เทศน์เช้า วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต. หนองกวาง อ.โพธาราม จ. ราชบุรี
นี่เป็นที่พวกเรานะ พวกเราต้องมีสติปัญญายับยั้ง แล้วพิสูจน์เอง เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านพูดเรื่องธรรมะ เวลามีศรัทธาความเชื่อ ประพฤติปฏิบัติไปแล้วต้องมีกาลามสูตร ให้เชื่อสัจจะความจริง สัจจะความจริงคือใจสัมผัสนะ ถ้าใจเราลงสมาธิ ใจเรามีหลักมีเกณฑ์ เราจะรับรู้ของเราได้นะ
แต่ในปัจจุบันนี้ เวลาเราศึกษาธรรมะกัน ในความรู้สึกของเรา ในตัวของเราใต้จิตสำนึกนะ มันมีความลังเลสงสัย หลวงตาท่านพูดขนาดนี้นะ ท่านบอกท่านเรียนจบมหามานะ เวลาอ่านตำราอยากไปสวรรค์ พอไปสวรรค์ พออ่านตำราไป บอกพรหมสูงกว่าก็อยากไปพรหม ถึงที่สุดแล้วอยากไปนิพพาน อยากไปนิพพานนะ แล้วเวลาท่านศึกษาจนเป็นมหานะ เชื่ออยู่ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ แต่จิตใต้สำนึกมันก็ยังมีอะไรลังเลสงสัยอยู่
นี่พูดถึงแปลบาลีได้ ศึกษาพระไตรปิฎกหมดตู้พระไตรปิฎก แล้วมีความตั้งใจจงใจจะออกประพฤติปฏิบัติ เชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา แต่มันก็มีอีกอย่างหนึ่งในหัวใจลึกๆ ว่า ฮื่อ! มันจะมีหรือเปล่าหนอ ความลังเลสงสัยอย่างนี้มันมีอยู่ ถ้ามันมีอยู่อย่างนี้ มันก็ทำให้เราแบบว่าไม่มีความมั่นใจ
ถึงตั้งสัจจะอธิษฐานเลยนะ ถ้ามีอาจารย์องค์ใด ที่พิสูจน์ชี้นำเราได้ เราจะฝากชีวิตกับองค์นั้นเลย แล้วทำไมหลวงปู่มั่น ไปหาหลวงปู่มั่นนะเวลาศึกษามา นี่นิพพาน ถ้าเรายึดมันก็เป็นกิเลส ถ้าเราปล่อยมันก็ไม่เป็นกิเลส แต่เวลาไปหาหลวงปู่มั่น ความที่หลวงตาท่านจบเป็นมหานะ เข้าใจได้หมดเรื่องทฤษฎี ท่านมหามีนิพพานหรือ ท่านมหามีนิพพานหรือ นิพพานไม่ได้อยู่บนภูเขา บนฟ้า บนดิน บนแดด บนเหตุ บนผล บนอะไรทุก ๆ อย่างเลย นิพพานมันอยู่ที่ไหน นิพพานมันอยู่ที่ความรู้สึก
ถ้าจิตมันข้องกังวลสิ่งอันนั้น แต่ตอนนี้เราข้องกังวลอยู่ ถ้าเราข้องกังวลอยู่ เราศึกษาได้ขนาดไหน มันก็ข้องกังวลอยู่ เวลาพระพุทธตรัสรู้ธรรมขึ้นมาพระพุทธเจ้าท้อใจเลย เราจะสอนได้อย่างไร สอนได้อย่างไร
เพราะเหมือนเราเป็นพ่อเป็นแม่คน ลูกเรานี่ ลูกเราเด็กๆ อย่างนี้ ออกไปสังคมเขาหลอกหมดล่ะ นี่เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนามาเป็นพระโพธิสัตว์ สละชีวิต สละทุกๆ อย่างมาตลอดเลย เพื่อให้เกิดบารมีธรรม ให้เกิดพันธุกรรมทางจิตให้มันเข้มแข้ง เวลาเข้มแข้งขึ้นมาออกปฏิบัติอยู่ ๖ ปี พอปฏิบัติมา ๖ ปีแล้วนี่ ออกค้นคว้าอยู่ ๖ ปีนี่ ไปทางไหนมันก็ไปไม่รอด กลับมาถึงหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง แล้วแก้ไขตรงนี้เอง แล้วจะสอนได้อย่างไร เตรียมความพร้อมนะ
