ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สมาธิไม่ใช่นิ่งๆ

๑๙ พ.ย. ๒๕๕๒

 

สมาธิไม่ใช่นิ่งๆ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โยม ๑: “พุท” ลมหายใจเข้า “โธ” ลมหายใจออก ที่จมูกนี้นะค่ะหลวงพ่อ ที่เวลาหนูฟังเทปหลวงพ่อบอกว่า “ให้ท่องพุทโธเร็วๆ ” นี่ก็คือเราไม่ต้องไปจับที่ลมหายใจ เราใช้ พุทโธๆ พุทโธๆ พุทโธเอาหรือค่ะ

หลวงพ่อ : โดยปกติ โดยเริ่มต้นในการปฏิบัติการฝึกเด็กใหม่ การฝึกผู้ปฏิบัติใหม่ การฝึกปฏิบัติมันเป็นนามธรรม เป็นความรู้สึก ถ้าเราจะกำหนด “พุทโธๆ เร็วๆ ” พุทโธเลย หรืออะไรต่างๆ นี่ บางทีบางคนทำไม่ได้

โดยรูปธรรมนี่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก นี่เป็นอานาปานสติ พุทโธ พุทโธๆ พุทโธนี่เป็นพุทธานุสติ นี้มันเป็นรูปธรรม เพราะลมหายใจนี้มันกระทบได้ เราถึงว่าลมหายใจเข้าให้นึก “พุท” ลมหายใจออกให้นึก “โธ”

นี้เป็นเบสิคของผู้เริ่มปฏิบัติใหม่ มันควรทำอย่างนี้ เพราะมันเป็นรูปธรรมที่สุดที่เราพิสูจน์ เราจับต้องได้ง่าย คือให้จิตเราไม่ล่อกแล่ก คือให้ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ นะ จิตเรานี่มันเป็นนามธรรม

จิตเป็นนามธรรมที่ว่าจับต้องได้ยาก แต่ถ้าจิตนี้มันเป็นนามธรรม แต่พอมันจับต้องอย่างนี้ปั๊บ เราจะเริ่มรับรู้ๆ นี่พอภาวนาไปส่วนใหญ่เห็นไหม นี่พอภาวนาไป เริ่มต้นมันอาจจะดีขึ้นมา หรืออาจจะดีขึ้นมาเป็นพื้นฐาน แต่เราจะได้ผลประโยชน์ที่มากขึ้น บทเรียนมากขึ้นนะ พอพุทโธๆ ลมหายใจเข้า พุทโธลมหายใจออก มันก็สงบ มันก็สบายดี

แต่ถ้าพอทำไปจนคุ้นชินนี่ มันจะเกิดตกภวังค์ได้ง่าย พุทนี่ไปผูกไว้กับลม นี่ ลมหายใจเราจะหายใจด้วยความเร็วขึ้นมาๆ นี้มันยาก ฉะนั้น เวลารถเราเดี๋ยวนี้รถเกียร์อัตโนมัติหมด แล้วจะเอารถเกียร์กระปุก รถเกียร์ธรรมดา รถมันก็จะออกเกียร์๑ เกียร์๒ เกียร์๓ เกียร์๔ ระบบรอบเครื่อง ระบบความสุดแรงบิดมันแตกต่างกันหมดเลย

แต่ทีนี้ถ้ารถมี ๔ เกียร์ เห็นไหม ถ้ามีเกียร์ 3 อยู่ด้วย รถมันจะผลักไปได้หมด ถ้ารถมันมีเกียร์ใดเกียร์หนึ่งเสีย มีอยู่เกียร์เดียว แล้วมีเกียร์ ๑ เห็นไหม ลมหายใจเข้านึก “พุท” ลมหายใจออกนึก “โธ” นี่มันใส่เกียร์ ๑ แล้วเกียร์ ๑ จะลากไปทั่วประเทศไทยได้ไหม มันก็ไม่ได้ มันมีเกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ แล้วพอเกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์๔ เราจะเข้าไปได้อย่างไร เพราะลมหายใจมันขัดแย้งกันอยู่

เราถึงบอกว่า นี่เราจะบอกเห็นไหม ทำไมบอกว่า “เวลาคนปฏิบัติใหม่ให้กำหนดลมหายใจเข้านึก “พุท” ลมหายใจออกนึก “โธ” แล้วทำไมเวลาคนอื่นมา สอน ทำไมต้องให้ พุทโธๆ ไวๆ ” พุทโธไวๆ พุทโธหมายถึงว่า คนๆ นี้ เขาปฏิบัติไปแล้วเขามีปัญหาแล้ว เหมือนรถออกไปแล้ว หลวงพ่อออกรถได้แล้ว เกียร์ ๑ มาตลอดเลย แล้วเกียร์๑ มันไปไหน มันไปไหนไม่ได้เลย ถ้าไปไหนไม่ได้เลย เขาก็ต้องใส่เกียร์ ๒ ใส่เกียร์ ๓ เพราะรอบเครื่องมันต่ำ แตกต่างละ แรงบิดมันแตกต่างกันละ

นี่เราพุทโธลมหายใจเข้า พุทโธลมหายใจออกนี่ ถ้าเรามันมีปัญหาที่มันตกภวังค์ บางทีพุทโธๆ แว็บหายไปเลย กว่าจะพุทโธมันช้า มันแก้ไขได้ยาก เขาบอกว่า “ให้เอาลมหายใจอย่างหนึ่ง หรือ เอาพุทโธอย่างหนึ่ง อย่างใดอย่างหนึ่ง” แล้วแต่คนชอบ บางคนลมหายใจชัดๆ ไม่ต้องไปพะวงถึงพุทโธแล้ว ลมหายใจอย่างเดียวเลย แล้วถ้าเราพุทโธ เอาพุทโธอย่างเดียวเลย พุทโธมันดีกว่า

แล้วมันดีกว่า ดีกว่าตรงไหน เกียร์๑ เกียร์๒ เกียร์๓ เกียร์๔ ถ้าเราออกใหม่ๆ วันนี้อารมณ์มันกระทบเราไม่รุนแรงแล้ว เราก็พุทโธปกติ วันนี้มีปัญหามามากเลย อารมณ์นี่มันกระทบกับสิ่งที่มันขุ่นเคืองหัวใจ มาถึงปั๊บ โอ้โฮ.. ความคิดมันจะรุนแรงมาก พอมันรุนแรงมาก เราก็จะพุทโธๆ พุทโธๆ เห็นไหม สิ่งที่รุนแรงเราก็สู้มัน นี่ไง รถมันวิ่งมาแล้ว มันจะแซงๆ ออกไปเขาชนตายห่าเลย ! มึงไม่เปลี่ยนเกียร์

ทีนี้พอเปลี่ยนเกียร์ เราก็พุทโธๆๆๆ เห็นไหม พอมาพุทโธนี่ พุทโธกับลมหายใจเหมือนเราจับปลาสองมือ เราทิ้งมือข้างใดข้างหนึ่ง สองมือจับปลาตัวเดียว สติจะพร้อม ทุกอย่างจะพร้อม อันนี้เวลาบอกว่า พุทโธไวๆ หรืออันใดอันหนึ่งนี่ อันนี้หมายถึงว่า เวลาคนปฏิบัติขึ้นมาถ้าเราบอก “รถให้ออกเกียร์ ๔ เลย” ดับ ! ออกเกียร์ ๒ ก็ดับ

เวลาพุทโธเลยหรือเอาลมหายใจเลย แล้วแต่เขาฝึกมาแล้วนะ ถ้าใครไม่ฝึกมาเลยนะ เอ๊ะ ! มันจะพุทโธอย่างไร แล้วมันจะเอาลมหายใจอย่างไร ถ้าบอกว่า หายใจเข้านึก “พุท” หายใจออกนึก “โธ” เออ..ชัดเจน เออ..อย่างนี้ได้ๆ มันเป็นแต่ละขั้นตอนขึ้นมา

ทีนี้เวลามาขั้นสอน ขั้นของการสอนการปฏิบัติมันก็ต้องมี ไม่ทำอะไรเลย ถึงจะมีความรู้ดีเด่ขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่เวลาปฏิบัติมันก็ต้องเริ่มต้นกันทุกคนนะ พอเริ่มต้นทุกคนต้องทำอย่างนี้ พอเริ่มต้นขึ้นมา ถ้าเริ่มต้นดีแล้ว หรือมีหลักเกณฑ์แล้ว ถูกต้อง

แต่ถ้ามาปฏิบัติแล้ว มันไม่ก้าวหน้า หรือมันทำให้เราเฉื่อยชา เราจะต้องเปลี่ยน ไอ้ที่ว่าให้เปลี่ยนหรือเวลาเราพูดแต่ละคนทำไมไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันมันอยู่ที่วุฒิภาวะของจิตมันพัฒนาขึ้นมาบ้างแล้วหรือยัง แต่ถ้าเราไม่พัฒนาขึ้นมาเลย พุทโธลมหายใจเข้า และพุทโธลมหายใจออกนี่ มันเป็นพื้นฐานที่แน่น ที่ยืนแล้วมั่นคง

แต่มั่นคงแล้วมันเติบโตไหม ถ้าไม่เติบโตเลย เห็นไหม อุบายขั้นตอนต่อไป นี่เหตุผลมันอยู่ตรงนี้ พอเหตุผลมันอยู่ตรงนี้ปั๊บ เราไม่ได้ไปตรงนี้ เวลาที่ใครมาแล้วเขาถาม ต้องดูก่อนว่าเขาทำอย่างไร เหมือนหมอ คนไข้มาแล้วเราจะแก้ไขอย่างไร เราจะให้ยาอะไรว่าอย่างนั้นเถอะ ไอ้นี่ขั้นทำความสงบนะ พอสงบแล้ว ว่างๆ ไม่รู้ทำอย่างไรต่อ แล้วทำอะไรไม่ได้เลย มันก็ไปอีกขั้นหนึ่งๆ เห็นไหม

โยม ๑ : แล้วพอนั่งไปนะหลวงพ่อ พอจิตมันนิ่งๆ สบายๆ เราก็จะปล่อยไว้อย่างนั้นหรือเปล่าค่ะ

หลวงพ่อ : ผิด!

