เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๖ ก.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เมื่อวานเขามาหากันเยอะ ทุกคนเวลาฟังเทศน์แล้วก็อยากพ้นทุกข์ ทุกคนถามเลยว่าอยากพ้นทุกข์ทำอย่างไร? นี่เวลาทำมาหากินก็ทุกข์ยากอยู่แล้ว อยากพ้นทุกข์ ความคิดว่าอยากพ้นทุกข์มันเป็นความอยาก เห็นไหม ศรัทธาความเชื่อ.. ยังดีนะยังมีความอยากพ้นทุกข์ ถ้าอยากพ้นทุกข์ อย่างเรานี่เราก็อยากพ้นทุกข์ แล้วมาวัดเรามาทำอะไรกัน? เรามาวัดเราก็ต้องพยายามของเรานะ คนอยากพ้นทุกข์มันก็ต้องมีเหตุ เราอยากพ้นทุกข์เฉยๆ มันจะพ้นทุกข์ไม่ได้หรอก

ฉะนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติ เวลาทำเข้าไปมันมีปัจจัยตัวแปรเยอะแยะเลย อากาศ สถานที่ หมู่คณะ อาหาร ทุกอย่างมันมีตัวแปรเข้ามาเร้าทั้งหมดเลย ทีนี้ไอ้สิ่งนั้นถ้าเรามีความตั้งใจ จงใจนะ สิ่งนั้นเป็นเรื่องประเด็นรองหมดเลยนะ เวลาอยู่กับหลวงตาท่านจะบอกเลยนะ ท่านจะไม่ให้สร้างกุฏิ ท่านจะไม่ให้สร้างอะไรเลย ท่านบอกว่าเอาไว้กินเอาไว้นอนหรือ? เรื่องกิน เรื่องนอนเป็นเรื่องใหญ่ใช่ไหม?

มนุษย์เรานี่เรื่องกินเรื่องนอนเป็นเรื่องใหญ่มาก เรื่องการกินกับการนอน ทีนี้การกินกับการนอน เราเห็นประโยชน์ของการประพฤติปฏิบัติแล้วนะ เห็นประโยชน์ เห็นคุณธรรม ไอ้เรื่องการกิน การนอน ทำไมพระเรา เห็นไหม ธุดงควัตรอยู่ในเรือนว่าง นี่ได้มาต้องถือธุดงควัตร เพราะอะไร? เพราะการกิน การนอน กิเลสมันออกช่องนี้แหละ

ทีนี้พอเรามาประพฤติปฏิบัติ ทุกคนจะวิตกวิจารมากเรื่องความเป็นอยู่ เรื่องความเป็นอยู่ ถ้าเราวิตกวิจารกับมัน มันก็เป็นความกังวล ว่าอย่างนั้นเลยนะ เป็นความกังวล เราถึงว่าถ้าเราอยากพ้นทุกข์ เราตั้งความหวังไว้ พอเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เริ่มต้นนี่ยากมาก เห็นไหม คนจะทำงานก่อสร้าง เริ่มต้นการปรับพื้นที่ แล้วพื้นที่สูงต่ำเข้าต้องใช้รถแทรกเตอร์ เขาต้องใช้รถไถดันเข้าไปกว่าจะปรับพื้นที่ได้

นี่ก็เหมือนกัน เริ่มต้นในการประพฤติปฏิบัติของเรา เราแค่หาความสงบของใจก่อนนะ เราจะปรับพื้นที่ของเรา ถ้าปรับพื้นที่ของเราได้แล้วเราก็จะฝึกใช้ปัญญา ปัญญาที่จะชำระกิเลสมันเป็นโลกุตตรปัญญา ไม่ใช่ปัญญาความคิดเราหรอก ปัญญาที่เราคิดๆ กันอยู่นี้ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามีศรัทธาความเชื่อ เรามีศรัทรา เรามีความเชื่อของเรานี่ ปัญญามันเป็นแง่บวก แง่บวกจากการที่มันเป็นธรรมนะ แต่เป็นแง่ลบ แง่ลบเพราะทิฐิมานะของเรา เพราะความเห็นของเรา เพราะมุมมองของเรา

กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันมีอยู่ในหัวใจอยู่แล้ว นี้ความคิดขนาดไหนก็แล้วแต่มันจะมีกิเลสบวกออกมาเป็นธรรมดา การที่มีกิเลสบวกมาเป็นธรรมดา แต่เรายังมีความเชื่อ เพราะมีศรัทธาความเชื่ออยากพ้นทุกข์ใช่ไหม? พออยากพ้นทุกข์เราคิดแต่เรื่องสิ่งที่ดีๆ คิดตรึกในธรรม พอตรึกในธรรม ผลของการประพฤติปฏิบัติ ที่สุดของการกระทำของมันก็คือสมถะ คือการปล่อยวาง เห็นไหม

การปล่อยวางเพราะเราตรึกในธรรม แต่เพราะมันมีอวิชชาในตัวเราใช่ไหม? มันมีอวิชชา มันมีมุมมอง มันมีความเห็นของเรา สิ่งนี้มันถึงเป็นโลกียปัญญา โลกียปัญญามันคิดมาจากเรา เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเย้ยมาร

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา”

อวิชชามันอยู่หลังความคิด ความดำริ ดำริจะทำถึงเกิดความคิดออกมา ทีนี้ในเมื่อ “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” เกิดจากความดำริ ก่อนจะเริ่มความคิดเพราะมันเป็นอนุสัย มันนอนเนื่องออกมา เหมือนพลังงานเลย พลังงานที่มันออกไปนี่ ตัวพลังงานที่มันขับเคลื่อนออกไป มันมีพลังงานของมันด้วย มันมีโทษมีคุณของมันไปด้วย สิ่งที่เป็นโทษ เห็นไหม วิชา อวิชชา

ถ้าเป็นวิชาใช่ไหม? เราคิดแต่สิ่งที่ดีๆ เราคิดทำแต่สิ่งที่ดีๆ เราถึงต้องตั้งสติ เวลามันคิดที่ไม่ดีนี่เรายับยั้งไม่ไหว เราตั้งสติไว้ แล้วเราใคร่ครวญของเราว่าเราปรารถนาอะไร? เราต้องการสิ่งใด? เรามาเพื่อสิ่งใด ฉะนั้น มาเพื่อสิ่งใดแล้วนี่เราต้องอดทน เห็นไหม ความอดทนเป็นขันติบารมี เช่นในการต่อสู้กับเวทนา ถ้าเวทนาเกิดขึ้นมา เราพุทโธ พุทโธ นี่เราไปขันติบารมีไว้เฉยๆ

แต่ถ้ามันเป็นปัญญานะ เป็นปัญญาการใคร่ครวญ เราต้องใคร่ครวญไปเลยว่าเนื้อ เอ็น กระดูก เลือดต่างๆ สิ่งที่เป็นผิวหนังมันเป็นความปวดไปได้ไหม? มันเป็นความปวดไปไม่ได้หรอก สิ่งนี้มันไม่เป็นความปวด แต่ทำไมมันปวดล่ะ? มันปวดเพราะมันเป็นสิ่งที่มีชีวิต พอสิ่งที่มีชีวิตมันมีการไหลเวียนของโลหิต มันต้องการไหลเวียนไปเพื่อความสมดุลของมัน

แต่เวลาเรามานั่งอยู่แล้วมันไม่สมดุลของมัน แต่มันก็สมดุลในท่านั่งนี่แหละ แต่เพราะกิเลสมันก็อ้างของมันไปร้อยแปดพันเก้า เห็นไหม ความคิดเรามันอ้างไปร้อยแปดแหละ พออ้างร้อยแปดมันก็ทำให้จิตใจเราอ่อนแอ ถ้าจิตใจเข้มแข็ง จิตใจมีจุดยืนขึ้นมานี่อะไรมันก็ทำให้สำเร็จหมดใช่ไหม? ถ้าจิตใจมันอ่อนแอขึ้นมา อะไรก็สู้ไม่ไหวใช่ไหม? นี่กิเลสมันทำให้อ่อนแอไปหมดเลย สิ่งต่างๆ อ่อนแอไปหมด

