เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๗ มี.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราชาวพุทธนะ ชาวพุทธนี่เกิดมาพบพุทธศาสนา มันเป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์ที่มหาศาลเลยแหละ แต่คนใช้มันไม่เป็น คนไม่เห็นคุณค่าของมัน เห็นไหม เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี่ เราเกิดมาจากพ่อแม่ พ่อแม่ของเรามีบุญกุศลมาก มีบุญกับเรามาก เพราะเราเกิดจากพ่อจากแม่ เห็นไหม แต่ถ้าอยู่ใกล้ชิดกันมันไม่มีคุณค่านะ ลูกกับพ่อแม่นี่จะเถียงกัน จะมีปัญหากันตลอด ลูกกับพ่อแม่ เห็นไหม เกิดใกล้ชิดกันนี่ แต่บุญคุณ คุณเกิดจากพ่อจากแม่

เราเกิดจากศาสนา เกิดมาพบพุทธศาสนา แต่บรรพบุรุษของเรานี่จรรโลงศาสนาไว้ให้เราได้ศึกษานะ ให้เราได้ประพฤติปฏิบัติ ครั้งแต่โบราณกาลมา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา นี่โคนต้นโพธิ์ แต่ตรัสรู้ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โคนต้นโพธิ์ไม่มีตำราแม้แต่แผ่นเดียว ไม่มีคำบอกเล่า ไม่มีสิ่งใดเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นขึ้นมาจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่เราเกิดมาพบพุทธศาสนา ตั้งแต่บรรพบุรุษของเรานี่เป็นผู้ที่มีสายตายาวไกล ยึดอันนี้ไว้ จนทางโลก เห็นไหม สยามเมืองยิ้ม สยามเมืองยิ้มใครมาเมืองไทยนี่ เพราะมีศาสนา เพราะศาสนากล่อมเกลามา เวลาเราจะยิ้มออกมา ยิ้มออกมาจากใจ เพราะศาสนาพุทธสอนเข้าไปที่ใจ เพราะสุขทุกข์มันอยู่ที่ใจ แต่วิทยาศาสตร์พิสูจน์กันไม่ได้ วิทยาศาสตร์พิสูจน์กันได้แต่เรื่องของร่างกาย ถ้าพิสูจน์กันเรื่องของร่างกาย ความสุขความทุกข์ก็อยู่ที่ร่างกาย อยู่ที่วัตถุ อยู่ที่ธาตุต่างๆ นี่เป็นเรื่องของโลกๆ เขา

แต่ถ้าเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีตำรานะ ในปัจจุบันนี้พวกเรานี่มีปัญญากันมาก เราศึกษาทางวิชาการกันมา เราว่าเรามีปัญญากัน เราก็ศึกษาธรรมะกันมา ว่าศึกษานี้จะเข้าใจธรรมะไง.. เข้าใจธรรมะอย่างนี้มันเข้าใจในปริยัติ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ถ้าไม่มีปฏิบัติเข้าถึงศาสนาไม่ได้หรอก ในศาสนานี่มีมรรค ๘

มรรค ๘ คืออะไร? มรรค ๘ นะ แยกออกแล้วเป็นศีล สมาธิ ปัญญา

ศีลพื้นฐานของใจ ถ้าพื้นฐานของใจนี่เราเป็นชาวพุทธ เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ คุณค่าของศาสนามีคุณค่ามาก แต่ศาสนาจะมีคุณค่าขึ้นมาเพราะคุณค่าของหัวใจเข้าไปสัมผัส หัวใจเข้าไปรับรู้ศาสนา ศาสนามันเข้ามาถึงที่ใจ ถ้าหัวใจไม่ได้สัมผัสนะ เราจะรู้อะไรขึ้นมา เห็นไหม ปริยัติเรียนมา เรียนมาขนาดไหนนะ อ่านตำราออก อ่านหนังสือออก แต่ไม่เข้าใจความหมาย พอไม่เข้าใจความหมาย เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไปนี่ เพราะอะไร? เพราะเราศึกษากันมามาก เรามีทิฏฐิมานะมาก เราคิดว่าเรารู้มาก เห็นไหม ในการประพฤติปฏิบัติก็เอาตำรานี้มาเป็นกรอบไง พอเป็นกรอบนะ กางแต่ตำรากัน ดูสิ เวลาศึกษากันก็ศึกษาในห้องเรียน แต่ประพฤติปฏิบัติมันต้องลงไปในพื้นที่ ลงไปในหัวใจ ถ้าลงไปในหัวใจนี่ความแตกต่างมหาศาลเลย

