เทศน์เช้า วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ฤดูกาลเปลี่ยน การเกษตรเขาก็รอฝนใช่ไหม? รอฝน รอน้ำ เกษตรตามธรรมชาติ แต่ถ้าเขามีกรมชลประทานการเกษตรของเขา เขาทำได้ทั้งปีทั้งชาติ อันนี้ก็เหมือนกัน หัวใจเรา ถ้าเรารักษาของเราได้เราควบคุมได้ แต่ถ้าเราควบคุมไม่ได้ เป็นธรรมชาติ เขาว่าธรรมะเป็นธรรมชาติๆ ถ้าธรรมชาติมันแปรปรวนนะ แต่ถ้าเราควบคุมได้ เห็นไหม เราควบคุมของเราเอง เราทำของเราเองถ้าเราไม่ชินชา
ถ้าทำคุ้นชินนะ นี่อยู่กับครูบาอาจารย์ท่านไม่ให้คุ้นชินกับอะไร กิเลสมันร้ายนัก คำว่ากิเลสๆ คำก็กิเลส สองคำก็กิเลส คำก็กรรม สองคำก็กรรม ทำไมศาสนาตอกย้ำแต่เรื่องอย่างนี้? เรื่องอย่างนี้มันเป็นนามธรรม เพียงแต่ว่าสมมุติชื่อมันขึ้นมา กิเลสเป็นนามธรรมนะ กิเลสมันก็อยู่กับใจของเรานี่แหละ แล้วนี่กรรมมันคืออะไร? การกระทำ ทำแล้วมันไม่สูญเปล่า
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว.. ทำดีต้องได้ดี สิ่งที่ทำดี สิ่งที่ดีมาก-ดีน้อย มันก็ดีของใครล่ะ? มันดีมาก-ดีน้อยนะ แล้วถ้าดีมาก เห็นไหม ดูสิถ้าทางโลกคิดกันได้ ถ้าใครประสบความสำเร็จทางโลก คือว่ามีศักยภาพ มีสถานะทางสังคม คนนั้นมีบุญ แต่จริงๆ แล้วถ้าคนนั้นมีบุญนะ ดูสิพระจักรพรรดิสร้างบุญมามหาศาลนะ แต่ถึงเวลานี่ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว ขุนนางแก้ว จะเป็นแก้วหมด
คำว่าแก้ว นี่แก้วสารพัดนึก จะได้สมประโยชน์เลย เพราะในพระไตรปิฎกนะ เวลาพระจักรพรรดิเขาทดสอบขุนคลังของเขา เขาพายเรือ ๒ คนไปอยู่กลางแม่น้ำ แล้วบอกเอาเงินมาเดี๋ยวนี้ ต้องการเงินเดี๋ยวนั้นจากขุนคลังแก้ว ขุนคลังแก้วจะเอาเงินมาจากที่ไหน? เพราะมามือเปล่า เอามือแช่ลงไปในน้ำเลย อยากได้เงินมา ก็ได้ขึ้นมา อันนี้มันเป็นบุญ
ถ้าสมัยโบราณนะมันไม่มีเทคโนโลยี มันไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างนี้ ทุกอย่างมันต้องเป็นไปตามบุญ แต่เดี๋ยวนี้มันมีไง เดี๋ยวนี้มันมีเทคโนโลยีทุกอย่าง โลกมันเลยซับซ้อนไป ความซับซ้อนไปมนุษย์เลยไม่มีค่า ทุกคนไปพึ่งสิ่งข้างนอกหมดนะ ตัวมนุษย์เองยังไม่มีค่าเลย แต่พูดถึงถ้ามนุษย์เรามีค่า เทคโนโลยีทุกอย่างใครเป็นคนคิดค้นขึ้นมา? ใครเป็นคนหามันขึ้นมา? สิ่งนี้มนุษย์เป็นผู้วิจัยมันขึ้นมานะ มนุษย์วิจัยขึ้นมาแล้วมันก็ทำลายมนุษย์เอง
นี่ถ้ามนุษย์มีคุณค่า มนุษย์มีศีลธรรม จริยธรรม สิ่งที่เป็นประโยชน์ขึ้นมามันใช้ประโยชน์กับเรา เห็นไหม นี่เวลาศาสนามา เวลามีหลักของศาสนา เพราะหลักของศาสนาบอกว่านี่คือปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัย ๔ มนุษย์ต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย มันเป็นเครื่องอาศัย แล้วมนุษย์พยายามหาสิ่งที่อาศัยให้มันสะดวกสบายขึ้นมา มนุษย์หาสิ่งที่อาศัย แล้วใจมันอาศัยอะไร? ใจนี่ หัวใจมันอาศัยอะไร?
