เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เวลาเราเป็นชาวพุทธนะ พุทธศาสนาสอนเรื่องบุญกุศล เราว่าบุญกุศลคืออะไร เราก็หาบุญกุศลกันนะ แล้วเวลาคิดเป็นวิทยาศาสตร์ไง เวลาเราคิดเป็นวิทยาศาสตร์ใช่ไหม ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง เราก็มองอากาศกัน มันว่าง มันมีความสุขไง
แล้วเวลาเรามาไปวัดไปวาเห็นไหม เวลาเราทำบุญกุศลน่ะ มันยุ่งไหม.. พอมันยุ่ง บาตรใบเดียวนะมันไม่ได้เลี้ยงชีวิตนี้ชีวิตเดียว บาตรใบนี้มันเลี้ยงชีวิตในวัดนี้ทั้งหมด ! บาตรใบนี้มันจะเลี้ยงชีวิตทั้งหมด
ฉะนั้น ผู้ที่เป็นหัวหน้า เขาไม่ใช่มองเฉพาะในบาตรของตัวเอง มันต้องมองถึงว่าผู้ที่มาอยู่อาศัย เขาจะได้อยู่อาศัยอะไรกับเราได้บ้าง ฉะนั้นเวลาเราตักใส่บาตร.. ใส่บาตร.. คิดว่าตักใส่บาตรเฉยๆ ไง แต่ผู้ที่รับผิดชอบนะคิดใส่บาตร บาตรนี้มันจะเลี้ยงทั้งสังคม ! เลี้ยงทั้งหมดเห็นไหม ถ้ามันเลี้ยงทั้งหมดมันก็ต้องดูแลไปทั้งหมด
ฉะนั้นเวลาเราใส่บาตร ตักบาตรกัน มันก็จะมี.. บุญคือการเสียสละ การเสียสละนั้นคือเนื้อนาบุญของโลก เราเสียสละแล้วมันเป็นธรรมไหม ถ้ามันเป็นธรรม จิตใจที่เป็นสาธารณะ มันไม่ได้มองเฉพาะตัวเอง มันมองถึงสังคมทั้งสังคม มันมองถึงโลกทั้งโลก
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมานะ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ สอนทั้งเทวดา ทั้งอินทร์ ทั้งพรหมไง สอน ๓ โลกธาตุ พุทธรับผิดชอบจักรวาล รับผิดชอบ ๓ โลกธาตุเลย
ถ้าใจมันเป็นธรรมนะ ดูสิ เวลาหัวใจของเรา มันอยู่ในความคิดของเรา มันเป็นความทุกข์ความยากของเรา เราจะรักษาธรรมารส .. รสของธรรมชนะรสทั้งปวง .. มันจะเข้าไปมีน้ำหนักมากกว่าความคิดในหัวใจของเรา
ดูมดแดงนะ.. มดแดงเวลามันหาอาหารของมันน่ะ มันไปพร้อมกัน มันรักกัน มันสามัคคีกัน มันไปได้สิ่งใดมามันจะช่วยเหลือกัน ถ้าเราไปแตะมดแดงตัวใด มดแดงทั้งรังนั้นมันจะช่วยกันรุมกัดเรา
นี่ก็เหมือนกัน ในหัวใจของเรา ความคิดของเรา เวลาเราคิดดีคิดชั่ว เวลาคิดดีคิดชั่วน่ะ มดแดงน่ะทำไมมันแตกแยกกัน มดแดงในหัวใจ ความคิดของเราน่ะ ความเห็นของเราในหัวใจน่ะ ทำไมมันแตกแยกกัน ทำไมมันไม่เห็นเป็นทางเดียวกัน
แล้วมันก็มีมดอีกกลุ่มหนึ่งนะ มันวางเฉย มันไม่ยอมทำอะไรเลย ความดี ความชั่ว อุเบกขา มันวางเฉยของมัน มันบอกไม่ต้องทำอะไรน่ะ ว่างๆ ว่างๆ มีความสุขของมัน มดแดงในหัวใจของเรา ความคิดของเราน่ะใช้ไม่ได้เลย.. ใช้ไม่ได้เลย.. เพราะเราจะเชื่อความเห็นของเราไม่ได้เลย ถ้าเราเชื่อความเห็นของเราไม่ได้เลย