ความแตกต่างในการประพฤติปฏิบัติ กับความแตกต่างในการศึกษาเล่าเรียนนะ การศึกษาเล่าเรียนนี่นกแก้วนกขุนทอง นกแก้วนกขุนทองนี่ไม่รู้อะไรหรอก ในการประพฤติปฏิบัติไป พอปรับพื้นฐานเข้าไปน่ะ มันจะเริ่มต้นจากปรับพื้นฐานเข้าไป ถ้าปรับพื้นฐานเข้าไป จิตเข้าไปมันจะมีภาวะต่างๆ

ดูสิ เวลาเราทำอาหารกัน พริกมันจะให้ผลเป็นในเรื่องของเผ็ด ตระไคร้มันให้รสมีความฝาด พวกตระไคร้ พวกข่านี่เขาเอาไว้ดับกลิ่นคาว พวกที่เป็นผัก เป็นปลา เป็นอาหารต่างๆ รสชาติของมันก็ต่างๆ กันไป รสชาติต่างๆ กันไปนะ พริกนี่มันมีความเผ็ดมาก พอมันเผ็ดมากนี่ เผ็ดขึ้นมาเพื่ออะไร เพื่อมันก็จะถนอมอาหารได้ สิ่งที่เป็นประโยชน์นะ มันเป็นพืชสมุนไพรด้วย สิ่งที่เป็นพืชสมุนไพรนี่ให้เป็นธาตุไฟ ธาตุไฟในร่างกายมันมีประโยชน์นะ แต่เวลากินเข้าไปนี่เผ็ดมาก

ใจของคนประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ มันหลากหลายมหาศาลเลย การหลากหลายมหาศาลเห็นไหม เราบอกว่าพริก เอาใส่ลิ้นนี่มันจะเผ็ดมาก เราบอกพริกเผ็ดมาก แต่พริกมันอยู่บนต้น แล้วเราก็คิดถึงความเผ็ด มันจะเผ็ดไหม พริกนี้เผ็ดมาก พริกนี้เผ็ดมากนะ แต่มันไม่เคยเอาพริกใส่ปากมันแม้แต่เม็ดเดียวเลย มันจะรู้ไหมว่ารสของพริกมันเป็นอย่างไร

แต่ถ้าจิตมันสัมผัสเรื่องของพริกนะ เอาเม็ดพริกนี่ใส่เข้าปากนะ มันจะมีความเผ็ดขึ้นมา มันจะวิ่งหาน้ำเลย เพราะมันจะมีความเผ็ดมาก เพราะสัญชาตญาณของคน ในการประพฤติปฏิบัติเข้าไป ถ้าใจมันมีประสบการณ์สิ่งใดขึ้นมา เห็นไหม พริกอย่างเดียวเอามาเป็นประโยชน์อะไร พริกนี่เขาเอาไปผสมเป็นอาหารนะ ให้มันกลมกล่อม ให้มันมีรสชาติขึ้นมาเป็นอาหารขึ้นมาให้เป็นประโยชน์กับร่างกาย