พ่อแม่ผ่านโลกมามาก แล้วลูกเราเด็กเล็กแดงมันยังไม่ผ่านโลกเลย มันจะรู้สิ่งใด เราประพฤติปฏิบัติ เรายังไม่เข้าถึงพื้นฐานของใจเลย แล้วบอกว่านิพพานๆ กันนี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิตกวิจาร กันเรื่องนี้นะ จนวางธรรมวินัย นี่ปริยัติคือการศึกษาภาษาทฤษฎีนี่ ทฤษฎีเข้าใจได้หมด ปล่อยได้หมด แต่ปฏิบัติมันอีกเรื่องหนึ่งเลย
เวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น นิพพานมันอยู่ที่ไหน มันไม่อยู่ภูเขา บนวัตถุธาตุต่างๆ นิพพานมันอยู่ที่ไหนนะ นิพพานมันอยู่ที่ใจนะ แล้วนี่เวลาศึกษามาแล้ว การศึกษาเล่าเรียนมานี่ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาธุ สาธุนะ ธรรมวินัยเราต้องศึกษา ถ้าไม่ศึกษาเลยเราก็สะเปะสะปะไปมากกว่านี้อีก
แต่พอศึกษามาแล้ว มันก็สะเปะสะปะอีก สะเปะสะปะจากจิตใต้สำนึกไง ความรู้สึกจากทฤษฎี กับความรู้สึกที่เป็นจริงในหัวใจ กับเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไป ความขัดแย้งที่มันเป็นจริง ฟังสิ ความขัดแย้งที่เป็นจริงได้อย่างไร ความขัดแย้งสิ ขัดแย้งเพราะความพอใจของเรา มันพอใจในตัวมันเอง อะไรที่สุขสบายอะไรที่สัมผัส มันก็ว่าอันนั้นเป็นความจริง แล้วมันเป็นความจริงมันขัดแย้งกับความลังเลสงสัยใต้จิตสำนึกไง นี่มันขัดแย้งกันกับความลังเลสงสัยกับจิตใต้สำนึกไง มันปริยัติ ปฏิบัติ
พอปฏิบัติขึ้นมานี่ต้องวางปริยัติไว้ก่อน ถ้าไม่วางปริยัติไว้ก่อนมันสร้างภาพนะ จิตมันสร้างภาพมาตลอด สร้างภาพแบบจะเป็นสภาวะแบบนั้น นี่ที่ว่ากาลามสูตร หลวงปู่ดูลย์ท่านพูดเองนะ สิ่งที่เห็นนี่เห็นจริงไหม จริง! เห็นจริงๆ เลยนะ นี่ศึกษาจริงๆ เลยนะ ทำจริงๆ นี่แหละ สิ่งที่เห็นนั้นจริงไหม จริง! แต่ความเห็นนั้นไม่จริง สิ่งที่ถูกเห็นนั้นไม่จริง เพราะมันเป็นสถานะหนึ่งที่มันจะแปรสภาพของมันไป
ความรู้สึกของเรา เราไปเจอสิ่งใด เริ่มต้นครั้งแรกเราจะดูดดื่มมาก แต่พอเราพบเห็นบ่อยครั้งเข้า เราได้เสพสัมผัสบ่อยครั้งเข้า ความชินชามันจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ รสชาติของมันจะจางไปๆ นี่เหมือนกัน เราไปเห็นครั้งแรก เห็นนิมิตครั้งแรก เห็นเหตุครั้งแรก อูย... สิ่งนั้นเห็นแล้วมันจะเป็นความจริงๆ เห็นบ่อยๆ ครั้ง ฮือ! มันก็เป็นธรรมดานั่นน่ะ เห็นทุกวันๆ นี่ไง เห็นทุกวัน ธรรมดา แล้วธรรมดาอย่างไรล่ะ
ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมดา ไม่ใช่หรอก! เราเองก็เป็นธรรมชาติ เราเองก็เป็นธรรมดา มันก็แปรสภาพอย่างนี้ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย มันก็เป็นธรรมดา แต่ถ้าเรามีความจริงจังของเรานะ แม้แต่ภาชนะจะใส่อาหาร ถ้าภาชนะมันสกปรกขึ้นมา อาหารจะดีเลิศขนาดไหนมันก็สกปรกไป จิตใต้สำนึกของเรานี่อวิชชามันมีมาไหม ไม่อย่างนั้นไม่มาเกิดหรอก
ธรรมะของพระพุทธเจ้าสะอาดบริสุทธิ์ แต่ด้วยทิฐิมานะ ด้วยเห็นความผิด ด้วยความเบี่ยงเบนของกิเลส กิเลสมันเบี่ยงเบนเอง เบี่ยงเบนความเห็นตามนั้นเอง พอกิเลสมันเบี่ยงเบนเองสิ่งที่เห็นนั้นไม่จริง ทำไมไม่จริง เราต้องกลับมาที่เรานะ ทำความสงบของเราให้ได้ก่อน
ถ้ามันยังไม่สงบขึ้นมา เราตรึกในธรรมได้ พอมันตรึกในธรรมแล้ว มันกระจ่างแจ้ง มันธรรมสังเวชนะ มันสลดสังเวชมากเลย พอเราสังเวชไปแล้วนะ สักพักหนึ่งนะเดี๋ยวมันก็หายสังเวชแล้ว เดี๋ยวตัณหามันก็เกิดแล้ว เดี๋ยวมันก็จะดิ้นไปอีกแล้ว อ้าว! ไหนเมื่อกี้มันสังเวชไง เราตรึกของเราไป เราจะเห็นโทษอย่างนี้ไง เราตรึกในธรรม ด้วยปัญญาของเรานี่ มันจะเห็นความเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ดีมันเพราะเหตุใด ร้ายเพราะเหตุใด แล้วเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย มันเกิดขึ้นมาจากที่ใด
ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา มีสติ มีสมาธิของเรา พอมีสติทำให้เกิดสมาธิขึ้นมา มันตั้งมั่นขึ้นมา ว่าตั้งมั่นก็ตั้งมั่นเหมือนท่อนเสานะ เสาไฟฟ้ามันตั้งมั่น ลมพัดมันก็ไม่เป็นไรเลย แล้วใจตั้งมั่นอยู่ไหนล่ะ ความว่าตั้งมั่นถ้าตั้งมั่นอย่างนั้น เสาไฟฟ้ามันเป็นวัตถุธาตุที่เขาเอาไปตั้งไว้
ถ้าใจมันตั้งขึ้นมา มันต้องมีหลักของมัน มันต้องรู้สึกของมัน ใจของเราที่ตั้งมั่นมันมีชีวิต มีความรู้สึก มันรู้สึกเพราะมันตั้งมั่นเห็นไหม พอมันตั้งมั่นมันก็ไม่คลอนแคลนไปกับสิ่งที่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันเย้าแหย่ มันปะทุขึ้นมา มันศึกษาของมันขึ้นมา มันยึดของมัน ความตั้งมั่นคือความไม่โดนความคิดของเรา โดนอารมณ์รู้สึกของเรามันลากให้เราง่อนแง่นไป ไม่ใช่ตั้งมั่นแบบเสาไฟฟ้า ตั้งมั่นแบบไม่มีชีวิต ตั้งมั่นเลยนะ ตั้งมั่นแล้วไม่รับรู้อะไรเลยนะ ตั้งมั่นมีประโยชน์อะไร ภูเขามันก็ตั้งมั่น โลกนี้มันก็หมุนของมันไปอย่างนี้
