ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ละนิสัยไม่ได้

๒๓ ต.ค. ๒๕๕๒

 

ละนิสัยไม่ได้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราจะอารัมภบทก่อน เป็นความเข้าใจพื้นฐานก่อน แล้วเดี๋ยวจะย้อนกลับมาเรื่องการปฏิบัติใหม่ วิธีการปฏิบัติ

ความเข้าใจของเรานี่ ความเข้าใจของเรา พวกเรานี่มีกิเลส มีกิเลสคือความเห็นจากจิตใต้สำนึกของเรา ทีนี้พอเราไปศึกษาธรรมะแล้วใช่ไหม ว่าธรรมะนี่เป็นของสงบ ธรรมะเป็นของร่มเย็น ใช่ไหม เขาพูดกันบ่อยเห็นไหม นิพพานคือสงบเย็นสงบเย็น เราก็คิดว่านิพพานก็คือห้องฟรีสไง นิพพานก็คือการแช่แข็งไง ก็มันเย็นนี่ ใช่ไหม พอนิพพานปั๊บก็ต้องนิ่ง ต้องอย่างนั้น

มันเป็นความเข้าใจ เขาไม่เข้าใจถึงจริตนิสัยของคน จริตนิสัยของคนนะ ดูสิสมัยพุทธกาลนะ พระสันตกายนี่สงบเสงี่ยมมาก สงบเสงี่ยมมากจนพระด้วยกันเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์นะ แล้วไปถามพระพุทธเจ้าว่า พระองค์นี้เป็นพระอรหันต์หรือเปล่า พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่หรอก พอไม่ใช่ท่านก็เรียกมาเลยแล้วเทศน์ไง พระสันตกายพิจารณากาย

ความสงบเสงี่ยมนี้มันเกิดจากจริตนิสัย นิสัยแต่เดิมนี่เคยเป็นราชสีห์มา ๕๐๐ ชาติ เคยเป็นเสือมา เคยเป็นอะไรมาเห็นไหม ดูสิเคยเป็นอะไรมา นี่ในตามที่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดถึงธรรมวินัยนะ เวลาเรื่องธรรมนี่ เรื่องอดีตชาตินี่ ไอ้พวกงู เวลากินแล้วมันนอน พวกขี้เกียจหลังยาว ไอ้พวกนอนจมๆ นี่พวกงู เกิดมาจากงู

นี่ไง สิ่งนี้เวลาเราเกิดมา พูดถึงว่าพันธุกรรมทางจิต พอพันธุกรรมทางจิตเข้ามา จริตนิสัยเป็นอย่างไร มันจะออกมาเป็นอย่างนั้น นี้พันธุกรรมทางจิต นี่เห็นไหมเวลาเกิดจากพ่อแม่ เวลาเกิดมาจากพ่อแม่ นี่ DNA จากพ่อแม่ทั้งนั้นเลย ลูกนี่ไปตรวจสิ DNA ของพ่อแม่ทั้งหมดเลย แต่ DNA ทางจิตมีไหม DNA ทางความรู้สึกนี่มีไหม

ไอ้นี่มันอยู่ที่วาสนา อยู่ที่บุญที่กรรมนะ ถ้ากรรมดี พ่อแม่ขณะที่ไข่สุกนี่เห็นไหม ขณะที่จิตมันจะมาเกิด การกำเนิด ๔ กำเนิดจากโอปปาติกะคือกำเนิดเลย กำเนิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหมในโอปปาติกะ เกิดแล้วโตเลยไม่มีเด็ก เกิดในโอปปาติกะ เกิดในไข่ เห็นไหม เกิดในไข่ เกิดในน้ำคร่ำ พวกสัตว์ เกิดในครรภ์

นี่การเกิดเห็นไหม ขณะการเกิดนี่ เพราะการเกิดนี่เห็นไหม เวลาเขาทำกิฟต์กันเห็นไหม เขาทำกิฟต์ทำโคลนนิ่ง เขาต้องเอาเนื้อเยื่อมา แล้วทำนิวเคลียส เพื่อจะให้จิตมันปฏิสนธิ ถ้าไม่มีจิตปฏิสนธิ นี่ไงพันธุกรรมทางจิต ไอ้จิตตัวนี้ ตามจริตนิสัยไอ้จิตตัวนี้ มันเวรกรรมของใครเห็นไหม

พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย พร้อมมาตลอดนี่คำว่าอสงไขย แล้วเวลาพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนี่มีหนึ่งเดียว เอกนามกิง จะตรัสรู้สองไม่ได้ จะซ้อนไม่ได้เลยเพราะมันเกิดได้ยากมาก นี้ซ้อนไม่ได้เลย เราจะบอกว่าอำนาจวาสนาพระพุทธเจ้าขนาดนั้นไง

ฉะนั้นเวลาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกนี่ เวลาพูดถึงพระอรหันต์ ท่านพูดถึงกิริยาของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์หรือเปล่า เป็น ! เห็นไหม แล้วนี่พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล มันมีในสมัยพุทธกาลเห็นไหม เป็นพระอรหันต์ แต่เป็นนิสัย เวลาเจอใครเรียกไอ้ถ่อย ไอ้ถ่อย พูดคำนี้นะ ก็เหมือนกับเราเรียกไอ้นี่ เอ๊ะ ! ทำไมพระพูดไม่เรียบร้อยเลย นี้เรียกไอ้ถ่อย ไอ้ถ่อย

วันนั้นมันมีโยม ฆราวาสเขาจะเอาดีปลีนี่มาขาย ไปทำไร่ใช่ไหม เขาจะมีถึงเวลาเขาเอามาขาย พอผ่านมานี่ พระนี่เขารู้จักมั้ง เขาเรียกไอ้ถ่อยจะไปไหน อันนั้นฆราวาสคนนั้นที่จะมาขายดีปลี ด้วยความโมโหก็โกรธ อยู่ดีๆ มาเรียกไอ้ถ่อยได้อย่างไร เพราะสมัยโบราณคำพูดเขาจะสละสลวยมากนะ คำพูดของเขานี่เขาจะนิ่มนวลมาก บอกเรียกไอ้ถ่อยไปไหน โยมเขาโกรธ เขาก็ว่า “ไอ้ถ่อยมึงก็ไปไหน” พูดถึงว่าพระ มึงก็ไอ้ถ่อยด้วยไง

ทีนี้สุดท้ายแล้วเรื่องมันก็ผ่านกันไป พอผ่านไปนะ พอไปถึงตลาดนัด เขาก็จะเอาสินค้าเขามาวางขาย ทีนี้สินค้าเขาก็เป็นดีปลี พอเปิดมาสินค้ากลายเป็นขี้หนูหมดเลย กลายเป็นขี้หนูหมดเลย พอกลายเป็นขี้หนูปั๊บ เพื่อนที่เขามาด้วยกัน พวกที่เป็นพ่อค้าด้วยกันเขาถามว่า นี่แล้วมันผ่านอะไรมาบ้าง ที่ผ่านมานี่มีเหตุอะไรบ้างถึงเป็นอย่างนี้ เขาก็นั่งทบทวนไง อ๋อๆ เจอพระองค์หนึ่ง เขามาเรียกว่าไอ้ถ่อย ก็ด้วยความโกรธก็บอกไอ้ถ่อยกลับไป

โยมคนนั้นเขาแนะนำให้พ่อค้าคนนี้ ให้กลับไปหาพระองค์นั้น ว่าให้ไปขอขมา พอไปขอขมาปั๊บนี่แล้วกลับมานะ พอขอขมาเสร็จนี่ ขี้หนูกลับกลายเป็นดีปลีเลย นี่อยู่ในพระไตรปิฎก

นี่ไง เราจะบอกว่า เวลาพูดถึงกิริยามารยาทนี่นะ เราก็พูดถึงกิริยามารยาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นที่ละจริตนิสัยได้ ละกิเลสกับละจริตนิสัยมันต่างกันนะ จริตนิสัยคือความเคยชิน แต่ไอ้กิเลสคือความขัดข้องในหัวใจ ไอ้กิเลสคือความเศร้าหมอง คือความในหัวใจ

แต่กิริยาท่าทางนี่มันเป็นความเคยชิน มันเป็นความเคยชินสิ่งนี้เห็นไหม นี่เขาเรียกจริตนิสัย เวลาเป็นนิสัย เวลาเราบัญญัติธรรมวินัยขึ้นมา ว่าพระอรหันต์จะมีกิริยาอย่างนั้นๆ ก็บัญญัติเป็นกิริยาของพระพุทธเจ้าไง เพราะพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์หรือเปล่า เป็นพระอรหันต์

นี้พระอรหันต์ทั้งหมดใช่ไหม พระอรหันต์เวลากำหนดก็ต้องกำหนดองค์ที่ดีที่สุดใช่ไหม ทีนี้พอเรากำหนดว่าพระอรหันต์ กิริยาของพระอรหันต์ต้องเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้นปั๊บ มันก็ต้องกิริยาที่ละจริตนิสัยได้ แล้วเวลาละจริตนิสัย แล้วสันตกายนี่ไม่ได้เป็นพระอรหันต์เลย เป็นปุถุชนเลย เพราะคนมาเห็นว่า พระสันตกายนี่เป็น โอ้โฮ..สงบเสงี่ยมนอนนิ่งไปหมดเลย กิริยายิ่งกว่าพระอรหันต์อีก จนพระด้วยกันก็เข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์เลย พอเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ไปถามพระพุทธเจ้า

