เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๔ ก.พ. ๒๕๕o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

แล้วนี่โลก ศาสนามันเจริญ เห็นไหม ว่าคำว่า “ศาสนาเจริญ” เรานี่เกิดมามีวาสนามากๆ เลย พวกเราเกิดมามีวาสนามาก เว้นไว้นะ ดูนะ ดูเวลาองค์หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ เพราะหลวงปู่มั่นท่านเล่าเอง ท่านบอก “เวลาท่านปฏิบัติไป ท่านปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์” ท่านปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์นะ

คำว่า “พระโพธิสัตว์” หมายถึงว่าปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า คนที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้วสร้างบุญญาธิการมามหาศาล ต้องมหาศาลนะ แล้วมหาศาลโลกจะโต้แย้ง มหาศาลทำไมเกิดอยู่ที่อุบลฯ เป็นลูกชาวไร่ชาวนา เวลาพระโพธิสัตว์นะ เกิดเป็นสุนัขก็เกิด เกิดเป็นปลาก็เกิด เกิดเป็นกวางก็เกิด พระโพธิสัตว์หมายถึงว่าเกิดมาแล้วเพื่อจะเชิดชูหรือว่าบำเพ็ญประโยชน์ไง พระโพธิสัตว์เกิดสภาวะแบบนั้น

หลวงปู่มั่นท่านปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ แล้วเวลาท่านปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า เวลาท่านภาวนาไป เห็นไหม เพราะกึ่งพุทธกาลตอนนั้นในสังคมสงฆ์มันก็ตัวใครตัวมัน มันก็ไปประสาโลก มันไม่เข้าหลักเข้าเกณฑ์ ไปศึกษากับใครก็มีแต่ทฤษฎี มีแต่คำบอกเล่า แล้วคำบอกเล่า เราก็บอกเล่าในใจเราแล้ว ไปฟังคนอื่นเขาบอกเล่าอีกอย่างหนึ่ง มันก็ออกนอกลู่นอกทางไป แล้วมันไม่เข้า

คำว่า “พระโพธิสัตว์” มันเหมือนกับเจ้าชายสิทธัตถะนี่ไปเรียนกับอาฬารดาบส เห็นไหม เวลาบอกเรื่องสมาบัตินี่ไม่เชื่อ เพราะอะไร? เพราะว่าคนที่สร้างบุญญาธิการมา มีปฏิภาณมีไหวพริบ มันเข้าใจว่าสิ่งนั้นมันไม่ใช่สัจจะความจริง

หลวงปู่มั่นก็เหมือนกัน เวลาท่านปฏิบัติไปนี่มันไม่เข้า มันมีนิมิตต่างๆ มันก็ไม่เข้า สุดท้ายแล้วด้วยความรู้เลย รู้ว่าเวลามันจะเข้าด้ายเข้าเข็ม บารมีของพระโพธิสัตว์มันก็เข้ามา เข้ามาเป็นฌานโลกีย์ พระโพธิสัตว์ทำสมาธิได้เป็นฌานโลกีย์ เห็นไหม ก็เลยลาพระโพธิสัตว์ ลาเลยนะ บอกลาพระโพธิสัตว์ บอกลาพระพุทธเจ้า เพราะว่าสาวกะ สาวก ก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ก็เลยประพฤติปฏิบัติมา เห็นไหม

พอประพฤติปฏิบัติไป ปัญญามันเข้าไปทำลายกิเลสของตัวเอง แล้วไปแก้หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์ท่านบอก “ท่านปรารถนามาเป็นพระปัจเจกฯ” พระปัจเจกฯ ก็มีบุญญาธิการเหมือนกัน

