เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓๑ พ.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ชีวิตคือการครองเรือน เห็นไหม การครองเรือนคือการครองใจ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้นนะ ชีวิตคือการครองเรือน ถ้าชีวิตครอบครัวไง การครองเรือนเราว่าครอบครัว ชีวิตครอบครัวครองเรือนคือครองใจ ถ้าคนปฏิบัติมันจะเห็นนะ ถ้าคนยังไม่ปฏิบัติยังไม่รู้หรอกว่าครองใจนี่ครองยากขนาดไหน เพราะหัวใจเรายังครองยากขนาดนี้

แล้วย้อนกลับพูดถึงคุณธรรม มองไปในครอบครัว มองเข้าไปในสังคมนะ เพราะหัวใจเราเองมันยังดิ้นรนขนาดไหนกว่าจะเอาใจเราไว้ได้ ใจนี่มันเหมือนช้างสารที่ตกมัน มันจะดิ้นไป ประสามัน แล้วใครที่เอาใจไว้ในอำนาจของตัว คนนั้นจะมีความสุขมาก เพราะเราไม่เอาใจไว้ในอำนาจของตัวได้มันถึงเป็นปัญหาขึ้นมา ปัญหาขึ้นมาเพราะอะไร? เพราะมันออกไป เห็นไหม พอออกไปนี่มันเป็นไปหมด

ทั้งๆ ที่ว่าเราปรารถนาดี พ่อแม่นี่ปรารถนาดีกับลูกหมดแหละ แต่เด็กนี่จะอึดอัดมากว่าพ่อแม่ไม่รักๆ แต่ความจริงพ่อแม่รักใจจะขาดนะ แล้วพ่อแม่ต้องการให้ลูกสมความปรารถนา แต่เพราะสังคมไง นี่ต่างกันโดยวัย วัยของพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย สังคมอีสาน เห็นไหม ผู้เฒ่าในบ้านในเรือนเขาเป็นที่ปรึกษานะ ผู้เฒ่าเขาจะเคารพกันมาก

นี่สังคมไทย สังคมไทยเป็นศาสนาพุทธ พุทธศาสนา เห็นไหม มีความเคารพ ดูสิอย่างที่ลัทธิต่างๆ เขาก็มีการบูชาศาสดาของเขา แต่บูชาของเรานี่บูชาย้อนกลับมานะ บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือบูชาในหัวใจของเราไง พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี่สรรพสิ่งมันอยู่ที่ใจ ใจรับรู้หมด ปฏิเสธหมด ปฏิเสธโลกภายนอกทั้งหมด ปฏิเสธเทวดาทั้งหมด ปฏิเสธสิ่งพึ่งพาอาศัยข้างนอกทั้งหมด ให้พึ่งพาอาศัยใจของตัวเอง

ถ้าพึ่งพาอาศัยใจของตัวเอง ถ้าครองใจตัวนี้ได้ การครองใจของเราได้ การครองใจมันก็เริ่มต้นตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนา ถ้าไม่มีการเสียสละทานขึ้นมาก่อน ไม่มีการเตรียมความพร้อมก่อน การเตรียมความพร้อมของใจไง เพราะความตระหนี่ถี่เหนียว ความตระหนี่ถี่เหนียวมันเป็นตัณหาความทะยานอยาก แล้วเราจะปฏิเสธสิ่งต่างๆ นี่เราจะปฏิบัติธรรมให้ถึงซึ่งนิพพาน เราจะพ้นไปจากทุกข์ มันเป็นความคิด มันเหมือนกับเราหักพร้าด้วยเข่า ด้ามพร้านี่หักด้วยเข่าหักได้ยากมาก แต่ถ้าเราทอนให้มันเล็กลง เราทำให้มันเล็กลง มันจะหักได้ง่ายขึ้นไปเรื่อยๆ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเริ่มเสียสละ เราฝึกฝนใจไว้ก่อน ให้เสียสละทาน ศีล ภาวนา พอภาวนาขึ้นมามันก็จะมีโอกาส ไม่ใช่หักพร้าด้วยเข่า หักพร้าด้วยเข่านะ ต้นไม้ทั้งต้น ต้นใหญ่เราหักมันไม่ได้หรอก กิเลสทั้งตัวนะ กิเลสดิบๆ นะหักมันไม่ได้หรอก แต่เวลาจะทำทานกัน เวลาเราถือศีลภาวนากันก็บอกของเล็กน้อยๆ ของเล็กน้อยจะสร้างให้มันเป็นคุณประโยชน์ขึ้นมา ของเล็กน้อยนะ ถ้าเราเสียสละทานขึ้นมานี่มันฝึกใจของเรานะ ถ้าใจของเรามีการเสียสละ ใจของเราเปิดโอกาสให้ เหมือนกับคนถ้ามีเจรจากัน มันมีโอกาสที่จะตกลงกันได้ ถ้าไม่มีโอกาสเจรจากันเลย นี่เราไม่มีทางเจรจากันได้ มีความขัดข้องหมองใจกันแล้วเจรจากันไม่ได้ มันจะลงลึกตลอดไป