นี่ไงเราจะบอกว่า ถ้าจริตนิสัย ละจริตนิสัย แต่นี่เป็นจริตนิสัยของเขา มันไม่ได้ละจริตนิสัย สันตกายนี่ นิสัยเคยเป็นราชสีห์ เคยเป็นเสือ ราชสีห์นี่เวลาจะออกหาเหยื่อ มันต้องมีสติพร้อมเห็นไหม แล้วเป็นอย่างนั้นอยู่ ๕๐๐ ชาติ นี่จริตนิสัยของเขา เขาเป็นอย่างนั้นโดยความเคยชิน แต่กิเลสของเขาเต็มหัวเลย พระพุทธเจ้าเลยบอกว่า สันตกาย เธอไม่ใช่พระอรหันต์ จะเป็นพระอรหันต์ได้ต้องพิจารณากาย พระสันตกายพิจารณากาย คือพิจารณากายแยกกาย ม้างกาย

ทีนี้พอจิตใจเขาพร้อมอยู่แล้วใช่ไหม พอพระพุทธเจ้ามาเทศน์ถึงม้างกาย นั่นล่ะพอฟังเทศน์นั้นล่ะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย จากที่เดิมไม่ได้เป็น พอเป็นขึ้นมาแล้ว ใจก็เป็นพระอรหันต์ด้วย เรื่องของความสงบเสงี่ยม เพราะนิสัยเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เป็นราชสีห์มาก่อนอยู่แล้ว พอได้เป็นพระอรหันต์ด้วย มันยิ่งสงบเสงี่ยมเข้าไปใหญ่ใช่ไหม

นี่พูดถึงผู้ที่สงบเสงี่ยม โดยจริตนิสัยมันเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว แต่ผู้ที่สร้างนะ ดูอย่างเช่นพระสารีบุตร เวลามีกิจนิมนต์ ลูกศิษย์ไปด้วย เห็นกระโดดข้ามคลอง อืม.. ก็กิตติศัพท์กิตติคุณของพระสารีบุตรเห็นไหม กิตติศัพท์กิตติคุณนี่ พระอัครสาวกเบื้องขวา โอ้โฮ..มีปัญญาที่เป็นเลิศนะทางปัญญา เป็นเอตทัคคะนี่ปัญญาที่สูงที่สุด ทำไมกิริยาอย่างนี้ มาฟ้องพระพุทธเจ้าไง พระพุทธเจ้าบอกว่าอดีตชาติเห็นไหม อดีตชาติ

นี่สันตกายอดีตชาติเป็นราชสีห์ แต่พระสารีบุตร อดีตชาติเคยเป็นลิงมา ความที่เป็นลิงมา นิสัยมันเป็นอย่างนั้น จิตใจมันเป็นอย่างนั้น แต่ความรู้สึกความคิดในหัวใจมันไม่มี มันไม่มีหรอก พระอรหันต์นะ เขาเรียกมีแต่กิริยา ไม่มีเจตนา ถ้ามีเจตนาเห็นไหม มโนมิงปิ นิพพินทะติ มโนสัมผัสเสปิ นิพพินทะติ มโนคือสถานที่ตั้งแห่งความคิด

ถ้าจะมีเจตนา มันต้องมี เจตนาตั้งอยู่บนอะไร ถ้าไม่มีมโนนี่ มโนมิงปิ นิพพินทะติ มโนมิงปิ นิพพินทะติ มโนสัมผัส มโนคือตัวใจคือสถานที่ตั้ง ถ้าสถานที่ตั้ง เจตนามันมาจากไหน นี้เจตนามันไม่มี ทุกอย่างมันไม่มี มันทำออกมาโดยความเคยชินไง มันเป็นกิริยาเฉยๆ เห็นไหม

เวลาพระอรหันต์เห็นไหม นี่ภาราหะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ ๕ เป็นภาระ ความคิด ความรู้สึกความนึกคิดของ ความนึกคิดโดยสะอาด ทีนี้ความนึกคิดอันนี้ ดูสิอย่างเช่นหลวงตา โครงการช่วยชาติมันมาจากไหนล่ะ โครงการช่วยชาติต้องวางแผนไหม นี่พระอรหันต์คิดออกมาเห็นไหม คิดออกมาในแง่บวกไง

ความนึกคิดอันนี้ คิดออกมาเพื่อเป็นความจรรโลงโลก เพื่อเป็นความสงเคราะห์โลก แต่ไม่ได้คิดออกมาด้วยตัณหาความทะยานอยาก คิดเพื่อตัวของท่านเอง ท่านไม่ได้คิดอย่างนั้นนะ นี่พระอรหันต์มีแต่กิริยาเห็นไหม

ฉะนั้นพระอรหันต์มีแต่กิริยา สิ่งที่กระโดดข้ามคลอง สิ่งที่ทำอะไร มันเป็นสัญชาตญาณ สัญชาตญาณของคนนี่นะ ถ้ามันมีของมันอยู่ ถ้ามันมีกิเลสอยู่ สัญชาตญาณนี่สัญชาตญาณดิบ นี่ขันธ์ ๕ เป็นภาระ นี่เป็นภาระคือว่ามันไม่มีสันดานดิบ ไม่มีกิเลสตัณหาบวก แต่ถ้าเป็นปุถุชนนี่เขาเรียกว่าขันธมาร ขันธ์นี่ ความคิดนี่มีมาร มีมารมีอกุศลครอบงำ

ขันธมาร ขันธ์เป็นมาร ขันธ์ ๕ นี่เป็นมารเลย สังขารเป็นมารไหม สังขารไม่เป็นมาร โอ้โฮ..สังขารนี่ไม่เป็นมาร โธ่ ! โมฆะบุรุษนี่สังขาร วางแผนเลย จะเอาตำแหน่งไงเอาตำแหน่ง อยากเป็นเจ้าอาวาสนะ อยากเป็นเจ้าอาวาส ! นี่ขันธมาร คิดเพื่ออำนาจ คิดเพื่ออำนาจของตัว แต่ถ้าเป็นภาระเห็นไหมคิดเพื่อ นี่มันเป็นสัญชาตญาณ มันไม่ใช่ความคิดจากเจตนา ไม่ได้มีเจตนา ไม่มีผู้รับผิดชอบ ไม่มีผู้รับกรรมไง

ไม่มีเจตนา ไม่มีภพ ไม่มีตัวจิต ไม่มีมโน ถ้าไม่มีมโนนี่ สิ่งที่ทำโดยสัญชาตญาณ แต่ทำเพื่อคุณงามความดีเห็นไหม สิ่งนี้คือคุณงามความดี มันไม่มีเพื่อตัวตน ตัวตนไม่มี ทุกอย่างไม่มี แล้วไม่มีแล้วเอาอะไรมาพูด เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมานี่ ๔๕ ปีนั้นเอาอะไรมาพูด พูดสิ่งต่างๆ นี่ นี่มันเป็นสัญชาตญาณ สัญชาตญาณที่ว่าไม่มีสิ่งต่างๆ ไม่มีเลย แต่มี มีอะไร ก็ยังมีชีวิตอยู่ไง

สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่ อนุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ตายไปแล้ว ถ้าพระอรหันต์ที่ตายไปแล้ว นี่ สะ สะคือเศษส่วน สอุปาทิเสสนิพพาน จิตเป็นนิพพานไปแล้ว คำนี้พูดเปรียบเทียบนะ เพราะเราต่อต้านตลอดว่าพระอรหันต์ไม่มีจิต จิตเป็นนิพพานไปแล้ว คือใจนี่เป็นนิพพานไปแล้ว พอเป็นนิพพานไปแล้วนี่มันเหลือเศษ เศษคืออะไร เศษคือขันธ์ ๕ เศษคือภาระ ธาตุ ๔ คือร่างกาย

จิตใจนี่พอเราพ้นจากเห็นไหม เวลาพระพุทธเจ้าจะนิพพาน เวลาเราฉันอาหารของนางสุชาดาถึงซึ่งกิเลสนิพพาน กิเลสในหัวใจตายแล้ว เราฉันอาหารของนายจุนทะ ถึงซึ่งขันธนิพพาน ความจริงขันธ์เป็นนิพพานได้ไหม ขันธ์เป็นนิพพานไม่ได้หรอก มันเป็นกิเลสนิพพาน มันนิพพานตั้งแต่ตอนกิเลสตาย

แต่ขันธนิพพานท่านให้เห็นไงว่านี่ สอุปาทิเสสนิพพาน คือพระอรหันต์ ใจที่เป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีร่างกายและความรู้สึกความนึกคิดนี้อยู่ แต่พอมันดับพั่บ ความรู้สึกนึกคิดนี่เห็นไหม สะ คือเศษส่วน เศษที่เหลือ เศษที่เหลือมีชีวิตอยู่

