เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๙ ก.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

แต่เดิมนะ บรรพชนของเรานี่ทั่วโลกเลย ถือผี ศาสนาถือผี เห็นไหม เพราะอะไร? เพราะโบราณสถานต่างๆ เคารพบูชา โดยสามัญสำนึกของคนมันกลัวผี มันกลัวมันก็อาศัยสิ่งนั้นเป็นที่เคารพบูชา เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะใจไม่มีที่พึ่ง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว นี่เมื่อก่อนไม่มีที่พึ่งนะ เรากราบภูเขา เรากราบพระอาทิตย์ เรากราบพระอินทร์ เรากราบไฟ บูชาไฟไง เดี๋ยวนี้ไม่ต้องนะ ให้ใช้ปัญญา ทำดีไง

“อะทาสิ เม อะกาสิ เม เธออย่าร้องไห้ เธออย่าเสียใจ เวลาพลัดพรากจากกัน”

อย่าร้องไห้ อย่าเสียใจ ไม่ต้องเคารพบูชาสิ่งต่างๆ ที่ไม่ควรเคารพ ให้เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในปัจจุบันนี้เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ให้เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่เราทำอย่างนั้นได้ไหมล่ะ? ในปัจจุบันนี้มันควรนะ ศาสนาพุทธเจริญมาก เจริญขึ้นมา เห็นไหม ดูศาสนสถานสิ สิ่งที่เราบูชามหาศาลเลย แต่ถ้าพระเข้าไม่ถึง การสอนให้ไปเคารพบูชาอะไร? ก็เคารพผีนั่นไง

เทวดา อินทร์ พรหม ก็คือผี เทวดาก็คือผี ผีก็คือผี เปรตก็คือผี ก็คือจิตวิญญาณไง แล้วจิตวิญญาณของเราล่ะ? ถ้าจิตวิญญาณของเรา เรามีของเราแล้ว เห็นไหม ถ้ามันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาจะไม่ไปถือผีอย่างนั้นหรอก ถ้าไปถือผีถือสางไง เพราะอะไร? เพราะมันเป็นคนที่ไม่มีที่พึ่ง พอไม่มีที่พึ่งปั๊บมันเป็นความกลัวใช่ไหม? เป็นความกลัว เป็นสิ่งที่เร้นลับ เราไปกลัวสภาวะแบบนั้น แต่เวลาถ้าพิจารณาเข้าไปแล้วนะ

นี่เวลาภาวนาเข้าไป เมื่อวานนี้เขาบอกว่าจิตไม่กล้าลง ถ้าลงแล้วจะไปเจอสิ่งใดๆ พอไม่กล้าลงก็อยู่อย่างนั้นแหละ เราบอกนี่กิเลสมันเขียนเสือให้วัวกลัว กิเลสมันหลอกไง กิเลสมันเขียนเสือให้วัวกลัว ว่าจิตเราสงบลงไป จะไปเจออะไรสิ่งที่แปลกประหลาด สิ่งที่มหัศจรรย์ สิ่งที่เราคาดการณ์ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ยังไม่เจออะไรเลย เห็นไหม ก็ให้มันไปเจอจริงๆ สิ ให้มันสงบเข้ามา

ถ้าจิตสงบเข้ามานะ โดยสามัญสำนึกเลย สิ่งใดเกิดขึ้น มีเพราะมีเรา เพราะเราถึงไปรับรู้ต่างๆ สุขทุกข์ก็เป็นเราทั้งนั้นแหละ แล้วเวลาสิ่งที่ไปเห็นก็คือจิตไปเห็นนั่นแหละ เรานี่ไปเห็นเอง แล้วเราก็กลัวเอง แล้วเราก็ตกใจเอง แต่ถ้าเราไปเห็นนะ พอมีสติขึ้นมา สิ่งใดๆ มันต้องแก้ไขไปตามนั้นไง ถ้าจิตมันจะไปออกรู้สิ่งใด เห็นไหม ดึงกลับด้วยพุทโธ

