เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๓ ก.พ. ๒๕๕o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

แม้แต่การล้างบาตรของพระนี่ เห็นไหม ข้อวัตรของพระ วัตรในโรงฉัน เวลาล้างบาตรเสร็จแล้ว ออกไปล้างบาตรต้องกระจายออกไป ไม่ใช่ไปอังกัน แล้วเวลาพวกเราทำไป วัดทั่วไปเขาต้องมีซิงก์นะ บาตรนี่ต้องล้างซิงก์เลย เราไม่ให้ เราให้ล้างที่โคนต้นไม้ ให้ล้างตรงไหนก็ได้ ให้พระนั่งล้าง เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะพระนี่นะ ภิกษุตั้งบาตรไว้บนตักเป็นอาบัติทุกกฏ

ถ้าเรานั่งคุยกัน เราล้างบาตรเสร็จนะ เราก็นั่งคุยกันไป เราก็เช็ดบาตรไป เอาบาตรตั้งไว้บนตัก มันเผลอมันลุกบาตรตก ภิกษุห้ามเอาบาตรไว้บนตักนะ คือพระพุทธเจ้าไม่ให้สะดวกจนเผลอ จนขาดสติ ทุกอย่างจะต้องพร้อมตลอด

ฉะนั้น ที่ว่าการล้างอย่างนั้น เห็นไหม พวกเราก็อยากสะดวกสบาย โลกทั่วไปต้องมีซิงก์นะ แล้วพระก็เอาบาตรตั้งไว้บนซิงก์ ล้างไปก็โม้กันไป บาตรตกกลิ้งไป ๕ ประเทศแม่งยังไม่รู้เรื่องเลยว่าบาตรตก แต่ถ้าเราล้างที่โคนไม้ โลกมองว่าลำบาก แต่ในการประพฤติปฏิบัตินี้คือสุดยอดเลย

ภิกษุห้ามเอาบาตรตั้งไว้บนตัก!

เวลาพระเช็ดบาตรกันต้องนั่งโขย่งเท้า เพราะอะไร? เพราะบาตรนี่มันล้างไม่ได้มันอยู่ในกำมือ มันปล่อยไม่ได้ ถ้ามันอยู่บนตัก เราก็วางไว้บนตักแล้วก็โม้ไปครึ่งวัน เอาบาตรมาเช็ด ๒ ที แล้วก็โม้ไปอีกครึ่งวัน แล้วเสือกโม้เพลิน ลุกอีก บาตรตก ประทุษร้ายบาตร เป็นอาบัติทุกกฏ การถือบาตร การหิ้วบาตรเป็นอาบัติทุกกฏ การอุ้มบาตรอยู่แล้วเปิดประตูเพราะประตูมันจะมาชนบาตร เป็นอาบัติทุกกฏ เขาใช้คำว่า “ประทุษร้าย” ประทุษร้ายบาตรนะ ทั้งๆ ยังไม่ได้ทำอะไรมันเลย ประทุษร้ายไง เป็นอาบัติทุกกฏแล้วนะ

ทีนี้พูดถึงถ้าเราดำรงชีวิตอย่างนี้ เราจะเข้มแข็งอย่างนี้ ทุกอย่างมันต้องเข้มแข็งขึ้นมา นี้จะทำอะไรขึ้นมา เราถึงบอกว่าเราจะอำนวยความสะดวกให้โยมเต็มที่เลย แล้วก็พูดกันมาว่าแค่ไหนๆ แล้วเราก็ขีดเส้นให้เลย ...แค่นี้ เพราะไม่อย่างนั้น มันก็อย่างนี้นะการดำรงชีวิต แล้วเราก็มองด้วยมุมมอง เราเข้าใจเรื่องนี้ เรื่องมุมมองไง มุมมองของใครก็มุมมองของใคร ถ้ามุมมองปั๊บนี่มันจะเอามุมมองมาโต้เถียงกัน ทีนี้เราต้องเข้าใจก่อน เราต้องมาถามโยมก่อน ว่าอะไรคืออะไร ตรงนี้คือหลักการ หลักการแค่นี้ก็ต้องเป็นอย่างนี้

