เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๙ ส.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ถ้าทางโลกเห็นไหม ทางโลกต้องแข่งขัน เวลาทางโลกแข่งขัน มันมีปัจจัยตัวแปรมากมายเลย แต่ถ้าทางธรรมนะ เราแข่งขันกับตัวเอง เวลาทางโลกเขาบอก เขาแข่งขันกับตัวเขาเอง ทุกอย่างนี้เราได้เปรียบเขา จนไม่รู้จะแข่งขันกับใคร

แข่งขันกับตัวเอง.. แข่งขันคือการคิดส่งออกหมด แต่ถ้าทางธรรม เห็นไหม ทางธรรม มันทวนกระแสนะ มันต้องย้อนกลับนะ ดูสิ ดูอย่างเด็กๆ เห็นไหม เด็กๆ กว่าเราจะให้มันโตขึ้นมา เราต้องให้มันดูแลตัวมันเองใช่ไหม เราต้องให้รักษาตัวเขาเองได้

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าทางธรรมนี้เราจะมีจุดยืนของเรา เราจะไม่ทุกข์ของเราจนเกินไป ทางโลกมันทุกข์เป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้นแหละ ทางโลกเขาทุกข์เป็นธรรมชาติ ดูสิ ฝนตกแดดออกนี้เป็นธรรมชาติของมัน

เวลาพระถือธุดงควัตรนี้เพื่ออะไร พระถือธุดงควัตร ถ้ามองแล้วนี่มันไม่เห็นมีอะไรเลย มันเป็นของเล่นๆ แต่ถ้ามองถึงความเป็นจริงนะ เพราะจิตใจมันละเอียดอ่อนไง

จิตใจนี้มันละเอียดอ่อนมากนะ เราขัดใจไง จะไม่ได้ตามความปรารถนา จิตใจของเรานี้มันปรารถนาสิ่งใด เราขัดแย้งมัน เราไม่ต้องการให้มันได้ตามความปรารถนา คือการเอาชนะตนเองไง การเอาชนะตนเองนะ ความคุ้นเคย ความคุ้นชินของใจ มันชอบสิ่งใด มันจะเอาสิ่งนั้นปรนเปรอมันนะ

ดูสิ เวลาความคิดเรา เราคิดของเราว่ามันเป็นความลับ แล้วมันเป็นความลับไหม ? มันไม่เป็นความลับกับเราเลย ถ้าเราคิดบ่อยครั้งเข้า ทำบ่อยครั้งเข้า มันจะต้องคิดให้มากขึ้น ต้องทำให้มากขึ้น การขัดเกลากิเลสไง การขัดเกลากิเลสคือตั้งสติ ถ้าการขัดเกลากิเลส มันจะขัดเกลากิเลสได้ก็ต่อเมื่อเราเห็นโทษหรือเห็นประโยชน์ของมัน

ถ้าเราไม่เห็นโทษหรือไม่เห็นประโยชน์ของมัน เห็นไหม ประเพณีวัฒนธรรมไม่ใช่ธรรม ! แต่การถือธุดงควัตร ข้อวัตรปฏิบัติเป็นอริยประเพณี... อริยประเพณี เวลาทำแล้วได้สิ่งใดมา ได้ความเหนื่อยอ่อนมา ได้เหงื่อไคลมา ได้แต่ความลำบากมา ความลำบากนี้มันลำบากเพื่อใคร

ความลำบากมานะ.. ถ้าทุกข์แล้วมันจะสุข ถ้าสุขแล้วมันจะทุกข์ ทุกข์สิ้นไป มันจะเกิดความสุข.. ถ้ามีแต่ความสุขนะ แล้วความสุขหมดสิ้นไป มันจะเกิดความทุกข์.. ถ้าเราเกิดความสุขสบายขึ้นมา มันจะมีแต่ความทุกข์นะ เราจะมีแต่ความทุกข์

ดูสิ...มันจะปรนเปรอความพอใจของตัวขนาดไหน มันจะไม่มีความพอหรอก กิเลสถมไม่เต็ม ตัณหาความทะยานอยากถมไม่เต็ม เราพยายามจะหาความสุข เราคิดว่ามันเป็นความสุข แล้วมันไม่สุขหรอก ทุกข์ทั้งนั้นแหละ.. แต่เวลาพระเราขัดเกลากิเลส อดนอนผ่อนอาหารเป็นความทุกข์ไหม

เวลาเราคิดกันเองเราบอกว่า “เป็นอัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้ลำบากเปล่า” มันลำบาก ที่ไหนล่ะ ? มันลำบากกิเลสไง กิเลสมันไม่พอใจ ถ้าเราขัดแย้งมัน มันไม่พอใจทั้งนั้นแหละ มันจะเอาแต่ความสะดวกสบายของมัน

ถ้ามันจะเอาสะดวกสบายของมัน ถ้าเป็นคนอื่นทำเราหรือสังคมเอารัดเอาเปรียบเรา สังคมนี้มีชนชั้น สังคมเหยียบย่ำกัน สังคมไม่ดีทั้งนั้นเลย แต่ความคิดเรา ความคิดหยาบ ความคิดละเอียด มันมีชนชั้นไหม ?

ถ้าเราเห็นคุณประโยชน์นะ เราทำอะไรก็ได้ ถ้าเราไม่เห็นคุณประโยชน์จากการดัดแปลงตน จากการขัดใจตน ขัดใจเราคือขัดใจกิเลสนะ กิเลสมาจากไหน ? ความทุกข์มันมาจากไหน ? ความทุกข์มันมาจากเรา แล้วความสุขมันมาจากไหน ?

ความสุขคือการเพ้อเจ้อ เพ้อฝัน ความสุขคือการเพ้อฝัน ไม่ใช่ความจริง แต่ความทุกข์สิ...เป็นความจริงเพราะมันบีบคั้นใจ ความทุกข์นี้มันบีบคั้นใจมาก แต่ความสุขมันบีบคั้นยาก มันลอยลมมาไง มันลอยมาชั่วคราวแล้วมันก็พัดไป นั่นคือความสุขของโลกนะ แต่ถ้าจิตสงบ ความสุขจริงๆ นะ มันผงะเลยนะ

คนเรานี่ถ้าจิตสงบขึ้นมา มันจะตื่นเต้นกับความสงบของใจมาก สิ่งนี้หาซื้อไม่ได้ สิ่งใดแม้แต่ในพระไตรปิฎก ในธรรมะที่เราไปศึกษาธรรมกันนี้ เห็นไหม

“ความสุขเท่ากับจิตสงบไม่มี ความสุขเท่ากับความปล่อยวางไม่มี”

แล้วก็ว่าว่างๆ ปล่อยวางกัน เพ้อเจ้อทั้งนั้นเลย ! มันไม่เป็นความจริงเพราะอะไร เพราะไม่รับรสของธรรมะจริง ถ้าได้รสของธรรมะจริงนะ มันจะผงะ มันจะฝังใจมาก มันพูด ไม่ออกเลยล่ะ มันเป็นสิ่งที่จะพูดออกมาจากโลกนี้ไม่ได้เลย

แต่เราก็พยายามเปรียบเทียบกันออกมาว่าว่างๆ ว่างๆ เราก็ว่าง..

เด็กๆ มันวิ่งเล่นกันอยู่นี้มันก็ว่างนะ ปล่อยให้มันวิ่งเล่นนี่มันว่างของมัน แล้วเราบอกมันว่างไหม.. มันว่าง ถ้าเด็กมันบอกว่างแล้วเราเชื่อเด็กนี่ เด็กนี้เป็นพระอรหันต์หรือยัง ?

เราฟังธรรม พุทธศาสนาบอกให้ปล่อยวางๆ...

เด็กมันจะสอนแม่มันนะ “แม่ก็ปล่อยวางสิ แม่อย่าเอ็ดหนูสิ แม่เอ็ดหนูทำไม แม่ก็ปล่อยวางสิ..”

มันปล่อยวางของใครล่ะ ? มันปล่อยวางของกิเลสไง ปล่อยวางของการเพ้อเจ้อ เพ้อฝันไง เพราะเราไม่เคยได้สัมผัสรสแห่งธรรมจริง ถ้าเราได้สัมผัสรสแห่งธรรมจริงนะ เราจะรักษาตัวเอง ถ้าคนได้สัมผัสจริงนะ มันจะถนอมรักษา

ศีล สมาธิ ปัญญามันจะเกิดมาได้จากอะไร ? เกิดมาได้จากความปกติของใจ.. เวลาเรา คึกคะนอง เราแสดงออก ร่างกายเราแสดงออกเต็มที่ ใจมันคึกคะนองเหมือนกับมันใช้พลังงานไปหมดเลย แล้วเวลาเราจะเอาความสงบเข้ามานี่ เราต้องมาควบคุมมัน