โยม ๑ : แล้วเราต้องทำอย่างไรต่อไปคะ

หลวงพ่อ: ถ้าพุทโธต้องพุทโธตลอด ถ้าลมหายใจก็ต้องลมหายใจตลอด นิ่งๆ ปล่อยไม่ได้ ที่มีปัญหากันอยู่ ก็เพราะนิ่งๆ แล้วปล่อย นิ่งๆ แล้วปล่อยนะ ก็วางยาสลบตัวเองไง วันๆ มีสติก็ไม่ชอบนะ ถ้าวันไหนเอาวางยาสลบนะ อ้า..วันนี้ตื่นขึ้นมาสบาย นิ่งๆ นะ เราบอกว่า “จิตนิ่งๆ ไม่ได้” นิ่งๆ นี่นะ มัน ว่างๆ นะ จิตนี่ ชาวพุทธเรา พระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง นี่ก็ปล่อยวางแล้ว ไม่ต้องไปวัด แล้วก็นิ่งๆ นิ่งๆ นี่ก็ขี้ลอยน้ำไง

โยม ๑ : หลวงพ่อ คือ ว่า พอจิตมันสงบ หมายถึงว่า มันจะไปจับที่ลมหายใจ และอาจจะไม่มีคำภาวนาหลวงพ่อ แต่มันไปอยู่ที่ลมหายใจแทน ก็ไม่ได้เหมือนกันใช่ไหมค่ะ

หลวงพ่อ: ถ้าลมหายใจต้องลมหายใจชัด ถ้าพูดถึงนะ จิตอยู่ที่ลมหายใจ เขาบอกเมื่อกี้นะเห็นไหมว่า “ลมหายใจอันหนึ่ง พุทโธอันหนึ่ง อันใดอันหนึ่ง แต่ต้องชัด” ถ้านิ่งๆ นะ นิ่งๆ แล้วไม่จับอะไรเลย กิเลสมันบังเงาไง มันจะทำให้เรา.. เราทำงานทุกวัน เราจะมีผลงานตลอด “ เหนื่อยไหม เหนื่อย” เราบอกว่า “วันนี้เราทำงานด้วยการนั่งนิ่งๆ” นี่ ผลงานจะมีไหม

จิตนิ่งๆ นี่นะ มันก็เป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว มันไม่มีอะไรที่จะเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย แล้วถ้าอยู่อย่างนี้ตลอดไปมันจะเคยตัว พอมันเคยตัวนะ อ้าว...ทำงานเหนื่อยมากเลย แต่มีผลงาน บอกว่า “ไม่ต้องทำงานเลย อยู่เฉยๆ นี่สบายดี” แล้วถ้าเป็นโลกมันก็ไม่มีจะกินน่ะ แต่ถ้าเป็นจิตนะ มันไม่เคยตายนะ มันอยู่นิ่งๆ นะมันดี “สบายหลวงพ่อ โอ้โฮ..จิตนิ่งๆ นี่ ” เขาสบายของเขา เพราะโดนกิเลสครอบงำ เขาไม่รู้ตัว แต่ให้ไปบอกคนภาวนาเป็นนะ นี่ๆ ติดล่ะๆ แต่เขาไม่รู้ตัว อ้าว...ก็มันสบายนะ นี่ไงที่หลวงปู่มั่นเวลาท่านดุ ครูบาอาจารย์ท่านดุ ก็จะเอาลูกศิษย์ก็ตรงนี้ไง ตรงที่เขาเข้าใจผิด

พอเข้าใจผิด เขาว่านิ่งๆ สบายๆ แล้วพอสบายแล้วมันได้อะไร แล้วที่นิ่งๆ แล้ว ถ้านิ่งๆ โดยธรรมนะ แล้วกำหนดพุทโธๆ หรือลมหายใจเข้าไปๆ นะ มันจะเกาะเข้าไปเรื่อยๆ จิตนี่มันจะเกาะเข้าไปเรื่อยๆ เกาะจนมันเป็นตัวของมันเองไง มันไม่ใช่นิ่งๆ สติพร้อม ทุกอย่างพร้อมนะ โอ้โฮ.... มันมีความสุข แต่นิ่งๆ คำว่านิ่งๆ มันไม่มีความสุขอะไร มันนิ่งเฉยๆ มันนิ่งขี้เกียจ

ทีนี้คนมันไม่เข้าใจไง ดูอย่างคนเป็นลูกนะ แม่ ! ควักเลย แม่ ! ควักเลย ง่ายไหม ลองไปทำงานเองสิ มันง่ายไหม โอ้..พอเช้ามานะ แล้วเจ้านายชอบไม่ชอบ งานจะเสร็จไม่เสร็จ เออ! กว่าจะได้ตังค์มา ยากน่าดูเลย แต่ถ้า แม่ ! อ๋อ..วางกับมือเลย นิ่งๆ ก็เป็นอย่างนี้ไง นิ่งๆ คือแบมือขออย่างเดียว อ๋อ! สบาย แล้วใครจะเลี้ยงมึงตลอดชีวิตล่ะ ถ้าวันไหนไม่มีแล้วมึงจะไปขอใคร

โยม ๑ : หลวงพ่อขา แล้วถ้าเกิด พอสมมุติเราปฏิบัติไป แล้วพอจิตมันปีติ มันก็มีความรู้สึกว่า มันมีความสุข

หลวงพ่อ : ใช่ !

โยม ๑ : เราต้องทำอย่างไรต่อคะ หลวงพ่อ

หลวงพ่อ: วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ พอมันมีปีติ มีความสุขนะ เราก็อยู่กับความสุข พอสุดท้ายแล้ว มันมีความสุขแล้ว งวดนั้น ขั้นต่อไป ก็กำหนดเข้าไปอีก มันจะไม่เกิดปีติทุกที ปีติมันจะไม่เกิดแล้ว ไม่เกิดเพราะมัน จิตเรากระบวนการของจิต คุณสมบัติมันไม่ถึง ถ้าคุณสมบัติของเราถึง มันก็เข้าปีตินั้นอีก แล้วพอออกมาก็ต้องพุทโธอย่างเดิมเข้าไปอีก ถึงปีติแล้วมันจะสุข ตั้งมั่น พอตั้งมั่นบ่อยๆ เห็นไหม นี่คุณสมบัติของมัน ตั้งมั่นบ่อยๆ แล้วนี่ มันก็เหมือนกับเราต้องหัดใช้ปัญญาแล้ว ถ้าหัดใช้ปัญญานี่ ออกวิปัสสนา ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

ในธรรมคืออารมณ์ความรู้สึกที่กระทบ ความคิดที่กระทบ คือเกิดด้วยธรรมารมณ์ ถ้าจิตมันสงบนะ แต่ถ้าจิตไม่สงบ เวลากระทบ มันไม่ใช่ธรรมารมณ์ มันเป็นความพอใจไม่พอใจ เป็นความโกรธ ความเกลียด ความอึดอัด และถ้าจิตสงบแล้วนี่ มันกระทบ กระทบอารมณ์ เวลากระทบนี่มันเป็นธรรม มันเป็นธรรมเพราะอะไร เพราะมีเรากับอารมณ์ มันเห็นอย่างนั้นเลยนะ

เห็นจิตสงบใช่ไหม มีเรา กับอารมณ์ความคิดเมื่อก่อนที่มันเป็นเรา มันไม่ใช่ เพราะจิตมันสงบ มันปล่อยเข้ามาแล้ว พอปล่อยเข้ามาแล้ว พอออกรู้ออกเห็นเห็นไหม นี่ที่หลวงปู่ดูลย์ บอกว่า “จิตเห็นอาการของจิต” อารมณ์ความรู้สึกไม่ใช่จิต พอเห็นปั๊บ พอเห็นมันวิปัสสนามันจะเกิด นี่คือหัดใช้ปัญญา