นี่ไง แล้วมันถึงเป็นความโชคดีของเรานะ เป็นความโชคดีของเราที่เราได้สัมผัส คือพระอรหันต์นี่ยังสื่อความหมายกับเราได้ แต่พอพระอรหันต์ตายตูมนี่ เป็น อนุปาทิเสสนิพพาน ไม่มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เพราะธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เกิดจากกรรม อย่างพระพุทธเจ้าเกิดเห็นไหม เวลาพระพุทธเจ้าเกิด เกิดมาจากไหน เกิดมาจากแม่ แล้วเกิดมามีขันธ์ ๕ นี่เกิดมาจากกรรม

แล้วพอพระโมคคัลลานะเห็นไหมที่เที่ยวไป เที่ยวไปแล้วไปพักอยู่บ้านโยม บ้านโยมเขาพยายามจะถวายกาม ท่านไม่ยอมรับไง แล้วก็เพ่งโทษไป มันก็เลยแบบว่าหนอนออกทุกทวารไง แล้วก็จะไปช่วยเหลือเขา ช่วยเหลือเขาไม่ไหว เพราะกรรมมันหนัก ก็เลยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า บอกว่าอยากจะช่วยเหลือเขา

พระพุทธเจ้าบอกว่ากรรมเขาหนักนะ หนักขนาดไหน หนักขนาดยิ่งกว่าแผ่นดิน แผ่นดินทำอย่างไร ตอนนี้ก็เลยเหาะขึ้นไปไง เพื่อจะดูแผ่นดินก็เลยหลงทิศไปไง แล้วกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า มาถามพระพุทธเจ้าว่า

อู้ฮู..ทำไมกรรมมันหนักขนาดนี้ กามให้โทษมากขนาดนี้ พระพุทธเจ้าพูดคำนี้ออกมาในพระไตรปิฎก

“โมคคัลลานะ เธอจะบอกว่านี่ผลของกามมันให้โทษอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเราตถาคตก็เกิดจากกาม แต่เอากามมาทำคุณงามความดี”

เกิดจากกามเห็นไหม เกิดจากกาม เกิดจากพ่อแม่ พระพุทธเจ้าก็เกิดจากกาม แต่พอเกิดมาแล้วเรามาทำคุณงามความดีไง แต่ถ้าเราเกิดมาจากกามแล้วเรายังฝักใฝ่ไป มันก็เป็นต่อไปเรื่อยๆ เห็นไหม เราเกิดจากกามเหมือนกัน

ทีนี้เราบอกว่า พอพูดถึงกามมันจะมีผลเสียหมดเลยเห็นไหม ถ้าผลเสียหมดเลยแล้วจะมีการเกิดได้อย่างไร นี่ไงธรรมะเป็นธรรมชาติไง ธรรมะเป็นธรรมชาติเพราะธรรมะเกิดนะ แล้วคนเกิดก็เกิดจากกาม ถ้าไม่มีกามคุณ ๕ กามคุณ ๕ เป็นเรื่องของโลก เห็นไหม กามคุณ ๕ จะถึงพรหมจรรย์ไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเป็นเรื่องของกามคุณ ๕

นี่สิ่งต่างๆ เห็นไหมที่มันเกิดขึ้นมา เวลาพูดถึงสิ่งที่กรรมนี่พาเกิด ทีนี้พอกรรมพาเกิดขึ้นมาแล้ว มันถึงมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ทีนี้พอเราพิจารณาไปจนถึงที่สุดเห็นไหม ที่สุดแห่งทุกข์ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ นี่เกิดจากกาม ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ คือความคิดที่เกิดจากจิต นี้เพราะอะไร เหมือนกับเทียนนี่เห็นไหม เราจุดเทียนนี่เทียนยังไม่ดับ เทียนยังอยู่ค่อนต้น นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเทียนนี้ดับหมดใช่ไหม พอเวลาเทียนมันใช้หมด เทียนมันเผาไหม้หมดไปก็หมดไปใช่ไหม คือชีวิตเราชั่วชีวิตหนึ่ง เวลาเผาไหม้ก็ตายไป

ทีนี้ พอเวลาเราพูดถึงชีวิตเผาไหม้ คือจิตนี้มันต้องสิ้นสุดกระบวนการของมันไป ทีนี้พอเรามาปฏิบัติ พอถึงครึ่งหนึ่ง เทียนถึงครึ่งเล่ม บางคนปฏิบัติละง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติไม่กี่พรรษาก็ได้ เทียนเกือบทั้งเล่มเลยดับ เหลือเท่าไร ที่เหลือนี่คือเศษเห็นไหม เศษส่วน เศษส่วนก็รอจนกว่ามันจะตายไป ทีนี้พอเศษส่วนอันนี้ ถ้าเป็นเทียนมันเผาเทียน เทียนหมดเล่มก็คือความหมดเล่มนั้นไป แต่จิต จิตนี่มันอายุขัยก็เหมือนเทียนเล่มหนึ่ง เวลามันเผาหมดเล่มมันก็ตายไป แต่มันไม่หมดนี่สิ มันไปเกิดใหม่

ทีนี้พอเป็นพระอรหันต์ พอมันดับ พอถึงที่สุดแล้วกิเลสขาดหมดเลย เหลือเทียนอยู่นั้นก็เหลือชีวิตนี้อยู่ เหลือชีวิตนี้อยู่ แล้วเราได้สัมผัสไง เราได้สัมผัส เราได้ศึกษากับสิ่งที่ท่านรู้จริง ความรู้จริงอันนั้นนี่ มันจะออกมาบอกเราว่าวิธีการอย่างไร

ความประสบ ถ้าไม่มีประสบการณ์ เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา สิ่งนั้นคืออะไร สิ่งนั้นคือความจริง มันทำให้เทียนนี้ดับ ถ้าเทียนนี้ดับแล้ว เอาสิ่งนี้มาสั่งสอนเรา แล้วท่านยังมีชีวิตอยู่ คือสอุปาทิเสสนิพพาน คือพระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่นี่ ได้สื่อความหมายกับเรา

อันนี้เป็นคุณประโยชน์กับเราไหม มันเป็นคุณประโยชน์กับเรามหาศาลเลย แต่คนไม่เข้าใจ คนไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ท่านพูดมาเพราะอะไร เพราะมันเป็นธรรมเหนือโลก ธรรมเหนือโลกคือว่าสิ่งนี้มันเป็นความมหัศจรรย์ แล้วเราเข้าใจได้ยาก แต่ถ้าเราพยายามศึกษา เราพยายามปรับตัวเราเพื่อศึกษาสิ่งนี้ เราจะได้ประโยชน์กับสิ่งนี้มหาศาลเลย

นี่ไงเวลาเราพูด เวลาเราอ่านพระไตรปิฎก อยากจะพบพระพุทธเจ้า อยากจะให้พระพุทธเจ้าสอน แต่เวลามีครูบาอาจารย์ นี่เรารู้ได้อย่างไร แต่ถ้าผู้ที่ปฏิบัตินะเหมือนกับทางวิชาการ ทางวิชาการใครศึกษาทางวิชาการใดมา พอพูดถึงทางวิชาการสิ่งนั้นนี่เราจะเข้าใจได้ เราจะรู้ได้ว่าคนนั้นพูดได้จริงหรือไม่จริง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินี่ เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์เรื่องปฏิบัตินี่ โอ้โฮ..มันรู้ได้นะ มันเห็นร่องเห็นรอยไง

ดูสิเวลาหลวงตาท่านบอกนะ เวลาท่านฟังเทศน์หลวงปู่มั่นนี่ เวลาเทศน์หลวงปู่มั่นนะ โอ้โฮ..นิพพานนี่มือเอื้อมเอาได้เลยนะ โอ้โฮ..มันชัดเจนไง หลวงปู่มั่นท่านพูดของท่านมา เป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมานะ เราฟังดูนะ แหม..เอามือนี่หยิบได้เลย พอหลวงปู่มั่นเทศน์จบนิพพานปิดเลยนะ ปิดเลย เราคาดหมายไม่ได้แล้วเห็นไหม ผู้รู้จริงนี่ท่านบอกถึงเหตุการณ์ที่ท่านทำของท่านมา แล้วเราฟังแล้วเราพยายามพิจารณาของเราไป มันเหมือนกับนิพพานนี่หยิบต้องได้เลยเห็นไหม นั้นเกิดจากผู้รู้จริงเทศน์นะ

แต่ถ้าผู้ไม่รู้จริงเทศน์ล่ะ ไม่รู้จริงเทศน์นี่ ตาบอดจูงคนตาบอดไง เราก็ตาบอดนะ แต่เราศึกษาธรรมพระพุทธเจ้ามานะ เราพูดได้หมดเลย แต่พูดด้วยความสงสัยไง เพราะเราตาบอดใช่ไหม คนตาบอดบางคนก็แบบว่ามีความองอาจกล้าหาญนะ คนตาบอดมีความกล้าหาญจะจูงพวกเราไปนะ แต่เขาตาบอด แต่เขามีความกล้าจูงไป ไอ้เราก็ไปเชื่อเขาใช่ไหม เราก็ยอมให้เขาจูงนะ