เราทำอะไรเราต้องหาข้อมูลของเรา แต่ข้อมูลอย่างไรเราทำไม่เป็น เพราะภิกษุทำอาหารให้สุกเองไม่ได้ เป็นอาบัติปาจิตตีย์! แม้แต่พระพุทธเจ้า เห็นไหม เวรัญชพราหมณ์นิมนต์ไว้ให้จำพรรษา แล้วมารดลใจ ลืมใส่บาตร ข้าวยากหมากแพง ไปบิณฑบาตที่ไหนก็ไม่ได้กิน บังเอิญเขามาเลี้ยงม้า เขาค้าโคต่างค้าม้าค้าควายมา แล้วเขามีข้าวกล้องมาด้วย ข้าวให้ม้ากิน เห็นภิกษุ... สงสาร ใส่บาตรข้าวดิบให้ภิกษุ เพราะเขาไม่ใช่ชาวพุทธ พระอานนท์บิณฑบาตได้ข้าวกล้องมา ภิกษุทำให้อาหารสุกเองไม่ได้ เป็นอาบัติปาจิตตีย์! หุงไม่ได้ เอาข้าวนี่มาบด บดๆ เป็นผงเป็นแป้ง เอาน้ำพรมๆ ถวายพระพุทธเจ้า พระฉันอย่างนี้ ๓ เดือน จนพระโมคคัลลานะทนไม่ไหว

“ผมจะไปบิณฑบาตทวีปนั้น”

“แล้วเธอจะไปอย่างไร? พระจะไปอย่างไร?”

“ผมจะจูงจับมือแล้วผมจะเหาะไป แล้วถ้าไม่ได้ ผมจะพลิกทวีปนี้ขึ้นมาเลย เอาง่วนดินขึ้นมากิน” เหมือนกับดินสอพองเราน่ะ

“แล้วประชาชนทำอย่างไร?”

“ผมจะแผ่มือนี้เป็นทวีป เอาประชาชนอยู่ในทวีปนี้ แล้วผมจะพลิกแผ่นดินขึ้นมา แล้วผมจะเอาฝ่ามือนี้วางไว้บนทวีปนี้ เพื่อจะให้พระได้ฉันง่วนดินนี้”

พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตสักอย่างหนึ่งเลย ทนกันอยู่อย่างนี้จนออกพรรษา พอออกพรรษาแล้วพระพุทธเจ้าบอกว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอเป็นผู้ชนะแล้ว ชนะแล้ว”

ชนะ... ชนะตัวเองไง ไม่ทุกข์ไม่ยาก ไม่ดิ้นรน มีฤทธิ์ทำอะไรก็ได้ พระโมคคัลลานะทำได้อย่างนี้นะ เวลาจะเหาะไป ภิกษุปุถุชนเหาะไม่ได้จับมือต่อๆ กัน กูจะจับมือแล้วกูจะพาเหาะไป แล้วพูดอย่างนี้ ถ้าพูดไม่จริงนะ พูดต่อหน้าพระพุทธเจ้า ตายไหม? พูดต่อหน้าพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าบอก “ไม่เอา” เพราะไม่ให้แสดงฤทธิ์ไง คือเราจะแสดงฤทธิ์แสดงเดชขนาดไหน เราจะหาอาหารมากินก็ยังได้ พระพุทธเจ้าไม่ให้เลย กินข้าวกล้อง กินข้าวกล้องดิบๆ ซะ ไม่ต้องไปไหน กินข้าวกล้องดิบๆ อยู่นี่เพราะอะไร? เพราะมันชนะกิเลสตัวเราไง

การชนะศึกหมื่นแสนก่อเวรก่อกรรม ชนะตัวเองสุดยอด ทุกข์ยากลำบากขนาดไหน ชนะกิเลสเราสุดยอด การชนะเรา “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ตนต้องรักษาตนเพื่อจะไม่ให้ฟุ่มเฟือยไปกับโลกเขา เพียงแต่ว่าก็ไม่ให้สุดโต่ง ทำอะไรถึงได้ปรึกษาหารือกัน ปรึกษาหารือกันหมด แล้วให้ทำอย่างไร ให้มันเป็นไอ้นั่น

