เทศน์บนศาลา

มโนกรรม

๒๖ พ.ย. ๒๕๔๓

 

มโนกรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เรื่องของธรรม ธรรมนี้จะชำระล้างเรื่องของโลกได้ โลกให้เป็นโลก กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างกันนะ กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน เกิดสูงเกิดต่ำ เราดูการเกิดสูงเกิดต่ำ เกิดมาทุกข์ยาก เกิดมาพอมี พอเป็นพอไป แต่เกิดมาแล้วไม่มีทุกข์ไม่มีเลย เกิดมานี้ทุกข์แน่นอน แต่คนเกิดมา ถ้ามีบุญกุศลอยู่เกิดขึ้นมายังทำให้เราพอประทังชีวิตไปด้วยความพอเป็นทุกข์พอไปได้

แต่ถ้าเกิดมาแสนทุกข์แสนยาก นี่กรรมพาเกิด กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน พอเรามองอย่างนี้แล้ว มองไปทางโลกเราก็น่าสลดสังเวชพอสมควร ถ้าคนมีหัวใจ คนคิดฝ่ายศีลธรรม มองออกไปเรื่องของโลกๆ เราก็ย้อนกลับมาชีวิตเรา ชีวิตเราก็เป็นแบบนั้น เป็นแบบนั้น มันจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน แล้วมีธรรม ธรรมนี้เป็นเครื่องส่องดูโลกไง เราส่องดู มองออกไป แล้วก็ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาให้เป็นสลดสังเวช ปลงธรรมสังเวช

ถ้ามีธรรมในหัวใจบ้าง มันมีเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจเรา ปลงธรรมสังเวชก็สังเวชในตัวเราด้วย เราก็เป็นอย่างนั้น เพราะเราไม่ประมาท เราถึงได้ไม่เป็นทุกข์ไปกับเขา ถ้าเราประมาท เราลืมตัวมันก็ต้องเป็นอย่างนั้น นี่ปลงธรรมสังเวช มีธรรมแล้วมันสลดสังเวช มันเตือนสติเราได้ แต่ถ้ามันไม่มีธรรมในหัวใจ ไม่มีความคิดเรื่องธรรมะในหัวใจ มันไม่มองตรงนี้ไง

มันมองว่าทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนั้น คิดแต่เอาเรื่องกิเลส พยายามให้เอาไฟเข้ามาเผาใจอีกชั้นหนึ่งโดยไม่รู้ตัวเลย เพราะสิ่งอย่างนั้นมันต้องเป็นโดยธรรมชาติ เพราะเขาทำของเขามา กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดเป็นอย่างนั้น เขาทำกรรมมา คนที่ทำมาจะได้อย่างนั้น ถ้าเขาไม่ทำมา มันมาจากไหน นี่เราไม่รู้เรื่องของธรรมเพราะเราไม่ศึกษา ถ้าศึกษาขึ้นมา เรามองแต่กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน แล้วกรรมที่ละเอียดกว่านั้น มโนกรรมไง

“มโนกรรม” กรรมนี้เป็นมโนกรรม ใจนี่เป็นกรรม ใจนี้ตัวปฏิสนธิ ตัวจิตแต่ว่าตัวใจ ใจนี้เป็นอารมณ์ มโนกรรม

เวลาในอาทิตตปริยายสูตร มโนวิญฺญาเณปิ นิพฺพินฺทติ มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ เบื่อหน่ายในตัวมโน ตัวใจตัวนั้น ตัวใจมโนกรรม กรรมอันนี้พาเกิด เราไปมองแต่ว่าเกิดในภพของมนุษย์แล้วเราก็คิดไป มันเกิดในภพต่างๆ ใจนี่พาเกิด ใจเวียนว่ายตายเกิดมา เวียนตายเวียนเกิดมาตลอด เกิดมาในที่ ในมโนพาเกิด “มโนกรรม” จิตปฏิสนธิไง

“เกิด” เกิดเป็นโอปปาติกะ เกิดในครรภ์ เกิดในไข่ เกิดในน้ำคร่ำ พระไตรปิฎกบอกเกิด ๔ อย่างในวัฏฏะนี้ จิตนี้พาเกิดมาตลอด ดูเกิดบนพรหมสิ ถ้าเกิดเป็นพรหม เวลาพวกฤๅษีชีไพร ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ จิตนี้มีความสงบในหัวใจนี่เกิดเป็นพรหม

เกิดเป็นพรหมมีขันธ์เดียว ผัสสาหาร อาหารเขาคือความผัสสะ เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นเทวดาในตำราว่าขันธ์ ๔ ไม่มีรูป ไม่มีร่างกาย แต่มันเป็นนามธรรม ถ้าจะว่ารูปก็ได้ รูปของเทวดาเขา ขันธ์ ๔ เกิดเป็นมนุษย์ก็มีขันธ์ ๕ มีธาตุ ๔ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี่เกิดเป็นมนุษย์ เกิดในนรกอะเวจีล่ะ เกิดในเปรตในผีล่ะ นี่การเกิด

“มโนกรรม” กรรมตัวนี้พาเกิด ตัวมโนกรรม ตัวกรรมในหัวใจนี้มันสำคัญกว่า แต่ไม่มีใครสามารถเข้าไปเห็นตรงนี้ได้เลย เพราะไม่มีการเห็น เวลาเกิดขึ้นมาแล้วถึงปฏิเสธว่าเกิดมีชาติเดียวไง เราเกิดมาก็มีเรา ตายแล้วก็ตายสูญ ตายแล้วก็หมดสิ้นกันไป มันไม่เคยเห็นมันก็ปฏิเสธไป ใครเป็นคนปฏิเสธ? ก็เรื่องของกิเลสมันพาปฏิเสธ กิเลสมันขัดกับธรรม

ธรรมในพระไตรปิฎกมีอยู่แล้วว่า เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นอะไรมีอยู่ในพระไตรปิฎก มีอยู่ชัดๆ ญาติของพระเจ้าพิมพิสารเป็นเปรตเป็นผีมาขอส่วนบุญ ในพระไตรปิฎกนะมีมาโดยดั้งเดิม ถ้าเราคิดถึงตรงนั้น มันก็ย้อนกลับมาว่า มโนกรรมนี้พาเกิด แต่เราไม่เห็นเราก็ปฏิเสธไป ความปฏิเสธไปมันก็เลยไม่ได้มีความอะไรเข้ามาสะเทือนใจ ถ้าเข้ามาสะเทือนใจ เวลาเกิดในนรก ในนรกนะ เกิดในความทุกข์ความยาก เวลามโนกรรมพาไปเกิด

มโนกรรมพาไปเกิดนะ มีในพระไตรปิฎก มีอุบาสิกาสร้างวัดไว้วัดหนึ่ง แล้วมีพระมาอยู่ พระองค์นั้นก็แบบว่ามีใครมาอยู่ก็หวงแต่ลาภ หวงแต่ลาภ พยายามจะใส่ไคล้ไง ใส่ไคล้ใส่ความว่า ให้พระองค์นั้น องค์ที่มาเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาอยู่วัด ก็ว่าไม่ดีอย่างโน้น ไม่ดีอย่างนี้ จนคนที่สร้าง อุบาสิกานั้นก็เชื่อตาม พอเชื่อตามก็ต้องหาเหตุให้พระนั้นอยู่ในวัดนั้นไม่ได้ แล้วตายไป ตายไปทั้งคู่เลย

ในพระไตรปิฎกนะว่า พอตายไป เวลาพระพุทธเจ้าตามไปรู้เห็นไง ถามว่า ร้องโอดครวญอยู่ ไปเกิดเป็นเปรตไง ที่ร้องโอดครวญ ร้องโอดครวญอยู่เป็นเพราะอะไร

เป็นเพราะเหตุทำกรรมอย่างนี้ ทำกรรมว่าสร้างวัดแล้วอุปัฏฐากพระไง พออุปัฏฐากพระไว้ พระองค์นั้นก็เห็นแก่ตัว พระองค์นั้นเพียงแต่ว่าอิจฉาตาร้อน ใครจะมาอยู่ก็ว่าเขาไม่ดี เขาไม่ดีไง ใส่ความเขา อุบาสิกานั้นก็เชื่อเขา พอเชื่อเขา เชื่อเขาก็ทำตามกันไป แล้วตายไปทั้งคู่ไปเกิดเป็นเปรตเป็นผี มีมูตรคูถเป็นอาหาร ถามว่า เป็นทุกข์ร้อน ทุกข์ร้อนเพราะอะไร

อาหารที่ว่าเพราะได้จาบจ้วงเขา ได้จาบจ้วงพระนั้น เวลาเขาถ่ายออกมา มันหลุมส้วม ก็ลงใส่ปากตัว เป็นอาหารนะ

“แล้วพระองค์ที่ยุแหย่นั้นไปไหนล่ะ?”

“เขายืนอยู่ใต้เรา”

อุบาสิกานี้เป็นเปรตยืนอยู่บนไหล่บนบ่าของเขา เวลาเขากินอาหารใส่ปากของเขา เขาถ่ายออกมา ที่เขาถ่ายออกมานั้นเป็นอาหารของภิกษุที่ไปเกิดเป็นเปรตต่อนั้น

นี่มโนกรรมพาเกิด กรรมทำความไม่ดีพาเกิด เกิดขนาดนั้น ถ้าเราย้อนกลับมโนกรรม มโนกรรมพาเกิด เกิดทุกข์เกิดยาก ดูอย่างพระโมคคัลลานะสิ พระโมคคัลลานะเห็นเปรตลอยมาที่เขาคิชฌกูฏ ขนนี้หลุดออกไป พอหลุดออกไปกลายเป็นหอกเข้ามาทิ่มตัว เข้ามาทิ่มตัว เปรตนั้นเป็นเพราะเหตุใด? เป็นเพราะว่าเขาทำกรรมของเขาไว้ เขาทำความผิดพลาดของเขา เขามาเกิด เกิดอยู่อย่างนั้น เกิดทุกข์เกิดยาก เกิดขนาดนั้นก็มโนกรรมพาเกิด

มโนกรรมนี้ แล้วพอมาเกิดเป็นเรา ถึงว่าบุญกุศลมหาศาลนะ เกิดเป็นมนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เพราะมีธาตุ ๔ มันถึงว่าขันธ์ ๕ อยู่ในธาตุของเรา เราถึงว่ามีกายกับใจ แต่ตัวมโนกรรมตัวจิตเรายังไม่สามารถเห็นอยู่จนวันยังค่ำ แต่เพราะเราเชื่อในหลักของศาสนา เราถึงว่าเราเชื่อแล้วเราพยายามทำความสงบของเราเข้าไปตรงนั้น ถ้ายังไม่ทำความสงบของเราเข้าไป ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นี่เป็นอาหาร เป็นเครื่องมือของกิเลสก้าวเดินออกมาอย่างนั้น

การก้าวเดินออกมาของกิเลส ความคิดของเรา เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วถ้าไม่มีศาสนาในหัวใจนะ มันบีบบี้สีไฟกัน การรังแกกัน การเอารัดเอาเปรียบกัน เพราะอะไร เพราะว่าศักดิ์ศรีของตัวเราเสียไม่ได้ ความเห็นของเรามันผิดพลาดไม่ได้ กิเลสพาทำอย่างนั้นแล้วก็มีปัญหาออกไปข้างนอก มีออกข้างนอกก็ไปบีบบี้สีไฟกัน แล้วมันก็กว้านอะไรเข้ามาให้เราล่ะ? กว้านความทุกข์เข้ามาให้เรา ความทุกข์นั้น เพราะเราไม่เชื่อ นี่มันเป็นการสร้างกรรมต่อไปไง