แต่เรื่องปกติ ความดำรงชีวิตของเรา เราสงบเสงี่ยมของเรา เราเรียบร้อยของเรา มันไม่ใช้ออกมา เราคุมใจไว้ตั้งแต่เริ่มก่อนประพฤติปฏิบัติ

ถ้าใจไม่คึกคะนอง เวลาเราเข้ามานั่งสมาธิภาวนามันจะง่ายขึ้น การนั่งสมาธิภาวนามันจำเป็นขนาดไหน เวลาทำบุญ ทุกข์เราก็ทุกข์กันพอแรงอยู่แล้ว ทุกคนจะพูดอย่างนี้นะ ว่า “ชีวิตนี้ก็ลำบากพอแรงอยู่แล้ว ทำไมต้องมาทรมานตนอีก”

เพราะชีวิตนี้มันลำบากอยู่แล้วไง มันถึงต้องหาสิ่งที่มาผ่อนคลายมันไง หาสิ่งที่มันเป็นความจริงไง เพราะโลกนี้มันของสมมุติใช่ไหม สมมุตินี้มันจริงตามสมมุตินะ

ถ้าสมมุตินะ มันบอกเจ็บไข้ได้ป่วย.. มึงอย่าเจ็บสิ

ทุกข์.. อย่าทุกข์สิ มันจริงตามสมมุติ มันมีจริงๆ ! แล้วสมมุติแล้วบัญญัติ

บัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “มันเป็นอย่างนี้เอง มันเป็นอย่างนี้เอง” เพราะมันเป็นขันธ์ ๕ มันเกิดดับโดยธรรมชาติของมัน แต่เราไม่ธรรมชาติไง แล้วเราก็บอกว่าเวลาประพฤติปฏิบัติเราก็สมมุติซ้อนเข้าไปอีก ว่า “ว่างๆ ว่างๆ” เห็นไหม

แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันเป็นความจริง ในตำรา ศีล สมาธิ ปัญญามันก็เป็นชื่อ แต่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะต้องตั้งสติของเรา สติมันก็เป็นตัวอักษร.. ส.เสือ ต.เต่า สระอิ ก็เป็นสติ แต่ความระลึกรู้อยู่ มันอยู่ที่ไหน ? สติมันอยู่ที่ไหน ? แล้วมันยับยั้งใจได้อย่างไร ?

ถ้ามันยับยั้งใจได้นะ ความคิดของเราๆ ยับยั้งได้มันมหัศจรรย์มากนะ มันจะเห็นความคิด แต่เดิมความคิดพอมันคิดขึ้นมาแล้วมันจะลากเราไป เราจะตื่นเต้นไปกับความคิด ยิ่งคิดโครงการไหนได้ยิ่งพอใจ ยิ่งทุกข์ร้อนไปกับมันนะ

แต่ถ้าเรามีสติ มีปัญญาเกิดขึ้นมา ความคิดมันจะทันความคิดเรา พอความคิดมันทันความคิดเรา ปัญญาในศาสนาเกิดแล้ว เพราะปัญญาในศาสนาคือปัญญารอบรู้ในกองสังขาร.. ความคิดคือสังขารมันปรุงมันแต่งขึ้นมา แล้วความคิดมันตามความคิดทัน มันควบคุมความคิดได้ มันมหัศจรรย์นะ

พอเริ่มมหัศจรรย์ขึ้นมา มันเห็นคุณเห็นโทษแล้ว พอเห็นคุณเห็นโทษขึ้นมาแล้ว เราจะไปหาที่ไหน ? ความสุขจะไปหาที่ไหน ? ความสุขที่เขาไปพักผ่อน เขาไปหาความสุขกัน เขาหาความสุขเพื่อความสบายใจของเขา แล้วนี่มันควบคุมได้ มันยิ่งกว่าสบายใจอีก เพราะอะไร เพราะมันไม่มีสิ่งที่กระตุ้น ไม่มีสิ่งใดเร่าร้อนที่เกิดมาจากใจ ไม่มีอะไรเผาใจเลย

นี้มันสงบชั่วคราวนะ สิ่งที่มันสงบชั่วคราว นี่ไงที่ว่าเราก็ทุกข์อยู่แล้วทำไมเราจะต้องมาทุกข์อีก เพราะเราทุกข์อยู่แล้วสิ..

ในศาสนาพุทธเรานะ ถ้าเราเกิดมาเป็นผู้ชายแล้วเราไม่ได้บวช เห็นไหม เกิดมาเหยียบแผ่นดินผิดเลย ! เพราะอะไรเพราะสิ่งนี้มันมีอยู่ เราอยู่รักษาได้ เหมือนสมบัติเลย ดูสิ...เราทำธุรกิจกัน เราไปหาเงินหาทองนี่หามาจากไหน หามาจากตลาดใช่ไหม

แล้วนี่หัวใจมันอยู่กลางหัวอกเรา มันอยู่ในร่างกายเรา มันเป็นสมบัติภายในของเรา เหมือนสมบัติในบ้านเราๆ ไม่เห็นคุณค่าสมบัติในบ้านเรา เราไปเห็นสมบัตินอกบ้านเราไง เราไปเห็นสังคม ไปเห็นสมบัติข้างนอก เห็นความสงบสุขจากสังคม แต่ในครอบครัวของเราสงบสุขไหม

นี่ก็เหมือนกัน เราไปเห็นสมบัติจากภายนอก แต่เราไม่เห็นสมบัติจากหัวใจของเราไง เราไม่เห็นหัวใจของเรา เราไม่รู้จักหัวใจของเรา เวลาจับไป เราชื่ออะไร เราชื่อนาย ก. ไปเปลี่ยนชื่อมันก็เป็นนาย ข. แล้ว..

สมมุติชื่อข้างนอกมันเป็นข้างนอก แต่ความรู้สึกจากภายใน ตัวจิต ตัวภพ ตัวความรู้สึกนี้ ถ้ามันจับได้มันเห็นได้ พอมันเห็นได้ นี่ไงสมบัติ สิ่งนี้เป็นสมบัติขึ้นมา แล้วถ้ามันแก้ไขได้ มันเปลี่ยนแปลงได้..

ดูสิ...เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอก “นิพพานคงที่ ! นิพพานอนิจจัง ! สิ่งใดเป็นอนัตตาสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา” สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา..

อนัตตามันไม่มี แล้วนิพพานคงที่ได้อย่างไร ? ก็คงที่ที่เป็นนามธรรม ที่มันไม่เปลี่ยนแปลง

แล้วมันไม่เปลี่ยนแปลงมันเกิดมาจากไหน ? ก็เกิดมาจากหัวใจ

แล้วถ้าบอกคงที่.. คงที่แล้วพูดถึงสมมุติขึ้นไป มันก็ต้องพิสูจน์กัน.. พอพิสูจน์...คงที่คืออัตตา

อัตตาคือกิเลส อัตตาคือตัวตน..

แต่การคงที่ของนิพพานมันมีของมัน.. แต่ไม่ใช่อัตตา ไม่มีสิ่งใดเลย

คนที่จะพูดได้มันต้องรู้จริง พอรู้จริงเห็นจริงมันพูดของมันได้ เพราะอะไร เพราะมันเกิดมาจากสิ่งที่มีอยู่ ถ้าสิ่งที่ไม่มีอยู่ สิ่งที่ไม่มีเหตุไม่มีผล มันจะเป็นจริงได้อย่างไร มันต้องมีเหตุมีปัจจัยมานะ.. มันมีเหตุมีปัจจัย มีความเป็นไป แล้วมีสิ่งที่พิสูจน์ได้ คงที่ได้ พูดได้ เปรียบเทียบได้

ผู้รู้กับผู้รู้คุยกันรู้เรื่อง.. แต่ผู้ไม่รู้พูดเท่าไหร่มันก็ไม่รู้..

สิ่งที่มีอยู่อวิชชามันปกคลุมไว้ พอบอกเป็นนามธรรมปั๊บ นามธรรมมันจับต้องไม่ได้ ถ้านามธรรมจับต้องไม่ได้ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ที่เขาคิชฌกูฏ เทศน์กับหลานพระสารีบุตร

“ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึก เพราะอารมณ์ความรู้สึกของเธอก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง”

เป็นวัตถุที่จับต้องได้เลย ! อารมณ์ความรู้สึก ความคิด นามธรรม สิ่งที่ว่าไม่มีๆ นี้มันจับต้องได้

จับต้องด้วยอะไร ? จิตจับจิต ! เอาสติสัมปชัญญะจับมัน ถ้าจับมัน พอจับมันแก้ไขมัน แล้วนี่ไง

“ทำไมต้องทำ ทำไมต้องทำ ชีวิตนี้ก็ทุกข์อยู่แล้วทำไมต้องมาทุกข์อีก..”

ก็ทุกข์เพื่อจะแก้ทุกข์ไง เพราะมันทุกข์น่ะสิ มันถึงต้องแก้ไข ถ้ามันไม่แก้ไข ถ้ามันไม่ทุกข์ มันก็ไม่ต้องมาแก้ไขใช่ไหม เพราะนี่มันทุกข์อยู่แล้ว แล้วมันจะทุกข์อยู่อีก.. ทุกข์อยู่อีก..

สิ่งที่เกิดขึ้นมาในชีวิตประจำวันเรานะ มันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย ปฏิเสธไม่ได้หรอก คนเกิดมาต้องมีอาหารดำรงชีวิต สิ่งที่เป็นปัจจัยเครื่องอาศัย เราก็อาศัยเขา เราก็หาแสวงหามา เป็นหน้าที่การงาน

แต่คุณสมบัติของใจที่เกิดมานี้ มีโอกาสชาติหนึ่ง เกิดมาแล้วก็ตายไป แล้วก็ว่าตายแล้วสูญ ตายแล้วก็สิ่งที่ไม่มี ตายแล้วก็แล้วกัน เกิดมาชีวิตนี้ก็ทำตัวให้ดีที่สุด.. ดีที่สุดดีของโลกไง

ถ้าดีของโลกนะ คนเกิดมาดี นิสัยดี สิ่งที่ตกแต่งมาดี หัวใจที่เป็นสิ่งที่ดีมา มันก็ดีอยู่กับโลกเนี่ย แต่มันจะดีแค่ไหนล่ะ.. ถ้ามันจะดีกว่านี้นะ มันดีกว่าที่เป็นไป ถ้ามันดีกว่านั้นไป สิ่งที่ดีกว่านี้มันยังทำได้

ถ้าทำได้ขึ้นมาจะเป็นสมบัติของเรา สิ่งที่เป็นสมบัติของเรา สมบัติมันอยู่ที่เรา มันเป็นความไปของเรา มันต้องต่อสู้กับเรา มันจะแก้ไขเรา มันเป็นสมบัติจากภายใน มันแก้ไขได้.. มันหาได้ มันเป็นไปได้ ! สิ่งที่เป็นไปได้

เพราะถ้าสิ่งที่มันไม่มี มันก็ต้องเป็นไปไม่ได้ใช่ไหม มันต้องหาไม่ได้ใช่ไหม.. สิ่งนี้มันมี มันเป็นไปได้ มันถึงหาได้ เราเกิดมาแล้วหาได้ แล้วพอมันตายไปล่ะ ตายไปไปเกิดในชาติใหม่ ไปเกิดในสถานะใหม่

ใครว่าไม่มีๆ มันเรื่องของคำพูด แต่ความจริงมันคือความจริง ความจริงที่มันเป็นไปเพราะมันมี ! เพราะมันมี ! ถึงบอกว่ากิเลสมันมี เราจะแก้ไข เราทำความสงบของใจเข้ามา.. เพราะมันมี มันเห็น มันจับต้องได้ มันถึงแก้ไขได้ ! เพราะฉะนั้นคนเห็นจิตไง.. คนเห็นจิตตามความเป็นจริง มันถึงแยกแยะได้

จิต.. ตัวจิตคือตัวภพ สิ่งที่เป็นความคิด เป็นอาการของมัน แล้วสิ่งที่เป็นอาการ มันอาศัยกันแต่ไม่ใช่อันเดียวกันใช่ไหม มันถึงละได้ใช่ไหม แต่ถ้ามันเป็นอันเดียวกันมันจะละได้อย่างไร แต่พอมันสะอาดแล้วมันไม่มีสิ่งอาศัย มันเป็นความจริงของมัน.. พอเป็นความจริงของมัน มันเป็นความจริงแล้ว มันโดนแก้ไขแล้ว แล้วมันจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรอีก.. มันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มันถึงอยู่ที่เรา

มันมีอยู่.. เราเกิดมาแล้ว เกิดมาในพุทธศาสนา ถึงจะทุกข์ก็ทุกข์.. การทำ ดูสิ... มันทรมานตนไหม เวลาทรมานตน เวลาภิกษุที่สิ้นกิเลสแล้วไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่า “ใครทรมานมา.. ใครทรมานมา” ครูบาอาจารย์ของเราทรมานเรามา นั่นเป็นชั้นหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วเราต้องทรมานเราเอง

