เทศน์เช้า วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เวลาร้อน ร้อนกายร้อนใจนะ ถ้าอากาศร้อนคนก็หนีไปเมืองหนาว เวลาเมืองหนาวเขาก็หนีไปเมืองร้อน เห็นไหม ดูเวลานกอพยพสิ นกอพยพนะ นี่วงจรชีวิตของเขา เวลาเขาต้องย้ายถิ่นของเขา เพราะเขาอยู่ที่เดิมของเขาอาหารไม่พอกิน นกมันต้องอพยพ แต่มนุษย์อยู่ประจำถิ่น ประจำถิ่นเพราะมนุษย์บินไม่ได้เหมือนนก
ในสมัยโบราณนะมนุษย์บินไม่ได้เหมือนนก มนุษย์จะหลบความร้อนไปไหน? มนุษย์ก็ต้องเผชิญกับความร้อนความหนาวนั้นโดยธรรมชาติของมนุษย์ ต้องหาทางหลบหลีกเอา เห็นไหม เรื่องปัจจัยเครื่องอาศัยในเมืองหนาวเขาดำรงชีวิตของเขาอย่างหนึ่ง ในเมืองร้อนการดำรงชีวิตของเขาอย่างหนึ่ง การดำรงชีวิตของเขาไม่เหมือนกัน เขาต้องปรับตัวเขาให้เข้าอยู่ในสภาพแบบนั้นให้ได้ เพื่อเอาชีวิตรอดนะ แล้วเอาชีวิตรอด คิดว่าจะรอดไหมล่ะ? ถึงที่สุดแล้วนะคนเรามันต้องสิ้นอายุขัยเป็นธรรมดา อายุของเรามันแค่หนึ่งชั่วอายุขัยของเรา อายุขัยของเรา เห็นไหม เราก็สิ้นสุดกันแค่นี้
นี่เราว่าเป็นคนเมืองร้อนเมืองหนาวมันต่างกัน ต่างกันเพราะสถานที่ เพราะอุณหภูมิ แต่ถ้าหัวใจมันร้อนนะ นี่มันเป็นสากล เห็นไหม ถ้าใจมันร้อนก็จะร้อนเหมือนกันนะ อยู่ที่ไหนก็ร้อน ถ้าใจมันอบอุ่น มันจะเอาอะไรมาอบอุ่นล่ะ? นี่เวลาเขาอยู่ในเมืองหนาวเขาต้องหาความอบอุ่นของเขา เราอยู่เมืองร้อนเราก็หาความร่มเย็นของเรา เราต้องหาความร่มเย็นของเรา เราหาความร่มเย็นนะ แต่มันขนาดไหนถ้ามันปรับใจของเราได้
นี่หนาวนักอ้างว่าแล้วไม่ทำงาน ร้อนนักอ้างว่าแล้วไม่ทำงาน อ้างเล่ห์ไปหมดนะ กิเลสมันอ้างเล่ห์ไปหมด มันไม่พอใจทุกสรรพสิ่งทั้งหมดที่เผชิญหน้ามัน มันจะเอาแต่อดีตอนาคต อ้างไปตลอด เห็นไหม ชีวิตเราเราก็อ้างไปวันๆ หนึ่ง อ้างว่าเมื่อนั้นๆ เราจะทำคุณงามความดี อ้างว่าเมื่อนั้นๆ เราจะบรรลุธรรม เราจะรู้ธรรม แล้วถ้ามันไม่ประพฤติปฏิบัติมันจะรู้ได้อย่างไรในเมื่อมันไม่รู้
นี่มันรู้ มันอ้างเล่ห์ไง อ้างธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่างๆ ว่างๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวางๆ ก็ปล่อยวางกันหมด ปล่อยวางแบบนี้ขอนไม้มันก็ปล่อยวาง ขอนไม้มันเป็นแร่ธาตุนะ แร่ธาตุต่างๆ วัตถุต่างๆ มันเป็นแร่ธาตุ มันไม่มีชีวิต มันปล่อยวาง ดูสิไฟเผามันยังไม่รับรู้เลย ดูเวลาไฟไหม้ขยะ เห็นไหม มันเผาหมดทั้งกองนะ มีแต่สิ่งที่มีชีวิตอยู่ในนั้นมันต้องดิ้นรนเอาชีวิตของมันรอดไป