คำว่าพุทโธนี่เป็นยาสารพัดนึก พุทโธเพราะอะไร? เพราะพุทโธมันรู้จักตัวเอง ดึงตัวเองกลับมา ดึงมันให้กลับมา นี่มือเราไปจับไฟก็ดึงมือกลับมา คลายปล่อยออก เราไม่ไปกำไฟ เราก็ไม่ร้อน เราไปกำสิ่งเหม็น สิ่งไม่ดีเราร้อนหมด ถ้าเราเอามือกลับมา จะเอามือกลับมาด้วยวิธีการใด ดึงมือกลับมาได้อย่างไร? ดึงกลับมาไง เพราะจิตมันเป็นนามธรรม ก็ต้องเกาะที่พุทโธ ถ้าพุทโธปั๊บมันจะดึงกลับมาหมดเลย

หลวงตาสอนบ่อย อยู่กับสติ อยู่กับผู้รู้ไม่มีเสีย นี้มันไม่ใช่อย่างนั้นสิ พอจิตไปเห็นใช่ไหม? พอไปเห็นมันตกใจ เห็นอะไร? เห็นอะไร? สิ่งที่เห็นจิตมันออกไปรับรู้ตรงนั้น แล้วเห็นอะไร? กลัวตรงนั้น ไปตรงนั้น มันไปไงมันไม่กลับ ไม่กลับเพราะอะไร? เพราะสามัญสำนึกมันเป็นอย่างนี้

ทีนี้ถ้าเรามีสติปั๊บ เรากำหนด เราตั้งสติ เราพุทโธนี่จะดึงกลับมาหมดเลย ถ้าดึงกลับมา เห็นไหม เราอยู่กับเรา อย่างเช่นเวลาเราตกใจ อู๊ย.. ตกใจน่าดูเลย แล้วใครตกใจล่ะ? อู๊ย.. ตกใจน่าดูเลยคือกลับมาแล้วไง อู๊ย.. ตกใจน่าดูเลย อู๊ย.. กลัวน่าดูเลย นี่เพราะมันกลับมามันถึงมานั่งตัวสั่นอยู่ไง ถ้ามันกลับมาแล้วตัวสั่น คือจิตมันกลับมาแล้วนั่นล่ะ แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าตกใจเลยนี่ยังไปแล้ว อู๊ย.. ตกใจน่าดูเลยคือกลับแล้ว

พุทโธก็เหมือนกัน นึกพุทโธ สติอยู่กับผู้รู้จะไม่มีเสียเลย ทีนี้ไม่มีเสีย เพียงแต่ว่านี่โดยหลักเลย แต่เวลาถ้าให้เราเข้าใจต้องอธิบาย ทำไมถึงต้องกลับมา ทำไมต้องพุทโธ ทำไม? ทำไม? ถ้าทำไมแล้วมันต้องอธิบายใช่ไหม? อธิบายนี่ ถ้าเหตุถึงการที่จิตส่งออกมันมีทุกข์อย่างไร? เหตุที่กลับมามันกลับมาอย่างไร? แล้วมันจะกลับมาด้วยนามธรรม สิ่งที่กลับมาเอาอะไรกลับมา มันต้องตั้งสติก่อน ตั้งสติแล้วกลับมา

นี่เขียนเสือให้วัวกลัว ทั้งๆ ที่ผีตัวนี้มันสำคัญ ไอ้กิเลสเรานี่มันสำคัญ แต่เราก็ไปเคารพบูชาผีข้างนอก ไปเซ่นไหว้กัน ไปเซ่นไหว้สิ่งนั้น ไปเซ่นไหว้เพื่อให้เขาเมตตา ให้เขาปกครอง แต่ใจเราไม่ปกครองตัวเราเองเลย แต่ถ้าใจเราปกครองตัวเราเอง ถ้าเราศึกษา ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมามันมีประสบการณ์อย่างนั้น มันถึงว่า อ๋อ.. กิเลสเราทั้งนั้นเลย เห็นไหม กิเลสเรา ถ้าเราชนะเราเราพ้นจากวงจรของผี วงจรของผีคือวงจรเกิดตายในวัฏฏะ