เราถึงว่าเราเป็นชาวพุทธเห็นไหม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากพุทธศาสนาไว้กับ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราเป็นเจ้าของศาสนา ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันจะมาฝึกมดแดงนี้ให้มันเห็นคุณงามความดี ให้มันรู้จักคุณจักโทษ ถ้ามันรู้จักคุณจักโทษ มันจะไม่แบ่งแยกกันว่าความดีกับความชั่ว ความคิดผิดหรือคิดถูกในหัวใจให้มันขัดแย้งกัน พอมันขัดแย้งกันน่ะ มดแดงมันทำลายรังของมันนะ
เวลามันขัดแย้งกันน่ะ ความคิดมันเกิดจากจิต ! มันไม่ใช่จิต ! เวลามันขัดแย้งกันแล้วมันก็ทำลายตัวมันเองไง ทำลายจิตของเราเองไง ความคิดเกิดจากเรา ความคิดไม่ใช่เรา ความคิดเกิดจากจิตของเรา แล้วกลับมาทำลายเรา.. ทำลายเราทุกอย่างเลย
แล้วไอ้ที่วางเฉยอยู่น่ะ วางเฉยมันไม่ทำอะไรเลย ไอ้วางเฉยคิดเป็นวิทยาศาสตร์ไง พุทธศาสนาสอนถึงคุณงามความดี บุญกุศลน่ะ.. บุญกุศลมันคืออะไรล่ะ บุญกุศลไม่มีการกระทำ เราอยากได้บุญกุศลมา เราต้องเสียสละ ทำทานขึ้นมาเห็นไหม
เช้าขึ้นมา.. เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์มันเจริญไง แต่โบราณมามันหุงข้าวด้วยการเช็ดหม้อนะ หุงข้าวด้วยการตั้งน้ำนะ เขาต้องตื่นตั้งแต่ตี ๔ ตี ๕ มาหุงข้าว.. หุงข้าวมาน่ะเอาข้าวปากหม้อนั้นใส่บาตร.. เอาข้าวปากหม้อใส่บาตรพระ พระเป็นผู้มีศีล พระเป็นผู้ที่ไม่มีอาชีพ พระเป็นผู้เสียสละแล้ว ไม่ประกอบสัมมาอาชีวะแข่งขันกับเรา เป็นผู้ที่ปล่อยวางกับโลก
เราผู้มีศีล ผู้มีธรรม เราให้ชีวิตท่าน เราใส่บาตรท่าน เพื่อให้ท่านดำรงชีวิตของท่าน เพื่อดำรงชีวิตของท่านเห็นไหม สมณะดำรงชีวิต ฉันเพื่อความดำรงชีวิต พวกเราชาวโลกฉันเพื่อเกียรติ เพื่อศักดิ์ศรี เวลาจะกินจะอยู่กัน โอ้โฮ! ไม่ได้น่ะ ต้องมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ถ้าคนมั่งมีศรีสุข.. กินหาบเร่แผงลอย กินข้างถนนไม่ได้นะ.. มันเสียศักดิ์ศรี แต่มันก็กินเหมือนกันนั่นน่ะ
โลกเขาคิดกันไปอีกอย่างหนึ่ง สมณะ.. เป็นผู้ที่เสียสละแล้ว เราหุงข้าว.. ข้าวปากหม้อตักใส่บาตร การเสียสละอย่างนั้น บุญมันเกิดอย่างนี้ไง มันเกิดจากการกระทำไง ไม่ต้องบุญ ไม่ต้องทำอะไรหรอก ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ สิ่งนั้นมันทำขึ้นมาแล้วมันเป็นความวุ่นวาย เป็นความยุ่งยาก เพราะมันเป็นความยุ่งยาก มันความวุ่นวาย เพราะมีการกระทำมันถึงมีเจตนา มันถึงกระเทือนถึงหัวใจของเรา
เวลาเราทำบุญกุศล ถ้าคนมีศรัทธาความเชื่อนะ เวลาเสียสละไปน่ะ มีความสุขของมัน มีความพอใจของมัน ถ้าเรามีความเชื่อ เราเชื่อครูบาอาจารย์องค์ไหน เราทำบุญที่ไหน..
