เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๑ เม.ย. ๒๕๕o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

กรรม เห็นไหม กรรม การกระทำบ่อยๆ เข้าจนเป็นจริตนิสัย ถ้าหมดเวรหมดกรรมต่อกัน ถ้าเรามีกรรม เห็นไหม กรรมเป็นนิสัย นิสัยชอบอะไร ดูสิ อาหารเราชอบอะไร อาหารแต่ละภาคก็ชอบไม่เหมือนกัน จริตนิสัยคนก็ไม่เหมือนกัน ถ้าอะไรตรงกับจริตนิสัย นี่จริตนิสัยความชอบไง แต่ถ้าหมดกรรมนะความชอบก็ไม่เป็นไร ยกเว้นได้ ไม่จำเป็นต้องทำตามที่เราชอบใจ อะไรที่มันดำรงชีวิตได้ เราก็ดำรงชีวิตได้ เห็นไหม

แต่ถ้าเรากรรมยังไม่หมดนะ มันก็ยังพอใจไป เห็นไหม ความพอใจ ความรัก ความปรารถนา เราก็พยายามแสวงหาสิ่งนั้น นี่กรรมนะ เพราะอะไร? เพราะมันลากเราไป มันลากความคิดเราไปนะ เราจะต้องแสวงหามาเติมเต็มไอ้ตัณหาความทะยานอยากในหัวใจนี่ ไม่มีวันเต็มหรอก ถมทะเลไม่มีวันเต็มนะ ถมความคิด ถมความพอใจของตัวนี่ไม่มีวันเต็มหรอก

แต่มันก็แสวงหากัน แต่ถ้าเมื่อไหร่หมดกรรมนะ สิ่งใดมันเป็นเสมอภาค มันเข้าใจตามสภาวะตามความเป็นจริง อยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร แล้วเราใช้สภาวะแบบนั้นไป ใช้สภาวะหมายถึงว่า อยู่ที่ไหนเราก็ใช้สถานะอย่างนั้น เห็นไหม เราจะหาอย่างนี้ไม่ได้ตลอดไปหรอก เพราะอะไร? เพราะอาหาร ๔ ในโลกนี้ไง ดูสิ เวลาพรหมเขากินอาหาร เขาผัสสาหาร เทวดากินวิญญาณาหาร แล้วเราไปเกิดเป็นพรหม เป็นเทวดา เราจะกินอาหารที่เป็นคำข้าวอย่างนี้หรือ อาหารคำข้าวนี่เป็นกวฬิงการาหาร อาหารสำหรับมนุษย์ อาหารสำหรับสัตว์เดรัจฉาน เวลานรกอเวจีเขาก็กินอาหารอย่างนั้น แต่เวลากินอาหารอย่างนี้แล้ว ใครเป็นคนกิน เราว่าปากเป็นคนกินนะ

แต่ถ้าเป็นธรรมะนะ ใจสัมผัส ใจนี่เป็นผู้รับผิดชอบ พอใจไม่พอใจ เห็นไหม ถ้าใจเป็นผู้กิน เวลาวิญญาณาหาร ก็ใจเป็นผู้กิน ผัสสาหาร ใจก็เป็นผู้กิน ถ้าใจเป็นผู้กินมันก็ดำรงชีวิตอย่างนั้นได้ ชีวิตอย่างนี้มันแล้วแต่เวรแต่กรรม เวรกรรมพาไปนะ ทำคุณงามความดีขนาดไหน แต่เวลาก่อนจะสิ้นใจ เห็นไหม ใจมันไปประหวัดถึงสิ่งที่ขัดอกขัดใจ นี่ภาวะกรรมอย่างนั้นมันเสวยผลอย่างนั้นก่อน แล้วก็ต้องไปใช้อย่างนั้นชาติหนึ่งนะ เห็นไหม ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นชาติ ความเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เพราะอะไร? เพราะความเกิดนี่มันมีเรา ความเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง

แต่ถ้าเป็นทางโลกนะ ความเกิดเป็นความสุขอย่างยิ่ง เพราะดูสิ เวลาความเกิดขึ้นมานี่ เราดีใจกัน เราจะดีใจกัน พอใจกัน สุขมาก มีความเกิด สิ่งที่สมความปรารถนา แต่เวลาเกิดขึ้นมาแล้ว เห็นไหม เกิดขึ้นมาแล้วนี่ เราจะได้อะไรมาแล้วแต่ เราสร้างบ้านสร้างเรือน การก่อสร้างนี่แสนยากเลย แต่การบำรุงรักษานั้นยากกว่านะ