เพราะในธรรมะ ธรรมเท่านั้นที่หัวใจได้พึ่งอาศัย เราถึงแสวงหา แสวงหาที่ไหน? ศีล สมาธิ ปัญญา เห็นไหม ถ้าเป็นโยมก็ทาน ศีล ภาวนา การเสียสละทาน การเสียสละคือการฝึกมัน การฝึกนะ ดูสิเขาจะปั้นหม้อ ปั้นไห เขาต้องนวดดิน เขาต้องเตรียมดินของเขาขึ้นมา ปั้นหม้อ ปั้นไหขึ้นมา
การเสียสละทานมันเตรียมใจ ถ้าใจไม่เคยเสียสละทาน ไม่เคยเสียสละ เห็นไหม ความตระหนี่ถี่เหนียว ความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวนะ คิดในแง่เห็นแก่ตัว นั่งสมาธิภาวนาก็ต้องได้อย่างที่ตัวเองปรารถนา ศึกษาธรรมขึ้นมานะ เหมือนเห็นสมบัติของเขาเลย สมบัติของคนที่เป็นเศรษฐี สมบัติของคนที่เขามั่งมีมหาศาล เราเดินไปเราเห็นสมบัติของเขา แต่สมบัติของเขา เขาได้อย่างไรมา? เขาทำอย่างไรของเขามา? เขาเป็นเศรษฐีเขาต้องลงทุนลงแรงของเขามา
นี่ก็เหมือนกัน ศึกษาธรรม อ่านพระไตรปิฎก อ่านธรรมะ ธรรมะนี่มันเป็นของใคร ธรรมะเป็นของครูบาอาจารย์ที่ท่านแสวงหาของท่านมา ท่านทำของท่านมา ท่านขวนขวายของท่านมา ท่านเก็บเล็กผสมน้อยของท่านมา ท่านสละทานของท่านมา ท่านสร้างสมบารมีของท่านมา ท่านมาค้นคว้าของท่านมา ท่านทำสมาธิของท่าน ท่านทำปัญญาของท่านมา แล้วเราไปอ่านสมบัติของท่าน แล้วเราก็จะก๊อบปี้มาเลย มันเป็นไปไม่ได้! แต่ถ้าเราอ่านแล้ว เราศึกษาแล้ว เห็นไหม นี่เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
ในบรรดาสัตว์ ๒ เท้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด
ในการคบมิตร อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา อย่าคบคนพาล ให้คบบัณฑิต ถ้าคบมิตรดีที่สุดคือมิตรองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิตรองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ชักเราไปทางไหนเลย ไปนิพพานทางเดียว ไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ทางเดียวเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะชักนำมาทางนี้เลย มิตรที่ดี ถ้ามิตรที่แท้ แล้วอเสวนา มิตรที่ไม่ดีมันก็พาไปทางเสียหาย
นี่ในบรรดาสัตว์ ๒ เท้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด แล้วเราเป็นสัตว์ ๒ เท้า เห็นไหม สัตว์ ๒ เท้ามีโอกาสเพราะอะไร? สัตว์ ๒ เท้า เวลาเดินไป ตั้งตัวตรงไปเห็นไหมไม่เหมือนเดรัจฉาน เดรัจฉานมันนอนไป สัตว์มันเดินของมันไป ร่างกายมันจะนาบกับดินไป มันจะไม่มีโอกาสของมันนะ สัตว์เดรัจฉานทำดีได้ ทำชั่วได้ แต่สัตว์เดรัจฉานไม่สามารถทำสิ้นสุดแห่งทุกข์ได้
ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉานทำอะไรไม่ได้เลย ทำไมพระโพธิสัตว์ไปเกิดเป็นเดรัจฉานล่ะ? เป็นนกแขกเต้า เป็นกวาง ทำไมพระโพธิสัตว์ไปเกิด? พระโพธิสัตว์ก็เกิดนะ เกิดในสถานะต่างๆ เพราะเวียนตายเวียนเกิด แล้วเราเชื่อหรือไม่เชื่อล่ะ? เชื่อหรือไม่เชื่อมันเป็นความเชื่อ แต่ถ้าเป็นความจริงมันพิสูจน์ได้ ถ้าพิสูจน์ไม่ได้นะ บุพเพนิวาสานุสติญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำไมย้อนอดีตชาติไปได้
อย่างของเรานี่เราทำของเรา ถึงที่สุดเราก็ทำของเราได้ ถ้าทำของเราได้เพราะอะไร? เพราะมันเป็นอันเดียวกัน หลักคือใจเดียวกัน คือการเกิดเหมือนกัน การตายเหมือนกัน การสะสมมาเหมือนกัน แต่อำนาจวาสนาคือการที่เข้าไปเพิก ไปเห็นของมัน เห็นมากเห็นน้อยได้ขนาดไหน? การเห็นมากเห็นน้อยก็ไปดูสมบัติเดิม สมบัติเดิมก็เหมือนนี่เรามีบัญชีอยู่ เรามีบัญชีในธนาคารอยู่ บัญชีเรามีตัวเลขขนาดไหนก็ขนาดนั้นแหละ เราเบิกจ่ายไปเท่าไหร่? เราสะสมมาเท่าไหร่? ตัวเลขก็ขึ้นไปตามนั้นแหละ
นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราไปเห็นอดีตชาติ ไปเห็นสิ่งต่างๆ ไปเห็นข้อมูลของตัว มันก็ไปเห็นบัญชีเท่านั้นแหละ เห็นบัญชี บัญชีไม่ใช่การกระทำนะ บัญชีเราต้องหาเงินหาทองมาเราถึงเข้าบัญชีนะ นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันจะเป็นบัญชีขึ้นมาได้อยู่ที่การกระทำนี่ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่อยู่ที่บัญชี ฉะนั้น ไปเห็นอดีต-อนาคต มันถึงไม่มีความหมายอะไรเลยไง
ถ้าไปเห็น ถ้าคนมีสติสัมปชัญญะเห็นแล้วสลดสังเวชนะ มีครูบาอาจารย์บางองค์ท่านไปเห็นของท่าน สลดสังเวชมากทำไมเราเป็นอย่างนี้ คำว่าสลดสังเวช ธรรมสังเวช มันสังเวชถึงชีวิต พอสังเวชถึงชีวิตมันกระตุ้นให้เราระวังตัว กระตุ้นให้เราทำคุณงามความดี เพราะสิ่งที่ทำมา เห็นไหม นี่เรื่องของกรรม การกระทำสิ่งที่ดีมา ถ้าสิ่งที่ดี กรรมดี กรรมชั่ว มันลบล้างกันไม่ได้
กรรมชั่วลบล้างไม่ได้ ถ้ากรรมชั่วลบล้างได้ พระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย ทำไมให้โจรทุบพระโมคคัลลานะถึงตายได้ กรรมดี กรรมชั่ว ลบกันไม่ได้ แต่กรรมดี กรรมชั่ว สร้างได้ สร้างสิ่งใดได้มากกว่าไง แล้วสร้างสิ่งที่ดีได้มากกว่า ความดีที่มากกว่า ความดีที่มีน้ำหนักมากกว่า ความดีจะพาไปสิ่งที่ดีกว่า แต่คนที่เกิดมามีความสุข มีความร่มเย็นเป็นสุข คนเกิดมาด้วยบุญ ถามเขาทุกข์ไหม? ก็ทุกข์เหมือนกัน เพราะในดีมันก็มีชั่ว ในชั่วมันก็มีดี เหรียญมี ๒ ด้านกันทุกคน
