เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒ เม.ย. ๒๕๕o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระนะ วันพระมันต้องหาที่พึ่ง เวลาเห็นไหม “สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขๆ เถิด” สพฺเพ สตฺตา อยากให้มีความสุขไง เวลาสัตว์ทั้งหลายให้มีความสุข เวลาเราว่าสัตว์ สัตว์เราไปมองแต่สัตว์ข้างนอกนะ สัตว์คือสัตว์โลก คือเรา สัตตะคือผู้ข้อง เรานี่เป็นผู้ข้องอยู่ ถ้าเราไม่มีผู้ข้องอยู่ เราจะหลุดพ้นออกไปจากทุกข์ นี่เรามีผู้ข้องอยู่ ไอ้ผู้ข้องอันนี้ สัตตะเห็นไหม เราจะเมตตาสัตว์ทั้งหลาย เราต้องเมตตาตัวเราเองด้วย ถ้าเมตตาตัวเราเอง เราจะหาที่พึ่งให้เรา ถ้าหาที่พึ่งให้เรา เราจะมีที่พึ่ง

เวลาอยู่กับโลก โลกร้อนนะ เวลาฟังนี่ทุกคนจะมาพร่ำรำพันเลย ร้อนมาก แล้วเวลาเราเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาเขา ถ้าหัวหน้าเขามีความขัดแย้งกัน ผู้ใต้บังคับบัญชานี่ทุกข์มากเลย มันเป็นเวรเป็นกรรมของแต่ละบุคคลนะ เวลาโลกเจริญรุ่งเรืองเห็นไหม เราปรารถนากันว่าอยากจะพบพระศรีอริยเมตไตรย พระศรีอริยเมตไตรยนี่จะสอยต้นกัลปพฤกษ์ จะมีความสุข จะต่างๆ เห็นไหม เราปรารถนานะ

แต่ความปรารถนานี่มันต้องมีเหตุมีผล ถ้าเราไม่ได้สร้างบุญกุศล เราจะไปเจอประสบการณ์อย่างนั้นได้อย่างไร เพียงแต่ว่ามันเป็นพุทธทำนาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นสภาวะแบบนั้น ว่าสังคมนั้นจะเป็นสังคมที่คู่กับความร่มเย็นเป็นสุข สังคมของเรานี่สังคมเวไนยสัตว์ มีทั้งคนดีและคนไม่ดีรวมกัน ถ้าคนไม่ดีรวมกัน เห็นไหม เวลาในหลวงพูด ให้คนดีเป็นผู้ปกครองคนไม่ดี คนดีเห็นไหม แล้วโลกเขาว่าคนดี ตอนนี้ทุกคนว่าเศรษฐกิจมีปัญหาๆ ความมีปัญหาอย่างนี้ เพราะเราไปเคยตัวไง

ดูสิ คนเราเคยฟุ่มเฟือย คนเราเคยใช้จ่ายมือเติบ เวลาให้ประหยัดขึ้นมา ก็รู้สึกว่าอึดอัด ความประหยัดเป็นสมบัติของบัณฑิตนะ เรารู้จักประหยัดมัธยัสถ์นี่ สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเราจะประหยัด เราเอาที่ไหนมาประหยัดล่ะ ถ้าไม่มีประหยัดนะ นี่ความเป็นไปของชีวิต มันมีความเป็นไปสภาวะแบบนี้ ถ้าความชีวิตนะ เพราะอะไร? เพราะความชีวิตนี่มันอยู่ที่เราพอใจไง