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในธรรมนะ มีพวกโยมไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า..
ควรทำบุญที่ใด
ควรทำบุญที่เธอพอใจ !
พระพุทธเจ้าพูดอย่างนี้นะ .. ควรทำบุญที่เธอพอใจ เพราะเราเคารพศรัทธาครูบาอาจารย์องค์ไหน มันมีความชุ่มชื่น มันมีความอยากทำ ท่านบอกเธอควรทำบุญที่นั่น เพราะมันชุ่มชื่น มันก็อยากทำใช่ไหม แต่ถ้าเอาผลกันล่ะ ถ้าเอาผลกันต้องกลับมาวัดละ เอาค่าของเนื้อดินมาวัดว่า เนื้อดินนั้นมันมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน
นี่ก็เหมือนกัน วัดค่าว่าภิกษุผู้เสียสละไปน่ะ ท่านมีคุณงามความดีมากน้อยแค่ไหน ทำบุญแค่นี้มันก็ให้ผลตอบแทนกลับมามากน้อยแค่ไหน แต่ถ้ามีค่า.. แต่เราไม่รู้จักดินน่ะ เราไม่รู้จักค่าของมันน่ะ แต่ถ้าเรามีความเชื่อ มีความศรัทธาที่ไหนต้องรีบทำแล้ว เพราะกิเลสตัณหาทะยานอยากมันจะดิ้นรน มันจะขัดแย้งในใจของเรา
ไอ้มดแดงรังนี้มันจะขัดแย้งกันเอง ถ้าไอ้มดแดงรังนี้ มันคิดว่าที่ไหนมันพอใจ มัน ควรทำ.. ควรทำที่นั่น เพราะกิเลสมันร้ายนัก กิเลสมันอยู่กับเรา มันเกิดตลอดเวลา ธรรมะมันเกิดเป็นครั้งคราว ถ้ามันพอใจทำ รีบๆ ทำ ! เดี๋ยวมันจะไม่ให้ทำ ถ้ารีบๆ ทำก็จะได้ทำของมันใช่ไหม รีบๆ ทำของมัน ทำแล้วน่ะ แต่ถ้าทำไปแล้วรู้ หรือไม่รู้นี่อีกเรื่องหนึ่งนะ
ถ้ารู้เรื่อง แต่ถ้ารู้ขึ้นมาล่ะ ถ้ารู้ขึ้นมาเราต้องคัดเลือก เวลาคัดเลือกขึ้นมา ทำบุญก็ทำแสนยาก พอทำขึ้นมาแล้วนะ ที่ไหนมีความศรัทธา มีความเชื่อก็ทำไปก่อน พอทำเสร็จแล้วเราเข้าไปสัมผัสเห็นไหม เวลาบอกว่า บุญกุศล ! เวลา ใส่บาตร กับ ถวายพระ อะไรได้มากกว่ากัน.. ตักบาตรได้มากกว่านะ !! เพราะตักบาตรพระต้องบิณฑบาต เป็นข้อวัตรของพระ เราก็ได้ใส่บาตร
