เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๒ พ.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เขาถามว่าบาตรมีความสำคัญอย่างไร? ทำไมต้องฉันในบาตร ฉันนอกบาตร? นี่เริ่มต้นพื้นๆ เลยล่ะ เวลาบวชพระ พระพุทธเจ้าสอนแล้ว

“เดี๋ยวนี้เธอต่างจากคฤหัสถ์แล้ว การขบการฉันไม่ฉันแบบคฤหัสถ์ไง”

ดูสิ ดูเวลาศพพระพี่นางเธอ เห็นไหม เวลาเลี้ยงพระนั่งเรียงแถว ไม่นั่งวงหรอก ถ้าธรรมดามันต้องวง นั่นมันส่วนบุคคล ไม่เป็นคณะ คณะคือการล้อมวง แต่นี่มันอยู่ที่ความเห็นของโลก เพราะธรรมดา ศาสนานี่ ๒,๐๐๐ กว่าปี ถ้าเป็นโบราณวัตถุ แค่ ๑,๐๐๐ ปีก็มีคุณค่าแล้ว ๒,๐๐๐ กว่าปีมันจะเกิดความลุ่มๆ ดอนๆ การเจริญแล้วเสื่อมนี่หลายรอบ เวลาศาสนาเสื่อมมันไม่มีใครดูแลเลยล่ะ ทีนี้ไม่มีใครดูแล พระตามบ้านนอกนะ เวลาครูบาอาจารย์ธุดงค์ไป

“พระทำตัวอย่างนี้ ทำไมท่านให้อยู่ล่ะ?”

“โอ้โฮ ขอให้มีพระอยู่วัดก็นับว่าบุญตายห่าแล้ว”

นี่มันมีอยู่ที่พระ...มาเล่าให้ฟังไง เขามาขอผ้า ขอผ้าที่วัดไปทำไมรู้ไหม? ไปจับฉลาก ชาวบ้านคนไหนโชคไม่ดีต้องบวชพระ บวชพระเพื่อให้เฝ้าวัด ถ้าคนไหนโชคดีเขาก็อยู่ในครอบครัวของเขา คือวัด พระมันไม่มี แล้วพระไม่มี พูดถึงความเจริญแล้วเสื่อมไง เจริญแล้วเสื่อม ถ้าเราเป็นฝ่ายต้องการ เราอยากให้มีพระประจำวัด เราต้องเอาอกเอาใจอย่างไรก็ได้ นี่มันก็เลยแปรปรวน โลกเป็นใหญ่ไง ไม่ใช่ธรรมวินัยเป็นใหญ่

แต่เวลาศาสนาเจริญรุ่งเรือง มีครูบาอาจารย์เป็นตัวหลัก ครูบาอาจารย์ท่านค้นคว้าของท่านมา การค้นคว้านะ ถ้าเราลังเลสงสัย เราก็ลังเลสงสัยอยู่ นี่มันเป็นนิวรณธรรม แม้แต่สมาธิมันยังกั้นเลย แล้วมันจะเอาสิ่งที่เป็นมรรค ผล มาจากไหน? มรรค ผล มันเกิดจากความจริงจังของเรา ความเพียรชอบ ความเพียร ความวิริยะอุตสาหะ แต่ถ้าไม่ชอบมันก็ออกนอกลู่นอกทาง

หลวงปู่มั่นบอกว่า “ต้นคด ปลายมันต้องคดแน่นอน”

ต้นคด เห็นไหม การทำไร่ไถนา ถ้าเราทำไร่ไถนาด้วยความผิดพลาด พืชพันธุ์ที่มันไม่ดี มันได้ผลไม่เต็มที่หรอก แต่ถ้ามันไม่มีความลังเลสงสัย นี้คนที่จะบุกเบิกเข้าไปถึงใจของตัวเองมันต้องมั่นคง พอมั่นคง สิ่งใดที่ลังเลสงสัยต้องค้นคว้า การค้นคว้านี่อะไรผิด อะไรถูก

พระจอมเกล้าฯ เป็นผู้ตั้งคณะธรรมยุตขึ้นมา บวชซ้ำๆ เพราะการศึกษาขึ้นมาแล้ว พอศึกษาธรรมวินัยละเอียดเข้าไป อ้าว อันนี้ยังไม่ทำก็บวชอีกรอบหนึ่ง บวชอีกรอบหนึ่ง เห็นไหม นี่ความลังเลสงสัย แล้วการประพฤติปฏิบัติเราสงสัยเราเองนะ

