เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๑ ก.พ. ๒๕๕o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราเกิดมา เราอยากจะมั่งมีศรีสุข เราอยากสุขอยากสบาย เราทำการทำงานกันเพื่ออะไร ก็เพื่อประโยชน์กับเรา เพื่อความดำรงชีวิต เห็นไหม หน้าที่การงานเป็นหน้าที่การงาน ทุกคนอยากร่ำอยากรวย อยากมีศักยภาพ

อยากร่ำอยากรวย ดูสิ ดู..... เห็นไหม ตอนก่อนที่จะมีปัญหาขึ้นมา เป็นพันเอกเท่านั้นนะ แต่พอมีปัญหาขึ้นมา จากพันเอกเป็นพลเอก เป็นผู้บัญชาการทหารบกเลย เห็นไหม นี่บุญของคน เวลาจังหวะมันมา มันมาอย่างนั้นนะ

นี่ก็เหมือนกัน เราอยากมั่งอยากมี อยากจะประสบความสำเร็จ ประสบความสำเร็จหน้าที่การงานนะ โคนันทวิสาล เวลาต้องช่วยตัวเองก่อน เห็นไหม โคนันทวิสาล พูดกับเขาไม่ดีนะ เขาไม่ลากเกวียนให้ ถ้าพูดกับเขาดีๆ เขาลากเกวียนให้ เราต้องช่วยตัวเราเองก่อน นี่คือหน้าที่การงาน นี่เป็นปัจจุบัน

แต่ปัจจุบันนี้มันมาจากไหน มันมาจากอดีต เห็นไหม อดีตนี่ย้อนไปอนาคต จากอดีตมาเป็นปัจจุบัน แล้วจะไปอนาคต ถ้าคนทำมา คนมีอำนาจวาสนามา ทำประสบความสำเร็จ ถึงจะทำไม่ประสบความสำเร็จ แต่เราก็ต้องตั้งใจทำ เพราะอะไร เพราะปัจจุบันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้มีความเพียรชอบ เห็นไหม ความเพียรชอบนี่มันหน้าที่การงานของเราเพื่อการดำรงชีวิต เพื่อสถานะทางสังคม อยากร่ำอยากรวย อยากจะมีสถานะสังคม เราก็ทำของเราไป ถ้าถึงเวลาเป็นก็ต้องเป็น ไม่เป็นก็ต้องไม่เป็น อันนี้มันเป็นเรื่องของวัตถุ เรื่องของสถานะทางสังคม

แต่เรื่องของสุขของทุกข์จริงๆ มันอยู่ที่ใจ เห็นไหม สุขทุกข์ของใจ ดูครูบาอาจารย์ของเราสิ อยู่โคนไม้ เห็นไหม ดูกษัตริย์ในสมัยพุทธกาล ออกมาบวชแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์นะ “สุขหนอ สุขหนอ สุขหนอ” สุขอยู่โคนต้นไม้นะ ตอนเป็นกษัตริย์อยู่ก็กษัตริย์ออกบวช การที่กษัตริย์ออกบวชสิ เป็นกษัตริย์อยู่ก็มีสถานะกษัตริย์ ทุกอย่างจะพร้อมเพรียงหมดเลย แต่ทำไมมันไม่สุขล่ะ คนๆ เดียวกันนั้นน่ะขณะที่เป็นสถานะกษัตริย์อย่างหนึ่ง ขณะที่ออกมาอยู่โคนไม้อย่างหนึ่ง แต่อยู่โคนไม้ต้องอยู่โคนไม้ที่เราชำระกิเลสได้ด้วยนะ ถ้าอยู่โคนไม้ที่ชำระกิเลสไม่ได้ มันจะเป็นความทุกข์ซ้อนเข้าไป ซ้อนตรงไหนรู้ไหม?