นี่ก็เหมือนกัน จิตถ้ามันมีเรื่องทาน ศีล ภาวนา มันเหมือนมีการเจรจาไง เพราะธรรมะเข้าไปขัดเกลา ไปกลมกล่อมมัน ถ้าธรรมะเข้าไปนะ แต่มันเป็นกิเลสดิบๆ มันถึงทำความเสียสละอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าความเสียสละไม่ได้มันก็ทำให้มันดิบอยู่อย่างนั้น เห็นไหม นี่มองข้ามของเล็กน้อย เวลาครูบาอาจารย์ท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นนะ ท่านบอกเลยนะ ข้อวัตรปฏิบัตินี่ของเล็กน้อยสะสมมันไป ถ้าสะสมสิ่งนี้มันเป็นประโยชน์กับเราทั้งหมด เพราะมันเป็นข้อวัตรปฏิบัติ มันเป็นการวัดใจ มันเหมือนมาตรวัด เครื่องวัดต่างๆ เราจะวัดคุณภาพของมันได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าคนมีศีลมีธรรมมันวัดจากตรงนี้ไง สิ่งต่างๆ เป็นการกระทำ เห็นไหม มันออกมาจากใจ ถ้าใจมันดีขึ้นมา สิ่งที่เป็นการกระทำมันจะดีไปหมดเลย แต่ถ้าใจมันหยาบนะ มันทำสิ่งใดมันก็จะหยาบ แต่คนหยาบ คนละเอียด เวลาละกิเลสแล้วจริตนิสัยมันก็อีกเรื่องหนึ่ง การเสียสละ การฝึกฝนขึ้นมา มันเข้าไปถึงหัวใจแล้ว ถ้ามันไปชำระกิเลสแล้วมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ก่อนที่ทำมันไม่แยกเรื่องไปอย่างนี้หรอก ดูสิ ดูอย่างเราจบการศึกษามา เห็นไหม นี่จบมาเหมือนกัน แต่แตกแขนงออกไปวิชาการต่างๆ มันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าจบ จบเหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันชำระกิเลสแล้วมันสะอาดได้เหมือนกัน แต่จริตนิสัยไม่เหมือนกัน เห็นไหม การแสดงธรรมมันเป็นสำนวนนะ นี่ครูบาอาจารย์ถ้าเราคุ้นชิน เราจะรู้เลยว่าเวลาครูบาอาจารย์เทศน์มานี่สำนวนของใคร? สำนวนครูบาอาจารย์องค์หนึ่งๆ ไม่เหมือนกันนะ ไม่เหมือนกัน แต่ธรรมะเนื้อเดียวกัน ถ้าเป็นธรรมอันเดียวกันนะ ธรรมะนี่เนื้อเดียวกันเลย แต่สำนวนคือจริตนิสัย คือความถนัดของแต่ละใจไม่เหมือนกัน