คำว่าตั้งมั่นมันมีสติ ความรู้สึกไง ความรู้สึกที่ตั้งมั่น ความรู้สึกที่แบ่งแยกดีและชั่วได้ ความรู้สึกที่มันรักษาตัวมันเองได้ ความรู้สึกอันนี้พอมันตั้งมั่นขึ้นมา แล้วมันออกรับรู้ออกมา เพราะฉะนั้นสะอาด พอออกรับรู้สิ่งต่างๆ พอเวลาปัญญามันเกิดขึ้นมา กาลามสูตรอย่าพึ่งเชื่อ อย่าพึ่งเชื่อแม้แต่ฟังธรรม อย่าไปเชื่อว่าเป็นอาจารย์ของเรา อย่าเชื่อสิ่งใดๆ เลย แต่สิ่งนี่เราฟังมาเป็นประเด็นไง
เวลาเราพูดถึงหลวงตา ท่านบอกอยู่ว่า ถ้าไม่มีครูไม่มีอาจารย์จะไปได้อย่างไร ครูอาจารย์ท่านผ่านของท่านมา ท่านคอยชี้นำเรา เราไปเห็นสิ่งใดเราก็ว่าใช่ทั้งนั้นล่ะ แล้วมันใช่ มันไม่ใช่ธรรมดานะ ใช่แล้วมันยึดของมันนะ โอ้โฮ! มันสุดยอด มีความสุขมาก มันเป็นสิ่งที่ปรารถนา มันเป็นสิ่งที่เลิศโลกมาก
สิ่งที่เราเจอแล้วนี่ มันจะเป็นของเราๆ เดี๋ยวมันก็เสื่อม เดี๋ยวมันก็แปรสภาพไป พอแปรสภาพไปก็คอตกไง แต่ถ้าเรารักษาของเรา นี่ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ รักษาตั้งสติไว้ มันจะเป็นอย่างไร
หลวงตาท่านบอกเลย ท่านดูจิตๆ จิตเสื่อมไป ๑ ปี กับอีก ๖ เดือน สุดท้ายแล้วท่านบอก ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น หาเหตุหาผลขึ้นมา อ้อ... เพราะเราขาดคำบริกรรม พุทโธๆ ไปนะ พอพุทโธไปนะ เดี๋ยวมันเจริญแล้วก็เสื่อมเหมือนกัน สุดท้ายแล้วอยู่กับพุทโธเลย มันจะเจริญหรือจะเสื่อมเรื่องของมัน จิตเอ็งจะไปไหนเอ็งไปตามสบายของเอ็งเลย ข้าไม่ไป ข้าอยู่กับพุทโธ เกาะพุทโธๆๆ ไว้ ตั้งแต่บัดนั้นมาไม่มีเสื่อมเลย
เพราะเหตุที่จิตมันเกาะกับพุทโธไว้ มันมีหลักตรงนี้ มันจะลากไปไหน กิเลสมันจะลากไปไหน อ้าว! มึงลากไปเลย เราไม่ไปกับมัน เราอยู่กับพุทโธไว้ มันจะเจริญหรือจะเสื่อมช่างหัวมัน! แล้วมันเสื่อมไหม? มันเสื่อมไหม? ไม่เห็นเสื่อมเลย
แต่เรานี่ไปรักษา กลัวมันเสื่อม แต่ไม่มีเหตุปัจจัยเลย ไม่มีสติสัมปชัญญะเลย ไม่มีคำบริกรรมเลย ไม่มีจุดยืนเลย ไม่มีสิ่งใดเกาะเกี่ยวไว้เลย จิตใจปล่อยให้มันเร่ร่อนเลย บอกไม่เสื่อมๆ ไม่เสื่อมยังไงมันเร่ร่อนอยู่นั้น มันไม่มีหลักมีเกณฑ์ของมัน ตั้งสติขึ้นมาแล้วยึดมั่นหลักของเรา มันจะเสื่อมให้มันเสื่อมไป
แต่เราไม่ทิ้งเหตุของเรา ไม่ทิ้งสติของเรา ไม่ทิ้งคำบริกรรมของเรา ไม่ทิ้ง มึงจะไปไหนไปเลย ความคิดมึงไปไหนไปเลย กูไม่ไปกับมึง เห็นไหมทำไมมันอยู่ได้ ทำไมมันเป็นจริงขึ้นมาได้ มันเป็นจริงขึ้นมา แล้วมันเป็นจริงขึ้นมาพิสูจน์นะ อย่าเชื่อ! อย่าเชื่อ! ต้องพิสูจน์ให้มันเกิดขึ้นมากับเรา