คนที่จะแก้ไขตัวเองได้ มันต้องรู้จักวิธีการ รู้จักการกระทำของตัวเองก่อน เห็นไหม แล้วก็ไปแก้หลวงปู่เสาร์ ไปแก้เจ้าคุณอุบาลี แล้วไปแก้ครูบาศรีวิชัย แต่ครูบาศรีวิชัยแก้ไม่ได้ นี้ครูบาอาจารย์เล่า เพราะครูบาศรีวิชัยบอกว่า “กลับไม่ได้แล้ว เพราะตัดสินใจไปแล้ว ต้องเดินหน้าไปอย่างเดียว” แต่พวกนี้กลับหมด เห็นไหม

นี่จะบอกว่ากึ่งพุทธกาลศาสนาเจริญ เจริญที่ไหน เจริญที่วิธีการ วิธีการที่ถูกต้อง การประพฤติปฏิบัตินั้นก็ถูกต้อง วิธีการที่ถูกต้อง ใครเป็นคนว่าถูกต้องล่ะ กิเลสมันว่าถูกต้องนะ คำว่า “ถูกต้อง” นี่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คำว่า “สมุทัย” กิเลสตัณหาความทะยานอยากนี่เป็นสมุทัย

ตัณหาความทะยานอยาก เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เราก็มีตัณหาของเรา ความว่าตัณหาของเรา เราก็ว่าสิ่งนี้เป็นความถูกต้อง แต่ถ้าสมมุติล่ะ ตัณหาเป็นสมมุติไหม ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ถ้าละ... ละวิธีใด ละด้วยมรรคญาณ เห็นไหม สมุทัยกับมรรคต่างกันไหม?

สมุทัย เห็นไหม สมุทัยคือตัณหาความทะยานอยาก คือความคิด คือสิ่งที่เราจินตนาการขึ้นมา แต่ถ้ามันเป็นมรรค คำว่า “มรรค” นะ มรรคเป็นสมมุติไหม นี่สมมุติแก้สมมุติไม่ได้ ในเมื่อ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา บัญญัตินี่ยังเป็นสมมุติอยู่ ทฤษฎีนี่เป็นสมมุติอยู่ ธรรมและวินัยนี่เป็นสมมุติ ธรรมและวินัย เห็นไหม

แต่ว่าเป็นวิมุตติแล้ว เวลาพ้นไป เวลาพระอรหันต์เป็นผู้ที่มีศีลสมบูรณ์แล้วยกเว้นเลย ยกเว้น แม้แต่สวดปาฏิโมกข์ก็ไม่เป็นอาบัติ เพราะอะไร? เพราะไม่มีเจตนา ไม่มีเจตนาเลย ถ้าพูดถึงนี่สติวินัย เรียกว่าถือสติวินัย สติวินโย ทาตพฺโพ อธิกรณสมถะ ๗ อย่างนี้จะไม่เป็นอาบัติ เห็นไหม พ้นจากสมมุติไปทั้งหมดเลย วินัยนี่สมมุติ กฎหมายนี่สมมุติ กติกานี่สมมุติ แต่ว่าสมมุติ ถ้าเราเลือกใช้ประโยชน์ สมมุติจะเป็นประโยชน์

ถ้าเราเลือกใช้สมมุติไม่เป็น ดูสิ ดูอย่างนักวิชาการหรือนักกฎหมาย เขาอาศัยกฎหมาย อาศัยเลาะเล็มไปตามกฎหมายแล้วเอากฎหมายมาเอาเปรียบพวกเรา แต่คนถ้าซื่อตรงกับกฎหมาย เห็นไหม

มรรคก็เหมือนกัน ก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง มรรคนี่เป็นสมมุติ แต่ว่าสมมุติอันนี้มันเป็นมรรค มันไม่ใช่ตัณหา ไม่ใช่สมุทัย ถ้าไม่ใช่สมุทัย ดูสิ เวลาเราจะสร้างบ้านสร้างเรือน เห็นไหม ต้นไม้ต้นหนึ่ง ต้นไม้ต้นหนึ่งจะเป็นต้นไม้ที่ดีไหม ต้นไม้ต้นนั้นดีมาก แต่ต้นไม้ใช้ประโยชน์อะไร? ประโยชน์ก็ฟอกอากาศ ประโยชน์ของต้นไม้นั้น

แต่ถ้าเราจะเอาต้นไม้มาสร้างบ้านสร้างเรือน เห็นไหม เราต้องเลื่อย คำว่า “เลื่อย” ฟังสิ! คำว่า “เลื่อย” เราต้องเลื่อย เราจะทำคานทำตรงทำอะไร เราต้องเลื่อยไปตามยาวของต้นไม้ใช่ไหม แต่ถ้ามันเป็นตัณหาความทะยานอยากนะ เขาว่าเลื่อยเราก็เลื่อย โค่นต้นไม้นั้นไปก็เลื่อยทางขวางๆ ไปมันก็เป็นได้ แต่อย่างมากก็เป็นปาร์เก้ ปาร์เก้ไปทำอะไรได้ มันก็ทำได้บ้านตุ๊กตา

แต่ถ้าเราจะเลื่อยไม้ เห็นไหม นี่เราบอกเวลาภาวนาไป นิมิตไง เวลาเห็นนิมิต เวลาเห็นว่าถ้าทำนิมิตไป เราใช้ปัญญา เราใคร่ครวญไป เวลาเราไปเห็นกาย เห็นกายนี่เป็นนิมิตนะ อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต ปฏิภาคะคือขยายส่วนแยกส่วน

ขยายส่วนแยกส่วนเป็นปฏิภาคะ เห็นไหม ขณะที่เห็นต้องเห็นสัจจะความจริง เห็นต้นไม้ใช่ไหม เราจะล้มต้นไม้ เราจะเลื่อยต้นไม้ คำว่า “เลื่อยต้นไม้” ถ้าคนเลื่อยเป็น เขาก็เลื่อยออกมาเป็นประโยชน์นะ จะสร้างบ้านสร้างเรือนจะเป็นตรง เป็นพื้น เป็นอะไร เป็นประโยชน์ขึ้นมา นี่วิธีการที่ถูกต้อง นี่คือมรรคญาณ

ถ้ามรรคเหมือนกัน เลื่อยเหมือนกัน นี่ก็เลื่อย เห็นไหม นิมิตเหมือนกัน แล้วก็ทำลายเหมือนกัน แต่การทำลายทำลายอย่างไร ทำลายคือตัดให้เป็นชิ้นเป็นท่อน ตัดให้เป็นป่นเป็นผงไปเลย เป็นขี้เลื่อยหมดเลย ไม่เป็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาเลยเหรอ มันจะต้องเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา การเลื่อยต้องเลื่อยให้ถูกวิธี เห็นไหม มรรคมันถูกวิธี วิธีการกับเป้าหมาย วิธีการต้องถูกต้องนะ แล้ววิธีการ คำว่าเลื่อยเหมือนกัน คนหนึ่งเลื่อยเป็นไม้ขึ้นมาเพื่อไปสร้างบ้านสร้างเรือน อีกคนหนึ่งเลื่อยมาเพื่อเป็นเศษเป็นฟืนขึ้นมา นี่มันต่างกันไหม

นี่สมมุติเหมือนกัน คำว่า “สมมุติ” จะบอกว่าสมมุติทั้งหมดจะแก้กิเลสไม่ได้ สมมุติ เห็นไหม เขาบอกต้องเป็นธรรมแก้กิเลส กิเลสแก้กิเลสไม่ได้ ใช่..ต้องเป็นธรรมแก้กิเลส แล้วธรรมอยู่ที่ไหน?

ธรรม เห็นไหม สัจธรรม สัจจะความจริง สัจจะความจริงต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าไม่มีความสงบของใจเข้ามานะ ดูสิ ดูทางวิทยาศาสตร์ที่เขาทดลองวิทยาศาสตร์กัน ถ้าสิ่งที่ว่าห้องทดลองหรือสิ่งต่างๆ ที่มันไม่สะอาด มันจะมีสารต่างๆ ทำให้มันเป็นตัวแปร เห็นไหม เขาต้องทำความสะอาด ต้องทุกอย่าง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันยังมีกิเลสเรา ตัณหาความทะยานอยากนี่มันเป็นกิเลสโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว ถ้าเป็นธรรมชาติของเรานี่ เราทำด้วยกิเลส เห็นไหม ทำด้วยกิเลส ฟังสิ! ฟังว่าเราทำด้วยกิเลส เห็นไหม ในห้องทดลองของเรามันสกปรกรกรุงรังไปหมดเลย แล้วเราก็ว่าเราจะทดลองทางวิทยาศาสตร์ ทดลองแล็บ แล้วค่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร? ค่าออกมามันก็มีสิ่งเจือปนมหาศาลไปหมดเลย

ถ้ากิเลสของเรา ตัณหาความทะยานอยากในหัวใจเรา เราต้องทำความสงบของใจเข้ามา เราต้องทำความสะอาดก่อน ถ้าทำความสะอาดก่อน ทุกอย่างสะอาดก่อน แล้วเราก็ทดลองทางวิทยาศาสตร์ตามสารเคมี ตามสิ่งที่เราวิเคราะห์ต่างๆ เราวิจัยต่างๆ ขึ้นมาให้มันเป็นค่าตามค่าของมัน เห็นไหม มรรคมันเกิดอย่างนี้ ถ้าเป็นมรรค มรรคจะเป็นสภาวะแบบนี้ มันจะไม่มีกิเลสของเราไปเจือปน แล้วมีเราไหม?

เรานี่นะ มันมีเราโดยธรรมชาติ เรานี่มีโดยธรรมชาตินะ เราเกิดมานี่อะไรไปเกิด อวิชชา จิตนี่พาเกิด พาให้เราเกิดมา ในเมื่อมันมีเราอยู่แล้ว เริ่มต้นนะ เริ่มต้นจากเราไป มันถึงว่าเริ่มต้นใช้ปัญญานี่ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิไง มันเป็นการต้องทำความสะอาดของหัวใจนี้ไง ทำความสะอาดห้องทดสอบของเรา ทำความสะอาดสิ่งที่เราจะมาวิจัยให้มันมีค่าของมันตามธรรมชาติของเขา อย่าให้มีสารอย่างอื่นเข้ามาเจือปน เราต้องแยกออกก่อน ความแยกออกอย่างนี้ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ จะปฏิเสธตรงนี้ไม่ได้ จะปฏิเสธสมมุติไม่ได้ เพราะเราเกิดมาโดยสมมุติ แล้วเราเป็นสมมุติด้วย

แต่เราเอาสมมุติให้มันเป็นมรรค เอาสมมุตินี่มาแก้สมมุติ ถ้าสมมุติที่มันเป็นวิธีการที่ถูกต้อง มันเป็นมรรคญาณ มันเป็นมรรค เห็นไหม มันเป็นอริยสัจอันหนึ่ง แต่วิธีการตรงแยกนี่มันสำคัญมาก ถ้าคนเราไม่เป็น คนเราไม่เข้าใจ เห็นไหม คำพูดเหมือนกันนะ กิน รับประทาน เห็นไหม กิน รับประทาน ต่างๆ นี่คำพูดเหมือนกัน แต่กริยาการกระทำมันเป็นคนละขั้นละตอนนะ

อย่างพวกเรานี่จะทำอะไรก็ได้ ถ้าเราเป็นเพื่อนฝูงกัน เราเจอกัน เราจะกินไปเล่นหัวไปก็ได้ แต่เราออกสังคมเราทำอย่างนั้นได้ไหม เวลาเราออกสังคม ยิ่งออกไประหว่างประเทศ ออกไปสังคมของผู้ดีเขา เขาทำอย่างนั้นไม่ได้นะ เขาถือว่าเสียมารยาท เสียมารยาท เห็นไหม

มรรคก็เหมือนกัน วิธีการมันจะหยาบขึ้นมา มันจะละเอียดขึ้นมา มันเป็นขั้นเป็นตอนของมันขึ้นมา เราจะเอาสิ่งที่คงที่อย่างนั้นได้อย่างไร มันจะคงที่ของมันไปไม่ได้นะ เพราะอะไร? เพราะมรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด มรรคหยาบนะ สมมุติเราไปติดอะไรที่เราเข้าใจผิด นี่มันเป็นการกระทำขึ้นมา แต่มันยังไม่ถูกต้องของมัน ไม่ถูกต้องของธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” คำว่า “สมควร” มันเป็นสมควรของเขา แต่นี่เวลาเราปฏิบัติเราก็รู้ เวลาเรานั่งไป อยากได้สมาธิ อยากมีปัญญา อยาก.. ยิ่งฟังธรรมยิ่งเป็นโทษนะ

ปริยัติก็เหมือนกัน ปริยัติ...ใครเรียนปริยัติ ถ้าเรียนยังไม่ถูกต้อง เห็นไหม เรียนมาเป็นโทษกับเรา เพราะว่ามันเป็นการจินตนาการ มันเป็นการคาดหมายหมดเลย แล้วถ้าเรียนขึ้นมาแล้วนี่ เอาเป็นประโยชน์ด้วยนะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเทศนาว่าการมา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้นแหละ แต่มันสกปรกด้วยหัวใจของเราไง สกปรกด้วยความคิดของเรา สกปรกด้วยการจินตนาการของเรา สกปรกตรงนี้

แต่ถ้าสมควรแก่ธรรม เห็นไหม สมาธิก็เป็นสมาธิตามความเป็นจริงนะ มันจะมีความสงบของใจเข้ามา มันจะมีความสงบนะ มันจะมีความรู้สึก ไม่ใช่ว่างๆ ว่างๆ ไอ้เขาที่ว่าว่างๆ นี่โดนกิเลสหลอกนะ เพราะอะไร? เพราะว่างๆ ใครรู้ว่าว่าง จิตนี่มันรู้ว่าว่าง แต่ถ้าเป็นสมาธินะ มันปล่อยหมด ตัวเราเองเป็นความว่าง แล้วพูดไม่ได้ มันจะพูดว่าความว่างไม่ได้ มันจะสื่อความว่างไม่ได้ มันเป็นความว่าง มันไม่ใช่มันรู้ว่าว่าง แต่เราไปรู้ว่าว่างๆ กัน นี่เป็นว่างๆ ว่างๆ มันรู้อารมณ์แล้วนะ มันเสวยอารมณ์แล้ว มันเสวยความว่าง ความที่ว่าว่างๆ นี่

ถ้าเราคิดไป เราคิดไปมันก็เหมือนกับคลื่นวิทยุ เห็นไหม เวลาเขาเปิดคลื่นมา เปิดเสียงมา มันก็ซ่าๆ อย่างนั้น ว่างๆ ก็เป็นอย่างนั้น เพราะเราเปิดแล้ว คลื่นรับคลื่นแล้ว แต่ขณะที่ว่าเราปิดหมด เราปล่อยหมด เห็นไหม มันปิดหมด มันจะไม่มีคลื่นนั้นมา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันไม่ออกรับรู้ มันก็ไม่มีคลื่นนี้มา มันจะไปว่างๆ อะไร ตัวมันเองเป็นความว่างแต่ไม่ใช่รู้ว่าว่าง รู้ว่าว่างมันก็โดนหลอกไปชั้นหนึ่ง เห็นไหม โดนหลอกไปชั้นหนึ่งนี่มันก็ไม่สะอาดแล้ว แล้วจะไปรู้ข้างนอกอีก รู้ข้างนอกมันก็เปลี่ยนอารมณ์ไง เรารู้ว่าว่างก็เปลี่ยนเป็นแสง สี เสียงออกไป เห็นไหม นี่มันเป็นเปลือก มันเป็นอาการของใจ ไม่ใช่ใจทั้งหมดเลย มันไม่ใช่เป็นสมาธิ ไม่เป็นอะไรเลย แต่เราก็คาดหมายกันไป

ถ้าวิธีการมันผิด มันผิดตั้งแต่เริ่มต้น เริ่มต้นผิดหมดเลย แล้วก็ผิดกันไป นิมิตขึ้นมา สร้างนิมิตขึ้นมา เพราะคำพูดมันบอกว่าผิด เพราะอะไร? เพราะวิภาคะนี่มันจะแยกด้วยกำลังของใจ มันจะแยกด้วยกำลังของมัน ถ้าจิตมีกำลัง มันจะแยกของมันเป็นกำลังของมัน มันจะเป็นวิภาคะ มันจะแยกจากอุคคหนิมิตเป็นวิภาคนิมิต

แต่ถ้าเราไปทำลายด้วยความรู้สึก เอาทำลายเข้าไป ทำลายมัน เวลาเขาปฏิบัติกันนะ เวลาเห็นกาย เวลามันระเบิด...ระเบิดเยอะแยะไป ระเบิดแล้วทำไมไม่ปล่อยกิเลสล่ะ เพราะอะไร? เพราะมันมีจิตใต้สำนึก เราศึกษาธรรมกันมา พอจิตมันเป็นไปมันก็สร้างภาพ จิตมันหลอกจิตนะ เวลาวิปัสสนาไปกิเลสมันหลอกกิเลส กิเลสหลอกเรานี่มากเลย ขนาดทำดีนี่ เราติดดี เห็นไหม ต้องทำมาดีอย่างนั้นๆ ทำไปเรื่อยๆ ทำดีจนดีคือดี ไม่ใช่ติดดี มันเป็นความดี ความดีเป็นเครื่องดำเนิน เป็นภาวะดำเนินขึ้นไป

ถ้ามันเป็นสภาวะความเป็นจริง เหมือนกับที่ว่าเราเลื่อยไม้ เห็นแค่จับเลื่อยไม้แล้วเลื่อยไม้ไปตามความยาวของไม้ ไม้กี่เมตรๆ เขาว่าไป อย่างนี้ถูกต้อง แต่ถ้าจับเลื่อยไม้แล้วเลื่อยทางขวาง เห็นไหม มันจะตัดออกมาอย่างมากก็ได้ทำเขียง ทำปาร์เก้เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น มันเป็นประโยชน์ไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน เริ่มต้นวิปัสสนา คำว่า “ภาวนากัน ภาวนากัน” เริ่มต้นก็ภาวนากัน แล้วปัญญาเกิดขึ้นมามันคนละเรื่องเลย คนละเรื่องเดียวกัน ภาวนาเหมือนกัน เป้าหมายก็ต่างกัน เพราะอะไร? เพราะมันไม่เดินไปตามทำนองคลองธรรม มันเดินตามกิเลส กิเลสต้องการอย่างไหน ก็ทำตามนั้น เพราะจะให้เหมือนกัน แต่เข้าใจว่าเหมือนกันแล้วก็จะมาบังคับให้เหมือนกัน ผู้ใดปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม ไม่เป็นสัจจะความจริง แต่บีบบังคับ! จะบีบบังคับให้ธรรมเป็นธรรมเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้หรอก!

แต่ถ้ามันเป็นสัจจะความจริงของมัน มันจะเป็นความจริงของมัน เห็นไหม มันเป็นมรรค อยู่ในอันเดียวกัน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นอริยสัจเหมือนกัน แต่ขณะฝ่ายทำลายคือฝ่ายทุกข์กับตัณหา ทุกข์กับสมุทัยนี่ทำลายชีวิตเราทุกข์ยากอยู่นี่ ฝ่ายที่เป็นคุณประโยชน์ เห็นไหม ฝ่ายที่มรรคญาณทำลาย มันเกิดนิโรธ ...ความสุข อันเดียวกันนะ อริยสัจนี่มันมีฝ่ายลบและฝ่ายบวกอยู่ในอันเดียวกัน เราใช้ในแง่ลบเป็นลบหมดเลย ถ้าเราใช้แง่บวกมันจะบวกของมันมา แต่คนใช้มันใช้เป็นไม่เป็น คนควบคุมอันนี้ได้ไหม คนเข้าไปอริยสัจแล้วรู้จักอริยสัจ เจอความจริงไหม

เราทุกข์กันอยู่นี่มันก็เป็นอริยสัจจริงๆ ทุกข์จริงๆ เกิดมานี่ทุกข์จริงๆ ตัณหาความทะยานอยากจริงๆ แต่มรรคมันเกิดบ้างไหม แล้วมันเกิดนิโรธบ้างไหม มันเป็นอริยสัจเหมือนกัน แต่ว่าใช้ฝ่ายไหน ฝ่ายบวกและฝ่ายลบ คือว่าสมมุติเหมือนกัน แต่สมมุติส่วนหนึ่งเอาเป็นมรรค สมมุติอีกส่วนหนึ่งเป็นกิเลส

ถ้าการกระทำ แค่จิตเห็นการกระทำนั้นก็รู้ว่าทำผิดหรือทำถูก แต่ทีนี้มันเป็นเรื่องของสังคม เวลาพูดไปข้อเท็จจริงนะ ธรรมะเป็นอย่างนี้ ธรรมะไม่มีลูบหน้าปะจมูก ธรรมะคือธรรมะ มันเป็นสัจจะความจริง ทฤษฎีคือทฤษฎี ต้องเป็นอย่างนั้นโดยธรรมชาติ แต่คนเวลาเราเอาตัวตนเข้าไปบวก แล้วมีสิ่งที่ว่ามีบวกมีลบ มันก็ว่ากันไปตามโลก นั่นเป็นโลกนะ

แต่ถ้าเป็นธรรมไม่เป็นอย่างนั้น ต้องเป็นสัจจะความจริง ทุกข์เป็นทุกข์ สุขเป็นสุขในหัวใจของเรา เรารู้จริงของเรา เห็นไหม “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” สมควรแก่...ธรรมะย่อมคุ้มครอง คุ้มครองใจเรานี่ ใจเราจะไม่ผิดพลาดไปเลย ถ้าเราจะผิดพลาด มันก็เป็นเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วเราก็ค่อยๆ แก้ไขกันไป แก้ไขไปนะ

คนเราถ้ายังสำนึกตัว ทุกคนถ้ารู้ว่าผิดแล้วแก้ไข คนนั้นมีโอกาส ถ้ารู้ว่าไม่ยอมรับสิ่งต่างๆ เลย แล้วทำไป เป้าหมายมันก็คือว่าจะไม่รู้อะไรเลย เบลอๆ ไปอย่างนั้นน่ะ แล้วไม่กล้าเข้าสังคม ไม่กล้าพูดความจริง เอาความจริงเข้ามาโต้แย้งกันนะ มันแพ้ข้อเท็จจริงไง ถ้าข้อเท็จจริงขึ้นมาแล้วล้มไปตามข้อเท็จจริงนั้น

แล้วธรรมะอย่างนี้ธรรมะหลบซ่อนอย่างนั้นเหรอ?

ธรรมะไม่องอาจกล้าหาญเหรอ?

ธรรมะไม่กล้าเข้าสังคมเหรอ?

ธรรมะไม่กล้าพิสูจน์เหรอ?

สิ่งที่พิสูจน์...สัจจะความจริงจะเป็นอย่างนั้นใช่ไหม?

ถ้าเป็นอย่างนั้นมันต้องพิสูจน์ตามความจริง “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” เราต้องการสัจจะความจริง ข้อเท็จจริง เรื่องของบุคคล เรื่องของสถานะ เรื่องของเรา...ยกไว้ ถ้าพูดถึงเป็นหมู่คณะกัน เป็นเพื่อนกัน เพื่อนก็คือส่วนเพื่อน ข้อเท็จจริงต้องเป็นข้อเท็จจริงอย่างนั้น เอวัง