ความไม่เหมือนกันอันนั้นมันเป็นการสร้างสมมา เห็นไหม ตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนา การเกิดและการตาย นี่พันธุกรรมที่มันได้ตัดแต่งมา สิ่งที่พันธุกรรมได้ตัดแต่งมาแล้วมันเป็นประโยชน์กับพันธุ์พืชนั้น แต่ถ้ามันตัดแต่งมาดีขนาดไหน แต่มันไม่ได้เข้ามา นี่พันธุ์พืชไม่ได้ลงดิน ไม่ได้ปลูกขึ้นมา มันเก็บไว้มันก็เก็บไว้สภาวะแบบนั้นแหละ

นี่ก็เหมือนกัน จริตนิสัยมันมีอยู่กับใจตลอดไปนะ คนนี่มีอยู่ตลอด เวลาภาวนากัน เห็นไหม เรามีอำนาจวาสนาไหม? เราประพฤติปฏิบัติจะได้สมความปรารถนาไหม? นี่มันไปตัดทอนกำลังของใจ มันไปตัดทอนตัวเราเองไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกถ้าเราประพฤติปฏิบัตินะ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี

คำว่า ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ถ้าเราทำนะ นี่โดยหลักเลยล่ะ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี แต่เราทำกันไม่ถึง เราทำกันไม่ได้ เรามีจุดยืนของเราไม่ได้ แล้วมันมีความลังเลสงสัย มันตัดทอนตลอด มันทำให้เราอ่อนแอตลอดเลย ความคิดของเรามันทำให้เราอ่อนแอตลอดเลย นี่ความคิดจากข้างนอกนะ ถ้าเราทำของเรา เรามีจุดยืนของเราแล้วทำของเราไป เรามั่นคงของเราไป เราทำของเราไปอย่างนี้ นี่แล้วมีครูมีอาจารย์คอยจัดให้มันเข้าทาง เพราะอะไร? เพราะทำไปแล้วประสบการณ์ตรงมันจะบอกเอง มันจะบอกเรานะ

ถ้าปฏิบัติไปแล้วมันไม่ได้ทอนกิเลสเลย กิเลสมันยังเต็มหัวใจอยู่เลย กิเลสมันไม่ได้ดัดแปลง สิ่งที่เราทำมามันต้องมีอะไรขัดแย้งแล้ว ต้องมีอะไรผิดพลาดแล้ว นี่เราพูดได้ เราพูดกับครูบาอาจารย์ได้ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติมา มันเหมือนพ่อแม่ มันเหมือนผู้ใหญ่มองเด็ก ถ้าเด็กเข้มแข็ง เด็กทำความเป็นจริง ผู้ใหญ่คนไหนก็แล้วแต่ ถ้าเด็กมันหมั่นเพียร เด็กมันดี ผู้ใหญ่จะพอใจทั้งนั้นแหละ มันพอใจนะ

นี่ก็เหมือนกัน ศาสนทายาท ส่งต่อกันเป็นชั้นๆ กันมา ส่งต่อเป็นชั้นๆ กันมา เห็นไหม ดูสิในมิลินทปัญหา พระอรหันต์มหาศาลเลย แต่แก้ปัญหาของมิลินท์ไม่ได้ ต้องไปรอพระนาคเสน ออกบวชตั้งแต่เด็กเพราะอะไร? เพราะสร้างเวรสร้างกรรมกันมา เพราะในมิลินทปัญหาตั้งแต่อดีตชาติมานี่เป็นอาจารย์เป็นศิษย์กันมา นี่เวลาเณรโดนครูบาอาจารย์ลงทัณฑ์ เขาบอกเลย

“ขอให้มีปัญญาดั่งคลื่นของแม่น้ำคงคา เพื่อโตขึ้นมาจะได้มีปัญญาบ้าง”

