เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๔ ก.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราไปวัด เราไปวัดประสาเรา ความคิดของเรา เราว่าไปวัดเราทำความดีแล้วไง คนว่าทำความดีแล้ว ไปวัดทำไมพระยังเอ็ดอีกล่ะ? เวลาเราสวดมนต์ เห็นไหม ความดีที่ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่ แล้วมันดีของใคร?

นี่เรามาวัดกัน เรามาประพฤติปฏิบัติมันสำคัญอยู่อันเดียวเท่านั้นแหละ “เป็นหรือไม่เป็น” ภาวนาเป็นหรือไม่เป็น ถ้าภาวนาไม่เป็น ภาวนาไป นี่ภาษาพระว่าภาวนาไม่เป็น วิปัสสนาไม่เป็น ภาวนาเป็นมันมีการแก้ไขแล้ว เพราะคำว่าภาวนาเป็น

ภาวนาเป็นสนุกมาก เหมือนคนทำงานเป็น ทำงานเป็นนะมันจะได้ผลงานของมัน มันจะคึกคัก มันจะทำอะไรแล้วมันได้ผลงานมันตลอดไป ภาวนาไม่เป็น เห็นไหม เห็นเขาทำก็ทำกับเขา เหมือนพระนี่ เถรส่องบาตรไง ครูบาอาจารย์ท่านส่องบาตร ท่านดูบาตรว่ามีรอยรั่วไหม? อะไรไหม? ไอ้พระเห็นเขาส่องก็ส่องบ้าง ทำอะไรนะเห็นเขาส่องก็ส่องไปอย่างนั้น นี่ “เป็นหรือไม่เป็น”

ถ้าเป็นนะการกระทำเรานี่จะดีมากเลย แต่ก่อนจะเป็นมันก็ต้องไม่เป็นมาก่อนทั้งนั้นแหละ ใครมันจะเป็นมาจากท้องพ่อท้องแม่ เว้นไว้แต่ เห็นไหม เขาถามบ่อย เพราะครูบาอาจารย์บางองค์เป็นพระโสดาบันมาแล้ว เป็นพระสกิทาคามีมาแล้วมาเกิดใหม่ใช่ไหม? ไอ้อย่างนั้นน่ะ ถ้าอย่างนี้เราคิดว่ามันเป็นประเภทขิปปาภิญญา คือพวกตรัสรู้ง่าย มีพื้นฐานเดิมมาอยู่

แต่โสดาบันมันอยู่ในหัวใจ โสดาบันมันต้องเป็นโสดาบันจริงๆ แล้วเพียงแต่เวลาเกิดแต่ละชาติขึ้นมานี่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นโสดาบันหรือไม่เป็นโสดาบัน.. เป็น! เรายืนยันว่าเป็นโสดาบันเพราะมันเป็นคุณสมบัติของจิต จิตเวลามันเกิดขึ้นมา คุณสมบัติของจิต นี่สังเกตได้ไหมเด็กบางคนมันจะไม่ยอมทำความชั่วเลย ตกปลาไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ มันจะคัดค้านเลย มันจะไม่ยอมทำตามนั้นเลย เพราะอะไร? เพราะมันได้ฝึกฝนมา จิตมันได้ประพฤติปฏิบัติมาดี

ฉะนั้น เวลาเกิดมานี่ สิ่งที่ว่าเราเกิดมา เรารู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นโสดาบันหรือไม่เป็นโสดาบัน มันเป็นโดยจิตเลยล่ะ มันฝืนความรู้สึกเลย มันฝืนการกระทำความผิดเลย มันเป็นไปไม่ได้เพราะอะไร? มันเป็นสีลัพพตปรามาส แต่เราจะบอกว่าเราจะรู้นั่น รู้นี่ ไม่หรอก แต่มันต้องภาวนา เพราะอะไร? เพราะว่ามันบังคับไว้แล้วไง มันเป็นภาคบังคับเลย

