เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เวลาเราออกประพฤติปฏิบัติกันน่ะ เห็นไหม ทุกคนอยากจะพ้นจากทุกข์นะ เพราะทำไม เพราะทุกข์มันบีบคั้น ทุกข์มันบีบคั้นกับเรา เพราะเรามีทุกข์ในหัวใจ ถ้าไม่มีทุกข์ในหัวใจเราไม่มาเกิด มาเกิดเพราะอวิชชาพาเกิด อวิชชามันมีอยู่แล้วมันบีบคั้นตลอดเวลา
เพราะผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ทุกข์ที่ละเอียดที่สุดคือการอาลัยอาวรณ์ นี่เราทุกข์เพราะโดนเวทนาโดนความทุกข์มันบีบคั้นใจ แต่มันไม่มีเวทนาไม่มีอะไรเลยนะ มันก็อาลัยอาวรณ์ เวลาตัวสุดท้ายอาลัยอาวรณ์น่ะมันคิดถึงนะ มันห่วงใย แค่นี้ก็ทุกข์นะ ความทุกข์นะมันละเอียดเป็นชั้นๆๆ เข้าไป แต่นี่มันเป็นอนุสัย มันนอนเนื่องมากับใจ เพราะใจมันมีแรงขับอย่างนี้ไงมันถึงจะต้องมาเกิด มาเกิดเพราะมันมีเชื้อไขของมัน เวลาประพฤติปฏิบัติกันนะ ก็ว่ากัน เห็นไหม ว่ากันโดยสามัญสำนึกไง
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกประพฤติปฏิบัติ นี่พุทธวิสัยนะ แค่เห็นยมทูต เห็นเกิด เห็นแก่ เห็นเจ็บ เห็นตาย ท่านยังมีเชาว์ปัญญาในการใคร่ครวญว่าชีวิตมันเป็นอย่างไร แล้วออกค้นคว้านะ ออกค้นคว้าไปอยู่กับเจ้าลัทธิต่างๆ อีกตั้ง ๖ ปี คนมีปัญญาระดับนั้นกว่าจะเข้าถึงธรรมะได้นะ ยังต้องค้นคว้าอีกตั้ง ๖ ปี แล้วปัญญาอย่างพวกเราสาวกสาวกะ สาวกสาวกะหมายถึงว่า เราสร้างบุญญาธิการมานี่ไม่เหมือนพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์ เห็นไหม ดูพระเวสสันดรสิ สละลูกสละเมีย คำว่าสละลูกสละเมีย ถ้ามองผิวเผินมันมองแบบโลกๆ มองแบบเห็นแก่ตัว ไปสละลูกสละเมียไม่สละตัวเอง แต่ถ้ามองทางธรรมนะ ความรับผิดชอบของสามี สามีที่รักภรรยาสุดหัวใจ รักลูกเทิดทูนในดวงใจ แล้วเขามาขอลูกขอภรรยานี่มันเจ็บปวดแค่ไหน แต่ถ้าคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ เห็นไหม มันแบบว่าให้ไปดีเราไม่ไปทุกข์ไปยาก แต่ถ้าคนรับผิดชอบนะ มันสะเทือนหัวใจมาก สะเทือนหัวใจเพราะอะไร เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ นี่โพธิญาณ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ชาติสุดท้ายต้องสละตรงนี้ ถ้าไม่สละตรงนี้ เห็นไหม อย่างพวกเราไม่ต้องสละเพราะอะไร เพราะว่าเราสาวกสาวกะได้ยินได้ฟัง ได้ยินได้ฟังน่ะมันมีการสืบต่อมา เห็นไหม นี่พอออกประพฤติปฏิบัติขนาดนี้ เชาว์ปัญญาอย่างนี้ ไปศึกษากับอาฬารดาบส เห็นไหม เธอมีความรู้เหมือนเรา เป็นศาสดาได้เหมือนเรา พระพุทธเจ้าปฏิเสธเพราะอะไร เพราะจิตใจมันยังมีการบีบคั้นอยู่ มันยังมีความทุกข์อยู่ เห็นไหม นี่แล้วพอประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแล้วนี่ เห็นไหม
