เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓ ม.ค. ๒๕๕o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โลกเขาว่าแมวเก้าชีวิตนะ แมวเก้าชีวิตหมายถึงว่า มันรู้จักล้มรู้จักลุกไง พวกเรานี่ประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันไม่ได้ผล เห็นไหม คำว่าไม่ได้ผลนี่ เราจะเอาทีเดียวให้ได้ผลนะ ดูสิ เวลาหุงข้าว เราอุตส่าห์หุงข้าว เห็นไหม สมัยก่อนเราหุงข้าวเราต้องเช็ดน้ำ คนที่จะหุงข้าวได้สวย คนที่จะหุงข้าวได้งามนี่ เขาต้องฝึกของเขา เขาต้องมีความชำนาญของเขาใช่ไหม เดี๋ยวนี้การทำอะไรไม่ได้วัดกันที่ฝีมือเลย เพราะกดปุ่มอย่างเดียว สมัยโบราณเราหุงข้าวเช็ดน้ำกัน คนนี้หุงข้าวดี คนนี้หุงข้าวไม่ดี

อันนี้ก็เหมือนกัน นี่ขนาดหุงข้าวหุงปลาหาอาหารมากินกันเองนะ แล้วนี่การประพฤติปฏิบัตินี่ ถ้าประพฤติปฏิบัติมันก็เหมือนเราหุงหาอาหารนี่ เราต้องหมั่นทำชำนาญไง ถ้ามันหุงข้าวแล้วข้าวมันไม่สวยแบบเขา ข้าวมันไม่ดีแบบเขา เราก็ต้องสังเกตสิว่ามันเป็นเพราะไฟ หรือไม้ เป็นเพราะไฟ เป็นเพราะน้ำ เป็นเพราะข้าว เป็นเพราะอะไร เราก็สังเกตอย่างนั้น เราก็ทำให้ได้ดีเหมือนเขา

ไอ้นี่การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ในเมื่อเราปฏิบัติของเราแล้ว เราก็ปฏิบัติ มันก็หุงข้าวเหมือนกันนั่นแหละ ข้าวเราดิบบ้าง สุกบ้าง เราก็กินของเราไป เพราะอะไร เพราะการประพฤติปฏิบัติของเรามันยังไม่สมดุล ไม่สมดุลคือไม่มรรคสามัคคี ถ้ามรรคสามัคคีเมื่อไหร่ มันชำระกิเลสออกไปแล้วมันก็เป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม มันก็เหมือนเราตักข้าวใส่จาน เราได้กินข้าว เรากินอาหาร เราได้อิ่มหนำสำราญของเรา เห็นไหม

นี่แต่กว่าจะได้มา แต่ละบุคคลมันต้องฝึกฝนขึ้นมาเพราะอะไร เพราะมันอยู่ที่ความชำนาญ อยู่ที่ความชำนาญ..หนึ่ง อยู่ที่ความใจรักนะ ดูสิ บางคนไม่ใจรัก เราไม่ต้องทำก็ได้ คนอื่นทำให้เราได้ ใช่ ในการพึ่งพาอาศัยของโลกพ่อแม่ก็เลี้ยงดูลูก หมู่คณะเพื่อนฝูงก็จุนเจือกัน มันเป็นเรื่องธรรมดา

แต่ถ้าเป็นเรื่องการประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลยว่าเราเป็นผู้ชี้ทางให้เท่านั้นนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติต้องจัดการได้เอง เห็นไหม นี่เวลาเราเจือจานกัน เรามาฝากฝังกัน แต่เวลาทุกคนจะกินอาหาร ทุกคนต้องตักใส่ปากของตัวเองนะ ทุกคนต้องใช้ฟันเคี้ยวบดกินนะ ทุกคนต้องกลืนลงในคอของตัวเองใช่ไหม ให้คนอื่นกลืนแทนเราได้ไหม มันกลืนแทนเราไม่ได้หรอก การช่วยเหลือกัน มันคือช่วยเหลือเจือจานกันจากข้างนอก

แต่การกระทำของเรานี่ เรื่องของธรรมนี่ หัวใจมันต้องได้สัมผัส เห็นไหม เป็นสันทิฏฐิโก นี่สันทิฏฐิโกความรู้แจ้งในหัวใจ เห็นไหม เป็นปัจจัตตัง แต่เวลาเราศึกษาธรรมกัน เราศึกษาปริยัติ เราศึกษากันนี่ เราฟังครูบาอาจารย์นี่ อย่างนี้เขาว่าชุบมือเปิบ เห็นไหม ฟังธรรม ฟังธรรม ธรรมนี้มาจากไหน ธรรมนี้มาจากใจ เห็นไหม ถ้าใจนั้นมันบริสุทธิ์ ธรรมนี้ออกมาบริสุทธิ์มาก หลวงปู่มั่นบอกไว้ในมุตโตทัย เห็นไหม ธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่สุดยอดเลย แต่สถิตในที่ใด คือผู้สื่อไง ถ้าผู้สื่อที่สะอาด นี่สื่อได้มากสื่อได้น้อยขนาดไหน มันก็จากความจริงอันนั้น ความจริงในหัวใจอันนั้น

ผู้สื่อสื่อไปอย่างหนึ่ง ผู้รับตีความหมายไปอย่างหนึ่ง เห็นไหม เพราะอะไร เพราะมันเป็นสมมุติ สมมุติบัญญัติ เห็นไหม สมมุติบัญญัติ บัญญัตินี่มันเป็นศัพท์ เวทนาคืออะไร วิญญาณคืออะไร วิญญาณก็ว่าวิญญาณคือผี ไม่ใช่หรอก วิญญาณคืออารมณ์กระทบเรานี่ไง เวลาเสียงกระทบหูนี่ความรู้สึกเกิดขึ้น นี่โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ วิญญาณต่างๆ ที่กระทบ เห็นไหม วิญญาณรับรู้อย่างนี้ วิญญาณในขันธ์ ๕ นี่เป็นบัญญัติ แต่ในความสามัญสำนึกเราวิญญาณคือผี วิญญาณคือสิ่งภายนอก วิญญาณภายนอก วิญญาณภายใน เห็นไหม นี่เป็นศัพท์ สมมุติบัญญัติ

แล้วพูดถึงผลนี่ ผลมันเป็นโลกุตตรธรรม โลกุตตรธรรมไม่ใช่โลกียธรรม โลกียธรรมคือธรรมของโลกเรานี่ เราสื่อสารกับโลก เห็นไหม ดูสิ เด็กของเรานี่ เราให้ฝึกพูด หัดเดิน หัดพูด เห็นไหม เราพูดแล้วเขาก็ไม่เข้าใจ ต้องพูดซ้ำพูดซาก อันนี้สีนั้นนะ อันนี้เขาเรียกว่าไอ้นี้นะ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เห็นไหม นี่โลกียปัญญามันจะต้องสื่อกันขนาดนี้เลย เห็นไหม แล้วโลกุตตรปัญญามันละเอียดเข้าไปขนาดไหน ถ้าละเอียดเข้าไปขนาดนั้น

นี่การฝึกฝนอย่างนี้ เห็นไหม เหมือนกับที่เรากินอาหารเข้าไปในปากนี่ คำว่าหวาน เห็นไหม เขาก็ตีตัวอักษรว่าหวานนะ นี่ลูกนะ หวานนะ หวานนะ แต่ถ้ามันเคยกินแล้ว พอบอกว่าลูกนี้คือน้ำตาลนะ ไม่ต้องบอกว่าหวาน ลูกจะเข้าใจว่าหวาน เพราะอะไร เพราะลูกเคยกิน เห็นไหม นี่สันทิฏฐิโกเป็นอย่างนี้ไง การชำระกิเลสมันเป็นสภาวะแบบนั้น

ถ้าเราไปเป็นแมวเก้าชีวิต จะประพฤติปฏิบัติแล้วมันจะผิดพลาดบ้าง มันจะมีอุปสรรคบ้าง เราต้องเข้มแข็งนะ ถ้าเราไม่เข้มแข็ง เราจะไม่มีจุดยืนของเรา เราจะทำอะไรของเรา เราจะทำอะไรของเราทำแล้วจะให้ได้เลยนี่ เป็นไปได้อย่างไร เป็นไปได้อย่างไร ดูสิ คนประกอบสัมมาอาชีวะ เขาตั้งบริษัทกัน บางบริษัทตั้งมาแล้วต้องรอเวลา ต้องบริหารจัดการ กว่าจะคุ้มทุน เห็นไหม บางบริษัทยังไม่ทันตั้งเลยนะ ลูกค้ามาจองกันเลย เห็นไหม นี่อย่างนี้เขาเรียกว่ามันเป็นกาล เป็นเวลา เป็นอำนาจวาสนา อำนาจวาสนานี่แข่งกันไม่ได้ แต่ทุกคนมีหัวใจ เห็นไหม ทุกคนเป็นญาติกันโดยธรรม มันมีความรู้สึกอย่างนี้ เราสามารถทำได้ เห็นไหม

นี่สิ่งที่ทำได้ มีอำนาจวาสนามากมันก็ประสบความสำเร็จเร็ว มีอำนาจวาสนาพอประมาณมันก็ประสบผลสำเร็จปานกลาง มีอำนาจวาสนาน้อยแต่ก็ประสบความสำเร็จได้ ประสบความสำเร็จได้เพราะอะไร เพราะมันมีเหตุมีผลไง มันมีเหตุมีปัจจัยไง ในเมื่อเราหุงข้าว เราตั้งไฟของเรา เรารักษาไฟของเรา เห็นไหม เรามีหม้อ เรามีน้ำ เรามีข้าว เรามีทุกอย่างพร้อมนี่ เรารักษาของเรา มันต้องเดือด มันต้องสุก แต่จะสุกขนาดไหน เราตั้งไฟไว้ เราเที่ยวไปดับไฟ เอาน้ำสาดไปที่ไฟ อย่างนี้มันเข้าใจผิดไง มันเป็นอวิชชา มันเป็นความเข้าใจผิดว่า ถ้าเอาน้ำสาดไปที่กองไฟข้าวอาจจะดีขึ้น

นี่ก็เหมือนกัน การประพฤติปฏิบัตินี่ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น มันคาดหมายไป มันไม่เป็นความจริงเลย เหมือนเอาน้ำสาดไปที่กองไฟ เอาน้ำสาดที่กองไฟอุณหภูมิมันจะร้อนขึ้นมา มันจะได้สุกเร็ว จะเป็นไปได้อย่างไร แต่ถ้าเราทำไปตามสัจจะของเขา สัจจะของเขานะ ตามเหตุผลของเขานี่ มันจะต้องเป็นสภาวะแบบนั้นแน่นอน นี่เราก็หมั่นรักษาของเราไง รักษากองไฟ รักษาภาชนะไม่ให้มันล้ม ไม่ให้มันต่างๆ รักษาให้ดี เห็นไหม แล้วเป็นไปไม่เป็นไป เห็นไหม สิ่งนี้มันมีเหตุมีผลของเขา

มีเหตุมีผลคืออะไร มีกายกับใจไง มีกายกับใจ เห็นไหม แล้วประพฤติปฏิบัตินี่กิเลสชำระกิเลสไม่ได้ ต้องเป็นธรรมชำระกิเลส ขณะที่ทำอยู่นี่ ธรรมนี่มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มัน เห็นไหม ทองคำที่อยู่ในแผ่นดิน ทองคำอยู่ในเหมืองนะ ไม่มีใครเป็นเจ้าของมันนะ มันเป็นสมบัติของสาธารณะ มันไม่มีใครจะเอาเป็นประโยชน์ของมันได้ เพราะมันอยู่ในเหมือง เหมืองมันลึกมาก มันขุดไม่ได้ เห็นไหม

หัวใจของเราอยู่ในร่างกายของเรา ความรู้สึกมันอยู่ลึกมาก เราขุดไม่ได้ เราทำอะไรไม่ได้ มันก็เป็นคาดหมาย เราก็นี่เหมืองทองคำ ที่นี่เป็นเหมืองทองคำ แต่ทองคำอยู่ในดินได้ประโยชน์อะไร ก็รู้ว่าเหมืองทองคำ ธรรมะก็เหมือนกัน เราว่าธรรมะเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ว่าธรรมะเหมือนกัน ธรรมะเหมือนกัน แต่มันไม่ไปเกิดกับเรา เห็นไหม ถ้ามันเกิดจากเรา เราจะเคี้ยวกินอาหารจากปากของเรา เห็นไหม ถ้าเคี้ยวกินอาหารจากปากของเรา เราก็ประพฤติปฏิบัติของเราไป เรามีความตั้งใจของเรา

เราต้องมีความตั้งใจ จะอุปสรรค จะมีขวากหนามขนาดไหน มันก็ต้องใส่ใจทำนะ เพราะอะไร เพราะเราเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธเราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน เห็นไหม พุทธปัญญา เมตตาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทำให้เราเข้ามาถึงตัวเราเองได้ เหมือนกับเราตีเทนนิส เห็นไหม หัดเล่นเทนนิสใหม่ๆ มันต้องตีเข้ากำแพงแล้วก็กระดอนกลับมา เรานี่หัดเล่นเทนนิสใหม่ๆ เลย จะไปแข่งกีฬากับเขานี่ เสริฟยังเสริฟไม่เป็นเลย แล้วจะไปเล่นเทนนิสแข่งกับใคร แต่ถ้าเราตีเข้าข้างฝา ตีเข้ากำแพงแล้วมันเด้งออกมา เพราะเราหัดฝึกฝนของเรา เห็นไหม นี่เราต้องตีฝึกฝนของเรา

นี่ก็เหมือนกัน เราฝึกฝนของเรา เราทำอะไรของเรา เราก็พยายามทำอะไรของเราขึ้นมา แต่ถ้าเมื่อไหร่เราเจอคู่แข่งขัน คือเจอการแข่งขันเทนนิส คือเจอกิเลสไง ถ้าเมื่อไหร่เราไปเจอสิ่งที่เป็นกิเลส เห็นไหม เช่น เราอยากจะมา มันไม่มา เราอยากจะไป มันไม่ไป เราประพฤติปฏิบัติขึ้นไปมันมีอะไรโต้แย้งขึ้นมา นี่เราจะไปเจอกิเลส พอเจอกิเลสมันก็มีคู่แข่งขัน มันก็มีความเพลิดเพลิน เห็นไหม การแข่งขัน การเล่นกีฬา ถ้ามีการแข่งขันเราได้รางวัล เราชนะได้รางวัลจะมีความสุขมาก ปัญญามันใคร่ครวญไป พอกิเลสมันสงบตัวลง มันจะปล่อยวางมาก มันจะมีความสุขมาก เห็นไหม

แม้แต่ความเข้าใจ ความเข้าใจว่าเราปรารถนาดีกับเรา ดูสิ ดูอย่างอาหารรสชาติจัดๆ เห็นไหม กินแล้วนี่รสชาติมันเอร็ดอร่อย แต่มันไปให้ผลข้างเคียงกับร่างกาย เห็นไหม อาหารรสชาติพอประมาณ อาหารรสชาติจืดขึ้นมาเป็นประโยชน์กับเรา นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะที่มันละเอียดเข้ามามันจะเป็นสภาวะแบบนั้นไง แต่ถ้าเป็นสภาวะของโลก เห็นไหม อู๊ย! ตื่นเต้นไปกับอารมณ์ความรู้สึก ตื่นเต้นไปกับรสชาติของความรู้สึกอันนั้น มันไม่เป็นธรรมหรอก มันเป็นเรื่องของโลกๆ แต่มันก็ต้องฝึกฝนเข้ามา เพราะมันเป็นทางผ่านไง เปลือกผลไม้ ถ้าเราจะกินผลไม้ ผลไม้ผลนั้นเราต้องแกะเปลือกใช่ไหม ถ้าเราไม่แกะเปลือก เราจะกินผลไม้นั้นไหม

นี่ก็เหมือนกัน อาการของใจที่มันตื่นเต้น ที่มันมีรสชาติ มันก็เป็นอาการของใจ เห็นไหม มันต้องทะลุผ่านอันนี้เข้ามา มันถึงจะเข้าไปถึงตัวใจไง ถ้าถึงตัวใจมันก็ได้ประโยชน์กับเรา เราถึงต้องหมั่นวิเคราะห์ หมั่นวิจัย ต้องหมั่นสังเกต สังเกตความรู้สึกของเรา เราประพฤติปฏิบัติจะล้มจะลุกขนาดไหน อันนั้นคืออำนาจวาสนา คือความเป็นไปของเรา อย่าน้อยเนื้อต่ำใจ ทำแล้วได้ผลประโยชน์ฝังไว้ที่ใจนะ มันก็เป็นผลประโยชน์ของเรา ถ้ามันไม่ได้ผลประโยชน์ ก็เหมือนกับเรามีประสบการณ์ เห็นไหม เราทำงานบริษัทไหน ตั้งบริษัทไหน เราทำธุรกิจอย่างไร เห็นไหม ถ้าล้มลุกคลุกคลาน อันนี้ก็เป็นประสบการณ์ของเรา เราผ่านมากี่ซับกี่ซ้อน ประสบการณ์กี่ปีกี่เดือนทำงานมา

นี่ไม่ให้น้อยเนื้อต่ำใจ ถ้าน้อยเนื้อต่ำใจมันเป็นเรื่องของกิเลส ถ้ากิเลสน้อยเนื้อต่ำใจแล้วก็ยุแย่ขึ้นมานะ พวกเราจะไม่มีกำลังใจ แล้วจะก้าวเดินไปไม่ได้ ถ้าเรามีกำลังใจ เราจะก้าวเดินไปได้ เห็นไหม นี่สัจธรรม สัจจะ อริยะสัจจะ สัจจะเข้ากับความจริง ถ้าหัวใจเราจริง เรามีสัจจะจริง เราจะทำได้เป็นประโยชน์ของเรา

ถ้ามันจะผิดพลาด นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดา คนทำงานมันก็ต้องมีผิดทั้งนั้นแหละ คนไม่เคยทำงานเท่านั้นถึงไม่เคยผิดพลาด เราจะทำงาน เราจะประพฤติปฏิบัติ แล้วงานจากข้างนอก งานจากข้างในจะไม่ผิดมันเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลย มันต้องผิดเกือบทุกองค์ ทุกองค์ก็ว่าได้เลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้ง ๖ ปี สัมผัสมา แล้วเราทำของเรา พยายามของเราขึ้นไป เพราะเราสร้างสม แค่เราเชื่อแล้วเราหันเข็มทิศ หันเหชีวิตเข้ามาเพื่อค้นคว้า อันนี้ก็บุญของเราแล้ว เพราะอะไร เพราะเป็นสมบัติอันที่ว่ามันจะติดกับใจไป สมบัติของโลกเขาหากันก็เป็นสมบัติของโลกนะ

สมบัติของใจหามานะ เห็นไหม แค่หันมาสนใจ แค่หันมาเพื่อทำของเรา อันนี้ก็เป็นบุญกุศลแล้ว แล้วประพฤติปฏิบัตินั้นได้ผลขึ้นมา มันก็เป็นอริยสัจที่เหนือสัจจะความจริงของโลก ที่ว่าสัจจะความจริงที่เขาต้องการนี่เป็นอริยสัจจะเลย ถ้าเกิดมาจากใจของเรานี่ผลงานของเรา เป็นความสุขของเรา จะติดใจของเราตลอดไป นี่คือผลของการประพฤติปฏิบัติ จะล้มจะลุกก็เป็นคติเตือนใจ แล้วได้ผลมาก็เป็นสมบัติของเราเอง ไม่ใช่สมบัติในเหมืองนั้น สมบัติในเหมืองต้องไปค้นคว้าขึ้นมา

สมบัติของเราสมบัติที่อยู่ในคอเรา เป็นสิ่งประดับที่อยู่กับตัวเรา เป็นสมบัติของเรา นี่เป็นสมบัติของเรา นี่ถ้ามีจุดยืน มีความคิด เราจะมีโอกาส เราอย่าน้อยเนื้อต่ำใจ อย่าท้อแท้อ่อนแอ ต้องเข้มแข็ง นี่ถึงจะเป็นชาวพุทธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น เอวัง