นี่อาจารย์ได้ยินว่าเณรอธิษฐานอย่างนั้น “ก็ขอให้ปัญญาไปถึงขอบฝั่งของแม่น้ำ จะกั้นขอบแม่น้ำนั้นได้” นี่ได้สร้างบุญกุศลกันมา ได้สร้างกันมา เพราะนักปราชญ์กับนักปราชญ์ไง ถึงที่สุดแล้วเป็นพระเจ้ามิลินท์ พระเจ้ามิลินท์นี่ตีมาแล้วมายึดครอง เห็นไหม

สนใจในศาสนา แต่ไปถามอาจารย์องค์ไหน อาจารย์องค์ไหนก็แก้ปัญหาให้ไม่ได้ ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้มันจะถึงที่สุดได้อย่างไรล่ะ? เพราะปัญหาที่พระเจ้ามิลินท์ถามพระ นี่พระตอบไม่ได้ พระปัญญาสู้ไม่ได้ ทีนี้พระอรหันต์มหาศาลเลย พระอรหันต์นี่หลบอยู่ในป่า รอไง รอพระนาคเสนมา แล้วฝึกพระนาคเสนขึ้นมา ฝึกปริยัติขึ้นมาแล้วส่งไปปฏิบัติ ทั้งพระฝ่ายปริยัติ ปฏิบัติเลี้ยงมา สร้างสมขึ้นมาจนเกิดเป็นพระนาคเสน เวลาพระนาคเสนออกไปกับพระเจ้ามิลินท์ เห็นไหม บอกว่า

“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในน้ำต้องมีปลา”

นาคเสนบอก “ถ้าอย่างนั้นในมะพร้าวมีน้ำก็ต้องมีปลา” ถ้ามีปลาขึ้นมา น้ำมะพร้าวก็ต้องผ่ามะพร้าวกัน พิสูจน์แล้วในน้ำมะพร้าวก็มีปลา

นี่บุญกุศล เห็นไหม จะบอกว่าโดยวิทยาศาสตร์ โดยข้อเท็จจริงอันหนึ่ง โดยบุญกุศล โดยวาสนาอันหนึ่ง สิ่งต่างๆ นี้มันเป็นอีกส่วนหนึ่ง โดยบุญกุศลก็สร้างปัญญามาเหมือนกัน แต่มันเป็นไปได้อย่างไรที่ปลามันจะไปอยู่ในมะพร้าว มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่เพราะทิฐิของพระเจ้ามิลินท์ใช่ไหม? ถ้าในน้ำมีปลา โดยธรรมชาติเมื่อก่อนธรรมชาติมันบริสุทธิ์ เห็นไหม ในน้ำก็มีปลาทั้งนั้นแหละ

ดูสิเราไปธุดงค์กันนะ น้ำในโพรงภูเขา อยู่ในลึกๆ สิ่งที่มันเข้าไม่ได้เลย มันก็มีฝูงปลาอยู่ในนั้นนะ นี่ชีวิตมันเกิดในน้ำ ในภูเขานี่ ไม่ใช่ในภูเขามันจะทึบไปหมด บางภูเขาข้างในจะเป็นโพรง เป็นโพรงมันจะมีกระแสน้ำ มันมีปลาอยู่ในนั้นจริงๆ ทีนี้น้ำมะพร้าวก็มีปลา เทวดาแปลงกายมาเพราะอะไร? เพราะมันเป็นสัจธรรม มันเป็นอำนาจวาสนาสร้างมา เห็นไหม ดูสิมิลินท์เป็นเณร ทำผิดแล้วอาจารย์ลงโทษ นี่พอลงโทษขึ้นมาด้วยเด็กที่มีปัญญาไง อยากจะมีปัญญา นี่อธิษฐานว่า

“ขอให้ปัญญาเราดั่งแม่น้ำคงคา ดั่งน้ำที่ไม่มีขอบเขต”

นี่อาจารย์ได้ยินเข้าอาจารย์ก็อธิษฐานต่อไป “ถ้าต่อไปข้างหน้าขอให้มีปัญญาเหมือนกับขอบฝั่ง ขอบฝั่งที่ปิดกั้นไม่ให้น้ำพ้นจากนั้นไปได้”

นี่สร้างสมบุญญาธิการมา บุญวาสนาเป็นอันหนึ่งนะ แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติไป ถ้าจิตที่มีอำนาจวาสนามันจะเห็นสิ่งที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ สิ่งที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ ถ้าพูดถึงเป็นกิเลสมันเห็นโดยอุปาทาน แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ท่านเคยเห็น ท่านเคยเป็นนะ สิ่งนี้ถ้าเห็นโดยจริง จริงก็มี จริงนี่ดูพระอรหันต์จิตที่สิ้นจากกิเลสแล้ว นี่จิตสะอาดบริสุทธิ์เห็นโดยข้อเท็จจริง แม้แต่เป็นความฝันก็ฝันรู้ว่าจริง แต่ถ้าเราเป็นกิเลสมันฝันโดยตัณหาความทะยานอยาก มันรู้โดยตัณหาความทะยานอยาก สิ่งนี้ถึงเก็บไว้ก่อน

ความเห็นของเราที่เป็นปุถุชน เวลาฝัน เวลาต่างๆ มันก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้บ้าง จริงบ้าง เท็จบ้าง แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์นะ เพราะมันไม่มีสิ่งเท็จปน มันไม่มีอุปาทานเจือปนเข้าไป สิ่งนั้นจะเป็นข้อเท็จจริง เห็นไหม สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงเหมือนกับเราเห็นนิมิตนี่แหละ นิมิตถ้าเรามีกิเลสอยู่มันเป็นโดยเผ่าพันธุ์ โดยเผ่าพันธุ์คือจิตมันมีนิสัย จิตมีนิสัยมันจะมีสภาวะแบบนั้น แต่ถ้าเราไปติดมันก่อน เพราะเรามีกิเลสอยู่ใช่ไหม? กิเลสถึงทำให้เราออกนอกลู่นอกทาง เพราะมันติดในตัณหาความทะยานอยากของตัว อยากรู้ อยากเห็น อยากให้ชัดเจน อยากให้เป็นไป แต่ความจริงเห็นสิ่งนี้มันเห็นเตือนเรา เป็นธรรมเตือนแล้ว

นี่ธรรมเกิดๆ สภาวธรรมมันจะเตือนเราตลอดเวลาว่าสิ่งนั้นมีคุณมีโทษ แต่เราเป็นเด็กไง เราเป็นเด็กก่อน เราแบ่งแยกไม่ถูก เราให้คุณค่าสิ่งที่เป็นคุณเป็นโทษไม่ถูก แต่ถ้าจิตเราสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมาแล้วเราจะเห็นคุณค่าของมัน สิ่งที่อย่างนี้เป็นคุณ อย่างนี้เป็นโทษ ความเห็นของเราเป็นคุณเป็นโทษทั้งนั้นแหละ มันมีคุณมีโทษในตัวมันเอง ไม่มีอะไรที่มีคุณประโยชน์ทั้งหมด แล้วไม่มีโทษ หรือสิ่งที่มีโทษทั้งหมดแล้วไม่มีคุณ มันมีของมันนะ มันมีของมัน แต่คนใช้น่ะ คนนั้นใช้เป็นประโยชน์ไหม? ถ้าใช้เป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์กับเรา

นี่ครูอาจารย์เป็นอย่างนั้น การประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาโดยข้อเท็จจริงอันหนึ่ง โดยอำนาจวาสนาก็เป็นอันหนึ่ง วิทยาศาสตร์มันเป็นข้อเท็จจริงอันหนึ่งจริงๆ เลย แต่อำนาจวาสนาของคน ความเห็นลึกซึ้ง ความตื้น แคบ หยาบ ละเอียดต่างๆ กันไป ครูบาอาจารย์สำคัญตรงนี้นะ สำคัญทำให้เราเข้ามาถึงหัวใจเราให้ได้ ชำระความสะอาด สิ่งที่สะอาด เห็นไหม ดูสิพระอรหันต์ที่ว่าสำเร็จสิ้นกิเลสแล้วถึงไม่เหมือนกันไง

คำว่าไม่เหมือนกัน สะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน พ้นเหมือนกัน กินอาหารแล้วอิ่มเหมือนกัน แต่คนต้องกินมาก กินน้อย คนบางคนต้องกินอาหารมากถึงอิ่ม บางคนกินเล็กน้อยก็พอ คำว่าประพฤติปฏิบัติ นี่รู้ง่ายเห็นง่าย รู้ง่ายเห็นยาก รู้ยากเห็นง่าย ต่างๆ กัน นี่บัว ๔ เหล่า สิ่งที่เป็นไป เป็นไปตามจริตนิสัย

ความเป็นไปในครอบครัว สิ่งที่เป็นครอบครัว การครองเรือน เห็นไหม ถ้าครองเรือนครองใจของเราแล้วมันอิ่มเต็มของมัน แต่ถ้ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ธรรมชาติของสรรพสิ่ง เทวดา อินทร์ พรหม ก็เหมือนกัน การครองเรือนมันเป็นเรื่องของคู่ เป็นเรื่องของโลก โลกคือเป็นสภาวะแบบนั้น โลกคือวัฏฏะ วิวัฏฏะคือทำให้มันเป็นเต็มอิ่มของเราเป็นพรหมจรรย์ สิ่งที่เป็นพรหมจรรย์นะ เอโก ธัมโม จิตนี้หนึ่งเดียว เราเป็นหนึ่งเดียว แต่เรายืนของเราไม่ได้ เรายืนใจของเราไม่ได้ เราเกิดมานี่เราเป็นคฤหัสถ์ สิ่งที่เป็นคฤหัสถ์เราก็สร้างสมของเราขึ้นไป

สร้างสมนะ บุญกุศลทำให้เราเกิดสิ่งวิกฤติในชีวิตต่างๆ จะมีคนเจือจาน จะมีคนเป็นไป คำว่าเจือจาน อย่างที่ว่าวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง โดยอำนาจวาสนาอย่างหนึ่งนะ อำนาจวาสนานี่มีคนเมตตา มีคนเห็นดีเห็นงามด้วย ถ้าเราไม่มีอำนาจวาสนานะ เราทำอะไรเราจะไม่มีคนเกื้อกูล เราต้องทุกข์ต้องยากของเราไป อันนี้เพราะเราสร้างมา เราสร้างของเรามา เราทำของเรามากันเองทั้งนั้นแหละ

เวลาเราประพฤติปฏิบัตินะสิ่งนี้มันก็ทุกข์ยาก แต่เราก็เอาสิ่งนี้มาเป็นเครื่องอยู่ มันเป็นความภูมิใจอันหนึ่ง บอกว่าสิ่งที่เราทำมาเอง จะทุกข์เราก็ทุกข์เอง จะสุขเราก็สุขเอง สิ่งต่างๆ เราเลือกเอง ฉะนั้นเราเลือกเอง เราปฏิบัติเอง เราต้องทำของเราเอง ถึงที่สุดแล้วถ้ามันมีอะไรสงสัยก็ขึ้นหาครูบาอาจารย์ ท่านจะแก้ไขให้เราไปเรื่อยๆ

แก้ไขให้เรานะ เพราะใจดวงหนึ่งให้อีกใจดวงหนึ่ง ถ้าใจดวงหนึ่งไม่เคยเจอวิกฤติ ไม่เคยเจออุปสรรค ไม่เคยเจอการดัดแปลงมา มันจะเอาอะไรไปสอนเขา ใจมืดบอดก็สอนแต่ความมืดบอดออกไป ใจดวงหนึ่งสว่างไสว จากใจดวงหนึ่งมอบให้อีกใจดวงหนึ่ง ใจดวงหนึ่งสว่างไสว แต่ไม่มีผู้รับมอบเลย ใจดวงนั้นก็จะดับไปเป็นธรรมดา ต้องตายไปเป็นธรรมดา ต้องหมดอายุขัยเป็นธรรมดา