นี่ก็เหมือนกัน อ้างว่า อ้างว่าปล่อยวาง อ้างว่า อ้างมันไม่มีเหตุมีผลนะ ในการประพฤติปฏิบัติเรา เห็นไหม นี่เวลาคนมาหาเรา เราบอกให้กำหนดพุทโธ พุทโธ เขาอ้าง อ้างว่าไม่ได้หรอก พุทโธมันมัดไว้ ถ้าเอาพุทโธมามัดจิตไว้จิตมันจะสงบได้อย่างไร? นี่ความคิดของเขา เขาไม่เข้าใจนะ นี่มันเปรียบเทียบ เปรียบเทียบว่าถ้ามันปล่อยว่างๆ ปล่อยให้มันหายไปเลย มันเป็นการปล่อยวาง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดานะ พุทธวิสัยนะ เป็นผู้ที่ฉลาดมากนะ สร้างบุญญาธิการมหาศาล ไปเรียนกับอาฬารดาบส ตอนที่ได้สมาบัติ ๘ มันปล่อยวางไหมล่ะ? นี่ปล่อยวางมาได้สมาบัติ เข้าสมาบัติถอยจากความว่างอันหยาบๆ เข้าไปความว่างอันละเอียด เห็นไหม ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน อากาสานัญจายตนะมันว่างละเอียดเข้าไปลึกซึ้งขนาดนั้นท่านยังปฏิเสธเลย ท่านยังไม่สนใจเลย แล้วเราบอกว่าเราปล่อยวางนี่ความว่างด้วยการปฏิเสธ มันไม่ใช่ความว่างด้วยฌานสมาบัตินะ
ความว่างด้วยฌานสมาบัติมันมีสติ จากปฐมฌานขึ้นทุติยฌานอย่างไร? ทุติยฌานขึ้นจตุตถฌานอย่างไร? นี่ฌานที่มันละเอียดเข้าไป ความว่างที่ละเอียดลึกซึ้ง แล้วความว่างที่หยาบมันต่างกันอย่างไร? มันมีสติ มันควบคุมได้ ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะต่างกันทำไม? ทำไมต้องมีสมาบัติ ๘ ล่ะ? สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ ถอยเข้าถอยออกนี่ เวลาเขาว่าจิตมันปรับให้มันละเอียดเข้าไป หยาบเข้าไป เวลาหยาบถอยออกมาหยาบ ปรับให้ละเอียดมันเป็นชั้นๆ เข้าไป นี่มีสติควบคุมยังปฏิเสธเลย แล้วเราบอกว่างๆ ว่างๆ โดยที่ไม่มีเหตุไม่มีผลเลย นี่กำหนดว่าง
โดยธรรมชาตินะความร้อน เห็นไหม พลังงานเวลามันเย็นลงมันคลายออก เวลาความหนาวอุณหภูมิมันลบขึ้นไป เวลามันเกิดความอบอุ่นขึ้นมามันก็เปลี่ยนแปลงของมัน นี่ขนาดอุณหภูมิมันยังเปลี่ยนแปลงได้เลย แล้วเวลาความว่าง นี่ความว่างของเรา ธรรมชาติมันก็เปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาของมัน แล้วมันมีเหตุผลอะไรล่ะ?