นี่เวลาเราตายไป เกิดในวัฏฏะต่างๆ เพราะมันมีแรงขับตรงนี้ ถ้าเราทำลายแรงขับตรงนี้ ทำลายอวิชชา ทำลายสิ่งที่ครอบงำหัวใจอยู่แล้ว มันไม่ใช่ผีแล้ว มันพ้นเลย ไม่ใช่ผี ไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่อินทร์ ไม่ใช่พรหม เพราะอะไร? เพราะพ้นไปจากวัฏฏะ สิ่งที่พ้นจากวัฏฏะมันจะพ้นได้อย่างไร? นี่ศาสนาพุทธมันเจริญตรงนี้ เจริญสำคัญมาก เจริญที่ว่ามันมีมรรคญาณ มันมีสิ่งที่เข้ามาแก้ไข ทีนี้การแก้ไข คนรู้จริง ไม่รู้จริงไง

ถ้าคนไม่รู้จริง เห็นไหม นี่จิตประภัสสร นี้คืออะไร? จิตประภัสสรก็ว่ากันไป เพราะอะไร? เพราะทางวิชาการบอกว่าจิตประภัสสร จิตประภัสสรคือจิตที่พ้นจากกิเลสแล้ว จิตสะอาด จิตบริสุทธิ์ มันสะอาดบริสุทธิ์ได้อย่างไร? นี้สะอาดบริสุทธิ์ไม่ได้ เพราะเขาจับหลักตรงนี้ไม่ได้ จับหลักที่ว่ามันบริสุทธิ์ มันสะอาดโดยสมาธิ คือกดไว้ หินทับหญ้าไว้ เป็นสมาธิขึ้นมามันสว่าง มันสว่างโพลงขนาดไหน? มันสว่างในขั้นของสมาธิ

อันนี้ เห็นไหม ถ้าสว่างในขั้นในตัวนี้ อันนี้คือตัวเกิดไง แต่ถ้ามันเป็นมรรคญาณ สิ่งที่เห็นจิตว่าง เห็นจิตสะอาดมันต้องพระอนาคามี เพราะพระอนาคามีมันชำระเปลือกออกมา พอชำระเปลือกออกมา นี่จิตเดิมแท้ผ่องใส ปัจจยาการมันจะเข้าไปเห็นตามความเป็นจริง สิ่งที่ตามความเป็นจริงมันเป็นอกุปปธรรม คือไม่ได้อยู่สภาวะแบบนั้น สภาวะแบบนั้นเพราะอะไร? เพราะเราเพิกกิเลสออกไป เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปจนไปเห็นสถานะอย่างนั้น

แต่ถ้าเป็นสมถะมันไม่ใช่เพิกอย่างนั้น มันเหมือนกับตะกอนน้ำมันนอนก้น พอมันกำหนดพุทโธ พุทโธ ตะกอนน้ำมันก็นอนก้น พอขยับตะกอนน้ำก็ขึ้น แต่ขณะที่เป็นอนาคามีมันเอาตะกอนน้ำนั้นออก ตะกอนนั้นคือกิเลส มันได้ตักตะกอนนั้นเอาตะกอนนั้นออกไป เอาตะกอนนั้นออกไปมันเหลือแต่น้ำใสๆ ตะกอนไม่มีเลย แต่ตะกอนไม่มีมันก็มีน้ำใช่ไหม? นี่จิตเดิมแท้ ถ้าจับหลักตรงนี้ไม่ได้ คือว่าจิตเดิมแท้ก็คือจิตเดิมแท้เหมือนกันไง

