เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๖ ก.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราศึกษาธรรมะนะ ศึกษาธรรมนี่มันเป็นการคาดหมาย คาดหมายจินตนาการไป เห็นไหม จินตมยปัญญาว่าธรรมะจะมีความสุข วิมุตติสุข ความสุขในศาสนา แล้วก็คาดการณ์กันไปว่าความสุขนะ แล้วความสุขๆ คิดในประสาเราไง นี่ถ้าคนไม่ทุกข์ไม่ยาก มีคนทุกข์ คนยาก เห็นไหม คนเรานี่เราทำมาหากิน ถ้าเราทุกข์เรายากมา แล้วเราอาบเหงื่อต่างน้ำมา เราจะเห็นคุณค่าของเงินมาก

เงินทองนี่เราหามาด้วยน้ำพักน้ำแรงนะ แต่ดูสิถ้าเรายังไม่เคยทำงาน เราเป็นเด็ก พ่อแม่ให้ตังค์ เราขอตังค์ตลอดเวลา เราจะได้เงินตลอดเวลา การได้เงินนี่ ได้เงินมามันไม่เห็นคุณค่าของเงิน นี่เวลาชีวิตทางโลก ถ้าคนไปทำงานทำการแล้วนะจะเห็นคุณค่าของเงินมาก ยิ่งเราคนทุกข์ คนยาก เห็นไหม เวลาหามาด้วยความยากลำบาก ของสิ่งนั้นจะมีคุณค่ามาก

ในการประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าคนประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมาด้วยความลงทุนลงแรง เห็นธรรมะขึ้นมานี่ ทำไมหลวงปู่มั่นท่านเก็บหอมรอมริบนะ ครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟังบ่อยมากเลย ว่าหลวงปู่มั่นท่านเก็บหอมรอมริบมาก ทั้งๆ ที่ท่านเป็นพระอรหันต์นะ สิ่งใดๆ ที่ทำผิดจากธรรมวินัยท่านจะไม่ทำเลย ท่านจะเก็บหอมรอมริบเพราะอะไร? เพราะชีวิตท่านเป็นแบบอย่างไง

ดูสิเวลาท่านแก่ชราภาพขึ้นมา เห็นไหม ท่านเป็นวัณโรค แล้วคนแก่อายุ ๘๐ เป็นวัณโรคด้วย ฉันอาหารตอนเช้ามันฉันไม่ลง ครูบาอาจารย์ท่านพยายามจะเอาน้ำมะพร้าวอ่อนไปให้ท่านฉันก่อนเพล ท่านบอกฉันไม่ได้หรอก นี้คือความปรารถนาของครูบาอาจารย์ที่อยากให้หลวงปู่มั่นท่านมีแรงไง ถ้าได้ฉันน้ำมะพร้าว น้ำมะพร้าวนี่เพราะท่านฉันข้าวปลาอาหารไม่ได้ ท่านบอก

“ฉันไม่ได้หรอก”

“ฉันไม่ได้เพราะเหตุใด?”

“ฉันไม่ได้เพราะไอ้ตาดำๆ”

คือพระลูกศิษย์ที่มันยืนจ้องมองอยู่นั่นน่ะ ถ้าฉันเข้าไป ทิฐิมานะบอกเลย นี่มันฉันอาหาร มันขาดธุดงควัตรไง คือฉันมื้อเดียว ทีนี้ฉันมื้อเดียวนี่อาสนะเดียว ถ้าอาสนะเดียวแล้วไปฉันอีกหนหนึ่ง ฉันอีกหนหนึ่งในทิฐิมานะ.. นี่เพราะเราเป็นลูก เราได้เงินมาแบบง่ายๆ เห็นไหม ถ้าคนอื่นจะยอมรับต้องให้คนอื่นที่เหนือกว่า

ท่านบอก “ฉันไม่ได้”

“ฉันไม่ได้เพราะเหตุใด?”