แต่เวลากำหนดพุทโธมันเป็นจุดยืน เป็นการเริ่มต้น เป็นการทำให้จิตมันมีฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน นักกีฬาเขาต้องมีสถานที่ซ้อมของเขา เวลาเขาแข่งขันกีฬาเขาต้องมีสนามของเขานะ นักกีฬาชนิดใดเขาก็ต้องมีสนามแข่งขันของเขาชนิดนั้น เราจะทำธุรกิจสิ่งใดเราก็ต้องมีบริษัทของเรา เราต้องมีผู้ได้ประโยชน์ ผู้เสียประโยชน์ มีกรรมการ มีผู้ประชุมต่างๆ มันมีเจ้าของไว้ทั้งนั้นแหละ แล้วความว่างอันนี้มันไม่มีสติ มันไม่มีสตินะ
เวลาครูบาอาจารย์สอนเรา กรรมฐานเราสอนให้กำหนดพุทโธก่อน เวลากำหนดพุทโธก่อน บอกพุทโธไม่ได้อีก พุทโธเป็นการผูกมัด ของที่ผูกมัดมันจะเป็นความว่างได้อย่างไร? เห็นไหม นี่ของที่ผูกมัดมันเป็นความว่างเพราะมันมีเจ้าของ เจ้าของเพราะสติมันควบคุม ถ้าสติมันควบคุมเข้าไป มันควบคุมตรงไหนเข้าไปล่ะ? สติสัมปชัญญะมันควบคุมจิตเข้ามา จิตเป็นนามธรรมที่ว่าจับต้องไม่ได้ แต่เวลาสติจับต้องจิตได้ แล้วจิตมันปล่อยวางตัวมันเองเข้ามา จนตัวมันเองเป็นความว่างขึ้นมา มันมีสติสัมปชัญญะ มันควบคุมใจของมัน มันจะรู้จักตัวของจิตอยู่โดยธรรมชาติของจิต โดยธรรมชาติ โดยความจริงเลย โดยความจริงที่มันเห็นของมัน
แต่เราไม่เข้าใจ เห็นไหม นี่มันก็จะร้อนต่อไปนะ จิตมันร้อน ความเร่าร้อนของเรามันร้อน ร้อนแล้วหาที่พึ่งไม่ได้ หาที่พึ่งไม่ได้ เวลาจะมาประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติเข้าไปก็ให้จิตมันหลอก ให้มันอ้างเล่ห์ไปว่าเป็นความว่าง ธรรมะเป็นอย่างนั้น ธรรมะเป็นอย่างนั้น มันก็ร้อนซ้ำ ๒ ซ้ำ ๓ ร้อนเพราะอะไร? ร้อนเพราะทำแล้วมันลังเลสงสัยไง
นี่ว่างๆ เข้ามา ถ้ามันไม่สงสัยมันจะไปสงสัยความว่างของตัวเอง ทำไมต้องไปถามว่าความว่างทำอย่างไร? มันว่างแล้วทำอย่างไรต่อไป? แล้วมันว่างนี่ทำไมมันไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่ถ้าเป็นสมาธินะมันจะรู้ตัวมันเอง ว่างคือตัวเองก็รู้ว่าว่าง เหมือนเราเลย เหมือนเรากินอาหาร เราร้อน เราได้รับความร่มเย็นเป็นสุข เวลาจิตมันร้อน เห็นไหม นี่เวลามันฟุ้งซ่าน เวลามันมีความคับข้องใจ มันมีความหนักหน่วงหัวใจ มันปลดเปลื้อง มันปล่อยวาง มันปล่อยวางขึ้นไป มันปล่อยวางด้วยสติสัมปชัญญะไง
เขาเข้าใจกันนะ เข้าใจว่าในเมื่อมันเป็นวัตถุใช่ไหม? นี่สิ่งที่เป็นวัตถุที่เป็นแร่ธาตุ ถ้าเราเอาไปผูกมัดมันไปจับต้องมัน มันจะว่างไม่ได้ มันต้องปฏิเสธให้หมด แต่จิตมันเป็นนามธรรม จิตที่เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมที่มันมีความรู้สึกอยู่ ความรู้สึกนี่มันกระจายตัวออกไปตลอดเวลา มันกระจายตัวออกไป เรามีสติสัมปชัญญะควบคุมมัน สติ สติ สติควบคุมแล้วตั้งคำบริกรรมให้มีจุดยืน จุดยืนคือซับซ้อนให้ตกผลึก มันตกผลึกนะ พอมันตกผลึกมันเป็นว่างขึ้นมา มันจะว่างโดยมีสติ โดยความรู้สึก มันมีพลังงาน มันมีความสุข