โอ้โฮ.. ไอ้เล่นงูกินหางนี่ แม่งูเอ๋ย เลื้อยไปก็เลื้อยมา นี่ไงก็จูงกันไป ก็คนตาบอดจูง แต่เขามีความกล้าหาญนะ แต่ความกล้าหาญนั้นมันมีจริงหรือเปล่าล่ะ มันเป็นไปได้จริงไหม

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นความจริง โอ้โฮ..มันเห็นชัดเจน มันไปของมันได้ นี่พูดถึงกิริยาท่าทางไง เวลาพูดถึงว่าจะต้องเป็นอย่างที่เราคาดหมาย ไม่เป็นหรอก สิ่งกิริยานี่มันเป็นจริตนิสัยของท่าน แต่เราเอาตรงนี้สิ เอาตรงเนื้อหาสาระ เอาตามข้อเท็จจริง เวลาพูดออกมา ตีค่าอันนี้ออกว่ามันเป็นพูดอะไร เราปฏิบัติใหม่ๆ นะ เราก็พยายามหาทางของเรา

ปฏิบัติใหม่นี่หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ การปฏิบัตินี่มียากอยู่สองขั้นตอน ขั้นตอน หนึ่งคือขั้นตอนเริ่มต้น มันมืดแปดด้านเลย แล้วขั้นตอนสุดท้าย ขั้นตอนสุดท้ายนี่มันจะไปเหมือนกับ มันจะแบบว่ามันหมดขันธ์แล้วนี่ มันหมดการสืบต่อแล้วนี่ แล้วถึงตัวตนของตัวเองนี่ ต้องไปทำลายตัวเองตรงนั้น ตรงนั้นนี่ก็ยากอีกขึ้นหนึ่ง นี้พอขั้นตอนแรกนี่มันยาก ท่านพูดอย่างนี้นะหลวงตาพูดบ่อย การปฏิบัติยากมีอยู่สองช่วง ช่วงหนึ่งคือขั้นแรกกับขั้นสุดท้าย ไปฟังเทศน์หลวงตาสิ

ทีนี้คนอื่นฟังแล้วก็ฟังแบบว่า เข้าหูขวาทะลุหูซ้าย เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาไป แต่เราฟังไปเราจับตลอด แล้วเรามาเทียบถึงเราเวลาปฏิบัติใหม่ๆ นี่ขั้นตอนแรก ทำอะไรไม่ถูกเลย ทำอะไรไม่ถูกเลย ศึกษามาหมดเลย ครูบาอาจารย์เยอะแยะไปหมดเลย แล้วทำอะไรไม่ถูกเลย สุดท้ายนะ สุดท้ายตอนนั้นได้แจกหนังสือธรรมะชุดเตรียมพร้อม พิมพ์ครั้งแรกเลย อยู่ในป่านะ เอาเข้าป่าไปด้วย อ่านวันละหน้า ห้ามเกินหน้าหนึ่ง เพราะเดี๋ยวเกิดอ่านหมดแล้วมันไม่มีใครสอน

จริงๆ เราทำมากับตัวเอง อ่านวันละหน้านะ แล้วคิดอย่างนี้ นี่พระอรหันต์พูด เป็นทัศนคติ เป็นโลกทัศน์ เป็นความรู้สึกของพระอรหันต์ แล้วเราอ่านแล้วนี่เรามีความรู้สึกอย่างไร นี่ยกระดับเราขึ้นไง พยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่ท่านพูด ทำความเข้าใจกับสิ่งที่ท่านพูด อยู่ในป่านะ นี่ปัญญาอบรมสมาธิ เดินจงกรมทั้งวันๆ นี่อ่านวันละหน้า อ่านวันนี้ ตอนเช้าอ่านหน้าหนึ่งแล้วปิดไว้เลย ท่านพูดแค่นี้พอ เราก็นี่พระอรหันต์พูดอย่างนี้ แล้วเรามีมุมมองอย่างไร มีทัศนคติอย่างไรกับสิ่งนี้ แล้วใช้ปัญญาเราไล่เข้าไป

นี่ไงเวลาเราปฏิบัติเห็นไหม มันยาก ยากขั้นแรก แล้วไปไม่ถูก จะใช้พุทโธ พุทโธขนาดไหน จิตสงบขนาดไหน เวลาพุทโธ พุทโธได้ จิตสงบได้ นั่งอยู่นี่จิตสงบเลย เพราะพรรษาแรก บวชพรรษาแรกนะไม่นอน ไม่นอนเลย ถือเนสัชชิกไม่นอนเลย พอพุทโธ พุทโธไปนี่มันลงนะ พอจิตมันลง มันเห็นเป็นก้อนเนื้อ มันหมุนเข้ามา คนเป็นสมาธิอยู่นี่ นั่งอย่างนี้ ผงะแตกเลยล่ะ เพราะก้อนเนื้อมันจะกลิ้งเข้ามาทับ ในนิมิตนะ

โอ้โฮ..ก็นึกว่าเราต้องพิจารณากายนะ ต้องไปทางนี้นะ ไปไม่รอดไง พอพิจารณาไปๆ มันจืดชืด มันจืดมันชืดมันทำอะไรไม่ได้เลย ไปทางซ้ายก็ตัน ไปทางขวาก็ตัน ตรงหน้าก็ตัน ลับหลังก็ตัน โอ้โฮ..มันตัน หลวงปู่อ่อนท่านพูด มรรค ๘ คือตัน ๘ ทิศ มรรค ๘ คือตันทั้ง ๘ ทางไง ตันหมดเลยไปไหนไม่รอดเลย มรรค ๘ คือตัน ๘ ทาง ตันหมด

นี่ขั้นแรกมันยากเพราะว่าเราไม่เป็น พอเราเห็นอะไรปั๊บมันก็มีความคลาดเคลื่อน เราเห็นนะเราได้รับรู้ เหมือนกับนกบินผ่านมา แล้วบินมาเราเห็นปั๊บมันไปแล้ว จิตก็เหมือนกัน พอรับรู้อะไรปั๊บนี่มันหายไปแล้ว พอหายไปแล้วทำอย่างไรต่อไป คิดดูสิ กว่าเราจะเห็นนก กว่านกมันจะบินมา กว่าจะต่างๆ นี่ก็เหมือนกัน กว่าจิตมันจะสงบ กว่าจะเห็นเป็นกาย กว่าจะเป็นก้อนเนื้อมันกลิ้งมาทับเรา พอทับนี่ผงะเลยนะ

พอผงะไปนี่มันก็เหมือนกับว่างเปล่าเลย แล้วขึ้นต้นตรงไหนล่ะ ทำไมมันถึงเห็นก้อนเนื้อล่ะ แล้วก้อนเนื้อมันเห็นอย่างไรล่ะ ไม่รู้ ถือเนสัชชิกไง พุทโธ พุทโธอยู่ทั้งวันทั้งคืนอย่างนั้นล่ะ ก็ไม่รู้ว่าขึ้นต้น จับต้นชนปลายไม่ถูกไง จับต้นชนปลายไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่รู้ๆ เห็นๆ นี่แหละ แต่จับต้นชนปลายไม่ถูกไง เพราะเราทำไม่เป็น แต่พอพิจารณาไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แต่ของเราพอทำอย่างนี้แล้วเราไปไม่รอด เราถึงกลับมาใช้พิจารณาจิต ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วเราพิจารณาแล้วมันถึงก้าวเดินไปได้ พอก้าวเดินไปได้นี่เห็นไหม ที่ว่ามาถึงหลวงปู่เจี๊ยะ พอพูดเรื่องพิจารณาจิต ท่านบอก “ไม่ฟังมึงหรอก ไม่ฟัง ! มึงต้องพิจารณากาย” ถึงต้องกลับมาพิจารณากายอีกรอบหนึ่ง

“นี่ไม่ฟัง กูไม่ฟังมึงหรอก มึงจำของท่านอาจารย์ใหญ่มา กูไม่ฟัง !”

หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่า “ไม่ฟัง ! ถ้ามึงจะให้ฟังมึงต้องพุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วมึงต้องดูกายให้ได้”

ก็มานั่งอยู่กับท่านนี่ ทำวัตรทุกคืนนะ ทำวัตรด้วยกันนี่แหละ นั่งกันตรงข้ามนี่ พอนั่งไปมันพิจารณากาย อู้ฮูมันเป็นโครงสร้างเหมือนกับกระดูกที่เขาแขวนนี่ แต่มันเป็นใสหมดเลยไง บอกอู้ฮู..มันใสหมดเลยนะ นี่ฟังสิคำนี้เราฟังแล้วเรากระเทือนเลยนะ

พอนั่งเสร็จพอเลิกไง มึงว่าไงล่ะ ท่านก็บอกว่า “ทำไมมึงนั่งตัวเอียงๆ ล่ะ”

“โอ้โฮ.. โครงกระดูกใสหมดเลย ใสแจ๋วเลย”

“นั่นแหละสมาธิมึงดีเกินไป”

โอ้โฮ..นึกว่าจะได้คำชมนะ โดนเข้าไปอีกหมัดหนึ่ง “สมาธิมึงดีเกินไป”

ถ้าสมาธิดีมันจะใส แบบว่ามันไม่เป็นวิภาคะ คือมันไม่ขยายส่วนไง คือมันไม่เกิดอาการที่เป็นไตรลักษณ์ อาการที่มันเน่ามันพอง มันไม่เห็นหรอก ถ้าสมาธิแรงเกินไปนี่ก็ต้องพิจารณามากๆ ให้มันสมดุลไง

นี่เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ที่เป็นนะ พูดไปแล้วนี่ท่านสวนคำเดียว โป๊ะ ! ไก่นี่ หักคอไก่ทุกทีเลย พูดไม่ออกหรอก ฉะนั้นของเราก็พิจารณาซ้ำๆๆ แล้วมันก็ละลายไป ละลายไปก็รายงานท่านอยู่ เห็นไหม นี่คือการพิจารณา นี่เวลาจับต้นชนปลายไม่ได้ก็จับต้นชนปลายไม่ได้เลย

แต่เวลาเรามาอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ เราออกมาจากบ้านตาด เราอยู่กับครูบาอาจารย์ มันจับต้นชนปลายได้แล้ว พอจับต้นชนปลายได้แล้ว พอมาฟังหลวงปู่เจี๊ยะพูด มันถึงเข้าใจง่ายไง แต่ถ้าเรายังไม่จับต้นชนปลายนะ หลวงปู่เจี๊ยะพูดอย่างนั้นนะ มันจะเถียงนะ มันจะต่อสู้นะ คำว่าต่อสู้คือเราสู้ไม่ได้หรอก

ไอ้นี่แมวกับหนู หนูมันสู้แมวไม่ได้หรอก แต่หนูนี่มันจะกลับไปอยู่ในรู แล้วไปนั่งคิดเอาเองว่าตัวเองเก่งไง มันจะสู้ สู้ด้วยความคิดไง ว่ากูนี่แจ๋ว ยังเถียงไม่จบว่าอย่างนั้นเถอะ หนูนี่มันจะเอาอะไรไปสู้กับแมวได้ แต่มันก็อวดเก่งไง หนูมันก็เก่งของมันประสาหนู แต่ในรูนะ มันจะกลับไปอยู่ในรูของมัน แล้วมันก็ไปอวดเก่งอยู่ในรูนั่นล่ะ

แต่นี่เพราะว่ามันมีร่องมีรอยมา พอแมวตะปบนะโอ้โฮ..เลือดออกเลยเว้ย มันก็พลิกแพลงต่อสู้ มันก็พยายามแก้ไขของมันไง แต่ถ้านี่เราเทียบถึงนิสัยเรา แล้วเราเทียบถึงว่าเราผ่านครูบาอาจารย์มา ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์บางองค์คอยให้คติ ให้กำลังกับเรามา ให้ทัศนคติเรามา แล้วเราไปเจออาจารย์องค์ต่อๆ ไป เวลาท่านพูดมา เราจะมีความเข้าใจอย่างนั้นไม่ได้

แต่ถ้าเรามีทัศนคติ เรามีได้การปรับปรุง ได้การปรับพื้นฐานของเรามา พอไปเจอครูบาอาจารย์ท่านพูดมาอย่างนี้มันเข้ากันได้ มันเข้าใจได้ มันเข้าใจได้ว่าท่านพูดนี่หมายความว่าอย่างไร แต่ ! แต่เราเองยังไม่รู้จริง แต่มันเข้าใจได้ว่าคำพูดของท่านนี่ ท่านพูดมานี่มีความหมายว่าอย่างใด แต่เรายังไม่ได้รู้อย่างนั้นได้ พอไม่รู้อย่างนั้นได้ ก็ต้องต่อสู้ ต้องพิจารณาใคร่ครวญ

นี่เป็นเพราะเรามีพื้นฐานมา เรามีครูบาอาจารย์ที่ท่านให้คติเรามา พอเจอครูบาอาจารย์อีกองค์ ไปหาอาจารย์ถวิล ออกจากหลวงปู่เจี๊ยะไปหาอาจารย์ถวิล ไปถึงก็ไปพูดพิจารณาจิต เพราะคำว่าพิจารณาจิตมันนิสัย คนเราชำนาญการสิ่งใด เวลาเราเข้าสู่สงคราม เราเข้าสู่ข้าศึก เราจะใช้ตามจริตนิสัย ใช้ความถนัดของเรานี่ออกก่อน เพราะว่ามันเป็นความถนัด มันพูดได้เต็มไม้เต็มมือ แต่ถ้าพูดถึงสิ่งไหนที่ไม่ถนัด มันจะพูดไม่เต็มไม้เต็มมือ

ไปหาอาจารย์ถวิลก็บอกว่า “ผมพิจารณาจิตครับ” ท่านนั่งแคะฟันเฉยไม่ฟังเลยนะ ไม่ฟัง เอ๊ะ..เราก็สังเกต เอ๊ะ..ท่านไม่ฟังเราเลยเว้ย เหมือนกับผู้ใหญ่นั่งดูเด็กเล่านิทานอย่างนั้นแหละ เราพลิกเลยนะ “โอ๋ย..ผมพิจารณากายนะ พอพิจารณากายนี่ โอ้โฮ..มันละลายเลยนะเป็นโครงเป็นโครงกระดูก แล้วมันละลายอย่างนั้นนะ”

“เออ..เมื่อกี้ไม่พูดอย่างนี้นี่”

นี่ไง ความถนัดของคนเห็นไหม ความเข้าใจของคน ความถนัดของคน มันแตกต่างมาก นี่พอเราผ่านครูบาอาจารย์ เราจะเข้าไปคุยกับครูบาอาจารย์ เพราะเรามีพื้นฐานมา ถ้าคุยกับครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์ถนัดอย่างนี้

อย่างเช่นเราไปทางประมงใช่ไหม เราก็คุยกับเขาเรื่องการหาปลา จริงไหม ไปประมงออกทะเล อวนชนิดนั้น อวนชนิดนั้นเบ็ดอย่างนั้นได้ปลาอย่างนั้น อู้ฮู..คุยกันรู้เรื่องเลยนะ แล้วเวลาเราไปเที่ยวป่านะ เราบอกเราจะเอาอวนไปดักสัตว์นี่เขาไม่ฟังหรอก เขาบอกว่าถ้าเข้าป่านะ มันต้องมีปืนชนิดนั้น ชนิดนั้นจะยิงสัตว์ชนิดนั้น โอ้โฮ..เขาจะฟังกันได้

เวลาพิจารณาไป พิจารณากายจะเป็นอย่างนี้ พิจารณาจิตจะเป็นอย่างนี้ พิจารณาเวทนาเป็นอย่างนี้ มันอยู่ที่ความชำนาญ ถ้าคนมีความชำนาญปั๊บมันจะแตกต่างหลากหลาย นี่เวลาภาวนาไป แต่ ! แต่ไม่ต้องเอามาเป็นความกังวลนะ มันอยู่ที่เรา เราจะลงทะเลออกทะเลหาปลา เราก็ต้องใช้อวน ถ้าเราจะเข้าป่า เราก็ต้องมีปืนผาหน้าไม้เพื่อจะล่าสัตว์

การปฏิบัติของเรานี่ เราพิจารณากายก็ต้องพิจารณากายไปเลย ถ้าพิจารณาจิตจะพิจารณาอย่างไรต้องเอาไปเลย อย่าไปวิตกกังวล เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วเอาให้ชัดเจน เอาให้มั่นคงไป ในอริยสัจ กาย เวทนา จิต ธรรมนี่อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะนี้เราเข้าป่า ไม่ต้องไปกังวลถึงทะเล ไม่ต้องกังวลถึงการหาปลา เพราะเราเข้าป่าไม่ใช่ไปหาปลา แต่ถ้าเราลงทะเล เราลงน้ำหาปลา ไม่ต้องไปกังวลเรื่องสัตว์ป่า เพราะนี่เราอยู่ในทะเล ในทะเลก็ระวังจระเข้

นี่เวลาเราพิจารณาไปนี่ พอเวลาทำจริงๆ แล้วนี่มันจะไปทางใดทางหนึ่งเลย ให้ชัดเจนเลย สิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิ่งนั้นต้องชัดเจน อย่าจับจด อย่าจับจด อย่าละล้าละลัง ความละล้าละลังนี่จิตมันไม่เป็นเอกภาพ สมาธิเราไม่มั่นคง เราใช้ปัญญาไม่ได้เต็มตัว สิ่งนั้นมันจะไม่ได้ผล ทำสิ่งใดก็แล้วแต่ต้องเป็นเอกภาพด้วยความเป็นจริง แล้วทำจริงจังเข้าไป นั้นมันจะได้ผลตามนั้น

นี่พูดถึงในการปฏิบัติในการทำความจริง ทีนี้ก่อนจะปฏิบัติจะมาเริ่มต้น เริ่มต้นปฏิบัติเห็นไหม เริ่มต้นปฏิบัตินี่เราต้องมีความมั่นใจก่อน ความมั่นใจเกิดจากอะไรรู้ไหม เวลาพระพุทธเจ้าสอนนี่พระพุทธเจ้าจะบอกว่า ให้ศรัทธาไทยตกร่วง ต้องให้มีความศรัทธามีความเชื่อมั่นก่อน