“ฉันไม่ได้เพราะไอ้ตาดำๆ มันมองอยู่”

ถ้าตาดำๆ มันมองอยู่ มันทำให้ความเคารพความเชื่อถือมันเบาบางลง เห็นไหม ขนาดที่ว่าชีวิตของท่าน ท่านจะฉันหรือไม่ฉันมันไม่เป็นสิ่งที่กระเทือนถึงธรรมของท่านหรอก แต่ท่านเป็นชีวิตแบบอย่าง ท่านเก็บหอมรอมริบ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ จะเห็นคุณประโยชน์ อย่างเช่นเห็นการวิเวก เห็นความสงัด เห็นความต่างๆ

การตั้งสตินะ เราไปวัดเราก็อยากสะดวกสบาย เราไปวัดเราก็อยากจะอะลุ่มอล่วย เราคิดประสาเรา ถ้าคิดประสาเรานั่นแหละคิดประสากิเลส แต่ถ้าเราไปวัดนะเรามีสติของเรา เราฝึกฝนของเรา เพราะวัดคือข้อวัตรปฏิบัติ ข้อวัตรไง แต่ถ้าเราไปวัด เห็นไหม เรามีความคุ้นเคย เรามีความคุ้นชิน ความคุ้นเคย ความคุ้นชินมันเหมือนกับบ้าน เหมือนกับบ้านไง

บ้านนี่เวลาแขกมาบ้าน มรรยาทสังคมเราต้อนรับขับสู้เขา แต่ถ้าไปวัดนะเราวัดใจของเรา วัดใจของเรามันต้องมีสติ มันตื่นตัวตลอดเวลา คนตื่นตัวนี่จะไม่ทำอะไรผิดพลาดเลย แต่ถ้าคนคุ้นชิน คนคุ้นเคยกัน ความตื่นตัวจะน้อยลง เพราะอะไร? เพราะมันวางใจ ความวางใจอันนั้นกิเลสมันจะออกช่องนั้นแหละ ถ้าออกช่องนั้นไป แล้วยิ่งคุ้นชินไป เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านถึงบอก “นั่งที่ไหนต้องให้ลุกเร็ว” ลุกเร็วเพื่ออะไร? เพื่อไม่ให้รากมันงอก มันจะมีสติสัมปชัญญะตลอดไป

นี่มันจะเห็นคุณค่านะ เพราะเราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนานี่เราอยากได้ เราอยากได้ แต่เวลาเราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เราเหม่อลอยของเรา เห็นไหม เราเหม่อลอยของเรา เราคิดเหม่อลอยของเรา เราไม่ตั้งสติของเรา เราฝึกสติทำไม? นี่สติ มหาสติ เราฝึกทำไม?

การฝึกสติ เห็นไหม นี่โคปล่อยกับโคผูก ถ้าโคผูกมันฝึกสติมาทั้ง ๒๔ ชั่วโมง เวลามันนั่งสมาธิภาวนามันก็ง่ายขึ้น แต่เวลาเราทำขึ้นมามันเหม่อมันลอยเพราะมันเป็นธรรมชาติของกิเลส นี่กิเลสเป็นอนุสัย มันนอนเนื่องมากับใจ ความคิด ความคุ้นชินของใจมันนอนจมกับความรู้สึกของเรา เห็นไหม แล้วเวลาคาดการณ์นี่ทำไมต้องทำอย่างนั้น? ทำไมจะต้องออกวิเวก? ทำไมต้องอยู่คนเดียว? ทำไมคลุกคลีไม่ได้?

ความคลุกคลี เห็นไหม ดูสิคลุกคลีมันเป็นความนอนใจ ถ้าความนอนใจขึ้นมาเสร็จมันทันทีเลย กิเลสมันเสร็จแล้วเพราะอะไร? เพราะพอมันคุ้นชินขึ้นไป นี่เวลาเขื่อนมันพังมันพังเพราะตามด รอยร้าว รอยแตก ทำให้เขื่อนน้ำมันเกาะ มันกัด มันเซาะ มันจะพังไปเลย

นี่ก็เหมือนกัน พอมันคุ้นชินกับกิเลสนะ พอกิเลสมันเกาะใจนะ เดี๋ยวไม่มีอะไรเป็นความสำคัญเลย ไม่มีอะไรเป็นความจำเป็นเลย มันจะนอนใจกับมัน เห็นไหม นี่พอกิเลสมันเกาะใจแล้วมันก็ไปแพ้อำนาจของกิเลส แต่ถ้าเราสลับตลอดเวลา ความสลับตลอดเวลา มันเหมือนการทำงานนี่มันเหนื่อยยากไหม? มันก็เป็นความเหนื่อยยาก แต่เหนื่อยยากเพื่อใคร?