พอพิสูจน์ขึ้นมากับเราเห็นไหม ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา แล้วมันยืนยันกันตรงนี้ไง ยืนยันตรงที่ว่าเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตัง แล้วมันรู้เองเห็นเอง เป็นตามเป็นจริงเอง ไม่ต้องบอก ไม่ต้องมาการันตีรับประกัน ไร้สาระ! ใครจะรับประกันชีวิตเราได้ ใครรับประกันความสุขความทุกข์เราได้ ใครรับประกันว่าเราไม่ตาย ใครจะรับประกันเรา พ่อแม่ก็รับประกันไม่ได้ หมอก็รับประกันไม่ได้ ไม่มีใครรับประกันเราได้เลยสักคน
แต่หัวใจเรามันรับประกันตัวเราเอง ถ้ามันรู้เลยว่าสิ่งนั้นมันเป็นกิเลส สิ่งนี้เป็นธรรม มันเห็นมันเอง มันรู้มันเอง มันแยกแยะมันเอง ใครจะรับประกัน ไม่ต้อง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นความจริงขึ้นมาเลย นี่พุทธศาสนา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงไม่ให้ใครปกครองสงฆ์เลย เทวทัตก็มาขอ ใครก็มาขอจะปกครองสงฆ์ จะเป็นผู้ดูแลสงฆ์ เทวทัต แม้แต่พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวา เรายังไม่ให้เลย นี่ไง ให้สงฆ์ปกครองสงฆ์กันเอง ให้ธรรมวินัยมันปกครองขึ้นมาเอง
แล้วเวลาจิตใจมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา จิตใจมันปกครองตัวมันเอง จิตใจมันรู้ของมันเอง แล้วจิตใจที่มันรู้เองนี่ จากใจหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ถ้าใจดวงนี้มันพ้นจากความลังเลสงสัยไป ไอ้ใจดวงต่างๆ มันก็เหมือนกันนี่แหละ ไอ้หัวใจที่มันเกิดมันก็เหมือนกันนี่แหละ ไอ้ปฏิสนธิจิตมันก็คือปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตมันก็เหมือนกันนั่นแหละ แต่มันมีกิเลสหยาบกิเลสหนามันแตกต่างกันไป
แล้วถ้ากิเลสมันพ้นออกไปจากปฏิสนธิจิตอันนี้แล้วนี่ แล้วจิตอันอื่นมันจะเป็นอย่างไร จิตอันอื่นที่มันปฏิบัติอยู่มันเป็นอย่างไร มันก็ไอ้จิตอันนี้ พอถึงที่สุดแล้วเห็นไหม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา มันเป็นสากล พอมันเป็นสากลขึ้นมา แต่ก่อนที่มันเป็นสากล มันต้องรู้จริงเห็นจริงของมัน