ศรัทธาตัวนี้สำคัญมากนะ ศรัทธาคือความเชื่อมั่น เราเชื่อมั่นว่าเรานี่เป็นชาวพุทธ เรามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา ศาสดาของเรา พระพุทธเจ้าประกาศตนกับพระปัญจวัคคีย์ว่าเราเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าประกาศตนว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านรู้จริง

ทีนี้ถ้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้จริง เราพยายามจะประพฤติปฏิบัติ เราต้องเชื่อมั่น เชื่อมั่นที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องพุทธานุสสติ พระพุทธเจ้าถึงสอนกรรมฐาน ๔๐ ห้อง พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ เรื่องกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ก็เพื่อให้จิตสงบก่อน

คำว่า “จิตสงบ” นะ ทำไมต้องจิตสงบ ถ้าจิตไม่สงบ พอจิตเราไม่สงบ ความคิดของเรา เขาเรียกโลกียปัญญา ที่ว่าปัญญาความคิดของเรา มันเป็นโลกียปัญญา คือปัญญาที่เกิด ความคิดของเราเกิดจากกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ทั้งๆ ที่เราคิดเรื่องศาสนา เราคิดเรื่องอริยสัจ แต่เพราะเรายังมีกิเลสอยู่ เรามีกิเลสอยู่ใช่ไหม

เหมือนภาชนะที่มันสกปรก อะไรปลิวเข้าไปมันต้องสกปรก เราถึงต้องทำความสะอาด ถ้าความสะอาดเหมือนกับภาชนะ ภาชนะสกปรก เราก็ล้างให้มันสะอาด พอภาชนะสะอาดปั๊บ เราจะไปรับอะไรก็ได้ เห็นไหมถ้วยชามของเรา จะรับก๋วยเตี๋ยว รับอะไรมันก็กินได้หมด เห็นไหม ถ้าภาชนะเราสกปรก แล้วทำความสงบ ทีนี้ความสงบ มันสกปรกมากสกปรกน้อยล่ะ ถ้ามันสกปรกมาก เราล้างแล้วมันสกปรกเล็กน้อย มันจะต้องการอาหาร มันก็ใช้ปัญญาได้ไง

ฉะนั้นคำว่าทำไมต้องทำความสงบ ทำความสงบของใจ ถ้าจิตมันสงบนะ ทำความสงบนี่เหมือนมุมมอง เหมือนเรานี่ ถ้าจิตเราดี เรามีความเข้าใจดี เราเห็นเหตุการณ์ต่างๆ เราจะพิจารณาด้วยปัญญา เราแก้ไขเหตุการณ์นั้นได้เลย

เรากำลังเครียด เรามีความทุกข์มากเลย เกิดวิกฤตขึ้นมานี่อันหนึ่ง เรามองวิกฤตนั้นเราตีความหมายไม่ออกนะ แต่ถ้าเราทำความสงบของใจ ใจเรามีความมั่นคง เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นมาเราแก้ไขได้หมดเลย อู๋ย..ปัญหาเล็กน้อย แต่ถ้าเราเคร่งเครียดนะ โอ้โฮ..ปัญหานะเท่าขี้เล็บเลยนะ มันเหมือนกับปัญหานี้เท่ากับภูเขาเลย เพราะมันเครียด

ทีนี้ทำความสงบของใจเพื่อเหตุนี้ไง ทำให้มันสงบ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้ามันสงบไม่ได้ หรือมันยังไม่สงบ เราจะออกใช้ปัญญาบ้าง ปัญญานี้ก็เพื่อความสงบ ปัญญานี้เพื่อความสงบ ออกใช้ปัญญาได้ แล้วก็บอกว่านี่ พุทโธ พุทโธนี่อีกกี่ชาติจะได้ใช้ปัญญา

ปัญญาใช้ได้ แต่ปัญญานี้ก็ใช้มาพิจารณาเพื่อความสงบนี่แหละ เพราะถ้าเราไม่ใช้ปัญญาเลย เรามีแต่ความเครียด พุทโธ พุทโธไปนี่ มันเพราะอาหารนะ จิตมันกินอารมณ์กินความคิดเป็นอาหาร แล้วพอพุทโธ พุทโธ มันเบื่อหน่าย มันไม่ชอบใจ มันก็โต้แย้ง ขัดแย้ง ทีนี้พอโต้แย้งขัดแย้งมันก็เกิดความเครียด ทีนี้พอโต้แย้งขัดแย้งเราก็เปลี่ยนบ้าง ใช้ปัญญาบ้างอะไรบ้าง แก้ไขนั้นไป

ฉะนั้นมันต้องมีศรัทธาความเชื่อ ความเชื่อของเรา ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ ศรัทธาแก้กิเลสไม่ได้ เห็นไหมดูสิที่ว่าความเชื่อ ความเชื่อนี่เห็นไหม ศาสนาพุทธนี่เป็นศรัทธา ศรัทธาเลยหลอกลวงกัน ศรัทธา ๑๘ มงกุฎมันก็เลยหาแต่เงินแต่ทอง ทำบุญต้องเอาเงินไปทุ่มกัน ไม่ใช่ !

พระพุทธเจ้าบอกเลย บอกว่าหาเงินมาได้บาทหนึ่ง จะต้องเอาไว้ทำทุน ๑ สลึง ไว้เลี้ยงพ่อแม่ ๑ สลึง เก็บไว้เวลาแก่เฒ่าอีก ๑ สลึง อีก ๑ สลึงถึงเอามาทำบุญ ท่านพระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนเอามาฝังดินไว้ คือเอามาทำบุญ แล้วถ้าเราไม่มีเลยล่ะ ไม่มีเลยไม่เป็นไร ไม่มีเลยนะให้อนุโมทนาทานไปกับเขา เห็นเขาทำบุญกุศลก็อนุโมทนาไปกับเขา ไม่มีอะไรก็ทำบุญได้

ทำบุญคือว่าเราเห็นดีเห็นงามไปกับเขา นี่ก็เป็นบุญแล้วนะเพราะบุญเกิดจากใจ เราถึงบอกว่า ถ้าพูดถึงว่า ถ้าเราไม่มีปัญญาเลย เราก็จะไปเชื่อเขา พระพุทธเจ้าพูดไว้เองในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกหาเงินมานะ แล้วเราทำบุญๆๆ ไม่ใช่ อามิส พระพุทธเจ้าสอนให้เวลาค่ำคืนขึ้นมามีเวลา ให้กำหนดพุทโธ พุทโธ คำว่าทำใจของเราสงบมีคุณค่ามากกว่า มีคุณค่ามาก บุญที่เกิดจากปฏิภาณไหวพริบ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา มันจะเห็นเอง เห็นเองว่าอะไรควร อะไรไม่ควร

แต่เพราะจิตเรานี่เศร้าหมอง จิตเรานี่อยู่ในการครอบงำของอวิชชา ไม่เชื่อตัวเองนะ ต้องให้อาจารย์บอกว่าเอาตังมาเอาตังมา แล้วเอ็งเอาบุญไป อย่างนี้ก็ไม่ถูก เห็นไหม แต่ถ้าจิตใจเราดีขึ้นมานี่ เราเข้าใจได้ไง เห็นไหม ขนาดว่าจิตสงบเราก็รู้แล้วอะไรควรไม่ควร เออ อาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเรานะ ท่านชี้นำเข้ามา ชี้แนะเข้ามาให้เราทำคุณความดี สิ่งนี้มันใจถึงใจนะ ยิ่งเราเห็นคุณค่ามากเท่าไรนะยิ่งเคารพบูชามากเท่านั้น

ยิ่งถ้าเรานะ ดูสิเวลาหลวงตาท่านกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านบอกพระพุทธเจ้ารู้ได้อย่างไร เราทำอะไรไปนี่รู้หมดแล้ว นี่สมัยหลวงปู่มั่นนะ ใครทำอะไรไป ไปถามท่านสิ ท่านรู้ก่อนเราแล้ว ถ้าไม่รู้มาก่อนท่านจะมาสอนเราได้อย่างไร ถ้าไม่ผ่านประสบการณ์อย่างนั้นมา ท่านจะมาสอนเราได้อย่างไร นี่ นี้ประสบการณ์มันเกิดมา ก็เกิดมาจากความที่ว่าเราไม่รู้สิ่งใดเลย

นี้เราพยายามแก้ไขของเราเห็นไหม แก้ไข มีความเชื่อ มีความเชื่อมั่น แล้วกำหนดลมหายใจเข้านึก “พุท” ลมหายใจออกนึก “โธ” ไปก่อน เริ่มต้นเพราะอะไรรู้ไหม เริ่มต้นจากสิ่งที่ไม่เคยทำ เวลาทำหน้าที่การงานเห็นไหม เราจะมีอุปกรณ์มีอะไรต่างๆ ทำ แต่เวลาจะปฏิบัติใจ แล้วเราเอาอะไรมาทำล่ะ ก็เอาลมหายใจกับความรู้สึกนี่เป็นอุปกรณ์ ลมหายใจเข้านึก “พุท” ลมหายใจออกนึก “โธ” หยาบๆ เริ่มต้นตรงนี้ก่อน