ถ้าเหนื่อยยากเพื่อเรานะ เราเกิดมา เราทำหน้าที่การงานในชีวิตของเรา มันทำขึ้นมานี่มันยากไหม? มันยากทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าคนเคยผ่านงานยากมา คนมีความวิริยะอุตสาหะ เห็นไหม ความยากนั้นเป็นความสะดวกสบายเลย มันทำจนเป็นนิสัย การทำจนเป็นนิสัยนะ เราฝึกจนเป็นนิสัยเราต้องฝึกเรา ถ้าเราฝึกเรามันจะเห็นคุณค่า คนทุกข์คนยากนะ เวลาได้เงินได้ทองมานี่มันจะเก็บถนอมรักษาไว้ใช้ต่อไป สิ่งที่หามานี่มันหามาด้วยความยากลำบาก

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะที่เราจะหามามันยากลำบาก นี้ความยากลำบากเราต้องการสิ่งใดล่ะ? แต่ความเคยชินของเรา นี่ว่าเป็นความสุข ความสุขคือความที่ไม่มีใครติฉินนินทา ต้องมีคนคอยพินอบพิเทา คอยเอาใจ การเอาใจ เห็นไหม มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา ความสรรเสริญนินทา

ความสรรเสริญมันเป็นเรื่องของกิเลสนะ กิเลสมันจองหองพองขน ถ้ามันได้รับคำชมเชยนี่หางมันจรดฟ้าเลย แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเรานะท่านจะคอยเตือนตลอด ชี้ขุมทรัพย์ของเราตลอดเวลา การชี้ขุมทรัพย์เพราะอะไร? เพราะคนที่เห็นจุดบกพร่องของเรานี่สำคัญมากเลย เพราะเราไม่เห็นจุดบกพร่องของเรานะ

นี่ในการมิจฉาทิฏฐิ ถ้ามีมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด สิ่งที่เป็นความเห็นผิดมันจะเห็นผิดตลอดไป แล้วคนจะคอยเตือนให้เป็นสัมมาทิฏฐิมันจะเตือนได้อย่างไร? ความเตือน เห็นไหม ยิ่งเตือนเข้าไป มิจฉาทิฏฐิมันยิ่งยึดมั่นเพราะอะไร? เพราะเรารู้ เราเห็น เราเข้าใจ แล้วท่านจะว่าเราผิดได้อย่างไร? เวลาเรานั่งไปเราเห็นนิมิต เรามีความรู้สึกต่างๆ เราว่าเราเห็น ทั้งๆ ที่รู้ที่เห็นนะ

หลวงปู่ขาวท่านเล่าให้ฟังว่าท่านจะไปกราบหลวงปู่มั่น ท่านคิดในใจเลย “นี่ถ้าอาจารย์ของเรามีความรู้ความเห็น อาจารย์ของเราต้องรู้วาระจิตของเรา ต้องรู้ว่าเราคิดอะไรอยู่” ต้องรู้ เห็นไหม เวลาหลวงปู่ขาวท่านไปกราบหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นท่านเทศน์เลย

“นี่จิตของเราเอง เราควรจะรับรู้ของเราเอง สุขทุกข์เราก็รับรู้ของเราเอง ทำไมเราต้องให้คนอื่นมารับรู้กับเรา ทำไมต้องให้คนอื่นมาบอก” หลวงปู่ขาวท่านสะดุ้งเลย เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ความรู้ความเห็นของเรา เราว่าเรารู้เราเห็นขึ้นมา เรารู้ เราเห็น แล้วครูบาอาจารย์ท่านรู้ของเรา แล้วจะบอกมันเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันเป็นความเห็นผิด เวลานิมิตคืออะไร? นิมิตคือความเห็นผิด ความสัมผัสนี่มันผิดหมดเพราะอะไร? เพราะมรรคหยาบ มรรคละเอียด ความเห็นของเราแล้วมันยึด กิเลสมันยึด กิเลสมันเกาะไปตลอดเวลา

เหมือนเราหาเงินหาทอง นี่สิ่งที่เราควรจะได้มา เราควรจะประสบสำเร็จ แต่มันหลุดไม้หลุดมือไปเพราะเราบริหารจัดการไม่ดี แต่เราเข้าใจผิดว่ามันเป็นเพราะเหตุใด แต่ผู้ที่ผ่านประสบการณ์มาเขาเห็นหมดนะ เขาเข้าใจหมดเลยว่าควรจะทำอย่างไร? ควรจะรอจังหวะเวลาอย่างไร? มันสมควรอย่างไรเหตุการณ์เช่นนั้นมันถึงประสบความสำเร็จ

