เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓o ธ.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราเป็นชาวพุทธ เราแสวงหาความจริง โลกนี่ถ้ามองกันตามความจริง เห็นไหม คนเห็นความจริงตามความเป็นจริงนี่เห็นได้ยาก เห็นความจริงเป็นความปลอม เห็นของปลอมเป็นของจริง ถ้าเห็นของปลอมเป็นของจริงนี่เราเห็นไปกับเขาเพราะว่ามันเป็นตรรกะ มันเป็นเรื่องของโลก เพราะโลกมันสมมุติกันอยู่แล้ว ความสมมุติของโลกเป็นอย่างนั้น

แต่เดิมของเราสังคมของโลกคือสังคมเกษตรกรรม จนมาถึงสังคมอุตสาหกรรม เห็นไหม สังคมอุตสาหกรรมต้องเป็นธุรกิจใช่ไหม ต้องการเป็นการค้ากำไร สิ่งต่างๆ เวลาทำอะไรต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่ก่อนนั้นปลูกพืชผสมผสานเพราะเราทำด้วยแรงกาย แต่ถ้าทำด้วยแรงกายนี่เราจะปลูกพืชเชิงเดี่ยวแบบในปัจจุบันนี้ไม่ได้หรอก แต่ในปัจจุบันนี้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวนะ เพราะปลูกพืชผสมผสานนะเรื่องหน้าดิน เรื่องต่างๆ มันจะผสมผสานกัน ธรรมชาติมันจะเกื้อกูลต่อกัน

แต่เวลาเราทำด้วยภาคอุตสาหกรรมนี่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เห็นไหม อุตสาหกรรมต้องทำได้มาก ต้องมีของมาก ต้นทุนมันจะได้ต่ำ แต่นี่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวจะทำลายหน้าดินหมด.. ในการที่เรามาอยู่ในโลกนี้ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เรามาอยู่ในวัดในวา นี่มันผสมผสานกับธรรมชาติ

สิ่งที่เป็นธรรมชาติมันมีของมันอยู่เป็นสภาวะแบบนั้น ถ้าสภาวะแบบนั้นเราอยู่ด้วยกัน เห็นไหม ดูสิ ดูนกกาต่างๆ มันมาอาศัยเรานี่เพราะอะไร เพราะมันไม่มีที่อยู่อาศัย ถ้าต่างคนต่างมาผสมผสานกัน ต่างคนต่างเป็นธรรมชาติต่อกัน เราไม่เบียดเบียนกัน เราไม่ทำลายต่อกัน นี่มันผสมผสานกัน นี้มันเป็นเรื่องของโลกนะ

แต่ในการประพฤติปฏิบัติ เวลาเราเอาจริงเอาจังของเราขึ้นมา มันก็เป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน นี่ผสมผสานกัน เราจะอาศัยพึ่งพาใครได้ การอาศัยพึ่งพากัน เห็นไหม เราอาศัยครูบาอาจารย์ เพื่อ! เพื่อชี้นำเรา.. นี่หมู่คณะเป็นสัปปายะ ถ้าหมู่คณะเป็นสัปปายะนะ การประพฤติปฏิบัติเราจะให้เกียรติต่อกัน เราจะไม่ไปคลุกคลีต่อกัน

เราปรารถนาสิ่งใด เราปรารถนาความสงบสงัด ทุกคนก็ปรารถนาความสงบสงัดเหมือนกัน ความสงบสงัดจากภายนอกเป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ.. นี่ความผสมผสานของโลก โลกถ้าผสมผสานกันเราจะมีโอกาส เราจะมีการประพฤติปฏิบัติของเรา แต่เวลาเราไปประพฤติปฏิบัติเราก็ต้องเอาชนะตัวเราเองให้ได้