เวลาคนที่รู้แล้ว ฟังแล้วเหมือนง่ายๆ มันไม่ง่ายนะ เพราะมันละเอียดไง มันอยู่ข้างตัวเราไง โจรผู้ร้ายข้างนอกเราระวังนะ แต่โจรผู้ร้ายในบ้านเราล่ะ แล้วโจรผู้ร้ายในหัวใจเราล่ะ เรามองไม่เห็นนะ คนคิดว่ามันง่าย ง่ายเพราะคนเป็น เช่น เราขับรถนี่ เราขับรถขับราคนเป็นนี่จะหมุนพวงมาลัยไปไหน จะจอดซ้าย จะจอดขวา จะเข้าที่ไหนก็ได้นะ คนไม่เป็นขยับไปขยับมาชนเขาทั้งนั้นนะ อันนี้ก็เหมือนกัน แล้วคนที่ขับรถเป็นมีความชำนาญมาก นี่เห็นคนขับรถมามันไม่เป็นนี่จะมีอุบัติเหตุ ไปข้างหน้าจะมีอุบัติเหตุ เรานี่คาดการณ์ได้ถูกต้องเลย
นี่แล้วเวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราสังเกตได้ไหม เวลาเราจะติดเครื่องยนต์คนขับรถเป็น เห็นไหม นี่เวลาเราจอดรถเราต้องปลดเกียร์ว่าง แล้วดับเครื่องใช่ไหม ให้อุ่นเครื่องไว้ก่อน แต่เวลาคนขับรถไม่เป็นดับเครื่องทั้งๆ ที่อยู่ในเกียร์ มันเป็นไปได้อย่างไร นี่เวลาดูจิต ดูจิตมันเป็นอย่างนั้นนะ มันไม่ใช่ปลดเกียร์ว่าง มันกดไว้เฉยๆ มันกดไว้ เหมือนเราดับเครื่องโดยที่เราไม่ได้ปลดเกียร์ว่าง รถเสียหายหมดนะ รถมันจะมีการกระตุก เครื่องยนต์จะเสียหายหมดเลย แต่อันนี้มันเป็นเครื่องยนต์เป็นวัตถุ
แต่เวลาจิตใจมันไม่มี จิตใจมันเป็นนามธรรม มันก็เหนี่ยวรั้งกันไปหมด มันเหนี่ยวรั้งไป ความคิดอาลัยอาวรณ์ ความทุกข์ความอยากมันอยู่ในใจหมดนะ มันปลดเปลื้องไปที่ไหน แต่ถ้าเราปลดเกียร์ว่าง เห็นไหม นี่เครื่องมันจะฟรี เครื่องมันไม่ทดอยู่ในเกียร์ เห็นไหม เราใช้ปัญญาอบรมสมาธินี่มันปลด คำว่ามันปลดมันมีการกระทำ ปลดเกียร์ว่างเราต้องปลดมันใช่ไหม เราต้องเหยียบครัชใช่ไหม มือเราต้องปลดครัชใช่ไหม แต่ถ้าเราดับเครื่อง เห็นไหม เราปิดกุญแจมันก็ดับ
ดูเฉยๆ มันกดไว้อย่างนั้นนะ มันกดไว้เฉยๆ แล้วมันไม่ได้ปลดนะ มันก็ดับไปเฉยๆ แล้วมันจะทำอะไรได้ ติดเครื่องก็ติดไม่ได้ ติดเครื่องรถก็กระตุกเลย แต่ถ้าเราปลดเกียร์ว่างนะ เราดับเครื่องก็ได้ เราติดเครื่องก็ได้ ติดเครื่องนี่สัมมาสมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีศีล สมาธิ ปัญญา นี่คำว่าง่ายๆ ง่ายๆ เพราะคนเป็น ง่ายๆ เพราะเราอธิบายให้คนไม่เข้าใจ เห็นไหม แล้วมันมาจากไหนล่ะ เวลารถยนต์กลไก เราเห็น เราฝึกได้ เรามีโรงเรียนสอนนะ