แต่ถ้ามันมีเหตุผลไป เราคุยกันด้วยเหตุผล เราจะพูดถึงหลักการไง หลักการว่าในศาสนาสอนอย่างนี้ เราต้องเป็นชาวพุทธ ดูสิ การดำรงชีวิต พระมาหาเรานะ พระเพื่อนๆ มาหลายคน มาพูดมากเลยตอนอยู่โพธาราม “สงบนี่โง่ฉิบหายเลย แม้แต่มอเตอร์ตัวเดียวก็ซื้อไม่เป็น”

เพราะดูดน้ำบ่อไง เมื่อก่อนนี่โพงน้ำ ทุกอย่างทำด้วยข้อวัตรหมด แล้วตอนที่พวกไอ้เฮี้ยะพวกอะไรเขานิมนต์มา จะเอาไฟฟ้าเข้ามา จะเอาน้ำเข้ามา เอาเข้ามาทำไม บอก

“เอาเข้ามาไม่ได้”

“ทำไมถึงไม่ได้ล่ะ? แล้วจะทำข้อวัตร ทำอย่างไร?”

“น้ำนี่จะโพงเอา...”

“เอ้า! ก็ต่อประปาเข้ามาสิ แล้วก็เปิดน้ำลงไปในบ่อ แล้วโพงเอา”

โลกเขามองว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ นี่วุฒิภาวะของจิต ถ้ามันยังหยาบอยู่ เราทำดีขนาดไหน เขามองว่าเป็นของไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่ถ้าคนที่มันซึ้งธรรมและวินัย นี่ไง เวลาหลวงตา ครูบาอาจารย์กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กราบมาจากใจ เพราะอะไร? ไอ้ที่ได้มา ได้มาเพราะอะไร? ได้มาเพราะข้อวัตรปฏิบัติไหม? หลวงตาท่านพูด เวลาท่านพลิกฟ้าคว่ำดินนะ

“จะสอนเขาได้อย่างไร? จะสอนเข้าได้อย่างไร?” จะสอนเขาได้อย่างไรมันลึกลับมหัศจรรย์มาก

“เอ๊ะ.. อ๋อ.. เพราะข้อวัตรปฏิบัติ เรามาได้จากข้อวัตรปฏิบัติ ฉะนั้นต้องวางข้อวัตรปฏิบัติไว้ให้พวกภิกษุก้าวเดินเข้ามา”

ข้อวัตรปฏิบัติที่เราทำกันอยู่นี่ คือข้อวัตรปฏิบัติ ใครจะเห็นว่าต่ำทราม ใครจะเห็นว่าขี้ครอก ใครจะเห็นว่าทุกข์ยาก ใครจะเห็นว่ามันไม่มีความหมาย ไม่ฟัง! ไม่ฟัง! ไม่ฟัง! เพราะสิ่งนี้มันจะทำให้พวกเราเข้มแข็งขึ้นมา จะทำให้พระสามารถพึ่งตัวเองได้ ทำให้พระเราสามารถจะปฏิบัติเข้าไปหาธรรมะได้ ฉะนั้นสิ่งนี้เราถึงต้องถนอม ต้องรักษา

แต่ถ้ามันเป็นเรื่องของโลก มันจะมองว่าทุกอย่างต้องสำเร็จรูปมา ทุกอย่างต้องสะดวกมา ไอ้สะดวกเพราะอะไร? เพราะทำเองไม่ได้ สังคมถ้าพูดน่ะ เราถึงบอกไง ว่าเราประพฤติปฏิบัติ ใจของเรานี่นั่งตลอดรุ่งก็ได้ อดอาหาร ๓ เดือน ๔ เดือนทำได้ทั้งนั้นน่ะ เพราะอะไร? เพราะมันตัวของเรา แต่คนอื่นทำได้ไหมล่ะ? พระเราจะทำได้ไหมล่ะ? พระเราถ้าทำได้ มีความเข้มแข็งขึ้นมาไหมล่ะ?