สิ่งต่างๆ ในหัวใจ ความคิดของเรานี่มันผสมผสานกัน ความดี ความชั่ว ความคิดต่างๆ มันผสมผสานกัน สิ่งที่เป็นธรรมเราเอาอะไรเป็นธรรม เราต้องคัดเลือกไง.. นี่ความคิดของเรา ตรรกะ ความเห็นของเรา ปัญญาของเรา สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาจากอะไร มันเกิดขึ้นมาจากความเคยชิน

นี่เราย้ำคิดย้ำทำมันจะเป็นจริต มันจะเป็นนิสัย มันจะเป็นความเห็นของเรา มันจะเป็นความคิดนึกของเรา แล้วความนึกของเรานี่มันเชื่อได้ไหม ถ้ามันเชื่อไม่ได้ทำไมเราต้องมีศีลล่ะ คำว่าศีล ๕ นี้เป็นการยืนยันว่าการปฏิบัติถ้าถูกต้องคือปฏิบัติตามศีล ๕ นี้

ทีนี้ความดีของคน เห็นไหม ความดีของใครก็ว่าตัวเองเป็นความดี แต่ความดีของเรา ดูสิลัทธิศาสนาต่างๆ เขาฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารก็ไม่เป็นบาปเป็นกรรม เพราะเขาถือว่าเป็นอาหารไง แต่ของเรานี่ในพุทธศาสนาเรา ปาณาติปาตา แม้แต่ทำความเจ็บช้ำน้ำใจต่อกันมันก็ปาณาฯ นี่แหละ

นี่ปาณาฯ ต้องฆ่าชีวิตให้ตกร่วง.. ใช่! ถ้าชีวิตตกร่วงนะ มีความตั้งใจ มีการกระทำ สิ่งนั้นทำแล้วมันถึงขาดจากศีล แต่ถ้าศีลมันไม่ทำให้เขาตายไปนี่มันเศร้าหมอง ศีลเศร้าหมอง ศีลทะลุ ศีลด่าง ศีลพร้อย ศีลขาด ศีลมันมีตั้งเยอะแยะ ความดำรงของศีลเป็นอย่างไร โอ๋ย.. ศีล ๕ ต้องฆ่าสัตว์มันถึงจะขัดต่อศีล ๕.. แล้วเศร้าหมองล่ะ ศีลเราเศร้าหมองไหม เราคิดถึงเจตนาจะทำอย่างนั้น แล้วเราไม่ได้ทำ ใช่.. เราไม่ได้ทำศีลไม่ขาดหรอก แต่หัวใจเราเศร้าหมอง

นี่ไงศีลมันถึงเป็นเครื่องยืนยันสิ่งต่างๆ ว่าความดี ความดีของใคร.. ความเห็น ความเห็นของใคร ความคลุกเคล้าของใจ ใจมันมีความคลุกเคล้าของมัน เห็นไหม มันผสมผสานกัน เราต้องมีจุดยืนของเรา นี่เรามีศีลธรรม.. ศีลธรรมเป็นสมบัติของมนุษย์ มนุษย์เรานี่มีหัวใจนะ เรามากันนี่โลกเขามีความสุขความคึกครื้นกัน ยิ่งวันนักขัตฤกษ์จะมีความสุข มีการรื่นเริงกัน

ในสโมสรสันนิบาตทุกดวงใจว้าเหว่.. ในสโมสรสันนิบาตเขามีแต่ความสุขของเขา ดวงใจเขาว้าเหว่ แต่ของเราเราจะมาหาความจริงของเราไง นี่ความสงบสงัดข้างนอกมันว้าเหว่ไหมล่ะ แล้วจิตใจเรายืนขึ้นมาได้ไหมล่ะ ถ้าจิตใจเรายืนขึ้นมาได้ เรามีจุดยืนของเราขึ้นมา สิ่งที่ผสมผสานมันปิดกั้นอยู่ใช่ไหม ให้เราเป็นหนึ่งเดียวไง