นี่ศีล สมาธิ ปัญญา เริ่มต้นมันต้องมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าจิตมันจะมีการเปลี่ยนแปลง มันจะมีการประพฤติปฏิบัติเข้าไป สิ่งใดที่มันขัดแย้งกับความรู้สึก ธรรมะเป็นอย่างนั้น ธรรมะเป็นการปล่อยวาง ธรรมะเป็นความว่าง ความว่างจะเป็นความสุข เราก็ไปจินตนาการความสุขกัน ว่าเป็นความว่างกัน มันก็เลยกลายเป็นสุนัข สุนัขที่เขาปั้นมาเป็นรูปสุนัข สุนัขที่เป็นตุ๊กตานี่มาตั้งไว้ ไม่ต้องกิน ไม่ต้องเลี้ยงดูมันนะ สุนัขที่มีชีวิตนี่ต้องเลี้ยงมันนะ แล้วมันขับถ่ายนะ ต้องไปเก็บขี้มัน เลี้ยงสุนัขนี่ต้องไปเก็บขี้มัน ไปเช็ดเยี่ยวมัน แล้วเวลาเอาอาหารให้มันกินนี่ มันจะประจบสอพลอเรา มันจะดีใจ มันจะกระดิกหาง มันจะเลียปากเรา เห็นไหม จิตที่มันเป็นไปน่ะ มันจะเป็นแบบสุนัขที่มีชีวิต มันไม่เป็นตุ๊กตาสุนัขหรอก ตุ๊กตาสุนัขตั้งไว้ ไม่ต้องเลี้ยงมัน มันก็อยู่อย่างนั้นล่ะ

ในการประพฤติปฏิบัติเป็นพิธีกรรม เห็นไหม นี่ธรรมะเป็นอย่างนั้น ความว่างเป็นอย่างนั้น

...มันตุ๊กตา มันตุ๊กตาหมา มันไม่ใช่หมาหรอก ถ้าหมามันยังเกิดมาจากใจเรา ใจเรามันจะเป็นหมาขึ้นมา เพราะหมาเป็นสิ่งที่มีชีวิต ใจเราเป็นสิ่งที่มีชีวิต ถ้ามันมีการเปลี่ยนแปลง เห็นไหม ดูสิ มันขี้ มันเยี่ยว เราก็ต้องดูแลมัน ต้องรักษามัน ก็จะเลี้ยงมันน่ะ เราจะเลี้ยงสุนัข นี่เราจะเลี้ยงใจเรา

กิเลสมันเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย คือสิ่งที่มันขับถ่ายทิ้งออกมา แต่ความดีขึ้นมา ความที่มันดีใจ เห็นไหม มันกตัญญูกับเรานะ เราเลี้ยงสุนัขนะ เวลามีเหตุขัดข้องขึ้นมา มันจะช่วยเหลือ ดูสิ ดูคนตาบอด เห็นไหม เขายังเอาสุนัขจูงเลย สุนัขมันยังจูงคนตาบอดได้นะ คนตาบอดนี่หมาจูงเลย หมานี่สามารถให้คนเดินทางได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าใจเราดีขึ้นมา เห็นไหม หมามันจะจูงเรานะ จูงหัวใจนี่ จูงศีล สมาธิ ปัญญา จูงเข้าไปหาธรรม ถ้าจะจูงเข้าไปหาธรรม มันก็ต้องมีการเคลื่อนไหวใช่ไหม คนเดินไม่ใช่คนนั่ง ไม่ใช่คนนอน คนเดินมันก็ต้องมีการก้าวขาออกไป จิตมันต้องมีการเปลี่ยนแปลง การประพฤติปฏิบัตินี่ ปริยัติมันก็เป็นแต่นกแก้วนกขุนทอง มันไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรของมัน

นี่ศีล สมาธิ ปัญญา มันต้องเป็นความว่าง ความว่างต้องอยู่เฉยๆ ความว่างต้องเป็น..