เหรียญมันต้องมี ๒ ด้าน ในตัวเรามีทั้งดีและชั่ว เราเคยทำความดีมา เราเคยทำความผิดพลาดมา คนเกิดมาแล้วไม่ทำความผิดพลาดเลยไม่มี ไม่มีหรอก ดูสิองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกประพฤติปฏิบัติมา ๖ ปี ๖ ปีนั้นน่ะไม่ถูกเลย ถ้าถูกเลยต้องเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปแล้ว ๖ ปีนี่ลองผิดลองถูก
คำว่าลองผิดลองถูก ถูกอย่างมากก็ถูกของปุถุชน ถูกอย่างมากก็แค่ได้ความสงบ ถูกอย่างมากได้เท่านั้น เวลาแสวงหาเพราะมันไม่มีมรรคญาณ ยังไม่มีปัญญา ถูกอย่างมากก็แค่เข้ามาสงบใจ แล้วเดี๋ยวนี้เราทำกัน เห็นไหม นี่สิ่งที่เราค้นคว้า เราศึกษากัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษามาหมดแล้ว แล้วบอกว่าไม่ใช่ทาง ไม่ใช่ทาง แล้วเราก็ยังจะพิสูจน์กันอยู่นะ ที่นู่นดี ที่นี่ดี ก็ว่าไปตามกิเลส กิเลสมันก็พาหกล้มล้มลุกคลุกคลานไป ทำให้เสียเวล่ำเวลากันไป
ที่ไหนดีไม่ดีไม่สำคัญ สำคัญที่ใจเรา ทำแล้วมันดีไหม? ทำแล้วมันหยุดยั้งได้ไหม? นั่นมันเป็นสมบัติของคนอื่น เป็นสมบัติของเขา สมบัติของเรา เห็นไหม เราทำธุรกิจของเรา เราทำหน้าที่การงานของเรา แล้วนี่บัญชีมันจะฝากเข้าไป ดีและชั่วในบัญชีของเรา นี่อดีต อนาคต ดีและชั่วมันจะฝากเข้าบัญชีของเราไป การกระทำของเรานี่เราเป็นคนรู้เอง ความลับไม่มีในโลก จะทำที่ไหนก็แล้วแต่เราเป็นคนกระทำ เราเป็นคนคิด เราเป็นคนแสวงหาทั้งหมด
ไม่มีหรอก ความลับไม่มีในโลกหรอก ไม่มีกับตัวเรานี่แหละ ไม่มีกับใจ เพราะใจมันเป็นคนเก็บข้อมูล ใจมันเป็นบัญชีไงมันบันทึกหมด ทำดี-ทำชั่ว บันทึกหมด เราจำไม่ได้มันยังบันทึกได้เลย เราจำไม่ได้ เราทำโดยไม่มีเจตนา เราว่าไม่มีเจตนา เราไม่รู้เราทำไป แต่มันบันทึกแล้วนะ ใจมันบันทึกหมด ใจมันบันทึกหมด แล้วใจบันทึกหมด นี่บารมีมันเกิดตรงนี้ไง
ทีนี้ถ้าเรามีสติของเรา เรามีสติสัมปชัญญะ เรายับยั้งของเรา สิ่งใดที่มันไม่ดี มันไม่ดีแต่ใจมันห้ามไม่ได้ เห็นไหม นี่ต้องมีสติแล้วเหยียบเบรกไว้ รถนี่เขาดูแต่เครื่องยนต์ที่แรง ดูสิคันเร่งที่มันเหยียบแล้วมันไปได้ดี แต่เขาไม่ได้คิดว่ารถนี่ถ้าไม่มีเบรกรถไปไม่ได้หรอก รถไม่มีเบรก สตินี่สำคัญ สติ ความคิด เห็นไหม เราจะบอกเลยนะ คนประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วจะไม่เจริญ คนที่มาเสียสละจะไม่เจริญ ไอ้คนที่กอบโกยมันจะเจริญ