สมาธิคือจิตตั้งมั่น จิตหนึ่งเดียว ถ้าจิตหนึ่งเดียวมันตั้งมั่นไม่ได้ ความรู้เราหลากหลาย ความรู้เรามันขาดช่วง ความรู้เราไม่สืบต่อ ความรู้เราไม่ต่อเนื่องกัน ถ้าความรู้ต่อเนื่องกันมันจะต่อเนื่องได้อย่างไรล่ะ มันจะต่อเนื่องเราก็ต้องมีที่เกาะของมัน ถ้ามีคำบริกรรมให้จิตมันเกาะไว้ ให้ความรู้มันสืบต่อกันไป

ดูไฟฟ้าสิ เวลาไฟฟ้ามันตก ไฟฟ้ามันขาดช่วง ดูสิ เครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุดเสียหายหมดเลย.. จิตของเรา ความรู้ต่อเนื่องที่มันประคองใจเรานี่ มันประคองความรู้สึกเราอยู่นี่ มันขาดตอนของมันอยู่นี่ แล้วเราทำอย่างไร ไฟเราจะนิ่งไหม ไฟเราสม่ำเสมอไหม ความรับรู้ของจิตนี้มันสม่ำเสมอไหม ความรู้สึกมันถูกต้องไหม แล้วความถูกต้องมันถูกต้องได้อย่างไร

นี่เราคิดกันเอาเองนะ เราคิดว่าว่างๆ ว่างๆ อวกาศมันก็ว่าง คำว่าว่างๆ ว่างๆ นี่มันคิดได้ทั้งนั้นแหละเพราะมันเป็นสัญญาอารมณ์ มันไม่ใช่ตัวจิตหรอก ถ้ามันเป็นตัวจิตของเรานะ นี่ความรู้ความเห็นมันสืบต่อเนื่องกันไป คำบริกรรมของเรานี่ปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม ความคิด ความผสมผสานของความคิดที่มันเกิดขึ้นมาจากใจนี่มันเกิดมาจากไหน มันเกิดจากภวาสวะ เกิดจากภพ

ความคิดเกิดจากไหน? ความคิดเกิดจากฐานที่ตั้งของมัน ความคิดไม่ลอยมาจากฟ้า ไม่มีชีวิต ความคิดเกิดมาจากไหน ความผสมผสานของอารมณ์ความรู้สึกมันเกิดมาจากอะไร แล้วความผสมผสานเกิดจากความรู้สึกนี้คือโลก เห็นไหม นี่โลกทัศน์ โลกคือหมู่สัตว์ โลกคือสัตตะ โลกคือผู้ข้อง จิตมันข้องมันเอง จิตมันเหยียบย่ำตัวมันเอง มันเป็นพลังงาน ทุกอย่างมันมีดีมีเลวในตัวมันเอง

เหรียญมี ๒ ด้าน หัวใจของคนก็เหมือนกัน หัวใจของคนนี่พลังงานตัวนี้ พลังงานพระพุทธเจ้า สิ่งที่สัมผัสธรรมะได้คือหัวใจ สิ่งที่ความรับรู้สึกอันนี้มันจะสัมผัสธรรมะได้ สิ่งที่เป็นภาชนะรองรับธรรมะได้คือความรู้สึกของใจ อย่างอื่นรับไม่ได้ ถ้าสิ่งที่มันจะรับรู้ความรู้สึกของใจ ที่มันรับรู้กับธรรมะ แล้วธรรมะมันอยู่ที่ไหนล่ะ

นี่สิ่งที่มันเกิดขึ้น ความคิดที่เกิดจากใจ มันเกิดจากอวิชชา เกิดจากภวาสวะ เกิดจากภพ เราต้องทำความสงบของใจ พยายามทำความสงบของใจเพื่อเหตุใด เพื่อกลั่นกรองว่าอะไรเป็นโลก อะไรเป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรมนี่ธรรมมันมาจากไหน ธรรมมาจากฟ้าใช่ไหม นี่ธรรมะอยู่ในพระไตรปิฎก อยู่เฉยๆ นิพพานหล่นใส่หัวเลย นิพพานมันมีอยู่แล้วไง เดี๋ยวนิพพานมันจะครอบเรา