จิตเดิมแท้ไม่เหมือนกัน! จิตเดิมแท้ของพระอนาคามี กับจิตเดิมแท้ของปุถุชน เราเป็นปุถุชนเข้าถึงจิตเดิมแท้ได้ คือเข้าอัปปนาสมาธิ คือฐีติจิต คือเข้าไปถึงรากเหง้าของจิตคือรวมใหญ่ จิตเป็นสมาธิเข้ามา เห็นไหม จิตเดิมแท้ ถ้าคนมีหลักแล้วมันจะเข้าใจว่าจิตเดิมแท้ของใคร? จิตเดิมแท้ของปุถุชน ถ้าเห็นจิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้มันไม่เกิด ถ้าไม่เกิดทำไมเวียนตายเวียนเกิดล่ะ?

แล้วจิตเดิมแท้ของพระอนาคามีเกิดอีกไหม? จิตเดิมแท้ของพระอนาคามีก็ไม่เกิดอีกแล้ว เพราะพระอนาคามีไปเกิดบนพรหม บนพรหมเพราะอะไร? เพราะมีน้ำใส ตัวน้ำใสๆ นั่นแหละคือจิตเดิมแท้ แต่ตัวกิเลส ไอ้ตัวตะกอนนอนก้นนั่นแหละคือตัวกิเลส ทีนี้จิตเดิมแท้มันเป็นน้ำใสๆ เพราะมันไม่มีตะกอนนอนก้น มันจะไม่ไปเกิดในวัฏฏะ แต่มันยังมีอยู่ไหม? มันมีอยู่มันก็เกิด เห็นไหม หนึ่งเดียวไงน้ำใสๆ ไม่มีสิ่งใดเลยก็ไปเกิดเป็นพรหม

เกิดเป็นพรหม แล้วพรหมที่เป็นปุถุชน ฤๅษีชีไพรทำสมาธิกันนี่ อย่างที่ว่าจิตเดิมแท้โดยสมาธิมันไปเกิดเป็นพรหม เกิดเป็นพรหมเพราะมันกดตะกอนไว้ใช่ไหม? พอกดตะกอนไว้นี่ กดตะกอนไว้มันไปเกิดบนพรหม แต่เวลาตายแล้วก็เวียนกลับมา เวียนกลับมาเพราะตะกอนนั้นกลับมาเวียนตายเวียนเกิดอีก แต่พระอนาคามี เห็นไหม ไปอยู่บนพรหม ไปอยู่บนพรหมแล้วทำไมถึงไม่มาเกิดอีกล่ะ? เพราะอนาคามี ๕ ชั้นไง ตั้งแต่สุทธาวาสขึ้นไป

พระอนาคามีขึ้นไปอยู่ที่นั่นเพราะมันน้ำใสๆ ใช่ไหม? แล้วน้ำนั่นมันจะระเหยไปหมด ถึงไม่กลับมาเกิดอีกไง พระอนาคามีแล้วต้องเข้าถึงนิพพานแน่นอน จะไม่กลับมาอีกเลย แต่มาเกิดเป็นพรหมก่อน แล้วน้ำนั่นจะระเหยไป ถึงที่สุดไม่มีอีกแล้วเพราะมันไม่มีตะกอนนั้น แต่ถ้าเป็นพรหมปุถุชน เห็นไหม พรหมปุถุชนก็มี พวกอริยบุคคลเป็นพรหมก็มี เป็นเทวดาก็มี พวกอริยบุคคลเป็นชั้นเป็นตอน

สิ่งนี้ เพราะในพระไตรปิฎกเขาไม่ได้แจกแจงอย่างนี้ ในพระไตรปิฎกก็พูดเป็นหลัก แล้วพอเป็นหลักปั๊บเราเอาอะไรไปจับล่ะ? เราเอาความรู้ความเห็นของเราไปจับ แล้วก็เถียงกันเลยเพราะเขาจับหลักไม่ได้ พอจับหลักไม่ได้ เมื่อวานถึงอธิบายตรงนี้เลย อธิบายถึงว่าจิตเดิมแท้ของใคร? จิตเดิมแท้ เห็นไหม ดูสิดูอย่างมหายานให้เข้าถึงจิตเดิมแท้ๆ