กรรมอันนี้จำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน ทำไมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน เพราะกรรมดีกรรมชั่วนั้นใครทำที่ไหนก็แล้วแต่ มันจะสะสมเข้ามาที่หัวใจทั้งหมด สะสมเข้ามาที่ใจ สะสมเข้ามาที่ใจ เราเกิดมา เวลานิสัยใจคอไม่เหมือนกัน ความเห็นต่างๆ กัน สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่งมันปรุงไปเรื่อย พอสัญญามันจำได้ ความคิดของตัวเอง แม้แต่ความคิดของตัวเองมันก็สะสมเข้ามาในใจของเรา สะสมเข้ามาในใจของเรา ลองคิดถึงเมื่อวานนี้สิ เราจำได้ไหม จำได้นั้น สิ่งที่เมื่อวานนี้ทำอะไรไว้บ้างนั้นคือสัญญา เดือนที่แล้วทำอะไรไว้ เมื่อปีที่แล้วทำอะไรไว้

ถ้าเราคิดได้ คิดได้ ขันธ์มันจำมา เวลาเราเกิดมาได้ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ อันนี้มันเป็นขันธ์ ๕ ในปัจจุบันนี้ไง สิ่งนี้ย่อยละเอียดลง มันจะรวมลงไปใน อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ วิญญาณตัวในปฏิสนธิวิญญาณตัวนั้น นี่มโนกรรม สิ่งที่ซับเข้าไปมโนกรรมนั้นน่ะ มันสะสมเข้าไป จริตนิสัยของคนมันถึงไม่เหมือนกัน

การสะสมใจอันนั้น เราจะเผลอตอนไหนในเมื่อใจกับเราอยู่กับเราปัจจุบันนี้ ถ้าอยู่กับใจกับเราปัจจุบันนี้ การเกิดมาเป็นมนุษย์ กรรมที่สร้างมามันเกิดมาจากพ่อแม่เดียวกัน มันควรจะเหมือนกันสิ ทำไมไม่เหมือนกัน ถ้าไม่เหมือนกันนี้ใครเอาจริตนิสัยนี้มายัดใส่ในหัวใจเราเหรอ? มันเป็นไปไม่ได้ เพราะใจนี้อยู่กับเรา

แต่เวลาที่มันสะสมมาในวัฏฏวนนั้น สิ่งที่เวียนในวัฏวน ใจนี้เกิดดับ เกิดดับมาในวัฏวน เกิดตาย เกิดตาย สิ่งที่เกิดตาย เกิดตาย เวลาของจิตที่มันแสวงหาภพ มันเกิดตายของมัน อันนั้นต่างหากที่มันสะสมเข้ามาในใจดวงนั้น ใจดวงนั้นถึงมีจริตนิสัยต่างๆ กันไม่เหมือนกัน

กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน แต่เกิดเป็นมนุษย์แล้ว การเกิดเป็นมนุษย์ จริตนิสัยถึงวางไว้ไง อำนาจวาสนา การประพฤติปฏิบัติ คนจะเข้าถึงธรรมหรือไม่เข้าถึงธรรม เราวางของเราไว้ หน้าที่ของเราคือต้องเอาตัวของเรา เราพยายามทำตัวของเราให้ได้ ทำความสงบของใจเข้ามา ทำความสงบของใจ ความสงบของใจเข้ามา ใจมีความสงบมันก็มีที่ยืนไง มีที่หยุด มีที่ว่าให้เราได้คิดได้ยับยั้ง

ถ้าใจนี้ไม่สงบนะ มันคิดแต่ออกไปข้างนอก ที่ว่าปลงธรรมสังเวชนั่นล่ะ มันไม่สังเวชด้วย มันเหมือนกับในชีวิตนี้เราแสวงหาสิ่งที่เราพอใจ มันเป็นความคิด ความคิดที่ว่าเราอยากได้ อยากดี อยากทำให้มันเป็นสิ่งที่เราคิดอย่างปรารถนา คิดว่ามันจะเป็นที่พึ่งไง มันคิดแต่ขณะที่เราเป็นมนุษย์นี้ มนุษย์นี้เวลานี้ชั่วคราวๆ ถึงบอกว่าโลกนี้สมมุติไง สิ่งที่เราเกิดมาได้นี่เป็นสมมุติ สมมุติคือชั่วคราว มันต้องมีการดับไปแน่นอน

ถ้าเราดับไปเราไม่มีศาสนา คนที่ไม่มีศาสนาในต่างประเทศ เขาอยู่ของเขา เขาก็ทำดำรงชีวิตของเขาไป เขาก็แสวงหา พยายามหาทางออกอยู่ คนจะเข้าถึงความจริงสัจจะในอริยสัจ เขาก็หาของเขา ความคิดเขาเกิดขึ้นมาได้ แต่เขาไม่มีโอกาสแล้วเขาไม่ได้ศึกษา

คือว่าในคำโบราณว่านะ คนเราเกิดมาเป็นชาวพุทธ แล้วถ้าไม่ได้อุปสมบท ไม่ได้บวช มันจะเหยียบแผ่นดินผิด

แต่นี้เราเป็นนักปฏิบัติ เป็นปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อต้องการให้ใจของเราได้สัมผัสกับธรรม สัมผัสกับธรรมเข้าไป สัมผัสกับธรรมแล้วมันจะมีความสุขของธรรมที่ใจเราสัมผัสเข้าไป ๑ แล้วถ้าเข้าใจธรรม เข้าใจธรรม ทำหัวใจมันก้าวเดินออกไป ปัญญาเกิดขึ้น ศรัทธาคือความเชื่อ

ความเชื่อแก้กิเลสได้ไหม? ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้

แล้วอะไรแก้กิเลสล่ะ? ปัญญา

แล้วปัญญาที่เราคิดกันนี้แก้กิเลสได้ไหม? ปัญญาที่เราคิดกันอยู่นี้แก้กิเลสก็ยังไม่ได้ แต่มันเป็นปัญญาที่ว่า ศรัทธาแล้วมีปัญญาคุมศรัทธา ความเชื่อนี้พยายาม ปัญญามันเกิดขึ้นมา

“ศีล สมาธิ ปัญญา” ปัญญานี้เป็นปัญญาของโลก ปัญญาของสังขารที่มันปรุง มันแต่ง เป็นปัญญาของขันธ์ ๕ นั้น ปัญญาอย่างนี้เรียกว่าใจ ใจเพราะว่าจิตเสวยอารมณ์แล้วมันเป็นอารมณ์ออกมานี่ใจ แล้วถ้าย้อนกลับเข้าไป จิตมันละเอียดกว่าใจนั้น

เพราะใจนี้เป็นออกมา อารมณ์ความคิดออกมาอย่างนี้มันถึงว่าเป็นอาการ เป็นโลกียะเพราะมันอาศัยขันธ์ อาศัยที่ว่าเป็นมนุษย์ มนุษย์เกิดมาสัญชาติใดล่ะ? สัญชาติใดก็ใช้สมมุติของเขาภาษานั้น ภาษาที่เขาเกิดมาในชาตินั้น ชาตินั้น สัญชาติของเขาใช้ภาษาอะไร เขาก็ใช้สมมุติอย่างนั้น สมมุติอย่างนั้น

เราถึงว่า สมมุติอย่างนั้นเป็นสมมุติ แล้วสมมุตินี้ปัญญาที่คิดขึ้นมามันก็อยู่ในอะไรล่ะ

ถึงว่า ปัญญาแก้กิเลสมันต้องเป็นภาวนามยปัญญา ในเมื่อภาวนามยปัญญาเป็นที่แก้กิเลส เราถึงต้องทำความสงบเข้ามา ทำความสงบเข้ามา จิตนี้จะเริ่มมีความสุขของเรา จิตนี้จะสัมผัส มันฟุ้งซ่าน มันแบกภาระไว้เต็มบ่า มันคิดของมันโดยตลอด คิดแล้วก็มีความคิดแล้วก็ยึดมั่นความคิด แล้วก็ย้ำคิดย้ำทำ ย้ำคิดย้ำทำจนหลอกตัวเองไง มันหลอกตัวเองนะ

เวลาฝันก็ฝันไป ฝันสุกไป เวลาคิดอยู่เป็นฝันดิบๆ ความคิดมันเป็นการเพ้อฝันไง สิ่งที่เพ้อฝันดิบๆ แล้วไม่มีสติสตังสัมปชัญญะยับยั้งความคิดอันนี้ได้ มันมีแต่ความเพ้อฝันไม่เป็นความจริง ความคิดนี้มันให้เราเร่าร้อนตลอด เพราะมันเป็นความเพ้อฝัน เพ้อฝันเพราะขาดสติ ขาดสติแล้วกิเลสมันยุแหย่ด้วย

ยุแหย่เกิดจากกิเลสภายในที่ในวัฏฏะที่ว่าจริตนิสัยต่างๆ กัน กิเลสคนถึงไม่เหมือนกัน บางคนโกรธง่าย บางคนหลงง่าย บางคนเชื่อง่าย มันเป็นไปเพราะการสะสมมา การขับเคลื่อนออกมาจากสิ่งที่มันมีเหตุอยู่ในหัวใจนั้นมันขับเคลื่อนออกมา หัวใจถึงฟุ้งซ่านออกไป ความคิดเลยกลายเป็นความเพ้อฝัน นี่ฝันดิบฝันสุก

ฝันสุกๆ คือฝันจริงๆ มันนอนหลับมันก็ยับยั้งไม่ได้ มันฝันไป ตื่นมาเดินอยู่ซึ่งๆ หน้า ไม่ได้หลับเลยมันก็ยังเพ้อฝัน แล้วมันเอาอะไรมาให้กับเรา มันถึงแบกภาระไว้ แล้วทำให้หัวใจนี้หนักหน่วงเอาอะไรมาให้? ก็เอาความเร่าร้อนมาให้ เอาความสุข เอาความสุขมาจากไหน ถึงว่าถ้าเราเชื่อแล้วความสุขหาที่อื่นไม่ได้ สิ่งที่ว่าไปหาที่อื่นนั่นมันเหมือนกับว่าเราเอาสิ่งสกปรกซ่อนไว้ แล้วก็เอาความสะอาดทุกอย่างมาฉาบหน้าไว้

อันนี้ก็เหมือนกัน ในโลกเขา เขาจะหาความสุขกัน ไปพักผ่อนไปตากอากาศไปนู่นไป ไปทั่วโลกธาตุ จะไปดวงจันทร์ด้วยเดี๋ยวนี้ มันอย่างนั้นมันจะเป็นการพักผ่อนอะไร มันเหมือนกับฉาบหน้าไว้ด้วยว่าสิ่งนี้จะเป็นความสุข ฉาบหน้าไว้ด้วยความคิดว่าจะเป็นความสุข เป็นความหลอก สมมุติซ้อนสมมุติ แต่ในหัวใจไม่ได้แก้ มันไม่มีหรอกความสุข

ความสุขหาได้ที่ในหัวใจของเรา ความสุขหาได้ที่นี่ หัวใจของเราที่เกิดมา ในมโนกรรมที่เกิดมาเป็นเรานี่มันเป็นมนุษย์สมบัติ สิ่งที่เป็นมนุษย์สมบัตินี้ถึงว่ามีค่าประเสริฐ มีค่าประเสริฐเพราะเป็นสัตว์ประเสริฐ ถ้ามันเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน มันทำคุณงามความดีก็ทำได้ สัตว์เดรัจฉานตัวไหนดี นิสัยดีมันก็เป็นอย่างหนึ่ง ตัวไหนนิสัยไม่ดีมันก็เป็นอย่างหนึ่ง แม้แต่สัตว์เดรัจฉานมันก็มีจริตนิสัยของมัน แล้วมันก็ทำความดีของเขาได้ ท้าวโฆสกก็เป็นสุนัขมาก่อน ทำคุณงามความดีไว้ไปเกิดเป็นเทวดานะ แล้วเราอายไหม แม้แต่สุนัขเขายังไปเกิดเป็นเทวดา เพราะเขาได้ทำบุญกุศลของเขาไว้

คุณงามความดีทำได้ เพราะเขาสร้างคุณงามความดี แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ยังมีจริตนิสัยดีและนิสัยไม่ดี แล้วมนุษย์ประเสริฐกว่า มนุษย์มีปัญญา ปัญญาว่าจะทำความดีก็ได้ จะไม่เชื่อศาสนาจะเชื่อกิเลสแล้วทำความชั่วขนาดไหน เอาความเร่าร้อนมาใส่เราก็ได้ แล้วกรรมนี้ก็จะจำแนกให้เราเกิดเวียนไปๆ

ถ้าเห็นสายกรรมมันถึงจะสลดสังเวชนะ สายกรรมว่าจิตนี้ไม่เคยดับ จิตนี้ไม่เคยตาย มันจะเวียนไปตลอด เพราะฉะนั้นถึงว่าโลกนี้คือหมู่สัตว์ หมู่สัตว์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเขา หมู่สัตว์คือสัตว์เราตัวหนึ่ง เราก็เป็นสัตว์โลก เราข้องอยู่ในโลก เราต้องเวียนไป คิดอยู่ว่าเกิดมาแล้วทำคุณงามความดีจบสิ้นชาติหนึ่งแล้วจะสิ้นกัน จะจบสิ้นกันชาตินี้ไง

แล้วมันเวลาไปเกิดใหม่มันก็ใจดวงนั้น มโนกรรมมันยังไม่ได้การชำระล้าง ยังไม่มีการแก้ไข มันต้องไปโดยธรรมชาติของมันแน่นอน ถ้าเราเชื่ออย่างนั้นแล้วเราต้องกลับมา กลับมายับยั้งกันเดี๋ยวนี้ไง ยับยั้งเดี๋ยวนี้เพราะอะไร เพราะว่าเรามีอำนาจวาสนา เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา แล้วพระพุทธศาสนากำลังรุ่งเรืองในการประพฤติปฏิบัตินะ ว่ารุ่งเรืองเลยเพราะว่าคนใฝ่ในการประพฤติปฏิบัติ

การประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่เชื่อไม่ศรัทธา จะเอาอะไรมาประพฤติปฏิบัติ เพราะเชื่อในศาสนา คนเชื่อเรื่องศาสนาแล้วใฝ่ธรรม คนๆ นั้นไม่มีวาสนาเหรอ? มันต้องมีวาสนาเพราะเราจงใจ เราอยากประพฤติปฏิบัติ เราอยากจะชำระ เหมือนคนที่ว่าเราไม่เคยป่วยไม่เคยไข้ จะไม่เห็นประโยชน์ของยา นี้เราเห็นว่าเราป่วยเราไข้ ใจของเราสะสมไปด้วยกิเลส ด้วยอวิชชา “ธรรมโอสถ” ธรรมโอสถที่เข้าไปชำระล้างใจของเราได้

ฉะนั้น เราถึงว่าเริ่มหันมาประพฤติปฏิบัติ มันก็เวลาของผู้ที่เราประพฤติปฏิบัติอยู่มันก็มีงาน ๒ ฝ่าย แล้วผู้ที่ออกบวชนั่นอีกชั้นหนึ่ง สมมุติซ้อนสมมุติเข้าไปอีก สมมุติของในโลกนี้เกิดมาแล้วเป็นเพศหญิงเพศชาย แต่สมมุติว่าเราเป็นพระ สมมุติจริงตามสมมุติ เหมือนกับเราคลอดออกมาจากครรภ์ของมารดาเลย นี้เราก็คลอดเราออกมา เอาเพศใหม่

ถ้าเราจริงในสมมุติของเรา จริงในสมมุตินะ มันก็จริง สมมุติคือพระโดยสมมุติจริง เราต้องประพฤติปฏิบัติจริง เวลาโอกาสมีมากเลย ๒๔ ชั่วโมงเป็นเวลาที่เราประพฤติปฏิบัติได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงเลย นี่ทางกว้าง กว้างตรงนั้น คนมีอำนาจวาสนาถึงได้ออกมาประพฤติปฏิบัติ อันนี้เป็นพื้นฐานของใจ เป็นการยืนยันว่าเรามีวาสนาแน่นอน เรามีอำนาจมีวาสนาที่จะทำได้ เราไม่ใช่ว่าไม่มีอำนาจวาสนา ถ้าไม่มีอำนาจวาสนานั้นกิเลสมันคิดไง สิ่งที่เราจะทำคุณงามความดีเพื่อจะชำระกิเลส

คำว่า “กิเลส” นี้อยู่ในหัวใจของเรานะ ความขุ่นข้องหมองใจ ความทุกข์ร้อนในใจนั้นล่ะอยู่ในหัวใจของเรา แล้วเราจะเข้าไปทำคุณงามความดีเพื่อจะไปลบล้างเขา

เราว่าเรามีการศึกษา ในพระไตรปิฎกนี้ธรรมะข้อไหนของพระพุทธเจ้าจำได้หมด ทำคุณงามความดีจำได้หมด แต่ทำไมมันประพฤติปฏิบัติไม่ได้ล่ะ? ก็เวลาเราจำได้ เรามีโอกาส เรามีสติสัมปชัญญะ เราศึกษามามันก็ซึ้งใจอยากจะประพฤติปฏิบัติ ซึ้งใจว่าของแค่นี้เราทำได้ แต่ลองประพฤติปฏิบัติไป กิเลสมันอยู่ในหัวใจ มันต้องพลิกแพลงเพราะสิ่งนั้นจะมาทำลายเรา แก่นของกิเลสมันอยู่ในหัวใจนี่มันฉลาดมากนะ

เราว่าเราฉลาด เราฉลาด คนเรานี่ฉลาดขนาดไหน มีไหวพริบขนาดไหน ไหวพริบหรือความฉลาดนั้นอยู่ใต้อำนาจของกิเลสทั้งหมด กิเลสในหัวใจมันอาศัยความคิดของเรานั่นน่ะออกมา เดี๋ยวจะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวจะเป็นอย่างนี้ เมื่อนั้น เมื่อนี้ เพื่อประพฤติปฏิบัติ ธรรมะข้อนั้นมันยังไม่แน่ มันยังเป็นไปไม่ได้ ความลังเลสงสัยในหัวใจมันผลักให้เราล้มไปหมดเลย

เราก้าวเดินของเราอยู่ไง เราก้าวเดินว่าความคิด คิดไปคือความก้าวเดินของใจ การประพฤติปฏิบัติ การกำหนดให้เรามีสติสัมปชัญญะ ทำใจสืบต่อ การทำความสงบคือการบริกรรม คำบริกรรมพุทโธๆ หรือคำบริกรรมในกรรมฐาน ๔o ห้องอย่างใดอย่างหนึ่งได้ทั้งหมด คำบริกรรมนั้นต้องบริกรรมบ่อยๆ ให้สติสัมปชัญญะสืบต่อไป

ความสืบต่อของคำบริกรรมไป สืบต่อได้มากเท่าไร ใจหยุดยั้งได้มากขนาดนั้น หยุดยั้งจากใต้อำนาจของกิเลสที่มันเป็นอำนาจเหนือกับหัวใจดวงนั้นไง หัวใจดวงนั้นอยู่ในใต้อำนาจของกิเลส ความคิดใดๆ นั่นกิเลสพาคิด พอคิดสรุปท้ายแล้ว มันก็บอกสรุปท้ายแล้วเราไม่มีอำนาจวาสนา เรายังไม่ถึงควรเวลาที่จะทำ สุดท้ายแล้วกิเลสมันอยู่ในสรุปความคิดเรา ความคิดเราก็ต้องอ่อนยอมจำนนกับกิเลสนั้น อันนั้นเป็นเราทั้งหมด

นี้คำบริกรรมแย่งตรงนี้กันให้ได้ แย่งเอาจิตของเรามาอยู่กับธรรม อยู่กับธรรมคิดพุทโธๆ พุทโธตลอดไป มันเป็นคำว่าพุทโธๆ มันตัดขาด ไม่ต่อเนื่อง อารมณ์ไม่คิดไป แต่ถ้าอารมณ์โลกนี่มันปรุงแต่ง มันหมุนไปตามอารมณ์โลกเขา หมุนไปเรื่อย หมุนไปเรื่อย แล้วจบเรื่องหนึ่งก็เป็นเรื่องหนึ่งต่อไป ต่อไป ความสงบของใจมันไม่มี

ถ้าพุทโธๆ อยู่ก็พุทโธมันตัดอยู่ขนาดนั้น มันยืนหยุดอยู่กับที่ พุทโธๆๆ พุทโธให้ใจพุทโธซ้ำๆ มันคิดได้แค่พุทโธไง นี้เป็นคำบริกรรม นี้เป็นอาหารของใจ

ปากเรากินคำข้าวเป็นอาหาร ใจกินอารมณ์เป็นอาหาร อารมณ์ดีขึ้นมาวันนี้มีความสุขใจ วันนี้มีความพอใจ สิ่งใดที่เราทำแล้วพอใจ หรือใครเขาชมเรา ความสุขอันนั้นเป็นอาหารของใจ ใจอิ่มเอิบเพราะว่ามีคนชมคนยกย่อง หรือเราทำสิ่งที่เราพอใจ เราทำสิ่งใดที่ควรค่ากับใจนี้มันต้องการ อาหารของใจ เป็นวิญญาณาหาร อาหารของใจ วิญญาณที่มันกิน อารมณ์กินเข้าไปมันเป็นอาหาร แล้วมันกินพุทโธ อยู่ตลอดเวลา พุทโธเข้าไป พุทโธเข้าไป แต่เดิมไม่เคย เพราะไม่เคยคิดอย่างนั้น คิดแต่อย่างอื่นไป

แล้วคิดด้วยนะว่าคำบริกรรมอย่างนี้หรือจะทำให้ใจสงบได้?

ได้ บริกรรมเข้าไปเรื่อยๆ บ่อยเข้า ถ้ายิ่งเรากำหนดอานาปานสติพร้อมกับคำบริกรรมนะ มันพุทเข้า โธออก นานไปนานไป อานาปานสติตัวนี้จะถ่วง เราปล่อยอานาปานสติแล้วกำหนดพุทโธ อย่างเดียว พุทโธๆ เร่งไปพุทโธๆๆ เร่งเข้าไป เร่งเข้าไป มันย้ำอยู่นั้นตลอดไป นี่มีเหตุ ผลมันต้องเกิด ย้ำไว้ตลอด ย้ำไว้ตลอด แล้วถ้ามันจะลงหรือว่าจิตมันจะปล่อยวาง ถ้าเหตุยังน้อยอยู่มันก็ลงไปแค่จิ่มๆ ถ้าเหตุมันมากเข้าไปมันจะลงได้ลึกกว่านั้น ลึกกว่านั้น ลึกไปจนถึงมันพักมีความสงบ ความสงบอย่างนี้เกิดขึ้นเป็นพยานกับเรา เป็นพยานกับเรา

เราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติเสียเอง แล้วเราสัมผัสความสงบจากใจอันนี้เอง ไม่ต้องมีใครมาบอก สิ่งที่ครูบาอาจารย์บอกนั้นวางไว้เลย สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติเอง สิ่งที่เราประสบเองนี้ นี่ปัจจัตตัง ศาสนาเราสอนเรื่องปัจจัตตังเรื่องประสบการณ์ ประสบการณ์ของใจที่เข้าไปสัมผัส ถึงจำเป็นต้องประพฤติปฏิบัติไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้สงสารสัตว์โลก ห่วงสัตว์โลกมาก อยากจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ให้ออกไปให้หมด แต่มันรื้อสัตว์ขนสัตว์มันก็รื้อได้แต่ร่างของธาตุ ๔ แล้วหัวใจล่ะ คนติดคุกอยู่หัวใจมันก็คิดไปข้างนอกร้อยแปด คิดไปถึงประเทศไหนก็ได้ มันขังได้แต่ตัวไง มันไม่สามารถขังใจได้ไง รื้อสัตว์ขนสัตว์ก็ได้แต่ร่างกายไป ธาตุ ๔ นี้เหรอ

ธาตุ ๔ นี้เป็นของสมมุติของชั่วคราว ถ้าใจเราสงบเรากลับมาพิจารณาตรงนี้ มันจะเป็นประโยชน์กับเราไง มันเป็นการสอนใจของแต่ละบุคคล ดวงใจแต่ละดวงนั่นน่ะ เพราะกิเลสมันอยู่ในหัวใจนั้น ต้องเอาหัวใจนั้นออกมาวิปัสสนาไง ยกใจนั้นออกมาวิปัสสนา มันถึงจะเป็นการเริ่มทำความเข้าใจเข้าไป อาศัยความจิตนี้สงบก่อน

ถ้าจิตนี้ไม่สงบ ปัญญามันเป็นโลกียะ มันเป็นความคิด มันไม่มีความตัด ตัดจากอะไร? ตัดจากความเห็นจากตัวเราของเราไง จากตัวเรา ถ้ามีเราอยู่ ถ้าเราคิด เราจะคิดไปตลอด มันจะคิดแล้วทะลุปรุโปร่งขนาดไหนมันก็เป็นความคิดของเรา คิดเพื่ออะไร? คิดเพื่อให้มันปล่อยวางเข้ามา ความทะลุปรุโปร่งคือการปล่อยวางเข้ามา

ถึงว่า ซ้อมรบไม่เหมือนกับรบจริง ซ้อมรบมันรบอย่างนั้นไป ถ้าไปเจอข้าศึกจริง จิตนี้สงบ ทำความสงบของใจเข้ามา แล้วกำหนดดูกาย กำหนดอะไร นั่นน่ะ จะเจอข้าศึกตัวจริง พอเจอข้าศึกตัวจริง การซ้อมรบ เวลาเขาซ้อมรบกันไป เวลายิงโดนกันคนนั้นต้องตาย พอตายแล้วผู้ที่ยิงได้จะได้คะแนน คนนั้นต้องเป็นคนที่ตายไป ตายก็แกล้งตายเอาคะแนนมาให้กัน

การซ้อมรบความคิดให้ทะลุปรุโปร่งเข้าไป การวิปัสสนาที่ว่าเป็นโลกียะ เป็นการซ้อมเข้ามา มันก็เหมือนกัน พอมันปล่อยวางเข้ามามันก็ได้คะแนน แต่มันตายจริงไหม เพราะเป็นการซักซ้อม แต่การเจอกิเลสจริงๆ คือเห็นกายจริงๆ งานที่สมควรคืองานต่อสู้กับข้าศึก ข้าศึกคือความผูกมัดในอุปาทานในกายนั้น หัวใจนั้นยึดมั่นถือมั่นในกายนั้น ถ้าเราเห็นกายมันสะเทือนถึงใจ ใจนี้มันหลงใหลไป มันเกาะเกี่ยวว่าเป็นของเรา

เกิดเป็นมนุษย์ได้ร่างกายมา ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ไง ได้ธาตุ ๔ มาด้วย ได้ขันธ์มาด้วย ขันธ์มันสืบต่อกับร่างกายได้ มันก็เข้าใจไง ความเข้าใจของกิเลสกับความเข้าใจของเราที่ศึกษาธรรมเข้าไป ทุกคนเราชาวพุทธจะรู้เลยว่ากายกับใจนี้ไม่ใช่อันเดียวกัน มันต้องแยกจากกันได้ เวลาตายแล้วก็ตายไป นั้นเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้นเพราะเราศึกษามา ปริยัติเป็นอย่างนั้น ปริยัติเราศึกษามาเป็นปริยัติ

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ถ้าไม่มีการประพฤติปฏิบัติเสียก่อน หัวใจนี้ยังไม่เข้าใจตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริงเสียก่อน ปฏิเวธ ความรู้แจ้งมันมาจากไหน? ความรู้แจ้งจะเกิดขึ้นก็เพราะเราเข้าไปวิปัสสนาเห็นตามความเป็นจริงในภาคปฏิบัติ แล้วในภาคปฏิบัติมันปัจจัตตัง มันจะรู้เป็นชั้นๆ เข้าไป

แต่ในเมื่อเราปฏิบัติใหม่ เราศึกษามาเราก็คิดว่าอย่างนั้นมันจะเป็นความเป็นจริง เป็นความเป็นจริง ถึงว่าปัญญาอย่างนั้นมันละเอียดเข้ามา จะว่าผิดมันก็ไม่ผิด มันเป็นการก้าวเดินของใจ ใจมันจะพัฒนาขึ้นไป ใจมันต้องพัฒนาขึ้นไปเป็นชั้นๆ เข้าไป

ถูกต้อง แต่ความเห็นจริงความเป็นจริง ถึงว่าต้องเจอกับข้าศึกเสียก่อน มีการต่อสู้กันแพ้หรือชนะนั้นออกมาถึงจะเป็นผลของมัน นี่ถึงว่าเป็นการเจอกันซึ่งๆ หน้าในปัจจุบันธรรมไง

๑. เป็นปัจจุบันธรรมเพราะจิตนี้มันเห็น รู้ สงบเข้าไปแล้วรู้เองเห็นเอง

แต่ถ้ามันไม่เห็นล่ะ? สิ่งที่ไม่เห็นก็ได้ คนที่มีความสงบเข้ามามีความสุข มีความสุขหมายถึงว่ามันประสบความสุข หัวใจอิ่มใจ ใจนี้อิ่มเต็ม พอใจนี้อิ่มเต็ม ใจนี้ก็สบายว่างโล่งอยู่อย่างนั้น ว่างโล่งอยู่อย่างนั้นแล้วทำอย่างไรต่อไป?

ถ้ามันไม่เห็นกาย ไม่เห็นกายก็ต้อง...ทำไมในวิสุทธิมรรคว่าต้องให้เยี่ยมป่าช้าล่ะ สิ่งที่ไปเยี่ยมป่าช้าพระธุดงค์ ธุดงค์เพื่ออะไร ไปนอนตามป่าช้า ไปหาป่าช้า ใหม่ๆ ถ้าจิตยังไม่สงบก่อนไปอาศัยป่าช้า อาศัยความกลัวไง อาศัยสิ่งแวดล้อมนั้นบังคับให้ใจมีความกลัว ความกลัวมันก็ไม่คิดมาก คนกลัวกับคนอยู่ในอิสระ คนอยู่ในชุมนุมชนต่างกัน คนอยู่ในที่ปลอดภัย หัวใจมันก็เป็นไปตามภาษามัน

แต่ถ้าไปอยู่ในที่เปลี่ยว ในที่น่ากลัว จะหาที่พึ่งมันไม่กล้าคิดไป ถึงคิดก็คิดแต่เฉพาะเรื่องกลัว กลัวอย่างเดียว พอเรื่องกลัวอย่างเดียว มาหาอะไรเป็นที่พึ่งล่ะ ก็ต้องหาพุทโธเป็นที่พึ่ง หากรรมฐาน ๔o ห้องนี้เป็นที่พึ่ง ถ้าจิตไม่สงบเข้าไปในป่าช้าก็ได้ประโยชน์จากความนั้น มันบังคับเราเข้ามา จิตที่สงบแล้วความกลัวอย่างนั้น เพราะจิตที่สงบอยากจะเดิน ก้าวเดินต่อไป ไปเยี่ยมป่าช้าก็เพื่อไปเห็นอสุภะ-อสุภัง อสุภะ-อสุภังเพื่อจะเห็นซากศพนั้น ยกกายขึ้นไง จะเห็นกายนั้น เพ่งภาพนั้น หลับตา

ในวิสุทธิมรรคสอนนะ เวลาเข้าไปให้เข้าเหนือลม ไม่ให้เข้าใต้ลม เพราะลมจะมีกลิ่นมาก่อน ให้เข้าเหนือลมแล้วมองเพ่งส่วนใดส่วนหนึ่งที่เราพอใจ จะเอาตายเก่าตายใหม่อย่างไรก็ได้ แล้วหลับตาเห็นภาพนั้นไหม ถ้าไม่เห็นให้เพ่งไปอย่างเก่า แล้วหลับตาเห็นภาพนั้นไหม ถ้าเห็นภาพนั้นให้กลับ ให้เอาจับภาพนั้นไว้แล้วให้กลับ นี่พิจารณากาย

การพิจารณากาย พิจารณาซ้ำเข้าไป ซ้ำเข้าไป พิจารณาให้เห็นสภาพอย่างนั้นเข้า นี่มันสะเทือนถึงใจ พอสะเทือนถึงใจ ละขันธ์เข้ามาเป็นชั้นๆ ใจจะปล่อยขันธ์เข้ามาถ้าเห็นตามความเป็นจริง ปล่อยวาง ปล่อยวางเข้ามา นี่เป็นการซักซ้อมกัน เป็นการต่อสู้กันตลอด ต่อสู้กับกิเลสตัวจริงๆ นะ

การรบ รบทีเดียวมันจะชนะเหรอ การต่อสู้กัน ถ้ารบแล้วทีเดียวชนะนั้นมันก็เป็นคนที่มีอำนาจวาสนา แต่อำนาจวาสนาของเรา ขนาดเวไนยสัตว์ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติบ่อยๆ ผู้ได้ยินได้ฟัง เวไนยสัตว์ สัตว์ที่มีโอกาส แต่ต้องได้ยินได้ฟัง ได้การประพฤติปฏิบัติย้ำคิดอยู่อย่างนั้น ย้ำอยู่ตรงนั้น ย้ำแล้วถ้ามันเป็นการฟุ้งซ่าน ย้ำนะ การใช้พลังงานมาก แล้วการวิปัสสนาเข้าไปตลอด มันคิดออกไปแล้วมันฟั่นเฟือน นี่ว่าเหมือนฟุ้งซ่าน

ถ้าคิดแล้วมันไม่สลบ มันไม่จบตอน พิจารณาแล้วมันไม่ไป...ย้อนกลับ ย้อนกลับมาพักพุทโธๆ ย้อนกลับมาที่สมถะนั้น ต้องย้อนกลับมาที่สมถะนั้นเพื่อสร้างพลังงานเพื่อความสงบ ถ้าทำบ่อยๆ หรือเราวิปัสสนาอยู่ การมาพักทำความสงบมันจะเห็นพลังงานของจิต แล้วย้อนกลับไปวิปัสสนา วิปัสสนามันจะปล่อย มันจะเข้าใจ แล้วภาพนั้นจะเปลี่ยน

ถ้าพิจารณากายภาพนั้นจะแปรสภาพไป ขยายส่วนได้ ปฏิภาคะ การขยายส่วนนั้นออกไป ขยายส่วนนั้นให้ใจเห็นว่า กายนั้นไม่คงที่ กายนั้นไม่ใช่เรา สิ่งที่ว่าเป็นอนัตตา

ความคิดของเราว่ากายนี้ไม่ใช่เรา สรรพสิ่งนี้ไม่ใช่เรา นั้นมันเป็นความจำ มันเป็นเรื่องของผิวน้ำไง สิ่งที่อยู่บนผิวน้ำ มันลอยอยู่บนผิวน้ำ ความเชื่อของสุตมยปัญญามันจำมา สัญญามันจะอยู่บนผิวน้ำของใจ ใจมันรับไว้บนผิวน้ำ มันไม่เข้าถึงเนื้อของใจ

ฉะนั้น ความเชื่ออันนั้นมันเป็นความเชื่อ แต่วิปัสสนาเข้าไป วิปัสสนาเข้าไปเห็นแปรสภาพ กายนั้นจะแปรสภาพออกไป แล้วพอความเห็นเร็วเข้ามันจะปล่อย นี่จิตปล่อยเลย...

...สร้างงานงานชอบ มันจะเป็นงานชอบเพราะเราสร้างของเราขึ้นมา เราทำของเราขึ้นมา...

...ทำตามความเป็นจริง ปล่อยวางไปตามความเป็นจริง นี่ใจขาดออกไป ใจปล่อยวางขันธ์นอก ปล่อยวางขันธ์นอกเลย ขันธ์เป็นขันธ์ จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แยกออกจากกัน ปล่อยวางตามความเป็นจริง รู้เองเห็นเองขึ้นมาจากใจนั้น

รู้ชัด ความชัดของใจเพราะมันมีสิ่งใดหลุดออกไป ความลังเลสงสัยไม่มี ความก้าวเดินออกไป การพิจารณาขันธ์นอก ขันธ์ใน แล้วขันธ์ที่ละเอียด เพราะขันธ์ในคือวิปัสสนาเข้าไป พิจารณากายก็เหมือนกัน พิจารณาขันธ์ก็เหมือนกัน เพราะเราได้ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้เป็นที่วิปัสสนาของเราทั้งหมด ทีนี้พอมันปล่อยวางทั้งหมด มันจะมีความสุขแล้วมีความเชื่อมั่น ในวิจิกิจฉาไม่มี ความลังเลสงสัยในธรรมไม่มี เพราะความเห็นจริงรู้จริงเกิดขึ้นจากใจ

ความที่เห็นจริงรู้จริงเกิดขึ้นจากใจมันก็จะก้าวเดินต่อไป ความก้าวเดินต่อไป สัมมาสมาธิ มรรค ๔ ผล ๔ มรรคของขั้นตอนต่อไปมันต้องมีสัมมาสมาธิ เราถึงต้องสร้างความสงบเข้าไป มีความสงบเข้าไป ความปล่อยวางอันนั้นมันเป็นพื้นฐาน เป็นอกุปปธรรม จิตใจมีพื้นฐาน ในขั้นของใจดวงนั้นมีพื้นฐานแล้ว แต่ความสงบของใจที่จะก้าวเดินขึ้นสูงขึ้นไป สัมมาสมาธิจะมีพื้นฐานตลอด

สัมมาสมาธิ สัมมาสติ สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ นี่ยกขึ้นพิจารณา พิจารณาเข้าไป ร่างกายละเอียดเข้าไป กายนอกมันปล่อยไปแล้ว กายใน พอกายใน พอพิจารณากายในซ้ำๆ เข้าไป การพิจารณากายซ้ำๆ ซ้ำบ่อยๆ เข้ามันจะแปรสภาพอีก แยกออกเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ กลับเป็นธาตุเดิม

เราพิจารณากายนอกมันจะแปรสภาพให้เป็นไตรลักษณะ แปรสภาพต่อไปชั้นในมันจะเปลี่ยนสภาพเป็นดิน น้ำ สิ่งที่เป็นดิน ของแข็งเป็นดิน คือกายเป็นดิน ดินจะโดนแปรสภาพอย่างไร วิปัสสนาเข้าไปจะมีสภาพแบบนั้น การวิปัสสนา วิปัสสนาเพราะเราก้าวเดินไปเป็นชั้นเข้าไป เราจะทำลายขันธ์ใน ทำลายขันธ์อย่างส่วนหยาบ ทำลายขันธ์ส่วนกลาง ทำลายขันธ์ส่วนละเอียด ขันธ์กับจิตประกอบกันเป็นใจขึ้นมา

สิ่งที่เป็นใจขึ้นมาซ้อมให้เรามีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ความทุกข์คือว่ามันดีดดิ้นไง มันไม่อยู่ในอำนาจของเราไง เราไม่มีอำนาจที่จะควบคุมสิ่งที่ว่ามันอยู่เหนือเราได้ สิ่งที่อยู่เหนือเราได้มันก็ต้องมีการแหย่เรามาตลอด ถึงจะเข้าใจสิ่งที่ข้างนอกแล้วก็แล้วแต่ มันเป็นพื้นฐานอยู่ข้างล่าง

เหมือนกับคนทำงาน เราได้ผลประโยชน์มาขนาดไหน มันจะเอามากกว่านั้น เอามากกว่านั้น สิ่งที่เหนือขึ้นไปมันก็เป็นงานต่อไปทั้งนั้น สิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่เราเก็บประโยชน์ไว้ เราก็วางไว้ วางไว้ แล้วเราแทบจะไม่เห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา เราจะเห็นอย่างเอาข้างหน้า เอาข้างหน้า สิ่งที่อยากข้างหน้า นั่นล่ะเป็นความทุกข์ นั่นล่ะเป็นสิ่งที่ว่า มันถึงว่าทำไมเรายังมีทุกข์อยู่ไง เพราะมันยังไม่ถึงที่สุดที่ทุกข์ เราไม่ทำก็ไม่ได้ ถ้าเราไม่ทำ สิ่งนั้นเขาก็ต้องมีแหย่มา หลอกลวงให้เรามีความทุกข์เข้าไปอีก

ถึงต้องทำความสงบให้ถึงที่สุดได้ ถึงที่สุดจะเข้าไปถึงมโนกรรม สิ่งที่เป็นมโนกรรมอยู่ภายใน ถ้าเราเข้าไปถึงตรงนั้น ถ้าเข้าไปถึงตรงนั้น “มโนกรรม” สิ่งที่ชำระมโนกรรมได้ ดูอย่างสังโยชน์เบื้องบนสิ สังโยชน์เบื้องบน

รูปฌาน อรูปฌานมันยังเป็นสิ่งที่ติดอยู่ ใจดวงนั้นไปติดอยู่สิ่งนั้น ติดอยู่ในสิ่งที่เป็นความว่าง เป็นความว่างแปลว่า รูปฌาน สิ่งที่เป็นรูปฌานเราสะสมขึ้นมา เพราะมันว่างโดยพื้นฐานของมัน มันก็ไปติดอยู่สิ่งนั้น

อรูปฌาน สิ่งนั้นก็เป็นตัวตนอยู่ เป็นเกาะเป็นดอนอยู่ เป็นตัวเป็นตนอยู่ ก็ยังเป็นสังโยชน์เบื้องบนอยู่ ตัวนั้นก็เป็นตัวติด นั้นเป็นมโนกรรมที่มันติดอยู่กับสิ่งนั้น อันนั้นต้องไปหาเอาข้างบนนั้นเพราะเป็นมโนกรรม

นี้เราจะผ่านขันธ์เรานี้เข้าไปก่อน ต้องผ่านขันธ์ ตัดขันธ์อันหยาบ ตัดขันธ์อย่างกลาง ตัดขันธ์อันละเอียด ถึงเข้าไปถึงมโนกรรม เพราะมโนกรรมนี้ไม่ใช่ขันธ์ แต่นี้มันผ่านมา เราย้อนเข้าไป เราย้อนของเราเข้าไป ย้อนของเราเข้าไป นี่การก้าวเดินของใจ

การก้าวเดินของใจต้องเดินขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ทำความสงบของเราแล้วก้าวเดินของเราขึ้นไปให้ถึงตรงนั้นให้ได้ ถ้าถึงมโนกรรม นั่นน่ะ มันก็จะไปสิ้นสุดกันที่มโนกรรม แต่ทีนี้ถ้าเราไม่สิ้นสุดตรงนั้น ตัวนั้นคือตัวอวิชชา ตัวนั้นคือตัวเจ้าวัฏจักร ตัวนั้นคือตัวการขับไสให้เราเกิดตาย เกิดตายอยู่นี่

แม้แต่เราชำระขันธ์ของเรา ถ้าอำนาจวาสนาของเราจบสิ้นแค่นั้น แบบนางวิสาขา เป็นพระโสดาบันก็ยังต้องเกิดตายต่อไป แต่เขาพอใจของเขาอย่างนั้น ชำระขันธ์นอกได้แล้วสิ่งนั้นขาดออกไป เห็นกายตามความเป็นจริง จิตนี้ปล่อยวางเข้ามา แล้วเป็นพระโสดาบันโดยพื้นฐานของใจดวงนั้น

แต่พระโสดาบัน เหมือนกับพระอานนท์ พระอานนท์ก็เป็นพระโสดาบันมาเหมือนกัน แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าพระอานนท์นี้จะสำเร็จต่อไป ถ้าพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระอานนท์จะสำเร็จโดยไม่ช้า พระโสดาบันเหมือนกัน ถ้าคนไม่มีอำนาจวาสนาพอแค่นั้น ก็เหมือนกับนางวิสาขาอยู่แค่นั้น

แต่ในเมื่อเราประพฤติปฏิบัติ เราเข้าใจของเรา เราเจอศาสนาแล้ว เราจะให้ทะลุไปเลยก็ได้ ทะลุไปแบบพระอานนท์ก็ได้ เพราะถ้าหัวใจมันเชื่อ หัวใจมันเปิด ขันธ์อย่างกลางก็ต้องเดินมรรคเข้าไป ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นตลอด มรรค ๔ ผล ๔ “มรรค ๔ ผล ๔” มรรครวมตัวหนหนึ่ง ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นหนหนึ่ง จะสมุจเฉทปหานเป็นขั้นตอนเข้าไป ขั้นตอนเข้าไป พิจารณาร่างกายอยู่ จนกายมันแปรสภาพออก แปรสภาพออกจิตก็ปล่อย พอปล่อยขึ้นมาสังโยชน์ขาดไป ๒ ความว่างเกิดขึ้น ว่างเกิดขึ้น มีความสุขมาก กายเป็นกาย จิตเป็นจิต แยกออกจากกันโดยตามความเป็นจริง นี่ธาตุ ๔ จะหมดภาระตรงนี้ จิตดวงนั้นก็มีความสุขอยู่โดยพื้นฐานของเขา

การเดินต่อไป การก้าวเดินต่อไปเพื่อชำระขันธ์อันละเอียด ขันธ์อันละเอียดนี้เป็นปัญหามาก สิ่งที่เราเป็นทุกข์เป็นร้อนกันอยู่ตรงนี้ก็เป็นเพราะขันธ์อันละเอียด เพราะขันธ์อันละเอียดนี้เป็นกามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะ การสืบต่อในกามภพ สิ่งที่เป็นกามภพสืบต่อกันอยู่นี้ กามราคะเกิดขึ้นจากตัวนี้ไง ถ้าพิจารณากายเข้าไป ในเมื่อธาตุ ๔ นั่นสรุปไปแล้ว พิจารณากายเข้าไป ทำไมต้องพิจารณากายอีก?

กายในกาย กายตัวนี้จะเป็นอสุภะอสุภัง สิ่งที่เป็นอสุภะ อสุภะถ้าเห็นตามธรรมนะ แต่ถ้าเห็นตามกิเลสมันเป็นสุภะทั้งหมด มันเป็นความพอใจไง ขันธ์ตัวนี้มันยึดมั่นถือมั่น เพราะยึดมั่นถือมั่นตัวที่รุนแรงมาก สิ่งที่รุนแรง เพราะมันสืบต่อเป็นการเชื้อของภพ สิ่งที่เป็นเชื้อของภพ อันนั้นมันถึงว่าให้เราเคลิบเคลิ้มไง ในเรื่องของวัฏฏะมันเป็นเหยื่อล่ออยู่อย่างนั้น

“เหยื่อของวัฏฏะ” เอาสิ่งที่ว่ามีรสชาติมาเกี่ยวเบ็ดไว้ไง ให้สัตว์โลกนี้ตาบอดเกาะเกี่ยวอยู่กับสิ่งนี้ สิ่งนี้ทำให้เกิดเชื้อเกิดไสออกไป มันก็เกิดความพอใจความรักใคร่ ความพอใจความรักใคร่ความยึดอันนั้น นั่นล่ะถึงว่าเป็นสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะนี้เป็นเพราะถ้าเราเห็นธรรม สิ่งที่เห็นธรรมเราสร้างของเราขึ้นมา เราทำความสงบของเราขึ้นมาแล้ว พยายามรื้อค้นสิ่งนี้ให้ได้ มันจะเจอถ้าเรารื้อค้น

สิ่งที่เราไม่รื้อค้นเราก็พิจารณาไป ถึงว่าพระที่เข้าไปติดอยู่แล้วก้าวเดินไม่ได้เพราะเหตุนั้น เหตุเพราะใจมันสงบ จิตสงบมันก็ว่างอยู่ ความว่างนี้เหมือนกับผล แล้วกิเลสมันจะหลอกว่านี้เป็นผล นี้เป็นผลว่ามันว่างอยู่ มันมีเหตุผลอ้างได้หมด เหตุผลทำให้เราเข้าใจกับสิ่งนั้นเลย เข้ากับความว่าง แต่ไม่มีเหตุไม่มีผลตามอริยสัจ

สิ่งที่เป็นอริยสัจ วงรอบกิจที่เราควรทำ สิ่งที่ว่าญาณที่มันเกิดขึ้น ความเห็นที่มันเกิดขึ้นตามความเป็นจริง อันนั้นยังไม่เกิด สิ่งที่เกิดเพราะเราสะสม เราต้องสร้างมรรค มรรคอยู่ที่เราสร้างเราสะสม มรรคโคทางอันเอก เราจะก้าวเดินไปทางไหน?

ถ้าเราก้าวเดินไปทางมรรค เราก้าวเดินไปทางมรรคมันก็เป็นสัมมา ถ้าเราไม่ก้าวเดินไปทางมรรคมันก็เป็นกิเลสหลอกลวงออกไป มันละเอียดขึ้นเป็นชั้นๆ เข้าไป แม้แต่หยาบๆ ข้างล่างมันก็หลอกเรามาตลอด หลอกเราว่าเป็นสิ่งนั้น สิ่งนั้น หลอกเราไม่ให้เราเปิดหูเปิดตาเลย หลอกให้เราเชื่อสนิทใจแล้วไม่ลืมหูลืมตา

สิ่งที่เป็นขันธ์หยาบๆ มันยังหลอกได้ขนาดนั้น แล้วเราพยายาม เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราหาช่องทางของเราสูงขึ้นมา สิ่งนี้ละเอียดอ่อนกว่า สิ่งนี้หลอกได้นิ่มนวลกว่า ฉะนั้นหลอกให้เรายอมจำนนกับสิ่งที่ว่ามันเป็นผลไง เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นผล แล้วยอมจำนนกับสิ่งนั้นไง

ถ้าเป็นผลในการประพฤติปฏิบัติ เป็นผลจริงในภาคปฏิบัติ ปัจจัตตังรู้จำเพาะตน ๑ ทีนี้รู้จำเพาะตน กิเลสพารู้มันก็รู้จำเพาะตน แต่รู้ตามสัจธรรม มันจะต้องให้ขาดออกจากกัน ความที่ขาดออกจากกัน มันจะแยกออกจากกัน กิเลสเป็นกิเลส จิตเป็นจิต ธรรมเป็นธรรม แยกออก แยกออก แยกเห็นชัดๆ สะเทือนเรือนลั่นเพราะว่ามันจะไม่ให้หมุนกลับมาในกามอันนั้นอีก

สิ่งที่เป็นกาม นางตัณหานางอรดีความโลภ ความโกรธ ความหลง มันอยู่ตรงนี้ สิ่งที่ว่าโลภ โกรธ หลงมันเป็นความผูกโกรธ ปฏิฆะ ความผูกโกรธก็อยู่ตรงนั้น อยู่ตรงขันธ์สัญญาอันละเอียด สัญญาที่เราได้จากขันธ์ ๕ มนุษย์สำคัญตรงนี้ไง สำคัญที่ว่าได้ขันธ์ ๕ มาแล้วเราทำลายขันธ์ ๕ มันเป็นที่ชำระสะสางเข้าไปไง ถ้าเป็นพรหมมันไม่มีอย่างนี้ มันก็เป็นผัสสะอย่างเดียว ผัสสะแล้วก็ไม่มีโอกาส

ถึงบอกเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นสัตว์ประเสริฐมาก มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติ แล้วมีเหตุ มีเหตุมีที่จะให้เราวิปัสสนาไง มีขันธ์ ๕ ให้เราจับต้องได้ วิปัสสนาได้ การจับต้องได้จับต้องด้วยมรรคนะ การจับขันธ์การวิปัสสนานี้ จับด้วยมรรค มรรคที่เราสร้างขึ้นมา มันเป็นอาการของใจ อาการของนามธรรม แต่มันจับได้เหมือนรูปธรรมเลย จับต้องได้แล้วแยกแยะได้ แยกออกเป็นขั้นเป็นตอนเป็นกองเลยนะ สัญญาเป็นสัญญา สังขารเป็นสังขาร วิญญาณเป็นวิญญาณ มันแยกออกจากกันให้เห็นได้ เหมือนแม่น้ำ ๕ สายมารวมกันในทะเล แล้วเราแยก เราย้อนกลับขึ้นไปบนแม่น้ำนั้น แยกเป็นที่ว่าสายนั้นมาจากไหน แม่น้ำนั้นมาจากไหน มารวมลงที่ปากอ่าวอย่างไร

เหมือนกัน พอแยกออกจากไป พอแยกออกจากไปมันก็รวมออก จากทะเลเราแยกไม่ได้เลยว่าน้ำในทะเลนั้นน้ำอะไร จากแม่น้ำสายไหนเราก็ไม่รู้ เราตามเข้าไปตามแม่น้ำสายนั้น สายนั้น แยกออก แยกออก ขันธ์จะแยกอย่างนั้น พอแยกแล้ว พอแยกมันก็ไม่เป็นอารมณ์สิ มันไม่เป็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นได้ ไม่เป็นสิ่งที่มันสืบต่อมันหมุนเวียนไป ใจมันหมุนเวียนไป นี่ถ้าแยกขันธ์

ถ้าแยกเรื่องอสุภะ มันเป็นสิ่งที่เป็นอสุภะแน่นอน เพราะของบูดเน่า เรากินของบูดนะ มนุษย์กินของเสีย แต่เราช่วงชิงเวลาก่อน สิ่งที่เป็นอาหารเก็บไว้จะเสียหมด มันต้องเสียหายไป ร่างกายเรานี้ก็เป็นของที่กินอย่างนั้น อาศัยของบูดเน่าอยู่ ฉะนั้น ร่างกายนี้บูดเน่าอยู่ แต่มันยังไม่เน่าไม่บูดเน่าเพราะอะไร เพราะยังมีธาตุไฟ ยังมีจิตวิญญาณครองร่างนี้อยู่ มันก็อุ่นให้ร่างกายนี้ยังเป็นของที่ว่าไม่เสียต่อไป แต่ไม่เสียเพราะว่าพลังงานนี้มันรักษาไว้ เราไม่ได้ดูตรงนี้ไง

เราว่าร่างกายเป็นเราแล้วคิดว่าของๆ เรา จนกว่าเราจะตายแล้วมันถึงจะแปรสภาพ แต่ความจริงเพราะสิ่งนี้รักษาคือบุญรักษาไว้ มันยังไม่ตาย มันยังไม่แปรสภาพ แต่วิปัสสนานี้ย้อนกลับเข้าไปดูตรงนี้ เป็นปัจจุบัน เป็นธรรม สิ่งที่เกิดขึ้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ต้องมารู้ตรงนี้ เห็นตรงนี้หมดเลย ผ่านตรงนี้เข้าไป

นี่ก็เหมือนกัน เราจะแก้กิเลส เราก็ต้องมาใช้พลังงานของเรา ใช้ขันธ์ของเรา ย้อนกลับเข้ามาดูของเราให้ได้ ตั้งขึ้นมา นี่มันถึงเห็นเป็นอสุภะไง มันเป็นโดยธรรมชาติ เป็นโดยความจริง แต่เพราะอาศัยบุญกุศล อาศัยชีวิตการสืบต่อของเรานี้ดำรงชีวิตไป เราถึงมองไม่เห็นเพราะสิ่งนี้บังตา สิ่งนี้บังตาแล้ว แล้วกิเลสก็พาเชื่อด้วย สิ่งที่กิเลสพาเชื่อมันก็เลยตามกันไป ตามกันไป เลยมองไม่เห็นธรรม

แต่เพราะเราประพฤติปฏิบัติธรรมใช่ไหม เราสร้างมรรคขึ้นมาใช่ไหม นี่ความดำริชอบมันจะเกิดขึ้น ความดำริชอบแล้วเพ่งดูออกไป อสุภะต้องเป็นอสุภะ มันเป็นอสุภะโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าบุญรักษาไว้

นี้บุญเหนือบุญไง เราจะวางทั้งบุญและบาป บุญที่เหนือกว่าบุญจะเริ่มให้รู้ก่อน เหมือนกับเข้าใจชีวิตนี้ก่อน เราดับขันธ์เราดับกิเลสเสียเดี๋ยวนี้ ฆ่ากิเลสตายเสียเดี๋ยวนี้ พอกิเลสตายออกไปจากใจแล้ว ความรู้จริงเห็นจริง มันช่วงชิงเป็นบุญที่เหนือบุญ บุญที่การประพฤติปฏิบัติมันจะสร้างขึ้นมาได้ ถ้าสร้างขึ้นมาได้ก็เห็นได้ สิ่งนี้เราสร้างขึ้นมา เราพัฒนาของเราขึ้นมา เห็นตามความเป็นจริงเลย

พอเห็นปั๊บ สิ่งที่เห็นสิ่งที่รู้เท่า ใจมันฉลาดขึ้น มันก็ต้องปล่อย สิ่งที่ปล่อย เห็นไหม ปล่อยขันธ์นี้ ขันธ์ขาดออกไปเลย นี่ขันธ์อันละเอียด สิ่งที่เป็นความยึดมั่นถือมั่นในหัวใจที่ละเอียด ปล่อยหมด ถึงว่างไง พอว่าง รูปราคะ อรูปราคะ ปล่อยหมด รูปราคะ ตอนนี้มันก็ว่างหมด สิ่งที่ว่าง รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา

รูปราคะ รูป อรูปราคะ ความว่าง มันก็เป็นความว่างโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” มันก็ว่างโดยธรรมชาติของมัน

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส หมองด้วยอุปกิเลส”

“มโนกรรม” ตัวของมโนกรรม เพราะตัวมโนมันก็เป็นความว่าง มันก็ติดเป็นเนื้อเดียวกันอยู่แล้ว ทำไมมันถึงว่ามันไม่ว่างล่ะ มันก็ว่าง มันก็ปล่อยวางหมด ว่างหมด แต่ใครเป็นคนรู้ว่าว่าง นี่เพราะมันติดมันถึงไม่รู้ พระอนาคามีถึงไม่เห็นตรงนี้ไง พระอนาคามีเข้าใจว่าสิ่งนี้ไง เข้าใจว่าความว่าง เข้าใจว่าจิตนี้หมดแล้ว

อยู่บ้านร้าง ทุกอย่างเก็บไว้สะอาดเรียบร้อยหมด แต่เรายังไม่ได้ชำระล้างตัวเราเอง ตัวเราเป็นคนที่สกปรกอยู่ในบ้านนั้น บ้านนั้นสะอาดหมด เพราะเราละขันธ์นั้นออกมาหมด ขันธ์นี้เหมือนบ้าน เหมือนสิ่งที่อยู่อาศัย แต่จิตกับใจชำระอารมณ์ ชำระความคิดของขันธ์เข้ามาทั้งหมด ชำระใจสะอาดเข้ามา สะอาดเข้ามา จนถึงตัวจิต จนถึงตัว มโนวิญฺญาเณปิ นิพฺพินฺทติ ตัวมโน มโนวิญฺญาเณปิ นิพพินทติ ในอาทิตตปริยายสูตร มโนวิญฺญาเณปิ นิพฺพินฺทติ มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ มโนนี้สัมผัส สัมผัสออกไป สัมผัสออกไป สัมผัสกับความว่างนั้นนั่นน่ะ

สิ่งที่เป็นความว่างเพราะมันไม่ใช่ขันธ์ มันเวิ้งว้างออกไป มันไม่มีสิ่งใดจับต้องได้ มันก็เลยว่าเป็นความว่าง รูปราคะ อรูปราคะ ถ้ามันเป็นเราล่ะ สิ่งที่ว่านิพพานเป็นเกาะเป็นดอน เป็นที่อยู่อาศัย เป็นเรา เรามีที่อยู่อาศัย...มันก็ติดอีก ติดในสิ่งที่ว่ารูปราคะ จิตนี้เป็นรูป รูปมันก็ติด มันก็คาดหมายออกไป เทียบออกไป เทียบออกไปเป็นเกาะเป็นดอน เป็นความว่างของใจนั้น รูปราคะ อรูปราคะ

เราแสวงหา เราอยากได้ฌานสมาบัติ ความสงบของใจ อันนั้นเป็นเรื่องฌานสมาบัติ นี้เป็นการทำสมาธิเข้ามาถึงจิตเดิมแท้ การเข้าถึงจิตเดิมแท้ แต่ไม่เห็นจิตเดิมแท้โดยธรรมชาติ แต่ถ้าละขันธ์เข้ามาเป็นชั้นๆ เข้ามา การละขันธ์ออกไปเป็นชั้นๆ เข้าไป นี่เราปอกเปลือกออกไป เราเลาะสิ่งที่มันเป็นความสกปรกออกไป จะเข้าถึงจิตเดิมแท้เหมือนกัน

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” นี่ตัวมโนกรรม ตัวพาเกิดในวัฏวน พาเกิด จำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน ตัวมโนกรรมนี้พาเกิด แล้วตัวขันธ์ที่ว่ามันเป็นซับซ้อนมา เกิดมาเป็นมนุษย์ชาติหนึ่งก็ส่วนผสมนี้ ความคิดความกระทบมันจะสะสมมา มันรวมอยู่ลงตรงนี้ ตัวนี้พาเกิด

ถ้ามันมีขันธ์ เกิดเป็นพรหมขันธ์เดียวมันไม่มีขันธ์ ๕ มันไม่มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เหมือนเรา เราเป็นมนุษย์มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เกิดเป็นพรหมมีขันธ์เดียว เกิดเป็นสัตว์นรกล่ะ เขาก็เสวยทุกข์ของเขาไป นี่ตัวมโนกรรม ทีนี้ตัวมโนกรรมตัวนี้ตัวพาเกิด ถึงเห็นโทษของเขา เห็นโทษของตัวมโนกรรม ถ้าของสิ่งที่เป็นส่วนที่ของๆ เรา ในบ้านของเรา ใครจะมีอำนาจเหนือเรา ในบ้านเรา เราต้องมีอำนาจเหนือที่สุดใช่ไหม ในที่อยู่อาศัยของเรา เราต้องมีอำนาจ เราเป็นคนจัดการทุกอย่างได้

นี้ก็เหมือนกัน ในร่างกายนี้ ในเรื่องของขันธ์ ใครมีอำนาจเหนือที่สุด? ก็คือตัวมโนกรรมนี้ ถ้าตัวมโนกรรมนี้มีอำนาจสูงสุด นี่เรือนยอดของกิเลส เรือนยอดของกิเลสแล้วแยกออกไปเป็นลูกเป็นหลานของกิเลส แต่เรือนยอดมันอวิชชานี้มันละเอียดอ่อน มันอ้อยสร้อย อยู่ในหัวใจนั้น ถึงต้องพยายามใช้หลัก เป็นอรหัตตมรรค ถึงจะเข้าเห็นตรงนี้ได้

ฉะนั้น พระอนาคามีถึงยังไม่เห็น ไม่เห็นตามความเป็นจริง ถ้าพระอนาคามีเห็นแล้วทำไมหลงอยู่ ทำไมต้องไปเกิดบนสุทธาวาสถ้าดับตรงนี้ หลงอยู่เพราะมันไม่เห็นตรงนั้น แต่เห็นก็เห็นได้ยาก ถึงการขุดคุ้ย การพยายามค้นคว้าหามโนกรรมนะ

ที่ว่าสิ่งที่หาได้ยากที่สุดในร่างกายของเรา สิ่งที่มีอำนาจแล้วทำให้เราผลักไสให้จิตนี้ตายเกิด ตายเกิด เวียนตายเวียนเกิดนี้มากี่ภพกี่ชาติ มองไม่เห็น แต่บัดนี้เราเข้าไปถึงใกล้ตัวแล้ว พอใกล้ตัว ต้องใช้ความคิดอย่างมหาศาล ใช้ความคิดอย่างมหาศาลคือว่าความใคร่ครวญไง ดูใจของเราไป มันเศร้าหมอง มันผ่องใส เวลามันผ่องใสมันต้องเศร้าหมอง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นมันต้องแปรสภาพทั้งหมด สิ่งนี้เป็นตัวแสงสว่างขนาดไหน มันก็เศร้าหมองได้ มันแปรสภาพตลอด แสงสว่างนั้นมันไม่คงที่หรอก มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

เพราะความเปลี่ยนแปลงของมันมันเป็นอวิชชา มันไม่ใช่ความจริง สิ่งที่ไม่ใช่ความจริงอยู่กับเรากระทบกันตลอด แต่มันกระทบแล้วออก กระทบแล้วออก มันถึงมองไม่เห็น สิ่งที่จับต้องได้ เราสร้างขึ้นมาจับต้องได้ ถึงจับต้องได้แล้ววิปัสสนา การวิปัสสนา เห็นไหม งานมันต่างกัน สิ่งที่ต่างกัน เพราะขันธ์กับใจกระทบกันนี้เป็นงาน เหมือนกับงานที่หยาบๆ การวิปัสสนาอย่างนี้มันจะวิปัสสนาด้วยการใช้ปัญญาใคร่ครวญได้ การใคร่ครวญ มีกายกับจิต มีความคิดกับสิ่งที่กระทบ

แต่ตรงนี้มันไม่มี มันไม่มีอะไรกระทบ มันเป็นเนื้อเดียว มันเป็นมโนอย่างเดียว มันเป็นเนื้ออันเดียว มันกระทบกับอะไร? ถึงเวลาวิปัสสนานี้มันจะเป็นญาณไง ความละเอียดอ่อนญาณหยั่งรู้ ญาณพลิกออก มันไม่มีสิ่งที่กระทบ มันเป็นอันเดียวกัน นี่ถึงเป็นญาณซึมเข้าไป เหมือนกับกระดาษซับ เหมือนกับเราซับน้ำ แล้วน้ำซึมเข้าไปในนั้น นี่ก็เหมือนกัน ญาณซึมเข้าไปในเนื้อของจิต แล้วพลิกไปเลย มันถึงการวิปัสสนานี้ไม่เหมือนกัน

ถ้าวิปัสสนาด้วยการใคร่ครวญในขันธ์ ในการปัญญาก้าวเดิน ยังใช้ปัญญาๆ อยู่นะ นี่ปัญญา สติปัญญาก้าวเดินขึ้นมา มหาสติ-มหาปัญญาก้าวเดินขึ้นมาจนขันธ์ที่ละเอียดนั้น อันนี้เป็นญาณที่ละเอียดเข้าไป มันจะเป็นปัญญาซึมซับเข้าไป เป็นญาณที่ละเอียดอ่อนเข้าไปจนไปคว่ำอันนั้น สิ่งที่คว่ำอันนั้นคือแก้มโนกรรม มโนกรรมนี้ได้ชำระล้างแล้ว มโนกรรมนี้สุดสิ้นกัน

เพราะมโนก็คือรูป คืออัตตา สิ่งที่อัตตา กายพลิกออกไปจนเป็นอนัตตา พ้นออกไปจากนั้นแล้วคาดหมายไม่ได้ พูดถึงไม่ได้ไง อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ อาสวะสิ้นไป จิตนี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลสออกไป วิมุจฺจิง สูติ นั่นน่ะ เสวยธรรมอันบริสุทธิ์อันนั้นไง ใจดวงนั้นถึงมโนกรรม สิ่งที่มโนกรรมพาเราเกิดเราตาย เราจะแก้ไขขึ้นไป เราต้องพยายามสร้างกำลังใจของเราขึ้นมา แล้วก้าวเดินของเราขึ้นไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราทำได้ในหลักของศาสนา

ชาวพุทธ เราเกิดเป็นชาวพุทธ เราว่าเรามีอำนาจวาสนาแล้ว แล้วถ้าเราทำของเราไม่ได้ล่ะ เราไม่มีความเชื่อของเราหรือในเรื่องของศาสนา ครูบาอาจารย์ก็มีเป็นเครื่องยืนยัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นองค์แรกนะ องค์ศาสดานี้เป็นครูบาอาจารย์อย่างเอก แล้วเราก็ตั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นตัวอย่าง แล้วเราก็ก้าวเดินตามนั้น

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ กิเลสยังต้องยอม ถ้าแบบเป็นครูเป็นอาจารย์ มันยังคิดว่ากิเลสมันยังพองตัวได้ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บารมีของพุทธะผู้รู้ รู้โดยสยัมภู ตรัสรู้เองโดยชอบ นี่สังคมยอมรับ พูดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวดา อินทร์ พรหม นี้ยอมรับหมด ในธัมมจักฯ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ส่งข่าวขึ้นไปเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ส่งข่าวขึ้นไป พระพุทธเจ้าประกาศธรรมแล้ว ประกาศธัมมจักฯ แล้ว โลกนี้สว่างขึ้น โลกนี้ดวงตาของโลกเปิดแล้ว

ดวงตาของโลกเปิดขึ้นมา ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว แล้วเรา เดี๋ยวนี้เราจะมาเปิดตาใจของเรา ตาของเรานี่ตามืดบอด ตาของเรามองไม่เห็นสิ่งใดๆ เลย สงสัยทุกอย่างไปหมด ความคิดความอ่านของเรามันติดข้องหมองใจเราไปทั้งหมดเลย เราก็ยังสงสัยอยู่เพราะตาเนื้อ เราทำความสงบของเราขึ้นมา นี่เปิดตาธรรม

ถ้าจิตสงบขึ้นมาเหมือนกับเราสร้างตาขึ้นมา ตาของธรรมขึ้นมา ดวงตาเห็นธรรม ดวงตาเห็นธรรมหมายถึงว่ามันเข้าใจธรรมเป็นชั้นๆ เข้าไป ดวงตาเห็นธรรมไปเรื่อยๆ เห็นธรรม เห็นธรรม รู้ธรรม เห็นธรรม รู้ธรรม แจ้งในธรรมนั้น จนถึงกับใจนั้นเป็นธรรมเสียเอง ใจเป็นเอโก ธัมโม สิ่งในโลกนี้เป็นของคู่ มืดคู่กับสว่าง สุขคู่กับทุกข์ ถ้ามีทุกข์อยู่มันต้องมีสุขแน่นอน สุขที่เกิดขึ้นเดี๋ยวมันก็ทุกข์อีก นี่มีขาวมีดำ มีทุกอย่างเป็นของคู่ เอกคือหนึ่งเดียวเท่านั้น หนึ่งเดียว

จิตนี้ มโนกรรมถ้ายังมีกรรมอยู่ มันเวียนตายเวียนเกิดไปตลอด มันไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีต้นไม่มีปลาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราเชื่อไหม? ต้องเชื่อ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดูบุพเพนิวาสานุสติญาณตลอดไป ไม่มีปลาย ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วดูสัตว์เกิดต่อไปก็ไม่มีที่สิ้นสุด เห็นไหม มโนกรรมมีในหัวใจ มันเวียนตายเวียนเกิดไม่มีที่สิ้นสุด

เราเองถ้าจะทำอย่างไรเราก็ต้องมั่นใจของเราว่าต้องเปิดตาใจให้ได้ มีดวงตาเห็นธรรมเท่านั้นล่ะ อย่างมากก็แค่ ๗ ชาติแล้ว มีถึงที่สิ้นสุดแน่นอน

ถ้าดวงตาเห็นธรรม เห็นธรรมเห็นตรงไหน? ก็เห็นว่าสรรพสิ่งนี้ เห็นให้ใจมันฉลาดขึ้นมา มันปล่อยกายกับใจ ปล่อยเท่านั้นล่ะ ปล่อยตามความเป็นจริง