มันมีหัวใจอยู่แล้วมันก็มีอยู่แล้ว ถ้ามีอยู่แล้วมันก็มาหาเราไง อ้าว.. แล้วมันอยู่ที่ไหนล่ะ? เป็นไปไม่ได้! ไม่มี! ไม่มี..

ถ้ามีนะพระพุทธเจ้าไม่ต้องมาตรัสรู้หรอกเพราะเราก็มีอยู่แล้ว ถ้านิพพานมันอยู่กับใจอยู่แล้ว นี่เราต้องมีกันอยู่แล้ว แต่มันมีได้อย่างไรล่ะ? มันมีได้ต่อเมื่อใจ ตัวใจ ธาตุรู้มันไม่เคยตาย พอธาตุรู้ไม่เคยตาย นี่พระโพธิสัตว์ทำไมถึงมี ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ถ้าภพชาติแต่ละภพชาติมันขาดช่วงต่อกัน พระโพธิสัตว์ที่สร้างสมบุญญาธิการมานี่มันสืบต่อบุญญาธิการกันมาอย่างไร

บุญญาธิการของพระโพธิสัตว์ที่มาเกิดเป็นมนุษย์ มาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขยนี่มันสืบต่อกันมาอย่างไรถ้ามันขาดช่วงกัน.. มันไม่ขาดช่วงกัน มันสืบต่อกันมา เป็นอำนาจวาสนา เป็นบารมี เป็นพระโพธิสัตว์ที่สืบต่อมา เห็นไหม สิ่งที่มันสืบต่อมานี่ตัวใจที่มันมีอยู่ ถ้ามันมีอยู่นิพพานมันอยู่ได้อย่างไรมันก็ต้องสิ้นไปสิ นิพพานมันอยู่ที่ไหนล่ะ นิพพานมันไม่มี!

นิพพานมันไม่มีเพราะอะไร? เพราะธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม ธรรมะคือสัจธรรม สัจธรรมนี่อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคมีอยู่โดยดั้งเดิม แต่ใครจะรื้อค้นมันเพื่อเป็นประโยชน์ล่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ตรงนี้ นี่มรรคญาณที่มันเกิดขึ้นมา พอมรรคญาณเกิดขึ้นมา เห็นไหม มะม่วงดิบ! มะม่วงนี่มันออกมาเป็นเกสร ออกมาเป็นลูกอ่อน จนเป็นมะม่วงอ่อน มะม่วงแก่ พอมะม่วงแก่เราก็เก็บขึ้นมาบ่มเพาะแล้วมะม่วงมันจะสุก พอมะม่วงหลุดจากขั้วมะม่วงนั้นเน่า

จิตใจ เห็นไหม จิตใจของเรา จิตใจดิบๆ จิตใจที่เป็นโลกอยู่มันมีการแก้ไข มันมีการบ่มเพาะ มีการถนอมรักษาของมัน ทีนี้การถนอมรักษาของมัน.. นี่ไงนิพพานมีอยู่แล้วๆ มีอยู่แล้วมันก็ต้องเข้าไปเจอมัน นี้มันมีการบ่มเพาะ

บ่มเพาะคืออะไร? บ่มเพาะคือมรรคญาณ ดูสิ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค การกระทำของเรา การรื้อค้นของเรามันต้องมีมรรคญาณ เห็นไหม มันเปลี่ยนแปลง มันแก้ไข มันทำลายอวิชชา ดูสิ เวลาหลวงตาท่านบอก

“จิตมหัศจรรย์มาก จิตนี้ว่างหมดเลย มองไปทะลุภูเขาเลากาหมด ว่างหมดเลย! ว่างหมดเลย เอ๊ะ.. จิตเราทำไมมหัศจรรย์ขนาดนี้ จิตของมนุษย์นี่ จิตของเรานี่เราฝึกฝนมันแล้ว เราพัฒนามันแล้วทำไมมันมหัศจรรย์ขนาดนี้.. มหัศจรรย์ขนาดนี้..”