แต่การเกิดและการตาย เราเกิดจากครรภ์ของมารดานี่เราเป็นเอง แล้วใครจะสอนล่ะ เราเป็นความรู้สึกอันนั้นทั้งหมดเลย แล้วเราจะเอาความรู้สึกอันนี้มาแยกแยะอย่างไร มันอยู่กับเราทั้งหมด กิเลสมันอยู่กับเรา ความเป็นไปมันอยู่กับเรา ความทุกข์ความสุขมันอยู่กับเรา แต่ตัณหาความทะยานอยากมันก็อยู่กับเรา แล้วเราก็เพลิดเพลินไปกับตัณหาความทะยานอยาก ตัณหาทะยานอยาก พลังงานคือตัวอวิชชา พลังงานคือตัวจิต นี่ความคิดมันเป็นขันธ์ ๕ นี่มันมีมาสภาวะโดยสามัญสำนึก โดยเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม
เทวดา อินทร์ พรหม เวลาฟังเทศน์หลวงปู่มั่นทำไมสื่อกันรู้เรื่องล่ะ มันสื่อด้วยภาษาใจ ภาษาใจคือภาษาอะไร ภาษานึก เอ้า! โยมลองนึกอะไรสิ อยากจะพูดอะไรไม่ต้องพูด นึก นึกนั่นแหละภาษาใจ ภาษาใจคือภาษาความนึกคิด แล้วจิตมันมีความนึกคิดอยู่แล้วใช่ไหม นี่มันสื่อสารกันได้ แล้วกาลเวลาล่ะ
นี่จิตที่มันเกิดมันตายมันเกิดตายอย่างนี้ จิตไม่เคยตาย แต่มันเกิดตายในสมมุติ เกิดตายในวัฏฏะ มันเปลี่ยนสภาวะของวัฏฏะ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันมีวาระของมันไง วาระความเป็นอยู่ วาระมันเสวยภพเสวยชาติ มันมีวาระ ปัจจุบันวาระเราเป็นมนุษย์ มนุษย์นี่เรามีวาระถึงที่สุดนี่จิตนี้มันต้องออกจากร่างนี้ไป
นี่ในการแพทย์ เห็นไหม เขามาถามบ่อย เวลาเจ้าชายนิทราตายหรือยัง ในทางการแพทย์ว่าตายแล้วนะ ตายแล้ว แต่ในทางธรรมไม่ตาย เพราะจิตมันยังอยู่ ถ้าจิตมันตายพลังงานออกจากร่าง ออกจากร่างปั๊บร่างกายมันจะเน่าเพราะมันไม่มีไออุ่น ไม่มีพลังงานไม่มีพลังงาน พอไม่มีพลังงานปั๊บเลือดทุกอย่างมันหยุดหมด พอถึงเวลาปุ๊บมันจะเสียหมดเลย แต่ถ้ายังมีจิตอยู่นะ พลังงานตัวนี้ยังอยู่นี่มันไม่เน่า มันไม่เน่าเพราะอะไร เพราะพลังงานมันมี ไออุ่นมันยังสืบต่ออยู่ นี่จิตกับกายมันอาศัยกันอย่างนี้
แต่เวลาจิตออกปั๊บ นี่ในขณะที่เจ้าชายนิทราจิตเขายังอยู่ แต่มันพิการทางร่างกายสมองพิการ ทุกอย่างมันวิการหมด พอวิการนี่พลังงานมันไปไม่ได้มันอยู่ของมัน อย่างขันธ์ ๕ เห็นไหม ดูสิ เราอยู่เฉยๆ เราไม่คิด ความคิดอยู่ไหน เวลาคิดความคิดมาจากไหน นี่ก็เหมือนกัน ขณะที่ประสาทมันวิการคือมันเจ็บไข้ได้ป่วยนะ มันทำงานไม่ได้ เห็นไหม มันยังไม่ตาย ถ้าตายคือจิตออกจากร่าง ถ้าจิตออกจากร่างคือสิ้นสุดกระบวนการของจิต จิตมันจะรวมตัวเข้ามาถึงจุดแล้วออกจากร่างไป ออกจากร่างไปมันก็ได้สถานะใหม่ ถ้าเป็นสัมภเวสีก็เกิดเป็นอินทร์ เป็นพรหมขึ้นไป เห็นไหม
นี่จิตมันไม่เคยตาย แต่มันได้วาระมานะ เป็นมนุษย์ ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เห็นไหม เราศึกษาธรรมนี่มันแก้ไขได้ตรงนี้ไง นี่โอกาสของเราแก้ไขเพราะ เพราะเรามีสตินะ ดูสิ ดูสัตว์นะ สัตว์มันก็เป็นสัตว์เหมือนกัน สัตว์มันก็ดูแลครอบครัวของมันนะ มันดูแลลูกของมัน มันรักษาของมัน นี่ความดีของสัตว์มันทำดีทำชั่วได้ แต่มันทำมรรค ผล นิพพานไม่ได้ เพราะมันไม่มีเชาว์ปัญญาเหมือนมนุษย์