จิตเดิมแท้เข้าถึงนะ ดูอย่างเว่ยหลาง จิตก็ไม่มี กระจกก็ไม่มี ทุกอย่างไม่มี แล้วฝุ่นจะเกาะอะไร? จะเกาะอะไร? ก็เกาะสิ่งที่ไม่มีนั่นไง เพราะมึงพูดนั่นยังไม่มีอยู่ นี่จิตเดิมแท้ของพระอนาคามีมันเป็นอย่างนั้น เข้าไปถึงที่สุดมันทำลายตรงนี้ ถ้าทำลายตรงนี้ นี่พอเข้าถึงอย่างนี้ปั๊บเพราะจิตมันเป็นเอง จิตถ้ามันเกิดในขั้นของปุถุชนมันก็รู้ว่าปุถุชน โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีมันรู้หมด พอมันรู้หมดขึ้นมาแล้วมันจะเข้าใจเรื่องผีหมด เพราะมันเป็นผีมาก่อน ตัวจิตนี่เคยเกิด เคยตายเป็นผีมาก่อน

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเคยตกนรกมาก่อน เคยตกนรกอเวจีมาก่อน เคยผ่านมาก่อน เคยผ่านมา แล้วนี่จิตของพวกเรามันมีอย่างนี้หมด นี้พูดถึงเคารพผีๆ มันเข้าถึงใจของตัว มันถึงเคารพบูชาอย่างนั้น แต่ถ้ามาศึกษาธรรม เห็นไหม นี่เทวดา อินทร์ พรหม ทำไมมาฟังเทศน์หลวงปู่มั่นล่ะ? เทวดา อินทร์ พรหม ทำไมเขาไม่เข้าใจเรื่องอย่างนี้ เขาไม่เข้าใจเรื่องอริยสัจเลย แต่เขาเข้าใจเรื่องบุญกุศล

เรื่องบุญกุศล เรื่องอามิส เรื่องสิ่งต่างๆ นี่มันเข้าใจเพราะอะไร? เพราะเราทำ เราเป็น เรารู้ เราทำเราเป็น แต่สิ่งที่เราทำไม่เป็นเรารู้ไม่ได้ อย่างเรานี่จินตนาการเรื่องนรก-สวรรค์ได้เลย แต่เราจินตนาการนิพพานไม่ได้ แล้วพอจินตนาการก็ว่านิพพานเป็นเมืองแก้ว ถ้าเมืองแก้วมันก็ต้องคู่กับเศร้าหมอง เมืองแก้วต้องคอยเช็ดนะเดี๋ยวฝุ่นมันจับ นิพพานเป็นเมืองแก้วไง

นิพพานคือนิพพาน สมมุติออกมาแล้ว สมมุติออกมาผิดหมด สิ่งนั้นมันผิดหมด แล้วเราเข้าใจเป็นประสานั้น ทีนี้สิ่งนี้มันเป็นวิชาการนะ เป็นวิชาการ เป็นทฤษฎี.. ไม่ใช่วิชาการ วิชาการเป็นสิ่งที่เราศึกษา มันเป็นความจริงเลยแหละ แต่เราปฏิบัติไม่ต้องไปรับรู้สิ่งนี้ ถึงเวลามันเป็นเอง มันรู้เอง แล้วมันจะเข้าใจเอง เราไม่ต้องไปรับสิ่งนี้ เหมือนกับเอาแอกมาแบกไว้ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติโดยเอาแอกมาไว้บนคอ จะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนั้นนะเราทุกข์มากเลย