นี่ธรรมะเตือนเลยนะ “สิ่งที่สว่างไสว ความว่างต่างๆ มันเกิดจากอะไร?”

“เกิดจากจุดและต่อม เกิดจากภวาสวะ เกิดจากภพ เกิดจากฐานที่ตั้ง”

ท่านบอก “นี่ธรรมะกลัวหลงนะ ธรรมะกลัวหลง” นี่เพราะสร้างบุญญาธิการมา

คำว่าธรรมะนะ เวลาผู้ปฏิบัติไปเวลาธรรมเกิดมันจะผุดขึ้นมาเป็นธรรม แต่เป็นธรรมที่ผุดขึ้นมา ไม่ใช่ธรรมสัจธรรมที่เราสร้างสมขึ้นมา พอเป็นธรรมผุดขึ้นมา เห็นไหม นี่แสงสว่าง ความว่างต่างๆ เกิดจากจุดและต่อม งงไง! งงไปหมดเลย

ท่านพูดอยู่ “ถ้าหลวงปู่มั่นอยู่นะ ไปหาหลวงปู่มั่นหลวงปู่มั่นจะชี้เข้ามา” ทำไมต้องไปหาหลวงปู่มั่นล่ะ? เพราะหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ที่ผ่านมาแล้ว ท่านต้องผ่านเหตุการณ์อย่างนี้มาทั้งนั้นแหละ

นี่ไงมรรคญาณ เห็นไหม นี่ที่ว่านิพพานๆ นิพพานมันเกิดจากการกระทำ นิพพานมันเกิดจากมรรคญาณ นิพพานมันเกิดจากมัคคะ นิพพานมันเกิดจากธรรมจักร นิพพานมันจะเกิดขึ้นมามันต้องมีเหตุมันถึงจะเกิดขึ้นมา ถ้าไม่มีเหตุขึ้นมานิพพานมันจะหล่นใส่หัวเหรอ นิพพานที่ไหนมันจะหล่นใส่เท้าเราล่ะ ไม่มีหรอก! มีแต่การกระทำขึ้นมา เราสร้างของเราขึ้นมา เรามีการกระทำของเราขึ้นมามันถึงจะเกิดขึ้นมา

การเกิดนี่ เห็นไหม นี่ไงเวลาพระอรหันต์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า “ใครทรมานมา ใครเป็นคนแก้ไขมา แล้วแก้ไขมานี่เอาอะไรแก้ไขมา”

นี่ก็เหมือนกัน หลวงตาท่านบอกว่า “ถ้าหลวงปู่มั่นอยู่นะ ท่านจะผ่านไปเลย แต่นี่เพราะหลวงปู่มั่นท่านนิพพานไปแล้ว ไม่มีใครสอน”

แล้วจิตใจอย่างนี้ จิตใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเหมือนครูมวยกับนักมวย เห็นไหม โค้ชกับนักกีฬา นักกีฬาเวลาฝึกกับโค้ชมา โค้ชที่มีความสามารถมาก โค้ชที่เขาฝึกเรามาจนเรามีทักษะที่สุดยอดเลยเราจะเชื่อโค้ชนั้นมากเลย แต่โค้ชคนอื่นมาเขาบอกว่ากิริยานี้ใช้ไม่ได้ เล่นกีฬาก็นอนไปอย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้ เล่นกีฬานั่งอยู่เฉยๆ เดี๋ยวมันได้คะแนนเอง มันเป็นไปไม่ได้!