ถ้าความว่างนะ มันปล่อยวางนี่ว่างๆ สบายๆ สบายๆ อย่างนี้มันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นสามัญสำนึกที่มันเป็นโดยธรรมชาติ โดยธรรมชาติ ดูสิคนเราไม่ได้ภาวนา แต่โดยธรรมชาติของเรา เวลาเราเครียด เรามีความคิดต่างๆ ที่มันกดทับ เวลามันสบายใจมันก็สบายใจ เฮ้อๆ นี่มันจะสบายใจเป็นธรรมชาติของมัน เห็นไหม แต่อย่างนั้นมันเป็นอะไรล่ะ? มันเป็นสมาธิของปุถุชน
ปุถุชน กัลยาณปุถุชน สมาธิสั้น สมาธิยาว ผู้บริหารนะถ้ามีสมาธิดี มีสติดี การบริหารจัดการของเขา เนื้องานของเขาจะประสบความสำเร็จ แต่คนเราสมาธิสั้น คนที่ฉุนเฉียว คนที่มันมีอารมณ์รุนแรง นี่ตัดสินใจอะไรหรือทำงานสิ่งใดมันจะมีความผิดพลาดมากกว่า มันเป็นเรื่องธรรมชาติ มันเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชน แต่ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นไป ปุถุชนมันจะโดนเร้าด้วยรูป รส กลิ่น เสียง นี่รูป รส กลิ่น เสียงสิ่งนี้มันจะเร้าความคิดเราตลอดเวลา ข้อมูลต่างๆ ในหัวใจมันจะเร้าตลอด
นี่ใจหิวโหย ใจหิวโหยมันจะกินอารมณ์เป็นอาหาร กินความรู้สึกเป็นอาหาร ตัวใจนี่เป็นตัวพลังงาน แต่ความรู้สึกมันเป็นอาหารของใจ อาหารของใจ ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เห็นไหม นี่รูป รส กลิ่น เสียงไม่ใช่บ่วงของมารนะ ไม่ใช่พวงดอกไม้แห่งมาร ถ้าเรารู้ทันนี่กัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนมันรู้ทัน มันรู้ทันรูป รส กลิ่น เสียง มันรู้ทันต่างๆ มันรู้ทันแล้วมันมีอะไรผ่านมามันก็ผ่านไป สติมันจับจิตไว้ จิตมันก็เป็นธรรมชาติของมัน มันไม่รับรู้ไปกับเขา นี่มันถึงได้ว่างในตัวมันเอง มันไม่ใช่ว่างๆ
ว่างๆ นั้นเป็นอารมณ์ เป็นสัญญาอารมณ์ที่จิตมันสร้างความว่างขึ้นมา แต่ถ้ามันมีสติที่ว่าผูกมัด พุทโธนี่มันผูกมัด พุทโธ พุทโธมันจะเป็นสมาธิไม่ได้ แต่ถ้าปล่อยวางๆ มันจะเป็นสมาธิได้ ผูกมัดนี่แหละจะเป็นสมาธิ ผูกมัดนี่แหละมันจะเอาใจเราไว้ในอำนาจของเรา ความผูกมัดด้วยสติไง สติมันจับต้องผูกมัดให้ดี แล้วใช้ปัญญาคลี่คลายมัน ใช้ปัญญาคลี่คลายสิ่งที่มันรัดตรึงใจ นี่ปัญญามันเกิดอย่างนี้ ถ้าปัญญามันเกิดอย่างนี้ คนภาวนาเห็นสัจจะความจริงมันจะเกิดปัญญาอย่างนี้ ถ้าปัญญาอย่างนี้ ความเร่าร้อนของจิตมันจะน้อยลงเรื่อยๆ