แล้วก็ย้อนกลับมาในครัว พระทำครัวไม่ได้ ก็ต้องอาศัยโยม นี้ถ้าอาศัยโยมก็ได้ปรึกษาโยมแล้วว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไร จะทำกันอย่างไร ก็ต้องมีหลักเกณฑ์อย่างนี้ แล้วนี่เที่ยวมา พยายามจะทำที่สุดเลย จะไม่ให้มีปัญหา เพราะปัญหามันมาก แต่ยิ่งจะพยายามไม่ให้มีปัญหา ยิ่งจะมีปัญหา เพราะอะไร?

เพราะถ้าที่ไหนไม่มีกฎ ไม่มีกติกา ทุกอย่างไม่มีรูปแบบ สบายมาก อิสรเสรีภาพ ที่ไหนมีกฎมีกติกา ทุกคนมันจะทลายกฎอันนั้น เพราะอะไร? เพราะกฎอันนั้นมันขัดกิเลส มันขัดใจ เห็นไหม นี่ข้อวัตรปฏิบัติ

ฉะนั้น พอข้อวัตรปฏิบัติ ยิ่งไม่ให้ยุ่งมันยิ่งจะยุ่ง ยิ่งมีหลายคนแล้วมันก็ยิ่งจะยุ่งไปใหญ่เลย ยิ่งจะไม่ให้ยุ่งนะ แล้วถ้ายุ่งขึ้นมาแล้ว เราจะต้องรักษาตรงนี้ เพราะอะไร? เพราะเรามีจุดยืน จุดยืนตรงนี้อย่างที่อธิบาย ถ้าใครบอกนะ เรารู้มุมมองของโลก ว่าพวกเรานี่มาทุกข์มายากกันทำไม มาวัดกันทำไม เขาอยู่บ้านสะดวกสบาย เรามาวัดกันทำไม ไอ้พวกสบายนี่สบายจริงหรือเปล่า? มันสบายเพราะโดนกิเลสหลอกใช่ไหม? ไอ้ที่มาวัดนี่ต้องขวนขวายมา ต้องอะไรมา แต่มาทำไม? ก็มาขัดเกลามันน่ะ มาต่อสู้กับมัน แล้วพอมาแล้วได้เห็นคุณค่าอะไร? จะเห็นคุณค่าตัวนี้ไง

นี่มาวัดมาเพื่อถวายทานนะ ถวายทานภิกษุ ภิกษุให้ธรรมะเป็นทาน แล้วธรรมะนี่เข้าไปสะกิดใจไหม? ถ้ามันสะกิดใจ ใจมันพัฒนาขึ้นมาไหม? ถ้าใจมันพัฒนาขึ้นมา มันเริ่มย้อนกลับไง มาวัดมาเพื่ออะไร? มาเพื่อจะชำระตรงนี้ไง ถ้าเพื่อชำระตรงนี้ เราเป็นผู้ใหญ่ เราจะสอนเด็กกัน คำว่า “สอนเด็ก” อย่างที่หลวงตาท่านพูด เห็นไหม ปฏิปทาจะทำให้เราเข้าไปถึงตรงนั้น หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ พระกัสสปะเป็นพระอรหันต์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถาม

“กัสสปะเอย เธออายุ ๘๐ แล้ว ทำไมเธอถือธุดงค์? ทำไมลำบากอีก?” …พระอรหันต์นะ

พระกัสสปะบอก “ทำเพื่ออนุชนรุ่นหลัง”

หลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ หลวงตาท่านเป็นพระอุปัฏฐากอยู่ เวลาป่วยขึ้นมาฉันข้าวไม่ได้ พยายามจะเอาน้ำมะพร้าวอ่อนในเพลนะไปถวายท่าน

“ฉันไม่ได้”

“ทำไมถึงฉันไม่ได้?”