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาเราไปเห็นในใจของเราขึ้นมานี่ เห็นนิมิต เห็นความรู้สึกต่างๆ เราว่ามันเป็นความจริง มันเป็นความจริง.. มันเป็นความจริง ดูสินักเรียนอนุบาล เห็นไหม มันต้องเรียนอนุบาลมา แล้วมันต้องเรียนต่อไป ถ้าเป็นนักเรียนอนุบาลมานี่เราอ่านออกเขียนได้ เราคิดว่าเรารู้แล้ว มันรู้แล้วได้อย่างไร? อ่านออกเขียนได้ ผสมคำได้หรือยัง? ผสมคำเสร็จแล้วเราจะเขียนเป็นเรียงความขึ้นมาได้ไหม? แล้วสิ่งที่เขียนเรียงความขึ้นมา นี่การเรียงความมันสละสลวยไหม?

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราไปรู้ไปเห็น รู้เห็นอย่างนี้มันยังมีสิ่งที่ดีกว่านี้อีกมหาศาลเลย แต่ถ้าเราว่าสิ่งนี้เป็นความจริง เราไปเกาะยึดมั่นสิ่งนี้ เห็นไหม แล้วเราทำอย่างไร? เราจะดำเนินการต่อไปได้อย่างไร?

นี่มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นที่มันถูกต้อง มันเริ่มต้นมันเป็นสัมมาทิฏฐิ แต่ถ้าเราไปยึดมั่นมัน มันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิเราก็ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ เราก็ว่าเป็นความรู้ของเรา เป็นความเห็นของเรา เห็นไหม แล้วนี่มันจะมีอุบายวิธีการ ครูบาอาจารย์ท่านจะมีอุบายวิธีการ รอกาล รอเวลา รอความฉุกคิดของเรา เทศนาว่าการตีวัวกระทบคราดให้กระเทือนใจ กระเทือนใจคือกระเทือนกิเลสไง

เวลาเราว่ากิเลส เราอยากจะต่อสู้กับกิเลส ทุกคนอยากเห็นกิเลส ทุกคนอยากฆ่ากิเลสนะ แต่เวลากิเลสเป็นเรานะ ความเป็นไปเป็นเราหมดเลย ความคุ้นชินกับความรู้สึกของเราเป็นเราหมดเลย แล้วกิเลสมันอยู่ไหนล่ะ? ก็กิเลสมันคือเราไง กิเลสมันก็ขี่หัวเราอยู่นี่ไง แต่ถ้าครูบาอาจารย์นี่กิเลสมันไม่ใช่เรา แล้วกิเลสไม่ใช่เรามันอยู่ที่ไหนล่ะ? มันอยู่ที่ไหน?

มันอยู่ที่ความอาศัย มันอาศัยความคิดเราออกมา มันอาศัยความยึดมั่นถือมั่นของเราออกไปหาเหยื่อ นี่หาเหยื่อในอะไร? ในรูป รส กลิ่น เสียง จากภายนอก เพราะรูป รส กลิ่น เสียง จากภายนอก ทุกอย่างสรรพสิ่งเป็นของเรา ทุกอย่างมันยึดมั่นถือมั่นหมดเลย ทั้งๆ ที่เราหลงตัวเราเองก่อน เราไปยึดมั่นจากภายนอก เห็นไหม

มันอาศัยความรู้สึก อาศัยความคิด อาศัยกายนี่แหละออกไปหาเหยื่อข้างนอก หาเหยื่อข้างนอกเพราะอะไร? เพราะมันเผาลนตัวเองก่อน แล้วพอไปหาเหยื่อมาก็เหยียบย่ำ ๒ ชั้น ๓ ชั้น แล้วถ้าเราจะแก้ไขเราต้องแก้ไขเราก่อน เราตั้งสติของเราก่อน เราจะไม่คุ้นชินกับกิเลสที่มันจะเกาะใจก่อน ถ้ามันไม่คุ้นชินขึ้นมา เห็นไหม เราตั้งสติของเราขึ้นมา มันก็จะสงบขึ้นมา มันจะตั้งฐานขึ้นมา ตั้งฐานขึ้นมา เรามีสติสัมปชัญญะขึ้นมา

นี่การทำอย่างนี้มันเป็นความทำยากทั้งนั้นแหละ เวลาทำนี่เป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องลำบาก เป็นเรื่องยากลำบาก ลำบากเพราะอะไรล่ะ? ลำบากเพราะมันเป็นงานไง นี่งานข้างนอกอาบเหงื่อต่างน้ำนะ งานตั้งสติ เห็นไหม