บังคับหมายถึงว่าพระโสดาบันเกิดอีก ๗ ชาติใช่ไหม? พอ ๗ ชาติ ชาติที่จะสิ้นสุดนี่เหมือนกรรมบันดาล กรรมบันดาลคือมันต้องให้เป็นไปตามนั้น คือว่าชีวิตเขาต้องเป็นอย่างนี้ ต้องบังคับให้ชีวิตเขาต้องเข้าไปในรูปแบบนี้เลย แล้วถึงที่สุดของเขา เขาต้องพ้นทุกข์ไป

แต่ของเรา เห็นไหม ที่ว่าไม่เป็น มันไม่มีอะไรบังคับ มันอยู่ที่เรา อยู่ที่เราบังคับ เพียงแต่นี่ดีนะเรามีศรัทธา ถ้าเรามีศรัทธาความเชื่อ เราเชื่อของเราแล้ว เราพยายามประพฤติปฏิบัติของเรา ผิดก็ผิดไป ถูกก็ถูกไปไม่ต้องกังวล

อย่างไอ้.....นี่กังวลมาก กังวลแต่จะผิดมากเกินไป ยิ่งกังวลไป แล้วยิ่งกังวลไม่กังวลเปล่านะ มันไปศึกษาธรรมะมา เห็นไหม พอศึกษาธรรมะมานี่ทุกอย่างกลัวจะลงสมถะ จิตมันจะเป็นไปก็ไปกลัวอีก กลัวแล้วมันรั้งไว้ เพราะพอจิตมันจะเปลี่ยนแปลงปั๊บ พอเปลี่ยนแปลงนี่มันตกใจแล้ว ตกใจว่านี่ทำไมมันเป็นอย่างนั้น? ทำไมเป็นอย่างนั้น?

มันไปตกใจ พอตกใจมันก็ดึงออก ตกใจก็ดึงออก เพราะอะไร? เพราะตัวเองไปมีข้อมูลฝังหัวไว้ นี่โดนล้างสมองเลย โดนล้างสมองด้วยกิเลส กิเลสมันล้างสมองตัวเอง เวลาปฏิบัติต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น มันไม่เป็นอย่างที่เราคิดหรอก ถ้าเป็นอย่างที่เราคิดนะ มันเป็นธรรมะด้นเดา

นี่ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.. มันเหมือนกับเราทำอาหาร เหมือนหมักของดองนี่มันจะเป็นหรือไม่เป็นไง คือว่าเราดองผลไม้สิ ดองบางทีมันก็เน่าได้ถ้าเกลือไม่ดี ถ้าเกินไปมันก็เค็มเกินไปอีก ถ้ามันพอดีของมัน ถ้าคนชำนาญนี่ทำเป็น ทำเป็นเราใส่แค่นั้น แค่นี้ ออกมาพอดีๆ เลย

นี่ก็เหมือนกัน มันเป็นปัจจุบันธรรม เราประพฤติปฏิบัติไป มันจะเป็นสมาธิ หรือมันไม่เป็นสมาธิมันเรื่องของเขา แต่! แต่เวลาเข้าไปประสบมันก็ตื่นเต้นทุกคนแหละ เวลาเข้าไป พอจิตมันจะเปลี่ยนแปลง โอ๊ะ! โอ๊ะ! โอ๊ะ! พอโอ๊ะขึ้นมา นี่โอ๊ะ! โอ๊ะ! โอ๊ะ! สติมันฟื้นไง พอโอ๊ะมันตื่นเต้น พอตื่นเต้นมันก็ดึงออกๆ

ไอ้ดึงออกนี่ธรรมชาติของจิตมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แล้วตัวเองยังไปศึกษาข้อมูลไว้อีก กลัวไปหมดเลย กลัวเป็นอย่างนู้น กลัวเป็นอย่างนี้ นี่เพราะไม่เป็น พอไม่เป็นก็เกร็ง แล้วบอกมันเกร็ง พอเกร็งแล้วยิ่งไม่ได้ใหญ่เลย ถ้าเกร็งมันไปไม่ได้แล้วทำอย่างไร? อย่างนี้ไม่เกร็งไปหรือ? เราบอกไม่ เห็นไหม หลวงตาบอกเลย