นี่ประโยชน์ ถ้าใครจะเก็บประโยชน์มันจะได้ตรงนี้ ถ้าปล่อยให้ถึงที่สุดแล้ว ต่างคนต่างตายกันไปแล้วเราจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เกิดมาทั้งทีเราจะได้อะไรติดมือเราไป บุญกุศลมีอยู่แล้วเพราะเราเป็นชาวพุทธ ทำบุญทำทานมันมีอยู่แล้ว มีอยู่แล้วหมายถึงใจมันเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่เห็นๆ กันอยู่ แต่ถ้าการประพฤติปฏิบัติล่ะ? เราจะบังคับใจเราอย่างไร? เราจะเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเราได้อย่างไร?

จิตสงบนี่เอาไว้ได้ชั่วคราวนะ ถึงที่สุดถ้าเราแก้ไขของเราไปเรื่อยๆ จิตนี้ทำให้มันผ่องแผ้ว จิตนี้ทำให้พ้นจากกิเลสได้ ทำได้ ทุกข์มันเกิดขึ้นได้ ทุกข์ต้องดับได้ ถ้าทุกข์เกิดขึ้นมาแล้ว ทุกข์เกิดขึ้นมาได้แล้วดับไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สอน แต่ทุกข์นี้เกิดขึ้นมาได้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปฏิสนธิจิตที่มันเกิดในครรภ์ของมารดา แล้วไม่มีใครดูแลมัน ปล่อยมันตามยถากรรม ปล่อยไปตามยถากรรม หาอยู่หากินดำรงชีวิตไป ถ้าไม่มีศีลมีธรรมนะเหมือนสัตว์ตัวหนึ่ง สัตว์มันเกิดมาก็ดำรงชีวิตของมันไปจนกว่ามันจะหมดอายุขัยของมัน

นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นสัตว์มนุษย์ นี่ตามโลกยกย่องกันด้วยกิเลสว่าเป็นสัตว์ประเสริฐๆ แต่ถ้ามันประเสริฐจริงนะมันต้องประเสริฐจากภายใน ประเสริฐจากภายใน เห็นไหม อยู่เฉยๆ ดูสิปัญญาเรานี่เรารู้ เรารู้สิ่งต่างๆ อยู่ แล้วเห็นคนทำผิดต่อหน้าเรา เราจะคิดอย่างไร? เรารู้ของเรานะ แต่เราพูดออกไปไม่ได้ใช่ไหม? เพราะพูดออกไปแล้วมันกระทบกระเทือนกันใช่ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำใจเราสะอาดแล้ว เราทำใจของเราขึ้นมาได้แล้ว นี่มันประเสริฐตรงนี้ไง ประเสริฐจากข้างในนะ สิ่งต่างๆ โลกมันเป็นสภาคกรรม กรรมของสัตว์โลกมันเป็นไปนะ เราดูอย่างนั้นแล้วย้อนมาดูตัว นี่ภาพภายนอก ภาพภายใน โลกนอก โลกใน สังคมนอก สังคมใน ครอบครัวนอก ครอบครัวใน ครอบครัวของเรายิ่งสำคัญใหญ่เลย เกิดตายๆ ยิ่งครอบครัวใหญ่นะ เกิดตายไม่มีวันจบไม่มีวันสิ้น ครอบครัวใหญ่มาก

เราเป็นญาติกันโดยธรรม เราเกิดตายมาด้วยกัน สิ่งที่ด้วยกัน ถ้ามันมีอะไรบาดหมาง เห็นไหม เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ให้อภัยต่อกันไป เพียงแต่เขาจะมีทิฐิมานะ ถ้าเขามีทิฐิมานะ เขายังถือโกรธถือแค้นอยู่มันก็เรื่องของเขา เพราะเราไม่สามารถไปบังคับใจของใครได้ ใจของเขาเป็นใจของเขา ใจของเรายังบังคับได้ยากขนาดนี้ ถ้าเราบังคับใจของเราได้แล้วออกฝึกฝนได้ ชำระกิเลสได้ มันจะเป็นประโยชน์ของเรา เอวัง