มนุษย์มีเชาว์ปัญญา มีเชาว์ปัญญา แล้วปัญญาที่เราใช้กันอยู่นี่มันโลกียปัญญา หมายถึง ปัญญาสถิติ ปัญญาทางวิจัย จินตมยปัญญา แต่ปัญญาอย่างนี้มันใช้ได้ ใช้ให้เป็นปัญญาอบรมสมาธิเข้ามาก่อนไง เราก็ใช้ปัญญาก่อน อย่างเช่น เราจะก่อร่างสร้างตัวเราต้องมีทุนก่อน เราต้องหาทุนก่อน เราต้องมีความสมัครใจก่อน แล้วเราทำขึ้นมาแล้วนะ มีทุนแล้วเราทำธุรกิจขึ้นมามันถึงได้มีผลตอบแทนมา ผลตอบแทนต่อเมื่อเรามีการกระทำไปแล้ว
แล้วนี่พอเรายังไม่มีทุน ไม่มีทุนหมายถึงว่ามันยังเป็นความคิดในเกียร์ ความคิดของเราเป็นโลกียะหมดเลย มันเกิดจากตัวตน เกิดจากเรา แล้วมันไปจินตนาการในศาสนานี่มันสร้างภาพ มันสร้างได้หมดนะ นรกสวรรค์นี่คิดเองได้หมดเลย แต่โสดาบัน สกิทาคามีนี่คาดการณ์ไม่ได้ คาดการณ์ไม่ได้เพราะดวงจิตทุกๆ ดวงใจนี่มันไม่เคยตกสถานะนี้ คือไม่มีข้อมูล แต่ดวงจิตพวกเรานี่เคยเกิดเคยตายมาตลอด พอเคยเกิดเคยตายมันอยู่ในสถานะไหนมันมีข้อมูลไง พอมีข้อมูลมันคาดหมายได้ แต่อริยภูมินี่คาดหมายไม่ได้ คาดหมายไม่ได้เพราะจิตมันไม่เคยเป็น มันไม่มีข้อมูลของมัน
เวลาเราไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกถึงอริยภูมิ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี เราก็คาดหมายตามนี้ มันไม่เป็นจริง ไม่เป็นจริงหรอก มันเป็นจริงไปไม่ได้ ถ้าเป็นจริงขึ้นไปจิตพอมันเป็นไปแล้วนี่มันเป็นอกุปปธรรม ดูสิ ดูผลไม้ที่เราดองแล้วนี่มันจะให้กลับมาเป็นผลไม้ปกติได้ไหม เพราะมันดอง มันแปรสภาพไปแล้ว
จิตก็เหมือนกัน จิตที่มันอกุปปธรรม คือว่ามันสะอาดแล้วมันจะกลับมาสกปรกอีกไม่ได้ ไม่ได้ มันเป็นอกุปปธรรม มันคงที่ไง นี่สรรพสิ่งโลกนี้สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวะนี้เป็นอนัตตา มันแปรสภาพมาตลอด เห็นไหม แต่เราไม่เคยเห็น เราไม่เคยเข้าใจมัน เราร่วมไปกับมัน เราร่วมไปกับสิ่งที่แปรสภาพ เราร่วมกับสิ่งที่ความเปลี่ยนแปลงตลอด จิตก็เปลี่ยนแปลง อาการมันเปลี่ยนแปลงแต่ตัวมันไม่เคยเปลี่ยนแปลง อาการเปลี่ยนแปลงนะ เสวยสถานะนี่เปลี่ยนแปลง แต่ตัวมันเองไม่เคยเปลี่ยน พลังงานจะมีตลอดไป เห็นไหม นี่แล้วถ้ามันสงบเข้ามาล่ะ จิตมันมีหลักมีเกณฑ์เข้ามา ต้องมีหลักมีเกณฑ์เข้ามา พอหลักเกณฑ์เข้ามาตัวของมันไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนโดยตัณหาความทะยานอยาก
แล้วเวลาอภิธรรมมันบอกว่า พวกเราปฏิบัติไม่ได้ พวกพุทโธนี่มีความอยากปฏิบัติไม่ได้ แต่คนอยากดีนี่มันเป็นความอยากที่ดี ความอยากมันจะแบ่งเป็น ๒ เห็นไหม คนกล้าหาญมาก คนนี้คนกล้าหาญ กล้าหาญทางนักเลงก็ได้ กล้าหาญในทางคุณงามความดีก็ได้ กล้าหาญก็ต้องแบบกล้าหาญผิดหรือกล้าหาญถูก นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อปัญญานี่ความอยากมันอยากในทางผิดหรืออยากในทางถูก ถ้าอยากในทางดีอยากในทางถูกนะ มันเป็นมรรค เห็นไหม
เรามาวัดกัน เห็นไหม นี่เขาบอกว่าพวกไปวัดพวกมีปัญหา เอ้า! ก็มีปัญหาถึงได้ไปไง ไปเพื่อจะไปชำระปัญหาไง คนไม่ไปวัดไม่มีปัญหา มันมีปัญหาอยู่แต่มันปฏิเสธ มันกดไว้ นี่ดูจิตก็เป็นอย่างนี้ ปฏิเสธแล้วกดไว้ กดไว้เฉยๆ ว่าเราเป็นคนดี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง เรานี่ปล่อยวางกันหมดแล้ว เราเป็นคนดี พวกที่ไปวัดยังเดือดร้อนกันอยู่ ยังทุกข์ยากอยู่
เขาไม่มีมรรค เขาไม่มีเหตุ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เราต้องสร้างเหตุ แล้วมันจะเกิดสภาวธรรม แต่นี่ไม่ได้ทำอะไรกันเลยจะมี เห็นไหม นี่โดยสามัญสำนึกของคน สามัญสำนึกของมนุษย์ต้องการความสะดวกสบาย สามัญสำนึกของมนุษย์ต้องการความมักง่าย สิ่งง่ายๆ สิ่งที่สะดวกสบาย แล้วเวลาปฏิบัตินี่ก็มักง่าย เห็นไหม ทางลัดๆ
กิเลสมันหลอกหมดนะ ลัดนี่นะฟังแล้วเศร้า เศร้าตรงไหนรู้ไหม เศร้าตรงที่เราจะเสียโอกาส เรานี่มีโอกาสได้ทำคุณงามความดี แล้วก็บอกว่าทำทางลัด มันลัดไปนี่มันเสียโอกาสการกระทำอันนี้ พอเสียโอกาสอันนี้ก็ไปทำทางลัดกัน แล้วลัดไปไหนน่ะ แล้วได้ผลไหม มันไม่ได้ผลหรอก มันไม่ได้ผลเพราะอะไร เพราะว่ามันขัดกับข้อเท็จจริง ถ้ามันขัดกับข้อเท็จจริง มันจะเป็นความจริงได้อย่างไร สัจจะ อริยสัจจะ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วเกิดถ้าไม่มีสมาธิ ไม่มีสมาธิมันขัดกับความจริง ไม่มีสติ สติไม่ต้องทำ ทุกอย่างก็ไม่ต้องทำ มันเกิดเองได้ทั้งหมดเลย
ถ้ามันเกิดเองได้หมดเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อสัตว์ขนสัตว์ขนไปหมดแล้ว ไม่ให้เราตกอยู่ในวัฏฏะนี้เลย จะขนไปหมดเลย มันขนไปไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันเป็นความรู้สึกของเรา ความคิดของเขา เราเป็นพ่อแม่นี่เราพยายามอบรมลูกเรา ให้คิดไปในทางที่ดีนะ ก็ความคิดของเขา ถ้าเขามีจริตนิสัยที่ดี เราอบรมที่ดี เขาก็จะมาในสิ่งที่ดี แต่ถ้าความขัดแย้งนะ ความขัดแย้งคือกรรมนะ กรรมนะในของลูก พ่อแม่ปรารถนาดี อบรมที่ดี แต่ลูกบอกว่าทำไมพ่อแม่กลั่นแกล้ง ทำไมพ่อแม่รังแกเรา มันคิดไปอีกเรื่องหนึ่งเลยนะ ทั้งๆ ที่เราปรารถนาดีแสนที่จะปรารถนาดีเลย แต่กิเลสในใจของเขาคิดออกไปอีกเรื่องหนึ่งเลย ทำไมรังแกเรา ทำไมทำร้ายเรา