ศีล สมาธิ ปัญญาเกิดจากเรา ครูบาอาจารย์ท่านเพียงแต่เป็นคนชี้ทาง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทางนะ แต่การกระทำมันต้องเกิดมาจากเรา ถ้าเรามีความจงใจ มีความตั้งใจ มันหยาบๆ นะ งานอาบเหงื่อต่างน้ำนี้ ดูสิ การบริหารจัดการในองค์กรหนึ่ง ผู้ที่ทำงานใช้กำลัง ผู้ที่บริหาร ผู้ที่กำหนดนโยบาย มันเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา

นี่ก็เหมือนกัน เรื่องของทำทาน หาวัตถุมาทำบุญยังยากเลย แล้วจะมาหาสิ่งที่เป็นนามธรรม ที่ตั้งสติขึ้นมา ทำสมาธิขึ้นมาให้มันคงที่ของมันอยู่ได้ แล้วเอาออกมาทำงานอีก คือ วิปัสสนาขึ้นมาแล้วจนทำลายกิเลสจนสิ้นกิเลสไป

มันรู้จริงเห็นจริง ศาสนามันมีแก่นมีสารไม่ใช่ของเล่น เพราะเราเห็นว่าเป็นของเล่น ของสุดวิสัย ของทำไม่ได้ พวกเราเลยทำเล่น พระทั่วไปก็เลยทำเล่นๆ นู้นก็ไม่มี พระเองนี่ก็ไม่เชื่อเรื่องมรรคผลนิพพาน

ถ้าไม่เชื่อมรรคผลนิพพาน ทุกข์ทำไม ? กลัวผีทำไม ? กลัวทุกอย่างทำไม? วิตกกังวลทำไม ?.. การวิตกกังวล ทุกอย่างที่มันเป็นการแบกรับภาระนี้มันปลดเปลื้องได้ ถ้ามันปลดได้มันปลดเปลื้องอย่างไร ?

ถ้ามันปลดเปลื้อง.. ศาสนาถึงสำคัญตรงนี้ ถ้ามันทำจริงได้จริงนะ ศาสนามีมรรคมีผล มีเหตุมีผล ไม่ใช่ลอยๆ มาที่ทำอะไรไม่ได้เลย นี่เราถึงตั้งใจ จงใจ ถ้าเราจงใจ เราตั้งใจ เราจะได้ของจริง ถ้าทำเล่น.. เพราะทำเล่น เพราะไม่เห็นเป็นความจริง ทำเล่นๆ มันก็ได้เล่นๆ มันก็เป็นพิธีกรรมไง เป็นประเพณีวัฒนธรรม

“ประเพณีวัฒนธรรมไม่ใช่ตัวธรรม !”

ตัวธรรมคือตัวสัจจะ ! แต่ตัวประเพณีวัฒนธรรมคือตัวพาหะ คือตัวเครื่องดำเนินที่จะเข้าไปหาสู่ความจริง พิธีกรรมทั้งหมดจะเข้าไปสู่ความจริง.. ทีนี้พิธีกรรมทั้งหมด เราไปเอาพิธีกรรมนั้นเป็นความจริง แล้วเราจะต่อเข้าไปหาความจริงได้อย่างไร พิธีกรรมเป็นการจะเดินเข้าไปหาสู่ความจริงเท่านั้น ตัวพิธีกรรมถึงไม่ใช่ความจริง พิธีกรรมวัฒนธรรมถึงไม่ใช่ธรรม

ตัวธรรมคือตัวหัวใจ คือตัวรู้จริง คือตัวทำจริง.. วัฒนธรรมทั้งหมด ทุกอย่างทั้งหมดเกิดขึ้นมาจากคน เกิดขึ้นมาจากผู้ที่มีวุฒิภาวะเขาสั่งสอนไว้ สิ่งนี้เป็นความจริงทั้งหมด แต่เป็นความจริงของสมมุติ ความจริงของวิมุตติ ความจริงของความจริงมันมีกับเรานะ เราถึงต้องตั้งใจ ถ้าทำจริงจะได้จริง

การขัดเกลาการต่อสู้ มันจะทุกข์ขนาดไหนมันก็ต้องยอมรับ เพราะมันเป็นทางออกทางเดียว เป็นสัจจะ เป็นอริยสัจจะแล้วจะเข้าถึงเรา จะสิ้นจากกิเลสเพราะการกระทำของเรา เอวัง