เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๕ เม.ย. ๒๕๕o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

นี่เห็นไหมในศาสนา เราว่าเรื่องของศาสนา ศาสนาน่ะศาสนาของใคร เวลาศีลศีลของใคร นี่ว่าเรื่องศาสนา เห็นไหม ถ้าศาสนานี่ต้องไม่เบียดเบียนตนเองก่อน แต่ที่เวลาเราประพฤติปฏิบัติเบียดเบียนตนเองไหม ยิ่งกว่าเบียดเบียนอีกเวลาประพฤติปฏิบัติ เวลาประพฤติปฏิบัติเบียดเบียนเพราะอะไร? เบียดเบียนเพราะเราจะชำระล้างจิตใจของเรา เห็นไหม เพราะอะไร? เพราะธุดงควัตรนี่เบียดเบียนตัวเองไหม อดอาหารนี่เบียดเบียนตัวเองไหม แล้วเวลาไม่นอนนี่เบียดเบียนตัวเองไหม โลกว่าเบียดเบียนตัวเอง คำว่า “เบียดเบียนตัวเอง” ศาสนาต้องไม่เบียดเบียนตัวเอง แต่การประพฤติปฏิบัตินี่ไม่ใช่เบียดเบียนเรา

เวลาหลวงตาท่านเทศน์ ท่านเทศนาว่าการเห็นไหม ท่านไม่เคยด่าใครเลย ท่านไม่เคยว่าใครเลยนะ แต่ท่านว่ากิเลสในหัวใจของคนต่างหาก ถ้ากิเลสนี่มันอยู่ที่ภูเขา มันอยู่ที่วัตถุนะ ท่านไม่ต้องทำอะไร เอาระเบิดซัดเข้าไปนี่ราบหมดเลย นี่ถ้ากิเลสมันอยู่ที่ร่างกายของมนุษย์นะ หมอนี่มันจะผ่าตัดนะ มันจะศัลยกรรมให้เรานี่สวยมหาศาลเลย ร่างกายนี่จะดัดแปลงอย่างไรก็ได้ จะต่อกระดูกให้สูงให้ต่ำขนาดไหนก็ได้ ถ้ากิเลสมันอยู่ที่วัตถุนะ ครูบาอาจารย์เราทำให้เรียบร้อยหมดเลย พระพุทธเจ้าทำให้เสร็จหมดเลย

มันไม่ใช่ กิเลสมันอยู่ที่ใจของคน แล้วใจของคนมันอยู่ที่ไหน ความรู้สึกนี่อยู่ที่ไหน แล้วความรู้สึกมันอยู่ในหัวใจของเรา แล้วเครื่องมือจับความรู้สึกเอาที่ไหน เห็นไหม คลื่นหัวใจเวลาจับคลื่นหัวใจกัน กราฟมันขึ้นขนาดนั้นน่ะคลื่นหัวใจ คลื่นหัวใจนี่มันเป็นระบบ เป็นพลังงานเฉยๆ มันไม่ใช่ความรู้สึกนี่ เห็นไหม คลื่นหัวใจขนาดไหนมันก็ไม่ใช่ความรู้สึก

กิเลสมันอยู่ที่ใจของคน ถ้าจะชำระกิเลส ศาสนามันต้องเข้าไปแก้ที่ใจของคน แล้วใจของคนวิธีการจะเข้าไปแก้ไข เห็นไหม เวลาเรามา มาหาครูบาอาจารย์กันนี่ อยากจะประพฤติปฏิบัติ อยากจะมีหลักมีเกณฑ์ อยากจะเป็น อยากมีธรรมะในหัวใจกัน แล้วอยากเฉยๆ อยากนั้นมันประสบความสำเร็จไหม ความอยากอย่างนี้มันเป็นความอยาก