ดูสิ ดูอย่างอาหาร อาหารแต่ละภูมิภาค อาหารต่างๆ นี่ เราไปกินอาหารของเขา มันไม่อร่อยเลยนะ มันไม่อร่อย มันไม่ถูกใจเราเลย แต่อาหารของเรา อร่อยกับเรา เพราะเราชิน เราเคยกินอย่างนี้อร่อย เห็นไหม สิ่งที่เป็นอร่อยนี่มันเป็นความนิสัยของเรา เป็นสภาวะแบบนี้ ถ้าสภาวะนิสัยเป็นแบบนี้ มันก็มีความสุขสิ สิ่งใดถ้ามันตอบสนองหัวใจ ตอบสนองสิ่งที่ความต้องการ มันจะเป็นความสุข แต่เราว่าเราทุกข์เราจน เราเอาอะไรไปประหยัด ก็ประหยัดในสิ่งที่เรามีอยู่นี้ล่ะ สิ่งที่เรามีอยู่นี่มันได้มาสภาวะแบบนั้น

แต่ถ้าคนอื่นเขามามองแล้วนี่ ดูสิ สังคมเป็นสังคมนะ สังคมทางตะวันตกของเขา สังคมเขาอยู่ในเมืองหนาว ความเป็นอยู่ของเขาต้องเป็นอีกสภาวะหนึ่ง สภาวะของเราเป็นสังคมทางเมืองร้อน มันก็เป็นสังคมๆ ชนิดหนึ่ง เห็นไหม ถ้าสังคมชนิดหนึ่ง เราพอใจไหมล่ะ เพราะอะไร? เพราะสังคมเรามี ๓ ฤดูนะ ฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน แต่ละฤดูมันมีการเปลี่ยนแปลง มีการเปลี่ยนแปลงมันก็มีโอกาส

นี่ไงเห็นไหม ดูสิ วันพระ วันโกน วันเจ้า วันต่างๆ นี่ มันมีการเปลี่ยนแปลงให้เรารู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา ไม่ให้ประมาทในชีวิตไง คนเราประมาทในชีวิตนะ คิดว่าเราเองชีวิตจะยืนยาวมาก เราไม่คิดถึงเวลาแล้วเราจะต้องสิ้นไป ชีวิตนี้มีวันพลัดพรากเป็นที่สุด เราต้องสิ้นไป แล้วเรามีอะไรติดไม้ติดมือเราไป นี่ต้องหาที่พึ่งให้เราเอง ถ้าหาที่พึ่งให้เราเองนะ มันจะไม่สงสัย ตัวเราเองเราเคยคิด เวลาปฏิบัติใหม่ๆ ตายแล้วไปไหน เราจะเชื่อไม่เชื่อ มันมีความสงสัยไปหมดล่ะ

แต่พอเราไปถึงที่สุดนะ เราบอก “ตายแล้วไปไหน”

“ไอ้คนที่ตายคือใคร ก็ไอ้ตัวจิตตัวนี้มันตายแล้วไปไหน ตัวจิตตัวนี้มันไม่สงสัย แล้วมันจะไปไหนล่ะ”

ถ้าตัวจิตตัวนี้มันอิ่มเต็มของมันแล้วนะ มันจะไปไหน แต่ถ้าตัวจิตนี้มันพร่องอยู่ เห็นไหม น้ำพร่องแก้ว น้ำพร่องภาชนะ มันมีเสียงดัง มันมีความเสียงดัง มันกระทบกระเทือนไปตลอดเวลา ถ้าใจเราพร่องอยู่ เพราะมันมีความสงสัยอยู่ แล้วที่พึ่งเราอยู่ที่ไหนล่ะ ถ้าที่พึ่งของเรานี่ เราจะหาที่พึ่งได้นี่ น้ำมันจะเต็มแก้วขึ้นมา น้ำเต็มแก้วขึ้นมา เราจะไม่สงสัยในตัวเราเองนะ

เวลาจะออกจากบ้านไป เห็นไหม ถ้าเรามีเสบียงอาหารของเรา จะไปไหนเราก็ไปของเราได้ ถ้าเราไปของเราได้ เราไปของเรา เราไปด้วยความอิ่มสำราญของเรา เรามีความสุขตามประสาเรา เห็นไหม ที่พึ่งอย่างนี้ที่พึ่งโดยอามิส ที่พึ่งโดยบุญกุศล ที่พึ่งของเราในปฏิบัติของเรา ที่พึ่งสภาวะแบบนี้มันจะเกิดจากการกระทำของเรานะ

ดูสิ ถ้าผู้ใดมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ในหัวใจ เห็นไหม เหมือนมีเรือ ก้อนหินถ้าโยนลงน้ำ จมน้ำไปเลยนะ ถ้าก้อนหินมีเรือรับไป เห็นไหม แก้วสารพัดนึก แต่คนนึกออกไม่ได้ คนทำไม่ได้ เพราะอะไร? เพราะมันเอากิเลสนึกไง กิเลสนึกมันมีความลังเลสงสัย นั่นก็ไม่มี นั่นก็เป็นไปไม่ได้ ไม่เชื่อสิ่งใดๆ เลย กิเลสมันไม่เชื่อสิ่งใดๆ เลย เพราะอะไร? เพราะมันปัดมือเราไง มันไม่ให้มีโอกาสเราได้สะสม มันไม่ให้มีโอกาสเราได้ประหยัด ในชีวิตของเราได้ประหยัด ได้พัฒนาตัวเอง กิเลสมันปัดออกหมดเลย

แล้วมันไปหาสิ่งที่มันพอใจของมัน แล้วมันพอใจของมันไหม มันเป็นความจริงไหม มันเป็นความพอใจแล้วมันได้ประโยชน์ของมันจริงไหม เพราะอะไร? เพราะมันเป็นการเหมือนกับคนใช้จ่ายฟุ่มเฟือย มันใช้หมดไปแล้วมันมีอะไรเหลือล่ะ นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตเขาใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของเขา เขาอยู่กับโลกของเขา เขาหลงไปในรูป รส กลิ่น เสียงของเขา มันก็ใช้จ่ายชีวิตนี่ ชีวิตนี่มันสงสัย

ดูสิ ดูอย่างวงการบันเทิงเขา เขาต้องมีการหมุนเวียน มีการสับเปลี่ยนตลอด เพราะอะไร? เพราะมันล่อเหยื่อไง ไอ้เราก็หมุนไปตลอดไป ถ้ามันซ้ำซากมันก็เบื่อหน่าย พอมันซ้ำซากเบื่อหน่าย เขาก็ล่อตังค์เราไม่ได้ เขาก็มีการเปลี่ยนแปลง เขาก็มีการหมุนเวียน ไอ้เราก็ใหม่ตลอดเวลาๆ จนชีวิตนี้หมดไป มันยังไม่รู้ตัวว่าใหม่ตลอดเวลาเลย เห็นไหม

ชีวิตนี้ก็สิ้นสุดไป เพราะมันไม่มีอะไร มันเท่านั้นล่ะ มันหมุนเวียน มันของเก่าๆ วนไปวนมาอย่างนี้ เพราะวัฏฏะมันเป็นอย่างนี้ เราเกิดเราตายมาอย่างนี้ เราพบแสง สี เสียงมาอย่างนี้ตลอดไป แต่เพราะมันเป็นกิเลส มันก็พอใจสภาวะแบบนั้น แต่ถ้าเรามีจุดยืนของเรา เราถือศีล เรามีศีลมีธรรมของเรา โลกก็เป็นอย่างนั้น เราก็มีจุดยืนของเรา เราก็ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไปกับเขา เราก็มีหลักมีเกณฑ์ของเรา

ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา อยู่ที่ไหนก็มีความสุขนะ ความสงบนะ “สุขอื่นเสมอความสงบไม่มี” อยู่สงบสงัด อยู่ในป่าในเขา อยู่ในที่สงัด เห็นไหม อยู่บ้านอยู่เรือนเราพักผ่อนนอนหลับ นี่เป็นการพักผ่อนแล้ว แต่เขาออกไปว่าเขาไปการพักผ่อนไป อย่างนั้นมันไปเหนื่อยนะ มันไปใช้ชีวิตแบบฟุ่มเฟือย มันไปใช้ชีวิตแบบสูญเปล่าไง ถ้าสูญเปล่าแล้วเวลาตายไปก็ไม่มีที่พึ่ง เห็นไหม สพฺเพ สตฺตา เราไม่สงสารตัวเราเอง เราไม่เมตตาสัตว์ ไม่เมตตาใจเรา

ถ้าเราเมตตาตัวเราเองนะ เรารักษาตัวของเรา ถ้าเมตตาตัวเราเองมันก็มีปัญญาใช่ไหม มันจะใคร่ครวญว่า คนอยู่ในวงการแสง สี เสียง พอเรามาอยู่ในป่าในเขานะ พอมาเห็นดวงดาวเต็มท้องฟ้าอย่างนี้ เห็นพระจันทร์เต็มดวงอย่างนี้ เห็นอยู่กับธรรมชาติอย่างนี้ มันซื้อหาไม่ได้ อยู่ในเมืองอย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว มีแต่แสงสว่างของไฟฟ้า มันจะมองไม่เห็นดาวเห็นเดือนอย่างนี้ ถ้าเรามองเห็นดาวเห็นเดือนอย่างนี้ เห็นไหม แล้วถ้าใจมันพอใจ มันมีความสุขไหม มันมีความสงบไหม นี่สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี

ถ้าใจมันสงบนะ มันพอใจสภาวะแบบนี้ มันอยู่สภาวะแบบนี้ได้ ถ้าอยู่สภาวะแบบนี้ได้ โลกเป็นสภาวะแบบนี้ ใจมันก็เต็มขึ้นมา มันไม่พร่อง มันก็ไม่แสวงหา มันก็ไม่ดิ้นรน ถ้ามันดิ้นรน มันก็ต้องวิ่งไปแสวงหากับเขา แล้วก็เป็นเหยื่อของเขา เห็นไหม ดูสิ หน้าที่การงานก็บีบบังคับ แม้แต่การแสวงหาปัจจัยเครื่องอาศัยก็ต้องบีบบังคับนะ บังคับนะ เสื้อผ้าก็มีอยู่แล้วอย่างนี้ แต่มันไม่ทันสมัยก็ใส่ไม่ได้ อายเขา เห็นไหม มันไปอายใครล่ะ เสื้อผ้า เห็นไหม

ดูสิ ดูพระสิ ตั้งแต่สมัยพุทธกาลมา จีวรนี่ ไตรจีวร ๓ นี่ ก็ใช้กันมาอย่างนี้ ถ้าใช้กันมาอย่างนี้ ทำไมยอมรับล่ะ เพราะมันเป็นสภาวะแบบนี้ แต่เวลาเห็นไหม ดูสิ ดูเวลาพระเขาบวชใหม่ขึ้นมา ต้องห่มสภาวะอย่างนั้น ต้องห่มอย่างนี้ นั่นมันเป็นการทะเยอทะยานของกิเลสนะ เพราะอะไร? เพราะเวลาเราเข้ามา เราก็คิดว่าเราเป็นคนทันสมัย แต่ ๒,๐๐๐ กว่าปีมานี่ ซับซ้อนมาอย่างนี้ ถ้ามีสิ่งที่ดีกว่านี้นะ คนที่เขามีปัญญา เขาเป็นนักปราชญ์ เขาบวชในศาสนานี่มหาศาลเลย เขาต้องคิดค้นสิ่งที่ดีๆ แบบนี้มาได้แล้วล่ะ

มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะในปัญญาของเรา ปัญญาทางโลกนะ ปัญญาในวัฏฏะนี่ ไม่มีปัญญาของใครจะเสมอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ แล้วสิ่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้อย่างนี้ ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ตั้งแต่อดีตว่า ต่อไปธรรมวินัยนี่ถ้าจะแก้ไขบ้างเล็กน้อยก็ให้แก้ไข เพราะแก้ไขเล็กน้อยก็ตรงนี้ไง เพราะโลกมันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แล้วกิเลสมันก็หมุนไปตามโลกตลอดเวลา หมุนไปตามโลกตลอดเวลา ให้แก้ไขได้