ถ้านักกีฬาเจอสภาวะนั้นแล้ว นักกีฬาจะไม่ยอมเชื่อโค้ชนั้นเลย นี่พอจิตใจเคยอยู่กับหลวงปู่มั่นมา หลวงปู่มั่นท่านเคยสอนมาตลอดว่า “ควรทำอย่างนั้น ควรทำอย่างนั้น” แล้วพอเราพิจารณาไปแล้วมันเป็นอย่างนั้น

หลวงปู่มั่นบอก “ต้อง! ศีล สมาธิ ปัญญา ต้อง! ต้อง! ต้อง! ต้องทำ! ต้องเป็น! ต้องเป็นอย่างนั้น!”

พอต้องเป็นอย่างนั้นปั๊บ! เราถึงประพฤติปฏิบัติกันมา มันเลยเชื่อมั่นมา ทีนี้พอหลวงปู่มั่นนิพพานไปแล้ว ใจดวงนี้มันไม่เชื่อใคร หลวงปู่มั่นนิพพานไปแล้ว หลวงตาบอกว่านั่งอยู่ปลายเท้านี่ร้องไห้อยู่คนเดียว

“อาจารย์ของเราก็ล่วงไปแล้ว จิตใจดวงนี้มันดื้อนัก มันไม่ฟังใครเลย แล้วต่อจากนี้มันจะพึ่งพาอาศัยใคร มันจะมีใครเป็นที่พึ่งพาอาศัย..”

นั่งเสียอกเสียใจตลอดเวลา นี่ขนาดท่านยังไม่เผาศพนะ พอเผาศพหลวงปู่มั่นไปแล้วถึงไปเห็นจุดและต่อม หลวงปู่มั่นท่านก็ล่วงไปแล้ว หลวงตาท่านก็ต้องค้นของท่านเอง เห็นไหม ท่านบอกอีก ๘ เดือนถึงที่สุดแล้วนะจิตมันย้อนกลับ

“ไอ้จุดไอ้ต่อมอยู่ไหน ก็ไอ้จุดต่อมนี้เอง ความเกิด ความคิดต่างๆ ความเห็นก็เกิดจากจุดและต่อม เกิดจากภพนี่แหละ” นี่ไงพอทำลายหมดโลกธาตุไหวหมดเลย

“ธรรมะเป็นอย่างนี้เหรอ! ธรรมะเป็นอย่างนี้เหรอ! ของดั้งเดิม ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นอย่างนี้เหรอ! เป็นอย่างนี้เหรอ!”

นี่นิพพานมันมีอยู่แล้วเหรอ? นิพพานมันอยู่ที่การกระทำ นิพพานมันอยู่ที่มรรคญาณที่เข้ามาที่การกระทำ แล้วมันนิพพานจากสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลขึ้นมา ตั้งแต่ปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล

ดูสิ ดูเส้นทางดำเนินของจิตสิ! จิตที่มันต้องดำเนินขึ้นไปเป็นแต่ละขั้นตอนขึ้นไป เส้นทางดำเนินของมัน พัฒนาการของมันนี่มันต้องทำขนาดไหน แล้วนิพพานมันจะหล่นมาจากฟ้ามาทับหัวนี่มันเอามาจากไหน? ไม่มี! ไม่มี!

แต่ถ้าคนเรานี่เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด เห็นไหม ถ้าเห็นจริงตามความเป็นจริง เราประพฤติปฏิบัติของเรานะ เราทำของเราให้จริงตามความเป็นจริง อย่าไปซีเรียส อย่าไปเครียด อย่าไปกดดันตัวเอง อำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน อาหารการกิน เห็นไหม ดูสิ คนชอบอาหารแตกต่างหลากหลายกัน อาหารที่ถูกจริตเรา อันนั้นก็เป็นสิ่งที่เราชอบ

การประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่ทำให้จิตใจมันมั่นคงแข็งแรงขึ้นมา เราทำตามจริตตามนิสัย แล้วผิดถูกเอาที่ผลนะ เราปฏิบัติกันไม่ใช่เรานั่งสมาธิก็ต้องให้ตัวแข็ง หุ่นยนต์มันดีกว่าเรานะ รูปปั้นนี่มันไม่กระดิกเลย แล้วมันได้อะไรขึ้นมาล่ะ

การนั่งสมาธิก็เพื่อให้จิตสงบ เพื่อให้จิตใจเกิดมีปัญญา การเดินจงกรมเราก็เดินจงกรมเพื่อหัวใจของเรา เราเอาหัวใจของเรานะ กิริยาท่าทาง เปลือกภายนอกนี่ไม่ต้องไปเอาเป็นหลักหรอก

แต่พูดถึงโดยท่ามาตรฐาน เราจะบอกท่านั่งเป็นท่ามาตรฐาน เราก็นั่งด้วยท่านั่งมาตรฐานนี่แหละ เพราะท่านั่งมาตรฐานนี้เพื่อเอาหัวใจสงบใช่ไหม.. ผลไง เราจะบอกว่าเวลาประพฤติปฏิบัติเอาความสงบของใจ เอาผลของใจ อย่าไปติดยึดข้องมันจากสิ่งที่เป็นรูป เสียง จากภายนอก อย่าไปติดใจมัน เสียงก็คือเสียง รูปก็คือรูป มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น เรามาปฏิบัติกันเพื่อใจของเรา เห็นไหม

ข่าวของครูบาอาจารย์ ข่าวของใครก็สาธุ! ถ้าเป็นตามความจริงก็สาธุ! แต่ถ้าเป็นข่าวของเรา เราประสบของเรา ปัจจัตตังยิ่งรู้เอง ยิ่งเห็นเอง ยิ่งสัมผัสเอง ยิ่งซึ้งมาก.. ปัจจัตตังนี่ใครจะตัดหัวอย่างไรมันก็เป็นจริงอยู่อย่างนี้ ถ้ามันเป็นความจริง ใครจะตัดหัว ใครจะทำอย่างไร มันก็เป็นจริงของมัน

ฉะนั้นมันเป็นปัจจัตตัง มันอยู่ในหัวใจของเรา นี่เราทำที่นี่ กิริยาภายนอกอย่าไปซีเรียส อย่าไปกดดัน ทำขยันหมั่นเพียร.. ความเพียรชอบ ความวิริยะ ความอุตสาหะ เป็นมรรคองค์หนึ่งในมรรค ๘ ความเพียรชอบ มีความเพียร มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร คนเราจะมีมั่งมีศรีสุขเพราะความขยันหมั่นเพียร

ความขยันหมั่นเพียร ความประหยัดมัธยัสถ์จะทำให้เราเป็นคนดี เราต้องเชื่อมั่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่าไปเชื่อที่ว่าให้เร่ร่อนๆ แล้วได้ผล อย่าไปเชื่อ ไม่มี! เราตั้งใจของเรา เห็นไหม นี่โลกเขามีความครึกครื้นกัน เขามีความสนุกสนานก็เป็นเรื่องของเขา แต่เราหาความจริงของเรา

เราเกิดมาเราก็เหมือนเขา เราก็มีชีวิตเหมือนกัน เขามีสมบัติเราก็มี แต่หัวใจเขาทุกข์กว่าเรา เราทุกข์กับเขาหรือเปล่าล่ะ แล้วถ้าหัวใจเราเป็นสุขล่ะ ถ้าหัวใจเรามีความร่มเย็นเป็นสุขล่ะ หัวใจเรามีมาตรฐานขึ้นมาล่ะ หัวใจมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาล่ะ อันนี้ใครเห็นกับเราล่ะ นี่เป็นสมบัติของเรา เราหาสมบัติอันนี้เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง