เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๔ พ.ค. ๒๕๕๑

เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ เวลาถวายทาน เห็นไหม นั่นก็เป็นบุญอันหนึ่ง เขาว่าเวลาตักบาตรที่บ้านกับไปวัดนี่ได้บุญต่างกันอย่างไร? ตักบาตรที่บ้านได้บุญนะ ได้บุญด้วย ได้บุญอันหนึ่งเพราะอะไร? เพราะพระออกมาบิณฑบาตไง ภิกขาจาร พระเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง แล้วเราใส่บาตรพระ อันนั้นก็เป็นบุญอันหนึ่ง

เวลาใส่บาตรมันธุดงควัตร ทำไมต้องธุดงค์? เวลาเราบิณฑบาต ธุดงค์กันแล้วเราใส่บาตร อันนั้นธุดงควัตร อันนั้นก็ได้บุญอันหนึ่ง แต่ถ้ามาวัด ถ้าพูดถึงถวายทานกับการตักบาตร ตักบาตรได้บุญมากกว่า แต่ถ้ามาวัดมันได้ ๒ ต่อ ๒ ต่อคือได้ถวายทานด้วย ได้ฟังธรรมด้วย ได้ฟังธรรมนี่เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะไปวัดไปวา ไปวัดนี่ไปวัดใจ หลวงปู่ฝั้นจะบอกเลย

“ไปวัดนี่ไปวัดใจ”

วัดอยู่ที่ไหน? วัดอยู่ที่ข้อวัตรปฏิบัติ เราว่าวัด วัดคืออะไร? เดี๋ยวไปหาหลวงตา เห็นไหม เวลาหลวงตาพอตักอาหารเสร็จให้ไปเที่ยว ให้ไปดูวัด แล้วกลับมาจะถามว่าเห็นวัดไหม? ทุกคนจะมารายงานนะ เห็นต้นไม้นั้น เห็นต้นไม้นี้ ท่านบอกไม่เห็น คนมองไม่เห็น

ถ้าคนเห็นวัดนะ เห็นพระเดินจงกรม เห็นพระนั่งสมาธิภาวนา เห็นความสงบสงัดของข้อวัตรปฏิบัติ คือความวิเวกไง วัดคือข้อวัตรนะ คือกติกา คือข้อบังคับ ว่าอย่างนั้นเลย วัดคือข้อวัตร ถ้าวัดเป็นต้นไม้นะ สวนของเรา เมืองจันท์วัดเต็มจังหวัดเลย เพราะสวนผลไม้หมดเลย มันเป็นสวนนะ เราไปเห็นว่าป่าเป็นวัด ไม่ใช่ป่าเป็นวัดนะ วัดคือข้อวัตรปฏิบัติ วัดคือธุดงควัตร เห็นไหม

เวลากราบพระก็เหมือนกัน กราบพระกราบถึงใคร? ถ้ากราบพระกราบถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้นกราบถึงพระ แต่ถ้าไปกราบทองเหลืองไม่ถึงพระ นี้เป็นสมมุติ สมมุติเป็นรูปเคารพเฉยๆ แต่ถ้าเรากราบถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นะ คือถึงปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่กราบถึงวัด

นี่ถ้าไปวัดมันได้ทำอย่างนี้ไง มันได้ฟังธรรมนะ เดี๋ยวนี้มันเป็นการคุ้นเคย ถ้าเราคุ้นเคยขึ้นไปนะ เราคุ้นเคยกับความคิดเรา ทรัพยากรมนุษย์ ศึกษาขึ้นมานี่เทคโนโลยีเจริญมาก เราศึกษา เอาปัญญามาศึกษาศาสนา แล้วเอาปัญญามาประพฤติปฏิบัตินะ มันเป็นกิเลสหมด เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะความคุ้นชินกับกิเลสกับความรู้สึกของเรามันเป็นอันเดียวกัน ถ้าความรู้สึกเป็นอันเดียวกัน มันอันเดียวกันเราคิดอะไรเราคิดโดยกิเลสทั้งหมด การใช้ปัญญาเรามีกิเลสบวกมาตลอดเวลา

ฉะนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติ พระกรรมฐานเราต้องทำความสงบก่อน ถ้าทำความสงบก่อนมันแบ่งแยก แบ่งแยกจากตัวตนไง ถ้ามีตัวตนจิตมันสงบไม่ได้ เพราะจิตเรานี่ที่มันสงบไม่ได้เพราะว่าความวิตกกังวลนะ ความสงบจะเป็นอย่างไร? จิตสงบแล้วจะเป็นอย่างไร? จิตตกไปแล้วเราจะตายไหม? ทำไปแล้วนี่เพราะอะไร? เพราะกิเลสมันเป็นเรา

ความคิดเป็นเรา เห็นไหม ถ้าความคิดเป็นเรานี่เราคุ้นเคยกับความคิดของเรา เราคุ้นเคยกับกิเลสของเรา ความคุ้นเคย เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด เวลาเราจะกินไก่เรายังกินเนื้อไก่ เราไม่กินกระดูกไก่เลย กระดูกไก่ ไก่หรือสัตว์มันต้องมีกระดูก มีโครงสร้างของมัน มันจะเป็นสัตว์มาไม่ได้หรอก

ความคิดเรามันก็มีกิเลสเป็นโครงสร้าง กิเลสเรามันเหมือนกับกระดูกอยู่ในหัวใจของเรา แล้วเนื้อล่ะ? เนื้ออาหาร เนื้อของไก่ เนื้อของไก่คือคุณงามความดีไง แต่มันก็มีกิเลส มันมีกระดูกด้วยนะ ถ้ากินทั้งตัวมันก็คือติดคอตาย เห็นไหม แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติ นี่มีปัญญามาก ทุกคนว่ามีปัญญามาก ปฏิบัติโดยใช้ปัญญาของเรา กิเลสทั้งนั้นเลยรู้ไหม เพราะมันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาของกิเลสพาใช้ ถ้ากิเลสพาใช้นี่เพราะเราจะรวบรัด เราทำของเราด้วยการประพฤติปฏิบัติ ด้วยการให้เห็นผลประโยชน์ไง ให้ได้คุณธรรม ให้ได้คุณธรรมก็ประพฤติปฏิบัติ

นี่ความอยาก เห็นไหม ในอภิธรรมบอกว่าถ้ามีความอยากปฏิบัติไม่ได้ เพราะความอยากเป็นกิเลส แต่ถ้าเราแปรความอยากนี้ให้เป็นมรรค ความอยากเป็นมรรคคือธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เราต้องสร้างเหตุ เราต้องมีสติ ต้องมีสติก่อนนะ ถ้ามีสติการกระทำจะไม่ผิดพลาด เพราะขาดสติ พอขาดสติแล้วกิเลสมันก็สวมรอย สวมรอยว่าเป็นอย่างนั้นๆๆ ถ้าเราตั้งสติปั๊บมันจะต่อต้านเลย เพราะอะไร? เพราะสติเป็นธรรม พอสติเป็นธรรมคือสติเป็นเนื้อไง แต่กระดูกมันไม่ยอม กระดูกมันคัดค้าน กระดูกมันคัดค้านคือกิเลสมันคัดค้านไง

ถ้ากิเลสมันคัดค้าน แล้วเราคุ้นเคยกับมัน คุ้นเคยกับมันเพราะกระดูกเป็นโครงสร้างของเรา ความคิดเป็นโครงสร้างของเรา เห็นไหม แล้วเราคิดด้วยปัญญาของเรา เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม นี่เวลาคุ้นเคยกับกิเลส นี้คุ้นเคยกับกิเลสมันเป็นธรรมชาติ คำว่าคุ้นเคยกิเลสจะให้มันไม่มีมันเป็นไปไม่ได้หรอก ดูสิเราสูดอากาศหายใจ นี่อากาศเป็นพิษ ถ้าอากาศเป็นพิษ อากาศบาง อากาศหนา ออกซิเจนน้อย ออกซิเจนมาก มันก็เป็นธรรมชาติของมัน เพราะมันหมุนเวียนเป็นธรรมชาติของมัน

ความคิดก็เหมือนกัน ความคิด เห็นไหม ในเมื่อความอยาก ความคิดนี่กิเลสมันเป็นธรรมชาติของใจ ถ้ามันไม่เป็นธรรมชาติของใจเราจะไม่เกิดกันหรอก ที่เราเกิดมันมีธรรมชาติของมันเป็นสภาวะแบบนั้น แต่ธรรมชาติที่ดี กุศล-อกุศล ธรรมชาติที่เป็นกิเลส ธรรมชาติที่เป็นคุณธรรม ถ้าคุณธรรม คุณธรรมต้องเกิดขึ้น มันต้องสร้างขึ้นมา ทีนี้โลก เห็นไหม น้ำไหลลงต่ำ ทุกคนธรรมชาติต้องไหลลง นี่กิเลสมันพาไหลลงต่ำ ถ้าลงต่ำ ธรรมะมันต้องฝืนขึ้นมา

การฝืน ดูสิดูเราคิดทำคุณงามความดีมันฝืนไหม มันฝืนใจเรานะ เพราะมันฝืนความรู้สึกของเรา ถ้าฝืนความรู้สึกคือฝืนกิเลสแล้ว ถ้าฝืนกิเลส แต่คนทำไม่ได้ ถ้าฝืนกิเลสคือแบบว่ามันไม่สบายใจ มันไม่พอใจเรา มันไม่พอใจเราเพราะกิเลสเป็นเรา เห็นไหม ถ้ากิเลสเป็นเรานี่ธรรมะมันเกิดไม่ได้เพราะว่าเราคุ้นเคยกับกิเลส แล้วคุ้นเคยกับกิเลสนะ กาลเวลามันทำให้เราเสียคน กาลเวลา สิ่งต่างๆ พอคุ้นชินมันทำให้เราเสียคน เราต้องตื่นตัวตลอดเวลา

การตื่นตัวตลอดเวลา ทำไมพระอรหันต์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภาวนาจนวันตาย ครูบาอาจารย์เราท่านถึงเดินจงกรมจนวันตาย เพราะอะไร? เพราะมันเป็นวิหารธรรม เห็นไหม เหมือนเครื่องยนต์กลไกถ้าเราบำรุงรักษามัน เราอุ่นเครื่องมัน เราดูแลมัน มันจะคงทนไปกับเรา

นี่แล้วคนเราแก่เฒ่าขึ้นมา ร่างกายมันชราภาพไปเป็นธรรมดาของมัน แต่ก็ไม่ทุกข์โศกจนเกินไป แต่ถ้าเราไม่ดูแลเลย ถึงเวลามันเสียหายขึ้นมา ดูร่างกายของเราเวลามันเสียหายขึ้นมาสิ เราไปรักษานี่มันฟื้นฟูยาก แต่ถ้าเราดูแลรักษาของเรา เห็นไหม นี่วิหารธรรม พอวิหารธรรมเขาไม่คุ้นเคยกับมันไง วิหารธรรมคือเราดูแลเราตลอด

ใจก็เหมือนกัน ถ้าเราดูแลตลอด มีสติตลอด มีความเป็นไปตลอด มีความเข้าใจตลอด ถ้าเราเข้าใจตลอดมันจะเห็นหมดนะ มันจะรู้จักเลยล่ะ มันจะเห็นว่า โอ้โฮ ความคิดเราเป็นอย่างนี้ โลกเราเป็นอย่างนั้น เราอยู่ด้วยกัน นี่เราเกิดในโลก เราอยู่ด้วยกับโลกแต่เราไม่ติดมัน เราไม่ติดมันนะ นี่เรื่องของเขา เรื่องของเรา ถ้าเราอยู่ในสังคมมันรับรู้หมดแหละ ใครไม่รับรู้ไม่มีหรอก

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามองโลก เห็นไหม จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ถ้าช่วยเหลือไม่ได้ท่านก็ปลงธรรมสังเวช ปลงธรรมสังเวชนะ ดูสิการฆ่าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือการฆ่าโดยการชักสะพาน คือไม่พูดด้วย ไม่คุยด้วย ไม่เจรจาด้วยมันไม่มีคุณประโยชน์ เราไปสนทนากับนักปราชญ์ คำพูดของท่านมันจะมีคติมาตลอดเวลา มันมีคติมานะเตือนใจเรา แต่เรานี่หยิบฉวยได้ไหม? มันสะเทือนใจเราไหม?

ธรรมะนี้มันละเอียด ละเอียดขึ้นมา นี่มันออกมาจากไหน? มันออกมาจากเสียง ออกมาจากเสียงมันสะเทือนใจเราไหมล่ะ? ถ้ามันสะเทือนใจเรา เราได้ข้อคิดนะ ถ้าได้ข้อคิดนี่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะธรรมะมันไปเปลี่ยนแปลงอุดมคติ มันไปเปลี่ยนแปลงความคิดของคน มันไปเปลี่ยนแปลงจากภายใน ถ้าเปลี่ยนแปลงจากภายใน คนมันพัฒนาจากที่นั่น ถ้ามันไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากภายในนะ

นี่ดูสิพ่อแม่เวลาสอนลูก เห็นไหม ให้ปัญญาๆ ต้องมีการศึกษา ต้องมีการฝึกฝนขึ้นมา ถ้ามีการฝึกฝนขึ้นมามันไม่เปลี่ยนแปลงจากอุดมการณ์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากภายใน นี่ธรรมะมันเป็นวิญญาณาหาร มันเป็นอาหารของใจ มันเข้าถึงใจนะ เป็นวิญญาณาหารเพราะวิญญาณรับรู้ มันยังไม่ถึงใจ มันไม่ใช่ใจ ถ้ามันใช่ใจ มันเข้าไปนะมันเข้าไปถึงหัวใจ ถ้าถึงหัวใจนี่มันเห็นโทษ พอเห็นโทษขึ้นมามันจะไม่คุ้นชินกับสิ่งนี้หรอก แล้วมันเข้ากันไม่ได้

น้ำกับน้ำมันเข้ากันไม่ได้นะ จริตนิสัยของคน คนนี่โทสจริต โมหจริต จริตมันชอบกันอย่างนั้น ถ้าจริตมันชอบกันมันเป็นสายทางเดียวกัน ถ้ามันเป็นสายทางเดียวกันมันแก้ไขกันได้ แต่ถ้าจริตมันไม่ตรงกันมันมีความขัดแย้ง ถ้าความขัดแย้งเพราะเราไม่ชอบใจ มันไม่เห็นผลประโยชน์กับเราซักอย่างหนึ่ง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราไปฟังธรรม เห็นไหม ฟังธรรม เราไปวัดไปฟังธรรม ฟังธรรมนี่มันสะเทือนใจเรานะ มันสะเทือนใจเรา เพราะอะไร? เพราะเราคิดไม่ได้อย่างนั้นหรอก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องชีวิตของเรานะ ทรัพยากรมนุษย์ เห็นมนุษย์เป็นทรัพยากรไปหมดเลย แต่รากเหง้า เห็นไหม รากหญ้า มนุษย์นี่เป็นรากหญ้า เป็นรากหญ้าของสังคม แล้วความคิดล่ะ? ความคิดเป็นรากหญ้าของใคร? แล้วจริตนิสัยเป็นรากหญ้าของใคร?

นี่มันรากหญ้าความคิด ความคิดมันก็มีการสะสมมาเหมือนกัน มันไม่ได้เกิดมาชาตินี้ชาติเดียวนี่ มันเกิดมาตั้งหลายภพหลายชาติ พอหลายชาติมันก็สะสมของมันมา สิ่งที่สะสมของมันมา เรามองเป็นวิทยาศาสตร์เราก็มองในปัจจุบัน แต่เวลาปฏิบัติธรรมมันก็แก้ที่ปัจจุบัน แต่มันมีที่มาที่ไป ถ้ามันมีที่มาที่ไป กระแสมันพัดมาให้เป็นสภาวะแบบนั้น ถ้าเราปฏิบัติธรรมไปมันจะย้อนไปที่นั่น นี่ไงว่ากิเลสมันลึกๆ อุดมคติของคนอยู่ที่ไหน? อุดมคติของคนมันก็อยู่ที่สมอง อยู่ที่ความรู้สึก อยู่ที่ความคิด แต่อุดมคติจริงๆ มันลึกกว่านั้นอีก

ดูสิดูทางจิตวิทยา เห็นไหม จิตสำนึก นี่จิตใต้สำนึก จิตก่อนสำนึก จิตที่มันลึกลงไป นี่เวลาประพฤติปฏิบัติไป อันนี้เข้ากันได้กับโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรคเลย เพราะมันลึกๆ ลงไปหลายชั้น ลึกเข้าไปในหัวใจนะ มรรคหยาบ มรรคละเอียด นี่เราว่าละเอียดแล้ว เวลาประพฤติปฏิบัติละเอียดมาก ความคิดจับต้องได้มันละเอียดมาก แต่เวลาถ้าเราจะชำระล้างกันมันจะลึกกว่านั้นอีก มันจะเป็นไปกว่านั้น

แล้วคำว่าลึกว่าตื้นใครเป็นคนพูดล่ะ? ลึก ตื้น เพราะความรู้สึกอันที่มันรู้นั่นล่ะ เห็นไหม มันถึงเป็นปัจจัตตัง มันถึงเป็นเรื่องจริงของใจดวงนั้น เหมือนในบ้านของเรา ในบ้านของเราเราหาแหล่งน้ำ เราขุดน้ำ เราขุดบ่อน้ำ เราขุดเอาไว้ใช้ของเราเอง ตื้น ลึก หนา บาง มันอยู่ที่ดิน อยู่ที่สายน้ำ นี่ก็เหมือนกัน ความรู้สึกของเราก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นไปได้ เราขุดค้นของเราขึ้นมา มันเป็นประโยชน์กับเรานะ

เราได้แหล่งน้ำของเราขึ้นมา มันจะมีความอุดมสมบูรณ์ในใจของเรา อุดมสมบูรณ์เลย อุดมสมบูรณ์ภายนอกนะ เวลาแห้งแล้งนี่อุดมสมบูรณ์ในใจของเรา แต่เวลาข้าวยากหมากแพงเราก็อยู่ในสภาวะแบบนั้น มันอุดมสมบูรณ์จากภายใน แต่อุดมสมบูรณ์จากภายนอกมันเป็นอนิจจัง โลกเป็นอย่างนี้ สภาวะมันเป็นอย่างนี้ แต่อุดมสมบูรณ์ในหัวใจมันคงที่ของมันนะ มันอยู่ในที่โลกเขาอุดมสมบูรณ์ เราก็เห็นมันเป็นคราวเป็นกาล เวลามันอัตคัดขาดแคลนมันก็เป็นคราวเป็นกาล

เป็นคราวเป็นกาลนะ แต่หัวใจมันไม่เดือดร้อนไปกับเขา ถ้ามันรักษาความอุดมสมบูรณ์จากภายใน ความชุ่มชื่นของหัวใจได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งอาศัยทั้งหมด โลกนี้เป็นอจินไตย คำว่าอจินไตยคือมันต้องมีอยู่สภาวะของมันแบบนี้ แล้วมันเป็นอนิจจังด้วย อจินไตยด้วย อจินไตยคือคงที่ที่ต้องมีอยู่ แต่อนิจจัง อนิจจังคือแปรสภาพ แปรสภาพมันจะอยู่ของมันโดยคงที่อย่างนี้ไม่ได้

คำว่าอจินไตยคือว่ามันไม่สูญหายไป มันจะมีของมันสภาวะแบบนี้ แต่อนิจจังคือมันแปรสภาพ โลกมันแปรสภาพสภาวะแบบนั้น แล้วเราเกิดมานี่เวลาบุญไง เป็นคราว เห็นไหม ดูสิดูเป็นยุคเป็นคราว นี่เป็นยุคสมัย ยุคสมัยที่เราเกิดในสมัยที่เจริญรุ่งเรือง สมัยที่มันอัตคัดขาดแคลน มันเป็นยุคสมัย แม้แต่ว่าเราเป็นลูกของพ่อแม่เดียวกัน ยุคคราวก็ไม่เหมือนกัน สิ่งคราวก็ไม่เหมือนกัน เพราะอะไร? เพราะอำนาจวาสนาคนมันไม่เหมือนกัน

สิ่งที่ไม่เหมือนกัน สิ่งนี้มันเป็นต้นทุน ต้นทุนของแต่ละดวงใจที่สร้างสมมา แต่ในปัจจุบันนี้เกิดมาแล้วต้นทุนส่วนต้นทุนนะ แต่ขณะที่เราทำนี่มันเสมอภาคกัน ญาติโดยธรรม คือมีความรู้สึก มีหัวใจ มีร่างกายเหมือนกัน มีความสุขความทุกข์เหมือนกัน แล้วแสวงหานี่ใครจะแสวงหา ทรัพย์ภายนอก ทรัพย์ภายในแล้วแต่คนแสวงหา

แสวงหาทรัพย์ภายนอก มันก็ได้แต่ทรัพย์ภายนอก ทรัพย์ภายนอกเป็นทรัพย์สาธารณะที่ใช้จ่ายไปในชีวิตนี้ แต่ทรัพย์ภายใน เห็นไหม ทรัพย์ภายในมันมีความรู้สึกจากภายใน เหมือนเรานี่วุฒิภาวะของใจ คนที่มีปัญญาสูงกว่า คนที่มีวุฒิภาวะด้อยกว่า เราจะเห็นความคิดของเรา เราจะเห็นการกระทำของเขา เราเข้าใจเขาหมดเลย แต่คนที่มีวุฒิภาวะด้อยกว่าเขาจะไม่เข้าใจคนที่มีวุฒิภาวะสูงกว่า สิ่งที่มีวุฒิภาวะสูงกว่า เขาคิดของเขามันลึกซึ้งกว่าเรา มันเป็นไปของเรา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตของเรามันเห็นสภาวะความเป็นจริงขึ้นมา มันจะมองโลกเป็นอย่างนั้น มันมองโลกเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เห็นไหม ทรัพย์ของโลก ทรัพย์ที่เป็นสาธารณะ ทรัพย์ที่เป็นของเรา ทรัพย์ที่เป็นสาธารณะ ถ้าวุฒิภาวะเราดีนะ ทรัพย์มันเป็นประโยชน์กับเราได้อีก พูดถึงถ้าวุฒิภาวะมันด้อย ทรัพย์ที่เป็นสาธารณะทำให้เราเสียคนได้

ดูสิเด็กที่มันเสียคนมันเสียคนเพราะอะไร? เพราะการใช้จ่ายของมันนั่นแหละ เพราะการฝึกฝนของใจนั่นแหละ นี่สิ่งนี้ทำให้คนดีก็ได้ ทำให้คนเลวก็ได้ สิ่งนั้นมันเป็นสมบัติสาธารณะ เห็นไหม แต่ถ้าความเป็นจริงข้างในเราต้องดูแลของเรานะ ถ้าวุฒิภาวะเราไม่ถึง วุฒิภาวะของเราทำไม่ดี ทำสมาธิก็ทำยาก สติปัญญามันก็ทำยาก ฉะนั้น สิ่งนี้มันไม่ใช่ว่าเราจะมาแข่งขันกัน มันเป็นอำนาจวาสนาของคน มันเป็นการฝึกฝนมาแล้ว ไอ้อย่างนี้มันเป็นสมบัติเดิม แต่ในปัจจุบันนี้ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน ทำได้เหมือนกัน ถึงต้องสะสม ของใครของมัน

คำว่าของใครของมัน เหมือนข้อวัตรปฏิบัติ หรือการงานนี่เราเป็นหมู่คณะกัน ถ้าการงานเราขวนขวาย เราได้ทำ นี่หมู่คณะเขาใช้ประโยชน์จากเรานะ นี่ไงที่จะสร้างสมวุฒิภาวะนี่ไง ที่ว่าสร้างสมใจนี่ไง ที่สร้างสมอำนาจวาสนานี่ไง เราทำนี่เขาอาศัยคุณประโยชน์จากเรา อาศัยความสะดวกจากเรา นี่สิ่งนี้เป็นประโยชน์หมดนะ ถ้าเรารู้จักใช้เป็นประโยชน์ แต่กิเลสมันไม่ยอม มันว่าเราเสียเปรียบ มันว่าเราทำแล้วคนอื่นได้ประโยชน์มากกว่า ถ้าคิดอย่างนี้คิดแบบโลก ถ้าคิดแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เสียสละหมด เสียสละทุกอย่าง เสียสละแม้แต่สมบัติสาธารณะ

นี่เศรษฐีสมัยพุทธกาลเขาตั้งโรงทานไว้ เขาจะเจือจานกันตลอดเวลา เพราะอะไร? เพราะเขาถือว่านี่คือสมบัติของเขา นี่คือการกระทำแล้วเขาได้ประโยชน์กับเขา แต่ทางโลกเขามองเป็นผู้ตั้งโรงทานมา คนที่มากินโรงทานนั้นต่างหากถึงได้ประโยชน์ นั่นเขาได้ประโยชน์สมบัติสาธารณะ เราได้สมบัติที่เป็นทิพย์ เราได้สมบัติเป็นความสุขของเรา แล้วนี่ประโยชน์ของเรามันจะเพิ่มพูนไปตลอดเวลา

เพิ่มพูนนะ นี่ผู้เสียสละเป็นผู้ได้ ผู้ที่รับเป็นหนี้ เป็นหนี้นะเพราะมันเป็นหนี้กันตลอดไป มันเป็นหนี้นะ สิ่งใดที่เกิดขึ้น โลกนี้ไม่มีของฟรี ทุกอย่างมันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน เห็นไหม ธรรมชาติของมัน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่ แต่เวลาเราคิดถึงวิทยาศาสตร์ เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เราเป็นคนที่หลุดมือจากเราไป มันเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

นี่ไงกิเลสกับธรรมคิดคนละแง่ ถ้าเป็นธรรมนะ ธรรมะนี่โลกเจริญสุขสบายเพราะเรานะ ถ้าโลกสุขสบายเพราะเรา เราทำโลกเพราะอะไร? เวลาเป็นไปอนาคตเราจะเป็นอย่างไรล่ะ? นี่บารมีมันเกิดอย่างนี้ไง ถึงว่าย้อนกลับมาที่เราทำข้อวัตร เราทำข้อวัตรแล้วนี่มันสร้างสม เพราะอะไร? เพราะเวลาเรานั่งสมาธิ เราภาวนาเราจะไปน้อยใจตรงนั้น เราจะไปคิดตรงนั้นว่านี่มันมาจากไหน?

นี่ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เราต้องสาวไปที่นี่ ถ้าเราทำทุกอย่างเรียบร้อยสมบูรณ์หมด แล้วเราไปนั่งสมาธิภาวนา กับที่เราทำอะไรไม่เรียบร้อย หรือยิ่งถ้ามีสิ่งใดที่เราซ่อนเร้นไว้ แล้วเราไปนั่งสมาธิภาวนา เทียบความรู้สึกของใจสิ แล้วมันจะเป็นสมาธิได้ไหม? มันจะเป็นประโยชน์กับเราได้ไหม? นี่มันเป็นความจริงของเราทั้งหมดนะ เราถึงต้องทำของเรา เราต้องตั้งใจทำของเรา ใครจะว่า ใครจะติเตียนขนาดไหน นี่มันปากข้างนอก เราเห็นประโยชน์ของเรา เราต้องทำของเรา แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรา

นี่ธรรม เห็นไหม เสียสละจากเรื่องเป็นวัตถุนั่นอันหนึ่ง เสียสละจากทิฐิมานะ ความคิดที่มันให้โทษในใจอันหนึ่ง แต่เสียสละอันในนี่เสียสละยาก ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ปลดตรงนี้ ปลดความเสียสละจากภายใน ให้ข้างในมันมีความสุขนะ ถ้าในหัวใจมีความสุขนะ นี่สิ่งใดที่เป็นการเคลื่อนไหวมันจะเป็นความสุขออกมา ถ้าหัวใจมันมีความทุกข์นะ ข้างนอกเราจะมีความสุขขนาดไหน มรรยาทสังคมมันก็คืออมทุกข์ อมทุกข์มันไม่เป็นความสุขจริง

ถ้าเป็นความสุขจากข้างใน ข้างนอกเขาจะมองเราว่าทุกข์นะ ทำไมฉันมื้อเดียว อยู่โคนไม้มันจะมีความสุขได้อย่างไร? มันจะมีความสุขเพราะไม่เป็นภาระ ไม่มีอะไรกดถ่วงใจเลย มันเป็นความสุขจริงๆ ความสุขที่มันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่เขาแสวงหากัน นี่สิ่งนี้หาได้ที่นี่ ความสุขหาได้ที่ใจ แต่หน้าที่การงานเรื่องของโลก เกิดมาแล้วมีปัจจัยเครื่องอาศัย อันนี้ก็ต้องทำไป

โลกกับธรรมอยู่ด้วยกัน นี่เรามีตา ๒ ข้าง หน้าที่การงานของโลกก็ตาหนึ่ง หน้าที่ในหัวใจก็ตาหนึ่ง แต่โลกไม่เข้าใจ เขาใช้ตา ๒ ข้างเพื่อโลกทั้งหมด เราใช้ตา ๒ ข้างเพื่อโลกข้างหนึ่ง เพื่อธรรมข้างหนึ่ง แล้วเราจะมีทางเดินของเรา เอวัง