“ขณะที่ทำเริ่มต้นต้องมุมานะ พอมุมานะนี่มันทำให้เป็นขึ้นมา”

ความมุมานะ ความเพียรชอบ สติชอบ ระลึกชอบ มันต้องมีความจงใจ พอความจงใจทำให้จริงจัง แต่มันผ่านไปแล้ว เพราะความจริงอันนั้น ขณะที่จริงจังมันต้องถูก ถ้าไม่มีความจริงจังอันนั้น มันก็จะผ่านอันนั้นไปไม่ได้ แต่ขณะที่ไปติดความจริงจังอันนั้น เขาว่าอันนั้นก็เป็นทิฐิอันหนึ่ง

ทิฐิอันหนึ่งถูกต้อง แต่มันต้องอาศัยทิฐิ ทิฐิความเห็นชอบ สัมมาทิฏฐิ ถ้าไม่มีสัมมาทิฏฐิเลย คนเรานี่อ่อนแอหมดแหละ พอเริ่มต้นขึ้นมาว่านู่นก็เป็นกิเลส นี่ก็เป็นกิเลส อันนี้ก็ผิดไปหมดเลย แล้วจุดยืนไง สัมมาทิฏฐิคือจุดยืนที่ถูกต้อง มิจฉาทิฏฐิคือจุดยืนที่ผิด.. ถ้ามันมีจุดยืนที่ถูกต้องขึ้นมา เราทำจุดยืนที่ถูกต้องแล้วเราเอาประสบการณ์ของเรา

จุดยืนที่ถูกต้อง ถูกต้องของใคร? ถ้าถูกต้องของกิเลสมันก็ว่าถูกต้องของกิเลส คำว่ากิเลสคืออวิชชา คือความไม่รู้ คือความไม่เคยเห็น คือความไม่เคยประสบ ความไม่รู้ ความไม่เคยเห็น ไม่เคยประสบ เวลามันไปเห็นเข้า

โธ่! เรานี่นะ ขนาดว่าเราก็รู้ๆ อยู่ นี่เขาจะซื้อของขวัญมาให้เป็นเพชร นิล จินดา เราเห็นเราก็รู้อยู่ เวลาเราเปิดกล่องขึ้นมาเราตื่นเต้นไหม? ของเรารู้อยู่แล้วว่าเขาจะให้ของดีเรา แล้วเราเปิดมา เราเห็นเรายังตื่นเต้นเลย นี่ขนาดเรารู้ๆ อยู่นะ แล้วเวลาจิตมันสัมผัส นั่นมันยิ่งกว่าเพชร นิล จินดาอีก เพราะอะไร? เพราะมันเป็นอริยทรัพย์ มันเป็นทรัพย์ภายใน มันเป็นทรัพย์แท้ๆ ถ้าทรัพย์แท้ๆ แล้วมันไม่มีในโลก

ถ้าสมาธิมีในโลก ถ้ามีขายนี่เราซื้อมาแล้ว ปัญญามีขายเราซื้อมาแล้ว ถ้าในโลกนี้มีนะเราซื้อได้หมด ศีล สมาธิ ปัญญา ซื้อมาเลย คนมีเงินเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว นิพพานหมดแล้ว คนมีเงินเขามีเงินกี่พันล้านเขาซื้อได้หมดแหละ

มันซื้อไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ โลกไม่มีขาย ทำคุณงามความดีในโลกไม่มีขาย บารมีธรรมในโลกไม่มีขาย การประพฤติปฏิบัติในโลกไม่มีขาย สมาธิในโลกก็ไม่มีขาย แล้วถ้าไม่มีขายเราเคยเห็นไหม? ถ้าจิตไม่เคยสัมผัสเคยเห็นไหม? ก็เคยเห็นแต่ชื่อ สมาธิก็มีเขียนในพระไตรปิฎก นี่สมาธิว่างๆ สบายๆ โอ๊ย.. คนนั้นเขามีความสุขสบาย.. สบายเพราะอะไร? สบายเพราะเขารักษาใจของเขา แต่สมาธิจริงหรือไม่จริงรู้ได้อย่างไร?