“ไอ้ตาดำๆ ภิกษุที่มันมองอยู่ อาจารย์ของเราสุดยอดๆ”

ถ้าฉันน้ำมะพร้าวอ่อน ถ้าพูดถึงตีตามวินัย มันเหมือนว่าน้ำมะพร้าวอ่อนมันเป็นมหาผล ก็ถือว่าฉันเพลไง ท่านถือธุดงควัตร ท่านไม่ฉัน ทั้งๆ ที่ท่านป่วยนะ จนหลวงตาท่านแบบว่ารักอาจารย์มาก “ถ้าอย่างนั้น ไอ้พวกนั้นเป็นเทวทัต!”

ไอ้พวกที่จับผิดน่ะเป็นเทวทัต เพราะอะไร? เพราะครูบาอาจารย์ของเรา ท่านไม่มีกิเลส แล้วท่านเป็นผู้ป่วย ป่วยเป็นโรควัณโรค แล้วกินข้าวไม่ได้ ๘ เดือน แล้วก็ฉันน้ำมะพร้าวอ่อน มันจะเป็นอะไรไป? แต่ท่านไม่ทำ เพราะอะไร? ก็เพราะหัวใจของผู้ที่ดูท่านอยู่ หัวใจของคนที่มองท่านว่าท่านเป็นอาจารย์ ท่านต้องอยู่ในกรอบ ถ้าอยู่ในกรอบเราจะเคารพบูชา ถ้าออกนอกกรอบ เราแน่กว่า กิเลสมันว่ามันแน่กว่านะ มันไม่ทำเหี้ยอะไรเลยเพราะมันแน่กว่า

เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นมันเป็นเทวทัต!” มันเป็นเทวทัตเพราะมันจับผิด มันจับผิดครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านเป็นพระอรหันต์ด้วย แต่ท่านไม่ทำเพื่อตัวท่านเลย

ถ้าคนเรานะ พูดประสาเรา ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ เวลาเราหิวข้าว มันเรื่องของกระเพาะ มันเรื่องของขันธ์ ไม่ใช่เรื่องของจิตเลย จิตนี่เวทนาของจิตไม่มี มันมีเวทนาของขันธ์ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ ๕ แล้วถ้าคนทุกข์ยากอย่างนี้ หิวนี่มันจะกัดกระเพาะไหม? ...กัด แล้วถ้าได้ดื่มเข้าไป มันจะทำให้เป็นประโยชน์กับเราขึ้นไหม? ...เป็น แต่ท่านก็สละ ท่านเสียสละ ท่านทำอะไรเห็นไหม?

ครูบาอาจารย์เราเสียสละ เก็บเล็กผสมน้อย ผู้ที่เก็บเล็กผสมน้อย นี่เพื่อจะย้อนกลับมา เราเป็นผู้ใหญ่ไง เราเข้ามาในวัดในวา แล้วคนที่เข้ามาภายหลังมันเป็นเด็กน้อย คือจะอายุมากน้อยขนาดไหนก็แล้วแต่ ไม่เคยเข้าวัดน่ะ ทำไมไม่ทำอย่างนั้น คำนี้โยมจำไว้ได้เลยนะ เราอยู่นี่ ทำไมไม่เอาอย่างนี้ ทุกคนจะอำนวยความสะดวกให้ อยากให้สะดวก สะดวกในมุมมองของเขาไง

แต่ถ้ามุมมองของเรา เราก็ต้องยืนหลักเกณฑ์ เห็นไหม หลักเกณฑ์นี่ปฏิปทาเครื่องดำเนินที่จะให้มันเข้ามา เราจะพูดตรงนี้ให้เป็นหลักไว้ ว่าไอ้ที่ว่าไอ้นู่นก็ลำบาก ไอ้นี่ก็ลำบาก ใช่...ลำบาก เราก็รู้ว่าลำบาก เรารู้ว่าลำบากนะ แต่เราก็จะทรงข้อวัตรอันนี้ไว้

ถ้าจะให้มันสมความปรารถนาของโลกนะ โทรศัพท์สั่งเลย จะเขียนอะไรก็ได้ สั่งแม่งมาส่งถึงบันไดเลย เดี๋ยวนี้สั่งได้ มาส่งถึงที่นอนเลย เสิร์ฟถึงที่นอนให้พร้อม กิเลสตัวอ้วนๆ! ถ้ามันทำอะไรมันทำได้ทั้งนั้น นี้เราคิดถึงเรา เราจะเป็นผู้ใหญ่กัน เพื่อศาสนานะ เราทำกันเพื่อศาสนา หลวงตาท่านพูดนี่เราสลดใจมากนะ เราจะตามไปอัดพวกนั้นด้วย เอาเก้าอี้ไปนั่งกันน่ะ เก้าอี้นี่ท่านบอกเลย ที่บ้านตาดท่านแทงตามาก ท่านบอก “ไอ้ที่เอาเก้าอี้มานั่งกัน” ท่านบอกว่า “ศีล ๘ ไม่นั่งที่สูง ศีล ๘ นี่เวลาถือพรหมจรรย์น่ะ” แล้วเราก็เอาเก้าอี้มาอำนวยความสะดวกกัน

แต่ที่เราเอามาไว้ที่นี่เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะเวลาผู้เฒ่าผู้แก่มานี่นั่งไม่ลง บางคนดามกระดูกมา เราเอามาเผื่อคนป่วย ถ้าคนป่วยแล้วนั่งไม่ได้จริงๆ เอาเก้าอี้มารอไว้ให้เขานั่งเก้าอี้ แต่ถ้าเราไม่ป่วย เราไม่อะไร ถ้าเราได้ดัดแปลงนะ จะเจ็บจะปวด กลับไปบ้านจะมหัศจรรย์เลย อยู่บ้านนั่งพับเพียบไม่ได้ พอมาวัดมันนั่งพับเพียบได้ เพราะอะไร? เพราะใจมันยอมรับไง ถ้าเราได้ทำขนาดนี้ มันจะทำให้คนๆ นั้นได้ประโยชน์ขึ้น

แต่ถ้ามันเป็นกิเลสนะ “กูไปหนเดียวล่ะ ทุกข์ฉิบหาย กูไม่ไปอีกแล้ว” อันนั้นมันเป็นเรื่องของเขา “กูไปหนเดียวน่ะ โอ้โฮย.. ลำบากไปหมดเลย กูจะไม่ไป”

โลกคือหมู่สัตว์ เราจะไปรื้อสัตว์ขนสัตว์ที่ไหนมันจะหมด ไม่หมดหรอก ฉะนั้นหลักเกณฑ์อันนี้ต้องระวัง ยืนไว้ไง แล้วเรานั่งอยู่นี่ ไม่ใช่โยมนะ เรานั่งอยู่นี่ ทุกคนจะบอกว่าลำบากลำบน ทุกคนเอาอะไรมาให้ ใครจะเอาอะไรมาให้นะ เราสละออกไป สละออกไป สละออกไป แล้วตอนนี้สละแล้ว เราสละแล้วระวังด้วย เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะเวลาเราไปเมืองกาญจน์ ไปที่ไหนน่ะ

“ไอ้นี่เอามาจากไหนวะ?”

“ก็หลวงพ่อเอามา หลวงพ่อเอามา...”

มันสละออกไป ถ้ามันเป็นประโยชน์กับพระ พระมันก็จะติด นี่บอกตรงๆ เลย บางอย่างต้องคอยเช็คคอยออก จะผลักออกไปข้างนอก เพราะถ้ามันผ่านเรามา มันก็มาที่พระ แล้วถ้าพระมันเอาไปเล่นกัน เอาไปอะไรกัน มันก็ถูกต้องด้วย เพราะมาจากหลวงพ่อ แล้วบางอย่างมันอยู่ในกล่อง เราก็ไม่เห็นน่ะ ไปเมืองกาญจน์

“นี่เอามาจากไหน?”

“เอ้า.. ก็หลวงพ่อเอามา”

“กูไม่รู้! เอามาจากไหน ก็กูไม่เห็น!”

นี่เวลามันออกไป เห็นไหม นี่ทุกคนจะมาช่วยเหลือ แต่ความช่วยเหลือ หลวงตาพูดอย่างนี้ ฟังนะคำสุดท้าย! อยู่กับหลวงตาท่านบอกเลย

“โลกนี้คนโง่หรือคนฉลาดมาก? คนโง่มันมาก คนโง่จะติเตียน คนโง่จะติฉินนินทา ช่างหัวมัน คนฉลาดพูดคำเดียวเราต้องฟัง คนฉลาดน่ะ”

คนโง่พูดไม่มีความหมายหรอก ถ้าเขาพูดไปแล้วในโลกนี่ใครโง่ใครฉลาด? แล้วมึงว่ามึงฉลาดมา มึงมาทุกข์มายากกันทำไม ทุกคนมาเห็นพวกเรานี่สบประมาทนะ ตอนซื้อที่ครั้งแรกเลย บอกว่าจะมาสร้างวัดที่นี่ ผู้ใหญ่บอก “เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีบ้านคน” คือพระจะอยู่ไม่ได้ไง ไม่มีที่อำนวยความสะดวก ผู้ใหญ่เป็นคนพูดเองว่า “เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมาสร้างวัด เพราะพระอยู่ไม่ได้”

นี่โลกเขามองกันอย่างนี้เหรอ? เรามาอยู่อะไรกันทุกข์ๆ ยากๆ แล้วเป็นไปได้อย่างไร? แต่ประสาเรานะ ถ้าเป็นกรรมฐาน เดี๋ยวนี้เขาไปสร้างเมืองกันในป่า พอเข้าไปอยู่ในป่า โซล่าเซลล์ ทุกอย่างพร้อม มีเกม เล่นเกม ทุกกุฏิมีเกมให้เล่นพร้อม ไปอยู่ในป่ากัน ถ้าอย่างนั้นก็ไม่เอา ถ้าเกินกว่าเราก็ไม่ทำ แต่เรามาอยู่เพื่อขัดเกลากิเลส พวกเราจะขัดเกลากัน จะมาดูแลกัน

ฉะนั้น บางอย่างนี่คุยกัน ถ้าไม่อย่างนั้นประสาเรานะ จุดยืนมันจะไหลไปเรื่อยๆ จุดยืนต้องเป็นจุดยืน มีต้องคุยกันให้จบก่อน ถ้าจบแล้วนะ มึงเคลื่อนกูไม่ได้ ถ้าจะเคลื่อนต้องคุยกันก่อน เพราะสิ่งนี้เราคุยกันจบแล้ว ทำอย่างนี้ คุยกันมาเรียบร้อยแล้ว แล้วมันไปอีก แล้วก็เลยงงไง ถึงอยากจะถามดูว่ามันเป็นเพราะเหตุใด

ถ้ามันเป็นเพราะอย่างที่ว่า ถ้ามันเป็นการชั่วคราว อำนวยความสะดวกกันชั่วคราว ก็ต้องเป็นชั่วคราว แต่คำว่า “ชั่วคราว” พอชั่วคราวแล้วมันติด พอมันติดแล้วจะเอากลับๆ ได้ไหม? ครูบาอาจารย์สอนนะ “ถ้าเป็นผู้มีธรรมนะ ไปชั่วคราวตามแต่สถานการณ์ พอจบแล้วเหมือนกับสปริง มันดีดกลับได้”

ถ้าเป็นกิเลส พอชั่วคราวไหลลงไปแล้วนะ น้ำไหลลงต่ำขึ้นไม่ไหวแล้ว เสียเพราะชั่วคราว เสียเพราะผ่อนผันนี่เยอะมาก นี่การผ่อนผันจะอะไรมันก็ต้องดูกัน มันคิดไง เพราะมันคิดแล้วมันเห็นความเป็นไป มันมอง ไม่ใช่มองที่นี่ด้วยนะ มันมองมาที่เรา มองไปที่สังคมสงฆ์ มองไปที่สังคมต่างๆ มันเป็นมาอย่างไร

แล้วนี่เวลาไอ้โตมันพูดเอง “จะสร้างพระหรือจะฆ่าพระ?” พูดมาประจำเวลาทำขึ้นมา ไอ้โตนี่พูดประจำเลย “จะฆ่าพระเหรอ?” เวลาพระสึกมันบอก “นี่ไงสร้างวัดเพื่อจะสร้างพระ แล้วพระสึก พระตาย นี่สร้างวัดหรือฆ่าพระ?” เราจะมาสร้างหรือจะมาทำลาย? มันสร้างกับทำลายอยู่ในเวลาเดียวกัน

ถ้าเป็นการสร้าง เป็นการที่สิ่งดี มันจะเป็นการสร้าง เราคิดว่าสร้าง แต่เราไม่รู้ว่าเป็นการทำลาย มันจะทำลายจากตัวมันเอง เพราะสรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง สิ่งที่สร้างเสร็จแล้วรอวันเสื่อมสภาพตลอดไป โลกนี้เป็นอนิจจัง เราถึงบอกวัตถุนี่ไม่มีความหมายเลย เห็นไหมที่เราพูด วิทยาศาสตร์นี่กูดูถูกฉิบหายเลย เพราะวิทยาศาสตร์มันไม่มีค่าปรมัตถ์ มันไม่มีค่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ วิทยาศาสตร์นี่มันเป็นตัวแปร มันเป็นตัวแปรตลอด

แต่ถ้าเป็นธรรมะ ปรมัตถธรรม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์มันสมุจเฉทปหานไม่ได้ มันเป็นธรรมไม่ได้ มันเป็นโสดาบัน สกิทา อนาคาขึ้นมาไม่ได้ ธรรมะมี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไอ้นี่มัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เห็นไหม การสร้างและการทำลายมันพร้อมกัน ถ้าคนไม่เข้าใจมันสร้างด้วยแล้วมันทำลายไปด้วย มันไม่รู้โอกาสเลย แต่ถ้าการสร้างโดยที่ผู้มีธรรม เห็นไหม หลวงตาท่านทำอย่างไร

เรามองกันจริงๆ ว่าที่ในครัวนี่ยุ่งมาก ยุ่งมากเพราะท่านจะรักษา เพราะอะไร? เพราะคนวุฒิภาวะระดับมันเยอะ นี้เราเห็นโทษอย่างนั้นแล้วพอของเรามา เราถึงจะรักษาอันนี้ไว้ จะรักษาอันนี้ไว้นะ

ฉะนั้น ทำอะไรนี่ ต่อไปต้องคุยกันให้จบ จบแล้วต้องอยู่ในหลักการ แล้วจะทำอะไรต้องคุยกันก่อน ไม่อย่างนั้น พออย่างนี้แล้วประสาเราเลยน่ะ มุมมองเป็นอย่างนี้ แล้วถ้าคนอื่นก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ตาสับปะรดไง ไม่รู้กูจะเชื่อตาไหน? สับปะรดตาไหน กูจะเชื่อมันตาไหน สับปะรดแม่งทั้งลูกเลย กูจะเอาตาไหนถูก?

ความคิดก็เหมือนกัน ความคิดร้อยแปดนะ คุยกันให้จบแล้วให้จบที่นี่ จบกันแล้วนี่การกระทำไป การแก้กิเลส มันถึงว่า โอ้โฮ.. ลึกลับซับซ้อน กิเลสร้ายมาก ลึกลับซับซ้อนมาก อันนี้จบ ให้มันจบกันไป

แล้วถ้ามันเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ นี่แค่เรื่องของข้อวัตรนะ แล้วพอปฏิบัติไป กิเลสแม่งกระซิบหน่อยเดียว แม่งกลิ้งเลย กิเลสกระซิบมึงก็กลิ้งแล้ว แล้วยิ่งไปภาวนานะ แม่งอุปกิเลสแม่งหลอกเข้าไปอีก ว่านี่คือธรรมะ แล้วก็คากันอยู่อย่างนั้น แล้วปฏิบัติกันไม่ได้ผล ทีนี้เราค่อยๆ ต้องมีหลักการ จะทำอะไรโดยมุมมองของตัวไม่ได้ ต้องมีหลักการ ต้องสงบก่อนถึงจะทำอะไรได้ เอวัง