นี่พอจิตสงบแล้ว หัดใช้ความคิด มันฝึกหัดได้ ทุกอย่าง เกิดจากการฝึกหัด ปัญญาไม่เกิดขึ้นเอง ปัญญาเกิดขึ้นเองโดยสัญชาตญาณ คือโลกียปัญญา อย่างเช่น ความคิดเรานี่เกิดเองเห็นไหม ความคิดความทุกอย่าง มันเกิดขึ้นมาเอง นี่มันสัญชาตญาณของมนุษย์ แต่มันไม่มีจิตที่รู้อารมณ์อันนี้ แต่ถ้าจิตสงบแล้วนี่ มันจะมีจิตตัวนี้ที่ไปรู้อารมณ์ จิตกับอารมณ์ไม่ใช่อันเดียวกัน นี่พระพุทธเจ้าสอนตรงนี้ ในศาสนาพุทธสอนตรงนี้

แต่ทีนี้ถ้าจิตยังไม่สงบนะ เห็นตัวนี้ไม่ได้! ที่พูดๆ กันอยู่นี้ คือจำสภาวะๆ เขาใช้คำว่า จำสภาวะจนแม่น จำคือสัญญา โอ้...ไมโครซอฟมันดังๆ พวกมึงก็ไปทำขายแข่งกับมันสิ เขาให้มึงทำไหม นี่ไปจำสภาวะ ไปจำพระพุทธเจ้ามามันได้อะไร เอาของเขามา กูก็ทำได้ กูก๊อบปี้ กูทำได้ทั้งนั้นแหละ แต่ทำได้หรือเปล่าล่ะ มันไม่ใช่ของเรา มันของเขา จำสภาวะจำของพระพุทธเจ้ามา ของมึงเหรอ มันไม่ใช่ แต่เขาคุยกันอย่างนั้น เขาทำกันอย่างนั้น

ทีนี้ถ้าของเรา ถ้าจิตเราสงบแล้วนี่ เราจะรู้ของเรา อันนี้ ไม่จำสภาวะ อันนี้ เราทำของเราเอง นี่ไงๆ ธรรมะมันเกิดอย่างนี้ แล้วถ้าเกิดอย่างนี้ พอมันเห็นนี่ เขาเรียกว่าฝึกปัญญา ถ้าจิตมันนิ่งแล้ว เกิดปีติเกิดอะไรนี่ เวลาปีติเกิดๆ มันเป็นผลไง มันเหมือนกับเราออกกำลังเห็นไหม เราออกกำลังกาย มันก็เกิดความปลอดโปร่ง ทุกอย่างปลอดโปร่ง เราก็ทำบ่อยครั้งเข้า จนจิตมันออกกำลังกายจนคุ้นเห็นไหม นี่มาตรฐานอยู่กับเรา เราทำอย่างไรให้จิตเราเข้มแข็ง ร่างกายเราเข้มแข็ง เราก็ปลอดจากโรค เราก็มีความสุขทุกอย่าง ออกไปทำงาน

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันมีกำลังของมันแล้วนะ มันสงบของมันนะ ออกฝึก แล้วถ้าฝึกมันจะรู้เลย ออกกำลังกายนี่ ทั้งเดิน ทั้งวิ่ง เหงื่อโซกเลย นี่อะไร นี่คือกรรมฐาน แล้วออกไปทำงานนี่ งานอย่างนี้นะ มันจะเห็นเองเลยว่า ถ้าเรากำหนดจิตพุทโธๆ เข้ามานี่ มันจะเป็นความสงบ ความปล่อยวาง ความว่างอย่างนี้ แล้วถ้าว่างๆ อย่างนี้เราออกไปใช้ปัญญา เราจะแบ่งกันไหม เราแบ่งประจำว่า โลกียปัญญา คือปัญญาสัญชาตญาณมนุษย์ วิชาชีพอันนี้ เรียกว่าโลกียปัญญา คือมันเกิดโดยสัญชาตญาณ มันมีของมันอยู่แล้ว เพียงแต่อะไรรู้ไหม กระบวนการความคิดของคนมันมีอยู่แล้ว เราศึกษาวิชาการสิ่งใดนั่นคือ วิชาชีพของเรา มุมมองของจิตดวงนี้จะออกไปตามข้อมูลที่ศึกษามา

มุมมองของจิตแต่ละดวงไม่เหมือนกัน นี่ๆ โลกียปัญญา โลกุตตรปัญญานี่ พอจิตสงบนิ่งๆ แล้วนี่นะ มันจะเกิดโลกุตตรปัญญา คือปัญญาอันนี้ ถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว มันจะเป็นอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันเดียวกันเลย จะมุมมองอะไร ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ผลตอบสนองมันต้องเป็นอริยสัจ นี่โลกุตตรปัญญาไง ปัญญาที่จะถอดถอน อริยสัจอันเดียวเท่านั้นที่จะถอดถอนกิเลสออกจากจิต ไม่ใช่โลกียปัญญา โลกียปัญญาแล้วแต่มุมมองใช่ไหม

โลกุตตรปัญญานี่ ปัญญาวิชาชีพก็เป็นวิชาชีพอย่างหนึ่ง อันนี้นะเป็นจริตนิสัย แขนงของมันเห็นไหม กาย เวทนา จิต ธรรม แต่ผลของมันคือถอดถอนหมด ถอดถอนเพราะอะไร เพราะมันมีที่มาที่ไป ที่มาที่ไปคืออะไร คือสมาธิ คือฐีติจิต คือข้อมูลเดิม คือจิตเดิมแท้ เพราะมันมีรากเหง้าไง เราเกิดมาจากไหน เราติดขัดกันที่ไหน เราติดขัดจากจิตใต้สำนึก ไม่ใช่ความคิดนะ จิตใต้สำนึกคือตัวจิตที่ตัวเกิดนี่ แล้วถ้าจิตมันสงบมันก็เข้าไปอยู่ที่จิตใต้สำนึก

ถ้าจิตสงบ สงบเพราะอะไร สงบเพราะมีคำบริกรรม มีกระแสเข้าไปถึงตัวจิต พอเข้าถึงตัวจิตปั๊บ แล้วพอตัวจิตก็เกิดปัญญายังไม่ได้เพราะมันยังอ่อนแอเกินไป มันยังไม่มีหลักเกณฑ์ของมัน เราก็พยายามเข้าทำความสงบบ่อยๆ ครั้งเข้าเห็นไหม ต้องออกกำลังกายทุกวันๆๆ เห็นไหม ทำตรงนี้ให้มันมั่นคงขึ้นมา พอมั่นคงขึ้นมา เราออกไปทำงานได้

ยิ่งนักกีฬาด้วยอย่างนี้ ฝึกซ้อมบ่อยๆ นี่เบสิคขั้นพื้นฐานต้องมีกำลังก่อน ยิ่งนักกีฬาแล้วนี่ มันก็ต้องออกไปหาเทคนิควิธีการของมัน แล้วมันถึงจะลงไปทำงาน นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันมีกำลังของมันแล้วออกไปอย่างนั้น นี่พูดถึงว่า ถ้ามันเป็นเทคนิคมันมีความสงบแล้ว ก็ทำบ่อยๆ แล้วนี่บอกมันจะเกิดปัญญาเมื่อไรนี่ ฝึกมันบ่อยๆ

บางทีนะคนมันมีพรสวรรค์นะ ออกกำลังกายอย่างไรมันมีพรสวรรค์ของมันนะ ถ้าจิตมันมีพรสวรรค์นะ มันมีความสงบบ่อยครั้งเข้าๆ เดี๋ยวมันจะออกวิปัสสนา ออกรู้ คือมันเห็นของมันได้ แต่ถ้าไม่มีพรสวรรค์นะ เฮ้ย..เอ็งต้องฝึกมากกว่าเขาหน่อยหนึ่ง เพราะมึงไม่มีพรสวรรค์ ไม่มีพรสวรรค์คือมันไม่เห็นเองโดยธรรมชาติ

คำว่า “พรสวรรค์” พอจิตสงบมันเห็นกายเลย รับรู้ได้เองเลยนะ เพราะมันมีพรสวรรค์ของมัน พรสวรรค์นี้เกิดจากบุญกุศลนะ เกิดจากพันธุกรรมของมันที่มันสร้างมา พันธุกรรมอย่างนี้ เมล็ดพันธุ์พืชอย่างนี้ หว่านพืชลงดินแล้วมันจะออกมาเป็นพันธุ์ของมัน

จิตที่มันมีวิวัฒนาการของมัน เวลาจิตสงบแล้วมันจะรู้ของมันอย่างนั้นได้ แต่ถ้ามีวาสนานะ เมล็ดพันธุ์ของกู มันก็เมล็ดพันธุ์เดียวกันนั่นแหละแต่มันอ่อนแอ โอ๋.... เขาข่มกันน่าดูเลยนะ นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันจิตอย่างนี้ปั๊ป มันไม่รู้ไม่เห็นของมันเลยนะ เราก็ต้องฝึก ประคบประหงมให้จิตมันสงบ พอมันสงบแล้ว ออกมานี่นะ ฝึกมัน คือว่าออกรู้ ออกรู้ๆ ได้ เพราะของมีอยู่ทั้งนั้น พอออกรู้ๆ ปั๊บ เออ.. ออกรู้ ปัญญา ความแตกต่างระหว่างโลกียกับโลกุตตร