ดูสิเวลานอนหลับ เราปล่อยเคลิ้มไปมันก็หลับไป ทำอะไรถ้าปล่อยให้มันตามกิเลสไป มันไม่มีสติสัมปชัญญะ มันเหม่อลอยไป หยิบฉวยอะไรมันก็ขาดตกบกพร่องไป สุขสบาย ไม่มีใครคอยเตือนสติเรา ไม่มีใครคอยเตือนคอยว่าเรา พอตั้งสติขึ้นมา พอกิเลสมันโดนขัดใจ นี่มันไม่พอใจแล้ว นู่นก็ลำบาก นี่ก็ไม่พอใจ นี่ไงมันลำบากก็เพราะกิเลสมันลำบากไง แล้วเราก็ว่ากิเลสเป็นเรา เราก็ลำบากไปด้วยไง

เราไม่ลำบาก เราจะเป็นคนดี เราจะมีสัมมาทิฏฐิ เราจะแก้ไขมัน การฝืนใจตัวเองนี่แหละ การฝืนใจสิ่งที่ขัดแย้งกับมัน ขัดแย้งกับความคิดที่มันคอยยึดมั่น มันคอยเกาะคอยยึด กิเลสมันอาศัยความคิด กายกับจิตนี่ยึดเกาะเรา มันเป็นอนุสัยนอนเนื่องมากับใจ แล้วเราไม่สลัด เราไม่ตั้งสติ เราไม่ตื่นตัว พอจะทำตื่นตัวเข้ามา อ้าว.. ทำไมต้องตื่นตัวล่ะ? อ้าว.. ก็อยู่ด้วยกันมันอบอุ่นไง ไปอยู่คนเดียวมันไม่อบอุ่น

นี่ความคิดของโลก เห็นไหม ความอบอุ่นนั่นแหละมันอุ่นกับกิเลส แต่ถ้าความตื่นตัวขึ้นมานี่ เราตื่นตัว เรามีสติตลอดเวลามันยิ่งอบอุ่นเข้าไปใหญ่เลย มันเห็นกิเลสมันเกาะใจเรา กิเลสมันเกาะคลุมใจเรา แล้วเอาใจเราเป็นฐานเบียดเบียนตน เอาใจเราเป็นฐานไง ฐานของความคิดไง แล้วพอคิดขึ้นมา คิดถึงความเห็นแก่ตัว คิดแล้วก็เบียดเบียนไปข้างนอก ในรูป รส กลิ่น เสียง ในสิ่งสัมผัสต่างๆ ที่มันพอใจ เห็นไหม

นี่มันออกไปข้างนอก พอออกไปข้างนอกมันเป็นความคิดข้างนอกแล้ว เป็นเรื่องสังคม เรื่องการกระทบกระเทือนกันจากภายนอก นี่มันไม่รักษาใจของตัวเองก่อน ไม่หาจิตใจของตัวเองก่อน พอจะรักษาใจของตัวเองก่อนก็บอกว่าแยกออกมาเป็นความวิเวก ทำไมต้องวิเวก? ไม่เห็นคุณค่าของมัน แต่ถ้าคนเห็นคุณค่าของมัน ทำไมครูบาอาจารย์ท่านบอกเวลาจิตท่านหมุนของท่าน ท่านอยู่กับใครไม่ได้เพราะอะไร? เพราะมันเสียเวลา

มันเสียเวลา มันต้องรับผิดชอบกัน มี ๒ คน ๓ คนขึ้นไปมันต้องรับผิดชอบกัน ธรรมดาเราอยู่ด้วยกันใช่ไหม? มันก็ต้องทำความพร้อมเพรียง มันรับผิดชอบกัน แต่ถ้าเราอยู่คนเดียวของเรา กาลเวลานี่ เวลามันกำลังต่อสู้กับกิเลสมันได้ตลอดเวลา แล้วถึงเวลาแล้วเราจะทำข้อวัตร เราจะทำของเรา นี่เราอยู่ของเราคนเดียว เราจำแนกเวลาของเราถูกต้อง เราทำของเราถูกต้อง