สิ่งที่อ่อนแอ เห็นไหม นี่ใช้ปัญญาใคร่ครวญมัน ใช้ปัญญาใคร่ครวญในเวทนา มันเป็นการต่อสู้กับเวทนา ความปล่อยวางมันต่างกัน ความปล่อยวางนี่ขันติบารมีอดทนเฉยๆ แต่อาศัยธรรมเกาะไว้ อาศัยพุทโธเกาะไว้ อาศัยสติเกาะไว้ มันเป็นขันติบารมีคือการอดทน แม้แต่การอดทนเฉยๆ เรายังเอาชนะความเจ็บปวด เอาชนะสิ่งที่มันเร้าเราได้เลย แล้วถ้าปัญญามันใคร่ครวญ มันมีเหตุมีผล มันปล่อยวางขึ้นมามันลึกซึ้งกว่ากัน

ความปล่อยวางของปัญญา กับความปล่อยวางของขันติ ความปล่อยวางของสมถะมันต่างกัน ความต่างกัน เราเห็นความต่างตรงไหน? นี่เราไม่เห็นความต่างเลย เห็นไหม เวลาเรากำหนดพุทโธนี่ว่างๆ ว่างๆ ก็ว่ากันไป ว่างๆ มันเป็นความว่างจากการตรึกในธรรม มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นธรรมดา

พายุจะรุนแรงขนาดไหน พอผ่านกาลเวลาพายุมันก็สงบตัวลงเป็นธรรมดา อารมณ์จะรุนแรงขนาดไหน จะทุกข์ขนาดไหน ถึงที่สุดนะทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ แล้วทุกข์ดับไป มันก็มีเท่านั้นแหละ เราจะภาวนาไม่ภาวนามันก็ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ แล้วทุกข์ดับไป แต่ถ้าไม่ภาวนา ไม่มีสติ เวลาทุกข์เกิดขึ้นมาแล้วมันให้ผลเป็นโทษมาก แล้วมันทำให้เกิดทุกข์ซ้ำๆ เข้าไปได้เพราะอะไร?

เพราะทุกข์ขึ้นมาแล้วทำลายตัวเอง ทำให้มันทุกข์ๆๆ ขึ้นไป เห็นไหม แต่ถ้ามีปัญญา ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป ถ้ามีปัญญาใคร่ครวญทุกข์มันต้องดับไป ดับไปเพราะเหตุเพราะผล เพราะมันมีเหตุมีผลขึ้นไป นี่มันทุกข์เพราะอะไรล่ะ? มันเป็นธรรมดาสามัญก็เป็นอย่างนี้แหละ ถ้าธรรมดา จิตมันปล่อยวางแล้วมันก็เรื่องธรรมดา

โลกมันเป็นไป สัจจะมันเป็นอย่างนี้ ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว แต่เพราะความไม่พอใจของเรา เพราะความขัดแย้งของเรา เพราะความยึดมั่นถือมั่นของเรา เพราะใจมันไปโต้แย้งเอง ใจมันไปขวางเขาเอง ใจมันไปขวางสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ใจมันไปขวางสัจจะของชีวิต ใจมันไปขวางทุกๆ อย่างเลย พอใจไปขวางขึ้นมา ใจก็โดนกระทบกระเทือนใช่ไหม? พอใจกระทบกระเทือนขึ้นมา ใจมันก็เจ็บปวดใช่ไหม?