..แล้วความว่างมันมาจากไหนล่ะ? ความว่างมาจากฟ้าเหรอ ความว่างเราต้องหามันขึ้นมาใช่ไหม จิตที่มันฟุ้งซ่านมันฟุ้งซ่านเพราะอะไร ถ้ามันว่างมันว่างเพราะอะไร? มันมีสติสัมปชัญญะไหม เรารักษามันอย่างไร ถ้าเรารักษามัน เราดูแลของมันเข้าไปนี่ เราดูแลใจของเราเข้ามา เราดูแลใจของเรา แล้วเราเอาอะไรดู? เอาสติปัญญาดู สติปัญญามาจากไหน? สติปัญญามาจากจิต ไม่ใช่จิต จิตมันขึ้นมานี่มันโง่เง่าเต่าตุ่น เห็นไหม มันโดนกิเลสครอบงำอยู่ ทำอะไรก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม มันไปทำอยู่ข้างนอกไง มันไปทำนี่มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

มันไปศึกษาธรรมมา มันไปเรียนมา เห็นไหม ว่าเป็นสมาธิ สมาธิก็คือความว่าง ความว่างก็ว่างๆ ว่างๆ

..ว่างๆ อะไร? สมาธิของใครน่ะ มันเป็นเงา เงาของจิต ไม่ใช่ตัวจิต ถ้ามันเป็นตัวจิตนะ ถ้าสมาธิมันเป็นความว่างขึ้นมานี่ มันเอ๊อะ เอ๊อะ เอ๊อะ มันเอ๊อะเพราะอะไร? เพราะจิตมันเป็นความว่าง มันมีพลังของมัน มันมีการกระทำของมัน เห็นไหม

เราให้อาหารสุนัขนะ สุนัขมันกินอาหารของเราไปแล้วนี่ มันจะเติบโต มันจะเติบโตขึ้นมาจากสุนัขเล็กๆ มันจะไร้เดียงสา มันจะช่วยตัวเองไม่ได้ มันเห็นอะไรมันตกใจ มันจะวิ่งมาหาเรา เห็นไหม มันจะหาเจ้าของ แต่พอเวลามันโตขึ้นมานี่ มันเป็นสุนัขที่เป็นหนุ่มขึ้นมา มันเห็นคนแปลกหน้าเข้ามา มันจะเห่ากรรโชก มันจะป้องกันเจ้านายมัน มันจะรักษาเจ้านายมัน

ถ้าสมาธิมันเกิดขึ้นมาจากใจแล้วนี่ จากเด็กเล็กๆ จากที่ทำอะไรไม่เป็น มันไม่รู้อะไรหรอก อะไรขึ้นมามันก็ตกใจ ลูกสุนัขน่ะเห็นอะไรมันก็วิ่งหาเจ้าของ เห็นอะไรก็วิ่งหาเจ้าของ แต่ถ้าเราฝึกฝนเข้าไปบ่อยครั้งเข้า สติมันเกิดขึ้นมา เป็นสมาธิขึ้นมานี่ มันโตขึ้นมา มันโตขึ้นมานี่มันรู้เลย อ้อ มันจะเข้ามาเป็นโทษเป็นภัยกับเรา เห็นไหม เราเห่ากรรโชก เราดูแล เรารักษามันนี่มันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้

การประพฤติปฏิบัตินี่สันทิฏฐิโก ใจมันมีการเปลี่ยนแปลง ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงนี่มันเป็นความจริงของเรานะ แล้วมันเป็นความถนัด ดูสิ เราเลี้ยงสุนัขพันธุ์อะไร สุนัขพันธุ์อะไรมันชอบกินอะไร แล้วสุนัขพันธุ์ไหนมันดูแลกันอย่างไร สุนัขพันธุ์นี้มันขี้โรคไหม สุนัขพันธุ์นี้มันจะเลี้ยงง่ายไหม

ใจก็เหมือนกัน ใจถ้ามันตั้งสติดี มันเป็นสมาธิดีนี่ มันทำได้ง่าย ถ้าใจเรานี่เป็นสุนัขพันธุ์ขี้เรื้อน มันเที่ยวคัน มันทำอะไรไม่ได้เลย เราต้องใส่ยามัน เราต้องรักษามัน เราต้องตั้งสติให้ดีขึ้น เราต้องตั้งสมาธิให้ดีขึ้น อะไรที่มันโต้แย้งมันขัดแย้งนี่มันต้องเป็นไปแล้ว แล้วสุนัขมันเก๊ไหม สุนัขมันเก๊นะ เวลามันดื้อขึ้นมานี่ มันไม่ยอมฟังเราหรอก เราต้องตีมัน เราต้องสอนมัน