นี่การวิเวก การอยู่คนเดียวสำคัญมาก แต่ใหม่ๆ มันยังอยู่ไม่ได้ การที่เราศึกษามา เห็นไหม ต้องขอนิสัย ขอนิสัยครูบาอาจารย์ ฝึกข้อวัตร ฝึกต่างๆ ฝึกให้รู้ก่อน เราจะออกป่าออกเขาเราต้องมีอาวุธ อาวุธคือธรรมและวินัย อาวุธของเราคือสติสัมปชัญญะ อาวุธของเราคือข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าเราทำความถูกต้อง นี่เทวดาฟ้าดิน ภูต ผี เขาคุ้มครองเรา ศีลบริสุทธิ์เข้าป่าเข้าเขา เวลามีเหตุการณ์ต่างๆ มันจะผ่านพ้นไปได้ถ้าศีลมันบริสุทธิ์นะ

เราศีลดีซะอย่างหนึ่ง มีศีลมีธรรมของเรา เรายึดมั่น เราเชื่อมั่นในใจของเรา ทุกอย่างทำอะไรเราไม่ได้หรอก สัตว์ก็ทำเราไม่ได้ โดยธรรมชาติของมัน มันไม่ทำร้ายคนหรอก แต่เพราะเรามีเวรมีกรรมต่อกัน มันมีเวรมีกรรมต่อกันถึงทำเรา

นี่สิ่งที่เราไม่มีอะไรปกป้องป้องกันตัวเราเลย เรามีศีลมีธรรมป้องกันตัว มีศีลของเรา ป้องกันของเรา กรรมเก่ากรรมใหม่วางไว้เป็นเรื่องของกรรม แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเราไป เราไม่มีอะไรเป็นอาวุธนะ พอเรามีศีลมีธรรมเป็นอาวุธ เราก็รักษาศีลธรรมของเรา เราจะกำหนดพุทโธของเรา เห็นไหม

นี่สิ่งที่กำหนดพุทโธของเรามันไม่มีที่พึ่ง มันพึ่งได้แต่พุทโธ พึ่งได้แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในการเข้าป่าเข้าเขาไป เพราะเราเผชิญกับกิเลส เผชิญกับยักษ์ ยักษ์คืออวิชชา ยักษ์มารมันคืออวิชชาอยู่ในหัวใจเรา อยู่คลุกเคล้ากัน มันนอนใจ มันบังเงา มันอยู่ในใจของเรา เรามีความอบอุ่น เราไม่เคยเห็นมันเลย

แต่เวลาเราเข้าป่าเข้าเขา เราไปอยู่ของเราคนเดียว วิเวกของเราคนเดียวนี่เราต้องเผชิญ ไม่ใช่เผชิญกับสิ่งสภาวะแวดล้อมภายนอกเลย เผชิญกับความคิดตัวเองนี่แหละ เผชิญกับกิเลสตัวเองนี่แหละ เผชิญกับพญามารของตัวนี่แหละ แต่กิเลสมันบอกไม่ให้เผชิญ เพราะเผชิญแล้วมันยอกใจ มันแสลงใจ มันเสียวยอกหัวใจ เห็นไหม มันถึงต้องคลุกเคล้ากัน เออ.. การปฏิบัติมันก็ต้องมีหมู่มีคณะ มันต้องมีความสมดุล มันก็ดีแล้วทำไมต้องออกวิเวก?

ไม่เห็นผลของมัน ไม่เห็นการเผชิญกับกิเลส ไม่เห็นถึงการเผชิญกับอวิชชาในหัวใจ พอมันเผชิญเข้า ถ้าเราเผชิญกับมัน เห็นไหม เพราะอะไร? เพราะมันกลัว.. มันกลัว มันทุกข์ มันยากไปหมดเลย แต่ถ้าเราใช้สติสัมปชัญญะพิจารณาเข้ามานะ รักษาตัวมันเองได้ นี่มันจะไม่เบียดเบียนตน เพราะอวิชชากิเลสมันเบียดเบียนตน นี่อวิชชามารมันอยู่ในหัวใจของเรา ภวาสวะ ภพ ภพคือจิต แล้วมันอาศัยสิ่งนี้เป็นเรือนอยู่ของมัน แล้วมันครอบงำมาตลอดเวลา

เวลาเราศึกษาธรรมขึ้นมา เราศึกษามาจากภายนอก เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาสติ สมาธิก็หยิบตกๆ หล่นๆ หยิบฉวยกันก็หลุดไม้หลุดมือ ทำก็ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้นแหละ แต่คุยอวดกันนะ ฉันเป็นนักปฏิบัตินะ ฉันมีศักยภาพนะ แต่ไม่มีอะไรในหัวใจเลย ถ้าไม่มีอะไรในหัวใจมันจะเห็นคุณค่า มันจะไม่พูดอย่างนี้เลยว่าทำไมจะต้องออกวิเวก ทำไมจะต้องอยู่คนเดียว