แต่ถ้าเรามาถวายอย่างนี้เราได้บุญมากกว่าไหม..? มันได้บุญเหมือนกัน.. แต่มันแตกต่างกัน ! การกระทำทุกอย่าง การกระทำที่ลงทุนลงแรงแตกต่างกัน ผลแตกต่างกันทุกๆ ที่ !!! ไม่มีอะไรเหมือนกันหมดหรอก ! ไม่มี ! ความแตกต่างอะไรในการกระทำน่ะ เรื่องของบุญกุศลก็เหมือนกัน ทีนี้พอเราวัดค่าของเราได้ ถ้าเราไปทำบุญกุศล เวลามาทำบุญอย่างนี้มันได้ ๒ ต่อ ๓ ต่อ ๓ ต่อคือมาวัด
หลวงปู่ฝั้นบอกเลย ไปวัดคืออะไร เราไปวัดคือไปนั่งบนศาลานี้ใช่ไหม แต่หลวงปู่ฝั้นบอก ไปวัด.. คือวัดใจ เพราะว่าเข้ามาวัดเห็นไหม วัดมีกติกา วัดมีข้อวัตร วัดคือวัตร ถ้าเอาวัตถุเป็นวัด เดี๋ยวนี้บ้านคนนะ.. โรงแรมที่เชียงใหม่เขาสร้างดีกว่าวัดอีก สร้างสวยกว่าวัดอีก
วัตร คือ.. ข้อวัตรปฏิบัติ วัตร คือ.. พระที่มีข้อวัตรปฏิบัติ
กิจของสงฆ์ ๑๐ อย่าง กวาดลานเจดีย์ ดูแลต่างๆ คือกิจของสงฆ์.. เราเข้ามาวัด เราก็ต้องเข้ามาวัดก็ข้อวัตรไง หลวงปู่ฝั้นน่ะบอก เข้าวัดคือวัดใจ คือวัตรปฏิบัติ ไม่ใช่วัด.. วัตถุ วัตรปฏิบัติ ถ้าเราเข้าวัดปฏิบัติน่ะ สิ่งนั้นน่ะมันได้วัดใจเรา มันได้ชำระล้างเรา
หลวงตาท่านพูดประจำ ใครจะเข้ามาวัดนะ เขี้ยวเล็บมันต้องถอดไว้ที่ประตู อย่าเอาเข้ามาด้วย ศักดิ์ศรีดีงามทิ้งไว้ที่นั่น มนุษย์เหมือนกัน มนุษย์เหมือนมนุษย์ มนุษย์ต้องมีศักดิ์ศรีดีงามความเป็นมนุษย์เท่ากัน เห็นไหม นี่มันวัดใจ มันถอดศักดิ์ศรี ศักยภาพของตัวไว้ที่ประตู แล้วเข้ามาปฏิบัติธรรมด้วยความเสมอภาค ความเสมอภาคนั้น นี่เข้าวัด !
หลวงปู่ฝั้นบอกไปวัดไปวาน่ะ เรามาวัดเห็นไหม เรามาวัดเราได้มีกติกา ได้การบังคับความเคยชินของเรา พอบังคับความเคยชิน อยู่บ้านมันมีแต่กิเลสมันครอบงำ มาวัด เอาวัตรมากรองหัวใจของเรา
พอเข้ามาวัดแล้วได้ฟังธรรม.. ได้ฟังธรรม.. มาวัดมันสำคัญตรงนี้ สำคัญตรงว่าได้ฟังธรรม ธรรมะนี้มาจากไหน ธรรมนะถ้าหัวใจมันขุ่นมัว หัวใจมันเศร้าหมอง คนตาบอด ใจมันบอด มันไม่รู้จักธรรมะหรอก มันก็เล่านิทานให้ฟัง เล่านิทานคือจำพระไตรปิฎก พุทธพจน์ ! พุทธพจน์ ! นั่นน่ะ มันจำพุทธพจน์มาพูด !