ใจเรามันดื้อ ใจเรามันไม่ฟังเรา เห็นไหม เราก็ต้องอดนอน ต้องผ่อนอาหาร ต้องตั้งสัจจะ ต้องต่อสู้กับมัน มันจะง่วง มันจะหาวนอน มันจะมีความเครียดนี่ ตั้งใจไว้เฉยๆ ทำเหตุไว้เฉยๆ สุนัขมันจะดิ้นรนขนาดไหนเรื่องของมัน เวลามันไปนี่มันไปตามอำนาจของมันนะ ถ้ามันไม่มีน้ำกิน มันหิวน้ำ เดี๋ยวมันจะลิ้นห้อยวิ่งกลับมาหาเราเลย มันจะมาขอน้ำกิน จะกระดิกหางเลย ขอน้ำกินๆ เห็นไหม

เราตั้งสติของเรา เราดูแลของเรา เราตั้งสติของเรานี่มันจะดิ้นรนขนาดไหน มันต้องดิ้นรน การกระทำทีแรก ดูสิ เด็ก ใครมีลูกมีหลาน เห็นไหม เอามันไปโรงเรียนวันแรก ไปดูสิ อนุบาลน่ะน้ำตาท่วมโรงเรียนเลย มันไม่ยอมไปหรอก มันไม่ต้องการทั้งนั้นน่ะ มันจะเอาสะดวกสบายของมัน แล้วจิตเรานี่จะปล่อยให้มันสะดวกสบายได้ไหม จิตเราจะปล่อยให้มันไปตามอำนาจมันได้ไหม ถ้าเราไม่ตั้งสติ เราไม่ตั้งปัญญา เราไม่ควบคุมมัน มันจะโตขึ้นมาได้อย่างไร

ถ้ามันโตขึ้นมามันก็ต้องขัดแย้งกัน มันก็ต้องบังคับกัน ต้องขู่เข็ญกัน มันต้องมีบังคับ มันต้องมีขู่เข็ญกันสิ ก่อนที่มันจะสบายมันต้องทุกข์มาก่อนสิ คนจะเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เขาทำงานทำการทั้งนั้นล่ะไม่ใช่รับมรดกมานี่ มรดกนี่ยังมีสายบุญสายกรรมนะ ไอ้นี่มันมรดกอะไรนี่ มีแต่เขาหลอก ตกทองน่ะ เอาทองเส้นใหญ่มาหลอกทองเส้นเล็ก โง่ตายห่าเลย ทองอยู่กับคอถอดไปให้เขา เห็นทองเส้นใหญ่อยากได้

นี่ก็เหมือนกัน เขาบอกว่าอย่างนี้เป็นปัญญาๆ จะไปเอากับเขานี่เขาตกทองทั้งนั้นล่ะ เขาหลอกเอาไม่รู้ตัวนั่นน่ะ ทองอยู่กับเรา จิตอยู่กับเรา สมาธิอยู่กับเรา ปัญญาอยู่กับเรา ทำไมต้องให้คนอื่นมาหลอกล่ะ มันดีไม่ดีเราก็รู้เอง ทองของเราเก๊หรือจริงเราก็รู้ ทำไมต้องให้คนอื่นเอาทองเส้นใหญ่มาหลอกเส้นของเรา เขาตกทองหลอกเรานะ ถ้าเราเข้าใจของเรา เรารักษาของเรา มันเป็นไปกับเรา แล้วใครหลอกเราไม่ได้หรอก ถ้าของเราเป็นขึ้นมาเอง เราทำเอง เรารู้เอง เราจับต้องขึ้นมาเอง เราก็บอกอันนี้ไม่ใช่ ไม่ใช่ ไม่ใช่ก็เรื่องของเขา