เพราะการอยู่คนเดียวนี่ มันเห็นว่าการอยู่คนเดียวได้ การเผชิญกับกิเลสได้ การเผชิญกับอวิชชาได้ การเผชิญกับมันนะ เพราะมันจะไม่มีอะไรสมความพอใจมันเลย จะขาดตกบกพร่องไปหมด นี่ปัจจัยเครื่องอาศัยขาดไปหมดเลย เราอยู่คนเดียวจะพึ่งพาอาศัยใคร? เราอยู่คนเดียว ภูต ผี ปิศาจมาเราจะพึ่งใคร? เวลาเสือมา สัตว์ร้ายมาจะกัดนี่ มันจะกัดใคร? กลางคืนมา งูกัดขึ้นมา เราจะไปโรงพยาบาลที่ไหน?

ทั้งๆ ที่ยังไม่มีอะไรเลย มันเหยียบย่ำตัวมันเองก่อน นี่ยักษ์ตัวนี้มันหลอกก่อน มันหลอกเรานะ เดี๋ยวจะงูกัดล่ะ เดี๋ยวจะเป็นพิษเป็นภัยขึ้นมาแล้วเราจะไปหาใคร ใครจะมาเอาเราไปส่งโรงพยาบาล ให้มันเป็นขึ้นมาจริงๆ เถอะ มันจะมีคนเอาไปส่งโรงพยาบาล

นี่มันไม่เป็น มันไม่เป็นแต่มันคิด เห็นไหม นี่มันเบียดเบียนตนจนตนอยู่วิเวกไม่ได้ จนเราอยู่คนเดียวไม่ได้ มันจะต้องเหยียบย่ำมาให้ไปเป็นปลาตาย ปลาตายมันไหลไปตามน้ำ ปลาตายมันลอยคอมัน แล้วน้ำก็จะพัดลงไปในทะเล แต่ถ้าปลาเป็นมันจะว่ายทวนน้ำนะ เราจะเป็นปลาเป็น เราจะไม่เป็นปลาตาย เราจะมีสติของเรา เราจะว่ายทวนน้ำขึ้นไป เป็นปลาตัวเดียวขึ้นไปบนตาน้ำ ขึ้นไปถึงแหล่งน้ำของเรา

นี่ก็เหมือนกัน คุณค่าของการประพฤติปฏิบัติ คุณค่าของคุณธรรม นี่คนทุกข์คนยาก ไม่เห็นคุณค่าของเงินทองที่เราหามา ในการประพฤติปฏิบัติ จะเห็นคุณค่าของการประพฤติปฏิบัติของเรานะ ถ้าเห็นคุณค่าการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม มันรู้สึกเห็นเล็กๆ น้อยๆ ของที่ว่าเป็นของเล็กน้อยนี่เป็นของสำคัญทั้งหมด เพราะอะไร? เพราะมันเก็บเล็กผสมน้อย

คนประหยัด คนมัธยัสถ์ คนนั้นจะตั้งตัวได้ คนที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย คนที่ไม่เห็นของใช้ของสอยเราเก็บรักษาให้เป็นประโยชน์ คนๆ นั้นจะตั้งตัวไม่ได้ คนใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย คนที่ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบ คนนั้นจะตั้งตัวขึ้นมาได้อย่างไร?

นี่ก็เหมือนกัน ในผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ คนรู้จักสติ คนรู้จักปัญญา รู้จักเก็บหอมรอมริบ รู้จักถนอมรักษา ดูสิกระชังก้นรั่ว ใจมันรั่ว แล้วเอาอะไรไปปิดมัน เอาสติ เอาปัญญาไปปิดมัน ถ้าปิดมันแล้ว ปิดความรั่วของมัน เห็นไหม มันจะตักน้ำ มันจะใช้ประโยชน์ของมันได้ ใจไม่รั่ว ใจคนไม่เสีย ใจคนมันดีจะเป็นประโยชน์กับเรา

ถ้าใจคนมันดี อยู่ที่ไหนมันก็ดี แล้วมันเห็นคุณงามความดี เห็นประโยชน์ของการวิเวก เห็นประโยชน์กับศีลกับธรรม.. เห็นประโยชน์นะ เห็นประโยชน์จากข้างใน ประโยชน์จากข้างนอกก็เห็น ประโยชน์จากข้างในก็เห็น แต่ถ้ามันบอดนะ มันบอดจากข้างใน มันเหยียบย่ำตัวมันเอง เห็นประโยชน์จากภายนอก