แต่ถ้าหัวใจมันไม่บอด ! หัวใจมันมีการชำระของมัน เพราะหัวใจมันรู้จัก มันลืมตาขึ้นมา มันรู้ว่าอะไรสะอาด มันรู้ว่าอะไรบริสุทธิ์ มันรู้ว่าอะไรสกปรก แล้วมันแก้ไขของมัน ไอ้การแก้ไข ที่แสดงธรรม.. แสดงธรรมนี่ ไอ้การแก้ไข ไอ้การเปลี่ยนแปลง เอามาบอกเล่าให้ฟัง เอามาบอกเล่า.. ! บอกเล่า..! เพราะเรามันยังปฏิบัติขึ้นมาไม่ได้
ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมาได้ พอเราปฏิบัติขึ้นมาเหมือนกัน เส้นทางถนนเส้นทางหนึ่ง บุคคลทุกคนเดินบนถนนเส้นทางนั้น มันจะต้องเห็นเหมือนกัน เพราะเส้นทางถนนบังคับให้หัวใจนั้นเข้าสู่เป้าหมาย
การประพฤติปฏิบัติน่ะ ถ้าข้อวัตรปฏิบัติของใจดวงนั้นได้ประพฤติปฏิบัติ มันเปิดตาขึ้นมาน่ะ มันบอกถึงการกระทำอันนั้น บอกถึงการผ่านเส้นทางอันนั้น หัวใจได้ผ่านเส้นทางอันนั้น หัวใจมันจะเข้าใจเส้นทางนั้น มันมีหนึ่งเดียว อริยสัจมีหนึ่งเดียว การประพฤติปฏิบัติมีหนึ่งเดียว การปฏิบัติมีหลากหลาย วิธีการมีหลากหลาย แต่ผลมันมีอันเดียวกัน ถ้าอันเดียวกันมาวัดน่ะ.. อันนี้ฟังธรรมนะ
เวลาฟังธรรมขึ้นมาแล้ว อานิสงส์ของมันน่ะ ฟังทุกวัน.. ฟังทุกวัน.. บางวันคำนี้ฟังแล้วก็เฉยๆ ทำไมบางวันคำนี้พูดออกมาแล้วสะเทือนหัวใจเราล่ะ เพราะกิเลสเวลามันเบาตัวลง กิเลสมันเปิดโอกาสให้ได้ยินได้ฟัง มันจะขนพองเลยนะ ขนลุกขนชันเลยนะ เวลาธรรมะมันเข้ากระเทือนใจ ไอ้คำพูดคำนี้ คำเดียวกันนี่แหละ พูดแล้วหนังหนา พูดขนาดไหนนะ เอาจอบขุดมันยังไม่รู้สึกตัวเลยนะ มันไม่ขนพองสยองเกล้าเลย
เวลาธรรมะเข้าถึงใจขนพองสยองเกล้า การฟังธรรม สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วตอกย้ำมัน จิตใจเวลาฟังแล้วมันเข้าใจมันผ่องแผ้ว ใจมันสว่างโพรง โอ้..เห็นไหม ผลของการฟังธรรม เราให้ทาน.. ระดับของทาน ระดับของศีล ระดับของการภาวนา มันก็มีหลากหลายขึ้นไป
ฉะนั้น มีหลากหลายขึ้นไป ไปวัด ! ไปวัดไปวาวัดใจของเรา ดัดแปลงความคิดความเห็นของเรา เปรียบความคิดนี้เหมือนมดแดง แล้วหัวใจเราเป็นรวงรังของมัน แล้วมดแดงมันร่วม มันสามัคคีกัน
แต่ความดีความชั่ว ความคิดผิดคิดถูกของเรามันไม่สามัคคีกัน เราก็พยายามทำ นี่สัจธรรม เข้าไปกรอง เข้าไปชำระล้าง สิ่งที่ชำระล้าง เวลาทรมานกิเลส ทรมานหัวใจ ทรมานความคิด เราต้องกรองนะ เราจะพัฒนาขึ้น เราไปทำอะไรแล้วต้องพัฒนาขึ้น จิตของเราต้องดีขึ้น ความดีขึ้นและความไม่ดีขึ้น เมื่อก่อนจิตของเราไม่ดีขึ้นมาน่ะ ทำสิ่งใดก็ไม่เห็นผิดเห็นถูกเลย
พอจิตเราดีขึ้นนะ โน่นก็ผิด นี่ก็ผิด แล้วมันยอกใจนะ เมื่อก่อนทำไมไม่เป็นอย่างนี้น่ะ เมื่อก่อนไม่เคยหงุดหงิดเลยนะ เดี๋ยวนี้มันหงุดหงิดไปหมดเลย ปฏิบัติธรรมแล้วมันก็หงุดหงิด ปฏิบัติธรรมทำไมมันมีแต่โทสะล่ะ
แล้วถ้าไม่มีโทสะก็ซื่อบื้อใช่ไหม เป็นขอนไม้ใช่ไหม พอปฏิบัติธรรมขึ้นมาน่ะ มันเห็นผิดเห็นถูก เวลามันผิดขึ้นมามันก็สะเทือนใจ มันก็มีการกระเทือนใจ หัวใจมันก็มีความบีบคั้นของมัน บีบคั้นนี้เพื่อจะพัฒนาไง เพื่อจะเปลี่ยนแปลงไอ้มดแดงอีกพวกหนึ่ง พวกที่มันต่อต้าน ให้มันเป็นพวกเดียวกัน มันมีผลกระทบ !