รถไม่มีเบรกมันลงคลองทั้งนั้นแหละ มันจะเจริญขนาดไหนนะ เดี๋ยวมันก็จะไปหลุดโค้งข้างหน้า เพราะมันไม่มีเบรก แต่ถ้ามันมีเบรก มีสติ เราเบรกของเราไว้นะ ทำดี มันจะช้า มันจะเร็วก็แล้วแต่ มันเป็นความดีที่บริสุทธิ์ มันเป็นความดีที่เรา เป็นความดีที่ไม่มีโทษ
เวลาประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม นี่บรรลุธรรม สมาธิชอบ ปัญญาชอบ เวลามรรคญาณนี่ตรัสรู้เองโดยชอบ โดยชอบคือความดีที่ไม่มีโทษ แต่ถ้าไม่ชอบนี่รู้เหมือนกัน ดีเหมือนกัน เออ รู้ เออ.. เออ.. มันกึ่งๆ เห็นไหม มันไม่ชอบ ไม่ชอบเพราะมันมีสิ่งที่บวกเข้ามา สิ่งที่บวกเข้ามาพอไม่ชอบมันไม่บริสุทธิ์
ทางวิทยาศาสตร์ เห็นไหม ไม่มีค่าบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ทางธรรมนะ ปรมัตถธรรมต้องบริสุทธิ์ล้านเปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่ล้านเปอร์เซ็นต์มันสะอาดไม่ได้ มันออกเปอร์เซ็นต์เดียว ไอ้จุดศูนย์ๆๆ หนึ่งมันก็ออกรูนั้นแหละ กิเลสมันออกรูนั้นแหละ กิเลสมันไปหลบอยู่ที่นั่นแหละ กิเลสมันฉลาดมาก มันหลบหลีกนะ หลบหลีกเพื่อให้สมาธิ ให้ปัญญาเราอ่อนลง เดี๋ยวมันตีกลับนะ แต่ถ้าเราหมั่นฝึก หมั่นซ้อม ตทังคปหานมันจะปล่อยขนาดไหน ปัญญามันจะใคร่ครวญ คลี่คลายออกมาขนาดไหน มันจะว่าง มันจะลึกลับมหัศจรรย์มาก
เพราะความว่าง การปล่อยของปัญญา กับความว่างของสมาธิที่กดไว้มันต่าง... ความว่างที่กดไว้ เห็นไหม เรากำหนดพุทโธ สติยับยั้งไว้ นี่มันว่าง ว่างอยู่ ว่างแบบตะกอนนอนก้น แต่ถ้าใช้ปัญญานี่มันช้อนตะกอนออก ช้อนตะกอนออก นี่แล้วเขย่าอย่างไรมันก็ไม่มีตะกอน น้ำที่ไม่มีตะกอน เขย่าขนาดไหนก็ไม่มีตะกอน
สิ่งที่เราชำระไปนี่เพราะอะไร? เพราะเราใช้ตทังคปหานพิจารณากายไปนะ มันเข้าใจลึกซึ้งไป มันปล่อยวางไป มันเห็นโทษไป อืม.. เราก็โง่มาก นี่ว่าฉลาดแล้วนะ ประเดี๋ยวพิจารณาเข้าไปอีก มันไปเห็นสิ่งที่ละเอียดกว่า อ้าว.. นี่ก็โง่อีก นี่ก็โง่อีก ไหนว่าจะหายโง่ มันไม่หายโง่ซักที ไม่หายโง่หรอกเพราะอะไร? เพราะกิเลสมันจะคลายตัวออกมาบ่อยครั้ง สิ่งที่ลึกลับ สิ่งที่มีข้อมูลมันจะคลายตัวออกไปเรื่อยๆ ออกไปเรื่อยๆ
พอเราเข้าไปสะอาด เหมือนเสื้อผ้านี่เราใช้เราต้องซักทุกวันไหม? เสื้อผ้าที่ใส่อยู่นี่ซักทุกวันแหละ ถ้าได้เอามาใช้สอยต้องซักทุกวัน นี่มันเหมือนกัน เหงื่อไคลออกจากร่างกายทุกวัน กิเลสที่มันชำระขนาดไหน ถ้ามันยังมีเชื้ออยู่มันก็ออกมาทุกวันนั่นแหละ ออกมาอย่างนั้นแหละ แล้วถ้าเราทำแล้ว ซักเสื้อผ้าแล้วจะไม่ใช้มันเลยนะ แขวนไว้ห้ามใส่ ไม่ให้ใส่เสื้อผ้าเลยมันจะได้ไม่สกปรกไง