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันไปสัมผัส นี่เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เพราะมันเป็นไป แต่คนไม่เคยเป็น เห็นไหม นี่เพราะไม่เป็น พอทำไม่เป็นมันเกร็งไปหมดเลย มันวิตกกังวลไปหมดเลย จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น.. จะเป็นอย่างไรให้มันเป็นไป เป็นอย่างไรให้เป็นไปเลย มีสติไว้เป็นอะไรให้เป็นไป เพราะธรรมชาติของมันต้องเป็นอย่างนั้น จิตมันต้องพัฒนาสิ

ถ้าจิตนี่ภาวนาเพื่ออะไร? ก็ภาวนาเพื่อให้จิตมันดีขึ้น แล้วจิตมันเปลี่ยนแปลงจะดีขึ้นก็ไปตกใจอีก ก็จะดึงไว้ไม่ให้ดีขึ้น จะดึงให้เป็นปกติไง กลัวผิดไง ธรรมดาก็มีสติอย่างนี้ไง ไอ้ที่มันวูบวาบไปมันจะเสียหาย.. จะวูบวาบ จะเป็นอะไรไปมันเป็นนิสัยของจิต ถ้าเป็นนิสัยของจิตนี่ปล่อยไปสภาวะแบบนั้น

ถ้าคนเป็น โอ๋ย.. เรื่องง่ายๆ เลย คนเป็นก็เหมือนเราทำเป็น เราไม่กลัวอะไรเลย ดูรถช่างสิ คนที่เขาเป็นช่าง นี่รถเก่าคร่ำคร่า จะพังแหล่ไม่พังแหล่ เขาไม่ตกใจเลยนะเวลาเขาไปไหน นี่รถช่าง คนทำอาชีพอะไร ดูสิจะเป็นอย่างนั้นแหละ ของใช้ของเขา เพราะอะไร? เพราะเขาทำได้ เขาแก้ไขได้ เขาไม่ตกใจอะไรเลย ไปไหนก็ไปได้

ไอ้เรานี่แค่มีปฏิกิริยาเราตกใจแล้ว เดี๋ยวรถเราจะเสีย เรากังวลไปหมดเลย เดี๋ยวรถเราจะไปเสียกลางทาง เราจะไปไหนไม่รอด เราจะไปไม่ได้ แต่ช่างพะรุงพะรังนะ ขนาดรถมันจะหลุดแหล่ไม่หลุดแหล่มันยังไปถึงปลายทางได้เลย มันเหมือนกับคนทำเป็น คนทำเป็นนี่กิริยา เห็นไหม รถเรา รถของช่าง ดูไม่ได้เลย สภาพดูไม่ได้เลย

นี่ก็เหมือนกัน สภาพของครูบาอาจารย์ที่ทำกำลังจะเป็น กิริยาเหมือนไม่เป็นเลย เหมือนไม่เป็นเลย เหมือนธรรมดา แต่ไอ้เราเกร็งนะ โอ้โฮ.. รถใหม่เอี่ยมเลย ฝุ่นไม่มีจับเลยนะ โอ๋ย.. ไปไหนนะตายอยู่ตรงนั้นแหละ ไปไม่รอดหรอก “นี่เป็นกับไม่เป็น”

เรามาฝึกกันอยู่นี้ ฝึกให้เป็น ฝึกรักษาใจให้เป็น ถ้าฝึกรักษาให้เป็นตั้งสติไว้ สิ่งใดเกิดขึ้นให้เป็นปัจจุบันตลอด อะไรที่ประสบมาให้มันเป็นปัจจุบันตลอด เป็นปัจจุบันตลอด มันต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน อย่าคิดว่าศึกษามาแล้วเราเข้าใจแล้ว เป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นปริยัติ มันเป็นสุตมยปัญญา มันเป็นปัญญาการจำมา มันเป็นรูปแบบขึ้นมา

มันเหมือนสิ่งที่ว่า นี่ดูสิหนังสือ ตำรับตำรา อ่านแล้วเวลาปฏิบัติยังไม่เป็นอย่างนั้นเลย ไม่เป็นอย่างที่อ่านหรอก ไม่เป็น เวลาไม่เป็นอย่างที่อ่านนะ แล้วถ้าไม่เป็นอย่างที่พระพุทธเจ้าสอน นี่มันจะเป็นไปได้อย่างไร? ก็บารมีเรามันไม่เหมือนเขา ในสมัยพุทธกาลเขาสร้างบุญญาธิการมาเป็นสหชาติ การเกิดร่วมพระพุทธเจ้าก็เป็นสหชาติแล้ว

นี่ดูการที่เราเกิดร่วมในสังคม เราเกิดร่วมกับในหลวง เราเกิดร่วมกับสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข เห็นไหม แล้วดูสิ ดูประเทศข้างเคียงเราสิ ข้างเคียงเราดูเขาเกิดมาแล้วเขาทุกข์ขนาดไหน? ชีวิตมนุษย์นี่เหมือนกับสัตว์ตัวหนึ่งเลย เวลาเขาเกณฑ์แรงงาน เขาใช้แรงงาน ดูสิเกิดเหมือนกัน แค่เส้นแบ่งเขตแดน คนเกิดฟากหนึ่ง... มนุษย์มีคุณค่าขนาดไหน?

มนุษย์เรานี่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เรียกร้องกันไปหมดเลย เรียกร้องขึ้นมา นี่การเกิดร่วมสมัย นี่บุญพาเกิด แต่เรายังไม่เข้าใจเลยว่าชีวิตที่เกิดนี้มีบุญ ยังว่าทุกข์! ทุกข์! ทุกข์! ยังบ่นพร่ำเพ้อกันอยู่นี่ พร่ำเพ้อขนาดไหนนะ นี่มันเป็นเรื่องของอวิชชา มันเป็นเรื่องของกิเลส เราต้องตั้งใจของเรา เราเกิดมาพบพุทธศาสนา เราเกิดมาพบเพชรพบพลอยแล้วนะ แต่เราไม่รู้จัก จะเอาข้าวสารเม็ดเดียว เหมือนไก่เลย

เกิดมาพบพุทธศาสนาแล้ว.. นี่ศาสนาอะไร? ศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธสอนอะไร? ไม่รู้ เดี๋ยวนี้เด็ก ศีล ๕ ก็สอนไม่เป็นนะ นี่เต้องมาฟื้นฟูใหม่ ศีล ๕ ก็ยังไม่รู้ว่าศีล ๕ เป็นอะไรเลย แล้วศีลคืออะไรก็ไม่รู้ ศีล สมาธิ ปัญญา คืออะไรก็ไม่รู้ แล้วบอกไม่ให้ศึกษาด้วย ศึกษาแล้วเด็กมันจะไม่เจริญ เด็กมันจะไม่มีความคิด เด็กมันเป็นวิทยาศาสตร์ต้องสอนทางโลก แล้วสอนทางโลกมาแล้วก็เอาไฟมาเผากัน

คนเราเกิดมา เห็นไหม ถือดุ้นไฟมาคนละดุ้น คบเพลิงถือมาคนละอัน ก็ความร้อนของใจไง ถือคบเพลิงมาคนละอันแล้วก็เผากัน เอ็งก็เผาข้า ข้าก็เผาเอ็ง แล้วถ้าเราถือคบเพลิงมาคนละอัน เรารักษาคบเพลิงเราเพราะมันใช้ประโยชน์ได้ คบเพลิงไฟนี่มันใช้ประโยชน์ได้ ก็เอามาใช้ประโยชน์เพื่อดำรงชีวิต เห็นไหม

นี่ศีลธรรมต้องสอนมัน ต้องสอนให้เด็กมันเข้าใจ นี่เกิดมาพบพุทธศาสนา เป็นแก้ว แหวน เงิน ทอง ไม่สนใจ สนใจแต่ข้าวเปลือกเม็ดหนึ่ง สนใจแต่อาหาร สนใจแต่โลกๆ นี่มันถึงมองคนละมุม โลกกับธรรมอยู่ด้วยกันแต่ไม่เหมือนกัน

เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เห็นไหม ไปโรงพยาบาล นี่ถ้ารักษาทางโรคก็รักษาให้มันหาย แต่ถ้าเป็นทางธรรมล่ะ? ไปโรงพยาบาลเหมือนกัน แต่มันปลงอนิจจังไปเหมือนกัน มันเจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนกัน แต่หัวใจมันไม่เต้นไปกับเขา หัวใจมันไม่เร่าร้อนไปกับเขา หัวใจมันไม่เกิดความกังวลให้ร่างกายนี้มันเจ็บไข้ได้ป่วยมากไปกว่าเดิม

แต่ถ้าเราเป็นโลก เห็นไหม ทำไมมันจะหายหรือไม่หายเนาะ ไม่อยากตาย ไม่อยากอะไร ไม่อยากให้มันเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่อยากเป็นทั้งนั้นเลย แต่มันเป็นไปแล้ว แต่ถ้าเป็นธรรม นี่ไงธรรมดา นี่สัจธรรมสอนอยู่แล้ว โลกนี้ร่างกายเป็นอนิจจัง เกิดมามันเป็นสภาพแบบนั้น แล้วถ้ามีอำนาจวาสนาก็รักษากันไปตามหน้าที่ แล้วเรารักษาใจเราไว้อย่าให้มันไปกระตุ้นให้โรคภัยไข้เจ็บนี้มันรุนแรงเกินไป

นี่ไปรักษาเหมือนกัน คนหนึ่งไปรักษาด้วยโลกๆ ไปกระวนกระวาย ไปทุกข์ ไปร้อน อีกคนหนึ่งไปรักษาเหมือนกัน รักษาตามหน้าที่ เพราะอะไร? เพราะเกิดมา นี่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้วร่างกายนี้เป็นอนิจจัง ชีวิตนี้ก็เป็นอนิจจัง มันต้องเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา แต่ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ เห็นไหม ของยังใช้ได้อยู่ อย่างเช่นภาชนะนี่ เรากินข้าวกันแล้ว ถ้วยจานเราก็เก็บรักษาไว้ ล้างไว้เพื่อพรุ่งนี้ ถ้ามันเป็นอนิจจัง กินเสร็จก็โยนทิ้งไปเลย มันก็คนบ้าอีก มันก็บ้าทั้งไปทั้งกลับ

ถ้าบ้าทั้งไปทั้งกลับ นี่ศึกษาธรรมมา โอ๋ย.. นั่นก็เป็นอนิจจัง ทุบมันทิ้งเลย อะไรกินแล้วก็โยนทิ้งไปเลย นี่มันเป็นอนิจจังไม่ต้องไปรักษา มันก็คนบ้าคนหนึ่ง แต่ถ้าเราเก็บรักษา ตระกูลใด ครอบครัวใด ถ้ายังมีการบำรุงรักษาอยู่ ยังมีการซ่อมแซมบำรุงของใช้ของสอยในบ้าน ตระกูลนั้นจะไม่เสื่อมไปเลย ตระกูลใดใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่รู้จักบำรุงรักษา ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบ ตระกูลนั้นจะมั่งมีขนาดไหน ตระกูลนั้นจะดำรงไปไม่ได้เลย