มันเหมือนเรื่องของกรรม นี่เราอยู่ด้วยกันมันต้องมีความปลอดภัย ความปลอดภัย เราพยายามจะให้มีความปลอดภัย ความปลอดภัยจากภายนอก เราหาคนมาช่วยดูแลกันได้ แต่ความปลอดภัยจากภายใน ความปลอดภัยจากภายในคือหัวใจของเรา เห็นไหม มันมีกิเลส มันมีตัณหา มันมีความคิดฟุ้งซ่านอยู่ในหัวใจ มันทิ่มแทงเราตลอดเวลานะ ถึงที่สุดเราต้องเอาความปลอดภัยจากข้างในด้วย

ถ้าความปลอดภัยจากภายนอก นี่เราดูแลรักษากันได้ แต่ความปลอดภัยจากภายใน เวลาเราคิดขึ้นมาใครจะรู้อะไรกับเรา แต่ครูบาอาจารย์ท่านรู้ของท่านนะ มันเหมือนกับที่ว่า เหมือนกระดาษขาว แล้วเขียนแล้วเขียนเล่า เขียนแล้วเขียนเล่า ความเขียนคือความคิดไง เขียนจนเราไม่เห็นกระดาษขาว แต่เวลาจิตมันสงบเข้ามามันลบออกๆ ลบชั่วคราว แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณมันลบออกหมดๆ

แม้แต่กระดาษขาวนั้นก็เป็นภวาสวะ เป็นภพ เพราะมันมีกระดาษ ถ้ามีกระดาษอยู่นะ มีหมึก มีปากกา เขียนลงเมื่อไหร่มันก็มีความคิด มันมีตัวอักษรขึ้นมาเมื่อนั้น แต่ถ้ากระดาษโดนทำลายหมดแล้วมันจะเขียนไปเลย เขียนไปในอากาศมันไม่มีรอยเขียนหรอก อากาศไม่มีรอยเขียนนะ นี่มันเขียนไปในที่กระดาษ เขียนในที่สถานที่ เขียนไปที่หน้าผา เขียนไปที่ไหนมันก็มีความคิดขึ้นมา

จิตละเอียด จิตหยาบต่างๆ มันมีความคิดของมันขึ้นมา วิปัสสนาญาณจะไปทำลาย ทำลายจากหยาบๆ ขึ้นมา โสดาบัน สักกายทิฏฐิ พระสกิทาคามี กายแยกกันโดยธรรมชาติ พระอนาคามีนี่กามราคะ กามราคะ ความพอใจไง กามฉันทะ กามราคะคือการเข้าข้างตัวเอง การเข้าข้างตัวเองมันก็เกิดกามฉันทะ คือมันพอใจมัน พอมันพอใจ เห็นไหม ความพอใจเกิดกามราคะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันหลงในตัวมันเอง พระอนาคามีมันหลงในตัวมันเอง คือตัวกระดาษขาวมันก็ยังมีของมันอยู่ มันยังหลงตัวมันเองอยู่ นี่สิ่งนี้ทำลายเข้าไป ทำลายภวาสวะ ตัวภพ ตัวกระดาษ ตัวสถานที่ตั้ง ตัวความคิด มันจะหลงไปไหนในเมื่อมันไม่มีสถานที่ตั้ง ไม่มีสิ่งใดๆ เลย การชำระอย่างนี้คือการชำระกรรม การชำระกรรมคือมันปลอดภัยเต็มที่ ถ้ายังไม่ปลอดภัยเต็มที่มันยังมีที่ตั้ง โจรยังขโมยได้นะ

นี่ในเมื่อโจรยังขโมยได้ ยังมีกระดาษแผ่นขาวอยู่ ยังมีสถานที่ตั้งอยู่ เห็นไหม นี่มันยังลังเลสงสัย มันยังนิวรณธรรม มันยังเฉา มันยังเศร้าสร้อยหงอยเหงา มันยังอาลัยอาวรณ์ สิ่งนี้มันเป็นกรรมจากภายใน ถ้ากรรมจากภายใน นี่เราดูแลของเรานะ ดูแลของเรา แล้วเราพยายามแก้ไขของเรา อันนี้เป็นหน้าที่ของเรา หน้าที่ข้างนอกเราก็ช่วยกันดูแล

ความปลอดภัยสำคัญที่สุด ปลอดภัยจากภายนอกก่อน แล้วความปลอดภัยจากภายนอกมันปลอดภัยอย่างนี้ มันไม่ปลอดภัยจากวัฏฏะ คือเรายังเวียนตายเวียนเกิด ความปลอดภัย เห็นไหม ชีวิตนี้ทั้งชีวิตเลยมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข มันจะปลอดภัยตลอดเวลา แต่มันไม่ถอนการฝังใจออกมา สิ่งที่ฝังใจออกมานะ นี่ศรที่ปักใจเราต้องถอนมันออกให้สิ้น ทำลายมันให้สิ้น

การทำลายมันประเสริฐที่นี่ สิ่งภายนอกเราช่วยกันดูแลรักษา สิ่งภายในนะ นี่มันมีกรรมเหมือนกัน อย่างเช่นกรรม เห็นไหม หลวงปู่บุญจันทร์ท่านอยู่ที่เชียงใหม่ ที่ว่าเอาผู้ปฏิบัติมาอยู่วัดด้วย แล้วเสียสติไง นี่เอาแม่มาอยู่วัดนะ แล้วคนเสียสติเอาดาบฟันคอแม่คอขาดเลย ตายคาที่นะ คอขาดเลย แล้วเขาก็ไปตามอาจารย์บุญจันทร์บอกให้ไปดูศพแม่ อาจารย์บุญจันทร์ท่านพูดอย่างนี้นะ “ไปไม่ได้หรอก”

ท่านขังตัวเองไว้ในกุฏิเลย “ไม่ไป ถ้าไปจะมีศพที่ ๒”

คิดดูสิ คนเอาดาบฟันแม่เราคอขาดเราจะโกรธไหม? เราจะยั้งคิดไหม? ท่านไม่ไปดูเลยนะ นี่สิ่งนี้มันเป็นกรรมนะ เป็นกรรมถึงที่สุด นี่เป็นแม่ของอาจารย์บุญจันทร์ เวลากรรมมันให้ผลนะมันสุดวิสัย ความสุดวิสัย ความปลอดภัยเราจะดูแลรักษาให้เต็มที่ เราจะดูแลให้เต็มที่เลย แต่กรรมของแต่ละบุคคล ถ้ามันถึงเวลาถึงวาระของมันนะ มันเป็นเรื่องสุดวิสัย ความสุดวิสัยเหมือนกับการแก้ไขอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าเราตั้งสติของเรานะ กรรมก็คือกรรม กรรมภายนอกเป็นกรรมภายนอกนะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “โลกธรรม ๘ คือการติฉินนินทา คือการใส่ร้ายป้ายสี ไม่มีใครโดนรุนแรงเท่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

เวลาพวกเรานักบวช นักพรต ผู้ประพฤติปฏิบัติ เวลามันทุกข์จนเข็ญใจ อย่าเสียใจ มันเป็นเรื่องธรรมดา มันเรื่องธรรมดาไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านบอกเลย เห็นไหม

“สัตว์ ๒ เท้าเราประเสริฐที่สุด”

เพราะอะไร? เพราะเราเป็นศาสดา เราเป็นผู้รื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่เวลากรรมขึ้นมาท่านบอกว่า คนที่โดนแรงเสียดสีของสังคม แรงเสียดสีของลัทธิต่างๆ ไม่มีใครจะโดนรุนแรงเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันได้แต่เปลือกไง มันได้กระทบกระเทือนแต่ที่ร่างกายนี้ไง แต่ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำไม่ได้หรอก

เวลาฆ่าตาย เห็นไหม พระอรหันต์โดนฆ่าตาย มันฆ่าได้แต่ร่างกาย จิตใจฆ่าไม่ได้ มนุษย์ฆ่ากันตาย ตายโดยมิติ ตายโดยสภาพของมนุษย์ แต่หัวใจฆ่าไม่ได้ แต่ในเมื่อเรามีเวรมีกรรม มีเวรมีกรรมนะ เรายึดว่าชีวิตเป็นเรา ร่างกายนี้เป็นของเรา มันก็เลยฆ่าด้วยไง เพราะเราเจ็บปวดไง แต่พระอรหันต์ท่านไม่มีความเจ็บปวดกับร่างกายนี้ เพราะท่านจะรอแต่เสียสละอยู่แล้วไง รอจะทิ้งมันไป

ทิ้งมันไปเพราะอะไร? เพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์สมบัตินี้สำคัญมาก มนุษย์สมบัติ เกิดมาเป็นมนุษย์มีร่างกายและจิตใจ เพราะสัตว์เป็นสัตว์ เป็นต่างๆ เขาก็มีร่างกายมีจิตใจเหมือนกัน แต่เขายึดว่าเป็นของเขา พอยึดว่าเป็นของเขา เขายึดมั่นถือมั่น เขากระทำอะไรของเขา มันเจ็บปวดแสบร้อนไปกับเขา แต่ถ้าเราทำตามความเป็นจริงนะ เรารู้ตามความเป็นจริง มันแยกออกจากกันโดยธรรมชาติไง

ใจเป็นใจ กายเป็นกายโดยธรรมชาติของมัน แล้วนี่ถ้าจิตมันยิ่งพ้นออกไป ไม่มีทิฐิมานะในหัวใจของมัน การฆ่าโดยกรรมไม่มีโทษหรอก ไม่มีโทษกับใจดวงนั้น แต่มันมีโทษกับผู้ฆ่า ผู้ฆ่า เห็นไหม ติเตียนพระอริยเจ้ามันก็เป็นบาปเป็นอกุศลแล้ว แล้วนี่ทำลาย ทำองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิตเป็นอนันตริยกรรม การฆ่าพระอรหันต์ การฆ่าพ่อฆ่าแม่ การฆ่าพ่อฆ่าแม่นี่เหมือนกับพระอรหันต์ เพราะอะไร? เพราะแม่เป็นเหมือนพระอรหันต์ในบ้าน เป็นแดนเกิดของเรา

ดูสิการฆ่าพ่อฆ่าแม่ การฆ่าตัวตาย การฆ่าคนอื่นไม่มีบาปเท่ากับการฆ่าตนเอง การฆ่าคนอื่นมันต้องมีกรรมมากกว่าเราสิ ทำไมฆ่าตนเองมีกรรม? ฆ่าตนเองคือฆ่าสิทธิ ฆ่าเราเอง เพราะเราไม่เห็นสมบัติของเรา มันละเอียดเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอน นี่ถ้าเรื่องของกรรมนะ ถ้าเรื่องของกรรมเรายกไว้ ยกไว้เพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้มันเป็นเรื่องสุดวิสัย เรื่องสุดวิสัยทางโลก แต่ไม่สุดวิสัยทางธรรม ไม่สุดวิสัยทางธรรมเพราะอะไร? เพราะเราปลงธรรมสังเวช เห็นไหม ไม่สุดวิสัยทางธรรม ปลงสังเวช สิ่งนี้มันเป็นสภาวธรรม สภาวธรรมที่เราทำมา สภาวธรรมมาจากไหน? กรรมมาจากไหน? เพราะสิ่งนี้เราสร้างมา เราสร้างมาเมื่อภพใดชาติใดก็ไม่รู้ เมื่อภพใดชาติใดนะ

ในพระไตรปิฎก เห็นไหม เวลามีพระอรหันต์หรือสิ่งที่ในสังคมมีความขัดแย้ง มีต่างๆ จะไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจะบอกว่า “ไม่ใช่ทำมาแต่ชาตินี้ พระองค์นี้ไม่เคยทำแต่ชาตินี้ เมื่อชาตินั้นๆ เขาก็อย่างนี้มาแล้ว” แต่ทำอย่างนั้น ทำในการเบียดเบียนกันมา มันก็มาเกิดซ้ำเกิดซาก เวียนตายเวียนเกิดมาอย่างนี้

สภาวะกรรมก็เหมือนกัน สภาวะกรรมมันเกิดมากับใจนะ สิ่งนี้เป็นผลตอบสนองจากภายนอก แต่ผลตอบสนองจากภายในคือความพอใจและไม่พอใจ ความชอบไง ความรักกับความชัง ถ้าสิ่งที่พอใจมันเป็นความรัก มันก็สร้างกรรมต่อไป เห็นไหม แต่ถ้าเราลบสภาวะของใจ สิ่งนี้เป็นเรื่องธรรมดาๆ เห็นให้มองเป็นธรรมดา มันเกิดเป็นสภาวะแบบนี้ เรากระทบกันเอง เรากระทบมันเป็นสภาวะแบบนี้ มันหมุนเวียนกันมาอย่างนี้ ทำไมมันหมุนเวียนมา? ทำไมมันประสบกับเรา? ทำไมมันไม่ประสบกับคนอื่นล่ะ?