ชีวิตก็เหมือนกัน เราพยายามจะรักษาสถานะของเราไว้ เห็นไหม ทางโลกเขาต้องมีเงิน เงินเพื่อพยุงสถานะ เงินเพื่อพยุงศักดิ์ศรี ความศักดิ์ศรีนี่มันต้องพยุงไว้ ต้องรักษาไว้ เห็นไหม กาม... เรากินด้วยกาม ด้วยเกียรติ ด้วยศักดิ์ศรี แต่เราเป็นนักปฏิบัติ เรากินเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้น ดำรงชีวิตนะ ดำรงชีวิตไป เพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้มันต้องมีอาหารดำรงชีวิตไป ถ้าไม่มีอาหารดำรงชีวิตเราจะอยู่ได้อย่างไรชีวิตนี้ ถ้าดำรงชีวิตไปชีวิตนี้มีไว้เพื่ออะไร เห็นไหม ธรรมละเอียดเป็นชั้นๆ เข้าไป

ชีวิตนี่เกิดมา มาจากไหน มาแล้วดำรงชีวิตด้วยอะไร แล้วเป็นไป ไปไหน ถ้าทางโลกนะชีวิตนี้เกิดขึ้นมา เห็นไหม เราก็ดำรงวงศ์ตระกูลของเราเพื่อสืบสกุลของเรา นี่เป็นสกุลของเรานะ สกุลอย่างนี้ แล้วเวลาเราเกิดเราตายขึ้นไปล่ะ เวลาเกิดตายสกุลก็อยู่ของเราอย่างนี้ แล้วสกุลนี่มันจะอยู่ได้กี่ชั่วอายุคนล่ะ เห็นไหม เราเปลี่ยนนามสกุล สกุลมันก็เปลี่ยนแปลงไป เราแตกหน่อแตกกอออกไป นี่มันเป็นเรื่องของโลกๆ ทั้งนั้นน่ะ

แต่ชีวิตนี่เวลาตายไปแล้วนี่ สิ่งที่จิตมันไม่เคยตาย เราเห็นแต่คนเกิดคนตายนะ แต่เราไม่เคยเห็นจิตนี่มันตายอย่างไร มันเป็นสภาวะแบบหนึ่งไง นี่ความสุขความทุกข์มันเกิดตรงนี้ เกิดตรงนี้ เกิดตรงกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วมีความสุข ความสุขความทุกข์เกิดตรงนี้ ตรงนี้เพราะอะไร? เพราะมันต้องการสิ่งใด มันแสวงหาสิ่งใด หามาปรนเปรอมันนะ มันก็เป็นความสุขชั่วคราว นี่สุขโดยอามิสไง อามิส... ถ้าเราต้องการสิ่งใด ได้สมความปรารถนาจะมีความสุขชั่วคราวๆ เห็นไหม นี่ความสุขด้วยอามิส

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ทาน ศีล ภาวนา” ในการสละทาน ในการทำทาน เห็นไหม มันสร้างบุญกุศล บุญกุศลนะ ถ้ามีบุญกุศลนี่ ดูสิ อำนาจวาสนาแข่งกันไม่ได้ เราจะทำธุรกิจต่างๆ ก็แล้วแต่นี่ จังหวะโอกาสของเรา เวลามันมา มันจะมีโอกาสมีผู้ใหญ่คอยช่วยเหลือ มันจะเป็นช่องไปสะดวกสบายไปตลอดเลย เพราะอะไร? นี่เพราะบุญ บุญพาไปไง

บาปพาไป เห็นไหม ทำอะไรนี่ขาดตกบกพร่อง ขัดแย้งตลอด สิ่งใดมีอะไรจะสิ่งนั้นมีความขัดแย้งด้วย แล้วไม่มีขัดแย้งก็มีอุปสรรคขัดขวางตลอดไป แต่ก็ทำไปเพราะอะไร? เพราะเราเกิดมาแล้วเราต้องหาปัจจัยเครื่องอาศัย เราต้องมีสิ่งดำรงชีวิตอย่างนี้ไป เห็นไหม นี่อำนาจวาสนา นี่อามิส บุญกุศลมันเกิดด้วยอามิส แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ “อานนท์ บอกให้เขาปฏิบัติบูชา” ปฏิบัติบูชา เห็นไหม

การปฏิบัติบูชา น้ำเสียสิ่งที่เสียหาย เราซ่อมแซมให้มันเป็นของดีขึ้นมาได้ การปฏิบัติบูชามันซ่อมแซมจิตใจไง ถ้าซ่อมแซมจิตใจ จิตใจอิ่มเต็มแล้วนี่ สิ่งนี้มันเห็นเป็นธรรม เห็นไหม ธรรม สภาวธรรม มันเข้าใจสภาวธรรมแล้ววางไว้ตามความเป็นจริง วางไว้ตามเป็นจริงนะ เราขับรถมา เห็นไหม เวลารถมันเข้าโค้ง มันเข้าเนิน ลงที่สูงที่ต่ำ รถต้องไปสภาวะแบบนั้น ชีวิตก็เหมือนกัน มันดำเนินไปตามชีวิต สภาวะตามชีวิต เห็นไหม เวลาเราขึ้นสูง เวลาเราลงต่ำนี่มันมี ขึ้นสูงลงต่ำโดยสมบัติก็มี ขึ้นสูงลงต่ำโดยความรู้สึกเราก็มี

เพราะอะไร? เพราะอย่างนี้ สมบัติมหาศาลเลย ทุกอย่างเรามีหมดเลย แต่หัวใจมันเป็นความทุกข์นะ เราก็น้อยเนื้อต่ำใจ เห็นไหม ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความเติมเต็มในหัวใจ ถ้าสิ่งเติมเต็มในหัวใจนี่ เวลาเราไปบนถนนหนทาง ถนนยังบังคับเราไปเลย

นี่ก็เหมือนกัน สภาวธรรมมันบังคับเราไปสภาวะแบบนี้ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมเกิดดับๆ การเกิดดับ เกิดดับเป็นธรรมชาติของมัน เห็นไหม แต่เราอาศัยสิ่งนี้ปฏิบัติบูชา ความเกิด เกิดขึ้นมาแล้วให้พยายามทรงตัวไว้ ความทรงตัวไว้ ความอิ่มเต็มของมันก็เป็นสมาธิขึ้นมา จิตมันอิ่มเต็มขึ้นมา ความอิ่มเต็มนี่แม้แต่ความสงบของใจ มันก็พอใจแล้ว ดูสิ เวลาเรามีความสุข เห็นไหม เราอิ่มเต็ม เราสะดวกสบายของเรา เรามีความสุขของเรา

จิตก็เหมือนกัน จิตถ้ามันอิ่มเต็ม นี่มันพร่อง จิตมันพร่อง จิตมันแสวงหา จิตมันต้องการของมัน นี่ตัณหาความทะยานอยาก แต่เวลาสัมมาสมาธิ เห็นไหม ความเต็มของใจ แม้แต่ความอิ่มเต็มของมัน ก็มีความสุขอันหนึ่ง ความสุขอันหนึ่งนะ ความสุขเท่ากับความสงบของจิตไม่มี จิตมันสงบมันอิ่มเต็มของมัน ก็มีความสงบ สงบด้วยความสงบของใจ สงบของใจนี่ความสงบอย่างนี้มันยังมีโรคภัยไข้เจ็บอยู่ในหัวใจนั้น คือว่ามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ เพราะมันยังแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา เห็นไหม สิ่งที่แปรปรวน สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมนี่มันแปรปรวน

แต่ถ้าอกุปปธรรม เห็นไหม อกุปปธรรมคือวิปัสสนา คือใคร่ครวญไป จนถึงที่สุดมันไม่แปรปรวน ธรรมที่แปรปรวนก็มี ธรรมที่ไม่แปรปรวนก็มี ธรรมที่เป็นกุศลก็มี ธรรมที่เป็นอกุศลก็มี อกุศลเห็นไหม ความทุกข์ความลำบากหัวใจนี่มันเป็นอกุศล มันทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ เจ็บช้ำน้ำใจแล้วใครทำเรา ก็กิเลสมันทำเรา หัวใจเราทำเรา ความคิดเกิดมาจากไหน? ความคิดก็เกิดมาจากเรา นินทาสรรเสริญมาจากภายนอกนะ สิ่งต่างๆ มาจากภายนอก ภายนอกนี่เราจะรับรู้ก็ได้ ไม่รับรู้ก็ได้ เห็นไหม สิ่งต่างๆ มาจากภายนอก เสียงกล่าวติฉินนินทานี่มันมาจากข้างนอก

ถ้าเราเห็นว่านี่ เพราะเขามีอคติกับเรา เขาติฉินนินทาโดยพยาบาทมาดร้ายของเขา ถ้าเรามีปัญญาเราไม่รับรู้ เราจะมีความทุกข์ได้อย่างไร เสียงจากภายนอกถ้าเรามีสติปัญญา เราแก้ไขทันนะ แต่จากภายในเราควบคุมไม่ได้ เพราะมันจิตใต้สำนึก จิตใต้สำนึกมันเกิดขึ้นมานี่กิเลสตัณหาความทะยานอยากเกิดจากเรา สิ่งที่ทำร้ายเราๆ คือเรานี่ทำร้ายเรา