แล้วเวลาธรรม เวลาเขาตีความผิด ความอยากนี้เป็นกิเลส ความอยากเฉยๆ เป็นกิเลส ความอยากได้อยากดีโดยที่ไม่ประพฤติปฏิบัติเป็นกิเลส แต่การอยากทำเป็นมรรค การอยากทำเป็นบวก การอยากทำไง แล้วทำแล้วยังผิดยังถูกอีกนะ การอยากทำเป็นบวกเพราะอะไร? การอยากทำนี่เป็นมรรคเพราะความอยาก นี่ศรัทธาความเชื่อ

มนุษย์ถ้าไม่มีศรัทธาความเชื่อจะไม่มาฟังธรรม การมีศรัทธาความเชื่อชักให้เราเข้าวัด แล้วศรัทธาความเชื่อมันแก้กิเลสได้ไหม? ไม่ได้! ศรัทธาความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้เลย แต่ถ้าไม่มีความเชื่อเราจะเข้าไปฟังธรรมไหม เพราะเรามีความเชื่อใช่ไหม เราถึงเข้าไปฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะถ้าสื่อสารออกมาโดยความถูกต้อง

ดูสิ ในมุตโตทัยของหลวงปู่มั่น เห็นไหม ธรรมนี้สถิตในหัวใจของใคร ในปุถุชนมันก็หมองไปด้วยกิเลสของปุถุชนนั้น ถ้ามันสถิตในหัวใจของพระโสดาบัน มันก็หมองไปด้วยกิเลสของพระโสดาบัน เห็นไหม ถ้ามันสถิตในใจของสกิทา อนาคานี่มันก็หมองไป ถ้ามันสถิตในใจพระอรหันต์ สะอาดบริสุทธิ์หมดเลย ความสะอาดบริสุทธิ์หมดนี่เหมือนกับพ่อแม่ เหมือนกับที่เราเป็นปู่ย่าตายาย แล้วเราผ่านชีวิตมาลุ่มๆ ดอนๆ ลำบากลำบนมาขนาดไหน แล้วลูกหลานเราโตขึ้นมาเราจะสอนให้มันทำอย่างไร เห็นไหม นี่พระอรหันต์

คนที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ต้องผ่านวิกฤตในการต่อสู้กับกิเลส การต่อสู้กิเลสนี่เรื่องการต่อสู้ชำระกิเลสไม่ใช่เรื่องของง่ายๆ เลย งานทางโลกนี่งานแค่อาบเหงื่อต่างน้ำ งานแค่ใช้การบริหารจัดการ แต่การต่อสู้กับกิเลสก็คือการต่อสู้กับใจของเรา ต่อสู้กับความรู้สึกอันนี้มันแสนยาก แสนยากเพราะอะไร? เพราะมันมีกิเลสในตัวมันเอง เห็นไหม มันมีข้าศึกอยู่ภายใน แล้วเราไปจัดการกับข้าศึกภายในนี่ มันจะจัดการได้อย่างไร ในเมื่อในภายในมันมีข้าศึก มันมีกิเลสอยู่ในตัวมันพร้อมอยู่แล้ว แล้วเราจะเอามรรคไปฆ่ามันนี่จะเอาอะไรไปฆ่ามัน เห็นไหม

แล้วพอบอกมีความเชื่อ ความเชื่อนี่อันนี้ว่าเป็นมรรค ความเชื่อเป็นศรัทธา แต่เวลาความอยาก เห็นไหม ความอยากฆ่ากิเลสอันนี้เป็นมรรค เป็นคุณงามความดี ความอยากอย่างนี้ พ่อแม่ปู่ย่าตายายจะสอนให้ลูกให้หลานทำขึ้นมาอย่างนี้ พอการกระทำขึ้นมานี่การกระทำอันนี้ต่างหากคือการบั่นทอนกิเลสไง การบั่นทอนคือการฝืนใจเราไง การประพฤติปฏิบัติมันเป็นการต่อสู้กับกิเลส มือเราสกปรก เราจะล้างมือเรานี่ เราจะไม่ยอมให้เราขยับเลย เราจะไม่ยอมเอามือเราไปจุ่มน้ำ มือเราจะสะอาดได้อย่างไร มันต้องไปล้างใช่ไหม มือเราสกปรกนี่เราต้องไปล้างน้ำ มันถึงจะสะอาดขึ้นมาได้