แต่... แต่เพราะว่าพระกัสสปะประชุมสงฆ์เถรวาท พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ให้ลงมติกันว่า แม้แต่ถ้าเราแก้ไขเปลี่ยนแปลงไป ถ้าพวกเดียรถีย์ พวกที่เขาไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ เขาจะบอกศาสนานี่จะรักษาได้ต่อเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ลูกศิษย์ลูกหารักษาสิ่งนั้นไม่ได้ เราถึงลงมติกันว่าจะไม่แก้ไข

ถ้าไม่แก้ไขกันนี่ ก็เราถือตามกันมา แล้วพอโลกเปลี่ยนแปลงไปว่า จนเราขัดแย้งกับเขา ไม่ทันสมัยไปกับเขา มันไม่ทันสมัยกิเลสต่างหากล่ะ เวลาปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัยเครื่องอาศัยเหมือนกัน เวลานุ่งห่มนี่ นุ่งห่มต่างๆ กันไป แต่ประโยชน์ของมันก็เพื่อกันร้อนกันหนาว เพื่อกันความละอายต่อกันเท่านั้นเอง เท่านั้นจริงๆ นะ

แต่ถ้ามันเป็นกิเลส มันจะเป็นสภาวะแบบนี่ใหม่เสมอ ทันสมัยๆ มันทันสมัยของกิเลส แต่ถ้ามันสมัยตามธรรมนะ ถ้าตามสมัยตามธรรม นี่ธุดงควัตร การดัดแปลงตน การแก้ไขตน เห็นไหม การฝืนกิเลส การฝืนความรู้สึก มันแสวง มันต้องการ แล้วเราพยายามฝืนไว้ นั่นคือการทรมานกิเลส

แต่ถ้ามันเป็นโลก บอกทำอย่างนั้นไม่ได้ เห็นไหม ถ้าอย่างนั้นตบะธรรมอยู่ที่ไหนล่ะ ตบะธรรมจะอยู่ที่ไหน ตบะธรรมมันเผาผลาญกิเลส กิเลสอยู่ที่ไหนให้มันเผาผลาญ ไอ้นี่กิเลสมันพาเผาผลาญต่างหากล่ะ เพราะกิเลสมันเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเผาผลาญเรา เราก็วิ่งเต้นไปกับกิเลส เห็นไหม แต่ถ้าเราจะเผาผลาญกัน นี่เราชักเริ่มมีที่พึ่งแล้วนะ เพราะอะไร? เพราะ “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ธรรมะในพระไตรปิฎก ธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เป็นกิริยาของธรรม เราศึกษาแล้วเราก็ยังสงสัย เห็นไหม

แต่ถ้าเรามีที่พึ่งของเรา มันมีความฉุกคิด มันมีสติ มันมีการยับยั้ง มันยับยั้งเราไว้ได้ ความคิดของเรานี่ เราควบคุมความคิดของเราเองไว้ได้ แล้วเรายับยั้งตัวเราเองไว้ได้ เห็นไหม “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” มันมีความสุขด้วย ความสุขเพราะสิ่งนี้มันเกิดมากับเรา ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยเตือน คอยอะไรนี่ มันน่าจะเป็นอย่างนั้นหรือ มันจะเป็นอย่างนี้หรือ เห็นไหม

แต่ถ้ามันเกิดมาจากเรา มันคิดขึ้นมาเองในหัวใจของเรา แล้วเวลาปฏิบัติไป เราใช้ปัญญาของเราไป เวลาธรรมมันผุด ธรรมมันเกิด มันจะมีคำตอบมาจากในหัวใจเลย สิ่งนั้นดี สิ่งนั้นไม่ดี เริ่มยับยั้งได้ คนที่มีคุณธรรมในหัวใจนี่สัตตะ สัตตะเป็นผู้ข้อง มันข้องที่ไหน? มันข้องที่ใจนี่ แล้วปัญญามันเข้ามาใคร่ครวญ สิ่งนั้นถูกไม่ถูก ดีไม่ดี ควรทำไม่ควรทำ มันยับยั้งของมันไปเรื่อยๆ เห็นไหม นี่ธรรมผุด ธรรมเกิด แต่อริยสัจยังไม่เกิด

ถ้าอริยสัจเกิด ธรรมเกิดมาอย่างนี้มันให้ใจเรามีจุดยืน ให้ใจเราไม่เผ่นทะยานไปตามกิเลส เห็นไหม มันก็มีจุดยืนของมัน ถ้ามีจุดยืนของมัน ถ้ามีอำนาจวาสนา น้อมไปในกาย เวทนา จิต ธรรม ด้วยตาของใจ ไม่ใช่ตาของตาเนื้อ ไม่ใช่ตาของสัญญา ตาของสัญญา อาการของใจ เห็นไหม ที่เราคิด เราคิดกันอยู่นี่ เราคิดโดยสัญญา มันเป็นอาการของใจ ไม่ใช่ตัวใจ

ถ้าใจมันสงบเข้ามา มันตัวของใจเอง แล้วใจน้อมไปเห็นมันสะเทือนหัวใจมาก ถ้าสะเทือนหัวใจอันนี้ ปัญญาอย่างนี้มันจะเกิดขึ้นมา อันนั้นเป็นอริยสัจ ไม่ใช่ธรรมผุด อันนี้ไม่ใช่ธรรมมันเกิดขึ้นมาเอง มันโดยความเพียรของเรา ความเพียรชอบ งานชอบ เราต้องมีความชอบขึ้นมา เห็นไหม งานอันละเอียดของมัน เราหัวหกก้นขวิดทำงานทำหน้าที่การงานกันอยู่นี่ เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แล้วหาสมบัติโลก ก็เอาไว้ในโลก หาสมบัติโลกนะ มีชื่อเสียงเกียรติคุณขนาดไหน ก็เอาไว้ประดับโลก แล้วเราก็ต้องตายไป

แต่ถ้าหัวใจของเรามีที่พึ่งขึ้นมา มันแก้ตัวที่ใจ นี่วัฏฏะตัวจากภายใน ตัวที่จะพาเกิดพาตายตัวนี้ มันไปปลดเปลื้องตัวนี้ ที่พึ่งที่นี่ของเราเป็นที่พึ่งอันเกษม เห็นไหม อมตธรรม อมตธรรมคือมันอยู่กับใจตลอดไป มันเป็นอกุปปธรรม มันไม่ใช่สมบัติจากภายนอก สมบัติจากภายนอกมันเป็นอนิจจัง มันเป็นเรื่องของโลก มันเป็นอนัตตา มันใช้จ่ายมันฟุ่มเฟือย มันหมดไป

แต่ถ้าเป็นอกุปปธรรม เกิดกับใจเมื่อไหร่แล้วมันจะอยู่กับใจตลอดไป อยู่กับใจตลอดไปเพราะมันเป็นเรื่องของนามธรรมที่มันคงที่ นามธรรมคงที่กับนามธรรมที่เคลื่อนไหว ปัจจุบันนี้นามธรรมที่เคลื่อนไหวมันเคลื่อนไหวไป เพราะเราร่วมไปกับเขา แล้วมันเคลื่อนไหวไป เอาเราเคลื่อนไปด้วย เราเลยไม่รู้สึกตัวเรา

แต่ถ้าเราพิจารณาของเรา จนจิตมันคงที่ของมัน มันหยุด มันเป็นคุณธรรมที่ธรรมผุดขึ้นมา แก้ไขดัดแปลงจนมีจุดยืนของเรา แล้วจุดยืนของเรา น้อมไปวิปัสสนา เห็นไหม อริยสัจเกิดตรงนี้ไง ศาสนาเกิดตรงนี้ ครูบาอาจารย์ที่ชี้นำต้องชี้นำเข้ามาที่อริยสัจ ที่ให้จิตมันมีการกระทำ