มันก็เหมือนเสื้อผ้าของเรา แต่ความคิดเรามันแขวนไว้ได้ไหมล่ะ? ความคิดเราแขวนไม่ได้ ความทุกข์ของเราแขวนไม่ได้ มันมีตลอดเวลา ถึงต้องคุมเข้าไป คุมเข้าไป ละเอียดเข้าไป ทำหน้าที่ของเรา เห็นไหม ความเพียรชอบ หมั่นคราด หมั่นไถ หมั่นพิจารณา หมั่นตรึก หมั่นตรอง ทำให้มันสะอาดเข้าไป สะอาดเข้าไป ถึงที่สุดนะมรรคสามัคคี มรรค ๘ รวมตัว
รวมตัวเป็นหนึ่งไหม? ไม่เป็น ถ้ารวมตัวเป็นหนึ่งเป็นเรา รวมตัวแล้วมันมรรคสามัคคี มันเข้าไปสมุจเฉทปหาน มันทำลาย พอทำลายไปแล้วนี่กิเลสเป็นกิเลส ธรรมเป็นธรรม แยกตัวออกไปจากกัน วิปปยุตเข้ามา สัมปยุตเข้ามา วิปปยุตคลายตัวออก แล้วจิตที่มันกลั่นออกมาจากอริยสัจมันเป็นอย่างไร?
นี่สิ่งนี้เป็นธรรม ที่เราทำกัน ถ้าใครทำแล้วคุ้นชิน ครูบาอาจารย์ท่านจะไม่ให้คุ้นชินนะ การคุ้นชินนี่กิเลสมันกระโดดเกาะได้ เราต้องทำให้เร็ว ทำให้สิ่งที่กิเลสมันตามเกาะเราไม่ได้ ทำสิ่งใดแล้วเราคุ้นชิน เราเอ้อระเหยนะ เดี๋ยวกิเลสมันก็กระโดดเกาะ เห็นไหม เราต้องตื่นตัวตลอดเวลา การตื่นตัวคือการตื่นสติ ถ้ามีสติอยู่เราจะระลึกรู้อยู่ เราจะทันกิเลส จะไม่ให้มันเกาะ
นี่ก็เหมือนกัน การประพฤติปฏิบัติ เราต้องตื่นตัว ตื่นในสติเรานี่แหละ กิริยาเคลื่อนไหวภายนอกเรามีสติอยู่ แต่หัวใจที่มันขยับเรามีสติตามมันไป สติสำคัญมาก สติมันยับยั้งไง คำว่าสติคือยับยั้ง ยับยั้งไม่ให้มันสืบต่อ แล้วเราใช้ปัญญาใคร่ครวญ ถ้ามันปล่อยมามันก็เป็นสมถะ ถ้าสติกับปัญญามันรวมตัวกัน การจะชำระกิเลส นี่มรรค ๘ มันต้องรวมตัว รวมตัวหมายถึงว่าเพียรในความที่ถูกต้อง
งานคือการเพ่งอะไร? เพ่งพินิจอะไร? เพ่งพินิจไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม เห็นไหม การเพ่งพินิจนี่งานชอบ ถ้างานไม่ชอบ เพ่งพินิจกายนี่กายของใคร? กายของกิเลส กายของธรรม กายของกิเลส กิเลสมันก็สร้างให้ กายของธรรมมันเป็นสัจจะความจริง สัจจะคืออริยสัจจะ มันเป็นสัจจะ สัจจะที่มันเกิดขึ้นจากความเพียรของเรา ถ้ากายโดยกิเลส กายโดยกิเลสมันก็เห็นโดยกิเลส กิเลสมันต้องการ มันปรารถนา มันศึกษามาว่าต้องเห็นกาย มันก็เป็นวิปัสสนึกกับวิปัสสนา
วิปัสสนึก เห็นไหม กิเลสมันตรึกเอา มันตรองเอา แต่! แต่ทุกคนที่ประพฤติปฏิบัติต้องไปในร่องนี้หมด ไม่มีใครไม่เคยผิดพลาด เพราะกิเลสมันเป็นเรา ต้องมีการผิดพลาด ต้องมีการตรวจสอบ ต้องมีการทดสอบ ต้องมีการแยกแยะ มันต้องมี ในบัญชีนั้นมันถึงจะมีเงินสดเข้าไป ถ้าไม่มีบัญชี เงินกู้ก็ได้ เงินยืมก็ได้ เข้าบัญชีได้เหมือนกัน แต่มันมีต้นทุน แต่ถ้าเงินสดของเรา เงินของเราที่หามาไม่มีต้นทุน คือปัญญาบริสุทธิ์ไง