เราถึงว่าเลือกเอานะ ตั้งสติ แล้วเราดูแลของเรา พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ประเสริฐมาก พุทธศาสนาตอบถึงชีวิตเราได้ ไม่มีศาสนาใดตอบได้หรอก ตอบถึงชีวิต ถึงที่มา แล้วที่มาแบบทุกข์ๆ ยากๆ มาแบบครึ่งๆ กลางๆ ดิบๆ สุกๆ มาแบบจะสุขขนาดไหน มันก็ต้องไปนะ แล้วเรามาแล้วนี่ เวลาของเรานี่ จริงๆ นะ โยมทำหน้าที่การงานก็ทุกข์ ใครก็รู้อยู่ มันก็ทุกข์ทั้งนั้นล่ะ แต่ทุกข์แล้วมันยังต้องไปอีกไหม
แต่ถ้าทุกข์แล้วตั้งสติ ทุกข์นี่ก็เครื่องบอกไง ทุกข์นี่ก็เป็นอย่างนี้ไง ก็เกิดมาก็เป็นอย่างนี้ไง แล้วจะเอากี่รอบล่ะ ถ้ามันทุกข์อย่างนั้นแล้วเราเตือนเรา มันได้ความรู้สึกข้างในด้วยไง แต่ถ้าทุกข์ก็คือทุกข์ แล้วมันไม่มีทางไป แล้วมันก็ต้องทำบุญกุศลขึ้นมา เรากระเสือกกระสนมาทำไม ที่มานี่ มันมานี่มันมาด้วยความสะดวกสบายไหม ถ้าจิตใจมันใฝ่ธรรม เราก็จะแสวงหาของเรา เราจะเอาใจของเราออกจากความครอบงำของมัน ออกจากของมันนะ มันกับเรา กิเลสตัณหาทะยานอยากมันเกิดจากใจเรา แต่ไม่ใช่เรา
ถ้าเป็นเราโดยเนื้อหาสาระ มันละจากเราไม่ได้ ถ้าเป็นเนื้อหาสาระในตัวเราเอง เราละมันไม่ได้ แต่นี่เราละมันได้ด้วยมรรคญาณ ด้วยการประพฤติปฏิบัติของเรา ด้วยการตั้งสติปัญญาของเรา ด้วยการกระทำของเรา มันเกิดที่เรา มันเกิดที่ใจ ก็ใจนี่ เวลาจิตภาวนา ถ้าจิตสงบเข้ามาแล้วนี่ จิตมันออกทำของมัน แล้วจิตมันก็จะทำลายสิ่งที่อยู่ในหัวใจ แล้วจิตดวงนี้ปฏิสนธิวิญญาณที่จะไปเกิดอีก ถ้ากูได้ชำระล้างแล้ว มึงเอาอะไรขับเคลื่อนไป มึงจะไปไหน
ของนี้ประสาว่า เราเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ คือมีกายกับใจ ใจของเราตั้งหลักให้ดี แล้วทำของเราไปเพื่อประโยชน์กับเรานะ เราเกิดในพุทธศาสนา ศาสนานี้ประเสริฐที่สุด แต่เราประพฤติปฏิบัติ เราจะเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาหลวงตาท่านประพฤติปฏิบัติ เวลาพุทธ ธรรม สงฆ์ รวมอยู่ที่ใจ พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่พุทธะ ศาสนาพุทธ ศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาแห่งพุทธะ
แล้วพุทธะคือความรู้สึก พุทธะคือธาตุรู้ แล้วธาตุรู้เราต้องมี แล้วเราเข้าไปประคบประหงม แล้วเราทำถึงที่สุดแห่งความสะอาดบริสุทธิ์ของเรา พุทธ ธรรม สงฆ์ รวมอยู่ที่ใจ มันถึงไม่ได้สงสัยสิ่งใดเลย ถ้าเราประพฤติปฏิบัติไปถึงตามความเป็นจริงอันนั้น อันที่มันทุกข์ยากอยู่นี่ มันจะทำได้ ไม่มีใครหรอกที่ไม่มีอำนาจวาสนา ไม่มีใครหรอกที่จะทำไปเพื่อประโยชน์ไม่ได้ เราถึงต้องทำของเรา มันจะทุกข์จะยากขนาดไหน ก็ทนของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง