เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๔ มี.ค. ๒๕๕o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

พวกเรานี่มันอยู่กับศาสนาจนเคยชินไง พอเคยชินทุกอย่างก็เป็นของเล็กน้อยๆ มันก็ไหลไปเรื่อยๆ ไอ้ “กัปปิยัง กะโรหิ.. กัปปิยะ ภันเต..” นี่ได้มาจากหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่มั่นท่านรื้อค้นมาแล้วนะ รื้อค้นมาหมดแล้ว แล้วแบบว่าพยายามจะประพฤติปฏิบัติมา แต่ประพฤติปฏิบัติเป็นวงในไง พอประพฤติปฏิบัติเป็นวงใน เพราะว่าทางฝ่ายปกครองเขาไม่ยอมรับ เขาบอกว่าพระปฏิบัตินี่แอ๊กชั่น ทำอะไรเกินหน้าเกินตาเขาไง แล้วหลวงปู่ฝั้นนี่เป็นคนบอกสมเด็จมหาวีรวงศ์ นี่ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟังหมดนะ

อย่างผ้านิสีฯ นี่ กว่าจะได้มาก็แสนยาก เพราะมันมีอาสนะรองนั่ง เห็นไหม มีพวกพรม มีพวกอะไรนี่ ไอ้อาสนะนี่มันเป็นสันถัต ในนิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ พระที่มีสันถัตไม่มีสันถัต สันถัตมันเหมือนกับขนสัตว์ไง หล่อเป็นที่นั่ง ไปไหนก็แบกกันไปด้วย นี่วัดบ้าน แต่วัดป่าเราไม่มีสันถัต แล้วในวัดป่านะ ผู้ที่ปฏิบัติเขาวัดกันตรงนี้ไง ว่าบริขารนะ ว่าเอ็งจะอำนวยความสะดวกให้ตัวเองมากน้อยขนาดไหน แต่ถ้าพระป่านี่ทิ้งหมด

แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติ วินัย เห็นไหม เราจะวิเวก ๓ เดือน ไม่ให้ใครเข้าเลย เว้นไว้แต่! เว้นไว้แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเพราะอะไร เพราะถ้าใครปฏิบัติแล้วมันจะเข้าใจถึงการปฏิบัติเราเลย เวลาหลวงตา หลวงปู่มั่น เวลาใครปฏิบัติมีปัญหาจะเข้ามาถามได้ตลอดเวลา การปฏิบัตินี่นะ เวลาจิตมันเข้าไปมีการกระทำของจิต กิจจญาณมันจะเกิด มันจะสงสัยมาก แล้วมันต้องการผู้ชี้นำ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่อนุญาตให้ผู้ที่ปฏิบัติเข้าพบได้ตลอดเวลา เว้นไว้แต่พวกที่ปริยัตินี่ไม่ให้เข้า เพราะมันเสียเวลา เพราะมันสอนเมื่อไหร่ก็ได้

เวลาสันถัต มันอยู่ที่สันถัตใช่ไหม มันย้อมอย่างไร ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ไอ้พวกนิสีทนะ พวกผ้านิสีฯ ไอ้กัปปิยังกะโรหิ มันมีอยู่ในพระไตรปิฎก เพราะอะไร

“ภูตคาม-พีชคาม” พีชคามนี่พรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ภูตคามนี่เกิดจากพระฉันเม็ดถั่วเขียวต้มน้ำตาล แล้วไปถ่ายแล้วถั่วเขียวมันยังงอกอีก ก็สลดสังเวชว่าเราฉันเข้าไปแล้วนะ ไปถ่ายแล้วมันยังงอกได้เลย มันมีชีวิต ก็สลดสังเวช เวลาโยมเขาเอาถั่วเขียวต้มน้ำตาลมา จะไม่ยอมรับ

พอไม่ยอมรับ โยมก็เสียใจ เสียใจก็ไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกพระองค์นั้นมาว่า

“ทำไมเธอไม่ยอมรับ?”

“โอ๋ย..ข้าพเจ้าเคยรับ แล้วฉันเข้าไปแล้วไปถ่ายแล้วมันยังงอกได้ มันเป็นสิ่งที่มีชีวิต ก็สลดเลยสังเวช”

พระพุทธเจ้าก็เลยบัญญัติตรงนี้ขึ้นมาว่า “ถ้าอย่างนั้นของที่เอามาประเคนแล้ว…” อย่างนี้ประเคนแล้ว ประเคนขึ้นเลย เพราะว่ามันไม่มีชีวิต มันไม่มีอะไร “แต่ถ้ามีชีวิตนะ” ฉันเข้าไปแล้วมันมีสิทธิการเกิดไง พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “ให้ทำกัปปิยังกะโรหิ”

คำว่า “กัปปิยังกะโรหิ” ของนี่เป็นกัปปิยภัณฑ์ไหม? ของนี้สมควรแก่สงฆ์ไหม?

ประเคนแล้วชั้นหนึ่ง ของทั่วไปนี่ประเคนแล้วชั้นหนึ่ง แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่มีชีวิต เช่น ผักบุ้งเกิดที่ข้อ เกิดที่เม็ด เกิดที่อะไรนี่ ต้องทำ “กัปปิยังกะโรหิ” ของนี่สมควรแก่สงฆ์ไหมนะ

ผู้ที่ตอบว่าของนี่เป็นกัปปิยภัณฑ์ เห็นไหม ที่ว่าเขาขายเครื่องสังฆภัณฑ์ เขาเย็บสังฆภัณฑ์ ของนี่สมควรแก่สงฆ์ แต่มันเป็นวินัยกรรมไง

วินัยกรรมนี่ทำต่อหน้าเพราะอะไร เพราะพระรังเกียจ พระองค์นั้นรังเกียจว่าสิ่งนี้มันเกิดได้ แล้วเราไปทำลับหลังนี่ พระก็ไม่รู้เรื่องกับเรา เห็นไหม วินัยกรรมไง เหมือนกับเราฟ้องศาล ฟ้องมีจำเลยกับไม่มีจำเลย ฟ้องต่อหน้า ฟ้องลับหลัง ฟ้องลับหลังก็เป็นเรื่องหนึ่ง วินัยกรรมนี่ต้องทำต่อหน้า ต้องทำต่อหน้าพระสงฆ์ แต่พวกโยมนี่ไม่เข้าใจ แล้วพระบางทีก็..

คนเรานี่มันเห็นแก่ความสะดวกสบายไง ถ้าเราทำให้มาจากครัวเลย เราทำมาจากบ้านเลย มันจะสะดวกสบายใช่ไหม ถ้ามาทำต่อหน้า เวลาประเคนของคนมันเยอะแยะไปหมดเลย แล้วมันวุ่นวายไง เราไปคิดแต่ความวุ่นวาย เราคิดแต่ความสะดวกของเราไง แต่เราไม่คิดถึงไปปลดนิวรณธรรมไง ไปความลังเลสงสัยไง มันความลังเลสงสัย ความคิดของเรานี่มันติดพันใช่ไหม ก็ต้องเป็นวินัยกรรม

นี่คำว่าวินัยกรรม เห็นไหม วินัยกรรมคือการกระทำต่อหน้า เราบิณฑบาตเจอบ่อย เวลาบิณฑบาตไปในตลาด เขาจะฝานส้มไว้ให้เลย เขาบอกทำให้แล้ว ทำให้แล้วคือทำให้แล้ว ก็ทำให้ของใครล่ะ? ถ้าพระเราไม่เข้าใจก็โอเค เพราะอะไรรู้ไหม หลวงตาพูดน่าคิดมาก “ก่อนจะเทศน์ก็ขออนุญาตกิเลสก่อน” คือพูดอะไรออกไปแล้วขัดอกขัดใจเขานี่ มันไม่กล้าพูด “ก็ทำให้แล้ว” ถ้าพูดไปนะ ทำไมพระนี่แบบว่าจุกจิกเหลือเกิน ทำไมพระนี่ทำอะไรก็ไม่ได้ มันสบายกับเรานี่ไง คนมักง่ายจะได้ยาก มักง่ายไง เพราะคนมักง่ายนี่ทำอะไรจะผลุบผลับ คนมักง่ายบ่อยๆ เข้าจะเสียนิสัยไปเลย

คนมีความจริงจัง คนทำนี่เห็นไหม วินัยมันอยู่ตรงนี้นะ มันอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่เข้าใจจะไปตามเรื่อยๆ ไป แล้วเป็นอย่างนี้เป็นบ่อยมาก จนที่ไอ้โตมาเล่าให้ฟัง เห็นไหม บอกเวลาเขามาฉันที่บ้านไอ้โต นี่เขาทำอะไรกันรู้ไหม? กัปปิยังกะโรหิ เอาไว้ทำไมรู้ไหม? เอาไว้แอ๊กกัน เอาไว้อวดว่ากูเคร่งกว่ามึง มึงเคร่งกว่ากู

มันไม่ใช่หรอก วินัยเอาไว้จับผิดเรานะ วินัยนี่เอาไว้จับผิดผู้ที่ทำผิด ผู้ที่ทำอะไรนี่มันเป็นวินัย ธรรมและวินัยมันเป็นเครื่องดำเนิน เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ หลวงตาเวลาท่านบรรลุธรรมขึ้นมา

“โอ้โฮ..มันละเอียดอ่อนอย่างนี้ แล้วมันจะไปได้อย่างไร? เราจะสอนเขาได้อย่างไร?”

อ๋อ.. พอย้อนกลับมานะ “อ๋อ..ไปเพราะข้อวัตรปฏิบัติ ธรรมและวินัยนี่เป็นเครื่องดำเนินเข้ามา เราก็ปฏิบัติอย่างนั้นเข้ามา มันก็เข้ามาที่ใจ” นี่ทวนกระแสเข้ามา เรื่องกิเลสนี่ร้ายนักนะ

ดูสิ เราปรารถนากัน ทุกคนปรารถนาความสุขนะ ทุกคนปรารถนาความสุขเลย พวกเราปรารถนาความดี แล้วเวลาศึกษาธรรมนี้ ว่าเป็นความดีหมดเลย เห็นไหม เป็นความดีแล้วมีความสุขไหมล่ะ? มีความสุขไหม? ทำไมทุกข์ล่ะ? ทุกข์เพราะอะไร?

เพราะเราปรารถนาเพื่อจะประพฤติปฏิบัติธรรม ปรารถนานะ ปรารถนาอยากได้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไอ้กิเลสในหัวใจนี่มันสวมเขา มันบังเงาไง มันตีความเป็นของตัวเองหมดเลย อย่างนั้นต้องตามความพอใจของตัวเองหมดเลย ต้องทำตามความพอใจของตัว ทำตามความพอใจของตัว..

นี่ที่เราปฏิบัติธรรมกันไม่ได้ผลก็เพราะไอ้กิเลสเรา ไม่ใช่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่สุดยอดเลย สุดยอดเพราะอะไร เพราะเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนกับพวกเรานี่มีเงินมีทองกัน เห็นไหม เป็นเงินเป็นทองของใคร ของเราใช่ไหม แล้วลูกเราล่ะ ลูกเราเลี้ยงดูอย่างไร? แล้วถ้ามันไม่มีวิชาการ ไม่มีอาชีพ มันจะยืนในสังคมได้ไหม?

นี่เหมือนกัน ที่เราเกิดมา เห็นไหม ศากยบุตร เราเป็นสงฆ์โดยสมมุติ นี่เราเป็นลูกของพระพุทธเจ้า ศากยบุตรนี่เราเรียกลูกพระพุทธเจ้ากันนะ เราเกิดมาในศาสนาเพราะอะไร จตุตถกรรม เกิดมาจากศาสนา นี่เราบิณฑบาต สิทธิมีพร้อมเลย เช้าออกบิณฑบาต เห็นพระมาก็ใส่บาตรเลย เขาใส่บาตรเพราะอะไร? เขาไม่ได้ใส่บาตรเพราะเรานะ เขาใส่บาตรเพราะเขาเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เขาเชื่อ เขามีประเพณีวัฒนธรรมของเขา เขาปรารถนาความสุขของเขา ไอ้เราก็ปรารถนาความสุขของเรา เราปรารถนา เห็นไหม ชีวิตเรานี่เราบิณฑบาตมาเพื่ออะไร? เพื่อมาดำรงชีวิตใช่ไหม? เพื่อเอาชีวิตไว้ทำไม? ชีวิตนี้เพื่อประพฤติปฏิบัติใช่ไหม? ประพฤติปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม เห็นไหม

ถ้าทำขึ้นมา ถึงที่สุดแล้วมันเข้าไม่ถึงธรรม แต่! แต่สถานะของใคร บริษัท ๔ ไง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ศาสนานี่จะเสื่อมเพราะลูกเราทั้งนั้นเลย ไม่มีใครทำศาสนาเสื่อมได้ เว้นไว้แต่พระเท่านั้น พระ บริษัท ๔ นี่ทำให้ศาสนาเสื่อม ถ้าศาสนาเสื่อม เสื่อมมาจากไหน เสื่อมจากการประพฤติปฏิบัติของเราไง

หลวงตาสอนประจำนะ “การสอนสุดยอดที่สุดคือการสอนที่ไม่สอน” ไง การสอนที่ไม่สอนคือการดำรงชีวิตเรานี่ ชีวิตของเราดำรงชีวิตนี่ เขาเป็นแบบอย่างไง หนึ่งตัวอย่างดีกว่าร้อยคำสั่งนะ เทศน์ร้อยแปดพันเก้าเลย แต่ทำตรงข้ามกับที่เทศน์ไว้เลย ใครจะเชื่อถือ

เทศน์ เห็นไหม เวลาเทศน์สั่งสอนเขาไปร้อยแปดเลย แต่กูทำตรงข้ามที่กูสอนหมดเลย เอ็งฟังที่กูสอนนะ แต่เอ็งอย่าดูกูทำนะ เอ็งดูกูสอน กูสอนมึงหมดเลย แต่กูทำไม่ได้ มึงทำตามแบบอย่างนี่ แม่ปู เห็นไหม ถ้าแม่ปูมันเดินตรง มันจะพาลูกไปตรง เห็นไหม แม่ปูมันเดินนะ ลูกเดินตรงๆ นะ เดินแบบแม่นี่ เดินตรงๆ นะ เดินตรงๆ นะ

นี่หนึ่งตัวอย่างดีกว่าร้อยคำสั่ง การสอนโดยไม่สอน การสอนคือสอนใจเราให้ได้ ถ้าใจเรามีหลักมีเกณฑ์แล้วนะ ใจเรามีหลักมีเกณฑ์ เห็นไหม จิตคึกคะนอง เวลาโจรผู้ร้าย เวลาที่มันทำกัน มันคิดออกมาจากใจ ดูมันทำของมันสิ แต่เวลาจิตของครูบาอาจารย์เรานี่คึกคะนองไหม ไม่คึกคะนองแล้วเวลาแสดงออกมาทำไมมันรุนแรงขนาดนั้น?

รุนแรงโดยธรรมโว้ย! เวลากระแสของธรรม เห็นไหม น้ำที่บริสุทธิ์ออกมามันรุนแรงขนาดไหน เพราะอะไร เพราะมันออกมาจากใจ ถ้าใจนี่มันเป็นธรรม มันระเบิดออกมา เวลาธรรมมันออกนะ มันระเบิดออกไปเลย นี่นิวเคลียร์ เห็นไหม เวลาระเบิดขึ้นมา มันทำลายโลกหมดเลย แต่เวลาเพื่อสันติ มันเป็นประโยชน์ไปหมดเลย มันเป็นประโยชน์กับอะไร เพราะพลังงานทั้งนั้นนะ

แต่คนมันไม่เข้าใจไง เข้าใจว่ากิริยา กิริยาต้องเรียบร้อยๆ ...เรียบร้อยมันก็เป็นก้อนหินก้อนวัตถุสิ ถ้าวัตถุมันสภาวะแบบนั้น ถ้าวัตถุนะเขาเอามาเรียงกัน มันยังเป็นตึกเป็นรามเป็นช่องขึ้นมาได้เลย มันเป็นอนุสาวรีย์งามๆ นี่มาจากไหน เขาเอามาตบมาแต่งขึ้นมา วัตถุมันยังแต่งได้เลย แล้วจิตใจถ้ามันแต่งได้ขึ้นมา เห็นไหม

นี่ความคึกคะนองของใจ ถ้าความคึกคะนองของใจมันแสดงออก ดูสิ เวลาพระสารีบุตรเห็นพระอัสสชิ เห็นไหม มันแสดงออกมา การแสดงออกของใจนะ มันไม่มีมายาหรอก เราเคยอยู่กับครูบาอาจารย์มาเยอะนะ เวลากิริยาของท่าน เห็นไหม มันน่าคิดนะ ไปอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะก่อนมาโพธาราม เห็นไหม

“เฮ้ยหงบ..มันล้ม! หงบ..มันล้ม!”

เวลาท่านสรงน้ำ เราไปประคอง “หงบ หงบ..ล้มโว้ย! ล้มโว้ย!” ล้ม..ล้มตึงเลย

คนเราจะล้มทำไมไม่ช่วยตัวเอง? จิตมันรู้ไงว่ามันจะล้ม แต่เพราะร่างกายมันชราภาพ แล้วขานี่ไม่มีกำลัง เห็นไหม รู้ๆ อยู่นะว่ามันล้ม เราก็พยายามประคองไว้ ก็ล้มลงมา รับไว้ทัน

เวลาครูบาอาจารย์ เห็นไหม จะบอกว่าความว่าไม่มีมายา มันเป็นไปโดยเหมือนกับว่าถ้าสัญชาตญาณก็ยังมีกิเลสอยู่นะ เพราะอะไร เพราะว่าอุเบกขา เพราะว่าจิตเดิมแท้นี่กิเลสทั้งนั้น พวกนี้กิเลสทั้งหมดเลย แต่ถ้าเวลาสิ้นไปแล้ว จิตนี้มันพ้นจากกิเลสไปทั้งหมด เห็นไหม สิ่งที่ขยับเขยื้อนไป มันเป็นกิริยาเท่านั้นเอง

ดูว่า ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา เป็นภาระ เป็นขันธ์ ความคิดนี่ก็เป็นภาระ ความต่างๆ เป็นภาระหมดเลย เพราะมันเป็นสมมุติ เพราะมันคิดออกมา แต่เวลาถ้ามันเป็นธรรมนะ มันถอนเข้าไปถึงพลังงานตัวนั้น แล้วพลังงานนั้นสะอาดด้วย พลังงานตัวนั้นไม่ใช่ความคิด ถ้าความคิดไม่มีพลังงานนี้มันคิดไม่ได้ ความคิดอาศัยพลังงานเป็นความคิด ตัวจิตเป็นตัวจิตเฉยๆ จิตเฉยๆ เลย ตัวภวาสวะ ตัวภพ ตัวจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส แล้วถ้ามันสะอาดไปอีก เห็นไหม มันถอยไปอีกชั้นหนึ่ง แล้วเวลาเป็นอีกชั้นแล้วมันรับอะไรไว้ล่ะ “สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่” เห็นไหม จิตนี่มันพ้นออกหมดเลย แต่มันรับภาระ

ความคิดไม่ใช่จิต ทุกอย่างไม่ใช่จิตหมดเลย มันเป็นสมมุติ เ แต่เวลาจิตมันพ้นจากกิเลสแล้ว มันเป็นความสมมุติแต่มันสะอาด สะอาดเพราะอะไร เพราะมันไม่มีกิเลส แต่ของเรานี่ขันธมาร พวกเราความคิดทุกอย่างเป็นขันธ์หมด เป็นมารหมดเลยเพราะอะไร เพราะไอ้ตัวภวาสวะ ตัวพลังงานนี่มันสกปรก ตัวพลังงานคือตัวจิตมันสกปรก เพราะพลังงานสกปรก ความคิดที่อาศัยความสกปรกออกมา มันสกปรกหมดเลย แต่ถ้าพลังงานมันสะอาดนะ ความคิดที่ออกมามันสะอาดหมด

แต่เวลาความคิดๆ เหมือนกัน ความคิดอันหนึ่งเป็นความคิดของพระอรหันต์ที่ไม่มีกิเลสเลย เห็นไหม ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา เป็นภาระ เป็นความคิด เป็นสิ่งที่ว่าเป็นสิ่งที่จรรโลงโลก แต่ถ้ามันเป็นกิเลสทั้งหมด เห็นไหม มารๆๆๆๆ ทั้งหมดเลย มารทั้งนั้น! เพราะมันอยู่ใต้อำนาจของมาร แม้แต่พลังงานก็พลังงานที่มีกิเลส ความคิดออกไปบวกเข้าไป บวกเข้าไปตรงไหน บวกเข้าไป เห็นไหม

ดูสิ เวลากองทัพออกรบ จักรพรรดิสั่งให้แม่ทัพออกรบ แม่ทัพ เห็นไหม ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่มันเป็นแม่ทัพ เห็นไหม กามราคะ ปฏิฆะ มันเป็นสิ่งรุนแรงมาก นี่แม่ทัพ แม่ทัพ เห็นไหม โอฆะนี่เป็นแม่ทัพ เพราะดึงให้ติดในโลกอยู่ แต่ตัวพลังงานไม่ใช่โอฆะ ตัวพลังงานนี้เป็นตัวเจ้าวัฏจักร วัฏจักรเป็นพลังงานเฉยๆ เวลาออกไป เห็นไหม นี่สืบออกไป

พอสิ่งที่พลังงานนี้สกปรก บวกกับแม่ทัพที่สกปรก บวกกับพลังงานที่ยิ่งคิดยิ่งสกปรกเข้าไป เห็นไหม ออกมาเป็นอุปาทาน เป็นความคิด เป็นความทุกข์ของเราทั้งหมดเลย แล้วเราปฏิบัติธรรมโดยสภาวะแบบนี้ มันถึงต้องทำความสงบของใจ ถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ พยายามทำความสงบของใจก่อน

เวลาประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าบอกว่าให้กำหนดอานาปานสติ กำหนดพุทโธนี่ โอ้โฮ..เทศน์ออกมานี่มันไม่ตื่นเต้นเลย แต่ถ้าพูดเป็นปรัชญา โอ้โฮ..มันตื่นเต้น มันร้อยแปดพันเก้า เห็นไหม นี่กิเลสมันเป็นอย่างนั้นไง ปฏิบัติแล้วถึงไม่ได้ผลไง

การประพฤติปฏิบัติมันต้องรู้จักเราก่อน รู้จักตัวตนของเราก่อน เห็นไหม นี่ผู้เสียหาย ผู้ที่จะกล่าวฟ้อง ผู้จะต่างๆ ผู้ที่จะแก้ตน ถึงต้องกลับมาที่พุทโธ กลับมาที่อานาปานสติ แล้วทำแค่นี้ พุทโธนี่สะเทือนสามโลกธาตุ เวลานึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสะเทือนสามโลกธาตุเพราะอะไร เพราะวัฏฏะนี่มีเพราะมีเรา จิตตัวนี้เป็นตัวเกิดไปหมดเลย แล้วทำลายตรงนี้ออกสะอาดบริสุทธิ์นะ เห็นไหม

พุทโธนี่ ถ้ากลับมาที่นี่ แม้แต่สมาธินี้ เห็นไหม จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ถ้าจิตสงบมันสว่างไสวขนาดไหน นี่กลับมาตรงนี้ แล้วตรงนี้เป็นต้นทุน แต่ทุกคนไม่มีทุน ทุกคนไม่ต้องมีทุนเลย แล้วกู้หนี้ยืมสินมาทั้งนั้นเลย นี่ปรัชญาไง นี่ธรรมะไง ปัญญาไง ปัญญาเอาตัวไม่รอดไง แต่ถ้ามีสัจจะความจริง ครูบาอาจารย์สอนมาอย่างนี้ ธรรมและวินัย

ถึงว่าธรรมวินัยนี่เป็นเครื่องดำเนินมา มีธรรมและมีวินัย แล้วเราจะทวนกระแสเข้ามาถึงใจเรา ถึงใจเรานะ เพราะเราเป็นผู้ประสบ เราเป็นผู้พบเห็น ถ้าเราพบเห็น เราประสบขึ้นมา ในปริยัติ เห็นไหม การสั่งสอน ในภาคปฏิบัตินี้ เห็นไหม ในการสั่งสม เราสั่งสม เราฝึกฝน เห็นไหม การสั่งสมกับการสั่งสอน เห็นไหม เวลาสอน..สอนเขา แต่เวลาเขาปฏิบัติได้ไม่ได้มันอีกเรื่องหนึ่ง แต่เวลาเราสั่งสม เราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา มันสั่งสม มันพอกพูน มันมีกำลังของมันขึ้นมา

เวลาพระสารีบุตรตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม ไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เชื่อใครเลย เพราะ! เพราะความเชื่อ เห็นไหม สั่งสอนกันมา เชื่อกันมา ตามกันมา แต่เวลาสั่งสม เวลาปฏิบัติ เวลาทดสอบตรวจสอบขึ้นมา มันเป็นของเราเอง จิตที่มันเป็นขึ้นมาเอง มันต้องเชื่อใคร เขาพูดขนาดไหนนะ

แม้แต่เห็นไหม ดูสิ เวลาสามเณรน้อยไปแก้ครูบาอาจารย์อย่างนี้ ครูบาอาจารย์ไม่ใช่พระอรหันต์ เห็นไหม สามเณรน้อยยังต้องไปแก้เลย มันสั่งสมมา มันเข้าใจมา แม้แต่พูดผิดพูดถูก มันเข้าใจหมดล่ะ แม้แต่ลูกศิษย์ไปแก้อาจารย์ก็มี ไปแก้อาจารย์นี่มหาศาลเลย เพราะอะไร เพราะอาจารย์ไม่ถึงที่สุด เห็นไหม คำสั่งสอนมันผิดถูกนี่ฟังออกหมด ใจมันจะรู้หมดเลย เพราะอะไร เพราะจิตไม่เคยสั่งสม จิตไม่เคยเห็นไม่เคยเป็น มันทำไม่ได้ ถ้าจิตเคยเห็น จิตเคยเป็น มันถึงรู้สภาวะสัจจะความจริงขึ้นมา

ประพฤติปฏิบัติมานี่เกิดจากไหนล่ะ เกิดจากการเก็บเล็กผสมน้อย หลวงตาท่านพูดบ่อยว่า “หลวงปู่มั่นเก็บเล็กผสมน้อยนะ” เก็บเล็กผสมน้อย คนยิ่งมีสมบัติยิ่งรู้จักรักษายิ่งจะมีคุณค่า ไอ้คนเราฟุ่มเฟือย เห็นไหม มักง่าย ฟุ่มเฟือย ไม่เคยประหยัด ไม่เคยมัธยัสถ์ ไม่เคยสะสมอะไรของตัวเองเลย แล้วบอกว่าจะปฏิบัติดี

นี่ตะกร้า กระชังก้นรั่วไง เอาน้ำใส่ไม่อยู่สักนิดเดียว มันถึงทำเข้ามา ทำสมาธิขึ้นมา ทำกำลังของเราขึ้นมาไม่ได้เลย เห็นไหม ถ้าของเรายาให้ดี ทำให้ดี แล้วธรรมวินัยรักษาให้ดี แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเราคนเดียว อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เป็นประโยชน์กับเราก่อน ถ้าประโยชน์เราก่อน เราเข้าใจแล้วเราเห็นจริงแล้ว เราจะสั่งสอนคนอื่นได้ เราจะชี้นำคนอื่นได้

เราไม่เข้าใจสิ่งใดๆ เลย แล้วจะไปชี้นำใคร จะไปสอนใคร ก็สอนโดยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง มันก็เลยเป็นจินตนาการไง แล้วก็สั่งสอนกันไป ผิดถูกไม่รับผิดชอบ ผิดถูกไม่รู้ ไม่รู้สิ่งใดๆ เลย แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริงนะ ผิดต้องว่าผิด ถูกนี่ ธรรมะขัดแย้งกันไม่ได้ ธรรมะนี่จะไปแนวทางเดียวกัน แม่น้ำ เห็นไหม ทั้งสายจะไหลไปถึงลงมหาสมุทรได้ มันต้องแม่น้ำที่ว่าไม่มีสิ่งใดขัดขวางมัน มันต้องไหลไปถึงปากอ่าวได้

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะต้องไปถึงนิพพานได้ ธรรมะต้องถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ ธรรมะต้องประพฤติปฏิบัติได้ จะขัดแย้งกันไม่ได้! ขัดแย้งกันต้องมีการผิดแน่นอน ธรรมะจะไปร่องเดียวกัน ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมจะเกิดจากใจเรา แล้วเราจะเข้าใจสิ่งนั้นได้ จะเป็นความสุขจริง เห็นไหม

ที่ว่าปฏิบัติแล้ว เราปฏิบัติ เราปรารถนาความสุข ทำไมไม่ได้ความสุข?

เพราะเราเริ่มต้นผิด แล้วปฏิบัติไปผิดๆ มันก็ผิดไปตลอดทาง แม่น้ำที่ไหนมันไหลขึ้นภูเขา แต่ถ้าเราปฏิบัติถูก เห็นไหม แม่น้ำมันจะไหลลงปากอ่าว มันจะลงไปถึงสัจจะความจริง แล้วมันจะพาใจเราไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ เอวัง