นี่เราไม่บอกว่าเวลาปฏิบัติไปแล้วนะ มันก็เหมือนสาดน้ำไปในอากาศ จะไม่มีอะไรเลย ว่างๆ ว่างๆ ไม่มีการดัดแปลงอะไรเลยเหรอ นี้การดัดแปลง การเปลี่ยนแปลงน่ะ มันก็มีการต่อต้าน มันมีเรื่องของหัวใจน่ะ
ฉะนั้นเวลามันมีความขัดใจ มันมีความฉุนเฉียว ฉุนเฉียวมีจริงๆ นะ แล้วก็เราจะฆ่าฉุนเฉียว แล้วมันฉุนเฉียวมันมีประโยชน์อะไรล่ะ ก็จะฆ่าฉุนเฉียวนี่แหละ แต่ความฉุนเฉียวนี้เพราะว่ามันไม่ได้ดั่งใจไง มันไม่ได้ดั่งใจ มันเห็นโทษ เห็นถูก เห็นผิดไง
นี้การปฏิบัติเวลาผ้าขาว มีอะไรไปเลอะมันน่ะ มันจะเห็นภาพชัด เวลาผ้าขี้ริ้วเช็ดเท้านะ เช็ดแล้วเช็ดเล่านะดำคลั่กอยู่นั่นน่ะ มันไม่เห็นความสะอาดความสกปรกหรอก จิตใจของเราเหมือนผ้าขี้ริ้ว เหมือนผ้าเช็ดเท้า แล้วพอซักสะอาดขึ้นมา มันเห็นความสะอาดบ้างอะไรบ้างน่ะ มันก็พอมีความสกปรกมันก็ไม่พอใจ มันก็ดิ้นรนของมัน มันมีอาการอย่างนี้การปฏิบัติน่ะ
ครูบาอาจารย์ที่ผ่านมาท่านจะรู้ของท่าน ถ้ามีอาการอย่างนี้ก็อาการที่มันจะเปลี่ยนแปลง ระยะผ่านของความเป็นไปเรารับรู้ได้ ระยะผ่านน่ะ ระยะที่มันจะเปลี่ยนแปลง เราพอใจ เรารับได้ เรารับรู้มันได้ แล้วเราจะเปลี่ยนแปลงแล้ว เดี๋ยวมันจะดีจริงๆ พอดีจริงๆ น่ะมันทิ้งได้จริงๆ แล้ว อื่ม.. คราวนี้มานะ อะไรกระทบมานะ โน่น เอ็งอยู่โน่นน่ะ กูไม่รับเอ็ง เอ็งเข้ามาไม่ได้นะ มันก็จะมั่นคงไป ความคิดที่ผิด ความคิดที่ไม่ดี มันจะเข้ามาใจเรา เราทันมันแล้วน่ะ เราไม่รับมัน มันจะกองอยู่ข้างนอกความรู้สึกของเรา มันไม่มากองอยู่ในหัวใจของเรา
กว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลงมา มันจะมีพัฒนาการของมันมา ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติมา ท่านจะรู้การพัฒนาของใจขึ้นไป ถ้าเราไม่รู้การพัฒนาของเราเลยนะ อู๋ย...คนไปวัดนะ ยิ่งไปวัดยิ่งโกรธมาก ยิ่งไปวัดยิ่งอารมณ์รุนแรง
อารมณ์รุนแรงถึงที่สุดแล้วมันจะไม่รุนแรง แต่ก่อนที่มันจะรุนแรงมันต้องมีการกระทำของมัน จะไม่รุนแรงอะไรเลยมันก็ขอนไม้ไง มาก็ไม่มีอะไรเลย มาอยู่วัดไม่มีอะไรเลย กลับไปก็ไม่มีอะไรเลย แล้วก็ไม่ได้อะไรเลย ว่างๆ ว่างๆ นิพพานของเขา เอวัง