แต่ของเรา ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นพ่อแม่ครูอาจารย์นะ ท่านบอกไม่ใช่นี่ไม่ใช่จริงๆ เพราะอะไร เพราะว่าเราทำไปนี่กิเลสมันหลอก กิเลสมันเห็นอาการของใจไง ดูสิ เห็นลูกสุนัข เห็นไหม เห็นมันมีชีวิตมัน โอ้ มันน่าเบื่อหน่าย เห็นตุ๊กตาสุนัข ไม่ต้องเลี้ยง สบายใจ เห็นไหม สบายดี อยู่กับเรานี่ไม่ขี้ไม่เยี่ยวด้วย ไม่ทำวุ่นวายด้วย ไม่ให้เราเดือดร้อนด้วย

จิตพอไปเจออะไรเข้าไปเข้า มันก็แหมะอยู่อย่างนั้น อ้อ นี่ดีๆ เห็นไหม มันก็ผิดพลาด พอผิดพลาดนี่ มันผิดพลาดมันต้องรู้ก่อน อ้อ อ้าว สุนัขมันไม่มีชีวิตอ่ะ แล้วเราจะเลี้ยงสุนัขมีชีวิตมีประโยชน์กับเรา ไม่มีชีวิตมันก็เอามาแขวนไว้เฉยๆ เราเข้าไปแช่อยู่กับจิต อยู่กับความรู้สึกอย่างนั้น มันก็ไม่เป็นประโยชน์ ถ้ามันจะก้าวเดินออกไป มันก็ต้องมีการช่วยเหลือตัวเอง มีการปลูกฝังให้มันเป็นสิ่งที่มีชีวิต มันจะก้าวขาออกไป มันจะดิ้นรน มันจะเอาตัวมันเองรอดให้ได้ จิตที่ประพฤติปฏิบัติเข้าไปน่ะมันจะมีเหตุการณ์ของมัน มีเหตุการณ์เยอะแยะไปหมดนะ

การประพฤติปฏิบัติตั้งแต่เริ่มต้น เริ่มต้นน่ะเห็นใจมาก พื้นฐานทำยากมากเลย พอพื้นฐานมานี่เราต้องปรับพื้นที่ของเรา ตัดป่าไม่ให้มีต้นไม้ชำรุดแม้แต่ต้นเดียว ตัดป่าแต่ป่าอยู่ครบสมบูรณ์เลย ตัดป่า เห็นไหม พระไตรปิฎกน่ะตัดป่าแต่ต้นไม้อยู่เต็มเลย ไม่ได้ตัดอะไรไปเลย แต่ตัดป่าออก เพราะป่ารกชัฏคือหัวใจของเรานี่มันรกชัฏ เวลาเราตัดขึ้นมาคือตัดความไม่พอใจ ตัดตัณหาความทะยานอยากออกไป ป่ามันอยู่สมบูรณ์อย่างนั้น ป่าไม่มีอะไรเลย ป่าไม่เป็นประโยชน์อีกต่างหากนะ เขาเอามาเป็นประโยชน์สร้างบ้านสร้างเรือน

นี่ก็เหมือนกัน ศีล สมาธิ ปัญญา เอามาทำวิหารธรรมให้เราได้ เราสร้างวิหารธรรม สร้างที่อยู่อาศัยของใจได้ แล้วถ้าเราทำเป็นขึ้นมามันเป็นประโยชน์ขึ้นมาทั้งนั้นล่ะ ถ้าคนใช้มันเป็น ถ้าคนใช้ไม่เป็นเริ่มต้นมันก็ขัดแย้งกันไป ขัดแย้งกันไปมันก็มีการแก้ไข มีการดัดแปลง เราต้องแก้ไขดัดแปลงของเราไป มันเป็นนามธรรมหมด สิ่งนี้เป็นนามธรรม เวลามันสุขขึ้นมาสิ่งนี้มีคุณค่ามาก