เราบอก อู้ฮู..นี่มันหยาบมันพื้นฐาน ไม่มีประโยชน์อะไรเลย พวกเรานะ ถ้าพื้นฐานนะ การศึกษาไม่ดีมานะ การศึกษาข้างหน้านี่จะล้มเหลว อนุบาลนี่นะ การศึกษา พื้นฐานมานี่ให้มันแน่น แล้วพอเราเรียนขึ้นไปข้างบนนี่มันจะเข้มแข็ง ลูกของคนมีฐานะ เขาส่งลูกเรียนเมืองนอกกลับมา เขาไม่ให้ลูกเป็นนักบริหารหรอก เขาให้ลูกไปเป็นจับกัง ให้ลูกลงไปเป็นพื้นฐานในบริษัทของเขา หัดล้างส้วม หัดแบกของ ให้รู้จักพื้นฐานของงานขึ้นมาเลย แล้วพอเขารู้พื้นฐานในงานบริษัทของเขาแล้วนี่ เขาจะรักษาบริษัทของเขาไว้ได้

เรียนจบมาเลย มาถึงให้เป็นผู้อำนวยการเลยนะ ข้างล่างมันโกงมันกินกันนะ ไม่รู้เรื่องเลย เปิดแต่ตำรานะ โอ้โฮ..บริหารจัดการนะ แหม..บริษัทกูจะร่ำรวยมหาศาลเลยนะ ไอ้ข้างล่างมันเจาะกันรูพรุนไปแล้วยังไม่รู้ตัวเลยนะ

เห็นไหม ทำไมถึงต้องกำหนดลมหายใจเข้านึก “พุท” ลมหายใจออกนึก “โธ” พุทโธ พุทโธนี่ พื้นฐานนี่ให้เราเข้าใจ พื้นฐานเข้าใจ จิตเป็นสมาธิก็เข้าใจ พอจิตมันออกจับปัญญา โอ้โฮ.. เฮอะ..ปัญญาอย่างนี้ก็มีด้วยหรือ ปัญญาอย่างนี้ ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น ไอ้ปัญญาที่คิด คิดมาทั้งปีทั้งชาตินี่นะ ไอ้นั่นมันโลกียปัญญา ปัญญาอย่างนั้นนี่ยิ่งคิดยิ่งงง ยิ่งคิดยิ่งสงสัยเนาะ พอจิตเป็นสมาธินะ พอปัญญามันออกนะ โอ้โฮ.. มันถอดมันถอนนะ ปัญญาอย่างนี้มันเกิดได้อย่างไร

นี่ไง ถ้าภาวนามยปัญญามันเกิดนะ เราจะเห็นเลยเห็นความต่างของโลกียปัญญา กับของโลกุตตรปัญญา โลกุตตรปัญญานี่มันเกิดขึ้นมาโดยสัจธรรม มันไม่เกิดขึ้นมาจากการคาดหมาย มันไม่เกิดขึ้นจากจินตนาการ มันไม่เกิดขึ้นมาจากการมีตัวเราเข้าไปมีส่วนร่วม ถ้ามีตัวเราเข้าไปมีส่วนร่วม มันจะมีอวิชชาเข้าไปบวก มีส่วนร่วมเข้าไป มันไม่เป็นความจริง

แต่ถ้ามันเป็นสัจธรรม แล้วสัจธรรมเกิดบนอะไรล่ะ อ้าว..แล้วสัจธรรมมันเกิดได้อย่างไรล่ะ อ้าว..ก็ปฏิบัติแล้วก็เป็นโลกียปัญญา แล้วนั่นเป็นสัจธรรมได้อย่างไร

สัจธรรมเพราะจิตมันสงบ จิตเป็นสากลไง ถ้าจิตไม่สงบนะ นี่ไงพันธุกรรมทางจิต เพราะจิตเราไม่สงบ ทุกคนนี่มีมุมมองต่างๆ กัน ทุกคนมีความคิดหลากหลาย ปัญหาเดียวเกิดขึ้นมานะ ๒๐ คนมันก็เถียงกัน ๒๐ เรื่อง เพราะความคิดมันหลากหลาย แต่พอจิตมันสงบเป็นสากล จิตเป็นอันเดียวกัน เพราะความสงบเป็นสงบอันเดียวกัน มันมองปัญหานั้นออกนะ ปัญหานั้นมันมองมาในมุมมองใกล้เคียงกันมากเลย

มันก็มี DNA นี่แหละ มันมีพันธุกรรมทางจิตนี่แหละ แต่เพราะข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้ แล้วจิตเราเป็นสากล จิตมองเหตุการณ์นั้นด้วยเป็นสากล ด้วยข้อเท็จจริง มันไม่ได้มองด้วยอารมณ์ความรู้สึก มันมองด้วยข้อเท็จจริง มันจะเห็นข้อเท็จจริงว่าเหตุการณ์อย่างนี้ควรแก้ไขอย่างไรเห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันสงบแล้ว พอมันออกมาพิจารณาไปแล้ว มันตามข้อเท็จจริง นี่สัจธรรมมันเกิด สัจธรรมมันเกิด สัจธรรมมันเกิดบนอะไร สัจธรรมมันเกิดบนหัวใจของสัตว์โลก สัตว์โลกมันมีอวิชชา สัตว์โลกมันมีอวิชชาพาเกิด แล้วสัจธรรมมันเกิดบนนั้น เพื่อมันจะถอดถอน สัจธรรมมันเกิดขึ้นบนหัวใจที่มันจะถอดถอนอวิชชา บนหัวใจนั้นเห็นไหม

นี่ปัญญามันเกิดที่ไหน ! ปัญญามันเกิดที่ไหน ! สัจธรรมมันเกิดที่ไหน ! สัจธรรมมันเกิดในพระไตรปิฎก สัจธรรมมันเกิดในตำรา ไอ้นั่นมันเป็นสุตมยปัญญานะ สัจธรรมมันเกิดบนหัวใจ เกิดบนความรู้สึก เพราะความรู้สึกนี้มันพาเกิดพาตาย จิตปฏิสนธิ ปฏิสนธิวิญญาณ ปฏิสนธิจิต ที่จิตมันมาเกิดเป็นเรา ตัวนี้มันพาเกิดนะ เกิดโดยกรรม แล้วเราพิจารณาของเรา เราทำความสงบของใจเข้าไป แล้วจิตมันสงบเข้ามา แล้วออกรู้ด้วยปัญญา

นี่สัจธรรมมันเกิดบนหัวใจ มันจะถอดถอนไอ้อวิชชาบนปฏิสนธิจิตนั่น พอจิตนั้นโดยทำลายหมด อาสะเวหิ จิตตานิ วิมุจจิงสูติ อาสวะสิ้นไป จิตไม่มี จิตโดนทำลายหมด ถ้าจิตมีจิตตัวภพ ตัวภพตัวภพชาติ เพราะปฏิสนธิจิตมันพาเกิดพาตาย ทำลายตรงนี้หมดเลย มันไม่มีไปเกิดเห็นไหม ไม่มีอะไรเกิดแล้วพระพุทธเจ้าพูดอะไร ๔๕ ปี นี่ไงสอุปาทิเสสนิพพาน เห็นไหม

นี่เริ่มต้นปฏิบัติ ท่านบอกจะพูดให้มีความเชื่อมั่น แล้วกำหนดนี่ (สูดลมหายใจ) ลมหายใจเข้านึก “พุท” ลมหายใจออกนึก “โธ” ทำไปเรื่อยๆ ถ้ามีวาสนาจิตมันจะสงบ แล้วมันจะมีความร่มเย็น ถ้าไม่มีวาสนา หรือว่าเราคนนี่ วาสนาไม่ใช่เกิดจากตรงนี้หรอก วาสนาเกิดมาตั้งแต่อดีตชาติ นี่พันธุกรรมทางจิตมันเกิดมานะ

พอเกิดมาแล้วความคิดความนึกการกระทำนี่มันเป็นจริตนิสัย นิสัยคนมันหลากหลาย พุทโธ พุทโธ ถ้าจิตมันสงบมันก็สงบไป ถ้าจิตไม่สงบมันมีอุปสรรคมันมีอะไร เพราะอันนี้มันเป็นบุญกรรมของแต่ละบุคคล ถ้าบุญกรรมของแต่ละบุคคล ถ้ามีอุปสรรค เราต้องแก้ไขไปตามอุปสรรคนั้น

ถ้ามีอุปสรรคเห็นไหม ถ้ามันภาวนาพุทโธก็ไม่ได้ ใช้ปัญญาคิด ใช้ปัญญาตรึกในธรรม ถ้าตรึกในธรรมเพราะพระพุทธเจ้าสอนพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบันนะ แล้วมาปฏิบัติมาบวชกับพระพุทธเจ้า แล้วไปนั่งพุทโธ พุทโธอยู่ แล้วสัปหงกโงกง่วง นี่พระโสดาบันนะ พระพุทธเจ้าบอก มาโดยฤทธิ์เลย