นี่เวลาเราร้อน เราร้อนเพราะอะไร? เราร้อนเพราะอวิชชา เราร้อนเพราะความลังเลสงสัย เราร้อนเพราะข้อมูลมันขัดแย้งกับความเป็นจริง เราไปรับรู้สัญญาอารมณ์ สิ่งที่อ้างเล่ห์มันเป็นความขัดแย้ง ขัดแย้งเพราะอะไร? เพราะมันหลอกตัวเอง ตัวเองมันมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ในหัวใจอยู่แล้ว จิตนี่มันยึดมั่นถือมั่นของมันว่าต้องเป็นอย่างนั้น แล้วเวลาศึกษาธรรมมาที่ให้ปล่อยวาง เราก็ไปสร้างความปล่อยวางขึ้นมา แล้วความปล่อยวางกับข้อเท็จจริงในหัวใจมันขัดแย้งกัน สิ่งที่ขัดแย้งกันมันก็สร้างให้เราลังเลสงสัยใช่ไหม? ความลังเลสงสัยมันก็เกิดความเร่าร้อน เกิดความไม่แน่ใจ เกิดความต่างๆ ขึ้นมา
ในเมื่อปฏิบัติธรรมมันต้องมีความร่มเย็น ในเมื่อปฏิบัติธรรมต้องมีความสุข แล้วทำไมมันเร่าร้อนล่ะ? ทำไมเราสงสัยล่ะ? ทำไมมันอึดอัดขัดข้องใจล่ะ? อึดอัดขัดข้องใจเพราะเราเชื่อกิเลส เราประพฤติปฏิบัติไม่เป็นตามความเป็นจริง ไม่เป็นตามธรรม ถ้าปฏิบัติตามธรรมนะ เราปฏิบัติตามธรรม ตั้งสติ ปฏิบัติเหมือนคนที่ไม่รู้อะไรเลย โลกนี้มีเหมือนไม่มีเลย มีเราคนเดียว มีความรู้สึกพุทโธนี้เท่านั้น
มีความรู้สึก มีความรู้สึกคือตัวใจ พุทโธคือพุทธานุสติ มีใจกับพุทโธ มีใจกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ด้วยกัน หรือถ้ามันไม่ถนัด เห็นไหม คนเราไม่ถนัด นี่ถ้ามีพุทโธมันเป็นสัทธาจริต ถ้าเราทำแล้วมันไม่ถนัดใช่ไหม? กรรมฐาน ๔๐ ห้อง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นพันธุ์ไม้ในป่าจะมีพันธุ์ไม้แตกต่างกันไป ในป่าแต่ละป่านะ พืชพันธุ์ในป่ามันจะมีแต่ละชนิดแตกต่างกัน
จริตนิสัยของสัตว์โลกก็เหมือนกัน นี่เราเป็นสัตว์คนนะ รกป่า รกต้นไม้ กับรกคน รกคนนะ คนที่ไม่มีศีลธรรมจริยธรรมนี่รก รกเพราะอะไร? เพราะมันไม่มีประโยชน์กับใคร นี่ในหัวใจของเรา ในหัวใจของสัตว์โลก สิ่งที่จริตนิสัยแตกต่างกันมา นี่มันมีจริตนิสัย มันมีพันธุ์ไม้เลื้อย มีพันธุ์ไม้ยืนต้น มีพันธุ์ไม้เบญจพรรณ พันธุ์ไม้เนื้อแข็งต่างๆ แต่ละชนิดเขาใช้ประโยชน์ต่างๆ กันนะ สิ่งที่เป็นไม้เบญจพรรณที่เขาเอามาสร้างบ้านสร้างเรือน เขาเอามาทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ แต่พืชสมุนไพรมันอยู่ในดิน เขาไปขุดเอาเหง้าเอาหัวมันมาต้มแก้โรคแก้ภัยได้
นี่ก็เหมือนกัน หัวใจของแต่ละคนมันแต่ละชนิด สัทธาจริตเขายืนต้นไม้ พุทโธ พุทโธนั่นก็เรื่องของเขา แต่ถ้าเราทำแล้วไม่ได้ผล นี่ปัญญาอบรมสมาธิ พุทธจริต พุทธะคือปัญญา ปัญญาคือความคิด ปัญญาคือการบริหารจัดการ ปัญญาคือความรอบรู้ในกองสังขาร นี่ถ้ามันมีสติสัมปชัญญะตามความรู้สึกของเราไป ตามความคิดของเราไป เห็นไหม นี่จะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมมันเป็นกิริยา อิริยาบถ ๔ เพื่อการค้นคว้า เพื่อการให้จิตมันได้แสดงตัวออกมา
ถ้าจิตมันอยู่เฉยๆ มันก็นอนจมอยู่ในคูหาของใจ เวลาเราใช้ปัญญาเข้าไปใคร่ครวญมัน หรือกำหนดพุทโธ นี่ดึงเขาออกมา ดึงเขาออกมาเพื่อทำความสะอาดเขา ดึงสิ่งต่างๆ ที่ความลังเลสงสัย ดึงข้อมูลในหัวใจออกมาทำความสะอาด เห็นไหม แล้วถ้าปัญญาอบรมสมาธิ นี่ปัญญามันใคร่ครวญไปในกิริยา อิริยาบถ ๔ เราทำเพื่อจะดึงสิ่งที่ลังเลสงสัย สิ่งที่ขัดข้องใจ สิ่งที่เป็นความเร่าร้อนในหัวใจออกมา ด้วยสติ ด้วยปัญญา เป็นโลกียปัญญาไปก่อนถูกต้อง ในปัญญาอบรมสมาธินี้จะเป็นโลกียปัญญา เพราะปัญญานี้เกิดจากจิต เกิดจากพันธุ์ไม้ เกิดจากสิ่งที่มันรกชัฏ เกิดต่างๆ ขึ้นมาก็เพื่อจะทำให้มันสะอาด พอทำให้มันสะอาดขึ้นไป เห็นไหม พอทำให้สะอาดเข้าไปนี่จิตเป็นสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิ ถ้าปัญญาเกิดขึ้นมา จิตเป็นสมาธิ จิตเป็นรากฐาน จิตเป็นรากฐานคือความเสมอกัน
ความสะอาดของจิตทุกดวง พันธุ์ไม้ แร่ธาตุต่างๆ ทำความสะอาดมันก็คือความสะอาด สะอาดของโลกนะ แล้วถ้ามันเกิดปัญญาขึ้นมา มันจะเกิดโลกุตตรปัญญา เพราะไม่ใช่เกิดจากปัญญาจากตัวตน ถ้ามีตัวตนอยู่เกิดสมาธิไม่ได้ ตัวตนคือความยึดมั่น ตัวตนคือตัณหา ตัวตนคือสิ่งยึดมั่นถือมั่นเป็นอัตตา ตัวตนนี่คืออัตตา ถ้ามีตัวตนอัตตา มีภพ มีภพคือตัวฐานของความคิด ถ้าความคิดมันคิดจากตัวตนของมันก็เป็นโลกียะ โลกียะคือโลก โลกียะคือตัวตน โลกียะคือเรา โลกียะคือภพ โลกียะๆ โลกๆๆ นี่สิ่งที่เป็นโลก เห็นไหม
ถ้าเป็นธรรมล่ะ? ธรรมก็เกิดจากโลก นี่โลกเหมือนกัน เพราะมันเกิดจากฐาน เกิดจากฐานที่สะอาด เกิดจากฐานที่เป็นสมาธิ เกิดจากฐานที่เป็นสมาธิเพราะอะไร? เพราะเราชำระล้างด้วยปัญญาอบรมสมาธิ เราชำระล้างด้วยกรรมฐาน ด้วยพุทธานุสติ เรากำหนด เราทำความสะอาดขึ้นมา พอจิตมันสะอาดขึ้นมา จิตมันเป็นธรรมชาติของจิต ธรรมชาติของจิตมันชั่วคราวเท่านั้นแหละ ธรรมชาตินี้อยู่นานไม่ได้ เหมือนกับทุกอย่างมันเป็นอนิจจัง
สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวะนี้มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่มันเป็นชั่วคราวเพราะเราทำความสงบของใจได้ พอทำความสงบของใจได้ ถ้าเราพยายามฝึกฝน ฝึกฝนด้วยการฝึกหัดมีปัญญา มีปัญญาในอะไร? ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม นี่ความเร่าร้อนมันไม่เกิดจากที่อื่นหรอก มันเกิดจากกาย เกิดจากจิตเรานี่แหละ ความเร่าร้อนเกิดจากกาย เวทนา จิต ธรรม ความเร่าร้อนเกิดจากที่นี่ ถ้าเราชำระที่นี่ด้วยปัญญา ย้อนกลับมาทำความสะอาดด้วยโลกุตตรปัญญา
โลกุตตรปัญญาต้องมีสมาธิเป็นพื้นฐาน ถ้าไม่มีสมาธิเป็นพื้นฐานจะเป็นโลกียปัญญา เพราะเกิดจากตัวตน เกิดจากข้อมูล เกิดจากสถิติ เกิดจากข้อมูลของหัวใจ แต่ถ้ามันเป็นโลกุตตรปัญญามันเกิดจากข้อมูลไหม? ถ้ามันเกิดจากข้อมูลมันเป็นการฝึกฝน ฝึกฝนก่อนเพราะมันยังไม่มีอะไรก็เอาธรรมของครูบาอาจารย์ เอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรึก ฝึกปัญญาไง จุดประกายให้ติด ถ้ามันจุดปัญญาติดเหมือนเราจุดขยะ เราจุดสิ่งที่เราไม่ต้องการ พอไฟมันจุดติดมันจะเผาไปจนเชื้อนี้จะหมด
ถ้าปัญญามันจุดติดนะ นี่ขั้นของปัญญาไง นี่ขั้นของสมาธิ ขั้นของความสงบของใจมันต้องมีพื้นฐานก่อน แต่ในการประพฤติปฏิบัติโดยอ้างเล่ห์ ว่าถ้าใช้ความสงบมันเป็นสมถะ กลัวนักกลัวหนาว่าจิตนี้จะเป็นสมถะ จิตนี้จะเป็นความสงบมันไม่มีประโยชน์ ต้องใช้ปัญญากันๆ ไม่เข้าใจเลยว่าปัญญานี่โดนกิเลสหลอก มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาจากข้อมูล ปัญญาจากฐานข้อมูล ทั้งๆ ที่อ้างธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นแหละ ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่โดยกิเลสของเรา
ถ้าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ใช่มันเป็นความสะอาดบริสุทธิ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่ใช่ความสะอาดบริสุทธิ์ของเรา เพราะเรามีตัวตนของเราบวกเข้าไป แต่ถ้าทำสมาธิขึ้นมาด้วยปัญญาอบรมสมาธิ ด้วยพุทธานุสติ เห็นไหม มันจะเกิดความสะอาด ความสะอาดอันนี้ถ้ามันใช้ฝึกปัญญาขึ้นมาได้ มันจะเป็นโลกุตตรปัญญา มันแบ่งแยกไงว่าโลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา มันจะแบ่งแยกกันด้วยสมาธิ แล้วต้องฝึกฝน ทุกอย่างต้องฝึกฝน มันจะไม่เป็นไปอัตโนมัติ มันจะไม่เป็นไปโดยธรรมชาติ
ถ้าไม่มีการฝึกฝนนะ ถ้ามันเป็นโดยธรรมชาติ ฤๅษีชีไพรหรือผู้ที่ทำสมาธิมันจะเกิดปัญญาโดยธรรมชาติ มันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเราฝึกฝนจนรวมกัน ใช้ความเพียรชอบ งานชอบ โดยสมาธิชอบ โดยปัญญาชอบ ความชอบธรรม ความชอบธรรมมันเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นความถูกต้อง แต่ที่เราปฏิบัติกันมันไม่ชอบธรรม มันเป็นมิจฉา มิจฉาคือกิเลสมันเข้ามาสอดแทรก พอเป็นมิจฉาขึ้นมามันก็เลยมัคคะไม่สามัคคี ไม่เป็นสัจจะความจริง ไม่เป็นความจริงมันก็เจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อมอยู่อย่างนี้ แล้วเราก็จะร้อนกันไปอย่างนี้ แล้วก็มาน้อยเนื้อต่ำใจ ปฏิบัติธรรมแล้วยิ่งเร่าร้อน ปฏิบัติธรรมแล้วไม่ได้ผล