หลวงตาหรือครูบาอาจารย์ท่านจะบอกว่า “ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากจิต ปัญญาเกิดจากการภาวนาล้วนๆ ไม่ใช่ปัญญาเกิดจากสติ เกิดจากสมอง เกิดจากการจำ แต่การฝึกมันต้องมีส่วนนี้บ้าง” เพราะอย่างเราจะตรึกในธรรมของพระพุทธเจ้า เพื่อเราศึกษามานี่ มันเป็นวัฒนธรรมของเรานี่แหละ เพราะถ้าของชาวพุทธมันก็มีอย่างนี้

โยม ๑ : หลวงพ่อขา แล้วบางทีพอจิตมันสงบแล้วนะค่ะหลวงพ่อ บางทีมันก็จะมีภาพอะไรอย่างนี้ค่ะ หลวงพ่อ อย่างหนูเคยนั่งแล้วเห็น เหมือนมีพระจันทร์ขึ้นเต็มดวง พอมันอย่างนี้ปั๊บ เอ๊ะ ...มันอะไรอย่างนี้หลวงพ่อ แล้วมันก็เลย คือพอเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็ทำไม่ถูกค่ะหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : ใหม่ๆ ถ้าคนไม่เคยเห็น มันจะตื่นเต้น เหมือนอย่างเรานี่ ขับรถไม่เป็นนะ แล้วเราไปนั่งอยู่บนพวงมาลัย รถมันไหล ๑๒๐ โอ้โฮ.... เกร็งเลยนะ ขับรถไม่เป็น แล้วรถมันวิ่งมา ๑๒๐ โอ้...กูทำไมมันบังคับไม่ได้ล่ะ ย้อนกลับมาที่จิต ถ้าจิตมันสงบเห็นไหม ถ้าจิตมันสงบดวงนั้นเกิดขึ้นมาไม่ได้ ดวงนั้นเห็นไหม โดยธรรมชาติเราจะคิดให้เกิดดวงนั้นขึ้นได้ไหม ไม่ได้ แต่เพราะถ้าจิตมันสงบ ดวงนั้นมันเกิดขึ้นมาเพราะอะไร ถ้าจิตสงบบางคนก็เห็นบางคนก็ไม่เห็น ถ้าไม่เห็นมันก็เกิดจากพันธุกรรมอีกนั้นแหละ

พันธุกรรมหมายถึงจริตนิสัย ถ้าจิตมันเริ่มที่จะสงบขึ้นมานี่ พอจิตสงบ ถ้ามันมีนิสัย มันจะเห็นสภาวะแบบนั้น ใหม่ๆ คนทุกคนจะสะดุ้ง คนจะตกใจ เพราะมันเป็นสิ่งที่เหนือการคาดหมาย แต่ถ้าบอกว่า ถ้าเรามีอย่างนั้น มีดวงครั้งแรก และจะมีดวงครั้งที่สองก็ไม่ใช่อีก มันจะมาของมันเอง

อย่างนี้มันเกิดจากมโนภาพไหม เกิดจากอะไรไหม อันนั้นมันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ แต่นี่พูดประสาเรานี่ เราเห็นเอง ทีนี้การเห็นนะ มันเห็นโดยอะไรเท่านั้นเอง เห็นโดยข้อเท็จจริง หรือเห็นโดยว่ามีจิตใต้สำนึก อะไรที่มัน..แต่อย่างนี้ แต่มันก็ต้องอาศัยจิตเห็น เราจะบอกว่า คุณภาพของจิตนั้น มันได้เปลี่ยนแปลงไปจากปุถุชนไง โดยธรรมชาติปกติของเรานะ เราเห็นด้วยไม่ได้ แต่เพราะมันมีคุณสมบัติของมัน มันถึงได้เห็นขึ้นมา แต่มีคุณสมบัติที่เห็นแล้ว เราก็ยังตกใจ

โยม ๑ : ทำไม่ถูกค่ะ

หลวงพ่อ : ทำไม่ถูก พอทำไม่ถูกปั๊ป เจอครั้งที่ ๒ ล่ะ เจอครั้งที่ ๓ ล่ะ เจอครั้งที่ ๔ ล่ะ เราจะดีขึ้น จริงไหม พอครั้งแรกเราก็ตกใจทำไม่ถูก เจอครั้งที่ ๒ อ๋อ ... เพราะเราลืมตามันก็เห็น อ๋อ...เพราะจิตมันสงบ จิตมันเบิกมันก็เห็น ถ้าเห็นแล้ว เราก็อย่าไปตื่นเต้นตกใจกับมัน ถ้าเราอยากเห็น เราก็มองไว้ ถ้าไม่อยากเห็นเราก็กลับมาที่พุทโธ เดี๋ยวมันก็หายไป คือเห็นหรือไม่เห็น มันก็เหมือนรสชาติของอาหารนะ เรากินแล้วเราก็รู้เอง นี่ก็เหมือนกัน เราเห็นหรือไม่เห็น เราก็รู้ของเราเอง แล้วเห็นเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าคนไม่มีความเข้าใจนี่ เห็นแล้ว โอ้โฮ... จิตเราดีแล้ววุ๊ย เราเห็น ตามมันไป ไม่ใช่ ! เห็นเราเป็นคนเห็น

เงินทองที่เราใช้จ่าย ใครเป็นคนใช้ เราเป็นคนจ่าย จิตถ้ามันรับรู้ มันเห็นของมัน มันก็ใช้พลังงานของมันออกไป พอใช้พลังงานออกไป เดี๋ยวภาพมันก็หายไปเอง เพราะพลังมันหมดไป เหมือนจิตเราใช้จ่ายเงิน เงินมันก็หายไป นี่เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบแล้ว มันเห็นสภาวะแบบนั้น มันตั้งของมันไว้ เงินทองเราไม่ใช้ พอเรามีเงินแล้วๆ เราไม่ใช้ พุทโธๆ เราจะหยุดก็ได้ หยุดแล้ว พุทโธๆ เดี๋ยวมันก็ดับไปเอง หรือถ้าเราจะใช้เราก็ดึงมันเข้ามา

ดึงมันเข้ามาๆ หมายถึงว่า รำพึง ค่อยๆ ดึงเข้ามาๆ พลังงานที่เห็นนี้มันจะเข้ามารวมกับจิต คิดดูสิว่าจิตที่มันสงบแล้วกับพลังงานรวมกัน มันจะมีพลังงานมากแค่ไหน เทคนิคมีเยอะมาก อยู่ที่คนแก้ไขๆ ก็เหมือนกับ คนมีกำลังนะ คนมีกำลังยกอะไรก็เบา คนไม่มีกำลังยกอะไรก็หนัก นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเข้มแข็ง มันมีคุณสมบัติของมันนะ มันแก้ไขได้ง่าย มันรำพึงไง สิ่งที่เห็นนะมันดึงเข้ามาที่เรา

คำว่า “ จิตเห็น ” ถ้ามันรำพึงแล้วดึงเข้ามาเป็นเราน่ะ สิ่งที่เห็นกับเรารวมกันนะ พลังงานมันจะเกิดอีกเท่าไร บวกสอง เห็นไหม ไอ้นี่กรณีที่เกิดขึ้น เราพูดนี่เป็นข้อเท็จจริงเลยนะ แต่เวลาไปทำแล้ว โอ้..เป็นเรื่องที่เอาเรื่องเหมือนกันนะ เอ้...จะทำอย่างไร จะดึงอย่างไร แล้วเห็นแล้ว มันจะเป็นอย่างไร เหมือนกับนักกีฬาฝึกหัดใหม่ มันจะ แหม..เป็นเรื่องอะไรที่ยุ่งยากไปหมดเลย แต่พวกวิชาชีพของเขา นักกีฬาอาชีพ โอ๋ !... มันเป็นธรรมชาติของเขาเลย

โยม ๑ : หนูก็จะดู แค่จะดูเฉยๆ ค่ะ สวยดี หลวงพ่อ แต่ทำไม่ถูก

หลวงพ่อ: ดูไว้ ดูนี่เป็นการบอกว่า จิตเราดีขึ้น เพราะว่าจิตมันมีการเปลี่ยนแปลงไง จากปกติมันได้มีคุณพิเศษขึ้นมานิดหน่อย

โยม ๑ : แต่หลังจากนั้นก็ไม่เห็นแล้วหรือค่ะ

หลวงพ่อ: ไม่เห็น ...การเห็นอย่างนี้เขาเรียกว่า “จิตคึกคะนอง” จิตคึกคะนองหลวงตาบอกว่ามี ๕ % จิตคึกคะนอง หมายถึงคุณสมบัติมันโลดโผน ถ้าจิตมันปกติ หรือจิตพื้นๆ นี่ ประสาเราว่า คนชั้นกลางเยอะ เศรษฐีมีน้อย เศรษฐีเมืองไทยมี ๕ % แต่คนชั้นกลางมาก เพราะคนชั้นรากหญ้ามันเยอะแยะ คุณสมบัติของจิตมันเป็นอย่างนี้หมด

โยม ๑ : ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ ใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ: ใช่ ! พุทโธไปเรื่อยๆ กำหนดไปเรื่อยๆ ดูแลเราไปเรื่อยๆ ทำของเราไปเรื่อยๆ