นี่ก็เหมือนกัน คนมีสติสัมปชัญญะ เห็นไหม คนที่ปฏิบัติแล้วร่างกายก็ต้องรักษา รักษาไว้เพื่ออะไร? รักษาไว้เพื่อไม่ให้มันเจ็บไข้ได้ป่วยไง รักษาไว้เพื่อไม่ต้องโอดต้องโอยไง รักษาไว้เพื่อประโยชน์ วิหารธรรม ในเมื่อในมันเป็นธรรม มันมีคุณธรรมอยู่ในหัวใจแล้ว ร่างกายมันก็เป็นธรรมขึ้นมา แต่หัวใจเป็นกิเลส ทุกอย่างเป็นกิเลสไปหมดเลย โลกๆ ไปหมดเลย เรื่องของโลก เห็นไหม โลกกับธรรมอยู่ด้วยกัน

โลกคือความไม่เป็น ธรรมคือเป็น เป็นกับไม่เป็น ฝึกให้เป็น ทำให้เป็น แล้วชีวิตเราจะเข้าใจชีวิตได้หมดเลย.. น้ำบนใบบัว หยดน้ำบนใบบัว มันอยู่ด้วยกัน แต่มันไม่เป็นอันเดียวกันหรอก มันอยู่ด้วยกันนี่แหละ แล้วเรารู้ทันหมด มันเป็นอย่างนี้ นี่ถ้าเข้าใจเรื่องกิเลสแล้วดับหมด เกิดกับเราอีกไม่ได้เลย มันเป็นเรื่องความจริงเลย แต่เราไม่เป็น เห็นไหม มันไม่ใช่น้ำบนใบบัว มันซึมเข้าไปเหมือนกระดาษซึมเลย กระดาษซับเลย มันอยู่ด้วยกัน แล้วทุกข์ยากเหมือนกัน

เรามาฝึก เราเกิดเป็นชาวพุทธมีพุทธศาสนาเป็นที่พึ่ง พุทธศาสนามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าพุทธศาสนาเกิดจากเรา เห็นไหม อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ใจเราเป็นพุทธซะเอง เป็นธรรมซะเอง เป็นสงฆ์ซะเอง ใจเราเป็นนะ ใจเราเป็น ใจเราเห็น ใจเรารู้ ถ้ามันรู้ มันเห็น มันเป็นแล้ว มันจะตื่นเต้นไปกับอะไร?

ชีวิตก็คือชีวิต มันเป็นวัฏฏะ ผลของวัฏฏะคือผลของธรรมชาติ แต่หัวใจที่มันเป็นจริง มันเป็นธรรมะเหนือธรรมชาติ ทิ้งธรรมชาติ สละธรรมชาติไว้ตามความเป็นจริง แล้วเราพ้นจากทุกข์ไปโดยความเป็นจริงนะ นี่ปฏิบัติให้เป็น ทำเป็นแล้วทุกอย่างสบายหมด ถ้าทำไม่เป็น ทุกอย่างขัดแย้งไปหมด นี่ฝึกเรา ต้องฝึก ใครไม่ฝึกทำให้เป็นไม่ได้ ถ้าใครฝึกถึงเป็นได้ จากไม่เป็นจะเป็นได้ถ้ามีความตั้งใจ แล้วตั้งใจจริง ทำได้เป็นความจริงของมัน

สัจจะความจริงพระพุทธเจ้าสอนแล้ว สอนคนมีกิเลส ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนคนมีกิเลส ไม่ใช่สอนพระอรหันต์ อะไรก็ต้องไม่ต้องมีความอยากเลย ทุกอย่างต้องสะอาดบริสุทธิ์ ไอ้นั่นมันพระอรหันต์ ไอ้เรามันกิเลสทั้งตัว ไม่เป็นมาโดยดั้งเดิม แล้วบอกจะเป็นนี่เป็นไปไม่ได้ ต้องไปดูสมบัติคนอื่น ไปดูคุณสมบัติคนอื่น ไปดูทรัพย์ของคนอื่น แล้วก็ว่าตัวเองเป็น.. ไม่เป็น! ถ้าเป็นจริงต้องรู้จริงเห็นจริง ทำจริงแล้วจะมีสุขจริงๆ ในหัวใจ เอวัง