สิ่งที่มันประสบนะ นี้พูดอย่างนี้ไม่ใช่พูดให้นอนใจนะ ไม่ใช่พูดให้ไม่รับผิดชอบ การกระทำของเราต้องรับผิดชอบ กรรมภายนอกเราให้อภัย แต่เราก็ต้องแก้ไข กรรมภายใน เราต้องมีกรรม มีมรรคญาณ การชำระกรรมไม่ใช่มันชำระตัวมันเองได้ มันต้องมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมโอสถเป็นธรรมจักร เป็นธรรมาวุธ ธรรมาวุธจะเกิดขึ้นมาโดยลอยมาจากฟ้ามันไม่มี ธรรมาวุธมันเกิดจากศีล สมาธิ ปัญญา เกิดจากศรัทธาความเพียรของเรา ธรรมาวุธมันจะเกิด

นี่สมาธิมันเกิดมาจากฟ้าหรือ? ปัญญามันจะเกิดมาจากฟ้าหรือ? ถ้าเราบอกเราเชื่อกรรม เราเห็นสภาวะกรรม สิ่งที่เกิดขึ้นมา ใช่ มันเป็นสภาวะกรรม กรรมอดีต-อนาคตมันแก้กิเลสไม่ได้ แต่กรรมปัจจุบันนี้ กรรมปัจจุบันเราต้องเข้มแข็งกว่าอดีต-อนาคต สิ่งที่เป็นอดีตมา สิ่งที่เป็นนิสัยมา นิสัยที่โลเล นิสัยที่จริงจัง นิสัยที่มั่นคง สิ่งนี้มันเป็นพื้นฐาน มันเป็นนิสัย แต่เราก็ต้องมีการกระทำ นิสัยคือนิสัย คนองอาจกล้าหาญ ความองอาจกล้าหาญทำผิดก็ได้ ทำชั่วก็ได้

องอาจกล้าหาญแต่ทำความผิด เห็นไหม องอาจกล้าหาญมากทำลายเขาหมดเลย แต่องอาจกล้าหาญในการทำความดีมันเสี่ยงภัย เวลามีวิกฤติขึ้นมา คนองอาจกล้าหาญเสี่ยงภัย เสี่ยงภัยเพื่อเราจะไปรักษา เพื่อเราจะไปดูแลเพื่อประโยชน์กับเขา ความองอาจกล้าหาญมันต้องมีสัมมาทิฏฐิ มันมีศีล สมาธิ ปัญญาเหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน จิตที่มันเข้มแข็ง จิตที่มันมีความกล้าหาญ มันองอาจกล้าหาญเพื่อเราไง องอาจกล้าหาญต้องเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเราไว้ได้สิ เอาใจของเราไว้ได้ ความคิดที่มันแผ่ซ่านในหัวใจ ดึงมันไว้ในหัวใจของเรา สิ่งที่มันมีอำนาจ สิ่งที่มันเคลื่อนที่เร็วที่สุด ความคิด จิตพลังงานที่เคลื่อนที่เร็วที่สุด แล้วเอามันสงบนิ่งได้ เอาสิ่งที่เคลื่อนที่เร็วที่สุด แล้วเราให้มันนิ่งที่สุด มันจะมีพลังงานขนาดไหน พลังงานถ้ามันไม่เข้ามรรคญาณนะมันเป็นอภิญญา

อภิญญา เห็นไหม จิตถ้ามันมีข้อมูลของมัน มันมีจริตนิสัยที่มันเป็นไป หูทิพย์ ตาทิพย์ หูทิพย์ ตาทิพย์นะมันรู้ไปหมด มันเห็นความกระจ่างแจ้ง มันรู้ผ่านมิติเพราะจิตมันสงบ พอจิตมันมีความสงบ โลกนี้มันเคลื่อนไปด้วยกาลเวลา พอจิตมันสงบมันผ่านมิติ มันจะมองเห็น มันจะรับรู้ของมันไป นี่สิ่งนี้มันเป็นเรื่องโลกๆ นะ มันเป็นเรื่องวัฏฏะไง เพราะวัฏฏะมันหมุนไป

เหมือนนาฬิกาหมุนไป นี่เราเห็นตั้งแต่บ่ายโมง เห็นตั้งแต่ตอน ๖ โมงเย็นถึง ๒ ทุ่ม นี่มันอนาคต มิติมันมีอยู่ มันเป็นไป เห็นอย่างนี้เห็นเป็นอภิญญา เพราะมันไม่เข้าอริยสัจ แต่ถ้ามันเข้าอริยสัจล่ะ? เข้าอริยสัจเข้ามา จิตมันสงบเข้ามา เห็นอะไร? เห็นการเคลื่อนไหวของกิเลสไง กิเลสมันเป็นอนุสัย มันนอนไปกับใจ มันนอนไปกับใจมันแสดงออกที่ไหน? มันแสดงออกที่ความคิดนี่ไง

ความคิด เวลาคิดขึ้นมานี่กิเลสมันนอนเนื่องมาด้วย แต่พระอรหันต์ ความคิดที่มันสะอาดไง ความคิดสะอาดมันไม่มีกิเลสนอนเนื่อง มันก็เป็นความคิดเหมือนกัน ภาราหะเว ปัญจักขันธา ขันธ์เป็นภาระ เป็นภาระคือมันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นสามัญสำนึกของมนุษย์ มนุษย์มีความคิด มีขันธ์ ๕ กับมีกาย เห็นไหม มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ตัวจิตเป็นตัวพลังงานเฉยๆ เราไปทำความสะอาดที่ตัวพลังงานนั้น

ตัวพลังงาน จิตที่ว่าเป็นภวาสวะ เป็นภพ เป็นสถานที่ตั้ง เป็นพลังงาน พลังงานนี่สะอาดแล้ว พลังงานสะอาด เพราะสอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์เป็นภาระ ภาระคือขันธ์ ๕ กับธาตุ ๔ จิตที่มันสะอาดมันก็ผ่านธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ แต่มันเป็นความคิดที่สะอาด แต่ความคิดของเรามันเป็นขันธมาร ขันธ์มันเป็นมาร เพราะอนุสัย คือตัวกิเลสมันนอนมากับความคิด ความคิดมันเจือปนมาด้วยกิเลส ธาตุ ๔ ก็เจือปนด้วยกิเลส สิ่งที่มันเจือปนด้วยกิเลสมันถึงให้ความทุกข์ พอให้ความทุกข์ขึ้นมา ถ้าเราไม่ทำมันก็จะเป็นความทุกข์อย่างนี้

คนเราจะองอาจกล้าหาญ จะมีความนุ่มนวล สงบเสงี่ยมขนาดไหน มันมีอนุสัยนอนมา มันเศร้าหมอง มันอาลัยอาวรณ์ มันหมักหมม มันเป็นไฟสุมขอน มันเผาใจตลอดเวลา จะมีสุขขนาดไหนมันก็เผาใจอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราทำความเพียรชอบ ความเพียรชอบ ทำจิตสงบเข้ามาแล้วย้อนกลับมา นี่งานของเรา องอาจกล้าหาญ องอาจกล้าหาญในอริยมรรค มรรคจากภายใน ไม่ใช่โลกียมรรค โลกียมรรคมันมรรคของคฤหัสถ์ เห็นไหม เลี้ยงชีพชอบ ทำมาหากินชอบ สิ่งนี้มันก็ชอบ

ดูสิเราบิณฑบาตไป พระบิณฑบาตไม่ชอบ ดูสิในสมัยพุทธกาลที่ว่าพระจะออกบิณฑบาต เห็นไหม นี่วันนี้เขาจะใส่บาตรอะไรเรา? จะมีสิ่งใดตกใส่บาตรเรา พอคิดแค่นี้ นี่เลี้ยงชีพผิด เพราะยังไม่ทันบิณฑบาต ความอยากได้ ความอยากได้ไม่ไปบิณฑบาต วันนั้นไม่ฉันข้าว นี่เปลื้องจีวร เอาจีวรออก เอาบาตรวางไว้เลย วันนี้ไม่ฉัน ถ้ากิเลสมันกินก่อนไม่ยอมฉันข้าว แต่ถ้าวันไหนมันเป็นไปตามธรรมชาติ เลี้ยงชีพชอบไง วันนี้เราไปบิณฑบาต แล้วแต่ว่ามันจะได้สิ่งใดมา เพราะอะไร? เพราะมันเป็นปฏิคาหกใช่ไหม?

ผู้ที่เขาทำบุญกุศล ชาวพุทธเราเขาอยากทำบุญกุศล เขาอยากถวายทานเพื่อเป็นอำนาจวาสนาของเขา เพื่อบุญกุศลของเขา เขาจะมั่งมีศรีสุข เขาจะได้ดีอะไรมา เขาจะได้สิ่งที่เป็นของเขามา มันเป็นธรรมชาติของเขา แล้วแต่สถานะของบุคคล อยู่ที่ศรัทธาของคน แต่ของเราเหมือนกัน เราบิณฑบาตไปเราก็บิณฑบาตด้วยปลีแข้ง เราบิณฑบาตด้วยปลีแข้ง จะได้อะไรมันก็เป็นสัจธรรม

นี่ไงเลี้ยงชีพชอบ แม้แต่เลี้ยงชีพชอบ สัมมาอาชีวะ ถ้าประกอบสัมมาอาชีวะไม่ชอบๆ พระบิณฑบาตชอบหรือไม่ชอบ? ถ้าพระบิณฑบาตชอบเราทำหน้าที่ของเรา เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เลี้ยงธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ แล้วเราเลี้ยงชีพเราด้วยธรรม ธรรมคือทำความสงบของใจ แล้ววิปัสสนาของเราให้มันสงบขึ้นมา เห็นไหม นี่เลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีพชอบจากภายใน ถ้าเลี้ยงชีพชอบจากหัวใจ

เวลาคิดที่มันหมักหมมหัวใจ คิดที่มันเสียดแทงหัวใจ เลี้ยงชีพผิด เพราะใจกินวิญญาณาหาร ใจมันกินความคิด ความคิดเป็นอาหารของใจ ใจมันอยู่ปกติของมัน มันแสดงตัวไม่ได้มันต้องใช้ความคิด ความคิดที่เสียดแทงใจมันก็เลี้ยงชีพผิด มันเป็นมิจฉาอาชีวะ ถ้าเลี้ยงชีพถูก เห็นไหม ตรึกในธรรม ตรึกในสมาธิ นี่เลี้ยงชีพชอบ แล้วถ้าเป็นสมาธิขึ้นมามันยิ่งชอบเข้าไปใหญ่ ชอบเข้าไป แล้วเกิดใช้ปัญญา ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร ปัญญารอบรู้ในความคิด ปัญญาเกิดมรรคญาณปัญญาขึ้นมา

นี่ไงมรรคเกิด นี่สิ่งที่มันเกิดมันเกิดอย่างนี้ไง ไม่ใช่ว่าเราองอาจกล้าหาญ เราเป็นคนดีแล้วมันจะดีโดยธรรมชาตินะ คนดีมันเกิดมาในสิ่งที่ดี จิตใจที่ดีเป็นจริตที่ดี แต่ดีแล้วนี่ดีในโลก ดีในวัฏฏะ ดีในการเปลี่ยนแปลง ดีในการให้คงที่ ถึงปัญญามันชำระล้างขึ้นมาแล้วมันจะดีคงที่ ดีคงที่คือมันไม่เปลี่ยนแปลงอีกแล้ว ความจริงนิพพานเที่ยง เที่ยงเพราะอะไร? เที่ยงเพราะจิตมันสะอาด จิตสะอาด จิตที่ไม่เกิด จิตนี้มีแรงขับ มันไม่มีอนุสัย ไม่มีอะไรนอนเนื่อง ไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวพันกับใจดวงนี้เลย

นี่เรื่องของกรรม กรรมข้างนอก-กรรมข้างในนะ ถ้ากรรมจากภายใน ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติไวรู้ไว ถ้ากรรมจากข้างนอกมันก็ทำให้เราทุกข์จนเข็ญใจของเราไป ถ้าเราประสบความสำเร็จ นี่เราต้องมีความปลอดภัยจากข้างนอกด้วย ความปลอดภัยจากข้างในด้วย ความปลอดภัยเกิดจากสติ เกิดจากการที่เราช่วยเหลือเจือจานกัน เราเตือนภัยกัน เห็นไหม นี่ธัมม-สากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง เตือนถึงผลปฏิบัติ เตือนถึงหัวใจ ให้เป็นประโยชน์กับเรา เอวัง