นี่โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ ให้เขาเคารพนับถือ เคารพนับถือก็คนเหมือนกัน ทำไมเขาต้องมาเคารพนับถือเรา? เขาเคารพนับถือเรา เขาเคารพคุณธรรมของเราต่างหาก ที่เคารพนับถือกัน เคารพคุณธรรมในหัวใจ คนเหมือนกัน ทำไมต้องมาเคารพกัน แต่ถ้ามันคนเหมือนกัน แต่ท่านสูงส่งกว่าเรา

ทำไมเราต้องกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาโดยชอบ แล้วพ้นจากทุกข์ไปโดยชอบ แล้วท่านมีวิชา มีความรู้ มีเมตตาธรรมที่จะสั่งสอนเรา วางธรรมวินัยไว้จนมีคนเคารพเชื่อถือศรัทธาเป็นศาสนา เป็นที่พึ่ง ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของพวกเรา เราถึงเคารพบูชา แล้วถ้าจิตใจของครูบาอาจารย์ที่ท่านมีคุณธรรม เราเคารพกันตรงนั้น ถ้าเคารพตรงนั้นเราถึงต้องทำอย่างนั้น ถ้าเราอยากให้ใจเรามีที่พักอาศัย เราต้องสร้างคุณธรรมขึ้นมาในใจของเรา

คุณธรรม! คุณประโยชน์ ไม่ใช่โทษธรรม ธรรมที่เป็นโทษไง ธรรมที่เป็นโทษนี่เหยียบย่ำกัน เอารัดเอาเปรียบกันมันเป็นโทษทั้งนั้นเลย พอเป็นโทษขึ้นมาเราก็เหยียบย่ำกัน นี่ยักษ์ตัวใหญ่มันเหยียบย่ำเราก่อน เห็นไหม ถ้าคนเคยทุกข์เคยยาก เคยประพฤติปฏิบัติมามันจะเห็นประโยชน์ เห็นประโยชน์ เห็นสิ่งที่มีคุณค่า

ดูสิของที่เป็นโลกเขา เห็นไหม แร่ธาตุที่เป็นทองคำมันอยู่ในดินเขาไปขุดมันขึ้นมา นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็น นี่เรามีวิชาเครื่องจักสาน จักร้อย จากไม้ไผ่เรานำมาเหลา เรานำมาทำจักสานออกมาเป็นเงินเป็นทองได้ทั้งนั้นแหละ

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ไม่มีอะไรเลย เราใช้คุณธรรมของเรา มันก็เป็นประโยชน์กับเราขึ้นมา เป็นประโยชน์กับหัวใจขึ้นมา มันสร้างสรรค์ได้ มันทำได้ด้วยสติ ด้วยสัมปชัญญะ ด้วยการถนอมรักษา รักษาหัวใจของเรา จะเป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม

นี่คนมีคุณธรรม เห็นประโยชน์หมด คนไม่มีคุณธรรม มีแต่กิเลส เห็นโทษหมด นู่นก็เป็นโทษ นั่นก็ไม่ดี นั่นก็ไม่ชอบ ไม่ชอบสิ่งใดๆ เลย แต่ถ้าเป็นคุณธรรมมันเรื่องของเขา มันเรื่องของสัตว์โลก ป่าเขาลำเนาไพรมันเป็นป่าเขาลำเนาไพร คนเอามันมาใช้ประโยชน์ สิ่งที่เป็นพืชสมุนไพรเราเอามาใช้ประโยชน์ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์มันก็เป็นประโยชน์กับป่านั้น มันเรื่องของป่า แล้วเรื่องของเราเราใช้ประโยชน์ไหม? ใจของเราเป็นไหม?

นี่มันเห็นคุณของเรา มันไม่ติเตียน ไม่เห็นแต่ความเป็นโทษ เห็นความเป็นคุณ เห็นไหม ถ้าใจเป็นคุณ ทุกอย่างเป็นคุณหมด ถ้าใจเป็นโทษมันจะเป็นโทษไปทั้งหมดเลยนะ นี่ถึงต้องรักษาใจ รักษาใจมาเป็นธรรมโอสถ เพื่อใจเราเป็นคนดี ดีจากเรา จะดีเรื่อยๆ ไป ดีเป็นประโยชน์กับโลก เอวัง