จิตก็เหมือนกัน ในเมื่อมันสกปรกมันก็ต้องมีการแก้ไข มันต้องมีการรักษา มีการดัดแปลงมัน มีการทำความสะอาดไง นี่ไม่ต้อง อยู่เฉยๆ นี่เป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องทำอะไรเลย ว่าง..สบายๆ น่ะ ไม่ต้องทำอะไรกันเลย อยู่เฉยๆ นอนตีแปลงนี่พระอรหันต์ แล้วใครทำความดีอันนั้นเป็นกิเลส เห็นไหม นี่ความเห็นต่างของเรา

มันเป็นความเห็นต่างของใคร ความเห็นต่างของกิเลสเห็นไหม ความเห็นต่างของพวกเราชาวพุทธนี่ว่าต้องให้สะดวกสบาย ทุกอย่างต้องสะดวกสบาย เห็นไหม เวลาทำไปแล้วเราจะไม่ได้ผล นี่ว่า “ว่างๆๆ” ไม่ใช่ว่าง! ว่างนี่เรารู้ว่าว่าง มันเป็นการเคลิบเคลิ้ม เหมือนกับเรารู้ความรู้สึก ถ้าตัวจิตว่างไม่ใช่เป็นอย่างนี้ ตัวจิตว่างตัวมันเองว่าง ไม่ใช่รู้ว่าว่าง ถ้ารู้ว่าว่างมันมีผู้รู้ ผู้รู้รู้ว่าว่างไม่ใช่สมาธิ เป็นมิจฉาหมดเลย

ถ้ามันเป็นตัวมันเองมันว่างมันจะไม่บอกว่าว่าง มันจะบอก “อึ๊” มันรู้ว่ามันว่างไง มันรู้ตัวมันเองว่าง ไม่ใช่มันรู้ว่าว่าง รู้ว่าว่างนี่ไปรู้อารมณ์แล้ว มันเป็นส้มเปลือกส้ม ตัวเปลือกส้มมันรักษาส้มไว้ แต่ตัวเนื้อส้มมันต้องอาศัยเปลือกส้มรักษาไว้ ถ้าไม่มีเปลือกส้ม ส้มนี่ก็อยู่ไม่ได้ จิตของคนก็เหมือนกัน โดยสัญชาตญาณ ในวัฏฏะไง ในวัฏฏะมันต้องมีการสื่อสาร เห็นไหม

ดูสิ เผ่าพันธุ์ของมนุษย์ เผ่าพันธุ์ของสัตว์มันจะสูญพันธุ์ไปไหม ไม่สูญพันธุ์ แต่โลกนี้สูญพันธุ์ไปเพราะสิ่งแวดล้อมต่างๆ มันสูญพันธุ์ไป แต่สิ่งนี้มันไม่สูญพันธุ์ไป ไม่สูญพันธุ์ไปเพราะอะไร? เพราะตัวจิตมันมีกามราคะ มันมีความเป็นไปของมัน

ดูสิ เวลาอย่างเกสรดอกไม้นี่มันผสมพันธุ์กัน โดยธรรมชาติของมันนะ เกสรดอกไม้ต่างๆ มันก็ผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติ ด้วยลม ด้วยต่างๆ ด้วยแมลงต่างๆ เห็นไหม ผสมพันธุ์กัน แล้วความรู้สึกล่ะ ถึงที่สุดแล้วนะจิตนี่ไม่มีเพศนะ จิตไม่มีเพศเพราะอะไร? เพราะพระอานนท์นี่เคยเป็นผู้หญิงมาก่อน พระอานนท์นี่ปรารถนาเป็นผู้ชาย เห็นไหม เพราะแรงปรารถนานี่มันก็เปลี่ยนมาจนพระอานนท์เป็นผู้ชาย เรื่องของแรงปรารถนานี่มันจะเปลี่ยนเราไปได้แต่มันต้องใช้กาลเวลาเปลี่ยนแปลง

แต่ถ้าในหัวใจล่ะ ถึงที่สุดแล้วจิตไม่มีเพศเพราะอะไร? เพราะมันเป็นธาตุอันเดียวกัน เพียงแต่ว่าเราเกิดมานี่เป็นเพศหญิงเพศชาย เห็นไหม เรื่องสรีระก็ไม่เหมือนกัน เรื่องความรู้สึกก็ไม่เหมือนกัน แต่เห็นไหม เวลาผู้หญิงเก่ง เก่งกว่าผู้ชายอีก ทำไมมันเก่งขึ้นมาได้ล่ะ เราบอกผู้ชายต้องเก่งกว่าผู้หญิง เป็นไปไม่ได้หรอก มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของจิตดวงนั้นน่ะ จิตดวงนั้นสร้างสมบุญญาธิการมาขนาดไหน ทำมาขนาดไหน มันเป็นจิตดวงนั้น นี่ออกมาเป็นสมมุติไง นี่ออกมาเป็นเรื่องโลกๆ ไง

แล้วศาสนาไปสอนตรงไหนล่ะ ศาสนาสอนย้อนกลับมาที่ใจ ถ้าย้อนกลับมาที่ใจ วิธีการน่ะมันเป็นตำรานะ มันเป็นทฤษฎี ดูสิ เวลาข้อวัตรปฏิบัติเห็นไหม นี่ธรรมและวินัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัย เห็นไหม ดูสิ เราว่าทำความดีใครจะส่งเสริมเรา ทำความดีเราทำดีเพื่อใคร ความดีของโลก ดูสิ เขาสร้างวัตถุกันอันนั้นเป็นความดี เพราะอะไร? เขาจับต้องได้ ความดีของหน่วยราชการ ความดีนี่เขามีความดีกัน ความดีนี่ทำรายงานกันได้เป็นความดี

แล้วความดีของเราล่ะ ถ้ามึงติดดีจิตสงบได้อย่างไร จิตนี่มันต้องพ้นจากดีและชั่ว เพราะมันเป็นตัวของมันเอง เห็นไหม มันปล่อยมาหมดเลย ถ้ามันปล่อยมา มันปล่อยมาเพื่ออะไร? มันปล่อยมาอย่างนี้มันก็ปล่อยมาเพื่อตัวมันเอง เพื่อตัวมันเองเพราะอะไร? เพราะความสุขในโลกนี้สุขเท่ากับความสงบไม่มี จิตสงบนี่มีความสุขมาก แล้วสงบของใคร สงบของฤๅษีชีไพร สงบของอาฬารดาบส สงบของใคร สงบอย่างนี้มันสงบชั่วคราวไง มันสงบไม่จริง

แต่ถ้าเป็นมรรคญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะมันเกิดมาจากไหนล่ะ? มันเกิดจากข้อวัตรปฏิบัติ แล้วเวลาข้อวัตรปฏิบัติจะปฏิบัติไปกันน่ะ พวกเราก็ว่าทุกข์ๆ ยากๆ ไง ถึงบอกว่าเวลาที่ว่ามันทุกข์ ถ้าปฏิบัติแล้วนี่มันต้องมีความสุข ความสุขว่ามันรู้แจ้ง มันมีสติสัมปชัญญะนะ เราจะรู้ตัวเราเองตลอดเวลาการเคลื่อนไหวนี่ จิตมันรู้ว่าผิดหรือถูกเลย เหมือนเข็มทิศ เข็มทิศถ้าไม่เสียนะมันจะชี้ไปทิศเหนืออย่างเดียว ถ้าเข็มทิศที่มันชำรุดมันเสียหายไปกองด้วยกัน เขาชี้ไปทิศเหนือหมดเลย มันชี้ลงทิศใต้

การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าพูดถึงเข้าถึงอริยสัจต้องเป็นอันเดียวกัน วิธีการต่างกันแต่เข็มทิศตั้งแล้วต้องชี้ขึ้นทิศเหนือหมด จิตก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นไปมันจะชี้เข้าหาธรรมะหมด ถ้าชี้มาธรรมะ ธรรมะคืออะไร? ธรรมคือความเป็นธรรม คือความเสมอภาค คือเหตุและผล คือสิ่งที่ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน คือสิ่งที่สมดุล เห็นไหม

