจิต คือจิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้นี่ อวิชชาเกิดจากอะไร ! อวิชชาเกิดจากอะไร ! อวิชชาเกิดจากจิตเดิมแท้ไง เกิดจากจิตเดิมแท้
นี่สัมมาสมาธิ นี่จิตหนึ่ง เอโก ธัมโม นี่ธรรมอันเอก อันนี้จิตหนึ่ง จิตที่เป็นสัมมาสมาธิ กำหนดพุทโธ พุทโธจนเข้าไปถึงจิตดวงนี้ ฉะนั้นสิ่งที่จิตบอกสิ่งต่างๆ นี่ มันเป็นพลังงานที่เราเก็บมาจาก มันเกิดมาจากจิตไง จิตบอก คำว่าจิตบอกเห็นไหมมันก็มาจากจิต แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ จิตเป็นตัวมันเอง จิตเป็นพลังงานของมันเอง มันจะบอกสิ่งใดขึ้นมา เดี๋ยวเรามีสติสัมปชัญญะ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา นี่จิตที่เป็นกลาง จิตเป็นสัมมาสมาธิ
ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเกิดสมาธินี้แล้วมันจะเกิดปัญญาขึ้นไปข้างหน้า เราถึงต้องตั้งใจทำ เพียงแต่ถ้าเราทำอย่างนี้มันจะเข้ามาในหลักของพุทธศาสนา พุทธศาสตร์ ไม่ใช่ไสยศาสตร์ ตอนนี้พุทธศาสตร์ที่มันมีปัญหาอยู่นี่ เพราะมันเหมือนกับไสยศาสตร์ แล้วแต่ใครจะมีความเห็นอย่างไร ก็ว่ากันไปตามความเห็นนั้น
แต่ถ้าพูดถึงเป็นธรรมนะ เป็นธรรมนี่เห็นไหม ดูสิมันเป็นอริยสัจ มันเป็นมงคลชีวิต ธรรมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง ถ้าเป็นธรรมแท้นะ ถ้าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอริยสัจ เป็นสัจธรรมนี่ มันพูดที่ไหนก็ได้ ! มันพูดที่ไหนก็ได้ มันพูดเป็นสัจธรรมนี่ มันเป็นสัจธรรม ! มันเป็นความจริง ! พูดที่ไหน เวลาไหน ได้ทั้งนั้นล่ะ
มันเสียดายอย่างเดียวเท่านั้นล่ะ คนมันรู้น้อยไง พอคนมันรู้น้อย พอพูดที่ไหนนี่คนพูดนั่นพูดความจริงนะ แต่ไอ้คนฟังนี่ฟังไม่รู้เรื่องน่ะสิ เพราะมันธรรมเหนือโลก ยิ่งฟังยิ่งงงนะ นี่พูดทุกวันเห็นไหม พูดทุกวัน ถ้าคนฟังบ่อยมีหลักนะ อ๋อ..พูดทุกวัน ของเก่าๆ ทั้งนั้นล่ะ แต่ถ้าเป็นคนเก่าๆ นี่นะ มันไม่กระเทือนใจนะ มันไม่สะดุ้งหรอก
แต่ขณะที่เก่าๆ นะถ้ามันสะเทือนใจนะ มันก็เหมือนพลังงานที่เก็บอยู่ในแบต กับพลังงานดวงอาทิตย์ไง พลังงานดวงอาทิตย์คือตัวใจ แล้วถ้ามันทิ่มเข้าไปที่ดวงอาทิตย์นั้นเลย ทิ่มเข้าไปที่หัวใจนั้นเลย หัวใจเปิดบานขึ้นมาเลยนะ โอ้โฮ.. ทำไมวันนี้ แหม..ธรรมะมันลึกซึ้งนักล่ะ ลึกซึ้งเพราะผู้รับมันรับได้ดีไง ลึกซึ้งเพราะผู้รับมันรับเข้าถึงจิตถึงใจ
ถ้ามันเข้าถึงจิตถึงใจนี่ มันสะเทือนหัวใจมาก ถ้ามันเข้าไม่ถึงจิตถึงใจเห็นไหม นี่สัญญาเก่าๆ ฟังแล้วฟังเล่า ธรรมะเป็นของดั้งเดิม อาจารย์สิงห์ทองพูดบ่อย เวลาท่านจะเทศน์นะท่านบอกพูดเก่าๆ พูดของเก่า ของนี้ดั้งเดิม พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาแล้ว ๔ พระองค์ เห็นไหม องค์สมณโคดมองค์ที่ ๔ นี่พระศรีอริยเมตไตรย องค์ที่ ๕ ภัทรกัป อนาคตวงศ์ยังมีอีก ๕ องค์ ยังมีไปเรื่อยๆ ของเก่าๆ นี่แหละ แต่เวลาใครทำขึ้นมาเป็นสันทิฏฐิโก เป็นของใหม่ สดๆ ร้อนๆ อกาลิโก ไม่มีกาลไม่มีเวลาไง
มันจะสดๆ ร้อนๆ กับเรานะ เกิดจากเรา นี่เกิดจากความตั้งใจจริง ถ้าเราตั้งใจของเรา เราทำของเรานะ พุทโธนี่แหละ พุทโธไปก่อน แล้วนี่สิ่งที่มันขัดแย้ง ขัดแย้งก็คือกิเลสตัณหาของเรา ถ้ามีกิเลสตัณหาของเรา เราก็สู้มัน ต้องสู้ สู้กับมันแล้วทำให้มันดีขึ้นไป ถ้ามันไม่ดีขึ้นไปนะ มันมีปัญหาขึ้นมา เราเกิดมาพบพุทธศาสนา เกิดมาทบชีวิตเรานี่ ชีวิตเราทั้งนั้นล่ะ
สุดท้ายแล้วมันก็ต้องพลัดพรากกันไป แต่พลัดพรากไปในทางที่ดีชั่วขณะไหน ในปัจจุบันนี่มีโอกาสก็ทำ มีโอกาส แล้วอย่างนี้มีโอกาสด้วย แล้วปฏิบัติแล้วนี่มันมีความสุขไง ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ สุขควรเอามาเป็นสมบัติของเรา
อันนี้พูดถึงพุทโธที่มันขัดแย้ง ต้องสู้แล้วแก้ไขไปตามกาลเวลาเนาะ จบเนาะ เอวัง