ซ้อน เห็นไหม ความชินชาไง ถ้าเราชินชา การชินชาต่างๆ นี่เราไปอยู่ที่ไหน เราไปถึงที่ใหม่ เราจะมีความตื่นตัวตลอดเวลา ความชินชาของเรานี่ ถ้าเราไปชินชาขึ้นมา เห็นไหม มันจะทำให้เรานอนใจไง ถ้าเรานอนใจ ความชินชาจากภายนอก ถ้ามันนอนใจแล้วเราจะไม่ได้มีความก้าวหน้า แล้วมันก็จะสะสม เห็นไหม

นี่ความทุกข์ ความกลัดหนอง กลัดหนองในหัวใจนี่สำคัญที่สุดเลย เห็นไหม ความชินชานี่ความกลัดหนองเหมือนกัน ถ้าเราไม่เคลื่อนไหว เราไม่มีการกระทำ มันจะเศร้าหมองในหัวใจ ความชินชาในหัวใจนะ ความโลภ ความโกรธ ความหลงน่ะขี้เลย ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง หัวใจนี่นอนจมอยู่กับความขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง มันนอนอยู่กองมูตรกองคูถ มันยิ่งน่าสลดสังเวชเข้าไปใหญ่เลย แล้วเวลาชินชากับสิ่งนี้ว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์ไง สิ่งนี้เป็นประโยชน์นะ มันคิดว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์

เหมือนอาหาร เรากินอาหาร อาหารนะ ถ้าเรากินอาหารเป็นปกติ อาหารนี่มันเป็นอาหารใช่ไหม เพื่อร่างกายใช่ไหม เก็บไว้มันเน่าบูดไหม มันเน่ามันบูดนะ แต่ถ้าเป็นอารมณ์ความรู้สึก มันเป็นขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง มันบูดอยู่แล้วนะ แต่มันเป็นของสดๆ ร้อนๆ เลย มันกลับเป็นของสดๆ ร้อนๆ ที่ไม่บูดเลย เพราะอะไร เพราะเราเสวยอารมณ์ทีไรมันก็เจ็บปวดทุกที เห็นไหม ถ้าเรามีความเจ็บช้ำน้ำใจ เวลาคิดถึงเรื่องที่ไม่พอใจ มันจะเจ็บแสบใจตลอดไป เห็นไหม นี่โลกธรรม ๘

สิ่งใดถ้าให้ผลนะ เหมือนกับเสาเข็มปักไปที่หัวใจเลย แต่เวลาให้ผลนะ เหมือนกับลมพัด ลมพัดใบไม้ไหวนะ เวลามีความสุขนะ ชั่วคราวนะ แต่เวลาคิดถึงความเจ็บปวด มันทิ่มแทงหัวใจ เห็นไหม

เพราะเราไปชินชากับมัน เราไม่เห็นโทษของมันไง เราไปชินชากับมันเอง พอชินชากับมัน มันก็เกิดกับหัวใจ มันก็เหยียบย่ำหัวใจเรา เหยียบย่ำหัวใจเรานะ แล้วไปคุ้นเคยกับเขา ไปชินชากับเขา ยิ่งว่าเป็นเรา ไปกอดเลยว่าเป็นเรา สรรพสิ่งนี้เป็นเรา พอเป็นเราขยับไม่ได้เลย อะไรก็เป็นเรา จะทำอะไรก็เป็นเราไปหมดเลย ถ้าทำอะไรก็เท่ากับทำเรา เห็นไหม

ไม่ใช่เรานะ! ความคิดนี่ไม่ใช่เรา! มันเกิดดับ ถ้าความคิดที่ดี เห็นไหม สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่สิ้นกิเลสแล้วก็มีความคิดเหมือนกัน ความคิดที่สะอาดบริสุทธิ์ไง เป็นภาระ เป็นขันธ์ เป็นภาระหน้าที่ การขับถ่ายนั้นเป็นหน้าที่ เห็นไหม ถ้าเราเกิด เราเป็นมนุษย์ปุถุชน เรากิเลสเต็มตัวเลย สรรพสิ่งในร่างกายมันเป็นของธรรมชาติ เพียงแต่มีหัวใจมันไปยึด มันก็เป็นของเราๆๆ มันก็ทุกข์ร้อนไป