นี่ถ้าเราไม่มีปัญญาขึ้นไป เห็นไหม สรรพสิ่งมันเป็นอย่างนี้ ธรรมะมันอยู่กับตัวเรานี่แหละ แต่เราไม่เคยเห็น แล้วเราไม่เคยเข้าใจ เราไปมองว่าธรรมะอยู่ในตู้พระไตรปิฎก ธรรมะอยู่ในการศึกษา ธรรมะอยู่ในการค้นคว้า ธรรมะอยู่ข้างนอก.. มันไม่ใช่ ธรรมะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาสัจธรรม เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรม กราบธรรม

ธรรมะมันมีอยู่ในตัวเรานี่แหละ ธรรมะมันมีอยู่แล้ว แต่เราส่งออกไป มันเป็นเรื่องของบุคคลอื่น ไม่ใช่เรื่องของเรา ถ้าในการวิปัสสนาของเรามันต้องพิจารณาเรื่องบุคคลของเรา ทีนี้เรื่องบุคคลของเรา พอย้อนกลับเข้ามาแล้ว ในหัวใจมันก็ว่าเป็นเรื่องของเรา มันก็ไม่ใช่อีก มันไม่ใช่เพราะอะไร? เพราะมันเป็นใจกับอาการของใจ มันเป็นระหว่างจิตว่าใจกับเงาของใจ

เงา อาการของใจ เราไปค้นคว้ากันที่เงาของมัน เห็นไหม ทีนี้เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็เพื่อให้เงามันหดตัวเข้ามา ให้เงามันล่นเข้ามาไปถึงสัจจะความจริง คือเนื้อจิต เนื้อของจิต นี่มันละเอียดเป็นชั้นๆ เข้ามาอย่างนี้ ส่งออกไปข้างนอกก็เป็นเรื่องของภายนอก นี้ความคิดภายใน เวลาคิดออกมามันก็ส่งออกแล้ว เพราะมันคิดออกมาจากใจ

ดำริ ความเห็นนี่ ความเห็นที่มันออกมาจากพลังงาน ตัวพลังงานคือตัวใจ ตัวความคิดมันเป็นอาการของใจ นี่แล้วถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันก็ปล่อยวางที่อาการของใจ ก็เข้าไปสู่ตัวใจ ถ้าสู่ตัวใจขึ้นมา ถ้าเกิดที่เรามีอำนาจวาสนาหรือเรามีการฝึกฝน ต้องฝึกฝน ถ้าไม่ฝึกฝนมันก็สงบตัวเข้าไปเฉยๆ แต่ถ้ามีการฝึกฝน เห็นไหม ให้มันออกใช้ปัญญา ออกใช้ปัญญาก็เป็นโลกุตตรปัญญา นี่โลกุตตรปัญญามันเกิดตรงนี้ ปัญญาฆ่ากิเลสมันเกิดตรงนี้ ไม่ใช่ว่าเกิดใช้ปัญญาๆ เป็นการฆ่ากิเลส

ใช้ปัญญามันก็ถูกต้อง คำว่าถูกต้องมันเป็นสัจจะความจริง สัจจะความจริงคนมีความคิดไง คนเรามีความคิด คนเรามีความรู้สึก จะบอกให้ไม่มีไม่ได้ แต่มันมีนี่มันมีโดยกิเลสไง มันมีโดยอวิชชามันบวกมา เราถึงต้องใช้สมถะ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเพื่อจะลดแรงของกิเลส ลดแรงของสิ่งที่บวกมาให้มันมีคุณค่าที่สะอาดขึ้นมา มันก็เป็นสมาธิขึ้นมา