นี่ในปุถุชนคิดไม่ออกนะ นี่เพราะเรานั่งอยู่นี่ มีหลายครอบครัวมากมาปรึกษาปัญหาอย่างนี้ พ่อแม่คนไหนที่ไม่รักลูก แล้วลูกมันคิดได้อย่างไรว่าพ่อแม่รังแกมัน มันพูดจริงๆ ว่าพ่อแม่รังแกมัน นี่มันเรื่องของกรรมไง เรื่องของกรรม เรื่องของสิ่งที่ปลูกฝังมาของใจ แล้วเราคิดว่าเราจะทำโดยกรอบ ทุกอย่างต้องเป็นอย่างนี้หมด มันเป็นไปไม่ได้หรอกจริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้นถึงปูพื้นฐาน
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงฉลาดมาก เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นมา เห็นไหม ถึงกรรมฐาน ๔๐ ห้อง วิธีการทำอย่างไรก็ได้เข้ามา ๔๐ ห้อง ช่องทางไปถึงเป้าหมายมันมีมาก แต่ผลเหมือนกัน ผลคือสมาธิเหมือนกัน คำว่า ๔๐ ห้องคือ ๔๐ วิธีการ นี่สมถะ ผลของมันคือความสงบของใจ ก็คือปลดเกียร์ว่าง ถ้าปลดเกียร์ว่างไม่ได้ ดับเครื่องพร้อมกับเกียร์แล้วจะติดเครื่องอยู่อย่างนั้นนะ นี่มันเป็นวัตถุ แต่เวลาเป็นความรู้สึก เป็นความคิดเรานี่มันเกิดดับ ความคิดเกิดดับ มันก็ไม่มีอะไรมันก็ว่างๆ อย่างนี้ ว่างๆ อย่างนี้มันอยู่ในเกียร์ มันเลยปลดเกียร์ว่างไม่ได้ มันเลยเป็นโลกียปัญญา
แล้วพอปลดเกียร์ว่างได้นะ สมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่สมาธิทำให้ไม่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ให้กิเลสทับซ้อนกับความคิดเรา ถ้าเป็นความคิดก็ให้ความคิดโดยโลกุตตรธรรม ความคิดเราใช้ตัวนี้เป็นวิชาชีพ เป็นโลกียธรรม โลกียธรรมนะ ผู้ที่บริหาร ผู้จัดการ ผู้ที่เป็นหัวหน้า ทำสิ่งที่ดีสำหรับบริษัทบริวาร เห็นไหม นี่เป็นความดีทั้งหมดเลย มันเป็นโลกียธรรม ทำเพื่อสังคม ทำเพื่อโลก ทำเพื่อเรา ทำเพื่อใจของเรา เพราะใจเป็นคนคิด ใจเป็นคนได้ประโยชน์ ใจเป็นคนสร้างบารมี เราทำดีกับคนอื่น คนอื่นเขาจะเห็นคุณงามความดีของเรา นี่เขาจะยอมรับ บารมีเกิดอย่างนี้ นี่คือโลกียธรรม แล้วโลกียธรรมมันก็มีผู้รับสนองตลอดไป
แล้วพอปลดเกียร์ว่าง พุทโธ พุทโธเข้ามา หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา ปลดเกียร์ให้ได้ พอปลดเกียร์เข้ามามันว่างปั๊บนี่ ถ้าเราฝึกฝน ฝึกให้เกิดปัญญา ปัญญาอย่างนี้เป็นโลกุตตรธรรม โลกุตตรธรรมเพราะอะไร เพราะมันจะมาชำระไอ้ภวาสวะ มาชำระไอ้ตัวภพ มาชำระไอ้ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตคือตัวต้นเหตุ ตัวสถานะเจ้าของ เป็นตัวลิขสิทธิ์ ตัวที่เกิดตายเกิดตาย ตัวที่จิตมันไม่เคยเกิดเคยตายนี่ สิ่งนี่พอมันเกิดโลกุตตรธรรม โลกุตตระ ธรรมเหนือโลก
ความเกิดวัฏฏะคือโลก คือจิต คือสถานะ ความรับรู้นี่เป็นโลก ความรู้สึกโลกทัศน์จากภายใน ความรู้สึกอันนี้เป็นโลก แล้วโลกก็หมุน โลกในหมุนไปมันก็ไปเข้ากับโลกนอก โลกนอกก็มนุษย์ เทวดา อินทร์ พรหม วัฏวน เห็นไหม โลกนอกกับโลกในมันก็สัมพันธ์กัน นี่เกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหมก็เกิดอย่างนี้ แล้วถ้าโลกุตตรธรรมมันไปชำระตรงนี้ มันไปชำระสิ่งที่เหนือโลก จุดศูนย์กลางของโลก จุดศูนย์กลางของวัฏฏะคือหัวใจของมนุษย์ คือความรู้สึกอันนี้ แล้วจิตมันเข้ามา นี่มรรคญาณมันเกิดอย่างนี้ มันยังลึกซึ้งไปอีกเยอะแยะนะ
แล้วสิ่งที่พูดกันนะ ดูไปเฉยๆ แล้วมันเป็นไปเองนี่ ตุ๊กตามันก็ทำได้ เด็ก ใครๆ มันก็ทำได้ ใช่ สามเณร ๗ ขวบก็เป็นพระอรหันต์ได้นะ แต่การเป็นพระอรหันต์มันต้องมีมรรคญาณในหัวใจ มันต้องมีความเป็นไปของมรรค มันจะเป็นสัจจะความจริง
นี่เพราะว่าเมื่อวานพูดคำว่า แหม ฟังแล้วง่ายๆ นี่มันสะเทือนใจอยู่ โอ้! ง่ายไปหมดเลย ใช่ ง่ายเพราะคนเป็นอธิบายให้เห็นง่าย ให้เห็นช่องทาง เพราะการทอดสะพาน จิตที่สูงกว่า มันจะทอดสะพานมาให้ผู้ที่ต่ำกว่าเดินขึ้นไป การทอดสะพานลงไปให้เดินได้สะดวกสบายนี่ มันก็ต้องทำสะพานให้มั่นคง พูดให้เห็นชัดเจน นี่สะพานนะ นี่ราวจับนะ เดินนะ ยกตัวขึ้นไปนะ ดึงตัวเองขึ้นไป เห็นไหม
แต่คนเดินนะ มรรคญาณ ไม่ง่ายหรอก ไม่มีอะไรง่าย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าเราเอง ทิฏฐิเรานี่ ดูสิ เด็กมันฟังเราบ้างไหม แล้วทิฏฐิของเราเอง แล้วประสาเราทิฏฐิของเรามันจะบอกว่าเราถูกตลอด ถ้าทิฏฐิของเรายอมว่าผิด อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนรู้จักผิดรู้จักถูก ตนนี่จะแก้ไข แต่ตนไม่ค่อยผิดนะ มีแต่คนอื่นเขาว่าเราผิด เราไม่เคยผิดเลย ทั้งๆ ที่เรานะผิด ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะมีสถานะ ผิดเพราะมีการกระทบ ถ้ามีกระทบผิดแล้ว นี่กิเลสอย่างละเอียด แล้วพอความคิดออกไปก็ผิดไปเรื่อยๆ นี่สิ่งนี้จะย้อนกลับมานะ
นี่ธรรมะมันมาชำระที่นี่ เรื่องของสังคม เรื่องของสุขของทุกข์ของสังคม มันเป็นเรื่องของสภาวะกรรม แต่ถ้ากรรมของเราสุขทุกข์ของเรา ถ้ามันเป็นประโยชน์ประโยชน์ที่นี่ แล้วจะเกิดประโยชน์กับเรา เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเราฟังเป็น ถ้าเราแก้ไขเป็น ถ้าฟังเป็นแล้วเตือนสติ เห็นไหม เรารู้ผิดรู้ถูกเรา แล้วเราจะมีโอกาสแก้ไขเรา เอวัง