กิจจญาณ สัจจญาณ สัจจะความจริงอันละเอียดเป็นอริยสัจจะ แล้วกิจจญาณ กิจของปัญญาที่มันเกิดขึ้นมาในหัวใจของเรา มันหมุนเข้าไป นี่พระผู้ประเสริฐประเสริฐที่นี่ไง เพราะนางวิสาขาเป็นคฤหัสถ์ก็เป็นพระโสดาบัน อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็เป็นพระโสดาบัน เห็นไหม เป็นพระโสดาบัน เป็นพระๆ ไม่ได้บวชพระ เป็นพระ เป็นพระ เป็นผู้ที่ประเสริฐ สัตตะเป็นผู้ข้อง ถ้าจิตเป็นผู้ข้อง ปลดจิตตัวนั้น ปลดความข้องในหัวใจนั้น เป็นพระขึ้นมาในหัวใจ

แล้วสมมุติสงฆ์ เราบวชเป็นสมมุติสงฆ์ บวชมาแล้วนี่เราก็แก้ไขของเราไป เพราะบวชมาเป็นสมมุติสงฆ์ เป็นผู้ที่มีโอกาส เป็นผู้ที่เป็นศากยบุตร เป็นผู้ที่ดำรงศาสนา เราจะเอาศาสนาจากภายนอก เราเป็นศาสนานี่ บริษัท ๔ ถ้ามันเกิดมาจากหัวใจเรา เราก็เป็นภิกษุโดยแท้จริง เป็นพระโดยแท้จริง เป็นอริยสงฆ์

สงฆ์ สงฆ์จากสมมุติ สงฆ์โดยสัจจะความจริง สงฆ์โดยอริยสัจจากภายใน เป็นอกุปปธรรม ใจดวงนี้จะประเสริฐขึ้นมา เห็นไหม นี่วันพระ เรามีสิทธิ์ทุกคน เพราะเรามีหัวใจทุกคน จะบวชไม่บวชไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าเราประพฤติปฏิบัติได้ผลของเราแล้ว เราจะมีที่พึ่งของเรา เราจะไม่เป็นผู้ข้องกับวัฏฏะ ข้องกับโลก เราจะพ้นออกไปจากโลก เห็นไหม นี่ผู้ประเสริฐ เราจะประเสริฐจากใจเรา ประเสริฐที่นี่ แล้วค้นหาที่นี่ ค้นมาในหัวใจเรา ย้อนกลับมาที่เรานะ

ชาวพุทธเราถ้ามีปัญญา นี่แก่นของศาสนา เราเป็นชาวพุทธเราต้องการสิ่งนี้ เขาก็เป็นชาวพุทธเหมือนกัน เขาต้องการประเพณีวัฒนธรรม มันก็เป็น แสง สี เสียง แบบที่เขาไปติด แสง สี เสียงกันไป

นี่ก็เหมือนกัน เขาไปทำบุญก็ต้องมีประเพณี มีวัฒนธรรมของเขา อันนั้นมันเป็นพิธีกรรม พิธีกรรมกับความจริงไม่ใช่อันเดียวกัน พิธีกรรมเอาไว้เป็นศาสนพิธี เป็นความสวยงามของสังคม แต่สุขทุกข์ เห็นไหม อยู่ในพิธีเดียวกันคนทุกข์ก็ทุกข์ ทุกข์จนเข็ญใจ คนร่ำรวยก็อยู่ในพิธีนั้น พิธีนั้นก็เป็นแค่พิธีนั้นแหละ

แต่ถ้าเป็นคุณธรรมในหัวใจนะ จะทุกข์จนเข็ญใจก็เป็นอริยทรัพย์จากภายใน จะร่ำรวยสุขสมแค่ไหน ถ้ามีอริยทรัพย์จากภายใน เป็นสมบัติจากภายในความจริง เห็นไหม ประเพณีเป็นประเพณีนะ ความจริงเป็นความจริง อริยสัจเป็นอริยสัจ ใจเป็นใจ แล้วใจมันกลั่นออกมาจากอริยสัจ ใจอันนี้จะเป็นผู้ประเสริฐ ใจของเราเท่านั้นมีสิทธิเหมือนกัน เอวัง