“โมคคัลลานะ ถ้าเธอง่วงเหงาหาวนอน ก็จงแหงนหน้าดูดาว ไม่หาย ถ้าไม่หายนะเอาน้ำลูบหน้า ถ้าไม่หายแล้วให้ตรึกในธรรม ถ้าไม่หายให้นอนซะ นอนแล้วตื่นขึ้นมาค่อยทำใหม่”

นี่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ เวลาสมองมันโงกง่วง นี่พระโมคคัลลานะนะ แล้วเรานี่เป็นใคร เราจะไม่มีการสัปหงกโงกง่วง เราจะไม่มี นี่พระพุทธเจ้าสอนนะ นี่เวลาพระพุทธเจ้าสอน เวลามันง่วงเหงาหาวนอนนี่ จะแก้ไขอย่างไร พระโสดาบันยังนั่งสัปหงก พระโมคคัลลานะยังนั่งสัปหงก แล้วเวลาเราเป็นขึ้นมา เราจะน้อยใจทำไม เราต้องแก้ไขของเรา

ทีนี้เราทำพุทโธ พุทโธไป ถ้ากำหนดลมหายใจเข้าออก พอ “พุท” ลมหายใจเข้า “โธ” ลมหายใจออก มันจะตกภวังค์บ้าง มันจะตกภวังค์เราก็เข้าใจได้ ถ้ามันตกภวังค์นะ มันจะพุทโธ พุทโธ พุทโธแวบหายไปเลยนะ พอสักครึ่งชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่งนี่มันสะดุ้งปุ๊บกลับมาแล้ว นั่นล่ะตกภวังค์ บางทีพุทโธ พุทโธมันจะเริ่ม พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่มันก็จะเฉยๆ ไป จนไม่รับรู้อะไรเลย นั่นก็เป็นภวังค์อย่างอ่อนๆ

แต่ถ้าเป็นสมาธินะ พุทโธ พุทโธนี่ อู้ฮู..จิตมันจะนิ่ง เห็นเหมือนเราลืมตา เราเห็นภาพชัดเจน นี่ลืมตาดูเห็นภาพชัดเจนเลย พุทโธ พุทโธ พุทโธไป มันชัดเจนแล้วมันจะละเอียดลงไป ชัดเจนอย่างนี้เลย ชัดเจนตลอดเวลา จนจิตมันรวม มันเป็นอิสรภาพของมันนะ โอ้โฮ.. โอ้โฮ.. มันรู้ของมันตลอดเวลา ไม่มีเวลาแยกแยะไปไหนเลย มันรู้ของมัน มันมีความสุขของมัน มันเหมือนกล้วยกับเปลือกกล้วย ร่างกายนี่เป็นเปลือกกล้วย ตัวจิตเป็นตัวกล้วย กล้วยกับเปลือกกล้วยนี่มันปอกกล้วยเลย คือจิตมันสงบจนไม่รับรู้ร่างกายนี้เลย อย่างนี้ก็เป็นได้

นี่พูดถึงสมาธินะ แต่สมาธิก็คือสมาธิ สมาธิคือจิตสงบ ถ้าจิตสงบมันใช้ปัญญา พอจิตสงบออกมาแล้ว มุมมองการเห็นพิจารณาต่างๆ มันจะหลากหลาย มันไม่เป็นมุมมองเดิมๆ มุมมองเดิมๆ คือพันธุกรรมทางจิต มันมองเห็นเหตุการณ์อย่างนี้ มันเป็นร่องสมองไง ร่องสมองมันชอบมันไม่ชอบอย่างนี้มันสูตรตายตัว สิ่งนี้เกิดขึ้นมามันก็ให้ค่าโดยอัตโนมัติ

แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ ร่องสมองไม่เกี่ยว มันเป็นพลังงานของจิตล้วนๆ แล้วถ้ามันมีกำลังของมัน มันพิจารณาของมัน มันจะเข้ามาถอดถอนไอ้สิ่งที่รกรุงรังในหัวใจ มันถอดถอนออกไปเรื่อยๆ เขาเรียกว่าตทังคปหาน คือการชำระล้างชั่วคราว ชั่วคราว ชั่วคราว จนมีความชำนาญนะ ถึงที่สุดมันถอนเลย ถอนอะไร ถอนความเห็นผิด สักกายทิฏฐิไง ความเห็นผิดว่าสิ่งนี้เป็นของเรา สรรพสิ่งนี้เป็นของเรา จิตใต้สำนึกก็เป็นของเรา แต่เป็นของเราจริง ของเราโดยสมมุติ

ชีวิตนี้เป็นของเรานะ ทุกอย่างเป็นของเรา อิสรภาพของเรา เราแก้ไขของเรา เราทำของเราได้ แล้วพอมันก็เข้าใจว่าเราคือเราไง แล้วมาถอดถอนตรงนี้ออกไปนะเราจะเห็นเลย เราจะเข้าใจได้เลย พอมันถอดถอนอันนี้ออกเห็นไหม นี่มันก็อยู่กันโดยธรรมชาติ มันอยู่กันโดยสัจจะความจริง

สัจจะความจริงว่า เราเกิดมาในชีวิตนี้ แล้วนี่มันถอดถอนความเห็นผิดอันนี้แล้ว มันจะมีข้างหน้าต่อไป สัจจะความจริงมันจะเคลื่อนเข้าไป ถึงที่สุดนะ มันทำให้จิตนี้พ้นออกไปจากสัจจะทั้งหมด สัจจะ อริยสัจจะ แล้วมันพ้นเข้าไปเห็นไหม สัจจะนี่ก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง สมมุติบัญญัติ วิมุตติมันพ้นออกไป พอพ้นออกไป มันจะพ้นออกไป

พูดมากมันก็เหมือนกับว่าเรายืนกระต่ายขาเดียว เพียงแต่เราปฏิบัติกัน แล้วถ้ารู้จริงขึ้นมา แล้วมาคุยกันนะ กำมาเลย เหมือนกันไหมแล้วแบออกมา กำมาเลยนะ แล้วมาแบ ใช่ไหม ถ้ากำมาเลย แบออกมานี่ไม่มีอะไรเลยเห็นไหม ถ้ากำมา แบออกมา นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันรู้จริงนี่มันจะเป็นอย่างนั้น ไม่หวั่นไหว ไม่กลัวสิ่งใดเลย กำมาเลยนะ แบออกมานี่เหมือนกันไหม

อันนี้เป็นความจริงอันหนึ่งนะ นี่พูดถึงการปฏิบัตินะ เริ่มต้นกำหนดพุทโธ พุทโธ ต้องให้จิตสงบ จิตสงบขึ้นมาเห็นไหม ถ้าจิตสงบขึ้นมา ปัญญามันจะเป็นปัญญาของเรา ถ้าจิตไม่สงบเข้ามานะ ปัญญาที่เราพิจารณาอยู่นี่ มันเป็นปัญญาของพระพุทธเจ้า

สัจธรรมนี่เราพิจารณาไปขนาดไหนนะ ไม่พ้นจากปัญญาพระพุทธเจ้าไปได้หรอก แต่ถ้ามันเกิดกับเรานะ นี่มันเป็นปัญญาของเรา ปัญญาของเราเพราะอะไร เพราะมันเป็นธรรมะส่วนบุคคล ธรรมะของจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นถอนเอง จิตดวงนั้นทำเอง เห็นไหม มันถึงเป็นนิพพานของใจดวงนั้น

เวลาพระสารีบุตรไปลาพระพุทธเจ้าไปนิพพานเห็นไหม พระโมคคัลลานะไปลาพระพุทธเจ้าไปนิพพาน แล้วเวลาพระพุทธเจ้าท่านจะนิพพานของท่านนะ

“อานนท์ เราไม่ได้เอาธรรมะของใครไปเลยนะ เราเอาแต่ของเราไปเอง เราเอาสัจจะความจริงในหัวใจของเราไป เราไม่ได้เอาธรรมะของใครไปเลย”

นี่พูดกับพระอานนท์นะ พระอานนท์ร้องไห้ใหญ่เลย เพราะพระพุทธเจ้าจะนิพพาน เพราะพระอานนท์เป็นพระโสดาบัน ต้องการอาจารย์อีก ต้องการผู้สอน

“อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ ธรรมและวินัยที่เราตรัสไว้ดีแล้ว จะเป็นศาสดาของพวกเธอ เราตายแล้วเราก็เอาแต่ธรรมะของเราไปเอง คือเอาความรู้สึกของเราไปคนเดียว”

พระสารีบุตรก็เอาของพระสารีบุตรไป พระโมคคัลลานะก็เอาของพระโมคคัลลานะไป พวกเราถ้าปฏิบัติได้ก็จะเอาของเราไป ถ้าเรายังปฏิบัติไม่ได้ เราก็จะเอาทุกข์ของเราไป ทุกข์นี่ ทุกข์ ถ้าเราปฏิบัติได้ เราจะเอาสัจจะความจริงของเราไป

ฉะนั้นปฏิบัติแล้วนี่ มันเป็นสัจจะความจริงของเรานะ เราถึงต้องตั้งใจของเรา ปฏิบัติของเราเพื่อเรา เอวัง