อย่างมาก อย่างนางวิสาขาอีก ๗ ชาติเท่านั้น อย่างมากนะ ถ้าอย่างเร็วเกิดชาติต่อไปทำสิ้นเลยก็ได้ เพราะใจนี้ยังเกิดอีก เกิดก็ทุกข์ สิ่งที่ยังเกิดอยู่ สิ่งที่ยังเกิดอยู่ ยังมีอยู่ สิ่งที่มีอยู่ต้องแปรสภาพ ทุกข์ไหม? ทุกข์แน่นอน

ถ้าสิ่งที่เราทำให้ไม่ทุกข์เกิดจากอะไร ไม่ทุกข์ก็ต้องไม่เกิดสิ เราต้องไม่เกิดอีก แล้วอะไรพาเกิด? มโนกรรมนี้พาเกิด มโนยังมีกรรม ถ้าแก้กรรม กรรมแก้กรรม กรรมดี เราสร้างคุณงามความดีขึ้นไปตลอด แล้วชำระตัดออก ตัดกรรมนั้นออกจากมโน มโนนั้นไม่มีกรรม ถ้าตัวมโนถ้ามีกรรมขึ้นมา มันยังสร้างรูปขึ้นมา ถ้าไม่มีกรรม ภวาสวะ ถือว่าภพชาติมันเกิด เกิดตรงนั้น ถ้าทำลายภวาสวะ มันสิ้นสุด อนุสัยเกิดไม่ได้ ไม่มีที่นอน

อนุสัยนอนเนื่องออกมาจากใจ อนุสัยนอนเนื่องออกมาจากภวาสวะ กิเลสสวะ อวิชชาสวะ แล้วเราเข้าไปทำลาย ทำลายกรรมตัวนั้นออกไปจากมโน ถ้าพูดถึงมโนนี้มันก็ยังเป็นอยู่ แต่พอกรรมกับมโนแยกออกจากกัน พลิกออกแล้ว จบ ไม่มี ใจดวงนั้นเป็นสุขอย่างมาก สุขโดยที่โลกนี้ไม่มี

โลกของเราสุขเพราะขันธ์ ขันธ์คือความสุข มีสุข สุขเวทนา เวทนาขันธ์สุข ทุกข์กับสุขด้วยขันธ์ ด้วยเวทนา สุขทุกข์ด้วยเวทนา เวทนาคือความพอใจ เวทนาเฉยๆ

แต่อันนี้มันสุข สุขโดยตัวมันเอง เพราะขันธ์มันขาดไปตั้งแต่ขันธ์ละเอียดแล้ว มันไม่มีเวทนา อิ่มเต็มอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าไม่ถึงที่สุด มันอยู่ตรงนั้น มันก็เป็นสภาพที่ว่าจะไปสุขข้างหน้า อิ่มเต็มโดยธรรมชาติ จิตเดิมแท้นั้นผ่องใสแล้ว ผ่องใสแล้วอยู่ในสถานะของเขา เขาต้องอยู่อย่างนั้นตลอดไป แล้วก็เกิดเป็นพรหม แล้วก็ไปเรื่อยๆ เห็นไหม สุทธาวาส

แต่ตัดกรรมแล้วหมดเลย รู้ในหัวใจดวงนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วอีก ๔๕ ปี มีชีวิตอยู่ด้วย ใช้ขันธ์นั้นสร้างประโยชน์ออกไปเรื่อยๆ ด้วย ในร่างกายนั้น หัวใจดวงนั้นประเสริฐ แล้วพอปรินิพพานนะ อุปาทิเสสนิพพาน ละทั้งธาตุ ละทั้งขันธ์ วันที่ตรัสรู้นะกิเลสนิพพาน ขันธ์ขาด ทุกอย่างขาด กรรมนี้ขาดออกไปจากใจ ถึงซึ่งกิเลสนิพพาน ถึงวันปรินิพพาน ถึงซึ่งขันธนิพพานด้วย ขันธ์นั้นขาดเลย ขาดออกไป จิตนั้นพ้นออกไป

เพราะสิ่งที่อยู่ในสมมุติ สมมุติยังสืบต่อกันอยู่ สืบต่อกันด้วยขันธ์นี่แหละ เพราะว่าถ้าเรามนุษย์ปุถุชนขันธ์มันสกปรก แล้วไม่เคยเห็นขันธ์ด้วย มันเป็นเนื้อเดียวกันตลอด แล้วชำระตัดเข้าเป็นชั้นๆ เข้าไป จะเห็นเป็นชั้นๆ เข้าไป แล้วพอเป็นชั้นๆ เข้าไป พอสิ้นสุดของกรรมก็อาศัยสิ่งนี้สื่อออกมา

ถึงว่าจิตมันกระเพื่อมเสวยขันธ์ไง จิตกระเพื่อมเสวยอารมณ์ไง จิตนี้เสวยอารมณ์เฉยๆ ถ้าไม่เสวยมันก็อยู่ในทรงตัวของมัน นี้คือสุข สุขเพราะมันไม่กินใดๆ เลย สุขเพราะสิ่งใดๆ เติมเข้าไปไม่ได้ สุขเพราะเขาไม่แสวงหาสิ่งใด เขาทรงตัวของเขาอยู่อย่างนั้น แล้วไม่มีการเกิด ไม่มีการตาย

เขาถึงว่า เราพูดถึงการเกิดว่าทำไมต้องเกิด ทำเพื่อไปเกิดอีก เกิดอีก

ที่เกิดอีกเพราะมโนกรรมมันพาเกิด เราปฏิเสธมันไม่ได้ สิ่งที่มันจะพาเกิด มันมีเชื้ออยู่ มันไปเกิดโดยธรรมชาติ สิ่งที่มีเชื้ออยู่เราปฏิเสธไม่ได้เลย มันเป็นธรรมชาติของมัน แต่เพราะเราชำระออกแล้วมันไม่มี มันไม่มีก็คือมันไม่มี มันไม่มีคือมันไม่เกิด มันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง

ธรรมชาติที่เหนือธรรมชาติ เพราะธรรมชาติมันหมุนไปโดยการเกี่ยวเนื่องกัน ในเรื่องธรรมชาติแปรสภาพโดยความเกี่ยวเนื่องกัน มันแปรสภาพจากสสารหนึ่งก็เป็นอีกสสารหนึ่ง แต่จิตดวงนี้มันขาดแล้วมันไม่มี มันปล่อยวางธรรมชาติไว้ตามความเป็นจริง

สสารคือกิเลสที่มันอยู่ในหัวใจนั้นมันทิ้งหมดเลย มันหลุดออกไปจากใจ ถึงเห็นหลุดออกไปเป็นชั้นๆ เข้าไป แล้วจิตนี้ปล่อยวาง นั่นน่ะ มันถึงเหนือธรรมชาติ ธรรมชาตินั้นถึงว่าให้สิ่งนั้นกลับมาเวียนอีกไม่ได้

ธรรมชาติเป็นการเวียน เป็นการแปรสภาพ สิ่งนั้นไม่แปรสภาพ แต่ถ้าธรรมชาติในหลักของเหตุ ถูกต้อง เพราะมันแปรสภาพอันเดียวกับธรรมชาตินี้ ธรรมชาตินี้แปรสภาพแล้วเปลี่ยนแปลงตัวเองขึ้นไป การประพฤติปฏิบัติ การสร้างจิตของเรามันก็เปลี่ยนแปลง มันก็พัฒนาของมันขึ้นไปเป็นชั้นๆ ของมันขึ้นไป ความเปลี่ยนแปลง ความพัฒนาขึ้นไป นั่น “ธรรม” ถึงจุดแล้วมันเป็น เอโก ธัมโม ธรรมอันเอกที่ปล่อยวางธรรมชาติไว้ตามความเป็นจริง แล้วอยู่เหนือธรรมชาติ ทรงตัวอยู่อย่างนั้น นั้นเป็นเป้าหมายในหลักของศาสนาพุทธเรา

เราเกิดเป็นชาวพุทธ เราต้องตั้งเป้าหมายไปตรงนั้น ตั้งเป้าหมายว่าให้มันสิ้นจากทุกข์ให้ได้ ถ้าไม่ได้ก็สร้างบุญกุศลของเราไป ทีนี้พอเราพูดอย่างนั้นกัน เราก็ว่ามันเป็นสิ่งที่เหนือวิสัย ใจเรามีไหม? ถ้าใจเรามี ใจนี้เป็นภาชนะที่จะใส่ผลอันนั้น ใจนี้เท่านั้นใส่ถึงผลที่เราปรารถนาได้ อย่างอื่นไม่มี

ในเมื่อเรามีภาชนะที่จะใส่ผลอันนั้น ผลคือว่าผลในศาสนาของเรา มันมีอยู่แล้ว แล้วเราปฏิเสธทำไม? ถ้าเราไปปฏิเสธคือเราก็ไม่ได้ศึกษา เราก็ไม่เข้าใจสัจจะความเป็นจริงสิ นี่เพราะใจเป็นภาชนะที่จะกระทบกับธรรม

แล้วเดี๋ยวปัจจุบันนี้ ใจเท่านั้นที่รุ่มร้อนอยู่ในใจ หัวใจเท่านั้นที่มันรุ่มร้อนอยู่ นี่มันยืนยันกัน ทุกข์นี้เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ แล้วทุกข์นี้เท่านั้นดับไปจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นก็พ้นออกไป นี้มันเป็นสิ่งความจริง แต่จะพ้นอย่างนี้ได้มันต้องก้าวเดินของเราขึ้นมานั่นน่ะ ที่ว่ามันทุกข์มันยากมันก้าวเดินขึ้นมา ถึงว่าถ้ามันทุกข์ยาก มันก็พอใจไง ถ้าเราเห็น เราเข้าใจถึงผล เราหวังผลได้ มันพอใจแล้วมันมีกำลังใจทำ

ถึงว่ากำลังใจนี้ถึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้ากำลังใจไม่มี เหมือนกับความเข้าใจ ถ้าความเข้าใจ เราไม่เปิดใจ มันก็รับรู้ไม่ได้ มีกำลังใจด้วย เชื่อในศาสนาด้วย เปิดหัวใจของเราด้วย แล้วก้าวเดินตามนั้นไป ผลมันจะไหลเข้าไปในหัวใจของเราเอง ไหลเข้าไปแน่นอน ถ้าเราทำถูกต้อง ทำถูก เดินถึงที่สุดแห่งสิ้นกิเลสได้ ถ้าทำถูกทาง

ถ้าทำไม่ถูกทาง เราก็สร้างเหตุของเราไปเรื่อย สร้างเหตุของเราไปเรื่อย สร้างเหตุไง ผลที่เราพยายามอยากจะหวังมันเข้าไม่ถึง เพราะมรรคนี้ไม่สามัคคีกัน มรรคสามัคคีกันหนหนึ่งชำระกิเลสหนหนึ่ง มรรคสามัคคีมรรคมารวมตัวหนหนึ่ง แล้วมันรวมตัวอย่างไร อยู่ในตำราทั้งหมด

แต่ทำไมมันสามัคคีในหัวใจของเรา เราจะเข้าใจทันที ทันทีเลย มันจะปล่อยวางเป็นชั้นๆๆ เข้าไปแน่นอน ปล่อยวางเป็นชั้นๆ เข้าไป นี้มันยังไม่ปล่อยวางเราถึงว่าประมาทตรงนี้ไม่ได้ เราประมาทไม่ได้ เราก็ทำอยู่ของเราเรื่อยไป เราทำของเราเรื่อยไป ถ้ายังมีเวลาให้ทำอยู่ นั่นน่ะโอกาสยังมี

เพราะเรายังไม่ถึงกับไม่มีลมหายใจ ถ้าลมหายใจเราขาด นั่นน่ะ คือคนสิ้นหวัง ลมหายใจขาดออกไป หัวใจที่มันจะใส่มันก็ต้องไปเสวย มโนกรรมพาไปเกิดอีกแล้ว พาไปเกิดอันโน้นอยู่ในสถานะอื่น สถานะอื่น มันจะเข้าใจอย่างนี้เหรอ มันจะมีความคิดอย่างนี้อีกเหรอ สภาวะที่ไปอยู่ก็อีก...(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)