แล้วสมาธิมันเป็นอนิจจังได้ไหม? สมาธิมันก็เป็นอนิจจัง เพราะมีเหตุมีผลขึ้นมามันก็เป็นสมาธิขึ้นมา มันก็ปล่อยวางขึ้นมา แต่พอปล่อยวาง พลังงานมันไม่มีอะไรคงที่หรอก มันก็กลับไปสู่สามัญสำนึกของมัน พอสู่สามัญสำนึกของมัน เราก็ต้องใช้ปัญญาไล่เข้ามา นี่มันต้องฝึกฝนบ่อยครั้งๆ ชำนาญในวสี ชำนาญในเหตุในผล คนขับรถเป็นเขาขึ้นถึงพวงมาลัย นี่คนขับรถเป็น คนว่ายน้ำเป็น คนว่ายน้ำเป็น ผลักตกน้ำมันว่ายเป็นโดยธรรมชาตินะ คนว่ายน้ำไม่เป็น ผลักตกน้ำมันจมน้ำตายนะ

นี่ก็เหมือนกัน ชำนาญในวสีมันทำงานเป็น พอทำงานเป็นมันรักษาหัวใจมันเป็น ถ้ารักษาหัวใจเป็น สมาธิมันจะเสื่อมไปไหน? สมาธิว่าเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม มันจะเสื่อมไปไหน? เหมือนคนว่ายน้ำเป็นมันจะไปกลัวน้ำที่ไหนล่ะ? ลงน้ำเมื่อไหร่มันก็ว่ายน้ำได้เท่านั้นแหละ มันรักษาตัวเองในน้ำ ในแหล่งน้ำต่างๆ มันรักษาตัวเองได้ตลอดเวลา

นี่ก็เหมือนกัน เราชำนาญในวสี นักปฏิบัติเราต้องชำนาญตรงนี้นะ นักปฏิบัติเรานี่ความเป็นอยู่ส่วนความเป็นอยู่ อย่าไปจริงจังกับมันจนเกินไปนัก ถ้าจริงจังเกินไปนัก เพราะจิตใจของเรา นามธรรมอันนี้มันเป็นยางเหนียว มันเกาะหมด มันอุปาทาน ถ้าเราไปเอาสิ่งใดมีคุณค่าปั๊บมันโดดเกาะเลย จิตไปเกาะสิ่งนั้นเลย แล้วเราก็เหยียบย่ำเราแล้ว ว่าไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างใจหวัง จะไม่มีสิ่งใดเป็นดั่งใจหวังเลย เพราะโลกนี้เป็นโลกอนิจจัง

ทีนี้ถ้าเราไม่เห็นคุณค่าของมันใช่ไหม? เราเห็นคุณค่าของการประพฤติปฏิบัติใช่ไหม? เราอาศัยมันอยู่ เราอาศัยมันเท่านั้นแหละ อาศัยมันอยู่ อาศัยเพื่อจะค้นคว้าหาใจ ถ้าค้นคว้าหาใจก็กลับมาที่ใจเรา ก็พิจารณาหัวใจเรา รักษาใจเรา นี่ชำนาญในวสีไง เหมือนคนว่ายน้ำเป็น เห็นไหม มันไม่กลัวหรอก ไม่กลัว คนภาวนาเป็นสมาธิไม่มีเสื่อม เสื่อมก็แก้ไขได้ เสื่อมก็ทำได้ มันเป็นธรรมดา ดูอย่างร่างกายเราสิ เราเกิดมาแล้วต้องชราภาพไหม? มันเป็นธรรมดา ชราภาพเป็นธรรมดา แต่เรารักษาร่างกายเราให้แข็งแรง ให้เราอยู่ด้วยความเป็นสุขไง

จิตก็เหมือนกัน ถ้าเรารักษาของมัน เรารักษาของมันตลอดเวลานี่มันจะเสื่อมไปไหน? มันจะเสื่อมไปไหน? ไอ้นี่มันไม่รักษา ๑.ไม่รักษา ๒.ไม่รู้จักยาพิษด้วย ของแสลงด้วย กินแต่ของแสลง ทำลายแต่ตัวเอง แล้วบอกว่านี่นักปฏิบัติๆ เห็นแต่สิ่งอื่นมีคุณค่ากว่าสติปัญญา เห็นสิ่งอื่นมีคุณค่าไปหมด เกาะไปหมด จิตไปเกาะเขาทั้งหมด จิตพึ่งตัวเองไม่ได้ จิตจะเกาะเกี่ยวข้างนอกไปหมด อาศัยแต่ข้างนอกเป็นที่อาศัยหมดเลย แล้วมันจะยืนตัวได้อย่างไร?

แต่ถ้ามันเป็นของมันขึ้นมา มันจะรู้ตัวของมันขึ้นมา มันจะมีสติสัมปชัญญะของมันขึ้นมา เห็นไหม มีสติสัมปชัญญะ ชำนาญในวสี แล้วหมั่นฝึกหมั่นฝนแล้วจะเห็นคุณค่านะ ถ้าไม่หมั่นฝึกหมั่นฝน ไม่เข้าไปเห็นความจริงมันเป็นความจำทั้งนั้นแหละ มันเป็นความคิด เป็นความรู้สึก เป็นอาการของใจ

ฟังสิว่าอาการของใจไม่ใช่ใจ มันเป็นความคิดเกิดดับๆ เกิดดับแล้วก็ดับกันไป แล้วเอ็งได้อะไร? เอ็งก็เป็นยามเฝ้าหัวใจเท่านั้นแหละ ไม่เห็นได้อะไรขึ้นมาเลย แล้วมาเฝ้าอวิชชา แล้วอวิชชามันจะหลอกอีก จะไปเกิดตายตลอดนะ ปฏิบัติแล้วไม่เข้าถึงเนื้อของธรรม ไม่เป็นอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

นี่ตนไปเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรึก ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ธรรมของตนนะ ถ้าธรรมของตนมันจะเกิดขึ้นมาเอ๊อะ! เอ๊อะ! เอ๊อะ! เลยนะ มันถึงหัวใจ แล้วมันสะเทือนหัวใจ แล้วมันจะแก้ไขหัวใจของเราไปได้ เห็นไหม นี่สิ่งที่เราจะพ้นทุกข์ ทุกคนอยากพ้นทุกข์ ทุกคนอยากประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัตินี่หญ้าปากคอก

ของง่ายๆ นี่แหละ ของประจำชีวิตเรานี่แหละ ความกิน ความอยู่ การเคลื่อน การไหว มีสติสัมปชัญญะดูมันไปนี่แหละ แล้วมันจะเห็น ถ้ามีธรรมขึ้นมามันจะสลดสังเวช มันจะเห็นคุณค่า แต่ถ้าไม่มีธรรมขึ้นมานะมันเบื่อหน่าย นู่นก็ไม่จำเป็น นี่ก็เป็นของเล็กน้อย นู่นก็ไม่เห็นเป็นไรเลย เห็นไหม นี่กิเลสมันเหยียบแล้ว

เล็กน้อยนั่นแหละมันจะพามึงตาย เล็กน้อยนี่มันจะพาให้เราเสียหาย แต่ถ้าของเล็กน้อยเราก็ไม่ทำมัน เราต้องละมัน เราต้องปล่อยมัน ไม่เอาของแสลงเข้ามา ให้โรคภัยไข้เจ็บมันรุนแรงขึ้นมา เราต้องรักษา จะเล็กน้อย จะไม่เล็กน้อยก็แล้วแต่ ต้องตั้งสติแล้วต้องรักษาของเราไว้ ดูแลใจของเราให้ดี เห็นไหม นี่ถามทุกคนว่าทำไมอยากจะพ้นทุกข์ อยากพ้นทุกข์

อยากจะพ้นทุกข์ก็ต้องเข้ามาตรงนี้ เข้ามาดูใจของเรา เข้ามาดูไอ้ตัวปฏิสนธิจิตที่มันจะเกิดจะตาย มันจะเกิดจะตายไปนะ ถ้าเราไม่ดูแลรักษามันต้องเกิดต้องตายไปแน่นอน แต่ถ้าดูแลรักษาขึ้นมา เดี๋ยวมันจะไม่เกิดไม่ตาย เพราะอะไร? เพราะการดูแลรักษาใช่ไหม? นี่ทำให้มันสะอาด ทำให้มันเป็นสิ่งวิชา

อวิชชาคือความไม่รู้ ความไม่รู้ในชีวิต แต่มันรู้ตัวมันเองเพราะมันเป็นพลังงาน พลังงานไม่รู้ตัวมันเองไม่ได้ พลังงานมันมีความร้อนของมัน พลังงานมันให้ผลเป็นทุกข์ตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นวิชา เห็นไหม วิชากับอวิชชา วิชาคือสัจธรรม คือสัจจะความจริงที่เราสร้างขึ้นมา เราสร้างขึ้นมาจากการกระทำ มันเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา ถึงที่สุดแล้วมันสร้างไม่ได้ มันเป็นจริงๆ มันเป็นอกุปปธรรม มันเป็นสัจจะความจริงที่เราทำถึงที่สุดแล้วนะ

สัพเพ ธัมมา อนัตตา เห็นไหม สัพเพ ธัมมา อนัตตา ถึงที่สุดแล้วมันพ้นจากสัพเพ ธัมมา อนัตตา พ้นจากอนัตตา เพราะอนัตตามันแปรสภาพ แปรสภาพเพราะสิ่งที่เป็นการกระทำ สิ่งที่มันแปรปรวนเพื่อเป็นสิ่งที่ดี มันปรับตัวมันเป็นสิ่งที่ดี พัฒนามันเป็นสิ่งที่ดี นี่คือสัพเพ ธัมมา อนัตตา มันพัฒนาตัวมันเอง จะไม่ให้พัฒนาไม่ได้ ไม่ให้พัฒนามันก็ไม่ใช่สัพเพ ธัมมา อนัตตา แต่ถึงที่สุดต้องพัฒนาหรือ? ถึงที่สุดแล้ว ถึงกระบวนการของมันจบสิ้นแล้วต้องพัฒนาหรือ? มันเป็นความจริงของมันขึ้นมาแล้ว มันเป็นอกุปปธรรมไง

นี่อยากพ้นทุกข์ อยากพ้นทุกข์ต้องตั้งสติแล้วทำหน้าที่ของเรา เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา งานข้างนอกเป็นเครื่องอาศัย เราต้องอาศัยเขา เพราะเราเกิดมามีชีวิตไง อาหารดำรงชีวิต นี่ก็เหมือนอาหารของใจ วิญญาณาหาร ความรู้สึก ความคิดเป็นอาหารของใจ นี่อาการของใจเป็นอาหารของใจ ถ้าอาการของใจคือความคิดมันเป็นอาหารของใจใช่ไหม? เราคิดถึงสิ่งที่ดี เราป้อนอาหารสิ่งที่ดีให้มัน

นี่มรรค สัมมาอาชีวะ.. สัมมาอาชีวะของโลกเขาอย่างหนึ่ง สัมมาอาชีวะของนักบวชเป็นอย่างหนึ่ง สัมมาอาชีวะของมรรคญาณเป็นอย่างหนึ่ง อย่างหนึ่งๆ ทั้งนั้นเลย หยาบ ละเอียดเข้าไป ไม่ใช่ความคิดๆๆ อย่างนี้จะเป็นปัญญาๆ ไอ้นี่มันความคิดแบบเถรตรงไง ความคิดแบบกำปั้นทุบดิน แล้วเอ็งจะเอาตัวไม่รอด

ถ้าความคิดที่รู้จักแยกแยะหยาบ ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ แล้วเราจะเอาชีวิตเรารอดได้ เราจะพ้นจากทุกข์ได้ สัจจะความจริงจะเกิดจากกลางหัวใจ เป็นสันทิฏฐิโก อันนี้แน่นอนมาก ถ้าประพฤติปฏิบัติเข้าไปแล้ว ถึงความจริงแล้วความจริงเป็นอันเดียวกัน เอวัง