โยม ๑ : บางทีพอหนู อย่างนี้ค่ะหลวงพ่อ พอภาวนาพุทโธ ความที่จิตเดิมฝึกมาแบบ “พุท” เข้า “โธ” ออก พอจะมา พุทโธๆ มีความรู้สึกมันขัดแย้งกับลมหายใจ มันต้องสักพักหนึ่งใช่ไหมคะหลวงพ่อ

หลวงพ่อ: ถ้าพูดถึงไม่เสียหายนะ พุทโธเข้า พุทโธออก มันไม่เสียหายก็ได้

โยม ๑ : แต่มันเหมือนกับว่า พอถึงจุดๆ หนึ่งนะ มันมีความรู้สึกว่า มันเหมือนไม่ทันกันนะค่ะ หลวงพ่อ

หลวงพ่อ: อ้อ..... ถ้าพูดถึงนะ การทำงานของเรานะ ถ้าการทำงานของเราทุกอย่างไม่เจออุปสรรคเราจะเปลี่ยนทำไม ถ้าการทำงานของเราทุกอย่างมีผลหมด แล้วเรามีความชำนาญแล้ว ก็เอาอย่างนี้ต่อไป การเปลี่ยนหรือการแก้ไข หมายถึงว่า มันมีอุปสรรค หรือทำแล้วมันมีอุปสรรคที่เราจะต่อเนื่องไปไม่ได้ แต่เน้นอันเดียวว่า อยู่นิ่งๆ ไม่ได้

อยู่นิ่งๆ หมายถึงว่า มันจะขาดตอนการทำงาน เหมือนเช่น เราทำงานมานี้มันจะจบอยู่แล้ว แต่เรานิ่งๆ หุ่นยนต์นี่มันต้องทำงานจบ มันถึงจะจบงานของมัน หุ่นยนต์มันทำงานอยู่ครึ่งหนึ่ง แล้วหุ่นยนต์ช็อก งานมันก็คาจริงไหม

นิ่งๆ ให้จำไว้เลย ใครมาหาเรา นิ่งๆ ว่างๆ เมื่อก่อน มาเยอะมากเลย หลวงพ่อ ว่างๆ ว่างๆ ทำไงต่อ เราบอกว่า “สมมุติพวกโยมกำหนดพุทโธได้ไหม” “ได้ค่ะ” แล้วทำไมไม่พุทโธ ก็มันหยาบไง เห็นไหม จริงๆ คือมันไม่นิ่ง จริงๆ มันไม่นิ่งหรอก แต่ด้วยความคิดของเราว่า ถ้าเรากำหนด “พุทโธ” ทำไปเลย มันจะหยาบ เราเลยปล่อยซะก่อน

งานมันยังไม่ถึงที่สุดของมันไง คือจิตยังเข้าไม่ถึงฐาน จิตยังไม่เป็นกำลังมันออกมาแล้ว พอนิ่งๆ ว่างๆไม่รู้ทำอย่างไรต่อ ก็มันไม่มีกำลังไง เหมือนกับกำลังเรายังไม่พอ ทุกอย่างไม่พอแต่เราเข้าใจเองว่า ประสาเราว่าขี้เกียจน่ะ ถ้ากำหนดแล้วมันเหนื่อย ถ้ากูปล่อยนิ่งๆ ก็สบาย โอ้! ปฏิบัติธรรมนี่มันสบายเนอะ สบายอย่างนี้กิเลสบังเงา คือเราทำงานของเรา เราทำได้ครึ่งๆ กลางๆ เราไม่สามารถทำได้จบกระบวนการนั้น

ฉะนั้นนิ่งๆ นะ ส่วนใหญ่แล้วนิ่งๆ ทุกคนบอกว่า นิ่งๆ สบายๆ น่ะนั้นคือ ไม่ใช่ ! มันต้องทำถึงที่สุดคือ พุทโธๆ พุทโธๆ พุทโธๆ พุทโธก็ไม่ได้ใช่ไหม เพราะมันเห็นตัวมันเอง ความคิดปัญญาคือความคิดกับจิต ธรรมดาจิตมันจะแสดงตัวไม่ได้ เราต้องใช้ความคิดนี้ พุทโธๆ ตามความคิดธรรมชาติของคน มันคิดออก คิดเพื่อวิชาชีพ คิดเพื่อหน้าที่การงาน

พอเรากำหนดพุทโธๆ เห็นไหม เป็นความคิดเหมือนกัน แต่ขึ้นมาจากจิต พุทโธๆ พุทโธๆ พุทโธๆ พุทโธ ไปเรื่อยๆ เพราะเราไม่ให้มันออกไปเห็นไหม พอพุทโธๆ ไปเรื่อยๆ กำลังพลังงานมันก็ย้อนกลับ จากพุทโธกับตัวจิตเป็นอันเดียวกันนี่ มันนึกพุทโธไม่ได้ ไม่ใช่นิ่งๆ นะ สติพร้อมหมดเลย

ไอ้นิ่งๆ นี่ พุทโธๆ พุทโธน่ะ แล้วกูไม่คิดไง ไม่คิดคือนิ่งๆ ไง นิ่งๆ ก็อย่างนี้ มันเป็นสองอยู่ เห็นไหม ธรรมดาของมนุษย์มันมีความคิดกับจิต นี่สัญญาอารมณ์กับจิตมันเป็นเครื่องแสดงออก นี่พอพุทโธๆ ระหว่างพลังงาน การแสดงสัญญาอารมณ์กับพลังงานตัวนี้ ถ้ามันเป็นหนึ่งเดียวนี่ นี่มันเคลื่อนที่เห็นไหม มันทำงานตลอดเวลา

ในทางวิทยาศาสตร์ ถึงบอกว่า “สิ่งที่เคลื่อนที่เร็วที่สุดคือความคิด ” ตอนนี้คิดถึงอเมริกาสิ คิดได้ ๓ รอบแล้ว สิ่งที่เคลื่อนที่ได้เร็วที่สุด แล้วมันหยุดนิ่ง ไม่คิด พลังงานมันจะเกิดพลังงานขนาดไหน นี่พอ พุทโธๆ พุทโธๆ เราพยายามจะนึกพุทโธ มันนึกไม่ได้ พลังงานมันอยู่ในตัวของมันเองแล้ว ถึงเวลาเป็นตัวจิตเฉยๆ มันนึกพุทโธไม่ได้

โยม ๑ : แล้วทำอย่างไรต่อคะ

หลวงพ่อ : ก็อยู่กับมัน อยู่กับมันไง

โยม ๑ : ตอนนั้นถึงเรียกว่า “นิ่ง” ใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : ใช่! นี่ไง นิ่งจริงคือตรงนี้ไง ไอ้ที่ว่านิ่งๆ เพราะจิตมันคิดว่านิ่งไง มันยังเป็น ๒ อยู่เห็นไหม เราคิดได้ ถ้าเรายังคิดได้มันยังมี ๒ อยู่ คือจิตกับความคิด ถ้ายังมีความคิดได้ มันยังคิดได้อยู่เห็นไหม เราก็นึก พุทโธๆ พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ เพราะถ้ามันรวมกันเป็นอันเดียวกันคิดไม่ได้ ถ้ายังคิดได้อยู่นะ โกหกตัวเอง

ถ้ายังคิดได้อยู่ แต่ถ้าเป็นพุทโธ จริงๆ นะ เพราะใครพุทโธ ถ้าเข้าไปถึงจุดมันจะต้องเป็นอย่างนี้หมด เราถึงบอกไงว่า เวลาเราพูดกับพระ เราพูดกับพวกโยมทุกคนว่า

“ต้องพยายามพุทโธๆ ”

แล้วในทางตำรา หรือทางวิชาการบอกว่า สมาธิจริงคือคิดไม่ได้ พอคิดไม่ได้ปั๊บ เขากำลังจะพยายามไม่ให้มีความคิด ไม่ใช่มันคิดไม่ได้นะ แต่พยายามจะไม่ให้มีความคิด มันผิดตรงนี้ไง คือเรารู้ผลตอบมันแล้วนะ เหมือนรู้โจทย์แล้ว เราพยายามจะหาผลตอบมาให้มัน แต่ความจริงไม่ใช่ มันต้องตอบตัวเอง ไม่ใช่รู้ผลตอบ ต้องตอบตัวเอง

โยม ๑ : อืม! ชัดค่ะ ชัดๆ

หลวงพ่อ : แล้วถ้ามันถึงที่มันจะตอบตัวมันเองเลยนะ แล้วถ้าตอบตัวเองนะ ผลของมันนะต่างกันเยอะ แล้วใครมาบอกนิ่งๆ นิ่งๆ นะ โทษนะ มึงยังพูดได้ โทษนะ มึงโกหกตัวเองโดยที่มึงไม่รู้ตัว

โยม ๑ : ใช่ หลวงพ่อ หนูเข้าใจ แล้วค่ะ หลวงพ่อคะ เวลาเราเดินจงกรมนะคะหลวงพ่อนี่ คือหนูมันก็จะไปฝึกนู่นฝึกนี่มา แต่จริงๆ ใจตัวเองนะรู้ว่าครั้งแรกที่ฝึกนี่พุทโธ พอเจอใครที่ไปฝึกอะไรมา ใจก็จะมาจับที่พุทโธทุกครั้งค่ะ แต่ทีนี้พอเวลาเดินจงกรมค่ะหลวงพ่อ หนูไม่รู้ว่าหนูจะต้องเดินอย่างไร ซ้ายขวา พุทโธ หรือว่าบางที่เขาก็ยก ย่าง อะไรอย่างนี้ หนูไม่รู้ว่า หนูควรจะเดินอย่างไร หรือเราจับแค่ความรู้สึกว่า เรากำลังทำอะไรอยู่

หลวงพ่อ : ไม่! ถ้าเราพุทโธโดยนั่งอยู่แล้วนี่นะให้มันต่อเนื่อง เวลาเดิน เราก็พุทโธไว้ที่ปลายจมูกให้มันต่อเนื่อง เท้าเดินไปโดยปกติ เดินจงกรมของพวกเรานี่นะ เราเดินจงกรม เราเดินโดยปกติอยู่แล้ว แล้วเราก็เอาพุทโธไว้ที่ปลายจมูก นั่งก็พุทโธไว้ที่ปลายจมูกอยู่แล้ว เวลาเดินเราก็สำรวมกิริยาให้มันเป็นปกตินะ ยืนเดิน นั่ง นอน อิริยาบถ ๔ เพื่อทำให้การภาวนาของเราต่อเนื่อง ทีนี้ยืน เดิน นั่ง นอน เวลาเดินพุทโธนี่ก็กำหนดพุทโธอย่างเดิมนี่แหละไม่ต้องเกี่ยวกับเท้าเลย

โยม ๑ : ไม่เอาจิตไปลงที่เท้า

หลวงพ่อ: ใช่! แล้วพอไม่เอาจิตไปลงที่เท้า ไม่เกี่ยวกับเท้าเลย เวลาภาวนาไปแล้วนี่ เฮ้ย..กลับมาที่รถอีกล่ะ วันไหนนะๆ ถ้าอารมณ์กระทบรุนแรง อารมณ์ไม่ดีว่าอย่างนั้นเถอะ วันไหนขุ่นมัว เดินโมโหอย่างกับวิ่งเลย เดินเร็ว พั๊บๆ พั๊บๆ พอพั๊บๆ ไป จิตมันได้ออกกำลังกาย ความคิดมันจะได้หมุนเวียนมันไป มันเริ่มดีขึ้น ฮ้า ! คุมได้แล้ว

ความคิดเรารู้เลยว่า ถ้าวันไหนมันต่อต้านเราพุทโธเลย มันจะขัดขืนกัน ถ้าพุทโธๆ มันชักรวมตัว มันชักนิ่งเห็นไหม พอรวมตัวปั๊บ การเดินของเรามันผ่อนลงได้ ถ้าวันไหนอารมณ์ความรู้สึกมันดี เห็นไหม เราก็เดินจงกรม เดินแบบปกติหรือเดินแบบช้าหน่อยก็ได้ ทีนี้ระบบการเดินมันจะมาเกี่ยวเนื่องกับการกำหนดสติเราได้ดีมากเลย ถ้าเราทำอะไรเป็นสูตรสำเร็จอะไรนี่นะ โอ้โฮ.. ! กิเลสมันรู้เลยนะ

เดินอย่างนี้นะ เดินสักชั่วโมงหนึ่งนะ เสร็จแล้ว พักแล้ว มันมีเกราะให้เราเสร็จเลยนะเราก็เหมือนกับวัวตัวหนึ่ง ให้มันจูงเข้าไปในคอกไง ผูกกับเสาแล้วก็เชือด เราเอง เราจะต้องพลิกแพลงกับมันตลอด พลิกแพลงกับความเคยใจ พลิกแพลงกับหัวใจเรา พลิกแพลงกับมันตลอด แล้วสู้ นี่เป็นอุบายเอาตัวรอด เดินจงกรมให้เดินปกติ แต่นี้ที่ว่าเราได้ฟังบ่อย ซ้าย “พุธ” ขวา “โธ” นี่ เราบอกว่า ถ้าเขาทำได้ผลก็เรื่องของเขา แต่เรามาคิดเหมือนเรา เราถามว่า “รถมันมีเกียร์ ๑ แต่รถกูมี ๔ เกียร์นี่ แล้วรถใครดีกว่า” เราเอาประโยชน์จากมันไง เราต้องดูว่าประโยชน์อะไรมากกว่า เราอยากได้ประโยชน์นั้น เราอย่าเอากติกาข้ออย่างนี้มาบังคับเรา ช้าก็ได้ เร็วก็ได้ กลางก็ได้ เพียงแต่อยู่ที่อารมณ์ อยู่ที่ขณะที่จิตเราเป็น ในขณะที่จะทำนั้น

โยม ๑ : หลวงพ่อขา แล้วก็ เวลาเรานอนจะหลับนี่หลวงพ่อ เวลานอนเราควรจะทำจิตอย่างไรตอนจะนอนคะหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : พุทโธ ! หลับไปเลย

โยม ๑ : พุทโธเหมือนเดิม จับที่จมูกเหมือนเดิมเลย

หลวงพ่อ: ใช่! พุทโธนี่ โอ้โฮ..! ยาประจำบ้าน

โยม ๑ : เหมือนยาหม่อง

หลวงพ่อ : ได้ทุกอย่างเลย แล้วเวลาถึงที่สุดแล้วนะ พุทโธ หลวงตาบอกเลยว่า “พุทโธนี่สะเทือน ๓โลกธาตุ” มันสะเทือนหัวใจของเราไง แต่คนไปมองว่ามันทำยาก ไปมองว่ามันไม่เป็นประโยชน์ไง พุทโธนี่สุดยอดนะ เพราะอะไร เวลาพระพุทธเจ้าสอนนะ กรรมฐาน ๔๐ ห้องอันดับหนึ่งคือ “พุทโธ” พุทธานุสติ แล้วเวลาพูดถึงพุทโธแล้วนี่ เรานึกถึงพระพุทธเจ้า คือพุทโธก็คือชื่อของพระพุทธเจ้า เรานึกถึง พุทโธๆๆ นี่ เทวดารับรู้กับเราเลย เพราะถ้าพูดถึงเป็นนิมิต สัมมาทิฏฐิทุกคนจะเคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วเราบอกพุทโธเหมือนกับภาษาอังกฤษน่ะ ถ้าเป็นเอ็งก็พูดได้ เอ็งบอกพุทโธปั๊บนี่ จักรวาลนี้รับรู้กับเอ็งเลย

ทีนี้คนไม่เอาไง คนมันคิดไม่ถึง คนมันมองไม่เห็นความสำคัญ ไม่เห็นความจริงว่าพุทโธนี่เป็นชื่อของพระพุทธเจ้า เป็นชื่อของศาสดาของเรา เหมือนกับชื่อของปู่เรา แล้วเราคิดถึงนี่อย่างน้อย เราได้ความกตัญญูแล้ว เราคิดแล้วประสาเรานี่ คำว่าปู่ย่าตายายของเรา นี่พอเราพูดถึงพุทโธศาสดาของเรา ศาสดาของเรา เทวดา อินทร์ พรหมก็นับถืออันเดียวกัน คือเรามีศาสดาองค์เดียวกัน นี่พูดถึงข้างนอกเลยนะ แล้วกลับมาพุทโธๆ จริงๆ แล้วพุทโธก็คือใจเรา คือธาตุรู้ พุทธะคือความรู้สึก ฉะนั้นใช้ได้หมด พุทโธอย่างเดียวเลย

ทีนี้พอพุทโธอย่างเดียว ทุกคนบอกมันมีคุณสมบัติอย่างไร โอ๊ย ! มันยาก.. มันง่ายมันยากมันอยู่ที่กิเลสเรา มันอยู่ที่สัญชาตญาณของเรา อยู่ที่พันธุ์ เมล็ดพันธุ์ ถ้าเมล็ดพันธุ์ดี อากาศดี ดินดี โยนมันก็เกิด ถ้าพุทโธไปโยนลงหิน มันก็ตายอยู่นั้นล่ะ มันอยู่ที่คุณสมบัติของจิต อยู่ที่วาสนาบารมีที่เราสร้างมาไง ถ้าเราสร้างมานะมันพิสูจน์ได้เลย น้ำหยดลงหิน ทุกวันหินมันยังกร่อน ถ้าเราพุทโธๆ พุทโธๆ ไปทุกวันไม่ได้ให้มันรู้ไป พุทโธก็น้ำหยดลงหินนั้นแหละ

น้ำหยดลงหิน หินมันยังกร่อนเลย แล้วนี่พุทโธๆ ทุกวันๆ กิเลสไม่ลงให้มันรู้ไป ถ้าเราเชื่อมั่นของเรา ถ้าไม่ได้สุดวิสัย บางคน สุดวิสัย เราเป็นคนเดินทางโดยรถบนบกโดยถนน คนเดินทางโดยทางเรือ อย่างถ้าเราไม่ได้จริงๆ นี่ เราก็จะขึ้นบกหรือจะลงน้ำล่ะ ถ้าลงน้ำนะก็ปัญญาอบรมสมาธิ คือใช้ความคิด แล้วไล่กันไป ถ้าพุทโธก็เดินทางบนบกก็ว่ากันไป มันก็อยู่ที่ว่าเราจะไปทางน้ำหรือไปทางบก

โยม ๑ : เราจะรู้เมื่อเราปฏิบัติแล้วเราจะรู้ได้ด้วยตัวเองหรือคะหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : ใช่ ! ของนี้จะเกิดกับเรา ถ้าผลมันเกิดขึ้นมามันเป็นไปได้ มันก็ใช่ แล้วผลเราพยายามทำเต็มที่ มันแบบว่ามันไม่มีผลเลย เราก็ลองลงไปทางน้ำ ปัญญาอบรมสมาธิขนาดไหน มันก็ขึ้นบกได้บ้าง น้ำมันลง น้ำมันแคบ ไปทางน้ำ ถ้าน้ำไม่มีเราก็จอดอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่! น้ำไม่มีเราก็ต้องหาทางไปจนได้

โยม ๑ : หลวงพ่อขา แล้วชีวิตคนเราแต่ละคนนะค่ะหลวงพ่อ เกิดมาเหมือนกับถูกกำหนดไว้แล้วจริงหรือเปล่าคะหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : มีส่วน กรรมเก่า กรรมใหม่อย่างละ ๕๐ ถ้ากรรมเก่า ๕๐ หมายถึงกำหนดมาแล้ว กำหนดมาแล้วถ้าไม่ทำจะได้ไหม ถ้าไม่ทำกำหนดมาแล้ว ๕๐ กำหนดมาแค่นี้ แต่เราไม่ทำต่อไปจะได้ไหม มันก็ไม่ได้ กรรมนี่นะ ถ้าบังคับตายตัว ถ้าไม่มีการกำหนดมาเลยนะ ไม่มีกำหนดเลยทำไมเวลาทำไปแล้ว เหมือนกับถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ทุกคนเกิดมาเหมือนกัน เป็นมนุษย์เหมือนกัน สิทธิเสรีภาพเสมอภาคกัน แล้วเสมอจริงหรือเปล่าล่ะ สส.ทุกคนยกมือคนละเสียงล่ะ แล้วถ้าหัวหน้าไม่ให้ยก มึงยกได้ไหม คนละเสียงเหมือนกัน แต่หัวหน้ากู ชำเลืองตามองดูละ มันเป็นไปไม่ได้หรอก

ทีนี้ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ไอ้ที่ว่ากำหนดมาแล้วๆ น่ะ มันใช่! เพราะมีบุญกุศล มีบุญกันเราถึงเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วกำหนดมาแล้วทำไมเราไม่ไปดีล่ะ ความคิดของคนนะ บางทีนะเราคิดไม่ถึงนะว่าเขาคิดชั่วได้ขนาดนั้นน่ะ เราคิดไม่ถึงเลย ว่ามนุษย์คิดได้ขนาดนั้น แล้วมันคิดมาอย่างไรล่ะ นี่ๆ กรรมดีกรรมชั่ว คำว่า “กำหนดไว้แล้ว” กำหนดหมายถึงอะไร เราต้องคิดในแง่บวก กำหนดมาให้เราเป็นมนุษย์ มนุษย์สมบัตินี่สำคัญมาก แล้วต่อไปล่ะ เราจะสู้ขนาดไหน ถ้าพูดถึงไม่มีการกระทำเลย พระพุทธเจ้าเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีการกระทำอะไรเลยเราจะเจอพระอริยบุคคลไม่ได้ ทุกอย่างเกิดจากสัมมาทิฏฐิ เกิดจากสัมมาบัญญัติทั้งหมด เกิดจากความดีความงามที่เราจัดการทั้งหมด ยิ่งการกระทำอันนี้ มันเป็นการกระทำที่เราต้องทำเอง

โยม ๑ : อย่างสมมุตินะคะหลวงพ่อ อย่างลูกนี่ สมมุติว่าหนูก็ไม่รู้ว่าชีวิตของเขานี่ สมมุติว่าเขาจะได้บวชไหม จะได้บวชไม่สึกไหมอะไรอย่างนี้ อันนี้เขากำหนดไหม หรือไม่กำหนด

หลวงพ่อ : โอ๊ย! ถ้าจะบวชนะ พรุ่งนี้บวชได้เลย บวชง่ายๆ พิธีกรรมเฉยๆ จะบวชได้ไหมล่ะ โธ่! พรุ่งนี้บวชได้เลย

โยม ๑ : แบบบวชไม่สึกนี่นะค่ะ ปฏิบัติค่ะหลวงพ่อ

หลวงพ่อ: ไอ้บวชสึกไม่สึกนี่นะไม่มีใครพูดได้เลย

โยม ๑ : มันไม่ได้อยู่กับที่ว่าเขากำหนดหรือไม่กำหนดใช่ไหมคะหลวงพ่อ

หลวงพ่อ: กำหนดมาแล้ว สมมุติกำหนดมาให้บวช มาบวชเลย แล้วถ้าบวชเลยนี่ ถ้าบวชเลยนะ ในเมืองไทยนี่จะเป็นพระหมดจะไม่มีใครสึกเลย เพราะมีมหาศาลเลยที่คิดอยากบวช ที่บวชไปแล้วน่ะ มันไปถึงจุดหนึ่งเห็นไหม จุดหนึ่งจิตใจเราก็ท้อถอยแล้ว จิตใจเราก็ตกต่ำแล้ว แล้วพอไปเจอเหตุการณ์ที่กระทบที่รุนแรงทั้งหมดมันไม่มีทางไปหรอก แต่ถ้าคนมีหลักมีเกณฑ์เห็นไหม พอมันกระทบอะไรก็แล้วแต่ การปฏิบัติเหมือนกับขับรถน่ะ ถ้ารถมันขึ้นภูเขาก็ขึ้น ถ้ารถลงภูเขาก็ลง คนเรามันจะมีขึ้นๆ ลงๆ ตลอดไป ทีนี้จะขึ้นลงขนาดไหน เราจะบังคับตัวเราได้มากขนาดไหน มันก็อยู่ที่อำนาจวาสนาเหมือนกัน มีวิกฤตหมด

พระพุทธเจ้ายังมีวิกฤตเลย พระพุทธเจ้านี่รับอาราธนา พราหมณ์นิมนต์ไว้เห็นไหม แล้วลืมใส่บาตร ๓ เดือน พระพุทธเจ้ากินอาหาร กินข้าวกล้องจากม้านะ พระพุทธเจ้านะ ชีวิตของคนไม่มีใครราบเรียบไปหมดหรอก

ไอ้นี่พูดถึงกำหนดมา กำหนดอดีตชาติมา อย่างอำนาจวาสนาอย่างที่ว่า พระพุทธเจ้าต้อง ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย พระอรหันต์อีกอย่างน้อยต้องแสนกัป แล้วบางคนบอกว่า โอ้โฮ..กูทำไม่ได้หรอก เพราะกูไม่เคยทำ แล้วมึงจะรู้จักอดีตชาติมึงหรอ มึงคิดว่ามึงได้ทำมาเหรอ เพราะถ้ากำหนดไว้ ปัจจุบันเราเท่ากันหมดล่ะ ไอ้ข้างหลังน่ะ ไอ้ที่แสนกัป ๔ อสงไขยนี่ มันเป็นการทำต่อเนื่องไง มันไม่ได้ เว้นวรรคไง ไอ้พวกเรานี่มันเว้นวรรค ดีก็ทำชั่วก็ทำ ไอ้ตรงนี้มันก็เลยไม่ชัวร์ไง ชัวร์ไม่ชัวร์ เราเอาตรงนี้ปั๊บ เราจะดันของเราได้ไหม

โยม ๑ : เราต้องมาสร้างอีก ๕๐ ที่เหลือต่อใช่ไหมคะ หลวงพ่อ

หลวงพ่อ: ใช่! ไอ้ ๕๐ นี่มันนอนมาอยู่แล้วล่ะ แต่ถ้าบางคนมาอยู่แล้วนี่ แต่มันเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นล่ะ อย่างพระดังๆ นี่สึกไปเยอะแยะเลย สมัยพุทธกาลมันก็มีอย่างนี้ ถ้าอย่างนี้มันอยู่ที่ว่านะ อย่างพรรคพวกเรานี่บางคนนะ พระด้วยกันนะ เขาบอกว่า “ภาวนาไม่ได้หรอก” แต่เขาก็จะบวชอยู่อย่างนี้ เพราะเขาจะสร้างสมบารมีไปให้ภพชาติมันสั้นเข้า แต่ถ้าเราปฏิบัติไปนะแล้วมีผลขึ้นมานะ โอ้โฮ.. ! สุดยอด

เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมีที่พึ่ง คือมันสุข มันรู้จักของมัน แล้วมีสติมันพร้อมนะ อย่างที่เราพูดเมื่อกี้ พูดกับโยมที่ไป เขาบอกว่า อย่างใช้ปัญญาอบรมสมาธิไปแล้ว ถ้ามันลองใช้ปัญญาเอาชนะตัวเองมันก็มีขีดวงจิตไว้ จิตนี้มันได้ขีดวงไว้ๆ พอขีดวงไว้นี่ มันมีเกราะของมันใช่ไหม พอเวลาไปเจออะไรปั๊บนี่ มันมีเกราะมีกำลังของมัน แต่ถ้าเราไม่มีเกราะ เลยเห็นไหม พอเราเจออะไรไป ๑๐๐ % เห็นไหม