พระอรหันต์ก็มีร่างกายเหมือนกัน ต้องกินอาหารเหมือนกัน ต้องรักษาเหมือนกัน แต่เป็นภาระเพราะมันสะอาด มันบริสุทธิ์ มันถึงไม่มีทุกข์ไง ถ้าไม่มีทุกข์ เห็นไหม สิ่งที่ว่าเป็นวัตถุ ถ้าเราส่งเสริมไป ถ้ามันมีกิเลสในหัวใจมันยึดมั่น มันก็เป็นความทุกข์ไป ถ้ากิเลสในหัวใจมันไม่มี สิ่งนั้นมันเป็นธรรมชาติ มันเป็นสิ่งการดำรงชีวิต

พระอรหันต์ ถ้ามีอิทธิบาท ๔ อยู่ จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ เห็นไหม จิตตะ วิมังสา จิตตะ ดูจิตของตัวเองอยู่ตลอดไป นี่มันสะอาดบริสุทธิ์ เพียงแต่ว่าธาตุขันธ์จะรับได้หรือไม่ได้ เห็นไหม เหมือนกับผลไม้ มันจะเน่าหรือไม่เน่า ถ้าเราถนอมรักษาไว้ ถนอมผลไม้ไว้ ผลไม้ก็อายุยืนยาว เห็นไหม ถ้าร่างกายนี้มันยังมีกำลังอยู่ จะอยู่อีกกี่กัปก็ได้ แต่ร่างกายของเรามันจะชราภาพไป มันเป็นอนิจจัง มันเรื่องธรรมดาของโลกเขา เห็นไหม ถ้ามีอิทธิบาท ๔ จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้

แต่ถ้าปุถุชน นี่เราอยากอยู่ เราก็พยายามจะรั้งไว้ รั้งไว้ขนาดไหน เพราะขี้ภายใน เห็นไหม ขี้ภายในคือความวิตกกังวล คือความจริงไม่จริงหนอ เป็นไปได้ไม่ได้หนอ เห็นไหม เพราะเราไม่เคยปฏิบัติกัน เราไม่เคยเข้าใจว่าธรรมะ “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะย่อมคุ้มครอง”

คำว่า “คุ้มครอง” คุ้มครองตรงไหน? ถ้าเราเริ่มมีศีลมีทานขึ้นมา มันคุ้มครองเราแล้ว เป็นคนดีไปไหนก็มีแต่คนดีทั้งนั้น สิ่งที่ว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สิ่งนี้มันแก้ความลังเลสงสัย แต่ของเราไม่เชื่ออะไรเลย เราสงสัยหมด ทั้งเชื่อ ถ้าฟังธรรมก็เชื่อจากภายนอก เชื่อจากข่าวลือ เชื่อจากเขาเล่าให้ฟัง เห็นไหม กับเชื่อโดยเราเข้าไปประสบเอง เราสัมผัสเอง เราแก้ไขของเราเอง

อย่างเช่น สิ่งที่มันเป็นปัญหาอยู่ในหัวใจ ถ้าเราปลดออกแล้ว ใครจะว่าออกไม่ออกมันเรื่องของเขา แต่เราปลดของเราออกหมดแล้ว สิ่งนี้มันเป็นสัจจะความจริงของเรา นี่มันเริ่มจากภายในของเรา ถ้าเราเข้าไปแก้ไขอย่างนี้ มันจะมีความลังเลสงสัยที่ไหน?

อิทธิบาท ๔ มันก็เป็นอิทธิบาท ๔ โดยสัจจะความจริงไง แต่อิทธิบาท ๔ ของเราที่เราอยากจะทำอยู่นี่ อิทธิบาท ๔ ของเรา เพราะเราเหนี่ยวรั้ง เรากังวล มันเป็นอดีต-อนาคตไปหมดเลย มันไม่เป็นปัจจุบันอะไรเลย ไม่เป็นอะไรเลย

นี่เกิดจากความชินชาจากภายนอก เห็นไหม การเคลื่อนไหว การชินชา ถ้าเราชินชาจากภายนอก เห็นไหม ดูสิคนขึ้นบ้านใหม่ คนมีสมบัติใหม่ จะมีความสุขมากเลย พอมันคุ้นเคยมันต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

การขยับร่างกายของเราก็เหมือนกัน อิริยาบถของเรา เห็นไหม ยืน เดิน นั่ง นอน ถ้ามันนอนอยู่ เห็นไหม คนทำงานก็ว่าเหนื่อยอยากจะนอน นอนตลอดไปก็นอนไม่ได้ ก็ต้องขยับ เห็นไหม สิ่งต่างๆ กิริยาการเคลื่อนไหวนี่มันบังทุกข์ไว้ เราไม่รู้จักทุกข์เลย ไม่รู้จักสัจจะความจริงเรื่องของเราเลย เพราะธรรมชาติมีตลอดไป

แต่หัวใจเวลามันละเอียดกว่านั้น เวลามันเศร้าหมองของมัน มันสุข-ทุกข์ในใจ เห็นไหม ความสุข-ความทุกข์อย่างนี้ พูดถึงสมบัติไง เราอยากมั่งอยากมี อยากมั่งอยากมีนี่มันเป็นเรื่องของเรานะ ถ้าทำเป็นคุณงามความดี เห็นไหม ดูสิพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ก็ต้องทำอย่างนี้ เห็นไหม ดูสิพวกพระอินทร์ เทวดา มาถามพระพุทธเจ้าว่า

“พระอินทร์มีหรือเปล่า?”

ท่านบอกว่า “อย่าถามเลยว่าพระอินทร์มีหรือเปล่า เหตุให้เกิดพระอินทร์เรายังรู้เลย” เหตุให้เกิดพระอินทร์เพราะอะไร?

เพราะทำสาธารณะประโยชน์ เห็นไหม เราทำสาธารณะประโยชน์ ประโยชน์เพื่อสังคม สังคมเพื่อเขา เขาจะใช้ของเรา นี่มันเป็นเหตุ เขาได้มาอาศัยความร่มเย็นเป็นสุข เขาได้อาศัยสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา นี่มันก็เป็นหนี้บุญคุณกัน พอเราเกิดขึ้นไป เราเป็นเทวดาเพราะเราไปปกครองเขา เขาก็อยู่ในอำนาจของเรา เห็นไหม แต่อย่างนี้มันเป็นอามิส มันก็หมุนเวียนไป เห็นไหม

สิ่งนี้เป็นอามิสเพราะอะไร เพราะพระอินทร์ก็ยังทุกข์ ทุกข์ใครก็ยังทุกข์หมดล่ะ เทวดา อินทร์ พรหม ทุกข์หมดนะ สิ่งที่ทุกข์เพราะอะไร? เพราะมันมีความคุ้นชินในหัวใจ ถ้าอารมณ์อะไร ความรู้สึกมันก็เหนี่ยวรั้งไว้ไม่อยากให้แปรสภาพ อยากให้คงที่ตลอดไป แต่มันเป็นไปไม่ได้

สิ่งที่เป็นไป สรรพสิ่งโลกนี้ไม่มีอะไรคงที่ มันแปรสภาพตลอดเวลา สิ่งที่แปรสภาพไป เห็นไหม สิ่งนี้มันเป็นอนิจจัง สิ่งใดอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะอะไร เพราะว่าสิ่งที่เราพอใจ เราอยากให้เป็นอยู่กับเราตลอดไป นี่ต้องให้มันคงที่ตลอดไป มันเป็นไปไม่ได้ พอเป็นไปไม่ได้มันก็ทุกข์ สิ่งที่ทุกข์ ถ้าสัจธรรมน่ะเป็นอนัตตา เห็นไหม สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ทุกข์แล้วทุกข์เล่า ทุกข์ซ้ำทุกข์ซาก ทุกข์ตลอดไป ทุกข์นี่มันก็ฝังลงที่ใจ มันก็เป็นปัญหาไป

แต่ถ้าทำบุญ ทำบุญมันเข้าใจตามสัจจะความจริง เห็นไหม เราเสียสละ เราเข้าใจ พอเข้าใจ มันจะอ๋อๆๆ อย่างนี้มันเป็นบุญ พอเป็นบุญขึ้นมาใจมันก็เบา เบามันก็ขึ้นที่สูงนะ ถ้าใจมันทุกข์ มันเป็นหนัก มันหนักมันก็ลงต่ำ สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของอามิส เห็นไหม นี่เรื่องของอามิส เรื่องของวัตถุ

“อารมณ์ก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง” พระสารีบุตร เห็นไหม ถวายการพัดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เขาคิชฌกูฏ แล้วหลานขึ้นมาต่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะอะไร เพราะว่าตระกูลของพระสารีบุตรบวชหมดเลย บวชๆๆ เห็นไหม หลานไม่พอใจ จะมาต่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกว่า “เราไม่พอใจสิ่งใดๆ เลย ไม่พอใจอะไรทั้งสิ้นเลย” นี่ความไม่พอใจไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์สิ่งที่เธอไม่พอใจเขาด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกนี่มันก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง” อารมณ์ความไม่พอใจเขานี่ เวลาเราคิดขึ้นมาเป็นก้อนหินนะ ทับหัวใจนี่ สิ่งนี้ เห็นไหม “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์สิ่งนี้ด้วย อารมณ์ความรู้สึกนี่เป็นวัตถุอันหนึ่ง”

เรื่องของวัตถุ วัตถุจากภายนอก แล้ววัตถุจากภายในเราก็ไม่เห็น เพราะเราจับไม่ได้ เพราะจิตเราไม่เคยเป็นสมาธิ เพราะจิตเราไม่เคยเป็นสมาธิ จิตเราไม่ตั้งมั่น เพราะเราไม่มีจิต เราถึงจับความรู้สึกเราไม่ได้ พอจับความรู้สึกไม่ได้ แล้วจิตเรานอนอยู่ในความรู้สึกนี่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่มันนอนคลุกคลีกันอยู่ มันนอนจมอยู่ในใจ มันไม่เห็นตัวมันเองเลย มันไม่เข้าใจตัวมันเองเลย

ถ้ามันมีความสงบเข้ามา มันจะเข้าไปจับความรู้สึก อารมณ์ความรู้สึกนี่เป็นวัตถุอันหนึ่ง แล้วเราแยกแยะมัน อารมณ์อันนี้ วัตถุอันนี้ ก้อนหินนี้มันทับหัวใจเราทำไม? ทำไมเราต้องแบกความทุกข์อันนี้? ความทุกข์อันนี้แบกไว้ทำไม?

นี่มันแก้ทุกข์มันแก้จากภายใน เราไปมองกันแต่วัตถุภายนอก สิ่งที่อาศัยเรื่องร่างกาย วัตถุจากภายนอก ของใช้อาศัยจากภายนอก อันนั้นเพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ เรามีร่างกาย เห็นไหม เทวดาเขาไม่มีร่างกาย เขาเป็นทิพย์ไปหมด เขาไม่ต้องใช้วัตถุเลย เขาใช้แต่วิญญาณาหาร พรหมเขาใช้ผัสสาหาร ใจนี่พอมันพอใจ มันอิ่มเต็มของมันได้ แต่ความอิ่มเต็มนี้อิ่มเต็มโดยทิพย์ของเขา โดยบุญของเขา

แต่เราเป็นมนุษย์ เพราะเรามีร่างกาย ร่างกายกระเพาะอาหารมันต้องการอาหาร เราถึงต้องหาให้มัน มันหนาวมันร้อน มันเย็นมันทุกข์ มันป่วยมันไข้นี่ เราต้องดูแลมันไปตลอดเวลาเลย ดูแลเพราะอะไร เพราะถ้ามันสิ้นสุดกระบวนการอย่างนี้ พอมันย่อยสลายแล้ว มันต้องตายไป จิตนี้อยู่ไม่ได้ ต้องออกเห็นไหม

เพราะมันขัดแย้งกันระหว่างจิตกับกาย เห็นไหม ถ้ามันขัดแย้ง มันต้องพรากจากกัน พอพรากจากกัน เวลาตายไปจิตนี้ต้องออกจากร่าง เห็นไหม แต่เวลาเราออกจากร่างมันก็ไปเกิดเป็นต่างๆ เห็นไหม แต่เวลาเป็นธรรมะล่ะ ธรรมะมันก็เข้ามาแก้นี่ ธรรมะเป็นนามธรรม นามธรรมก็แก้เรื่องของจิต

เราไม่คุ้นชินกับความรู้สึกของเราเอง ไม่คุ้นชินกับอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นวัตถุ ที่มันนอนทับเรา ที่มันกดขี่เราอยู่ เห็นไหม มารๆๆ มารมันกดขี่เรา โดยที่เรามีฐานะ เรามีภวาสวะ มีภพ มีสถานที่ อารมณ์ความรู้สึกมันถึงตั้งได้ ถ้าตั้งได้ จิตสงบเข้ามา มันเข้ามามันก็ค้นคว้าเข้ามาตรงนี้ไง ตรงความรู้สึกอารมณ์ที่มันตั้งอยู่ มันตั้งอยู่บนอะไร ฐีติจิต มันตั้งอยู่ที่ไหน? ถ้ามันจับตัวนี้ได้ มันเข้ามาก็เห็น

นี่พิจารณาจิตพิจารณาอย่างนี้ จิตเป็นอะไร อารมณ์เป็นอะไร อารมณ์ก็เป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ มันเกิดขึ้นมา ส่วนผสมมันเป็นอย่างไร เพราะอะไร เพราะมันมีตัณหาความทะยานอยาก เพราะความไม่รู้ เพราะความคุ้นชินกับมัน เพราะนึกว่าเป็นเรา เป็นประโยชน์ไง

นึกว่าเป็นเรา เราคิดดี เราคิดทำทุกอย่างเป็นความดีทั้งหมด ความดีเป็นความคิดบุญกุศล บุญมันก็เป็นอามิส นี่ข้ามพ้นบุญและบาป บุญนี้ก็ต้องข้ามพ้นมันไป บุญนี้ก็ต้องสละมันไป แต่ก็อาศัยบุญไป เราจะข้ามฝั่งต้องมีเรือพาไป แต่เราไปถึงแล้วเราก็ต้องสละเรือขึ้นบนฝั่ง

นี่ก็เหมือนกัน จิตมันต้องอาศัยอย่างนี้ผ่านไป อาศัยมรรคญาณ อาศัยอารมณ์ความรู้สึกนี้ เอาอารมณ์ความรู้สึกนี้มันจะละเอียดเข้าไป พอมันสงบเข้าไป เห็นไหม นี่จิตสงบ ตัวจิตนี้เห็นอารมณ์ เห็นศัตรู เห็นสิ่งที่ไปเกาะเกี่ยว เห็นสิ่งที่ไปแบกรับ แล้วมันก็วิปัสสนาไปด้วยปัญญาญาณ เห็นไหม ปัญญามันจะแยกแยะอย่างไร แยกแยะอย่างไร

เพราะว่าสิ่งนี้เป็นโทษ ถ้าจับเป็นโทษ ทุกอย่างจับเป็นโทษ ถ้าวางล่ะ วางๆ อย่างไร วางไม่ได้หรอก ธรรมชาติของมันๆ เสวยอารมณ์ ธรรมชาติของมันเป็นพลังงานที่มันส่งออก มันจะวางอย่างไร?

โดยสัจจะความจริงทุกอย่างเป็นอนิจจัง มันก็เวียนไปธรรมชาติของมัน แต่ถ้ามีปัญญาญาณ มรรคมันเกิด มันเห็นความเป็นไปนะ มันเห็นเป็นโทษ คนเห็นโทษเห็นไฟ ใครกล้าจับไฟ? ไฟใครจะจับมัน? อารมณ์ที่มันทุกข์ไปจับมันทำไม? มันไม่จับเพราะอะไร? เพราะมีตัวกระตุ้น แล้วตัวกระตุ้นมันจะปล่อยตัวกระตุ้นได้อย่างไร? ปัญญามันจะหมุนเข้ามาๆ เห็นไหม มันชำระอย่างนี้

เราคุ้นชินจากภายนอก จากความอยากร่ำอยากรวย อยากสร้างสถานะ นี่มันปิดตาเลย ออกไปเอาข้างนอก ถ้าย้อนกลับเข้ามา มันจะเห็นสถานะจากภายใน แล้วก็อย่าไปคุ้นชินกับมัน