เราปฏิบัติแล้วปลดแอก แอกมันจะมีอยู่โดยกิเลส โดยอวิชชา โดยความไม่รู้ ช่างหัวมัน แล้วเราตั้งใจของเรา ทำความสงบเข้ามาให้ได้ ใช้ปัญญาของเราฝึกออกไป มันจะเจือจานของมันอย่างไร? เจือจานคือว่าให้มันเข้าใจของเราไป ของเราไป ไม่ต้องไปสนใจกับแอกที่มันอยู่บนหลังเรา

อวิชชาความไม่รู้อยู่บนหลังเรา แอกนี้มันอยู่บนหลังเราแน่นอน มันติดเราไปตลอดเลย แล้วเราก็จะเอาแอกออก ก็พยายามจะไปปลดแอกออก แต่เราไม่รู้ ก็ปลดแอกด้วยความนึกคิด ด้วยความเพ้อฝัน ความเพ้อเจ้อ แต่ถ้าเรากลับมาตั้งสติ กลับมาที่คำบริกรรม กลับมาที่ตั้งฐานให้ได้ เดี๋ยวเราไปเห็นแอก แล้วพอมันปลดออกแล้วมันจะเข้าใจไปหมดเลย เห็นไหม

สิ่งที่เข้าใจ.. เพราะตัวเองไม่เข้าใจ แล้วพยายามจะทำความเข้าใจ แล้วใช้ปัญญาของตัวเองเข้าใจ สังคมเลยแบ่งเป็นฝักฝ่ายแล้วเถียงกัน ไปเถียงกัน แต่เวลาของจริงเขานั่งหัวเราะอยู่นะ ครูบาอาจารย์ของเราอยู่ในป่าในเขา นั่งฟังกระแสข่าวแล้วก็อืม.. กลุ่มนั้นว่าอย่างนั้น กลุ่มนี้ว่าอย่างนี้ แล้วสังเวชไง แต่ทางวิชาการเขาเก่ง เขารู้ รู้ไปหมดเลย แต่เขาเถียงกันปากเปียกปากแฉะ

แต่ถ้าเป็นความจริง ประสาเราเลย นี่เราเป็นผู้ใหญ่ เราผ่านโลกมามาก แล้วเด็กมันไม่รู้เรื่อง เราจะพูดอย่างไรให้เด็กมันเข้าใจ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าไปชำระกิเลสในหัวใจ เหมือนกับผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกมาเยอะมาก แล้วเข้าใจสภาวะตามความเป็นจริงหมดเลย แล้วเวลาพวกเรานี่เป็นเหมือนเด็กอนุบาล เหมือนเด็กอ่อนๆ เลย

คือใจขณะที่จะมีอายุมากขนาดไหน แต่มาปฏิบัติมันจะไม่เข้าใจเรื่องของหัวใจเลย มันเหมือนเด็กอ่อนเลย เหมือนเด็กมาฝึกหัด แล้วเด็กฝึกหัดมันจะเถียงกันไหม? มันเถียงกัน แล้วผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกมามหาศาล จะเอาเรื่องของโลกมาเล่าให้เด็กฟัง เด็กมันจะเชื่อไหม? มันไม่เชื่อหรอก มันต้องรอกาลเวลาให้เด็กนั้นมันโตขึ้นมา แล้วเด็กมันพิจารณาไปมันก็เป็นอย่างนั้น มันก็ต้องไปเจอสภาวะแบบผู้ใหญ่นั้นเหมือนกันเลย

ทีนี้ขณะที่มันไม่รู้ไปพูด.. นี่จะบอกว่าผู้ที่เขาปลงธรรมสังเวชทำไมเขาไม่มาแก้ไข? ทางวิชาการพูดอย่างนั้นนะ ถ้ารู้จริงก็ต้องมาสอนโลกสิ ต้องเอาโลกไปทั้งหมดเลย ก็โลกมันไม่เชื่อ โลกมันมืดบอด โลกมันต่อต้านด้วย แล้วคนไหนพูดมันว่าบ้า สิ่งนั้นบ้า สิ่งนั้นไม่มี อย่างปัจจุบันนี้เราไม่เชื่อแล้วล่ะ นิพพานไม่มี มรรค ผล ไม่มี แล้วไม่มีมันทุกข์ทำไม? ถ้าไม่มีมันต้องปลดทุกข์นั้นได้สิ แล้วปลดทุกข์ได้นี่ปลดอย่างไร?