แต่ส่วนจากภายนอก ส่วนภายนอกมันเรื่องสัตว์สังคม เห็นไหม เวลาออกวิเวก ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระนี่ให้ไปแบบนอแรด ไปแบบองค์เดียว เห็นไหม ไปแบบนอแรดใครจะมาทำร้ายเรา เราไปของเราองค์เดียว ใครจะมาติฉินนินทาเรา ก็มีเสียงลมเสียงฟ้าทั้งนั้นน่ะ เวลาเสียงลมเสียงฟ้ามันเป็นสภาวธรรมอย่างนั้น เราเข้าใจแล้วเราจะไปตื่นเต้นอะไรกับเขาไหม นี่ไปแบบนอแรด ถ้าเราอยู่คนเดียวของเรา เราหลบหลีกได้ เราวิเวกได้ เราปลีกได้ เราแยกได้

แต่ถ้าเราปลีกออกไปขนาดไหน ไปอยู่ในป่าในเขา เห็นไหม นี่เรามีอำนาจวาสนาน้อย เราทำอะไรแล้วไม่มีความสุขเหมือนชาวโลกเขา ชาวโลกเขามีความสุข เห็นไหม เวลาเกิดจากภายในนี่ เราแยกไปแล้ว อยู่ของเราองค์เดียว เราไปแบบนอแรดอยู่แล้ว กิเลสมันยังเหยียบย่ำเราเลย กิเลสเหยียบย่ำเรา แล้วเราจะทำอย่างไร สภาวธรรมแบบนี้

ธรรมอยู่ตรงนี้ไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ครูบาอาจารย์บอก “ธรรมเจริญที่หัวใจ” ที่ว่า “ศาสนาจะประจำชาติๆ” ...ประจำใจถ้าใจมันมีคุณธรรมขึ้นมา เห็นไหม ถ้าคุณธรรมขึ้นมา ทุกคนมีคุณธรรมหมด ทุกคนเป็นคนดีหมด มันจะบอก “จะประจำชาติไม่ประจำชาติ มันประจำยิ่งกว่านั้นอีก” เพราะอะไร? เพราะมันอยู่ในความรู้สึก

ดูสิ ดูประเพณีวัฒนธรรมสิ เวลารวมตัวกันเกิดประเพณีขึ้นมา เห็นไหม ก็เกิดมาจากมนุษย์นี่ ประเพณีเกิดมาจากเรา วัฒนธรรมเกิดมาจากการตกผลึกของสังคม สังคมมันตกผลึกเป็นวัฒนธรรมขึ้นมา ถ้าหัวใจเป็นธรรมขึ้นมานี่ ความเป็นธรรมก็ไปเป็นอริยะ เห็นไหม อริยประเพณี ประเพณี อริยประเพณี นี่ความสงบของใจ

เวลาวันมาฆบูชา พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ นี่สโมสรสันนิบาตของพระอรหันต์ เห็นไหม นี่โอวาทปาติโมกข์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงปาติโมกข์ “จะไม่กล่าวร้ายใคร จะทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว” เห็นไหม จะไม่กล่าวร้ายเลย ไม่ทำความชั่วทั้งหมด ทำแต่คุณงามความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส สภาวะแบบนี้ พูดมานี่แม้แต่พระอรหันต์ เวลาฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังรื่นเริงในธรรม รื่นเริงในธรรม เห็นไหม นี่ความอิ่มเต็มในประเพณี

ประเพณีที่ความสงบ ประเพณีที่ว่าไม่มีมหรสพสมโภชไปกับเขา ประเพณีต่างๆ ประเพณีของโลกคืออย่างหนึ่ง ประเพณีของพระอริยเจ้าก็อย่างหนึ่ง ประเพณีของผู้สิ้นกิเลสก็อย่างหนึ่ง เห็นไหม ประเพณี อริยประเพณี แล้วประเพณีนี้ตรวจสอบกันได้อย่างไร? มันตรวจสอบกันได้ผู้ที่ถึงธรรมด้วยกัน ผู้ที่เข้าใจด้วยกัน สิ่งสภาวะแบบนี้มันเข้าใจด้วยกันหมด

ถ้าเข้าใจด้วยกันหมด เห็นไหม สิ่งนี้ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เวลาสนทนาธรรม เวลากล่าวธรรมมา จะผิดจะถูก ออกมานี่ชัดเจนมาก ผู้ที่รู้จริงกับผู้รู้จริง เห็นไหม นี่สภาวะกรรม ถ้ามันสิ้นกรรมนะ มันหมดเรื่องกัน ถ้าไม่สิ้นกรรมมันมีความรู้สึก มันมีจริตนิสัย ถ้ากรรมยังไม่ถึงที่สุด เราก็ต้องไปตามกรรมนั้น ผลพอถึงที่สุดแล้วนะ ต่างอันต่างจริง มันจะมีความสุขมาก สิ้นสุดกระบวนการ หมดเวรหมดกรรมต่อกัน นี่หมดเวรหมดกรรมนะ หมดสิ้นความผูกพัน สิ้นความอาลัยอาวรณ์ต่างๆ เห็นไหม

ถ้าอาลัยอาวรณ์นี่ พออาลัยอาวรณ์ปั๊บมันก็คิดถึงเขา มันก็ต้องเป็นไปตามเขา มันก็ต้องหมุนไปตามเขา มันไม่หมดเวรหมดกรรม มันก็เป็นสภาวะแบบโลกๆ ไป นี่เรื่องของโลก ถ้าเรื่องของธรรมนะ เราจะมีจุดยืนของเรา เห็นไหม “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เราจะเข้าใจเรื่องของสภาวะโลกหมดเลย จิตนี้มันเกิดมาอย่างไร? เกิดมาจากกรรม เกิดมาจากในครรภ์ของมารดา เกิดมาก็เป็นสกุลออกมา ก็สืบสกุลกันมา เห็นไหม เวลาดับไป สกุลก็อยู่อย่างนั้น ดับไปเห็นไหม

ชีวิตเกิดมาจากไหน เราอยู่ อยู่อย่างไร ตาย ตายไปอย่างไร ถ้าเข้าใจหมดแล้วนี่ เรามีจุดยืนของเรา เราจะไปตื่นเต้นอะไรกับโลก ถ้าเราไม่ตื่นเต้นไปกับโลก แล้วสังคมจะมาชักนำเราไปได้อย่างไร สังคมก็เป็นสังคม เว้นไว้แต่สังคมนี่เหมือนเด็กๆ ถ้าเด็กๆ นี่มันงอแงขึ้นมา มันต้องการผู้ช่วยเหลือ เราก็สงเคราะห์สงหาไปเท่านั้นเอง แต่เราไม่ใช่ตื่นเต้นไปกับเขา จะไม่แบกโลกไง ไม่ไปแบกเขาให้มันหนักบ่าหรอก เพราะเรื่องของโลก เรื่องของโลกมันพร่องอยู่ตลอดเวลา เห็นไหม “โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิตย์” ไม่เคยอิ่มเต็ม มันจะหมุนไปอย่างนี้

แล้วถ้าสิ่งที่ไม่เคยพร่อง แล้วเราจะไปให้มันเต็มนี่ เราเป็นคนเสียสติหรือเปล่า ถ้าเราไม่ใช่คนเสียสติ เห็นไหม เรายืนดูโลกด้วยจุดยืนของเรา เราดูโลกด้วยคนสิ้นกรรม เราจะเห็นโลก เราจะสลดสังเวช เห็นไหม นี่ธรรมสังเวช สภาวธรรมเป็นอย่างนี้ แต่เขาเอง เขายังอยู่ในสภาวธรรมอันนั้นเขาจะไม่รู้จักอะไรเลย เหมือนกับเราดูเด็กๆ มันจะไม่รู้จักอะไรเลย

แล้วเราดูของเรานี่ เราธรรมสังเวช เห็นไหม สะท้อนกลับมานี่ๆ นี่ปรุงธรรมสังเวช แล้วเกิดมีธรรมขึ้นมา มันเกิดวิหารธรรม เราจะอยู่ด้วยความเป็นสุขไง วิหารธรรมเห็นสัจจะความจริง รู้เท่าตามความเป็นจริง แล้ววางเขาไว้ตามความเป็นจริง แล้วเราไม่ไปยุ่งกับเขา เราดูเขา เรารักษาเขา รักษาแบบผู้ใหญ่รักษาเด็ก รักษาแบบผู้รู้จริง รู้จักมองโลกโดยความเป็นจริง โลกเป็นอย่างนี้ สภาวะโลกเป็นอย่างนี้ แล้วเราจะไม่เป็นทุกข์กับเขา นี่ก็คือคนสิ้นกรรม เอวัง