ไม่ใช่เรา มันเกิดดับ ไม่ใช่เรา “เรา” เพราะเราหลง ถ้าไม่ใช่เรา มันเห็นสภาวะที่มันเกาะเกี่ยวกัน แล้วมันจะเห็นการทำลายออกไปด้วยปัญญาของมัน มันทำลายออกๆ ด้วยปัญญาญาณ ปัญญาญาณภาวนามยปัญญา ไม่ใช่จินตมยปัญญา ไม่ใช่ปัญญาการศึกษาที่เราศึกษากันนี้ ศึกษานี่มันไม่ทันกัน

เราเจ็บไข้ได้ป่วย เราไปรักษาคนอื่นหายไหม? จิตเราเป็นคนป่วย เราไปศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าหายไหม?

จิตของเราเป็นคนป่วย ยาต้องรักษาที่จิตของเรา ธรรมเกิดจากจิตของเรา ธรรมเกิดจากภายใน ไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้า ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมของพระพุทธเจ้านะ เป็นเหมือนโรงพยาบาล ยาอยู่ที่โรงพยาบาล เราป่วยที่ตัวเรา เราเข้าไปแล้วเราต้องรักษาที่ตัวเรา

จิตก็เหมือนกัน ถ้ามันย้อนกลับเข้ามานี่เป็นธรรมะของเรา ธรรมะส่วนบุคคล ธรรมะของเรา เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์ขอให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ก่อน

“อานนท์ เราไม่ได้เอาธรรมของใครไปเลย เอาแต่ของเราไปเอง ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม...”

เพราะเหตุเกิดจากใจ เหตุเกิดจากสถานนี้ ถ้ามันวิปัสสนาขึ้นมา ใครเห็นขึ้นมา มันจะชำระกิเลสของคนๆ นั้น เห็นไหม มันเป็นธรรมของคนนั้นนะ

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ผู้ใดเห็นธรรม เห็นไหม เห็นตถาคต เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรินิพพานไปแล้ว นี่มันเป็นอันเดียวกัน เพราะอะไร เพราะใจเหมือนกัน ทุกข์เหมือนกัน สุขเหมือนกัน แต่การแสวงหาเป้าหมายต่างกัน

เราไปตั้งเป้าหมายแต่ความร่ำรวยจากวัตถุสมบัติ แต่ถ้าผู้ที่ปฏิบัติ เห็นไหม จะต้องการอริยสมบัติ ทรัพย์สมบัติจากภายใน ทรัพย์สมบัติจากภายในแก้ทุกข์ ใครจะเห็นไม่เห็นมันเรื่องของเขา กินอิ่มนอนอุ่นมันก็เป็นเรื่องของเราเพราะเราเป็นคนเสพเอง จิตที่มันสุขมันทุกข์เราก็เป็นผู้ที่เสวยเอง เราเป็นคนแสวงหาเอง

“โอปนยิโก” เห็นไหม เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม เรียกร้องพญามาร เรียกร้องต่างๆ ที่มันจะค้นคว้าหาเรา...หาเราไม่เจอหรอก! หาเราไม่เจอถ้าเราทำลายสถานที่ ทำลายที่ตั้ง ทำลายจิต ทำลายทุกข์อย่าง ไม่มีสิ่งใดๆ แล้ว เราเองรู้เองแต่มารหาไม่เจอ นี่ธรรมสุดยอดอย่างนี้ไง

แต่ถ้ายังมีเรา มีเป็นไปอยู่นะ ยังมีสถานะอยู่ มารหัวเราะเยาะ ทุกข์หัวเราะเยาะ ทุกข์มันมีที่อยู่ ทุกข์มันกระทืบหัวใจเราอยู่ตลอดเวลา เราไม่เห็นมันเอง เห็นไหม นี่เพราะความเราประมาท เราคุ้นกับชีวิตจากภายนอก ชีวิตจากภายในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงให้ตั้งสติ แล้วเราค้นคว้าเอง บุญเกิดจากตรงนี้ การกระทำเกิดจากตรงนี้ แล้วจะเป็นบุญจากภายนอกและบุญจากภายใน เอวัง