ปฏิบัติธรรมเพื่อธรรม
ดูสิดูพระเราสิ บวชมาแล้วปฏิบัติเพื่อพรหมจรรย์ ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อเป็นอาจารย์ของใครนะ ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อจะแก้กิเลสของใคร ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อความมักใหญ่ใฝ่สูง ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่ออะไรทั้งสิ้นเลย ปฏิบัติเพื่อพรหมจรรย์ ให้มันเป็นพรหม ให้จิตมันปล่อยวาง ให้จิตมันเป็นอิสระของมันเข้ามา นี่แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นมามันเป็นเองนะ มันจะเป็นเองขึ้นมาต่อเมื่อถ้าเราทำของเราให้สมบูรณ์ก่อน แต่เรานี่เรายังบกพร่องอยู่ เรายังทำสิ่งใดไม่ได้ เราจะไปช่วยเหลือคนอื่นก่อน
ไฟอยู่บนศีรษะเรานะ เราต้องปัดไฟบนศีรษะเราออกจากศีรษะเราให้ได้ก่อน ถ้าเราปัดไฟออกจากศีรษะเราได้แล้วนะ เราจะบอกวิธีการปัดไฟนี้ได้กับทุกๆ คนเลย ไฟอยู่กลางศีรษะเลย แต่จะไปปัดไฟให้คนอื่น ไฟเรายังเผาอยู่กลางหัวเลย เราจะปัดไฟให้คนอื่นได้อย่างไร? เห็นไหม เราถึงต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองให้ได้ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนะ แล้วเราจะมีความร่มเย็นเป็นสุขของใจ
อากาศร้อนก็เป็นเรื่องของอากาศนะ นี่ผู้ที่มีคุณธรรม ถามอากาศร้อนไหม? มันก็ร้อน แต่ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเราร้อนเราก็เข้าใจว่าร้อน มันก็เข้าใจ นี่หมดฤดูกาลมันก็จะเปลี่ยนไป แต่ถ้าใจเราไม่เป็นธรรมนะ ร้อน ร้อนข้างนอก ข้างในก็ร้อน อึดอัดขัดข้อง แล้วมันก็ไม่พอใจ เห็นไหม ข้างนอกร้อน ร้อนอย่างนี้มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นฤดูกาล มันเป็นอย่างนี้ นี่ถ้าหัวใจเข้าใจแล้วนะ ร้อนเดี๋ยวมันก็จะผ่านไป หมดฤดูร้อนไปมันก็จะเป็นฤดูฝน มันก็จะเป็นฤดูหนาว มันก็จะเวียนอย่างนั้น เราก็จะพบฤดูกาลเป็นอย่างนี้ แต่ใจเรามั่นคง ใจเราเข้าใจ มันจะปล่อยไปตามความเป็นจริง
นี่โลกร้อน ใจไม่ร้อนตามโลก โลกร้อน ใจร้อนเราจะไม่มีที่อยู่อาศัยนะ เราจะทุกข์ของเราเอง ถ้าโลกมันร้อน ธรรมชาตินี่เราเกิดมาในเมืองร้อนมันก็ต้องเป็นอย่างนี้ ฤดูกาลเป็นอย่างนี้ แล้วฤดูกาลให้มันเห็นความแตกต่าง ให้มันเห็นการเปลี่ยนแปลง แล้วหัวใจนี่อนิจจัง เห็นไหม ถ้ามันเห็นความแตกต่างแล้วเทียบเข้ามาที่ใจให้มันเป็นธรรมนะ เราจะได้ประโยชน์ทุกๆ อย่างเลย ใจเป็นธรรมนะ เราจะได้ทำหัวใจ เราจะได้ธรรมมาครองหัวใจ แล้วใจมันจะพ้นจากความเร่าร้อน เอวัง