ปัญญาชอบไม่มีต้นทุน ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่ถ้าปัญญายืม ปัญญาที่เราแสวงหาต้องเสียดอกเบี้ย ต้องเสียค่าปากถุง เสียทุกอย่าง มันไม่บริสุทธิ์ แล้วเขาเรียกคืนด้วย เหมือนกับปัญญาถ้ามันเป็นกายของกิเลส หรือกายของธรรม มันเป็นสัจธรรม หรือเป็นสิ่งที่มันเป็นต้นทุนเราต้องจ่าย ต้นทุนต้องจ่ายนะเพราะมีกิเลส
เราเกิดมาในสังคมต้องจ่าย มีต้นทุนมีรายจ่าย การประพฤติปฏิบัติก็ต้องมีรายจ่าย รายจ่ายของเรา เห็นไหม รายจ่ายคือความเพียรชอบ อาบเหงื่อต่างน้ำมา เรารักษาของเรามา เราทำของเรามา นี่ถ้าไม่สนิทชิดเชื้อกับกิเลส มันจะเริ่มเห็นพัฒนาขึ้น แต่เราไปชิดเชื้อ ไปคุ้นเคย ไปนอนจมกับมันนะ มันจะปลอบประโลมเราให้อยู่ในอำนาจของกิเลสมัน
แต่ถ้าเราฝืนมัน เราฝืน เห็นไหม ว่าฝืนเป็นความลำบาก ฝืนเป็นความทุกข์ ฝืนเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นความทุกข์เปล่า กิเลสมันดักทางไว้ แต่ถ้ามันจะเป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นกามสุขัลลิกานุโยค เราได้พิจารณา เราได้แก้ไข เดี๋ยวมันรู้ว่าถูก รู้ว่าผิด แล้วมันจะลงร่องกลาง มัชฌิมาปฏิปทา เป็นสัจจะความจริง แล้วมันจะเกิดขึ้นมา
การปฏิบัติมันต้องฝึกฝนอย่างนี้ ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจว่าเราทำแล้วผิด เราทำแล้วถูก เราทำแล้วเหนื่อย เราทำแล้วยาก พระพุทธเจ้า ๖ ปีนะ อดอาหาร ๔๙ วันจนขนหลุดหมด เห็นไหม ขนาดบารมีขนาดนั้น เราถึงต้องมีความเพียร ความเพียรของเรามันจะทดสอบกับใจ ให้ใจมันได้พิสูจน์ว่าอะไรจริง อะไรปลอม สอนมัน สอนให้ใจมันยืนขึ้นมาได้ สอนด้วยความเพียรของเรา สอนด้วยสติปัญญาของเรา สอนมันขึ้นมา เห็นไหม แล้วอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เราสอนใจเราเอง แล้วเราสอนใจเราเองนะ ไม่ต้องให้อาจารย์คอยติ อาจารย์คอยเตือน อาจารย์ไม่น่าว่าอย่างนี้เลย แต่ถ้าเราบอก เออ เราผิด ไม่มีใครว่าเรา เราบอกเราผิด
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ แม้แต่สมาธิก็สมาธิของเรา ปัญญาก็ปัญญาของเรา แล้วผลที่เกิดขึ้นมานะมันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นการกังวานกลางหัวใจ มันเป็นผลงานของเรา มันเป็นสุขจริงๆ ในใจของเรา ไม่มีใครยื้อแย่งไปได้เลย ไม่มีใครจะให้ค่าสูงหรือต่ำได้ เราเป็นคนรู้เอง เห็นเอง เป็นสมบัติของเราเอง เอวัง