นี่ถ้าเราสร้างบารมีของเรา มันมีเกราะของมัน ใช่ ! เห็น มีความรู้สึกไหม มี ! รู้สึกอะไร มันรู้ไปหมด แต่มันมีเบรกไง มันมีการควบคุมตัวมันได้ไง นี่คิดอย่างนี้ จะไปตลอดรอดฝั่ง ถ้าคิดอย่างนี้ ไปตลอดรอดฝั่ง เราเจออะไร ติดปั๊บ กระทบ เห็นไหม แล้วก็เข้าเป็นอันเดียวกัน อารมณ์ร่วมเป็น ๑๐๐ % หมดไง แล้วพอถึงเวลาความคิดมันถูกก็ดีไป ถ้ามันผิดก็จบเลย

ไอ้นี่เรามีสติคุมอย่างนี้ นี่พูดถึงว่า “ได้บวชไหม แล้วบวชต่อๆ ไปได้ไหม ” อนาคตใครรู้อะไรนี่ อนาคตใครรู้อะไร แต่ถ้าเรามีจุดยืนของเรา อนาคตจะเกิดอะไรมันเป็นเรื่องของอนาคต แต่กูอยู่ของกูอย่างนี้ล่ะ อะไรเกิดขึ้นมาก็แก้ไขของกูไปนี่ รอดฝั่ง เพราะอนาคตกำหนดกูไม่ได้ไง ไม่มีอะไรมากำหนดกูได้เลย กูกำหนดคิดของกูเองน่ะ ใครจะมีอำนาจเหนือกูล่ะ ทำไมมันจะอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าทุกอย่างมันมีกำหนดกูได้ อ้อ! ฮ่าๆ ....ไม่ได้กำหนดมันก็จะไปอยู่แล้ว

แต่ถ้าเราควบคุมเราได้ คุมอะไรเราไม่ได้ อันนี้มันอยู่ที่ฐานของเรา อยู่ที่ปัจจุบันฐานของเรา ที่เราจะทำได้หรือทำไม่ได้ ถ้าฐานเราดี ถ้าสติมีทุกอย่างนะ โธ่! ทุกคนรู้อยู่ ว่าไม่มีสมบัติในโลกนี้ดีเท่าคุณธรรมอันนี้ ทุกคนรู้อยู่ แต่เข้าถึงนั่นไม่ได้ ถ้ามีสติปั๊บ แล้วเราหาอยู่ เราต้องการเป้าหมายนี้อยู่ คือเราดีกับโลกๆ ทั้งหมด สิ่งที่เข้ามาเป็นเหยื่อล่อ หรือสิ่งที่มากระทบจะมาหลอกล่อ กูไม่ไป ! แล้วสติอย่างนี้ปัญญาอย่างนี้จะอยู่กับเราตลอดไปไหมล่ะ ถ้าอยู่ตลอดไปมันก็อยู่ได้ตลอด สบาย

อยู่ที่กำหนดจิตใจเราคุมเราเอง เรารักษาเราเอง พอทีนี้เข้ามาในสำนักแล้ว เป็นพระแล้ว หมายถึงว่า เขาเรียกว่าอะไรนะ คบบัณฑิต ไม่คบพาลไม่คบชั่ว มีหมู่คณะที่ดี มีหมู่คณะ มีสังคมที่ดี เห็นไหม หลวงตาอยู่ ท่านจะเอ็ดพระ ท่านจะไม่ให้พระพูด พระควรคุยกันในเรื่อง สัลเลขธรรม ๑๐ คือมักน้อย สันโดษ เป้าหมายคือมรรคผล ไม่คุยกัน เฮ้ย! ที่นู้นเป็นอย่างนั้น ไอ้นี่เป็นอย่างนี้ ไม่คุยกันเรื่องข้างนอก สัลเลขธรรม

พระต้องคุยกันเรื่องมรรคผลนิพพาน สิ้นสุดกระบวนการของทุกข์เท่านั้น แล้วมันก็จะทำให้พวกเรามีสติปัญญา อยู่ตรงนี้ นี่หมู่คณะไง ถ้าหมู่คณะดี สัปปายะ ๔ อาจารย์เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ ที่อยู่เป็นสัปปายะ ๔ อย่าง นี่สมควรปฏิบัติ ครูบาอาจารย์อันดับหนึ่ง หมู่คณะ ถ้าครูบาอาจารย์อันดับหนึ่ง แต่หมู่คณะบอกว่า เฮ้ย !อาจารย์มึงบ้าไปเถอะ เดี๋ยวทะเลาะกัน มันจบเลย หมู่คณะมันดึงมึงไป อาจารย์ดีหมู่คณะไม่ดีก็ไม่ไหว

อาจารย์อันดับหนึ่ง หมู่คณะอันดับสอง หมู่คณะสำคัญมากนะ ถ้าหมู่คณะสำคัญ เพราะอะไร เพราะการกระทำอะไรมันก็กระทบกระเทือนกัน แล้วเปิดโอกาสให้เราภาวนา ถ้าหมู่คณะไม่เป็นสัปปายะ เราภาวนาเขาบอกว่า เฮ้ย ! มึงนั่งบ้าทำไม ต้องมาช่วยกูทำงานสิ แล้วมันก็ดึงเราออก นี่หมู่คณะไม่เป็นสัปปายะ ถ้าหมู่คณะดี อาหารพอประทังชีวิต ฉันแล้วมันไม่ขัดขวางต่อการปฏิบัติ สถานที่สงบสงัด ชัยภูมิแห่งการปฏิบัติ ถ้ามีอย่างนี้ปั๊บ เราอยู่ในสังคมอย่างนี้ เราก็จะมีโอกาส อยู่ได้ไม่ได้มันอีกเรื่องหนึ่ง

โยม ๑ : มีอะไรถามหลวงพ่อบ้างไหมลูก

โยม ๒ : อยากรู้ว่า สติกับสมาธิมีความแตกต่างกันอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : แตกต่าง สติคือสติ สมาธิคือสมาธิ สติคือความระลึกไง เราตั้งใจเป็นสติแล้ว แล้วความตั้งใจนี่ เราฝึกบ่อยๆ เข้า ความตั้งใจนี่เป็นอัตโนมัติ แล้วมันจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ สติมหาสติ สมาธิคือผลที่เกิดจากสติ แล้วมีสมาธินี่หมดความรู้สึกยังไง ความระลึกอยู่ ระลึกๆ นี่สติคือสติ สมาธิคือสมาธิ ถ้าสติสมาธิเป็นอันเดียวกัน เราต้องสังเกตแล้ว อย่างที่ว่า เขาบอก “สติไม่ต้องฝึกเดี๋ยวจะเกิดเอง” เป็นไปไม่ได้ สติเผลอปั๊บมาเอง เผลอก็ตายน่ะซิ! เพราะเผลอมันตรงข้ามกับสติ

นี้คำว่า “สติ ก็คือสติ สมาธิ คือสมาธิ ” “สติก็สติ ปัญญาก็ปัญญา” เราว่า “สัญญาคือสัญญา” ทุกอย่างมันคนละตัวหมด แต่เขาบอกว่า “มันรวมกัน” ทีนี้สติมันต้องมีสติ สติต้องจัดการทุกที่ทุกสถาน ต้องมีสติทุกอย่างเวลาทำงานมันจะไม่ผิดพลาดตลอดไป ถึงผิดพลาดก็น้อย เพราะเรามีปัญญามันไม่รอบคอบ แต่ตัวสติสำคัญมาก ตัวสติเป็นพื้นฐานเลย

พอมีสติปั๊บ สมาธิเกิดล่ะ ปัญญาก็เกิดล่ะ ถ้ามีสติแล้วนะ ความชั่วก็เกิดได้เหมือนกัน เพราะอะไร เพราะคนชั่วมันคิดชั่ว มันก็ต้องใช้สติ ใช้ปัญญาของมันนะ ความคิดชั่ว ดูโจรมันปล้น ฉะนั้นมันต้องเป็นสัมมาด้วย ไม่ใช่ว่า ถ้าสติหรือสมาธิแล้วมันจะให้ผลเป็นบวกหมด ถ้าคนชั่วเอาไปใช้ล่ะ ดูมันคิดสิ คิดซับซ้อนขนาดไหนที่มันยึดประเทศกันอยู่นี่ มันได้อะไรกันล่ะ

โยม ๑ : ซับซ้อนมาก!

หลวงพ่อ : แล้วมันยังไง เพราะมันใช้สติเหมือนกัน ใช้ปัญญาเหมือนกัน แต่เป็นมิจฉา เป็นเพราะกิเลสใช้ แต่ถ้าเรามีนะให้สัมมาใช้ คือพยายามคิดในแง่บวกในแง่เป็นคุณธรรม อันนี้มันจะเป็นประโยชน์กับเรา

โยม ๑ : มีอะไรจะถามหลวงพ่ออีกไหม หรือไม่มี

หลวงพ่อ: เอ้า! งั้นก็เอาแค่นี้ก่อนเนอะ เอ้า!