ศีล สมาธิ ปัญญา มันเป็นมรรคญาณ แยกออกมาเป็นศีล สมาธิ ปัญญา แล้วตัดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เวลาประพฤติปฏิบัติไป นี่กลัวมันเป็นสมถะๆ สมถะมันเป็นญาณที่ ๘ ของญาณ ๑๖ นะ นี่ปฏิเสธสมถะได้อย่างไร ถ้าปฏิเสธสมถะทำไมอยู่ญาณที่ ๘ ล่ะ ญาณ ๑๓ โคตรภูญาณ โคตรภู โคตรไง โคตรของจิต ทำลายโคตรของจิต ทำลายสิ่งที่เป็นอวิชชา ถ้ามันทำลาย ญาณที่ ๑๖ มันจะทำลายโคตรเหง้าเหล่ากอที่จิตมันพาเกิด มันมีความสมบูรณ์อยู่ในญาณ ๑๖ อยู่แล้ว มันมีสมถะ แล้วไปปฏิเสธมันได้อย่างไร ถ้าปฏิเสธขึ้นไปมันก็ปฏิเสธเราสิ ปฏิเสธความเป็นจริงสิ ถ้าปฏิเสธความเป็นจริง คนที่ปฏิเสธความจริงเขาจะไปรู้จริงได้อย่างไร คนรู้จริงเขาไม่ปฏิเสธความเป็นจริงนะ

อะไรก็ได้ ถ้ามีสติสัมปชัญญะ คำบริกรรมต่างๆ นี่ ทำจิตให้มันสงบเข้ามา สงบเข้ามาก็เป็นสมาธิเข้ามา เป็นสมาธิ เป็นสมถะ สมถะมันก็เป็นมรรค มันเป็นศีล สมาธิ ปัญญา มันขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ ดูสิ อาหารนี่ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกมาเป็นอาหารนี่กินไม่อร่อยเลย มันเป็นอาหาร ถ้ายิ่งใส่สารพิษเข้าไป อาหารเป็นพิษนะ อาหารเป็นพิษนี่ตายหมดเลย

นี่มันปฏิบัติเป็นพิษ เอาแต่กิเลสเข้าไป นู่นก็ไม่จำเป็น นี่ก็ไม่จำเป็น ..ถ้าไม่จำเป็นนะพระพุทธเจ้าบอกเราแล้ว พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา พระพุทธเจ้าวางศาสนาไว้ ถ้าอะไรไม่จำเป็นนี่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ทำไม พระพุทธเจ้าสอนเราทำไม พระพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์น่ะ แล้วเอาของที่ไม่เป็นความจริงมาสอนสาวก-สาวกะนี่ จะรื้อสัตว์ขนสัตว์แต่เอาความจอมปลอมมาสอนลูกศิษย์ลูกหานี่ ให้ลูกศิษย์ลูกหาเข้ารกเข้าพงนี่มันเป็นไปได้อย่างไร พระพุทธเจ้าตั้งใจมารื้อสัตว์ขนสัตว์ แล้วก็เอาเข็มทิศที่ผิด นี่สมาธิก็ทำไม่ได้

แล้วสมาธิมันมีพื้นฐานน่ะ สิ่งที่มีพื้นฐานน่ะ ปัญญาก็ต้องเป็นโลกุตตรปัญญา ปัญญาก็ตีความกันผิดๆ ก็เป็นปัญญา เป็นสัญญา เป็นความจำ ถ้าปัญญาอย่างนี้น่ะ ดอกเตอร์ ศาสตราจารย์ มันเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว มันไม่เป็นเลย ดอกเตอร์มันก็ทุกข์ของมัน ศาตราจารย์ไหนมันก็อมแต่ทุกข์ เพราะมันเป็นปัญญาโลกๆ เห็นไหม