แล้วความสมดุลมันมีได้ไหม ในโลกนี้สมดุลมีไม่ได้นะ ดูสิ เวลาความเปลี่ยนแปลงของอากาศ เห็นไหม มันมีความสมดุลไหม มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ธรรมชาติเป็นอย่างนี้ ชีวิตก็เหมือนกัน เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีอะไรคงที่หรอก เราเกิดมานี่ตั้งแต่เราเกิดมาจนเราตายไป ร่างกายนี่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความรู้สึกก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตั้งแต่เด็ก เป็นผู้ใหญ่มา แล้วแก่เฒ่าไปนี่ความรู้สึกอันเดียวกันไหม ความรู้สึกมันเปลี่ยนไปตลอดเวลาเพราะประสบการณ์มันต่างๆ กันไป เห็นไหม สิ่งนี้มันเปลี่ยนแปลงเพราะมันเป็นโลก

แต่ถ้าเป็นธรรมล่ะ ธรรมคือธรรมชาติอันนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง ถ้ามันธรรม จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้คือธรรมชาติอันนี้มันผ่องใส การผ่องใสนี่คือการที่มันจะขับเคลื่อน ตัวนี่ตัวขับเคลื่อนเพราะความผ่องใสมันมีพลังงานของมัน นี่จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้ตัวนี้ต่างหากเป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส ไอ้ตัวผ่องใสๆ นี่มันต้องทำลายมัน แล้ววิธีการทำลายเห็นไหม นี่วิธีการทำลาย

ในศาสนาตอนนี้น่าเศร้าใจ น่าเศร้าใจตรงนี้ ตรงที่ว่านี่ใช้ปัญญาๆ กัน มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นปัญญาเกิดจากสมอง มันเป็นปัญญาเกิดจากข้อมูล มันเป็นปัญญาเกิดจากจิตเดิมแท้อันนี้ แล้วจิตเดิมแท้นี้มันผ่องใส แต่ผ่องใสแล้วหมองด้วยอุปกิเลสนี่ แล้วมันก็สร้างปัญญาออกมา มันก็เลยเป็นโลกียปัญญาไง มันก็เลยเป็นปัญญาเอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาวิเคราะห์วิจัยกันไง

แต่ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ คือปัญญาอย่างนี้ย้อนกลับเข้าไปตัวมันเอง ปัญญาในศาสนาคือปัญญาทวนกระแสกลับเข้ามาหาใจของตัวเอง ไม่ใช่ไปวิเคราะห์วิจัยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิเคราะห์วิจัยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่คือการหลอกดึงจิตออกมาให้มันบริหารจัดการ คือเหมือนน้ำเสียนี่ น้ำมันสกปรกใช่ไหม เราต้องทำความสะอาดมันใช่ไหม ถ้าเราอยู่เฉยมันสะอาดได้อย่างไร ก็เอาธรรมอันนี้เข้าไปรีไซเคิลมัน คือว่าใช้มันใคร่ครวญธรรม พอใคร่ครวญมันก็ออกรับรู้ ออกใช้ปัญญา ปัญญาอย่างนี้ปัญญาให้มันสะอาด มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นสมถะ มันก็เป็นปัญญาของโลกๆ มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาของนักวิชาการ ปัญญาของทฤษฎีนี่มันเป็นปัญญาอะไร เข้ากันได้แค่นี้

แล้วว่านี่คือปัญญาที่ข้ามพ้นกิเลสๆ มันข้ามพ้นกิเลสได้อย่างไร กิเลสยังเต็มหัว คิดออกมาจากมึงน่ะ คิดออกมาจากใจดวงนั้นน่ะ คิดออกมาจากความรู้สึกอันนี้ มันแค่สงบแล้วนี่มันย้อนกลับไป ย้อนกลับไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรมจากจิต ไม่ใช่เห็นกาย...

(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)