อ้าว.. ถ้าปลดได้ ครูบาอาจารย์ท่านปลดของท่านได้ ถ้าปลดของท่านได้ เวลาบอกขึ้นมาเราทำไม่ไหวล่ะ? นี่เราตั้งใจของเรา ตั้งสติของเรา เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติมันต้องอย่างนั้นมา ดูสิอาหารมาตั้งไว้นี่ นั่งมองมันเฉยๆ เราอิ่มไหมล่ะ? แล้วเวลาเคี้ยวอาหารเหนื่อยไหมล่ะ? เคี้ยวอาหารเหมือนการภาวนานี่แหละ เหมือนการที่เราต่อสู้นี่แหละ การเคี้ยว การกิน แต่แล้วมันก็ลงไปในท้อง

เราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนานี่จะเคี้ยวกิเลส จะทำลายกิเลส จะตั้งใจทำลายกิเลสมันต้องอดทน เราต้องอดทน ต้องมีความเพียร มีความมุมานะ มีความตั้งใจ ไม่ใช่เห็นเขาทำก็สักแต่ว่า เถ่อไปอย่างนั้นแหละ มันก็ไม่ได้หรอก เห็นเขาเอาอาหารใส่ปากนะ นึกว่าเขาทำผิด เราเอาอาหารใส่จมูกเลยนะ เราจะกินอาหารทางจมูกกันนั่นล่ะ ก็ภาวนาไง เถ่อไปเถ่อมาไม่เข้าใจ

เขาเอาอาหารใส่ปาก เขาเคี้ยวเอา เขาไม่ใช่ยัดเข้าไปทางจมูกนะ เราคิดของเราเอง เราเห็นของเราเอง ใส่ปากมันช้า ยัดเข้ารูจมูกเลยมันจะได้ลงกระเพาะไปเลย แล้วมันเป็นไปไหมล่ะ? มันไม่เป็นไปหรอก มันไม่เป็นความจริง มันเป็นไปไม่ได้.. สิ่งที่เป็นไปไม่ได้คือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นไปได้คือสิ่งที่เป็นไปได้ สิ่งที่เป็นไปได้คนประพฤติปฏิบัติมันจะรู้ของมันเอง แล้วมันจะเข้าใจของมันเอง เห็นไหม ถ้าเราเข้าใจเราจะไม่ถือมงคลตื่นข่าว

การถือผี ถือสาง ถือมงคลตื่นข่าว ถือสิ่งที่เล่าลือกัน ถือสิ่งที่เขาเป็นกระแสของเขา แต่ถ้าเรารู้จริงของเรา นี่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จากรูปเคารพ จากสิ่งที่เป็นรูปเคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จากที่ว่าเป็นวิชาการ จากเป็นสุตมยปัญญา มันจะเป็นจินตมยปัญญา มันเป็นภาวนามยปัญญา เราจะไปเห็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในหัวใจของเรา

ครูบาอาจารย์ว่า “พุทธ ธรรม สงฆ์ รวมอยู่หนึ่งเดียว” แล้วหนึ่งที่ไหน?

แล้วเวลามหายานบอกไง “เจอพุทธะให้ฆ่าพุทธะก่อน เจอผู้รู้ให้ฆ่าผู้รู้ก่อน เจอจิตเดิมแท้ให้ทำลายจิตเดิมแท้ก่อน เจอจิตเดิมแท้ ฆ่าจิตเดิมแท้นั่นล่ะถึงสิ้นกิเลส” เอวัง