ถ้าเป็นโลกุตตรปัญญานี่ จะอยู่โคนไม้ จะทุกข์จนเข็ญใจ จะเศรษฐีกุฎุมพี ถ้าเวลาบวชแล้วเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา นี่ปัญญามันเกิดอย่างนี้ ถ้าปัญญามันเกิดอย่างนี้มันจะรู้ว่าปัญญามันเกิดอย่างไร ปัญญาจริงเกิดอย่างไร ปัญญาปลอมเกิดอย่างไร ปัญญาหลอกล่อเกิดอย่างไร ปัญญาธรรมเกิดอย่างไร มันมีปัญญาหลอกๆ อีกนะ ปัญญากิเลสหลอกใช้ก็มี ปัญญากิเลสขี่หัวก็มี ปัญญาความจริงก็มี มันเกิดมาจากอวิชชา เกิดจากใจทั้งนั้นเลย

นี่ไงถึงต้องมีพ่อแม่ครูจาย์คอยแยกคอยแยะ พ่อแม่ครูจารย์เลี้ยงร่างกาย อุตส่าห์หาปัจจัยเครื่องอาศัยให้เราได้พอดำรงชีวิต แล้วเวลาเลี้ยงหัวใจ เห็นไหม “อันนั้นผิดนะ ที่เอ็งคิดน่ะผิดหมดล่ะ ถ้าเอ็งคิดถูกขึ้นมานี่ เดี๋ยวเอ็งจะรู้สึก” เห็นไหม พ่อแม่ครูอาจารย์เลี้ยงทั้งปาก เลี้ยงทั้งใจ เลี้ยงทุกอย่างเลย

ศาสนาเรานี่ศาสนาพุทธ พุทธะ มีความเมตตาค้ำจุนโลก การประพฤติปฏิบัติจะยากจะง่ายก็ให้เป็นตามข้อเท็จจริง เราเป็นพริก จะเผ็ดหน่อย มันจะแสบจะร้อนใจก็ต้องเป็นพริก เพราะจิตเราเป็นพริก ถ้าจิตเราเป็นทุเรียน จิตเราเป็นของหวาน จิตเราเป็นผลไม้ที่น่ารับประทาน มันก็เป็นวาสนาของเรา เพราะ เพราะเราปลูกเอง เราได้เม็ดพันธุ์นี้มา เราลงกับดินเอง เรารักษามันเอง มันออกมาเอง เราจะปฏิเสธได้อย่างไร ใจเราเองเราสร้างมาเอง บาปกรรมอกุศลเราก็สร้างมาเอง เราเกิดมาเป็นอย่างนี้ จริตนิสัยเป็นอย่างนี้ เพราะมันเป็นอย่างนี้ มันชอบอย่างนี้ ให้อย่างอื่นก็ไม่เอาเพราะมันไม่ชอบ ถ้ามันชอบอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้โดยธรรมชาติของมัน

นี่ก็เหมือนกัน พอมันชอบอย่างนี้ เวลาปฏิบัติไปมันก็ออกมาอย่างนี้ มันอย่างนี้ พริกเวลามันไปเสร็จแล้วมันก็ต้องเผ็ดออกมาธรรมชาติของมัน จิตถ้าถึงเวลามันคายตัวออกมา มันจะมีวาสนาขนาดไหน นั้นก็คือหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเรา พันธุ์ของเรา เราก็ต้องแก้ของเรา อ้าว ถ้าพริกเราเอาน้ำใส่ให้มากๆ หน่อย เจือจางมัน เราทำให้มันดีขึ้นมานี่ เราแก้ไขได้หมด เราต้องแก้ไขของเราเพราะมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นปัจจุบันอย่างนี้ มันเป็นธรรมชาติอย่างนี้ ของเราเป็นอย่างนี้ หลบหลีกไม่ได้ ต้องเผชิญหน้ากับมันแล้วแก้ไขมัน นี่จะเป็นสันทิฏฐิโก จะเป็นความเห็นของเรา แล้วจะเป็นความสุข จะเป็นผลประโยชน์ของเรา เอวัง